Wednesday, 14 May 2025
ECONBIZ NEWS

แบงก์รัฐแข่งดุ ออมสิน เปิดรีไฟแนนซ์บ้าน เปิดกู้ปีนี้ ผ่อนปีหน้า 

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารออมสินได้ออกสินเชื่อบ้านกู้ปีนี้ ผ่อนปีหน้า ด้วยเงื่อนไขพิเศษที่ยังไม่ต้องผ่อนปีนี้ ให้เริ่มผ่อนปีหน้าและผ่อนต่อเดือนที่ต่ำมาก ทำให้มีเงินสดไว้ใช้จ่ายที่จำเป็น หรือนำไปปิดบัญชีเงินกู้เพื่อปลดล็อกหนี้ต่าง ๆ จึงไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระการผ่อนบ้านและหนี้สินต่าง ๆ ที่อัตราดอกเบี้ยสูง และช่วยเหลือคนไทยให้ก้าวผ่านความยากลำบากนี้ไปด้วยกัน 

สำหรับการกู้ปีนี้ ผ่อนปีหน้า ประกอบด้วย สินเชื่อบ้าน เพื่อไถ่ถอนจำนองจากสถาบันการเงินอื่น หรือ รีไฟแนนซ์ มีให้เลือกทั้งแบบปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 0% นาน 9 เดือน โดยในเดือนที่ 10-12 ผ่อนล้านละ 2,000 บาท และแบบปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 0% นาน 6 เดือน โดยในเดือนที่ 7-12 ผ่อนล้านละ 1,500 บาท ซึ่งทั้ง 2 แบบ อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปี เท่ากับ 2.50% ต่อปี โดยลูกค้าที่รีไฟแนนซ์จะได้สิทธิในการกู้เพิ่มเติม เพื่ออุปโภคบริโภคในโอกาสนี้ด้วย ให้กู้สูงสุด 5 ล้านบาท มีทั้งเงินกู้ระยะยาว ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือนแรก 

จากนั้นคิดอัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 3.90% ต่อปี และวงเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีอัตราดอกเบี้ยปีแรก 3.75% สินเชื่อบ้าน เพื่อซื้อ สร้าง หรือต่อเติมซ่อมแซมที่อยู่อาศัย ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 0% 6 เดือนเช่นกัน ซึ่งในเดือนที่ 7-12 ผ่อนล้านละ 1,500 บาท โดยธนาคารไม่คิดค่าจัดทำนิติกรรมสัญญาและค่าบริการสินเชื่อ โดยผู้ที่กู้สินเชื่อบ้านและรีไฟแนนซ์ดังกล่าว จะต้องได้รับอนุมัติและจัดทำนิติกรรมสัญญาให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 ธ.ค. 2564 ยกเว้นโปรแกรมรีไฟแนนซ์ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 9 เดือน ต้องได้รับอนุมัติและจัดทำนิติกรรมสัญญาให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 29 ต.ค.นี้ 

รัฐบาลคลอดแผนดึงนักลงทุนต่างชาติ 5 ปีหวังโกย 1 ล้านล้าน

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม. เห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย ตามที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ แบ่งเป็น 2 มาตรการ คือ การออกวีซ่าประเภทผู้พำนักระยะยาว และการแก้ไขกฎหมายหรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อดึงดูดชาวต่างชาติ ตั้งเป้าหมายในช่วง 5 ปี (2565-69) สามารถดึงดูดชาวต่างชาติ 1 ล้านคน ให้ย้ายถิ่นฐานมาพำนักในไทย ช่วยสร้างรายได้เข้าประเทศ โดยช่วยเพิ่มปริมาณเงินใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจถึง 1 ล้านล้านบาท รวมถึงมีปริมาณเงินลงทุนในระบบเศรษฐกิจ 8 แสนล้านบาท และเพิ่มรายได้ทางภาษี 2.7 แสนล้านบาท

สำหรับการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย โดย มี 4 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ 1.กลุ่มประชากรโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง 2. กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ 3. กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย และ 4. กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ โดย ประกอบด้วย 2 มาตรการหลัก คือ 

1. การออกวีซ่าประเภทผู้พำนักระยะยาว (Long-term resident visa)  กำหนดวีซ่าประเภทใหม่ให้กับกลุ่มของชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงซึ่งจะได้ข้อยกเว้นและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ การยกเว้นให้ผู้ถือวีซ่าประเภท ผู้พำนักอาศัยระยะยาวและวีซ่าประเภท Smart visa ทั้งหมดไม่ต้องมีหนังสือแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบหากอยู่ในประเทศเกิน 90 วัน 

