Wednesday, 14 May 2025
THE STATES TIMES TEAM

แม่ฮ่องสอน - ผู้ว่าฯ ยืนยัน! คลัสเตอร์ รร.สบเมยวิทยาคม ควบคุมสถานการณ์ให้อยู่ในวงจำกัดได้แล้ว พบยอดผู้ป่วยลดลง วันนี้ 10 ราย

สถานการณ์โควิด -19  จ.แม่ฮ่องสอน ตรวจเชิงรุกต่อเนื่อง ทำให้วันนี้พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 10 ราย ทั้งหมดเข้าสู่กระบวนการรักษาเรียบร้อยแล้ว  นายสิธิชัย จินดาหลวง ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดแม่ฮ่องสอน เปิดเผยถึงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 ในกรระบาดระลอกใหม่เมษายน 2564 ของจังหวัดแม่ฮ่องสอนว่า ในวันนี้ มีผู้ได้รับการตรวจหาเชื้อโควิด ทั้งหมด 192 ราย พบเชื้อ 10 ราย เป็นผู้ป่วยในจังหวัดทั้งหมด โดยมีรายละเอียด ดังนี้  รายที่ 523 - 532 รวม 10 ราย เพศชาย 3 ราย เพศหญิง 7 ราย อยู่ใน อ.แม่สะเรียง 2 ราย อ.สบเมย 8 ราย โดยเป็นนักเรียน 6 ราย เจ้าหน้าที่ ตชด. 1 ราย และประชาชน 3 ราย ทั้งหมดเป็นผู้ป่วยที่มีความเชื่อมโยงของ คลัสเตอร์โรงเรียนสบมยวิทยาคม เข้ารับการกักกันตัวที่ศูนย์กักกันของโรงเรียนและชุมชน ส่งตรวจ RT-PCR ผลพบเชื้อ เข้ารับการรักษาที่ รพ.สบเมย 8 ราย และ รพ.แม่สะเรียง 2 ราย 

สำหรับผู้ป่วยที่เป็นเด็กนักเรียน หากประเมินแล้วไม่มีอาการป่วยรุนแรง จะส่งต่อเข้ารับการรักษาในศูนย์แยกกักโรคชุมชน (Community  Isolation : CI) โรงเรียนสบเมยวิทยาคมต่อไป ปัจจุบันพบผู้ป่วยยืนยันใน Cluster โรงเรียนสบเมยวิทยาคม จำนวนทั้งสิ้น 203 ราย

ส่วน สถานการณ์คลัสเตอร์โรงเรียนสบเมยวิทยาคม ตั้งแต่เริ่มสถานการณ์ที่พบการแพร่ระบาดจากการเปิดเรียน ในวันที่ 3 กันยายน 2564 จนถึงปัจจุบัน จากการที่ได้ดำเนินการประเมินความเสี่ยงจากจำนวนนักเรียนของโรงเรียนสบเมยวิทยาคม ทั้งหมด 796 คน แบ่งแยกเป็นกลุ่มที่อยู่ในหอพัก จำนวน 354 คน มาเรียนในวันที่ 3 กันยายน 2564 จำนวน 224 คน ไม่มาเรียน 130 คน  กลุ่มที่ไม่ได้อยู่ในหอพัก จำนวน 442 คน มาเรียนในวันที่ 3 กันยายน 2564 จำนวน 242 คน ไม่มาเรียน 200 คน สรุปกลุ่มที่ไม่ได้มาเรียนทั้งที่อยู่ในหอพักและไม่ได้อยู่ในหอพัก รวมทั้งหมด 330 คน กลุ่มนี้จึงเป็นกลุ่มที่ไม่มีประเด็น  ส่วนกลุ่มนักเรียนที่มาเรียนในวันที่ 3 กันยายน 2564 ทั้งหมด 466 คน ได้ดำเนินการตรวจซ้ำจนได้ผลเป็นที่แน่ชัดครบทุกราย ซึ่งมีผลยืนยันพบเป็นผู้ติดเชื้อรวม 49 ราย เข้าสู่รักษาตามระบบ แบ่งเป็นการรักษาอยู่ใน ศูนย์แยกกักโรคชุมชน (Community Isolation : CI) โรงเรียนสบเมยวิทยาคม 32 ราย และ รักษาในโรงพยาบาลสนาม 17 ราย ภาพรวมเด็กที่ติดเชื้อทั้ง 49 ราย เป็นผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สีเขียว มีอาการเล็กน้อย โดยจะครบกระบวนการรักษาในวันที่ 28 กันยายน 2564  ในกรณีครูและผู้บริหาร จำนวน 48 ราย ได้ตรวจซ้ำยืนยันครบทุกราย พบว่าเป็นผู้ติดเชื้อรวม 2 ราย เข้ากระบวนการรักษาใน ศูนย์แยกกักโรคชุมชน (Community Isolation : CI) โรงเรียนสบเมยวิทยาคม ไม่มีอาการรุนแรง

