Wednesday, 14 May 2025
ECONBIZ NEWS

รัฐบาลเคาะแผนลงทุนอีอีซี 5 ปีข้างหน้า มูลค่า 2.2 ล้านล้านบาท

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการ กพอ. ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ผ่านระบบ Video Conference ว่า ที่ประชุมเห็นชอบการปรับแผนลงทุนอีอีซีในระยะ 5 ปีข้างหน้า (ปี 2565-69) มีวงเงินลงทุนรวมประมาณ 2.2 ล้านล้านบาท เน้นขับเคลื่อนต่อยอดและเร่งรัดการลงทุนด้วยการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม และวิจัยพัฒนา เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ ถือเป็นกลไกหลักช่วยผลักดันเศรษฐกิจไทยให้เติบโตเต็มศักยภาพ 4.5 – 5% ต่อปี และยังช่วยบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 พร้อมส่งผลให้ไทยพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ก้าวสู่ประเทศพัฒนาได้ในปี 72

สำหรับตามแผนการลงทุนรวม 2.2 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ 1.การต่อยอดโครงสร้างพื้นฐาน 2 แสนล้านบาท จากเมืองการบินภาคตะวันออก การพัฒนาพื้นที่ 30 กม.รอบสนามบิน และพัฒนาพื้นที่รอบสถานีหลักรถไฟความเร็วสูงฯ 2.ดึงดูดอุตสาหกรรมเป้าหมาย ปีละ 400,000 ล้านบาท  แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ การลงทุนในระดับฐานปกติ ปีละ 250,000 ล้านบาท และการลงทุนส่วนเพิ่มที่เน้นอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ดิจิทัล การแพทย์สมัยใหม่ การขนส่งโลจิสติกส์ เกษตรสมัยใหม่และอาหาร รวมปีละ 150,000 ล้านบาท 3.ยกระดับชุมชนและประชาชน เร่งพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนระดับหมู่บ้าน พัฒนาตลาดสด/ e-commerce สร้างรายได้ให้ชุมชนเพิ่ม ยกเครื่องการศึกษา สาธารณสุขพื้นฐาน สิ่งแวดล้อมและสาธารณูปโภคที่สะดวกสบายให้ชุมชน  

‘สุริยะ’ เผยมติ ร่างมาตรฐาน ‘ตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า - EV’ ดัน สยย. เดินหน้าให้บริการทดสอบ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม แถลงถึงผลการดำเนินงานของสำนักงานมาตราฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ว่าคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ได้มีมติเห็นชอบให้สมอ. นำร่างมาตรฐานรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า (มอก.3264-2564) และร่างมาตรฐานด้านยานยนต์อัจฉริยะอุปกรณ์ไฟฟ้าในรถยนต์ ไปประกาศใช้เป็นมาตรฐานแล้ว เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้ประเทศไทยมุ่งสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน (EV) ที่สำคัญของโลกตามนโยบายของประเทศ

สถาบันยานยนต์ (สยย.) ในฐานะกรรมการและเลขานุการของคณะผู้จัดทำร่างมาตรฐานรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า ได้ใช้มาตรฐาน EU 168/2013 อ้างอิงในการจัดทำ เพื่อให้รถตุ๊กตุ๊กตามมาตรฐานนี้มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของสากล และเพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมการผลิตรถตุ๊กตุ๊กสันดาปภายใน สู่การผลิตรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าตามนโยบายของประเทศ โดยมาตรฐานรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้ากำหนดคุณสมบัติที่สำคัญในด้านต่างๆ ดังนี้...

