Friday, 10 May 2024
The States Times World Team

สภาผู้แทนประชาชนจีน เตรียมเสนอโครงสร้างการศึกษาภาคบังคับใหม่ หั่นเหลือเพียง 10 ปี ชาวเน็ตจีนเสียงแตก ถกเดือดไม่ไหว หรือไปต่อ

เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาในงานประชุมสภาประชาชนแห่งชาติ ประจำปี 2021 ในปักกิ่ง มีข้อเสนอให้มีการปฏิรูปโครงสร้างการศึกษาขั้นพื้นฐานใหม่ทั้งระบบ โดยจะร่นระยะเวลาการศึกษาภาคบังคับให้สั้นลงจาก 12 ปีให้เหลือเพียง 10 ปีเท่านั้น

ข้อเสนอนี้มาจาก นาย จาง หงเหว่ย รองประธานสภาประชนชน ที่นำเสนอแผนปฏิรูปโครงสร้างการศึกษาภาคบังคับใหม่ จากเดิมที่เรียนระดับชั้นประถมศึกษา 6 ปี มัธยมต้น 3 ปี และมัธยมปลาย 3 ปี รวมเป็น 12 ปี ที่คล้ายการระบบการศึกษาภาคบังคับของไทย

แต่โครงการการศึกษาใหม่นี้ จะบีบระยะเวลาในชั้นประถมเหลือเพียง 5 ปี ชั้นมัธยมต้น 3 ปี และชั้นมัธยมปลายก็จะเหลือเพียง 2 ปี เป็น 10 ปี

จาง หงเหว่ย ได้ให้เหตุผลว่า โดยปกติทั่วไปเด็กนักเรียนจีนจะเริ่มต้นวัยเรียนในชั้นประถมที่ประมาณ 7 ขวบ กว่าจะจบมัธยมปลายที่อายุ 19 และจะจบระดับอุดมศึกษาเมื่ออายุ 23 ที่หลายคนกว่าจะเริ่มต้นทำงานเต็มตัวได้ ก็อายุประมาณ 26 - 27 ปี และกว่าจะตั้งหลักสร้างตัวในอาชีพที่ใช่ก็เลย 30 ปีไปแล้ว และมาเกษียณอายุในวัย 55 ที่ดูเหมือนว่าช่วงเวลาที่ทำงานจะสั้นกว่าช่วงเวลาที่เรียนเสียอีก

ซึ่งข้อดีของการย่นระยะเวลาภาคบังคับให้เหลือเพียง 10 ปี ก็จะช่วยให้ครอบครัวจีนมีภาระค่าใช้จ่ายให้ลูกน้อยลง และสอดรับกับสภาพสังคมผู้สูงอายุของจีน และเร่งเติมเต็มแรงงานคนรุ่นหนุ่มสาว ในภาคธุรกิจและอุตสาสหกรรมให้ทันท่วงที

หลังจากที่มีความเห็นในการเปิดประเด็นหั่นระบบการศึกษาภาคบังคับให้เหลือ 10 ปีในสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ ก็มีเสียงวิพากษ์ วิจารณ์ในเรื่องนโยบายนี้ไม่น้อย

โดยชาวเน็ตจีนก็เสียงแตกเป็น 2 ด้าน ด้านหนึ่งก็เห็นว่าดี จะเรียนให้เยอะๆ นานๆ ไปทำไง รีบเรียน รีบจบ รีบออกมาทำงานจะดีกว่า เพราะสมัยนี้คนที่เรียนนานกว่า ก็ไม่ได้หมายความว่าจะประสบความสำเร็จมากกว่า

แต่บางส่วนก็มองว่าช่วงเวลาในระบบการศึกษาก็สัมพันธ์กับพัฒนาการในแต่ละช่วงวัย ที่จะเร่งกันไม่ได้

และก็มีนักการศึกษาจีนหลายคนที่ไม่เห็นด้วย เพราะรัฐบาลจีนมองการศึกษาในแง่มุมของการจ้าง "แรงงาน" ในภาคอุตสาหกรรมเพียงอย่างเดียว ที่การหั่นระยะเวลาการศึกษาขั้นพื้นฐานอาจไม่ใช่การแก้ปัญหาเรื่องแรงงานที่ตรงนัก

ความเห็นต่างในแผนนโยบายใหม่นี้ก็มาจากนาย ฉู เชาฮุ่ย นักวิจัยที่สถาบันวิทยาศาสตร์การศึกษาแห่งชาติ ให้ความเห็นผ่านสื่อ Global Times ของจีนว่า การย่นระยะเวลาการศึกษาเพื่อเพิ่มจำนวนแรงงาน เป็นแค่เพียงการเห็นของภาครัฐแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่ต้องการแรงงานในภาคธุรกิจ ก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่นการเปลี่ยนแปลงทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และเศรษฐกิจ

เช่นเดียวกับนาย สง ปิงฉี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยการศึกษาแห่งศตวรรษที่ 21 เชื่อว่าระบบการเรียนการสอนในโรงเรียนต่างหากที่เป็นรากฐานสำคัญของระบบการศึกษา และการพัฒนาสังคม

ดังนั้นการจะเร่งพัฒนาเยาวชนจีนรุ่นใหม่ สู่ตลาดแรงงานที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ต้องแก้ที่ระบบการเรียน การสอน ซึ่งปัจจุบันยังคงเน้นที่การสอบเป็นหลัก เฉพาะฉะนั้นต่อให้บีบระยะเวลาการศึกษาภาคบังคับให้เหลือเพียง 10 ปี ก็ไม่ได้ช่วยลดภาระของเด็ก และผู้ปกครองอยู่ดี ตราบใดที่ระบบการศึกษายังเน้นเรื่องการสอบแข่งขัน เด็กก็ยังคงต้องเรียนหนัก และผู้ปกครองก็ต้องมีภาระในค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นการเรียนเสริม กวดวิชา ชั้นเรียนพิเศษ เพื่อสร้างความได้เปรียบให้ลูกเมื่อเข้าสู่ระบบสนามแข่ง พอเวลาเรียนสั้นลง ยิ่งสร้างความเครียด และกดดันให้กับเด็กเพิ่มขึ้นไปอีก

และพอมาพูดถึงประเด็นนี้ ก็มีชาวเน็ตจีนอีกจำนวนหนึ่งมองว่า ถ้าอย่างนั้นการเรียนเร่งลัด ให้ลดเวลาลงเหลือ 10 ปี ก็อาจจะเข้าท่าเหมือนกัน หากมองว่าไหน ๆ ทุกวันนี้เด็กจีนก็ต้องเสริม เรียนอัดกันอยู่แล้ว งั้นก็เร่งรัดให้เหลือชั้นประถม 5 ปี มัธยม 5 ปี ก็น่าจะพอแล้ว แต่ให้ยกระดับมาตรฐาน และการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆในการศึกษาให้มากขึ้น และจะช่วยเพิ่มเวลาในการค้นหาตัวเองเมื่อมุ่งหน้าสู่การศึกษาเฉพาะทางในระดับสูงๆต่อไปด้วย