สำหรับกรณีประชาชนที่สัมผัสเสี่ยงสูงกับผู้ป่วยในคลัสเตอร์โรงเรียนสบเมยวิทยาคม มี 2 หมู่บ้านหลัก ได้แก่ บ้านแม่คะตวน และ บ้านแม่สวดใหม่ เจ้าหน้าที่ตรวจเชิงรุกไปแล้ว จำนวน 1,261 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 15 ก.ย. 64) พบผลยืนยันเป็นผู้ป่วยติดเชื้อจำนวน 139 ราย ได้เข้าสู่กระบวนการรักษาครบทุกราย โดยรวมเป็นผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สีเขียว มีอาการเล็กน้อย แต่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขยังคงปฏิบัติการออกตรวจเชิงรุกตรวจต่อเนื่องทุกวันให้ครอบคลุมมากที่สุด

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของคลัสเตอร์ รร.สบเมยวิทยาคม จนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลา 13 วัน ใกล้จะครบระยะฟักตัวตามที่กรมควบคุมโรคกำหนด นอกเหนือจากผู้ที่เข้ารับการตรวจยืนยัน ยังไม่มีนักเรียน หรือประชาชนที่แสดงอาการเข้าข่ายโควิดเพิ่มเติม  นอกจากนี้ การดำเนินการใน ศูนย์แยกกักโรคชุมชน (Community Isolation ;CI) โรงเรียนสบเมยวิทยาคม ได้เปิดรับนักเรียนจากโรงเรียนในพื้นที่ใกล้เคียง เช่น โรงเรียนบ้านแม่สวด จำนวน 15 ราย รวมถึงโรงเรียนอื่นๆ 2-3 แห่ง รวม 5 ราย มาดำเนินการรักษาเฝ้าระวังสังเกตอาการ ทางโรงเรียนได้จัดกิจกรรมเชิงบวกเพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้กับเด็ก ลดความเครียดและความกังวล

ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวเพิ่มเติมว่า ระยะเวลานี้ สามารถควบคุมสถานการณ์ให้อยู่ในวงจำกัดได้แล้ว ผู้ป่วยในคลัสเตอร์ทั้งหมด 188 ราย เข้าสู่ระบวนการรักษาอย่างครบถ้วน ทั้งนี้ จะมีการประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่องอีกครั้ง


ภาพ/ข่าว  สุกัลยา / ถาวร  อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน

ปทุมธานี - ฉีดวัคซีนเป็นอันดับ 2 ในกลุ่มพื้นที่สีแดงเข้ม สสจ.ขอบคุณทุกภาคส่วนช่วยผ่านวิกฤตโควิด-19 ไปด้วยกัน

เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2564 ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี ตำบลบางปรอก อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี นายแพทย์สุรินทร์ สืบซึ้ง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี ได้เปิดเผยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19ภายในจังหวัดปทุมธานี มีผู้ติดเชื้อลดลงเนื่องจากประชาชนตระหนักรู้ในการป้องกันตนเอง และทุกภาคส่วนร่วมมือช่วยเหลือกันฝ่าวิกฤติโควิด-19 มีประชาชนชาวปทุมธานีได้รับการฉีดวัคซีนแล้วกว่า 910,000 คน คิดเป็น 78 เปอร์เซ็นต์ตามทะเบียนราษฎร์ เป็นอันดับ 2 รองจากกรุงเทพ ซึ่งเป็นจังหวัดในกลุ่มพื้นที่สีแดงเข้มพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด

นายแพทย์สุรินทร์ สืบซึ้ง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19ภายในจังหวัดปทุมธานีนั้นตามสถิติจังหวัดปทุมธานีไม่ติด 1 ใน 10 ของประเทศหลายอาทิตย์แล้ว จากการประเมินการติดเชื้อภายในจังหวัดปทุมธานีอยู่ในระดับทรงตัว มีแนวโน้มที่จะลดลง วันนี้เราได้ร่วมมือกับท้องถิ่นและกับทุกภาคส่วนในการดำเนินการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ในช่วงนี้ถือว่าเป็นจุดสูงสุดของสถานบริการการการแพทย์ภายในจังหวัดปทุมธานี ทั้งโรงพยาบาลภาครัฐ เอกชนสามารถดำเนินการได้อย่างครอบคลุมมาก ในภาคเอกชนได้เปิดโรงพยาบาลรวมแล้วหลาย 1,000 เตียง สามารถรองรับผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี โรงพยาบาลสนามก็ร่วมมือร่วมใจกัน ทั้งภาครัฐ เอกชน และท้องถิ่น ช่วยเหลือกับทำโรงพยาบาลสนามเพื่อรองรับผู้ป่วย ทำให้มีจำนวนเตียงสามารถดำเนินการรับผู้ป่วยได้ ศูนย์พักคอย หรือ Community Isolation ทางท้องถิ่นได้เปิดดำเนินการเกือบทุกที่ สามารถดำเนินการได้เป็นอย่างดี

ส่วนการกักตัวเองและดูแลที่บ้าน Home Isolation ประชาชนมีความเข้าใจมากขึ้นในการที่จะดูแลตัวเองที่บ้าน ร่วมกับทุกภาคส่วนในการช่วยเหลือสนับสนุน สอดคล้องกับจำนวนผู้ป่วยที่มีจำนวนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ถึงแม้จำนวนผู้ป่วยจะลดลงแล้ว แต่เรายังต้องมีการสุ่มตรวจ  Active surveillance เฝ้าระวังเชิกรุกในจุดสำคัญทั้งหมดว่ายังมีผู้ติดเชื้อในระดับอย่างไรบ้าง เช่น ตลาด แคมป์คนงานก่อสร้าง โรงงานอุตสาหกรรม และชุมชนแออัด ผมได้มอบนโยบาลให้ทุกอำเภอลงพื้นที่สุ่มตรวจอย่างน้อย 10 เปอร์เซ็นต์ เพื่อประเมินสถานการณ์ในภาพรวมของจังหวัดปทุมธานี ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญที่จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงเนื่องจากประชาชนมีการดูแลตัวเองเป็นอย่างดี

นอกจากนี้จังหวัดปทุมธานียังมีการฉีดวัคซีนที่ครอบคลุมมาก เบื้องต้นมีประชาชนชาวปทุมธานีได้รับการฉีดเข็มแรกไปแล้ว 910,000 คน เมื่อฉีดเข็มแรกหนึ่งไปแล้วการนัดฉีดเข็มสองจะตามมาเอง หากคำนวณตามจำนวนประชากรตามทะเบียนราษฎร์ก็ได้รับการฉีดวัคซีนไปจำนวน 78  เปอร์เซ็นต์แล้ว หากรวมประชากรแฝงด้วยจังหวัดปทุมธานีได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว 65 เปอร์เซ็นต์ คาดว่าจะไม่ไกลเกินเอื้อมจะให้ได้ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ตามเป้าหมาย ส่วนกลุ่มที่สำคัญคือกลุ่มผู้สูงอายุได้ 72 เปอร์เซ็นต์ ส่วน 7 กลุ่มโรคได้รับการฉีดเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว และกลุ่มคนท้องได้ 50-60 เปอร์เซ็นต์แล้ว ถือว่าปทุมธานีฉีดวัคซีนมากสุดเป็นอันดับ 2 รองจากกรุงเทพ ซึ่งเป็นจังหวัดในกลุ่มพื้นที่สีแดงเข้มพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ซึ่งปัจจัยที่ผู้ป่วยภาพร่มลดลงคือการฉีดวัคซีน เราจึงต้องรณรงค์ต้องไป และคงจุดฉีดวัคซีนทุกโรงพยาบาลในจังหวัดปทุมธานี ประกอบด้วย โรงพยาบาลภาครัฐ 11 แห่ง โรงพยาบาลเอกชน 12 แห่ง ประชาชนสามารถเข้าถึงทุกอำเภอ และมีศูนย์ฉีดวัคซีนใหญ่อีก 2 แห่ง คือ ฟิวเจอร์พาร์ครังสิตเป็นการฉีดวัคซีนขององค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี และเซียร์รังสิต ของประกันสังคม เมื่อได้รับวัคซีนแล้วในอนาคตโอกาสติดเชื้อจะน้อยลง ถึงติดเชื้อก็ไม่รุนแรง ลดการเสียชีวิต ขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ช่วยเหลือให้ปทุมธานีผ่านวิกฤตสถานการณ์โควิดนี้ไปด้วยกัน