1.) ด้านลักษณะทั่วไป
>> ขนาด ต้องมีความยาวไม่เกิน 4,000 มิลลิเมตร ความกว้างไม่เกิน 2,000 มิลลิเมตร ความสูงไม่เกิน 2,000 มิลลิเมตร และความสูงภายในไม่น้อยกว่า 1,200 มิลลิเมตร
>> โครงสร้าง ต้องมั่นคงแข็งแรง ที่นั่งทุกที่นั่งต้องติดตั้งเข็มขัดนิรภัย
>> มวลรถเปล่า ต้องไม่เกิน 1,000 กิโลกรัม
>> มอเตอร์ไฟฟ้า ต้องมีกำลังพิกัดมอเตอร์ไม่น้อยกว่า 4 กิโลวัตต์

2.) ด้านความปลอดภัย 
>> สมดุลการเข้าโค้ง (J-Turn) ต้องไม่ลื่นไถลออกนอกโค้ง เมื่อขับขี่เข้าโค้งที่รัศมีโค้ง 3 เมตร ด้วยความเร็วเข้าโค้งที่ (20+1) กิโลเมตร/ชั่วโมง 
>> ระบบเบรก (Brake Performance) ต้องมีระยะเบรกไม่เกิน 20.09 เมตร และไม่พลิกคว่ำหรือลื่นไถลออกนอกช่องทางที่กำหนด เมื่อขับขี่ด้วยความเร็ว 45 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใช้แรงเบรกที่เท้าไม่เกิน 500 นิวตัน 
>> การเบรกขณะจอดบนพื้นลาดเอียง (Parking Brake) ต้องหยุดนิ่งได้มากกว่า 60 วินาที โดยไม่ลื่นไถลลงบนพื้นลาดเอียงที่ 12% เมื่อใช้แรงดึงเบรกมือไม่เกิน 200 นิวตัน 
>> ความเข้ากันได้ทางแม่เหล็กไฟฟ้า (EMC) ต้องมีเกณฑ์การปล่อยสัญญาณรบกวนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Radiated Emission) และภูมิคุ้มกันต่อการรบกวนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Immunity Radiation Fields) เป็นไปตามที่กำหนด
>> การป้องกันน้ำ ต้องมีค่าความต้านทานทางฉนวนไฟฟ้าของอุปกรณ์ควบคุมที่ใช้ระบบไฟฟ้ากระแสตรงมากกว่า 100 โอห์ม/โวล์ท หรือมีค่าความต้านทานทางฉนวนไฟฟ้าของอุปกรณ์ควบคุมที่ใช้ระบบไฟฟ้ากระแสสลับหรือที่ใช้ระบบไฟฟ้าผสมระหว่างกระแสตรงและกระแสสลับ มากกว่า 500 โอห์ม/โวล์ท เมื่อนำรถตุ๊กตุ๊กไปวิ่งฟรีอยู่กับที่ในน้ำที่ระดับความสูงของน้ำ 30 เซนติเมตร ด้วยความเร็ว (20+1) กิโลเมตร/ชั่วโมง
>> มาตรวัดความเร็ว ต้องอ่านค่าความเร็วได้มากกว่าค่าความเร็วจริง แต่ต้องไม่เกิน 10% ของค่าความเร็วจริง บวกกับ 4 กิโลเมตร/ระยะเวลา 1 ชั่วโมง

‘กรณ์’ ชี้ Evergrande ระเบิดเวลาทางเศรษฐกิจ สัญญาณวิกฤตการเงินโลกครั้งใหม่ จี้ ทีมเศรษฐกิจไทยจัดทัพรับมือด่วน 

นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวแสดงความเป็นห่วง ระเบิดเวลาทางเศรษฐกิจจาก บ.อสังหาฯ ยักษ์ใหญ่ Evergrande ว่า กำลังจะส่งผลกระทบไม่ใช่แค่กับเศรษฐกิจจีน แต่สะเก็ดระเบิดนี้จะกระจายมาโดนเมืองไทยด้วยเหมือนสมัยวิกฤตแฮมเบอเกอร์ เมื่อสมัยที่ตนเป็นรมว.คลัง 

