Wednesday, 21 May 2025
Hard News Team

‘เอกนัฏ’ หนุนพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันภัยพิบัติ เตรียมเปิดตัว ‘กำแพงป้องกันน้ำท่วม’ จากวัสดุเหลือใช้

(29 ต.ค. 67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากสภาวะโลกร้อนที่เพิ่มความรุนแรงขึ้นจนเป็นสภาวะโลกเดือดในปัจจุบัน ส่งผลให้ภูมิอากาศทั่วโลกแปรปรวนเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังจะเห็นได้จากภัยน้ำท่วมอย่างรุนแรง และต่อเนื่องในพื้นที่ต่าง ๆ ในประเทศไทยก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินกว่า 3.1 พันล้านบาท 

ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรม ตามนโยบาย “ปฏิรูปอุตสาหกรรม ในการสร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมผ่านการสนับสนุนอุตสาหกรรมป้องกันภัยพิบัติเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ นำร่องการสร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ จึงได้มอบหมายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) เข้าไปส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันภัยพิบัติ เพื่อให้สามารถผลิตอุปกรณ์รองรับภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต 

โดยเฉพาะอุปกรณ์ในด้านการป้องกันภัยจากน้ำท่วม ที่เป็นปัญหาสำคัญของไทย และเกิดขึ้นได้เกือบทุกปี ซึ่งจะช่วยป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากเหตุอุทกภัย โดยสามารถผลิตได้เองภายในประเทศ ลดการนำเข้าเนื่องจากสินค้ามีราคาสูง รวมทั้งยังสามารถส่งออกไปยังต่างประเทศได้อีกด้วย นอกจากนี้ วัสดุที่นำมาใช้มีทั้งที่เป็นนวัตกรรมจากวัสดุคอมโพสิต และวัสดุเหลือใช้ตามแนวคิด BCG ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 

ด้าน นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ได้ดำเนินการวิจัย และพัฒนาวัสดุ รวมทั้งบูรณาการกับหน่วยงานภาคเอกชนในการส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันภัยพิบัติ เพื่อพัฒนาต้นแบบอุปกรณ์ป้องกันน้ำท่วม 

โดยพัฒนาวัสดุกำแพงป้องกันน้ำท่วมผลิตจากนวัตกรรมวัสดุคอมโพสิต หรือเศษขยะพลาสติกเหลือทิ้งนำมาบดขึ้นรูปใหม่ (upcycling Recycle) ตามแนวคิด BCG โดยมีวัสดุทางเลือกจากการวิจัยมีคุณสมบัติที่โดดเด่นในเรื่องความแข็งแรงทนทาน มีน้ำหนักเบา และมีราคาถูกกว่าการนำเข้า รวมทั้งยังช่วยลดปริมาณขยะพลาสติก และนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มได้ 

นอกจากนี้ ยังใช้ระบบ KNOCK DOWN ที่สามารถติดตั้งได้อย่างรวดเร็ว แม่นยํา และปลอดภัย เหมาะสำหรับติดตั้งบริเวณประตูทางเข้าออกของโครงการ หรืออาคาร ทางลงชั้นจอดรถใต้ดิน หน้าบันไดเลื่อน หน้าลิฟต์ และล้อมเครื่องจักรมูลค่าสูง เป็นต้น อีกทั้ง จะสามารถนำนวัตกรรมนี้ไปถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้ประกอบการเพื่อผลิตและจำหน่ายเชิงพาณิชย์ต่อไปในอนาคตได้อีกด้วย นางสาวณัฏฐิญา กล่าวทิ้งท้าย

Equinix ประกาศตั้ง Data Center ในประเทศไทย ลงทุน 1.6 หมื่นล้าน เป็นศูนย์กลางของภูมิภาค CLMVT

(29 ต.ค. 67) นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ในช่วงปีที่ผ่านมา เราเห็นกระแสการลงทุนในไทยของบริษัทยักษ์ใหญ่ในกิจการ Data Center ระดับโลกอย่างต่อเนื่อง 

ปัจจุบันมีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนในกิจการ Data Center และ Cloud Service รวม 47 โครงการ มูลค่าลงทุนกว่า 173,000 ล้านบาท 

ล่าสุดบริษัท Equinix ผู้ให้บริการ Data Center แบบ Colocation อันดับ 1 ของโลก จากประเทศสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันมี Data Center ให้บริการมากกว่า 260 แห่ง ใน 72 เมืองทั่วโลก ได้ประกาศแผนการลงทุน Data Center ในประเทศไทย มูลค่ารวมกว่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 16,500 ล้านบาท) ในระยะ 10 ปีข้างหน้า ซึ่งบีโอไอได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนโครงการในเฟสแรกมูลค่ากว่า 7,180 ล้านบาทแล้ว โดยจะเปิดให้บริการในปี 2570

เหตุผลที่ Equinix ได้ตัดสินใจเลือกประเทศไทยเป็นที่ตั้ง Data Center แห่งใหม่ เพื่อรองรับลูกค้าในประเทศไทยและกลุ่มประเทศในเขตภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (CLMVT) มี 3 เหตุผลสำคัญ คือ 

(1)ความพร้อมของไทยในการเป็นศูนย์กลางธุรกิจดิจิทัลของภูมิภาค โดยเฉพาะการเป็น Connecting Hub สำหรับกลุ่ม CLMVT ที่มีประชากรรวมกันกว่า 250 ล้านคน  

