Wednesday, 14 May 2025
ECONBIZ NEWS

กกร.ปรับกรอบ GDP ใหม่โต 0-1% ลุ้นพบ ‘บิ๊กตู่’ ชงมาตรการขับเคลื่อนเพิ่ม

‘กกร.’ ปรับ GDP ปีนี้ใหม่ไม่ติดลบ วางกรอบโต 0-1% แต่คงเป้าส่งออก เงินเฟ้อ หลังเริ่มผ่อนคลายกิจกรรม ศก.มากขึ้น รวมถึงมาตรการคนละครึ่ง เที่ยวด้วยกันเฟส 3 หนุน จ่อร่อนหนังสือถึงนายกฯ ขอเข้าพบสัปดาห์นี้ เล็งเสนอมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวและ ศก.อื่นๆ เพิ่มเติม แนะอัดเงินคนละครึ่งเป็น 6 พันบาท ใช้ช้อปดีมีคืน

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะทำหน้าที่ประธานที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) วันที่ 11 ต.ค. ว่า กกร.ได้ปรับประมาณการการเติบโตผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ปี 2564 ดีขึ้นจาก ณ ก.ย. 64 ที่คาดการณ์ไว้ GDP จะโตในกรอบ -0.5-1% เป็น 0.0-1% ส่งออกยังคงเดิมที่ 12-14% และเงินเฟ้อทั่วไปคงกรอบเดิมที่ 1-1.2% 

ทั้งนี้เนื่องจากมีปัจจัยบวกเพิ่มขึ้น แต่ทั้งนี้เห็นว่ารัฐบาลควรจะต้องมีมาตรการเสริมอื่นๆ เข้ามาเพิ่มเติมเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในปีนี้และระยะต่อไป โดยเฉพาะการท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ดังนั้น กกร.จึงกำลังรวบรวมประเด็นข้อเสนอที่เกี่ยวข้องกับมาตรการการเงิน การคลัง และภาษีเพื่อส่งหนังสือที่จะขอเข้าพบนายกรัฐมนตรีเสนอแนวทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในสัปดาห์นี้

“เราเชื่อว่า GDP ปีนี้จะไม่ติดลบ เพราะเศรษฐกิจไทยเรามีปัจจัยบวกจากสถานการณ์ติดเชื้อโควิด-19 ที่ลดลงจากแผนกระจายการฉีดวัคซีนที่เพิ่มขึ้น และรัฐเริ่มผ่อนคลายกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยเปิดดำเนินการได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยต้องจับตามองมาตรการผ่อนคลายที่จะออกมากลางเดือน ต.ค.ถึงต้นเดือน พ.ย.ต่อไป ขณะเดียวกัน รัฐได้มีมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจปลายปีทั้งโครงการคนละครึ่งเฟส 3 โครงการเที่ยวด้วยกันเฟส 3 ซึ่งรัฐบาลควรมีมาตรการเสริม ทั้งช้อปดีมีคืนที่เห็นว่าควรต้องเร่ง พ.ย.-ม.ค. 65 นี้ และอยากให้เติมเงินคนละครึ่งเป็น 6,000 บาทเพื่อให้หมุนเวียนดีขึ้น และแผนเปิดประเทศต้องการให้ชัดเจนเพื่อที่นักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเข้ามาวางแผนได้ล่วงหน้า” นายสนั่นกล่าว

บอร์ดบีโอไอ ไฟเขียวขยายเวลาหนุนลงทุนเอสเอ็มอี อีก 1 ปี 

น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบีโอไอ ที่มี นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เห็นชอบขยายเวลามาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับเอสเอ็มอี อีก 1 ปีจนถึงสิ้นปี 65 โดยมีมาตรการพิเศษสำหรับเอสเอ็มอีคือ กำหนดวงเงินลงทุนขั้นต่ำเพียง 5 แสนบาท จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็น 2 เท่าจากเกณฑ์ปกติ และผ่อนปรนเงื่อนไขต่างๆ รวมถึงการให้สิทธิและประโยชน์เพิ่มเติมตามเกณฑ์ และยังเห็นชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อการยกระดับไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการให้ลงทุนปรับเปลี่ยนเครื่องจักร