โดยในช่วงนั้นเราทำงานจับตาเรื่องซับไพรม์ใกล้ชิดตั้งแต่ต้น ทำงานเชิงลึกและทำความเข้าใจตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตจนจัดการได้อยู่ และแก้ไขจนไทยฟื้นตัวไวเป็นอันดับ 2 โลก แต่ครั้งนี้หนักกว่า เพราะความพึ่งพาที่ใกล้ชิดในหลายมิติระหว่างไทย-จีน มากกว่า ไทย-อเมริกา คำถามคือ วันนี้ไทยเตรียมรับมือกับประเด็น Evergrande หรือยัง 

ทั้งนี้ ตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาไทยเรารับมือกับเรื่องน้ำท่วมเป็นหลัก แต่ประเด็นนี้ต้องคอยจับตาให้ดี สื่อและนักวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจต่างชาติยังคงเกาะติดไม่หยุดกับประเด็นดังกล่าว

“Evergrande ใช้ยุทธศาสตร์ 3 สูง 1 ต่ำ คือหนี้สูง หนี้ต่อทุนสูง และยอดขายสูง ส่วน 1 ตํ่าคือ ต้นทุนต่ำ ยุทธศาสตร์นี้ทำให้ Evergrande เติบโตอย่างรวดเร็วในเวลาไม่กี่ปี แต่แล้วสุดท้ายการเสพติดหนี้ทำให้บริษัทล่มและสะเทือนไปถึงระบบธนาคารและแม้แต่การเมืองจีน ก่อนหน้านี้รัฐบาลจีนได้พยายามลดความเสี่ยงในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ด้วยการประกาศมาตรการ ‘3 เส้นแดง’ ที่ทุกบริษัทต้องปฏิบัติ ซึ่งเป็นการกำหนด 1.) สัดส่วนหนี้สินต่อทรัพย์สิน 2.) สัดส่วนหนี้ต่อทุน 3.) สัดส่วนเงินสดต่อหนี้ระยะสั้น” อดีต รมว.คลัง กล่าว

“บิ๊กตู่” ติดตามโรงไฟฟ้าลอยน้ำ คาดต.ค.นี้จ่ายไฟเข้าระบบ

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ขณะนี้ นายกรัฐมนตรี ได้ติดตามความคืบหน้าการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนสิรินธร ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งเป็นโซลาเซลล์ลอยน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีขนาดกำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ ปัจจุบัน มีความคืบหน้ากว่า 99.26% และพร้อมจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ภายในเดือนต.ค. นี้ เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลที่มีเป้าหมายขับเคลื่อนพลังงานโดยมุ่งเน้นการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานทางเลือก

สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าแบบไฮบริดนี้ ที่ผ่านมาครม. ได้สนับสนุนงบกลาง วงเงิน 643 ล้านบาท เป็นการดำเนินการร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี มีวงเงินลงทุน 2,265 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 87.53 ล้านหน่วยต่อปี รองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าในจังหวัดอุบลราชธานี และภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เพิ่มขึ้น และทางกฟผ. ยังเดินหน้าโครงการในพื้นที่เขื่อนอุบลรัตน์และเขื่อนอื่น ๆ  ทั่วประเทศ โดยมีเป้าหมายกำลังผลิตรวมทั้งหมด 2,725 เมกะวัตต์ ภายในปี 80 

รัฐบาลเตรียมแผนแก้ปัญหาหนี้ครู หลังพบครู 9 แสนคนเป็นหนี้ 1.4 ล้านล.

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรี ห่วงใยต่อสถานการณ์ปัญหาหนี้สินของครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งปัจจุบันพบว่าครูทั่วประเทศประมาณ 9 แสนคน คิดเป็น 80% มีหนี้รวมกัน 1.4 ล้านล้านบาท โดยเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุด คือ สหกรณ์ออมทรัพย์ครู วงเงิน 8.9 แสนล้านบาท คิดเป็น 64% รองลงมาคือ ธนาคารออมสิน วงเงิน 3.49 แสนล้านบาท คิดเป็น 25% ซึ่งนายกรัฐมนตรีกำชับกระทรวงศึกษาธิการ เร่งหาแนวทางในการแก้ปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรอย่างยั่งยืน รวมถึงให้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เตรียมพร้อมวงเงินปล่อยกู้ให้นักเรียนและนักศึกษาเข้าถึงแหล่งเงินเพื่อใช้ในค่าใช้จ่าย ปีการศึกษา 2564 ด้วย

ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการได้จัดทำแผนแก้ปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาทั้งระบบแล้ว ระยะแรกจะดำเนินการ 3 แผนงาน ได้แก่ แผนงานที่ 1. โครงการแก้ปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยใช้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูต้นแบบเป็นฐาน เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูร่วมกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูต้นแบบ จำนวน 12 แห่ง 4 ภาค ภาคละ 3 แห่ง ทำงานร่วมกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐทุกแห่ง และส่วนราชการสังกัดกระทรวงศึกษาธิการในพื้นที่จังหวัด ภายในเดือนตุลาคมนี้ และขยายผลการดำเนินไปยังสหกรณ์ออมทรัพย์ครูทั่วประเทศที่มีความพร้อม ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไป 

“มนัญญา” มอบนโยบายหวังขันน็อตพัฒนาสหกรณ์ทั่วประเทศ  

น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้มอบมอบนโยบายการทำงานเพื่อพัฒนาสหกรณ์ของกรมส่งเสริมสหกรณ์ ทั้งในเรื่องการทำงานเชิงการพัฒนา การส่งเสริมด้านธุรกิจและกำกับดูแลตรวจการสหกรณ์อย่างใกล้ชิด และขอให้เน้นย้ำเรื่องการดำเนินงานของสหกรณ์ให้มุ่งเน้นการแบ่งปันกำไรคืนสู่สมาชิก เนื่องจากสหกรณ์เป็นของสมาชิกทุกคน เพราะประโยชน์ที่เกิดจากการดำเนินงานของสหกรณ์ควรจะต้องย้อนกลับไปหาสมาชิกสหกรณ์ให้มากที่สุด และเรื่องการผลิตสินค้าปลอดภัย และมีคุณภาพ และช่วยกันในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐ ไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ที่ผ่านมากรมส่งเสริมสหกรณ์ดำเนินการในหลายโครงการ เช่น โครงการส่งเสริมการดำเนินธุรกิจร้านค้าสหกรณ์ในรูปแบบซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ ซึ่งได้ดำเนินการขับเคลื่อนพัฒนาร้านค้าสหกรณ์ให้เป็นจุดจำหน่ายสินค้าของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่มีคุณภาพจากจังหวัดต่าง ๆ เพื่อเป็นช่องทางให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินค้าสหกรณ์ได้มากขึ้น โครงการส่งเสริมให้เกษตรกรสมาชิกปลูกพืช/ผัก เพื่อสร้างทางเลือกที่มีศักยภาพและตลาดรองรับ ช่วยสร้างรายได้เสริมเพิ่มเติมจากอาชีพหลัก 

รวมไปถึงโครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน สานต่ออาชีพการเกษตร เพื่อสนับสนุนให้ลูกหลานสมาชิกสหกรณ์หรือบุคคลทั่วไปที่จากบ้านไปประกอบอาชีพ ในกรุงเทพฯ หรือในต่างจังหวัด กลับมาทำการเกษตรที่บ้านเกิด โดยสนับสนุนการรวมกลุ่มกันผลิตสินค้าการเกษตรเพื่อเป็นอาชีพเลี้ยงครอบครัว โดยมีสหกรณ์การเกษตรในพื้นที่คอยเป็นพี่เลี้ยง ตลอดจนการจัดหาตลาดรองรับ และกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้และให้คำปรึกษา โดยคาดหวังว่าจะทำให้เกษตรกรมีอาชีพที่ยั่งยืนและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 