การศึกษาจีน เป็นหนึ่งในระบบการศึกษาที่เข้มงวด และกดดันที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ที่เด็กนักเรียนจีนจะได้รับการปลูกฝังจากครอบครัวให้เรียนอย่างจริงจังตั้งแต่เด็กเพื่อมุ่งสู่สนามสอบระดับชาติที่เรียกว่า "เกาเข่า" ที่ได้ชื่อว่าเป็นข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ยากที่สุดติดอันดับโลก ที่เชื่อว่าเป็นใบเบิกทางสู่หน้าที่การงานในอนาคต และไม่ว่าจะต้องเรียน 12 ปี หรือ 10 ปี ค่านิยมในการเรียนเพื่อสอบให้ผ่าน "เกาเข่า" ก็ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง


แหล่งข้อมูล 

https://www.globaltimes.cn/page/202103/1217628.shtml

https://www.wionews.com/world/chinas-gaokao-one-of-the-toughest-exams-in-the-world-311419

เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้มีคำสั่งแบนการนำเข้าสับปะรดจากไต้หวัน โดยอ้างว่าพบสารพิษ ยาฆ่าแมลงตกค้างที่เป็นอันตรายจากสินค้าล็อตที่เพิ่งส่งมา ซึ่งการสั่งห้ามการนำเข้าสับปะรดไต้หวันเริ่มมีผลทันทีตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นไป

เรื่องนี้นาย เฉิน ชีชุง รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรของไต้หวันออกมาตอบโต้อย่างเผ็ดร้อนว่าไม่เป็นความจริง เนื่องจากทางหน่วยงานมีการตรวจสอบคุณภาพผลผลิตอย่างเข้มงวด และไม่เคยได้รับคำตำหนิจากประเทศคู่ค้าชาติอื่น ดังนั้นคำกล่าวหาของรัฐบาลจีนจึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจรับได้

แต่เมื่อทางรัฐบาลจีนได้มีคำสั่งออกมาแล้วว่าให้แบน ก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นได้ จึงทำให้เกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดในไต้หวันต่างเดือดร้อนไปตามๆกัน เพราะ จีนเป็นผู้นำเข้าสับปะรดรายใหญ่ที่สุดของไต้หวัน กว่า 97% ของสับปะรดไต้หวันส่งไปขายในประเทศจีน ตกเฉลี่ยปีละ 41,660 ตัน คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 1.5 พันล้านบาท

มิหนำซ้ำ คำสั่งแบนจากจีนออกช่วงหน้าสับปะรดไต้หวันออกมาพอดี ชาวไต้หวันถึงเป็นเดือด เป็นแค้นมาก ว่า จะนำสับปะรดกว่า 4 หมื่นตันไปไว้ไหนและมองว่าจีนใช้นโยบายแบนสับปะรด เพื่อโจมตีภาคอุตสาหกรรมเกษตรของไต้หวันโดยตรง ซึ่งเป็นนโยบายที่จีนนิยมใช้ เมื่อต้องการตอบโต้ชาติใดก็ตามที่อยู่ฝั่งตรงข้ามจีน

อย่างที่ออสเตรเลียเคยเจอมาแล้วเมื่อช่วงปี 2020 ที่โดนจีนตั้งกำแพงภาษีนำเข้า ไวน์ ถ่านหิน และข้าวบาร์เลย์จากออสเตรเลีย เพื่อเป็นการตอบโต้รัฐบาลออสเตรเลียที่เคยกล่าวหาจีนว่าปกปิดข้อมูลการแพร่ระบาด Covid-19 และเรียกร้องให้องค์การอนามัยโลกตั้งทีมสืบสวนหาต้นกำเนิดไวรัส Covid -19 ที่ประเทศจีน

และเมื่อจีนต้องการเปิดศึกสับปะรด ทางไต้หวันก็จำเป็นต้องออกมาสู้ โดน นาย อู๋ จาวเซี่ย รัฐมนตรีต่างประเทศไต้หวันก็ประกาศเปิดแคมเปญ "Freedom Pineapple" สับปะรดแห่งเสรีภาพผ่านทางทวิตเตอร์ พร้อมๆกับนาง ไช่ อิงเหวิน ประธานาธิบดีไต้หวัน ก็ออกมาโพสต์ รณรงค์ให้ชาวไต้หวันช่วยกันซื้อสับปะรดกินกันในช่วงนี้

หลังจากที่เปิดแคมเปญ ก็เกิดแนวร่วมพันธมิตรสับปะรดขึ้นทันที เมื่อทูตพิเศษของแคนาดา และสหรัฐในไต้หวันออกมารับลูกเชียร์ความเอร็ดอร่อยของสับปะรดไต้หวันว่าสุดยอดแค่ไหน

และหน้าเพจ Facebook ของสำนักงานหอการค้าแคนาดาก็ได้โพสต์ว่า พวกเราชาวแคนาดาชอบกินพิซซ่าหน้าสับปะรดมาก โดยเฉพาะสับปะรดจากไต้หวัน และยังเล่าถึงประวัติว่าชาวแคนาดาคือผู้คิดค้นการใส่สับปะรดบนหน้าพิซซ่าเป็นครั้งแรกในปี 1962

และยังมี เบรนท์ คริสเตียนเซ่น ผู้อำนวยการสถาบันอเมริกันแห่งไต้หวัน ได้โพสต์รูปตัวเขากับสับปะรดไต้หวัน 3 ลูกบนโต๊ะทำงานของเขา พร้อมคิดแฮชแท็ก #pineapplesolidarity

ส่วนการเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์ก็คึกคักไปด้วยแท็ก #FreedomPineapple ที่ชวนกันไปซื้อสับปะรดมากินโชว์ในโซเชียล และทางไต้หวันก็เตรียมเปิดตลาดสับปะรดใหม่ในประเทศพันธมิตร เช่น สิงคโปร์ มาเลยเซีย และออสเตรเลียเพิ่มขึ้น

และล่าสุด นายเฉิน ชีชุง รัฐมนตรีเกษตรก็ประกาศข่าวดีว่า ตอนนี้ทางเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดได้ยอดสั่งจองล่วงหน้ามาแล้วอย่างถล่มทลายถึง 41,687 ตัน เกินจำนวนยอดที่ส่งออกไปจีนตลอดทั้งปีเรียบร้อยแล้ว

โดยที่ยอดจองส่วนใหญ่มาจากทางอินเตอร์เนตบ้าง จากโรงงานผลิตสับปะรดแปรรูป โรงงานเครื่องดื่ม ตลาดค้าส่ง และค้าปลีกผลไม้และยังมีออเดอร์จากต่างประเทศเพิ่มเติมด้วย เข้ามาช่วยพยุงชาวสวนสับปะรดไต้หวันได้อย่างทันท่วงที

เรียกได้ว่าแผนแก้เกมจีนด้วยพันธมิตรสับปะรดได้ผล และมีกำลังซื้อจริง แต่ทางไต้หวันก็ต้องเร่งหาตลาดต่างประเทศสำรองไว้สำหรับสินค้าเกษตรตัวอื่นๆ ที่อาจโดนจีนสั่งแบนเพิ่มอีกในอนาคตที่อาจต้องสร้างพันธมิตรมะละกอ กล้วย ส้ม กันอีกยาว


อ้างอิง

https://www.taiwannews.com.tw/en/news/4140768

https://www.theguardian.com/world/2021/mar/02/taiwanese-urged-to-eat-freedom-pineapples-after-china-import-ban

https://www.cnbc.com/2021/03/04/taiwan-chinas-ban-on-pineapples-not-in-line-with-global-trade-rules.html

