Monday, 6 May 2024
Hard News Team

ตามสัญญา!! 'ลุงตู่' พาครอบครัว บินทัวร์ญี่ปุ่นในรอบ 10 ปี เผยที่ผ่านมาไปเพราะงาน ไม่เคยได้เที่ยวชมความงามของญี่ปุ่นเลย

(16 ต.ค. 66) หลังจากลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 'ลุงตู่' พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี คนที่ 29 พยายามเก็บตัวอย่างเงียบ ๆ แต่ดูเหมือนช่วงนี้จะมีความเคลื่อนไหวของลุงมาให้ติ่งพอได้หายคิดถึง

เริ่มจาก ศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรีหรือ 'PMOC' เพจเฟซบุ๊กที่สนับสนุนการทำงานรัฐบาลลุงตู่ เคลื่อนไหวเปลี่ยนชื่อเพจเป็น 'ผลงานพลเอกประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีแห่งความเปลี่ยนแปลง' (Prayuth’s Memory of Change)

ฟังว่า เหตุที่เปลี่ยนชื่อด้วย 'ลุงตู่' หมดวาระลง เราเป็นครอบครัวเล็ก ๆ ในออนไลน์ที่ช่วยกันเผยแพร่ผลงานเพื่อประชาชน ตามแนวคิด #ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

ทีมแอดมิน PMOC ขอกราบขอบพระคุณ FC ทุกท่าน ที่ส่งกำลังใจให้นายกฯ ลุงตู่ ของเราอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เปิดเพจใน ต.ค.2562 จำนวน 77,463 follows

ทีมแอดมินขอปรับเปลี่ยนชื่อใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลง ในชื่อ #ผลงานพลเอกประยุทธ์นายกรัฐมนตรีแห่งความเปลี่ยนแปลง (Prayuth’s Memory of Change) เพื่อให้ครอบครัวเรายังเป็นส่วนหนึ่งในสังคมไทยในการสื่อสารผลงานของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์เพื่อประโยชน์ของชาติต่อไป

แน่นอนว่า เพจสนับสนุนลุงออกตัวแบบนี้ ในโลกโซเชียลฯ จะยังมีประเด็นของลุงตู่ให้ติดตาม

แต่หาก FC คนไหนอยากเจอตัว 'ลุงตู่' เป็น ๆ ช่วงนี้น่าจะหาตัวลำบากหน่อยเพราะแว่วว่า พล.อ.ประยุทธ์ พร้อมครอบครัว ศรีภรรยา 'อาจารย์น้อง' นราพร จันทร์โอชา และลูกฝาแฝด บินไปพักผ่อนที่ประเทศญี่ปุ่น ปู๊น ๆ เมื่อคืน (15 ต.ค.) แล้วนะจ๊ะ

'ลุงตู่' พาครอบครัวไปญี่ปุ่นครั้งนี้ ไปในนามส่วนตัวซึ่งคนใกล้ชิดบอกว่า ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปีเลยทีเดียว ที่ไปเที่ยวกันพร้อมหน้าพร้อมตาพ่อแม่ลูก

พล.อ.ประยุทธ์ เคยเปรยกับสื่อในวันสุดท้ายของการทำงานในตำแหน่งนายกฯ ว่า สิ่งที่อยากจะทำเป็นสิ่งแรก ๆ หลังจากว่างงานอยากจะพาครอบครัวเที่ยวสักครั้ง และประเทศที่อยากจะไปมากที่สุดก็คือ แดนปลาดิบ เพราะที่ผ่านมาเคยแต่ไปทำงาน ไม่เคยได้เที่ยวชมความงามของญี่ปุ่นเลย

โอกาสนี้เป็นโอกาสดีที่ชีวิตทุกอย่างลงตัวจึงไปทัวร์ญี่ปุ่นดูใบไม้เปลี่ยนสี รับอากาศดี ๆ ให้หนำใจสักประมาณหนึ่งสัปดาห์เต็ม

ช่วงระหว่างนี้ FC ลุงตู่ ที่อยู่ในญี่ปุ่นหากพบเจอลุงตู่ก็ทักทายกันได้นะจ๊ะ

ครม.อนุมัติค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย  ประเดิม!! 'สายสีแดง-สายสีม่วง' คิกออฟบ่ายนี้  

(16 ต.ค.66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสาย ประเดิมที่สายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต, บางซื่อ-ตลิ่งชัน) และสายสีม่วง (เตาปูน-บางไผ่) โดยรัฐบาลต้องใช้งบอุดหนุนปีละ 130 ล้านบาท 

ขณะที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จะไปเป็นประธานพิธีเปิดที่สถานีกลางบางซื่อ หรือสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เพื่อใช้ทันที เริ่มบ่ายวันนี้ (16 ต.ค.66)

10 นิสัยสุดย้อนแย้ง!! ผู้อ้างความจงรักภักดีต่อสถาบันฯ สร้างภาพให้สังคมตายใจ เผลอเมื่อไรไปซบเชียร์พรรคล้มเจ้า

ผมลองสังเกตดูสังคมไทย ลงลึกไปถึงสังคมคนรอบ ๆ ตัวของผมในวงการต่าง ๆ ที่ผมมีโอกาสเข้าไปสัมผัส ไม่เว้นกระทั่ง ‘วงการเพลง’ ที่ผมรัก เริ่มตั้งแต่สังคมไทยมีพรรคการเมืองที่ ‘ย้อนแย้ง’, ‘กลิ้งกลอก’, ‘ปลิ้นปล้อน’ และเดินหน้า ‘ล้มล้างสถาบัน’ อย่างจริงจังโผล่ขึ้นมาให้เห็น แม้จะเกิดแรงสั่นสะเทือนอันจอมปลอม แต่ก็ยังสามารถกระเทาะเปลือกสำนึกอันดีงามของผู้คนจำนวนหนึ่งให้หลุดออกได้อย่างง่ายดาย จนเผยให้เห็นแก่นความนึกคิดที่แท้จริงของคนเหล่านี้ชัดเจน 

ขอยกเพียงแค่ประเด็น ‘ความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ไทย’ ของคนไทย ‘นิสัยย้อนแย้ง’ มาเพียง 10 ตัวอย่าง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ได้เปลือยให้เห็น ‘นิสัยที่แท้จริง’ ของคนได้ดีที่สุด

1. เหล่าเซเลบริตี้จำนวนหนึ่ง ออกงานอีเวนต์มักเลือกหยิบบทเพลงพระราชนิพนธ์ไปร้องโชว์ นักร้องอัดเสียงร้องเพลง ดาราแสดหนัง ละคร ที่เกี่ยวสถาบันกษัตริย์ เพื่อสร้างชื่อเสียง หรือเพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งของการประกอบอาชีพจนได้รับผลลัพธ์ที่ดีในชีวิต แต่สนับสนุน ‘พรรคล้มสถาบัน’

2. ได้รับทุนการศึกษาพระราชทาน จาก ร.9 หรือ ร.10 รวมถึงได้เข้าศึกษา ณ โรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือมหาวิทยาลัยที่ก่อตั้งโดยพระมหากษัตริย์ไทย แต่สนับสนุน ‘พรรคล้มสถาบัน’

3. พูดออกตัวว่าจงรักภักดีต่อสถาบัน จนได้รับโอกาสเป็นผู้จัดกิจกรรมทางดนตรีที่เกี่ยวกับ ‘บทเพลงของพ่อ’ ทำให้มีผู้คนจดจำภาพลักษณ์ที่ดีงาม แต่สนับสนุน ‘พรรคล้มสถาบัน’ 

4. ใส่เสื้อสีเหลือง พร้อมโพสต์ข้อความในเชิงว่า ‘รักในหลวง’ ผ่านทางโซเชียลเน็ตเวิร์กอยู่บ่อยครั้งให้สังคมเห็น แต่สนับสนุน ‘พรรคล้มสถาบัน’

