Friday, 2 May 2025
THE STATES TIMES TEAM

‘บิ๊กวิน’ เป็นผู้แทนกองทัพเรือไทยเข้าร่วมการประชุม International Seapower Symposium (ISS) ครั้งที่ 25 ณ วิทยาลัยการทัพเรือสหรัฐ ภายใต้แนวคิด ‘Security Through Partnership’

พล.ร.อ.สุวิน แจ้งยอดสุข ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นผู้แทนกองทัพเรือไทย เข้าร่วมการประชุม International Seapower Symposium (ISS) ครั้งที่ 25 ณ วิทยาลัยการทัพเรือสหรัฐ นิวพอร์ต รัฐโรดไอแลนด์ สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 19 - 22 ก.ย.66 

การประชุม ISS จัดขึ้นเป็นประจำทุก 2 ปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาระดับสูงของกองทัพเรือตลอดจนผู้นำของหน่วยงานด้านความมั่นคงทางทะเลจากประเทศต่างๆ ได้มีโอกาสพบปะหารือเกี่ยวกับโอกาสและความท้าทายที่จะยกระดับความมั่นคงทางทะเลและความร่วมมือในการปฏิบัติงานในด้านต่างๆ ในอนาคต

การประชุมครั้งนี้ มีผู้แทนจากกองทัพเรือ และหน่วยงานด้านความมั่นคงทางทะเลเข้าร่วมกว่า 100 ประเทศ รวมทั้งผู้บังคับบัญชาระดับสูง และหน่วยงานความมั่นคงทางทะเลของสหรัฐฯ โดยมีการหารือและอภิปรายในเรื่องสำคัญ เช่น การแก้ไขปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated : IUU fishing) , ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) , เทคโนโลยีไร้คนขับ (Unmaned Technology), การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) และ การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาสาธารณภัย (Humanitarian Assistance and Disaster Relief :HA/DR) เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีการหารือแบบทวิภาคีของผู้แทนประเทศต่างๆ ในการนี้ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารเรือ ได้เข้าหารือแบบทวิภาคีกับ พล.ร.อ.ซามูเอล ปาปาโร ผู้บัญชาการกองเรือภาคพื้นแปซิฟิกของสหรัฐฯ ในประเด็นที่สำคัญ ได้แก่ การให้ความช่วยเหลือตามโครงการ Maritime Security Initiative (MSI) , การฝึก The Rim of the Pacific Exercise (RIMPAC) และการเสริมสร้างความร่วมมือต่างๆ ระหว่างกองทัพเรือไทย และ กองทัพเรือสหรัฐฯ ซึ่งในภาพรวมผลการประชุมและการหารือประสบผลสำเร็จเป็นไปตามวัตถุประสงค์ทุกประการ ภายใต้บรรยากาศความเป็นมิตรไมตรีที่แนบแน่น บรรลุตามกรอบแนวคิดที่ว่า ‘Security Through Partnership’

การประชุมในครั้งนี้ถือเป็นหนึ่งในนโยบายที่สำคัญของผู้บัญชาการทหารเรือในการแสดงถึงบทบาทของกองทัพเรือบนเวทีระหว่างประเทศ เพื่อสร้างพันธมิตรและความร่วมมือในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ตลอดจนการแก้ปัญหาที่เกิดจากภัยคุกคามร่วมกัน เพื่อสร้างความมั่นคงทางทะเล และความยั่งยืนในการแสวงหาและการใช้ประโยชน์จากทะเลต่อไปในอนาคต

กสทช. ร่วมกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทลายเครือข่ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ตามแนวชายแดนแม่สอด

เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 66 เวลา 11.00 น. พล.ต.อ.ดร.ณัฐธร เพราะสุนทร กสทช.ด้านกฎหมายและประธานอนุกรรมการบูรณาการบังคับใช้กฎหมายความผิดทางเทคโนโลยีฯ, พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. รับผิดชอบงานด้านป้องกันและปราบปราม, พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช. สอท., นายสุธีระ พึ่งธรรม ผอ.สำนักกิจการภูมิภาค, นายจาตุรนต์ โชคสวัสดิ์ ผอ.สำนักกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม, นายภาณุพงษ์ ชัยศรีทิพย์ ผู้อำนวยการสำนักงาน กสทช. เขต 31, พล.ต.ต.อำนาจ ไตรพจน์ รอง ผบช.สอท. และ พล.ต.ต.ฐิตวัฒน์ สุริยฉาย ผบก.สอท.4 พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ สำนักงาน กสทช. และ สอท. ร่วมกันแถลงผลการจับกุมสถานีวิทยุคมนาคมและเสาสัญญาณผิดกฎหมายตามแนวชายแดน อ.แม่สอด จว.ตาก ซึ่งที่ผ่านมาพบว่ามีการลักลอบส่งสัญญาณโทรคมนาคมและอินเทอร์เน็ตไปยังประเทศเพื่อนบ้านโดยผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาอาชญากรรมด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะแก๊งคอลเซ็นเตอร์และเว็บพนันออนไลน์ ที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทยในปัจจุบัน

ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ร่วมมือกับ สำนักงาน กสทช. ในการเดินหน้าปราบปรามสถานีโทรคมนาคมผิดกฎหมาย และจัดระเบียบเสาสัญญาณตลอดแนวชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน ตั้งแต่ อ.คลองใหญ่ จ.ตราด, อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว และ อ.แม่สาย จ.เชียงราย เพื่อสกัดไม่ให้มีการเผยแพร่สัญญาณโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตข้ามไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมาได้มีการกวาดล้างจับกุมแก๊งคอลเซ็นเตอร์อย่างต่อเนื่อง ทำให้ขบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์มีการย้ายฐานปฎิบัติการเข้าสู่พื้นที่ใหม่ๆ ที่ยังสามารถอาศัยสัญญาณโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตจากฝั่งไทยได้ และปลอดภัยจากการกวาดล้างจับกุม โดยเฉพาะพื้นที่ชายแดนด้าน อ.แม่สอด จว.ตาก ที่เป็นพื้นที่เศรษฐกิจและบางส่วนอยู่ภายใต้อิทธิพลของชนกลุ่มน้อย ตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ชุดปฏิบัติการร่วมตำรวจและ กสทช. ได้มีการลงพื้นที่หาข่าวจนนำมาสู่การปฎิบัติการในครั้งนี้ โดยมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้

