Wednesday, 14 May 2025
ECONBIZ NEWS

กระทรวงอุตฯ เชื่ออุตสาหกรรมอาหารไทย 5 เดือนหลัง โตสวนทางโควิด ชี้ Bubble and Seal ช่วยรันสายพานธุรกิจให้ไม่ขาดช่วง

อุตสาหกรรมอาหารไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งภาคการผลิตและการส่งออก แม้เผชิญการระบาดของโควิด-19 ในโรงงานอย่างต่อเนื่อง ภาพรวม 7 เดือนแรกการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9 การส่งออกมีมูลค่า 622,700 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 ชี้ปัจจัยหลักมาจากภาคธุรกิจใช้มาตรการ Bubble and Seal คาดอุตสาหกรรมอาหารไทยในช่วง 5 เดือนหลังโตแกร่งสวนโควิด-19 ประเมินว่าการผลิตจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 การส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.0 มูลค่า 427,300 ล้านบาท ทั้งปีคาดว่าภาคการผลิตจะขยายตัวร้อยละ 4.5 การส่งออกจะมีมูลค่า 1,050,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1 จากปี 2563

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เผยสถานการณ์อุตสาหกรรมอาหารของไทยในช่วง 7 เดือนแรกปี 2564 ว่าได้พลิกกลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้นหลังจากหดตัวลงในปีก่อน โดยการผลิตที่วัดจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9 

ปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากการที่ภาคธุรกิจใช้มาตรการ Bubble and Seal เพื่อควบคุมความเสี่ยงและป้องกันการแพร่ระบาดในโรงงาน ทำให้โรงงานส่วนใหญ่สามารถเดินสายการผลิตได้ตามปกติ ประกอบกับปริมาณวัตถุดิบภาคเกษตรที่ปรับตัวสูงขึ้นที่ตามทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก ส่งผลทำให้ปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรวัตถุดิบมีเพียงพอกับความต้องการของโรงงานแปรรูป โดยเฉพาะอ้อย มันสำปะหลัง ผักและผลไม้ต่าง ๆ จำพวกสับปะรด และข้าวโพดหวาน เป็นต้น 

นอกจากนี้ มาตรการภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจและลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโรคโควิด-19 ภายใต้โครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการเราชนะ โครงการคนละครึ่ง และโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 2 นับเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ และทำให้เกิดการขยายตัวของการผลิตในภาคอุตสาหกรรมอาหาร

ด้านการส่งออกในช่วง 7 เดือนแรกพบว่า มีมูลค่า 622,700 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากความต้องการสินค้าอาหารเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากประเทศคู่ค้าหลักอย่างจีน สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ที่ผ่อนคลายมาตรการ Lockdowns หลังจากสัดส่วนผู้ได้รับวัคซีนเพิ่มขึ้น ส่งผลทำให้ประชาชนสามารถออกมาทำกิจกรรมนอกบ้าน ธุรกิจบริการร้านอาหารต่าง ๆ มีการฟื้นตัว โดยการส่งออกไปจีนขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 40.0 เนื่องจากมีความต้องการสินค้าจำนวนมากเพื่อรองรับการบริโภคภายในประเทศที่ฟื้นตัวมาตั้งแต่ช่วงปลายปีก่อน 

ส่วนการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปก็มีสัญญาณการฟื้นตัวเช่นกัน โดยเฉพาะสินค้าส่งออกในกลุ่มอาหารทะเลแช่แข็ง จำพวกกุ้ง ปลา ปลาหมึก สับปะรดกระป๋อง ที่มีการขยายตัวตามช่องทางจำหน่ายในธุรกิจบริการร้านอาหารที่กำลังฟื้นตัว ส่วนหนึ่งเพื่อรองรับ Pent up demand หรือความต้องการที่ถูกอั้นไว้ในช่วงที่ออกนอกบ้านไม่ได้และร้านอาหารถูกปิดเป็นเวลาหลายเดือน

นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า แนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารไทยใน 5 เดือนหลังยังจะโตแกร่งสวนทางโควิด-19 โดยคาดว่าการผลิตจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 การส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.0 มูลค่า 427,300 ล้านบาท ทั้งปีประเมินว่าการผลิตจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 การส่งออกจะมีมูลค่า 1,050,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1 จากปี 2563 

สำหรับปัจจัยหนุนอุตสาหกรรมอาหารไทยในช่วง 5 เดือนหลัง มองว่ามาจากความต้องการสินค้าของผู้บริโภคในกลุ่มประเทศคู่ค้าหลักอย่างจีน สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ที่มีแนวโน้มขยายตัวหลังการกลับมาเปิดเมือง (Reopening) ทำให้สินค้าที่มีช่องทางจำหน่ายในธุรกิจบริการร้านอาหาร ภัตตาคาร โรงแรม จัดเลี้ยง (HORECA) มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้ากุ้งและอาหารทะเลสดแช่แข็ง สับปะรดกระป๋อง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง มะพร้าว และกะทิสำเร็จรูป เครื่องปรุงรส และอาหารพร้อมรับประทาน 

ประกอบกับสต็อกสินค้าอาหารของประเทศในภูมิภาคเอเชีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกา เริ่มลดลง ทำให้มีความต้องการนำเข้าเพิ่มขึ้น รวมทั้งแรงหนุนจากการอ่อนค่าของเงินบาท ส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าอาหารของไทยที่ส่วนใหญ่เน้นใช้ปัจจัยการผลิตในประเทศ

ด้านปัจจัยเสี่ยงที่จะกระทบต่อระบบการผลิตและส่งออกสินค้าอาหารของไทยในครึ่งปีหลัง อาทิ การแพร่ระบาดของ COVID-19 เข้าสู่สถานประกอบการ จะกระทบต่อกำลังการผลิตและส่งมอบสินค้า การกลายพันธุ์ของไวรัส ทำให้หลายประเทศอาจต้องใช้มาตรการเข้มข้นในการควบคุมการระบาด จะส่งผลทำให้ปริมาณความต้องการสินค้าชะลอตัวลง 

