Wednesday, 7 May 2025
THE STATES TIMES TEAM

‘รมว.สุชาติ’ มอบ ‘ปลัดแรงงาน ร่วมคณะ พล.อ.ประวิตร’ ให้กำลังใจอาสาสมัครแรงงาน และมอบสุขาลอยน้ำแก่ผู้ประสบอุทกภัย จ.ขอนแก่น

เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่ตรวจราชการจังหวัดขอนแก่น โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อรับฟังรายงานสถานการณ์น้ำในพื้นที่จากนายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จุดแรกที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดขอนแก่น ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จุดที่สองที่วัดโพธิบัลลังก์ บ้านดอนแดง ตำบลดอนหัน อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น เพื่อพบปะผู้นำชุมชนและมอบถุงยังชีพจำนวน 300 ชุด พร้อมมอบสุขาลอยน้ำของกระทรวงแรงงานให้แก่ผู้ประสบอุทกภัยจำนวน 5 หลัง

โดยมี นายประทีป ทรงลำยอง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน พร้อมทั้งอาสาสมัครแรงงาน (อสร.) จังหวัดขอนแก่นมาร่วมต้อนรับ และนำน้ำดื่มมามอบให้ผู้ประสบภัยในพื้นที่ด้วย ซึ่ง พล.อ.ประวิตร ได้ให้กำลังใจแก่อาสาสมัครแรงงานจังหวัดขอนแก่นที่มาร่วมต้อนรับและมาช่วยเหลือผู้ประสบภัย ซึ่งอาสาสมัครแรงงานมีภารกิจในการประสานการให้บริการด้านแรงงานในพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนมีงานทำ มีทักษะฝีมือ มีอาชีพมีรายได้ ได้รับคุ้มครองและมีหลักประกันทางสังคมที่ยั่งยืนอีกด้วย ปัจจุบันมีอาสาสมัครแรงงานทั่วประเทศรวมทั้งสิ้น 8,110 คน จุดที่สามที่วัดบ้านเทพบูรณาราม บ้านหนองบัวดีหมี หมู่ที่ 20 ตำบลท่าพระ อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น เพื่อพบปะผู้นำชุมชนและมอบถุงยังชีพให้ผู้ประสบภัย จำนวน 300 ชุด

นายบุญชอบ กล่าวว่า การลงพื้นที่ในวันนี้ผมได้รับมอบหมายจากท่าน รมว.แรงงาน กำชับให้ส่วนราชการสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดขอนแก่นได้บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งฟื้นฟูเยียวยาภายหลังน้ำลดตามภารกิจของแต่ละหน่วยงาน สำนักงานจัดหางานจังหวัดบริการจัดหางานและส่งเสริมการประกอบอาชีพ สำนักงานแรงงานจังหวัดจัดโครงการจ้างงานเร่งด่วนและพัฒนาทักษะฝีมือ โดยสนับสนุนค่าตอบแทนรวมถึงวัสดุอุปกรณ์ฝึกอาชีพ เพื่อให้ประชาชนมีรายได้อย่างต่อเนื่อง สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดจะให้คำปรึกษาด้านสิทธิตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน นอกจากนี้สำนักงานประกันสังคมจังหวัดดูแลสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ประสบภัย เรื่องสิทธิประกันสังคม จัดทีมแพทย์และพยาบาลร่วมกับโรงพยาบาลในเครือข่ายให้บริการตรวจรักษาเบื้องต้นในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ เป็นต้น

 

“สำนักงานตำรวจแห่งชาติ” จัดพิธีบำเพ็ญกุศลถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศรฯ เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ

เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ในวันพุธ ที่ 13 ต.ค. 2564 เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ สำหรับในปี 2564 หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และพสกนิกรชาวไทย ร่วมกันจัดพิธีบำเพ็ญกุศลถวายเป็นพระราชกุศลพร้อมกันทั่วประเทศ

พลตำรวจเอก สุวัฒน์  แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กำหนดให้มีการจัดพิธีบำเพ็ญกุศลถวายเป็นพระราชกุศล และพิธีวางพวงมาลา เนื่องในโอกาสวันครบรอบวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ในวันพุธ ที่ 13 ต.ค. 64 ทั้งนี้ตั้งแต่เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป  ณ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยมีคณะผู้บังคับบัญชาระดับสูงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และข้าราชการตำรวจเข้าร่วมพิธี

“ม่องหมดแล้วพวกในวัง”