(2)ศักยภาพของตลาดในประเทศที่ขยายตัวสูง จากการเติบโตของเทคโนโลยี AI และความต้องการของภาคธุรกิจในการยกระดับองค์กรไปสู่ยุคดิจิทัล (Digital Transformation) รวมทั้งนโยบายเชิงรุกด้าน Cloud First Policy ที่จะช่วยกระตุ้นดีมานด์จากการสนับสนุนให้ภาครัฐและองค์กรต่าง ๆ ใช้เทคโนโลยี Cloud ซึ่งจะส่งผลให้ตลาด Data Center ในไทยขยายตัวมากขึ้น  

(3) นโยบายส่งเสริมการลงทุนที่ชัดเจนของรัฐบาลและบีโอไอ ประกอบกับโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลที่มีคุณภาพสูง ทั้งโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เครือข่าย 5G ระบบไฟฟ้าที่มีความเสถียร และสัดส่วนการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอยู่ในระดับสูงกว่าร้อยละ 85 ของประชากรทั้งหมด 

“การประกาศลงทุนครั้งใหญ่ในไทยของ Equinix จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลของประเทศไทย ช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเข้าถึงโครงข่ายเทคโนโลยีดิจิทัลคุณภาพสูง เพิ่มโอกาสในการสร้างสรรค์สินค้าและบริการใหม่ ๆ และช่วยสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคการผลิต การเงิน การค้า การท่องเที่ยว และ Digital Services ต่าง ๆ 

นอกจากนี้ Equinix ยังมีแผนถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับบุคลากรไทย โดยผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยเตรียมคนไทยให้พร้อมรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในอนาคตด้วย” นายนฤตม์ กล่าว

‘บิ๊กเล็ก’ เปิดเฟซบุ๊กแฟนเพจอย่างเป็นทางการ ช่องทางใหม่สื่อสารระหว่างกระทรวง-ประชาชน

เมื่อวานนี้ (28 ต.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พลเอก ณัฐพล นาคพาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ดำเนินการเปิดช่องทางการสื่อสารกับประชาชนผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจที่มีชื่อว่า ‘สนามไชย2’ พร้อมมีการโพสต์แนะนำเฟซบุ๊กแฟนเพจ ความว่า 

'สนามไชย๒' เป็นช่องทางสื่อสารที่สร้างการรับรู้และสร้างความเข้าใจกับประชาชนในกิจกรรมต่าง ๆ ของกระทรวงกลาโหม โดยเฉพาะภารกิจที่ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมได้รับมอบหมายจากท่านภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ภายใต้แนวคิดการสื่อสารเพื่อ 'รวมไทยไปด้วยกัน'

พลเอก ณัฐพล นาคพาณิชย์
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม
28 ตุลาคม 2567

#สนามไชย2
#รวมไทยไปด้วยกัน

อธิบดีกรมวิชาการเกษตรจับมือประธานคณะกรรมการพืชสวนโลก ( AIPH ) ลุยเดินหน้าจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี 1 พฤศจิกายน 2569

(29 ต.ค. 67) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2569 ได้มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตร และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) (สสปน.) เข้าร่วมพิธีปิดงานมหกรรมพืชสวนโลกนครเฉิงตู Chengdu Expo 2024 ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน พร้อมทั้งหารือกับสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ (AIPH)

โดยเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2567 นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) และพันโทวรายุส์ ตรีวัฒนสุวรรณ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี ได้ประชุมหารือร่วมกับ Mr. Leonardo Capitanio ประธานสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ Mr. Tim Briercliffe เลขาธิการสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ และคณะกรรมการสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ
สาระสำคัญสรุป ดังนี้

สมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ (AIPH) ได้แนะนำแนวทางการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2569 ภายใต้ข้อจำกัดในเรื่องของระยะเวลาในการเตรียมการจัดงานที่มีอย่างจำกัดเพียง 1 ปี 4 เดือน ประกอบกับได้รับทราบข้อมูลว่าการจัดซื้อจัดจ้างในครั้งนี้ยังไม่มีผู้รับจ้างมาดำเนินงาน ดังนี้

1. เสนอให้มีการปรับแบบผังแม่บท โดยให้ลดความสลับซับซ้อน (Complexity) ของโครงสร้างและอาคาร แต่ยังคงสามารถสื่อสารความเป็นไทยและสอดคล้องกับธีมของงาน ทั้งนี้ ขอให้กรมวิชาการเกษตรหารือแนวทางการปรับปรุงผังแม่บทให้รีบปรับปรุงตามข้อแนะนำดังกล่าว รวมถึงได้แนะนำให้ปรึกษากับ Mr. John Boon ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบผังแม่บทมหกรรมพืชสวนโลกของ AIPH เพื่อช่วยให้คำแนะนำแนวทางการปรับปรุงผังแม่บทใหม่ เพื่อให้สามารถดำเนินการก่อสร้างได้ภายใต้ระยะเวลาที่จำกัด

2. เสนอให้ปรับลดขนาดของพื้นที่จัดงานลง เนื่องจากการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานีเป็นระดับ B ซึ่งตามข้อกำหนดของ AIPH กำหนดพื้นที่อย่างน้อยประมาณ 150 ไร่ หากประเทศไทยจะลดขนาดพื้นที่จัดงานลงจากเดิมที่กำหนดไว้ประมาณ 1,030 ไร่ ให้เหลือครึ่งหนึ่ง หรือ 400-500 ไร่ ก็สอดคล้องกับคำแนะนำของ AIPH เมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 ในการตรวจติดตามพื้นที่จัดงานมหกรรมพืชสวนโลกฯ (Site Inspection) ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับการจัดงานของประเทศไทยตามข้อจำกัดดังกล่าว ทั้งนี้ ประธาน AIPH เน้นย้ำว่าแนวทางการจัดงานของ AIPH คือ “Less is the best”

3. อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) และผู้แทนจังหวัดอุดรธานี ได้เสนอขอให้ขยายระยะเวลาการส่งมอบพื้นที่ให้แก่ประเทศสมาชิก AIPH เพื่อเข้ามาดำเนินการจัดสวนและก่อสร้างอาคารนานาชาติ ก่อนเปิดงาน 3 เดือน จากเดิมต้องส่งมอบพื้นที่ให้ AIPH ก่อนเปิดงาน 6 เดือน (วันที่ 1 สิงหาคม 2569 แทนวันที่ 1 พฤษภาคม 2569) เพื่อให้มีระยะเวลาในการก่อสร้างและปรับปรุงภูมิทัศน์เพิ่มมากขึ้น ซึ่งคณะกรรมการ AIPH ได้เห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

4. เน้นความสำคัญของการจัดแสดงทางด้านพืชสวน เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความหลากหลายของพืช/ต้นไม้/ดอกไม้/ไม้ประดับ โดยขอให้เน้นการจัดสวนอย่างมีคุณภาพมากกว่าปริมาณ รวมทั้ง ขอให้เร่งดำเนินการในการจัดเตรียมพื้นที่และสถานที่สำหรับการพักและอนุบาลต้นไม้ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก โดยทาง AIPH ได้เน้นย้ำว่า โครงการ Type B โดยปกติในส่วนของอาคาร จะเป็น Temporary Building เป็นส่วนใหญ่

5. แนะนำให้เชิญชวนภาครัฐ ภาคเอกชน และเมืองอื่นๆ ทั้งในและต่างประเทศ เข้าร่วมการจัดสวนองค์กร สวนเมืองพี่เมืองน้อง สวนจังหวัด เพื่อเพิ่มความหลากหลายและการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน กรมวิชาการเกษตร สสปน. และผู้แทนของจังหวัดอุดรธานี จะนำข้อมูลดังกล่าว รายงานต่อคณะกรรมการบริหารการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกฯ และคณะกรรมการอำนวยการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกฯรวมทั้งสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกฯ ทั้งนี้ จังหวัดอุดรธานีต้องเร่งดำเนินการส่งมอบกรรมสิทธิ์ผังแม่บทให้กรมวิชาการเกษตรโดยด่วนที่สุด และเร่งปรับสภาพพื้นที่ให้แล้วเสร็จตามกำหนด ภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2567เพื่อที่กรมวิชาการเกษตร พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง เชิญชวนผู้รับจ้างจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกฯ ใหม่ต่อไปอีกครั้ง

โดยการปรับปรุงตามคำแนะนำดังกล่าว จะสร้างความมั่นใจให้แก่คณะกรรมการ AIPH ในโอกาสที่มีกำหนดการลงตรวจติดตามพื้นที่จัดงานมหกรรมพืชสวนโลก (Site Inspection) ทั้งในจังหวัดอุดรธานี และจังหวัดนครราชสีมา ระหว่างวันที่ 24-28 พฤศจิกายน 2567 และในการประชุม AIPH Spring Meeting ณ จังหวัดเชียงราย ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2568

โอกาสนี้ นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้กล่าวขอบคุณประธาน และคณะกรรมการ AIPH สำหรับคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ และเตรียมเชิญประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมบัญชีกลาง สำนักงบประมาณ ผู้ประกอบการที่เคยได้รับการเชิญชวน และขอเชิญชวนผู้ประกอบการรายใหม่มาร่วมรับทราบแนวทางในการปรับผังแม่บทที่ยังคงเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการจัดงานและข้อกำหนดของ AIPH ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ต่อไป เพื่อให้สามารถ บรรลุวัตถุประสงค์ของการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี และเพื่อให้เปิดงานได้ตามกำหนดในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2569

THE STATESTIMES เปิดตำรา ไขข้อสงสัย ‘ให้โดยเสน่หา’ คืออะไร เรียกคืนได้หรือไม่

(28 ต.ค. 67) จากกระแสข่าวระหว่าง ‘ทนายตั้ม ษิทรา เบี้ยบังเกิด’ กับ ‘เจ๊อ้อย’ ถึงเงินพิพาทกว่า 71 ล้านบาท ที่เกิดขึ้นนำมาสู่ข้อสงสัยให้กับสังคมว่า ‘การให้โดยเสน่หา’ คืออะไร 

การให้โดยเสน่หา หรือ การให้ อยู่ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 521 ลักษณะที่ 3 ให้ และอยู่ในบรรพที่ 3 คือ เอกเทศสัญญา

ดังนั้น การให้ หรือ ให้โดยเสน่หา คือ สัญญารูปแบบหนึ่งนั้นเอง 

โดยมาตรา 521 ได้บัญญัติไว้ว่า “อันว่าให้นั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า ผู้ให้ โอนทรัพย์สินของตนให้โดยเสน่หาแก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า ผู้รับ และผู้รับยอมรับเอาทรัพย์สินนั้น”

สรุปง่าย ๆ คือ การมอบทรัพย์สินของตัวเองให้คนอื่น โดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทนนั้นเอง 

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม กฎหมายก็ได้กำหนดไว้ว่าในบางกรณีผู้ให้โดยเสน่หา หรือ ผู้ให้สามารถขอทรัพย์สินของตนเองคืนได้ โดยบัญญัติไว้ในมาตรา 531 ความว่า

