Sunday, 15 December 2024
Hard News Team

เอกชนหนุนรัฐบาลกู้ 7 แสนล. สู้โควิด-ฟื้นเศรษฐกิจ

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ว่า ภาคเอกชนเห็นด้วยกับการใช้ออก พ.ร.ก.กู้เงิน 7 แสนล้านบาท ซึ่งผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุมครม. เมื่อวันที่ 18 พ.ค. ที่ผ่านมา เพื่อให้รัฐบาลมีเงินเพียงพอสำหรับรองรับการดำเนินโครงการต่าง ๆ ภายใต้สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบัน โดยการใช้เงินตาม พ.ร.ก.ฉบับใหม่นี้ นอกจากจะใช้ในด้านสาธารณสุข ด้านการเยียวยา และชดเชยให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แล้ว ยังช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง 

“เอกชนอยากเห็นกรอบการใช้เงิน โปร่งใส ตรวจสอบการใช้เงินอย่างรอบคอบ ไม่เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่น ควรนำเงินมาช่วยเหลือกำลังซื้อภาคประชาชนในวงกว้างเพิ่มเติม โดยเฉพาะโครงการคนละครึ่ง ต้องการให้พิจารณาเพิ่มวงเงินสนับสนุนการใช้จ่ายจาก 3,000 บาทเป็น 6,000 บาท เพื่อช่วยให้มีเม็ดเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจาก 90,000 ล้านบาท เป็น 1.8 แสนล้านบาท อยากให้เริ่มเดือนมิ.ย.เลย จากแผนเดิมเริ่มเดือนก.ค. เนื่องจากขณะนี้เศรษฐกิจได้รับผลกระทบอย่างมาก”  

นายสุพันธุ์ กล่าวว่า กรอบการกู้เงินดังกล่าวจะไม่ส่งผลต่อเพดานหนี้สาธารณะของไทย ซึ่งไทยมีเงินทุนสำรองปริมาณสูง แข็งแกร่ง เมื่อเศรษฐกิจกลับมาขยายตัวจะมีเงินใช้หนี้ได้ต่อเนื่อง และควรเร่งฉีดวัคซีนตามเป้าหมาย ปรับปรุงการสื่อสารกับประชาชนเพื่อลดความสับสน บริหารจัดการมาตรการควบคุมโรคอย่างมีประสิทธิภาพ และเร่งฉีดวัคซีนในพื้นที่ที่เป็นยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวเพื่อให้เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ในไตรมาสที่ 4 ปีนี้

นอกจากนี้ภาคเอกชนต้องการให้ภาครัฐเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยอยากให้เสริมมาตรการดึงกำลังซื้อจากประชาชนที่มีเงินออมด้วยการฟื้นโครงการช้อปดีมีคืน รัฐสนับสนุนมาตรการนำรายจ่ายจากการซื้อสินค้าไปหักภาษีเงินได้ในวงเงิน 30,000-50,000 บาทต่อราย จะจูงใจให้ประชาชนในกลุ่มนี้นำเงินฝากมาใช้จ่าย ซึ่งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งการเพิ่มวงเงินคนละครึ่ง และฟื้นช้อปดีมีคืน จะมีเงินเข้ากระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มอีก 2-3 แสนล้านบาท จะช่วยประคองอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจปีนี้ ให้ขยายตัวได้ระดับ 2% หรือมากกว่านั้นได้

‘บิ๊กตู่’ วาง 3 แนวทาง กระจายวัคซีนอย่างทั่วถึง ย้ำชัด ผู้ประกันตนทุกคนต้องได้ฉีดวัคซีนโควิด

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม โพสต์ข้อความบน Facebook ส่วนตัว ถึงมาตรการการฉีดวัคซีนป้องกัน โควิด-19 ให้กับกลุ่มผู้ประกันตนในระบบมาตรา 33 ว่า “กลุ่มผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 เป็นกลุ่มแรงงานที่ความสำคัญกลุ่มหนึ่ง เป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีอาชีพต้องสัมผัส ต้องเจอคนจำนวนมาก อีกทั้งยังเป็นกลไกสำคัญของระบบเศรษฐกิจของประเทศ

การเตรียมการฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มผู้ประกันตนนี้ จะเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวง แรงงาน กระทรวงการคลัง และภาคเอกชน โดยจะพร้อมฉีดตั้งแต่ต้นเดือน มิ.ย. นี้ครับ

ผมได้กำชับให้ทำการฉีดให้ต่อเนื่อง และรวดเร็วที่สุด เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมการผลิต และภาคบริการ ฟื้นตัวได้โดยเร็ว

สำหรับแนวทางการกระจายวัคซีนมีดังนี้ครับ

1.) สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ร่วมมือกับภาคเอกชน และ สปสช. ในการดำเนินการ โดยกลุ่มผู้ประกันตนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปและผู้ป่วยในกลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง จะให้ทางกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ดำเนินการเนื่องจากกลุ่มดังกล่าวได้ลงทะเบียนผ่านหมอพร้อมไปแล้ว