2. การแก้ไขกฎหมายหรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการถือครองที่ดิน  การบริหารจัดการการทำงานและอนุญาตให้คนต่างด้าวสามารถทำงานให้นายจ้างทั้งที่อยู่ในและนอกราชอาณาจักรได้  การยกเว้นหลักเกณฑ์การกำหนดให้การจ้างคนต่างด้าว 1 คน ต้องจ้างงานพนักงานคนไทยทำงานประจำ 4 คน การยกเว้นภาษีประเภทต่าง ๆ และระเบียบวิธีปฏิบัติด้านการศุลกากรโดยคณะรัฐมนตรีมอบหมายให้ สศช. ดำเนินการหารือกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

เปิดวาระครม. เตรียมเคาะแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ-การลงทุน

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะเสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย หลังจากทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลได้ตั้งคณะทำงานเพื่อผลักดันเรื่องนี้ โดยมีทั้งเป้าหมายในการชักจูงการลงทุน รวมถึงการแก้ไขปัญหาและอุปสรรค เช่น การให้สิทธิประโยชน์ทางลดภาษี การอำนวยความสะดวก และการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ

ทั้งนี้ ยังมีวาระอื่น ๆ กระทรวงการคลัง เตรียมเสนอการพิจารณาเรื่องการลดหย่อนภาษีผู้ประกอบการที่ซื้อชุดตรวจเอทีเค (ATK) และนำมาให้บุคลากรในองค์กรได้ตรวจ สามารถนำใบเสร็จค่าใช้จ่ายไปลดหย่อนภาษีได้ 1.5 เท่า ส่วนกระทรวงอุตสาหกรรม  เสนอ เสนอขอทบทวนการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2530 เรื่องมติคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่ บริเวณชายฝั่งทะเลฝั่งตะวันออก ครั้งที่ กพอ. 2/2530 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2531 ด้านกระทรวงคมนาคมเสนอพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการให้ได้ที่ดินเพิ่มเติมและการจ่ายเงินค่าทดแทนเพื่อ ชดเชยให้แก่ผู้ถูกเวนคืน พ.ศ...

ด้านสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดข้อความโฆษณาสินค้าหรือบริการที่เป็นการไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคหรือที่อาจก่อให้เกิด ผลเสียต่อสังคมเป็นส่วนร่วม พ.ศ... และร่างกฎกระทรวงยกเลิกกระทรวงว่าด้วยการโฆษณาเครื่องดื่มที่มีส่วนผสม ของแอลกฮอล์และเครื่องดื่มที่ผสมกาเฟอีนในโรงภาพยนตร์และทางป้ายโฆษณา พ.ศ. 2547 พ.ศ... รวม 2 ฉบับ และ สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เสนอร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยคณะกรรมการอำนวยการ หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ แห่งชาติ (ฉบับที่ ..)

นอกจากนี้กอ.รมน.ขอขยายเวลาประกาศพื้นที่ปรากฎเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร กระทรวงแรงงานเสนอ การเข้าเป็นสมาชิกขององค์การการแข่งขันฝีมือแรงงานเอเชีย (WorldSkills Asia) และการจัดส่งเยาวชนเข้าร่วมการแข่งขันฝีมือแรงงานเอเชีย (WorldSkills Asia Competition) กรมชลประทาน ขออนุมัติขยายระยะเวลาดำเนินโครงการชลประทานใหญ่ จำนวน 3 โครงการ และกระทรวงสาธารณสุข เสนอร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพ ติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชา พ.ศ...

“บิ๊กตู่” สั่งรัฐวิสาหกิจทำแผนช่วยจ้างงานช่วงโควิด

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธาน ว่า นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้รัฐวิสาหกิจเข้ามาช่วยเหลือประชาชน โดยพิจารณาหาแนวทางจัดทำแผนงานการจ้างงานในด้านต่าง ๆ เช่น งานด้านสิ่งแวดล้อม โยธา และการรักษาความปลอดภัยในทรัพย์สิน ที่อาจเป็นการจ้างงานในรูปแบบพิเศษ เพิ่มรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ที่มีปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เพื่อช่วยเหลือประชาชนคนที่ตกงานได้มีรายได้ประจำวันด้วย  

