Wednesday, 14 May 2025
ECONBIZ NEWS

สคบ.รื้อกฎหมายช่วยลูกหนี้เงินผ่อนไม่เจอรีดเงินเกินจริง

นายสุวิทย์ วิจิตรโสภา รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผยว่า ได้รายงานที่ประชุมคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่มีนายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน รับทราบแนวทางช่วยผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาหนี้สิน โดยสคบ. กำลังปรับปรุงแก้ไขประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เพื่อช่วยเหลือผู้บริโภคที่เป็นลูกหนี้ในสัญญาเช่าซื้อ โดยเฉพาะสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ และจักรยานยนต์ หลังพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 รายได้ลดลงจนหมดกำลังในการผ่อนจ่ายค่าสินค้าต่าง ๆ ซึ่งแนวทางการช่วยเหลือผ่านการปรับปรุงกฎหมายครั้งนี้น่าจะได้ข้อสรุปในเดือนก.ย.นี้ 

สำหรับแนวทางการช่วยเหลือแบ่งออกเป็นการช่วยเหลือเรื่องของสัญญาเช่าซื้อในด้านต่าง ๆ เช่น การปรับปรุงอัตราดอกเบี้ยของธุรกิจเช่าซื้อ ที่ผ่านมาไม่มีกฎหมายหรือหน่วยงานใดเข้ามากำกับดูแลในเรื่องดอกเบี้ยของธุรกิจเช่าซื้อเป็นการเฉพาะ ทำให้ไม่มีการกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยเอาไว้ จึงเป็นช่องให้มีการคิดดอกเบี้ยที่สูงเกินจริงจนเป็นภาระต่อผู้บริโภค สคบ. จึงได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเตรียมออกกฎหมายภายใต้พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค ประกาศเรื่องของเพดานการคิดอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมออกมา 

ขณะที่การพิจารณาอัตราเบี้ยปรับในกรณีที่ผู้บริโภคผิดสัญญา โดยจะกำหนดอัตราของเบี้ยปรับให้สอดคล้องกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมในมาตรา 224/1 และมาตรา 7 ซึ่งกำหนดแนวทางในเรื่องนี้เอาไว้อย่างชัดเจน รวมทั้งการปรับปรุงแนวทางในการขายทอดตลาด เช่น การกำหนดให้ผู้เช่าซื้อมีส่วนร่วมในการกำหนดราคาเริ่มต้นในการขายทอดตลาด หรือในกรณีที่มีการยึดและขายทอดตลาดแล้วหากได้จำนวนเงินน้อยกว่ามูลหนี้ที่ค้างชำระ เดิมกำหนดให้ผู้เช่าซื้อรับผิดชอบในส่วนที่ขาด แต่แนวทางใหม่ที่ออกมา เบื้องต้นอาจเปิดทางให้ลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบหนี้ หลังจากถูกยึดรถไปแล้ว เพราะถือว่าสิ้นสุดสัญญา 

นอกจากนี้ยังให้สิทธิกับผู้บริโภคในการคืนรถยนต์ และจักรยานยนต์ กับผู้ให้เช่าซื้อได้เพื่อเป็นการยกเลิกสัญญาในทันที แต่ก็ต้องมาตกลงเรื่องของหนี้ที่ค้างชำระต่าง ๆ เช่น ค่างวด ค่าปรับ และค่าทวงถาม ให้เสร็จสิ้น หรือในกรณีรถเสื่อมค่า มีรอย หรือเกิดอุบัติเหตุทำให้เสียหาย ผู้ให้เช่าซื้อก็อาจพิสูจน์ความเสียหาย และสามารถเรียกค่าเสียหายจากส่วนนี้ได้ แต่ต้องเป็นไปตามความเหมาะสม เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย

จับตาธุรกิจเอสเอ็มอีสายป่านไม่พอเสี่ยงถูกฮุบกิจการ

นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธานกรรมการการแข่งขันทางการค้า เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า กระทรวงพาณิชย์ กำลังจับตามองผลกระทบจากการระบาดของโควิดที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจเอสเอ็มอี  หลังพบการควบรวมธุรกิจ โดยมีกว้านซื้อธุรกิจรายใหญ่ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการประกอบธุรกิจ ทำให้โอกาสการแข่งขันเอสเอ็มอีรายย่อย และรายกลางลดลง ไม่สามารถแข่งขันได้เนื่องจากไม่มีอำนาจทางการค้าที่มากพอ อาจจะตามมาซึ่งการผูกขาดในระบบเศรษฐกิจ จากธุรกิจรายใหญ่อีกด้วย

ทั้งนี้ จากการจับตามองผลกระทบต่อเอสเอ็มอีนั้น นอกจากปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงินที่ทำให้เอสเอ็มอีจำนวนมากต้องล่มสลายแล้ว ยังพบปัญหาโครงสร้างทางการตลาดที่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการมีแพลทฟอร์มออนไลน์ ทั้งในและต่างประเทศ เช่น อีเซอร์วิส อีโลจิสติกส์ อีคอมเมิร์ซเข้ามาแข่งขันทำให้ธุรกิจแบบดั้งเดิมไม่สามารถปรับตัวได้ทัน และถูกแย่งพื้นที่ตลาดไปมากเช่นกัน

ทั้งนี้ สำนักงานฯ ขอแนะนำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ต้องเรียนรู้ด้านต่าง ๆ เพิ่มขึ้น โดยประเมินสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของธุรกิจตนเอง พร้อมกับศึกษาความท้าทายจากเทคโนโลยี รวมถึงต้องเรียนรู้เกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวกับแข่งขันทางการการค้าเพื่อป้องกันการถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบการรายอื่น โดยจะเร่งสร้างบรรยากาศทางการค้าให้เป็นธรรม ไม่ให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบ ผ่านการเร่งออกแนวปฏิบัติที่จะใช้กำกับดูแลการประกอบธุรกิจให้เป็นธรรมกับทุกราย

สคบ.เตือนซื้อสินค้ากันโควิดผ่านออนไลน์ ระวังเจอโกง

นายสุวิทย์ วิจิตรโสภา รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผยว่า สคบ.ขอแจ้งเตือนผู้บริโภคให้ระมัดระวังการซื้อสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั้งหน้ากากอนามัยชนิดต่าง ๆ ปืนฉีดพ่นแอลกอฮอล์ ยาฟ้าทะลายโจร รวมทั้งชุดตรวจหาเชื้อโควิดด้วยตัวเอง หรือ แอนติเจนเทสคิท ต้องศึกษาข้อมูลให้รอบคอบก่อนทำการสั่งซื้อสินค้า โดยเฉพาะการสั่งซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์ เพราะที่ผ่านมามีผู้บริโภคหลายรายเจอการหลอกลวงโอนเงินซื้อสินค้าแล้วไม่ได้สินค้า และในด้านการติดตามตรวจสอบกับทางผู้ขายนั้นก็ทำได้ยากอีกด้วย 