5. อาศัยใช้นามสกุลพระราชทานที่ใช้ต่อ ๆ กันมาจากต้นตระกูลต่อท้ายชื่อของตนเอง แต่สนับสนุน ‘พรรคล้มสถาบัน’

6. แต่งชุดดำ ร้องห่มร้องไห้จะเป็นจะตายเมื่อปลายปี 2559 แต่สนับสนุน ‘พรรคล้มสถาบัน’

7. ที่บ้าน ที่ทำงาน ติดรูปในหลวงที่ข้างฝาห้องอย่างโดดเด่น แต่สนับสนุน ‘พรรคล้มสถาบัน’

8. ปากบอกรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และจะจงรักภักดีจนกว่าชีวิตจะหาไม่ เพราะได้ที่นา ที่ดินทำสวน ทำไร่ จากโครงการของในหลวงจนชีวิตพลิกฟื้น แต่สนับสนุน ‘พรรคล้มสถาบัน’

9. ห้อยพระคล้องคอที่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับในหลวง มีความผูกพันเชื่อมโยงถึงที่มา ความรัก พลังใจ จุดมุ่งหมาย คำสั่งสอน และการดำรงไว้เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ แต่สนับสนุน ‘พรรคล้มสถาบัน’

10. ต้นตระกูลเป็นคนต่างถิ่น ต่างด้าว ต่างเชื้อชาติ ต่างดินแดน เดินทางมาพึ่งแผ่นดินทองของพระมหากษัตริย์ไทย ได้รับความเมตตากรุณาให้มีที่อาศัย ทำกิน จนมีชีวิตที่มั่งคั่ง ร่ำรวย แต่สนับสนุน ‘พรรคล้มสถาบัน’

ห้วงเวลานี้ ถือเป็นเวลาที่คนรอบตัวจะถูกกระเทาะเปลือก จนเปลือยให้เห็นมิติที่ลึกกว่าที่เคย สิ่งที่อาจจะยังไม่แน่ใจในใครสักคนในเรื่องตรรกะ, วิธีคิด และแก่นแท้ของสำนึก ก็จะได้รับคำตอบที่ชัดเจน ดูคนให้ดูห้วงเวลานี้จะเห็นนิสัยของคนชัดที่สุด 

ลองหันไปสำรวจดูว่า รอบ ๆ ตัวคุณ มีคนที่คล้าย ๆ ใน 10 ข้อนี้กี่คน?

ห่างได้ ห่างเลย รับประกันว่าชีวิตดี

‘ศาลปกครองกลาง’ สั่งระงับซื้อไฟฟ้าพลังงานลม 1,500 MW หลังบริษัทย่อยกลุ่ม EA ร้องคำสั่ง กกพ. ไม่โปร่งใส-ยุติธรรม

(16 ต.ค. 66) ศาลปกครองมีคำสั่งระงับรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ในกลุ่มพลังงานลม ขนาด 1,500 เมกะวัตต์ เป็นการชั่วคราว หลังจากบริษัทย่อยของ EA ร้อง กกพ. ออกคำสั่งโดยอาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่โปร่งใส และยุติธรรม  

เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2566 บริษัท วินด์ ขอนแก่น 2 จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ EA ในฐานะผู้ฟ้องคดี ได้ร้องคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. ในฐานะผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เกี่ยวกับ การออกคำสั่งโดยอาจไม่ชอบ ด้วยกฎหมาย ไม่โปร่งใส และยุติธรรม ต่อศาลปกครองกลาง

โดยสาระสำคัญที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งทางการปกครองไว้เป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษา ซึ่งศาลได้แถลงไว้ ดังนี้

“ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ยังไม่ได้แจ้งเหตุผลทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายให้แก่ผู้ฟ้องคดีทราบ โดยเฉพาะเกณฑ์การประเมินหรือการกำหนดคะแนนความพร้อมทางด้านเทคนิคด้านต่าง ๆ ในการพิจารณาคัดเลือกผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าตามระเบียบของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2”

“ข้อเท็จจริงไม่มีการประกาศหรือกำหนดหลักเกณฑ์การประเมินคะแนนความพร้อมทางเทคนิคด้านต่าง ๆ ให้ผู้อื่นขอผลิตไฟฟ้าทราบแต่อย่างใด อันทำให้เป็นการใช้ดุลพินิจของคณะอนุกรรมการคัดเลือกโดยแท้ซึ่งจะทำให้ขาดความโปร่งใสและเป็นธรรมแก่ผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้า”

“ผู้ฟ้องคดีเองได้ขอทราบคะแนนการประเมินของคณะอนุกรรมการก็ไม่ได้รับการชี้แจงหรือ แจ้งผลใด จากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงมีปัญหาว่าการพิจารณาและการประเมินให้น้ำหนักคะแนนของคณะอนุกรรมการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เป็นการไม่ดำเนินการตามรูปแบบ ขั้นตอนและวิธีการอันเป็นสาระสำคัญ ตามที่หลักเกณฑ์กำหนดกระบวนการคัดเลือกผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้า”

“เมื่อคณะอนุกรรมการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 กำหนดหลักเกณฑ์การให้น้ำหนักคะแนนความพร้อมทางเทคนิค แต่ผู้ฟ้องคดีไม่สามารถตรวจสอบได้ จึงอาจมีการใช้ดุลพินิจ ตามอำเภอใจ โดยปราศจากหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนและตรวจสอบได้”

“ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ก็ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการดังกล่าวเป็นผู้พิจารณาประเมินคะแนนความพร้อมทางเทคนิคในแต่ละด้านและยังให้คณะอนุกรรมการชุดดังกล่าวเป็นผู้พิจารณา คัดเลือกผู้ผลิตไฟฟ้าเพื่อเสนอความเห็นให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 พิจารณาให้ความเห็นชอบด้วย อันมีสภาพร้ายแรงอันอาจจะทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลางอีกด้วย”

จากกรณีดังกล่าว จึงทำให้ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งทุเลาการบังคับมติของ กกพ. ในการประชุมครั้งที่ 17/2566 (ครั้งที่ 845) เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2566 ที่พิจารณาเห็นชอบผลการคัดเลือกผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าจำนวน 175 ราย เฉพาะในส่วนที่ไม่มีรายชื่อผู้ขอฟ้องคดีและทุเลาการบังคับตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เรื่องรายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าที่ได้รับคัดเลือกตามระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี พ.ศ. 2565-2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 ลงวันที่ 5 เมษายน 2566 สำหรับพลังงานลมจำนวน 22 ราย ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง เป็นอย่างอื่นเนื่องจากการดำเนินการตามประกาศดังกล่าว ในเบื้องต้นน่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับ ความชอบด้วยกฎหมาย

‘เศรษฐา’ ยินดี!! อพยพคนไทยกลับถึงประเทศลุล่วง พร้อมสั่ง ‘ก.แรงงาน’ หางานเหมาะสมรองรับ

(6 ต.ค. 66) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ให้สัมภาษณ์ก่อนเป็นประธานการประชุม ก.ตร. ครั้งที่ 11/2566 หลังเครื่องบินกองทัพอากาศอพยพคนไทยในอิสราเอลจำนวน 130 คน ถึงยังท่าอากาศยานทหาร กองบิน 6 ดอนเมือง เมื่อช่วงเช้าวันนี้ ว่า ก็ดีใจที่คนไทยได้เดินทางกลับประเทศ หลังจากนี้ให้กระทรวงแรงงานช่วยหางานที่เหมาะสมให้ประกอบอาชีพ ส่วนเรื่องการอพยพคนไทยที่เหลือก็พยายามทำอย่างเต็มที่และจะดำเนินการให้เร็วที่สุด