2.) สำนักงานประกันสังคมจะประสานกับนายจ้างของแต่ละบริษัทให้ส่งข้อมูลลูกจ้างที่จะฉีดวัคซีน เพื่อทำการจัดสรรเวลาการฉีดวัคซีนให้แก่ผู้ประกันตน โดยในระยะแรกจะเน้นการฉีดวัคซีนสำหรับผู้ประกันตนใน กทม. และในระยะถัดไปจะเร่งฉีดวัคซีนให้แก่ผู้ประกันตนใน 9 จังหวัดเศรษฐกิจ จากนั้นจะดำเนินการฉีดวัคซีนให้แก่ผู้ประกันตนในจังหวัดที่เหลือต่อไป ที่สำคัญคือ จำนวนวัคซีนต้องเพียงพอกับจำนวนคน หากไม่ได้ทั้งหมดก็จะจัดสรรทยอยให้ตามลำดับความเร่งด่วน

3.) การฉีดวัคซีนใน กทม. นั้น จะมีจุดฉีดวัคซีน 45 แห่ง และจุดฉีดวัคซีนใน 9 จังหวัดเศรษฐกิจอีก 22 แห่ง

ทั้งหมดนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานตามแผน “วาระแห่งชาติ” เรื่องการฉีดวัคซีน ผู้ประกันตนทุกคนจะต้องได้รับการฉีดวัคซีน ที่จะทั้งป้องกันโรคให้กับตนเอง คนรอบข้าง และผู้เข้ามารับบริการ เพื่อให้กิจการและเศรษฐกิจเดินหน้าต่อได้”


แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

LINK : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

รู้จัก​ 'Ricult​' ฮีโร่ของเกษตรกรไทย 'อุกฤษ อุณหเลขกะ' ผู้ก่อตั้ง​ Ricult | Contributor​ EP.17

แม้แนวคิดด้าน​ Startup หรือการนำนวัตกรรมทางเทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ จะถูกนำมาบรรจุในโลกธุรกิจยุคนี้และประเทศไทย เพื่อ Disrupt ปัญหาและความล้าหลังของธุรกิจในอุตสาหกรรมเดิมที่เริ่มโรยรามากขึ้น

แต่สิ่งที่น่าคิด คือ แนวคิด​ Startup​ ที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ ดูจะยังไม่ค่อยโฟกัสมาที่เศรษฐกิจฐานรากของประเทศไทย อย่าง ‘การเกษตร’ สักเท่าไรนัก 

ทั้ง ๆ​ ที่ปัจจุบัน​ เกษตรกรไทยมักพบเจอปัญหาต้นทุนสูง ฟ้าฝนไม่เป็นใจ ผลผลิตไม่ได้ตามเป้า พ่อค้าคนกลางกดราคา และยังเป็นหนี้กันมากขึ้น​เรื่อย ๆ 

อย่างไรก็ตาม​ ใช่ว่าจะไม่มีแนวคิด​ Startup ด้านนี้ปล่อยออกมาเลย​

Ricult​ (รีคัลท์)​ ‘ฮีโร่’ คนใหม่ของเกษตรกรไทย เกิดขึ้นจาก​ 'อุกฤษ อุณหเลขกะ'​ ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง ‘Ricult’ (รีคัลท์) Startup​ ด้านเกษตรสายพันธุ์ไทย​ ที่นำเทคโนโลยีสมัยใหม่​ ผ่านภาพถ่ายดาวเทียม และ AI (ปัญญาประดิษฐ์) มาช่วยเกษตรกรในการวางแผนเพาะปลูกเพื่อลดความเสี่ยงจากสภาพอากาศ ทำให้ผลิตผลมีประสิทธิภาพมากขึ้น

อันที่จริงแล้ว อุกฤษ เป็นหนุ่มดีกรีนักเรียนนอกด้านเทคโนโลยีและการบริหารจาก Massachusetts Institute of Technology (MIT) ที่มีอนาคตสดใสในสังคมแวดล้อมอย่างซิลิค่อนวัลเลย์ และมีรายได้มหาศาลในบริษัทใหญ่ ๆ รอเขา​ที่อเมริกา 

แต่ทำไมเขาถึงยอมทิ้งรายได้และโอกาสมากมายในต่างแดน และกลับมาพัฒนาธุรกิจที่ตั้งใจช่วยเหลือเกษตรกรไทย?

พบคำตอบนี้ ได้ใน Contributor EP.17

.

.

 

รอเลย คลังประกาศผลเก็บตกเราชนะ 21 พ.ค.นี้

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า โครงการเราชนะ จะประกาศผลการทบทวนสิทธิ์สำหรับประชาชนกลุ่มผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ (กลุ่มผู้ไม่มีสมาร์ทโฟน) ที่ไม่ผ่านการคัดกรองคุณสมบัติและได้แสดงความประสงค์ขอทบทวนสิทธิ์ทางเว็บไซต์ www.เราชนะ.com ระหว่างวันที่ 6 มี.ค.-13 พ.ค. 2564 ตั้งแต่วันที่ 21 พ.ค. 2564 เป็นต้นไป ทางเว็บไซต์ www.เราชนะ.com หรือ Call Center ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หมายเลขโทรศัพท์ 0 2111 1122 