“ม่องหมดแล้วพวกในวัง”

คือข้อความที่มีคนหวังร้ายไปกระซิบบอกผู้แทนนิสิตนักศึกษาข้างนอกด้วยข้อมูลที่บิดเบือนเพื่อแหกตาและปลุกปั้นมวลชน

การสร้างข่าวเท็จ บิดเบือนข้อเท็จจริงมีทุกยุคทุกสมัย การบิดเบือนให้ร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์มิได้เพิ่งเริ่มมีในยุคสามกีบนี้ แต่มีมาตั้งแต่เหตุการณ์นองเลือดเดือนตุลาแล้ว

เหตุการณ์นักศึกษาจำนวนมากหนีตายเข้าวังสวนจิตฯ ถูกนำมาเป็นเครื่องมือทางการเมืองทั้งในเหตุการณ์เดือนตุลา และนำมาแหกตาซ้ำกับพวกสามกีบในปัจจุบัน เพื่อสร้างความจงเกลียดจงชังสถาบันพระมหากษัตริย์ซ้ำอีก

ทั้งที่ความจริงคือในหลวงรัชกาลที่ 9 รับสั่งให้เปิดประตูวังเพื่อช่วยเหลือนักศึกษาให้พ้นภัย แต่ผู้ไม่หวังดีใช้โอกาสที่นักศึกษาหนีหายเข้าไปในวังนี้ ปล่อยข่าวเท็จว่า ในหลวงสั่งให้ฆ่านักศึกษานั้นทั้งหมด

พล.ต.อ.วสิษฐ คือหนึ่งในบุคคลที่เชื่อกันว่าเป็นผู้กุมความลับของเหตุการณ์ 14 ตุลา และนี่คือคำต่อคำจากปากของ พล.ต.อ. วสิษฐ ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในช่วงเวลานั้น

พล.ต.อ. วสิษฐ เดชกุญชร ซึ่งในเวลานั้นทำหน้าที่สำคัญในการติดต่อประสานเจรจากับผู้นำนิสิตนักศึกษา และเป็นผู้อัญเชิญพระบรมราโชวาทของในหลวงรัชกาลที่ 9 ไปอ่านต่อผู้ชุมนุมในเวลา 5.30 น. ของวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516

มีคนไปกระซิบบอกผู้แทนนิสิตนักศึกษาข้างนอกว่า “ม่องหมดแล้วพวกในวัง” นิสิตที่อยู่ข้างนอกที่มีคนมากระซิบว่าเขาจัดการคน (นิสิตนักศึกษา) ในวังหมดแล้วคือ คุณพีรพล ตริยะเกษม เพราะข่าวนี้เองทำให้คนที่ชุมนุมกันอยู่ที่ลานพระบรมรูปทรงม้าเคลื่อนมาที่หน้าประตูพระวรุณอยู่เจนที่สวนจิตรลดา เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่คนจำนวนแสนมาชุมนุมกันอยู่ที่หน้าวัง

พอเป็นอย่างนั้นผมก็ขอร้องพวกที่อยู่ในวังที่พูดกันรู้เรื่องแล้วให้ไปเจรจากับคนที่อยู่ข้างนอกหน่อยว่าบัดนี้อะไร ๆ ก็เรียบร้อยหมดแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชกระแสรับสั่งลงมาว่ารัฐบาลยอมปล่อยผู้ต้องหาทั้ง 13 คนแล้ว แล้วก็ปล่อยตัวแล้ว 

นอกจากจะปล่อยแล้วยังมีข้อตกลงระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับผู้แทนนักศึกษาในวังเป็นลายลักษณ์อักษร และจะขอพระราชทานรัฐธรรมนูญใหม่ภายใน 20 เดือน แทนที่จะเป็น 3 ปีตามที่รัฐบาลเคยบอก

เมื่อขอร้องให้ผู้แทนนิสิตไปชี้แจง ผู้แทนนิสิตบอกว่าเดี๋ยวเขาไม่เชื่อ อยากได้คนในวังไปด้วย ตอนนั้นคนในวังที่เป็นผู้ใหญ่มี 3 คน คนหนึ่งคือหม่อมราชวงศ์ทองน้อย ทองใหญ่ อีกคนคือพันเอก เทียนชัย จั่นมุกดา (ยศในเวลานั้น) แล้วก็มีผม