รัฐบาลจีนกำลังจะเป็นชาติแรกที่ใช้งาน ‘เงินดิจิทัล’ (ดิจิทัลหยวน) อย่างเป็นรูปธรรม หลังจากพัฒนามานานถึง 7 ปี เชื่ออาจจะสะเทือนถึงโลก Bitcoin

บลูมเบิร์ก ได้เผย ถึงการที่จีนเริ่มเร่งปล่อยเงินหยวนดิจิทัลออกมาสู่ตลาด เป็นการแสดงถึงความพยายามที่จริงจังของรัฐบาลจีนที่ต้องการควบคุมระบบการเงินในโลกใหม่ ซึ่งในปัจจุบันทางธนาคารกลางจีน ได้ทำการทดสอบใช้เงินหยวนดิจิทัลมากขึ้นเรื่อย ๆ จนใกล้จะถึงขั้นที่พร้อมปล่อยใช้แบบเต็มตัว

อย่างไรก็ตาม หากจีนสามารถนำเงินดิจิทัลของตนออกใช้ได้จริงจัง ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อตลาดเงินดิจิทัล โดยเฉพาะกับ Bitcoin พอสมควร

สำหรับการเร่งผลักดันเงินดิจิทัลของจีนออกมา เพราะเหตุผลหลักๆ มาจากการที่จีนไม่ค่อยชื่นชอบสกุลเงินดิจิทัลที่ควบคุมไม่ได้ ทำให้เกิดมาตรการในการห้ามแลกเงินหยวนกับโทเคนดิจิทัลต่างๆ หรือแม้แต่การสั่งแบนขุด Bitcoin ในหลายพื้นที่ หลังจากนักขุด Bitcoin ใช้พลังงานไฟฟ้าจำนวนมาก จนทำให้พื้นที่เหล่านั้นไม่สามารถทำตามนโยบายประหยัดพลังงานได้

นักวิเคราะห์มองว่าถ้าหากจีนปล่อยเงินหยวนดิจิทัล ที่อยู่ภายใต้การควบคุมออกมา พร้อมกับออกกฎที่เคร่งครัดต่อเงินดิจิทัลสกุลอื่นๆ มากยิ่งขึ้นนั้น จะยิ่งทำให้ตลาดเงินดิจิทัลในจีนนั้นเกิดอาการ ‘Panic Sell’ หรือแห่กันเทขายออกมา ซึ่งนั่นอาจจะทำไปสู่การตกลงที่รุนแรงของราคา Bitcoin โลก ที่อาจจะเกิดขึ้นภายในปีนี้ หรืออนาคตอันใกล้ก็เป็นไปได้

ว่าแต่ ‘หยวนดิจิทัล’ ว่าคืออะไร?

ประเทศจีนได้ชื่อว่าเป็นประเทศตัวอย่างของ ‘สังคมไร้เงินสด’ นั่นก็เพราะมีการใช้จ่ายเงินผ่านทางโทรศัพท์มือถือสูงมาก โดยจากข้อมูลในปี 2009 ได้มีการระบุยอดผู้ใช้จ่ายเงินออนไลน์แล้วประมาณ 94 ล้านคน

หลังจากนั้นอีก 10 ปี หรือในปี 2019 ตัวเลขผู้ใช้จ่ายเงินออนไลน์เพิ่มเป็น 800 ล้านคน หรือก็คือเกินครึ่งของประชากร 1,400 ล้านคนทั่วประเทศ

เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่เราจะเห็นร้านสะดวกซื้อ แม่ค้าในตลาด หรือกระทั่งขอทาน มี QR Code สำหรับรับเงินโดยเฉพาะ และหากมองตลาดการจ่ายเงินผ่านมือถือของจีน จะพบว่ามีรายใหญ่ได้แก่

...Alipay (Alibaba) ครองส่วนแบ่งสูงสุด 55%

...Tenpay (Tencent + WeChat) ครองส่วนแบ่ง 40%

...ที่เหลือก็คือผู้ให้บริการรายย่อยอื่น ๆ

นั่นเท่ากับว่าการรับจ่ายเงินหยวนแต่ละครั้งผ่านระบบออนไลน์ บริษัทเอกชนเหล่านั้นก็จะมีข้อมูลการเคลื่อนไหวของเงินเก็บไว้ ซึ่งพวกเขาก็จะมีข้อมูลลูกค้าเพื่อนำไปวิเคราะห์ต่อ (หรืออาจจะเป็นไปได้ว่าส่งต่อข้อมูลให้ทางรัฐบาลจีน)

ต่อมาในปี 2014 พอทั่วโลกได้เริ่มรู้จักกับสกุลเงินดิจิทัลที่ชื่อว่า Bitcoinก็ทำให้ธนาคารจีนเริ่มศึกษาความเป็นไปได้ของการมีสกุลเงินดิจิทัลของประเทศตัวเองด้วย โดยในปี 2017 ทางธนาคารพาณิชย์ และผู้เชี่ยวชาญได้มาร่วมกันออกแบบระบบสร้างสกุลเงิน ‘หยวนดิจิทัล’ ขึ้นมา

อย่างไรก็ตาม ดิจิทัลหยวน กับ Bitcoin จะมีความต่างกันอยู่พอสมควร โดยเงินหยวนดิจิทัล จะอ้างอิงกับค่าเงินหยวนแบบ 1:1 นั่นหมายความว่าถ้าเงินหยวนมีค่าเท่าไร เงินหยวนดิจิทัลก็จะมีค่าเท่านั้น ซึ่งต่างจาก Bitcoin ที่ไม่ได้อ้างอิงกับสินทรัพย์ใดๆ หรือ Libra (Facebook) ที่อ้างอิงกับเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นส่วนใหญ่

ในขณะที่ Bitcoin ขึ้นชื่อเรื่องของความอิสระ ไม่อยู่ภายใต้การควบคุมใดๆ และสามารถรับจ่ายเงินได้โดยไม่ต้องระบุตัวตน แต่เงินหยวนดิจิทัลนั้น ธนาคารกลางจีนมีสิทธิ์ควบคุมโดยตรง เพราะเป็นผู้สร้างมันขึ้นมา ทำให้สามารถติดตามได้ว่าเงินไปอยู่ตรงไหนแล้ว ถูกใช้จ่ายอย่างไรบ้าง ประชาชนหรือบริษัทไหนเป็นผู้ครอบครองอยู่

ทั้งนี้ หลังจากมีการทดสอบดิจิทัลหยวนจนมั่นใจว่าไม่มีปัญหา ธนาคารกลางจีนก็เริ่มดำเนินการทดลองใช้เงินหยวนดิจิทัล ในหลายเมือง เช่น เซินเจิ้น, เฉิงตู หรือซูโจว โดยช่วงแรกเริ่มใช้ในวงแคบ ๆ ก่อนจะต่อยอดทดสอบจ่ายเป็นเงินเดือนบางส่วน และสวัสดิการให้กับข้าราชการ ซึ่งเป็นเหมือนการบีบบังคับให้พวกเขาต้องใช้เงินดิจิทัลไปในตัว แล้วถ้าการทดสอบนี้ได้ผลดี ก็อาจจะขยายต่อไปยังส่วนธุรกิจอื่น ๆ ต่อ ซึ่งรวมไปถึงห้างร้านต่าง ๆ อีกด้วย

