Sunday, 26 May 2024
Hard News Team

กยศ. เคาะมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้สู้ภัยโควิด จ่ายดีลดดอกเบี้ยให้

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้คณะกรรมการกองทุนฯ ได้มีมติเห็นชอบให้ยกเลิกการกำหนดให้มีผู้ค้ำประกันการชำระเงินคืนกองทุนสำหรับผู้กู้ยืมเงินที่ได้รับอนุมัติให้กู้ยืมเงินและทำสัญญากู้ยืมเงินใหม่ตั้งแต่ปีการศึกษา 2564 เป็นต้นไป 

ขณะเดียวกันยังเห็นชอบมาตรการเพื่อช่วยเหลือแบ่งเบาภาระของผู้กู้ยืมเงินที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยลดอัตราดอกเบี้ยเหลือ 0.01% ต่อปีเป็นการเฉพาะกิจ สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่อยู่ระหว่างการชำระเงินคืนกองทุนและไม่ได้เป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้หรือเคยเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้ (ปกติกองทุนคิดดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปีของเงินต้นคงเหลือ) โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.– 31 ธ.ค. 2564 

พร้อมทั้ง ขยายระยะเวลามาตรการช่วยเหลือผู้กู้ยืมสู้ภัยโควิด จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย. 2564 เป็นสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 2564 ทั้ง ลดเบี้ยปรับ 100% กรณีชำระหนี้ปิดบัญชี, ลดเบี้ยปรับ 80% สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่ยังไม่ถูกดำเนินคดีที่ชำระหนี้ค้างทั้งหมดให้มีสถานะปกติ, ลดเงินต้น 5% สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่อยู่ระหว่างการชำระเงินคืนกองทุนและมิได้เป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้หรือเคยเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้ โดยชำระหนี้ปิดบัญชีในคราวเดียว และลดอัตราการคิดเบี้ยปรับเหลือ 0.5% ต่อปี สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่ยังไม่ถูกดำเนินคดีและไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด

นอกจากนี้ยังชะลอการฟ้องร้องดำเนินคดี สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่ผิดนัดชำระหนี้ประจำปี 2563 และปี 2564 ยกเว้นคดีที่จะขาดอายุความในปี 2564 และงดการขายทอดตลาด ทรัพย์สินของผู้กู้ยืมเงิน และผู้ค้ำประกัน ที่กองทุนได้ขอให้กรมบังคับคดียึดทรัพย์ไว้จนถึงสิ้นปี 2564 โดยกองทุนจะต้องได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากผู้กู้ยืมเงิน และผู้ค้ำประกันที่ถูกยึดทรัพย์ รวมทั้งผู้มีส่วนได้เสีย เช่น ผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วม และผู้รับจำนองที่ยึดไว้ด้วย

พอยิ้มออก! หลังดัชนีอุตสาหกรรมเริ่มฟื้นรอบ 29 เดือน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ภาคการผลิตอุตสาหกรรมเริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัว โยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนมี.ค. 2564 อยู่ที่ระดับ 107.73 เพิ่มขึ้น 4.12%  ขยายตัวสูงสุดในรอบ 29 เดือน สะท้อนให้เห็นแนวโน้มภาคการผลิตของประเทศเติบโตตามเศรษฐกิจของโลกที่ดีขึ้น รวมถึงรัฐบาลไม่ได้ใช้มาตรการล็อกดาวน์ และกลุ่มแพร่ระบาดไม่ได้อยู่ในกลุ่มแรงงานโรงงาน 

“ภาคการผลิตอุตสาหกรรมยังคงประกอบกิจการได้อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับรัฐบาลยังคงมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการเราชนะ เรารักกัน คนละครึ่งเฟส 3 และประเทศไทยเริ่มทยอยฉีดวัคซีนให้ประชาชนและมีแผนบริหารจัดการวัคซีนให้ครอบคลุมทั่วประเทศภายในสิ้นปี 2564 ทำให้ความเชื่อมั่นทั้งในภาคการผลิตและการบริโภคดีขึ้น”