หอการค้าฯ ประเมินกินเจปีนี้ใช้จ่ายติดลบต่ำสุดรอบ 14 ปี

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจพฤติกรรมและการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงเทศกาลกินเจ ระหว่างวันที่ 4-13 ต.ค.2564 นี้ ว่า เทศกาลกินเจในปีนี้ ไม่คึกคักแม้คนส่วนใหญ่ยังสนใจที่จะบริโภคอาหารเจ แต่ด้วยปัญหาการติดเชื้อโควิดยังมีอัตราที่สูง และอาหารยังมีราคาสูง แม้ว่าภาครัฐจะคลายล็อกในหลายภาคธุรกิจมากขึ้น แต่คนส่วนใหญ่ยังกลัวว่าโควิดที่จะติดเชื้อโควิดยังมีสูง ทำให้การกินเจในปีนี้ถือว่ายอดการใช้จ่ายตลอดการกินเจจะอยู่ 40,147 ล้านบาท ติดลบสูงถึง 14.5% เมื่อเทียบกับเทศกาลกินเจปีก่อนที่มีมูลค่า 46,967 ล้านบาท ถือว่าเทศกาลกินเจในปีนี้ติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ 14 ปี

ทั้งนี้จากผลสำรวจ ส่วนใหญ่ระบุว่า เทศกาลกินเจปีนี้ คนที่กินเจส่วนใหญ่ยังมีความต้องการที่จะร่วมกินเจเพื่อทำบุญและลดการบริโภคอาหารสัตว์ แต่ยอมรับว่าจากปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจโดยรวมมีปัญหา ทำให้เทศกาลกินเจในปีนี้ไม่คึกคักเหมือนปีที่ผ่านมา เนื่องจากยังวิตกจากปัญหาการติดเชื้อโควิดรายวันยังมีอัตราที่สูง จึงไม่อยากให้ติดเองต้องไปรับเชื้อจากโควิดเพิ่มเติม ทำให้การกินเจในปีนี้พฤติกรรมการกินเจจะเน้นไปสั่งซื้อสินค้าอาหารเจทางออนไลน์มาบริโภคแทนการออกไปนั่งกินหรือการไปกินเจตามสถานที่ต่างๆ เหมือนที่ผ่านมา

เช็คบัญชีด่วน คลังโอนเงิน 1,500 บาทใส่คนละครึ่งแล้ว

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้ (1 ต.ค.) กระทรวงการคลัง ได้โอนเงินคนละครึ่งรอบที่ 2 จำนวน 1,500 บาท เข้าแอปพลิเคชันเป๋าตัง แล้วโดยนำไปรวมกับวงเงินสิทธิคงเหลือจากในรอบแรกให้อัตโนมัติ ส่วนประชาชนที่ลงทะเบียนคนละครึ่งเฟส 3 หลังวันที่ 1 ต.ค.นั้น จะได้รับวงเงินรวมทั้งสิ้น 3,000 บาท กระตุ้นให้ประชาชนออกมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น โดยเมื่อรวมมาตรการต่าง ๆ ทั้งโครงการคนละครึ่ง เฟส 3 เพิ่มกำลังซื้อในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ และโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษนั้น มียอดการใช้จ่ายของแต่ละโครงการ ผู้ใช้สิทธิสะสมรวม 39.08 ล้านคน ยอดใช้จ่าย สะสม รวม 78,611.1 ล้านบาท 

อย่างไรก็ตามในวันที่ 4 ต.ค.เป็นต้นไป ประชาชนจะสามารถใช้สิทธิคนละครึ่งเฟส 3 และยิ่งใช้ยิ่งได้ ผ่านแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ อย่าง GRAB และ LINE MAN ได้ โดยตอนนี้มีร้านค้าเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 30,000 ราย ถือเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนเข้าถึงบริการได้มากขึ้น สอดคล้องกับชีวิตวิถีใหม่ในยุคโควิด-19 และยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนในไตรมาสที่ 4 ปี 2564 ให้ขยายตัวมากขึ้นด้วย 

