Saturday, 10 May 2025
Hard News Team

โฆษกพท. ซัดผู้นำประเทศทำเด็กไทยติดกับดักทางการศึกษา หวั่นนักเรียน.ม.ปลาย 84% หลุดระบบการศึกษา หลังขาดอุปกรณ์เรียนออนไลน์

ที่พรรคเพื่อไทย น.ส.อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ในฐานะที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) งบประมาณด้านการศึกษา ในคณะกมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 65 กล่าวถึงมาตรการป้องกันโควิด – 19 ส่งผลกระทบต่อโรงเรียนหลายแห่ง ที่ต้องจัดการเรียน การสอนออนไลน์ 100% ตอกย้ำความเดือดร้อนของผู้ปกครองที่บางคนตกงาน ไม่มีรายได้ กระทบกับบุตรหลานที่เป็นนักเรียนไม่มีอุปกรณ์ใช้เรียนออนไลน์

จากการสำรวจพบว่าอาจทำให้นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน 84% มีโอกาสหลุดจากระบบการศึกษาเนื่องจากขาดแคลนอุปกรณ์ ถือเป็นความผิดพลาดของการบริหารที่ล้มเหลว จึงอยากให้กระทรวงศึกษาธิการ และรัฐบาลนำเงินจากพ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท ในส่วนที่ใช้ในการฟื้นฟูการลงทุนมาสนับสนุนให้การเรียนออนไลน์เกิดขึ้นได้จริง โดยให้บริษัทเอกชนวางเครือข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง จัดซื้อหรือเช่าคอมพิวเตอร์ให้เด็กยากจนที่สนใจเข้าร่วม โดยรัฐอาจเพิ่มเงินลงทุนให้เอกชนที่เข้าร่วมโครงการ ขณะที่กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)  ต้องขยายเวลาปลอดดอกเบี้ยอีกเป็น 4 ปี และตั้งกองทุนฉุกเฉินเพื่อช่วยเหลือนักเรียนและผู้ปกครอง เพราะเด็กไทยวันนี้กำลังติดกับดักของผู้นำที่ฉุดรั้งความเจริญของประเทศ 

ศบค.มท. สั่งการผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ ถือปฏิบัติตามข้อกำหนดฯ และคำสั่งฯ ฉบับล่าสุดโดยเคร่งครัด พร้อมสร้างการรับรู้หน่วยงานทุกภาคส่วนและประชาชนในพื้นที่ ร่วมมือ ร่วมใจกันปฏิบัติตามมาตรการฯ เพื่อฝ่าวิกฤติโควิด-19 นี้ให้ผ่านพ้นไปด้วยกัน

ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงมหาดไทย (ศบค.มท.) เปิดเผยว่า ด้วยนายกรัฐมนตรีได้ลงนามในข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 27) ลงวันที่ 10 ก.ค. 64 และคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ที่ 9/2564 ลงวันที่ 10 ก.ค. 64 กำหนดเขตพื้นที่สถานการณ์เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 10 จังหวัด พื้นที่ควบคุมสูงสุด 24 จังหวัด พื้นที่ควบคุม 25 จังหวัด และพื้นที่เฝ้าระวังสูง 18 จังหวัด โดยมีผลตั้งวันพรุ่งนี้ (12 ก.ค.64) เป็นต้นไป

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับการสั่งการและประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ และกรุงเทพมานคร รับทราบและถือปฏิบัติตามข้อกำหนดฯ และคำสั่งฯ ดังกล่าว โดยเคร่งครัด พร้อมสร้างการรับรู้แก่ผู้ประกอบการ พนักงาน ผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ ประชาชน และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องทุกระดับ ให้รับทราบถึงเจตนารมณ์ของมาตรการตามข้อกำหนดดังกล่าวในการมุ่งจำกัดการเคลื่อนย้าย ลดการรวมกลุ่มของบุคคล และเร่งรัดมาตรการด้านการป้องกันและการควบคุมโรค การรักษาพยาบาล และการฉีดวัคซีนเพื่อลดความรุนแรงของโรค และในขณะเดียวกันก็ยังคงมาตรการเพื่อให้ระบบเศรษฐกิจพื้นฐานยังคงดำเนินการต่อไปได้ ซึ่งมาตรการเหล่านี้ “จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วน” เพื่อให้ฝ่าวิกฤตินี้ให้ผ่านพ้นไปด้วยกัน

นอกจากนี้ ให้นำมาตรการควบคุมแบบบูรณาการสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ข้อห้าม และข้อปฏิบัติตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 24) ลงวันที่ 19 มิ.ย.64 และข้อกำหนด (ฉบับที่ 25) ลงวันที่ 26 มิ.ย. 64 ใช้บังคับกับพื้นที่สถานการณ์เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อกำหนดฯ ฉบับล่าสุด และได้เน้นย้ำให้กรุงเทพมหานคร และผู้ว่าราชการจังหวัดปริมณฑล (นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร) หารือกับคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร/คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ประสานการปฏิบัติกับฝ่ายทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วางระบบและกำกับติดตามให้เป็นไปตามมาตรการตามข้อกำหนดฯ ได้แก่ 1) ห้ามบุคคลออกนอกเคหสถานในระหว่างเวลา 21.00 - 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น ต่อเนื่องเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 14 วัน นับแต่วันที่ข้อกำหนดฉบับนี้ใช้บังคับ กรณีบุคคลที่ได้รับการยกเว้นฯ ให้แสดงบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรแสดงตนอย่างอื่น และเอกสารรับรองความจำเป็น เอกสารเกี่ยวกับสินค้า บริการการเดินทาง หรือหลักฐานอื่น ๆ ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยกรณีบุคคลที่ได้รับการยกเว้นฯ ได้แก่ การสาธารณสุข การขนส่งสินค้าเพื่อประโยชน์ของประชาชน การขนส่งหรือขนย้ายประชาชน การให้บริการหรืออำนวยประโยชน์หรือความสะดวกแก่ประชาชน และการประกอบอาชีพที่จำเป็น ให้หน่วยงาน หรือบริษัท หรือสถานประกอบการต้นสังกัด แล้วแต่กรณี เป็นผู้ออกเอกสารรับรองความจำเป็นฯ สำหรับกรณีอื่น ๆ นอกเหนือจากบุคคลที่ได้รับการยกเว้น ให้ขอเอกสารรับรองความจำเป็นฯ ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ เช่น ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน นายอำเภอ ผู้อำนวยการเขต หัวหน้าสถานีตำรวจ หรือผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ และในกรณีที่สมควรเพิ่มเติมข้อยกเว้นการห้ามออกนอกเคหสถานเป็นการทั่วไปเพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้ว่าราชการจังหวัดเสนอผ่านศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 (ศปก.ศบค.) เพื่อให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาอนุญาต 2) ให้หัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐดำเนินมาตรการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งให้เต็มความสามารถที่จะทำได้