ส่วนเที่ยวบินที่รับคนไทยเดินทางกลับยังยืนยันว่าเป็น 32 เที่ยวใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า อย่างน้อย ต้องมี 32 เที่ยวบิน และจะต้องเพิ่มขึ้น

‘ปิยบุตร’ กระตุกต่อมสำนึก 'ก้าวไกล' ปมปัญหาความรุนแรงทางเพศ ชี้!! พูดถึงน้อย ไม่สมกับเป็นพรรคที่ชูจุดยืนเรื่องความเสมอภาค

(16 ต.ค. 66) นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊กระบุ Piyabutr Saengkanokkul – ปิยบุตร แสงกนกกุล เรื่อง ‘ความรุนแรงทางเพศ คือ ปัญหาของทุกคน’ ระบุว่า จากประเด็นเรื่องข้อร้องเรียนปัญหาความรุนแรงทางเพศที่กระทำโดยผู้สมัครและ ส.ส. ของพรรคก้าวไกล หลายกรณีที่เป็นข่าวในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมเฝ้ารอการแสดงออกของคนของพรรคก้าวไกลต่อเรื่องดังกล่าว พบว่ามีการพูดถึงประเด็นเหล่านี้น้อยมากอย่างไม่น่าเชื่อ น้อยจนไม่สมกับเป็นพรรคที่ประกาศจุดยืนและคุณค่าพื้นฐานของพรรคในเรื่องความเสมอภาคเท่าเทียม

ไม่เพียงเท่านั้น ที่ว่าน้อยนั้นก็ยังล่าช้าอีกด้วย กล่าวคือ ต้องให้สังคมและมวลชนของพรรคกดดันก่อนจึงจะมีเสียงของพรรคออกมา ต้องเกิดกรณีอื้อฉาวใหม่ จนคนโวยวายทักท้วง จึงค่อยพูดถึงกรณีอื้อฉาวเก่า ต้องมี ส.ส. ผู้ถูกร้องเรียน ไปไลฟ์สดแถลงเอง จนยิ่งเสียหายกับพรรค ทางพรรคถึงเกิดอาการตระหนก รีบออกมาแก้ไขแก้เกม มีเพียงการแถลงข่าวโดยพริษฐ์ วัชรสินธุ์ และศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ และมีแกนนำบางคนที่ถูกบังคับให้ตอบ เพราะหนีการสัมภาษณ์ไมค์รวมจากสื่อมวลชนไม่พ้น ในขณะที่มวลชนผู้สนับสนุนพรรคเรียกร้องให้พรรคก้าวไกลแสดงจุดยืนในประเด็นนี้ให้ชัดเจน

ปัญหาความรุนแรงทางเพศเป็นปัญหาของสังคมไทยและสังคมต่าง ๆ ทั่วโลก จำเป็นต้องมีการถูกพูดถึงอย่างตรงไปตรงมา ทุกคนควรร่วมกันถกเถียง แก้ไข หาทางออก และป้องกัน ไม่ใช่ว่าพอเป็นผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลแล้ว พอเรื่องเกิดกับพรรค ก็เลี่ยงไม่พูดถึงเรื่องนี้ ไม่ใช่ว่าการพูดถึงปัญหานี้แล้วกลายเป็นการจ้องทำลายพรรคก้าวไกลหรือเลิกสนับสนุนพรรคก้าวไกลไป

หลาย ๆ คนถามไถ่ผมเข้ามาทั้งต่อหน้า ทั้งทางกล่องข้อความ โทรศัพท์ และโพสถามผมในโลกออนไลน์ ว่าผมคิดเห็นอย่างไร ขอให้ผมเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหา หรือแสดงจุดยืนในเรื่องนี้

ผมมีความเห็นต่อเรื่องดังกล่าว ดังนี้ พรรคก้าวไกลควรรับมือ จัดการ ป้องกัน เรื่องความรุนแรงทางเพศและการคุกคามทางเพศอย่างไร?

พรรคก้าวไกลต้องพัฒนาแนวทางและนโยบายต่อต้านการคุกคามทางเพศในสถานที่ทำงานอย่างเป็นรูปธรรม สร้างสถานที่ทำงานที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน ครอบคลุมทั้ง ส.ส. ผู้สมัคร ส.ส. นายกท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ทีมงานจังหวัด พนักงาน อาสาสมัคร จากข่าวในหลายกรณี จะเห็นได้ว่า ไม่มีการกำหนดช่องทางร้องเรียนกรณีการคุกคามทางเพศหรือความรุนแรงทางเพศที่ชัดเจน ผู้ที่ถูกกระทำมักต้องร้องเรียนไปที่ ส.ส. เป็นรายบุคคล หรือส่งเรื่องหาบุคคลในพรรคที่ผู้ถูกกระทำรู้สึกวางใจ หรือต้องส่งเรื่องหลายต่อกว่าจะถึงหูคณะนำพรรค

หากจะเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้ พรรคต้องกำหนดขั้นตอนปฏิบัติที่ชัดเจน สร้างระบบช่องทางร้องเรียนในเรื่องนี้ขึ้นมาโดยเฉพาะ พร้อมเผยแพร่ช่องทางให้ทุกคนทราบ เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น ผู้เสียหายจะได้รู้ว่าต้องดำเนินการอย่างไร กระบวนการร้องเรียนต้องเป็นความลับ เพื่อให้ผู้ที่ร้องเรียนไม่ต้องกังวลว่าการร้องเรียนจะเกิดผลกระทบกับหน้าที่การงาน เมื่อมีรายงานเหตุการณ์ความรุนแรงทางเพศ สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึง คือ ความต้องการและความปลอดภัยของผู้ร้องเรียนทั้งในระหว่างและหลังกระบวนการ พรรคต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ สอบสวนโดยคณะกรรมการที่เป็นกลาง อิสระ ไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือรู้จักมักคุ้นกับผู้ถูกกล่าวหา การให้ ส.ส. หรือคณะผู้บริหารพรรคไปเป็นกรรมการสอบสวน แบบที่ทำกันอยู่ในเวลานี้ อาจทำให้เกิด ‘ความเกรงใจ’ กันเอง จนตัดสินใจกันไปแบบ ‘ลูบหน้าปะจมูก’ เช่นกัน การให้องค์ประกอบคณะกรรมการสอบสวนในเรื่องนี้ มีแต่ ‘ชายแท้’ หรือ ‘ชายเป็นใหญ่’ หรือ ‘คนที่ไม่เข้าใจประเด็นปัญหาเหล่านี้’ ก็จะยิ่งทำให้การดำเนินการสอบสวน ให้ความเป็นธรรม ลงโทษผู้กระทำผิด และเยียวยาให้แก่ผู้เสียหาย ผิดทิศผิดทางไปกันใหญ่

นอกจากนี้ พรรคต้องมีกระบวนการช่วยเหลือให้ผู้ถูกกระทำพบแพทย์หรือนักจิตวิทยา ในท้ายที่สุด เมื่อคณะกรรมการพิจารณาแล้วว่ามีการกระทำความผิดจริง ก็ต้องดำเนินการลงโทษทางวินัยต่อผู้กระทำความผิดอย่างได้มาตรฐานเท่าเทียมกัน อาจกำหนดแนวทางการใช้ดุลพินิจ หรือ Guideline ในเรื่องอัตราโทษเอาไว้ เช่น การกระทำแบบใด ถือว่าร้ายแรง การกระทำแบบใด จะรับอัตราโทษเท่าไร เป็นต้น

