Saturday, 9 November 2024
The States Times World Team

รายงานสถานการณ์จากพม่าเกี่ยวกับการต่อต้านรัฐประหารของหมอในประเทศล่าสุด จากเพจ LOOK Myanmar ได้เผยว่า...

แอดมินได้รับรายงานเรื่องแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ไม่มาทำงานเพราะต่อต้านรัฐประหาร โดยเมื่อวานมีรายงานจากคนพม่าว่าที่โรงพยาบาล Yangon General มีแพทย์ใน ER แค่ 4 ท่าน ซึ่งจากเดิมมีเป็นสิบ ก็แทบจะงานล้นมือแล้ว เหตุผลเนื่องจากมาจากแพทย์หลายท่านมาทำงานในโรงพยาบาลเอกชนช้า เพราะไปประท้วง

แอดคิดในใจว่า เอ้า!! ถ้าคนไข้ผ่าตัดมีความเป็นตายเท่ากัน แล้วคนไข้นั้นเป็นญาติหมอคนหนึ่ง แต่หมอเจ้าของไข้ไม่รักษา เพราะไปประท้วงหรือขอมาผ่าช้าไปชั่วโมงนึง เนื่องจากไปประท้วงก่อน แอดว่านี่ไม่ใช่ละ

ตอนนี้หลายเสียง จากหลายภูมิภาค เริ่มส่งเสียงสะท้อนออกมาว่า มากกว่าการเรียกร้องประชาธิปไตย คือ แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ ควรมีจรรยาบรรณทางการแพทย์หรือไม่?

วิกฤติศรัทธาทางการแพทย์เริ่มก่อตัวขึ้นอย่างช้าๆ และเชื่อได้ว่ามันจะเพิ่มมากขึ้นเมื่อมีการประท้วงและมีคนบาดเจ็บ

แอดหวังว่าบทความนี้ของแอดจะถูกส่งต่อให้บุคลากรทางการแพทย์ในเมียนมาให้คำนึงถึงจรรยาบรรณทางการแพทย์ในการรักษาคนไข้ด้วย

แอดเคารพการตัดสินใจของแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ทุกท่านในเมียนมาและหวังว่าท่านจะมีจรรยาบรรณดังแพทย์ทั่วโลกพึงกระทำเช่นกัน

#แอดหม่อง


ที่มา: https://www.facebook.com/621374414597386/posts/3686812931386837/

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 7 กุมภาพันธ์ คณะกรรมการต่อต้านการผูกขาด ภายใต้รัฐบาลจีน มีมติผ่านร่างกฎหมายว่าด้วยเรื่องระเบียบการค้าใหม่ ที่ป้องกันการผูกขาดของผู้ประกอบการรายใหญ่ โดยย้ำว่าจะใช้กฎหมายนี้ในทุก ๆ อุตสาหกรรม

แม้จะไม่มีการเอ่ยตรงๆ แต่ก็เชื่อได้ว่าเป็นการสกัดกลุ่มธุรกิจ e-Commerce ในกลุ่ม Big Tech ของจีนโดยเฉพาะ เพราะกำลังเป็นกลุ่มธุรกิจที่ทรงอิทธิพลอย่างมากในจีน หากมองในแง่มุมของการครอบครองข้อมูลฐานลูกค้าหลายล้านรายทั่วประเทศ

โดยร่างกฎหมายฉบับใหม่ มีกฏข้อห้ามในการตั้งราคาขายในกลุ่มลูกค้าที่แตกต่างกัน ซึ่งอาจมีผลต่อการทำโปรโมชั่นเพื่อทุ่มตลาด รวมถึงการผูกขาดให้ใช้เฉพาะช่องทางการชำระเงินของบางบริษัท ที่กีดกันบริการคู่แข่ง และการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลลูกค้าเพื่อความได้เปรียบทางตลาด

สำหรับธุรกิจที่จะโดนผลกระทบเต็มๆ จากร่างกฎหมายต่อต้านการผู้ขาดฉบับล่าสุด จะมีตั้งแต่เว็บ Alibaba, Taobao, Tmall, JD.com รวมถึงแอปพลิเคชันในให้บริการทางการเงินอย่าง AliPay, WeChat หรือแม้แต่เว็บไซต์โซเชียลมีเดีย และผู้ให้บริการส่งอาหาร เรียกรถแท็กซี่ ที่จะไม่มีข้อยกเว้น

ทั้งนี้ สำนักงานบริหารจัดการกฎระเบียบตลาดแห่งรัฐ ได้ไห้ความเห็นว่า ร่างกฎหมายใหม่จะป้องกันกลยุทธ์เพื่อผูกขาดตลาดของบริษัทใหญ่ผ่านแพลตฟอร์มทางธุรกิจต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่ยุติธรรมมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายที่ค่อนข้างชัดเจนจากรัฐบาลจีนในการใช้กฎหมายใหม่ น่าจะเน้นไปที่การจำกัดการใช้กลยุทธ์ด้านราคา หรือเทคโนโลยีในการจัดการฐานข้อมูลขนาดใหญ่ หรือใช้ระบบอัลกอริธึมในการควบคุมตลาด ซึ่งตอนนี้อยู่ในมือบริษัทที่มีดิจิตัลแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ อย่าง Alibaba และ Tencent ซึ่งบริษัทเหล่านี้กำลังเป็นบริษัทเงินทุนสุดทรงอิทธิพลอย่างมากในเศรษฐกิจของจีน และนี่ก็เป็นสิ่งที่รัฐบาลจีนไม่อาจมองข้ามได้

