Friday, 9 May 2025
ECONBIZ

ข่าวดีผู้สูงอายุ!  “จุรินทร์” ให้คืนเบี้ยยังชีพซ้ำซ้อน จ่ายเงินช่วยตามบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้ผู้สูงอายุ 4.7 ล้านคน ขยายโครงการพักหนี้คนแก่อีก 6 เดือนถึง มีค.65

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) ซึ่งมีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้มีการหารือเรื่องการดูแลผู้สูงอายุภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันและการขับเคลื่อนสังคมผู้สูงอายุไทย โดยมีมติดังนี้

1.เห็นชอบแนวทางการจ่ายเงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพแก่ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยที่ได้รับสิทธิจากโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยเป็นการจ่ายย้อนหลังให้แก่ผู้มีสิทธิ์จำนวน 4.7 ล้านคน รายละเอียดคือ 
-ปีงบประมาณ 2563 จ่ายเงินสงเคราะห์ตั้งแต่เดือน มิ.ย.-ก.ย. อัตรา 100บาท/เดือน สำหรับผู้สูงอายุที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี และอัตรา50บาท/เดือน สำหรับผู้สูงอายุที่มีรายได้มากกว่า 30,000 บาทต่อปี แต่ไม่เกิน 1แสนบาทต่อปี
-ปีงบประมาณ 2564 เป็นอัตราเช่นเดียวกับปีก่อน จ่ายเดือนเว้นเดือน (6งวด) เริ่มตั้งแต่ตุลาคม 2563

2.เรื่องการรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุซ้ำซ้อนกับสวัสดิการอื่นที่เคยเป็นประเด็นก่อนหน้า ที่ประชุมมีมติตามคำวินิจฉัยของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา คือ 1) คืนเงินที่เรียกเก็บจากผู้สูงอายุที่รับเงินซ้ำซ้อนกับสวัสดิการอื่น ซึ่งมีจำนวนประมาณ 1.5 หมื่นราย และมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงการคลังหาแนวทางดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งเดือน หลังครม.พิจารณาเห็นชอบมติดังกล่าว   2) ถอนฟ้องหรือระงับการบังคับคดีในกรณีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้มีการดำเนินคดีเรียกคืนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุไปแล้ว และ 3) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการกำหนดนโยบายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆเพื่อศึกษาแนวทางการกำหนดนโยบายและหลักเกณฑ์ในการจ่ายเบี้ยยังชีพฯแบบใหม่ให้มีประสิทธิภาพและครอบคลุมทุกมิติ

3)เห็นชอบขยายเวลาการพักชำระหนี้ของลูกหนี้กองทุนผู้สูงอายุ ต่อไปอีก 6 เดือน จากที่จะหมดเวลาในเดือน 30 ก.ย.ปีนี้  ไปจนถึง 31 มี.ค. 2565

4)เห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ ระยะที่3 (พ.ศ. 2566-2580) พร้อมรับสังคมสูงวัยแบบสมบูรณ์ ซึ่งประกอบแผนฯย่อย 1) เตรียมความพร้อมของประชากรก่อนวัยสูงอายุ 2) ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุทุกมิติอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม 3) ปฏิรูปและบูรณาการระบบบริหารเพื่อรองรับสูงวัยอย่างมีคุณภาพ 4) เพิ่มศักยภาพการวิจัยการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมรองรับสังคมสูงวัย

ทั้งนี้ นายจุรินทร์ยังได้กล่าวว่า คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติมีความห่วงใยและขอเป็นกำลังใจให้แก่ผู้สูงอายุในช่วงสถานการณ์โควิด-19 และจะกำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคฯ ให้การดูแลผู้สูงอายุเป็นกรณีพิเศษ

"พิพัฒน์" ชะลอเที่ยวภูเก็ตแซนด์บ๊อกซ์ เชื่อม 3 จังหวัด 

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ได้รับทราบรายงานการติดเชื้อรายใหม่ที่เกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า ในช่วง 2 วันมานี้ ซึ่งมีจำนวนผู้ติดเชื้อรวมกันมากถึง 61 ราย ซึ่งอาจกระทบต่อการทำโครงการสมุยพลัสโมเดล ล่าสุดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังหารือแนวทางการควบคุมสถานการณ์ โดยจะดูตัวเลขในวันพรุ่งนี้อีกครั้งว่าจะกระเพื่อมขึ้นอีกหรือไม่ หากพบว่ามีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นอีก ก็ต้องออกมาตรการมาควบคุมเข้มข้นขึ้นหรือชะลอโครงการไปก่อน แต่ที่แน่ ๆ ตอนนี้ที่ชะลอไปแน่นอนแล้วคือ การเปิดสมุยพลัสเชื่อมโยงกับภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ในรูปแบบ 7+7 คืออยู่ในภูเก็ต 7 วันก่อนถึงจะเดินทางมาสมุยได้ เพราะต้องประเมินสถานการณ์ให้แน่ใจอีกครั้ง 

ส่วนการประเมินภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์นั้น ขณะนี้ทุกหน่วยงานได้ติดตามสถานการณ์แบบใกล้ชิดตลอด และตนเองก็อยู่ในพื้นที่ด้วย ทำให้สามารถประเมินสถานการณ์ได้ในทันที ซึ่งล่าสุดทางผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตก็ได้เพิ่มมาตรการการควบคุมโรคที่เข้มข้นขึ้นแล้ว เช่นเดียวกับการเปิดพื้นที่ภูเก็ตเชื่อมกับเชื่อมโยงจังหวัดกระบี่ (เกาะพีพี เกาะไหง และไร่เล) และจังหวัดพังงา (เขาหลัก เกาะยาวน้อย และเกาะยาวใหญ่) ซึ่งเดิมกำหนดจะเริ่ม 1 ส.ค.นี้ ก็ต้องชะลอเอาไว้เช่นกัน