หากพรรคไม่มีบุคลากรที่ชำนาญ มีความรู้ประสบการณ์ในการจัดการปัญหาการคุกคามทางเพศ พรรคก็ต้องสรรหาเชิญชวนบุคคลภายนอกเข้ามา ผมเชื่อว่ามีผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องเหล่านี้ที่รักพรรคก้าวไกลและพร้อมช่วยเหลือ ในส่วนของบุคคลผู้กระทำผิดนั้น เขาต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง กล้าหาญออกมายอมรับผิด ขอโทษต่อผู้เสียหาย พรรค และประชาชน มิใช่ปล่อยให้คนอื่นในองค์กรมารับผิดชอบแทน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้เพื่อน ส.ส. ที่ไม่ใช่ระดับผู้บริหารพรรคหรือคณะกรรมการที่รับผิดชอบพิจารณาโทษทางวินัยมารับหน้าที่แถลงอธิบายกับสังคม หรือให้สัมภาษณ์สื่อ เพื่อจัดการปัญหาแทน หากทำเช่นนี้ ก็เท่ากับเป็นการส่งสัญญาณว่า ความรุนแรงทางเพศไม่ใช่เรื่องสำคัญสำหรับพรรคก้าวไกล ไม่ใช่เรื่องใหญ่พอถึงขนาดต้องให้ผู้บริหารมาร่วมดำเนินการรับผิดชอบ

กรณีการแถลงข่าวของพรรคล่าสุด แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า คณะนำพรรคไม่กล้าเผชิญปัญหาเหล่านี้อย่างซึ่งหน้าและตรงไปตรงมา พรรคต้องไปเข็นเอา พริษฐ์ และศศินันท์ มา “รับเผือกร้อน แบกพรรค” แทน ทั้งๆ ที่พวกเขาไม่ได้เกี่ยวข้อง ไม่ได้อยู่ในกระบวนการรับเรื่องร้องเรียน หรือสืบสวนสอบสวน แต่พรรคเลือกพวกเขามาแถลง เพราะทั้งสองคนนี้ มีภาพลักษณ์ที่ดี และมีจุดยืนชัดเจนในเรื่องเหล่านี้ ส่วนคณะนำของพรรค คณะกรรมการสอบสวน และผู้กระทำความผิดก็ “ลอยตัว” ไป ไม่ต้องถูกสื่อถาม ไม่ต้อง “ช้ำ” จากการแถลงข่าว

พรรคก้าวไกลต้องสร้างบรรยากาศการสื่อสารเรื่องความรุนแรงทางเพศและความเท่าเทียมระหว่างเพศอย่างตรงไปตรงมา ไม่ซุกปัญหาไว้ใต้พรม ไม่ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ รอให้เกิดเรื่องแล้วค่อยแก้ไข พรรคต้องจัดการฝึกอบรมและสร้างความตระหนักรู้เรื่องความเท่าเทียมทางเพศให้กับบุคลากรทุกคน และหมั่นทำความเข้าใจในทุกสถานการณ์อย่างจริงจัง เท่าที่ผมทราบ พรรคก็มีความพยายามจัดอบรมในเรื่องเหล่านี้ แต่ให้เวลาน้อยไปหน่อย ในการประชุมหลายๆ ครั้ง เวทีอบรมเรื่องนี้มักเป็น “ของแถม” ไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง และบรรดาคนในพรรค และ ส.ส. ก็มักไม่ค่อยให้ความสนใจ บรรยายไปแต่ละครั้ง กลับกลายเป็นเรื่องตลกโปกฮา แซวกันไปมาว่าใครมีพฤติกรรมอย่างไรเสียมากกว่า

ผมยังเห็นอีกว่า ถึงเวลาแล้วที่พรรคก้าวไกลต้องกล้าหาญทำเรื่องเหล่านี้ เผชิญหน้ากับปัญหาอย่างตรงไปตรงมา  มิใช่คิดแต่ “ผลลัพธ์ทางการเมือง” เป็นตัวนำ เช่น ไม่กล้าจัดการเรื่องนี้ตอนนี้ เพราะกลัวอื้อฉาว เดี๋ยวกระทบต่อการหาเสียงของพรรค เดี๋ยวกระทบกับการเลือกคนไปดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เดี๋ยวกระทบกับการเลือกตั้งซ่อม เดี๋ยวกระทบนั่น เดี๋ยวกระทบนี่ หากคิดแต่เอาปัจจัยการเมืองมาเป็นองค์ประกอบหลักในการตัดสินใจเช่นนี้ พรรคก้าวไกลก็จะไม่กล้าทำอะไรในเรื่องดังกล่าวเลย ต้องยอมรับว่า เมื่อไรเกิดกรณีความรุนแรงทางเพศหรือการคุกคามทางเพศภายในพรรคขึ้น ก็ย่อมส่งผลร้ายต่อภาพลักษณ์ของพรรคอยู่แล้ว แต่การกลัวหรือกังวลใจกับภาพลักษณ์ของพรรคจนไม่กล้าตัดสินใจ จนปิดเรื่องซ่อนเอาไว้ หรือ “ซื้อเวลา” ออกไปเรื่อยๆ จนในที่สุดเรื่องแดงออกมา แล้วก็มาตามแก้ไข สุดท้ายพรรคก็เสียหายอยู่ดี และเสียหายเพิ่มเป็นหลายเท่า จนคนในสังคมเริ่ม “เอ๊ะ” ว่าพรรคก้าวไกลก็ไม่ต่างอะไรกับพรรคอื่นๆ ในเรื่องเหล่านี้ พรรคก้าวไกลได้แต่โม้โฆษณาชวนเชื่อเรื่องความเสมอภาคเท่าเทียมไปอย่างนั้นเอง

(นี่ไม่ใช่การกล่าวหาลอยๆ หรือตั้งสมมุติฐาน แต่คือข้อเท็จจริง มีคนในพรรคหลายคนมาเล่าให้ผมฟังว่า ความล่าช้าในการตัดสินใจในการจัดการปัญหาการคุกคามทางเพศ ส่วนหนึ่งเกิดจากคณะนำพรรคมัวแต่กังวลกับแต้มทางการเมือง กังวลว่าพรรคจะเสียหายโดนโจมตีในช่วงเลือกตั้ง หรือตั้งรัฐบาล)

ในส่วนของคณะนำและผู้หลักผู้ใหญ่ในพรรค ต้องช่วยกันปรับทัศนคติตนเอง ให้คิดเรื่องนี้อย่างจริงจัง ตระหนักรู้ถึงปัญหา และต้องการจัดการแก้ไขปัญหา ไม่ให้มีความรุนแรงทางเพศเกิดขึ้นในองค์กรของตน คณะนำต้องอย่าคิดแต่เรื่องภาพลักษณ์พรรค อย่าคิดแต่ว่า ปัญหาเหล่านี้เหมือน “ยุงรำคาญ” ที่บินมาไต่ตอมพรรค พอเกิดเรื่องที ก็ได้แต่บ่นกันในหมู่คณะนำของตนเองว่า “อีกแล้ว มีปัญหาอีกแล้ว ไอ้ห่าเอ๊ย เมื่อไรจะจบสักที เมื่อไรจะทำตัวดีๆ สักที เมื่อไรจะหยุดสร้างปัญหาให้พรรคเสียที” หากคณะนำและผู้หลักผู้ใหญ่ในพรรคมีทัศนคติแบบนี้ ก็จะไม่หาทางแก้ปัญหาให้ตรงจุด แต่จะเน้นแก้ปัญหาไม่ให้พรรคเสียหาย เสียภาพ มากกว่าคิดหาหนทางแก้ไขป้องกันไม่ให้เกิดเรื่องเหล่านี้อีก นานวันเข้าก็อาจนำไปสู่การคิดค้นหาวิธีการ “ปิดลับไม่ให้เรื่องแดง” ไม่ได้สนใจแก้ปัญหายุติความรุนแรงทางเพศภายในองค์กร