​กรณีที่ 1 เข้าจับกุมสถานีวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต และหันทิศทางสายอากาศไปยังประเทศเพื่อนบ้านในพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก จำนวน ๒ สถานี และในพื้นที่ อ.แม่สาย และ อ.เชียงของ จ.เชียงราย จำนวน 4 สถานี เป็นความผิดฐาน “มีและใช้ซึ่งเครื่องวิทยุคมนาคมและตั้งสถานีวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับใบอนุญาต” ตามมาตรา 6 และ 11 แห่ง พรบ.วิทยุคมนาคมฯ มีโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือจำคุกไม่เกินห้าปี หรือทั้งปรับทั้งจำ และความผิดฐาน “ประกอบกิจการโทรคมนาคมซึ่งต้องได้รับใบอนุญาตแบบที่หนึ่งโดยไม่ได้อนุญาต” ตามมาตรา 67 (1) แห่งพรบ.ว่าด้วยการประกอบกิจการโทรคมนาคมฯ มีโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท พร้อมทั้งจับกุมผู้กระทำผิด จำนวน 3 ราย ในการนี้ ได้ทำการรื้อถอนสถานีวิทยุคมนาคมผิดกฏหมายดังกล่าวทั้งหมด และทำการยึดอุปกรณ์โทรคมนาคมที่ใช้กระทำความผิดได้เป็นจำนวนมาก นำส่งพนักงานสอบสวน เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป  

​กรณีที่ 2 พบการตั้งสถานีฐานโทรศัพท์เคลื่อนที่ และหันทิศทางสายอากาศไปยังประเทศ เพื่อนบ้าน ฝั่ง อ.แม่สอด จ.ตาก ซึ่งทำให้คลื่นสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ข้ามเข้าไปในประเทศเพื่อนบ้าน เป็นเหตุให้พื้นที่การให้บริการผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมเกินกว่าอาณาเขตพื้นที่ประเทศไทย และล่วงล้ำไปยังอาณาเขตประเทศข้างเคียง โดยตรวจสอบพบสถานีฐานโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เข้าลักษณะดังกล่าวจำนวนหลายสถานี ในกรณีนี้ สำนักงาน กสทช. ได้ดำเนินการแจ้งให้ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมทั้งหมด เร่งแก้ไขปรับปรุงหรือปฏิบัติให้ถูกต้อง โดยให้ถอนการติดตั้งสายอากาศบางจุด หรือ ปรับทิศทางสายอากาศ หรือ ดำเนินการด้วยวิธีอื่นใด มิให้แพร่สัญญาณคลื่นความถี่ออกนอกเขตพื้นที่ประเทศไทย เพื่อให้พื้นที่การให้บริการ อยู่ภายในอาณาเขตพื้นที่ประเทศไทย ​นอกจากนี้ ตั้งแต่ พ.ค.66 - ปัจจุบัน ได้ตรวจพบการจำหน่ายซิมการ์ดโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ลงทะเบียนการใช้งานโดยใช้ชื่อบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ผู้ใช้งานที่แท้จริงเพื่อจำหน่ายให้กับบุคคลอื่น จำนวน 7,668 ซิมการ์ด จับกุมผู้ต้องหา จำนวน 20 คน แบ่งเป็นคนไทย 12 คน และต่างชาติ 8 คน ดำเนินคดีตาม  พรก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีฯ ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา

​สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ กสทช. ได้มีการบูรณาการความร่วมมือในการเดินหน้าปราบปรามสถานีโทรคมนาคมผิดกฏหมาย ควบคู่ไปกับการจัดระเบียบเสาสัญณาณไม่ให้แพร่สัญญาณโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตข้ามไปยังประเทศเพื่อนบ้าน กวดขันจับกุมผู้ขายและผู้เป็นธุระจัดหา ซิมผี บัญชีม้า เพื่อตัดวงจรแก๊งคอลเซ็นเตอร์และพนันออนไลน์ไม่ให้ทำงานได้สะดวกเหมือนเคย ซึ่งได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการผู้รับใบอนุญาตเป็นอย่างดี พร้อมทั้งมีการหารือในการปรับปรุงระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อตีกรอบการใช้เทคโนโลยีให้เป็นไปตามที่ภาครัฐกำหนด สร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้กับพี่น้องประชาชน

​ทั้งนี้ได้ฝากเตือนไปยังพี่น้องประชาชน ให้มีความระมัดระวังการใช้การใช้งานเทคโนโลยี เพราะปัจจุบันแก๊งมิจฉาชีพมีการพัฒนารูปแบบการหลอกลวงอยู่ตลอดเวลา มีการออกอุบายใหม่ๆ ที่เน้นสร้างความน่าเชื่อถือ ทำให้เหยื่อตกใจตื่นตระหนก ตกหลุมพรางของแก๊งมิจฉาชีพ ขอให้ประชาชนตั้งสติ อย่าตกใจ ไม่เชื่อ ไม่โอน ไม่ให้ข้อมูลส่วนตัวโดยเด็ดขาด นอกจากนี้ยังพบว่า แก๊งมิจฉาชีพได้มีการจ่ายเงินซื้อโฆษณา เพื่อให้ลิงค์หรือเว็บไซด์ปลอมมาแสดงอยู่ในลำดับต้นๆ หรือสามารถเข้าถึงผู้ใช้แพลตฟอร์มเป็นจำนวนมาก มีการปลอมยอดติดตามหรือยอดไลท์เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ทำให้เมื่อประชาชนที่ถูกหลอกลวงออนไลน์ต้องการแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ กดเข้าไปในลิงค์หรือเว็บไซต์ปลอม ถูกหลอกซ้ำซ้อนสร้างความเสียหายมากขึ้นไปอีก ดังนั้น หากเกิดข้อสงสัยหรือต้องการติดต่อกับหน่วยงานของรัฐหรือเอกชน ขอให้สืบค้นข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้