ส่วนการปฏิบัติงานที่ต้องให้บริการประชาชนโดยตรง สาธารณูปโภค การรักษาความปลอดภัย การรักษาความสงบเรียบร้อย หรืองานที่มีกำหนดเวลาปฏิบัติชัดเจนและได้นัดหมายไว้ล่วงหน้าแล้วและสามารถจัดมาตรการป้องกันโรคได้ ให้พิจารณาดำเนินการตามความจำเป็นและเหมาะสม สำหรับการปฏิบัติงานของภาคเอกชน ให้เจ้าของกิจการ ผู้ประกอบการ หรือผู้รับผิดชอบในสถานประกอบการพิจารณาสนับสนุนปรับรูปแบบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่และบุคลากรในสังกัดให้เหมาะสมกับสถานการณ์การแพร่ระบาด 3) มาตรการควบคุมแบบบูรณาการเร่งด่วนสำหรับสถานที่ กิจการ หรือกิจกรรม  ให้เปิดดำเนินการได้ภายใต้เงื่อนไข เงื่อนเวลา การจัดระบบ ระเบียบ และมาตรการป้องกันโรคที่เข้มงวดยิ่งขึ้น ตามข้อกำหนดฯ (ฉบับที่ 27) ลงวันที่ 10 ก.ค. 64 โดยกรณีกิจกรรมรวมกลุ่มของบุคคลที่พนักงานเจ้าหน้าที่ให้จัดกิจกรรมได้ หากประสงค์จะจัดกิจกรรมในช่วงระยะเวลานี้ ให้ผู้รับผิดชอบการจัดกิจกรรมดังกล่าวดำเนินการขออนุญาตต่อคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร/คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี เพื่อตรวจสอบและทบทวนมาตรการป้องกันโรคในการจัดกิจกรรมให้เหมาะสมกับห้วงเวลาและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป และให้พนักงานเจ้าหน้าที่กวดขันการมั่วสุมประชุมกันเพื่อเล่นการพนัน ดื่มสุรา เสพยาเสพติด หรือการกระทำผิดกฎหมายอื่นใดอย่างเคร่งครัดและให้บังคับใช้กฎหมายอย่างเต็มที่

4) ให้เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจคัดกรองการเดินทางข้ามจังหวัด ในเส้นทางคมนาคมเข้า-ออกกรุงเทพมหานคร และจังหวัดปริมณฑล เพื่อควบคุมการเคลื่อนย้ายแรงงาน และคัดกรองการเดินทางของประชาชนทั่วไป 5) มาตรการป้องกันและรองรับผู้ติดเชื้อ ให้ประสานการดำเนินการร่วมกันระหว่างภาคประชาสังคม ภาคประชาชน ท้องถิ่น และชุมชนในพื้นที่ สนับสนุนให้มีการใช้สมุนไพรหรือการแพทย์แผนไทยในการบำบัดหรือรักษา เพิ่มโอกาสการเข้าถึงระบบการตรวจหาเชื้อ เร่งรัดจัดตั้งสถานพยาบาลชั่วคราว โรงพยาบาลสนาม การวางระบบหรือจัดหาสถานที่เพื่อจัดตั้งเป็นศูนย์พักคอยรอการส่งตัว หรือระบบแยกกักเพื่อรองรับการให้ความช่วยเหลือผู้ติดเชื้อ เพิ่มจำนวนจุดบริการตรวจคัดกรองและเร่งรัดการให้บริการตรวจคัดกรองและการฉีดวัคซีนป้องกันโรคในกลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลุ่มเสี่ยง รวมทั้งการฉีดวัคซีนป้องกันโรคในพื้นที่การแพร่ระบาดเป็นกลุ่มก้อน 

 และในส่วนของจังหวัดชายแดนภาคใต้ (นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา) ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหารือกับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ประสานการปฏิบัติกับฝ่ายทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วางระบบและกำกับติดตามให้เป็นไปตามมาตรการ 1) ห้ามบุคคลออกนอกเคหสถานในระหว่างเวลา 21.00 - 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น ต่อเนื่องเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 14 วัน นับแต่วันที่ข้อกำหนดฉบับนี้ใช้บังคับ การปฏิบัติกรณีบุคคลที่ได้รับการยกเว้นการห้ามออกนอกเคหสถาน ดำเนินการตามแนวทางเดียวกันกับกรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑล รวมทั้งเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจคัดกรองการเดินทางข้ามจังหวัดในเส้นทางคมนาคมเข้าออกจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อควบคุมการเคลื่อนย้ายแรงงาน และคัดกรองการเดินทางของประชาชนทั่วไป

