Milk Tea Alliance พันธมิตรชานมแห่งเอเชีย ประกาศนัดรวมพลชาวเน็ตทั่วเอเชีย แสดงจุดยืนต่อต้านเผด็จการทหารในพม่าผ่านทางทวิตเตอร์พร้อมกันในวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้ ตั้งแต่เวลา 15.00 น.เป็นต้นไป

และจะเป็นการเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์ครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง ในการแสดงพลังของเยาวชนชาวโซเชียลอย่างพร้อมเพรียงกันทั้งที่ไต้หวัน ฮ่องกง ไทย พม่า และอีกหลายประเทศในย่านอาเซียน โดยมีอุดมการณ์เสรีนิยมประชาธิปไตย ต่อต้านกลุ่มอำนาจนิยมเป็นแรงขับเคลื่อนร่วมกัน

การประกาศนัดชุมนุมใหญ่ของกลุ่มพันธมิตรชานม เกิดขึ้นหลังจากที่มีข่าวการมาเยือนไทยของนาย วันนะ หม่อง ลวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของรัฐบาลทหารพม่า เพื่อประชุมหารืออย่างไม่เป็นทางการร่วมกับ นายดอน ปรมัตถ์วินัย และ นางเร็ตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และยังมีคิวเข้าพบ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อีกด้วย

แม้จุดประสงค์ของการมาเยือนนั้นเพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ในพม่า และหาทางออกอย่างสันติวิธี แต่การเป็นเจ้าภาพในการจัดงานประชุมของไทยครั้งนี้ ได้รับกระแสวิจารณ์ในแง่ลบค่อนข้างมาก ในประเด็นที่รัฐบาลไทยเป็นผู้เชิญทางฝ่ายรัฐบาลพม่า ทำให้ถูกโยงว่ารัฐบาลไทยได้รับรองรัฐบาลทหารพม่าที่เพิ่งผ่านการทำรัฐประหารมา รวมถึงที่มาของ พลเอก ประยุทธ์ ที่เคยเป็นหัวหน้าคณะ คสช. ที่เคยทำรัฐประหารมาก่อน

จึงกลายเป็นที่มาของการนัดระดมพลในวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้ ผ่านทาง Twitter ของกลุ่มพันธมิตรชานม ให้ออกมาเคลื่อนไหวทางโลกโซเชียล เพื่อสนับสนุนกลุ่มผู้ชุมนุมในพม่า หลังจากที่มีการพบปะกันอย่างไม่เป็นทางการระหว่างฝ่ายรัฐบาลทหารพม่าและผู้นำไทย เพื่อกดดันกลุ่มผู้นำประเทศอาเซียนให้เคารพผลการเลือกตั้งของชาวพม่า

และตั้งใจให้เป็นการแสดงพลังคู่ขนานไปกับการนัดชุมนุมของในประเทศไทย และพม่าในวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้ ซึ่งทางเพจพันธมิตรชานมได้ส่งข้อความถึงกลุ่มนักเคลื่อนไหวในไทยทั้ง กลุ่มเยาวชนปลดแอก กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม กลุ่มนักเรียนเลว กลุ่มพันธมิตรชานมแห่งประเทศไทย รวมถึงกลุ่มพันธมิตรในมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ฮ่องกง ไต้หวัน อินเดีย และล่าสุด พม่า ภายใต้สโลแกน "Make Milk Tea and End Dictatorship 28.2.2021"

จุดเริ่มต้นของพันธมิตรชานม เกิดขึ้นเมื่อช่วงเดือนเมษายน 2653 จากกระแสดราม่าในโลกอินเตอร์เนตของชาวจีน เกี่ยวกับรูปภาพของนักแสดงหนุ่มชาวไทย ไบร์ท วชิรวิชญ์ ชีวอารี ที่ได้รีทวิตภาพถ่ายอาคาร 4 แห่งของช่างภาพคนหนึ่งและได้ระบุว่าหนึ่งในนั้นถ่ายที่ประเทศฮ่องกง สร้างความไม่พอใจอย่างมากในกลุ่มแฟนคลับชาวจีนที่อ้างฮ่องกงเป็นประเทศเอกราช ซึ่งนักแสดงหนุ่มก็ได้ขอโทษที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์และลบทวิตไป

แต่เรื่องไม่จบง่ายๆ เมื่อชาวเน็ตจีนยังตามขุดต่อ และได้พบทวิตเตอร์ของ นิว วีรญา สุขอร่าม แฟนสาวของหนุ่มไบร์ท ที่ใช้ชื่อใน IG และ Twitter ว่า nnevvy เคยรีทวิตข่าวที่กล่าวหาว่าไวรัส Covid-19 ถูกปล่อยจากแล็บในอู่ฮั่น เลยยิ่งทำให้กระแสลุกลามใหญ่โตในจีน ถึงขั้นติด #nnevvy และจะแบนผลงานของหนุ่มไบร์ท