โดยผู้ผ่านการคัดกรองคุณสมบัติจะได้รับการโอนวงเงินสิทธิ์ครั้งแรก จำนวน 8,000 บาท ในวันที่ 22 พ.ค. 2564 และจะได้รับการโอนวงเงินสิทธิ์ที่รัฐบาลสนับสนุนเพิ่มเติมอีก จำนวน 1,000 บาท ในวันที่ 28 พ.ค. 2564 รวม 9,000 บาท โดยสามารถใช้จ่ายวงเงินสิทธิ์ผ่านบัตรประจำตัวประชาชนแบบอเนกประสงค์ ได้ที่ผู้ประกอบการร้านค้าหรือผู้ให้บริการที่เข้าร่วมโครงการฯ ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.-30 มิ.ย. 2564

สำหรับประชาชนประชาชนกลุ่มที่แสดงความประสงค์ขอทบทวนสิทธิ์ โดยได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของปีภาษี 2563 ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของกรมสรรพากรภายในเวลาที่กำหนด รวมถึงกรณีที่ผลการทบทวนสิทธิ์ในกรณีอื่น ๆ ที่อาจคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง สามารถตรวจสอบผลการทบทวนสิทธิ์ใหม่อีกครั้งตั้งแต่วันที่ 21 พ.ค. 2564 เป็นต้นไป 

ปัจจุบันโครงการเราชนะ มีผู้ได้รับสิทธิ์ในโครงการฯ แล้ว รวม 32.9 ล้านคน คิดเป็นมูลค่าการใช้จ่ายหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทยแล้วกว่า 205,897 ล้านบาท และมีผู้ได้รับสิทธิ์ในโครงการ ที่ใช้จ่ายจนครบวงเงินสิทธิ์เดิม จำนวน 7,000 บาท แล้ว จำนวน 25.6 ล้านคน ซึ่งเป็นการใช้จ่ายผ่านผู้ประกอบการร้านธงฟ้าราคาประหยัดพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นที่มีแอปพลิเคชันถุงเงิน ร้านค้าคนละครึ่งที่ตกลงยินยอมเข้าร่วมโครงการ รวมถึงผู้ประกอบการร้านค้าและผู้ให้บริการที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 1.3 ล้านกิจการ

“แรมโบ้” วอน “โทนี่-ยิ่งลักษณ์” หยุดวิพากษ์ วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล “ชี้” ทำให้เกิดความสับสน ยืนยันทุกภาคส่วนช่วยกันแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่

เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2564 นายเสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี กล่าวถึง นายทักษิณ ชินวัตร หรือโทนี่ และนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตสายกรัฐมนตรี ที่เคลื่อนไหวและวิพากวิจารณ์การทำงานของรัฐบาล ว่า ควรหยุดวิพากษ์วิจารณ์การแก้ไขสถานการณ์โควิดของรัฐบาลได้แล้ว ยืนยันว่านายกฯ รัฐบาล ได้ทำทุกอย่างเพื่อที่จะแก้ไขวิกฤตที่เกิดขึ้นทั้งดูแลสุขภาพ และความเป็นอยู่ของประชาชน รวมถึงผู้ประกอบการต่าง ๆ มาตรการสินเชื่อ พักทรัพย์ พักหนี้ และมาตรการทางภาษี การลดภาษี และอีกมากมายหลายโครงการ ในส่วนของวัคซีนโควิดที่นำมาฉีดให้กับประชาชนนั้นทางแอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด ยืนยันแล้วว่าวัคซีนที่ผลิตโดยสยามไบโอไซเอนซ์ ผ่านเกณฑ์การตรวจสอบคุณภาพจากห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ของแอสตร้าเซนเนก้าทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกาเรียบร้อยแล้ว และพร้อมส่งมอบวัคซีนป้องกันโควิด-19 เดือนมิถุนายน 6 ล้านโดส และเดือนต่อไปอีกเดือนละ 10 ล้านโดส จนครบ 61 ล้านโดส ยังไม่นับ วัคซีนทางเลือก ที่รัฐบาลจะสั่งเข้ามาอีก

ยืนยันว่ามีวัคซีนเพียงพอให้กับประชาชนส่วนวัคซีนไฟเซอร์นั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้พูดคุยกับผู้แทนบริษัทไฟเซอร์ เพื่อเจรจาจัดซื้อวัคซีน และผู้แทนบริษัทฯ แจ้งว่าพร้อมจัดหาวัคซีนให้ประเทศไทย จำนวน 10 ล้านโดส ถือเป็นการยืนยันได้แล้วว่าจะมีวัคซีนของไฟเซอร์เข้ามาอย่างแน่นอน 

“สำหรับการแก้ไขปัญหาผู้ติดเชื้อโควิดในเรือนจำนั้น นายกฯ ได้สั่งการให้เร่งแก้ปัญหาตรวจเชิงรุกให้มากและเร็วที่สุดที่สุด จัดตั้งโรงพยาบาลสนามในเรือนจำแล้ว เพื่อคัดแยกผู้ป่วยออกมารักษา หากมีผู้มีอาการรุนแรงจะนำออกมารักษาในโรงพบาลเฉพาะทางตามระบบต่อไป ให้การรักษาผู้ติดเชื้ออย่างดีที่สุด ด้วยความเท่าเทียม 

