Monday, 12 May 2025
Hard News Team

มินิ วปอ. สนับสนุนกิจกรรมการกุศลงานกาชาดประจำปี 2567

เมื่อวานนี้ (2 ธ.ค.67) คณะตัวแทนนักศึกษาหลักสูตร วปอ.บอ. รุ่นที่ 1 หรือที่รู้จักในนาม มินิ วปอ. นำโดย นางสาวณัฐธิดา เทพสุทิน (ที่ 4 จากกลาง) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี  (กลาง) และนางชนิดา คล้ายพันธ์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายสาธารณะ บริษัท ติ๊กต๊อก เทคโนโลยีส์ จำกัด (กลางซ้าย) นำสิ่งของมูลค่า 185,000 บาท มอบให้กับสมาคมแม่บ้านกองบัญชาการกองทัพไทย ณ สมาคมแม่บ้านกองบัญชาการกองทัพไทย โดยการมอบมีนางปัญญดา หนุนภักดี นายกสมาคมแม่บ้านกองบัญชาการกองทัพไทย (กลางขวา) ให้เกียรติเป็นตัวแทนสมาคมฯ รับมอบสิ่งของ เพื่อนำไปสนับสนุนกิจกรรมการกุศลงานกาชาดประจําปี 2567 ที่จะมีการจัดขึ้นทั้งหมด 12 วัน 12 คืน ตั้งแต่วันที่ 11-22 ธันวาคม 2567

สิ่งของที่ คณะตัวแทนนักศึกษาหลักสูตร วปอ.บอ. รุ่นที่ 1 นำมามอบมีหลากหลาย เช่น จักรยานจาก ดร.ณัฐนัย อนันตรัมพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม จำกัด (มหาชน), ปลากระป๋อง จากนางสาววรรณศิริ เหล่าศิริชน กรรมการบริหารบริษัทซี เวลท์ โฟรเซ่น ฟู้ด จำกัด อีกทั้ง เครื่องใช้ไฟฟ้า จากนายพสุ ลิปตพัลลภและนาย สกลกรย์ สระกวี บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด เป็นต้น

จีนปูพื้นฐานด้านปัญญาประดิษฐ์ในชั้นเรียน เปิดสอนในหลักสูตรตั้งแต่ชั้นประถม-มัธยมต้น

(3 ธ.ค.67) กระทรวงศึกษาธิการของจีนเปิดเผยแผนยกระดับการศึกษาด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) สำหรับเด็กรุ่นใหม่ เพื่อเตรียมความพร้อมในการก้าวเข้าสู่ยุคเทคโนโลยีเกิดใหม่

กระทรวงฯ เรียกร้องความพยายามสำรวจแนวทางการศึกษาด้านปัญญาประดิษฐ์ในโรงเรียนประถมและมัธยม พร้อมเน้นย้ำความจำเป็นในการบ่มเพาะความคิดสร้างสรรค์ ความสนใจวิทยาศาสตร์ และทักษะดิจิทัลในเด็กนักเรียน

โรงเรียนควรจัดหลักสูตรที่เกี่ยวข้อง ผนวกปัญญาประดิษฐ์เข้าสู่เนื้อหาการเรียนการสอนทั่วไป และประเมินผลอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเด็กนักเรียนได้รับประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ตั้งแต่เริ่มเข้าเรียนชั้นประถม

ครั้นเลื่อนชั้นสู่ประถมปลายและมัธยมต้น เด็กนักเรียนควรมุ่งเน้นทำความเข้าใจและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ ก่อนจะมีส่วนร่วมสร้างสรรค์โครงการปัญญาประดิษฐ์และสำรวจการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ที่ล้ำสมัยในชั้นมัธยมปลาย

แผนริเริ่มนี้มุ่งรวบรวมทรัพยากรที่มีคุณภาพและเพิ่มขีดความสามารถเข้าถึงแพลตฟอร์มการศึกษาอัจฉริยะระดับชาติ ซึ่งจะเพิ่มหมวดหมู่ปัญญาประดิษฐ์ในอนาคตอันใกล้

นอกจากนั้นกระทรวงฯ กระตุ้นวิทยาลัย มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย และบริษัทเทคโนโลยีขั้นสูง เปิดห้องปฏิบัติการปัญญาประดิษฐ์และโถงนิทรรศการให้นักเรียนประถมและมัธยมเข้าถึงด้วย

หวยจิ้นเผิง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ เปรียบเปรยปัญญาประดิษฐ์เป็น 'กุญแจทอง' สำหรับระบบการศึกษา และตอกย้ำศักยภาพของปัญญาประดิษฐ์ในการกำหนดทิศทางอนาคตของการศึกษา พร้อมกับคว้าโอกาสและรับมือความท้าทาย

ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2024 จีนคัดเลือกโรงเรียน 184 แห่ง เป็นฐานนำร่องการสำรวจปรัชญา ต้นแบบ และโครงการการศึกษาด้านปัญญาประดิษฐ์ โดยมีเป้าหมายพัฒนากรณีตัวอย่างและประสบการณ์ที่สามารถต่อยอด ซึ่งจีนจะเพิ่มฐานนำร่องดังกล่าวในอนาคต