ส่วนอัตราการใช้กำลังการผลิต พบว่ามีอัตราเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกันเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐและความคืบหน้าของการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศ ทำให้เกิดความเชื่อมั่นของผู้ผลิตและผู้บริโภค ส่งผลให้การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไม่รวมทองคำและรายการพิเศษเดือนมี.ค. 2564 ขยายตัว 25.77% เป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และเป็นการขยายตัวระดับ 2 หลักในรอบ 31 เดือน ซึ่งจากการกลับมาขยายตัวของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมนี้ ทำให้ในไตรมาสที่ 1 ปี 2564 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวที่ 0.25%

“ปธ.หอการค้าไทย” โล่ง ”บิ๊กตู่ - อนุทิน” การันตี แผนจัดหาวัคซีน ลุ้น เปิดประเทศต้นปี 65 ยัน เอกชนพร้อมช่วยสนับสนุนภาครัฐ

เมื่อวันที่28 เมษายน พ.ศ.2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย ร่วมแถลงผลการหารือแนวทางความร่วมมือการจัดหาวัคซีนระหว่างภาครัฐและเอกชน ว่า ภาคเอกชน และประชาชนทุกคนคงสบายใจได้ เมื่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหมนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ให้ความสบายใจว่า ภายในปี 2564 ประชาชนคนไทย ผู้ที่มาทำงาน หรือคนต่างชาติ ที่อาศัยในประเทศไทยหรือแรงงานที่มาอยู่ประเทศไทยจะได้รับการฉีดวัคซีนแน่นอน 

ขณะนี้รัฐบาลสามารถจัดหาวัคซีนได้ 100ล้านโดส จะครอบคลุมประชากร ประมาณ 70เปอร์เซ็นต์ เมื่อเป็นลักษณะนี้เราสบายใจได้ว่าจะสามารถเปิดประเทศได้ในต้นปี 2565 ส่วนภาคเอกชน ตั้งใจให้การสนับสนุนการทำงานร่วมกับภาครัฐ และขอบคุณที่ภาครัฐให้ความไว้วางใจที่จะทำงานร่วมกัน ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี ซึ่งความร่วมมือเหล่านี้จะทำให้ทุกอย่างและเศรษฐกิจขับเคลื่อนไปได้ หากเป็นไปในลักษณะนี้ แนวทางภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ โมเดล (เปิดประเทศโดยไม่กักตัว) ก็จะเกิดขึ้นได้ในวันที่1เดือนก.ค.นี้ ตามที่รัฐบาลตั้งธงไว้ก็ไม่น่าจะพลาด ทั้งนี้การร่วมมือทำงานครั้งนี้ถือเป็นการตั้งไทยแลนด์ทีมเกิดขึ้นแล้ว

ก.ก.ร.4 เสนอ 4 ประเด็นหลัก ช่วยรัฐเร่งแก้ปัญหา ทั้งการกระจายวัคซีน การสร้างความเชื่อมั่น การประชาสัมพันธ์ และการสนับสนุนอำนวยความสะดวก และการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม สศช. จับมือ สมช.ประสานช่วยตั้งแต่พรุ่งนี้

วันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2564  ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางความร่วมมือการจัดหาวัคซีนระหว่างภาครัฐและเอกชน ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังที่ช่วงเข้า ได้ประชุมร่วมกับคณะกรรมการหอการค้าไทย เพื่อหารือและนำเสนอแนวทางการทำงานของหอการค้าไทยในการขับเคลื่อนการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ 