“ตอนนี้ก็ได้ขอให้ทางจังหวัดภูเก็ตแสดงรายละเอียดของผู้ติดเชื้อ โดยแยกออกมาเป็นกลุ่ม ๆ เพื่อให้เห็นว่า มาจากไหนบ้าง เพราะส่วนใหญ่จะเป็นผู้ป่วยในระบบจากสถานที่กักตัว AQ มากที่สุด โดยเมื่อวันที่ 28 ก.ค. พบติดเชื้อใหม่ 27 ราย แยกเป็น AQ มากถึง 21 ราย ที่เหลือคือ ติดเชื้อจากต่างจังหวัด 1 ราย รอสอบสวนโรค 2 ราย และรับกลับบ้าน 3 ราย ขณะที่การคัดกรองพบผู้ติดเชื้อจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ พบ 1 ราย เป็นการยืนยันผลที่สนามบิน ซึ่งนักท่องเที่ยวก็รอผลตรวจภายในห้องพัก และไม่มีความเสี่ยง ซึ่งตัวเลขเหล่านี้ต้องแยกออกมาให้เห็นชัด ๆ และเรื่องนี้ นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายมาให้ดูเรื่องนี้ให้ดี และหาทางประชาสัมพันธ์รายละเอียดออกมาให้ชัดเจนเพื่อไม่ให้เกิดการเข้าใจผิดด้วย” 

รมว.แรงงาน ปลื้มผลงาน 2 สถานประกอบกิจการจังหวัดระยองคว้ารางวัลดีเด่นด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของอาเซียน 

รมว.แรงงาน แสดงความยินดีกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท นวอินเตอร์เทค จำกัด สถานประกอบกิจการในจังหวัดระยอง คว้ารางวัลสถานประกอบกิจการดีเด่นด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของอาเซียน ครั้งที่ 3 พร้อมเน้นย้ำแรงงานไทยต้องทำงานบนพื้นฐานของความปลอดภัยเทียบเท่าระดับสากล

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงาน ภายใต้การนำของรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ได้ให้ความสำคัญในเรื่องการส่งเสริมวัฒนธรรมความปลอดภัยในการทำงาน เพื่อให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความปลอดภัยตามนโยบาย Safety Thailand ที่มีกลไกการขับเคลื่อนภารกิจด้านความปลอดภัยในการทำงานอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงการดูแลสวัสดิภาพของแรงงานให้ได้รับการคุ้มครองด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานเทียบเท่าระดับมาตรฐานสากล มีการตรวจและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด รวมถึงการรณรงค์ปลูกจิตสำนึกด้านความปลอดภัยมาอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งได้มอบหมายให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานทำหน้าที่ขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว สำหรับการจัดการประชุมวิชาการเครือข่ายความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของอาเซียน ครั้งที่ 7 และพิธีมอบรางวัลสถานประกอบกิจการดีเด่นด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของอาเซียน ครั้งที่ 3 เป็นกิจกรรมที่ประเทศสมาชิกอาเซียนมุ่งส่งเสริมองค์ความรู้ในการพัฒนาสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัยและมีสุขภาพดีให้กับแรงงาน ผ่านการบูรการเครือข่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยในปีนี้ประเทศไทยมีสถานประกอบกิจการที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้ารับรางวัลดังกล่าวจำนวน 2 แห่ง ได้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โรงแยกก๊าซธรรมชาติ จังหวัดระยอง ได้รับรางวัลสถานประกอบกิจการต้นแบบดีเด่นที่มีการดำเนินงานด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยที่ยอดเยี่ยมของอาเซียน (Excellence Award) และบริษัท นวอินเตอร์เทค จำกัด จังหวัดระยอง ได้รับรางวัลสถานประกอบกิจการ SMEs ที่มีการปฏิบัติที่ดีด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของอาเซียน (Best Practice Award)  ซึ่งกระทรวงแรงงานขอแสดงความยินดีและขอชื่นชมสถานประกอบกิจการทั้งสองแห่งที่เป็นตัวอย่างที่ดีในการดำเนินการด้านความปลอดภัยให้กับสถานประกอบกิจการอื่นๆ ในประเทศต่อไป

นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า พิธีมอบรางวัลสถานประกอบกิจการดีเด่นด้านความปลอดภัยฯ ได้จัดขึ้นผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล โดยสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ซึ่ง 2 รางวัล ที่ประเทศไทยได้รับ เป็นรางวัลที่มอบให้กับสถานประกอบกิจการที่มีระบบบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยที่ยอดเยี่ยม อย่างไรก็ตามกรมจะมุ่งมั่นส่งเสริมและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เพื่อการพัฒนาการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยในการทำงาน ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ของเทคโนโลยีในปัจจุบัน ตลอดจนทบทวนปัญหาความไม่ปลอดภัยในการทำงาน และสร้างความร่วมมือในการดำเนินงาน เพื่อไปสู่เป้าหมายของการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยในการทำงานให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืนต่อไป

ดีพร้อม เผยสถิติ 8 ปัญหาที่ผู้ประกอบการพบเจอในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาด ชี้ปัญหา “การตลาด” “การเข้าถึงแหล่งเงินทุน” “การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม” ผู้ประกอบการประสบมากที่สุด พร้อมวาง 5 แนวทางเร่งด่วนฝ่าวิกฤต หนุน “พร้อมสู้ อยู่ได้ ไปรอด”

นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทยในวงกว้าง พบว่าหน่วยงานด้านเศรษฐกิจรายงานตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ไทยโต เพียง 1% จากที่ในไตรมาสแรกของปี 2564 ที่ตัวเลข 2.6% ซึ่งเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นจากติดลบ 6.1% ในปี 2563

ขณะเดียวกันสถานการณ์ภาพรวมของเอสเอ็มอี ที่มีจำนวน 3.1 ล้านล้านราย ในปี 2564 น่าจะยังคงน่ากังวล เพราะเมื่อพิจารณาถึงโครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทยนั้น ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว บริการ และกลุ่มค้าส่งค้าปลีก โดยจากข้อมูลสถิติพบว่า GDP SMEs ในปี 2563 ซึ่งปรับตัวลบ 9.1% และได้ประเมินว่าในปี 2564 คาดว่า จะติดลบที่ 4.8%  

อย่างไรก็ตาม ดีพร้อมได้ทำการสำรวจปัญหาและความต้องการของผู้ประกอบการณ์รายย่อย เพื่อทราบถึงปัญหาและความต้องการของผู้ประกอบการจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 จากกลุ่มตัวอย่าง 1,574 สถานประกอบการ จากผลสำรวจพบ 8 ปัญหาที่ผู้ประกอบการพบเจอในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาด ตามลำดับดังนี้

