Sunday, 15 December 2024
Hard News Team

จุรินทร์ เผย ครม. มอบ ศบค.เร่งฉีดวัคซีน 3 กลุ่มเสี่ยง “ซาเล้ง-โรงงานตลาดสด” ตามเสนอแล้ว พร้อม ยัน! ราคาพืชผลเกษตร "ดีเกือบทุกตัว" ส่งออกผลไม้ไทย "ยิ่งไปโลด" 

วันพฤหัสบดี ที่ 20 พฤษภาคม 2564 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงความคืบหน้าการเสนอให้ฉีดวัคซีนกลุ่มโรงงาน ซาเล้ง และตลาดสด ว่า ตนได้เสนอเข้าไปในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีขอให้ศบค. ดำเนินการแล้ว เพราะเป็นกลุ่มเสี่ยง และจำเป็นต้องสัมผัสคนตลอดเวลา นอกจากนั้นโรงงานก็มีความสำคัญ เพราะขณะนี้เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนได้ด้วยการส่งออก นอกจากคุณภาพของอาหารที่ปลอดโควิดแล้ว คนงานก็จำเป็นต้องได้รับการฉีดวัคซีนด้วย ซึ่งเรื่องนี้ก็ได้รับการตอบรับแล้วว่าจะให้ ศบค. รับไปดำเนินการต่อไป 

“ทั้งซาเล้ง คนจนตัวจริง และแม่ค้า พ่อค้าทั้งหลายในตลาดนัด ตลาดสด ควรได้จัดลำดับความสำคัญให้เพราะพวกเขาต้องสัมผัสคนตลอด และคนซื้อจะได้ปลอดภัยด้วย โรงงานก็มีความสำคัญ เพราะขณะนี้เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนได้ด้วยการส่งออกที่เป็นพระเอกอยู่ และในการส่งออกลึกลงไปคืออาหาร เพราะฉะนั้นอาหาร ที่ไทยทำตัวเลขได้ดีอยู่ขณะนี้เพราะนอกจากคุณภาพโดยตัวของมันเองแล้วปลอดโควิด เพราะฉะนั้นการฉีดวัคซีนให้กับคนงานก็มีความจำเป็นอย่างยิ่ง และวันอังคารที่ผ่านมา ผมได้เสนอเรื่องนี้ใน ครม.แล้ว และได้รับการตอบรับแล้วว่าจะให้ ศบค. รับไปดำเนินการ ก็ขอให้รอฟังผลจาก ศบค.ต่อไป” นายจุรินทร์ กล่าว

นอกจากนี้ยังกล่าวถึงราคาสินค้าเกษตรว่า ราคาดีเกือบทุกตัว ราคายางพาราโดยเฉลี่ย 60 กว่าบาท และยืนระยะอยู่หลายเดือน โดย ปาล์ม ราคา 5-6 บาท ถือว่าราคาสูงกว่าที่ตนจะเข้ามาทำหน้าที่ ซึ่งขณะนั้น กก.ละ 2 บาทกว่าเท่านั้นเอง ข้าวโพดก็ยังถือว่าราคาดีแตะที่ 8 บาทกว่า บางช่วง 9 บาท มันสำปะหลัง กก.ละ 2 บาทกว่า และข้าวก็ถือราคาดี

"เพราะฉะนั้นเชื่อว่าปีนี้ตัวเลขก็น่าจะมากกว่านี้ ยกเว้นว่าเราไม่มีของ แต่ตลาดเรามี และผลไม้ไทยก็ไปได้ดีในตลาดโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้เตรียมการตั้งแต่ต้น มีมาตรการเชิงรุก ตั้งแต่ผลไม้ยังไม่ออกสู่ตลาด โดยไม่ต้องตามแก้ปัญหา แต่ได้แก้ปัญหาเชิงรุกไปตั้งแต่เริ่มต้น " นายจุรินทร์ กล่าว 

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวด้วยว่า ด้วยมาตรการทั้งหมดนี้ก็ช่วยให้การส่งออกไปได้ดี หากติดปัญหาที่ด่าน อย่างเมื่อเดือนที่แล้ว (เมษายน) ก่อนวันแรงงานเกิดปัญหาที่ด่านโหย่วอี้กวน ก็ได้ลงไปแก้ปัญหาได้ทันท่วงที แทนที่จะติดอยู่ 2-3 อาทิตย์ ก็ทำให้คลี่คลายไปได้ในเวลาเพียงสัปดาห์เดียว

“บิ๊กตู่” ให้สัมภาษณ์สื่อญี่ปุ่น มั่นใจมาตรการแก้ไขปัญหาโควิด-19 และแผนกระจายวัคซีน “ยัน” เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจให้ขยายตัวตามเป้ารองรับการลงทุนจากต่างชาติ “โว” มีสัญญาณบวกในบางสาขา ทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์ และการอุปโภคบริโภค

เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์นิคเค ระหว่างการประชุม International Conference on the Future of Asia (Nikkei Forum) ครั้งที่ 26 ถึงประเด็นการบริหารสถานการณ์ภายในประเทศให้ผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ว่า ขณะนี้ไทยยังสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ดี ไม่ส่งผลกระทบในวงกว้าง ด้วยระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็ง บุคลากรทางสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพ การดูแลประชาชนได้ทั่วถึง รวมทั้งการมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ด้วย ซึ่งรัฐบาลได้รับความร่วมมือจากประชาชนในการปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรค และได้ดำเนินการทั้งเชิงป้องกันและการรักษาผู้ติดเชื้อ รวมทั้งดำเนินการเร่งฉีดวัคซีนให้ประชากร อย่างน้อยร้อยละ 70 ภายในสิ้นปีนี้ โดยจะฉีดวัคซีนให้คนต่างชาติในไทยด้วย และเมื่อเริ่มฉีดวัคซีนให้ประชาชนกลุ่มใหญ่ในเดือนมิถุนายนได้ตามแผน เชื่อว่าสถานการณ์จะยิ่งดีขึ้น

นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ว่า แม้เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่ยังคงมีสัญญานบวกในบางสาขา อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ การอุปโภคบริโภค ภาคเอกชนเริ่มฟื้นตัว การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐที่ขยายตัว ซึ่งรัฐบาลได้ออกมาตรการช่วยเหลือและกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกลุ่มเศรษฐกิจฐานราก และ SMEs ได้แก่

1.) มาตรการเพื่อการบริโภคภายในประเทศ และคงการไหลเวียนของเงินในระบบเศรษฐกิจ

2.) มาตรการทางการเงินและทางภาษี  

3.) มาตรการส่งเสริมการลงทุนและการจ้างงาน ซึ่งจากมาตรการเศรษฐกิจและแผนการด้านวัคซีนของรัฐบาลตามเป้าหมาย เชื่อว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยคาดว่าจะฟื้นตัวในไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 ที่ร้อยละ 2.3-2.5 ส่งออกขยายตัวที่ร้อยละ 4.5 การท่องเที่ยวฟื้นตัว เศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่องที่ 4.7 ในปีหน้าทั้งนี้ ไทยยินดีที่รัฐบาลและและเอกชนญี่ปุ่นเชื่อมั่นในศักยภาพเศรษฐกิจของไทย ซึ่งสถานการณ์โควิด-19 เป็นโอกาสให้ไทยและญี่ปุ่นร่วมมือเพื่อเสริมสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน ไทยคำนึงถึงข้อแนะนำของเอกชนญี่ปุ่นและพร้อมร่วมมือในสาขาที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน ได้แก่ การสร้างเศรษฐกิจใหม่ (New Economy) การส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลและนวัตกรรม การเสริมสร้างอุตสาหกรรมที่ทันสมัย เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งสามารถร่วมมือกันในลักษณะ win-win

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ด้านแผนและมาตรการเพื่อรองรับการลงทุนจากต่างประเทศ รัฐบาลให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งไทยได้เปรียบเรื่องที่ตั้งที่เป็น “Connecting point” ของภูมิภาค จึงมีศักยภาพสำหรับการขับเคลื่อนการลงทุน โดยได้ผลักดันเขตพัฒนเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ให้เป็นเขตเศรษฐกิจชั้นนำของอาเซียนและของภูมิภาค โดยมุ่งเน้นสาขาที่ไทยมีศักยภาพ

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการจัดการปัญหาโลกร้อนว่า  รัฐบาลไทยพร้อมดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อรับมือกับปัญหาโลกร้อน ทั้งการลดก๊าซเรือนกระจก โดยตั้งค่าเป้าหมายขั้นต่ำในการลดก๊าซเรือนกระจกไว้ที่ร้อยละ 20 และขั้นสูงไว้ที่ร้อยละ 25 จากกรณีปกติภายในปี ค.ศ.2030 โดยไทยยึดมั่นที่จะร่วมมือกับประชาคมโลกในการแก้ไขปัญหานี้ตามพันธกรณีภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความตกลงปารีส รวมทั้งได้บูรณาการประเด็นดังกล่าวในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และการจัดทำยุทธศาสตร์ระยะยาวเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่งเสริมโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งสอดรับกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

ทูตมองโกเลีย เข้าพบ "จุรินทร์" ตั้งเป้าการค้า 3,000 ล้าน ดันส่งออก "ข้าว ยาง อาหาร" เพิ่ม พร้อม "จับมือ" หาเส้นทางขนสินค้าทางบก ลดต้นทุน

วันที่ 20 พฤษภาคม 2564 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ต้อนรับนายทูมูร์ อามาร์ซานา H.E. Mr. Tumar Amarsanaa เอกอัครราชทูตมองโกเลียประจำประเทศไทย โดยใช้เวลาหารือร่วม 1 ชั่วโมงภายหลังการหารือ