รัฐบาลจีนส่งสัญญาณชัดเจนในเรื่องนี้ ตั้งแต่ที่ ‘แจ็ค หม่า’ ประกาศตั้งบริษัท Ant Group เสนอนวัตกรรมผู้ให้บริการด้านการเงินแบบใหม่ โดยใช้ฐานลูกค้า Alibaba ในการพิจารณาสินเชื่อ แทนการกู้ในระบบธนาคารรัฐ ที่แจ็ค หม่า เคยวิจารณ์ว่าเป็นระบบที่ล้าหลังไม่ต่างจากโรงรับจำนำ

การกำเนิดของ Ant Group สร้างความฮือฮาในวงการการเงินทั้งใน และต่างประเทศเป็นอย่างมาก และคาดการณ์ว่าราคา IPO ของ Ant Group จะสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ แต่แล้วทางรัฐบาลจีนก็ออกคำสั่งด่วน สกัดการเข้าตลาดหลักทรัพย์ของ Ant Group ตามมาด้วยข่าวการร่างกฎหมายต่อต้านการผูกขาดตลาดใหม่ และเข้าสอบสวนเครือบริษัท Alibaba ว่าเข้าข่ายกระทำผิดกฎหมายการผูกขาดหรือไม่

เมื่อเดินหน้าแล้ว รัฐบาลจีนก็ไม่หยุดแค่ Alibaba แต่จัดระเบียบกับผู้ให้บริการด้านดิจิทัลทั้งหมด ด้วยกฎหมายเดียวกัน เพื่อเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม

แต่ทั้งนี้ การเข้าถึงฐานข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big Data ก็เริ่มเป็นสร้างความกังวลใจให้กับรัฐบาลหลายประเทศ ที่จำเป็นต้องเข้ามาจัดการก่อนสายเกินไป

ดังอย่างเช่น รัฐบาลกลางสหรัฐได้ยื่นฟ้องบริษัท Big Tech ยักษ์ใหญ่ ทั้ง Google และ Facebook ในข้อหาผิดกฎหมายผูกขาดด้านการตลาด ที่ตอนนี้กำลังพิจารณาในชั้นศาล

และรัฐบาลออสเตรเลีย ตัดสินใจผ่านกฎหมายคุ้มครองสื่อในประเทศ ยื่นฟ้องทั้ง Facebook และ Google ต้องจ่ายค่าคอนเท้นท์ให้แก่สำนักข่าวท้องถิ่นของออสเตรเลียเมื่อมีการอ้างอิงเนื้อหาบนแพลตฟอร์ม ที่ทำให้ Google ออกมาขู่ระงับการใช้งานในออสเตรเลีย และกลายเป็นประเด็นที่ทั่วโลกกำลังจับตาว่า บริษัท Big Tech อาจมีอิทธิพลเหนือกว่ารัฐบาลทั่วโลกแล้วในขณะนี้

ส่วนรัฐบาลกลางของสหภาพยุโรปได้เคยยื่นฟ้องร้องคดีการผู้ขาดตลาดกับ Google ให้จ่ายค่าปรับไม่น้อยกว่า 9.5 พันล้านเหรียญมาแล้วตั้งแต่ปี 2017

เรื่องการผูกขาดตลาดในโลกดิจิทัลที่เกือบจะไร้พรมแดนเพื่อครอบครอง Big Data อาจเป็นเรื่องที่จริงจังกว่าที่เราคิดก็ได้


อ้างอิง:

https://www.globaltimes.cn/page/202102/1215210.shtml

https://www.usnews.com/news/world/articles/2021-02-07/china-issues-new-anti-monopoly-rules-targeting-its-tech-giants

https://www.cnbc.com/2021/02/08/asia-markets-shares-of-china-tech-giants-alibaba-tencent-coronavirus-currencies-oil.html

อย่าเล่นกับกับมังกรผยอง!! ปักกิ่งเตรียมฟาด BBC อังกฤษ >> หลังเดือด​จัด!! เหตุ BBC เล่นข่าวจีนแบบมีอคติ​ พร้อมเปิดศึกสงครามสื่อแบบดุเดือดชนิดเกลือจิ้มเกลือ 

รัฐบาลจีนออกโรง เปิดหน้าท้าชนสื่อยักษ์ใหญ่จากฝั่งอังกฤษอย่าง BBC หลังนำเสนอข่าวบิดเบือนโจมตีรัฐบาลจีนอย่างต่อเนื่องมานาน และอาจถึงขั้นพิจารณาถอนใบอนุญาตเผยแพร่ข่าวในประเทศจีนด้วย

กลายเป็นประเด็นที่โต้เถียงกันอย่างดุเดือดมาก  เนื่องจากกระทรวงการต่างประเทศของจีนได้ออกมาประนามสื่อ BBC ว่า​ จงใจเผยแพร่ข่าวสารที่ไม่เป็นกลาง และเป็นอคติต่อรัฐบาลจีน ไม่ว่าจะด้วยภาพ วิดีโอ เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอในมุมของสำนักข่าวที่เชื่อได้ว่าเป็นการครอบงำความคิดของผู้ชมอย่างเป็นระบบ​ โดยมีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง 