"มองว่านายโทนี่และนางสาวยิ่งลักษณ์ ไม่ควรออกมาพูดวิพากษ์ วิจารณ์ การทำงานของ นายกฯ รัฐบาล หรือประเทศไทย เพราะทั้งสองคน ก็ไม่ได้มาเห็นว่านายกฯ รัฐบาล บุคลากรทางการแพทย์  หรือทุกหน่วยงาน ทำงานแก้ไขปัญหาอย่างไรบ้าง ซึ่งที่ผ่านมาทุกคนทำงานหนักตลอดเวลา  

ดังนั้นก็ขอให้หยุดเคลื่อนไหว หยุดพูดจะดีกว่า เพราะยิ่งพูดออกมาเคลื่อนไหวบ่อยๆยิ่งสร้างความสับสนต่อประชาชน เหมือนกรณีวัคซีนไฟเซอร์ ที่นายโทนี่ให้ข้อมูลผิดพลาดจนหน้าแตกเย็บไม่ติดมาแล้ว” นายเสกสกล กล่าว

‘โฆษกรัฐบาล’ แจง ฝ่ายค้านเข้าใจผิด งบ กห.มากว่า สธ. ยันใช้เงินเพื่อดูแลปชช.มากกว่ากองทัพ   พร้อมยัน รพ.บุษราคัม จัดระบบเหมือนรพ.ปกติ เครื่องมือดูแลรักษาครบ ส่วนรถไฟฟ้าสายสีเขียวยังอยู่ในขั้นตอนกฎหมาย รับ “บิ๊กตู่’ห่วงเรื่องค่าโดยสาร

เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2564 นายอนุชา บูรพไชยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ที่กระทรวงกลาโหม ได้งบประมาณมากกว่ากระทรวงสาธารณสุข 5 หมื่นล้านบาท ว่า คงไม่สามารถไปดูเฉพาะงบที่กระทรวงกลาโหมได้อย่างเดียว ตัวเลขงบที่กระทรวงกลาโหมได้ในปี 2565 ระบุตัวเลขไว้ประมาณ 2 แสนล้านบาท ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขได้ประมาณ 1.53 แสนล้านบาท ซึ่งตัวเลขที่ต่างกันนี้อาจจะทำให้ฝ่ายค้านเข้าใจผิด เพราะ กระทรวงสาธารณสุข ตั้งงบประมาณภายในกระทรวงเอง ซึ่งมีหน่วยงานอื่นที่อยู่ภายใต้กระทรวงฯ แต่ไม่ได้ขอรับงบประมาณผ่านกระทรวงฯ แต่เป็นการของบโดยตรง ยกตัวอย่าง การตั้งงบประมาณของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่มีตัวเลขงบประมาณทั้งสิ้นอีก 1.4 แสนล้านบาท 

นายอนุชา กล่าวว่า ดังนั้นค่ารักษาพยาบาลและการบริการทางการแพทย์ จะรวมทั้งสิ้นมากกว่า 3 แสนล้านบาท จะทำให้งบประมาณที่ดูแลเรื่องสุขภาพประชาชนมีมากกว่ากระทรวงกลาโหม อีกเกือบ1 แสนล้านบาท นอกจากนี้งบกระทรวงกลาโหม ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับบุคลากรและอัตรากำลังพลต่าง ๆ ทั่วประเทศ ที่ทำหน้าที่ดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย เช่น บริเวณชายแดน จึงอยากเป็นกำลังใจให้กับบุคลากรต่าง ๆ ที่ทำหน้าที่กันอย่างเข้มแข็งในปัจจุบันด้วย 

พร้อมทั้งแถลงถึงการใช้งบประมาณของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อดำเนินการโรงพยาบาลบุษราคัม ที่อิมแพ็คเมืองทองธานี ว่า โรงพยาบาลดังกล่าว ไม่ใช่โรงพยาบาลสนาม แต่เป็นโรงพยาบาลแบบเต็มรูปแบบ ไม่สามารถนำไปเปรียบกับหอพักที่มีแค่เตียง ฟูก หมอน ผ้าห่มได้ เพราะมีเครื่องมือต่างๆ เช่น เครื่องออกซิเจน เครื่องเอ็กซเรย์ รวมถึงการติดตั้งเครื่องช่วยหายใจเหมือนกับโรงพยาบาลทั่วไป ที่ทำหน้าที่รับผู้ป่วยที่ออกจากไอซียูหรือผู้ป่วยสีแดง เช่น จากโรงพยาบาลรามาธิบดี หรือโรงพยาบาลศิริราช ทั้งนี้อยากจะให้ประชาชนที่อยู่พื้นที่บริเวณนั้นอย่ากังวล เพราะเราดูแลระบบการถ่ายเทอากาศเป็นอย่างดีตามกระทรวงสาธารณสุขวางไว้

นอกจากนี้ ยังแถลงถึงความคืบหน้าการแก้ปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว ว่า อยู่ในระหว่างขั้นตอนการพิจารณาตามกฎหมาย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดยังให้ความคิดเห็นเพิ่มเติม โดยพล.อ.ประยุทธ์​ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นห่วงเรื่องค่าโดยสาร ที่จะมีผลกระทบกับประชาชนโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ

รมว.พม. นำทีม เรามีเรา ลงพื้นที่ดินแดง มอบสิ่งของอุปโภคบริโภค เร่งช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางที่เดือดร้อนจากโควิด-19

