เหตุการณ์รัฐประหารครั้งล่าสุดของพม่า เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เมื่อกองทัพพม่ายกพลเข้ากรุงเนปิดอว์ และเข้าควบคุมตัวผู้นำคณะรัฐบาลพลเรือน รวมถึง นาง อองซาน ซูจี

ที่ปรึกษาแห่งรัฐ และ นาย วิน มินท์ ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน กลายเป็นจุดสนใจของชาวโลก ว่าเกิดอะไรขึ้นในดินแดนฤาษีแห่งอาเซียนแห่งนี้กันแน่

โดยหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น บรรดาชาติตะวันตกหลายชาติ ก็เริ่มออกมาประณามการตัดสินใจของกองทัพพม่า และกดดันไปทางองค์การสหประชาชาติ (UN) ให้ออกมาเคลื่อนไหวแสดงจุดยืนต่อสถานการณ์ในพม่า

ล่าสุด สภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้เปิดประชุมด่วน เมื่อวันอังคารที่ 2 กุมภาพันธ์ เพื่อประเมินสถานการณ์ในพม่า และหามติร่วมในการแถลงจุดยืนในนามองค์กร

ที่ประชุมประกอบด้วยตัวแทนสมาชิก 15 ชาติ ที่เป็นสมาชิกถาวร 5 ชาติ คือ สหรัฐ, อังกฤษ, ฝรั่งเศส, จีน และ รัสเซีย ได้หารือที่จะร่วมออกแถลงการณ์ประณามเหตุการณ์รัฐประหารในพม่า และอาจนำไปสู่มาตรการกดดันจากองค์การสหประชาชาติในขั้นตอนต่อไป

แต่ประเทศจีน และ รัสเซีย ได้ใช้สิทธิ์สมาชิกภาพถาวร คัดค้านคำแถลงการณ์ประณามของสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ประเด็นจึงถูกตีตกไป

โดยทางจีนได้ให้เหตุผลที่ไม่สนับสนุนให้สภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ หลังออกมาร่วมแถลงการณ์ประณาม และคัดค้านกิจกรรมใดๆ ที่เป็นการแทรกแซงกิจการภายในของพม่าว่า จีนมิได้หมายถึงรัฐบาลปักกิ่งสนับสนุนการรัฐประหารในพม่า แต่เห็นว่าการที่องค์กรนานาชาติเข้าไปกดดัน หรือเข้าแทรกแซงด้วยมาตรการคว่ำบาตร อาจทำให้สถานการณ์ภายในพม่าเลวร้ายลงกว่าเดิม

นอกจากนี้ ยังตอบโต้ข้อครหาที่ว่ารัฐบาลปักกิ่ง อาจมีผลประโยชน์แอบแฝงร่วมกับกองทัพพม่าว่า ทางรัฐบาลจีนมีความสัมพันธ์กับรัฐบาลพม่า ภายใต้การนำของพรรค NLD ของนางอองซาน ซูจี เป็นอย่างดี และเข้าไปร่วมลงทุนในพม่าจากการสนับสนุนของรัฐบาลพลเรือนของพม่ามาโดยตลอด

แต่เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในพม่า จีนก็ต้องเข้าไปเจรจาข้อตกลงกันใหม่ ซึ่งจะดำเนินโครงการร่วมกันต่อหรือไม่ ก็ต้องขึ้นอยู่กับการพูดคุยในอนาคต แต่ทางจีนจะไม่เข้าไปวุ่นวายเรื่องภายในรัฐบาลของพม่า เช่นเดียวกันกับรัสเซีย ที่มีจุดยืนไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องภายในของพม่า เหมือนเมื่อกรณีการกวาดล้างชน กลุ่มน้อยชาวโรฮิงญานับล้านที่เคยเกิดขึ้นในปี 2017

ทว่า กลุ่มประเทศผู้นำเศรษฐกิจ G7 อันประกอบด้วย อังกฤษ, สหรัฐอเมริกา, แคนาดา, ฝรั่งเศส, เยอรมัน, อิตาลี และญี่ปุ่นนั้น มีความเห็นที่แตกต่างออกไป และได้ออกแถลงการณ์ให้กองทัพพม่าคืนอำนาจให้กับรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งโดยทันที พร้อมกดดันให้ยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมถึงปล่อยตัวคณะรัฐมนตรีที่ถูกจับกุมตัว เพื่อเป็นการเคารพต่อหลักกฏหมาย และสิทธิมนุษยชน

ฉะนั้นในเมื่อทางองค์การสหประชาชาติได้ประกาศว่าเหตุการณ์ทางการเมืองในพม่า เป็นการรัฐประหารอย่างเป็นทางการ ก็เท่ากับว่า สหรัฐอเมริกาจะตัดความช่วยเหลือทุกทางไม่ว่าจะผ่านทางหน่วยงานรัฐ หรือเอกชนของประเทศพม่านับจากนี้ไป รวมถึงทางสหภาพยุโรป อังกฤษ และออสเตรเลีย ก็ได้ออกแถลงการณ์ประณามแล้วเช่นกันด้วย


อ้างอิง

https://www.businessinsider.com/china-russia-block-un-security-council-condemn-myanmar-coup-2021-2

https://www.france24.com/en/americas/20210203-china-russia-block-un-security-council-condemnation-of-myanmar-coup

https://www.bbc.com/news/world-asia-55913947