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียังได้บอกในที่ประชุมว่าการพัฒนาและทิศทางการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ จะต้องเป็นการพลิกโฉมประเทศไทย โดยพุ่งเป้าความต้องการในทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม สาธารณสุข เพื่อเพิ่มจีดีพีประเทศ และรัฐวิสาหกิจที่มีขีดความสามารถเน้นการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศให้มากขึ้น รวมทั้งมีการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัล ให้ใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเพื่อเป็นรายได้เข้าสู่ประเทศ ซึ่งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชนและธุรกิจจะต้องช่วยกันขับเคลื่อนเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศโดยเฉพาะเศรษฐกิจฐานราก  

นายธนกร กล่าวว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบร่างหลักเกณฑ์การเสนอกรอบนโยบายการพัฒนาและทิศทางการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ โดยมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ จัดส่งร่างหลักเกณฑ์กรอบนโยบายฯ ให้กระทรวงเจ้าสังกัดดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป พร้อมกับเห็นชอบในหลักการการจัดตั้งบริษัท เคหะสุขประชา จำกัด (มหาชน) ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ โดยให้การเคหะแห่งชาติพิจารณาดำเนินการตามความเห็นของฝ่ายเลขานุการฯ และเห็นชอบให้ พม. นำเสนอครม.พิจารณาต่อไป

“บิ๊กตู่” ชื่นชม นักออกแบบไทยสามารถนำวิจิตรศิลป์ของไทยในแขนงต่าง ๆ สร้างสรรค์ อุตสาหกรรมบันเทิงสมัยใหม่ ยก MV ลิซ่า โชว์งานหัตถศิลป์ไทย ทั่วโลกแห่ชมกว่า 100 ล้านวิว

13 ก.ย. 64 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีความชื่นชมและภูมิใจนักออกแบบไทยสามารถนำวิจิตรศิลป์ของไทยในแขนงต่าง ๆ มาสร้างสรรค์ร่วมกับอุตสาหกรรมบันเทิงสมัยใหม่ ตรงกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของรัฐบาล ซึ่งส่วนหนึ่งคือการผลักดัน "Soft Power" ไทย เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ รัฐบาลเร่งเดินหน้าส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยใน 15 สาขา คือ 

1.) งานฝีมือและหัตถกรรม 
2.) ดนตรี 
3.) ศิลปะการแสดง 
4.) ทัศนศิลป์ 
5.) ภาพยนตร์ 
6.) การแพร่ภาพและกระจายเสียง 
7.) การพิมพ์ 
8.) ซอฟต์แวร์ 
9.) การโฆษณา 
10.) การออกแบบ 
11.) การให้บริการด้านสถาปัตยกรรม 
12.) แฟชั่น 
13.) อาหารไทย 
14.) การแพทย์แผนไทย 
15.) การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม 

นายธนกร กล่าวว่า ขณะเดียวกันก็ผลักดันวัฒนธรรมที่มีศักยภาพ 5 F ได้แก่ 1.) อาหาร (Food) 2.) ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film) 3.) ผ้าไทยและการออกแบบแฟชั่น (Fashion) 4.) มวยไทย (Fighting) และ 5.) การอนุรักษ์และขับเคลื่อน เทศกาล ประเพณีสู่ระดับโลก (Festival) เชื่อว่ายังจะเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมส่งออกสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจหลังยุคโควิด -19 ที่สำคัญของไทยด้วย

นายธนกร กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้กำหนดโมเดล BCG ที่เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจด้วย "ปัญญา สร้างสรรค์" และมีความมั่นใจว่า เศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทยจะประสบความสำเร็จ เนื่องจากไทยมีจุดเด่นและความพร้อมด้านทุนวัฒนธรรมต่าง ๆ ที่สะสมอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งศิลปหัตถกรรม ประเพณี สถานที่ท่องเที่ยว ชุมชนที่มี "อัตลักษณ์" ของตนเอง นำมาผนวกกับความคิดสร้างสรรค์และงานฝีมือของคนไทย ก่อให้เกิดมูลค่าเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี แล้วล่าสุด จากกระแสความชื่นชมเอ็มวีของศิลปินลิซ่า ที่มีการสอดแทรกงานหัตถศิลป์ และสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของไทย มียอดผู้ชมกว่า 100 ล้านวิวแล้ว เชื่อว่าจะสร้างความมั่นใจให้กับอุตสาหกรรมบันเทิงและออกแบบแฟชั่นไทย ในการนำทุนทางวัฒนธรรมมาต่อยอดเป็นสินค้าและบริการ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งขณะนี้ ไทยมีตลาดประเทศเพื่อนบ้านและในภูมิภาครองรับอยู่แล้ว 