ทรัมป์แนะทรูโด จบปัญหากำแพงภาษี ด้วยการรวมชาติเป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐฯ

(3 ธ.ค. 67) เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด ได้เดินทางไปยังมาร์อาลาโก้ สถานที่ตากอากาศของว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในรัฐฟลอริด้า โดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้าเพื่อหารือเป็นการส่วนตัว

การเยือนครั้งนี้มีขึ้นหลังจากที่ก่อนหน้านั้น โดนัลด์ ทรัมป์ ออกมาขู่ว่าแคนาดาอาจจะโดนกำแพงภาษีสินค้านำเข้าจากแคนาดาและเม็กซิโก 25% เมื่อกลับเข้าสู่ทำเนียบขาว เพื่อบีบบังคับให้เร่งจัดการกับปัญหายาเสพติดและผู้อพยพที่เข้ามาในสหรัฐ โดยเรื่องนี้ส่งผลให้เกิดความกังวลว่าสงครามการค้าในภูมิภาคอาจจะเกิดขึ้น นายกทรูโดจึงรีบรุดหารือเป็นการส่วนตัวกับทรัมป์

ในระหว่างการหารือมื้อค่ำของสองผู้นำ นายกแคนาดาได้รับปากว่าจะแก้ปัญเรื่องภาษีศุลกากรแต่ก็อาจมีข้อจำกัดบางประการในประเด็นที่รัฐบาลท้องถิ่นในบางแคว้นของแคนาดาที่มีอาณาเขตติดกับพรมแดนสหรัฐฯ สามารถกำหนดอัตราภาษีศุลกากรได้ด้วยตนเอง 

ทรูโดกล่าวกับทรัมป์ว่า เขาไม่สามารถเรียกเก็บภาษีนำเข้าได้เพราะจะทำลายเศรษฐกิจของแคนาดาอย่างสิ้นเชิง อีกทั้งเป็นสิทธิ์ของรัฐบาลแคว้นท้องถิ่น ซึ่งทรัมป์ตอบเชิงติดตลกว่า 

"ถ้าแคนาดาไม่สามารถจัดการปัญหาภาษีศุลกากรได้ ประเทศคุณก็คงไม่สามารถเลี่ยงกำแพงภาษีสหรัฐได้ เว้นเสียแต่บางแคว้นของแคนาดาจะเข้าร่วมเป็นรัฐที่ 51 ของสหรัฐฯ" อย่างไรก็ตาม สื่อสหรัฐรายงานผลการหารือในมื้อค่ำเป็นเวลา 3 ชั่วโมงของสองผู้นำเป็นไปอย่างราบรื่น

สวนสยามลดค่าเข้า จาก 1,000 เหลือ 240 หวังกระตุ้นนทท. มองเศรษฐกิจยังซบเซาถึงกลางปี 68

(3 ธ.ค.67) นายวุฒิชัย เหลืองอมรเลิศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทสยามพาร์คซิตี้ ซึ่งดำเนินธุรกิจสวนสยาม (Siam Amazing Park) เปิดเผยว่า ขณะนี้ธุรกิจสวนสนุกและสวนน้ำยังคงมีความต้องการ แต่ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาและภาระหนี้สินที่สูง ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง 40% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 และคาดว่าจะยังคงซบเซาต่อไปจนถึงกลางปี 2568 เนื่องจากผู้คนยังไม่มั่นใจในสถานการณ์เศรษฐกิจ จึงมีการประหยัดการใช้จ่ายมากขึ้น

ในช่วงที่ผ่านมา ผู้ประกอบการหลายรายประสบปัญหาด้านสภาพคล่องและต้องใช้เงินทุนส่วนตัวเพื่อประคับประคองธุรกิจ ซึ่งนายวุฒิชัยได้เรียกร้องให้รัฐบาลสนับสนุนในเรื่องนี้ โดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้ธุรกิจขนาดกลางสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงิน เพื่อนำไปพัฒนาธุรกิจเพิ่มเติม นอกจากมาตรการช่วยเหลือหนี้สินที่รัฐบาลกำหนดให้กับกลุ่มเปราะบางและธุรกิจเอสเอ็มอีรายย่อยแล้ว

"รัฐบาลควรพิจารณาช่วยเหลือธุรกิจหรือบริษัทที่ดำเนินการมาเป็นเวลานาน มีการจ้างงานจำนวนมาก และมีศักยภาพในการกลับมาฟื้นฟูกิจการ เพราะการที่ธุรกิจสามารถกลับมาดำเนินงานได้ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตขึ้น" นายวุฒิชัยกล่าว พร้อมเสริมว่าในปัจจุบันหนี้สาธารณะและหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง ทำให้ภาครัฐไม่สามารถช่วยเหลือได้ทุกคนและทุกธุรกิจ

สำหรับสวนสยาม บริษัทได้ปรับตัวโดยลดค่าใช้จ่ายและจัดโปรโมชั่นเพื่อรองรับกำลังซื้อที่ลดลง โดยลดราคาค่าบริการจาก 1,000 บาท เหลือ 240 บาทสำหรับผู้ใหญ่ และเปิดให้ซื้อตั๋วผ่านช่องทางออนไลน์ตั้งแต่วันนี้ถึง 30 ธันวาคม 2567 ซึ่งจะสามารถใช้ได้จนถึง 1 มกราคม 2568 โดยได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้า มีผู้เข้าใช้บริการในวันเสาร์-อาทิตย์เฉลี่ยอยู่ที่ 4,000-5,000 คนต่อวัน ทำให้สวนสยามยังสามารถสร้างรายได้เพื่อหมุนเวียนธุรกิจได้บ้าง