1.) ปัญหาด้านการตลาด 66.82%

2.) ปัญหาด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุน 21.92%

3.) ปัญหาด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม 13.74%

4.) ปัญหาด้านวัตถุดิบและปัจจัยเอื้อในการประกอบธุรกิจ 11.40%

5.) ปัญหาด้านการเพิ่มผลิตภาพการผลิต 11.28%

6.) ปัญหาด้านการจัดการ เช่น การขนส่ง บุคลากร 9.50%

7.) ปัญหาด้านต้นทุน 8.16%

และ 8.) ปัญหาด้านการพัฒนาอัตลักษณ์ของผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ 8.16%

จากผลสำรวจปัญหาและความต้องการของผู้ประกอบการณ์ดังกล่าว ดีพร้อมจึงได้กำหนดแนวทางนโยบาย การดำเนินงานในระยะต่อไปในปีงบประมาณ 2564 ภายใต้แนวนโยบายการดำเนินงาน โควิด 2.0 “พร้อมสู้-อยู่ได้-ไปรอด” ในระยะเร่งด่วนช่วง 60 วัน ดังนี้

1.) การจัดการโควิดภายในองค์กร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างสถานประกอบการปลอดเชื้อ โดยการแนะนำให้ความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ให้กับผู้ประกอบการ เพื่อบริหารจัดการสถานประกอบการ ภายใต้สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 สำหรับการช่วยเหลือธุรกิจอุตสาหกรรมให้ปลอดภัย โดยเน้นในการสร้างองค์ความรู้ในการบริหารจัดการองค์กร เพื่อป้องกันและรับมือกับการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นแบบองค์รวม ใน 9 หัวข้อวิชา

ตั้งแต่ การสร้างความรู้ความเข้าใจด้านอาชีวอนามัยและสุขอนามัย การใช้เครื่องมือดิจิทัลและเทคโนโลยีเพื่อลดความแออัด การประยุกต์ใช้มาตรฐานอุตสาหกรรมในการบริหารจัดการให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด ไปจนถึงการแชร์ประสบการณ์จากสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019

2.) การตลาดภายใต้โควิด โดยมุ่งเน้นการดำเนินการตลาดและการขยายตลาดในรูปแบบต่าง ๆ ประกอบไปด้วย

(1) การส่งเสริมการทำการตลาดออนไลน์ภายใต้โครงการ DIProm Marketplace โดยการสร้างช่องทางการจำหน่ายออนไลน์ เพื่อให้ผู้ประกอบการและผู้บริโภค สามารถเข้ามาซื้อ-ขาย สินค้าและบริการดี ๆ มีคุณภาพ และได้รับการคัดสรรจากดีพร้อม และการเสริมแกร่งผู้ประกอบการด้วย Social Commerce

(2) การส่งเสริมด้านกลยุทธ์การตลาดออนไลน์ผ่านการฝึกอบรม e-Learning 26 หลักสูตร พร้อมจะมุ่งเน้นการใช้ดิจิทัลเข้ามาเป็นเครื่องมือในการดำเนินธุรกิจ และการถ่ายทอดประสบการณ์ของที่ปรึกษาและผู้ประกอบการที่ช่ำชองด้านการตลาดแบบออนไลน์ รวมทั้งเคล็ดลับหรือวิธีการเจาะลึกตลาดในอาเซียน จะช่วยเสริมความรู้ให้ผู้ประกอบการ ให้ลองเปิดใจที่จะก้าวออกจากกรอบเดิม ไปสู่ตลาดใหม่อันเป็นโอกาสดีที่ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถฝ่าวิกฤตนี้ไปได้

(3) แนวทางการช่วยเหลือด้านการขนส่ง ผ่านโครงการ ดีพร้อมแพค : บรรจุภัณฑ์สร้างสรรค์วิถีใหม่ (The Next Diprom Packaging : DipromPack) ด้วยการออกแบบ และพัฒนาบรรจุภัณฑ์สร้างสรรค์ ที่ตอบสนองต่อการดำเนินชีวิตแลประกอบธุรกิจใหม่เพื่อลดต้นทุน เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ และเพิ่มยอดขายให้แก่ผู้ประกอบการ

(4) แนวทางการตลาดร่วมเป็นคู่ค้ากับภาครัฐ โดยเตรียมความพร้อมเอสเอ็มอี และวิสาหกิจชุมชนไทยเข้าสู่การรับรองตราสินค้า Made in Thailand หรือ MiT โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ผ่านการเสริมสร้างการรับรู้และสร้างโอกาสการเป็นคู่ค้ากับภาครัฐผ่าน 3 ช่องทาง ประกอบด้วย

- การรับรอง Made in Thailand (MiT) โดย ส.อ.ท.

- การขึ้นทะเบียนเอสเอ็มอี Thai SME-GP ของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. และ

- การขึ้นบัญชีสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม Thai GPP ของกรมควบคุมมลพิษ

3.) เปลี่ยนค่าใช้จ่ายเป็นเงินทุน โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาปรับเปลี่ยนค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจให้กลายเป็นเงินทุนในการประกอบกิจการให้แก่ผู้ประกอบการ โดยการใช้ระบบคลังสินค้าออนไลน์ เพื่อเปลี่ยนเงินทุนด้วยเทคโนโลยี สามารถลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ให้แก่ผู้ประกอบการผ่านระบบ Google Sheet และ Line OA ซึ่งเป็นมาตรการช่วย SMEs แบบดีพร้อม ด้วยการให้คำปรึกษาและพัฒนาระบบการบริหารสินค้าคงคลัง เพื่อลดต้นทุนต้นทุนด้านโลจิสติกส์ 3 ด้านหลัก ได้แก่

- ต้นทุนการเก็บรักษาสินค้าคงคลัง

- ต้นทุนการขนส่งสินค้า

- ต้นทุนการบริหารจัดการ

เพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน 3 มิติ ได้แก่ ต้นทุน เวลา และความน่าเชื่อถือ ผ่านโครงการเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานของภาคอุตสาหกรรม ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีเกษตรอุตสาหกรรมอัจฉริยะให้แก่ผู้ประกอบการ

4.) สร้างเครือข่ายพันธมิตร โดยดีพร้อมเป็นผู้จัดสรรและเชื่อมโยงเครือข่ายพันธมิตรให้แก่ผู้ประกอบการ ผ่านโครงการสำคัญ ๆ ดังนี้ โครงการเชื่อมโยงเครือข่ายเกษตรกรและผู้แปรรูป โครงการเชื่อมโยงเทคโนโลยีเพื่อปรับรูปแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ โครงการเชื่อมโยงเครื่องจักรเพื่อแปรรูป (i-Aid) โครงการช่างชุมชน โดยการมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะวิชาชีพให้แก่ช่างในชุมชน