โดยได้กำหนดเกณฑ์การยกระดับไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 เช่น ระบบอัตโนมัติและการเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์ การวิเคราะห์ข้อมูลและการปฏิบัติการที่ชาญฉลาด หรือการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้บริหารจัดการในกระบวนการผลิตและการบริหารองค์กร โดยให้ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 3 ปี สัดส่วน 100% ของเงินลงทุนในการปรับปรุง แต่ต้องเสนอแผนการลงทุนที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยยื่นขอรับการส่งเสริมภายในสิ้นปี 65 และต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี นับจากวันที่ออกบัตรส่งเสริม 

น.ส.ดวงใจ กล่าวว่า ที่ประชุมยังรับทราบตัวเลขการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในช่วง 9 เดือน (ม.ค. - ก.ย.64) มีจำนวน 1,273 โครงการ เพิ่มขึ้น 23% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนรวม 520,680 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 140% โดยมีมูลค่าสูงกว่าปี 63 ทั้งปี ที่มี 432,000 ล้านบาท และสูงกว่ามูลค่าเฉลี่ยก่อนเกิดโควิดช่วงปี 2558 – 2562 ที่มี 483,664 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นสัญญาณที่ดีกับการลงทุนที่กำลังเริ่มฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง โดยบีโอไอ ประเมินตัวเลขคำขอทั้งปีน่าจะอยู่ที่ประมาณ 6 แสนล้านบาท 

‘คลัง’ เรียกเงินคืนผิดเงื่อนไข 'เราชนะ' ขีดเส้นให้ยื่นอุทธรณ์ได้ ภายใน 15 วัน

11 ต.ค. 64 นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้ดำเนินการตรวจสอบผู้ประกอบการที่ฝ่าฝืนหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขในโครงการเราชนะ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ช่วยลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน และมีส่วนช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนและผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยประชาชนผู้ได้รับสิทธิ จำนวน 33.2 ล้านคน จะได้รับเงินช่วยเหลือจำนวนไม่เกิน 9,000 บาท ตลอดโครงการ ด้วยการใช้จ่ายกับผู้ประกอบการร้านค้าในโครงการ 1.3 ล้านราย ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แอปพลิเคชันเป๋าตัง และบัตรประจำตัวประชาชน

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาได้มีการประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือให้ประชาชนและผู้ประกอบการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการเราชนะมาโดยตลอด รวมถึงขอให้ประชาชนที่พบเห็นพฤติกรรมที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขของโครงการ สามารถแจ้งเบาะแสและส่งหลักฐานการกระทำที่ฝ่าฝืนหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขโครงการ ให้ สศค. ทราบ และได้มีประชาชนส่งเบาะแสและหลักฐานมาให้ ซึ่ง สศค. จะได้ดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายสำหรับผู้ที่กระทำผิดหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขของโครงการต่อไป

“สศค. ได้กำหนดแนวทางเพื่อควบคุมและป้องกันการกระทำผิดวัตถุประสงค์ของโครงการเราชนะอย่างเข้มงวด เพื่อรักษาสิทธิของประชาชนที่ได้รับในโครงการ และเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ในโครงการ ที่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และคำยินยอม (Consent) ที่ได้ตกลงไว้ จึงได้จัดตั้งคณะทำงานพิจารณาตรวจสอบข้อมูลและเรื่องร้องเรียนสำหรับโครงการเราชนะเพื่อติดตามตรวจสอบการกระทำที่เข้าข่ายฝ่าฝืนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการอย่างใกล้ชิด โดยในกรณีที่พบการกระทำที่ฝ่าฝืน เช่น การรับแลกวงเงินสิทธิเป็นเงินสด เป็นต้น ก็จะดำเนินการระงับสิทธิการเข้าร่วมโครงการ และร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงและขยายผลการสืบสวนสอบสวนต่อไป” นายพรชัย กล่าว

ยัน!! รัฐทำตามกฎหลังร้านค้าเจอริบเงินเราชนะเพราะผิดเงื่อนไขจริง

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หลังเกิดกรณีที่เกิดกระแสในโลกออนไลน์กรณีกระทรวงการคลังได้ตรวจสอบผู้ประกอบการที่ไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของผู้ประกอบการในโครงการเยียวยาของรัฐ โครงการเราชนะ ตรวจพบลักษณะธุรกรรมที่ผิดเงื่อนไขทั้ง ร้านค้ารับสแกนแล้วแลกเป็นเงินสด มีการสแกนเงินเต็มวงเงินสิทธิ (1,000 หรือ 2,000 บาท ) จำนวนมาก และร้านค้าออนไลน์ที่รับสแกนซื้อ-ขายข้ามจังหวัด หรือบางรายอยู่นอกพื้นที่ในเวลาใกล้เคียงกัน ถือเป็นพฤติกรรมที่ไม่สอดคล้องกับลักษณะการประกอบกิจการของผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนไว้กับโครงการ  จึงจำเป็นต้องมีหนังสือประทับตราแจ้งคำสั่งผลการพิจารณาให้ผู้ประกอบการ 2,099 ราย ที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายฝ่าฝืนหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขของโครงการเราชนะ 