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ถือว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่กระทรวงพาณิชย์ได้มีโอกาสต้อนรับท่านทูตจากมองโกเลียหลังจากมีความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศมา 47 ปี โดยประเทศมองโกเลียมีประชากร 3,300,000 คน มีจีดีพีประมาณ 440,000 ล้านบาท ถือเป็นคู่ค้าที่มีความสำคัญลำดับ 6 ของไทยในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออก มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับมองโกเลียปี 2563 ประมาณ 1,140 ล้านบาท ประโยชน์ที่จะได้รับคือมองโกเลียสามารถใช้ประเทศไทยเป็นประตูการค้าสู่อาเซียนได้ เพราะมีศักยภาพในเรื่องของการส่งออกสินแร่ หนังสัตว์ เป็นต้น และประเทศไทยสามารถใช้มองโกเลียเป็นประตูการค้าสู่รัสเซียหรือกลุ่มประเทศที่แตกตัวจากรัสเซียได้ 

"จากการหารือมองโกเลียต้องการขยายความร่วมมือทางการค้าระหว่างกันและส่งออกเนื้อสัตว์ และนมมาประเทศไทย ตลาดใหญ่มองโกเลียคือ จีนและรัสเซีย โดยไทยยินดีให้การสนับสนุนโดยต้องผ่านการรับรองความปลอดภัยด้านอาหาร ผ่านกรมวิชาการเกษตรและกรมปศุสัตว์ของไทยและดำเนินการขั้นตอนให้ครบถ้วน จากนั้นกระทรวงพาณิชย์ยินดีให้การสนับสนุนและท่านทูตขอให้ช่วยสนับสนุนการจัดทำข้อตกลงเรื่องการคุ้มครองการลงทุนระหว่างกัน ขณะนี้ประเทศไทยกำลังจะทำโมเดลกลางรูปแบบการคุ้มครองการลงทุนที่เป็นมาตรฐาน จะสามารถนำไปใช้กับทุกประเทศในโลกและสนใจทำข้อตกลงเรื่องการไม่จัดเก็บภาษีซ้อนและมีความเห็นเรื่องการลดต้นทุนการขนส่งสินค้าจากไทยไปมองโกเลีย เนื่องจากต้นทุนค่อนข้างสูง เพราะห่างไกลและเน้นการขนส่งสินค้าทางเรือเป็นหลัก ควรเพิ่มเส้นทางทางบกเพื่อลดต้นทุนการขนส่งและมองโกเลียสนใจที่จะต้อนรับการลงทุนทางด้านสุขภาพจากนักลงทุนชาวไทยเพราะมีโรงพยาบาลบางแห่งเริ่มไปลงทุนในมองโกเลีย" รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าว 

นายจุรินทร์ กล่าวด้วยว่า สำหรับประเทศไทย ประเด็นที่หารือ

1.) ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกัน

2.) เชิญให้ท่านทูตประสานผู้นำเข้าจากมองโกเลียเข้าร่วมงาน THAIFAX ที่กระทรวงพาณิชย์จัดในเดือนกันยายน 2564 ประสานให้เอกชนหรือผู้นำเข้าของมองโกเลียเข้าร่วมงานจับคู่ธุรกิจ สนับสนุนการนำเข้าสินค้าอาหารของไทย ทั้งข้าว เครื่องปรุงรส อาหารกระป๋อง อาหารแปรรูป เครื่องดื่ม น้ำตาล ผลิตภัณฑ์ยางและเครื่องมือแพทย์ รวมถึงกระดาษด้วย และประเด็นถัดมา เมื่อการเดินทางสามารถทำได้ให้ประสานให้นักท่องเที่ยวจากมองโกเลียเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยโดยเข้ามารับบริการด้านสุขภาพ และได้ข้อสรุปร่วมกันคือ

1.) จะเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันจากปีที่แล้ว 1,140 ล้านบาท เป็น 3,000 ล้านบาท ในปี 2566

2.) มีคณะทำงานร่วมเจรจาระหว่างไทยกับมองโกเลีย เสนอให้มีการจัดตั้งอนุกรรมการทางการค้า โดยกระทรวงพาณิชย์จะเป็นเจ้าภาพร่วมเจรจากับมองโกเลีย 

3.) จะร่วมมือกันเร่งกำหนดข้อตกลงเรื่องการคุ้มครองการลงทุนระหว่างกันและเร่งบังคับใช้ข้อตกลงการจัดเก็บภาษีซ้อนโดยเร็ว 4.จะทำงานร่วมกันในการลดต้นทุนการขนส่ง
 

“ประยุทธ์” ร่วมกล่าวปาฐกถา Nikkei Forum ย้ำจุดยืนไทยภายหลังฟื้นฟูโควิด-19 พร้อมผลักดันความร่วมมือทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคและระดับโลกอย่างเข้มแข็ง ครอบคลุม ยืดหยุ่น และยั่งยืน