ทั้งนี้ สคบ. ได้มีการตรวจสอบการลักลอบขายผลิตภัณฑ์ในลักษณะนี้ผ่านออนไลน์ ในช่วงที่ผ่านมา พบว่า มีเจ้าของบริษัทหลายแห่งที่ตัดสินใจซื้อแอนติเจนเทสจากช่องทางออนไลน์เพื่อเอาไปใช้ตรวจให้กับพนักงานในบริษัทของตัวเอง ซึ่งการซื้อแต่ละครั้งจะเป็นล็อตใหญ่ เมื่อตกลงซื้อ-ขายกันเสร็จแล้วก็โอนเงินไปยังผู้ขายบางรายเป็นเงินหลายหมื่นบาท ปรากฏว่า ผู้ขายกลับไม่ส่งสินค้าให้ จึงทำให้เกิดปัญหาการหลอกลวง หรือฉ้อโกงเกิดขึ้น ขณะเดียวกันในบางรายตกลงซื้อ-ขายกันเสร็จ ได้รับสินค้าเรียบร้อย แต่สินค้ากลับไม่มีคุณภาพ หรือไม่มีมาตรฐานตามข้อกำหนดของกระทรวงสาธารณสุขด้วย

นายสุวิทย์ กล่าวว่า หากผู้บริโภคต้องการซื้อสินค้าเกี่ยวกับโควิดหลาย ๆ ชนิด รวมไปถึงชุดตรวจแอนติเจน ผู้บริโภคควรไปเลือกซื้อในสถานที่ที่รัฐกำหนด ทั้งสถานพยาบาล หรือร้านขายยาต่าง ๆ ที่มีความน่าเชื่อถือ แทนการไปซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ และสามารถตรวจสอบข้อมูลของสินค้าที่เข้าข่ายเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ทุกชนิดได้ผ่านทางเว็บไซต์ของ อย. ซึ่งนำข้อมูลทั้งหมดมาแสดงไว้ให้ผู้บริโภคตรวจสอบแล้ว โดยเฉพาะรายชื่อบริษัทที่ได้รับอนุญาตให้นำสินค้านี้มาขายให้กับผู้บริโภค เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคถูกหลอกลวง เพราะปัจจุบันมีสินค้าปลอมเกี่ยวกับโควิดเกิดขึ้นจำนวนมาก หากผู้บริโภคไม่ได้ตรวจสอบข้อมูลที่ชัดเจนก็อาจทำให้เกิดความเสียหายตามมาทั้งสุขภาพและเงินที่ต้องจ่ายไปด้วย 
 

แบงก์ชาติ ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติม

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพระบบสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ได้ร่วมกับสมาคมธนาคารไทย ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติม ทั้งการเพิ่มสภาพคล่องและเติมเงินใหม่ให้กับลูกหนี้เอสเอ็มอี และลูกหนี้รายย่อย รวมถึงมาตรการสนับสนุนการแก้ไขหนี้เดิมอย่างยั่งยืน เน้นให้สถาบันการเงินปรับปรุงโครงสร้างระยะยาว ตรงจุดและเหมาะสม แทนการพักชำระหนี้ระยะสั้น ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 3 ก.ย. 64

สำหรับมาตรการต่าง ๆที่ออกมา ทั้ง มาตรการแก้ไขหนี้เดิมให้ยั่งยืน เช่น ให้ลูกหนี้จ่ายชำระแบบต่ำก่อน และค่อย ๆ ทยอยปรับเพิ่มขึ้น หากลูกหนี้มีรายได้กลับมา และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีให้ลูกหนี้ได้เข้ามาตรการได้มากและรวดเร็วผ่านโมบายแบงก์กิ้ง หรือเครื่องมือออนไลน์ ซึ่ง ธปท. ได้มีแรงจูงใจเอื้อให้สถาบันการเงินช่วยเหลือ ทั้งเรื่องการคงจัดชั้นสำรองได้จนถึงวันที่ 31 มี.ค.65 และใช้เกณฑ์การจัดชั้นและการกันเงินสำรองอย่างยืดหยุ่นจนถึงสิ้นปี 66 แต่ถ้าความช่วยเหลือลูกหนี้ยาวกว่าปี 66 ธปท.จะนำมาพิจารณาเรื่องเกณฑ์นี้อีกครั้ง

ส่วนมาตรการรักษาสภาพคล่องและเติมเงินใหม่ให้กับลูกหนี้ โดยปรับปรุงหลักเกณฑ์สินเชื่อฟื้นฟูซึ่งปัจจุบันเหลืออีก 150,000 ล้านบาทให้เอสเอ็มอีได้มีสภาพคล่องเพิ่ม ทั้งขยายวงเงินสินเชื่อลูกค้าใหม่จากไม่เกิน 20 ล้านบาท เป็นไม่เกิน 50 ล้านบาท ส่วนลูกค้าเก่าเดิมจะได้รับไม่เกิน 30% ของวงเงินเดิม เป็นได้รับสินเชื่อไม่เกิน 30% ของวงเงินเดิมที่ไม่ถึง 50 ล้านบาท หรือรับสินเชื่อสูงสุดไม่เกิน 50 ล้านบาท โดยสถาบันการเงินสามารถยื่นคำขอสินเชื่อฟื้นฟูมายัง ธปท.ได้ตั้งแต่วันที่ 6 ก.ย. 64 ขณะที่ความคืบหน้าสินเชื่อฟื้นฟูอนุมัติแล้ว 98,316 ล้านบาท จำนวน 32,025 ราย ส่วนโครงการพักทรัพย์พักหนี้เข้ามา 82 ราย วงเงิน 11,696.79 ล้านบาท

นอกจากนี้การเติมเงินให้ลูกหนี้รายย่อย ในส่วนของบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล ได้ขยายเพดานวงเงินไม่เกิน 2 เท่า จากเดิม 1.5 เท่า และไม่จำกัดสถาบันการเงินให้กับผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อเดือน รวมทั้งคงผ่อนชำระขั้นต่ำบัตรเครดิตเหลือ 5% ไปจนถึงสิ้นปี 65 ส่วนสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล ขยายเพดานวงเงินเป็นรายละไม่เกิน 40,000 บาทจากเดิมไม่เกิน 20,000 บาท พร้อมขยายเวลาชำระคืนจาก 6 เดือนเป็น 12 เดือน มีผลตั้งแต่วันที่ 3 ก.ย. 64 จนถึงสิ้นปี 65

