Wednesday, 14 May 2025
ECONBIZ NEWS

สานพลังความร่วมมือ EEC Automation Park ปั้นโรงงาน 4.0 นำร่องผู้ประกอบการ 200 แห่ง ดึงดูดการลงทุน

อีอีซี จับมือ มิตซูบิชิและพันธมิตรเครือข่าย สานพลังความร่วมมือ ไทย-ญี่ปุ่น ในงาน EEC connecting Thailand and Japan Collaboration 2021 เดินหน้าอีอีซี ออโตเมชั่น พาร์ค ดึงผู้ประกอบการในพื้นที่กว่า 200 ราย นำร่องสู่อุตสาหกรรม 4.0 พร้อมสร้างบุคลากรรองรับ 15,000 คนใน 5 ปี ยกระดับให้ไทยก้าวสู่ยุคใช้นวัตกรรมขั้นสูง

(29 ก.ย. 64) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี ร่วมกับ บริษัท มิตซูบิชิ อิเลคทริก EEC Automation Park และเครือข่ายพันธมิตรภาคเอกชนไทย-ญี่ปุ่น จัดงาน EEC connecting Thailand and Japan Collaboration 2021 "Digital Manufacturing Platform" แสดงความพร้อมของ EEC Automation Park ที่จะเป็นฐานสำคัญ ขับเคลื่อนพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ อีอีซี ก้าวสู่โรงงานอัจฉริยะ ตอบโจทย์การพัฒนากระบวนการผลิตที่ลดต้นทุน เพิ่มมูลค่า สร้างทักษะแรงงานอย่างเหมาะสมและคุ้มค่าต่อการลงทุน

โดยมี ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ อีอีซี, ดร.อภิชาต ทองอยู่ ประธานคณะทำงานประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากร (EEC HDC), นายอัทสึชิ ทาเคทานิ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ JETRO ร่วมกล่าวเปิดงาน พร้อมด้วย ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ที่ปรึกษาพิเศษด้านพัฒนาการศึกษา บุคลากรและเทคโนโลยี สกพอ., นายวิเชียร งามสุขเกษมศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค แฟคทอรี่ ออโตเมชั่น (ประเทศไทย) จำกัด และ ดร.ไพบูลย์ ลิ้มปิติพานิชย์ ผู้อำนวยการ EEC Automation Park และผู้ประกอบการญี่ปุ่นในไทยที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมกว่า 200 ราย เข้าร่วมงาน

ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ อีอีซี กล่าวว่า การจัดงานฯ ครั้งนี้ แสดงถึงความสัมพันธ์และเข้มแข็งของภาคเอกชนญี่ปุ่นในพื้นที่ อีอีซี ที่มีมายาวนาน และยังคงต่อเนื่องเดินหน้ายกระดับการผลิตภาคอุตสาหกรรมแบบดิจิทัล (Digital Manufacturing Platform) แม้จะเผชิญวิกฤตการณ์โควิด-19 ซึ่งนำโดย บ. มิตซูบิชิฯ ที่ริเริ่มแนวคิด e-F@ctory Alliance พร้อมพันธมิตรเครือข่ายร่วมพัฒนา EEC Automation Park ตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยบูรพา ให้เป็นฐานหลักขับเคลื่อนการประยุกต์ใช้ Robotics & Automation สร้างความเชื่อมโยง Ecosystem เอื้อให้ภาคอุตสาหกรรมพัฒนาและปรับตัวไปสู่โรงงานอัจฉริยะใช้นวัตกรรมนำการผลิต เกิด Industry 4.0 ขึ้นจริงในพื้นที่ อีอีซี ดึงดูดเงินลงทุนนวัตกรรมขั้นสูงจากนักลงทุนทั่วโลก