นายธนกร กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีชื่นชมความสำเร็จของศิลปินไทย ทุกสาขาศิลปะ ดนตรี ภาพยนตร์ ออกแบบดีไซน์ รวมถึงบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้อง สะท้อนให้เห็นถึงความเอาจริงเอาจัง มุ่งมั่น ทุ่มเทฝึกฝนอย่างหนัก จนประสบความสำเร็จ เชื่อว่าจะช่วยจุดประกาย สร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนไทยและผู้อยู่ในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทย ในการนำศิลปวัฒนธรรมไทยมาสร้างสรรค์เป็น Soft Power เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและให้เป็นที่รู้จักและเผยแพร่ในระดับโลก  

คลังปิดจ๊อบ พ.ร.ก. 1 ล้านล้าน เตรียมกู้เงินเติมให้ครบ 7.2 หมื่นล้านคลังปิดจ๊อบ พ.ร.ก. 1 ล้านล้าน เตรียมกู้เงินเติมให้ครบ 7.2 หมื่นล้าน

กระทรวงการคลัง แจ้งว่า ในช่วงที่เหลือของเดือนก.ย.64 กระทรวงการคลังมีแผนจะเร่งกู้เงินในส่วนของ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท เพิ่มเติมอีก 72,313 ล้านบาท เพื่อให้มีวงเงินกู้ครบถ้วนตามกรอบโครงการที่ได้รับการเห็นชอบจาก ครม.วงเงิน 980,826 ล้านบาท หรือคิดเป็น 98% ของวงเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท เนื่องจากในเดือนก.ย.นี้ จะเป็นเดือนสุดท้ายที่คลังมีอำนาจกู้เงินได้ตามที่กฎหมายระบุไว้ โดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) จะต้องมีหน้าที่กู้ให้ครบตามโครงการที่อนุมัติไว้ภายในสิ้นเดือนก.ย.นี้  โดยวิธีการกู้เงินจะไม่มีการเปิดจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ แต่จะใช้เครื่องมือการกู้เป็นพันธบัตรรัฐบาล และตั๋วสัญญาใช้เงิน (พี/เอ็น)

ส่วนการกู้เงินตามพ.ร.ก.กู้เงินฉบับใหม่ 5 แสนล้านบาท คลังได้เริ่มทยอยกู้ไปแล้ว 7.4 หมื่นล้านบาท ขณะที่การเบิกใช้เงินจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้าน ขณะนี้มีการเบิกจ่ายไปแล้ว 849,466 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นงบประมาณเยียวยา แต่หลังจากนี้โครงการต่าง ๆ ทั้งเยียวยา ฟื้นฟูเศรษฐกิจ หรือด้านสาธารณสุข ยังมีเวลาที่จะสามารถเบิกใช้จ่ายได้จนถึงสิ้นเดือนธ.ค.64  ซึ่งได้ยินว่ามีอีกหลายโครงการที่เตรียมจะเบิกใช้ในเร็ว ๆ นี้ โดยเฉพาะงบด้านสาธารณสุข

ทั้งนี้การดำเนินการภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ได้ให้อำนาจกระทรวงการคลัง สามารถกู้เงินได้จนถึง 30 ก.ย.นี้ และให้โครงการที่จะขอใช้เงินจะต้องผ่านการเห็นชอบจาก ครม.ภายในสิ้นเดือนก.ย.นี้ ส่วนโครงการที่ผ่าน ครม.ไปแล้ว ยังมีสิทธิเบิกใช้เงินได้ไปจนถึงสิ้นปีปฏิทิน อย่างไรก็ตามกรณีมีบางโครงการที่ล่าช้าเบิกจ่ายงบไม่ทัน ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ หรือทำไม่ได้ตามแผนนั้น เป็นอำนาจของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่จะมีการทบทวนปรับปรุงการใช้จ่าย หรือตัดงบบางโครงการให้เกิดความเหมาะสมได้

เว็ปไซต์ สบน. เผย ตัวเลขหนี้สาธารณะพุ่งเฉียด 9 ล้านล้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซด์ของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ได้เผยแพร่ รายงานสถานะหนี้สาธารณะของประเทศ ณ สิ้นเดือน ก.ค. 2564 พบว่า มียอดหนี้จำนวน 8,909,063.78ล้านบาท หรือคิดเป็น 55.59% ของจีดีพี ใกล้ระดับเพดานความยั่งยืนทางการคลังที่กำหนดไว้ไม่เกิน 60% โดยเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หนี้สาธารณะของประเทศไทยเพิ่มขึ้นประมาณ 8.3 หมื่นล้านบาท โดยยอดหนี้สาธารณะเดือน มิ.ย. 2564 อยู่ที่ 8,825,097.81ล้านบาท หรือ 55.20% ของจีดีพี