ภายหลังการประชุม นายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เลขาธิการ สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือ  สศช. เปิดเผยว่า วันนี้เป็นการประชุมร่วมกันระหว่างนายกรัฐมนตรีและคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบันหรือ ก.ก.ร. ซึ่งเป็นการหารือเกี่ยวกับแนวทางความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการบริหารจัดการด้านวัคซีนซึ่งจะเริ่มมีเข้ามาในเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป โดยภาคเอกชนมีข้อเสนอที่จะเข้ามาช่วยภาครัฐในการกระจายวัคซีนและการจัดสถานที่ต่างๆที่จะทำให้เป้าหมายการฉีดวัคซีนในช่วงสิ้นปีนี้ คือในเดือนธันวาคม 2564 สามารถบรรลุเป้าหมาย 50 ล้านคนได้ ซึ่งวันเดียวกันนี้นายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบข้อเสนอที่ทางภาคเอกชน ที่มาจากการทำงานร่วมกันได้เสนอ 4 เรื่อง ประกอบด้วยเรื่องของการกระจายวัคซีน การสร้างความเชื่อมั่น การประชาสัมพันธ์ และการสนับสนุนอำนวยความสะดวกต่างๆรวมทั้งเรื่องการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม ซึ่งทางรัฐบาลได้รับข้อเสนอดังกล่าวและเร่งประสานงานทั้งหมดให้เกิดผลอย่างรวดเร็ว

นายดนุชา กล่าวว่า ในเรื่องของการกระจายวัคซีน ทางนายกรัฐมนตรีและที่ประชุมเห็นชอบให้แนวทางความร่วมมือระหว่างภาครัฐภาคเอกชนในการใช้กลไกของฝั่งภาคเอกชนเข้ามาช่วยเสริมในการจัดจุดฉีดวัคซีน และการกระจายวัคซีนในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลรวมทั้งจังหวัดต่างๆ ซึ่งในต่างจังหวัดจะผ่านกลไกของ กรอ. จังหวัดและกลุ่มจังหวัด โดยร่วมมือกับทางกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงมหาดไทยในการเร่งรัดดูแลเรื่องการจัดสถานที่รวมทั้งการดูแลเรื่องการกระจายวัคซีนเมื่อมีวัคซีนเข้ามาในพื้นที่ รวมทั้งเปลี่ยนในเรื่องของอุปกรณ์ บุคลากรที่จะเข้ามาช่วยเสริมในการบริหารจัดการตามจุดต่างๆที่มีการฉีดวัคซีน นอกจากนี้ในเรื่องของการประชาสัมพันธ์ซึ่งภาคเอกชนรับที่จะเข้ามาช่วยภาครัฐในการประชาสัมพันธ์เรื่องของการจัดหาวัคซีนและเรื่องการบริหารจัดการวัคซีนรวมทั้งการฉีดวัคซีนเพื่อให้ประชาชนมีความเข้าใจมากยิ่งขึ้น เพื่อที่จะได้มีความชัดเจนในแง่การรับรู้ของวัคซีน รวมทั้งการสนับสนุนการอำนวยความสะดวกในระบบงานต่างๆซึ่ง ปัจจุบันระบบการลงทะเบียนเราใช้การลงทะเบียนของหมอพร้อม ซึ่งภาคเอกชนพร้อมที่จะเข้ามาสนับสนุนในแง่ของตัวระบบต่างๆทั้งช่วงระหว่างการลงทะเบียนและการฉีดวัคซีนผ่านแอพพลิเคชั่นหมอพร้อม 

เลขา สศช.กล่าวว่า ข้อสรุปทั้งหมดนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นแม่งานในการประสานงานต่างๆกับภาคเอกชนโดยมีทาง สศช.และตน และสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นผู้ดำเนินการประสานกับพระเอกชนในรายละเอียดต่างๆ โดยตั้งแต่วันพรุ่งนี้ (29 เม.ย.) จะประสานงานในรายละเอียดด้านต่างๆเพื่อดูในแผนการกระจายวัคซีน การกำหนดจุดต่างๆเพื่อให้เกิดความชัดเจนเมื่อวัคซีนเข้ามาจะได้ทำการฉีดวัคซีนและกระจายวัคซีนไปสู่ประชาชนได้ตามเป้าหมาย

“วิษณุ” ยืนยัน แบ่งงานรมต.ดูพื้นที่จว. เสร็จพรุ่งนี้ เตรียมส่งให้นายกฯพิจารณาใหม่

เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2564 แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล จากกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่พอใจ เรื่องมอบหมายให้รัฐมนตรี รับผิดชอบแนวคิดการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันระดับพื้นที่จังหวัด ตามคำสั่งนายกฯที่ 85/2564 นั้น เรื่องดังกล่าว นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้พูดคุยกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม จนยอมให้มีการปรับเปลี่ยน โดยมอบให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งนายจุรินทร์ ได้มอบหมาย นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นผู้ไปประสานกับนายวิษณุ 

ล่าสุด นายวิษณุ ให้สัมภาษณ์ ว่า การแบ่งงานรัฐมนตรีให้ดูแลพื้นที่จว.ต่าง ๆ นั้นขณะนี้ให้กลับไปยึดคำสั่งนายกฯที่ 243/2563ก่อน เนื่องจากขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงสลับตำแหน่งรัฐมนตรีรับผิดชอบพื้นที่ให้เรียบร้อย เพราะรัฐมนตรีบางคนก็ประสงค์จะสลับจังหวัดกันเองด้วย ตนจึงยังไม่สามารถพูดรายละเอียดออกมาได้ โดยเรื่องดังกล่าวจะดำเนินการเสร็จสิ้นวันที่ 29 เม.ย. ก่อนที่จะเสนอให้นายกรัฐมนตรีลงนาม เพื่อออกเป็นคำสั่งใหม่ ซึ่งจะมีผลแทนคำสั่งนายกฯที่ 85/2564 เมื่อเรียบร้อยแล้วจะชี้แจงรายละเอียดอีกครั้ง

 แหล่งข่าวระบุว่า สำหรับประกาศ เรื่องการกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมาย เป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี ที่โอนอำนาจในกฎหมาย 31 ฉบับมาให้นายกฯ เพื่อแก้ไขปัญหาแพร่ระบาดโควิด-19 นั้น วันที่ 29 เม.ย.นี้ นายวิษณุ จะชี้แจงรายละเอียดต่อที่ประชุม ศบค. เพื่อความเข้าใจในการปฏิบัติตามประกาศดังกล่าว

กห.เร่งสนับสนุนจัดตั้ง รพ.สนามเพิ่ม พร้อมปรับและเปิดใช้งาน Hospitel 8 แห่ง รับผู้ป่วยกว่า 3,000 เตียงต้น พ.ค.

เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2564 ที่กระทรวงกลาโหม พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม  เปิดเผยว่า พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม และ ปลัดกระทรวงกลาโหม ประชุมร่วมกับ หน่วยขึ้นตรงกระคน เหล่าทัพ  กอ.รมน.และ ตร. ผ่านระบบทางไกล  ทร่ศาลาว่าการกลาโหม เพื่อติดตามขับเคลื่อนการสนับสนุนการแก้ปัญหา COVID-19 ตามนโยบายของ นายกรัฐมนตรี
และรมว.กลาโหม 

ทั้งยี้รมช.กลาโหม ได้กล่าวย้ำ แสดงความขอบคุณจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม ถึงกำลังพลทุกเหล่าทัพ ที่ได้ร่วมบริจาคโลหิตให้กับสภากาชาดไทย ช่วยแก้ปัญหาภาวะขาดแคลนโลหิตในปัจจุบันสำหรับรักษาผู้ป่วยในสถานพยาบาลต่างๆ และกำชับให้ทุกเหล่าทัพใช้ทรัพยากรของกองทัพที่มีอยู่ เข้าไปช่วยเสริมและสนับสนุน กทม.และ กระทรวงสาธารณะสุข คลี่คลายปัญหาการบริหารจัดการผู้ป่วยภาวะเร่งด่วนในปัจจุบัน ที่พบการติดเชื้อเพิ่มและมีจำนวนมากในหลายพื้นที่  

ทั้งนี้ พล.อ.ชัยชาญ ได้กำชับให้ เร่งแปรสภาพ SQ ที่มีความพร้อมทั้ง 8 แห่ง รวม 3,133 เตียง ให้สามารถทำหน้าที่เป็น Hospitel ได้ภายในต้น พ.ค.นี้ เพื่อรองรับผู้ป่วยรอการฟื้นตัวจากโรงพยาบาลหลัก รวมทั้งขอให้พิจารณาจัดตั้ง รพ.สนามในพื้นที่หน่วยทหารเพิ่มเติมและสนับสนุนส่วนราชการต่างๆ จัดตั้ง รพ.สนามเพิ่มในพื้นที่กรุงเทพมหานครไปพร้อมกัน  ทั้งนี้ ขอให้สนับสนุน กทม.แก้ปัญหาและควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดในพื้นที่คลองเตยที่กำลังเกิดขึ้น 