‘พีระพันธุ์’ ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ใกล้ชิด เร่งหน่วยงานในกำกับดูแล ก.พลังงาน เข้าช่วยเหลือประชาชน

(3 ธ.ค. 67) ‘พีระพันธุ์’ ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ใกล้ชิด สั่งการหน่วยงานในกำกับดูแลของ ก.พลังงาน เร่งช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบเหตุอุทกภัย พร้อมจับมือ ก.อุตสาหกรรม ตั้งศูนย์บรรเทาทุกข์

จากสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ในหลายจังหวัดภาคใต้ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่ากระทรวงพลังงาน ได้มอบหมายให้หน่วยงานในกำกับดูแลของกระทรวงพลังงานเร่งดูแลช่วยเหลือประชาชน พร้อมติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยนายพีระพันธุ์ ได้เปิดเผยในวันนี้ (2 ธันวาคม 2567) ว่า ที่ผ่านมาทางกระทรวงพลังงานไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้ประสานงานให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในด้านต่าง ๆ กับทาง อบต. และส่วนราชการในพื้นที่มาตลอด โดยเฉพาะในเรื่องการขาดแคลนน้ำมันและก๊าซ ซึ่งทางกระทรวงพลังงานได้ประสานงานให้ทาง ปตท. และ โออาร์ ซึ่งรับผิดชอบงานในส่วนนี้ เข้าไปประสานงานให้ความช่วยเหลือมาอย่างต่อเนื่อง

นายพีระพันธุ์กล่าวว่า ล่าสุด ตนได้รับรายงานว่าสถานการณ์ในภาพรวมดีขึ้น เช่น ปั๊มน้ำมันต่าง ๆ ก็กลับมาเปิดให้บริการได้จํานวนมากพอสมควรแล้ว ขณะที่การขนส่งน้ำมัน ก๊าซ ก็สามารถดำเนินการได้อย่างเรียบร้อย ไม่มีปัญหาอะไร และตนยังได้กําชับให้ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตตรวจสอบสถานการณ์ต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องของการผลิต และการส่งไฟฟ้าไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ด้วย

นอกจากนั้น ในกลุ่มของ ปตท. ปตท.สผ. และ โออาร์ ยังได้ร่วมกันมอบถุงยังชีพต่าง ๆ ให้กับพี่น้องประชาชนและส่วนราชการต่าง ๆ โดยเฉพาะ โออาร์ ได้มอบแก๊สหุงต้ม 100 ถัง ให้กับโรงครัวพระราชทานที่จังหวัดสงขลาเพื่อประกอบอาหารดูแลพี่น้องประชาชน ขณะที่ โรงไฟฟ้าจะนะ จ. สงขลา ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ก็ได้จัดหาอาหารดูแลพี่น้องประชาชนผู้ประสบภัยพิบัติที่อยู่รอบโรงไฟฟ้าเช่นกัน

นายพีระพันธุ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ในวันที่ 3 ธันวาคม 2567 กระทรวงพลังงานกับกระทรวงอุตสาหกรรมจะร่วมกันดำเนินการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมเขต 7 ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เพื่อช่วยบรรเทาทุกข์พี่น้องประชาชนผู้ประสบภัยจากสถานการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้

“ทางกระทรวงพลังงานจะพยายามดูแลว่า เราจะสามารถดําเนินการอะไรได้มากขึ้น เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม และขอเป็นกําลังใจให้กับพี่น้องประชาชนทุกท่านที่กำลังประสบเหตุอยู่ในขณะนี้ด้วย ซึ่งผมจะรายงานความก้าวหน้าให้ทราบต่อไปครับ” นายพีระพันธุ์ กล่าว

เวทีประชาธิปัตย์เดโมแครต ฟอรั่มแนะรัฐขจัดการผูกขาดลดทุจริตเป็นวาระเร่งด่วนแห่งชาติ ปชป.เสนอ7นโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจเพิ่มศักยภาพประเทศลดเหลื่อมล้ำแก้จน

(2 ธ.ค. 67) ในการจัดเสวนา เดโมแครต ฟอรั่ม (Democrat Forum) ครั้งที่ 3 ในหัวข้อ “ขจัดการผูกขาด: ปฏิรูปเศรษฐกิจลดเหลื่อมล้ำแก้จน” ที่พรรคประชาธิปัตย์วันนี้เป็นการนำเสนอแนวทางในการขจัดการผูกขาดเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ผ่านการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยมีผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์จากหลายหน่วยงาน อาทิ ศ. ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายนริศ ขำนุรักษ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และอดีตรมช.มหาดไทย ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) ผศ. ดร. พรเทพ เบญญาอภิกุล ผู้อำนวยการโครงการเศรษฐศาสตร์บัณฑิต หลักสูตรนานาชาติ รศ. ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีตสมาชิกวุฒิสภา และสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น มีนายพลีธรรม ตริยะเกษมทำหน้าที่พิธีกร

นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคประชาธิปัตย์ ได้เป็นตัวแทนหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน)เป็นประธานเปิดงานและกล่าวปาฐกถาพิเศษว่าการผูกขาดทางเศรษฐกิจเป็นต้นเหตุของความเหลื่อมล้ำและความยากจนของประเทศ
ตัวอย่างเช่นประเทศจีน ประธานาธิบดีสีจี้นผิงดำเนินการปราบทุจริตคอรัปชั่นอย่างเฉียบขาดและตั้งแต่ปี 2564 ได้เร่งรัดการแก้ไขปัญหาการผูกขาด และปัญหาความเหลื่อมล้ำ โดยให้เจ้าหน้าที่รัฐมุ่งต่อต้านการผูกขาดเพื่อนำไปสู่การแข่งขันที่เป็นธรรม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการบรรลุเป้าหมาย ‘ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน’ และลดความเหลื่อมล้ำที่พุ่งสูงขึ้นมากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาเช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกา แม้จะเป็นประเทศมหาอำนาจทั้งทางทหารและเศรษฐกิจแต่ก็ยังเผชิญกับปัญหาความเหลื่อมล้ำ และประธานาธิบดีโจ ไบเดนถึงกับประกาศความเร่งด่วนในการแก้ปัญหาดังกล่าวเพราะคนระดับกลางหรือคนส่วนใหญ่ไม่สามารถสร้างฐานะได้เหมือนคนรุ่นก่อนหน้า ในขณะที่กลุ่มรวยสุด 1% ของอเมริกากอบโกยประโยชน์ทางเศรษฐกิจ คิดเป็น 21% ของ GDP ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 10% ของ GDP เมื่อปี 1979

ในขณะที่World Bank และ IMF ได้จัดสัมมนาประจำปี 2021 เรื่อง Taxation of the Wealthy in Developing Countries เพื่อมุ่งแก้ปัญหาความร่ำรวยสุดขั้วที่กระจุกอยู่บนยอดปิรามิด อันเป็นปัญหาร่วมที่รุนแรงมากขึ้นในหลายประเทศกำลังพัฒนา เพราะคนรวยสุด 10% ทั่วโลก ถือครองความมั่งคั่งในประเทศเฉลี่ย 60-80% แต่คนฐานะ 50% ล่างของสังคม ถือครองเพียงแค่ 5% ของความมั่งคั่ง

สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทยพบว่า สินทรัพย์ของคนทั้งประเทศไทยมากกว่า 2ใน3กระจุกอยู่กับกลุ่มคนรวยที่มีสัดส่วนเพียง 10% ของประชากรทั้งหมด คนไทย 10% หรือประมาณ 7 ล้านคน ยังมีชีวิตอยู่ใต้เส้นความยากจน คนไทยมากกว่า 3 ใน 4 ไม่มีที่ดินของตัวเอง โฉนดที่ดิน 61% ของประเทศไทยอยู่ในมือประชากร 10%

ทำให้ไทยกลายเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งมากที่สุดในโลก และเป็นประเทศที่มีการกระจายรายได้ไม่เป็นธรรมสูงมาก อยู่ลำดับที่ 162 จาก 174 ประเทศ “กฎหมายสู้ทุนผูกขาดไม่ได้ เรามีกฎหมายหลายฉบับเกี่ยวกับการป้องกันการค้ากำไรเกินควร ป้องกันการผูกขาด ซึ่งกฎหมายป้องกันผูกขาดมีมาตั้งแต่ปี2522 และรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ได้ออกพรบ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 และต่อมามีการปรับปรุงเป็น ฉบับแก้ไขพ.ศ.2560 ปรากฎว่า ไม่มีแม้แต่คดีเดียว ที่เกิดข้อพิพาทนำคดีขึ้นสู่ศาล จากการแข่งขันไม่เป็นธรรม จนประเทศไทยเป็นประเทศเสรีในการผูกขาด”
นายอลงกรณ์ กล่าวอีกว่า วันนี้ ทุนผูกขาดได้เข้ามามีอิทธิพลต่ออำนาจรัฐ เข้ามามีอิทธิพลสนับสนุนพรรคการเมืองจนท้ายที่สุดลงมาเล่นการเมือง มีตำแหน่งทางการเมืองด้วย จนต้องตั้งคำถามว่าปัญหาเหล่านี้จะสามารถจบลงในรุ่นเราได้หรือไม่ ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ ไม่รับทุนสามานย์ผูกขาดทางการเมือง จึงมีการรณรงค์ให้พี่น้องประชาชนบริจาคภาษี 001 เพื่อให้เป็นพรรคการเมืองที่เป็นอิสระไม่ตกอยู่ภายใต้การครอบงำของทุนผูกขาด ทุนสามานย์ ทุนสีเทาทั้งหลาย และเป็นการบริจาคอย่างโปร่งใส เพื่อให้พรรคการเมืองนำเงินบริจาคดังกล่าวไปดำเนินกิจกรรมทางการเมืองที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนต่อไป 