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการสามารถยื่นอุทธรณ์คำสั่ง พร้อมแสดงหลักฐานให้ทบทวนผลการพิจารณาต่อผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงอีกครั้งหนึ่ง  ซึ่งกระทรวงการคลังมีขั้นตอนการดำเนินงานกับผู้ฝ่าฝืนหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไข ตั้งแต่ การระงับสิทธิการใช้แอปพลิเคชันถุงเงิน ชั่วคราวจนถึงการดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องตามลำดับ รวมทั้งยังจัดตั้งคณะทำงานพิจารณาตรวจสอบข้อมูลและเรื่องร้องเรียนสำหรับโครงการเราชนะ เพื่อติดตามตรวจสอบการกระทำที่เข้าข่ายฝ่าฝืนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการฯ อย่างใกล้ชิด 

รัฐบาลหนุนไมโคร-เอสเอ็มอีเข้าถึงสภาพคล่อง บสย.ปรับเกณฑ์ค้ำประกันเป็น 100% เพิ่มความมั่นใจให้ธนาคารปล่อยกู้พ.ร.ก.สินเชื้อฟื้นฟู อนุมัติแล้ว 1.08 แสนลบ.

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยตัวเลขการปล่อยสินเชื่อภายใต้พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2564 หรือ ที่เรียกว่าพ.ร.ก.สินเชื้อฟื้นฟู ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ณ วันที่ 8 ตุลาคม 2564 แบ่งเป็น 1. โครงการสินเชื่อฟื้นฟู มีสินเชื่อได้อนุมัติแล้วจำนวน 1.08 แสนล้านบาท  ผู้ได้รับความช่วยเหลือจำนวน 3.5หมื่นราย (เดือนกรกฎาคมอยู่ที่ 7.8 หมื่นล้านบาท 2.5 หมื่นราย) คิดเป็นวงเงินอนุมัติเฉลี่ยจำนวน 3.07 ล้านบาท/ราย โดยประมาณร้อยละ 45  ของผู้ได้รับความช่วยเหลือทั้งหมดเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และ 2. โครงการพักทรัพย์ พักหนี้  มีมูลค่าสินทรัพย์ที่ได้รับโอนแล้ว 1.5 หมื่นล้านบาท ช่วยเหลือไปแล้ว 112  ราย (เดือนกรกฎาคมอยู่ที่ 1 พันล้านบาท มี 16 ราย) รวมทั้งยังมีผู้ประกอบการที่สนใจรายอื่น ๆ อยู่ระหว่างการเจรจาด้วย 

ขณะเดียวกัน การค้ำประกันสินเชื่อเอสเอ็มอี ของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) คาดว่าจนถึงสิ้นปีนี้ ยอดการค้ำประกันจะเกิน 2 แสนล้านบาท โดยประมาณ 1 แสนล้านบาท มาจากการค้ำประกันสินเชื่อฟื้นฟูของ ธปท. และอีกประมาณ 8-9หมื่นล้านบาท มาจากการค้ำประกันตามปกติของบสย. ทั้งนี้บสย.เพิ่งได้ขยายกรอบวงเงินค้ำประกันสินเชื่อฟื้นฟูของ ธปท.ออกไปอีก 1 แสนล้านบาท และปรับหลักเกณฑ์ให้เปิดกว้างมากยิ่งขึ้นเพื่อช่วยผู้ประกอบการกลุ่มไมโคร และ กลุ่มเอสเอมอีที่เปราะบาง ได้ลดภาระต้นทุนค่าธรรมเนียม และเพิ่มโอกาสได้วงเงินสินเชื่อเพิ่ม ซึ่งรายละเอียดประกอบด้วย