สำหรับในการเดินทางข้ามจังหวัดของประชาชนในพื้นที่อื่น ๆ ให้ทุกจังหวัดประสานการปฏิบัติกับฝ่ายทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สร้างการรับรู้ให้ประชาชนหลีกเลี่ยงหรือชะลอการเดินทางข้ามพื้นที่จังหวัดในช่วงระยะเวลานี้โดยไม่มีเหตุจำเป็น เพื่อประโยชน์ส่วนรวม กรณีที่จำเป็นต้องเดินทางข้ามเขตพื้นที่ อาจไม่ได้รับความสะดวกในการเดินทางและอาจต้องใช้ระยะเวลามากกว่าปกติ พร้อมเฝ้าระวัง คัดกรอง ผู้เดินทางจากพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด กรณีที่พบผู้เดินทางมาจากจังหวัดที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ให้ดำเนินการตามมาตรการควบคุมและป้องกันโรค โดยการคุมไว้สังเกต แยกกัก หรือกักกันในพื้นที่ที่พำนักหรือสถานที่ที่ทางราชการกำหนด หรือตามหลักเกณฑ์หรือแนวปฏิบัติด้านสาธารณสุขที่กำหนด โดยต้องไม่กระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ราชการหรือการดำเนินงานเพื่อประโยชน์สาธารณะของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง และในด้านการจัดกิจกรรมรวมกลุ่ม ให้ทุกจังหวัด (ยกเว้นกรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑล) ถือปฏิบัติตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 24) ลงวันที่ 19 มิ.ย. 64 โดยผู้ว่าราชการจังหวัดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาอนุญาตของพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่จัดกิจกรรมและสถานการณ์ในพื้นที่รับผิดชอบ และกรณีคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร หรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด มีมติให้ออกประกาศหรือคำสั่ง ให้ส่งประกาศหรือคำสั่งให้ ศบค.มท. ทราบโดยเร็ว เพื่อรายงานสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป รวมทั้งให้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับทราบประกาศหรือคำสั่งโดยทั่วกัน

“จุรินทร์” ปล่อยคาราวานรถ “โมบายพาณิชย์ลดราคา! ช่วยประชาชน ศรีสะเกษ" ช่วยลดค่าครองชีพ พร้อมเตรียมปล่อย 300 คันใน 10 จังหวัดล็อกดาวน์

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วย คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายไชยยศ จิรเมธากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน นางวรรณภรณ์ เกตุทัต ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ นางสุมิตรา อติทรัพย์  ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เขตตรวจราชการที่ 14 นายวุฒิพงษ์ นามบุตร ส.ส.จังหวัดอุบลราชธานี นายสำรวย เกษกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ นายอนุรัตน์ ธรรมประจำจิตร รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ นายวิชัย ตั้งธรรมเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ และ นางฐิตารีย์ ไตรสรณปัญญา กับคณะ มาเปิดและปล่อยขบวนรถโมบายพาณิชย์ลดราคา! ช่วยประชาชน  จังหวัดศรีสะเกษ ณ บริเวณด้านหน้าศาลากลางจังหวัดศรีสะเกษ โดยรองนายกรัฐมนตรีจุรินทร์ เป็นประธาน 

นายจุรินทร์ กล่าวว่า วันนี้เป็นโครงการเปิดตัวโมบายพาณิชย์ลดราคา! ช่วยประชาชน เป็นโครงการที่จัดสินค้าราคาถูกใส่รถโมบายออกไปจำหน่ายในพื้นที่ทั่วทั้งจังหวัดศรีสะเกษ ในอำเภอชุมชนเป็นเวลา 30 วัน โดยมีรถโมบายที่จังหวัดศรีสะเกษ 15 คัน สินค้าทั้งหมด 73 รายการ ลดราคาสูงสุด 60% สินค้าบริโภคและอุปโภคที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน เช่น 1.ข้าวหอมมะลิถุงละ 5 กิโลกรัม 135 บาท กิโลกรัมละ 27 บาท 2.น้ำมันพืชขวดละ 1 ลิตร 42 บาท 3.ไข่ไก่เบอร์ 3 แผงละ 30 ฟองราคา 90 บาท 4.ปลากระป๋อง กระป๋องละ 10 บาท และ5.น้ำตาลทรายกิโลกรัมละ 20 บาทและ6.บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปซองละ 5 บาท นอกจากนี้ยังมีน้ำยาล้างจานจากถุงละ 20 บาทเหลือ 8 บาทเป็นต้น และมีสินค้า GI หรือพืชเกษตรที่จดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่เป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่มีชื่อของจังหวัดศรีสะเกษ เช่น หอม กระเทียมศรีสะเกษสำหรับหอม GI ปกติขายกิโลกรัมละ 60 บาท เหลือกิโลกรัมละ 30 บาท กระเทียมเหลือกิโลกรัมละ 40 บาท

โดยจะตระเวนขายสินค้าตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปประมาณ 30 วัน คาดว่าจะลดค่าของชีพในช่วงประสบภัยโควิดให้ชาวศรีสะเกษได้ส่วนหนึ่ง และกระทรวงพาณิชย์จะดำเนินการโครงการโมบายพาณิชย์ลดราคา! ช่วยประชาชน ทุกจังหวัดในแบบเดียวกันนี้ โดยเฉพาะ 10 จังหวัดล็อกดาวน์นั้นจะมีผลในวันพรุ่งนี้เลย ทันทีที่ทราบมติ ศบค.ทางเรามีโครงการกรณีพิเศษที่จะเพิ่มจำนวนรถใน 10 จังหวัดล็อกดาวน์ คือ 6 จังหวัดในกรุงเทพและปริมณฑล 4 จังหวัดภายแดนชายแดนใต้ รวมทั้งหมด 300 คัน และทันทีที่ทราบว่าจะมีมติ ศบค. ตนได้สั่งการตั้งแต่วันศุกร์ที่ผ่านมารวมทั้งในการประสานงานและประชุมร่วมกันกับกลุ่มผู้ผลิตสินค้าที่จำเป็นต่อการบริโภคอุปโภคและชีวิตประจำวันรวมทั้งห้างสรรพสินค้ากับจุดกระจายสินค้าซุปเปอร์มาร์เก็ต และท่านปลัดกระทรวงพาณิชย์ได้รายงานว่ายังไม่มีปัญหาที่สินค้าหมดจากชั้นวาง 

"และได้สั่งการหากพี่น้องพบการขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภค ให้ร้องเรียนมาที่สายด่วน 1569 จะมีเจ้าหน้าที่ประจำการทุกวัน ไม่มีวันหยุด ยกเว้นในช่วงเวลากลางคืนจะบันทึกไว้ และพาณิชย์จังหวัดจะมีเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ด้วย ช่วยดูแลราคาสินค้าไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน หากพบหลักฐานว่าร้านค้าใดจำหน่ายสินค้าราคาแพงเกินสมควร ก็จะดำเนินคดีตามมาตรา 29 มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 1.4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากไม่ปิดป้ายแสดงราคาจำหน่าย มีโทษปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท " นายจุรินทร์ กล่าว 