“อันผู้ให้จะเรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุผู้รับประพฤติเนรคุณนั้น ท่านว่าอาจจะเรียกได้แต่เพียงในกรณีดังจะกล่าวต่อไปนี้
(1) ถ้าผู้รับได้ประทุษร้ายต่อผู้ให้เป็นความผิดฐานอาชญาอย่างร้ายแรงตามประมวลกฎหมายลักษณะอาชญา หรือ
(2) ถ้าผู้รับได้ทำให้ผู้ให้เสียชื่อเสียง หรือหมิ่นประมาทผู้ให้อย่างร้ายแรง หรือ
(3) ถ้าผู้รับได้บอกปัดไม่ยอมให้สิ่งของจำเป็นเลี้ยงชีวิตแก่ผู้ให้ ในเวลาที่ผู้ให้ยากไร้และผู้รับยังสามารถจะให้ได้”

ซึ่งจากการสืบค้นคำพิพากษาศาลฎีกา ซึ่งเป็น Case Study สำหรับเรื่องกฎหมายแล้ว พบว่าส่วนใหญ่เรื่องที่ขึ้นศาลเกี่ยวกับการให้ จะเกี่ยวข้องกับการขอทรัพย์สินคืน เนื่องจากประพฤติเนรคุณจากเหตุทำให้ผู้ให้เสียชื่อเสียง ผ่านการหมิ่นประมาทผู้ให้นั่นเอง

‘ธนาธร’ ออกจดหมายเปิดผนึกถึง ‘นายกฯ แพทองธาร’ ทบทวนออกสัมปทานซื้อพลังงานหมุนเวียน 3,600 เมกะวัตต์

(28 ต.ค. 67) ‘ธนาธร’ ออกจดหมายเปิดผนึกถึง ‘นายกฯ แพทองธาร’ ขอทบทวนการออกสัมปทานรับซื้อพลังงานหมุนเวียน 3,600 เมกะวัตต์ ชี้อาจเอื้อประโยชน์กลุ่มทุนพลังงาน

วันที่ 28 ต.ค.67 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า เผยแพร่จดหมายถึง นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ระบุ
[จดหมายเปิดผนึกถึงคุณแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี]

เรื่อง ขอให้ทบทวนการออกสัมปทานรับซื้อพลังงานหมุนเวียน 3,600 เมกะวัตต์ ซึ่งอาจเอื้อประโยชน์กลุ่มทุนพลังงาน

ผมเขียนจดหมายฉบับนี้ขึ้นเพราะไม่เห็นด้วยกับการประกาศรับซื้อพลังงานหมุนเวียน 3,600 เมกะวัตต์โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือ กพช. ที่ท่านนายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งเป็นประธาน

ผมเห็นว่าการรับซื้อพลังงานครั้งนี้ รับซื้อด้วยราคาที่แพงเกินไป ไม่มีการเปิดประมูลเพื่อให้มีการแข่งขัน ซึ่งหากดำเนินการต่อไป อาจจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้า ส่งผลให้รัฐและประชาชนต้องจ่ายค่าไฟแพงเกินไปโดยไม่จำเป็น  

การจัดซื้อพลังงานหมุนเวียน 3,600 เมกะวัตต์ครั้งนี้ ใช้ราคาและหลักการเดียวกับการจัดซื้อพลังงานหมุนเวียน 5,200 เมกกะวัตต์ในปี 2565 สมัยที่คุณประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังเป็นนายกรัฐมนตรี การจัดซื้อครั้งนั้น มีเอกชนเสนอขายมากกว่าจำนวนที่รัฐบาลต้องการซื้อถึง 3.3 เท่าตัว (ต้องการซื้อ 5,200 เมกะวัตต์ เอกชนเสนอขาย 17,400 เมกะวัตต์) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าราคารับซื้อสูงเกินกว่าราคาตลาด จึงมีเอกชนสนใจเสนอขายจำนวนมาก

ในฐานะที่คุณแพทองธารเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ผมขอให้ท่านทบทวนนโยบายการจัดซื้อพลังงาน 3,600 เมกะวัตต์นี้เสียใหม่ การประกาศผู้ได้รับการคัดเลือกจะเกิดขึ้นปลายปีนี้ และลงนามในสัญญาปีหน้า ยังไม่สายเกินไปที่จะทำให้การเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่การใช้พลังงานสะอาดเป็นไปด้วยความเป็นธรรม

ในการตอบกระทู้สดของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเมื่อสัปดาห์ที่แล้วในสภาผู้แทนราษฎร คุณพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ตอบคุณณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน ผู้ตั้งกระทู้ ว่าท่านเห็นด้วยว่าเงื่อนไขมีข้อบกพร่อง และรับปากกับสภาว่าจะทบทวนการซื้อพลังงานครั้งนี้เช่นกัน 

อย่างไรก็ตาม ผมจำเป็นต้องเรียนท่านนายกรัฐมนตรีว่า อำนาจในการหยุดยั้งแก้ไข ไม่ได้อยู่ที่ท่านรัฐมนตรี แต่อยู่ที่ตัวท่านนายกฯ เอง ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ

อย่าให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดเป็นโอกาสให้กลุ่มทุนร่ำรวยขึ้นโดยไม่ต้องอาศัยนวัตกรรมใดๆ ที่ทำประโยชน์ให้กับประเทศ

อย่าให้ประชาชนต้องรับภาระการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดด้วยการจ่ายค่าไฟที่แพงขึ้นอย่างไม่เป็นธรรม