โดยคาดว่า การลงทุนด้านหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ (Robotics & Automation) เป็นเครื่องมือสำคัญให้ภาคอุตสาหกรรมเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุนการผลิต ซึ่งคาดว่าใน 3 ปีข้างหน้า จะเกิดการลงทุนสูงถึง 500,000 ล้านบาท เป็นการลงทุนในพื้นที่ อีอีซี ไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาท/ปี โดยปี 2565 ตั้งเป้าหมายให้โรงงานในอีอีซี เริ่มประยุกต์ใช้เตรียมความพร้อมสำรวจการออกแบบระบบและเชื่อมหาแหล่งทุนได้ไม่น้อยกว่า 200 แห่ง และตั้งเป้าภายใน 5 ปี จะสามารถปรับสู่โรงงานอัจฉริยะใช้เทคโนโลยีขั้นสูง Digital Manufacturing 4.0 ไม่น้อยกว่า 10,000 โรงงาน ยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทย เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดโลก ยกระดับรายได้แรงงานไทย ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นอย่างสมดุลและยั่งยืน   

คลังเปิดวิธีคนละครึ่ง-ยิ่งใช้ยิ่งได้ สั่งซื้ออาหารผ่านฟู้ดเดลิเวอรี่

น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ประชาชนผู้ได้รับสิทธิโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 และโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ที่จะใช้สิทธิซื้ออาหารและเครื่องดื่มจากร้านอาหารและเครื่องดื่มที่เข้าร่วมโครงการฯ ผ่านผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่แพลตฟอร์มที่จะเปิดให้ใช้บริการตั้งแต่วันที่ 4 ต.ค. 2564 เป็นต้นไป เวลา 06.00 – 20.00 น. ของทุกวัน สามารถดำเนินการได้ดังนี้

1. เข้าแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” กดแถบแบนเนอร์ (Banner) ฟู้ดเดลิเวอรี่ในหน้าแรก หรือสามารถเข้าผ่าน g-Wallet กด Banner โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 หรือโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ แล้วจึงกด Banner ฟู้ดเดลิเวอรี่
2. กด “สั่งผ่านฟู้ดเดลิเวอรี่แพลตฟอร์ม” บนแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” แล้วจึงเลือกผู้ให้บริการฟู้ด เดลิเวอรี่แพลตฟอร์มที่ต้องการใช้งาน หรือสามารถกด “ค้นหาเมนูหรือร้านอาหาร” เพื่อเลือกซื้ออาหาร/เครื่องดื่มได้
3. หลังจากเลือกตามข้อ 2 ระบบจะเชื่อมไปที่แอปพลิเคชันฟู้ดเดลิเวอรี่แพลตฟอร์มเพื่อสั่งอาหาร/เครื่องดื่มจากร้านอาหาร/เครื่องดื่มที่เข้าร่วมโครงการฯ โดยประชาชนจะต้องชำระค่าส่งที่แอปพลิเคชันฟู้ดเดลิเวอรี่แพลตฟอร์มก่อน
4. ประชาชนจะได้รับการแจ้งเตือนให้ชำระค่าอาหาร/เครื่องดื่มบน g-Wallet และกดปุ่มชำระค่าอาหาร/เครื่องดื่มพร้อมใช้สิทธิผ่าน g-Wallet โดยต้องชำระเงินภายใน 5 นาที

กนง.เอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ย 0.50% ประคองเศรษฐกิจ

นายทิตนันท์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กนง. มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 0.50% ต่อปี โดยประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปี 2564 และปี 2565 จะขยายตัวใกล้เคียงกับที่คาดไว้ในการประชุมครั้งก่อนแต่ยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยคาดว่าเศรษฐกิจในระยะต่อไปจะได้รับผลบวกจากการกระจายวัคซีนที่ปรับดีขึ้นและการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดที่เร็วกว่าคาด 

ทั้งนี้ โจทย์สำคัญที่สุดของเศรษฐกิจไทย ณ ปัจจุบัน คือ การดำเนินมาตรการควบคุมการระบาดที่เอื้อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและรายได้ฟื้นตัวต่อเนื่อง คณะกรรมการฯ เห็นว่ามาตรการภาครัฐต้องเร่งสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ด้านมาตรการด้านการเงินมีความคืบหน้ามากขึ้น แต่ยังต้องเร่งผลักดันการกระจายสภาพคล่องและปรับโครงสร้างหนี้ของกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง และเห็นว่ามาตรการด้านการเงินจะมีประสิทธิผลมากกว่าการลดอัตราดอกเบี้ยที่ปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้