ข้อเสนอแนะถึง ส.ส. ผู้สมัคร ทีมงานทุกจังหวัด พนักงานพรรค การร้องเรียนเกี่ยวกับการคุกคามทางเพศเกิดขึ้นกับพรรคก้าวไกลหลายครั้ง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการคุกคามและความรุนแรงทางเพศเกิดขึ้นแต่เฉพาะกับคนของพรรคก้าวไกล มีแต่พรรคก้าวไกลที่มีแต่คนประพฤติปฏิบัติเรื่องนี้ ส่วนหนึ่งที่พรรคก้าวไกลถูกโจมตีและเป็นข่าวในเรื่องเหล่านี้บ่อยกว่าพรรคอื่นๆ ก็เพราะพรรคก้าวไกลประกาศจุดยืนเรื่องความเท่าเทียม แสดงตนว่าจะเอาจริงเอาจังกับปัญหาความรุนแรงทางเพศ ในขณะที่พรรคอื่นๆ อาจไม่สนใจหรือถือเป็นประเด็นใหญ่

ความรุนแรงทางเพศเป็นปัญหาเรื้อรังของสังคมไทย เกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย ปรากฏให้เห็นตามหน้าข่าวไม่เว้นแต่ละวัน ความรุนแรงทางเพศสามารถเกิดขึ้นกับใครก็ได้ ไม่ว่าจะมีเพศสภาพ เพศวิถี หรือรสนิยมทางเพศอย่างไร อายุเท่าไร อยู่ในสถานการณ์ไหนก็ตาม ตามรายงานของ UN WOMEN พบว่า 1 ใน 3 ของผู้หญิงทั่วโลกต้องเคยเผชิญความรุนแรงรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งในชีวิต สำหรับประเทศไทย 44% ของผู้หญิงถูกกระทำความรุนแรงจากคนในครอบครัวหรือจากคนที่ตนรู้จัก โดยสาเหตุของความรุนแรงเกิดจากความมีอคติต่อผู้หญิงและระบบปิตาธิปไตยที่ผู้ชายเป็นผู้กุมอำนาจหลัก

คนในพรรคก้าวไกลทั้งหมดสามารถร่วมมือกัน ช่วยกันจัดการปัญหาเหล่านี้ได้ สิ่งที่ง่ายที่สุดที่สามารถทำได้ทันที ไม่ต้องรอ ไม่ต้องให้พรรคกำหนดกฎกติกาหรือออกแบบระบบ นั่นก็คือ ส.ส. และคนของพรรคก้าวไกล ต้องไม่ปล่อยให้เรื่องความรุนแรงทางเพศและความเท่าเทียมระหว่างเพศเป็นประเด็นที่ ส.ส. หญิง และ ส.ส. LGBTIQ+ ทำงาน รณรงค์ หรือต่อสู้เท่านั้น คนของพรรคก้าวไกล  และ สส. ทุกคนต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการผลักดัน ส.ส. ชาย ที่มีความคิดแบบชายเป็นใหญ่ทั้งหลาย ไม่ว่าจะรูัตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม ต้องหาความรู้ ค้นคว้า อ่านหนังสือ ฟังเสวนา ในเรื่องสตรีนิยมและความเท่าเทียมทางเพศ ให้มากขึ้น อย่ามองว่าสตรีนิยมคือเรื่องของการเกลียดผู้ชาย ต้องหันมาทำความเข้าใจปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศให้ได้ก่อน

คนรุ่นเราหรือก่อนเรา ถูกปลูกฝังเลี้ยงดู ถูกสื่อ ภาพยนตร์ โฆษณา วัฒนธรรม ครอบงำ มาในแบบ “ชายเป็นใหญ่” วิธีคิดเหล่านี้ฝังหัวเราลงไป จนบางครั้ง เราไม่รู้ตัว เราไม่รู้สึกว่า การกระทำของเราแบบนี้ผิด เราคิดว่า นี่คือเรื่องปกติธรรมดา แต่เมื่อเวลาผ่านไป สังคมก้าวหน้ามากขึ้น กฎเกณฑ์ทางสังคมทางวัฒนธรรมเปลี่ยนไปมากขึ้น และเมื่อพรรคก้าวไกลประกาศจุดยืนในเรื่องเหล่านี้ บรรดาผู้ชายในพรรคทั้งหมด ก็ต้องปรับตัว พร้อมเรียนรู้

ส.ส. ชาย ผู้ชายในพรรค ต้องไม่เป็น bystanders หรือผู้เห็นเหตุการณ์แล้วแต่ไม่ทำอะไร เลือกที่จะนิ่งเฉย ธุระไม่ใช่ อย่าไปยุ่งเลย เดี๋ยวจะซวยเปล่าๆ ส.ส. ชาย ผู้ชายในพรรค ต้องไม่เป็นส่วนหนึ่งของการบ่มเพาะวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่และความมีอคติต่อผู้หญิง เมื่อไรก็ตามที่เราพบเห็นการคุกคามทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นการแตะเนื้อต้องตัวโดยไม่เหมาะสม พฤติกรรมที่สร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ไม่เป็นมิตร เช่น การเล่าเรื่องตลกทางเพศที่ลามกอนาจาร การประพฤติที่ไม่พึงประสงค์ ล่วงละเมิด หรือคุกคามอันเป็นเงื่อนไขในการจ้างงานหรือความก้าวหน้าต่างๆ เป็นต้น เราทุกคนสามารถทำอะไรบางอย่างกับเรื่องนี้ได้ โดยไม่ต้องแกล้งทำเป็นขำๆ ไปตามสถานการณ์ ต้องรู้จักตักเตือนกัน และทำความเช้าใจกันในเรื่องเหล่านี้อยู่เสมอ

ผมขอแนะนำให้ ส.ส. ชายทุกคนเริ่มจากการชมคลิป Ted Talk ของ Jackson Katz ที่พูดถึงบทบาทของผู้ชายในการแก้ปัญหาความรุนแรงทางเพศไว้ได้เข้าใจง่ายและนำไปปฏิบัติต่อได้ง่าย https://www.npr.org/…/jackson-katz-why-we-can-no-longer… คนของพรรคก้าวไกลต้องตระหนักว่า การจัดการปัญหาความรุนแรงทางเพศ เป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างจริงจัง เพื่อแก้ปัญหา ไม่ใช่ต้องทำเพราะกลัวเป็นข่าวหรือกลัวตนเองเดือดร้อนหรือกลัวพรรคเสียคะแนน แต่เราต้องทำ เพราะนี่คือส่วนหนึ่งของการรื้อถอนวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ในสังคม และสร้างความเท่าเทียมทางเพศ ความเคารพต่อผู้อื่นให้เกิดขึ้นจริง

ส.ส. หญิงของพรรคก้าวไกลก็ต้องอย่านิ่งเฉยกับสถานการณ์ ต้องหมั่นเรียกร้องภายในพรรคให้มีการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นการจัดอบรม ให้ความรู้ ทำความเข้าใจ และให้การช่วยเหลือ การเปิดพื้นที่ให้ผู้หญิงได้เข้ามีบทบาททางการเมืองอย่างแท้จริง ต้องมาพร้อมกับสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัยจากการคุกคามทางเพศสำหรับผู้หญิงและคนทุกเพศด้วย มิใช่แข่งกันแต่เพียงว่าพรรคไหนมี ส.ส. หญิงมากกว่ากันเท่านั้น

การเป็น “ลูกที่ดี” ของพรรค มิใช่ การเอาอกเอาใจคณะนำ มิใช่ การเงียบ ไม่โต้เถียง ไม่แสดงความเห็นตรงไปตรงมาต่อคณะนำ เพราะกลัวตนเองถูกหมายหัว ไม่ได้ลง ส.ส. ครั้งหน้า

การเป็น “ลูกที่ดี” ของพรรค มิใช่ คิดแต่เรื่องตนเอง คิดแต่เรื่องพื้นที่ตนเอง คิดแต่ความนิยมของตนเอง ส่วนเรื่องไหนที่เป็นเรื่องส่วนรวม ก็ไม่ยุ่ง ยุ่งแล้วเดี๋ยวซวย