เราก็ถามว่ามี 3 คน เลือกเอาว่าจะเอาใครไป…คุณเสกสรรค์ชี้ว่าเอาพี่ ก็คือผม ที่เอาผมก็เพราะผมเคยเป็นนิสิตจุฬาฯ และผมเขียนหนังสือขาย เป็นดาราทีวีด้วย เขาขอให้ผมไป ผมก็ยอม

เวทีที่ใช้ปราศรัยหน้าวังเป็นรถสองแถวคันไม่ใหญ่นัก ใช้หลังคาเป็นที่ยืนพูด ผมก็ปีนขึ้นไปบนหลังคารถ พูดผ่านเครื่องขยายเสียง ผมก็อัญเชิญพระราชดำรัสของพระเจ้าอยู่หัวที่สำนักพระราชวังเขาบันทึกไว้ แล้วขึ้นไปอ่านให้ที่ชุมนุมฟัง

ผมก็ขึ้นไปอ่านพระราชดำรัสของพระเจ้าอยู่หัว รายละเอียดเรื่องทั้งหมดอยู่ในหนังสือชื่อ เหตุเกิดในกรุงรัตนโกสินทร์ พิมพ์ครั้งแรกใน พ.ศ. 2516

ผมก็อ่านสำเนาพระราชดำรัสและแถมท้ายว่า เมื่อพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งแบบนี้ เหตุการณ์ยุติลงแล้ว ผมเห็นว่าพวกเราสมควรยุติการชุมนุมและกลับบ้านกันได้ ผมบอกว่าพระเจ้าอยู่หัวของท่านทั้งหลายไม่ได้บรรทมมา 7 วัน 7 คืนแล้ว เพราะเป็นห่วง รอฟังสถานการณ์บ้านเมือง พอผมพูดจบ ที่ประชุมก็ปรบมือกัน

ใครก็ไม่ทราบเป็นต้นเสียงให้ร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีพร้อม ๆ กัน คนแสนคนร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีดังกระหึ่มหันหน้าไปทางพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ผมคุกเข่าลงร้องไห้ด้วยความปีติ

จากความปีติอยู่ได้ประเดี๋ยวเดียวเท่านั้นเอง ก็มีเสียงระเบิดตูมขึ้นทีหนึ่ง ปรากฏว่าเป็นนักเรียนอาชีวะคนหนึ่งพกระเบิดขวดในกระเป๋าแล้วระเบิดโดยอุบัติเหตุ แต่ต่อมาอีกสักประเดี๋ยวเดียวก็ได้ยินเสียงตูม ตูม คราวนี้ไม่ใช่ระเบิดขวด แต่เป็นเสียงระเบิดแก๊สน้ำตา ซึ่งเป็นเหตุจากการปะทะของตำรวจกับผู้ที่เดินกลับจากวังไปทางถนนราชวิถี

พอเกิดการตีกันขึ้นก็เกิดข่าวปากต่อปากแจ้งว่าตำรวจฆ่านิสิตนักศึกษาที่หน้าวัง เท่านั้นเองการจลาจลก็กระจายออกไปทั่วกรุงเทพฯ 

นี่คือที่มาของมหาวิปโยคที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516

'กองทัพบก' จัดพิธีบำเพ็ญกุศลถวายเป็นพระราชกุศลครบรอบ 5 ปี ‘วันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร’

วันนี้ (วันพุธที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2564) เวลา 07.00 น. ณ กองบัญชาการกองทัพบก พลเอก ณรงค์พันธ์  จิตต์แก้วแท้  ผู้บัญชาการทหารบก เป็นประธาน พร้อมด้วยคณะผู้บังคับบัญชา และกำลังพลร่วมกิจกรรมบำเพ็ญกุศลถวายเป็นพระราชกุศล ครบรอบ 5 ปี วันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยกิจกรรมประกอบด้วย พิธีตักบาตรพระสงฆ์ จำนวน 18 รูป จากวัดโสมนัสราชวรวิหาร ถวายเป็นพระราชกุศล ณ บริเวณลานด้านหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 5 กองบัญชาการกองทัพบก จากนั้นจึงกระทำพิธีสวดพระพุทธมนต์ ณ ห้องจัดเลี้ยง 221 อาคาร 2 ชั้น 2 โดยนิมนต์พระสงฆ์ จำนวน 10 รูป จากวัดโสมนัสราชวรวิหาร และพิธีวางพวงมาลา และกล่าวน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณฯ ณ ห้องรับรองพิเศษ 161 อาคาร 1 ชั้น 6 กองบัญชาการกองทัพบก