ค่าระวางเรือยังคงปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นกระทบต่อต้นทุนค่าขนส่ง โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้า Commodity เช่น ข้าว น้ำตาล ธัญพืชต่าง ๆ ที่มีราคาต่อหน่วยต่ำ รวมถึงทางการจีนอาจชะลอการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารจากการที่เร่งนำเข้ามาตั้งแต่ปีก่อน ซึ่งอาจส่งผลทำให้การส่งออกอาหารของไทยขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้

แนะผู้ประกอบการปรับมาตรการ Bubble and Seal และ Factory Isolation ให้เหมาะสมกับขนาดกิจการ เพื่อรับมือการแพร่ระบาดในโรงงาน พร้อมกับการสื่อสารให้กับแรงงานและชุมชนเข้าใจถึงเหตุผลที่ไม่หยุดประกอบกิจการ

กระทรวงอุตสาหกรรมรวมทั้งหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง จะเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจและให้คำแนะนำ (Coaching) การทำ Bubble and Seal ทั้งในรูปแบบ Online และ Offline เพื่อให้โรงงานทุกขนาดสามารถดำเนินมาตรการได้พร้อมกันทั่วประเทศ อีกทั้งจะมีการปรับเกณฑ์ Good Factory Practice (GFP) เพื่อปิดช่องว่างที่เป็นสาเหตุของการแพร่ระบาด โดยเสนอเพิ่มมาตรการตรวจคัดกรองเชิงรุกด้วยชุด Antigen Test Kit (ATK) และเข้มงวดการตรวจกำกับหอพัก รถรับส่งแรงงาน รวมทั้งการเว้นระยะห่างของผู้ปฏิบัติงาน 

นอกจากนี้ จะเร่งขอความร่วมมือโรงงานโดยเฉพาะขนาดกลางและขนาดเล็กเข้าประเมินตนเอง Online ในแพลตฟอร์ม Thai Stop Covid (TSC) และการสุ่มตรวจประเมินโรงงาน (Onsite) เพื่อแนะนำการใช้มาตรการต่าง ๆ ในเชิงรุก ซึ่งการขับเคลื่อนมาตรการดังกล่าวจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถฝ่าฟันวิกฤตและรักษาสถานภาพโรงงานทั้งในด้านการผลิตและส่งออก เพื่อให้อุตสาหกรรมอาหารสามารถทำรายได้จากการส่งออกและเป็นภาคส่วนสำคัญที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจของประเทศไทย

“ทิพานัน” ชี้นายกฯ ห่วงใยประชาชนผู้มีรายได้น้อย-อาชีพอิสระ ดันโครงการบ้านล้านหลังเฟส 2 สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 1.99% นาน 4 ปี

คนอยากมีบ้านเฮ “ทิพานัน” ชี้นายกฯ ห่วงใยประชาชนผู้มีรายได้น้อย-อาชีพอิสระ ให้มีที่พักอาศัย ดันโครงการบ้านล้านหลังเฟส 2 สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ พร้อมเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก อัดเม็ดเงินกว่า 2,909 ล้านบาท ใน 10 จังหวัด เชื่อเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวเร็ว เข้มแข็ง ยั่งยืนจากภายใน

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี อดีตรองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายในการยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนกลุ่มที่มีรายได้น้อยและผู้สูงอายุ  เพื่อให้ได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง จึงผลักดันให้มีการสานต่อโครงการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยแห่งรัฐ หรือโครงการบ้านล้านหลัง ระยะที่ 2 

ซึ่งที่ประชุมครม. เมื่อวันที่ 7 กันยายนที่ผ่านมา ได้เห็นชอบให้ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ หรือ ธอส. ดำเนินการให้กู้ซื้อที่อยู่อาศัยราคาซื้อ-ขายไม่เกิน 1,200,000 บาท ภายใต้กรอบวงเงินรวม 20,000 ล้านบาท ดอกเบี้ยคงที่ 4 ปีแรก 1.99% ต่อปี ทั้งบ้านใหม่ บ้านมือสอง และทรัพย์ NPA ของ ธอส. และยังผ่อนปรนเงื่อนไขเพื่อช่วยให้ประชาชนมีโอกาสได้รับวงเงินสินเชื่อที่เหมาะสม รวมถึงกลุ่มที่ประกอบอาชีพประจำหรืออาชีพอิสระ สามารถนำหลักฐานการชำระค่าเช่าบ้าน หรือผ่อนชำระเงินดาวน์บ้านไม่น้อยกว่า 12 เดือนมาใช้ประกอบการพิจารณาสินเชื่อ และหากไม่สามารถแสดงหลักฐานที่มาของรายได้ให้ธนาคารพิจารณาได้ ให้ประชาชนที่สนใจลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ Financial Literacy และออมอย่างสม่ำเสมอไม่น้อยกว่าเงินงวดผ่อนชำระเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 9 เดือน เพื่อใช้เป็นหลักฐานการพิจารณาสินเชื่อกับธนาคารได้ต่อไป 

จึงเป็นการเพิ่มโอกาสให้ผู้มีรายได้น้อยได้มีบ้านเป็นของตนเองอย่างครบวงจร โดยพี่น้องประชาชนที่สนใจสามารถรับรหัสเข้าร่วมโครงการบ้านล้านหลัง ระยะที่ 2 ได้พร้อมกันทั่วประเทศตั้งแต่วันศุกร์ที่ 10 กันยายน 2564 เวลา 9.00 น. เป็นต้นไป ผ่าน Mobile Application : GHB ALL ( https://www.ghbank.co.th/electronic-services/application/ghb-all) และทำนิติกรรมได้ภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2566 หรือ ก่อนเต็มกรอบวงเงินของโครงการ

“บ้านเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญที่สุด ทุกอย่างเริ่มจากบ้าน ครอบครัว ชุมชน ไปจนถึงสังคมประเทศไทยของเราทุกคนที่มีความรักความสามัคคี รัฐบาลจึงเดินหน้าตั้งแต่โครงการบ้านล้านหลัง ระยะที่ 1 ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในปี 2561 ต่อมาเมื่อต้นปี 2564 ก็มีโครงการบ้านเคหะสุขประชาที่เป็นที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพ ราคาประหยัด วางรากฐานเพื่อให้เป็นชุมชน “เศรษฐกิจสุขประชา” สร้างอาชีพให้กับผู้อยู่อาศัยให้มีรายได้สามารถเลี้ยงตัวเองได้อย่างยั่งยืนตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงและตามความสนใจและความถนัดที่มีให้เลือก 