ภาพ/ข่าว  ประภาพรรณ ขาวขำ / รายงาน

แม่ฮ่องสอน - อบจ.แม่ฮ่องสอน ไม่ทอดทิ้ง! เดินสายเตรียมส่งมอบวัสดุ-อุปกรณ์ ให้ศูนย์แยกกักผู้ป่วยในชุมชน โรงเรียนสบเมยวิทยาคม

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)   ในพื้นที่อำเภอสบเมย  จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งมีผู้ติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)เป็นจำนวนมากโดยเฉพาะคลัสเตอร์ในโรงเรียนสบเมยวิทยาคม ตามสถิติการแพร่ระบาดตั้งแต่ วันที่ 3 กันยายน 2564 เป็นต้นมา พบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)  จำนวน 177 ราย และนักเรียนสัมผัสผู้ติดเชื้อที่มีความเสี่ยงสูงอีกจำนวนมาก 

ซึ่งในปัจจุบันยังคงต้องเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด และคาดว่ามีแนวโน้มที่จะติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มขึ้นตามลำดับ ประกอบกับได้มีมติจาก ศบค.จังหวัดแม่ฮ่องสอน ให้โรงเรียนสบเมยวิทยาคมเป็นศูนย์แยกกักผู้ป่วยในชุมชน (Community Isolation) จำนวน 100 เตียง เพื่อเป็นสถานที่กักกันผู้ป่วยที่เป็นนักเรียนโรงเรียนสบเมยวิทยาคมและนักเรียนในโรงเรียนพื้นที่ใกล้เคียงที่ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และเพื่อเป็นถานที่กักตัวสำหรับเด็กนักเรียนที่สัมผัสผู้ติดเชื้อและมีความเสี่ยงสูง ซึ่งเป็นนักเรียนพักนอนในโรงเรียนสบเมยวิทยาคมที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล แต่ทางโรงเรียนยังขาดแคลนวัสดุอุปกรณ์ที่มีความจำเป็นในการจัดตั้งศูนย์แยกกักผู้ป่วยในชุมชน ดังกล่าว

องค์การบริหารส่วนจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยนายอัครเดช วันไชยธนวงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดแม่ฮ่องสอน จึงได้มอบหมายให้สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดแม่ฮ่องสอน พื้นที่อำเภอสบเมย นายพงษ์เพชร จันทร์อ้าย , นายธนากร พรมเลิศ และนายนิคม เปล่งฉวีวรรณ เลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นตัวแทนส่งมอบวัสดุ อุปกรณ์ มูลค่า 241,500 บาท ให้กับศูนย์แยกกักผู้ป่วยในชุมชน โรงเรียนสบเมยวิทยาคม ในวันศุกร์ ที่ 17 กันยายน 2564 เวลา 13.00 น. ณ โรงเรียนสบเมยวิทยาคม ตำบลแม่คะตวน อำเภอสบเมย

โดยวัสดุ อุปกรณ์ที่จะส่งมอบประกอบด้วย ชุดเครื่องนอน (ประกอบด้วย ที่นอน 3.5 ฟุต  ผ้าปูที่นอน หมอน ปลอกหมอน ผ้าห่ม) จำนวน 100 ชุด ชุดของใช้ที่จำเป็น (ประกอบด้วย สบู่  แชมพู ยาสีฟัน  แปรงฟัน  ผงซักฟอก) จำนวน 300 ชุด รวมมูลค่า 241,500 บาท 


ภาพ/ข่าว  สุกัลยา / ถาวร อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน

ชลบุรี - คกก.สว.พบประชาชน ส่งมอบวัสดุอุปกรณ์การแพทย์ - รพ.สนาม พร้อมสรุปสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่

คณะกรรมการสมาชิกวุฒิสภา พบประชาชนในพื้นที่จังหวัดภาคตะวันออก มอบวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาลสนาม ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี พร้อมประชุมรับฟังการสรุปสถานการณ์ในพื้นที่ (ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์)

วันที่ 16 กันยายน 2564 ที่ศาลากลางจังหวัดชลบุรี วุฒิสภา โดย คณะกรรมการโครงการสมาชิกวุฒิสภา พบประชาชนในพื้นที่จังหวัดภาคตะวันออก ส่งมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์ และสิ่งของจำเป็นเร่งด่วน เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของโรงพยาบาลสนาม ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี โดยมี พลเอก วรพงษ์  สง่าเนตร รองประธานกรรมการ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน (ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์) พร้อมด้วยสมาชิกวุฒิสภา ในคณะกรรมการโครงการฯ เข้าร่วมพิธี และร่วมประชุมหารือกับรองผู้ว่าราชการจังหวัด และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง (ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์) ณ ห้องประชุม 416-417 อาคารรัฐสภา (ฝั่งวุฒิสภา) กรุงเทพฯ