'แอสเซนด์ มันนี่' มูลค่าบริษัทเพิ่มเป็น 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายหลังระดมทุนรอบล่าสุดจำนวน 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และก้าวสู่การเป็นบริษัทฟินเทคยูนิคอร์นรายแรกของประเทศไทย เผยปี 2563 มียอดทำธุรกรรม สูงถึง 14,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  

โดยในการระดมทุนครั้งล่าสุดนี้ ยังได้บริษัท โบว์ เวฟ แคปปิตอล แมเนจเมนท์ (Bow Wave Capital Management) จากสหรัฐอเมริกา มาลงทุนร่วมกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ และ แอนท์ กรุ๊ปอีกด้วย

การระดมทุนรอบนี้ ส่งผลทำให้ แอสเซนด์ มันนี่ มีมูลค่าบริษัทเป็น 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 50,400 ล้านบาท) และขึ้นเป็นยูนิคอร์นตัวที่ 2 ของประเทศไทย ต่อจาก Flash Express และเป็นรายแรกในกลุ่มฟินเทค

ทั้งนี้ ยูนิคอร์น หมายถึงสตาร์ตอัปที่มีมูลค่าบริษัทเกินกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ผู้ก่อตั้ง และ ประธานคณะกรรมการบริษัท แอสเซนด์ มันนี่ จำกัด กล่าวว่า ความสำเร็จในการระดมทุนของ แอสเซนด์ มันนี่ นับเป็นความภาคภูมิใจในระดับชาติ เพราะสะท้อนศักยภาพของไทย ในการสนับสนุนบริษัทฟินเทคและผู้ประกอบการสตาร์ทอัพในประเทศให้สามารถประสบความสำเร็จในการขยายธุรกิจไประดับนานาชาติได้

ก่อนหน้านี้ เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้รับการจัดอันดับให้เป็นองค์กรชั้นนำด้านความยั่งยืนของโลก UN Global Compact ระดับ LEAD การขับเคลื่อนด้านการระดมทุนครั้งนี้ถือเป็นการขยายแพลตฟอร์มแห่งโอกาส ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ธุรกิจ 4.0 ของเครือฯ ส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินแก่คนทุกภาคส่วน และตอบโจทย์เป้าหมายด้านความยั่งยืนระดับภูมิภาค

เวิลด์แบงก์ชี้ ไวรัสโควิดฉุดคนไทยจน 1.7 ล้านคน

นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) เปิดเผยว่า ผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาครัวเรือนทำให้ตกงาน และภาคธุรกิจเอสเอ็มอีขาดรายได้ โดยทำให้ในปี 2564 ประเมินว่าประเทศไทย จะมีผู้ที่มีความยากจนเพิ่ม 1.7 แสนคนเมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วนภาพรวมของเศรษฐกิจไทยเวิลด์แบงก์ได้ปรับประมาณในปี 64 คาดจะขยายตัวแค่ 1% จากเดิม 2.2% และปี 65 ประเมินว่าจะขยายตัว 3.6% และหากจะให้สถานการณ์กลับมาสู่ระดับปกติก่อนเกิดโควิด-19 คาดว่าจะต้องใช้เวลาฟื้นตัวนานถึงปี 2566
 
ทั้งนี้ได้ระบุว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจคงต้องใช้เวลากว่าจะกลับเข้าสู่ระดับก่อนโควิดในปี 2566 มีเหตุผลจากการเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวทำได้ล่าช้า และการกระจายวัคซีนกว่าจะถึง 70% ของประชากรทั้งหมดในไทยต้องใช้เวลาครึ่งปีแรกของปี 2565 ซึ่งมีผลต่อการเปิดรับต่างชาติเที่ยวไทย คาดว่าในปี 2565 นักท่องเที่ยวจะมี 1.7 ล้านคนเพิ่มจากปี 2564 ที่จะมี 1.6 แสนคน เป็นผลมาจากการดำเนินโครงการภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ และสมุยพลัส โมเดล เป็นหลัก

ความเชื่อมั่นท่องเที่ยวยังทรุดต่อแรงงานหาย-รายได้ลด

น.ส.ผกากรอง เทพรักษ์ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวในไตรมาสที่ 3 ปี 2564 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวในไตรมาสที่ 3 ปี 64 ลดลงต่ำที่สุดนับตั้งแต่มีการจัดทำดัชนี โดยอยู่ที่ระดับ 7 เป็นผลมาจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างหนัก ทุกภูมิภาคสถานการณ์ท่องเที่ยวจัดว่าอยู่ในระดับย่ำแย่ใกล้เคียงกัน เพราะทั่วประเทศแทบจะไม่มีนักท่องเที่ยวเลย ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวชาวไทยหรือชาวต่างชาติ 