พล.ท.คงชีพ กล่าวอีกว่า รมช.กลาโหม ยังได้กำชับขอให้ประสานกับศูนย์เอราวัณ กทม. ( call center 1168 และ1330 )  สนับสนุนยานพาหนะเร่งเข้าไปรับผู้ป่วยรอการรักษาตามที่พักอาศัยเข้ารับการรักษาในระบบโดยเร็ว  และขอให้ทุกเหล่าทัพเตรียมความพร้อมสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ทหารและเจ้าหน้าที่ สนับสนุนการเร่งกระจายฉีดวัคซีนที่กำลังจะเข้ามาจำนวนมากในเร็วๆนี้ ไปยังประชาชนกลุ่มเป้าหมายต่างๆในแต่ละพื้นที่โดยเร็วที่สุดตามแนวทางที่กรมการแพทย์กำหนด

"อรรถวิชช์" นำพรรคกล้าบริจาคเลือด เหตุโควิดทำยอดบริจาคลดกว่าครึ่ง และจะลดหนักกว่านี้หลังการกระจายฉีดวัคซีนโควิด เพราะต้องเว้นการให้เลือดเป็นเดือน หนุนทุกภาคส่วน-เอกชน ร่วมมือแก้วิกฤต

นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เลขาธิการพรรคกล้า , ผู้ช่วยศาสตราจารย์เอราวัณ ทับพลี ผู้อำนวยการพรรคกล้า นำทีมสมาชิกพรรคจากหลายพื้นที่ในนามกลุ่มกล้าอาสา เข้าบริจาคโลหิต ที่ศูนย์บริการโลหิต สภากาชาดไทย กรุงเทพมหานคร ขณะเดียวกันกลุ่มกล้าอาสาภาคใต้ ก็เดินทางร่วมกันบริจาคโลหิต ที่ภาคบริการโลหิตแห่งชาติที่ 12 สภากาชาดไทย จังหวัดสงขลา 

โดยนายอรรถวิชช์ กล่าวถึงสถานการณ์คลังเลือดในสถานการณ์โควิด-19 ว่า โดยปกติแล้วสภากาชาดไทย โดยปกติรับบริจาคเลือดได้ 2,200 ยูนิตต่อวัน โดยแบ่งเป็นการรับบริจาคที่ศูนย์ใหญ่ 1,000 ยูนิต และรับบริจาคตามรถโมบายเคลื่อนที่อีก 1,200 ยูนิต แต่ขณะนี้ลดลงกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ และมีแนวโน้มจะลดลงมากกว่านี้อีก เนื่องจากคนที่ฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อโควิด-19 จะต้องเว้นวรรคการให้เลือด โดยกรณีผู้ที่รับวัคซีน Astrazeneca ต้องเว้นวรรค 4 สัปดาห์ ส่วนผู้ที่รับวัคซีน Sinovac ต้องเว้นวรรค 1 สัปดาห์ ซึ่งยังไม่รวมถึงกรณีที่มีผลข้างเคียง อาจจะต้องขยายไปอีก 1 สัปดาห์ด้วยซ้ำไป จึงมีแนวโน้มการบริจาคเลือดอาจน้อยลงไปอีก หากการฉีดวัคซีนขยายเพิ่มมากขึ้น จึงขอรณรงค์ให้ผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน มาบริจาคเลือดกันที่สภากาชาดไทย พร้อมย้ำว่าทุกขั้นตอนมีการอำนวยความสะดวกและสะอาด มีขั้นตอนป้องกันโรคระบาด 