จึงเกิดเป็นสงครามระหว่างชาวเน็ตไทย และ จีนอย่างดุเดือด จนดึงให้ชาวเน็ตในฮ่องกง และไต้หวันออกมาร่วมรบกันในสงครามคีย์บอร์ดจนชาวเน็ตจีนต้องล่าถอย และกลายเป็นที่มาของ Milk Tea Alliance พันธมิตรชานมขึ้นเป็นครั้งแรก เนื่องจากทั้ง 3 ชาติมีเอกลักษณ์ และความชอบในการดื่มชานมคล้ายๆ​ กัน

ถึงแม้จะดูเหมือนเป็นการรวมกลุ่มกันแบบเฉพาะกิจ​ แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดึงให้แกนนำตัวหลักในฮ่องกงอย่าง โจชัว หว่อง ได้มารู้จักกับกลุ่มนักเคลื่อนไหวในไทยจากกระแสของพันธมิตรชานม

ต่อมามีการขยายกลุ่มพันธมิตรเพิ่มเติม เมื่ออินเดียและจีนเกิดข้อพิพาทในเขตชายแดนเทือกเขาหิมาลัย ที่นำไปสู่การปะทะกันอย่างรุนแรงจนสูญเสียชีวิตทหารทั้งสองฝ่าย เป็นชนวนเหตุให้เกิดกระแสต่อต้านสินค้าจีนในอินเดีย และกลายเป็นหนึ่งในพันธมิตรชานมร่วมกันในที่สุด

และจากกลุ่มพันธมิตรชานมในโลกเสมือน ก็พัฒนาสู่เวทีจริงในช่วงเดือนตุลาคม 2563 เมื่อเกิดเหตุการณ์ชุมนุมครั้งใหญ่ในประเทศไทย เรียกร้องการปฏิรูปสถาบัน และต่อต้านรัฐบาลของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่ากลยุทธ์ในการชุมนุมในไทย มีรูปแบบโมเดลคล้ายๆ​ กับการชุมนุมใหญ่ในฮ่องกงที่เคยเกิดขึ้นในปี 2562

เนื่องจากมีการถ่ายทอด "know - how" รูปแบบกลยุทธการจัดชุมนุมแบบใหม่ การใช้แฟลชม็อบ การใช้รหัสลับ การนัดชุมนุมผ่านโซเชียลมีเดียแบบรายวัน การใช้แอปพลิเคชันใหม่ๆ​ ในการสื่อสาร หรือแม้แต่การป้องกันตัวเองหากถูกสลายการชุมนุมด้วยแก๊ซน้ำตา จากกลุ่มแกนนำในฮ่องกงผ่านเครือข่ายพันธมิตรชานม นั่นเอง

และกลุ่มพันธมิตรชานม ก็มีแนวโน้มขยายตัวขึ้นในกลุ่มเยาวชนที่นิยมเล่นโซเชียลในประเทศย่านเอเชีย ที่มักมีปัญหากับจีนไม่เรื่องใดก็เรื่องหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ เขตพรมแดน การแบ่งปันทรัพยากรธรรมชาติ หรือการเอาเปรียบด้านการค้า

ดังนั้น การรวมกลุ่มกันในโลกโซเชียลของพันธมิตรชานม จึงมีการผสมผสานกันระหว่างแนวร่วมอุดมการณ์เสรีนิยมประชาธิปไตยของคนรุ่นใหม่ กับประเด็นเรื่องชาตินิยม สังคม เศรษฐกิจ และภูมิรัฐศาสตร์อย่างเข้มข้น และพร้อมที่จะแสดงพลังให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมได้หากเกิดกระแสการชุมนุมที่จุดติด

เช่นเดียวกับการลุกฮือต่อต้านคณะรัฐประหารในพม่า ประเทศสมาชิกล่าสุดของพันธมิตรชานม ที่ใช้สัญลักษณ์การชู 3 นิ้วเหมือนกับของไทย และมีการแชร์ข่าวสารข้อมูลของกลุ่มเคลื่อนไหวร่วมกันในโซเชียล

และเป้าหมายของกลุ่มคือการผลักดันในเกิด Spring Revolution เช่นเดียวกับที่เกิดกระแสอาหรับ สปริง ในตะวันออกกลาง เริ่มจากการโค่นล้มรัฐบาลทหารพม่า ที่อาจส่งผลถึงกระแสการต่อต้านรัฐบาลปัจจุบันของไทย และอาจลามต่อไปถึงหลายประเทศในย่านอาเซียนได้

จึงเป็นที่น่าจับตาว่า การนัดแสดงพลังทางออนไลน์ของกลุ่มพันธมิตรชานมอย่างพร้อมเพรียงกันในวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้ จะสร้างปรากฏการณ์ได้ขนาดไหนในกระแสโลกโซเชียล และการเบ่งบานของกลุ่มพันธมิตรชานมของกลุ่มคนรุ่นใหม่ จะส่งผลต่ออิทธิพลของชาติมหาอำนาจของโลก อย่างสหรัฐอเมริกา และจีนในภูมิภาคย่านเอเชียอย่างไร เป็นสิ่งที่คนทุกรุ่นต้องติดตามกัน


อ้างอิง:

https://www.taiwannews.com.tw/en/news/4137020

https://twitter.com/alliancemilktea/status/1364888390219497474

https://www.theatlantic.com/international/archive/2020/10/milk-tea-alliance-anti-china/616658/

https://en.wikipedia.org/wiki/Milk_Tea_Alliance