กระทรวงพาณิชย์รายงานว่า โมบายพาณิชย์ลดราคา! ช่วยประชาชนจะมีหน้ากากอนามัยและเจลแอลกอฮอล์ติดรถจำหน่ายไปด้วย สามารถติดตามรถโมบาย ได้จาก QR Code และที่ LINE@ mobilepanich รวมถึงเว็บไซต์ https://โมบายพาณิชย์.com/ และรถจะกระจายตัวและไปจอดให้ตามที่ชุมชนเน้นให้ทั่วถึงประชาชน

รัฐบาลตั้ง 3 แนวทางแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน

 นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรี แสดงความเป็นห่วงสถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่เรื้อรังมายาวนาน และจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยืดเยื้อ ส่งผลกระทบต่อรายได้และความสามารถในการชำระหนี้ของประชาชน และยิ่งทำให้ปัญหานี้ท้าทายมากขึ้น ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนแบบเบ็ดเสร็จ รัฐบาลจึงเดินหน้าใน 3 เรื่องสำคัญ ประกอบด้วย 1. การให้ความรู้ทางการเงินแก่ประชาชน 2.การกำกับดูแลเจ้าหนี้ให้ปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม และ 3.การปรับโครงสร้างหนี้และการไกล่เกลี่ยปัญหาหนี้สิน

ทั้งนี้ มาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สินในครั้งนี้จะมีผลช่วยลดภาระของประชาชน และทำให้ประชาชนมีเงินเหลือไว้ใช้สอยมากขึ้น ซึ่งถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยอีกทางหนึ่ง โดยจะมีประชาชนกลุ่มต่างๆหลายล้านคนได้รับประโยชน์จากมาตรการแก้ปัญหาในครั้งนี้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก โดยเห็นว่าระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วย “การเป็นหนี้” ไม่มีทางที่จะยั่งยืน สุ่มเสี่ยงต่อปัญหาเสถียรภาพในระยะยาว ประชาชนที่มีหนี้มักจะมีความกังวลต่างๆมากมาย ไม่มีสมาธิ ทำให้ใช้ชีวิตได้ไม่เต็มศักยภาพ ซึ่งบั่นทอนศักยภาพของประเทศโดยรวม
 
สำหรับการผลักดันมาตรการแก้หนี้ ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดมาตราการระยะสั้นและระยะยาวในการแก้ปัญหาดังกล่าว โดยมาตรการระยะสั้นที่สามารถดำเนินการได้ภายใน 6 เดือน อาทิ การลดภาระดอกเบี้ยของประชาชน การแก้ไขการคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และดอกเบี้ยในช่วงพักชำระหนี้ที่ไม่เป็นธรรม การทบทวนเพดานดอกเบี้ยบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคลและสินเชื่อจำนำทะเบียน การปรับลดค่าธรรมเนียมที่ไม่จำเป็นและที่เรียกเก็บอย่างไม่สมควร โดยเร่งรัดให้คณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประกาศกำหนดอัตราค่าทวงถามหนี้โดยเร็วที่สุด

ขณะที่ การกำกับดูแลธนาคารเฉพาะกิจ และสหกรณ์ออมทรัพย์ให้มีการบริหารความเสี่ยงการให้สินเชื่อที่เหมาะสม ลดการให้ลูกหนี้ซื้อประกันความเสี่ยงที่ไม่จำเป็นและพิจารณายกเลิกการค้ำประกันด้วยบุคคล เน้นการไกล่เกลี่ยปัญหาหนี้สินเพื่อลดการดำเนินคดีกับประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรให้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เร่งไกล่เกลี่ยปัญหาหนี้กับผู้กู้ที่คำพิพากษาถึงที่สุดแล้วกว่า 1.2 ล้านราย และกลุ่มที่ยังไม่ฟ้องอีก 1.1 ล้านราย และเพิ่มการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ เพราะการที่ประชาชนรายย่อยไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนในระบบได้และต้องไปกู้นอกระบบเป็นหนึ่งในต้นเหตุของการเป็นหนี้ที่กติกาไม่เป็นธรรมและดอกเบี้ยสูงเกินเหตุ และแก้ปัญหาหนี้ครูด้วย

“บิ๊กแก้ว” ตรวจเยี่ยม จุดตรวจความมั่นคง ตามพรก.ฉุกเฉิน พร้อมขอความร่วมมือปชช.งดเดินทาง ป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 

พล.ต.ธีรพงศ์ ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา รองโฆษกกองบัญชาการกองทัพไทย เปิดเผยว่า ภายหลังจาก พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด/หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ผบ.ทสส/หน.ศปม.) ได้สั่งการให้หน่วยงานด้านความมั่นคง เริ่มดำเนินการจัดตั้งจุดตรวจจุดสกัด และชุดสายตรวจในการลาดตระเวนเพื่อกำกับดูแลการปฏิบัติ การเดินทางข้ามพื้นที่อย่างเข้มงวดในพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้ง 50 เขต จำนวน 88 จุด ทั้งนี้ หากเจ้าหน้าที่ตรวจพบว่ามีผู้ฝ่าฝืนจากมาตรการจำกัดการเคลื่อนย้ายและการดำเนินกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดฯ ของบุคคลในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) 10 จังหวัด ให้บังคับใช้บทลงโทษตามแห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 