และหากไปถึงจุดนั้นได้จริง ร้านค้าที่รับจ่ายเงินผ่าน QR Code ของผู้ให้บริการต่าง ๆ ก็จะถูกบังคับให้รับทั้งสกุลเงินเดิม และสกุลเงินดิจิทัลนี้ควบคู่กันไป ในขณะที่แอปฯ จ่ายเงินชื่อดังของทั้ง Alibaba และ Tencent ที่ตอนนี้ให้บริการรับจ่ายเงินสกุลหยวน ก็พร้อมให้ความร่วมมือหากรัฐบาลขอให้เปิดใช้เงินใหม่นี้ด้วย

มีการคาดเดากันว่า หากประชากรจีนที่มีร่วม 1,400 ล้านคน สามารถเข้าสู่ระบบการเงินผ่านออนไลน์ได้ทั้งหมด โอกาสที่เหรียญดิจิทัลหยวนจะกลายเป็นส่วนสำคัญในการรับจ่ายเงินผ่านระบบทั้งหมด ก็คงไม่ใช่เรื่องยาก เพราะอย่างที่บอกว่าจีนต้องการที่จะควบคุมและตรวจสอบเส้นทางการเงินต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องของการ ‘ทุจริตและฟอกเงิน’ อยู่แล้ว

ขณะเดียวกันประชากรร่วม 1,400 ล้านคน นี้ ก็เป็นตัวเลขประชากรมหาศาล ได้ตั้งตนที่จะรับระบบแลกเปลี่ยนเงินด้วย ‘ดิจิทัลหยวน’ ขึ้นมา ใครที่คิดจะค้าขายได้ ก็คงต้องยอมรับเงื่อนไขของสกุลเงินนี้

แล้วก็ดูจะเป็นไปได้มากเสียด้วย ในวันที่จีนกำลังเป็นมหาอำนาจในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจโลก...


อ้างอิง:

https://www.facebook.com/331394447302302/posts/1169233243518414/

https://www.bloomberg.com/.../china-s-plan-for-digital...

https://www.efinancethai.com/Laste.../LatestNewsMain.aspx...

https://cntechpost.com/.../alipay-maintains-no-1-spot-in.../

https://www.theguardian.com/.../china-starts-major-trial…

ยูซาคุ มาเอะซาวะ นักธุรกิจชื่อดังชาวญี่ปุ่น เปิดรับสมัคร 8 ผู้กล้า เข้าร่วมภารกิจ dearMoon Project บินผ่านดวงจันทร์ครั้งแรกบนจรวด Starship ของ SpaceX ในปี 2566

ยูซาคุ มาเอะซาวะ นักธุรกิจชื่อดังชาวญี่ปุ่น ประกาศเปิดรับสมัครผ่านวีดีโอคลิป ให้ประชาชนทั่วไปจำนวน 8 ราย เข้ารับการคัดเลือกเพื่อเข้าร่วมโครงการ dearMoon Project ภารกิจบินผ่านดวงจันทร์นาน 1 สัปดาห์กับจรวด Starship ของ SpaceX ในปี 2566 โดยการเดินทางสู่ดวงจันทร์ครั้งนี้ มียูซาคุ มาเอะซาวะ เป็นผู้ให้การสนับสนุนด้านการเงินทั้งหมด และแรงบันดาลใจในการสนับสนุนภารกิจนี้ของเขานั้น มีที่มาจากความสงสัยใคร่รู้และความปรารถนาที่จะได้เห็นและชื่นชมโลกจากระยะไกลในอวกาศ

โดยในคลิปวิดีโอ มาเอะซาวะ ได้กล่าวถึงแรงบันดาลใจเบื้องหลังโครงการ dearMoon Project ว่า "ผมเริ่มตั้งคำถามว่า มนุษย์ทุกคนที่กำลังสร้างสรรค์อะไรสักอย่างในชีวิตก็นับว่าเป็นศิลปินเช่นกันไม่ใช่หรือ เมื่อคิดได้แบบนั้น ผมจึงอยากให้คำเชิญชวนของผมได้ไปถึงวงสังคมที่กว้างขวางยิ่งขึ้น และเปิดโอกาสให้ผู้คนมากมายจากทั่วโลกได้ร่วมการเดินทางครั้งนี้ หากคุณคิดว่าตัวคุณนั้นเป็นศิลปินคนหนึ่ง คุณก็ย่อมเป็นศิลปิน"

ด้าน อีลอน มัสก์ เจ้าของ SpaceX กล่าวว่า "สิ่งสำคัญเกี่ยวกับภารกิจ dearMoon ก็คือนี่จะเป็นเที่ยวบินในอวกาศ ซึ่งบินพ้นวงโคจรโลกครั้งแรกที่ดำเนินการโดยเอกชนและมีผู้โดยสารเป็นมนุษย์ ผมรู้ว่าคุณมาเอะซาวะจะให้การสนับสนุน เพื่อให้ศิลปินและคนกลุ่มอื่น ๆ ได้เดินทางไปในครั้งนี้ด้วย ฉะนั้นเขาต้องการให้ภารกิจนี้เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นและสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนทั่วโลก"

ทั้งนี้ ด้วยความเชื่อของ มาเอะซาวะ ที่ว่ามนุษย์ทุกคนต่างก็เป็นศิลปินผู้สร้างสรรค์ในแบบของตนเอง เขาจึงเชิญชวนให้ทุกคนที่มองว่าตัวเองเป็นศิลปินสมัครเข้าร่วมโครงการ โดยมีเงื่อนไข 2 ข้อ ดังนี้:

1.) ผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกให้เป็นสมาชิกในโครงการ dearMoon จะต้องแสดงให้เห็นว่าตนมีศักยภาพที่จะเติบโตในเชิงบุคลิกภาพจากการเข้าร่วมภารกิจนี้

2.) นำประสบการณ์ครั้งนี้ไปต่อยอดให้เกิดคุณค่าต่อโลกต่อไปในอนาคต ด้วยการผลิตงานเพื่อสังคมที่จะก่อให้เกิดประโยชน์กับมนุษยชาติได้จนชั่วลูกชั่วหลาน

นอกจากนี้ ผู้สมัครจะต้องสามารถให้การสนับสนุนผู้สมัครรายอื่น ๆ ที่มีศักยภาพและวิสัยทัศน์ในระดับที่เท่าเทียมกันด้วย

กระบวนการคัดเลือกจะเริ่มต้นขึ้นในวันนี้ โดยมีขั้นตอนดังต่อไปนี้:

ผู้ที่สนใจสมัครเข้ารับการคัดเลือก เพื่อร่วมโครงการ dearMoon Project สามารถกรอกใบสมัครได้ที่: https://dearmoon.earth/pre-reg.html#en

โดยมีขั้นตอน ดังนี้

ขั้นตอนที่ 1: ลงทะเบียนสมัครเข้ารับการคัดเลือก (ภายในวันที่ 14 มี.ค. 2564 เวลา 6:59 PST)

ขั้นตอนที่ 2: คัดกรองผู้สมัครรอบแรก (ภายในวันที่ 21 มี.ค. 2564 เวลา 6:59 PST)

ขั้นตอนที่ 3: คัดเลือกผู้สมัคร

ขั้นตอนที่ 4: สัมภาษณ์ออนไลน์

ขั้นตอนที่ 5: สัมภาษณ์รอบสุดท้ายและตรวจสุขภาพ (ปลายเดือนพ.ค. 2564)