รัฐบาลจึงอนุมัติโครงการบ้านล้านหลัง ระยะที่ 2 เพิ่มเติมเพื่อให้ประเทศไทยและคนไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน ตามกรอบเวลายุทธศาสตร์ชาติ โดยรัฐบาลไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังและทำเพื่อประชาชนให้มากที่สุด” น.ส.ทิพานัน กล่าว

น.ส.ทิพานัน กล่าวอีกว่า นอกจากนี้รัฐบาลยังเดินหน้าในการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก โดยที่ประชุมครม. ได้อนุมัติงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นประจำปีงบประมาณ 2564 เพื่อดำเนินโครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก ครั้งที่ 3 จำนวน 1,766 โครงการ วงเงินรวม 2,909 ล้านบาทดำเนินการ ใน10 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดแพร่ พิษณุโลก ตาก สุโขทัย ร้อยเอ็ด สุรินทร์ อำนาจเจริญ อยุธยา ปราจีนบุรี และสระแก้ว ใน 4 กลุ่มโครงการ ประกอบด้วยกลุ่มพัฒนาสินค้า ท่องเที่ยวบริการ และการค้า, กลุ่มยกระดับประสิทธิภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มด้านการเกษตร, กลุ่มส่งเสริมและพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน และกลุ่มพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานชุมชน 

ระยะเวลาดำเนินการระหว่างเดือนสิงหาคมถึงธันวาคม 2564 คาดว่าจะทำให้เกิดการจ้างงานรวมทั้งสิ้น 29,765 คน และมีผู้ได้รับประโยชน์ประมาณ 3.54 ล้านคน พร้อมเตรียมโครงการนี้ครั้งที่ 4 อีกจำนวน 1,434 โครงการ วงเงินรวม 3,753 ล้านบาท ดำเนินการในอีก 14 จังหวัด ประกอบด้วย พะเยา น่าน อุตรดิตถ์ เลย นครพนม บุรีรัมย์ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ลพบุรี อ่างทอง สมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครนายก และยะลา โดยจะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ถูกจุด กระจายงบประมาณลงไปในกลุ่มเป้าหมาย

“เชื่อว่าเม็ดเงินจากมาตรการดังกล่าว จะไปกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจไทย มีความแข็งแรง ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สามารถกลับมาฟื้นตัวได้โดยเร็ว จากการส่งเสริมความเข้มแข็งภายใน และจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่อไปได้” น.ส.ทิพานัน กล่าว

รัฐบาลเล็งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ล็อตใหม่เริ่มต.ค.นี้

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลกำลังประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจ และสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในเดือน ก.ย.นี้อย่างใกล้ชิด หากจำนวนผู้ติดเชื้อยังทรงตัว และไม่มีคลัสเตอร์ใหม่ ๆ ที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากเพิ่มอีก ก็ถึงเวลาที่จะเริ่มกระตุ้นเศรษฐกิจ เบื้องต้นอาจจะเริ่มในเดือน ต.ค.เป็นต้นไป โดยจะใช้ทั้งนโยบายใหม่ และนโยบายเดิม เช่น โครงการคนละครึ่ง หรือนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยว ที่ยังมีอยู่และมีการขยายระยะเวลาออกไปก็ยังเดินหน้าต่อ

“นโยบายทุกอย่างอยู่ในลิ้นชักอยู่แล้วรอเวลาที่เหมาะสมที่จะเอาขึ้นมาใช้ได้ หากสถานการณ์ในตอนนี้เป็นไปด้วยดี ประชาชนดูแลตัวเองดี ก็คิดว่าถึงเวลาที่เราจะกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยจะเริ่มในเดือน ต.ค.นี้ ส่วนเศรษฐกิจในปีนี้จะยังขยายตัวได้หรือไม่นั้น ประเมินดูแล้ว ก็น่าจะยังขยายตัวได้ เพราะยังมีบางส่วนของเศรษฐกิจที่เติบโตได้อยู่”

ส.อ.ท. ดันสินค้า Made in Thailand ขายภาครัฐ เผย 6 เดือน สร้างมูลค่า 6.8 หมื่นล้านบาท

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นำผู้ประกอบการไทยฝ่าวิกฤตโควิด-19 เดินหน้าโครงการ Made in Thailand โดยในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาสามารถผลักดันสินค้า Made in Thailand : MiT เข้าสู่การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐได้แล้วกว่า 68,000 ล้านบาท คาดสิ้นปี 64 จะมีมูลค่าการค้าทะลุ 100,000 ล้านบาท พร้อมทั้งจับมือเครือเซ็นทรัลกรุ๊ป นำผู้ประกอบการในเครือข่ายขึ้นทะเบียนเพิ่ม และต่อยอดส่งออก นำร่องเจรจาการค้ากับบาห์เรน จีน อินเดีย ขยายตลาดต่างประเทศ

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ในภาวการณ์  แพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างรุนแรง และการออกมาตรการล็อกดาวน์ของภาครัฐ ทำให้กำลังซื้อภายในประเทศลดลงเป็นอย่างมาก ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงกับภาคธุรกิจโดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่พึ่งพาตลาดภายในประเทศ ดังนั้นจึงมีเพียงตลาดการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเท่านั้นที่มีกำลังซื้อเพียงพอที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการให้ผ่านสภาวะที่ยากลำบาก 

โดยแนวทางที่สำคัญในการเจาะตลาดภาครัฐของเอกชน คือ โครงการ Made in Thailand ที่ ส.อ.ท. ได้ผลักดันร่วมกับภาครัฐในการปรับกฎระเบียบเอื้อประโยชน์กับผู้ประกอบการในประเทศไทย ที่เข้ามาขึ้นทะเบียนสินค้า Made in Thailand : MiT ได้มากขึ้น เพื่อเข้าถึงเม็ดเงินการจัดจ้างภาครัฐมีมากกว่า 1.3 ล้านล้านบาทต่อปี โดยในช่วง 6 เดือน ที่ผ่านมา ส.อ.ท. ได้เร่งดำเนินการขึ้นทะเบียนสินค้า Made in Thailand ให้กับผู้ประกอบการแล้วกว่า 2,000 ราย 