พร้อมกันนี้ นายชาญวิทย์  ผลชีวิน และนางสาววิไลลักษณ์  อรินทมะพงษ์ สมาชิกวุฒิสภา ที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี เป็นผู้แทนส่งมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์และสิ่งของจำเป็น ให้กับนายวิวัฒน์ มหาผลศิริกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี พร้อมผู้บริหารโรงพยาบาลชลบุรี เป็นผู้แทนรับมอบ เพื่อนำไปให้โรงพยาบาลสนาม ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี โอกาสนี้ สมาชิกวุฒิสภา ยังมอบเงินสนับสนุนจากคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา จำนวน 75,000 บาท เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของโรงพยาบาลสนามในจังหวัดชลบุรี โดยมี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจังหวัดชลบุรี เป็นผู้รับมอบในครั้งนี้

สำหรับการดำเนินการจัดหาวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ และสิ่งของจำเป็นเร่งด่วน เพื่อมอบให้กับโรงพยาบาลสนามในพื้นที่จังหวัดภาคตะวันออก สืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังทวีความรุนแรงและมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากในทุกวัน และขณะนี้มีการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามกระจายในหลายจังหวัด เพื่อให้การดูแลพี่น้องประชาชน กระจายอยู่ในทุกจังหวัด ด้วยความห่วงใยในสถานการณ์และผลกระทบที่เกิดขึ้นดังกล่าว

นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ยังได้มีการประชุมหารือกับรองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง (ผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์) เพื่อรับทราบข้อมูลในประเด็นปัญหาเร่งด่วนของจังหวัดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และความคืบหน้าของโครงการต่าง ๆ ตามยุทธศาสตร์ชาติ และแผนปฏิรูปประเทศที่เป็นรูปธรรมและส่งผลกระทบต่อประชาชน

คณะกรรมการฯ ขอส่งกำลังใจและความห่วงใยไปถึงบุคลากรทางการแพทย์ ในการปฏิบัติหน้าที่ด่านหน้า และประชาชนคนไทยทุกคน เราทุกคนจะร่วมมือกันฝ่าฟัน และผ่านวิกฤตจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ครั้งนี้ไปด้วยกัน


ภาพ/ข่าว  นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี ก012 ชลบุรี

จันทบุรี- เร่งฉีดวัคซีนเชิงรุก! แก่ประชาชน กลุ่ม 608 และประชาชนทั่วไปอายุ 18 – 59 ปี โดยผู้ว่าฯ ได้เดินทางเข้าตรวจเยี่ยมให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ และอสม.

วันนี้ (16 ก.ย.64) ที่วันวันยาวบน อ.ขลุง จ.จันทบุรี สาธารณสุขจังหวัด ร่วมกับ โรงพยาบาลขลุง และเทศบาลตำบลวันยาวได้ออกให้บริการฉีดวัคซีนแก่ประชาชนกลุ่ม 608 ที่ประสงค์รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยนายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรีได้เดินทางเข้าตรวจเยี่ยมให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ และ อสม.อำเภอขลุงที่ออกให้บริการฉีดวัคซีน แก่ประชาชนกลุ่ม 608 ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วยกลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ รวมทั้งประชาชนทั่วไปอายุ 18 ถึง 59 ที่ประสงค์เข้ารับวัคซีนและได้ลงทะเบียนจองคิวไว้ที่โรงพยาบาลขลุง และ เทศบาลตำบลวันยาว เป็นการฉีดแบบไขว้

ครั้งนี้เป็นเข็มแรก ชิโนแวค มีกลุ่มเป้าหมายประชาชนในเขตเทศบาลตำบลวันยาวจำนวน 300 คน ทั้งนี้จังหวัดจันทบุรีได้เร่งฉีดวัคซีนเชิงรุก ตามนโยบายของรัฐบาลโดยกระจายการฉีดวัคซีนเชิงรุกครอบคลุมทั้ง 10 อำเภอ ปัจจุบันจังหวัดจันทบุรีมีการฉีดวัคซีนไปแล้วรวม 270,789 โดสแยกเป็นเข็มแรก 163,597 โดส เข็มที่สอง จำนวน 98,074 และ เข็ม 3 บูสเตอร์โดสจำนวน 9,118 โดส  ซึ่งการฉีดวัคซีนในช่วงกลางเดือนกันยายน และตุลาคมจันทบุรีจะมีเป้าหมายและได้รับการจัดสรรวัคซีนเพิ่มมากขึ้น