วันนี้ 19 พฤษภาคม 2564 นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ลงพื้นที่ ณ ชมรมผู้สูงอายุ ศูนย์บริการสาธารณสุข 4 ดินแดง ซอยประชาสงเคราะห์ 19 แฟลต 64 กรุงเทพฯ เพื่อมอบเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นให้กับผู้แทนชุมชนนำไปช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กลุ่มเปราะบางในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ภายใต้กิจกรรม “เรามีเรา” ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหน เราจะตามไปช่วย

นายจุติ กล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้เรามาดูแลช่วยเหลือดูแลประชาชนกลุ่มเปราะบาง ได้แก่
ผู้ป่วยติดเตียงที่ไม่มีใครดูแลขาดความช่วย คนพิการ ผู้สูงอายุ และครอบครัวที่ติดเชื้อที่อยู่ระหว่างดูอาการไปไหนไม่ได้ เราก็เข้ามาดูแลตรงนี้ ซึ่งกลุ่มคนพวกนี้มีจำนวนมาก และทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือสังคมไทยได้ด้วยการบริจาคสิ่งของอุปโภคและบริโภคที่จำเป็น โดยกระทรวง พม. จะเป็นส่วนกลางให้ สำหรับของที่ทุกคนมอบให้มายังคงไม่พอเพียง และเรายังมีกลุ่มคนที่ต้องการความช่วยเหลืออีกเป็นจำนวนมาก ถ้าทุกคนช่วยกัน ตนเชื่อว่าเราจะสามารถผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้ไปด้วยกัน

นายจุติ กล่าวด้วยว่า สำหรับแนวทางการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ในครั้งนี้ ซึ่งมีทั้งเด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ คนไร้บ้าน และคนไร้ที่พึ่ง โดยกระทรวง พม.ได้เตรียมจัดสถานที่รองรับไว้หลายพื้นที่ ทั้งในเขต กทม. และปริมณฑล ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ดูแล 24 ชม. ทั้งนี้ กระทรวง พม. ได้เร่งวางแผนการช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเป้าหมายภายหลังวิกฤตครั้งนี้ เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมั่นคงในระยะยาว หากประชาชนกำลังประสบปัญหาความเดือดร้อนและความยากลำบากจากผลกระทบของโรคโควิด-19 สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่ ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน พม. โทร. 1300

สำหรับกรณีการฉีดวัคซีนนั้น รัฐบาลได้จัดลำดับตามที่ทุกคนลงทะเบียนผ่านแอบพลิเคชั่นไว้แล้ว ซึ่งใครที่ใช้แอบพลิเคชั่นไม่เป็น สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ได้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือบริการจองให้ โดยกระทรวง พม. จะร่วมบูรณาการกับทุกกระทรวงและทุกหน่วยงานเพื่อให้ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงสูงได้รับการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึง

รัฐบาลไต้หวันวอนประชาชน ‘อย่าเลือกฉีดวัคซีน’ มีอะไรฉีดไปก่อน รับรองว่าดีทุกตัว

หลังจากที่ Covid-19 ระลอกล่าสุด ตีเมืองแตกที่ไต้หวัน จากประเทศที่เคยเป็นเบอร์ 1 ด้านการสกัดการแพร่ระบาดได้ดีที่สุดในโลก มาวันนี้พบผู้ป่วยติดเชื้อพุ่งขึ้นมากกว่า 300 คนต่อวัน ซึ่งมากที่สุดนับตั้งแต่พบการติดเชื้อ Covid-19 ในไต้หวัน

การระบาดรอบใหม่ที่ร้ายแรงกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา สร้างความแตกตื่นในไต้หวันอย่างมาก ชาวไต้หวันต่างออกไปกว้านซื้ออาหารมากักตุนจนหมดชั้นวางสินค้า และรัฐบาลไต้หวันต้องงัดมาตรการสุดเข้ม ทั้ง Lockdown และห้ามชาวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศกลับมาใช้ใหม่

แต่มีอยู่เรื่องหนึ่ง ที่รัฐบาลไต้หวันเป็นห่วงก็คือ ชาวไต้หวันยังมาฉีดวัคซีนกันน้อยมาก ส่วนใหญ่ต้องการรอวัคซีนตัวที่เชื่อว่าดีกว่า เข้ามาก่อนแล้วค่อยไปฉีดกัน

สาเหตุที่ชาวไต้หวันไม่คอยกระตือรือร้นที่จะออกไปฉีดวัคซีน แม้ว่าจะเริ่มมีวัคซีนฉีดให้แล้วตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งก็เพราะมาตรการป้องกันการระบาดที่ได้ผลดีเยี่ยม ที่กลายเป็นจุดบอดของโครงการวัคซีนไต้หวัน เพราะคนไต้หวันส่วนใหญ่ก็วางใจ ในเมื่อแทบไม่พบการแพร่ระบาดในประเทศเลยมาเกือบครึ่งปี ดังนั้นการฉีดวัคซีนก็อาจไม่จำเป็นก็ได้

ซึ่งรัฐบาลไต้หวันก็ได้สั่งซื้อวัคซีนไปแล้ว 20 ล้านโดส ส่วนใหญ่เป็นวัคซีน AstraZeneca และบางส่วนเป็นวัคซีน Moderna และ กำลังรอคิววัคซีน 1 ล้านโดสจากโครงการ COVAX ขององค์การอนามัยโลก