กระทรวงอุตสาหกรรม จับมือ กระทรวงเศรษฐกิจและการจ้างงานแห่งสาธารณรัฐฟินแลนด์ ลงนาม MOU ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ตั้งเป้าส่งเสริมและเสริมสร้างความเข้าใจและความร่วมมือระดับทวิภาคีด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน 

นายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และนายยูริ ยาร์วียาโฮ เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐฟินแลนด์ประจำประเทศไทย ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจการดำเนินการด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน (Memorandum of Understanding on Cooperation in Circular Economy) ผ่านระบบออนไลน์ โดยรองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมระบุว่า การจัดทำบันทึกความเข้าใจการดำเนินการด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนครั้งนี้ เกิดขึ้นจากเมื่อเดือนกันยายน 2562 รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศฟินแลนด์ ได้ร่วมหารือกับรัฐบาลไทยเรื่องแนวปฏิบัติสำหรับความร่วมมือเกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) 

และแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งไทยและฟินแลนด์ต่างเล็งเห็นความสำคัญของการใช้เศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นเครื่องมือเพื่อบรรลุเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมและยั่งยืน โดยเป็นกลไกสำคัญสำหรับแก้ไขปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้แสดงเจตนารมณ์ร่วมกัน และจัดทำบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ขึ้น เพื่อส่งเสริมและเสริมสร้างความเข้าใจและความร่วมมือในระดับทวิภาคีด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน เช่น การแลกเปลี่ยนความรู้ นโยบาย และกลยุทธ์ในด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน การดำเนินการด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนในสาขาที่สำคัญ เช่น อุตสาหกรรม เคมี พลาสติก และผลิตภัณฑ์ชีวภาพ และการจัดการกิจการอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน

ผู้ประกันตน ปลื้ม!! นายก สั่ง รมว.เฮ้ง จ่ายเยียวยาลูกจ้าง นายจ้างแล้วกว่า 9 หมื่นล้านบาท อ

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจ่ายเงินเยียวยาแรงงานและผู้ประกอบการจากรัฐบาลใน 29 จังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา ชลบุรี ฉะเชิงเทรา พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี สมุทรสงคราม สุพรรณบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี อ่างทอง นครนายก ปราจีนบุรี ลพบุรี ระยอง สิงห์บุรี สระบุรี นครราชสีมา เพชรบูรณ์ และตาก เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด -19 ตามมาตรการของ ศบค.นั้นว่า ท่านนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีความห่วงใยพี่น้องผู้ใช้แรงงานและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกนะทบจากโควิด -19 จึงได้มีข้อสั่งการให้กระทรวงแรงงาน

โดยสำนักงานประกันสังคม ดำเนินการโครงการเยียวยานายจ้าง ผู้ประกันตนมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 ซึ่งตั้งแต่ช่วงเดือนต้น ถึง 28 กันยายน 2564 กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ได้โอนเงินเข้าบัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขบัตรประชาชน เพื่อให้ความช่วยเหลือนายจ้าง และผู้ประกันตนทั้ง 3 มาตรา ไปแล้วเป็นเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจกว่า 9 หมื่นล้านบาท ให้แก่นายจ้างกว่า 150,000 ราย ผู้ประกันตน ม.33,39 และ 40 จำนวนเกือบ 12 ล้านคน ส่วนที่เหลือผู้ประกันตน จำนวน 4 แสนกว่าราย และนายจ้าง จำนวนกว่า 2,100 ราย เงินยังไม่เข้าเนื่องจากสาเหตุบัญชียังไม่ได้ผูกพร้อมเพย์ หรือผูกพร้อมเพย์เลขบัตรประชาชนไม่ได้ เช่น เป็นบุคคลล้มละลาย ถูกอายัดบัญชีจากกรมบังคับคดี หรือเป็นผู้ทุพพลภาพ เป็นต้น ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการเยียวยาเพิ่มเติม 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top