นายอลงกรณ์ยังนำเสนอแนวนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ในการขจัดการผูกขาดลดความเหลื่อมล้ำประกอบไปด้วย การส่งเสริมระบบเศรษฐกิจเสรีที่เป็นธรรม การปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มศักยภาพของประเทศ การลดความเหลื่อมล้ำ ปรับปรุงกฎหมายแข่งขันทางการค้า การกระจายอำนาจให้เป็นธรรมและทั่วถึง จำกัดการถือครองที่ดิน และการกำจัดคอรัปชั่นทุกรูปแบบ ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) กล่าวว่า การผูกขาดเกิดขึ้นมานานตั้งแต่ในอดีต มีมหาเศรษฐีในประเทศไม่กี่ราย มาในยุคที่อำนาจทหารเรืองรองมีการตั้งรัฐวิสาหกิจขึ้นมามากมายถึง 140 แห่ง แม้วันนี้จะถูกแปรสภาพไปหมด แต่รัฐวิสาหกิจไทยในขณะนั้นได้ใช้ทรัพยากรของรัฐไปเป็นจำนวนมาก แต่ผลประโยชน์ไปตกอยู่กับผู้มีอำนาจและกลุ่มนายทุนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น 

“คนไทยในอดีตหากอยากรวย ถ้าไม่กอดปืนก็ต้องกอดคนมีอำนาจในขณะนั้น การกอดปืนหรือกอดอำนาจมีมาจนถึงทุกวันนี้เพียงแค่รูปแบบลดความชัดเจนลง ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมากระบอกปืนกลับมามีอำนาจจึงเห็นกลุ่มคนที่มีอำนาจไปกอดปืนอีกรอบหนึ่ง ทำให้มีคนบางกลุ่มร่ำรวยแบบก้าวกระโดด ซึ่งหากดำเนินการตรวจสอบในวันนี้จะเห็นว่าหลายกลุ่มได้งานสัมปทานของรัฐแบบผิดกฎหมาย” ดร.มานะ กล่าว 

พร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่า ธุรกิจที่เข้าสู่การผูกขาดจะมีลักษณะดังต่อไปนี้ มีอัตราการขยายตัวของ product ต่ำ มีศักยภาพการผลิตของอุตสาหกรรมต่ำเกินความเป็นจริง มียอดการส่งออกต่ำเนื่องจากมีฐานในต่างประเทศน้อย และมีการลงทุนต่ำเกินจริงเนื่องจากมีรัฐอุดหนุนทั้งทางตรงและทางอ้อม มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตัวเองน้อย แต่จะใช้สิ่งที่มีอยู่เพื่อกอบโกยเงินของหลวงให้มากที่สุด จากปรากฏการณ์ดังกล่าวถือเป็นการทำลายศักยภาพการพัฒนาประเทศ จนเกิดเป็นกับดักทางรายได้ของประเทศ เนื่องจากผลประโยชน์ไปตกอยู่กับคนกลุ่มเดียว

ด้าน ศ. ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง คุณภาพชีวิตของคนไทยวันนี้พัฒนาต่ำลง ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันให้กับชีวิต ที่ผ่านมาจากเหตุการณ์รถบัสไฟไหม้ ไปจนถึงสะพานถล่ม ทั้งที่ลาดกระบัง และล่าสุดพระราม 2 ล้วนเป็นภัยที่เริ่มใกล้ตัวมากกว่าที่คิด วันนี้ภาคประชาชนจึงได้เสนอกฎหมายความปลอดภัยสาธารณะ เพื่อมีคนกลางเข้ามาทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพ 

“ผมอยากใช้เวทีนี้ซึ่งเป็นเวทีที่ไม่ได้ทำขึ้นเพื่อพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้น แต่เป็นการทำเวทีเพื่อให้บ้านเมืองหลุดพ้นเรื่องความเหลื่อมล้ำ เรื่องคอรัปชั่น จึงอยากให้มาร่วมกันสนับสนุนพระราชบัญญัติเพื่อความปลอดภัยสาธารณะ ให้เกิน 10,000 ชื่อ เพื่อให้มีเจ้าภาพคนกลางที่จะลงไปดูติดตามรายงานตรวจสอบและป้องกัน จะได้รู้สักทีว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นเกิดจากสาเหตุอะไร” ศ. ดร.สุชัชวีร์ กล่าว  

ด้าน ผศ. ดร.พรเทพ เบญญาอภิกุล ผู้อำนวยการโครงการเศรษฐศาสตร์บัณฑิต หลักสูตรนานาชาติ ระบุว่า ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ จึงเห็นว่าการแข่งขันจะช่วยเพิ่มการจัดสรรทรัพยากร เป็นการเปลี่ยนจากตลาดผูกขาด เป็นตลาดแข่งขันจะทำให้ราคาสินค้ามีแนวโน้มถูกลง ทั้งเป็นการกระจายผลประโยชน์ ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้ 

นอกจากนี้ ผศ. ดร.พรเทพ ได้ยกตัวอย่างปัญหาการดำเนินการของ สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สำนักงาน กขค.) ขาดการทำงานเชิงรุกเพื่อยับยั้งป้องกันหรือเยียวยาผลกระทบการกระทำอันไม่เป็นธรรมทางการค้าผู้บริโภคไม่สามารถใช้สิทธิ์ในการร้องเรียนโดยตรงได้ ทั้งยังขาดศักยภาพทางวิชาการและแรงจูงใจ ดังนั้นเพื่อการกำกับดูแลการแข่งขันของไทยให้มีประสิทธิภาพ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงบทบัญญัติของกฎหมายเกี่ยวกับการแข่งขันทางการค้า ตลอดจนพิจารณาเรื่องบทลงโทษทางอาญาด้วยเนื่องจากกระบวนการทางอาญาที่ใช้เวลานาน อีกนัยหนึ่งก็สามารถเป็นอุปสรรคในการกำกับดูแลเช่นกัน 

