Wednesday, 9 July 2025
Hard News Team

มุกดาหาร -กองบังคับการตำรวจน้ำ เปิดยุทธการฟ้าสางที่ฝั่งโขง จับกุมผู้กระทำความผิด ยาบ้า 43 ราย ยึด ยาบ้าร่วม 1 ล้านเม็ด คนเข้าเมือง 8 ราย ผู้ต้องหา 23 คน และหมายจับจำนวน 25 ราย

เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์  ที่ห้องประชุมกองกำกับการ 10 กองบังคับการตำรวจน้ำ พล.ต.ต.พฤทธิพงศ์ นุชนารถ ผู้บังคับการตำรวจน้ำ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดยกองบังคับการตำรวจน้ำ (บก.รน. ภายใต้การอำนวยการของ 

พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. 
พล.ต.ต.ภูมินทร์ พุ่มพันธุ์ม่วง รอง ผบช.ก.
พล.ต.ต.พฤทธิพงศ์ นุชนารถ ผบก.รน.
พ.ต.อ.ธรากร เลิศพรเจริญ รอง ผบก.รน.
พ.ต.อ.ราม รสหอม รอง ผบก.รน.
พ.ต.อ.อดิศักดิ์ มีศิลป์ ผกก.10 บก.รน.
พ.ต.อ.ศษณวรรฐ รัตนเศวตรวงศ์ ผกก.11 บก.รน.
พ.ต.อ.อนรรฆ ประสงค์สุข ผกก.12 บก.รน.  

ร่วมแถลงข่าวกองบังคับการตำรวจน้ำเปิดยุทธการ “ฟ้าสางที่ฝั่งโขง” เพื่อเป็นการป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ กองกำกับการ 10 - 12 กองบังคับการตำรวจน้ำ รับผิดชอบพื้นที่จังหวัดเชียงรายทั้งหมด (กก.12), จังหวัดเลย, จังหวัดหนองคาย, จังหวัดบึงกาฬ (กก.11), จังหวัดนครพนม จังหวัดมุกดาหาร จังหวัด อุบลราชธานี (กก.10) ตามแนวแม่น้ำโขง กั้นระหว่างเขตแดนรวมระยะทางทั้งสิ้น 957 กิโลเมตร โดยได้สืบสวนหาข่าวและกำหนดเป้าหมายในป้องกันปราบปรามจับกุม เป็นเป้าหมายทางบกรวม 76 เป้าหมาย เป้าหมายทางน้ำ 23 เป้าหมาย ได้ออกปฏิบัติการตามยุทธการฟ้าสางที่ฝั่งโขง ตั้งแต่วันที่ 13 - 20 กุมภาพันธ์ สามารถจับกุมผู้ต้องหาที่กระทำผิดกฎหมายตามยุทธการฟ้าสางที่ฝั่งโขงได้จำนวน 43 คน ยึดยาบ้าจำนวน 913,723 เม็ด คนเข้าเมือง 8 ราย ผู้ต้องหา 23 คน และหมายจับจำนวน 25 ราย

ภาพ/ข่าว เดวิท โชคชัย มุกดาหาร รายงาน 092-5259-777

‘ครูชาวลาว’ โดนถล่มยับ!! คอมเมนต์แรงไล่ ‘ไอซ์ ปรีชญา’ ไปตาย หลังซึมเศร้าด่ำดิ่ง ‘ชาวเน็ต’ รุมประณาม ‘อย่าเป็นเลยครู-ใช้อะไรคิด’

เมื่อวานนี้ (20 ก.พ. 67) จากกรณี นางเอกสาว ไอซ์ ปรีชญา ซึ่งมีอาการโรคซึมเศร้าอยู่แล้วด้วย โพสต์ข้อความตัดพ้อระบายความในใจว่า “แม่ขอเงิน พ่อขอเงิน มีแฟนเหมือนไม่มี จะอยู่เพื่อ โทรหาครอบครัว คนรักว่าไอซ์ไม่อยากอยู่บนโลกนี้แล้วนะ ทุกคนเฉยเมย ถ้าวันหนึ่งมันไม่มีไอซ์จริงๆ ขอให้รู้ว่าเป็นเพราะครอบครัว คนรัก