วันที่ 20 พฤษภาคม 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวปาฐกถาเนื่องในการประชุม International Conference on the Future of Asia (Nikkei Forum) ครั้งที่ 26 ซึ่งจัดโดยหนังสือพิมพ์นิคเค ในหัวข้อหลัก “การสร้างรูปแบบของอนาคตยุคหลังโควิด-19 : บทบาทของภูมิภาคเอเชียต่อการฟื้นตัวของโลก” (Shaping the Post-COVID era : Asia’s Role in the Global Recovery) ผ่านระบบการประชุมทางไกล

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอแบ่งปันมุมมองของไทยเพื่อความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ไทย-ญี่ปุ่นให้แนบแน่นยิ่งขึ้น โดยการแพร่ระบาดของโควิด-19 ถือเป็นสัญญาณเตือนให้ต้องเร่งปรับตัวและแก้ไขจุดอ่อน เพื่อกลับมาลุกขึ้นยืนและเข้มแข็งกว่าเดิมให้ได้เร็วที่สุด ซึ่งต้องร่วมกันค้นหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ความร่วมมือพหุภาคีจะเป็นกุญแจที่จะพลิกวิกฤตเป็นโอกาสและเสริมสร้างขีดความสามารถของภูมิภาคในการฟื้นฟูตัวเองให้กลับมาเข้มแข็งและดีกว่าเดิม และเชื่อมั่นว่า เอเชียจะสามารถมีบทบาทนำในการฟื้นฟูเศรษฐกิจโลกให้มีการเจริญเติบโตที่เข้มแข็ง ยืดหยุ่น และยั่งยืนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะนำไปสู่การฟื้นฟูแบบองค์รวมได้

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ญี่ปุ่นมีบทบาททางธุรกิจในไทยมายาวนาน ซึ่งไทยก็มีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่อุปทานของภูมิภาคและของโลก เป็นฐานการผลิตและศูนย์กลางกระจายสินค้าให้แก่ บริษัทญี่ปุ่นที่มีการลงทุนในไทยกว่า 5,800 แห่ง และยังเป็นฐานสำหรับการขยายการลงทุนของญี่ปุ่นไปยังประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย ซึ่งการลงทุนสะสมของญี่ปุ่น (FDI) ในไทยจนถึงปี 2563 มีมูลค่าสูงกว่า 93,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งขอยืนยันว่าไทยมุ่งมั่นที่จะปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจเพื่ออำนวยความสะดวกต่อการลงทุนจากทุกประเทศให้ดียิ่งขึ้นตามนโยบาย Thailand+1 ต่อไป โดยจะดำเนินการตามข้อเสนอแนะของบริษัทญี่ปุ่นในไทยให้ครอบคลุมประเด็น ดังนี้ คือ

1.) รักษาความต่อเนื่องของนโยบายด้านเศรษฐกิจและการลงทุน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต รวมถึงโครงการใน EEC เพื่อขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนร่วมกัน

2.) พัฒนาและยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โครงการระบบราง โครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และโครงการการพัฒนา smart city รอบสถานีกลางบางซื่อ เป็นต้น  

3.) พัฒนาแรงงานทักษะ โดยเฉพาะวิศวกรและผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมสำคัญ ดังเช่นที่รัฐบาลญี่ปุ่นและไทยร่วมมือกันจัดตั้งสถาบันการเรียนการสอนแบบโคเซ็นในไทย มุ่งหวังให้เป็นศูนย์การอบรมทรัพยากรมนุษย์ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงต่อไป

4.) ปรับปรุงกฎระเบียบต่าง ๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับพิธีการศุลกากรและภาษีนิติบุคคล ซึ่งไทยมีแผนเพิ่มการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการต่างชาติ และ

5.) เสริมสร้างโอกาสการค้าที่เสรี เป็นธรรมและเปิดกว้าง รวมถึงการพิจารณาเรื่องการเข้าเป็นสมาชิกความตกลง CPTPP 

นายกรัฐมนตรี กล่าวเน้นย้ำว่า ความร่วมมือพหุภาคีมีความสำคัญในการผลักดันให้เกิดการฟื้นตัวอย่างรอบด้าน ผ่านกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลกอย่าง อาเซียน เอเปค RCEP และ CPTPP ล้วนเป็นกลไกสำคัญต่อกระบวนการฟื้นฟู โดยเมื่อปีที่แล้ว อาเซียนได้จัดตั้งกองทุนอาเซียนเพื่อรับมือกับโควิด-19 เพื่อจัดซื้อและกระจายเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ พัฒนาวัคซีนและยารักษา ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากประเทศอาเซียนบวกสาม และไทยพร้อมจะร่วมมือกับญี่ปุ่นอย่างใกล้ชิด ในการจัดตั้งศูนย์อาเซียนด้านภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ เพื่อช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันจากวิกฤตด้านสาธารณสุขที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตทั้งจากภายในและนอกภูมิภาคอาเซียน