สำหรับ รศ. ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีตสมาชิกวุฒิสภา และสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ได้ระบุว่า อำนาจกับผลประโยชน์อยู่คู่กันมาโดยตลอด และมีพัฒนาการจากเดิมที่อำนาจและประโยชน์ทางเศรษฐกิจอยู่ในกลุ่มทหาร ปัจจุบันจะเห็นว่ากลุ่มทุนได้ย้ายมาอยู่เบื้องหลังพรรคการเมือง และสื่อมวลชน นอกจากนี้ยังชี้ให้เห็นว่าไม่ได้มีแต่การผูกขาดเฉพาะทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังมีการผูกขาดทางการเมือง ไปจนถึงการผูกขาดทางทรัพยากร และลุกลามไปถึงการผูกขาดในกระบวนการยุติธรรมอีกด้วย

รศ. ดร.เจิมศักดิ์ ยังได้ตั้งคำถามถึงผู้มีอำนาจในปัจจุบันว่า เมื่อพวกเขาเติบโตมาจากการผูกขาดการค้า ก็ย่อมจะเห็นประโยชน์ของการผูกขาด เมื่อผู้นำไม่รังเกียจการผูกขาด วิธีหนึ่งที่ทำได้คือการแจกเงินคนจน ซึ่งวิธีดังกล่าวยังเป็นการตอกย้ำระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทย จะเห็นได้ว่านอกเหนือจากเรื่องความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากการผูกขาดโดยรัฐแล้ว ยังมีปัญหาซ้ำเติมในเรื่องความเหลื่อมล้ำ และในอนาคตอันใกล้เมื่อประเทศเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย จึงไม่ต่างจากระเบิดเวลาที่กำลังจะทำให้ประเทศเดินต่อไปไม่ได้ 

ทั้งนี้ในช่วงท้ายของการสัมมนา ยังมีการเปิดเวทีให้ผู้เข้าชมได้แสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ อาทิ ดร.เพ็ญจันทร์ ล้อสีทอง นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ นายสิงห์ชัย ทุ่งทอง นายปรพล อดิเรกสาร นายราม คุรุวาณิชย์ นายเมฆินทร์เอี่ยมสอาด กก.บห.พรรคประชาธิปัตย์นางรัชฎาภรณ์ แก้วสนิทเป็นต้น 

ไบเดนเล็งเพิ่มคว่ำบาตรรัสเซีย มุ่งตัดช่องการเงินทำสงครามยูเครน

(3 ธ.ค.67) ทำเนียบขาวเผยว่าสหรัฐฯ เตรียมประกาศคว่ำบาตรรัสเซียเพิ่มเติม โดยเน้นโจมตีภาคการเงินของมอสโก ก่อนที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะสิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ

นายเจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติ ระบุในแถลงการณ์ว่า “สหรัฐฯ ได้เตรียมดำเนินมาตรการคว่ำบาตรครั้งใหญ่กับภาคการเงินของรัสเซียแล้ว เพื่อทำลายศักยภาพในการสนับสนุนกลไกสงครามของประเทศ และยังมีแผนดำเนินการเพิ่มเติมในอนาคตอันใกล้นี้”

อย่างไรก็ตาม นายซัลลิแวน ไม่ได้ระบุว่าจะดำเนินการอย่างไรเพื่อมุ่งเป้าตัดช่องทางการเงินของรัฐบาลมอสโกตามแถลง

การประกาศครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งความพยายามของรัฐบาลสหรัฐฯ ในการกดดันมอสโกให้ยุติการสนับสนุนสงคราม ในห้วงเวลาอีกราวหนึ่งเดือนสุดท้ายก่อนประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะหมดวาระลง

พิษณุโลก กองทัพภาคที่ 3 รับมอบผ้าห่มกันหนาว จาก บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)

(3 ธ.ค.67) พลตรี สมบัติ บุญกอแก้ว เสธนาธิการกองทัพภาคที่ 3 ให้การต้อนรับคณะผู้บริหาร จาก บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ในโอกาสมอบผ้าห่มกันหนาว ให้กับกองทัพภาคที่ 3 ณ บริเวณหน้าห้องรับรอง กองบัญชาการกองทัพภาคที่ 3 ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อ.เมือง จ.พิษณุโลก 

บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) โดย คุณ ศรายุทธ เนียมฤทธิ์ ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายปฏิบัติการผลิต โครงการเอส 1 และคณะ ได้เข้ามอบผ้าห่มกันหนาว จำนวน 3,000 ผืน เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาวในพื้นที่รับผิดชอบของกองทัพภาคที่ 3 ซึ่งที่ผ่านมากองทัพภาคที่ 3 ได้รับความอนุเคราะห์จาก บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) มาด้วยดีโดยตลอด พร้อมกันนี้ เสธนาธิการกองทัพภาคที่ 3 ได้มอบหนังสือขอบคุณและมอบของที่ระลึกให้กับ คณะผู้บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เพื่อเป็นการขอบคุณอีกด้วย