นราธิวาส-ผบ.ฉก.นราธิวาส ส่งมอบบ้านตามโครงการ 'หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส ซ่อมสร้าง ปันสุข'เสริมสร้างขวัญ และกำลังใจ เพิ่มพูนความสุขให้กับพี่น้องประชาชนผู้ยากไร้ในพื้นที่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พลตรี เฉลิมพร ขำเขียว ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 15 / ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส ส่งมอบบ้าน ตามโครงการ 'หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส ซ่อมสร้าง ปันสุข' ให้กับพี่น้องประชาชน ในพื้นที่ อำเภอสุไหงปาดี และ พื้นที่อำเภอสุไหงโก-ลก จำนวน 2 รายได้แก่ 1. นางมีเน๊าะ กายอหม๊ะ ณ บ้านเลขที่ 103 หมู่ที่ 5 ตำบลสากอ อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส และ 2. นางเจ๊ะโมง  แยนา ณ บ้านเลขที่ 52/5 หมู่ที่ 5 ตำบลมูโนะ อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ซึ่งทั้ง 2 ครอบครัว มีฐานะยากจน เป็นผู้ยากไร้ และมีความเดือดร้อนในเรื่องที่พักอาศัย ที่ผ่านมาให้ความร่วมมือกับส่วนราชการ และหน่วยรัฐเป็นอย่างดีมาโดยตลอด ดังนั้นเพื่อเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตสร้างขวัญและกำลังใจเพิ่มพูนความสุขให้กับประชาชนในพื้นที่ จึงได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส ช่อมสร้าง ปันสุข  โดยมี ผู้นำท้องที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อิหม่ามประจำตำบล หัวหน้าส่วนราชการ และพี่น้องประชาชน เข้าร่วมในพิธี

โดยจากสถานการณ์ ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่งผลกระทบในด้านความปลอดภัย และทำให้พี่น้องประชาชน ได้รับผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ ในการประกอบอาชีพ ขาดแคลนรายได้ ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 มีดำริให้ หน่วยเฉพาะกิจประจำจังหวัด ที่ได้รับงบประมาณ ตามแผนงานโครงการพิทักษ์ประชาชนและทรัพยากร โครงการประสานสัมพันธ์กับชุมชน ดำเนินการช่วยเหลือประชาชน ที่ได้ความเดือดร้อนด้านที่พักอาศัย โดยการสร้างบ้านมอบให้กับประชาชน ที่ได้รับความเดือดร้อน หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส จึงจัดให้มีโครงการ "หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส ซ่อมสร้าง ปันสุข" โดยให้หน่วยเฉพาะกิจในพื้นที่ ลงไปดำเนินการสร้างบ้านให้กับประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบของหน่วย เพื่อเป็นการช่วยเหลือ และบรรเทาความเดือดร้อนในด้านที่พักอาศัย และเสริมสร้างทัศนะติที่ดีของประชาชนในพื้นที่ ต่อเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งการคัดเลือก พี่น้องประชาชนที่มีฐานะยากจนนั้น จะคัดเลือกผ่านสภาประชาธิปไตยตำบล ซึ่งการดำเนินการ ที่ผ่านมา ได้รับความร่วมมือ จากส่วนราชการ  ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น และพี่น้องประชาชนในพื้นที่ บริจาควัสดุก่อสร้าง แรงกาย และความคิดในการก่อสร้าง จนแล้วเสร็จ

ทั้งนี้ เฉลิมพร ขำเขียว ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส กล่าวว่า โครงการ 'หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส ซ่อมสร้าง ปันสุข' จะบรรลุผลสำเร็จได้นั้น ล้วนเกิดจากความมือร่วมใจ จากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น ส่วนราชการต่างๆ และพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ผมต้องขอขอบคุณทุกท่านจากใจจริง ที่มีส่วนร่วมในการ ช่วยเหลือสังคม ดั้งนั้น เมื่อสังคมให้ความช่วยเหลือเราแล้ว เราควรตอบแทนช่วยเหลือสังคม และเป็นคนดีมุ่งสร้างประโยชน์ต่อไป

ตำรวจไซเบอร์เปิดปฏิบัติการล่าเครือข่ายผู้ร่วมขบวนการระดับสั่งการแก๊งค์เครื่อง Stingray ที่ส่งข้อความให้กดลิงก์โหลดแอปดูดเงิน

พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒนครบัญชา ผู้บัญชาการ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ สอท. สั่งการให้ พล.ต.ต.ชัชปัณฑกาณฑ์ คล้ายคลึง ผบก.สอท.1 , พล.ต.ต.สถิตย์ พรมอุทัย ผบก.สอท.3 , พล.ต.ต.ชรินทร์ โกพัฒน์ตา ผบก.สอท.5 นำกำลังตำรวจไซเบอร์ร่วมกันเปิดปฏิบัติการล่าเครือข่ายผู้ร่วมขบวนการระดับสั่งการแก๊งค์เครื่อง Stingray ที่ส่งข้อความให้กดลิงก์โหลดแอปพลิเคชันดูดเงิน 

สืบเนื่องจากการขยายผลกลุ่มเครือข่ายขบวนการเครื่องกระจายสัญญาณ ที่ใช้อุปกรณ์ส่งข้อความ SMS ให้ประชาชนกดลิงก์ จากนั้นคนร้ายเข้าควบคุมเครื่องโทรศัพท์มือถือแล้วโอนเงินในบัญชีธนาคารที่เชื่อมต่อกับแอปพลิเคชั่น Mobile Banking ในโทรศัพท์มือถือของผู้เสียหาย โดยตำรวจ สอท.ได้รวบรวมหลักฐานขอศาลอาญาธนบุรีออกหมายจับกลุ่มผู้ต้องหา ซึ่งเป็นขบวนการในระดับสั่งการจัดหาชุดอุปกรณ์เครื่องกระจายสัญญาณ ในความผิดฐาน "ร่วมกันโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเห็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน , ร่วมกัน นำ มีใช้นำเข้า นำออก หรือค้าซึ่งเครื่องวิทยุคมนาคม โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต , ร่วมกันตั้งสถานีวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต และเป็นอั้งยี่และหรือซ่องโจร”ต่อมาศาลอาญาธนบุรีได้อนุมัติหมายจับกลุ่มผู้ต้องหา ตำรวจไซเบอร์ชุดปฏิบัติการจึงได้วางแผนเข้าจับกุมในคราวเดียวกันทุกจุด เพื่อตัดวงจรของกลุ่มขบวนการดังกล่าว

ตำรวจไซเบอร์นำโดย พ.ต.อ.อภิรักษ์ จำปาศรี ผกก.1 บก.สอท.3 และ พ.ต.อ.มรกต แสงสระคู ผกก.2 บก.สอท.3 นำกำลังตรวจค้น 4 จังหวัด 5 จุด ภายในวันเดียว เมื่อวันที่ 21 ก.ย.ที่ผ่านมา ได้แก่ จังหวัดพัทลุง จังหวัดจันทบุรี จังหวัดสระแก้ว และกรุงเทพมหานคร สามารถจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาธนบุรี 5 คน ได้แก่