จากการประเมินเบื้องต้น หากการรับซื้อพลังงานหมุนเวียน 3,600 เมกะวัตต์ ดำเนินต่อไปด้วยเงื่อนไขปัจจุบัน รัฐจะจ่ายค่าไฟแพงกว่าที่ควรจะเป็นหากเกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรมถึง 66,000 ล้านบาท (พิจารณาจากมูลค่าปัจจุบัน)

ท่านนายกรัฐมนตรีมีทางเลือกคือ หากต้องการดำเนินนโยบายนี้ต่อ ผมขอให้มีการประมูล ให้เอกชนแข่งขันกัน ไม่ใช่กำหนดราคาตายตัว เช่นเงื่อนไขปัจจุบันหรือเงื่อนไขแบบ 5,200 เมกะวัตต์ของปี 2565 หรือใช้กลไก Direct PPA ที่มีอยู่ ที่เปิดให้ผู้ผลิตซื้อขายกับผู้ใช้ได้โดยตรง

ไปไกลกว่านั้น หากท่านต้องการปฏิรูปอุตสาหกรรมพลังงานอย่างจริงจัง ท่านมีทางเลือกคือการยุติการจัดซื้อครั้งนี้ ปฏิรูปอุตสาหกรรมการผลิตและการขายพลังงาน ให้เกิดการแข่งขันอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม สอดคล้องต่อการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคพลังงานสะอาด  

ท่านนายกรัฐมนตรีย่อมทราบดีว่าพรรคเพื่อไทยก็มีนโยบายที่ต้องการจะลดราคาพลังงาน และปรับเปลี่ยนโครงสร้างและการบริหารจัดการพลังงานเช่นกัน การรับซื้อพลังงาน 3,600 เมกะวัตต์ ที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานกำลังทำอยู่นี้ ขัดแย้งโดยสิ้นเชิงต่อแนวนโยบายของพรรคเพื่อไทย

ค่าไฟแพงไม่ใช่ความบังเอิญ และไม่ใช่ผลจากการแข่งขัน แต่มาจากนโยบายรัฐ 20 ปีที่ผ่านมา เราปล่อยให้นโยบายพลังงานสร้างกลุ่มทุนพลังงานที่รวยเป็นแสนล้านขึ้นในประเทศไทย ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนห่างขึ้นมหาศาล รัฐออกนโยบายเอื้อกลุ่มทุนผูกขาด ส่วนประชาชนต้องแบกรับผลกระทบในฐานะเป็นคนจ่ายค่าไฟ

วันนี้ ท่านมีอำนาจที่จะพิจารณาชะลอ หยุดยั้ง หรือเปลี่ยนแปลงแนวทางปฏิบัตินี้ ผมหวังว่าท่านจะใช้อำนาจนั้นเพื่อรับใช้ประชาชน

ขอแสดงความนับถือ
ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
28 ตุลาคม 2567“

‘สุชาติ ชมกลิ่น’ ย้ำเตรียมความพร้อมทุกมิติ ลดผลกระทบราคา ‘ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์’ ตกต่ำ

(28 ต.ค. 67) นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้รับมอบหมายจากนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ตอบกระทู้แทนท่านนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นกระทู้ถามด้วยวาจาของท่านเศรณี อนิลบล สมาชิกวุฒิสภา เกี่ยวกับประเด็นราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ว่า

“กระผมในฐานะที่ได้รับมอบหมายให้มาชี้แจงประเด็นต่อท่านสมาชิกวุฒิสภาในวันนี้ ก่อนอื่นจะขอนำเรียนว่า ท่านนายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ได้ให้ความสำคัญในการช่วยเหลือดูแลสินค้าเกษตร ซึ่งถือเป็นนโยบายหลักของรัฐบาล และด้วยความเป็นห่วงของท่านนายก ท่านได้ให้นโยบายให้ส่วนราชการหามาตรการต่าง ๆ ในการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรอย่างเร่งด่วน 

โดยเฉพาะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับกระทรวงพาณิชย์ ในส่วนประเด็นของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์ขอชี้แจงภาพรวม ถึงปริมาณข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของประเทศไทยผลิตได้ประมาณ 4.9-5.0 ล้านตัน ขณะที่ความต้องการใช้มีประมาณ 8.91 ล้านตัน แต่ปัญหาคือการกระจุกตัวของผลผลิต โดยจะออกพร้อมกันประมาณ 70% - 80% ช่วงกันยายน – ธันวาคม ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวส่งผลให้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เกษตรกรขายได้ปรับตัวลดลง“

ในส่วนของราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ความชื้น 14.5% อยู่ที่ 9.23 บาท/กิโลกรัม และโรงงานอาหารสัตว์รับซื้อ อยู่ที่ 9.80 บาท/กิโลกรัม ซึ่งเมื่อเทียบกับราคาเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี (ปี62-64) ที่ 8.60 บาท/กิโลกรัม และ 9.29 บาท/กิโลกรัม ซึ่งมีสถานการณ์ปกติ ไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครน แล้วพบว่าราคายังสูงกว่า 7% และ 5% ตามลำดับ 

สำหรับราคาที่มีแนวโน้มลดลงตั้งแต่ต้นเดือนกันยายน 2567 นั้น เกิดจากผลกระทบฝนตกหนักและน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ทำให้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีความชื้นสูง ประกอบกับเกษตรกรเร่งเก็บผลผลิตที่ยังไม่ครบอายุ ส่งผลให้พ่อค้ารวบรวมปรับปรุงคุณภาพไม่ทัน มีการชะลอการรับซื้อผลผลิตของเกษตรกร 