แต่สิ่งที่ทางไต้หวันไม่คาดคิดคือ การแพร่ระบาดระลอกใหญ่ของ Covid-19 ในอินเดีย ที่เป็นหนึ่งในประเทศที่ผลิตวัคซีน AstraZeneca ให้กับบริษัทแม่ที่อังกฤษ และเข้าโครงการ COVAX จึงทำให้กำหนดส่งวัคซีน AstraZeneca ล่าช้าอย่างมาก ยิ่งเป็นวัคซีนโควต้าจากโครงการ COVAX ยิ่งไม่รู้กำหนดเลยว่าจะได้เมื่อไหร่

เลยทำให้ไต้หวันได้วัคซีนมาน้อยมาก จนถึงตอนนี้เพิ่งฉีดให้กับประชาชนไปได้แค่ 3 แสนคน คิดเป็นอัตราส่วนไม่ถึง 1% ของประชากรทั้งประเทศ

และจากการระบาดระลอกใหม่ ทำให้รัฐบาลไต้หวันต้องรีบเดินหน้าเร่งการจัดส่งจากบริษัทผู้ผลิต ที่น่าจะได้วัคซีนทั้ง AstraZeneca และ Moderna ทยอยส่งได้ในเดือนมิถุนายน ศกนี้

แต่กลับกลายเป็นว่าชาวไต้หวันบางส่วนเลือกที่จะไม่ฉีดวัคซีนที่รัฐบาลจัดซื้อมาให้ เพราะกังวลใจในเรื่องผลข้างเคียงจากลิ่มเลือดอุดตัน อยากฉีดวัคซีนยี่ห้อที่ดีกว่านี้ แต่ของยังไม่มี นั่นก็คือ Pfizer

และทำให้เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นการเมืองในไต้หวัน ที่ฝ่ายค้านออกมาโจมตีรัฐบาลเรื่องการจัดซื้อวัคซีนที่ล่าช้า และใช้วัคซีนเป็นเครื่องมือปลุกกระแสชาตินิยมในเวลาที่ไม่สมควร เนื่องจากรัฐบาลไต้หวันภายใต้การนำของ ไช่ อิงเหวิน ปฏิเสธการนำเข้าวัคซีนของจีน และยังโจมตีนโยบาย ‘การทูตวัคซีน’ ของจีนในต่างประเทศอีกต่างหาก

เลยทำให้ไต้หวันต้องรอวัคซีนจากชาติตะวันตกเพียงอย่างเดียว ที่มาช้า และจำนวนจำกัด และทางรัฐบาลไต้หวันก็ยังรอความหวังจากโควตาวัคซีนของสหรัฐฯ ที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน เคยประกาศว่าจะบริจาควัคซีน AstraZeneca ในประเทศจำนวน 60 ล้านโดสให้แก่ประเทศอื่น ที่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีรายละเอียดว่าจะจัดส่งให้ประเทศไหนบ้าง และหากมีบางส่วนส่งมาที่ไต้หวันจริง ก็ต้องรอจนถึงเดือนมิถุนายนเช่นกัน

กว่าจะได้วัคซีนมาก็ยากเย็น แต่จากผลสำรวจความเห็นบางส่วนของชาวไต้หวันกลับพบว่า AstraZeneca ไม่เอา จะเอาแต่ Pfizer

ทำให้รัฐบาลไต้หวันต้องออกมาสื่อสารกับประชาชนผ่านสื่อว่า จะ AstraZeneca หรือ Pfizer ก็มีประสิทธิภาพดีเหมือนกัน ป้องกัน Covid-19 ได้ดี และผลข้างเคียงจากวัคซีนก็มีทั้งคู่ แต่พบในจำนวนน้อยมาก ๆ แทบไม่แตกต่างกัน และเปรียบเทียบว่า ในเวลานี้ มีรองเท้าให้ใส่ 1 คู่เพื่อออกจากบ้าน แต่บางคนกลับยอมเลือกที่จะรอจะสวมแต่รองเท้าหรู ๆ ระดับ Christian Louboutin แล้วยอมเดินเท้าเปล่าออกจากบ้าน ทั้ง ๆ ที่เสี่ยงติดเชื้อโรคกว่ามากไปเพื่ออะไร

ทางรัฐบาลไต้หวันย้ำหนักแน่นว่า การฉีดวัคซีนเป็นการแก้ปัญหาโรคระบาดที่ถูกทางแล้ว และขอให้ประชาชนออกมารับวัคซีนไม่ว่าจะเป็นยี่ห้อไหนก็ตาม

ก็หวังว่าการรณรงค์ในครั้งนี้ จะทำให้ชาวไต้หวันเลิกกังวล ออกมาฉีดวัคซีนกันให้เยอะๆ เรื่องบางอย่างรอได้ แต่บางอย่างก็รอไม่ได้นะค้า

 

อ้างอิง:

https://www.taiwannews.com.tw/en/news/4201781

https://www.reuters.com/world/asia-pacific/taiwan-scrambles-vaccines-domestic-covid-19-cases-rise-2021-05-17/

https://www.abc.net.au/news/2021-05-18/taiwain-covid-19-vaccine-astrazeneca-hong-kong/100147462

https://taiwaninsight.org/2021/02/25/kmt-begins-to-call-for-tsai-administration-to-accept-chinese-covid-19-vaccines/


แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

LINK : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

สมาคมประกันวินาศภัยไทย ร่วมกับบริษัทสมาชิก ผุดโครงการ "ฉีดช่วยชาติ หมอพร้อมฉีด ประกันวินาศภัยพร้อมดูแล" แจกประกันภัยแพ้วัคซีนฟรี 11.5 ล้านสิทธิ์ เพิ่มความมั่นใจให้กับประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีน

นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ในประเทศที่ได้ทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก และหนทางหนึ่งที่จะช่วยกันหยุดการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพคือการฉีดวัคซีนในหมู่ประชาชนให้ได้มากที่สุดเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) ในกลุ่มประชากร เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยหนักและการเสียชีวิตลง ซึ่งจะเป็นการบริหารและควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่ยั่งยืนในระยะยาว

สมาคมประกันวินาศภัยไทย ในฐานะตัวแทนของภาคธุรกิจประกันวินาศภัยไทยที่ส่งเสริมการนำระบบประกันภัยเข้ามาช่วยในการบริหารความเสี่ยงให้กับประชาชนและประเทศชาติ มีความห่วงใยต่อวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม จึงได้ประชุมหารือร่วมกับบริษัทสมาชิกจัดโครงการ "ฉีดช่วยชาติ หมอพร้อมฉีด ประกันวินาศภัยพร้อมดูแล" ขึ้น เพื่อมอบกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองการแพ้วัคซีนให้กับประชาชนทั่วไปฟรี จำนวน 11.5 ล้านสิทธิ์ เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจและกระตุ้นให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 กันมากขึ้น

“สมาคมประกันวินาศภัยไทยมีความเชื่อมั่นว่า วัคซีนป้องกัน COVID-19 ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของไทยล้วนเป็นวัคซีนที่ได้รับการทดสอบในวงกว้างแล้วว่ามีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัย และเพื่อเป็นการเพิ่มความมั่นใจให้กับประชาชนมากยิ่งขึ้น จึงได้จัดโครงการมอบกรมธรรม์ประกันภัยแพ้วัคซีนให้กับประชาชนฟรี ซึ่งถือเป็นความร่วมมือของบริษัทประกันวินาศภัยที่มีเจตนารมณ์ในการเข้ามาช่วยบริหารความเสี่ยงและเสริมสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในการเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 เพื่อร่วมกันช่วยชาติให้ฝ่าวิกฤติ COVID-19 ในครั้งนี้ไปด้วยกัน”

สำหรับบริษัทประกันวินาศภัยที่เข้าร่วมโครงการฯ โดยการมอบประกันภัยแพ้วัคซีนฟรีให้กับประชาชน รวมทั้งสิ้น 11.5 ล้านสิทธิ์ ได้แก่

1.) บมจ.กรุงเทพประกันภัย จำนวน 2,000,000 สิทธิ์

2.) บมจ.ทิพยประกันภัย จำนวน 2,000,000 สิทธิ์

3.) บมจ.เมืองไทยประกันภัย จำนวน 2,000,000 สิทธิ์

4.) บมจ.วิริยะประกันภัย จำนวน 2,000,000 สิทธิ์

5.) บมจ.สินทรัพย์ประกันภัย จำนวน 1,000,000 สิทธิ์

6.) บมจ.สินมั่นคงประกันภัย จำนวน 1,000,000 สิทธิ์

7.) บมจ.อาคเนย์ประกันภัย จำนวน 1,000,000 สิทธิ์

8.) บมจ.ประกันภัยไทยวิวัฒน์ จำนวน 500,000 สิทธิ์

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถเลือกลงทะเบียนรับสิทธิ์ฟรี ผ่านช่องทางเว็บไซต์ของบริษัทประกันวินาศภัยที่เข้าร่วมโครงการฯ โดยกำหนดการเริ่มลงทะเบียนรับสิทธิ์ รวมถึงระยะเวลาและเงื่อนไขความคุ้มครองเป็นไปตามที่แต่ละบริษัทกำหนด สมาคมประกันวินาศภัยไทย และภาคธุรกิจประกันวินาศภัย มีความเชื่อมั่นว่าการมอบกรมธรรม์ประกันภัยแพ้วัคซีน จำนวน 11.5 ล้านสิทธิ์ในครั้งนี้จะกระจายไปสู่ประชาชนในทุกภาคส่วนของสังคมและสร้างความมั่นใจในการเข้ารับการฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด และขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลคนไทยให้ฉีดวัคซีนได้อย่างมั่นใจเพื่อร่วมกันหยุดเชื้อเพื่อชาติ ให้เราสามารถผ่านวิกฤติไวรัสร้าย COVID-19 นี้ไปได้ด้วยกันในที่สุด


แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

LINK : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

‘กกร’ หั่นจีดีพีปี 2564 อีกระลอก หลังประเมินโควิด-19 รุนแรงจากเดิมคาดจะโต 1.5-3% เหลือ 0.5-2% พร้อมหนุนรัฐกู้ 7 แสนล้านบาท อัดฉีดเศรษฐกิจ แนะเพิ่มวงเงินโครงการคนละครึ่ง เป็น 6,000 บาท ดันกำลังซื้อ ภายในมิ.ย. ชี้เป็นหนทางเดียวที่จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัว

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะทำหน้าที่ประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ประกอบด้วย ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยหลังการประชุมกกร.ประจำเดือนพ.ค. ว่า การระบาดของโควิด-19 ระลอกเดือนเมษายนมีแนวโน้มรุนแรงกว่าที่คาด ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศมากกว่า 3 เดือน ซึ่งส่งผลกระทบต่อความต่อเนื่องในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวได้ช้ากว่าเดิม โดยธุรกิจบริการดำเนินกิจการได้อย่างจำกัดจากมาตรการควบคุมโรค ส่งผลกระทบต่อทั้งการจ้างงานและกำลังซื้อในไตรมาส 2 และไตรมาส 3 อย่างมาก

ดังนั้นกกร.จึงปรับกรอบประมาณการเศรษฐกิจปี 2564 ใหม่จากเดิมในเดือนเม.ย. คาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จะโต 1.5 -3% เป็นขยายตัว 0.5-2% ขณะที่การส่งออกมีแนวโน้มเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวโดยจากสหรัฐจึงปรับการส่งออกจากเดิม โต 4-6% เป็น 5- 7% ขณะที่เงินเฟ้อคงเดิมที่ 1-2%

“ประเมินว่าโควิดที่ระบาดรอบใหม่จะส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อและเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 2 และไตร 3 เป็นอย่างมาก เห็นได้ชัดจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ก็ปรับลดประมาณการจีดีพีในปีนี้เฉลี่ยอยู่ที่ต่ำกว่าระดับ 2% ดังนั้นการเร่งแจกกระจายวัคซีนต้านโควิด-19 เป็นหนทางเดียวที่จะทำให้เศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีและปีหน้ากลับมาฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง การประชาสัมพันธ์แผนการบริหารจัดการวัคซีนที่มีความชัดเจน ไปพร้อมกับการเร่งสร้างความเข้าใจเพื่อเสริมความเชื่อมั่นในการเข้ารับการฉีดวัคซีน “นายสุพันธุ์กล่าว

สำหรับเศรษฐกิจโลกยังมีทิศทางฟื้นตัวต่อเนื่อง เป็นผลดีต่อการส่งออกของไทย โดยเศรษฐกิจและมูลค่าการนำเข้าของคู่ค้าหลักในไตรมาสที่ 1 ของปี 2564 ฟื้นตัวได้ตามคาด เช่นเดียวกับอุปสงค์ในประเทศเศรษฐกิจหลักที่มี Momentum ดีขึ้นตามลำดับ ซึ่งส่งผลดีมายังการส่งออกของไทยในไตรมาสแรกให้ขยายตัวได้ถึง 8.2% (ไม่รวมการส่งออกทองคำ) อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการยังเผชิญปัญหาขาดแคลนตู้ขนส่งสินค้าและค่าระวางเรือที่ทรงตัวในระดับสูง รวมถึงการเร่งตัวขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ นอกจากนี้ การระบาดของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์อินเดียที่กำลังแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในหลายประเทศ เป็นความเสี่ยงต่อภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลกในระยะต่อไป

ทั้งนี้กกร.ได้ขอให้ภาครัฐเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจใน 4 เรื่อง โดยเสนอ

1.) เร่งฉีดวัคซีนให้ได้ตามเป้าหมาย โดยปรับปรุงการสื่อสารกับประชาชนเพื่อลดความสับสน และบริหารจัดการมาตรการควบคุมโรคอย่างมีประสิทธิภาพ เร่งฉีดวัคซีนในพื้นที่ที่เป็นยุทธศาสตร์การท่องเที่ยว เพื่อให้สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ในไตรมาสที่ 4

2.) เร่งผลักดัน พรก เงินกู้ 7 แสนล้านบาท เพื่อให้รัฐบาลมีเม็ดเงินเพียงพอ และดำเนินโครงการด้านสาธารณะสุข ด้านการเยียวยา ชดเชยให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และฟื้นฟูเศรษฐกิจ ได้อย่างต่อเนื่อง ภายใต้ภาวะสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงและมีความไม่แน่นอนสูง

3.) เร่งรัดมาตรการช่วยเหลือด้านกำลังซื้อภาคประชาชนในวงกว้าง โดยเฉพาะโครงการคนละครึ่ง ให้เข้ามาพยุงกำลังซื้อได้ในเดือนมิถุนายน และพิจารณาเพิ่มวงเงินสนับสนุนการใช้จ่ายจาก 3,000 บาทเป็น 6,000 บาท ซึ่งจะช่วยให้มีเม็ดเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจาก 9 หมื่นล้านบาท เป็น 1.8 แสนล้านบาท เมื่อรวมเม็ดเงินของประชาชนที่นำออกมาใช้จ่ายคู่กับเม็ดเงินจากโครงการคนละครึ่ง

4.) เสริมมาตรการดึงกำลังซื้อจากประชาชนที่มีเงินออม โดยสนับสนุนมาตรการนำรายจ่ายจากการซื้อสินค้าไปหักภาษีเงินได้ในวงเงิน 3-5 หมื่นบาทต่อราย ซึ่งจะจูงใจให้ประชาชนในกลุ่มนี้นำเงินฝากมาใช้จ่าย


แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

LINK : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top