นอกจากนี้ทางจีนยังกล่าวหาว่า BBC ปักกิ่งนำเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ Covid-19 ที่เข้าข่าย "Fake News" โหมกระแสว่าจีนมีเจตนาปกปิดข้อเท็จจริง ซึ่งทางการจีนเรียกร้องให้สำนักข่าว BBC ออกแถลงการขอโทษอย่างเป็นทางการด้วย 

เมื่อทางรัฐบาลจีนแถลงข่าวออกมาเช่นนี้ ทาง BBC ก็ไม่รอช้า สวนกลับทันทีว่าไม่เป็นความจริง และยืนยันว่านำเสนอข่าวตามความจริง อย่างไม่มีอคติมาโดยตลอด

แต่ทั้งนี้ หลายฝ่ายเชื่อว่า ท่าทีที่แข็งกร้าวของรัฐบาลจีนที่มีต่อสำนักข่าวยักษ์ใหญ่ของอังกฤษนี้ เป็นการตอบโต้รัฐบาลอังกฤษโดยตรง หลังจากที่ได้ถอนใบอนุญาตการเผยแพร่ข่าวจากสำนักข่าว CGTN ข่าวภาคภาษาอังกฤษของจีนที่มีสำนักงานอยู่ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

เบื้องหลังของการถอนใบอนุญาตของ CGTN เริ่มมีประเด็นมาตั้งแต่รัฐบาลจีน และ อังกฤษ ตอบโต้กันในประเด็นการประท้วงในฮ่องกง หลังจากที่จีนได้ผ่านร่างกฏหมายความมั่นคงใหม่ที่บังคับใช้ในเขตปกครองพิเศษฮ่องกง 

ทางรัฐบาลอังกฤษ​ ก็ได้ออกกฏหมายการเข้าเมืองให้สิทธิ์ชาวฮ่องกงที่ถือหนังสือเดินทาง British National (Overseas) สามารถลี้ภัยไปอยู่ที่อังกฤษได้ถึง 3 ล้านสิทธิ์ ซึ่งทางการจีนก็ได้ตอบโต้อังกฤษ​ ด้วยการยกเลิกการรับรองสถานะของหนังสือเดินทาง BN(O) ของชาวฮ่องกง ไม่นับเป็นเอกสารราชการของจีนอีกต่อไป จะใช้เป็นพาสปอร์ตเดินทางออกจากต่างประเทศก็ไม่ได้ด้วย 

หลังจากที่แลกหมัดกันมานานในเรื่องกฏหมายสิทธิพลเมือง ก็ย้ายมาฟาดกันต่อที่สนามสื่อ เมื่อ Ofcom หรือ กสทช ของอังกฤษ​ ได้เพิกถอนใบอนุญาตการแพร่ภาพของสำนักข่าวภาคภาษาอังกฤษของจีน CGTN เมื่อไม่นานมานี้ โดยอ้างว่า CGTN ทำผิดกฏหมายด้านสื่อมวลชนในอังกฤษ ที่ไม่อนุญาตให้สื่อได้รับการสนับสนุนทั้งทางตรง และทางอ้อมจากคนของฝ่ายการเมือง

ซึ่ง CGTN เป็นสำนักข่าวลูกของ CCTV หรือ China Central Television ที่มีสำนักงานใหญ่ที่กรุงปักกิ่งที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีน ส่วนสำนักงานของ CGTN ในอังกฤษเพิ่งเปิดเมื่อปี 2019 และถือใบอนุญาตในนามบริษัทเอกชนชื่อ Star China Media 

แต่ทั้งนี้ ทางอังกฤษมองว่าผู้ประกอบการปัจจุบันเป็นเพียงบริษัทบังหน้า ที่เบื้องหลังของ CGTN ก็ยังถูกควบคุมโดยรัฐบาลจีน และใช้เป็นช่องทางกระจายข่าวสารของรัฐบาลจีน เล็งๆมานานแล้ว มามาได้จังหวะในช่วงนี้ อังกฤษจึงจัดการถอนใบอนุญาตสื่อจีนเสียเลย 

แล้วรัฐบาลจีนก็ยอมเสียที่ไหน เตรียมจัดการเล่นงานสำนักข่าว BBC สื่ออังกฤษเป็นการตอบโต้ ที่ทางจีนเชื่อว่ารายงานข่าวตามใบสั่งรัฐบาลอังกฤษเช่นกัน และหากบานปลายก็มีสิทธิ์ที่ BBC ปักกิ่งจะจอดำได้

ส่วนชาวโซเชียลจีน​ ก็ฟาดแรงไม่แพ้กัน ต่างวิพากษ์วิจารณ์ข่าวสารจาก BBC อย่างเผ็ดร้อน บางคนก็ตั้งชื่อให้สำนักข่าว BBC ว่าเป็น Biased Broadcasting Corporation และโจมตีสำนักข่าวดังของตะวันตกว่า "อย่าเป็นมนุษย์ CNN อย่ารายงานข่าวอย่าง BBC" 

ก็กลายเป็นการฟาดมา ฟาดกลับไม่โกง ระหว่าง  'มังกรผยอง'​ และ 'สิงโตคำราม'​ ที่พร้อมไล่บี้กันทุกสนาม แบบไม่มีใครกลัวใครทีเดียว


อ้างอิง:
https://www.globaltimes.cn/page/202102/1215082.shtml

https://www.straitstimes.com/asia/east-asia/china-takes-aim-at-bbc-as-dispute-with-britain-intensifies

 