ในเรื่องนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายพิชัย นริพทะพันธุ์) ได้สั่งการให้กรมการค้าภายใน และ สำนักงานพาณิชย์จังหวัด ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและเตรียมความพร้อมในการดำเนินการแก้ไขปัญหาการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ออกสู่ตลาดมาก โดยจะนำผู้ซื้อนอกพื้นที่เข้าไปรับซื้อในพื้นที่ที่มีผลผลิตออกกระจุกตัว หากผู้รวบรวมในพื้นที่ ไม่สามารถรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรได้ รวมทั้งกำกับดูแลการรับซื้อให้มีความเป็นธรรม ทั้งด้านคุณภาพและราคา”

“รัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์ ได้ดำเนินมาตรการในการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ปัญหาราคาข้าวโพดตกต่ำโดยเฉพาะในช่วงที่ผลผลิตออกมากเพื่อไม่ให้การกระจุกตัวของผลผลิตส่งผลต่อราคาที่เกษตรกรจะได้รับ โดยให้สถาบันเกษตรกรผู้รวบรวมรับซื้อผลผลิตและเก็บไว้รอจำหน่ายในช่วงที่ราคาเหมาะสมส่งผลให้ราคา ที่เกษตรกรได้รับอยู่ในเกณฑ์ดีและเป็นธรรม ซึ่งมาตรการนี้กระทรวงพาณิชย์มีโครงการที่ดำเนินการแล้วตั้งแต่ปี 2566-2567 จำนวน 2 โครงการคือ 

โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร 

และโครงการชดเชยดอกเบี้ยในการเก็บสต๊อกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปีการผลิต 2566/67 ซึ่งปัจจุบันกระทรวงพาณิชย์ยังได้ผลักดันทั้ง 2 โครงการดังกล่าวต่อเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และเสนอโครงการเพิ่มช่องทางการตลาดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปี 67/68 ต่อ คณะรัฐมนตรี  ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีและดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง“

”นอกจากการรักษาเสถียรภาพราคาแล้ว กระทรวงพาณิชย์ก็มีมาตรการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์โดยกำหนดช่วงเวลานำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ยังคงมีผลบังคับใช้อยู่ซึ่งในช่วงกันยายนถึงธันวาคม 2567 จะเป็นช่วงที่ผู้นำเข้าทั่วไปไม่สามารถนำเข้าได้และกรมการค้าภายในได้หารือกับโรงงานอาหารสัตว์ให้รับซื้อผลผลิตอย่างต่อเนื่องเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อราคาอย่างไม่มีเหตุผล 

สำหรับมาตรการนำเข้าข้าวสาลีที่กำหนดให้ต้องรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ 3 ส่วนต่อการนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วนนั้น ปัจจุบันยังคงมีผลบังคับใช้เช่นเดียวกัน เพื่อยกระดับและรักษาเสถียรภาพราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศโดยเฉพาะในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมากในแต่ละปี ซึ่งมาตรการทั้งหมดนี้รัฐบาลจะทำอย่างจริงจัง จริงใจ เพื่อพี่น้องเกษตรกร“

“ผมคาดว่าราคาที่เกษตรกรขายได้จะไม่ปรับตัวลดลงจากราคาปัจจุบัน เนื่องจากภาครัฐได้มีการดำเนินมาตรการรักษาเสถียรภาพราคา รวมทั้งมาตรการการกำกับดูแลการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และข้าวสาลี ซึ่งจะช่วยรักษาระดับราคารับซื้อภายในประเทศสุดท้ายต้องขอขอบคุณ ท่านสมาชิกที่มีความห่วงใยปัญหาของประชาชน” นายสุชาติ กล่าว

กรมอุตุฯ ออกประกาศ พรุ่งนี้เข้าหน้าหนาว เตือน!! หนาวนาน-หนาวแรงกว่าทุก ๆ ปี

(28 ต.ค. 67) ดร.สุกันยาณี ยะวิญชาญ ผู้ตรวจราชการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมรักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยว่า ตามเกณฑ์การพิจารณาการเข้าสู่ฤดูหนาวของประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วย  

1.อุณหภูมิต่ำสุดบริเวณประเทศไทยตอนบน อยู่ในเกณฑ์อากาศหนาวเย็นเกือบทั่วไป คือมีอุณหภูมิต่ำสุดน้อยกว่า 23 องศาเซลเซียส อย่างต่อเนื่อง  2. ลมระดับล่างที่ความสูงประมาณ 100-3,500 เมตร เป็นลมตะวันออกเฉียงเหนือหรือลมตะวันออก ส่วนลมระดับบนที่ความสูงประมาณ 5,000 เมตรขึ้นไป เป็นลมฝ่ายตะวันตก และ 3. ปริมาณและการกระจายของฝนบริเวณประเทศไทยตอนบนเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง 

ทำให้ฤดูหนาวของประเทศไทยในปีนี้จะเริ่มขึ้นตามเกณฑ์ฯ ในวันที่ 29 ตุลาคม 2567 และจะสิ้นสุดฤดูในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2568  ซึ่งจากสถิติถือว่าเริ่มต้นช้ากว่าค่าเฉลี่ยประมาณ 2 สัปดาห์