5.) ปรับโมเดลธุรกิจ มุ่งเน้นให้ผู้ประกอบการมีความพร้อมในการดำเนินการปรับเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์เศรษฐกิจ การสร้าง และพัฒนาผู้ให้บริการธุรกิจอุตสาหกรรม (SP) และยังได้ช่วยเสริมทักษะทางการเงิน (Financial Literacy) ให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และวิสาหกิจชุมชน เพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจ และให้ตระหนักถึงความสำคัญ เพื่อการตัดสินใจทางการเงินที่ดี

นอกจากนี้ดีพร้อมยังได้ช่วยเหลือผู้ประกอบการในการจัดทำแผนบริหารความเสี่ยง (Business Continuity Plan) ในการดำเนินธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบ โดยเน้นการรับมือและสร้างแนวทางการดำเนินธุรกิจกับสถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบัน เพื่อสร้างความต่อเนื่องในการดำเนินธุรกิจของสถานประกอบ

ทั้งนี้ จากการดำเนินงานโครงการ/กิจกรรม มาตรการเร่งด่วนต่าง ๆ รวมถึงการส่งเสริมผู้ประกอบการให้สามารถดำเนินธุรกิจภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดในระลอกใหม่นี้ ดีพร้อม คาดว่าในปีงบประมาณ 2564 จะสามารถช่วยส่งเสริมและยกระดับผู้ประกอบการในภาคส่วนอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้จำนวนรวม 3,356 กิจการ 11,955 คน 982 ผลิตภัณฑ์ และคาดว่าจะสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้กว่า 8,000 ล้านบาท

“อย่างไรก็ตามจากการดำเนินงานครึ่งปีแรกของปี 2564 ภายใต้ นโยบาย “สติ (STI)” ที่มุ่งเน้นการพัฒนา 3 ปัจจัยหลัก ประกอบด้วย

1.) SKILL : ทักษะเร่งด่วน โดยเร่งเสริมสร้างศักยภาพของผู้ประกอบการให้สามารถปรับตัว

2.) TOOL : เครื่องมือเร่งด่วน เครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อน

และ 3.) INDUSTRY : อุตสาหกรรมเร่งด่วน สร้างโอกาสจากต้นทุนที่ประเทศไทยมีจุดแข็ง เพื่อเข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการให้ครอบคลุมทุกมิติ

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม ได้ใช้ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และเทคโนโลยี เพื่อปรับแผนการดำเนินงานโครงการให้สอดรับกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากวิกฤตโควิด-19 สอดคล้องกับมาตรการด้านสาธารณสุข และสอดรับกับการปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการที่เปลี่ยนไปที่กระทบทั้งด้านรายได้ ด้านการจ้างงาน ด้านสภาพคล่องทางการเงิน และเงินทุนหมุนเวียน” นายณัฐพล กล่าวสรุป


โปรเด็ด! ถึง 31 ก.ค. นี้ Ford Ranger, MG ZS, Mazda 2 และ Nissan อัลเมร่า ทักไลน์ @THESHOPSTIMES

คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

ออมสินแนะลูกค้าเร่งตรวจสอบสิทธิพักหนี้

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า หลังจากธนาคารได้ออกมาตรการพักชำระหนี้ลูกค้าสินเชื่อรายย่อยที่มีวงเงินกู้ไม่เกิน 200,000 บาท โดยให้พักชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยสูงสุด 6 งวด เริ่มตั้งแต่งวด ก.ค.- ธ.ค. 64 ซึ่งมีลูกค้าประมาณ 750,000 รายที่มีสิทธิ์เข้าร่วมมาตรการ โดยธนาคารได้เริ่มทยอยเปิดสิทธิ์ให้ลูกค้าสามารถกดเข้าร่วมมาตรการผ่านแอป MyMo แล้วกว่า 348,000 ราย ตั้งแต่เมื่อวันที่ 25 ก.ค.2564 ที่ผ่านมา ภายในเวลา 3 วันมีลูกค้าเข้ากดรับสิทธิ์แล้วประมาณ 50,000 ราย ซึ่งธนาคารจะเริ่มเปิดสิทธิ์เฟสที่สองช่วงต้นเดือนส.ค.เป็นต้นไป สิ้นสุดวันที่ 31 ส.ค.2564

ทั้งนี้ เพื่อให้ลูกค้าได้รับสิทธิ์ตามมาตรการอย่างทั่วถึง และสะดวกรวดเร็ว จึงขอให้ลูกค้าสินเชื่อรายย่อยที่ได้รับผลกระทบ โปรดเร่งเข้าตรวจสอบสิทธิ์ในแอป MyMo และกดทำรายการได้ทันทีที่ปรากฎเมนูพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 

ส่วนผู้ที่ยังไม่มีแอป MyMo แต่มีบัตรเดบิต สามารถดาวน์โหลดและเปิดใช้งานแอป MyMo ด้วยตนเองได้โดยใช้ข้อมูลบัตรเดบิต ซึ่งจะได้รับความสะดวกในการขอพักชำระหนี้โดยไม่ต้องเดินทางไปติดต่อที่สาขาธนาคาร และเป็นการลดความเสี่ยงการติดเชื้อในช่วงนี้อีกด้วย โดยลูกค้าสามารถศึกษาวิธีการดาวน์โหลดและเปิดใช้แอป MyMo ด้วยตนเองได้ที่ www.gsb.or.th หรือสอบถามที่ GSB Contact Center โทร. 1115 กด 1

คลังหั่นเศรษฐกิจไทยปีนี้เหลือโตแค่ 1.3%

น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 ว่า กระทรวงการคลังได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้ คาดว่าจะขยายตัวอยู่ที่ 1.3% ลดลงจากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 2.3% เพราะได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ของไวรัสโควิด-19 ที่เริ่มต้นในช่วงปลายไตรมาส 2 ปี 2564 ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยการเดินทางระหว่างประเทศและจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทย 

อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก ซึ่งในช่วง 5เดือนแรกของปี 2564 มูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวสูงที่ 14.5% ส่งผลให้คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยในปี 2564 จะขยายตัวที่ 16.6% ปรับเพิ่มขึ้นจากการคาดการณ์ครั้งก่อนที่ 11% 

“ภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการประคับประคองเศรษฐกิจไทย ผ่านมาตรการต่าง ๆ ทั้ง โครงการคนละครึ่งระยะที่ 3 โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ และมาตรการด้านการเงินผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ประกอบกับการใช้จ่ายเงินกู้จาก พ.ร.ก.กู้เงินทั้ง 2 ฉบับจะมีส่วนช่วยกระตุ้นการบริโภคบรรเทาผลกระทบของภาคธุรกิจและรักษาระดับการจ้างงานให้สูงขึ้น”

สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2565 กระทรวงการคลังคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเร่งขึ้นมาอยู่ในช่วง 4 – 5% โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มคลี่คลายลงและมีการเดินทางระหว่างประเทศมากขึ้น โดยคาดว่านักท่องเที่ยวต่างประเทศจะเดินทางเข้ามาในประเทศไทย จำนวน12 ล้านคน ในขณะที่การส่งออกสินค้าคาดว่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการฟื้นตัวของภาคธุรกิจ การจ้างงาน และสนับสนุนการบริโภคภายในประเทศ ส่งผลให้การใช้จ่ายภายในประเทศจะกลับมาฟื้นตัวได้ดี 

“ประวิตร” เร่งยุทธศาสตร์ 5G  พัฒนาศก.-สังคม ทุกภูมิภาค ชูโครงการต้นแบบ ยกระดับภาครัฐให้บริการปชช.-รองรับ ภูเก็ตแซนด์บ็อก กำชับใช้งบให้คุ้มค่า

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ครั้งที่ 3/2564 มีนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ที่เท่าเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอีเอส )ร่วมประชุมผ่านระบบวิด๊โอ คอนเฟอร์เรนซ์ 

โดยที่ประชุมเห็นชอบโครงการตามมาตรา26(6)เพื่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 5G อาทิโครงการพัฒนา เทคโนโลยี5Gเพื่อการเกษตร ณ โครงการร้อยใจรักษ์ ,โครงการนำร่อง Smart Campus และเห็นชอบโครงการนำร่องการพัฒนาย่านเทคโนโลยี 5G ต้นแบบ ยกระดับการให้บริการภาครัฐแก่ประชาชน จ.เชียงใหม่ โดยเน้นพัฒนาด้านการเดินทาง ดูแลสุขภาพ นอกจากนั้นเห็นชอบ โครงการ 5G use Case ระบบในการคัดกรอง และแจ้งเตือนสำหรับโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อก เตรียมพร้อมเปิดเศรษฐกิจท่องเที่ยว จว.ภูเก็ต โดยนำเทคโนโลยี 5G ประยุกต์ใช้เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาใน จว.ภูเก็ต ภายใต้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19ในพื้นที่ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้นักท่องเที่ยว นักลงทุน ตลอดจนประชาชนชาวภูเก็ต และจังหวัดใกล้เคียง

นอกจากนั้นคณะกรรมการฯเห็นชอบ กรอบนโยบายกองทุนพัฒนาดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม ประจำปีงบประมาณ 2565มุ่งเน้นการลงทุนใน 4 ด้านได้แก่ 1.Digital Agriculture 2. Digital Government & infrastructure 3. Digital Manpower และ 4.Digital Technology

พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า  ให้กระทรวงดีอีเอส และคณะกรรมการฯกำกับติดตาม การใช้จ่ายการบริหารกองทุนให้เป็นไปตามระเบียบ ตรงตามวัตถุประสงค์ โดยเคร่งครัด และต้องคำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ และใช้อย่างประหยัด คุ้มค่า  สามารถส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ได้อย่างเป็นรูปธรรม  ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล

"รองโฆษกพรรคกล้า" แย้งระงับจ่ายคนละครึ่งผ่านฟู้ดดิลิเวอรี่ ซ้ำเติมผู้ประกอบการ ขอรัฐลดเงื่อนไขอนุญาตต่อ ให้สอดคล้องสถานการณ์ล็อกดาวน์ 

นางสาวภรณี วัฒนโชติ รองโฆษกพรรคกล้า กล่าวถึงกรณีไลน์แมนยกเลิกบริการจ่ายเงินผ่านระบบคนละครึ่ง หลังจากกระทรวงการคลังออกหนังสือเตือนว่าผิดเงื่อนไขต้องชำระเงินโดยตรง ไม่ผ่านตัวกลาง (Face-to-Face) เท่านั้นว่า แม้ว่าการสแกน QR Code ผ่านการสั่งอาหารออนไลน์ ไม่ได้กระทำต่อหน้าผู้ขาย แต่ก็ยังเป็น QR Code ที่ร้านค้าสร้างขึ้นผ่านทางไลน์ จึงมองว่าเส้นทางการชำระเงินสามารถตรวจสอบได้ ยังคงเป็นไปตามจุดประสงค์โครงการคนละครึ่ง จึงอยากให้ภาครัฐพิจารณาลดทอนเงื่อนไขการชำระเงินโดยไม่ผ่านตัวกลาง (Face-to-Face) ให้โครงการคนละครึ่งใช้กับผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่ (Food Delivery) ทุกรายในตลาด เช่น ไลน์แมน โรบินฮู้ด แกร๊ป และฟู้ดแพนด้า ฯลฯ ให้สอดคล้องกับนโยบายล็อกดาวน์ ลดการพบประแบบ Face-to-Face เพื่อควบคุมสถานการณการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 

"เมื่อมีประกาศให้ล็อกดาวน์ แต่มาตรการเยียวยาไม่รองรับ จะยิ่งเป็นการซ้ำเติมประชาชนและผู้ประกอบการร้านอาหาร ดังนั้นระหว่างนี้ รัฐฯ ไม่ควรห้าม และควรส่งเสริมใช้สิทธิคนละครึ่งผ่านฟู้ดเดลิเวอรี่ จนกว่าจะได้ข้อสรุปหาวิธีเชื่อมโยงผ่านแอปฯเป๋าตัง ในโครงการคนละครึ่งรอบใหม่ช่วงเดือนตุลาคมนี้" รองโฆษกพรรคกล้ากล่าว 

นางสาวภรณี กล่าวด้วยว่า ภาครัฐควรสร้างการทำงานร่วมกันกับผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่ ในขั้นตอนการตรวจสอบข้อมูลป้องกันการทุจริต ซึ่งข้อมูลการใช้งานที่ถูกบันทึกออนไลน์ ผ่านผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่ มีความละเอียดและสามารถติดตามตรวจสอบได้ง่ายกว่าการซื้อขายแบบดั้งเดิมมากอยู่แล้ว

