ทฤษฎีสมคบคิดเพื่อหา ‘แพะ’ กับ ความ ‘เสื่อม’ จนเสียกรุงศรีฯ ครั้งที่ 2
เมื่อคราวที่แล้วเรื่องของการเสียกรุงครั้งที่ 1 ที่ผมได้เล่าไปแล้วนั้น ภาพที่ฉายให้เราได้เห็นกันก็คือการขัดแย้งกันของฝ่ายโอนอ่อนและฝ่ายแข็งกร้าว ที่ยึดเอาราชตระกูลเป็นที่ตั้ง หักกันได้เพื่อผลประโยชน์ และมีภาพของ “ไส้ศึก” เช่น “พระยาจักรี” ที่เปรียบเสมือน “แพะ” จนทำให้เสียกรุงศรีฯ ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2112 ในครั้งนี้ผมจะมาเล่าเรื่องราวของการเสียกรุงครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2310 และ “แพะ” ที่ถูกตราหน้าว่าทำให้เสียกรุงกันบ้าง
“แพะ” คนแรกคือขุนนางที่ถูกตราหน้าว่าเป็นไส้ศึก เป็นตัวร้ายของการย้อนประวัติศาสตร์ทุกเรื่องนั่นคือ “พระยาพลเทพ” มีทินนามเต็มตามทำเนียบพระไอยการนาพลเรือนคือ “ออกญาพลเทพราชเสนาบดีศรีไชยนพรัตนกระเสตราธิบดี” เป็นตำแหน่งของเสนาบดีกรมนาหรือ “เกษตราธิการ” หนึ่งในเสนาบดีจตุสดมภ์ ศักดินา 10,000 ไร่ เสนาบดีกรมนาทุกคนจะมีตำแหน่งเป็น “พระยาพลเทพ” ในสมัยรัตนโกสินทร์ยกขึ้นเป็น “เจ้าพระยา” เสนาบดีกรมนาทำหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานผู้ดูแลไร่นา เก็บหางข้าวหรือข้าวจากนาของราษฏรสำหรับขึ้นฉางหลวง ตั้งศาลพิจารณาความที่เกี่ยวข้องกับที่นาและสัตว์ที่ใช้ทำนาอย่างโคกระบือ เป็นเจ้าพนักงานที่ชักจูงให้ราษฎรทำนา เวลามีศึกก็ต้องเตรียมเสบียงกรังให้พรักพร้อม เป็นหน่วยพลาธิการสำคัญของกระบวนรบ
สำหรับ “พระยาพลเทพ” ผู้เป็นไส้ศึกให้พม่าในสงครามเสียกรุงนั้น ไม่ทราบประวัติชัดเจน เพราะถูกกล่าวถึงอยู่ในหลักฐานเพียงชิ้นเดียวคือ “คำให้การชาวกรุงเก่า” ซึ่งพม่าเรียบเรียงจากคำให้การของเชลยอยุธยาที่ถูกกวาดต้อนไปพม่าเมื่อหลังสงครามเสียกรุง พ.ศ. 2310 มีเนื้อหาสั้นๆ ว่า... “คราวนั้นพระยาพลเทพ ข้าราชการในกรุงศรีอยุธยาเอาใจออกห่าง ลอบส่งศัสตราวุธเสบียงอาหารให้แก่พม่า สัญญาจะเปิดประตูคอยรับ พม่าเห็นได้ทีก็ระดมเข้าตีปล้นกรุงศรีอยุธยา ทำลายเข้ามาทางประตูที่พระยาพลเทพนัดหมายไว้”... เรื่องพระยาพลเทพส่งเสบียงอาหารให้พม่า ตรงกับหน้าที่รับผิดชอบของพระยาพลเทพในจดหมายของหลวงอุดมสมบัติ จึงเข้าใจว่าพระยาพลเทพผู้นี้เป็นผู้รับผิดชอบตระเตรียมเสบียงในสงครามเสียกรุง และจากที่ระบุว่าเป็นผู้เปิดประตูรับพม่าเข้ามา จึงอนุมานได้ว่าเขาเป็นหนึ่งในแม่ทัพที่ป้องกันพระนครในเวลานั้นด้วย
พงศาวดารไทยและพม่าไม่ได้กล่าวถึงพระยาพลเทพในฐานะไส้ศึกเลย มีแต่กล่าวถึงพระยาพลเทพ (พงศาวดารพม่าฉบับภาษาพม่าสะกดว่า ‘ภยาภลเทป’ ဘယာဘလဒေပ) ว่าเป็นหนึ่งในเสนาบดีอยุธยาที่ถูกกวาดต้อนแต่ไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่าให้ความช่วยเหลือแก่พม่า แต่ด้วยปัจจัยเรื่องเสบียงที่ขาดแคลนเมื่อพม่าไม่ยกทัพกลับเมื่อถึงฤดูน้ำหลาก จึงน่าจะทำให้ “พระยาพลเทพ” ผู้ดูแลเสบียงกรังกลายเป็น “ไส้ศึก” และน่าจะเป็นที่จดจำของชาวกรุงเก่าที่ให้การไว้กับพม่า แต่นอกจากนี้ก็ไม่ปรากฏหลักฐานที่กล่าวถึงพระยาพลเทพผู้นี้อีกเลย