ดร. สุกันยาณี กล่าวต่อไปว่า ในปีนี้โดยรวมแล้วอากาศจะหนาวเย็นกว่าปีที่ผ่านมา อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยบริเวณประเทศไทยตอนบนประมาณ 20-21 องศาเซลเซียส (ปีที่ผ่านมา 21.6 องศาเซลเซียส) กรุงเทพมหานคร อุณหภูมิต่ำที่สุดจะอยู่ในช่วง 16-18 องศาเซลเซียส และปริมณฑลประมาณ 14-16 องศาเซลเซียส สำหรับช่วงเวลาที่มีอากาศหนาวเย็นที่สุด จะอยู่ในช่วงประมาณเดือนธันวาคม 2567 ถึงปลายเดือนมกราคม 2568 อุณหภูมิต่ำที่สุดประมาณ 6-8 องศาเซลเซียส ส่วนมากบริเวณตอนบนของทั้งภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะยอดดอยและยอดภู รวมทั้งเทือกเขาจะมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด และมีน้ำค้างแข็งเกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง

ส่วนภาคใต้ จะมีอากาศเย็นบางแห่งในบางช่วงส่วนมากตอนบนของภาค แต่ยังคงมีฝนตกชุกหนาแน่นต่อไป คลื่นลมในทะเลอ่าวไทยจะมีกำลังแรงเป็นระยะๆ  และในบางช่วงมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ส่วนทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 1-2 เมตร โดยในช่วงเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม อาจจะมีหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง หรือพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนตัวเข้ามาใกล้หรือเคลื่อนผ่านอ่าวไทยและภาคใต้ ซึ่งจะทำให้มีฝนตกชุกหนาแน่นกับมีฝนตกหนักหลายพื้นที่และหนักมากในบางแห่ง รวมทั้งคลื่นลมจะมีกำลังแรง และอาจมีคลื่นพายุชัดฝั่ง ความสูงของคลื่นประมาณ 3-5 เมตร จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด

ประธานาธิบดีป้ายแดงแห่งอินโดนีเซียไฟสุดแรง ขีดเส้น 4 ปี อาคารสำคัญเมืองหลวงใหม่ต้องเสร็จ

(28 ต.ค. 67) ผู้นำคนใหม่ของอินโดนีเซีย ปราโบโว สุเบียนโต ต้องการสร้างอาคารรัฐบาลและรัฐสภาที่สำคัญในเมืองหลวงแห่งใหม่มูลค่า 3.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐของประเทศให้เสร็จภายใน 4 ปีข้างหน้า ตามคำกล่าวของรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรี

โครงการดังกล่าวเป็นความคิดริเริ่มของอดีตประธานาธิบดีโจโก วิโดโด โดยมุ่งหวังที่จะย้ายศูนย์กลางอำนาจของอินโดนีเซียที่อยู่ห่างจากจาการ์ตาที่กำลังจมดิ่งและแออัดไปประมาณ 1,200 กม. ไปยังนูซันตารา ซึ่งตั้งอยู่ในดงดิบของเกาะบอร์เนียว

“เขา (ปราโบโว) หวังด้วยซ้ำว่าพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีคนต่อไปของอินโดนีเซียในปี 2029 จะเกิดขึ้นที่นูซันตารา” ราชา จูลี อันโตนี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงป่าไม้ กล่าวในบัญชี Instagram ของเขาเมื่อวันเสาร์ (26 ต.ค.) 

คำพูดเกี่ยวกับเจตนาของปราโบโวเกิดขึ้นท่ามกลางความสงสัยว่าเขาจะดำเนินโครงการนี้ด้วยความเร็วเท่ากับวิโดโดหรือไม่ ซึ่งสนับสนุนเขาโดยปริยายในการเลือกตั้ง และงบประมาณของรัฐจะขยายไปสนับสนุนนูซันตาราควบคู่ไปกับโครงการอาหารฟรีหลายพันล้านดอลลาร์ของเขา ซึ่งเป็นคำมั่นสัญญาในการหาเสียงเลือกตั้งของเขาได้หรือไม่

อย่างไรก็ตาม ราชา จูลี กล่าวเพิ่มเติมว่าไม่ควรมีคำถามใดๆ เกี่ยวกับความมุ่งมั่นของปราโบโวที่จะดำเนินโครงการมรดกของอดีตประธานาธิบดีต่อไป เนื่องจากเขาได้รับประกันแล้วว่าเขาจะทำให้โครงการนี้เสร็จสมบูรณ์

“สำหรับเขา (ปราโบโว) นูซันตาราเป็นเมืองหลวงของการเมือง นั่นคือเหตุผลว่าทำไมในอีกสี่ปีข้างหน้า นอกเหนือไปจากอาคารของรัฐบาล เราต้องสร้างอาคารสำหรับหน่วยงานนิติบัญญัติและตุลาการให้เสร็จ” รัฐมนตรีกล่าวเสริม

อาคารสำคัญของรัฐบาล เช่น ทำเนียบประธานาธิบดีและที่พักของเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนเพิ่งสร้างเสร็จเมื่อเร็วๆ นี้ ขณะที่การก่อสร้างถนนเก็บค่าผ่านทางและสนามบินอยู่ระหว่างดำเนินการ

ตั้งแต่เริ่มก่อสร้างในปี 2565 โครงการนี้ประสบปัญหาในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยให้ความคืบหน้าของโครงการเร็วขึ้น รัฐบาลตกลงกันว่างบประมาณทั้งหมดเพียงหนึ่งในห้าจะมาจากรัฐบาล

รัฐบาลได้รับเงินลงทุนจากต่างประเทศเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนที่แล้ว เมื่อบริษัทอสังหาริมทรัพย์ Delonix Group ของจีนลงทุน 500,000 ล้านรูเปียห์ (31.80 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อสร้างโรงแรมและสำนักงาน

‘นักวิจัยไทย’ เจ๋ง ค้นพบชุดทดสอบยีนผิดปกติก่อโรค หลังใช้เวลาวิจัยนาน 5 ปี ช่วยเตรียมพร้อมก่อนมีบุตร