อนึ่ง ภารกิจบินผ่านดวงจันทร์ครั้งแรกที่ดำเนินการโดยองค์กรเอกชนนี้ มีแผนเริ่มภารกิจอย่างเร็วที่สุดในปี 2566 โดยจรวด Starship ของ SpaceX จะใช้เวลาออกเดินทางไปยังดวงจันทร์และกลับมายังโลกนาน 1 สัปดาห์ ทั้งนี้ เมื่อปี 2561 ยูซาคุ มาเอะซาวะ นักธุรกิจชาวญี่ปุ่นได้ทำการซื้อที่นั่งทั้งหมดในภารกิจครั้งนี้

และเพื่อให้บุคคลที่มีความสามารถมีโอกาสร่วมเดินทางในภารกิจครั้งนี้ได้มากที่สุด เขาจึงได้ประกาศในเดือนมี.ค. 2564 ว่า มีแผนจะคัดเลือกผู้เข้าร่วมภารกิจ 8 รายจากผู้สมัครทั่วโลกนั่นเอง

หุ่นยนต์ขนาดเท่าคนจริงที่เห็นอยู่นี้ชื่อว่า Ai-Da โดยผู้สร้างให้ชื่อเธอตามชื่อของคนที่ได้ชื่อว่าเป็นโปรแกรมเมอร์คนแรกของโลก Ada Lovelace

Ai-Da ถือว่าเป็นศิลปินหุ่นยนต์ตัวแรกที่มีผลงานศิลปะของตัวเอง โดย ‘ตา’ จะทำหน้าที่เป็น ‘กล้อง’ ส่วนมือหุ่นยนต์ ก็จะทำหน้าที่เหมือนมือของศิลปิน

Ai-Da ทำงานได้ด้วยอัลกอริทึม AI (ปัญญาประดิษฐ์) โดยใช้สิ่งที่เห็นเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์งานแบบเดียวกับคน ซึ่งตัวหุ่นยนต์จะทำการคำนวณเส้นทางเสมือนจริงตามสิ่งที่เห็นตรงหน้า แล้วตีความเพื่อสร้างชิ้นงานศิลปะขึ้นมา

Ai-Da ออกแบบและพัฒนาโดยนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ขณะที่ส่วนของมือหุ่นยนต์ถูกสร้างขึ้นโดยวิศวกรจากมหาวิทยาลัยลีดส์

ทั้งนี้ งานแสดงครั้งแรกของ Ai-Da มีขึ้นที่ University of Oxford ช่วงวันที่ 12 มิถุนายน - 6 กรกฎาคม 2020 เป็นงานโซโลเดี่ยวที่มีทั้ง ภาพวาดลายเส้น ภาพจิตรกรรม และ งานประติมากรรม

สำหรับงานแสดงผลงานครั้งที่สองของ Ai-Da จะมีขึ้นในช่วงซัมเมอร์นี้ (2021) ที่ Design Museum ในลอนดอน ซึ่งคราวนี้เธอจะสร้างงานศิลปะจากการมองเห็นของตัวเอง

จากการพัฒนาล่าสุด Ai-Da สามารถมองตัวเองจากกระจก แล้วจินตนาการตัวเองออกเป็นงานศิลปะที่แตกต่างกันออกไป โดยมีกล้อง (ที่ตา) เป็นตัวมองวัตถุ ส่วนมือหุ่นยนต์จะประสานงานกับตา เพื่อทำการวาด ซึ่งเหล่านี้จะไม่มีการแทรกแซงการทำงานของเธอผ่านมนุษย์แต่อย่างใด

การพัฒนาหุ่นยนต์ AI มาสร้างงานศิลปะแบบนี้ คงช่วยสร้างภาพลักษณ์ด้านบวกขึ้นมาได้บ้างไม่มากก็น้อย หลังจากก่อนหน้านี้มักจะมีแต่ข่าวไม่ดีบ่อยครั้งเกี่ยวกับ AI ที่จะมา ‘ผู้ทำลายล้าง’ จนหลายคนวิตกกับพัฒนาการเหล่านี้...


ที่มา:

https://www.facebook.com/698124263678932/posts/1884878471670166/

https://www.bbc.com/news/uk-england-oxfordshire-48498853

https://www.inceptivemind.com/first-robot-artist.../17864/

ศาลกัมพูชาตัดสินจำคุก ‘สม รังสี’ พร้อมนักการเมืองฝ่ายค้านอีก 8 คน ฐานมีแผนการโค่นล้มรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีฮุน เซน

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่าเมื่อวันที่ 1 มี.ค. ศาลกรุงพนมเปญในกัมพูชาตัดสินจำคุกสม รังสี อดีตแกนนำพรรคฝ่ายค้าน เป็นเวลา 25 ปี ฐานมีแผนการโค่นล้มรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีฮุน เซน รวมถึงพยายามโจมตีเพื่อก่อให้เกิดอันตรายแก่ราชอาณาจักรกัมพูชา นอกจากนี้ ศาลยังตัดสิทธิในการลงสมัครรับเลือกตั้งและลงคะแนนเสียงเลือกตั้งอีกด้วย

โดยรังสีแถลงการณ์ผ่านทวิตเตอร์ระบุว่า "การตัดสินครั้งนี้เกิดจากความอ่อนแอและความกลัว นายกรัฐมนตรีฮุน เซน กลัวความเสี่ยงที่ผมจะกลับสู่วงการการเมืองกัมพูชาและหวั่นว่าจะมีการเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรมซึ่งจะนำไปสู่จุดสิ้นสุดของระบอบเผด็จการของเขาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้"

ทั้งนี้ รังสี ลี้ภัยไปอยู่ฝรั่งเศสตั้งแต่ปี 2015 เพื่อหลบเลี่ยงการถูกจำคุกในความผิดหลายคดีที่ระบุว่า มีแรงจูงใจทางการเมือง โดยคดีล่าสุดเกี่ยวข้องกับการที่เขาพยายามจะเดินทางกลับกัมพูชาในปี 2019 ซึ่งถูกตัดสินว่าเป็นการพยายามโจมตีเพื่อก่อให้เกิดอันตรายแก่ราชอาณาจักรกัมพูชา โดยนายกรัฐมนตรีฮุน เซน เคยกล่าวถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นว่าเป็นความพยายามก่อรัฐประหาร

นอกจากนี้ยังมีนักการเมืองฝ่ายค้านอีก 8 คนรวมถึงภรรยาของรังสี ถูกตัดสินจำคุกระหว่าง 20 ถึง 22 ปีเช่นเดียวกัน

ด้านองค์การเพื่อสิทธิมนุษยชนฮิวแมนไรท์วอทช์ ออกประณามการตัดสินจำคุกครั้งนี้ว่า เป็นการจงใจไม่ให้ผู้ลี้ภัยเหล่านี้เดินทางกลับประเทศกัมพูชา และยังเป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตยซึ่งสร้างความเสียหายให้แก่ชาวกัมพูชาอีกด้วย


ที่มา : www.posttoday.com/world/646754

สาวอเมริกันทำแสบ ฉ้อโกงเงินเยียวยา Covid กว่า 4.4 ล้าน ไปช้อปปิ้งมือเติบ แหวนเพชร กระเป๋าหลุยส์