หลังจากที่มีข่าวว่า Alibaba เตรียมที่จะออกพันธบัตรตราสารหนี้ในตลาดต่างประเทศมากถึง 5 หมื่นล้านเหรียญ แม้ว่าจะมีข่าวไม่ค่อยดีว่ารัฐบาลจีนอาจบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการผูกตลาดกับกลุ่มธุรกิจในเครือ Alibaba

และก็เป็นดังคาด ทันทีที่ Alibaba ประกาศเปิดจองหุ้นกู้ ก็มียอดจองเข้ามาอย่างถล่มทลายกว่า 3.8 หมื่นล้านเหรียญจากนักลงทุนรายใหญ่หน้าเดิม ๆ ในตลาด เช่น ผู้บริหารกองทุนความมั่งคั่งของรัฐบาล กองทุนบำเหน็จบำนาญ กองทุนสินทรัพย์ต่างประเทศจากสหรัฐอเมริกา และยุโรป ที่มักสนใจลงทุนในหุ้นกู้ของบริษัทด้านเทคโนโลยีระดับโลกที่มีอนาคตอยู่แล้ว อาทิ Amazon Google หรือ Tencent

จึงกลายเป็นเครื่องบ่งชี้ว่า นักลงทุนไม่ค่อยวิตกกับคดีความที่ Alibaba หรือแจ็ค หม่า อาจต้องเจอในอนาคต แต่ยังเชื่อมั่นว่าธุรกิจ E-commerce ของ Alibaba ยังสดใส และไปต่อได้อีกไกล

และในเมื่อหุ้นกู้ของ Alibaba ยังเป็นที่ต้องการของนักลงทุนรายใหญ่อย่างมาก ก็ทำให้ Alibaba สามารถกำหนดราคาหุ้นกู้ได้ดีกว่าที่คิด โดย Alibaba ได้เสนอขายหุ้นกู้ 4 ประเภทตามระยะเวลาของสัญญา เริ่มต้นตั้งแต่ 10 ปี 20 ปี 30 ปี และ 40 ปี

ตามข้อมูลล่าสุดหุ้นกู้ระยะเวลา 30 ปีจะได้ดอกเบี้ย 3.15% 40 ปี จะได้ 3.25% ซึ่งเป็นดอกเบี้ยที่น้อยกว่าตอนที่ Alibaba เคยออกหุ้นกู้ในปี 2017 ที่ให้ผลตอบแทนแก่นักลงทุนถึง 4.2% - 4.4% กับหุ้นกู้ระยะเวลา 30 ปี และ 40 ปี ตามลำดับ

ส่วนการจัดระดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้ Alibaba ในครั้งนี้ สถาบัน Moody ให้ที่เกรด A1 ส่วน S&P และ Fitch ให้ที่เกรด A+

และสิ่งที่ทำให้ Alibaba เสนอขายหุ้นกู้ได้ในราคาดีกว่าเมื่อปี 2017 มาจากรายได้ที่โตขึ้นถึง 37% ในไตรมาศสุดท้ายของปีที่ผ่านมาดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งเป็นผลพวงจากยอดขายในวันเทศกาลคนโสด 11.11 ที่มีการขยายช่วงเวลานาทีทองลดราคานั่นเอง

นักวิเคราะห์การตลาดยังมองว่า อนาคตธุรกิจชอปปิ้งออนไลน์ในจีนยังสามารถโตได้ถึงปีละ 12% และธุรกิจ Cloud service อาจเพิ่มได้มากถึง 23% จนถึงปี 2023 ซึ่งเป็นธุรกิจหลักที่ Alibaba ยังคงได้รับผลประโยชน์จากกระแส E-Commerce ที่ยังเติบโตต่อเนื่อง

จึงทำให้นักลงทุนไม่ค่อยตื่นตระหนกกับข่าวการที่รัฐบาลจีนจะใช้มาตรการทุบ Alibaba ด้วยกฎหมายต่อต้านการผูกขาด หรือ แจ็ค หม่า อาจไม่ใช่หน้าตาของ Alibaba อีกต่อไป

ตราบใดที่แมวยักษ์ Alibaba ยังไล่ล่าจับหนูเก่ง นักลงทุนก็ไม่เกี่ยงว่าเจ้าของแมวจะเป็นใคร ขอให้จับหนูได้ก็แล้วกัน - ท่านประธานเหมา ไม่ได้กล่าว


อ้างอิง

https://www.scmp.com/business/banking-finance/article/3120368/alibaba-sell-us5-billion-dollar-bonds-analysts-say-risk

https://www.reuters.com/article/us-alibaba-fundraising-idUSKBN2A4083

เหตุการณ์รัฐประหารครั้งล่าสุดของพม่า เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เมื่อกองทัพพม่ายกพลเข้ากรุงเนปิดอว์ และเข้าควบคุมตัวผู้นำคณะรัฐบาลพลเรือน รวมถึง นาง อองซาน ซูจี

ที่ปรึกษาแห่งรัฐ และ นาย วิน มินท์ ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน กลายเป็นจุดสนใจของชาวโลก ว่าเกิดอะไรขึ้นในดินแดนฤาษีแห่งอาเซียนแห่งนี้กันแน่

โดยหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น บรรดาชาติตะวันตกหลายชาติ ก็เริ่มออกมาประณามการตัดสินใจของกองทัพพม่า และกดดันไปทางองค์การสหประชาชาติ (UN) ให้ออกมาเคลื่อนไหวแสดงจุดยืนต่อสถานการณ์ในพม่า