โดยผบ.ทสส/หน.ศปม. ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมจุดตรวจจุดสกัดกั้นการเคลื่อนย้ายแรงงาน ณ ด่านใต้ทางด่วนข้ามแยกมหานคร ถนนสุวินทวงศ์ขาออก เขตหนองจอก กรุงเทพฯ เพื่อเป็นการติดตามการปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายความมั่นคง พร้อมทั้งให้กำลังใจและให้คำแนะนำในการปฏิบัติหน้าที่ ภายใต้มาตรการการควบคุมโรคโควิด19 ซึ่งได้มีการสนธิกำลังระหว่างทหาร ตำรวจ และหน่วยงานด้านความมั่นคง ประกอบด้วย กองพันสารวัตรทหาร สำนักกองบัญชาการ กองบัญชาการกองทัพไทย จำนวน 4 นาย เจ้าหน้าที่ตำรวจ จำนวน 4 นาย เจ้าหน้าที่เขตหนองจอก จำนวน 2 นาย และเจ้าหน้าที่เทศกิจ จำนวน 4 นาย ปฏิบัติหน้าที่ผลัดละ 8 ชั่วโมง วันละ 3 ผลัด ซึ่ง ผบ.ทสส/หน.ศปม. ได้แสดงความห่วงใยและมอบแนวทางการปฏิบัติในการจัดพื้นที่บริเวณจุดตรวจ โดยให้มีป้ายประชาสัมพันธ์ การจัดไฟฟ้า แสงสว่าง โต๊ะ เก้าอี้ แนวกั้น แผงเหล็ก กรวยยาง ให้เพียงพอ รวมทั้งให้มีพื้นที่รองรับการจอดของรถสาธารณะเพื่อให้ผู้โดยสารเข้ารับการคัดกรอง การบริการหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ ให้แก่ประชาชน พร้อมทั้งให้มีการจัดเตรียมถุงมือ และแผ่นป้องกันหน้า face shield สำหรับผู้ปฎิบัติหน้าที่ด้วย ซึ่งมาตรการต่าง ๆ ที่ได้กำหนดขึ้นมานั้นเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) โดยขอความร่วมมือประชาชนร่วมกันลดการสัญจร หรือหยุดอยู่บ้านเพื่อป้องกันและลดโอกาสของการรับหรือการแพร่กระจายเชื้อ

ทั้งนี้ ในห้วงเวลาแห่งความยากลำบากนี้ ขอให้พี่น้องประชาชนชาวไทยทุกคน โปรดให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตนตามที่ภาครัฐกำหนดโดยเคร่งครัด งดการออกนอกเคหะสถานในช่วงเวลาที่กำหนดโดยไม่มีความจำเป็น หลีกเลี่ยงการเดินทางข้ามจังหวัด ปฏิบัติงานที่บ้าน (Work from home) อย่างเต็มรูปแบบ ร่วมกันอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ มีวินัยในการปฏิบัติตนตามมาตรการอย่างเคร่งครัด เพื่อลดการแพร่ระบาดของโรค โดยกองทัพไทยพร้อมเคียงข้างพี่น้องประชาชนและจะปฏิบัติภารกิจเพื่อดูแลประชาชนอย่างเต็มขีดความสามารถเพื่อก้าวผ่านวิกฤตโควิด-19 ในครั้งนี้ไปด้วยกัน

"ณัฐชา" เปิดไทม์ไลน์ย้อนหลัง 7 วัน หลังตรวจ Rapid Test ผลเป็นบวก ระบุ ได้ผลตรวจทางการ จะยืนยันอีกครั้ง

นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า วันนี้ตนได้รับการยืนยันผลการตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19 ดังนั้น จึงขอเปิดเผยไทม์ไลน์เวลาและสถานที่ในรอบ 7 วันที่ผ่านมา เพื่อเป็นประโยชน์ในการสืบค้นและคัดกรองกลุ่มเสี่ยง และต้องขออภัยเป็นอย่างยิ่งสำหรับบุคคลต่างๆ ที่ตนพบเจอหรือทำงานด้วยในระหว่างนี้ ซึ่งจำเป็นต้องเฝ้าระวังอาการ ต้องกักตัวเองเป็นเวลา 14 วัน และต้องเข้ารับการตรวจเชื้อเช่นเดียวกัน โดยตนทราบดีว่าในเวลานี้กระบวนการและขั้นตอนต่างๆ เหล่านี้ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายเลย ตนจึงต้องขออภัยไปยังทุกๆ คนอีกครั้ง

นายณัฐชา ระบุต่อว่า ดังที่ทราบกันดีว่าในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พวกเราได้รับการฉีดวัคซีนครบทั้ง 2 เข็มแล้ว ตนได้รับการฉีดวัคซีนซิโนแวค และทราบดีเช่นกันว่าแม้จะได้รับวัคซีนครบแล้วก็ยังสามารถติดเชื้อได้ โดยเฉพาะวัคซีนซิโนแวคที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อต่ำ แต่สามารถลดอาการรุนแรงเมื่อติดเชื้อและป้องกันการเสียชีวิตได้ ดังนั้น การปฏิบัติหน้าที่ของตนในฐานะผู้แทนราษฎรทั้งในสภาและนอกสภา เช่น การลงไปรับฟังปัญหาต่างๆ รวมถึงการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนจากปัญหาการระบาดของโควิด-19ในพื้นที่ ทั้งการตรวจเชิงรุก การช่วยเรื่องข้าวปลาอาหารสำหรับผู้ที่เดือดร้อนและผู้ที่กักตัว ตนจึงพยายามปฏิบัติตามมาตรการทางสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ไม่ว่าการรักษาระยะห่างและการสวมใส่หน้ากากป้องกันตลอด อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลและข่าวสารหลายชิ้นพบว่าแม้ฉีดวัคซีนและป้องกันดีแล้ว แต่ก็ไม่สามารถป้องกันการติดได้จริงๆ เช่น กรณีของแพทย์ที่ประเทศอินโดนีเซียซึ่งพบการติดเชื้อจำนวนมาก รวมถึงมีการเสียชีวิตในอัตราที่สูง กรณีการติดเชื้อของแพทย์จำนวนหนึ่งในโรงพยาบาล จ.เชียงราย รวมถึงการติดเชื้อยกโรงพักของตำรวจ สน.พระราชวัง ผมจึงพยายามหมั่นตรวจเช็กการติดเชื้อด้วยตัวเองเป็นระยะ เพื่อให้สามารถคัดกรองตัวเองได้เร็วที่สุดและเพื่อลดภาระของสาธารณสุขให้มากที่สุด