นอกจากกิจกรรมภายในกองบัญชาการกองทัพบกแล้ว หน่วยขึ้นตรงกองทัพบกต่างพร้อมใจกันจัดกิจกรรมภายใต้โครงการ “ร่วมทำความดี สร้างความรักสามัคคีคนในชาติ สืบสานรักษาต่อยอด พระราชปณิธาน” ได้แก่ กิจกรรมจิตอาสา เราทำความดีด้วยหัวใจกิจกรรมปลูกหญ้าแฝก กิจกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งการช่วยเหลือประชาชน เป็นต้น ณ พื้นที่รับผิดชอบของหน่วย ชุมชนใกล้เคียง และพื้นที่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นพระมหากษัตริย์ไทย รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี ทรงครองราชสมบัติ ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 นับเป็นพระมหากษัตริย์ไทย ที่ทรงครองราชสมบัติยาวนานที่สุดในประเทศไทย ตลอดระยะเวลากว่า 70 ปี ที่ทรงครองราชย์ พระองค์ทรงปกครองราษฎรไทยด้วยน้ำพระราชหฤทัยงดงามเปี่ยมด้วยพระเมตตา ภายใต้ปฐมพระบรมราชโองการที่ว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” พระราชกรณียกิจที่สำคัญยิ่งด้านการทหาร ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย ในยามปกติพระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมค่ายทหารและตำรวจตระเวนชายแดน และพระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภคเวชภัณฑ์ต่าง ๆ ในยามที่ทหารต้องออกปฏิบัติหน้าที่ป้องกันอธิปไตยรักษาความสงบตามแนวชายแดน

พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นมิ่งขวัญกำลังใจแก่ทหารกล้า รวมทั้งพระราชทานทรัพย์อุปการะช่วยเหลือครอบครัว และช่วยเหลือทุนการคึกษาแก่บุตรของทหารที่พลีชีพจากการปฏิบัติหน้าที่ปกป้องแผ่นดิน ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลทรงให้ความสำคัญกับการพัฒนาประเทศให้มั่นคงอย่างยั่งยืนด้วยแนวพระราชดำริ “เศรษฐกิจพอเพียง” ผ่านโครงการพระราชดำริจนทรงได้รับการยกย่องว่าเป็นกษัตริย์นักพัฒนา

“กษัตริย์นักพัฒนาผู้ยิ่งใหญ่ ที่ UN ให้การยกย่องเทิดทูน”

“กษัตริย์นักพัฒนาผู้ยิ่งใหญ่ ที่ UN ให้การยกย่องเทิดทูน”

กว่า 70 ปีที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงครองราชย์ ไม่เพียงเป็นมิ่งขวัญของชาวไทยทั้งชาติเท่านั้น

แต่พระองค์ท่าน ยังทรงงานหนัก เพื่อยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตของปวงชนชาวไทย อย่างมิรู้จักเหน็ดเหนื่อย เพียงเพื่อให้พสกนิกรของพระองค์อยู่ดีกินดี เห็นได้จากโครงการที่เกิดจากพระราชดำริ กว่า 4,000 โครงการ ที่สะท้อนให้เห็นถึงความใส่ใจในการดำเนินพระราชกรณียกิจ และพระอัจฉริยภาพของพระองค์อย่างเด่นชัด

ด้วยทรงพระเมตตาพระราชทานแนวทางในการดำรงชีพให้แก่ราษฎรด้วยแนวทางปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งเน้นหลักการ ความพอดี สำนึกในคุณธรรม และมีความหลากหลายทางการเกษตรและผลผลิต มีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอที่จะต้านทานและลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในการรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ อันเกิดจากกระแสโลกาภิวัตน์

การทรงงานของพระองค์ท่าน ไม่เพียงปรากฏในสายตาประชาชนคนไทยเท่านั้น แต่ในระดับนานาชาติ องค์กรระหว่างประเทศ ต่างเทิดทูนพระเกียรติคุณของพระองค์ท่าน และได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล เป็นเครื่องยืนยันพระอัจฉริยภาพของพระองค์มาอย่างต่อเนื่อง ตลอดรัชสมัยมากถึง 13 รางวัล 