1. น.ส.พรรธช์ธนกรณ์ จับกุมที่บ้านเลขที่ 28/2 ถ.อุบลนุสรณณ์ ต.คูหาสวรรค์ อ.เมืองพัทลุง จ.พัทลุง 
2. นายชิษณุพงษ์ จับกุมที่หอพักนักศึกษาชาย ห้อง 103 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตจันทบุรี หมู่ 10 ต.พลวง อ.เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี 
3. นายศุภชัย จับกุมที่บ้านเลขที่ 95 หมู่ 3 ต.ท่าข้าม อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว 
4. น.ส.บุญรอด จับกุมที่บ้านเลขที่ 55/5 ถ.บ้านวังปาตอง ต.อรัญประเทศ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว 
5. นายภูริช จับกุมที่บ้านเลขที่ 18/108 ซอยประชาอุทิศ 60 แขวงทุ่งครุ เขตทุ่งครุ กรุงเทพมหานคร 

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 66 เจ้าหน้าที่ตำรวจ บช.สอท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้จับกุมตัวผู้ต้องหาในขบวนการแก๊งค์เครื่อง Stingray 6 ราย พร้อมยึดของกลางรถยนต์ 4 คัน ที่มีการติดตั้งเครื่องจำลองสถานีฐาน (False Base Station) ดำเนินคดีตามกฎหมาย ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจ บช.สอท. ได้ขยายผลกลุ่มเครือข่ายขบวนการ จนกระทั่งสามารถจับกุมผู้ต้องหาระดับสั่งการเป็นผู้ว่าจ้าง จัดหาและขนส่งเครื่อง Stingray และหลังจากนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจ บช.สอท.จะร่วมกันสืบสวนจับกุมผู้ต้องหาที่ร่วมขบวนการที่เหลือมาดำเนินคดีตามกฎหมายให้หมดทั้งขบวนการต่อไป

ผบ.ตร. ชื่นชมตำรวจดีเด่น ประจำปี 2566 เป็นแบบอย่างในการปฏิบัติงาน “ครองตน ครองคน ครองงาน” มอบประกาศนียบัตรเชิดชูเกียรติ เสื้อสามารถ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ ด้าน สว.ฝอ.เชียงใหม่ ปลื้มใจ คนเป็นนายให้ความสำคัญตำรวจมดงาน

พล.ต.ท.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้ความสำคัญ สร้างขวัญและกำลังใจแก่ข้าราชการตำรวจผู้ปฏิบัติงาน 5 ด้าน ทั้งป้องกันปราบปราม สืบสวน สอบสวน อำนวยการ และจราจร ที่มีความประพฤติ และปฏิบัติตนตามหลักการ “ครองตน ครองคน ครองงาน” มีความมุมานะในการปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความเสียสละ เสมอต้นเสมอปลาย มีความรับผิดชอบต่องานที่ผู้บังคับบัญชามอบหมาย รวมถึงเป็นผู้ที่มีจิตสำนึกและจิตสาธารณะจนเป็นที่ประจักษ์ต่อสังคม จึงได้มอบหมายให้หน่วยงานต้นสังกัดได้พิจารณาและคัดเลือกข้าราชการตำรวจดีเด่นระดับรองผู้กำกับการ ถึงผู้บังคับหมู่ ประจำปี 2566 เพื่อรับมอบประกาศนียบัตรเชิดชูเกียรติ และเสื้อสามารถ จากผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 19 กันยายน ที่ผ่านมา เวลา 15.30 น. ณ ห้องศรียานนท์ ชั้น 2 อาคาร 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์  กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. ได้เป็นประธานในพิธีมอบประกาศนียบัตรเชิดชูเกียรติและเสื้อสามารถให้แก่ข้าราชการตำรวจในสังกัดกองบัญชาการ และกองบังคับการหน่วยขึ้นตรงสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่ได้รับการคัดเลือกตามโครงการ “ตำรวจดีเด่น ประจำปี 2566” โดยมี พล.ต.อ.กิตติรัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร. และ พล.ต.ท. ยิ่งยศ เทพจำนงค์ ผู้บัญชาการสำนักงานกำลังพล เข้าร่วมพิธี โดยมีข้าราชการตำรวจดีเด่นเข้ารับรางวัล จำนวน 3,435 นาย เป็นตำรวจสายอำนวยการหน่วยขึ้นตรง สำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จำนวน 164 ราย ส่วนระดับกองบัญชาการอื่นๆ ทั่วประเทศ มอบหมายให้ผู้บัญชาการแต่ละหน่วยเป็นตัวแทนรับมอบ 

หลังเสร็จสิ้นพิธีฯ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์  กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. ได้กล่าวให้โอวาทแก่ข้าราชการตำรวจดีเด่น ประจำปี 2566 โดยยึดหลัก “ครองตน ครองคน ครองงาน” และธำรงไว้ซึ่งการปฏิบัติตนเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีแก่เพื่อนข้าราชการตำรวจต่อไป

ด้าน พ.ต.ท.หญิง อัมรินทร์  อินยาศรี สว.ฝอ.ภ.จว.เชียงใหม่ ผู้ปฏิบัติหน้าที่ดีเด่น ตามโครงการ “ตำรวจดีเด่น 2566” เปิดเผยความในใจว่า งานอำนวยการ เป็นงานหนัก เป็นงานที่อยู่เบื้องหลังของทุกสายงานไม่ว่าจะเป็นงานสืบสวนปราบปราม งานจราจร สวัสดิการต่างๆ ของกำลังพลในสังกัด งานอำนวยการเป็นงานที่ต้องทำทุกวัน ต้องทำอย่างสม่ำเสมอ แม้ว่าจะทำให้เกิดผลการปฏิบัติเป็นรูปธรรมได้ยาก แต่ก็มีความภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนงานอำนวยการ ได้ดูแลสิทธิ สวัสดิการ ของพี่ๆ น้องๆ ตำรวจในสังกัด  ตนเคยได้รับรางวัลผู้ปฏิบัติหน้าที่ดีเด่นในสายงานอำนวยงานมาแล้วในปี 2557 เมื่อครั้งที่ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์  กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. ดำรงตำแหน่ง รอง ผบช.ภ.5 และท่านได้มองเห็นถึงความสำคัญของสายงานอำนวยการเทียบเท่ากับสายงานอื่นๆ ทำให้ผู้ปฏิบัติงานอำนวยการเกิดขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่เป็นอย่างยิ่ง ในปี 2566 ตนได้รับรางวัลนี้อีกครั้งแต่เป็นการรับรางวัลของ ผบ.ตร. ซึ่งสร้างความปลาบปลื้ม และภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง ที่ผู้บังคับบัญชาให้ความสำคัญตำรวจมดงาน อยากจะให้มีโครงการดีๆ แบบนี้ต่อไป เนื่องจากมีข้าราชการตำรวจอีกหลายนายที่ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และสมควรได้รับการคัดเลือก ในส่วนของตนเองอยากจะขอปฏิญาณตนว่าจะรักษามาตรฐานการทำงานแบบนี้ต่อไป การที่ได้รับรางวัลเป็นเสมือนเครื่องเตือนใจให้ตั้งใจทำงานต่อไป