ภาพ/ข่าว จรัล บรรยงคเสนา จ.จันทบุรี / พรเทพ เขม้นเขตวิทย์ รายงานจากศูนย์ข่าวภาคตะวันออก

เพชรบูรณ์ - มณฑลทหารบกที่ 36 นำกำลังพลหน่วยฝึกทหารใหม่บริจาคโลหิต เพื่อช่วยเหลือการขาดแคลนโลหิตสำรอง ห้วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรน่า 2019

ณ อาคารอเนกประสงค์ มณฑลทหารบกที่ 36 ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 36 พร้อมคณะ เดินทางตรวจเยี่ยมให้กำลังใจกำลังพลหน่วยฝึกทหารใหม่ ที่มาร่วมบริจาคโลหิต ภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจการฝึกทหารใหม่และปัจจุบันอยู่ในห้วงการฝึกทหารใหม่เฉพาะหน้าที่ เพื่อช่วยเหลือในการขาดแคลนโลหิตสำรอง ห้วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019

โดยมี ครูฝึก และทหารใหม่ ผลัดที่ 1 / 64 ของหน่วยฝึกทหารใหม่ มณฑลทหารบกที่ 36 และหน่วยฝึกทหารใหม่กองพันทหารสื่อสารที่ 11 รวม 106 นาย ปริมาณโลหิต 42,400 cc

ในการนี้โรงพยาบาลเพชรบูรณ์ และเหล่ากาชาดจังหวัดเพชรบูรณ์เป็นหน่วยมารับบริจาคโลหิต


ภาพ/ข่าว  ราเมธ บงแก้ว / มนสิชา คล้ายแก้ว

ลำปาง - มทบ.32 ตรวจเยี่ยมช้างสำคัญและช้างต้น ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีนารีรัตนราชกัญญา จำนวน 11 ช้าง

"ในนามคณะกรรมการฝ่ายอำนวยการดูแลช้างสำคัญ ขอตั้งใจมั่นปฏิบัติหน้าที่ ด้วยความจงรักภักดีตลอดไป” ตามที่จังหวัดลำปางมีคำสั่งเรื่องมอบหมายให้คณะกรรมการฝ่ายอำนวยการดูแลช้างสำคัญ ตรวจเยี่ยมช้างสำคัญและช้างต้น ช้างในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีและช้างในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีนารีรัตนราชกัญญา จำนวน 11 ช้าง เป็นไปด้วยความเรียบร้อย สมพระเกียรติ และเป็นการถวายความจงรักภักดี

เมื่อ 16 กันยายน 2564 เวลา 09.30 น. พลตรีอโณทัย ชัยมงคล ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 32 พร้อมด้วยนายทศพล  จักรบุญมา จ่าจังหวัดลำปาง ผู้แทนคณะกรรมการฝ่ายอำนวยการในแผนการตรวจเยี่ยมที่จังหวัดลำปางกำหนด ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมช้างสำคัญฯ ณ สถาบันคชบาลแห่งชาติ อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง

โดยมี นายนเรศวร์ฤทธิ์ อุบลศรี นายอำเภอห้างฉัตร, นายสุรัตน์ชัย อินทร์วิเศษ ผู้อำนวยการสำนักสถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ , นายสัตวแพทย์ศรัณย์  จันทร์สิทธิเวช ผู้จัดการส่วนอนุรักษ์ช้างลำปาง, นายมนต์ชัย  หาญพงษ์พันธ์ ผู้อำนวยการส่วนทรัพยากรธรรมชาติ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดลำปาง และนายอภินันท์ ทรัพย์มาก หัวหน้าควาญช้างหลวง ร่วมในการตรวจเยี่ยมฯ ซึ่งการตรวจเยี่ยมช้างสำคัญในวันนี้เป็นการติดตามการตรวจร่างกาย/สุขภาพของช้าง

โดยจะดำเนินการทุกวันที่ 16 ของเดือน ช้างทุกช้างมีสุขภาพอนามัยที่แข็งแรง ในการนี้  ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 32 และคณะ ได้ร่วมลงนามในบันทึกการตรวจเยี่ยมฯ เพื่อให้จังหวัดลำปาง รายงานสำนักพระราชวังต่อไป