ช้อปแหลกไม่แคร์โลก ทำเอาชาวอเมริกันเดือดเมื่อรู้ข่าวว่า สาวชาวนอร์ท แคโรไลนา ได้ผลาญเงินเยียวยาของรัฐบาลไปช้อปปิ้งแหวนเพชร กระเป๋าหลุยส์ วิตตองไปถึง 149,000 เหรียญ (ประมาณ 4.47 ล้านบาท) และยิ่งแสบกว่านั้นคือเป็นเงินที่เธอฉ้อโกงมาโดยการแอบอ้างกิจการของเธอที่เจ๊งไปแล้วตั้งแต่ก่อน Covid มาหลอกขอเงินรัฐบาล

เจ้าของวีรกรรมสุดแสบ คือ 'แจสมิน จอห์นเน คลิฟตัน' สาววัย 24 ปีจากเมืองชาร์ลอท รัฐนอร์ท แคโรไลนา เธอเคยเป็นเจ้าของกิจการขายเสื้อผ้าออนไลน์ ที่จดทะเบียนบริษัทในชื่อ Jazzy Jas LLC แต่เลิกกิจการไปแล้วตั้งแต่ช่วงกันยายน ปี 2019 ก่อนหน้าที่จะเกิดวิกฤติ Covid-19 ในอเมริกา

แต่พอการแพร่ระบาดของ Covid-19 ลุกลามหนักในสหรัฐ ที่มีผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจ ร้านค้า กิจการหลายแห่งต้องปิดตัวลงในช่วงนี้ ผู้คนตกงานมากมาย ซึ่งรัฐ นอร์ท แคโรไลนา ก็เจอปัญหาหนัก มีผู้ตกงานเพิ่มสูงขึ้นถึง 6.5% ตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว

ช่วงเวลานั้น รัฐบาลสหรัฐได้ออกมาตรการแจกเงินเยียวยา Covid-19 และยังอัดฉีดเม็ดเงินในกองทุนฟื้นฟูกิจการ ที่ชื่อว่า CARES Act มีจุดประสงค์ให้เจ้าของกิจการที่ต้องปิดตัวในช่วงวิกฤติ Covid-19 ให้สามารถกลับมาทำธุรกิจต่อได้หลังจากนี้

แต่กลับเป็นช่องทางให้สาวมะกันสุดแสบคนนี้ใช้เป็นช่องทางหาเงินก้อนโต ด้วยการแอบอ้างชื่อ Jazzy Jas LLC ร้านขายเสื้อผ้าของเธอที่แจ้งเลิกกิจการไปนานแล้วมาขอเงินกู้ในกองทุนฟื้นฟู โดยอ้างว่าเคยมีรายได้ถึงปีละ 3.5 แสนเหรียญ พอ Covid มา ร้านก็เลยเจ๊งค่ะคุณตำรวจ

หลังจากที่ได้ตีหน้าเศร้า เล่าความเท็จไป ทำให้เธอได้เงินจากกองทุนฟื้นฟูของรัฐบาลมาถึง 149,000 เหรียญ แต่แทนที่จะนำเงินไปเริ่มต้นกิจการใหม่ แต่เธอกลับนำเงินก้อนโตไปช็อปปิ้งสินค้าฟุ่มเฟือย เครื่องเพชร กระเป๋าแบรนด์หรู ของแต่งบ้านในห้างดัง

แต่แล้วความจริงก็คือความจริง เมื่อรัฐบาลกลางมีการตรวจสอบบัญชีย้อนหลัง และพบว่าแจสมินได้ยื่นหลักฐานเท็จ แอบอ้างกิจการที่ไม่มีอยู่จริงที่จะเข้าข่ายได้รับเงินช่วยเหลือจากกองทุนฟื้นฟู จึงได้แจ้งข้อหา และอายัดเงินในบัญชีของเธอกว่า 50,000 เหรียญ

ส่วนคดีความตอนนี้กำลังพิจารณาอยู่ในชั้นศาลของรัฐบาลกลางในข้อหาฉ้อโกง แอบอ้างรับผลประโยชน์จากกองทุนช่วยเหลือเพื่อสาธารณะภัยของรัฐ และหากถูกตัดสินว่าผิดจริง อาจมีสิทธิ์ต้องโทษจำคุกสูงสุดถึง 30 ปี และปรับเงินอีกไม่น้อยกว่า 1.25 ล้านเหรียญ (ประมาณ 37.5 ล้านบาท)

สำนักงานอัยการของรัฐออกมาเตือนว่า กองทุนช่วยเหลือเยียวยา และฟื้นฟูกิจการจากวิกฤติ Covid-19 มีไว้ช่วยเหลือเจ้าของกิจการรายย่อยทั่วสหรัฐกว่า 75% ที่ได้รับผลกระทบหนักในช่วงเวลาที่ยากลำบาก แต่ก็พบกลุ่มคนที่หาประโยชน์จากกองทุนนี้ด้วยวิธีมิชอบ อย่างเช่นกรณีสาวแสบจากนอร์ท แคโรไลนาคนนี้

และตอนนี้ทางรัฐบาลกลางก็ได้ตั้งชุดทำงานไว้ตรวจสอบ ไล่ล่าคนที่คิดจะฉ้อโกงหาผลประโยชน์จากกองทุนนี้ทั้ง ๆ ที่ไม่ควรได้ เพราะฉะนั้น โปรดอย่าคิดจะรอด และอย่าคิดทำ หากเจอโทษหนักทั้งจำ ทั้งปรับ ไม่คุ้มได้นะครับ บอกเลย


ที่มา:

North Carolina woman is accused of using her $149,000 Covid-19 relief loan for shopping sprees - CNN

https://edition.cnn.com/2021/02/25/us/north-carolina-covid-shopping-spree-trnd/index.html?utm_source=fbCNNi&utm_medium=social&utm_term=link&utm_content=2021-02-28T13%3A30%3A16?iid=cnn-mobile-app&adobe_mc=TS%3D1614605421%7CMCMID%3D72896598776226317998010576196136757497%7CMCAID%3D30131C8745DA0E30-60000E406754C553%7CMCORGID%3D7FF852E2556756057F000101%40AdobeOrg

สหราชอาณาจักร (UK) เร่งฉีดวัคซีนสัปดาห์ละ 3 ล้านคน กลุ่มคนอายุ 40 ขึ้นไปในยูเค จะเป็นกลุ่มต่อไปที่จะได้คิวรับวัคซีนป้องกันโควิด หลังจากกลุ่มคนอายุ 50 ปีขึ้นไป ได้รับการฉีดวัคซีนทุกคนภายในวันที่ 15 เมษายนนี้

โดยใช้เกณฑ์อายุเป็นหลัก ไม่ใช่อาชีพ ที่จะได้รับการจัดลำดับความสำคัญต่อไปในแผนการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดในระยะที่สอง

การฉีดวัคซีนตามลำดับอายุเป็นวิธีที่เร็วที่สุดในการลดการเสียชีวิตจากโควิด -19 ในระยะถัดไป ผู้เชี่ยวชาญที่ปรึกษารัฐบาล สหราชอาณาจักร กล่าว