ตำรวจไซเบอร์รวบสาวน้อยร้อยประวัติฉ้อโกง หลอกกู้เงินออนไลน์ เสียหายรวมกว่า 2 ล้าน

สืบเนื่องจากผู้เสียหายต้องการสินเชื่อเงินกู้ ต่อมาได้พบโฆษณาให้กู้ยืมเงินผ่านช่องทางออนไลน์ชื่อ 
“RK COMPANY ฝ่ายบริการสินเชื่อ ฝ่ายสินเชื่อออนไลน์” จึงได้ติดต่อไป โดยแอดมินใช้โปรไฟล์ของบุคคลอื่นนำมาแอบอ้างเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ แล้วใช้กลอุบายหลอกให้ผู้เสียหายโอนเงินไปก่อนทำสินเชื่อ โดยอ้างเป็นค่าดำเนินการต่างๆ เช่น ค่าทำสัญญา ค่าค้ำประกัน สร้างเครดิต แต่ก็ไม่เคยได้รับเงินกู้ดังกล่าว เมื่อผู้เสียหายเริ่มสงสัย ก็อ้างว่าผู้เสียหายทำผิดเงื่อนไข แล้วหลอกล่อให้โอนเงินเพิ่มอีกเพื่อปลดล็อคเงื่อนไขดังกล่าว
 
พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. จึงสั่งการให้ บก.สอท. 5 เร่งดำเนินการจับกุมผู้กระทำผิดที่เกี่ยวข้อง ต่อมา จากการสืบสวนพบว่า มีผุ้เสียหายในลักษณะดังกล่าวอีกหลายราย แต่ละรายโอนเงินให้คนร้าย 4-7 ครั้งต่อราย ผ่านหลายบัญชีธนาคาร แต่ไม่เคยรับเงินสินเชื่อดังกล่าว ความเสียหายตั้งแต่หลักหมื่นถึงหลักล้าน  รวมความเสียหายมากกว่า 2 ล้านบาท  ตำรวจไซเบอร์จึงรับแจ้งความผ่านระบบรับแจ้งออนไลน์ thaipoliceonline.com แล้วได้ทำการสืบสวนสอบสวน จนนำไปสู่การขออนุมัติศาลออกหมายจับผู้ต้องหาหลายราย

กระทั่ง กก.1 บก.สอท.5 ได้สืบสวนจนทราบข้อมูลหนึ่งในผู้ต้องหาของขบวนการนี้ พบมีหมายจับของตำรวจไซเบอร์ 3 หมายจับ และยังพบประวัติฉ้อโกงผู้เสียหายอีกหลายรายการ จึงนำกำลังร่วมกันเข้าจับกุม น.ส.ไพลิน อายุ 19 ปี ตามหมายจับ ศาลอาญา จำนวน 3 หมายจับในข้อหา “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยการแสดงตนเป็นคนอื่น,นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน”  โดยควบคุมตัวได้บริเวณหน้าห้องพักแฟลตปลาทอง อ.เมือง จ.ปทุมธานี
       
เบื้องต้นผู้ต้องหายังคงให้การปฏิเสธ เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมจึงนำตัวนำส่งพนักงานสอบสวน กก.1 บก.สอท.5 เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

ผลการปฏิบัติภายใต้การอำนวยการของ  พล.ต.ต.ชรินทร์ โกพัฒน์ตา ผบก.สอท.5 และ พ.ต.อ.ศุภกร ธัญญกรรม ผกก.1 บก.สอท.5 สั่งการให้ พ.ต.ท.ปริพล  นาคลำภา, พ.ต.ท.หญิง ธรา เมืองแก้ว สว กก.1 บก.สอท 5, พ.ต.ท.อุดม อิสโร  สว.ฯ ปรก.กก.1 สอท.5 และ พ.ต.ต.สุธี บุดดีคำ สว.ฯ ปรก.กก.1 บก.สอท.5 พร้อมชุดสืบสวนร่วมกันจับกุม

นิพนธ์ และ ครอบครัวบุญญามณี รับโล่ประกาศเกียรติคุณ เนื่องในวันมหิดล ประจำปี 2566 ในนามผู้สมทบทุนบริจาคฯและสนับสนุน คณะแพทยศาสตร์ รพ.สงขลานครินทร์(ม.อ.)

วันที่ 22 กันยายน 2566 ที่ห้องประชุมชั้น 14 อาคารเฉลิมพระบารมี โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

นายนิพนธ์ บุญญามณี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยนางกัลยา บุญญามณี ภริยา ร่วมพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่ผู้อุปการคุณมูลนิธิโรงพยาบาลสงขลานครินทร์(ม.อ.) โดยภายในมีการแสดงวีดิทัศน์ "พระราชประวัติสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชกรม พระบรมราชชนก" และวีดิทัศน์ "ภารกิจของมูลนิธิโรงพยาบาลสงขลานครินทร์" มอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่ผู้อุปการคุณมูลนิธิโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เนื่องในวันมหิดล ประจำปี 2566