นายอรรถวิชช์ ยังกล่าวสนับสนุนกรณีเอกชนเข้าหารือกับนายกรัฐมนตรี ในการขยายความร่วมมือกระจายวัคซีน โดยขอบคุณทั้งภาคเอกชน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าไทยแห่งประเทศไทย ที่มีเจตนาช่วยกระจายวัคซีน ซึ่งหลายประเทศมีตัวอย่างสามารถกระจายวัคซีนได้เร็วเพราะให้เอกชนร่วมด้วย ดังนั้นอะไรที่ทำได้ก็ควรทำ เพื่อประเทศของเราตอนนี้

รมว.เกษตรฯ พอใจผลงานขายทุเรียนไปจีนด้วยแพลตฟอร์มใหม่ ผ่านระบบสั่งซื้อล่วงหน้าล็อตแรกสำเร็จ ย้ำนโยบายคุณภาพสำคัญสุด ด้าน ‘อลงกรณ์’ เผยสื่อจีนเด้งรับแพร่ข่าวกระหึ่มแดนมังกร มอบทูตเกษตรขยายผลบุกทุกมณฑลจีน ตั้งเป้าหมายใหม่ ขาย 20 ตัน ใน 1 ชั่วโมง

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) เปิดเผยวันนี้ (28 เม.ย.) ว่า เครื่องบินเช่าเหมาลำของสายการบินเซินเจิ้นแอร์ไลน์ที่นำทุเรียนเกรดพรีเมี่ยม 20 ตันจากสหกรณ์เมืองขลุง จังหวัดจันทบุรีเดินทางถึงที่สนามบินเซินเจิ้นแล้วเมื่อเช้ามืดวันนี้ โดยผู้ประกอบการจีนได้จัดส่งแบบ Delivery ถึงลูกค้าซึ่งสั่งซื้อล่วงหน้าทันที

ทั้งนี้ เป็นการส่งออกทุเรียนด้วยการจำหน่ายออนไลน์ระบบสั่งซื้อล่วงหน้า (Pre-Order) ครั้งแรก โดยลูกค้าจ่ายเงินสั่งจองผ่านระบบออนไลน์มาก่อน ซึ่งล็อตแรกจำนวน 20 ตัน ขายหมดภายในไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น หลังจากนี้ จะประสานงานกับทูตเกษตรไทยทั้ง 8 สำนักงานในจีน ช่วยขยายผลรุกตลาดจีนทุกมณฑล

“ได้รายงานผลดำเนินการต่อท่านรัฐมนตรี ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้แล้ว ท่านพอใจผลงานขายทุเรียนแบรนด์ไทยไปจีนด้วยแพลตฟอร์มใหม่ระบบสั่งซื้อล่วงหน้าล็อตแรกสำเร็จและสั่งการให้เน้นเรื่องคุณภาพเป็นนโยบายสำคัญที่สุด”

นายอลงกรณ์ เปิดเผยด้วยว่า ทางสำนักงานทูตเกษตรไทยในจีนรายงานว่าสื่อมวลชนในจีนได้ลงข่าวกันอย่างครึกโครม ซึ่งเป็นการช่วยเผยแพร่ทุเรียนแบรนด์ไทยสู่ตลาด 1,400 ล้านคนแบบชั่วข้ามคืน

นอกจากนี้ได้ประสานกับบริษัท โรยัลฟาร์ม กรุ๊ป ซึ่งเป็นเจ้าแรกที่ใช้แพลตฟอร์มระบบสั่งซื้อล่วงหน้าเก็บข้อมูลความพึงพอใจของลูกค้าในจีนและพฤติกรรมการบริโภคทุเรียน เช่น นิยมทุเรียนพันธุ์อะไร ขนาดผลเล็กหรือใหญ่ ชอบรสชาติอย่างไร แต่ละมณฑลนิยมทานหวานมากหรือหวานน้อย เป็นต้น

จากข้อมูลการสั่งซื้อเบื้องต้นพบว่า ลูกค้าในเมืองซึ่งเป็นครอบครัวขนาดเล็กจะสั่งทุเรียนผลเล็กทานเสร็จไม่ต้องเก็บรักษา ส่วนลูกค้าชานเมืองซึ่งเป็นครอบครัวใหญ่นิยมสั่งผลใหญ่รับประทานได้หลายคนโดยจะนำข้อมูลมาเก็บในบิ๊กดาต้าทำการวิเคราะห์เพื่อนำไปพัฒนาการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค ตามนโยบายตลาดนำการผลิตของดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