หาทางคุมเข้มโรงงานขั้นสูงสุดสกัดเชื้อโควิด

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า คณะทำงานของ ส.อ.ท. เตรียมหารือร่วมกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ผ่านระบบออนไลน์ ในวันนี้ (29 ก.ค.) เพื่อร่วมกันหาทางป้องกันการระบาดของไวรัสโควิด-19 ให้กับภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในโรงงานขนาดใหญ่ ซึ่งมีตัวเลขการติดเชื้อเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ เพื่อหาทางป้องกัน  ไม่เช่นนั้นจะกระทบเป็นวงกว้าง ทั้งกระทบการแพร่ระบาดในชุมชน หากต้องปิดโรงงาน จะกระทบต่อกระบวนการผลิตสินค้า ซึ่งจะกระทบทั้งสินค้าในภาคการส่งออก และสินค้าอุปโภคบริโภคที่ใช้ในประเทศ

ทั้งนี้ ภาคเอกชนได้เร่งผลักดันให้ทุกโรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรม ดำเนินการตามมาตรการสาธารณสุข ประเมินตนเอง และโรงงาน ผ่านไทย สต็อป เซอร์วิส พลัส และไทย เซพ ไทย รวมทั้งล่าสุดได้ยกระดับให้เข้มข้นขึ้นให้โรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ทุกแห่ง ดำเนินการมาตรการ bubble and seal ซึ่งเป็นการควบคุมคนในโรงงาน ให้มีกิจกรรมปะปนกันเอง และกับคนนอกโรงงานให้น้อยที่สุด  เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดการติดเชื้อ 

เช่นเดียวกับการแจ้งให้โรงงานขนาดใหญ่ เตรียมพร้อมแผนรับมือหากมีการติดเชื้อในโรงงานจำนวนมาก โดยให้จัดโรงพยาบาลสนาม และพื้นที่พักคอยสำหรับผู้ติดเชื้อ จัดเตรียมสถานที่พักในโรงงานหรือในชุมชน เป็นที่พักสำหรับผู้สัมผัสผู้ป่วย แต่ยังตรวจไม่พบเชื้อหรือยังไม่มีอาการ 

รวมทั้งจัดเตรียมระบบเดินทางรับ-ส่ง คนงาน จากที่พักถึงโรงงานหรือสถานประกอบการ ป้องกันการแวะระหว่างทาง จัดหาร้านจำหน่ายอาหาร เครื่องอุปโภค บริโภค ราคาย่อมเยา ในบริเวณโรงงานหรือที่พักลดการสัมผัสระหว่างคนงานและคนในชุมชน และให้จัดหาสถานพยาบาลที่พร้อมให้บริการตรวจหาเชื้ออีกด้วย

บี้! 'บริษัทประกัน'ใช้ผลตรวจ  PCR เครมประกันโควิดได้ 

นายโสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) เปิดเผยว่า ฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคที่ซื้อประกันโควิดและเกิดปัญหาในการยื่นเอกสารเพื่อใช้เคลมประกันเมื่อตรวจพบโควิด โดยปัญหาที่พบ คือ บริษัทประกันส่วนใหญ่ต้องการให้ผู้เอาประกันนำส่งเอกสารใบรายงานหรือใบรับรองแพทย์ก่อนจึงจะสามารถเคลมประกันให้ได้ ทั้งที่ผู้เอาประกันมีรายงานผลตรวจเชื้อโควิดจากห้องปฏิบัติการแบบ PCR หรือ การตรวจหาเชื้อไวรัสโดยดูจากสารพันธุกรรม RNA ของไวรัส ซึ่งเป็นวิธีการตามมาตรฐานสากล 

ประกอบกับสถานการณ์โควิดที่มีการแพร่ระบาดมากจนทำให้การพบแพทย์และการเข้าถึงการรักษาในโรงพยาบาลเป็นไปได้ยาก ดังนั้น การที่ผู้เอาประกันจะต้องมีใบรายงานหรือใบรับรองแพทย์เพื่อให้เอกสารครบถ้วนตามข้อกำหนดของบริษัทประกันเพื่อยื่นเคลมประกันจึงไม่ใช่เรื่องที่จะดำเนินการได้โดยง่าย

จากข้อมูลกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้นิยามคำว่า “ผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อโควิด” ไว้ในแนวทางเฝ้าระวังและสอบสวนโรคติดเชื้อโควิด 2019 ฉบับวันที่ 23 มี.ค.2563 ว่า เป็นผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรคที่มีผลตรวจทางห้องปฏิบัติการพบสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัส SARS - CoV - 2 โดยวิธี PCR ยืนยันจากห้องปฏิบัติการตามที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ประกาศ 1 แห่ง หรือ Sequencing หรือเพาะเชื้อ 

รวมถึงประกาศแนวทางการแยกกักผู้ป่วยโควิดในชุมชน ฉบับวันที่ 24 ก.ค.2564 จากกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ใช้แนวทางเดียวกันด้วยนั้น จึงเห็นได้ว่าการเป็นผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิดควรสามารถใช้ผลการตรวจจากห้องปฏิบัติการโดยวิธี PCR ยืนยันว่าเป็นผู้ป่วยโควิดตามนิยามของกรมควบคุมโรคและกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขได้โดยไม่จำเป็นต้องมีใบรายงานหรือใบรับรองจากแพทย์อีกแต่อย่างใด 

ดังนั้น สอบ. จึงขอให้บริษัทประกันที่รับประกันภัยโควิดลดขั้นตอนในการยื่นเอกสารเพื่อเคลมประกันของผู้เอาประกันที่ติดเชื้อโควิด โดยสามารถให้ใช้ผลตรวจจากห้องปฏิบัติการโดยวิธี PCR ได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้ใบรับรองแพทย์และเพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางนิยามผู้ป่วยโควิดของกระทรวงสาธารณสุข พร้อมทั้งจะเร่งติดตามการดำเนินการของบริษัทประกัน และหารือกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นการคุ้มครองและรักษาสิทธิผู้บริโภคต่อไป

กระทรวงแรงงาน เตือนคนหางานทำประกันโควิดก่อนเดินทางทำงานเกาหลี

กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน แจ้งข่าวแรงงานไทยที่จะเดินทางเข้าไปทำงานที่สาธารณรัฐเกาหลี ช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดโรคโควิด -19 แนะทำประกันคุ้มครอง 30 วัน พร้อมสำรองเงินค่ารักษาพยาบาลอย่างน้อย 60,000 บาท

