การเยือนมองโกเลียคราวนั้น สี จิ้นผิง ได้กล่าวสุนทรพจน์กลางสภาผู้แทนมองโกเลีย ซึ่งถือเป็นไฮไลท์สำคัญของการมาเยือนครั้งนั้น และมักมีการหยิบยกขึ้นมาอ้างอิง และตีความจนถึงปัจจุบัน ถึงนโยบายของจีนต่อประเทศเล็กๆ หลังเทือกเขาอย่างมองโกเลียว่าจะมีความสัมพันธ์เช่นใด ในยุคของสี จิ้นผิง
ในคำพูดของสี จิ้นผิง ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างจีน - มองโกเลีย ที่ยาวนานนับร้อย ๆ ปี และสำหรับจีนแล้ว มิตรประเทศเพื่อนบ้านอันมีค่ายิ่งกว่า "ทองคำ" ที่พร้อมจะจับมือร่วมกันด้วยความจริงใจ เพื่อบรรลุถึงสันติภาพ และเสถียรภาพในภูมิภาคนี้
นอกจากนี้ สี จิ้นผิง ยังย้ำในเรื่องของการไว้ใจซึ่งกันและกัน และการเคารพในความต่าง ลดความขัดแย้ง และหาจุดสมดุลของความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ดินแดน ซึ่งจะเป็นการยกระดับความสัมพันธ์ระหว่าง จีน-มองโกเลียไปสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ที่จะกลายเป็นชัยชนะร่วมกันของทั้งจีน และ มองโกเลียนับจากนี้
หลังจากวันนั้นผ่านมานาน 8 ปีที่มองโกเลียได้เปลี่ยนผ่านผู้นำประเทศไปแล้ว 1 คน แต่ท่านประธาน สี จิ้นผิง ยังดำรงตำแหน่งอยู่ และจะเป็นเช่นนี้ไปอีกนานเมื่อมาการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญจีนมอบสิทธิ์ให้ผู้นำจีนสามารถอยู่ในตำแหน่งได้ตลอดชีพ
นิตยสาร Time ได้สัมภาษณ์ นายซักเคีย แอลแบค ดอร์จ อดีตประธานาธิบดีมองโกเลียในสมัยที่สี จิ้นผิง มาเยือนมองโกเลียในฐานะผู้นำจีนเป็นครั้งแรก และได้พูดคุยอย่างสนิทสนมกันถึงเรื่องแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมร่วมกันระหว่าง 2 ชาติ ที่นายซักเคีย เคยมองว่าน่าจะเป็นนิมิตรหมายอันดีสำหรับการพัฒนาประเทศมองโกเลีย
แต่มาถึงวันนี้ นายซักเคีย แอลแบคดอร์จ กลับมองไม่เห็นท่าทีที่แสดงถึงความเป็นมิตร และเคารพในสิทธิ์ และความต่างของชนชาติมองโกเลีย อย่างที่สี จิ้นผิง ได้กล่าวในวันนั้น เมื่อจีนได้รุกคืบอย่างแข็งกร้าว เพื่อผสานกลืนวัฒนธรรมในดินแดนมองโกเลีย ที่เป็นส่วนหนึ่งในเขตปกครองตนเองของจีน ด้วยการบังคับให้ใช้ภาษาจีนเป็นภาษากลางในการเรียนการสอนในมองโกเลียในทุกแห่ง ลดชั่วโมงการเรียนภาษามองโกเลีย และสนับสนุนให้ครอบครัวชาวจีนฮั่น ส่งบุตรหลานเรียนในโรงเรียน 2 ภาษาในเขตมองโกเลียมากขึ้น
และเริ่มตั้งแต่เดือนกันยายน 2020 เป็นต้นมา ทางการจีนจะบังคับให้วิชาหลัก วรรณคดี ประวัติศาสตร์ สังคมและการปกครอง ต้องเรียนเป็นภาษาจีนทั้งหมด ซึ่งนโยบายนี้ถูกใช้ในเขตปกครองตนเองในซินเจียง และ ธิเบต เพื่อให้ภาษาจีนเป็นส่วนหนึ่งในการส่งผ่านค่านิยม และการดำเนินชีวิตแบบจีนสู่ชนกลุ่มน้อย ซึ่งทางจีนมองว่าเป็นการสนับสนุนให้เกิดโอกาสทางการศึกษา และตลาดแรงงานอย่างเท่าเทียมกัน เมื่อไม่มีเรื่องภาษามาเป็นอุปสรรค
แต่สำหรับชาวมองโกเลียมองว่า นี่คือการกลืนกินรากเหง้าด้านภาษา และวัฒนธรรมของชาวมองโกเลีย และหากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไปก็มีความเสี่ยงที่ภาษามองโกเลียจะสูญพันธุ์ไม่เกินรุ่นลูก รุ่นหลานของพวกเขา
ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดการประท้วงครั้งใหญ่ของชาวมองโกเลียใน ซึ่งผู้ปกครอง และนักเรียนเชื้อสายมองโกเลียกว่า 3 แสนคนประท้วงไม่ยอมไปลงทะเบียนเรียนในหลักสูตรภาคบังคับใหม่ จนทางการจีนต้องออกหมายจับแกนนำผู้ประท้วง และกลุ่มผู้ปกครองในข้อหาละเมิดกฎหมาย ที่ขัดขวางเด็กไม่ให้เข้าสู่ระบบการศึกษาภาคบังคับของรัฐ จนกลายเป็นเรื่องราวใหญ่โตจนถึงวันนี้
และนอกจากเขตมองโกเลียใน ที่เป็นส่วนหนึ่งของจีน ยังมีคำสั่งตรงจากรัฐบาลจีนถึงสถานฑูตจีนประจำกรุงอูลานบาตอร์ ให้ย้ำการใช้นโยบายภาษาจีนในโรงเรียนมองโกเลีย เพื่อขัดขวางแนวความคิดเรื่องการแยกดินแดนในเขตมองโกเลียใน และการรวมตัวกันระหว่างชาวมองโกเลียฝ่ายเหนือและใต้
อดีตประธานาธิบดีมองโกเลีย จึงได้ออกมาวิพากษ์ วิจารณ์นโยบายกลืนวัฒนธรรมของจีนอย่างเปิดเผยในวันนี้ แต่ก็ต้องยอมรับว่าประเทศมองโกเลียไม่สามารถปิดกั้นอิทธิพลจากจีนได้
เนื่องจากภูมิประเทศที่ถูกปิดล้อมด้วยชาติมหาอำนาจใหญ่ถึง 2 ชาติ จีน และ รัสเซีย ที่ล้วนแต่มีอิทธิพลทั้งในด้านความมั่นคง และ การเมืองของมองโกเลีย ส่วนด้านเศรษฐกิจนั้น จีนก็เป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญที่สุดของมองโกเลีย ดูจากตัวเลขการส่งออกสินค้าจากมองโกเลียกว่า 90% ไปสู่ตลาดของจีนเพียงที่เดียวเท่านั้น
แม้ผู้นำปัจจุบันของมองโกเลียอย่าง นายคัลต์มา บัตทุลกา จะพยายามสานสัมพันธ์กับรัสเซียมากขึ้น แต่ก็ไม่อาจลดการพึ่งพาทางเศรษฐกิจกับจีนไปได้ โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติ Covid-19 ที่รัฐบาลมองโกเลียก็ได้รับความช่วยเหลือ และวัคซีนบริจาคของจีนเป็นจำนวนมาก ยังไม่นับแผนการลงทุนร่วมกันในระยะยาวอีกหลายโครงการ
ดังนั้น มองโกเลียจึงอยู่ในสถานะที่ถูกบีบอยู่ระหว่างประเทศมหาอำนาจ ที่แผ่อิทธิพลเข้าสู่ดินแดนนี้อย่างเข้มข้น แม้ว่าชาวมองโกเลียส่วนใหญ่จะยอมรับในคุณค่าของสังคมอุดมเสรีภาพ และประชาธิปไตยตามแบบแผนตะวันตก แต่ประเทศมองโกเลียในตอนนี้ยังไม่พร้อมที่จะ "เลือกข้าง" และเปราะบางเกินกว่าที่จะเป็นสนามรบของสงครามตัวแทนระหว่างฟากเสรีนิยม และ สังคมนิยม ซึ่งสุดท้ายฝ่ายที่จะได้รับความเสียหายมากที่สุด ก็คือชาวมองโกเลียด้วยกันเอง
การต่อสู้เพื่อรักษาสมดุลระหว่างขั้วอำนาจจากต่างประเทศ และปกป้องอัตลักษณ์ วัฒนธรรมของชาวมองโกเลียให้ได้ จึงกลายเป็นโจทย์สำคัญผู้นำมองโกเลีย ที่ต้องหาจุดร่วม และจุดต่างที่ลงตัว ร่วมกับผู้นำอย่าง สี จิ้นผิง ผู้ซึ่งเมื่อตัดสินใจเดินหน้าสิ่งใด จะต้องทำให้สุดทาง
และเชื่อว่าท่านประธานสี จิ้นผิง ไม่ได้ลืมคำพูดของตนที่เคยพูดไว้กลางสภาในมองโกเลียเมื่อ 8 ปีก่อน เพียงแต่คำพูดนั้น อาจไม่ได้หมายถึงจีน แต่หมายถึงมองโกเลียต่างหากนั่นเอง
อ้างอิง:
https://time.com/5953518/mongolia-china-russia-problems/
https://thediplomat.com/2020/09/chinas-crackdown-on-mongolian-culture/
https://www.bbc.com/news/world-asia-china-53981100
สนับสนุนข่าวโดย : แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit
คลิก : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32