สำหรับหนี้สาธารณะเดือน ก.ค. 2564 ที่เพิ่มสูงขึ้น มาจากการกู้โดยตรงของรัฐบาลเป็นส่วนใหญ่ โดยหนี้ของรัฐบาลเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 7,836,723.70 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือน มิ.ย. 2564 ที่ 7,760,488.76 ล้านบาท ในส่วนนี้เป็นหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง จำนวน 7,071,423.29 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า และเป็นการกู้เงินภายใต้ พ.ร.ก. โควิด-19 จำนวน 817,726.05 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า อยู่ที่ 732,726.05 ล้านบาท และเป็นการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณอีกด้วยอย่างไรก็ดี หนี้ของรัฐวิสาหกิจ อยู่ที่ 781,052.43 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือน มิ.ย. 2564 ซึ่งอยู่ที่ 772,090.49 ล้านบาท ในส่วนนี้เป็นหนี้ที่รัฐบาลค้ำประกัน อยู่ที่ 399,141.13 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ซึ่งอยู่ที่ 398,843.56 ล้านบาท และหนี้ที่รัฐบาลไม่ค้ำประกัน อยู่ที่ 381,911.30 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ซึ่งอยู่ที่ 373,246.93 ล้านบาท ส่วนหนี้ของรัฐวิสาหกกิจที่ทำธุรกิจในภาคการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) อยู่ที่ 284,141.61 ล้านบาท ลดลงจากเดือนก่อนหน้า ซึ่งอยู่ที่ 285,356.96 ล้านบาท ขณะที่หนี้ของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจอื่น ๆ ลดลงจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อย อยู่ที่ 7,146.04 ล้านบาท

พาณิชย์ รับธุรกิจขายปลีกทางอินเทอร์เน็ตดาวเด่น รายพุ่งแสนล้าน

นายสินิตย์ เลิศไกร รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า จากข้อมูลการวิเคราะห์ธุรกิจในช่วงเดือนก.ค. 2564 ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ถึงการปรับตัวของภาคธุรกิจและผู้บริโภคในการเข้าสู่การค้าออนไลน์ พบว่า ธุรกิจที่กลายเป็นดาวเด่นประจำเดือนนี้คือ ธุรกิจขายปลีกทางอินเทอร์เน็ต (e-Commerce) ปัจจุบันมีธุรกิจที่ดำเนินกิจการอยู่จำนวน 3,525 ราย และตลอด 5 ปีที่ผ่านมามีจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งใหม่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในปี 2564 มีธุรกิจจัดตั้งใหม่ภายใน 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค.) จำนวน 794 ราย ซึ่งมีจำนวนเกือบเท่ากับปี 2563 ตลอดทั้งปี ที่มีจำนวน 798 ราย 

แต่หากเปรียบเทียบในช่วงเดือนก่อนหน้าพบว่า ในเดือนก.ค. 2564 มีจำนวน 112 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือนมิ.ย. 2564 ที่มีจำนวน 106 ราย คิดเป็น 5.66% และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก.ค. 2563 ที่มีจำนวน 79 ราย ก็แสดงให้เห็นว่าการจัดตั้งธุรกิจขายปลีกทางอินเทอร์เน็ต ยังมีจำนวนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องคิดเป็น 41.77% เป็นที่น่าจับตามองถึงยอดจดทะเบียนในครึ่งปีหลังที่จะสร้างโอกาสใหม่ให้ธุรกิจนี้กลายเป็นธุรกิจดาวเด่นของปี 2564 

นายสินิตย์ กล่าวว่าธุรกิจขายปลีกทางอินเทอร์เน็ตถือเป็นธุรกิจที่มีการรายได้ภายในประเทศสูงถึงระดับแสนล้านบาทต่อปี โดยในปี 2563 ธุรกิจนี้มีรายได้รวมอยู่ที่ 111,670.15 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป โดยซื้อสินค้าผ่านทางอินเทอร์เน็ตมากขึ้น สามารถใช้บริการได้แบบใกล้ตัวผ่านโทรศัพท์มือถือ ชำระค่าบริการสินค้าได้ทันทีผ่าน Mobile Banking และระบบการขนส่งสินค้าที่รวดเร็วมากยิ่งขึ้น และการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตภายใต้การระบาดของโรคโควิด-19 ยังผลักดันครั้งใหญ่ให้ผู้บริโภคลดการเดินทางออกจากบ้าน จึงจำเป็นต้องซื้อสินค้าผ่านทางโลกออนไลน์เป็นหลัก ทำให้ธุรกิจในกลุ่มนี้ได้รับผลเชิงบวกตามไปด้วย 