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุนให้เสรีและเปิดกว้าง ไทยจะเป็นเจ้าภาพกรอบความร่วมมือเอเปค ในปี ค.ศ.2022 จะริเริ่มการพูดคุยถึงเขตการค้าเสรีเอเชียแปซิฟิก หรือเอฟแทป ซึ่งหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนให้บรรลุเป้าหมายการเจริญเติบโตที่เข้มแข็ง สมดุล มั่นคง ยั่งยืน และครอบคลุมในระยะยาว และเสริมสร้างความสัมพันธ์ด้านการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับญี่ปุ่นมากขึ้นให้เพิ่มเติมจากความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) และความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) ที่มีอยู่แล้ว ขณะเดียวกัน ไทยจะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับ e-commerce และการค้าดิจิทัล เช่น การสนับสนุนธุรกิจ start-ups ตอบสนองต่อยุคสมัยแบบ new normal เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้ทุกคนมีความพร้อมและมีทักษะที่จำเป็นต่อการเติบโตในสภาพแวดล้อมแบบดิจิทัล

ด้านการฟื้นฟูความเชื่อมโยงของโลก ได้แก่ การเข้าถึงวัคซีนอย่างเท่าเทียม การยอมรับเอกสารการฉีดวีคซีนระหว่างกัน การพัฒนาบัตรสุขภาพแบบดิจิทัลที่สามารถเชื่อมโยงเข้ากับระบบของประเทศต่าง ๆ ได้ ตลอดจนการเปิดพรมแดนและอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายสินค้าและบริการที่จำเป็น ซึ่งนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า ไทยให้ความสำคัญเร่งด่วนกับการฟื้นฟูความเชื่อมโยงในทุกมิติ โดยเฉพาะการเดินทางและท่องเที่ยว ทั้งนี้ไทยขอเรียกร้องให้วัคซีนโควิด-19 จัดเป็นสินค้าสาธารณะของโลกและผลักดันให้มีการฉีดวัคซีนอย่างครอบคลุม ซึ่งไทยมีข้อริเริ่มการกระตุ้นการเดินทางมาท่องเที่ยวในไทยอย่างปลอดภัย จึงหวังว่าจะได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นผ่านข้อริเริ่มนี้ และด้านความยั่งยืนเพื่อสร้างโอกาสในการพัฒนาภูมิภาคและโลกให้ดีขึ้นและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไทยผลักดันวาระเรื่องการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุม โดยส่งเสริมแนวปฏิบัติและการดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบ รวมทั้งเห็นชอบให้โมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นวาระแห่งชาติเพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูจากโควิด-19 ให้มีความเข้มแข็ง ยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การเติบสีเขียวของญี่ปุ่น ซึ่งจะช่วยเร่งการบรรลุ SDGs ให้สำเร็จโดยเร็ว

ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความสำคัญของภูมิภาคเอเชียว่า สามารถสร้างโลกในยุคหลังโควิด-19 ที่เข้มแข็ง ครอบคลุม ยืดหยุ่น และยั่งยืนมากขึ้น ขอส่งกำลังใจให้ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิคและพาราลิมปิคในปีนี้ ซึ่งทัพนักกีฬาไทยพร้อมเข้าร่วม รวมทั้งขอส่งความปรารถนาดีและความนับถือไปยังนายกรัฐมนตรีซูกะ รัฐบาลญี่ปุ่น และประชาชนชาวญี่ปุ่นทุกคน ขอให้มั่นใจว่า ไทยสนับสนุนญี่ปุ่นเสมอในฐานะเพื่อนและเราจะชนะวิกฤตโรคระบาดนี้ พร้อมกับสร้างโลกที่ดีกว่าเดิมให้แก่ชนรุ่นหลังไปด้วยกัน

ช่องทางรวย ชี้ตลาดอาหารเสริม-สมุนไพรไทยมาแรง 

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้แนวโน้มความต้องการบริโภคอาหารเสริมและวิตามินในไทยและทั่วโลกมีทิศทางเติบโตอย่างรวดเร็ว หลังจากการแพร่ระบาดของโควิดได้ทำให้ผู้บริโภคหันมาสนใจสุขภาพเพิ่มมากขึ้น รวมถึงจำนวนประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่ม ส่งผลให้ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการสร้างภูมิคุ้มกันแก่ร่างกายมากกว่าเดิม จึงเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารเสริมวิตามินของไทย จะเข้ามาขยายตลาดภายในประเทศ และส่งออกได้เพิ่มขึ้น  

ทั้งนี้ผู้บริโภคทั่วโลกยังคงนิยมรับประทานอาหารเสริมและวิตามินในรูปแบบเม็ดแคปซูลมากสุด รองลงมา คือ แบบเม็ด แบบผง และแบบน้ำ รวมทั้งให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ที่มาจากธรรมชาติ มีฉลากชัดเจน ซึ่งผู้บริโภคชาวอเมริกันถึง 27% ยอมจ่ายเงินเพิ่มขึ้น หากสินค้านั้นเป็นอาหารเสริมที่ไม่ผ่านการปรุงแต่ง   