สภาอุตฯ ผนึกพันธมิตร เร่งผลักดัน BCG Model พร้อมพัฒนาแล้ว 5 คลัสเตอร์อุตสาหกรรม

(2 ก.ย. 64) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมกับ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมมือดำเนินโครงการการปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมไทยสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อยกระดับภาคธุรกิจ 5 คลัสเตอร์อุตสาหกรรม และสอดคล้องกับนโยบายภาครัฐ BCG ในฐานะวาระแห่งชาติ

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า สภาอุตสาหกรรมฯ ได้ร่วมผลักดันและดำเนินงานตามนโยบาย BCG ของประเทศ ภายใต้ 3 กลยุทธ์ คือ 1.) การพัฒนาโมเดล BCG และการขยายผล 2.) การพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ และ 3.) การพัฒนามาตรฐานและการสนับสนุนด้านนโยบาย โดยมีเป้าหมายให้เศรษฐกิจเติบโตและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีการใช้ทรัพยากรบริสุทธิ์น้อยลง และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เกิดเป็นรูปธรรม โดยมีกิจกรรมสำคัญ อาทิ…

>> การส่งเสริม Smart Agriculture Industry 
>> การพัฒนา Platform การบริหารจัดการวัสดุที่ไม่ใช้แล้วหรือที่เรียกว่า “Circular Material Hub” 
>> การจัดทำข้อตกลงร่วมบรรจุภัณฑ์พลาสติก PET ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 
>> การส่งเสริมการจัดขยะพลาสติกภายใต้การสนับสนุน AEPW 
>> การพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ 

รวมถึงโครงการการปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมไทยสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่เป็นความร่วมมือระหว่างสภาอุตสาหกรรมฯ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รศ.ดร.สิรี ชัยเสรี ผู้อำนวยการ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กล่าวว่า ในฐานะผู้ให้ทุนการสนับสนุนการดำเนินโครงการฯ ได้เล็งเห็นถึงบทบาทภาคอุตสาหกรรม ที่เป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อน BCG ให้เกิดขึ้นจริง ซึ่งโครงการฯ จะเน้นการศึกษาวิจัย BCG Model ในทางวิชาการและสร้างการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนแนวทางการดำเนินธุรกิจ BCG เพื่อนำไปสู่การปรับใช้ในทางธุรกิจให้เกิดขึ้นจริง หลังจากที่ผลการศึกษาเสร็จสิ้น บพข. และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องมีความพร้อมที่จะสนับสนุนผู้ประกอบการในโครงการ ด้วยนโยบายการสนับสนุนทางการเงิน ภาษี การลงุทน กฎระเบียบ การพัฒนาทรัพยากรบุคคล โครงสร้างพื้นฐาน การวิจัยและพัฒนาและการตลาด เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถสร้างประโยชน์จากผลการวิจัยโครงการฯ ให้เกิดขึ้นจริงกับธุรกิจ 

ศ.ดร.จักรพันธ์ สุทธิรัตน์ รองอธิการบดี ด้านการวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความสำคัญกับนโยบาย BCG เพื่อให้สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2570 โดยความร่วมมือในโครงการนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะส่งเสริมและสนับสนุนในด้านวิชาการ ทั้งในเชิงองค์ความรู้เกี่ยวกับ Circular Economy และวิธีการวิจัยที่เป็นมาตรฐาน เพื่อใช้เป็นแนวทางการทำ Focus Group และจัดทำ Guidelines เพื่อให้ผู้ประกอบการในคลัสเตอร์อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง สามารนำแนวทางไปปรับใช้และพัฒนาธุรกิจ เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ 

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่า สายงานส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรม ส.อ.ท. ได้รับมอบหมายให้ดำเนินภารกิจดูแล 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 11 คลัสเตอร์อุตสาหกรรม ซึ่งเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อน BCG และร่วมผลักดันในการดำเนินโครงการฯ เพื่อให้เกิดการพัฒนาต้นแบบโมเดลกลุ่มอุตสาหกรรมนำร่องระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดเป็นรูปธรรมและสัมฤทธิ์ผล เพื่อสร้างทางเลือกแผนธุรกิจที่มีศักยภาพสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมและร่วมจัดทำคู่มือบทเรียนความสำเร็จของ CE Champion จาก 5 คลัสเตอร์อุตสาหกรรม อาทิ...

1.) ปิโตรเคมี 
2.) วัสดุก่อสร้าง 
3.) อาหาร 
4.) ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 
5.) และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม

ทั้งหมดถือเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย มีความเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการทุกขนาดโดยเฉพาะ SMEs รวมถึงเป็นอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยมีจุดแข็งและมีศักยภาพในการแข่งขัน ของประเทศ 


Q : ประกันอะไร? ได้ตั้ง 4 ต่อ!!
A : ก็ประกันภัยรถยนต์จาก @THESHOPTIMES ไง!! 
>> ฟรี!!! ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล (PA) 100,000 บาท
>> รับคอมมิชชั่นหรือส่วนลดทันที ในอัตราที่สูงกว่า แถมได้สิทธิซื้อประกัน พ.ร.บ.ราคาถูกตลอดชีพ
>> สามารถผ่อนได้สูงสุด 6 งวด ดอกเบี้ย 0% โดยไม่ต้องใช้บัตรเครดิต
>> แถมขายดีมีรายได้เพิ่มให้กับตัวเองด้วย
***สนใจติดต่อ Line@ THE SHOPS TIMES คลิก???? https://lin.ee/vfTXud9

คปภ. จี้ บริษัทประกันเร่งจ่ายเคลมโควิด หลังมีการร้องเรียนจ่ายล่าช้า

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ คปภ.ได้ออกคำสั่งเพิ่มเติมเพื่อแก้ปัญหาการเคลมประกันภัยโควิดเจอจ่ายจบ ล่าช้า มีผลตั้งแต่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยกำหนดให้บริษัทที่มีปัญหาเรียกร้องการจ่ายเคลมตั้งแต่ 100 เรื่องขึ้นไป ต้องจัดตั้งหน่วยงานรับเรื่องเรียกร้องเคลมโควิดขึ้นมา และกำหนดให้ตรวจสอบเอกสารเรียกร้องค่าสินไหมให้เสร็จใน 3 วัน หากเอกสารครบถ้วนต้องจ่ายเคลมภายใน 15 วัน แต่ถ้าไม่ครบต้องรีบแจ้งผู้เอาประกันภัยภายในเดียวกับที่ตรวจ และให้จ่ายหลังจากนั้นภายใน 15 วันหลังยื่นเอกสารแล้ว 

ส่วนในกรณีมีปัญหาการตีความและหาข้อยุติไม่ได้ ให้บริษัทประกันเสนอความเห็นต่อ คปภ. ภายใน 7 วัน รวมถึงรายงานผลทุก 15 วัน ซึ่ง คปภ.ได้ตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ 4 ชุด มาช่วยพิจารณาประกันในส่วนเจอจ่ายจบ ค่าชดเชยรายวัน ค่ารักษาพยาบาล และอื่น ๆ เป็นการเฉพาะ รวมถึงหากพบล่าช้าเกิน 15 วัน และเข้าข่ายประวิงเวลาก็จะใช้กฎหมายเล่นงาน