ทั้งนี้ ครอบครัวบุญญามณี ได้ร่วมสมทบทุนบริจาคร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ในตลอดหลายปีที่ผ่านมา ประกอบด้วย การบริจาคสมทบทุนก่อสร้างศูนย์ผ่าตัดหัวใจรัฐบุรุษ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ สมทบทุนก่อสร้างอาคารเย็นศิระ 3 ที่จัดสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่พักของผู้ป่วยและญาติที่ขาดแคลนทุนทรัพย์จากต่างจังหวัด ที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ตามแนวพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จ พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ผ่านมูลนิธิรพ.สงขลานครินทร์ และสมทบทุนโครงการก่อสร้างอาคาร “เกิดมาต้องตอบ แทนบุญคุณแผ่นดิน” ซึ่งจะเปิดเป็นศูนย์บริจาคอวัยวะ 99 ปี รัฐบุรุษ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ 

นอกจากนี้ นายนิพนธ์ บุญญามณี เมื่อครั้งที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงมหาดไทย ได้ประสานขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล จำนวน 604 ล้านบาท ในวงเงินก่อสร้าง 1,499 ล้านบาท ผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี เพื่อก่อสร้างอาคารศูนย์ความเป็นเลิศและรองรับโรคอุบัติใหม่ อุบัติซ้ำ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ อีกด้วย 

รมว.พิพัฒน์ เปิดงานวันคล้ายวันสถาปนาก.แรงงาน ครบ 30 ปี มุ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงาน

วันที่ 22 กันยายน 2566 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีถวายภัตตาหารเช้าแด่พระสงฆ์ จำนวน 10 รูป เพื่อบำเพ็ญกุศลให้กับอดีตผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานที่ล่วงลับ และเจริญพระพุทธมนต์ เพื่อความเป็นสิริมงคล เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงแรงงาน ครบรอบ 30 ปี โดยมี นายธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูง ข้าราชการเจ้าหน้าที่หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน เข้าร่วม ณ ห้องประชุมกระทรวงแรงงาน ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน

จากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีกราบสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงแรงงาน ประกอบด้วย พระพุทธสุทธิธรรมบพิตร พระพุทธชินราช ศาลพระภูมิชัยมงคล และท้าวมหาพรหมเทวฤทธิ์ จากนั้น รมว.แรงงาน นำคณะผู้บริหารถวายความเคารพหน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงแรงงาน ประจำปี พ.ศ.2566 โดยมี ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน ข้าราชการเจ้าหน้าที่หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย ณ บริเวณกระทรวงแรงงาน
            
จากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีมอบโล่อาสาสมัครแรงงานดีเด่น ระดับภาคและระดับประเทศ จำนวน 14 คน บัณฑิตแรงงานดีเด่น 4 คน มอบประกาศเกียรติคุณข้าราชการดีเด่น ประจำปี 2565 จำนวน 10 คน มอบโล่เจ้าหน้าที่ศูนย์บริการร่วมกระทรวงแรงงานดีเด่นระดับกระทรวง และระดับเขตตรวจราชการ จำนวน 8 คน และมอบของที่ระลึกให้กับผู้เกษียณอายุราชการ ประจำปี 2566 โดยในปีนี้กระทรวงแรงงานมีผู้เกษียณอายุราชการจำนวนทั้งสิ้น 268 คน เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงแรงงาน ครบรอบ 30 ปี ณ ห้องประชุมกระทรวงแรงงาน ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน ซึ่งมีการถ่ายทอดสดผ่าน Facebook Live ของกระทรวงแรงงาน โดย นายพิพัฒน์ กล่าวว่า กระทรวงแรงงาน ได้เริ่มก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2536 มีภารกิจสำคัญในการดูแลพี่น้องผู้ใช้แรงงานให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีรายได้ที่มั่นคง เพื่อให้ภาคแรงงานมีความเข้มแข็ง มีทักษะฝีมือ มีศักยภาพเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพราะแรงงานถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจสังคม และความมั่นคงของประเทศให้เจริญก้าวหน้า จากอดีตจนถึงปัจจุบันตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา ภารกิจของกระทรวงแรงงานมีการปรับเปลี่ยน และเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก

ครอบคลุมทั้งด้านการส่งเสริมการมีงานทำทั้งในและต่างประเทศ ด้านการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว ด้านการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน ด้านการคุ้มครองแรงงาน และด้านการเสริมสร้างหลักประกันสังคม และในปีนี้รัฐบาลภายใต้การนำของท่านเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กระทรวงแรงงาน ภายใต้การกำกับดูแลของท่านอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และผมในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มีนโยบายสำคัญเพื่อขับเคลื่อนภารกิจกระทรวงแรงงาน ทั้ง 3 ด้าน 8 นโยบาย เพื่อมุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานภายใต้แนวคิด “ทักษะดี มีงานทำ หลักประกันทางสังคมเด่น เน้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจ” ดังนี้ ทักษะดี  (1) พัฒนาทักษะฝีมือแรงงานชั้นสูง รองรับการจ่ายค่าจ้างตามความสามารถการปฏิบัติงาน  (2) Up - Skill for More Earn เพื่อการมีงานทำรองรับเศรษฐกิจใหม่ มีงานทำ (3) One Stop Service บริหารการทำงานของแรงงานต่างด้าวครบ จบที่จุดเดียว (4) เพิ่มการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ 100,000 อัตรา หลักประกันทางสังคมเด่น (5) Micro Finance ลดหนี้ เติมทุน สร้างสุขแรงงาน (6) กองทุนมั่นคง แรงงานมั่งคั่ง ประกันสังคมยั่งยืน (7) Best E - Service ประกันสังคมยุคใหม่ สร้างความมั่นคง เพิ่มความมั่นใจ และ (8) สร้างรากฐานเศรษฐกิจ พัฒนาคุณภาพชีวิต ด้วยการคุ้มครองแรงงาน
            