“จากการพูดคุยกับผู้บริหารบริษัทโรยัลฟาร์มกรุ๊ปซึ่งเป็นเจ้าแรกที่เปิดขายระบบสั่งซื้อล่วงหน้าแสดงความมั่นใจว่าในการเปิดจองระบบสั่งซื้อล่วงหน้าในจีนล็อตแรก 20 ตันเกือบ 1 หมื่นลูกจบในเวลาไม่กี่ชั่วโมงและด้วยคุณภาพที่สหกรณ์เมืองขลุงจันทบุรีคัดสรรมาอย่างดีรวมทั้งสื่อจีนขานรับช่วยตีข่าวอย่างกว้างขวางจึงตั้งเป้าว่าล็อตต่อ ๆ ไปจะใช้เวลาขาย 20 ตันในเวลา 1ชั่วโมง”

เผยไทย เร่งเจรจาสิทธิบัตร ยารักษาโควิด19 “ฟาวิพิราเวียร์” เพื่อผลิตในประเทศ - นายกฯ สั่ง จนท. เข้ม คนฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตามมาตรการควบคุม

เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2564  ที่ทำเนียบรัฐบาล นาวสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้ติดตามความคืบหน้าการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 อย่างใกล้ชิดรับฟังประเด็นที่ยังเป็นปัญหาและมีข้อสั่งการให้แก้ไขให้เร็วที่สุด พร้อมกับย้ำกับหน่วยงานที่รับผิดชอบการดูแลจัดหายา และเวชภัณฑ์อื่นๆ ให้เพียงพอ 

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ในส่วนของยารักษาโรคโควิด-19 นั้น ล่าสุดนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ได้รายงานให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ทราบว่า หลังจากได้สั่งยาฟาวิพิราเวียร์ที่ใช้ในการรักษาโรคโควิด-19 จากญี่ปุ่นเข้ามาให้เพียงพอต่อการใช้ในประเทศขณะนี้ได้กระจายไปยังหน่วยบริการต่างๆ ทั้งโรงพยาบาลของรัฐและเอกชนทั่วประเทศแล้ว และขณะนี้ได้อยู่ระหว่างให้องค์การเภสัชกรรมเร่งดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อเจรจาเกี่ยวกับสิทธิบัตร  เพื่อให้ได้สิทธิผลิตยาชนิดนี้ในประเทศไทยได้เอง ในขณะที่โรงพยาบาลเอกชนนั้นก็ยังสามารถนำเข้ายาชนิดนี้ได้รัฐไม่ได้มีการผูกขาดนำเข้าแต่อย่างใด 

“รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข แจ้งกับ ครม.ว่าองค์การเภสัชกรรมกำลังดำเนินการตามขั้นตอนการเพื่อให้ได้สิทธิยาฟาวิพิราเวียร์เข้ามาผลิตในประเทศเนื่องจากยามีสิทธิบัตรในต่างประเทศต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ เมื่อได้แล้วจะมีส่วนให้ประเทศไทยมีความมั่นคงในส่วนของเวชภัณฑ์ยามากขึ้น”น.ส.ไตรศุลี กล่าว 

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า สำหรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 นายกรัฐมนตรีย้ำว่าจะต้องดำเนินการจัดหาวัคซีนที่ได้มาตรฐานโดยไม่ได้จำกัดผู้ผลิตว่าต้องเป็นรายใดให้ได้จำนวนมากที่สุด และให้กระจายวัคซีนให้ทั่วถึงประชาชนตามแผนที่วางไว้ กระจายไปให้ทุกจังหวัดทั้งรัฐและเอกชน และให้โรงพยาบาลเอกชนช่วยกระจายวัคซีน ดูแลระบบการให้วัคซีนให้มีปรระสิทธิภาพไม่ให้เกิดปัญหาระบบล่ม น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ได้เห็นว่าขณะนี้มีประชาชนหลายภาคส่วนต้องการมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือ แบ่งเบาภาระของบุคลากรสาธารณสุขหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น จึงได้ให้มีการพิจารณาว่า จะสามารถเปิดช่องทางให้ประชาชนมีส่วนร่วมในช่วยเหลือ เร่งแก้ไขสถานการณ์นี้ได้อย่างไร นอกจากนี้ยังขอบคุณประชาชนที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในการปฏิบัติตามมาตรการต่างๆของภาครัฐ พร้อมกำชับเจ้าหน้าที่ ให้เอาจริงเอาจังกับการฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรค

“สงคราม” ชี้รัฐแก้โควิดเหลวทำคนไทยสิ้นหวัง จี้ “บิ๊กตู่” ยึดอำนาจรอบ 2 หากล้มเหลวต้องแสดงความรับผิดชอบ

วันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2564 นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อชาติ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การคณะรัฐมนตรี เห็นชอบ ให้บรรดาอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงตามกฎหมาย หรือที่เป็นผู้รักษาการตามกฎหมายหรือที่มีอยู่ตามกฎหมาย โอนมาเป็นอำนาจหน้าที่ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นการชั่วคราวเฉพาะ ในส่วนที่เกี่ยวกับการอนุญาต อนุมัติ สั่งการ บังคับบัญชา หรือช่วยในการป้องกัน แก้ไข ปราบปราม ระงับยับยั้งในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือฟื้นฟู ช่วยเหลือประชาชน จำนวน 31 ฉบับ เพื่อให้การแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

การออกคำสั่งครั้งนี้คงต้องดูว่า พลเอกประยุท์ธ์จะมีปัญญาแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้หรือไม่ และสามารถหยุดการระบาดของไวรัสได้โดยไว้หรือไม่ ทั้งนี้ยิ่งนานวันประชาชนยิ่งหมดศรัทธา ไม่เชื่อมั่นในตัวพลเอกประยุทธ์แล้วเพราะตลอด 7 ปีที่ผ่านมาประเทศสงบมาก ทั้งเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ล้มเหลวทุกอย่าง จนกระทั่งมีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในรอบที่ 3 ที่ประชาชนจำนวนหลายหมื่นคนและอีกหลายพันคนกำลังนอนรอความตายอยู่ที่บ้านหลังรัฐไม่เหลียวแล

นายสงคราม กล่าวด้วยว่า พลเอกประยุท์ต้องหยุดโกหกประชาชน ทางออกที่ดีที่สุดในวิกฤติไวรัสโควิด คือ รัฐต้องเร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชนให้มากที่สุด ปัจจุบันระยะเวลา 2 เดือนรัฐบาลสามารถฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้เพียง 1.2 ล้านโดส ไม่ถึงร้อยล่ะ 2 ของประชากรทั้งประเทศ ถื้อว่าช้ามาก อยากถามว่าถึงวันนี้ผ่านไป 2 เดือนรัฐบาลทำได้แค่นี้ แล้วยที่บอกว่าวัคซีนวันล่ะหลักแสนโดส จะได้วัคซีนมาจากไหน เมื่อไม่มีการจอง รัฐบาลทั่วโลกทุกประเทศมีการจองวัคซีนไปหมดแล้วประเทศไทยจะหาวัคซีนมาจากไหน แล้วที่พลเอกประยุทธ์บอกว่าได้มาจากประเทศนั้นประเทศนี้ได้มาหรือยัง อย่าโกหกประชาชนอีกเลย

“การรวบอำนาจการบริหารครั้งนี้ หากล้มหลวไม่สามารถ ควบคุมการระบาด หรือหาเตียงให้ผู้ป่วยที่นอนรอความตายอยู่ที่บ้านได้ พลเอกประยุทธ์จะรับผิดชอบอย่างไร อย่าโยนความผิดให้หน่วยงานอื่นเมื่อรวบอำนาจมาแล้วต้องแสดงความรับผิดชอบสมเป็นชายชาติทหาร อย่าให้ประชาชนสิ้นศรัทธากับรัฐบาลไปมากกว่านี้เลย” นายสงครามกล่าว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top