1. ปรับลดค่าธรรมเนียมค้ำประกันทันทีตั้งแต่ปีแรก สำหรับผู้ประกอบการกลุ่มไมโคร และ กลุ่มเอาเอ็มอีเปราะบาง จ่ายเริ่มต้นเพียง 1% ต่อปีต่อเนื่อง 4 ปีแรก รวม 13% ตลอดระยะเวลา 10 ปี 
2. เพิ่มโอกาสผู้ประกอบการกลุ่มไมโคร และกลุ่มเอสเอ็มอีเปราะบาง ได้รับวงเงินสินเชื่อเพิ่มขึ้นสูงสุด 50 ล้านบาทต่อราย
3. เพิ่มความมั่นใจให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อโดย บสย. จ่ายค่าประกันชดเชยเต็ม 100% ในกลุ่มไมโครจากเดิม 90%  และ กลุ่มเอสเอ็มอีเปราะบาง จากเดิม 80%  

กพร. ปัด เอื้อประโยชน์บริษัท อัคราฯ ปมออกอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำ

กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ปฏิเสธการเอื้อผลประโยชน์ให้กับบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) กรณีอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำ ยันดำเนินการทุกขั้นตอนตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งพิจารณาผลกระทบในมิติต่าง ๆ อย่างรอบคอบแล้ว

นายนิรันดร์ ยิ่งมหิศรานนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงกรณีที่ตัวแทนกลุ่มประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ ยื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กรณีอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษให้กับ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ในเขตพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ จำนวน 44 แปลง โดยมองว่าเป็นการกระทำความผิดตามกฎหมายพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มีลักษณะเป็นการเอื้อผลประโยชน์ให้กับบริษัท อัคราฯ เพื่อไม่ให้เกิดการประมูลตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ กพร. ขอชี้แจงว่า 

การอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำของบริษัท อัคราฯ เป็นการอนุญาตตามคำขอเดิมที่บริษัท อัคราฯ ได้ยื่นไว้ตั้งแต่ปี 2546 และ 2548 แต่ด้วยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 72/2559 ระบุให้ผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำทุกรายทั่วประเทศ ระงับการประกอบกิจการไว้เป็นการชั่วคราว รวมถึงให้ระงับการอนุญาตสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำไว้ จนกว่าคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ (คนร.) จะมีมติเป็นอย่างอื่น ซึ่งต่อมาในเดือนสิงหาคม 2560 คนร. มีมติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถพิจารณาอนุญาตประกอบกิจการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำได้ภายใต้ พ.ร.บ. แร่ พ.ศ. 2560 และกรอบนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ทองคำ พ.ศ. 2560 

อสังหาฯ ยังซมพิษโควิด ลุ้นอีก 6 เดือนข้างหน้าค่อย ๆ ฟื้น

นายวิชัย วิรัตกพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เปิดเผยว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ ยังคงชะลอตัวลง และตั้งแต่ต้นปี 2563 จนมาถึงไตรมาส 3 ปี 2564 โดยค่าดัชนีไตรมาสนี้ยังต่ำกว่าระดับ 50.0 หลังจากจากการบังคับใช้มาตรการควบคุม LTV ของธนาคารแห่งประเทศไทยในไตรมาส 2 ปี 2562 รวมทั้งประเทศไทยต้องประสบกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญอย่างมากที่ทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัวทั้งในด้านอุปสงค์และอุปทาน 

ทั้งนี้ในไตรมาส 3 ปี 2564 สถานการณ์การระบาดของโควิดมีความรุนแรงมากขึ้น เห็นได้ชัดเจนจากตัวเลขผู้ติดเชื้อเฉลี่ยรายวันอยู่ที่ประมาณ 15,000 คนต่อวัน และมีการล๊อคดาวน์ในบางพื้นที่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลที่เป็นพื้นที่เศรษฐกิจหลักของประเทศที่มีการล๊อคดาวน์อีกครั้งตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคมจนถึงเดือนกันยายน 2564 ทำให้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยตรงและยังคงทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยมีความวิตกกังวลต่อผลกระทบของสถานการณ์ดังกล่าวในภาวะปัจจุบันเป็นอย่างมาก