ล่าสุด สภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้เปิดประชุมด่วน เมื่อวันอังคารที่ 2 กุมภาพันธ์ เพื่อประเมินสถานการณ์ในพม่า และหามติร่วมในการแถลงจุดยืนในนามองค์กร

ที่ประชุมประกอบด้วยตัวแทนสมาชิก 15 ชาติ ที่เป็นสมาชิกถาวร 5 ชาติ คือ สหรัฐ, อังกฤษ, ฝรั่งเศส, จีน และ รัสเซีย ได้หารือที่จะร่วมออกแถลงการณ์ประณามเหตุการณ์รัฐประหารในพม่า และอาจนำไปสู่มาตรการกดดันจากองค์การสหประชาชาติในขั้นตอนต่อไป

แต่ประเทศจีน และ รัสเซีย ได้ใช้สิทธิ์สมาชิกภาพถาวร คัดค้านคำแถลงการณ์ประณามของสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ประเด็นจึงถูกตีตกไป

โดยทางจีนได้ให้เหตุผลที่ไม่สนับสนุนให้สภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ หลังออกมาร่วมแถลงการณ์ประณาม และคัดค้านกิจกรรมใดๆ ที่เป็นการแทรกแซงกิจการภายในของพม่าว่า จีนมิได้หมายถึงรัฐบาลปักกิ่งสนับสนุนการรัฐประหารในพม่า แต่เห็นว่าการที่องค์กรนานาชาติเข้าไปกดดัน หรือเข้าแทรกแซงด้วยมาตรการคว่ำบาตร อาจทำให้สถานการณ์ภายในพม่าเลวร้ายลงกว่าเดิม

นอกจากนี้ ยังตอบโต้ข้อครหาที่ว่ารัฐบาลปักกิ่ง อาจมีผลประโยชน์แอบแฝงร่วมกับกองทัพพม่าว่า ทางรัฐบาลจีนมีความสัมพันธ์กับรัฐบาลพม่า ภายใต้การนำของพรรค NLD ของนางอองซาน ซูจี เป็นอย่างดี และเข้าไปร่วมลงทุนในพม่าจากการสนับสนุนของรัฐบาลพลเรือนของพม่ามาโดยตลอด

แต่เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในพม่า จีนก็ต้องเข้าไปเจรจาข้อตกลงกันใหม่ ซึ่งจะดำเนินโครงการร่วมกันต่อหรือไม่ ก็ต้องขึ้นอยู่กับการพูดคุยในอนาคต แต่ทางจีนจะไม่เข้าไปวุ่นวายเรื่องภายในรัฐบาลของพม่า เช่นเดียวกันกับรัสเซีย ที่มีจุดยืนไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องภายในของพม่า เหมือนเมื่อกรณีการกวาดล้างชน กลุ่มน้อยชาวโรฮิงญานับล้านที่เคยเกิดขึ้นในปี 2017

ทว่า กลุ่มประเทศผู้นำเศรษฐกิจ G7 อันประกอบด้วย อังกฤษ, สหรัฐอเมริกา, แคนาดา, ฝรั่งเศส, เยอรมัน, อิตาลี และญี่ปุ่นนั้น มีความเห็นที่แตกต่างออกไป และได้ออกแถลงการณ์ให้กองทัพพม่าคืนอำนาจให้กับรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งโดยทันที พร้อมกดดันให้ยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมถึงปล่อยตัวคณะรัฐมนตรีที่ถูกจับกุมตัว เพื่อเป็นการเคารพต่อหลักกฏหมาย และสิทธิมนุษยชน

ฉะนั้นในเมื่อทางองค์การสหประชาชาติได้ประกาศว่าเหตุการณ์ทางการเมืองในพม่า เป็นการรัฐประหารอย่างเป็นทางการ ก็เท่ากับว่า สหรัฐอเมริกาจะตัดความช่วยเหลือทุกทางไม่ว่าจะผ่านทางหน่วยงานรัฐ หรือเอกชนของประเทศพม่านับจากนี้ไป รวมถึงทางสหภาพยุโรป อังกฤษ และออสเตรเลีย ก็ได้ออกแถลงการณ์ประณามแล้วเช่นกันด้วย


อ้างอิง

https://www.businessinsider.com/china-russia-block-un-security-council-condemn-myanmar-coup-2021-2

https://www.france24.com/en/americas/20210203-china-russia-block-un-security-council-condemnation-of-myanmar-coup

https://www.bbc.com/news/world-asia-55913947

โควิด ระลอกใหม่ ที่เวียดนาม สายพันธุ์อังกฤษ มาเร็วและแรงกว่าเดิม .. ส่งผล ทำให้มีผู้ติดเชื้อแล้ว 301 คน และ แพร่กระจายลามไปยัง 10 จังหวัด

หวู ดึ๊ก ดาม รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะทำงานเฉพาะกิจด้านโควิด-19 กล่าวในที่ประชุมรัฐบาลว่า..