นอกจากนี้ คปภ. ยังตรวจสอบความเสี่ยงของบริษัท และจะมีการผ่อนเกณฑ์กำกับดูแลชั่วคราว เพื่อให้บริษัทประกันภัยสามารถจ่ายเคลมประกันโควิดถึงมือประชาชนได้รวดเร็วขึ้น เพราะที่ผ่านมายอมรับว่ายอดเคลมเข้ามาค่อนข้างมาก วันหนึ่งนับพันรายทำให้อาจมีปัญหาดำเนินการ ซึ่ง คปภ.พยายามเข้าอุดรอยรั่วต่าง ๆ เพื่อดูแลประชาชนให้ได้ประโยชน์ที่สุด 

อย่างไรก็ดี ล่าสุดช่วงเช้าวันนี้ (2 ก.ย. 64) ได้กลับมาเป็นประเด็นร้อนบนโลกออนไลน์อีกจนได้สำหรับเรื่องราวของลูกค้าประกันภัยโควิดเจอจ่ายจบ ที่ไม่จบเสียที เมื่อเกิดกรณีลูกค้าบุกไปปิดล้อมหน้าตึกทำการสนง.ใหญ่ของบริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัดย่านสีลม หลังจากได้เรื่อง ยื่นเคลมประกันภัยโควิด-19 กับทางบริษัท ซึ่งยังคงเป็นประเด็นค้างคาไว้เดิม สำหรับกลุ่มลูกค้าที่ยื่นเอกสารแล้ว บริษัททำเรื่องล่าช้าบ้าง ติดต่อทางบริษัทไม่ได้บ้าง ทั้งที่โฆษณาไว้ว่า เคลมจ่ายเงินใช้เวลาแค่ 1 วัน

โดยล่าสุด ได้มีสมาชิกผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่งที่ใช้ชื่อว่า @anuwat2012 ได้โพสต์คลิปลูกค้าจำนวนมาก บุกไปยัง บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด บริเวณสีลม โดยได้รุบะขุ้ความว่า “ลูกค้าประกันภัยโควิด-19 ปิดหน้าบริษัทอาคเนย์ประกันภัยสีลม หลังจากยื่นเคลมแล้วไม่ได้รับเงินสินไหมตามที่ได้ซื้อประกันไว้"


Q : ประกันอะไร? ได้ตั้ง 4 ต่อ!!
A : ก็ประกันภัยรถยนต์จาก @THESHOPTIMES ไง!! 
>> ฟรี!!! ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล (PA) 100,000 บาท
>> รับคอมมิชชั่นหรือส่วนลดทันที ในอัตราที่สูงกว่า แถมได้สิทธิซื้อประกัน พ.ร.บ.ราคาถูกตลอดชีพ
>> สามารถผ่อนได้สูงสุด 6 งวด ดอกเบี้ย 0% โดยไม่ต้องใช้บัตรเครดิต
>> แถมขายดีมีรายได้เพิ่มให้กับตัวเองด้วย
***สนใจติดต่อ Line@ THE SHOPS TIMES คลิก???? https://lin.ee/vfTXud9

คลังปรับ “ยิ่งใช้ยิ่งได้” ใช่สั่งซื้อเดลิเวอรีออนไลน์ได้

น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง ได้ปรับเงื่อนไขการใช้จ่ายโครงการ ยิ่งใช้ยิ่งได้ โดยเปิดโอกาสให้ร้านอาหารที่เข้าร่วมโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้สามารถเข้าร่วมแพลตฟอร์มเดลิเวอรีออนไลน์ได้ ตั้งแต่ช่วงเดือนต.ค.64 ในลักษณะเดียวกับร้านอาหารในโครงการคนละครึ่ง เพื่อให้ประชาชนที่เข้าร่วมโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ สามารถสั่งอาหารผ่านแพลตฟอร์มสั่งอาหารเดลิเวอรี่ออนไลน์ได้

สำหรับยอดใช้จ่ายผ่านโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ล่าสุดมีการใช้จ่ายไปแล้วกว่า 1,700 ล้านบาท โดยโครงการยิ่งได้ใช้ได้ยังมีสิทธิคงเหลือเข้าร่วมโครงการอีก 929,340 สิทธิ ส่วนกรณีที่ภาคเอกชนเสนอปรับเพิ่มวงเงินการใช้จ่ายผ่านโครงการ ยิ่งใช้ยิ่งได้ ให้สามารถซื้อสูงสุดถึง 500,000 บาทนั้น ขณะนี้กระทรวงการคลังยังใช้หลักเกณฑ์เดิมอยู่ คือการใช้จ่ายสูงสุด 60,000 บาท จะได้รับบัตรกำนัลอิเล็กทรอนิกส์ (e-voucher) มูลค่าสูงสุด 7,000 บาท โดยใช้จ่ายสูงสุดไม่เกินวันละ 10,000 บาท ซึ่งมีระยะเวลาใช้จ่ายผ่านจี-วอลเล็ตบนแอปพลิเคชั่นเป๋าตัง เพื่อมาคำนวณสิทธิ e-voucher ถึง 30 พ.ย.นี้

ส่วนความคืบหน้าโครงการคนละครึ่ง ที่ผ่านมาได้เชิญผู้ให้บริการฟูด เดลิเวอรี่ ร่วมประชุมผ่านระบบออนไลน์ เพื่อทำความเข้าใจและเตรียมความพร้อมสำหรับการใช้จ่ายโครงการคนละครึ่งผ่านแพลตฟอร์มดังกล่าว เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ได้รับสิทธิ์คนละครึ่ง กว่า 27 ล้านคน ซึ่งคาดว่าจะเริ่มใช้ในเดือนต.ค.นี้

นอกจากนี้กระทรวงการคลัง ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาข้อเสนอให้นำโครงการช้อปดีมีคืนกลับมากระตุ้นการใช้จ่ายอีกครั้ง ส่วนจะออกมาในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้เลยหรือไม่นั้น จะพิจารณาตามสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิดอย่างไรก็ดี ช่วงไตรมาสสุดท้ายจะยังมีเม็ดเงินจากโครงการคนละครึ่ง และโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ที่จะยังออกได้

‘คลัง’ เผย ‘พิโกไฟแนนซ์’ แก้ปัญหาหนี้นอกระบบ เข้าช่วยเหลือลูกหนี้แล้วเกือบหมื่นบัญชี