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ – ปริมณฑล ในภาพรวมอีก 6 เดือนข้างหน้ามีค่าเท่ากับ 57.2 เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนจากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งอยู่ที่ระดับ 50.5 และมีการเพิ่มขึ้นในทุกปัจจัยสะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นต่อการพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในอีก 6 เดือนข้างหน้าในเชิงบวกเพิ่มขึ้นมากจากไตรมาสก่อนหน้า อาจเป็นเหตุผลจากการที่รัฐบาลประกาศให้บริการวัคซีนเข็มกระตุ้น หรือเข็มที่ 3 โดยไม่มีค่าใช้จ่าย 

รวมทั้งการที่ประเทศไทยได้รับบริจาควัคซีนไฟเซอร์จากสหรัฐอเมริกาโดยเร่งฉีดให้บุคลากรด่านหน้า กลุ่มเปราะบาง และนักเรียนที่มีอายุอยู่ในช่วง 12 -18 ปี โดยรัฐบาลตั้งเป้าฉีดวัคซีนให้ครบสองเข็มให้ได้ 70% ของประชากรทั้งประเทศภายในสิ้นปีนี้ และศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) ได้มีการเสนอต่อ ครม. ออกมาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาฯ โดยเห็นชอบร่างแก้ไขกฎหมาย ขยายเพดานให้ชาวต่างชาติถือครองกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย โดยขยายเพดานให้ชาวต่างชาติถือครองกรรมสิทธิ์ห้องชุดได้เกิน 49% ตลอดจนให้สิทธิ์เพิ่มที่อยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยว เพื่อให้สิทธิ์นักลงทุนต่างชาติ เข้าซื้ออสังหาริมทรัพย์ไทยและนำเงินเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น 

โฆษกรัฐบาล เผย โครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” เฟส 3 เปิดจองโรงแรม/ที่พักแล้ววันนี้! พร้อมเพ็คเกจ “ทัวร์เที่ยวไทย” 1 ล้านสิทธิ เริ่ม Check-In วันแรก 15 ต.ค. เป็นต้นไป 

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3 พร้อมเปิดให้ประชาชนจองโรงแรม/ที่พักแล้ว หลังจากที่มีการเปิดลงทะเบียนเมื่อวันที่ 24 กันยายน ที่ผ่านมา จำนวน 2 ล้านสิทธิ โดยประชาชนสามารถจองโรงแรม/ที่พักได้ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม – 23 ตุลาคม 2564 เข้าพักได้ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป และจะสิ้นสุดโครงการวันที่ 31 มกราคม 2565 โดยโครงการเราเที่ยวด้วยกัน  รัฐบาลจะสนุนค่าโรงแรม 40% ของราคาที่พักต่อห้องต่อคืน ทั้งนี้ไม่เกิน 3,000 บาท ต่อห้องต่อคืน จำกัดสิทธิคนละไม่เกิน 15 ห้อง หรือ 15 คืน พร้อมสนับสนุนส่วนลด e-voucher คูปองอาหาร/ท่องเที่ยวมูลค่า 600 บาท ต่อห้องต่อคืน เมื่อเข้าพัก Check-In ที่โรงแรม

โดยคูปองอาหาร/ท่องเที่ยว สามารถใช้ได้ที่ร้านอาหารและสถานที่ท่องเที่ยวที่ร่วมโครงการ ประชาชนชำระ 60% และรัฐบาลสนับสนุนอีก 40% ผ่านการตัดเงินจากคูปอง ทั้งนี้ รัฐบาลยังสนับสนุนค่าตั๋วเครื่องบิน 2 สิทธิผู้โดยสาร ต่อ 1 ห้องโรงแรมที่จอง 40% ของราคาค่าตั๋วเครื่องบิน แต่ไม่เกิน 2,000 บาท ต่อผู้โดยสาร พร้อมมีสิทธิเพิ่มเติมสนับสนุนค่าตั๋วเครื่องบินเท่ากับ 40% ของราคาตั๋วเครื่องบิน แต่ไม่เกิน 3,000 บาท ต่อผู้โดยสาร เมื่อเดินทางท่องเที่ยวไปยัง ภูเก็ต พังงา กระบี่ สุราษฎร์ธานี สงขลา เชียงใหม่ และเชียงราย อีกด้วย