โดยล่าสุดข้อมูลจากกรมบัญชีกลางพบว่ามีผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนกว่าร้อยละ 52 สามารถยื่นเสนองานต่อภาครัฐได้แล้วคิดเป็นมูลค่ากว่า 68,000 ล้านบาท ซึ่งครอบคลุมสินค้าหลากหลายทั้งอุตสาหกรรมขนาดใหญ่รวมไปถึงผู้ประกอบการ SMEs

ทั้งนี้คาดว่าสิ้นปี 2564 จะมีผู้ประกอบการเข้ามาลงทะเบียนกว่า 5,000 ราย มีจำนวนสินค้ากว่า 50,000 รายการ โดยที่ผ่านมามีสินค้าที่มาขึ้นทะเบียนมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 

1.) อุปกรณ์งานก่อสร้าง
2.) ผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 
3.) เครื่องปรับอากาศ 
4.) สินค้าและอุปกรณ์ทางการแพทย์ 
และ 5.) สิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม

“จากการดำเนินโครงการ Made in Thailand ได้รับการตอบรับที่ดีมากจากหน่วยราชการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมที่ผู้บริหารต่างผลักดันนโยบายร่วมกัน หรือหน่วยงานอื่น ๆ ที่สอบถามเพื่อสืบค้นส่วนของที่หน่วยงานมีความต้องการในฐานของ MiT เข้ามาอย่างต่อเนื่อง อาทิ ท่าอากาศยาน, กรมทางหลวง, สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล, กรมที่ดิน, กรมการปกครองส่วนท้องถิ่น, โรงพยาบาล และหน่วยงานอื่น ๆ ซึ่งต้องขอขอบคุณแทนผู้ประกอบการเป็นอย่างมาก ถือว่าทุกภาคส่วนได้ร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังยากลำบากจากสถานการณ์โควิด-19 ให้สามารถเดินต่อไปได้” นายสุพันธุ์ กล่าว

นางพิมพ์ใจ ลี้อิสระนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและประธานสายงานมาตรฐานอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบงาน Made in Thailand ของสภาอุตสาหกรรมฯ กล่าวว่า นอกจากหน่วยงานภาครัฐที่เป็นคู่ค้าสำคัญที่ตอบรับสินค้า Made in Thailand เป็นอย่างดีแล้ว โอกาสทางการตลาดอื่น ๆ ของสินค้า Made in Thailand ก็มีมากเช่นเดียวกัน โดย ส.อ.ท. ได้หารือร่วมกับหน่วยงานเอกชนในส่วนของการขายปลีกและขายส่ง ซึ่งในปัจจุบันได้มีพันธมิตรภาคเอกชนรายใหญ่ให้การสนับสนุน อาทิ กลุ่มเซ็นทรัลกรุ๊ป ที่กำลังผลักดันผู้ค้าในเครือข่ายมาขึ้นทะเบียน Made in Thailand โดยกลุ่มบริษัทในเครือเซ็นทรัลกรุ๊ป เช่น ไทวัสดุ บีทูเอส และ ออฟฟิศเมท ได้เข้ามาเจรจาธุรกิจกับเอสเอ็มอี ที่ขึ้นทะเบียน Made in Thailand เพิ่มเติมด้วย และหลังจากนี้ ส.อ.ท. จะหารือกับภาคเอกชนรายอื่น ๆ ให้ช่วยสนับสนุนเพิ่มเติม เช่น สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย, สมาคมค้าปลีกไทย คาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยเหลือเอสเอ็มอีไทยในภาวะที่ยากลำบาก 

นอกจากตลาดในประเทศแล้ว ส.อ.ท. ยังร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) สร้างโอกาสทางการค้าในต่างประเทศ โดยนำร่องกลุ่ม SMEs เจรจาธุรกิจที่ตลาดบาห์เรน, ตลาดอินเดียและตลาดจีน ที่นิยมสินค้าไทยอยู่ระดับหนึ่งแล้ว ซึ่งหากสินค้าได้รับการรับรอง Made in Thailand ก็ยังจะสร้างความน่าเชื่อถือและมั่นใจให้กับคู่ค้าเพิ่มมากขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการที่ได้รับการรับรอง Made in Thailand ก็จะได้เปรียบคู่แข่งขันรายอื่น ๆ โดยหลังจากนี้ ส.อ.ท. จะมีการผลักดันโอกาสทางการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น จึงขอเชิญชวนผู้ประกอบการให้มาขึ้นทะเบียน เพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจในอนาคต

กนอ. ดึงความเชื่อมั่นเอกชน 'สมาร์ทปาร์ค' เกิดแน่ปี 67 พร้อมเดินหน้าดูดนักลงทุน ชี้ EEC มาแรง เกิด 4 นิคมใหม่

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ดึงความเชื่อมั่นเอกชน คาดปี 67 'สมาร์ทปาร์ค' (Smart Park) พร้อมเดินหน้าดึงดูดนักลงทุน เผยโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด เฟส 3 ดำเนินการตามแผน ชี้!! EEC ยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญ เนื้อหอม!! ปี 64 มีนิคมอุตสาหกรรมใหม่จัดตั้งในพื้นที่ 4 แห่ง

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า การลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก EEC (อีอีซี) ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวทั้งในระยะสั้นและระยะยาว กนอ.ได้เร่งเดินหน้าโครงการสำคัญ ๆ อาทิ โครงการนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์ค (Smart Park) ที่คาดว่าจะสามารถเปิดดำเนินการได้ในปี 2567 ตามแผนที่วางไว้ เพื่อดึงดูดการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (New S-Curve) แบ่งพื้นที่รองรับการลงทุน ดังนี้... 

>> อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ 301.70 ไร่
>> อุตสาหกรรมการแพทย์ 182.84 ไร่
>> อุตสาหกรรมดิจิทัล 163.93 ไร่ 
>> และอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ 75.17 ไร่ 

โดยผลประโยชน์ทางตรงที่จะคาดว่าเกิดขึ้นหลังเริ่มมีการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์ค (Smart Park) คือ การเติบโตทางเศรษฐกิจสามารถสร้างมูลค่าของจีดีพีในประเทศต่อปีอยู่ที่ 53,000 ล้านบาท เกิดการจ้างงาน ในระยะก่อสร้างประมาณ 200 คน ส่งผลให้เกิดเงินหมุนเวียนในชุมชนประมาณ 24 ล้านบาทต่อปี ในระยะดำเนินการคาดว่าจะมีการจ้างงานประมาณ 7,500 คน ส่งผลให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจในพื้นที่ประมาณ 1,400 ล้านบาทต่อปี

ขณะเดียวกัน กนอ. ยังได้เดินหน้าโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ที่มีการสัมมนาทดสอบความสนใจของภาคเอกชน (Market Sounding) เมื่อเดือน ส.ค.2564 ที่ผ่านมา และจะเปิดดำเนินการตามแผนในปี 2569

โดยโครงการดังกล่าวจะเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่ง และโลจิสติกส์ทางน้ำของอาเซียนสู่เศรษฐกิจนานาชาติ เพื่อเป็นประตูการค้าเชื่อมโยงกับภูมิภาค และสนับสนุนการลงทุนอุตสาหกรรมหลักของประเทศ มีความสามารถในการรองรับการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพื่อเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญต่อการขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ตลอดจนสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่และท้องถิ่น เกิดการจ้างงาน สร้างเศรษฐกิจชุมชน และเพิ่มรายได้แก่ประชาชนในพื้นที่

นายวีริศ กล่าวด้วยว่า ในปี 2564 มีนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงานแห่งใหม่ที่จะจัดตั้งในพื้นที่อีอีซีทั้งสิ้น 4 แห่ง ได้แก่... 

1.) นิคมอุตสาหกรรมเอ็กโกระยอง จ.ระยอง พื้นที่ 621 ไร่ ขณะนี้อยู่ระหว่างพัฒนาโครงการ 

2.) นิคมอุตสาหกรรมโรจนะหนองใหญ่ จ.ชลบุรี พื้นที่ 1,987 ไร่ ขณะนี้อยู่ระหว่างพัฒนาโครงการ

3.) นิคมอุตสาหกรรมเอเพ็กซ์กรีน อินดัสเตรียล เอสเตท จ.ฉะเชิงเทรา พื้นที่ 2,191 ไร่ ขณะนี้อยู่ระหว่างรอเซ็นสัญญาร่วมดำเนินงานกับ กนอ.

และ 4.) นิคมอุตสาหกรรมฉะเชิงเทรา บลูเทคซิตี้ จ.ฉะเชิงเทรา พื้นที่ 1,181 ไร่ ขณะนี้อยู่ระหว่างรอเซ็นสัญญาร่วมดำเนินงานกับ กนอ. 

โดยนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่จะดึงดูดการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ ยานยนต์และชิ้นส่วน เหล็กและโลหะภัณฑ์ อิเล็กทรอนิกส์ และ ปิโตรเคมี เป็นต้น

“การลงทุนในพื้นที่อีอีซี จะทำให้เกิดเม็ดเงินลงทุนที่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ และเกิดการจ้างงานตามมาจำนวนมาก โดยปัจจุบันมีนิคมอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ในพื้นที่อีอีซีทั้ง 3 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา 40 แห่ง มีเม็ดเงินลงทุนในพื้นที่กว่า 2.04 ล้านล้านบาท ขณะเดียวกัน กนอ.ได้เตรียมความพร้อมด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานไว้รองรับการขยายตัวด้วยเช่นเดียวกัน เพื่อให้การเติบโตด้านอุตสาหกรรมอยู่คู่กับชุมชนและสังคมอย่างยั่งยืน” นายวีริศ กล่าวปิดท้าย

'สวอพ แอนด์ โก' เริ่มบริการสลับเปลี่ยนแบตฯ มอเตอร์ไซค์ กระตุ้นไทยใช้ยานพาหนะพลังงานไฟฟ้า หรือ EV

การใช้พลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นหนึ่งในทิศทางกระแสโลกสืบเนื่องจากที่ผ่านมากิจกรรมของมนุษย์ได้ก่อมลพิษจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือยานพาหนะเครื่องยนต์สันดาปที่ใช้น้ำมัน ซึ่งพยายามเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้ “ยานพาหนะพลังงานไฟฟ้า (Electric Vehicle : EV)” แต่ก็มีความท้าทายโดยเฉพาะเรื่องของสถานีชาร์จพลังงานที่ยังไม่แพร่หลายเหมือนสถานีบริการน้ำมัน หรือแบตเตอรี่ที่ใช้เวลาชาร์จนานกว่าการเติมน้ำมัน ซึ่งมีความพยายามในการแก้ไขข้อจำกัดดังกล่าว ดังกรณีของ “สวอพ แอนด์ โก (Swap & Go)” ธุรกิจใหม่ในกลุ่ม ปตท. ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อเร็ว ๆ นี้

นายชยุตม์ จัตุนวรัตน์ กรรมการผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท สวอพ แอนด์ โก จำกัด เผยว่า สวอพ แอนด์ โก เป็นบริการสลับแบตเตอรี่มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ซึ่งปกติผู้ที่ใช้มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าจะต้องคอยชาร์จแบตเตอรี่อยู่เป็นระยะ ๆ โดยการชาร์จแต่ละครั้งอาจต้องรอเวลาเป็นชั่วโมงกว่าจะเต็ม ดังนั้นบริการนี้จะช่วยอำนวยความสะดวก ทำให้สามารถใช้รถได้ต่อเนื่องมากขึ้น เพราะการสลับแบตเตอรี่ใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที

อีกทั้งเป็นบริการที่ใช้งานง่าย เพียงใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟนสแกน QR Code เพื่อแสดงตนที่ตู้แบตเตอรี่ ก็จะสามารถเปิดออกให้สลับแบตที่ใช้งานแล้วกับแบตก้อนใหม่ได้ทันที ทั้งนี้ EV หรือยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ได้รับการยอมรับว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทั้งประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และไม่มีการเผาไหม้ที่ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อันเป็นมลภาวะ ซึ่งพาหนะที่ใช้น้ำมันไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ อีกทั้งยังทำให้เมืองเงียบสงบด้วยเพราะไม่มีเสียงเครื่องยนต์รบกวน โดย สวอพ แอนด์ โก มีสถานีให้บริการ หรือ สวอพสเตชั่นอยู่มากกว่า 20 จุดทั่วกรุงเทพฯ และมีแผนที่จะขยายเพิ่มเติมอีกในอนาคต

“ในไอเดียของเราคร่าว ๆ เราอยากจะให้ขั้นต่ำของจำนวนสวอพสเตชั่นของเราเท่ากับสถานีบริการน้ำมัน นั่นหมายถึงประสบการณ์ของผู้ใช้ในการใช้งานรถไฟฟ้าจะไม่ต่างจากใช้น้ำมันเลย ความสะดวกสบายจะต้องเทียบเคียงกัน เพราะเราอยากให้การใช้พลังงานเป็นเรื่องง่าย ๆ” นายชยุตม์ กล่าว

นายชยุตม์ กล่าวต่อไปว่า กลุ่มเป้าหมายสำคัญของ สวอพ แอนด์ โก คือผู้ที่ใช้มอเตอร์ไซค์เป็นอาชีพ คนกลุ่มนี้ไม่สามารถหยุดรออะไรได้นานเพราะเวลาที่มีอยู่คือโอกาสการสร้างรายได้ เช่น กลุ่มไรเดอร์ส่งอาหาร ที่มีบทบาทเด่นในสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ลำพังการไปต่อคิวซื้ออาหารก็ใช้เวลามากแล้ว คงไม่อยากเสียเวลาไปกับการชาร์จแบตเตอรี่อีก ทำให้บริการสลับแบตเตอรี่แบบไม่ต้องรอชาร์จจึงน่าจะเป็นทางออกที่เหมาะสม

อนึ่ง ข้อดีอีกอย่างของ EV คือประหยัดค่าใช้จ่าย เพราะการชาร์จพลังงานนั้นถูกกว่าการเติมน้ำมัน และยังไม่ต้องเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง และเมื่อดูกรณีศึกษาในต่างประเทศ จะพบบางประเทศถึงขั้นใช้งบประมาณเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านจากรถใช้น้ำมันสู่รถใช้ไฟฟ้า และมีอย่างน้อย 20 ประเทศที่มีแผนยุติการจำหน่ายรถใช้น้ำมันในอนาคต หรือมีบางเมืองไม่อนุญาตให้นำรถใช้น้ำมันเข้าไปในบางพื้นที่แล้ว จึงหวังว่าวันหนึ่งประเทศไทยจะไปในทิศทางนั้นเพื่อให้เมืองมีความสะอาดต่อไป

แต่การเปลี่ยนผ่านไปสู่สิ่งใหม่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย นายชยุตม์เล่าถึงสารพัดคำถามเมื่อไปนำเสนอในองค์กรต่าง ๆ เช่น EV วิ่งได้ระยะทางไกลเท่าไร ทำความเร็วได้เท่าไร ชาร์จพลังงานได้ที่ไหน ค่าใช้จ่ายเท่าไร ฯลฯ ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่จะมีคำถามเหล่านี้ ไม่ต่างจากเมื่อร้อยปีก่อนที่คนเริ่มเปลี่ยนจากการใช้รถม้ามาเป็นรถยนต์ ส่วนปัจจุบันสถานีบริการน้ำมันรถยนต์มีทั่วไปแล้ว ก็จะต้องขยายสถานีชาร์จสำหรับรถใช้ไฟฟ้าให้มีมากขึ้น เพื่อคลายความกังวลของลูกค้า

“จริง ๆ องค์ประกอบหลัก ๆ ของการเปลี่ยนผ่านมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้า คือ 1.) เรื่องของข้อมูล ถ้าเขาไม่เข้าใจก็คงไม่หันมาใช้อยู่แล้ว 2.) ราคารถ ถ้าดูราคาของรถ EV บ้านเรากับรถที่เป็นน้ำมัน ถ้าเป็นรถ 4 ล้ออาจจะยังมี Gap ค่อนข้างเยอะ ทางฝั่งรถ 2 ล้อ Gap มันเริ่มน้อยลงก็จริง แต่ก็ยังมี 3.) โครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นสถานีชาร์จ สถานีสลับแบตเตอรี่ ที่ปัจจุบันไม่ว่าหน่วยงานรัฐหรือบริษัทเอกชนก็พยายามช่วยกันเพื่อขยายให้ครอบคลุมการใช้งาน

ส่วนเรื่องสุดท้าย ผมคิดว่ามันยังขาดตัวกระตุ้นอยู่ ถ้าเราเห็นความสำเร็จหลาย ๆ ประเทศที่เปิดรับการใช้ EV จะต้องมีมาตรการกระตุ้นให้เกิดในช่วงปีแรก ๆ พอหลังจากนั้นคนก็จะเริ่มใช้เป็นนิสัยกันแล้ว ตอนนี้ผมคิดว่าถ้าประเทศของเรามีตัวกระตุ้นพวกนี้เข้ามาเสริม ก็จะทำให้การรับรู้ การใช้งานเกิดขึ้น เพราะถ้าเกิดเราไม่กระตุ้นวันนี้ เขาไปซื้อรถน้ำมัน ก็แปลว่ากว่าที่เขาจะกลับมาซื้อรถคันใหม่อีกรอบหนึ่ง ก็ประมาณ 5-10 ปี ถ้าอยากจะเปลี่ยนก็ต้องมีคนกดคลิกให้มันเริ่ม” นายชยุตม์ ระบุ

กรรมการผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ สวอพ แอนด์ โก ทิ้งท้ายในประเด็นมาตรการกระตุ้นเพื่อเปลี่ยนจากรถใช้น้ำมันเป็นรถใช้ไฟฟ้าว่าต้องเริ่มจากหลายฝ่าย เช่น ผู้ผลิตยานพาหนะอาจจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขาย ผู้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต้องจัดให้มีโครงสร้างที่เอื้ออำนวยต่อการใช้งานอย่างเพียงพอ ส่วนภาครัฐสามารถใช้กลไกภาษีสนับสนุนได้ ดังที่เคยใช้มาแล้วกับนโยบายกระตุ้นการใช้จ่ายต่าง ๆ

ส่วนเป้าหมายของ สวอพ แอนด์ โก คือการส่งเสริมให้คนใช้ EV หรือยานพาหนะพลังงานไฟฟ้า ที่ใช้งานได้สะดวกไม่ต้องกังวลทั้งสถานที่ชาร์จและเวลารอชาร์จ สามารถสลับแบตเตอรี่แล้วใช้รถต่อได้อย่างรวดเร็ว ตามนิยามการดำเนินงานของบริษัทคือ “สลับแบตไว..ไปได้เร็ว” เพราะหากการใช้พลังงานสะอาดเป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน ในอนาคตผู้คนย่อมเปลี่ยนผ่านมาใช้พลังงานสะอาดกันมากขึ้น นำไปสู่การใช้พลังงานที่ยั่งยืน ไม่ส่งต่อผลกระทบให้กับคนรุ่นหลัง


ที่มา : https://www.naewna.com/business/600130

ชงกระทรวงแรงงานขยายเวลาหักเงินสมทบประกันสังคมอีก 3 เดือน

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า ได้จัดทำหนังสือข้อเสนอเป็นการเร่งด่วนไปยังนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เพื่อให้สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ได้ขยายมาตรการช่วยเหลือการหักเงินสมทบประกันสังคมต่อไปอีก 3 เดือน ระหว่างเดือนกันยายน-พฤศจิกายน 2564 หรือจนกว่าสถานการณ์โควิด-19 จะดีขึ้น เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศไทยและประคองการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการในสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ขณะนี้

ทั้งนี้ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงาน ได้พิจารณาข้อเสนอของหอการค้าไทยไปแล้วหลายเรื่อง โดยเฉพาะมาตรการด้านแรงงานในสถานการณ์โควิด-19 ทั้ง 1.มาตรการเชิงรุกในการตรวจคัดกรองความเสี่ยงแรงงานทั้งคนไทยและต่างด้าว 2.มาตรการเร่งรัดจัดสรรวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับผู้ประกันตน 3.มาตรการเยียวยาผู้ประกันตนและนายจ้างได้รับความช่วยเหลือในพื้นที่ 29 จังหวัด 4.มาตรการ Factory Sandbox 

5.มาตรการผ่อนผันให้แรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาติ กลุ่มมติ 20 สิงหาคม 2562 และกลุ่มมติ 4 สิงหาคม 2563 ให้สามารถทำงานต่อในราชอาณาจักรไทยได้ และ  6.มาตรการลดหย่อนการส่งเงินสมทบประกันสังคมของนายจ้าง ลูกจ้างกลุ่มผู้ประกันตน ตั้งแต่มีนาคม 2563 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งส่งผลดีต่อการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและการจ้างงานจากการได้รับผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 
……….

กอช. เผย สร้างผลตอบแทนการลงทุนใน 7 เดือนให้สมาชิกได้มากกว่าฝากแบงก์

6 ก.ย. 64 นางสาวจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช. เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานล่าสุดในช่วง 7 เดือนของปีนี้ (ถึง 31 กรกฎาคม 2564) โดย กอช. สร้างผลตอบแทนการลงทุนให้สมาชิกได้ร้อยละ 1.14 ต่อปี ซึ่งยังสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำกับธนาคารอยู่ที่ร้อยละ 0.59 ต่อปี

การบริหารเงินลงทุนของ กอช. ยังคงมุ่งเน้นไปที่ความมั่นคงของเงินลงทุน โดยที่ผ่านมา กอช. สร้างผลตอบแทนให้กับสมาชิกอย่างสม่ำเสมอ อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยตั้งแต่ตั้งกองทุนอยู่ที่ร้อยละ 2.90 ต่อปีโดยประมาณ ดีกว่าค่าเฉลี่ยของอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำกับธนาคารซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 1.30 ต่อปีโดยประมาณ

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 การลงทุนของ กอช. ยังคงต้องใช้ความระมัดระวัง โดยเน้นการลงทุนไปที่สินทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูง ได้แก่ พันธบัตรรัฐบาล เงินฝาก และหุ้นกู้ภาคเอกชนที่มีความน่าเชื่อถือด้านเครดิตที่ดี ถึงแม้สภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่ แต่ทาง กอช. เริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้นหลายประการ อันบ่งบอกถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ รวมทั้งนโยบายทางการคลังของรัฐบาลที่พยายามจะกระตุ้นและประคับประคองเศรษฐกิจ 

ดังนั้น สินทรัพย์ที่มีการเติบโตสูงและให้รายได้ที่สม่ำเสมอ อาทิ ตราสารทุน และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ จึงมีความน่าสนใจ และเป็นโอกาสที่ กอช. น่าจะเข้าสะสมลงทุนต่อไป

ทั้งนี้ สมาชิกมั่นใจได้ว่า จะได้รับเงินบำนาญรายเดือนจาก กอช. เมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ซึ่งจะได้รับเงินคืนทั้งส่วนที่เป็นเงินออมสะสมของสมาชิก และเงินสมทบเพิ่มจากรัฐบาล พร้อมผลตอบแทนการลงทุนของเงินทั้งหมดได้รับการค้ำประกัน ไม่ต่ำกว่าดอกเบี้ยเงินฝากประจำของธนาคาร วันที่สมาชิกครบอายุ 60 ปี


ที่มา : https://www.thaipost.net/main/detail/115757

รมว.เฮ้ง ย้ำ ผู้ประกันตน ม.39,40 กลุ่มตกหล่น 29 จังหวัด เร่งเช็คสิทธิรับเงินเยียวยา ตั้งแต่ 1-31 ต.ค.นี้