รางวัลที่ยังความปลาบปลื้มต่อคนไทย เกิดขึ้นเมื่อปี 2549 เมื่อ โคฟี อันนัน เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ในขณะนั้น ได้เดินทางมายังประเทศไทย เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล “ความสำเร็จสูงสุด ด้านการพัฒนามนุษย์” (UNDP Human Development Lifetime Achievement Award) ของโครงการพัฒนาแห่งองค์การสหประชาชาติ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2549

ซึ่งนับเป็นรางวัลความสำเร็จสูงสุด ด้านการพัฒนามนุษย์ ที่ยูเอ็นดีพีริจัดทำขึ้นเป็นพิเศษ เพื่อมอบแก่บุคคลดีเด่นที่ได้อุทิศตนตลอดช่วงชีวิต สร้างความกระจ่างต่อสาระสำคัญของการพัฒนาคนอย่างยั่งยืน มีผลลัพธ์เป็นรูปธรรมในด้านต่าง ๆ อาทิ ด้านความเป็นธรรมในสังคม การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเท่าเทียม ความมั่นคงในชีวิต สนับสนุนธรรมาภิบาลในระบอบประชาธิปไตย และสิ่งแวดล้อม ยังประโยชน์นานัปการต่อประชาชน และผลักดันความก้าวหน้าในการพัฒนาคนอย่างยั่งยืน

“ชายคนนั้นคือใคร ??” 

“ชายคนนั้นคือใคร ??” 

เด็กช่วยเข็นรถยนต์พระที่นั่ง ที่ติดหล่ม…

เมื่อ พ.ศ. 2501 ขณะที่เด็กชายคนหนึ่งกำลังวิ่งเล่นอย่างสนุกสนานกลางทุ่งนากับเพื่อนอีก 2 คน ซึ่งไม่ห่างจากถนนชนบททุรกันดารมากนัก จู่ ๆ ก็มีรถยนต์คันหนึ่งวิ่งมาติดหล่มเลน อยู่ไม่ไกลจากพวกเขา และติดอยู่อย่างนั้น 

ภายในรถมีชายสวมหมวกแบบธรรมดาคนหนึ่ง ขับมาคนเดียวและพยายามจะขับรถขึ้นจากหล่มอยู่นาน แต่ก็ไม่สามารถขึ้นได้ เขาและเพื่อนจึงวิ่งเข้าไปช่วยเข็น ท่ามกลางแดดร้อนเปรี้ยง ใช้ความพยายามอยู่นานมาก ราวร่วมชั่วโมง แถมยิ่งออกแรงเร่งเครื่องมากเท่าไหร่ ล้อรถก็ยิ่งจมเลนลึกลงไปทุกที

จนชายสวมหมวก ลงจากรถมาช่วยเข็นด้วย เข็นอยู่นาน และในที่สุด ทุกคนก็หมดแรง ต่างหยุดพักกันครู่ใหญ่ อยู่ตรงนั้น 

“หนูเคยเห็นคนนี้ไหม” 

เสียงของชายเจ้าของรถเอ่ยถาม ขณะนั่งพัก พร้อมทั้งยื่นธนบัตรใบละหนึ่งบาท (สมัยนั้น) ให้พวกเด็ก ๆ ดู เด็ก ๆ ต่างตอบกลับชายคนนั้นไปว่า...

“เคยเห็นแต่รูปที่เงินแบงก์ แต่ไม่เคยเห็นตัวจริง”

ชายคนนั้นถอดหมวกที่สวมอยู่ออก แล้วถามกลับมาอีกว่า...

“เหมือนเราไหม” 

ในวินาทีนั้น เด็กชายทั้ง 3 คนตกตะลึงอยู่สักครู่ พอตั้งสติได้จึงรู้ว่า ผู้ชายที่เห็นแต่งกายธรรมดา ผู้ที่พวกเขากำลังสนทนาอยู่ตรงหน้านั้นเป็นใคร ต่างก็นิ่งอึ้ง และเข่าอ่อน ทรุดนั่งลงกลางเลน กราบลงแทบพระบาท พระองค์...

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 9 ตรัสอย่างช้า ๆ ว่า...