คนอายุ 40 ขึ้นไปจะเป็นกลุ่มต่อไป เมื่อการฉีดแผนปัจจุบันเสร็จ

การจัดลำดับความสำคัญตามอาชีพจะ "ซับซ้อนมากขึ้น" และอาจทำให้โปรแกรมการฉีดวัคซีนช้าลงได้ คณะกรรมการร่วมว่าด้วยการฉีดวัคซีนและการสร้างภูมิคุ้มกันโรคกล่าว

ทั้ง 4 ประเทศของสหราชอาณาจักร (อังกฤษ, เวลส์, สก๊อตแลนด์ และ ไอร์แลนด์เหนือ) จะปฏิบัติตามแนวทางนี้โดยมีเป้าหมายในการฉีดวัคซีนให้กับทุกคนทั้งหมดภายในสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้

จนถึงขณะนี้มีคนมากกว่า 20 ล้านคนในสหราชอาณาจักรที่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรกแล้ว

บุคคลอาชีพ ครูและเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นหนึ่งในผู้ที่รณรงค์ให้มีการจัดลำดับความสำคัญในระยะต่อไป - แต่ตอนนี้พวกเขาจะได้รับการฉีดวัคซีนตามกลุ่มอายุ

คณะกรรมการร่วมว่าด้วยการฉีดวัคซีนและการสร้างภูมิคุ้มกันโรค (JCVI) ได้พิจารณาถึงหลักฐานในการลดการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตจากโควิด -19 ในระยะที่สองของโครงการฉีดวัคซีนของสหราชอาณาจักรกล่าวว่าการจัดลำดับความสำคัญทางอาชีพ อาจทำให้กลุ่มเปราะบาง บางคนต้องรอการฉีดวัคซีนเข็มแรกนานขึ้น

JCVI กล่าวว่า ควรจัดลำดับความสำคัญของกลุ่มต่อไปนี้เมื่อกลุ่มเสี่ยงทั้งหมดในระยะที่หนึ่งได้รับวัคซีนอย่างน้อยหนึ่งเข็มฉีดไปแล้ว (ภายในกลางเดือนเมษายน): คิวกลุ่มถัดไปคือ

- ทุกคนที่มีอายุ 40 - 49 ปี

- ทุกคนที่มีอายุ 30 - 39 ปี

- ทุกคนที่มีอายุ 18 - 29 ปี

และขอแนะนำ ให้บุคคลบางกลุ่มมารับวัคซีนทันทีเมื่อถึงคิว กลุ่มเหล่านี้คือ :

- ผู้ชาย

- ผู้ที่อยู่ในชุมชนคนผิวสี, เอเชีย และ ชนกลุ่มน้อย (หมายถึงคนไทยทุกคนในสหราชอาณาจักร)

- ผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 30

- ผู้ที่อาศัยอยู่ในย่านที่ยากจน

ในระยะที่หนึ่งมีการกำหนดกลุ่มลำดับความสำคัญ 9 กลุ่มตามอายุและสภาวะสุขภาพพื้นฐาน ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการเพิ่มความเสี่ยง รวมถึงเจ้าหน้าที่ด้านสุขภาพและการดูแล เพื่อปกป้องคนที่เปราะบางที่พวกเขาดูแล

การฉีดวัคซีนกลุ่มเหล่านี้น่าจะป้องกันได้ประมาณ 99% แก่ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจาก Covid-19 มากที่สุด

ผู้ที่อยู่ในกลุ่มที่มีลำดับความสำคัญสูงสุด 4 อันดับแรก - ราว 15 ล้านคนได้รับการฉีดวัคซีนภายในกลางเดือนกุมภาพันธ์ มากกว่า 95% ของผู้ที่มีอายุเกิน 70 ปีที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว

มีผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนทุกสัปดาห์ จำนวนสัปดาห์ละสามล้านคนในสหราชอาณาจักรด้วยวัคซีน ไฟเซอร์ ไบโอเอ็นเทค (Pfizer-BioNTech) หรือไม่ก็ ของ อ็อกซ์ฟอร์ด-เอสด้าเซนเนก้า (Oxford-AstraZeneca)

การวิจัยเบื้องต้นชี้ให้เห็นว่า วัคซีนมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญในการป้องกันโรคร้ายแรงจาก Covid-19 ในสหราชอาณาจักร นอกจากนี้ยังมีข้อบ่งชี้บางประการที่อาจลดการแพร่กระจายของไวรัสระหว่างคนได้


ที่มา : https://www.facebook.com/story.php?story_fbid=3863670853671897&id=178210772217942

https://www.bbc.com/news/health-56208674

Milk Tea Alliance พันธมิตรชานมแห่งเอเชีย ประกาศนัดรวมพลชาวเน็ตทั่วเอเชีย แสดงจุดยืนต่อต้านเผด็จการทหารในพม่าผ่านทางทวิตเตอร์พร้อมกันในวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้ ตั้งแต่เวลา 15.00 น.เป็นต้นไป

และจะเป็นการเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์ครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง ในการแสดงพลังของเยาวชนชาวโซเชียลอย่างพร้อมเพรียงกันทั้งที่ไต้หวัน ฮ่องกง ไทย พม่า และอีกหลายประเทศในย่านอาเซียน โดยมีอุดมการณ์เสรีนิยมประชาธิปไตย ต่อต้านกลุ่มอำนาจนิยมเป็นแรงขับเคลื่อนร่วมกัน

การประกาศนัดชุมนุมใหญ่ของกลุ่มพันธมิตรชานม เกิดขึ้นหลังจากที่มีข่าวการมาเยือนไทยของนาย วันนะ หม่อง ลวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของรัฐบาลทหารพม่า เพื่อประชุมหารืออย่างไม่เป็นทางการร่วมกับ นายดอน ปรมัตถ์วินัย และ นางเร็ตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และยังมีคิวเข้าพบ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อีกด้วย

แม้จุดประสงค์ของการมาเยือนนั้นเพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ในพม่า และหาทางออกอย่างสันติวิธี แต่การเป็นเจ้าภาพในการจัดงานประชุมของไทยครั้งนี้ ได้รับกระแสวิจารณ์ในแง่ลบค่อนข้างมาก ในประเด็นที่รัฐบาลไทยเป็นผู้เชิญทางฝ่ายรัฐบาลพม่า ทำให้ถูกโยงว่ารัฐบาลไทยได้รับรองรัฐบาลทหารพม่าที่เพิ่งผ่านการทำรัฐประหารมา รวมถึงที่มาของ พลเอก ประยุทธ์ ที่เคยเป็นหัวหน้าคณะ คสช. ที่เคยทำรัฐประหารมาก่อน

จึงกลายเป็นที่มาของการนัดระดมพลในวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้ ผ่านทาง Twitter ของกลุ่มพันธมิตรชานม ให้ออกมาเคลื่อนไหวทางโลกโซเชียล เพื่อสนับสนุนกลุ่มผู้ชุมนุมในพม่า หลังจากที่มีการพบปะกันอย่างไม่เป็นทางการระหว่างฝ่ายรัฐบาลทหารพม่าและผู้นำไทย เพื่อกดดันกลุ่มผู้นำประเทศอาเซียนให้เคารพผลการเลือกตั้งของชาวพม่า