น.ส.สภัทร์พร ธรรมาภรณ์พิลาศ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้มีผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อ ‘พิโกไฟแนนซ์’ (สินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ ที่อยู่ในความดูแลของสํานักงานเศรษฐกิจการคลังกระทรวงการคลัง) เข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งการลดค่างวด, การขยายระยะเวลาการชำระหนี้, การเปลี่ยนประเภทหนี้จากระยะสั้นเป็นระยะยาว การพักชำระค่างวด การพักชำระเงินต้นและจ่ายดอกเบี้ยบางส่วน และการพักชำระเงินต้นและลดอัตราดอกเบี้ย เป็นจำนวนทั้งสิ้น 288 ราย คิดเป็นจำนวนบัญชีที่ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ทั้งสิ้น 9,807 บัญชี

สำหรับจังหวัดที่ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ นครราชสีมา 2,393 บัญชี, ชัยภูมิ 608 บัญชี, สุรินทร์ 554 บัญชี, ขอนแก่น 533 บัญชี และมหาสารคาม 519 บัญชี

ส่วนภาพรวมการประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ ณ สิ้นเดือน ก.ค. 2564 มีจำนวนผู้ที่ได้รับอนุญาตจากรมว.คลัง ให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ และเปิดดำเนินการแล้วสะสมสุทธิ 995 ราย ใน 75 จังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบธุรกิจในภาคอีสาน รองลงมา ได้แก่ ภาคกลาง, ภาคเหนือ, ภาคตะวันออก และภาคใต้ โดยนับตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2559 ที่กระทรวงการคลังได้เปิดให้มีการประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์จนถึงสิ้นเดือน มิ.ย. 2564 ได้มีการอนุมัติสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ให้กับประชาชนไปแล้ว 586,683 บัญชี รวมเป็นเงิน 13,401 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 22,843 บาทต่อบัญชี

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ แก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการดำเนินการอย่างจริงจังกับเจ้าหนี้นอกระบบที่ผิดกฎหมาย ซึ่งตั้งแต่เดือน ต.ค. 2559 จนถึงสิ้นเดือน ก.ค. 2564 สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ดำเนินการจับกุมผู้ปล่อยเงินกู้นอกระบบที่กระทำผิดกฎหมายจำนวนสะสม 9,773 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือน มิ.ย.2564 จำนวน 177 ราย


Q : ประกันอะไร? ได้ตั้ง 4 ต่อ!!
A : ก็ประกันภัยรถยนต์จาก @THESHOPTIMES ไง!! 
>> ฟรี!!! ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล (PA) 100,000 บาท
>> รับคอมมิชชั่นหรือส่วนลดทันที ในอัตราที่สูงกว่า แถมได้สิทธิซื้อประกัน พ.ร.บ.ราคาถูกตลอดชีพ
>> สามารถผ่อนได้สูงสุด 6 งวด ดอกเบี้ย 0% โดยไม่ต้องใช้บัตรเครดิต
>> แถมขายดีมีรายได้เพิ่มให้กับตัวเองด้วย
***สนใจติดต่อ Line@ THE SHOPS TIMES คลิก???? https://lin.ee/vfTXud9

กกร. มองเศรษฐกิจจะดีขึ้น ลุ้น GDP ปีนี้แตะ 1% แนะรัฐตั้งเป้าดันเศรษฐกิจโต 6-8% กู้เพิ่มแก้โควิด

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกร.วันนี้ได้เห็นชอบในการปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 64 เป็น -0.5 ถึง 1.0% ดีขึ้นจากเดิมที่เคยประเมินไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะติดลบราว -1.5 ถึงไม่เติบโต หรือ ขยายตัวเป็น 0% เนื่องจากมองว่าสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศเริ่มดีขึ้น และรัฐบาลคาดว่าจะจัดหาวัคซีนได้เพิ่มมากขึ้น จึงเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้ 

"สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น จนนำไปสู่การผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคบางส่วนในเดือน ก.ย. 64 ทั้งนี้ หากสามารถเร่งจัดสรรและฉีดวัคซีนที่มีมากขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะช่วยให้เศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีมีแนวโน้มที่ดีขึ้นกว่าเดิมได้" นายผยง กล่าว

พร้อมกันนี้ บริษัทยังได้ปรับคาดการณ์การส่งออกไทยปีนี้ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 12-14% จากเดิม 10-12% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด แม้บางประเทศกลับมาบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์บ้าง แต่โดยส่วนใหญ่สามารถอยู่กับโควิด-19 ได้ กิจกรรมการผลิตฟื้นตัว สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (Manufacturing PMI) ที่อยู่ในเกณฑ์ขยายตัวในระดับสูง ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อภาคการส่งออกของไทย

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่มีผลต่อการส่งออกไทยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่ 1.) ค่าระวางเรือที่ยังสูงต่อเนื่อง ซึ่งอาจทำให้ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในตลาดสหรัฐฯ 2.) การขาดแคลนชิปที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของหลายสินค้าอุตสาหกรรม และ 3.) เศรษฐกิจโลกที่ผันผวนเพิ่มขึ้น จากแนวโน้มการปรับทิศทางนโยบายการเงินของสหรัฐฯ และการเมืองระหว่างประเทศ

นายผยง กล่าวว่า การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1.) Supply chain ของภาคการผลิตใน Bubble & Seal ต้องไม่หยุดชะงักจากการระบาดในกลุ่มแรงงาน และ 2.) หากควบคุมการแพร่ระบาดดีขึ้นมาก ภาครัฐจะเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ โดยเฉพาะการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้ทัน High Season ปลายปี ซึ่งจะช่วยสร้างบรรยากาศการใช้จ่ายในประเทศให้คึกคักขึ้น อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์การแพร่ระบาดกลับมาแย่ลง เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะ Recession

ทั้งนี้ แผนการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 และการฉีดที่มีประสิทธิภาพและไม่สับสน สามารถผลักดันให้ประเทศไทยตั้งเป้าหมายการฟื้นตัวเศรษฐกิจในปี 65 ที่ท้าทายขึ้น หน่วยงานภาครัฐประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปีหน้าจะสามารถเติบโตได้ในช่วง 3-5% ซึ่งมองว่าเป็นการตั้งเป้าหมายในอัตราต่ำเกินไป และทำให้ระดับกิจกรรมเศรษฐกิจไทยต่ำกว่าระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี 62 ส่งผลให้ธุรกิจจำนวนมากยังบอบช้ำ