นายณัฐชา ระบุต่อว่า ที่ผ่านมาตนจึงจัดหาชุดทดสอบแบบรวดเร็ว หรือ Rapid Test เพื่อตรวจ Antigen โดยเสมอ จนกระทั่งเมื่อวานนี้มีสัญญาณว่าอาจจะมีการติดเชื้อ ตนจึงเริ่มกระบวนการกักตัวเองทันที และเตรียมขอเข้ารับการตรวจเพื่อยืนยันการติดเชื้ออย่างเป็นทางการ ในระหว่างนี้พบว่าเริ่มมีอาการไข้และเจ็บคอ จึงลองทดสอบด้วย Rapid Test อีกรอบ ผลออกมามีแนวโน้มว่าติดเชื้อเช่นเดิม และส่วนตัวเกรงว่าจะไม่ทันต่อสถานการณ์ จึงขอประกาศอย่างไม่เป็นทางการว่าตนติดเชื้อโควิด-19 โดยระหว่างนี้ก็เข้ารับการตรวจเชื้อแบบ RT-PCR เพื่อยืนยันอย่างเป็นทางการอีกครั้ง คาดว่าผลจะออกดึกๆ คืนนี้ หากมีผลเป็นอื่นจะรีบแจ้ง อย่างไรก็ตาม อาการของตนยังอยู่ในระดับไม่รุนแรงและส่วนตัวมีความพร้อมในการทำ Home Isolation หรือแยกกักตัวที่บ้านได้ โดยจะมีการติดตามอาการจากหน่วยงานสาธารณสุขอย่างใกล้ชิด รวมถึงเรื่องสภาพความเป็นอยู่ เช่น อาหาร เครื่องใช้ต่างๆ ที่ทางพรรคก้าวไกลจะเป็นผู้ช่วยเหลือตระเตรียมเพื่อให้การกักตัวเพื่อรักษาตัวเองในครั้งนี้สามารถทำได้โดยลุล่วง และเป็นภาระระบบสาธารณสุขน้อยที่สุด เพราะในขณะนี้มีผู้ที่มีอาการรุนแรงจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีในโรงพยาบาล และความต้องการเตียงยังมีอัตราที่สูงมาก เป็นสถานการณ์ที่หนักอย่างยิ่ง ตนเชื่อว่าหากสามารถพัฒนาแนวทางคัดกรองการติดเชื้อให้ทำได้เร็วด้วยการปูพรมตรวจด้วย Rapid Test ให้สามารถตรวจสม่ำเสมอ เพื่อทำ Home Isolation หรือแยกผู้ป่วยออกจากผู้ไม่ติดเชื้อได้เร็วและเป็นระบบ ตนเชื่อว่าสถานการณ์ด้านสาธารณสุขจะคลี่คลายลงไปในทางที่ดีขึ้นแน่นอน

"สุดท้ายนี้ ผมขอฝากกำลังใจไปยังทุกท่าน ผมทราบดีว่าขณะนี้ทุกคนกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายและสถานการณ์ที่ยากลำบากอย่างยิ่ง ผมและพรรคก้าวไกลจะพยายามทุกวิถีทางเพื่อเปลี่ยนแปลงสถานการณ์นี้ให้กลับมาสู่ภาวะปกติให้เร็วที่สุด ไม่ว่าสถานการณ์ด้านสาธารณสุข สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจปากท้อง และสถานการณ์ด้านสังคมในเวลานี้ ตัวผมเองจะรีบรักษาให้หายและกลับมาปฏิบัติหน้าที่ผู้แทนราษฎรของประเทศนี้ให้เร็วที่สุด อย่าเพิ่งหมดหวัง เรายังมีวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่าเดิมรออยู่" นายณัฐชา ระบุ

“อันวาร์”ลาออกตำแหน่งรองเลขาฯปชป. หวังให้พรรคเร่งจัดประชุมใหญ่-เลือกตั้งรองหัวหน้าฯคุมภาคใต้ ชี้ความนิยมพรรคยังตกต่ำ

ผู้สื่อข่าวรายงานจากพรรคประชาธิปัตย์ ว่า  นายอันวาร์ สาและ ส.ส.ปัตตานี และรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ได้ทำหนังสือถึงหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค และสมาชิกพรรค เมื่อวันที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมา แจ้งการขอลาออกจากตำแหน่งรองเลขาธิการพรรค เพื่อให้พรรคเร่งจัดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี พร้อมกับจัดการเลือกตั้งตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคฯดูแลภาคใต้ที่ยังว่างอยู่  อย่างไรก็ตาม ในหนังสือแจ้งการขอลาออกของนายอันวาร์ มีสาระสำคัญที่เน้นย้ำถึงกระแสความนิยมของพรรคประชาธิปัตย์ที่ยังตกต่ำ แต่การที่คณะผู้บริหารไม่รับฟังเสียงเรียกร้องของนายอันวาร์  รวมถึงกรณีที่พรรคฯ ยังไม่ถอนตัวจากการร่วมรัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ซึ่งขณะนี้มีภาพลบจากปัญหาวิกฤติ“โควิด-19” 

“บิ๊กตู่” สั่งระดมช่วยคุมราคาสินค้าช่วงล็อกดาวน์-เร่งแก้เรื่องร้องเรียน 

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจําสํานักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ เข้มงวดในการตรวจสอบเรื่องราคาทั้งสินค้าอุปโภคและบริโภคในท้องตลาดให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม เป็นธรรม โดยเฉพาะในส่วนอุปกรณ์ทางการแพทย์ อุปกรณ์ป้องกันโรคแก่ประชาชน อย่างหน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ เจลล้างมือ ป้องกันการฉวยโอกาสขึ้นราคา ซึ่งจะกระทบต่อการจับจ่ายใช้สอยและค่าครองชีพของประชาชนในช่วงนี้ได้

ทั้งนี้ รัฐบาลยังขอความร่วมมือผู้ประกอบการ ไม่ขึ้นราคาสินค้าในช่วงนี้ เพื่อช่วยกันบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายประชาชน หากพบมีการฉวยโอกาสขึ้นราคาเอาเปรียบผู้บริโภคอย่างไม่เหมาะสม จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยนายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำไปยังสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ให้มีการตรวจสอบด้วย หากพบเรื่องราวร้องทุกข์ของผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อน จากการขึ้นราคาสินค้าไม่เป็นธรรม ขอให้เร่งตรวจสอบและช่วยบรรเทาความเดือดร้อนโดยด่วน 