คนที่สองหรือพระองค์ที่สอง ก็ได้ เพราะเป็นถึงกษัตริย์แห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวงที่ได้รับเกียรติให้กลายเป็น “แพะ” ผมกำลังจะเล่าถึง “สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์” หรือ “สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์” กษัตริย์พระองค์สุดท้ายของกรุงศรีอยุธยาที่มี “ภาพจำ” จากพระราชพงศาวดาร, แบบเรียนประวัติศาสตร์ไทย, คำบอกเล่า ฯลฯ เป็นไปในทิศทางเดียวกันคือ เป็นกษัตริย์ที่ไม่ใส่ใจกิจการบ้านเมือง, ลุ่มหลงแต่สนมนางใน, กดขี่ข่มเหงข้าราชการและประชาชน, อ่อนแอ, ขี้ขลาดและเมื่อพม่าประชิดกรุงศรีอยุธยาพระองค์ไม่ทรงอนุญาตให้ยิงปืนใหญ่ ด้วยเกรงบรรดาพระสนมจะตกอกตกใจกัน ฯลฯ
พระองค์ทรงเป็นพระราชโอรสของ “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ” กับพระอัครมเหสีองค์รองคือ “กรมหลวงพิพิธมนตรี” หรือ “พระพันวษาน้อย” พระนามเดิมเมื่อแรกประสูติคือ “เจ้าฟ้าเอกทัศน์” พ.ศ. 2275 ทรงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาให้เป็น “สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรี” โดยมีพระอนุชามีรวมโสทรคือ “เจ้าฟ้าอุทุมพร” หรือที่พระชนกตั้งชื่อเมื่อแรกประสูติว่า “เจ้าฟ้าดอกเดื่อ” โดยทรงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาให้เป็น “สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิต” ซึ่งในกาลต่อมาได้ขึ้นครองราชย์เป็น “สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร” ก่อนจะสละราชย์ไปทรงผนวชถึง 2 คราว ด้วยเหตุจำเป็น จนชาวบ้านขนานนามพระองค์อย่างเป็นที่รู้จักกันว่า “ขุนหลวงหาวัด”
ซึ่งสิ่งที่ทำให้ “พระเจ้าเอกทัศน์” กลายเป็นตัวโกง ก่อนจะกลายเป็น “แพะ” คือการไม่ได้รับการยอมรับจากพระราชบิดาให้เป็น “กรมพระราชวังบวรสถานมงคล” หรือ “องค์รัชทายาท” แต่พระราชบิดากลับยกให้ “เจ้าฟ้าอุทุมพร” พร้อมด้วยแรงสนับสนุนจาก “กรมหมื่นเทพพิพิธ” ซึ่งเป็นพระโอรสชั้นผู้ใหญ่ กับบรรดาเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่ คือเรียกว่าเพียบพร้อมกว่าพระเชษฐาว่างั้นเถอะ ทั้งยังมีพระราชโองการของ “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ” ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาว่า “กรมขุนอนุรักษ์มนตรีนั้น โฉดเขลาหาสติปัญญาและความเพียรมิได้ ถ้าจะให้ดำรงฐานาศักดิ์มหาอุปราชสำเร็จราชการกึ่งหนึ่งนั้นบ้านเมืองก็จะเกิดภัยพิบัติฉิบหายเสีย” และมีพระราชดำรัสสั่งสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรีว่า “จงไปบวชเสียอย่าให้กีดขวาง” ถึงตรงนี้คนเล่าประวัติศาสตร์ก็ข้ามเรื่องราวการเคลียร์เส้นทางของ “สมเด็จฯ เจ้าฟ้าอุทุมพร กรมขุนพรพินิต” ไปเลย