ทั้งนี้เมื่อแยกตามประเภทธุรกิจ พบว่าผู้ประกอบการทุกประเภทมีผลประกอบการ จัดว่าอยู่ในระดับย่ำแย่  โดยธุรกิจสถานบันเทิง มีสถานการณ์ท่องเที่ยวที่ย่ำแย่ที่สุด มีค่าดัชนีเป็นศูนย์ เพราะต้องปิดกิจการทั้งหมด โดยสถานประกอบการกว่า 71% มีรายได้เข้ามาไม่เกิน 10% และมีสถานประกอบการเกินกว่าครึ่ง หรือ 54% ที่ไม่มีรายได้เข้ามาเลย โดยเฉพาะธุรกิจสถานบันเทิง ส่วนยอดปิดกิจการชั่วคราวหรือเปลี่ยนไปทำอย่างอื่นแทนเพิ่มขึ้นเป็น 44% ส่วนสถานประกอบการ ที่มีการปิดถาวรก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5% 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สั่งสมอ. ออกมาตรฐาน ‘เรือไฟฟ้า’ ปีหน้า หลังออกมาตรฐาน EV ไปแล้วกว่า 90 มาตรฐาน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้สั่งการ สมอ. เร่งออกมาตรฐาน EV อย่างเต็มที่ เพื่อขานรับนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติที่ท่านนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการ ล่าสุด สั่ง สมอ. ไปดำเนินการจัดทำมาตรฐานเรือไฟฟ้าเพิ่มเติม หลังจากที่ได้มีการจัดทำมาตรฐานเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้าไปแล้ว กว่า 90 เรื่อง

นายจุลพงษ์ ทวีศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) เปิดเผยภายหลังการประชุม กมอ. (บอร์ด สมอ.) เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2564 ที่ผ่านมาว่า บอร์ด สมอ. ขานรับนโยบาย EV ของรัฐบาล และกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีมติเห็นชอบมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้าออกมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด สั่ง สมอ. จัดทำมาตรฐานเรือไฟฟ้าในปีงบประมาณ 2565 ด้วย 

ด้านนายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวเพิ่มเติม ว่า มาตรฐานเรือไฟฟ้าฉบับนี้ จะครอบคลุมเรือสำหรับใช้รับ-ส่งผู้โดยสาร หรือนักท่องเที่ยวที่เดินทางสัญจรในแม่น้ำเจ้าพระยา โดยจะแต่งตั้งคณะกรรมการวิชาการ ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมเป็นคณะทำงานจัดทำมาตรฐานเรือไฟฟ้าต่อไป 

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) สั่งเข้มนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ จับตาสถานการณ์น้ำท่วมใกล้ชิด พร้อมทั้งติดตามข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งบูรณาการงานร่วมกันหากเกิดกรณีฉุกเฉิน

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ทุกนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ติดตามข้อมูลสถานการณ์น้ำในพื้นที่รับผิดชอบของตนเองอย่างใกล้ชิด รวมถึงติดตามข้อมูลพยากรณ์อากาศในพื้นที่แบบละเอียด ติดตามข้อมูลปริมาณน้ำที่ปล่อยออกจากเขื่อนบริเวณใกล้เคียงนิคมฯ และติดตามข้อมูลระดับน้ำทะเลหนุนในกรณีที่นิคมฯ อยู่ใกล้ทะเลด้วย ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันขอให้เร่งขุดลอกคูคลองทางระบายน้ำ รวมถึงหากเป็นไปได้ ก็ขอให้ร่วมกับชุมชนในการขุดลอกคูคลองทางระบายน้ำโดยรอบของนิคมฯ ด้วย