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า หลังจากที่สำนักงานประกันคม (สปส.) ได้ทยอยโอนเงินเยียวยาผู้ประกันตนมาตรา 39 และมาตรา 40 ที่เดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ใน 29 จังหวัดได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา ฉะเชิงเทรา ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา นครราชสีมา ระยอง ราชบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ลพบุรี เพชรบูรณ์ ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี เพชรบุรี ตาก อ่างทอง นครนายก สมุทรสงคราม และสิงห์บุรี ตามกำหนดไทมไลน์ของแต่ละกลุ่มจังหวัด

พบว่า ผู้ประกันตนที่มีสิทธิตามเงื่อนไข ส่วนใหญ่ได้รับเงินโอนเข้าบัญชีพร้อมเพย์เรียบร้อยแล้ว แต่ยังมีผู้ประกันตนบางส่วนที่พบว่าตนเองมีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์ ครบถ้วน คือ สัญชาติไทย ประกอบอาชีพ หรือพักอาศัยอยู่ในจังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม ใน 29 จังหวัด แต่เข้าไปตรวจสอบสถานะตนเองในระบบเว็บไซต์ www.sso.go.th ของสำนักงานประกันสังคม แจ้งว่า “ไม่ได้รับสิทธิ” จึงพลาดการโอนเงินเยียวยาที่ผ่านมา โดยขณะนี้สำนักงานประกันสังคมได้เปิดให้โอกาสให้ “กลุ่มผู้ประกันตนที่ตกหล่น” สามารถยื่นทบทวนสิทธิรับเงินเยียวยาได้แล้วตั้งแต่วันที่ 1-31 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวต่อไปว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ได้มีความห่วงใยกลุ่มพี่น้องแรงงานที่ได้รับความลำบากในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ได้กำชับให้ตนเร่งให้ความช่วยเหลือเยียวยาเพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันแก่ผู้ประกันตน ซึ่งตนได้มอบหมายให้นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคมตรวจสอบข้อมูล เพื่อโอนเงินช่วยเหลือกลุ่มที่มีสิทธิแต่ยังตกหล่นอยู่ ให้ยื่นแบบทบทวนสิทธิ สำหรับขั้นตอนผู้ทบทวนสิทธิสามารถดาวน์โหลดเอกสารแบบคำขอทบทวนสิทธิเยียวยา ได้ที่ www.sso.go.th พร้อมกรอกแบบ ลงลายมือชื่อ ระบุเลขบัตรประชาชนให้ชัดเจน หรือแนบสำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาใบเสร็จ สลิปชำระเงินสมทบ (ถ้ามี) พร้อมหมายเลขโทรศัพท์เพื่อให้เจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมติดต่อกลับได้ นำแบบที่กรอกครบถ้วนแล้วส่งมาทางไปรษณีย์ลงทะเบียนถึงสำนักงานประกันสังคมที่สะดวก 29 จังหวัดสีแดงเข้ม (ยึดวันประทับตามไปรษณีย์เป็นสำคัญ) ทั้งนี้ เพื่อลดการเดินทางมาติดต่อยังสำนักงานประกันสังคมในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ถึง 31 ตุลาคม 2564 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน 1506 ให้บริการไม่เว้นวันหยุดราชการตลอด 24 ชั่วโมง

มาตรการรัฐช่วยรายจ่ายประชาชนหนุนเงินเฟ้อเริ่มลดลง

นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า เงินเฟ้อทั่วไปเดือนส.ค.ลดลง 0.02 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว เนื่องจากมาตรการลดภาระค่าครองชีพของรัฐ โดยเฉพาะการลดค่าเล่าเรียน-ค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่ากระแสไฟฟ้า และค่าน้ำประปา ประกอบกับราคาสินค้ากลุ่มอาหารสดบางชนิดมีราคาลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนค่อนข้างมาก โดยเฉพาะข้าว เนื้อสัตว์ ผักสด และผลไม้สด 

ขณะเดียวกัน ราคาสินค้าในกลุ่มพลังงานแม้จะยังขยายตัวต่อเนื่อง แต่เป็นอัตราที่ชะลอลงจากเดือนที่ผ่านมา ขณะที่สินค้าอื่น ๆ บางชนิดมีราคาสูงขึ้น โดยเฉพาะไข่ไก่และเครื่องประกอบอาหาร และบางชนิดราคาทรงตัว ซึ่งเคลื่อนไหวสอดคล้องกับสถานการณ์ ส่งผลให้เงินเฟ้อในเดือนนี้ปรับลดลง ส่วน เงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว ขยายตัว 0.07 %  ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัว 0.14 % เฉลี่ย 8 เดือน (ม.ค.- ส.ค.) ปี 2564 สูงขึ้น 0.73 %

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเงินเฟ้อในเดือนนี้จะปรับตัวลดลง แต่เครื่องชี้วัดเศรษฐกิจสำคัญที่เกี่ยวข้องหลายตัวยังมีสัญญาณที่ดี เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการใช้จ่ายภายในประเทศและจากการนำเข้า ยังคงขยายตัว ภาคการส่งออกยังได้รับอานิสงส์จากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญที่ฟื้นตัว

นอกจากนี้ยังประเมินว่า เงินเฟ้อในเดือนก.ย.นี้ มีแนวโน้มกลับมาขยายตัวในระดับที่ไม่สูงมากนัก โดยมีปัจจัยสำคัญจากการสิ้นสุดมาตรการลดค่ากระแสไฟฟ้าและค่าน้ำประปา ซึ่งสิ้นสุดในเดือนส.ค.นี้ อีกทั้งราคาพลังงานมีแนวโน้มทรงตัวหรือลดลงเล็กน้อยจากการเพิ่มกำลังการผลิตของผู้ผลิตโลก ประกอบกับสถานการณ์โควิด-19 ที่มีแนวโน้มเริ่มคลี่คลาย ซึ่ง ราคาอาหารสดและการต่ออายุมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐเป็นปัจจัยผันแปรสำคัญที่ส่งผลต่อเงินเฟ้อในเดือนก.ย. โดยกระทรวงพาณิชย์คาดว่าเงินเฟ้อเฉลี่ยในปี 2564 จะอยู่ระหว่าง 0.7 – 1.7 % 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top