ครั้นเมื่อ “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ” สวรรคต ได้เกิดกบฏเจ้า 3 กรม อันได้แก่ กรมหมื่นจิตรสุนทร กรมหมื่นสุนทรเทพ กรมหมื่นเสพภักดีซึ่งเป็นโอรสของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ แต่ได้ “สมเด็จฯ เจ้าฟ้าเอกทัศน์ กรมขุนอนุรักษ์มนตรี” เป็นผู้วางแผนและดำเนินการปราบกบฏเจ้า 3 กรม เพื่อกรุยทางให้ “สมเด็จฯ เจ้าฟ้าอุทุมพร กรมขุนพรพินิต” ได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยา แต่หลังจากนั้นประมาณ 10 วัน ก็ทรงสละราชสมบัติให้ “สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรี” แล้วพระองค์ก็ออกผนวช ซึ่งพงศาวดารฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ก็ขยายความในเชิงว่า พระองค์ถูก “บีบ” แต่จะบีบด้วยอะไร ? แบบไหน ? กลับไม่มีใครบันทึกไว้ มีแต่บอกว่า “กรมขุนอนุรักษ์มนตรี” เสด็จ ฯ ขึ้นไปประทับที่พระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ ซึ่งเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เนื่องจากเป็นที่ประทับของพระเจ้าอยู่หัวเท่านั้นและดื้อแพ่งไม่ยอมย้ายหรือยกให้ใคร จน“สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร” ต้องยอมยกราชบัลลังก์ให้ ซึ่งนี่คือข้อมูลเชิงปรักปรำที่ทำให้ “สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์” เป็นกษัตริย์ที่ “ดูแย่” อย่างสมบูรณ์แบบ แต่เป็นจริงแบบนั้นไหม ? ไปต่อกัน
สำหรับการครองราชย์ของ “พระเจ้าเอกทัศน์” ตาม “คำให้การชาวกรุงเก่า” ปรากฏความว่า... "พระมหากษัตริย์พระองค์นี้” ทรงพระกรุณากับอาณาประชาราษฎร์ทั้งปวง แผ่เมตตาไปทั่วสารพัดสัตว์ทั้งปวง”... หรืออย่างใน “คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม” ปรากฏความว่า "พระองค์ตั้งอยู่ในธรรมสุจริต บพิตรเสด็จไปถวายนมัสการพระศรีสรรเพชทุกเพลามิได้ขาด พระบาทจงกรมอยู่เป็นนิจ บพิตรตั้งอยู่ในทศพิธสิบประการ แล้วครอบครองกรุงขันธสีมา ทั้งสมณพราหมณ์ก็ชื่นชมยินดีปรีเปนศุขนิราชทุกขไภย ด้วยเมตตาบารมีทั้งฝนก็ดีบริบูรณภูลความศุกมิได้ดาล ทั้งข้าวปลาอาหารและผลไม้มีรสโอชา ฝูงอาณาประชาราษฎร์และชาวนิคมชนบทก็อยู่เยนเกษมสานต์ มีแต่จะชักชวนกันทำบุญให้ทาน และการมโหรสพต่าง ๆ ทั้งนักปราชผู้ยากผู้ดีมีแต่ความศุกที่ทุกขอบขันธสีมา"
...นอกจากหลักฐานทั้งสอง ยังได้กล่าวถึงพระราชกรณียกิจที่สำคัญของพระเจ้าเอกทัศ เช่น ทรงออกพระราชบัญญัติเครื่องชั่ง ตวง วัดต่าง ๆ, มาตราเงินบาท สลึง เฟื้องให้เที่ยงตรง และโปรดให้ยกเลิกภาษีอากรต่าง ๆ เป็นเวลา 3 ปี รวมทั้ง... "ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา บ้านเมืองสงบ การค้าขายเจริญ ทรงบริจาคทรัพย์ให้แก่คนยากจนจำนวนมาก" ...คือมองแล้วพระองค์น่าจะเป็นกษัตริย์ที่ถนัดทางด้านการจัดการด้านเศรษฐกิจและกิจการภายใน ที่ดีทีเดียว