ภาพ/ข่าว  ภาวินันท์ บุตรหล้า รายงาน

ประจวบคีรีขันธ์ - ศรชล.ภาค 1 - ทรภ.1 นำอาหารจากเรือรบ ส่งมอบผู้ใกล้ชิดและผู้ติดเชื้อโควิด-19

วันที่ 16 ก.ย.64  ศรชล.ภาค 1 โดย น.อ.ไกรพิชญ์ กรวีร์ปภาวิทย์ หน.ศูนย์ควบคุมความมั่นคงท่าเรือ (PSCC) จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ร.อ.มานะ พิมพ์งาม เจ้าหน้าที่ ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ร.ท.กุลเชษฐ์ สืบศิริ ผู้ควบคุมเรือ ต.261 ทัพเรือภาคที่ 1 ร.ต.ต. บัลลังก์ บุญพิทักษ์โยธิน รองสารวัตร สถานีตำรวจน้ำ

6 กองกำกับการ 4 กองบังคับการตำรวจน้ำ พร้อมกำลังพลในสังกัดได้ร่วมกันมอบ อาหารกล่องพร้อมน้ำดื่มจำนวน 100 ชุด ให้กับ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลปากน้ำปราณ เพื่อนำไปส่งมอบให้กับผู้ติดเชื้อและผู้ใกล้ชิดกลุ่มเสี่ยงเฝ้าระวัง ที่กักตัวอยู่ภายในเรือ ภายในบ้านเรือน หรือโรงพยาบาลสนามในพื้นที่ ต.ปากน้ำปราณ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งมีมากกว่า 100 คนในปัจจุบัน เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อน และแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย ในสถานการณ์ COVID 19

สำหรับอาหารกล่อง ที่นำมามอบส่งมอบกำลังใจทางทะเล เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนและแบ่งเบาภาระของบุคลากรทางการแพทย์  โดยใช้ห้องครัวเรือ ต.261 ประกอบอาหาร เพื่อมอบให้กับบุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาล และเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่ปฏิบัติหน้าที่ ผู้ติดเชื้อ และผู้ใกล้ชิดกลุ่มเสี่ยงเฝ้าระวังที่กักตัวอยู่ภายในเรือ หรือบ้านเรือน หรือโรงพยาบาลสนาม ในพื้นที่ ต.ปากน้ำปราณ ในสถานการณ์ COVID 19  ตามแนวคิด From The Sea ของ พล.ร.ท.โกวิท อินทร์พรหม ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 (ผบ.ทรภ.1) / ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ภาค 1( ศรชล.ภาค 1) ตามนโยบายของผู้บัญชาการทหารเรือในโครงการ “กองทัพเรือ เพื่อประชาชน ร่วมใจต้านภัย COVID-19” โดย เรือ ต.261 เป็นเรือหลวง สังกัดทัพเรือภาคที่ 1 ที่มีแผนการลาดตระเวนทางทะเลในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จึงได้ นำความห่วงใย จากทัพเรือภาคที่ 1 และกองทัพเรือ สู่ประชาชนในครั้งนี้


ภาพ/ข่าว สนง.ศรชล.ภาค 1 / นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี รายงาน

‘หม่อมเจ้าอุทัยกัญญา ภาณุพันธุ์’ ทรงกรุณาประทานยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจร แด่เรือนจำกลางลพบุรี จำนวน 100,000 เม็ด

หม่อมเจ้าอุทัยกัญญา ภาณุพันธุ์ ทรงกรุณาให้ นางสาวชญาณิศา ฐาณิชณาณัณ กรรมการผู้จัดการบริษัท เดอะไบบูรี่ พร๊อพเพอร์ตี้ จำกัด อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นำเชิญยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจรประทาน ให้ ผู้บัญชาการเรือนจำกลางลพบุรี เพื่อใช้ช่วยเหลือบรรเทาภัยเบื้องต้นในสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโคโรน่าไวรัส (โควิด-19) ที่กำลังแพร่ะบาดในเรือนจำ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือแก่เจ้าหน้าที่ในเรือนจำ ผู้ต้องขังในเรือนจำกลาง และเรือนจำในเครือข่าย โดยมี นายชีวานนท์ พรรัตน์ธนิกกุล ผู้ช่วยเลขานุการในองค์หม่อมเจ้าอุทัยกัญญา ภาณุพันธุ์ เป็นผู้อ่านหมายหนังสือประทานยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจร ด้วยสำนึกในพระกรุณาธิคุณ ที่ทรงห่วงใยพสกนิกรทุกหมู่เหล่า