“สำหรับนิคมฯ ในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา มีนิคมฯ 3 แห่ง คือ บางปะอิน บ้านหว้า และนครหลวง โดยมีการเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำจากกรมชลประทาน ปัจจุบันอยู่ในสภาวะปกติ มีการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง มีการขุดลอกคูคลองรอบนิคมฯ สำรวจและเสริมความมั่นคงแข็งแรงของคันดินป้องกันน้ำท่วม เตรียมความพร้อมระบบป้องกันน้ำท่วม เครื่องสูบน้ำระบายน้ำและเครื่องจักรอุปกรณ์ จัดหาเครื่องสูบน้ำสำรอง เครื่องกำเนิดไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิง กระสอบทราย และอุปกรณ์ต่างๆ ให้พร้อมใช้งาน พร้อมทั้งติดตามข้อมูล ข่าวสาร และพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างต่อเนื่อง บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินได้อย่างมีประสิทธิภาพ”นายวีริศ กล่าว

โรงหนังพร้อมกลับมาเปิดบริการ หลังเจอปิดนาน 158 วัน

น.ส.พิมสิริ ทองร่มโพธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เอส เอฟ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า หลังจาก ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. ได้มีมติผ่อนคลายมาตรการให้โรงภาพยนตร์กลับมาเปิดได้ภายใต้มาตรการด้านสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2564 เป็นต้นไป ถือเป็นข่าวดีสำหรับผู้ประกอบการ หลังจากถูกปิดไปเป็นเวลานานถึง 158 วัน โดยการกลับมาเปิดให้บริการครั้งนี้ ยังได้ยกระดับตามมาตรการเพื่อให้ลูกค้าทุกคนได้ดูหนังอย่าง มั่นใจ และปลอดภัยมากยิ่งขึ้น โดยเตรียมความพร้อมด้านพนักงานที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว รวมถึงมีการตรวจคัดกรองด้วย Antigen Test Kit ก่อนเริ่มปฏิบัติงานในส่วนของโรงภาพยนตร์ได้รับการประเมินผ่านมาตรฐาน THAI STOP COVID PLUS (TSC+) ของกรมอนามัย

พร้อมทั้งได้ติดตั้งอุปกรณ์หลอด UVC ภายในระบบปรับอากาศ และอบ Ozone เพื่อฆ่าเชื้อโรคภายในโรงภาพยนตร์ทั้งหมด นอกจากนี้ มีการติดตั้งเครื่องฟอกอากาศฆ่าเชื้อโรค ที่มีคุณสมบัติช่วยฆ่าเชื้อและยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรค เชื้อไวรัสต่างๆ รวมถึงเชื้อไวรัสโคโรนาหรือโควิด-19 ได้มากกว่า 99.99% ที่โรงภาพยนตร์ The Bed Cinema by Omazz เอส เอฟ เวิลด์ ซีเนม่า ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์

‘สุริยะ’ สั่ง กรอ. เดินหน้า ‘พัฒนา-ยกระดับ’ ผู้รับบำบัดกำจัดของเสียอันตรายภาคอุตสาหกรรม

สุริยะ สั่งการกรมโรงงานอุตสาหกรรมเดินหน้านโยบายส่งเสริมการจัดการของเสียที่เกิดจากภาคอุตสาหกรรมให้มีประสิทธิภาพ ดันผู้ประกอบการน้ำดีเข้าสู่ระบบอนุญาตอัตโนมัติ (AI) หวังสร้าง มาตรฐานการปฏิบัติงานที่ดีแก่ผู้รับบำบัดและกำจัดของเสีย เพื่อเป็นแรงผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมก้าวไปสู่การพัฒนาและสร้างจิตสำนึกในการรักษาสิ่งแวดล้อม  

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (รวอ.) เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม เร่งดำเนินการพัฒนามาตรฐานการจัดการหรือการให้บริการกำจัดและบำบัดสิ่งปฏิกูลของผู้ให้บริการให้ได้มาตรฐานตามหลักวิชาการและถูกต้องตามกฎหมายได้อย่างเหมาะสมมากที่สุด และสร้างจิตสำนึกในการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยผลักดันให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบอนุญาตอัตโนมัติ (AI) ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นการยกระดับการทำงานของกระทรวงอุตสาหกรรมที่จะขับเคลื่อนประเทศเข้าสู่ความ เป็น Digital Government ตามนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาล สอดรับกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม แห่งชาติฉบับที่ 12 ยุทธศาสตร์ที่ 4 การเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top