นายพิพัฒน์ กล่าวต่อว่า ผมขอแสดงความยินดีกับอาสาสมัครแรงงาน บัณฑิตแรงงานทุกคนที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นอาสาสมัครแรงงาน บัณฑิตแรงงานดีเด่น ประจำปี 2566 ซึ่งทุกท่านเป็นผู้มีจิตอาสาอุทิศตนเพื่อสังคม และด้วยคุณความดีนี้ จึงขอให้ท่านได้ดำรงตนเพื่อเป็นต้นแบบที่ดีสำหรับอาสาสมัครแรงงานคนอื่นๆ ต่อไป ผมขอฝากคำขอบคุณในนามของกระทรวงแรงงานไปยังอาสาสมัครแรงงานทุกท่าน และบัณฑิตแรงงานทุกท่านที่ได้ร่วมมือร่วมใจกันปฏิบัติงานในภารกิจของกระทรวงแรงงานด้วยดีเสมอมา สำหรับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานของศูนย์บริการร่วมกระทรวงแรงงานที่ได้รับโล่รางวัลและใบประกาศเกียรติบัตร รางวัลดังกล่าวถือเป็นการสร้างขวัญกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ รวมทั้งยังเป็นการยกระดับศูนย์บริการร่วมกระทรวงแรงงานให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานศูนย์บริการร่วมและเคาเตอร์บริการประชาชนของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) และยกระดับคุณภาพสถานที่ให้บริการประชาชนของศูนย์บริการร่วมกระทรวงแรงงานให้มีมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งจะเป็นการอำนวยความสะดวกและเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการแก่พี่น้องประชาชนที่มาติดต่อราชการมากยิ่งขึ้น และในส่วนของข้าราชการและลูกจ้างประจำที่เกษียณอายุราชการประจำปี 2566 ทุกท่าน การที่ท่านได้รับราชการมาจนครบเกษียณอายุราชการ เป็นเครื่องบ่งชี้ให้เห็นว่า ท่านได้ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ควรค่าแก่การยกย่องสรรเสริญ สมควรที่จะได้รับการจดจำ และยึดถือเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติหน้าที่ให้แก่ข้าราชการรุ่นต่อไปได้ใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติและประชาชนต่อไป

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มอบรางวัลองค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน ปี 2566

วันที่ 22 กันยายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานจาก โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร ว่า เมื่อเวลา 8.30 น. ที่ผ่านมา พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เดินทางมาเป็นประธานพิธีเปิดงานประกาศผลรางวัลองค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2566 Human Rights Awards 2023 จัดงานโดย กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม มีวัตถุประสงค์เพื่อมอบรางวัลองค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชนให้กับองค์กรภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคธุรกิจ วิสาหกิจเพื่อสังคมและภาคประชาสังคมที่ผ่านการคัดเลือก รวมถึงเป็นแบบอย่างที่ดีให้องค์กรอื่นๆ ในการเสริมสร้างสังคมแห่งการเคารพสิทธิมนุษยชนอย่างยั่งยืน โดยมี นายดิป มาการ์ หัวหน้าทีมประเทศไทยของสํานักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชน ของสหประชาชาติ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, ดร.เสรี นนทสูติ กรรมการสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรม, ดร.รัชดา ไชยคุปต์ ผู้แทนประเทศไทยในคณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริม และคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็กในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิสตรี, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคธุรกิจ วิสาหกิจเพื่อสังคม และภาคประชาสังคม กว่า 1,000 คน เข้าร่วมงาน

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวเปิดงานว่า รู้สึกยินดี และขอขอบคุณผู้แทนองค์กรภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคธุรกิจ วิสาหกิจเพื่อสังคม และภาคประชาสังคม รวมถึงวิทยากร และผู้เข้าร่วมงานฯ ทุกท่าน เป็นอย่างยิ่ง ที่ให้ความสนใจเข้าร่วมงานฯ โดยพร้อมเพรียงกัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ทุกท่านได้ตระหนักถึงความสําคัญของการดําเนินงานด้วยความเคารพสิทธิมนุษยชน

“รัฐบาลจะสร้างความชอบธรรมในการบริหารราชการแผ่นดินในระบอบ ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ด้วยการฟื้นฟูหลักนิติธรรม (Rule of Law) ให้เข้มแข็ง มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และเป็นที่ยอมรับจากนานาชาติ เพราะหลักนิติธรรมที่น่าเชื่อถือเป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางความคิดและสังคมที่สําคัญของประเทศ เป็นการลงทุนทําให้ประเทศมีหลักนิติธรรมที่น่าเชื่อถือ ที่ใช้งบประมาณน้อยที่สุด แต่ได้ป ระสิทธิภาพมากที่สุดในการพัฒนาประเทศ”

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวด้วยว่า ในการบริหารบ้านเมืองที่ดี ที่เรียกว่า “หลักธรรมาภิบาล” ที่ได้ให้ความสําคัญบัญญัติไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศนั้น คือ การนําสามเสาหลักที่สัมพันธ์ เชื่อมโยง และเสริมสร้างความแข็งแกร่งซึ่งกันและกัน คือ นําหลักสิทธิมนุษยชน หลักนิติธรรม และหลักประชาธิปไตย ที่เป็นค่านิยมสากล และไม่สามารถแยกออกจากกันได้ที่เป็นหลักการของสหประชาชาติ เป็นคุณค่าสากล ต่างค้ําจุนซึ่งกันและกัน เนื่องจากสิทธิมนุษยชนใด ๆ หากปราศจากหลักนิติธรรม และหลักประชาธิปไตย คือ อํานาจอธิปไตยเป็นของปวงชน การมีส่วนร่วมของประชาชน ในการสร้างความเป็นธรรมให้แก่ประชาชนทุกคน บุคคลย่อมได้รับความเสมอภาค ในกฎหมาย ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายเท่าเทียมกัน ไม่เลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมแล้ว สิทธิมนุษยชน “ย่อมเป็นสัญญาว่างเปล่า บนแผ่นกระดาษเท่านั้น”

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ในระดับปฏิบัติ กระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้มีการจัดทํา แผนที่สําคัญ 2 ฉบับ ได้แก่

1. แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 5(พ.ศ. 2566 – 2570) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐยึดถือเป็นกรอบในการทํางาน โดยให้ความคุ้มครองประเด็น สิทธิมนุษยชนใน 5 ด้าน 11 กลุ่มเป้าหมาย ซึ่งใน 5 ด้าน ประกอบด้วย ด้านการเมือง การปกครอง ด้านกระบวนการยุติธรรม ด้านสาธารณสุข ด้านการศึกษา และด้านเศรษฐกิจ และธุรกิจ และสําหรับ 11 กลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย กลุ่มผู้ใช้แรงงาน กลุ่มผู้เสียหาย กลุ่มเด็กและสตรี กลุ่มนักปกป้องสิทธิมนุษยชน กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้เสพยาเสพติด กลุ่มความหลากหลายทางเพศ กลุ่มบุคคลที่มีปัญหาทางสถานะทางทะเบียนและกลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มผู้พิการ กลุ่มผู้ต้องหา ผู้ต้องขังและผู้พ้นโทษ และกลุ่มผู้ป่วยเอดส์และผู้ป่วยจิตเวช 

2. แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 – 2570) ซึ่งมุ่งนําหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจ กับสิทธิมนุษยชน หรือ หลักการ UNGPs (ยูเอ็นจีพีส์) มาเป็นแนวทางส่งเสริมให้รัฐวิสาหกิจ และภาคธุรกิจดําเนินงานด้วยความรับผิดชอบและเคารพสิทธิมนุษยชน โดยกําหนดประเด็น สําคัญเพื่อเร่งแก้ไข 4 ประเด็น ได้แก่ 1) แรงงาน 2) ชุมชน ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม 3) นักปกป้องสิทธิมนุษยชน 4) การลงทุนระหว่างประเทศ และบรรษัทข้ามชาติ ทั้งนี้ รัฐบาลหวังเป็นอย่างยิ่งว่า แผนระดับชาติทั้ง 2 ฉบับ จะเป็นหลักประกัน และเครื่องมือ สําคัญในการกําหนดทิศทางการดําเนินงานให้กับทุกองค์กรต่อไป

“อย่างไรก็ดี เพื่อเป็นการกระตุ้นให้องค์กรทุกภาคส่วนมีความเข้าใจ การมีส่วมร่วม และเห็นถึงความสําคัญของการนําหลักการสิทธิมนุษยชน และแผนทั้ง 2 ฉบับ มาเป็นพื้นฐานในการบริหารจัดการและปฏิบัติงานในทุกระดับ กระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ จึงได้จัดทําโครงการองค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชนขึ้น โดยเปิดรับสมัครองค์กรภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคธุรกิจ วิสาหกิจเพื่อสังคม และภาคประชาสังคม เข้าร่วมโครงการฯ ซึ่งกําหนดให้ใช้แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 5 เป็นเกณฑ์ ในการพิจารณาตัดสินของภาครัฐ และกําหนดให้ใช้หลักการ UNGPs (ยูเอ็นจีพีส์) และแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 2 เป็นเกณฑ์พิจารณาตัดสิน ของรัฐวิสาหกิจ ภาคธุรกิจ วิสาหกิจเพื่อสังคม และภาคประชาสังคม โดยมีกระบวนการ พิจารณาคัดเลือกตามลําดับจนได้องค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน ประจําปี 2566

สําหรับการจัดงานฯ ในวันนี้ ถือเป็นโอกาสอันดีอย่างยิ่ง ที่ทุกท่านจะได้ร่วมรับฟังการแลกเปลี่ยน และถ่ายทอดบทเรียนจากองค์กรที่ได้รับรางวัลองค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อเป็นแนวทางในการประยุกต์ใช้กับองค์กรของตนต่อไป

สุดท้ายนี้ กระผมขอแสดงความยินดีกับองค์กรที่ได้รับรางวัลทั้งระดับดีเด่น ระดับดี และระดับชมเชย และขอขอบคุณทุกองค์กรที่สมัครเข้าร่วมโครงการฯ กระผมขอเป็นกําลังใจให้ทุกองค์กรที่ได้ขับเคลื่อนงานด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อให้เกิด ประโยชน์แก่องค์กร ประชาชน สังคม และประเทศชาติอย่างยั่งยืนต่อไป” พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าว

DSI จับมือทัพเรือภาค 3 ลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ตรวจสอบพื้นที่บุกรุกป่าสงวนแห่งชาติป่าบางขนุน คดีพิเศษที่ 59/2564

สืบเนื่องจากทัพเรือภาคที่ 3 ได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ให้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าบางขนุน เนื้อที่ 3,763 ไร่เศษ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2566 ต่อมาทัพเรือภาคที่ 3 ได้ตรวจสอบภายในพื้นที่ที่ได้รับอนุญาต พบว่ามีผู้บุกรุกสร้างสิ่งปลูกสร้างถาวร รวมจำนวน 49 หลัง จึงได้มีหนังสือร้องทุกข์มายังกรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับเป็นคดีพิเศษที่ 59/2564 เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานตามที่ทัพเรือภาคที่ 3 ได้ร้องทุกข์ดังกล่าว

ด้านพันตำรวจโท อมร หงษ์ศรีทอง ผู้อำนวยการกองคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภายใต้การกำกับดูแลของ ร้อยตำรวจเอกปิยะ รักสกุล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และข้อสั่งการของ พันตำรวจตรี สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงได้มอบหมายให้ พันตำรวจตรี นิมิตร พรหมมา รองผู้อำนวยการกองคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ และคณะฯ เดินทางลงพื้นที่ประสานข้อมูลกับทัพเรือภาคที่ 3

ผลการปฏิบัติงานในระหว่างวันที่ 18 - 19 กันยายน 2566 คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ได้เข้าพบ พลเรือตรี ภุชงค์ รอดนิกร เสนาธิการทัพเรือภาคที่ 3 ประชุมร่วมกันเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและสอบปากคำผู้แทนทัพเรือภาคที่ 3 ในการให้ข้อมูลและการเข้าตรวจสอบพื้นที่ที่มีการสร้างสิ่งปลูกสร้างถาวรภายในเขตพื้นที่ได้รับอนุญาต นอกจากนี้ คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมด้วยผู้แทนทัพเรือภาคที่ 3 เจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการ หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่งที่ 591 และเจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ภก.1 (ถลาง) กรมป่าไม้ ได้ร่วมกันลงพื้นที่ตรวจสอบในเบื้องต้น จำนวน 3 จุด พบอาคารสิ่งปลูกสร้างถาวร รวมจำนวน 12 หลัง โดยมีผู้ครอบครองและทำประโยชน์เป็นผู้นำชี้พิกัดที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และพื้นที่ใช้ประโยชน์ พร้อมนี้ คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้จัดทำพิกัด แนวเขตสิ่งปลูกสร้างและพื้นที่ใช้ประโยชน์แต่ละรายไว้เป็นหลักฐานแล้ว สำหรับสิ่งปลูกสร้างถาวรที่เหลือนั้น กรมสอบสวนคดีพิเศษ ทัพเรือภาคที่ 3 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้เข้าตรวจสอบเพิ่มเติมให้ครบถ้วน

ทั้งนี้ คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษจะได้รวบรวมข้อมูลพยานหลักฐาน เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top