การเป็น “ลูกที่ดี” ของพรรค มิใช่ การร่วมมือกันปกปิดความผิด เพื่อปกป้องภาพลักษณ์พรรค

แต่การเป็น “ลูกที่ดี” ของพรรค ต้องอยากให้พรรคดี

แล้วพรรคก้าวไกลจะดีได้อย่างไร หากทุกคนพบเห็นพฤติกรรมความรุนแรงทางเพศหรือการคุกคามทางเพศ แล้วเลือกที่จะ “เงียบ” แล้วปล่อยให้ทุกสิ่งอย่างเป็นไปสุดแท้แต่คณะนำกำหนดให้เป็น

ข้อสังเกตส่งท้าย พรรคก้าวไกลพยายามยกระดับมาตรฐานการเมืองไทย ประกาศจุดยืนเรื่องความเท่าเทียม และต่อต้านการคุกคามทางเพศและความรุนแรงทางเพศ จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่พรรคก้าวไกลจะถูกเรียกร้องมากกว่าพรรคอื่นๆ เช่นเดียวกัน ก็ถูกตามจับผิดในเรื่องเหล่านี้มากกว่าพรรคอื่นๆ ด้วย

เมื่อพรรคก้าวไกลเป็นความหวังของผู้คนจำนวนมาก พรรคก้าวไกลก็ต้องจัดการเรื่องเหล่านี้ให้สำเร็จ การวางมาตรฐานการยุติความรุนแรงทางเพศในระดับพรรค จะเป็นจุดเริ่มต้นไปสู่ระดับสังคมด้วย หากพรรคก้าวไกลทำสำเร็จ ก็จะส่งผลแรงกดดันไปถึงพรรคอื่นๆ องค์กรอื่นๆ ช่วยยกมาตรฐานให้การเมืองไทยได้

ในส่วนของพรรคอื่นๆ หรือผู้สนับสนุนพรรคอื่น หรือผู้ที่ไม่นิยมพรรคก้าวไกล หากจริงจังกับปัญหาความรุนแรงทางเพศอย่างแท้จริง ก็ต้องไม่นำปัญหาความรุนแรงทางเพศมาเป็นแค่เครื่องมือโจมตีทางการเมืองแต่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องพูดถึงประเด็นนี้ด้วยความตั้งใจจะแก้ไขปัญหาจริงๆ มิใช่ พอเกิดเรื่องกับพรรคก้าวไกลที ก็ “ถูมือ ลูบปาก” เอาล่ะ ได้ทีแล้ว พวกเรา ถล่มมันเลย แต่พอเกิดเรื่องแบบนี้กับพรรคที่ตนสนับสนุนหรือพรรคอื่นๆ ก็เงียบกริบ ทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น

ความรุนแรงทางเพศ การคุกคามทางเพศ คือ ปัญหาสำคัญของสังคมไทย คือ ปัญหาร่วมกันของทุกคน ต้องช่วยกันแก้ปัญหาอย่างจริงจัง มิใช่มุ่งเน้นแต่เอามาใช้โจมตีกันทางการเมือง

ปั้นแบรนด์ 'ปาเลสไตน์' เป็นผู้ก่อการร้าย 'ยิว' กลายเป็นผู้ถูกกระทำ สุดยอดการล้างสมอง ที่สารคดี Palestine in 1920 ช่วยไขกระจ่าง

(16 ต.ค. 66) จากเฟซบุ๊ก 'Trachoo Kanchanasatitya' โดยนายตราชู กาญจนสถิตย์ ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับกระบวนการล้างสมอง

รีวิวกระบวนการล้างสมอง ที่ผมโดนมา 

- 43 กว่าปีก่อน ผมในวัย 16 ดูหนังซีรีส์ทางช่อง 3 เรื่อง นาซีหฤโหด ผมถูกสอนให้จำความลำเค็ญแบบแสนสาหัสที่ชาวยิวที่โดนฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุด้วยวิธีที่เลวร้ายที่สุด ความสงสารชาวยิวฝังในสมองผมอย่างลึกซึ้ง

- พ่อผมที่ได้ไปดูงานที่อิสราเอล กลับมาโม้ให้ฟังถึงความเก่งของยิวในการต่อสู้กับ 6 ประเทศอาหรับแล้วชนะ เล่าถึงการปลูกพืชกลางทะเลทรายได้ ขนาดชื่อนายพลโมเช่ ดายัน นายพลคนนึงยังฝังหัวมาถึงวันนี้

- หนัง Schindler’s List ออกมาเล่าถึงความลำบากของชาวยิวในเยอรมัน ที่แม้แต่คนเยอรมันเองยังทนไม่ได้ต้องยื่นมือไปช่วยชาวยิว สร้างโดย Steven Spielberg ลูกหลานชาวยิว….

- เมื่อมีโอกาสไปเยอรมัน ผมต้องไปเบอร์ลิน ไปรับรู้ประสบการณ์หฤโหด 

>> สมองผมถูกโปรแกรมให้ยินดีกับการที่ชาวยิวมีบ้านของตัวเอง

- คำโฆษณาสุดเลิศ “A land without a people for a people without a land” ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อบอกใครๆ ว่า ชาวยิวไม่ได้แย่งที่ดินแย่งบ้านของใคร มันคือทะเลทรายที่ว่างเปล่า มีแต่ชาวยูโดอิน เร่ร่อน 

- ความยินดีในการมีบ้านของชาวยิวที่ถูกกลั่นแกล้ง ทำให้ผมตัดขาดการเรียนรู้เรื่อง “ดินแดนปาเลสไตน์ ก่อนยิวมาอยู่” ก็จะรู้ไปทำไม เรารู้หมดแล้ว

จนวันนี้ ผมได้มาดูสารคดีของ Al Jazeera เรื่อง Palestine in 1920 คือ ก่อนยิวทะลักกันมา ภาพที่ประกอบ คือ ภาพบ้านเมืองที่เจริญมากของชาวปาเลสไตน์ พวกเขาไม่ใช่คนเร่ร่อน อย่างที่เขาว่ากัน

สารคดีเรื่องนี้ เล่าถึงการทำในสิ่งที่ยิว พวกตนที่เคยโดนมาจากนาซี แต่เอามาทำกับชาวปาเลสไตน์ 

ผมตาสว่างกับ #กระบวนการล้างสมอง ที่มีมาอย่างยาวนานกับคนๆ นึงอย่างผม การแบรนดิ้งชาวปาเลสไตน์ว่าเป็น ผู้ก่อการร้าย ส่วนชาวยิวคือ ผู้โดนกระทำ มันคือ อภิมหาการตลาด

ทำไมไม่มีใครทำหนังฮอลลีวูดให้ชาวปาเลสไตน์บ้าง ก็แน่ล่ะ ใครจะให้ทุนล่ะ 

ขอบคุณ Al Jazeera ผมจะทบทวนความเข้าใจที่ผมมีต่อเรื่องต่างๆ ของโลกให้มากขึ้น 🙏

เปิดปูมหลัง เหตุความชัง ‘อิสราเอล-ยิว-ไซออนิสต์’ ที่ไม่จำกัดวงแค่คนมุสลิม ‘คริสต์-ยิว’ นอกไซออนิสต์ ก็ขยาดพฤติกรรมอ้างสิทธิ 3 พันปีตั้งอิสราเอล

เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 66 ติ๊กต๊อกช่อง ‘sulaimanwanie’ ได้ลงคลิปวิดีโอของอาจารย์สันติ เสือสมิง หรือ ‘อาลี เสือสมิง’ ประธานคณะอนุกรรมการคณะผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี ฝ่ายนิติศาสตร์อิสลาม สำนักจุฬาราชมนตรี ได้เคยออกมาบรรยายถึงสาเหตุที่ว่า ‘ทำไมมุสลิมถึงไม่ยอมรับประเทศอิสราเอล?’ ในกิจกรรมเปิดโลกอิสลาม ชมรมนิสิตมุสลิม เกษตรศาสตร์ กำแพงแสน เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2562 โดยกล่าวถึงผ่านข้อคำถามหนึ่งที่มีพูดในบรรยายครั้งนั้น ว่า…

ทำไม ‘อิสลาม’ ถึงเกลียดชังประเทศอิสราเอล และพี่น้อง ‘ชาวยิว’ ผู้นับถือศาสนายูดาห์?