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ฝ่ายแรงงานประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล แจ้งข้อมูลข่าวสารตลาดแรงงานไทย โดยระบุว่า แรงงานที่เดินทางไปยังสาธารณรัฐเกาหลีจะต้องเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วย หากผลการตรวจระบุว่าพบเชื้อ แรงงานจะต้องเข้ารับการกักกัน และรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการกักกันด้วยตนเอง ดังนั้น แรงงานจึงควรทำประกันโควิด - 19 ที่ให้ความคุ้มครองครอบคลุมระยะเวลาถึง 30 วัน หลังจากเดินทางเข้าสาธารณรัฐเกาหลีแล้ว ซึ่งหากตรวจพบเชื้อจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลด้วยตนเอง จึงควรเตรียมเงินอย่างน้อย 60,000 บาท เพื่อใช้สำรองจ่ายเมื่อต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล ถึงแม้ว่าแรงงานจะทำประกันชีวิตแล้วก็ตาม โดยหลังจากนั้นสามารถนำเอกสารที่ได้รับไปยื่นขอรับเงินกับบริษัทประกันได้ ทั้งยังพบแรงงานที่เดินทางไปยังสาธารณรัฐเกาหลีในช่วงนี้ บางส่วนมีอาการป่วยเป็นโรคกลัวที่แคบ (Claustrophobia) ประมาณ 1-2 คน ต่อเที่ยวบิน ซึ่งผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้จะประสบปัญหาในการกักกัน ดังนั้น แรงงานต้องทำความเข้าใจและเตรียมพร้อมที่จะเข้ารับการกักกันหรือพกยาประจำตัวในกรณีที่มีโรคดังกล่าวไปด้วย หรืออาจพิจารณาเลื่อนกำหนดการเดินทางไปทำงาน

“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมแรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศ อย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งมุ่งเน้นประโยชน์และความปลอดภัยของแรงงานไทยเป็นสำคัญ  โดยมอบหมายกระทรวงแรงงาน ดูแลคนไทยที่เดินทางไปทำงานต่างประเทศให้ได้รับการปฏิบัติตามสิทธิที่พึงมี และได้ทราบข้อมูลข่าวมูลสารที่ถูกต้องเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า กรมการจัดหางานมีภารกิจในการส่งเสริม และกำกับดูแลให้แรงงานไทยเดินทางไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกกฎหมาย ซึ่งมี 5 วิธี คือ 1.กรมการจัดหางานเป็นผู้จัดส่ง 2.บริษัทจัดหางานจัดส่ง 3.นายจ้างในประเทศไทยพาลูกจ้างของตนไปทำงานต่างประเทศ 4.นายจ้างในประเทศไทยส่งลูกจ้างของตนไปฝึกงานในต่างประเทศ 5.คนหางานแจ้งการเดินทางไปทำงานต่างประเทศด้วยตัวเอง เพราะจะทำให้ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ได้ค่าจ้างที่เหมาะสม และยังได้รับการดูแลที่ดีตามสิทธิที่พึงมีด้วย

"ทั้งนี้ คนหางานที่ต้องการเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 -10 หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร.1694 หรือติดตามข่าวสารตำแหน่งงานต่างประเทศได้ที่เว็บไซต์ www.doe.go.th/overseas" อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว

'สหกรณ์' เร่งกระจายเงาะมังคุดช่วยชาวสวนผลไม้ภาคใต้

นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้เกษตรกรชาวสวนผลไม้ในภาคใต้กำลังประสบปัญหาช่องทางจำหน่ายเงาะและมังคุด เนื่องจากในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม - สิงหาคม เป็นฤดูกาลที่ผลผลิตในภาคใต้ออกมาพร้อมกัน จนเกิดการกระจุกตัวและราคาตกต่ำ โดยเฉพาะในปีนี้สถานการณ์โควิด – 19 กำลังระบาด มีการล็อกดาวน์ทำให้พ่อค้าไม่สามารถเข้าไปตั้งล้งเพื่อรับซื้อมังคุดจากเกษตรกรได้ 

ล่าสุดน.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมสหกรณ์เร่งหาทางช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรโดยด่วน เบื้องต้น จึงได้สั่งการให้สหกรณ์จังหวัดทุกจังหวัดประสานเครือข่ายสหกรณ์ในแต่ละพื้นที่ สั่งซื้อเงาะและมังคุดจากสหกรณ์ที่เป็นแหล่งผลิตในภาคใต้ กระจายสู่ผู้บริโภคของแต่ละจังหวัด โดยให้สหกรณ์ต้นทาง 6 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร ระนอง นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี พังงา และยะลา เปิดจุดรวบรวมเงาะ มังคุดจากเกษตรกรและสมาชิก เน้นผลไม้ที่ได้คุณภาพมาตรฐาน GAP ก่อนนำมาคัดเกรดบรรจุลงกล่อง และเร่งจัดส่งให้สหกรณ์ที่เป็นตลาดปลายทางเพื่อให้ถึงผู้บริโภคโดยเร็ว 

เบื้องต้น มีสหกรณ์ในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ เปิดรับพรีออเดอร์เงาะและมังคุด ซึ่งมีผู้บริโภคให้ความสนใจทยอยสั่งซื้อผ่านเครือข่ายสหกรณ์อย่างต่อเนื่อง ได้ตั้งเป้าหมายกระจายมังคุดผ่านเครือข่ายสหกรณ์ไม่น้อยกว่า 5,216 ตัน และกระจายเงาะไม่น้อยกว่า  3,329 ตัน พร้อมจัดสรรเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากกองทุนพัฒนาสหกรณ์ วงเงิน 122  ล้านบาทเพื่อให้สหกรณ์กู้ยืมเป็นทุนหมุนเวียนรับซื้อผลผลิตจากสมาชิกและเกษตรกรในราคานำตลาด  เพื่อดึงราคาผลไม้ในพื้นที่ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและเป็นธรรม

ยันเดินหน้าต่อภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ไม่มีชะลอ

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยภายหลังเกิดกรณีพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ในจังหวัดภูเก็ต ในรอบ 1 สัปดาห์ที่ผ่านมาเกินกว่า 90 ราย จนเกรงว่าจะกระทบกับโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ว่า  ล่าสุดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และททท.ได้หารือกับนายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายแพทย์กู้ศักดิ์ กู้เกียรติกูล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเอกชน ซึ่งสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต เอกชนและผู้ว่าราชการจังหวัดยืนยันยังรับมือไหว  