ปัจจุบันไทยเป็นแหล่งสมุนไพรและวัตถุดิบธรรมชาติที่หลากหลาย ในปี 63 มีสถิติการส่งออกอาหารเสริมและวิตามิน 1,616 ตัน คิดเป็นมูลค่า 794 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่ส่งออกไปเวียดนามและเมียนมารวมกันถึง 50% แต่ยังน้อยกว่าการนำเข้าที่มีมากถึง 11,942 ตัน มูลค่า 5,504.93 ล้านบาท โดยนำเข้าจากจีนมากสุด 40% รองลงมา ได้แก่ สวิสเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และเยอรมนี

‘ประวิตร’ เร่ง ช่วยแรงงานกระทบโควิด-19 เผย เตรียม 45 จุด 45 จุดฉีดวัคซีนผู้ประกันตนในกทม.-9จ.ปริมณฑล ให้ผู้ประกันตน ม.33 แนะ แรงงาน ชะลอไปทำงานพื้นที่เสี่ยง รอสถานการณ์ปลอดภัยก่อน

วันที่ 20 พฤษภาคม 2564 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มอบนโยบายต่อแรงงานจังหวัดและสำนักงานในแรงงานต่างประเทศ ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์มีนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เข้าร่วม

พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า นโยบาย เพื่อขับเคลื่อนมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในส่วนของแรงงานให้เน้นย้ำในเรื่องการบริหารวัคซีน ร่วมกับคณะกรรมการกระจายวัคซีน สำหรับผู้ประกันตนอย่างทั่วถึง และตรวจคัดกรองเชิงรุกให้ครอบคลุมกลุ่มเสี่ยงสูงมากที่สุด ส่วนการช่วยเหลือเยียวยายังต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการ ม.33 เรารักกัน รวมถึงลดอัตราเงินสมทบผู้ประกันตน และให้การกำกับดูแลการทำงานของแรงงานต่างด้าวให้ยึดถือตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด และเยียวยาผู้ที่ว่างงาน ส่วนที่ระบุว่าแรงงานว่างงานเป็นล้านคนนั้นไม่จริงเพราะมีคนที่กลับเข้ามาทำงานเยอะแยะและที่ว่างงานเป็นส่วนน้อย

พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า นอกจากนั้นให้ช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงในฉนวนกาซา ประเทศอิสราเอลอย่างเร่งด่วน โดยกระทรวงแรงงานจะดำเนินการประสานกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อนำร่างผู้เสียชีวิตกลับมาประเทศไทยให้เร็วที่สุดและจะช่วยเหลือเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิตอย่างเต็มความสามารถnโดยมีระเบียบของการช่วยเหลืออยู่แล้ว ทั้งนี้แรงงานที่จะเดินทางไปต่างประเทศขอให้ชะลอก่อน และพื้นที่ใดเป็นพื้นที่เสี่ยงยังไม่ให้ไป หากไม่เสี่ยงสามารถไปได้ ส่วนคนไทยที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงขณะนี้ให้อพยพออกมาก่อนเมื่อปลอดภัยแล้วจะกลับไปอีกค่อยว่ากัน

นอกจากนั้นให้เพิ่มมาตรการเฝ้าระวังแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายลักลอบเข้าประเทศตามแนวชายแดน โดยร่วมกับฝ่ายความมั่นคง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ต้องขอบคุณผู้บริหารและข้าราชการทุกระดับของกระทรวงแรงงาน ที่ได้ช่วยกันทำงานเพื่อช่วยเหลือแรงงานและประชาชนด้วยความทุ่มเท เสียสละ จนเกิดความคืบหน้าบรรลุเป้าหมายตามนโยบายของรัฐบาลด้วยดี และขอให้ทุกคนปลอดภัยจากโควิด-19 ทุกคน

ผู้สื่อข่าวถามถึงการฉีดวัคซีนให้ผู้ประกันตนมีอุปสรรคอะไรหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ไม่มี เราเตรียมการไว้ทั้งหมดแล้ว โดยเตรียมจุดฉีดไว้ 45 จุดในกทม.และปริมณฑล 9 จังหวัด เมื่อถามถึงการส่วนการลงทะเบียนฉีดวัคซีนแบบวอล์คอิน พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า เป็นเรื่องของนายกฯ ตนไม่ตอบ 

เมื่อถามย้ำว่า ควรให้ลงทะเบียนหน้างาน แบบออนไซด์ สำหรับประชาชนทั่วไป ตามที่นายกฯ เปลี่ยน หรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า เป็นเรื่องของศบค.ว่าอย่างไรก็ว่าตามนั้นจะพิจารณาให้เป็นแบบใด 

สาธารณสุข แจ้งเปลี่ยนเบอร์หาเตียงผู้ป่วยโควิด

กระทรวงสาธารณสุข ขอแจ้งเปลี่ยนเบอร์ Call Center ในการหาเตียง ผู้ป่วยโควิด-19 ที่ศูนย์แรกรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 อาคารนิมิบุตร สนามกีฬาแห่งชาติ จากปกติเบอร์โทรศัพท์ 02-079-1000 เป็นเบอร์โทรศัพท์สายด่วน 1668 ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2564 เป็นต้นไป