"ลุกขึ้น ลุกขึ้น ลุกเถอะ อย่านั่งเลย มันเลอะ เห็นไหม"

“พระราชอารมณ์ขัน” 

“พระราชอารมณ์ขัน” 

เรื่องเล่า “พระราชอารมณ์ขัน” ของในหลวงรัชกาลที่ 9 แล้วคุณจะรักในหลวงมากขึ้น

>> เรื่องที่ หนึ่ง 
เรื่องการใช้ราชาศัพท์กับในหลวงดูจะเป็นเรื่องใหญ่ที่ใครต่อใครเกร็งกันทั้งแผ่นดิน และไม่เว้นแม้กระทั่งข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายรายงาน

ครั้งหนึ่งเมื่อหลายปีก่อนมีข้าราชการระดับสูงผู้หนึ่งกราบบังคมทูลรายงานว่า "ขอเดชะ ฝ่าละอองธุลีพระบาท ปกเกล้าปกกระหม่อม ข้าพระพุทธเจ้าพลตรีภูมิพลอดุลยเดชขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตกราบบังคมทูลรายงาน ฯลฯ"

เมื่อสิ้นคำกราบบังคมทูลชื่อ ในหลวงทรงแย้มพระสรวล อย่างมีพระอารมณ์ดีและไม่ถือสาว่า

"เออ ดี เราชื่อเดียวกัน..."

ข่าวว่าวันนั้นผู้เข้าเฝ้าต้องซ่อนหัวเราะขำขันกันทั้งศาลาดุสิดาลัย เพราะผู้รายงานตื่นเต้นจนจำชื่อตนเองไม่ได้

>> เรื่องที่ สอง 
มีอยู่ครั้งหนึ่ง ทรงเสด็จไปพระราชทานปริญญาบัตรให้กับนักศึกษาของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ในระหว่างที่ทรงเปลี่ยนครุย ทรงโปรดสูบมวนพระโอสถแต่ว่าทรงหาที่จุดไม่ได้ ทางอธิการบดีซึ่งเฝ้าอยู่ก็จุดไฟให้พร้อมทูลว่า

"ถวายพระเพลิงพระเจ้าข้า"

ในหลวงทรงชะงัก ก่อนจะแย้มสรวลน้อย ๆ กับอธิการบดีว่า

"เรายังไม่ตายถวายพระเพลิงไม่ได้หรอก"

>> เรื่องที่ สาม 
อีกครั้งหนึ่งที่ภาคอีสานเมื่อเสด็จขึ้นไปทรงเยี่ยมบนบ้านของราษฎรผู้หนึ่ง ที่คณะผู้ตามเสด็จทั้งหลายออกแปลกใจในการกราบบังคมทูลที่คล่องแคล่วและใช้ราชาศัพท์ได้อย่างน่าฉงน

เมื่อในหลวงมีพระราชปฏิสันถารถึงการใช้ราชาศัพท์ได้ดีนี้ จึงมีคำกราบทูลว่า

"ข้าพระพุทธเจ้าเป็นโต้โผลิเกเก่า บัดนี้มีอายุมากจึงเลิกรามาทำนาทำสวนพระพุทธเจ้าข้า.."

มาถึงตอนสำคัญที่ทรงพบนกในกรงที่เลี้ยงไว้ที่ชานเรือน ก็ทรงตรัสถามว่า เป็นนกอะไรและมีกี่ตัว
พ่อลิเกเก่ากราบบังคมทูลว่า 

"มีทั้งหมดสามตัว พระมเหสีมันบินหนีไปทิ้งพระโอรสไว้สองตัว ตัวหนึ่งที่ยังเล็ก ตรัสอ้อแอ้อยู่เลยและทิ้งให้พระบิดาเลี้ยงดูแต่ผู้เดียว"

เรื่องนี้ ดร.สุเมธ เล่าว่าเป็นที่ต้องสะกดกลั้นหัวเราะกันทั้งคณะไม่ยกเว้นแม้ในหลวง

>> เรื่องที่ สี่ 
เคยมีเรื่องเล่าให้ฟังว่า ในหลวงเสด็จไปในถิ่นทุรกันดารเพื่อเยี่ยมเยียนราษฎร มีอยู่ครั้งหนึ่งพระองค์ท่านทรงแจกพระเครื่องให้กับราษฎรจนหมดแล้ว แต่ราษฎรผู้หนึ่งกราบบังคมทูลขอรับพระราชทานพระเครื่องว่า

"ขอเดชะ ขอพระหนึ่งองค์"

ในหลวงทรงตรัสว่า "ขอเดชะ พระหมดแล้ว" 

>> เรื่องที่ ห้า 
วันหนึ่งพระองค์ท่านเสด็จเยี่ยมเยียนพสกนิกรของท่านตามปกติที่ต่างจังหวัด ก็มีชาวบ้านมาต้อนรับในหลวงมากมาย พระองค์ท่านเสด็จพระราชดำเนินมาตามลาดพระบาท ที่แถวหน้าก็มีหญิงชราแก่คนหนึ่งได้ก้มลงกราบแทบพระบาท