ความเชื่อมั่นผู้บริโภคดิ่งหนักสุดรอบ 23 ปี 

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ประจำเดือน ส.ค.2564 ว่า ดัชนีฯ ในเดือนส.ค.ที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 39.6 ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ซึ่งเป็นดัชนีที่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ หรือ ต่ำสุดในรอบเกือบ 23 ปี นับตั้งแต่เดือนต.ค. 2541 เป็นผลมาจากความกังวลต่อสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในประเทศที่รุนแรงมากขึ้นจนรัฐบาลต้องขยายพื้นที่ควบคุมสูงสุดเป็น 29 จังหวัด ทำให้ภาวะเศรษฐกิจของประเทศแย่ลง และมีความกังวลในสถานการณ์ทางการเมืองที่มีเสถียรภาพน้อยลงและการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนที่ยังล่าช้าเข้ามากระทบด้วย

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 33.8 โอกาสในการหางานทำ ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 36.3 และรายได้ในอนาคต ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 48.6 โดยผู้บริโภคเริ่มรู้สึกมีความหวังว่าเศรษกิจไทยจะกลับมาฟื้นตัวได้ในอนาคต หลังจากศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้ประกาศผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2564 เป็นต้นมา

ทั้งนี้ได้จัดทำข้อเสนอให้รัฐบาลดูแล คือ การเร่งจัดทำแผนการเปิดเมืองที่เป็นรูปธรรม เพื่อให้นักธุรกิจและประชาชนเตรียมความพร้อม เร่งจัดหาและฉีดวัคซีนในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 กำหนดมาตรการเฝ้าระวัง และหาแนวทางป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ไม่ให้แพร่ระบาดในประเทศไทย มาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอี ที่ประสบปัญหาเข้าไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อ เนื่องจากไม่มีหลักทรัพย์ และต้องสร้างแผนการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยให้มากขึ้นอีกด้วย

ชงศบค.ไฟเขียว สมุย เปิดรับต่างชาติไม่ต้องกักตัว 

นายรัชชพร พูลสวัสดิ์ นายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาะสมุย กล่าวว่า ขณะนี้ที่ประชุมคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคอำเภอเกาะสมุยได้เห็นชอบร่วมกัน ที่จะผ่อนปรนและปรับรูปแบบการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติของโครงการสมุย พลัส โมเดล ซึ่งประกอบด้วย เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า จากเดิมในช่วง 7 วันแรก ต้องกักตัวหรือจำกัดพื้นที่ มาเป็นไม่ถูกกักตัวทันทีที่ผลการตรวจหาเชื้อโควิดด้วยวิธี RT-PCR ออกมาว่าไม่ติดเชื้อ เหมือนกับที่ภูเก็ต แซนด์บีอกซ์ ทำอยู่ โดยจะเสนอต่อศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.)ให้พิจารณาเริ่มได้ในเดือนต.ค.นี้ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าเกาะสมุยมากขึ้น 

ทั้งนี้ เพราะตั้งแต่เปิดโครงการมาเมื่อวันที่ 15 ก.ค.7 ก.ย.2564 เพิ่งมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเพียง 628 คน เพราะมีข้อเปรียบเทียบกับ ภูเก็ต แซนด์บ๊อกซ์ ที่ไม่ต้องถูกกักตัว จึงเลือกไปภูเก็ตมากกว่า โดยตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.-7 ก.ย.2564 มีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเข้าภูเก็ต 29,363 คน จึงเสนอให้ผ่อนปรนเงื่อนไข ซึ่งในด้านระบบสาธารณสุขรองรับตอนนี้มีความพร้อมแล้ว 

ส่วนเป้าหมายหลังการปรับรูปแบบเป็นไม่กักตัว คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวในไตรมาส 4 (ต.ค.-ธ.ค.) 4,500 คน หรือเดือนละ 1,500 คน สร้างรายได้ประมาณ 90 ล้านบาท รวมทั้งยังส่งเสริมให้คนไทยมาเที่ยวเกาะสมุยมากขึ้นด้วย  


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top