ดังนั้น เพื่อส่งเสริมให้ธุรกิจฟื้นตัวกลับมายืนได้ด้วยตัวเองโดยเร็ว ภาครัฐควรกำหนดเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ท้าทายขึ้นเป็น 6-8% ซึ่งเป็นไปได้ในภาวะที่คนไทยกว่า 50% ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว โดยรัฐบาลจำเป็นต้องใช้กระสุนทางการคลังด้วยการเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจาก 60% เป็น 70-80% ซึ่งจะทำให้มีเงินเข้ามาเพิ่มเติมอีกราว 7 แสน-1.5 ล้านล้านบาท โดยเน้นสนับสนุนการจ้างงาน และใช้ในมาตรการที่มี Multiplier กับเศรษฐกิจสูง อย่างมาตรการที่รัฐช่วยออกค่าใช้จ่าย (co-payment) หรือมาตรการค้ำประกันสินเชื่อที่สูงขึ้นและเทียบเคียงกับประเทศอื่น เป็นต้น

"ที่ประชุม กกร. ยังเห็นควรแสนอแนะให้รัฐบาลกำหนดเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจในแบบที่ท้าทาย โดยตั้งเป้าผลักดันให้ GDP ปี 65 ขยายตัวให้ได้ถึง 6-8% เพราะการตั้งเป้าหมายการเติบโตได้เพียง 3-5% มองว่าอาจอยู่ในระดับต่ำเกินไป และต่ำกว่าศักยภาพของไทยที่เคยมีมาในช่วงก่อนเกิดวิกฤติโควิด พร้อมกับสนับสนุนให้รัฐบาลปรับเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะจาก 60% ต่อจีดีพีในปัจจุบัน เป็น 70-80% ต่อจีดีพี ซึ่งจะช่วยทำให้มีเม็ดเงินเข้ามาสู่ระบบเศรษฐกิจได้เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 7 แสนล้านบาท-1.5 ล้านล้านบาท" นายผยงกล่าว

สำหรับการช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ให้ฟื้นตัวสามารถประคับประคองธุรกิจให้ผ่านพ้นวิกฤตินั้น ขณะนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปรับเกณฑ์สินเชื่อฟื้นฟู โดยนำข้อเสนอแนะของภาคเอกชนมาใช้ปรับเกณฑ์ในรอบนี้ด้วย เพื่อให้เพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงสินเชื่อระยะถัดวงเงิน 150,000 ล้านบาทมากที่สุด โดยจะขยายวงเงินสินเชื่อลูกหนี้รายใหม่จากไม่เกิน 20 ล้านบาท เป็นไม่เกิน 50 ล้านบาท ส่วนลูกหนี้เดิมที่มีวงเงินเดิม 30% ไม่ถึง 50 ล้านบาท สามารถขอได้สูงสุด 50 ล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่องให้เพียงพอมากขึ้นต่อสถานการณ์ โควิด-19 ที่ยาวกว่าที่คาดการณ์ไว้

นอกจากนี้ ได้ปรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการค้ำประกันของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) รวมถึงการปรับลดค่าธรรมเนียมการค้ำประกันรวมสำหรับลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง โดยลดค่าธรรมเนียมการค้ำประกันในปีที่ 1-2 เพื่อลดภาระในช่วงที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว โดยคาดว่าจะเริ่มได้ตั้งแต่วันที่ 6 ก.ย.นี้

ทั้งนี้ กกร.ได้มีข้อเสนอแนะถึงภาครัฐในด้านต่าง ๆ ดังนี้

1.) ปัจจุบันรัฐบาลได้จัดหาและนำเข้ามาวัคซีนมาอย่างต่อเนื่อง ประเด็นสำคัญคือ ต้องดำเนินการให้การฉีดวัคซีนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมสื่อสารให้ชัดเจน ไม่ให้สับสน และโปร่งใส ตรวจสอบได้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน เห็นด้วยกับการคลายล็อกดาวน์ของรัฐบาล และไม่ควรมีการใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกต่อไป เพราะมีผลกระทบกับเศรษฐกิจค่อนข้างมาก แต่ควรใช้มาตรการ Bubble & Seal ร่วมกับการใช้ชุดตรวจ Antigen Test Kit เชิงรุก โดยใช้ศักยภาพของภาค เอกชนอย่างเต็มที่ในทางที่เสริมและไม่แย่งกัน เพื่อให้การป้องกันโควิด-19 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

2.) รัฐบาลควรมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยมาตรการระยะสั้นเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ เช่น โครงการคนละครึ่ง 3,000-6,000 บาท เพราะเป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพ ช้อปดีมีคืน (ลดหย่อนภาษี) และกระตุ้นการท่องเที่ยว ส่วนมาตรการระยะยาว มีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างและรักษาฐานการผลิต รับมือสงครามทางการค้า (Trade war) ผลักดันอุตสาหกรรมใหม่ๆ (New s-Curve) โดยการลงทุนภาครัฐควรทำต่อเนื่องทั้งการลงทุนโดยรัฐเอง และการลงทุนแบบ PPP พร้อมสร้างบรรยากาศการลงทุน และดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไปอย่างเต็มศักยภาพ

นอกจากนี้ รัฐควรเพิ่มงบประมาณสำหรับการช่วยผู้ประกอบการ SMEs ผ่านการเพิ่มสัดส่วนการค้ำประกันสินเชื่อ ซึ่งในต่างประเทศมีสัดส่วนการค้ำประกันที่ทางการสนับสนุนสูงถึง 80-100% ของยอดสินเชื่อ ขณะที่ประเทศไทยมีสัดส่วนการค้ำประกันเพียง 40%

3.) ขอให้ภาครัฐสนับสนุนค่าใช้จ่ายชุดตรวจ antigen test kit ในการตรวจหาเชื้อในภาคอุตสาหกรรม โดยให้ความช่วยเหลือในเรื่องของชุดตรวจ และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ รวมถึงช่วยเหลือในเรื่องของมาตรการการจ่ายภาษีเพื่อลดภาระของผู้ประกอบการ

4.) กกร.ขอให้รัฐบาลช่วยเหลือในส่วนปัญหาค่าระวางเรือที่มีราคาสูง โดยภาคเอกชนต้องการให้มีมาตรการลดค่าใช้จ่ายส่วนที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการช่วยแก้ปัญหาเซมิคอนดักเตอร์ชิป (Semiconductor chips)

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า จากการผ่อนคลายมาตรการของรัฐบาลในรอบนี้ที่เริ่มต้น 1 ก.ย. ให้กิจการ หรือกิจกรรมบางประเภทสามารถเปิดดำเนินการได้นั้น อยากขอให้ผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของธุรกิจและประชาชนที่มาใช้บริการ ปฏิบัติตัวให้ได้ตามมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเคร่งครัดด้วยเช่นกัน ทั้งนี้เพื่อช่วยลดความเสี่ยงและป้องกันโอกาสในการแพร่กระจายของโรค ซึ่งหากทุกฝ่ายร่วมมือกัน จะทำให้ภาครัฐจะสามารถผ่อนคลายมาตรการในระดับที่เพิ่มมากขึ้นได้ในระยะต่อไป และส่งผลดีต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศที่จะขับเคลื่อนไปได้ แรงงานที่ตกงานก็มีโอกาสกลับมาทำงานได้มากขึ้น และมีผลต่อการเปิดเมือง เปิดประเทศในลำดับถัดไป