กองทัพภาคที่ 3 เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางภูมิประเทศ และสภาพอากาศ ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมากจากการเกิดภัยธรรมชาติที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในทุกฤดู ทางกองทัพภาคที่ 3 จะได้นำผ้าห่มกันหนาวที่ได้รับมอบนี้ ไปมอบให้กับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนและประสบภัยในพื้นที่รับผิดชอบของกองทัพภาคที่ 3 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนต่อไป

'มนุษย์ควัน' แนะออกกฎเข้มคุมบุหรี่ไฟฟ้า ถามกลับใครรับผิดชอบทุนจีนแอบตั้งโรงงานผลิตในไทย

(3 ธ.ค. 67) นายสาริษฏ์ สิทธิเสรีชน เจ้าของเพจ "มนุษย์ควัน" แสดงความคิดเห็นในเพจดังกล่าว แนะรัฐบาลหาแนวทางควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าโดยเผยว่ารัฐเคนทักกี้เตรียมออกกฎเข้ม “ลงดาบ” ร้านที่ขายบุหรี่ไฟฟ้าให้กับผู้ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ โดยจะเสนอร่างกฎหมายในปี 2025 ที่มุ่งควบคุมผู้ขายบุหรี่ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์ยาสูบ โดยกำหนดให้ผู้ขายต้องมีใบอนุญาต พร้อมให้อำนาจเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบสถานประกอบการได้โดยไม่ต้องมีหมายค้น รวมถึงยึดหลักฐานการกระทำผิด กฎหมายนี้ยังเพิ่มบทลงโทษ เช่น หากร้านใดถูกเพิกถอนใบอนุญาต จะไม่สามารถขอใหม่ได้ในระยะเวลา 2 ปี นอกจากนี้ยังมีการจัดสรรเงินค่าปรับไปใช้ในโครงการให้ความรู้แก่เยาวชนเกี่ยวกับอันตรายจากบุหรี่ไฟฟ้า นโยบายดังกล่าวมีเป้าหมายชัดเจนในการป้องกันการขายผลิตภัณฑ์ให้กับผู้เยาว์ และแก้ไขช่องโหว่ในกฎหมายเดิม

ในการประชุมสภานิติบัญญัติเมื่อต้นปี 2024 สมาชิกสภาฯ ได้ผ่านร่างกฎหมาย House Bill 11 โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อควบคุมการสูบบุหรี่ไฟฟ้าให้กับผู้ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ โดยจํากัดการขายเฉพาะ "ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาต" จากสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา (FDA) ซึ่งจนถึงปัจจุบัน FDA อนุญาตให้ผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้ารสชาติยาสูบและเมนทอล 34 รายการ สามารถจำหน่ายได้ในสหรัฐอเมริกา ในโพสต์ดังกล่าว นายสาริษฏ์ยังได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการบุกทลายโรงงานบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งมีเจ้าของเป็นกลุ่มทุนจีน โดยระบุว่า “เห็นข่าวการบุกทลายโรงงานบุหรี่ไฟฟ้าที่นั่งทำกันสดๆ ในทาวเฮ้าส์ย่านบางขุนเทียน ทำกันขนาดนี้ก็ยังไม่มีวี่แววว่ารัฐบาลจะจัดการกับปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าด้วยการห้ามแบบเดิมยังไง ตัดภาพไปที่อเมริกา ที่เน้นออกกฎหมายควบคุมและปรับกฎหมายให้เหมาะสม แบบที่รัฐเคนทักกี้เตรียมทำก็คือเพิ่มโทษให้กับผู้ขายที่ขายบุหรี่ไฟฟ้าให้กับเยาวชน”
ทั้งนี้ ประเด็นการทำให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมายกำลังได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนอยู่ในขณะนี้ จากกรณีที่เครือข่ายแพทย์ฯ ออกมาแถลงจุดยืนให้มีการห้ามบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งในขณะนี้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษากฎหมายและมาตรการควบคุมกำกับบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยกำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการทำให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมายในไทย เพื่อออกกฎหมายที่เหมาะสม มีการควบคุมที่มีประสิทธิภาพ และเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย

ซึ่งนายสาริษฏ์ยังได้โพสต์อีกหนึ่งข้อความ ตอบโต้เรื่องดังกล่าวโดยระบุว่า “เฮือกสุดท้ายของการไม่ยอมรับความจริง!! จะหมดปี 2024 แล้วยังไล่แบนบุหรี่ไฟฟ้า!! ยอมรับความจริงกันได้แล้วว่าแบนมันไม่เวิร์ค มีใช้กันทุกหัวมุมถนนเอาอะไรมาแบนต่อ นโยบายตัวเองผิดพลาดแต่โทษคนนั้นคนนี้ โทษกมธ. ไม่โปร่งใส” พร้อมบอกว่า “ห้ามบุหรี่ไฟฟ้าในไทยมาเป็น 10 ปีแล้วได้อะไร นอกจากลดทอนสิทธิผู้บริโภค เปิดช่องให้ตลาดมืด ออกข่าวเยาวชนใช้บุหรี่ไฟฟ้าไปวันๆ ที่ขอ (ให้ควบคุม) ไม่ใช่การเปิดเสรีแบบสินค้าอื่นๆ สิ่งที่อยากได้คือกฎหมายที่มาควบคุมซื้อ ขาย ใช้งาน เอาให้มันเป็นระเบียบ สังคมจะได้ไม่ต้องเดือดร้อนกับควันดราก้อนบอลจากบุหรี่ไฟฟ้าอีก”