แล้วก็เอามือของแกมาจับ พระหัตถ์ของในหลวง
แล้วก็พูดว่ายายดีใจเหลือเกินที่ได้เจอในหลวง
แล้วก็พูดว่ายายอย่างโน้น ยายอย่างนี้อีกตั้งมากมาย แต่ในหลวงก็ทรงเฉย ๆ มิได้ตรัสรับสั่งตอบว่ากระไร

แต่พวกข้าราชบริพารก็มองหน้ากันใหญ่ กลัวว่าพระองค์จะทรงพอพระราชหฤทัย หรือไม่ 

แต่พอพวกเราได้ยินพระองค์รับสั่งตอบว่ากับหญิงชราคนนั้น ทำให้เราถึงกับกลั้นหัวเราะไว้ไม่ไหวเพราะพระองค์ทรงตรัสว่า

"เรียกว่ายายได้อย่างไร อายุอ่อนกว่าแม่ฉันตั้งเยอะต้องเรียกน้าซิถึงจะถูก"

“ย้อนตำนานเส้นทางเสด็จ 2498”

“ย้อนตำนานเส้นทางเสด็จ 2498”

“คุณยายตุ้ม จันทนิตย์” หญิงชราวัย 102 ปี (เกิดเมื่อปีพุทธศักราช 2396) บ้านธาตุน้อย ตำบลพระกลางทุ่ง อำเภอธาตุพนม ห่างจากจุดที่ทางราชการกำหนดให้เป็นจุดรับเสด็จ ประมาณ 700 เมตร ก็ไม่ต่างจากครอบครัวอื่น ๆ ที่ลูกหลานได้นำ "คุณยายตุ้ม จันทนิตย์" ไปรอรับเสด็จด้วย

โดยตามคำบอกเล่าของ นางเพ็ง จันทนิตย์ (ลูกสะใภ้) และนางหอม แสงพระธาตุ (น้องสาวของนางเพ็ง) ได้ความว่า ลูกหลานได้นำคุณยายตุ้มไปรอบรับเสด็จตั้งแต่เช้าโดยนางหอมฯ เป็นผู้จัด "ดอกบัวสีชมพู" ให้แก่คุณยายจำนวน 3 ดอก เพื่อนำขึ้นจบบูชาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพาออกไปรอเฝ้ารับเสด็จที่แถวหน้าสุดเพื่อให้ได้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เป็นที่ชาวไทยคุ้นตา ประทับใจในหัวใจเป็นที่สุด 

และตามที่ท่านเจ้าคุณพระราชธีราจารย์ เจ้าคณะจังหวัดนครพนม/เจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร ให้ความรู้ “ดอกบัวในใจยังคงบานไม่มีโรยรา” บนเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินทางสามแยกชยางกูร - เรณูนคร ตำบลพระกลางทุ่ง อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม

เมื่อบ่ายวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498 เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพสกนิกรภาคอีสานเป็นครั้งแรก คุณยายไปรอรับเสด็จพร้อมดอกบัวสายสีชมพู จำนวน 3 ดอก ตั้งแต่เช้าจนบ่าย

แสงแดดแผดเผาจนดอกบัวสายในมือเหี่ยวโรย แต่หัวใจความจงรักภักดีของหญิงชรา ยังคงเบิกบาน เมื่อในหลวงเสด็จมาถึง ตรงมาที่คุณยายได้ยกดอกบัวสายโรยราสามดอกนั้นขึ้นจนเหนือศีรษะ แสดงความจงรักภักดีอย่างสุดซึ้ง
 
 
 

ตำรวจภูธรภาค 1 ระดมสิ่งของช่วยบรรเทาทุกข์ ครอบครัวตำรวจ - ประชาชน ที่น้ำท่วมจมใต้บาดาล ในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคกลาง

วันที่ 12 ตุลาคม ที่ลานด้านหน้าอาคารอเนกประสงค์ ตำรวจภูธรภาค 1 พล.ต.ท.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร ผบช.ภ.1 พร้อมด้วย พล.ต.ต.พีระพงศ์ วงษ์สมาน พล.ต.ต.อุดร ยอมเจริญ รอง ผบช. ร่วมปล่อยขบวนคาราวานรถยนต์บรรทุกสิ่งของเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย ในพื้นที่รับผิดชอบของกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1