พร้อมมองว่า รูปแบบการเปิดประเทศให้มีความปลอดภัยและช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นนั้น อาจต้องใช้ตัวอย่างจากภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ แล้วค่อย ๆ ขยายไปยังจังหวัดอื่น ๆ ที่มีการฉีดวัคซีนให้ประชาชนในพื้นที่แล้วไม่ต่ำกว่า 70% นอกจากนี้ การเปิดบางกอก แซนด์บอกซ์ก็ถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก เพราะกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางการค้า ธุรกิจ และการท่องเที่ยว ซึ่งหากสามารถเปิดกิจกรรม กิจการต่าง ๆ ได้มากขึ้นและทำได้อย่างปลอดภัย ก็จะนับว่าประสบความสำเร็จและเป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าไทยจะสามารถเปิดประเทศได้อย่างสง่างาม

ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ยังเชื่อว่า รัฐบาลจะสามารถเปิดประเทศได้ตามเป้าหมาย 120 วันที่วางไว้ในเดือนต.ค.นี้ ซึ่งหลังจากการคลายล็อกมาตรการในเดือนก.ย.รอบนี้ เชื่อว่าประชาชนเองจะเห็นความสำคัญของการป้องกันตัวเองและปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ดังนั้น หากเป็นเช่นนี้ การเปิดประเทศของรัฐบาลก็จะทำได้ตามเป้าหมาย

พร้อมประเมินว่า รัฐบาลคงไม่ประกาศล็อกดาวน์อีกรอบแล้ว เนื่องจากสถานการณ์ระบาดภายในประเทศมีแนวโน้มดีขึ้น ยอดผู้ติดเชื้อรายวันเริ่มลดลง อีกทั้งในเร็ว ๆ นี้ ก็จะมีการทยอยนำเข้าวัคซีนป้องกันโควิดจากต่างประเทศเข้ามา ซึ่งจะทำให้ประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนเพิ่มมากขึ้น และเป็นไปตามเป้าหมายที่ครอบคลุมอย่างน้อย 70% ภายในปีนี้

"เราคาดว่ารัฐบาลคงไม่ล็อกดาวน์อีกรอบ เพราะวัคซีนก็จะมีเข้ามาอีกเรื่อย ๆ คนฉีดวัคซีนในประเทศก็จะมากขึ้น โอกาสติดเชื้อแล้วมีอาการรุนแรง ก็จะน้อยลง ถ้าติดก็เป็นผู้ป่วยระดับสีเขียว...โอกาสที่จะต้องล็อกดาวน์ประเทศ ก็น่าจะน้อยลงแล้ว" นายสุพันธุ์ระบุ


Q : ประกันอะไร? ได้ตั้ง 4 ต่อ!!
A : ก็ประกันภัยรถยนต์จาก @THESHOPTIMES ไง!! 
>> ฟรี!!! ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล (PA) 100,000 บาท
>> รับคอมมิชชั่นหรือส่วนลดทันที ในอัตราที่สูงกว่า แถมได้สิทธิซื้อประกัน พ.ร.บ.ราคาถูกตลอดชีพ
>> สามารถผ่อนได้สูงสุด 6 งวด ดอกเบี้ย 0% โดยไม่ต้องใช้บัตรเครดิต
>> แถมขายดีมีรายได้เพิ่มให้กับตัวเองด้วย
***สนใจติดต่อ Line@ THE SHOPS TIMES คลิก???? https://lin.ee/vfTXud9

ททท.มุมไบ-นิวเดลี ชี้ นักท่องเที่ยวอินเดียยังต้องการเที่ยวไทย หากมาตรการผ่อนคลาย ปลายปี 64 เตรียมดึงกลุ่มศักยภาพ สร้างรายได้ท่องเที่ยวเฉียดแสนล้านบาท

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานมุมไบ และนิวเดลี ประเทศอินเดีย ฉายภาพรวมโควิด-19 ในอินเดียดีขึ้น ผู้ติดเชื้อลดลง กระจายวัคซีนแล้วกว่า 600 ล้านโดส จากสถิติปี 62 ตลาดอินเดียน่าสนใจ มีอัตราเติบโตรวดเร็ว ย้ำจากผลสำรวจพบนักท่องเที่ยวอินเดียยังคงสนใจเดินทางท่องเที่ยวไทย หากเปิดรับนักท่องเที่ยวแบบไม่กักตัว ไตรมาส 4 เตรียมเจาะกลุ่มศักยภาพ Golf, Wedding และ Millennials ประสานเที่ยวบินพาณิชย์ หรือจัด Charter Flight จากเมืองหลักเข้าไทยไม่น้อยกว่า 4,200 คน สร้างรายได้กว่าแสนล้านบาท

นางสาวชลดา สิทธิวรรณ ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานมุมไบ และนายวชิรชัย สิริสัมพันธ์ ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานนิวเดลี ร่วมกันเปิดเผยว่า สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในอินเดียมีแนวโน้มดีขึ้น เริ่มผ่อนคลายมาตรการจากจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงและมีอัตราผู้รักษาหายสูงขึ้น โดยเฉพาะเมืองนิวเดลีและมุมไบ เนื่องจากมีความพร้อมกระจายผลิตวัคซีน เวชภัณฑ์ได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันอินเดียใช้วัคซีนหลัก 2 ชนิด ได้แก่ Covishield และ Covaxin เริ่มต้นฉีดตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมกราคม 2564 ในประชาชนอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป เฉลี่ยฉีดได้วันละ 5 ล้านโดส ปัจจุบันมีอัตรากระจายวัคซีนแล้วกว่า 600 ล้านโดส และประชากรได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม ร้อยละ 10.3 ของจำนวนประชากร ทั้งนี้ รัฐบาลอินเดียคาดว่าจะสามารถกระจายวัคซีนครอบคลุมกลุ่มผู้สูงอายุในเมืองใหญ่อย่างเมืองนิวเดลลีและมุมไบ ครบ 100% ภายในเดือนตุลาคม 2564

ทั้งนี้ ประเทศไทยถือเป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมสูงจากนักท่องเที่ยวอินเดีย เนื่องจากเป็นจุดหมายระยะใกล้และได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียม Visa on Arrival (VOA) จากสถิติปี 2562 พบว่ามีจำนวนนักท่องเที่ยวอินเดียเดินทางท่องเที่ยวไทย 1,961,069 คน เติบโตร้อยละ 25.48 ใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 44,688 บาทต่อคน พักค้างเฉลี่ยประมาณ 7 วัน สร้างรายได้ 80,039.88 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 19.96 ส่งผลให้อินเดียขึ้นมาเป็นตลาดอันดับ 3 จากอันดับ 6 ในปี 2561 รวมถึงมีจำนวนเที่ยวบินเข้าประเทศไทยจากอินเดียกว่า 300 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ด้วย สะท้อนว่าอินเดียเป็นตลาดศักยภาพที่น่าจับมอง มีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็ว 