ที่มา GOP lawmaker calls for adding ‘teeth’ to Kentucky's new curbs on underage vaping • Kentucky Lantern https://www.facebook.com/share/p/H5QpatpUCgy9WBCB/

สถาบันพระปกเกล้า เปิดอบรม หลักสูตรเสริมสร้างสังคมสันติสุข(สสสส.)รุ่นที่ 15 มุ่งแก้ปัญหาความขัดแย้งทุกระดับ

เมื่อวานนี้ (2 ธ.ค.67) สถาบันพระปกเกล้า โดยสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล จัดพิธีเปิดการศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงการเสริมสร้างสังคมสันติสุข (สสสส.)รุ่นที่ 15 โดยได้รับเกียรติจาก นายวิทวัส ชัยภาคภูมิ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า เป็นประธานเปิดการศึกษาอบรม 

นายวิทวัส ชัยภาคภูมิ กล่าวว่า สถาบันพระปกเกล้า เปิดการศึกษาอบรมหลักสูตรดังกล่าวขึ้น เพื่อเป็นพื้นที่ที่เอื้อต่อการแสดงความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนกันได้อย่างสร้างสรรค์ ด้วยการให้เกียรติและเคารพความหลากหลายของความคิด ความเชื่อ โดยเน้นให้ผู้เข้ารับการศึกษาจะนำความรู้ด้วยการลงไปดูปัญหาจริง จากพื้นที่จริง เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในระดับต่างๆ ได้อย่างแท้จริง

ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่างว่า หลักสูตร เสริมสร้างสังคมสันติสุข (สสสส.)รุ่นที่ 15 จัดขึ้นเพื่อให้ผู้เข้าอบรมมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสภาพความขัดแย้ง สาเหตุ และวิธีแก้ไขปัญหาในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ความขัดแย้งทางการเมือง ความขัดแย้งจากการจัดการฐานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม และความขัดแย้งในสังคม พหุลักษณ์ ให้ผู้เข้าอบรมมีทักษะเบื้องต้นในการสร้างสันติสุขในสังคม ในมิติของการป้องกันความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้น การจัดการและแก้ไขความขัดแย้ง การแปรเปลี่ยนความขัดแย้งที่เกิดขึ้นแล้วไม่ให้กลายเป็นความรุนแรง การเยียวยาสร้างความสมานฉันท์ให้กลับคืนสู่สังคมภายหลังความขัดแย้งสิ้นสุดลง 

มีเจตคติที่ยอมรับและเห็นคุณค่าของความแตกต่างหลากหลายในสังคม รวมทั้งยึดมั่นสันติวิธีทั้งในสำนึกและพฤติกรรม โดยเน้นการสร้างสันติวัฒนธรรม เพื่อทำให้สังคมไทยพัฒนาเปลี่ยนแปลงได้ก้าวหน้าสู่สันติวิธีได้ดียิ่งขึ้น 

อีกทั้งให้ผู้เข้าอบรมนำความรู้และประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจากการแลกเปลี่ยนกับบุคคลจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งในชั้นเรียนและในพื้นที่มาวิเคราะห์เพื่อหาแนวทางแก้ไขความขัดแย้งและสร้างสันติสุขในสังคมอย่างเป็นระบบ พร้อมนำเสนอต่อสังคมและผู้เกี่ยวข้องเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการแก้ไขปัญหาต่อไป และให้ผู้เข้าอบรมเกิดความเข้าใจอันดีระหว่างผู้เข้าอบรมที่มีภูมิหลังที่แตกต่างกัน อันจะเป็นการสานต่อพลังในการเสริมสร้างสังคมสันติสุขในรูปของเครือข่ายผู้เข้ารับการศึกษาอบรมอย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ นายศุภณัฐ เพิ่มพูนวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล กล่าวแนะนำกรรมการบริหารหลักสูตรฯ คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ประจำหลักสูตร และร่วมกันพูดคุยเนื้อหาเกี่ยวกับหลักสูตรพร้อมรับฟังการแนะนำการใช้งาน Application KPI-KIT โดย เจ้าหน้าที่ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ แนะนำการใช้ห้องสมุด โดยพนักงานบรรณารักษ์และสารสนเทศ

สำหรับหลักสูตรดังกล่าว มีผู้เข้ารับการศึกษาอบรม ประกอบด้วย ข้าราชการพลเรือน รัฐวิสาหกิจ องค์กรอิสระ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทหาร ภาคเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน ผู้นำศาสนา และสื่อมวลชน จำนวนทั้งสิ้น 90 คน โดยมีระยะเวลาการศึกษาอบรมตั้งแต่ เดือนธันวาคม 2567 ถึง เดือนธันวาคม 2568


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top