ทั้งนี้ยังต้องติดตามยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ในช่วง 7 วันจากนี้อย่างใกล้ชิด ซึ่งทางจังหวัดภูเก็ตจะพยายามลดจำนวนผู้ติดเชื้อลงมาให้ได้ ตอนนี้จึงยังไม่มีนัยยะต่อการทบทวนโครงการภูเก็ต แซนด์บ๊อกซ์ ที่เปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนแล้วเข้ามาโดยไม่ถูกกักตัว 

นายยุทธศักดิ์ กล่าวว่า ตอนนี้ไม่มีความคิดที่จะหยุดโครงการภูเก็ต แซนด์บ๊อกซ์ ต้องขึ้นอยู่กับทางจังหวัดภูเก็ตเป็นผู้ตัดสินใจ และการพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เกิดขึ้นตอนนี้ถือว่าเป็นการทดลองระบบที่วางไว้ เพื่อไปสู้เป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามามากขึ้นในไตรมาส 4 และในเดือนส.ค.นี้ นักท่องเที่ยวที่จะเข้าภูเก็ตแซนด์บ๊อกซ์ สามารถบินมาต่อเครื่องที่สนามบินสุวรรณภูมิได้ด้วย ซึ่งจะมีเครื่องของสายการบินบางกอกแอร์เวยส์ และสายการบินไทยสมายส์ที่รับ-ส่งนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้โดยเฉพาะ ไม่ปะปนกับคนในประเทศ”  

สกพอ. จับมือ BOI TARA และ TRUE เดินหน้ายกระดับภาคอุตสาหกรรมไทยสู่ industry 4.0 ด้วยเทคโนโลยี 5G ในพื้นที่อีอีซี

(27 ก.ค. 64) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) สมาคมผู้ประกอบการระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ไทย (TARA) และ บริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จัดงานสัมมนาออนไลน์ (Webinar) ในหัวข้อ “Smart Industry 4.0 & Digital Transformation Technology by 5G” เป้าหมายเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประโยชน์และแนวทางการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G ในภาคอุตสาหกรรมแก่ผู้ประกอบการในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ที่ปรึกษาพิเศษด้านพัฒนาการศึกษา บุคลากร และเทคโนโลยี สกพอ. เปิดเผยว่า ความสำคัญในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในภาคอุตสาหกรรม ในแง่มุมด้านการเชื่อมโยงและวิเคราะห์ข้อมูลภายในโรงงานเพื่อพัฒนาสู่ industry 4.0 และแนะนำเพิ่มเติมถึง ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน หรือ SMC (Sustainable Manufacturing Center) ซึ่งเป็นโครงการนำร่องภายใต้การพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) โดย SMC จะทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการในเชิงเทคนิค ซึ่งจะเป็นหนึ่งในหน่วยงานสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาด้าน industry 4.0 ในพื้นที่ EEC

โดยงานสัมมนาในครั้งนี้ ได้ประชาสัมพันธ์ถึงแนวทางการส่งเสริมการลงทุนด้าน industry 4.0 และ digital transformation จาก BOI เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการเล็งเห็นถึงความคุ้มทุนและตัดสินใจลงทุนด้านเทคโนโลยีดิจิทัลได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ในด้านของสมาคมผู้ประกอบการระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ไทย หรือ TARA ได้มาพูดถึงจุดประสงค์ของสมาคมที่จะเป็นศูนย์กลางของผู้ซื้อและผู้ขาย สร้างความร่วมมือกันระหว่างสมาชิกของสมาคม หน่วยงาน และองค์กรอื่น ๆ ทั้ง ภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ รวมถึงวิชาชีพอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ ภายในงาน ทาง TrueBusiness ได้ยกตัวอย่างการนำเทคโนโลยีด้าน 5G และนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมธุรกิจรูปแบบต่าง ๆ อาทิ AI unmanned vehicle, การเชื่อมต่อข้อมูลอุปกรณ์ IoT และส่งข้อมูลไปเก็บเพื่อประมวลผลบนระบบ cloud ด้วยโครงข่าย 5G ซึ่งจะช่วยผู้ประกอบการในการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้ อีกทั้ง TrueBusiness เองเป็นผู้เชี่ยวชาญที่สามารถให้คำแนะนำแก่องค์กรที่สนใจนำเทคโนโลยีไปปรับใช้ในการผลิตและดำเนินการต่าง ๆ รวมถึงให้บริการออกแบบและติดตั้งโซลูชันตั้งแต่ต้นจนจบตามความต้องการของแต่ละธุรกิจ

ทั้งนี้ สกพอ. พร้อมร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชนในการสนับสนุนการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมไทยสู่ industry 4.0 ด้วยเทคโนโลยี 5G อย่างเต็มที่ โดยตั้งเป้าหมายในการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์เรื่อง industry 4.0 & 5G แก่ผู้ประกอบการในเขตพื้นที่ EEC อย่างต่อเนื่อง และจะขยายผลสู่ระดับประเทศในลำดับต่อไป


โปรเด็ด! ถึง 31 ก.ค. นี้ Ford Ranger, MG ZS, Mazda 2 และ Nissan อัลเมร่า ทักไลน์ @THESHOPSTIMES

คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

ครม. เคาะ 15,027 ล้านบาท เยียวยานายจ้าง-ม.33 ใน9กิจการ 13จว.แดงเข้ม

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประขุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ว่า ครม. อนุมัติเพิ่มกรอบวงเงินโครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 ในกิจการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด และพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นจำนวน โดยเพิ่มจ. ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และพระนครศรีอยุธยา เป็น13 จ.วงเงิน 15,027 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1,522 ล้านบาท จากเดิม 13,504 ล้านบาท 

โดยให้สำนักงานประกันสังคมประมาณการจำนวนนายจ้าง และผู้ประกันนมาตรา 33 กลุ่มเป้าหมายที่คาดว่าจะขี้นทะเบียนประกันสังคมรายใหม่ด้วย ซึ่งจะช่วยนายจ้างในระบบประกันสังคม 9 ประเภทกิจการ ใน 13 จ.กลุ่มเป้าหมาย จำนวน 7,238ล้านบาท และเงินช่วยเหลือให้แก่ผู้ประกันตนมาตรา 33 สัญชาติไทย ที่เป็นลูกจ้างในกิจการของนายจ้างตามคุณสมบัติ จำนวน 7,789ล้านบาท โดยนายจ้างและลูกจ้างที่ได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยา จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top