ททท.จึงพยายามผลักดันโดยพิจารณา 3 ปัจจัย ได้แก่ 1.) นักท่องเที่ยวอินเดียยังคงต้องการเดินทางท่องเที่ยวไทย เนื่องจากมีการสอบถามเกี่ยวกับมาตรการเข้าประเทศไทยอย่างสม่ำเสมอ 2.) มาตรการการเดินทางเข้า-ออกอินเดีย มีขั้นตอนไม่ซับซ้อน สามารถเดินทางออกนอกประเทศและกลับเข้ามาในประเทศได้ตามมาตรการควบคุมโรค ซึ่งกำหนดให้รายงานตัวผ่านระบบออนไลน์ แสดงหลักฐานการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ภายใน 72 ชั่วโมง และขอความร่วมมือสังเกตอาการตนเอง (Self Monitoring) เป็นเวลา 14 วัน 

3.) ช่วงโควิด-19 แม้ว่าต้นทุนการเดินทางจะสูงขึ้น แต่ยังพบการเดินทางของกลุ่มนักท่องเที่ยวอินเดียโดยเที่ยวบินพาณิชย์ (Commercial Flight) ระหว่าง 28 ประเทศภายใต้ข้อตกลง Air Bubble Agreement อาทิ มัลดีฟ รัสเซีย ศรีลังกา เยอรมัน แคนาดา สะท้อนว่านักท่องเที่ยวอินเดียไม่ค่อยอ่อนไหวกับสถานการณ์ มีกำลังซื้อสูง และจากการสำรวจความต้องการเดินทางท่องเที่ยวของคนอินเดีย โดย Thomas Cook เมื่อเดือนมิถุนายน 2564 กลุ่มตัวอย่างกว่า 4,000 ราย พบว่า ร้อยละ 46 ต้องการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ โดยเมืองหรือประเทศที่ต้องการเดินทางไปมากที่สุดได้แก่ ดูไบ อะบูดาบี มัลดีฟส์ และไทย

สำหรับการเปิดรับนักท่องเที่ยวอินเดียเข้าประเทศไทย ปัจจุบันกระทรวงการต่างประเทศกลับมาเปิดรับคำขอใบรับรองในการเดินทางเข้าประเทศไทย (Certificate of Entry: COE) ของผู้ไม่มีสัญชาติไทยที่ประสงค์จะเดินทางเข้าประเทศไทยจากอินเดีย ตั้งแต่วันที่ 25 สิงหาคม 2564 เฉพาะกลุ่มนักธุรกิจ นักลงทุน ผู้มีเอกสารอนุญาตทำงาน (work permit) และครอบครัว โดยต้องเดินทางด้วยเที่ยวบินเช่าเหมาลำ (Charter Flight) และเข้าสู่มาตรการ State Quarantine ในกรุงเทพฯ เป็นเวลา 14 วัน หลังจากนี้จึงจะประเมินและพิจารณากลุ่มอื่นๆ ต่อไป 

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างนี้ ททท. ทั้ง 2 สำนักงาน จะอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวอินเดียอย่างเต็มที่ เพื่อสร้างความเชื่อมั่น ทั้งการให้ข้อมูลประชาสัมพันธ์สถานการณ์ภายในประเทศ มาตรการด้านสุขอนามัย SHA ตลอดจนสำรวจความเห็นของ Travel Agency (TA) กว่า 300 รายทั่วประเทศอินเดีย ได้รับยืนยันกว่า 94% ว่านักท่องเที่ยวอินเดียมีความต้องการเดินทางท่องเที่ยวไทยอย่างแน่นอน โดยให้ความสำคัญกับความปลอดภัยสุขอนามัย กิจกรรมท่องเที่ยว และราคาที่น่าดึงดูดเป็นหลัก ส่วนใหญ่มีระยะเวลาพักค้างต่ำกว่า 7 วัน ซึ่ง TA เตรียมนำร่องทำการตลาดในกลุ่มนักท่องเที่ยวอินเดียระดับกลางไปจนถึงกลุ่มระดับบน

ในปี 2565 ททท. ให้ความสำคัญกับกลุ่มตลาดอินเดียอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่ม First Mover ได้แก่ กลุ่มศักยภาพ Golf, Wedding, Millennials ที่ได้รับวัคซีนครบแล้วจากเมืองหลัก ซึ่งประมาณการว่า หากไตรมาส 4 ในช่วง 1 ตุลาคม - 31 ธันวาคม 2564 ศบค. มีมติผ่อนคลายเปิดรับนักท่องเที่ยวแบบไม่กักตัวและเที่ยวบินพาณิชย์กลับมาบินใน 6 เมืองหลัก ได้แก่ นิวเดลี มุมไบ กัลกัตตา เชนไน ไฮเดอราบัด และบังกะลอร์ สัปดาห์ละ 1 เที่ยวบิน เที่ยวบินละ 250 ที่นั่ง รวม 14 สัปดาห์ พิจารณาจากจำนวน Seat Capacity จะทำให้มีนักท่องเที่ยวอินเดียเดินทางเข้าไทย ประมาณ 21,000 ที่นั่ง สร้างรายได้ประมาณ 938,448,000 บาท หากไม่มีเที่ยวบินพาณิชย์ จะจัด Charter flight สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ใน 2 เมืองหลัก ได้แก่ นิวเดลีและมุมไบ เที่ยวบินละ 150 ที่นั่ง รวม 14 สัปดาห์ ทำให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวอินเดียเดินทางเข้าไทย 4,200 คน สร้างรายได้ประมาณ 187,689,600 บาท


ที่มา : https://mgronline.com/travel/detail/9640000086454


Q : ประกันอะไร? ได้ตั้ง 4 ต่อ!!
A : ก็ประกันภัยรถยนต์จาก @THESHOPTIMES ไง!! 
>> ฟรี!!! ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล (PA) 100,000 บาท
>> รับคอมมิชชั่นหรือส่วนลดทันที ในอัตราที่สูงกว่า แถมได้สิทธิซื้อประกัน พ.ร.บ.ราคาถูกตลอดชีพ
>> สามารถผ่อนได้สูงสุด 6 งวด ดอกเบี้ย 0% โดยไม่ต้องใช้บัตรเครดิต
>> แถมขายดีมีรายได้เพิ่มให้กับตัวเองด้วย
***สนใจติดต่อ Line@ THE SHOPS TIMES คลิก???? https://lin.ee/vfTXud9


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top