ในส่วนของการสต๊อกสินค้านั้น กระทรวงพาณิชย์ ได้เตรียมพร้อมรองรับการยกระดับมาตรการควบคุมโรคไว้แล้ว โดยได้มีการประสานกับห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาร์เก็ต ตลอดจนประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการรายย่อย เตรียมพร้อมสินค้า โดยเฉพาะด้านอาหาร รองรับความต้องการของประชาชน โดยมั่นใจว่าเพียงพอต่อความต้องการ จึงแนะนำให้ประชาชนเลือกซื้อสินค้าในปริมาณที่พอดี ไม่จำเป็นต้องกักตุนสินค้าไว้จำนวนมาก เพราะสินค้าทั้งด้านอุปโภคและบริโภคมีเพียงพอต่อความต้องการอย่างแน่นอน

ขณะที่ ด้านพลังงาน รัฐบาลมีความพร้อมบรรเทาภาระประชาชนด้วยเช่นกัน โดยล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการกํากับกิจการพลังงาน(กกพ.) มีมติให้ตรึงค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) รอบเดือน ก.ค. – ธ.ค.2564 ให้เรียกเก็บที่ -15.32 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ผู้ใช้ไฟฟ้ายังคงจ่ายค่าไฟฟ้าเท่าเดิมในอัตรา 3.61 บาทต่อหน่วย ต่อไปจนถึงสิ้นปี 2564 นอกจากนี้ คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ยังได้ขยายเวลาคงราคา LPG ออกไปอีก 3 เดือน  1 ก.ค. – 30 ก.ย.2564 โดยถัง 15 กิโลกรัม อยู่ที่ 318 บาท เพื่อลดภาระค่าครองชีพของประชาชน จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังไม่คลี่คลาย

“กพท.” ร่อนหนังสือสั่งแอร์ไลน์งดทำการบิน 3 ทุ่ม-ตี 4 เริ่ม 12 ก.ค.เป็นต้นไป

กพท.ออกประกาศ 8 มาตรการคุมเข้มสายการบินหยุดทำการบินช่วงเวลา 3 ทุ่มถึงตี 4 รับล็อกดาวน์ หวังลดผลกระทบการเดินทางจากสถานการณ์การแพร่เชื้อโควิด-19 ฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค.เป็นต้นไป

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า นายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้ลงนามในประกาศเรื่อง แนวปฏิบัติสำหรับผู้ประกอบการสนามบินและผู้ดำเนินการเดินอากาศในเส้นทางการบินภายในประเทศ ในระหว่างสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ฉบับที่ 2 เพื่อยกระดับการดำเนินการมาตรการเฝ้าระวังป้องกันโรคที่สอดคล้องกับข้อกำหนดของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ที่ขอให้ประชาชนงด หรือชะลอการเดินทางในช่วงเวลานี้ โดยไม่มีเหตุจำเป็น

ทั้งนี้เพื่อเป็นการยกระดับการดำเนินมาตรการเฝ้าระวังป้องกันโรคที่สอดคล้องกับข้อกำหนดดังกล่าว สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยจึงออกประกาศกำหนดแนวปฏิบัติ ดังนี้

1. ให้ยกเลิกประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เรื่อง แนวปฏิบัติสำหรับ ผู้ประกอบการสนามบินและผู้ดำเนินการเดินอากาศในเส้นทางการบินภายในประเทศในระหว่างสถานการณ์ การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ประกาศ ณ วันที่ 17เมษายน พ.ศ.2564 และ ให้ใช้ประกาศฉบับนี้แทน

2. ให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศจำกัดการปฏิบัติการบินในระหว่างช่วงเวลา21.00 – 04.00น. เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับผู้โดยสารในการเดินทางระหว่างสนามบินและที่พัก และสอดคล้องกับบริการ ขนส่งสาธารณะประเภทอื่นที่ดำเนินการตามข้อกำหนดและข้อปฏิบัติเดียวกัน

3. ในกรณีที่มีการยกเลิกเที่ยวบินและการรวมเที่ยวบิน ให้มีการแจ้งและดูแลผู้โดยสารอย่างเหมาะสม ตามประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง การคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารที่ใช้บริการสายการบินของไทยในเส้นทาง บินประจำภายในประเทศ พ.ศ. 2563

4.ก่อนออกบัตรโดยสาร ให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศตรวจสอบเอกสารสำคัญของผู้โดยสาร ตามมาตรการป้องกันโรคของจังหวัดปลายทางอย่างเคร่งครัด หากตรวจสอบแล้วพบว่าเอกสารไม่ถูกต้อง หรือไม่ครบถ้วน อาจพิจารณระงับการออกบัตรโดยสารแก่ผู้โดยสารนั้น

5. ให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศพิจารณาการจัดที่นั่งในเครื่องบินอย่างเหมาะสมกับจำนวนผู้โดยสาร ในแต่ละเที่ยวบิน โดยคำนึงถึงมาตรการเว้นระยะห่างเพื่อไม่ให้เกิดความหนาแน่นแออัด อันจะมีส่วนช่วยใน การป้องกันควบคุมโรค

6. ให้ผู้ประกอบการสนามบินติดตามดูแลให้ผู้ประกอบการร้านค้าต่าง ๆ ในเขตพื้นที่สนามบิน ปฏิบัติตามมาตรการของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) (ศบค.) โดยเคร่งครัด

7.ให้ผู้ประกอบการสนามบินและผู้ดำเนินการเดินอากาศเพิ่มความเข้มงวดในการติดตามดูแล ให้ประชาชนผู้มาใช้บริการปฏิบัติตามมาตรการในระเบียบสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ว่าด้วย แนวปฏิบัติในการให้บริการผู้โดยสารสำหรับเส้นทางการบินภายในประเทศในระหว่างสถานการณ์การระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) พ.ศ. 2564 ประกาศ ณ วันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2564 โดยเครงครัด