"สายพันธุ์ใหม่กำลังแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว และเราต้องเร็วกว่า"

"เราไม่ควรกังวลเรื่องตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อที่พุ่งสูง แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือการติดตามผู้สัมผัส เราต้องเฝ้าระวัง แต่ไม่ต้องตื่นตระหนก"

ผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ 12 ใน 276 คน เป็นเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์อังกฤษ แต่อย่างไรก็ตามยังคงไม่ทราบแหล่งที่มาของการระบาดครั้งนี้

"ฮานอยต้องเพิ่มมาตรการสกัดกั้นเชื้อไวรัส กระทรวงสาธารณสุขจะสนับสนุนฮานอยในการยกระดับขีดความสามารถในการตรวจหาเชื้อเป็น 40,000 ครั้งต่อวัน"

เวียดนามอนุมัติรับรองวัคซีนจากบริษัทแอสตราเซเนกา เมื่อวันเสาร์ที่ 30 มกราคม ..

หลังนายกรัฐมนตรีเหวียน ซวน ฟุ้ก กล่าวว่า ประเทศต้องมีวัคซีนภายในไตรมาสแรก และก่อนหน้านี้ รัฐบาลได้กล่าวว่ากำลังการเจรจาจัดหาวัคซีนจำนวน 30 ล้านโดส โดย วัคซีนชุดแรกจำนวน 50,000 โดส จะมาถึงในเดือน มี.ค. และส่วนที่เหลือจะส่งมอบภายในเดือน มิ.ย.

ขณะที่ เด็กนักเรียนในกรุงฮานอย กว่า 2 ล้านคน ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลไปจนถึงมัธยมศึกษา ได้หยุดเทศกาลวันตรุษญวนเร็วขึ้น 1 สัปดาห์ ในมาตรการป้องกันโควิด-19 ท่ามกลางการระบาดครั้งใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. ไปจนถึงวันที่ 16 ก.พ. จากเดิมที่มีกำหนดเริ่มหยุดตั้งแต่วันที่ 8 ก.พ.


หนุ่มโคราช รายงาน

Jeff Bezos มหาเศรษฐีระดับท็อปของโลก ประกาศลาออกจากซีอีโอ Amazon หลังจากบริหารงาน Amazon จากเว็บไซต์ขายหนังสือในปี 1995 จนกลายมาเป็นธุรกิจอีคอมเมิร์ซใหญ่ที่สุดของโลกในปัจจุบัน

ล่าสุดทาง Jeff Bezos ซึ่งเป็นทั้งผู้ก่อตั้งและซีอีโอในปัจจุบัน ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งแล้ว เขาจะยังคงบริหารงานต่อไป เพื่อเตรียมการเปลี่ยนผ่านสู่ซีอีโอคนใหม่ในช่วงกลางถึงปลายปี 2021 นี้

หลังจากลาออก ถึงแม้จะยังคงตำแหน่งประธานบริษัทอยู่ แต่งานบริหารทั้งหมดนั้นจะถูกส่งต่อไปยัง Andy Jassy ผู้บริหารซึ่งเข้าไว้ใจที่สุดให้มารับช่วงต่อ

Andy Jassy ปัจจุบันเป็นผู้บริหารของ Amazon Web Services ซึ่งถือเป็นธุรกิจคลาวด์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกเช่นกัน และเป็นธุรกิจของ Amazon ที่เติบโตเร็วมาก ๆ ในช่วงหลัง

ซึ่งการบริหารงานที่ดีในธุรกิจคลาวด์ น่าจะเป็นเหตุผลหลักที่ Jeff เลือกเขามารับตำแหน่งแทน

หลังจากลาออกจากซีอีโอแล้ว Jeff ระบุว่าตัวเขาจะได้เอาเวลาและพลังงานของตัวเอง ไปโฟกัสไปที่อีก 4 งาน นั่นก็คือ

- ธุรกิจสื่อ The Washington Post

- ธุรกิจด้านอวกาศ Blue Origin

- กองทุนช่วยเหลือคนไร้บ้านและการศึกษา Day 1 Fund

- กองทุนอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม Bezos Earth Fund

ภายใต้การบริหารงานของ Jeff ตลอด 25 ปีที่ผ่านมานั้น ทำให้ Amazon พัฒนาจากเว็บไซต์เล็กๆ กลายมาเป็นบริษัทที่มีมูลค่ากว่า 50 ล้านล้านบาท

และส่งผลให้ผู้ก่อตั้งอย่าง Jeff เป็นมหาเศรษฐีด้วยทรัพย์สิน 5.8 ล้านล้านบาทอีกด้วย


ที่มา: Billion Mindset

https://www.facebook.com/331394447302302/posts/1148298742278531/

แจ็ค หม่า ผู้ก่อตั้งธุรกิจ อี-คอมเมิร์ชยักษ์ใหญ่ อาลีบาบา และเคยได้ชื่อว่าเป็นอภิมหาเศรษฐีอันดับ 1 ของจีน ถูกถอดชื่ออกจากทำเนียบรายชื่อผู้ประกอบการชั้นนำของจีน ที่ตีพิมพ์ใน Shanghai Securities News ซึ่งเป็นสื่อของรัฐบาลที่ทรงอิทธิพลอย่างมากในแวดวงนักธุรกิ

นอกจากจะไม่ปรากฏชื่อของ หม่า หยุน หรือ แจ็ค หม่า แล้ว ยังไม่ลงตัวเลขรายได้ของเครือบริษัทอาลีบาบา อีกด้วย ทั้งๆที่ยังปรากฏชื่อผู้ประกอบการรายใหญ่แถวหน้าของจีนยังอยู่ครบ ไม่ว่าจะเป็นโทนี่ หม่า ผู้ก่อตั้งบริษัท Tencent คู่แข่งของแจ็ค หม่า เหริน เจิ้งเฟย ผู้ก่อตั้ง Huawei หรือ เหลย จุน ผู้ก่อตั้ง Xiaomi