ไม่ใช่เพื่อนหรือแฟนคลับที่ตัดสินใจทำให้ไอซ์คิดสั้น ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย หลังจากนี้ไปทุกคนจะได้รู้ความจริงสักที ว่าชีวิตไอซ์ ไม่มีใครอยากแม้กระทั่งจะเป็นหรอกแค่หนึ่งวัน”

สร้างความเป็นห่วงว่าเกิดอะไรขึ้นกับนางเอกสาว ไอซ์ ปรีชญา ทำเอาแฮชแท็ก #ไอซ์ปรีชญา ขึ้นเทรนด์ X (ทวิตเตอร์) เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อยู่ขณะนี้

ขณะที่ เพจอีกี้ขยี้ข่าว ตามล่าอีตุ่นน้อย แคปคอมเมนต์มีคนคอมเมนต์ถึงไอซ์ด้วยถ้อยคำแย่ๆ ไม่อยากอยู่ก็ไปตาย… พร้อมข้อความประณาม ฝากไปถึงเป็นครูสอนภาษา ซึ่งเป็นคน สปป.ลาว
แล้วเมนต์แบบนี้! อย่าเป็นครูเลยมันแสดงให้เห็นพื้นฐานการศึกษา เราเป็นคนอีสานนะ ชอบคนลาวมาก ไปลาวบ่อย แต่ไม่เคยเห็นคนแบบนี้เลย รบกวนช่วยประณาม! ด้วยนั้น

โดยเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์คอมเมนต์แรงฟาดกลับ ครูสอนภาษา คนดังกล่าว ใช้อะไรคิดด้วย อาทิ คนล้มอย่าข้าม # น่าจะเป็นที่ สด. นะค่ะกี้, เป็นคอมเมนต์ที่ใช้ … คิดแทนสมอง, เราก็ลาวค่ะพี่กี้แต่ไม่เป็นแบบป้าคนนี้นะ เป็นต้น

‘ทอย’ สามี ‘น้องนุ่น’ เปิดปมสังหารภรรยา ก่อนอำพรางศพ รับ!! แค้นสะสมหลายอย่าง ลั่น!! ขอชดใช้กับทุกสิ่งที่พลาดไป

(21 ก.พ. 67) จากกรณี นายศิริชัย (ขอสงวนนามสกุล) หรือ ทอย อายุ 33 ปี ก่อเหตุฆ่าเผา น.ส.ชลลดา (ขอสงวนนามสกุล) หรือ น้องนุ่น อายุ 27 ปี ภรรยา หลังเข้าแจ้งตำรวจว่าภรรยาหายตัว แต่เมื่อถูกเค้นสอบอย่างหนัก อีกทั้งกล้องวงจรปิดมัดตัวขณะเจ้าตัวทำร้ายน้องนุ่นริมถนน ยอมสารภาพอ้างพลั้งมือฆ่าภรรยาก่อนขับรถนำศพไปเผาอำพรางคดีตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

ล่าสุดผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 22.00 น.ของวันที่ 20 ก.พ. หลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ปากเกร็ด ได้ควบคุมตัว นายศิริชัย มาทำการสอบปากคำนานกว่า 2 ชั่วโมง

นายศิริชัย ได้ยกมือไหว้ขอขมาทาง น.ส.เพ็ญ อายุ 42 ปี ซึ่งเป็นแม่ของ น.ส.ชลลดาที่ได้รับไหว้ขอขมา โดยมีอาการร้องไห้เศร้าโศกเสียใจอยู่ตลอดเวลา

ตอนหนึ่ง นายศิริชัย กล่าวขอขมาแม่น้องนุ่น ว่า “ไม่ว่าแม่จะให้อภัย หรือไม่ให้อภัย ผมก็จะขอชดใช้กับทุกสิ่งที่อยู่ ที่ผมได้ทำพลาดลงไปแล้ว” โดยน.ส.เพ็ญ ถามว่า “ทำกับลูกแม่ทำไม”

นายศิริชัย กล่าวว่า “มันเป็นเหมือนแค้นสะสมมาหลายอย่าง ก็ตามที่แม่ได้ยิน เวลาผมคุยกับเขา ผมจะเป็นฝ่ายง้อตลอด แต่ไม่ว่าจะทำดีแค่ไหน เขาก็ไม่เคยมองว่าผมดี อคติที่เขาเอามาพูดซ้ำอีก เรื่องที่เคยเคลียร์กันไปแล้วเขาก็เอามาทะเลาะซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนกระทั่งโมโห สะสม เก็บกดสะสมมา