นายยุทธพงษ์ เอี้ยงอ้าย เลขานุการในองค์หม่อมเจ้าอุทัยกัญญา ภาณุพันธุ์ ได้ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวว่า โดยแต่เดิม หม่อมเจ้าอุทัยกัญญา ภาณุพันธุ์ ทรงมีความห่วงใยต่อพสกนิกรทุกหมู่เหล่าเสมอมา ทรงจัดหาสิ่งของต่าง ๆ ที่พอจะช่วยเหลือ บรรเทาภัย และเพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่เจ้าหน้า และผู้ประสบภัยจากโรคระบาด โควิด-19 มาโดยตลอด ซึ่งตลอดช่วงเวลา 2 ปี ของการแพร่เชื้อโรคระบาดนี้ พระองค์ท่านมีรับสั่งให้คณะทำงานในส่วนพระองค์ แบ่งสายงานหาทางให้ความช่วยเหลือประชาชนทั้งในเขตกรุงเทพมหานคร และเขตปริมณฑล รวมทั้งต่างจังหวัดมาโดยตลอด

ต่อมาครั้งนี้ ทรงมีดำริถึงเรือนจำว่าน่าจะให้ความช่วยเหลือในเรื่องยาสมุนไพรไทย ฟ้าทะลายโจร ที่สามารถช่วยเหลือ รักษาอาการป่วยได้พอสมควร ทรงตรัสว่า “ควรหายาไปให้พวกเขานะ คนข้างนอกป่วยยังพอไปคลีนิค โรงพยาบาล ร้านขายยา รักษาอาการป่วยได้ แต่พวกเขาข้างในนั้น ไม่สามารถหายามารับประทานได้ หรือหากยาหมดก็ต้องรองบประมาณจากส่วนกลางส่งมา ซึ่งอาจใช้เวลานานไม่มากก็น้อย พวกเราควรหายาสมุนไพรที่กำลังเป็นที่นิยมแบ่งให้เจ้าหน้าที่เก็บไว้ เผื่อจะได้ใช้รักษาตนเองด้วย เพื่อความปลอดภัยของทุกคน” นับเป็นพระกรุณาธิคุณอย่างยิ่ง ที่พระองค์ท่านทรงมีความห่วงใยต่อพสกนิกรทุกหมู่เหล่า แม้จะทรงมีพระชันษามาก แต่ก็ยังทรงห่วงใยประชาชนชาวไทยตลอด…ทรงพระเจริญ

สตูล - มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ส่งมอบหน้ากากอนามัยให้ประชาชน จังหวัดสตูล 144,000 ชิ้น

วันนี้ 16 กันยายน 2564 ที่ อาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ศาลากลางจังหวัดสตูล นายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ในฐานะประธานกรรมการมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ประจำจังหวัดสตูล เป็นประธานในพิธีมอบสิ่งของพระราชทาน หน้ากากอนามัย โดยมีนาวาตรีหญิงโนสมา หลีเส็น นายกเหล่ากาชาดจังหวัดสตูล ปลัดจังหวัดสตูล หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสตูล นายอำเภอทั้ง 7 อำเภอ และหัวหน้าส่วนราชการเข้าร่วมพิธีฯ

โดยมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดส่งสิ่งของพระราชทานหน้ากากอนามัย เพื่อให้ประชาชนที่มีฐานะยากจนและขาดแคลนในพื้นที่จังหวัดสตูล จำนวน 2,880 กล่อง กล่องละ 50 ชิ้น รวมเป็นจำนวน 144,000 ชิ้น ให้กับนายอำเภอทั้ง 7 อำเภอ อำเภอละ 288 กล่อง สำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดสตูล 288 กล่อง และสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสตูล 288 กล่อง เพื่อนำไปส่งมอบต่อให้กับประชาชนในพื้นที่ใช้ในการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19

ทั้งนี้ กรรมการมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ประจำจังหวัด นายอำเภอทุกอำเภอ หัวหน้าส่วนราชการ รวมถึงประชาชนชาวจังหวัดสตูล ต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว "พระบรมราชูปถัมภ์" แห่งมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ อย่างหาที่สุดมิได้ ที่พระองค์ ทรงห่วงใยทุกข์ยากของประชาชนชาวจังหวัดสตูล และเป็นขวัญกำลังใจให้ประชาชน สามารถผ่านความทุกข์ยากเดือดร้อนในเบื้องต้นต่อไปได้


ภาพ/ข่าว  นิตยา แสงมณี / ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดสตูล


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top