ทางสำนักข่าว Shanghai Securities News ลงความเห็นไว้ว่า ผู้ประกอบการบางคนที่เคยได้รับการยกย่องว่าเป็น ฮีโร่ ที่กล้าเดินออกจากกรอบระบบเศรษฐกิจเก่าๆ แต่วันนี้เขาก็ยังคงต้องเป็นผู้นำในองค์กร ที่ต้องปฏิบัติตามกฏหมายอย่างเคร่งครัด

ซึ่งก็อาจเป็นการส่งสัญญาณให้กับแจ็ค หม่า ที่ตอนนี้ไม่ใช่ลูกรักของรัฐบาลจีนอีกต่อไป และกับผู้ประกอบการบริษัทยักษ์ใหญ่เจ้าอื่นของจีน อย่าง Tencent หรือ Pinduoduo ที่กำลังจะดำเนินตามรอยแจ็ค หม่า ขึ้นท้าทายระบบเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมโลกการเงิน ที่รัฐบาลจีนยังถืออำนาจควบคุมอยู่

ทางฝ่าย อาลีบาบา ก็ไม่ได้ออกมาให้ความเห็นว่าทำไมถึงไม่มีข้อมูลบริษัท และชื่อของ แจ็ค หม่า ตีพิมพ์ในสื่อของรัฐบาลเหมือนอย่างเคย แม้ว่าจะได้ส่งรายงานตัวเลขรายได้ของบริษัทไปให้แล้วก็ตาม

และก็ยังคงไม่อาจคาดเดาได้ถึงอนาคตของแจ็ค หม่า ซึ่งยังคงเก็บตัวเงียบ และ อาลีบาบา ที่กำลังโดน รัฐบาลจีนสั่งตรวจสอบทั้งเครือว่าเข้าข่ายผิด กฏหมายต่อต้านการผูกขาดตลาดหรือไม่

แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายคาดการณ์ว่ารัฐบาลจีนมีแผนที่จะหั่นซอย อาลิบาบา ออกมาเป็นบริษัทเล็กๆ ที่จะมีอำนาจในการกำหนดทิศทางตลาดในจีนน้อยลง และก็อาจสร้างปรากฏการณ์ อาลีบาบา เอฟเฟค ที่กระทบไปยังอีกหลายเครือบริษัทยักษ์ใหญ่ในจีนได้ในอนาคตเช่นกัน


อ้างอิง

https://www.reuters.com/article/us-china-alibaba-jack-ma-idUSKBN2A20E1

https://www.bloomberg.com/news/articles/2021-02-02/china-state-media-celebrate-top-entrepreneurs-except-jack-ma

https://www.straitstimes.com/asia/east-asia/jack-ma-omitted-from-china-state-medias-top-entrepreneurs-list

แม้จะพิสูจน์ผลงาน จนกลายเป็นไอดอลระดับโลก แต่สาว ‘ลิซ่า ลลิษา มโนบาล’ หรือ ‘ลิซ่า BlackPink’ ก็ยังไม่วายโดนกลุ่มแอนตี้ ออกมาเหยียดเรื่องเชื้อชาติไม่เลิก

เรื่องนี้ทำเอาชาวไทยและแฟนคลับของสาว ‘ลิซ่า’ ต้องออกมาช่วยกันปกป้องไอดอลสาวอย่างไว เพราะกลุ่มแฟนคลับต่างชาติบางส่วนทั้งใน จีน และ ตุรกี ที่อ้างว่าเป็นแฟนคลับของ BlackPink แต่รังเกียจ ‘ลิซ่า’ ได้ออกมาแสดงความเห็นดูถูกเธอเป็นจำนวนมาก เหตุเพราะเป็นคนไทย และมองประเทศไทยมีแต่เรื่องค้าผู้หญิง

งานนี้ชาว BLINK จึงพร้อมใจกันติดแฮชแท็ก #RespectLisa ขึ้นเทรนด์ไปทั่วโลก หลังจากที่ ลิซ่า ต้องตกเป็นเหยื่อของการถูกเหยียดเชื้อชาติจากแฟนคลับต่างชาติ

ปมเหตุของเรื่องนี้เกิดขึ้นในกลุ่มแฟนคลับต่างชาติ ที่ได้มีการพูดคุยถึงคอนเสิร์ต The Show ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 31 ม.ค. ที่ผ่านมา โดยต่างวิพากษ์วิจารณ์คอนเสิร์ตออนไลน์ของสาวๆ BlackPink ก่อนที่บางส่วนจะมุ่งโจมตีไปที่ ลิซ่า โดยเฉพาะ

กลุ่มแฟนคลับจีนที่บอกว่าตนเองเป็น BLINK โดยดูได้จากทั้งจากรูปโปรไฟล์และชื่อแอคเคาท์ที่ใช้ แต่ได้แสดงความเห็นแย่ๆ เกี่ยวกับรูปลักษณ์ของ ลิซ่า โดยเปรียบเทียบเธอกับ เลดี้บอย, กะเทย หรือ ผู้หญิงข้ามเพศ