เมื่อปี 1948 ‘เดวิด เบน-กูเรียน’ ประกาศตั้งประเทศอิสราเอลขึ้นในดินแดนของ ‘ชาวปาเลสไตน์’

หากย้อนกลับไปก่อนหน้านั้นในช่วงยุคกลาง เมื่อศาสนาอิสลามได้ประกาศเผยแพร่ขยายออกไปในแอฟริกาเหนือ จนกระทั่งไปถึงประเทศสเปน ซึ่งในสเปนนั้นเคยมีชาวมุสลิมปกครองอยู่อย่างยาวนาน เกือบ 800 ปี

ชาวยิวเป็นกลุ่มชนที่ได้รับการคุ้มครองโดยชาวมุสลิม และชาวยิวที่อยู่ในการปกครองของชาวมุสลิมนั้น มีสถานภาพการดํารงชีวิตมีสิทธิเสรีภาพ มีการครองชีพดีกว่าชาวยิวที่อยู่ในดินแดนยุโรปในช่วงยุคกลาง เพราะชาวยิวในยุโรปนั้นถูกชาวคริสต์กดขี่

***เพราะฉะนั้น ‘คนยิว’ กับ ‘คนมุสลิม’ สามารถอยู่ร่วมกันด้วยดีมาตลอด นับตั้งแต่มีการประกาศศาสนา

‘นบี มุฮัมมัด’ ท่านได้ทําปฏิญญาสังคม หรือ ‘ธรรมนูญปกครอง’ โดยดึงชาวยิวมาร่วมเป็นพลเมืองในรัฐมะดีนะฮ์ ซึ่งเป็นรัฐอิสลาม และได้เรียกบุคคลเหล่านี้ว่า ‘กลุ่มชนแห่งพันธสัญญา’ ที่ได้รับการคุ้มครองในชีวิตและทรัพย์สิน มีสิทธิเสรีภาพในการถือศาสนา และมีหน้าที่ในการจ่ายภาษีรัชชูปการ เมื่อจ่ายภาษีรัชชูปการแล้วก็ไม่ต้องไปเป็นทหาร และยังคงสามารถนับถือในศาสนาเดิมของตนได้

***บางคนยกเรื่องนี้ เพื่อแสดงให้คนทั่วไปเห็นว่า ชาวมุสลิมไปกดขี่ ไปรีดภาษีจากคนต่างศาสนา แต่ในเมื่อคุณเป็นพลเมืองของรัฐฯ คุณจะไม่จ่ายอะไรเลยเชียวหรือ?

คนมุสลิมต้อง ‘จ่ายซะกาต’ (Zakat) หมายถึง การบริจาคทานตามหลักการศาสนาอิสลาม และยังต้องจ่ายภาษีอีกด้วย

ดังนั้น เมื่อคนยิวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของพลเมืองภายใต้รัฐอิสลาม คุณก็ควรต้องเสียภาษีรัชชูปการส่วนนี้ด้วย เช่นเดียวกันกับพลเมืองคนอื่นๆ ในรัฐฯ

อีกทั้งเมื่อจ่ายภาษีรัชชูปการ คุณก็จะได้รับข้อยกเว้นไม่ต้องไปเป็นทหารในกองทัพด้วย คุณมีสิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนาด้วย สิ่งนี้เป็นเหมือนพันธสัญญาว่า “เมื่อคุณจ่ายภาษีนี้มา เราจะต้องปกป้องคุ้มครองคุณ”

***สิ่งนี้จึงทำให้ชาวยิวอยู่ร่วมกับชาวมุสลิมมาตราบจนกระทั่งเกิดสงครามกับนครมักกะฮ์ ที่ชาวยิวไปเข้าร่วมกับศัตรูของรัฐอิสลาม ซึ่งเป็นการกระทําที่ผิดสัญญาที่ได้เคยลงสัตยาบันกันเอาไว้ ว่าจะช่วยกันปกป้องรัฐอิสลาม แต่ชาวยิวกลับเป็นหนอนบ่อนไส้ ชักน้ำเข้าลึก ชักศึกเข้าบ้าน นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทําให้ชาวยิวถูกเนรเทศออกจากคาบสมุทรอาหรับ

กระนั้น เมื่อพ้นยุคสมัยของศาสดามุฮัมมัดไปแล้ว และเข้าสู่สมัยอาณาจักรของราชวงศ์อุมัยยะฮ์ ได้มีการสถาปนาเมืองดามัสกัสขึ้นเป็นราชธานี ซึ่งในเมืองดามัสกัสนั้นก็มีชุมชนชาวยิวอาศัยอยู่ และชาวยิวก็มีส่วนสําคัญในฐานะพลเมืองในรัฐอิสลาม ที่อยู่กันแบบสุขสบาย ต่อมาเมื่อครั้งสถาปนารัฐเคาะลีฟะฮ์อับบาซียะฮ์ ในนครแบกแดด ชาวยิวก็มีชุมชนอยู่ข้างพระราชวังหลวงของเคาะลีฟะฮ์ เมื่อมุสลิมพิชิตดินแดนในสเปน ที่เมืองกอร์โดบา เมืองกรานาดา ที่เดิมทีเป็นถิ่นฐานของชาวยิว และชาวมุสลิมก็ได้สร้างอาณาจักรอยู่ที่นั่นร่วมกับชาวยิว

***ชาวยิวไม่ได้ถูกกดขี่ในดินแดนของชาวมุสลิม แต่ถูกกดขี่อยู่ในดินแดนของชาวคริสต์ เพราะชาวยิวเป็นผู้สังหาร ‘พระเยซูคริสต์’ บนไม้กางเขน

ชาวยิวอยู่กับชาวมุสลิมมาโดยตลอด จนกระทั่งจักรวรรดิอังกฤษเริ่มล่าอาณานิคม ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้มีการดึงชาวยิวที่อพยพจากดินแดนต่างๆ มารวมกัน เพื่อสร้างนิคมของชาวยิวในดินแดนของชาวปาเลสไตน์ ทำให้ทางสุลต่านแห่งตุรกี ได้ออกมาประกาศว่า “คุณจะไปอยู่ในดินแดนไหนของออตโตมันก็ได้ แต่ไม่ให้ไปอยู่ในดินแดนของปาเลสไตน์”

***แต่ ‘องค์การไซออนิสต์สากล’ ก็ได้ออกมาประกาศเรียกร้องให้ชาวยิวกลับไปสู่ปาเลสไตน์ เพราะเป็นดินแดนแห่งพันธสัญญา

ประเด็นคือ หากจะบอกว่าชาวมุสลิมเกลียดชังประเทศอิสราเอล ต้องขอบอกว่าไม่ใช่เพียงแค่ชาวมุสลิมอย่างเดียว ชาวคริสต์ที่เป็นคนอาหรับนั้นก็รังเกียจประเทศอิสราเอลเช่นกัน เพราะชาวคริสต์ที่เป็นชาวอาหรับที่อาศัยอยู่ในเลบานอนก็มี อาศัยอยู่ในซีเรียก็มี แม้แต่ในเมืองเบธเลเฮม หรือเมืองนาซาเร็ธ ก็มีชาวอาหรับอาศัยอยู่ ซึ่งแม้เขาจะถือในศาสนาคริสต์ แต่เขาก็ไม่ชอบอิสราเอลเหมือนกัน