8.ให้ผู้ประกอบการสนามบินและผู้ดำเนินการเดินอากาศแจ้งเตือนผู้โดยสารกรณีเป็นผู้ป่วยยืนยัน หรือผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ให้งดการเดินทาง หากฝ่าฝืนอาจได้รับโทษตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558

ทั้งนี้ สำหรับประกาศนี้ จะมีผลตั้งแต่วันที่ 12กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป จนกว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะสิ้นสุดไป หรือมีประกาศอื่นใดเพิ่มเติม ประกาศ ณ วันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2564
 

กห.ปช.ฝ่ายความมั่นคง เร่งเตรียมกำลังสนับสนุนมาตรการรัฐ ตั้งจุดตรวจจุดสกัด พื้นที่สีแดงเข้ม อย่างเข้มงวด 

ที่กระทรวงกลาโหม พล.ท.คงชีพ  ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า พล.อ.ชัยชาญ  ช้างมงคล รมช.กลาโหม และ พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกระทรวงกลาโหม ประชุมหน่วยงาน กอ.รมน. นขต.กลาโหม เหล่าทัพ และ ตร. ผ่านระบบ VTC เพื่อเร่งเตรียมความพร้อมสนับสนุนการปฏิบัติตามมาตรการ ศบค.ที่กำหนด

สำหรับภาพรวมฝ่ายความมั่นคงโดย ศปม.ได้เร่งปรับแผนและสนธิกำลัง ทั้งทหาร ตำรวจและฝ่ายปกครอง โดยใช้กำลัง ตร.เป็นหลัก กระจายลงพื้นที่จัดตั้ง จุดตรวจ จุดสกัดร่วม รวมทั้งจัดตั้งสายตรวจเคลื่อนที่เร็ว ลงปฏิบัติการในพื้นที่สีแดงเข้ม ซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดทั้ง 10 จังหวัด แล้ว ตั้งแต่เวลา 06.00 น. วันนี้ ( 10 ก.ค.)

ทั้งนี้ได้ร่วมจัดตั้งจุดตรวจในพื้นที่ กทม.รวม 88 จุด พื้นที่ 5 จังหวัด ปริมณฑล จำนวน 22 จุด และใน 4 จชต.รวม 35 จุด ร่วมกันทำหน้าที่ในการสร้างความเข้าใจและให้คำแนะนำการปฏิบัติกับประชาชนถึงมาตรการต่างๆ ที่ ศบค.กำหนด 

โดยเฉพาะการจำกัดการปฏิบัติในการเคลื่อนย้าย รวมทั้งข้อกำหนดและข้อจำกัดในกิจกรรมและเวลาที่กำหนด  ทั้งนี้จะเริ่มเข้มงวดบังคับใช้กฎหมายต่อเนื่องตั้งแต่ 12 ก.ค. เป็นต้นไป เพื่อคัดกรองการเดินทางข้ามจังหวัดในพื้นที่สีแดงเข้ม รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการหยุดแพร่กระจายของโรคและการดูแลรักษาความปลอดภัยของประชาชนจากปัญหาอาชญกรรมในคราวเดียวกัน

ขณะเดียวกัน ทุกเหล่าทัพอยู่ระหว่างเร่งขยายขีดความสามารถของบุคลากรทางการแพทย์แถวสอง และยกระดับขีดความสามารถ รพ.สนามให้สามารถรองรับผู้ป่วยสีเหลืองและแดงที่เพิ่มขึ้นอย่างเพียงพอ รวมทั้งได้จัดรถพยาบาลสนับสนุนการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยตามบ้าน เข้าสู่ระบบการรักษาแล้ว 9,296 รายโดยทำงานร่วมกับ สธ.อย่างใกล้ชิด

โดยพล.อ.ชัยชาญ ได้กำชับ ขอให้ทุกเหล่าทัพและตร.สนับสนุน ศปม.ในการเตรียมกำลังเสริมและปรับแผนให้สอดรับครอบคลุมงานความมั่นคงตามข้อกำหนดของ ศบค.ที่จะประกาศ โดยให้ประสานทำงานร่วมกับฝ่ายปกครองของจว.และ กทม.โดยเฉพาะคณะกรรมการควบคุมโรค จว.อย่างใกล้ชิด และขอให้ทุกเหล่าทัพให้ความสำคัญ คงความเข้มข้นเฝ้าระวังพื้นที่ชายแดนป้องกันการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่องกันไป หลังจาก 5 วันที่ผ่านมา สามารถจับผู้ลักลอบเข้าเมืองได้เกือบ 300 คน  

นอกจากนั้น พล.อ.ชัยชาญ ยังได้ย้ำให้ทุกเหล่าทัพ วางแผนกระจายกำลังเข้าไปช่วยเหลือประชาชนในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมโรคของรัฐที่กำหนด โดยขอให้จัดรถครัวสนามและสิ่งของจำเป็นเข้าไปช่วยเหลือชุมชนต่างๆ รวมทั้งเตรียมพร้อมจัดรถพยาบาลเข้าไปช่วยเหลือนำพาผู้ป่วยตามบ้าน เข้ารับการรักษาใน รพ.สนามที่จัดตั้งขึ้นโดยเร็ว

ก่อนเลิกประชุมในตอนท้ายพล.อ.ชาญชัย ได้ย้ำถึงคำสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์’ นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ขอให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ปฏิบัติหน้าที่บังคับใช้กฎหมายและประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจกับประชาชนไปพร้อมๆกัน เพื่อให้เกิดการสนับสนุนและความร่วมมือกันหยุดเชื้อควบคุมโรคในสถาการณ์วิกฤตที่ต้องการความร่วมมือกันทุกฝ่ายสูงสุด พร้อมทั้งได้แสดงความห่วงใยในการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ด่านหน้าในระดับพื้นที่ทุกนาย โดยขอให้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวังไม่ประมาทและขอให้ทุกเหล่าทัพ เร่งฉีดวัคซีนให้กับเจ้าหน้าที่ด่านหน้าที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ทุกนายเป็นการเร่งด่วน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top