นอกจากข้อความจากแอนตี้แฟนฝั่งจีนแล้ว ทางแอนตี้แฟนฝั่งตุรกีก็วิจารณ์ว่าไม่ชอบความสามารถของ ลิซ่า ก่อนจะเปลี่ยนหัวข้อไปสู่การดูถูก ลิซ่า โดยใช้คนไทยบางส่วนมาเป็นข้ออ้าง ซึ่งนอกจากคำดูถูกแล้ว บางส่วนยังเหยียดความสามารถของ ลิซ่า ด้วยก่อนที่บทสนทนาจะเลวร้ายลงเรื่อยๆ และลุกลามไปสู่การมโนใส่ร้าย

จากข้อความเหล่านี้ แฟนคลับที่รัก ลิซ่า จึงได้พร้อมใจกันปกป้องพากันติดแฮชแท็ก #RespectLisa จนขึ้นเทรนด์อันดับ 3 ไปทั่วโลก และขึ้นอันดับ 1 ในหลายๆ ประเทศ รวมถึงประเทศไทย

อย่างไรก็ตามนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ ลิซ่า กลายเป็นเป้าโดนดูถูกเหยียดหยามจากแฟนคลับต่างชาติจากการที่บางคนไม่ชอบที่เธอเป็นคนไทย และมาโด่งดังในฐานะศิลปินวงเกาหลี แต่ถึงกระนั้น ก็มีแฟนๆ อีกไม่น้อยที่พร้อมจะยืนหยัดเคียงข้างและปกป้อง ลิซ่า เพื่อเป็นกำลังใจให้กับสาวไทยรายนี้ต่อไป


ที่มา: https://mgronline.com/entertainment/detail/9640000010672

‘บรูไน’ ค่าครองชีพแพงแซงหน้า ‘ไทย’ ในอาเซียนเป็นรองแค่ ‘สิงคโปร์’ ที่ยังยืนหนึ่ง

คอลัมน์ เสียงจากเกาะบอร์เนียวตอนเหนือ บรูไน

ถ้าหากพูดถึงความหรูหรา ฟู่ฟ่า และประเทศแห่งเจ้าชายหนุ่มหล่อหลายพระองค์ ในอาเซียน คงหนีไม่พ้นประเทศบรูไน หรือที่ชื่อทางการว่า เนอการาบรูไนดารุซซาลาม ประเทศที่เดินไปไหนก็กระทบไหล่กับเจ้าชายได้ง่ายๆ เพราะยังใช้ระบอบการปกครองแบบสมบูรณายาสิทธิราชย์

และด้วยความหรูหรา จากภาพในโลก Social Media ของเหล่าเจ้าหญิงเจ้าชาย และข้อเท็จจริงทางด้านเศรษฐกิจ

ล่าสุดประเทศบรูไน  ได้รับการจัดอันดับจากเว็บไซท์ Numbeo ว่าเป็นประเทศที่มีค่าครองชีพโดยเฉลี่ยแพงเป็นอันดับ 63 ของโลก จากจำนวนประเทศที่สำรวจ +139 ประเทศ แซงหน้าประเทศไทยไปเรียบร้อย ซึ่งไทยเราที่อยู่ในอันดับที่ 65

และในกลุ่มประเทศภาคพื้นเอเชียแปซิฟิค ก็ได้รับการจัดอันดับเป็นลำดับที่ 19 แต่หากมองเฉพาะกลุ่มประเทศย่านอาเซียนจะกลายเป็นที่สอง รองจากสิงคโปร์เท่านั้น อู้หูวววว ใครคิดจะย้ายไปอยู่บรูไนละก็ ต้องหาเงินถุงเงินถังไปไม่น้อยเลย

ซึ่งการจัดอันดับนี้ วัดจากค่าเฉลี่ยของราคาสินค้า และบริการในแต่ละประเทศทั่วโลก อันดับล่าสุดของปี 2021 ชี้ว่าค่าครองชีพโดยเฉลี่ยของบรูไนสูงเป็นอันดับต้น ๆ ในย่านอาเซียน แต่ยังถูกกว่าค่าครองชีพของสิงคโปร์ สะท้อนให้เห็นว่า ไม่ใช่แค่ค่าครองชีพที่ถูกนะ แต่บริการด้านเศรษฐกิจของเขา ก็มีมาตรฐานเกือบจะเท่าสิงคโปร์เลยทีเดียว

จะว่าไปนอกจากเจ้าชายและภาพแห่งความหรูหราฟู่ฟ่า  จากประเทศบรูไนแล้ว ผู้เขียนและเชื่อว่าอีกหลายคนก็ไม่ค่อยได้เห็นว่าวิถีของชาวบรูไนเป็นอย่างไร อาจจะด้วยระบอบการปกครอง หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ไม่ว่าอย่างไร เมื่อโลกใบนี้ มีเครื่องมือสื่อสาร การเดินทางที่สะดวกสบาย สายสัมพันธ์ของผู้คนและวัฒนธรรม ก็เชื่อได้ว่า  การที่เราจะรู้จัก เข้าอกเข้าใจกัน ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป


อะมีนะห์

สาวไทยมุสลิม เกิดใจกลางกรุงเทพ ชีวิตผกผันแต่งงานกับหนุ่มบรูไน ตั้งรกรากปากกัดตีนถีบแต่มีความสุขดี ยังชีพกับการเผยแพร่อาหารไทย มีความรักผูกพันบ้านเกิดทุกลมหายใจ เลี้ยงลูกสองคน วันนึงจะพาลูกมารู้จักแผ่นดินที่เเม่เกิดให้มากขึ้น แนะนำเพื่อนบ้านบรูไนจากกรุงเสรีเบการ์วันให้คนไทยรู้จักมากขึ้น


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top