พล.ต.ท.จิรพัฒน์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในพื้นที่รับผิดชอบของตำรวจภูธรภาค 1 ได้สร้างความเสียหาย สร้างความเดือดร้อน และส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของพี่น้องประชาชน ตำรวจภูธรภาค 1 จึงเป็นศูนย์กลางในการรับบริจาคสิ่งของ จากผู้มีจิตศรัทธาเพื่อนำไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชน รวมทั้งครอบครัวข้าราชการตำรวจที่ได้รับผลกระทบ

พล.ต.ท.จิรพัฒน์ เปิดเผยต่อว่า การปล่อยขบวนคาราวานรถยนต์ที่บรรทุกสิ่งของ ทั้ง ข้าวสาร บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารกระป๋อง ผักกาดดอง นมกล่อง UHT น้ำดื่ม หน้ากากอนามัย และกระดาษชำระ ที่รวบรวมได้ ส่งไปช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน พี่น้องประชาชนและครอบครัวข้าราชการตำรวจ ในพื้นที่ทั้ง 8 จังหวัด ประกอบด้วย นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท ลพบุรี และสระบุรี ซึ่งประชาชน 69,833 คน และข้าราชการตำรวจ 194 นาย ได้รับผลกระทบและได้รับความเดือดร้อน 

 

กลุ่มชาวสวนปาล์ม สภาเกษตรกรฯ ยื่นหนังสือเสนอถึง “พลเอกประยุทธ์” ยกเลิกมาตรการปรับลดสัดส่วนผสมขั้นต่ำ ของไบโอดีเซล บี7 และน้ำมันดีเซลธรรมดา เป็นร้อยละ 6 !!หวั่นส่งผลกระทบต่อราคาผลปาล์ม

วันที่ 12 ตุลาคม 2564 เวลา 09.00 น. ณ ศาลากลางจังหวัดกระบี่ เลขที่ 9/10 ถนนอุตรกิจ ตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ นายพันศักดิ์ จิตรรัตน์ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดกระบี่ พร้อมด้วยนายอธิราษฎร์ ดำดี คณะทำงานด้านปาล์มน้ำมัน สภาเกษตรกรจังหวัดกระบี่ / ท่านอาจารย์เอนก ลิ่มศรีวิไล และพนักงานสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดกระบี่ 

เข้ายื่นหนังสือข้อเสนอให้ยกเลิกมาตรการปรับลดสัดส่วนผสมขั้นต่ำของไบโอดีเซล บี7 และน้ำมันดีเซลธรรมดาเป็นร้อยละ 6 ถึงท่านนายกรัฐมนตรี ‘พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา’ ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ โดยมีนายสมชาย หาญภักดีปฏิมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ มารับข้อเสนอดังกล่าว

โดยมีข้อเท็จจริงเพื่อเป็นข้อมูลพิจารณาดำเนินการ ดังนี้

1. น้ำมันไบโอดีเซล บี100 ไม่ได้เป็นภาระหลักของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

2. การใช้ข่าวโจมตีน้ำมันไบโอดีเซล บี100เป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงทำลายขวัญและกำลังใจของเกษตรกรชาวสวนปาล์ม

3. นโยบายการใช้น้ำมันไบโอดีเซล บี100 มาผสมกับน้ำมันดีเซลจนได้รับการยอมรับมาตรฐานเป็น บี7 บี10 และบี20 เป็นการสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานสะอาด ลดมลภาวะ สร้างเศรษฐกิจในชาติ

4. รัฐบาลควรรักษานโยบายที่ได้ให้ไว้กับประชาชนมากกว่าการมองแค่เรื่องราคาน้ำมันอย่างเดียว

5. สถานการณ์ราคาน้ำมันที่สูงขึ้น เป็นตามกลไกตลาดโลกแต่ราคาปาล์มน้ำมันตกต่ำมาเป็นระยะเวลา 10ปี ปีนี้เป็นปีแรกที่ราคาปาล์มน้ำมันดีขึ้น

6. ปาล์มน้ำมันเป็นพืชยืนต้นระยะยาว ไม่สามารถปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกได้ง่ายเหมือนพืชชนิดอื่น ๆ การเปลี่ยนแปลงนโยบายชั่วคราวเช่นนี้ โดยไม่มีมาตรการดี ๆ มารองรับจะก่อให้เกิดผลกระทบเสียหายต่อห่วงโซ่การผลิตปาล์มทั้งระบบ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top