‘นักวิจัยไทย’ เจ๋ง!! ค้นพบชุดทดสอบยีนผิดปกติก่อโรคได้ถึง 5 ชนิดเป็นครั้งแรก หลังใช้เวลาพัฒนาชุดทดสอบนานถึง 5 ปี ช่วยเตรียมพร้อมก่อนมีบุตร ลดเสี่ยง ‘ป่วยธาลัสซีเมีย’

ภาวะเลือดจางธาลัสซีเมีย เป็นโรคทางพันธุกรรม ที่สามารถถ่ายทอดจากพ่อแม่สู่ลูก โดยเกิดจากความผิดปกติของยีน ทำให้เม็ดเลือดแดงมีความผิดปกติ ส่งผลให้เกิดภาวะโลหิตจางตั้งแต่กำเนิดและต่อเนื่องตลอดชีวิต โรคธาลัสซีเมียแบ่งออกเป็น 2 ชนิดหลักได้แก่ อัลฟ่าธาลัสซีเมีย (Alpha-thalassemia) และ เบต้าธาลัสซีเมีย (Beta-thalassemia) 

ปัจจุบันพบผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียในประเทศไทย ประมาณ 500,000 คน และมีผู้ที่เป็นพาหะของโรคนี้มากกว่า 18 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นประมาณ 20-30% ของประชากรทั้งหมด ดังนั้นการตรวจโรคจึงมีความสำคัญโดยเฉพาะในหญิงตั้งครรภ์และคู่สามีทุกรายควรได้รับการตรวจ เพื่อประเมินความเสี่ยงว่าทารกในครรภ์อาจเป็นพาหะของธาลัสซีเมียหรือมีโอกาสเป็นโรคนี้หรือไม่

อย่างไรก็ตาม น้ำยาที่ใช้ในการทดสอบอัลฟ่าธาลัสเมีย ที่มีจำหน่ายและใช้กันอยู่ในประเทศไทยนั้น มีเฉพาะน้ำยาสำหรับการตรวจ Realtime PCR ได้ 2 ชนิดคือ SEA และ THAI และด้วยหลักการ Conventional PCR ที่ใช้ในปัจจุบัน หากเจ้าหน้าที่ทางห้องปฏิบัติการมีความต้องการที่จะทดสอบ ก็จะต้องเตรียมน้ำยาเอง โดยซื้อส่วนผสมต่าง ๆ มาผสมกัน ซึ่งมีความยุ่งยากและทำให้เกิดความสิ้นเปลือง และที่สำคัญ เมื่อผสมน้ำยาแล้วไม่สามารถเก็บรักษาได้นาน เนื่องจากตัว ไพรเมอร์ที่ผสมกับน้ำยาองค์ประกอบอื่น ๆ แล้วจะมีอายุการใช้งานที่สั้น ทำให้ต้องเตรียมน้ำยา PCR ใหม่ทุกครั้งก่อนทดสอบ

จากปัญหาและอุปสรรคดังกล่าว นักเทคนิคการแพทย์หญิง (ทนพญ.) กอบกร พงศ์จันทรเสถียร นักเทคนิคการแพทย์ และเป็นนักวิจัยหลัก บริษัท วิโทร ไซเอนซ์ จำกัด ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนโครงการ “ยุววิสาหกิจเริ่มต้น” (TED Youth Startup Fund) โดยกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Fund) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)  จึงได้ทำการวิจัยและพัฒนาสูตรน้ำยาสำเร็จรูปสำหรับทดสอบยีนที่ก่อให้เกิดอัลฟ่าธาลัสซีเมีย ซึ่งเป็นชนิดความผิดปกติของยีนที่พบบ่อยในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชีย โดยชุดน้ำยาทดสอบนี้มีชื่อว่า “Alpha Promix” โดยใช้เทคนิค Multiplex-Conventional PCR ในการทดสอบ

“การพัฒนาชุดทดสอบนี้ใช้เวลาถึง 5 ปี โดยมีความมุ่งหวังที่จะสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่เป็นประโยชน์เพื่อทำให้การทดสอบ PCR Alpha-thalassemia เป็นเรื่องง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น และสามารถจัดเก็บน้ำยาไว้ได้นานถึง 1 ปี ช่วยให้การทดสอบเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ” ทนพญ.กอบกร กล่าว

ทนพญ.กอบกร กล่าวด้วยว่า สำหรับไพรเมอร์ ที่ใช้ในชุดน้ำยา Alpha Promix นั้น ได้ถูกออกแบบใหม่ทั้งหมด โดยไพรเมอร์ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในน้ำยาทดสอบ มีลักษณะเป็นนิวคลีโอไทด์สายเดี่ยวสั้น ๆ ที่ใช้สำหรับตรวจหายีนเป้าหมายในปฏิกิริยา PCR การออกแบบใหม่เพื่อให้การอ่านผลง่ายขึ้นและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของชุดน้ำยา และได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิตชุดตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ ISO13485 แล้ว นอกจากนี้ยังได้จดอนุสิทธิบัตร ไว้เป็นที่เรียบร้อย 

ขณะเดียวกันเมื่อเร็ว ๆ นี้ บริษัทเอ็มกรุ๊ปโฮลดิ้ง ก็ได้เข้าร่วมลงทุน เพื่อพัฒนาชุดน้ำยา Alpha Promix ให้ได้มาตรฐานสู่ระดับสากลต่อไป เพื่อให้สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้ใช้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่มีความชุกของโรค ได้อย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top