อย่างไรก็ตาม สำหรับการให้บริการหาเตียงผู้ป่วยโควิด-19 จะเปิดให้บริการทุกวันตั้งแต่เวลา 08.00-22.00 น. ทั้งนี้ การบริการผู้ป่วยโควิด-19 ในส่วนอื่น ๆ ที่อาคารนิมิบุตร ยังคงดำเนินการเช่นเดิม


แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

LINK : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

ปริญญ์ สานต่อ นโยบายจุรินทร์ เดินหน้า “แจกข้าวกล่อง 40,000 กล่อง-อาสา ปชป.ช่วยหมอพร้อม-ขยายผลช่วยหางาน” เร่งบรรเทาปัญหาปากท้องชาวบ้าน

นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย พรรคประชาธิปัตย์ ร่วมกับนายปพนชัย สุวรรณทศ และทีมงานปชป. บึงกุ่ม ลงพื้นที่ชุมชนสุวรรณประสิทธิ์ 2-3 เขตบึงกุ่ม เดินหน้าโครงการ ”ข้าวกล่องเดลิเวอรี่ 40,000 กล่อง ส่งตรงถึงบ้าน” และ “อาสา ปชป. ช่วยหมอพร้อม” พร้อมแนะนำการสร้างงาน สร้างอาชีพในโลกยุคใหม่ เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ประสบภัยพิบัติด้านสุขภาพอย่างต่อเนื่อง ตามเจตนารมณ์ของท่านจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และประธานมูลนิธิเสนีย์ ปราโมช

นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ กล่าวว่า วิกฤติโควิด-19 ทำให้ประชาชนจำนวนมากจำเป็นต้องกักตัวอยู่บ้าน ขาดรายได้ และไม่สามารถออกมาจับจ่ายใช้สอยเพื่อซื้ออาหารได้ด้วยตนเอง เป็นปัญหาปากท้องครั้งสำคัญที่ต้องเร่งให้การช่วยเหลือ ทีมปชป.จึงอาสาลงพื้นที่กทม.เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยเดินหน้าแจกข้าวกล่องถึงบ้านประชาชน ช่วยเหลือผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 โรค ในการลงทะเบียนฉีดวัคซีนโควิด พร้อมทั้งรณรงค์ให้พี่น้องชาวกรุงเทพมหานครฉีดวัคซีน สานต่อโครงการข้าวกล่องเดลิเวอรี่ 40,000 กล่องและโครงการอาสา ปชป. ช่วยหมอพร้อม ทั้งนี้ยังมีผู้สูงอายุและกลุ่มโรคเสี่ยงหลายคนที่ยังเข้าไม่ถึงการลงทะเบียน “หมอพร้อม” ทางพรรคประชาธิปัตย์จึงทํางานเชิงรุก นําทีมอาสาสมัคร ลงพื้นที่ช่วยเหลือ เพราะการได้ฉีดวัคซีนจะช่วยบรรเทาอาการป่วยถ้าติดเชื้อโควิด-19 

“การนําข้าวกล่องและถุงยังชีพมาแจกเป็นการช่วยเหลือที่ทำในระยะสั้น แต่การสร้างงาน สร้างอาชีพ เป็นสิ่งที่จะช่วยให้ประชาชนยืนด้วยลำแข้งตัวเองได้ในระยะยาว ครั้งนี้เราจึงไม่ได้มาเพื่อแจกอาหารเพียงอย่างเดียว แต่มาแจกงาน ช่วยคนตกงาน แนะนำการเข้าถึงงานในโลกยุคใหม่ด้วย เพื่อให้ทุกคนยืนด้วยลำแข้งของตนเองได้ ผ่านโครงการ “เรียนจบ พบงาน” ที่จะช่วยยกระดับแรงงานฝีมือให้กับคนในชุมชนและช่วยฝึกผู้ประกอบการยุคใหม่ให้พร้อมสู้กับยุคดิจิทัล ซึ่งเป็นโครงการที่ทีมเศรษฐกิจทันสมัยปชป. ได้ดำเนินการมานานกว่าหนึ่งปีแล้ว สามารถช่วยคนให้มีงานทำได้มากมาย ประชาชนที่สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถติดต่อได้ทางเฟซบุ๊กเพจ เรียนจบพบงาน หรือแอดไลน์ไอดี prinnpa

กกร. รับเศรษฐกิจซบเซา หั่นจีดีพีปีนี้คาดโตเหลือ 0.5-2%

วันที่ 20 พฤษภาคม 2564 นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)  เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ว่าที่ประชุมมีมติปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 2564 ลงมาอยู่ที่ 0.5-2% จากเดิมคาดไว้โต 1.5-3% สอดคล้องกับที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) ปรับลดประมาณการจีดีพีปีนี้ลงเฉลี่ยอยู่ที่ต่ำกว่า 2%