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำหรับโครงการทัวร์เที่ยวไทย มีบริษัททัวร์สมัครลงทะเบียนเพิ่มขึ้นจำนวนกว่า 366 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 28 กันยายน 2564) โดยประชาชนสามารถเริ่มจองแพ็คเกจทัวร์ได้ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2564 – 31 มกราคม 2565 ผ่านผู้ประกอบการนำเที่ยวโดยตรง ใช้ได้ 1 สิทธิต่อ 1 คน จองแพ็คเกจก่อนเดินทางล่วงหน้า 7 วัน ซึ่งรัฐบาลจะสนับสนุนค่าแพ็คเกจท่องเที่ยว 40% ไม่เกิน 5,000 บาทต่อสิทธิ จำนวน 1 ล้านสิทธิ 

‘รมว.ท่องเที่ยว ยัน 1 พ.ย. เปิดกทม.และ 4 จังหวัด รับต่างชาติ พร้อมตั้งธงปี 65 คืนชีพรับนักท่องเที่ยว 15 ล้านคน

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า คาดการณ์เป้าหมายรายได้รวมของภาคการท่องเที่ยวในปี 2565 อยู่ที่ 1.5 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย จำนวน 15 ล้านคน สร้างรายได้ประมาณ 6 แสนล้านบาท ส่วนตลาดไทยเที่ยวไทย เกิดการเดินทาง 160 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ประมาณ 8 แสนล้านบาท ซึ่งหากประเมินในแง่รายได้ของตลาดรวมจะคิดเป็น 50% ของปีปกติก่อนเกิดการระบาดโควิด-19 หรือปี 2562 ที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวรวมอยู่ที่ 3.4 ล้านล้านบาท โดยในปี 2564 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้ตั้งเป้ารายได้รวมจากการท่องเที่ยวทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศที่ 8.5 แสนล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 3 แสนล้านบาท ส่วนนักท่องเที่ยวในประเทศ อยู่ที่ 5.5 แสนล้านบาท

นายพิพัฒน์กล่าวว่า การระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยทั้งระบบ อาทิ โรงแรม ขนส่ง บริษัทนำเที่ยว นวดสปา ซึ่งคิดเป็น 17% ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ไทย เนื่องจากการเดินทางท่องเที่ยวหายไป ทั้งตลาดไทยเที่ยวไทย และตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยจากข้อมูลพบว่า การเดินทางของคนไทยหายไป 84.75% ส่วนต่างชาติหายไปกว่า 99.98% กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ร่วมกับ ททท. ในการจัดทำแผนขับเคลื่อนเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ตามนโยบายเปิดประเทศใน 120 วันของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

เชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.ย. 2564 อยู่ที่ระดับ 41.4 ปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน เนื่องจากผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นมากขึ้น หลังจากที่รัฐบาลเริ่มผ่อนคลายมาตรการ โดยอนุญาตให้เปิดกิจการ/กิจกรรมต่างๆได้มากขึ้น นอกจากนี้สถานการณ์ระบาดของโควิดในประเทศก็ดีขึ้น โดยจำนวนผู้ได้รับวัคซีนต้านโควิดเพิ่มขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม และคาดว่าจะฉีดได้ครบ 70% ของประชากร ตามเป้าหมายภายในสิ้นปีนี้ ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อรายวันมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง

สำหรับปัจจัยบวกคือ การผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด เพื่อให้ธุรกิจและประชาชนสามารถดำเนินชีวิตและประกอบธุรกิจได้ใกล้เคียงปกติ รวมทั้งขยายเวลาเคอร์ฟิวออกไปเป็น 22.00-04.00 น. โดยเริ่มตั้งแต่ 1 ต.ค.เป็นต้นไป การฉีดวัคซีนของโลกและการฉีดวัคซีนในประเทศที่เริ่มเป็นรูปธรรมและปรับตัวดีขึ้น ภาครัฐดำเนินมาตรการเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประกอบด้วย โครงการเราชนะ ม.33 เรารักกัน คนละครึ่งเฟส 3 ยิ่งใช้ยิ่งได้ และบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 เป็นต้น

ขณะที่ปัจจัยลบได้แก่ ความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วมหลายจังหวัดสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชน ความกังวลต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังส่งผลกระทบต่อกากรดำเนินชีวิต ธุรกิจ และภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ระดับระคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น ความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเมือง ผู้บริโภค มีความรู้สึกว่าเศรษฐกิจยังชะลอตัวลง ตลอดจนค่าครองชีพและราคาสินค่ายังทรงตัวในระดับสูง ดัชนี SET INDEX ปรับตัวลดลง 33.07 จุด และ เงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top