แม้กระทั่งชาวยิวในนิกายอื่นที่ไม่ใช่พวกไซออนิสต์ ก็มีการประท้วงไม่เห็นด้วยกับการที่ไปตั้งประเทศอิสราเอล เพราะประเทศอิสราเอลนี้เอาเรื่องในเหตุการณ์เมื่อ 3,000 ปีก่อนคริสตกาล มาอ้างว่า “ดินแดนแห่งนี้เป็นของตน”

ประเด็นคือ ชาวยิวนั้น เดิมเป็นลูกหลานของ ‘ยิตซ์ฮาก’ (นบีอิสฮาก) บุตรของ ‘อับราฮัม’ ที่กำเนิดกับ ‘นางซาร่า’ ซึ่งเดินทางมาจากเมืองหนึ่งในเมโสโปเตเมีย ที่อยู่ในอิรัก สู่ ‘ดินแดนคานาอัน’ ของชาวคานาอัน ซึ่งชาวคานาอันนั้น เดิมทีเมื่อ 2,500 ปีก่อนคริสตกาล ได้ไปผสมรวมกับชาวเมืองที่มาจากเกาะครีตมาขึ้นที่เมืองเพทรัส หรือปารัส ซึ่งต่อมาได้มีการเรียกกลุ่มคนที่อยู่ที่เมืองปารัส ว่า ‘ปารัสชีอะห์’ เรียกดินแดนตรงนี้ว่า ‘ปีรัสเทียร์’ ซึ่งคือ ‘ปาเลสไตน์’

ดังนั้น คนปาเลสไตน์ ก็คือลูกผสมระหว่างคานาอันกับปาเลสไตน์ เขาว่ากันว่า เมื่อเราไปตรวจดีเอ็นเอของชาวปาเลสไตน์ จะพบว่า ชาวปาเลสไตน์ในปัจจุบันนี้นั้น มีผลดีเอ็นเอตรงกับคนเมื่อประมาณ 3,000 ปีก่อนคริสตกาล หรือตั้งแต่สมัยฟินิเชียนนั่นเอง

เพราะชาวปาเลสไตน์ไม่เคยถูกขับไล่ให้ไปไหนเลย มีแต่ชาวยิวเท่านั้นที่แตกแยกย้าย กระจัดกระจายไปทั่วทุกดินแดนทั่วโลก ในขณะที่ชาวปาเลสไตน์ก็ยังคงอยู่ในดินแดนปาเลสไตน์

‘หน.อุทยานฯ เขาใหญ่’ แจงดรามา กลุ่มคนวิ่งไล่ตามถ่ายภาพช้างป่า เตือน!! อย่าหาทำ เพราะเป็นช่วงฤดูตกมัน หวั่นเกิดอันตรายกับ นทท.

หลังมีดรามา ตามถ่ายภาพช้างป่าเขาใหญ่ 3 ตัว ชื่อแม่ด้วน ช้างแม่ลูกอ่อน ‘น้องจิ๊ดริด’ และพี่สาวชื่อไพริน ออกมาหากินริมถนน ระหว่า กม.37-38 ถนนที่ทำการไปเหวนรก บนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ขณะเจ้าหน้าที่กำลังดูแลและเพื่อต้อนช้างป่าอยู่นั้น มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก จอดรถลงไปเดินตามช้างถ่ายภาพ ดูแล้วอาจจะเกิดอันตรายหากช้างมีอาการหงุดหงิด และบางคนวิ่งตามถ่ายภาพ เห็นภาพแล้วหลายคนบอกเป็นการไปรบกวนช้างป่าหรือไม่

ล่าสุดวันที่ 15 ต.ค. 66 นายชัยยา ห้วยหงษ์ทอง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ กล่าวว่า หลังจากมีการเผยแพร่ภาพทางโลกโซเชี่ยล หลายคนก็โทรมาสอบถาม และได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ ที่ดูแลในเวลานั้นว่า เหตุการณ์จริงช่างภาพ กับช้างอยู่ห่างกันไกลพอสมควร ประมาณ 50 เมตร แต่มุมภาพจะดูว่าอยู่ใกล้ช้าง

แต่ถึงอย่างไรก็ไม่ควรให้นักท่องเที่ยวหรือช่างภาพลงมาเดินถ่ายภาพ อาจจะเกิดอันตรายหากมีช้างตัวอื่น ๆ ที่หลบอยู่ในป่าข้างทางวิ่งออกมาทำร้ายได้ เนื่องจากช่วงนี้เป็นฤดูช้างตกมัน และพื้นที่ก็เป็นบ้านของสัตว์ป่า และได้กำชับเจ้าหน้าที่ให้เข้มงวดมากกว่านี้ ถ้าเป็นไปได้ อย่าหาทำ

ซึ่งก็ขอฝากนักท่องเที่ยวขึ้นไปท่องเที่ยวในเขตอุทยานฯ ให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบ 4 ม.คือ 1.) ไม่ขับรถเร็ว 2.) ไม่ส่งเสียงดังรบกวน 3.) ไม่ให้อาหารสัตว์ป่า 4.) ไม่ทิ้งขยะ และห้ามนำสัตว์เลี้ยงขึ้นไปไม่กดแตรรถ ไม่ดับเครื่องยนต์ และอย่าเข้าใกล้สัตว์ป่าอยู่ห่างอย่างน้อย 50 เมตร เพื่อความปลอดภัย

‘รัฐบาล’ เตือน ‘คนไทยในฝรั่งเศส’ เลี่ยงพื้นที่ชุมนุม-สถานที่ท่องเที่ยว  หลังทางการออกประกาศยกระดับเฝ้าระวังเหตุก่อการร้ายสูงสุด

(15 ต.ค. 66) นายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ประชาสัมพันธ์ข่าวสารจากสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงปารีส ประกาศเตือนคนไทยในฝรั่งเศสให้เพิ่มความระมัดระวังในการเดินทาง-ท่องเที่ยว ภายหลังทางการฝรั่งเศสประกาศยกระดับการเฝ้าระวังสถานการณ์การก่อการร้ายเป็นระดับสูงสุด

จากกรณีเกิดเหตุร้ายเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งทางการฝรั่งเศสคาดว่าอาจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลาง อีกทั้งต่อมาในวันที่ 14 ตุลาคม 2566 ทางการฝรั่งเศสได้มีการอพยพผู้คนโดยด่วนออกจากพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ และพระราชวังแวร์ซาย และสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญอื่น ๆ เนื่องจากทางการฝรั่งเศสได้รับแจ้งเตือนว่าอาจมีการวางระเบิดในพื้นที่ดังกล่าว

ทางสถานเอกอัครราชทูตฯ จึงได้ประกาศเตือนคนไทยและนักท่องเที่ยวชาวไทยในฝรั่งเศสให้เพิ่มความระมัดระวังในการเดินทาง หลีกเลี่ยงพื้นที่ชุมชนและสถานที่ท่องเที่ยว ตรวจสอบเส้นทางการเดินทาง และการเปิดทำการของสถานที่ต่าง ๆ รวมทั้งติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และปฏิบัติตามคำแนะนำของทางการฝรั่งเศสอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ หากมีเหตุด่วนและฉุกเฉินต้องการความช่วยเหลือจากสถานเอกอัครราชทูตฯ กรุณาติดต่อหมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉิน +33 6 03 59 97 05 และ +33 6 46 71 96 94

“รัฐบาลห่วงใยสวัสดิภาพและความปลอดภัยของประชาชนไทยทุกคนด้วยขอให้ติดตามข่าวสารจากช่องทางหลักของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนการเดินทาง หรือก่อนวางแผนการเดินทางทุกครั้ง” นายสัตวแพทย์ชัย กล่าว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top