ทั้งนี้ เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกเดือนเม.ย. มีแนวโน้มรุนแรงกว่าที่คาด ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศมากกว่า 3 เดือน และส่งผลกระทบต่อความต่อเนื่องในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวได้ช้ากว่าเดิม โดยเฉพาะธุรกิจบริการดำเนินกิจการได้อย่างจำกัดจากมาตรการควบคุมโรค ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานและรายได้แรงงาน ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อและเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 2 และ 3 เป็นอย่างมาก

“ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยยังเผชิญความเสี่ยงค่อนข้างมากจากการระบาดระลอกใหม่ที่รวดเร็วและรุนแรง กระทบต่ออุปสงค์ในประเทศ ดังนั้น จีดีพีจะโตได้ 2% การเร่งฉีดวัคซีนดูจะเป็นหนทางเดียวที่ทำให้เศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีนี้และปีหน้ากลับมาฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะการฉีดวัคซีนในพื้นที่ที่เป็นยุทธศาสตร์การท่องเที่ยว เพื่อให้สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ในไตรมาส 4 โดยปรับปรุงการสื่อสารกับประชาชนเพื่อลดความสับสน และบริหารจัดการมาตรการควบคุมโรคอย่างมีประสิทธิภาพ”นายสุพันธุ์ กล่าว

โดยทาง กกร.หวังว่ารัฐบาลจะเร่งผลักดันพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เงินกู้ 7 แสนล้านบาท เพื่อให้รัฐบาลมีเม็ดเงินเพียงพอ และดำเนินโครงการด้านสาธารณะสุข มาตรการเยียวยาชดเชยให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และฟื้นฟูเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง ภายใต้สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงและมีความไม่แน่นอนสูง

นอกจากนี้ ควรเร่งรัดมาตรการช่วยเหลือด้านกำลังซื้อภาคประชาชนในวงกว้าง โดยเฉพาะโครงการคนละครึ่ง ให้เข้ามาพยุงกำลังซื้อได้ในเดือนมิ.ย. และพิจารณาเพิ่มวงเงินสนับสนุนการใช้จ่ายจาก 3,000 บาท เป็น 6,000 บาท ซึ่งจะช่วยให้มีเม็ดเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจาก 90,000 ล้านบาท เป็น 180,000 ล้านบาท

นายสุพันธุ์ กล่าวว่าเมื่อรวมเม็ดเงินของประชาชนที่นำออกมาใช้จ่ายคู่กับเม็ดเงินจากโครงการคนละครึ่งเสริมมาตรการดึงกำลังซื้อจากประชาชนที่มีเงินออม โดยสนับสนุนมาตรการนำรายจ่ายจากการซื้อสินค้าไปหักภาษีเงินได้ในวงเงิน 30,000-50,000 บาทต่อราย จะจูงใจให้ประชาชนในกลุ่มนี้นำเงินฝากมาใช้จ่ายอย่างไรก็ตาม แม้เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวชัดเจนขึ้นต่อเนื่องจะส่งผลดีต่อแนวโน้มส่งออกของไทยในระยะต่อไป ซึ่งทาง กกร.ได้ปรับประมาณการการส่งออกปีนี้ขยายตัว 5-7% จากเดิมคาดไว้ที่ 4-6% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ในกรอบ 1-1.2% เห็นได้จากเศรษฐกิจและมูลค่าการนำเข้าของคู่ค้าหลักในไตรมาส 1/2564 ฟื้นตัวได้ตามคาด เช่นเดียวกับอุปสงค์ในประเทศเศรษฐกิจหลักที่ปรับตัวดีขึ้น ส่งผลดีมายังการส่งออกของไทยในไตรมาสแรกให้ขยายตัวได้ถึง 8.2% ไม่รวมการส่งออกทองคำ

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้การภาคการผลิตและการส่งออกยังเติบโตได้ แต่พบปัญหาติดขัดคือการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และปัญหาค่าระวางเรือระดับสูง จึงอยากให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือส่วนนี้

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ประเด็นรัฐบาลกู้เงินนั้น หากพิจารณาเพดานหนี้สาธารณะของไทยในปัจจุบันถือเป็นนโยบายที่กำหนดในอดีต ดังนั้นประเด็นเพดานหนี้สามารถดำเนินการอย่างยืดหยุ่นได้ในสถานการณ์ปัจจุบันเช่นเดียวกับหลายประเทศทั่วโลกที่ผ่อนคลาย เพื่อเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจ ประกอบการเงินที่กู้มาก็มีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยกกร. มีคณะทำงานย่อยเพื่อพิจารณาหนี้สาธารณะจะมีการหารือและเสนอความเห็นต่อรัฐบาลในเร็ว ๆ นี้

Click on Clear เที่ยงตรง ประจำวันที่ 20 พฤษภาคม 2564

Click on Clear เที่ยงตรง ประจำวันที่ 20 พฤษภาคม 2564 กับ ประเด็น 'เรื่องเล่าจากคนบางแค หลังได้รับการฉีดวัคซีนที่แรกในกรุงเทพมหานคร'

สัมภาษณ์สด ดร.ตั้น กฤชนนท์ อัยยปัญญา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

.

.


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top