และตั้งใจให้เป็นการแสดงพลังคู่ขนานไปกับการนัดชุมนุมของในประเทศไทย และพม่าในวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้ ซึ่งทางเพจพันธมิตรชานมได้ส่งข้อความถึงกลุ่มนักเคลื่อนไหวในไทยทั้ง กลุ่มเยาวชนปลดแอก กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม กลุ่มนักเรียนเลว กลุ่มพันธมิตรชานมแห่งประเทศไทย รวมถึงกลุ่มพันธมิตรในมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ฮ่องกง ไต้หวัน อินเดีย และล่าสุด พม่า ภายใต้สโลแกน "Make Milk Tea and End Dictatorship 28.2.2021"

จุดเริ่มต้นของพันธมิตรชานม เกิดขึ้นเมื่อช่วงเดือนเมษายน 2653 จากกระแสดราม่าในโลกอินเตอร์เนตของชาวจีน เกี่ยวกับรูปภาพของนักแสดงหนุ่มชาวไทย ไบร์ท วชิรวิชญ์ ชีวอารี ที่ได้รีทวิตภาพถ่ายอาคาร 4 แห่งของช่างภาพคนหนึ่งและได้ระบุว่าหนึ่งในนั้นถ่ายที่ประเทศฮ่องกง สร้างความไม่พอใจอย่างมากในกลุ่มแฟนคลับชาวจีนที่อ้างฮ่องกงเป็นประเทศเอกราช ซึ่งนักแสดงหนุ่มก็ได้ขอโทษที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์และลบทวิตไป

แต่เรื่องไม่จบง่ายๆ เมื่อชาวเน็ตจีนยังตามขุดต่อ และได้พบทวิตเตอร์ของ นิว วีรญา สุขอร่าม แฟนสาวของหนุ่มไบร์ท ที่ใช้ชื่อใน IG และ Twitter ว่า nnevvy เคยรีทวิตข่าวที่กล่าวหาว่าไวรัส Covid-19 ถูกปล่อยจากแล็บในอู่ฮั่น เลยยิ่งทำให้กระแสลุกลามใหญ่โตในจีน ถึงขั้นติด #nnevvy และจะแบนผลงานของหนุ่มไบร์ท

จึงเกิดเป็นสงครามระหว่างชาวเน็ตไทย และ จีนอย่างดุเดือด จนดึงให้ชาวเน็ตในฮ่องกง และไต้หวันออกมาร่วมรบกันในสงครามคีย์บอร์ดจนชาวเน็ตจีนต้องล่าถอย และกลายเป็นที่มาของ Milk Tea Alliance พันธมิตรชานมขึ้นเป็นครั้งแรก เนื่องจากทั้ง 3 ชาติมีเอกลักษณ์ และความชอบในการดื่มชานมคล้ายๆ​ กัน

ถึงแม้จะดูเหมือนเป็นการรวมกลุ่มกันแบบเฉพาะกิจ​ แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดึงให้แกนนำตัวหลักในฮ่องกงอย่าง โจชัว หว่อง ได้มารู้จักกับกลุ่มนักเคลื่อนไหวในไทยจากกระแสของพันธมิตรชานม

ต่อมามีการขยายกลุ่มพันธมิตรเพิ่มเติม เมื่ออินเดียและจีนเกิดข้อพิพาทในเขตชายแดนเทือกเขาหิมาลัย ที่นำไปสู่การปะทะกันอย่างรุนแรงจนสูญเสียชีวิตทหารทั้งสองฝ่าย เป็นชนวนเหตุให้เกิดกระแสต่อต้านสินค้าจีนในอินเดีย และกลายเป็นหนึ่งในพันธมิตรชานมร่วมกันในที่สุด

และจากกลุ่มพันธมิตรชานมในโลกเสมือน ก็พัฒนาสู่เวทีจริงในช่วงเดือนตุลาคม 2563 เมื่อเกิดเหตุการณ์ชุมนุมครั้งใหญ่ในประเทศไทย เรียกร้องการปฏิรูปสถาบัน และต่อต้านรัฐบาลของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่ากลยุทธ์ในการชุมนุมในไทย มีรูปแบบโมเดลคล้ายๆ​ กับการชุมนุมใหญ่ในฮ่องกงที่เคยเกิดขึ้นในปี 2562

เนื่องจากมีการถ่ายทอด "know - how" รูปแบบกลยุทธการจัดชุมนุมแบบใหม่ การใช้แฟลชม็อบ การใช้รหัสลับ การนัดชุมนุมผ่านโซเชียลมีเดียแบบรายวัน การใช้แอปพลิเคชันใหม่ๆ​ ในการสื่อสาร หรือแม้แต่การป้องกันตัวเองหากถูกสลายการชุมนุมด้วยแก๊ซน้ำตา จากกลุ่มแกนนำในฮ่องกงผ่านเครือข่ายพันธมิตรชานม นั่นเอง

และกลุ่มพันธมิตรชานม ก็มีแนวโน้มขยายตัวขึ้นในกลุ่มเยาวชนที่นิยมเล่นโซเชียลในประเทศย่านเอเชีย ที่มักมีปัญหากับจีนไม่เรื่องใดก็เรื่องหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ เขตพรมแดน การแบ่งปันทรัพยากรธรรมชาติ หรือการเอาเปรียบด้านการค้า

ดังนั้น การรวมกลุ่มกันในโลกโซเชียลของพันธมิตรชานม จึงมีการผสมผสานกันระหว่างแนวร่วมอุดมการณ์เสรีนิยมประชาธิปไตยของคนรุ่นใหม่ กับประเด็นเรื่องชาตินิยม สังคม เศรษฐกิจ และภูมิรัฐศาสตร์อย่างเข้มข้น และพร้อมที่จะแสดงพลังให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมได้หากเกิดกระแสการชุมนุมที่จุดติด

เช่นเดียวกับการลุกฮือต่อต้านคณะรัฐประหารในพม่า ประเทศสมาชิกล่าสุดของพันธมิตรชานม ที่ใช้สัญลักษณ์การชู 3 นิ้วเหมือนกับของไทย และมีการแชร์ข่าวสารข้อมูลของกลุ่มเคลื่อนไหวร่วมกันในโซเชียล

และเป้าหมายของกลุ่มคือการผลักดันในเกิด Spring Revolution เช่นเดียวกับที่เกิดกระแสอาหรับ สปริง ในตะวันออกกลาง เริ่มจากการโค่นล้มรัฐบาลทหารพม่า ที่อาจส่งผลถึงกระแสการต่อต้านรัฐบาลปัจจุบันของไทย และอาจลามต่อไปถึงหลายประเทศในย่านอาเซียนได้

จึงเป็นที่น่าจับตาว่า การนัดแสดงพลังทางออนไลน์ของกลุ่มพันธมิตรชานมอย่างพร้อมเพรียงกันในวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้ จะสร้างปรากฏการณ์ได้ขนาดไหนในกระแสโลกโซเชียล และการเบ่งบานของกลุ่มพันธมิตรชานมของกลุ่มคนรุ่นใหม่ จะส่งผลต่ออิทธิพลของชาติมหาอำนาจของโลก อย่างสหรัฐอเมริกา และจีนในภูมิภาคย่านเอเชียอย่างไร เป็นสิ่งที่คนทุกรุ่นต้องติดตามกัน


อ้างอิง:

https://www.taiwannews.com.tw/en/news/4137020

https://twitter.com/alliancemilktea/status/1364888390219497474

https://www.theatlantic.com/international/archive/2020/10/milk-tea-alliance-anti-china/616658/

https://en.wikipedia.org/wiki/Milk_Tea_Alliance


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top