เขาไม่ยอมให้อภัยผมสักครั้ง ไม่ว่าผมจะทำดีแค่ไหน พูดอะไรไป ก็ผิดใจเขาตลอด ผมไม่เคยคิดจะฆ่า หรือทำให้เขาตาย แต่ด้วยความเมา และโมโห เลยทำให้เกิดเหตุการณ์แบบนั้นขึ้น

ต่อให้ผมออกมาจากคุก ผมก็ไม่กล้าสู้หน้าครอบครัวนุ่นและครอบครัวผม ไม่มีหน้าไปเจอลูกตัวเอง ผมเลยมาบอกลาทุกคน ไม่ต้องให้เขาจำผมก็ได้ บอกว่า พ่อของเขาตายไปแล้วก็ได้”

เปิดตัว “ชมรมพนักงานสอบสวนตำรวจ” และร่วมหารือ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. เพื่อ ยกระดับงานสอบสวน พัฒนาคุณภาพชีวิต แก้วิกฤติอำนวยความยุติธรรม

วันนี้ (21 กุมภาพันธ์ 2567) พล.ต.อ.วุฒิชัย ศรีรัตนวุฒิ ประธานชมรมพนักงานสอบสวนตำรวจ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2567 ได้มีการจัดตั้ง “ชมรมพนักงานสอบสวนตำรวจ” ขึ้นมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุน ส่งเสริม พัฒนางานสอบสวน และพนักงานสอบสวนให้มีประสิทธิภาพในการอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชน โดยมี พล.ต.อ.วุฒิชัย ศรีรัตนวุฒิ 
เป็นประธานชมรมฯ พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ (ผู้ริเริ่มก่อตั้ง) พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ พล.ต.อ.วินัย ทองสอง พล.ต.อ.ศักดา เตชะเกรียงไกร พล.ต.อ.ก่อเกียรติ วงศ์วรชาติ พล.ต.ท.วุฒิ วิทิตานนท์ และ พล.ต.ท.วสันต์ วัสสานนท์ เป็นที่ปรึกษา

ในส่วนของคณะกรรมการฯ ประกอบด้วย พ.ต.อ.ดร.มานะ เผาะช่วย พล.ต.ต.ประสิทธิ์ เฉลิมวุฒิศักดิ์ พล.ต.ต.วิชาญญ์วัชร์ บริรักษ์กุล พล.ต.ต.ชัยวัฒน์ นิตยวิมล พล.ต.ต.เจนกมล คํานวล พล.ต.ต.เศรษฐศักดิ์ ยิ้มเจริญ พล.ต.ต.ดร.ศิริวัฒน์ ดีพอ พ.ต.อ.ดร.ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ พ.ต.อ.กีรติ ตรีวัย พ.ต.ท.ภูมิรพี ผลาภูมิ และผู้แทนจากกองบัญชาการที่มีอำนาจสอบสวน ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ซึ่งจากการประชุมคณะกรรมการบริหาร และคณะที่ปรึกษาชมรมพนักงานสอบสวนตำรวจ ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 เพื่อกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหางานสอบสวน ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นกรณีเร่งด่วน มีมติในเสนอมาตรการถึงท่านผู้บัญชาการ
ตำรวจแห่งชาติ ดังนี้

1. เรื่องระบบตำแหน่งควบ สายงานสืบสวนสอบสวน โดยแบ่งเป็น “พนักงานสอบสวนปกติ” ที่มีการแต่งตั้ง โยกย้าย เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น เหมือนกับตำรวจสายงานอื่นทั่วไป และ “พนักงานสอบสวนตำแหน่งควบ” ที่มีตำแหน่งปรับระดับเพิ่มลดได้ในตัวเอง มีแท่งเลื่อนไหลตั้งแต่ระดับ รองสารวัตร ถึงระดับรองผู้บังคับการ โดยใช้การประเมินเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น

2. เรื่องการแก้ไขปัญหาพนักงานสอบสวนขาดแคลน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกวดขัน
ห้ามพนักงานสอบสวนไปช่วยราชการในสายงานอื่น

3. เรื่องการเพิ่มเงินประจำตำแหน่ง และค่าตอบแทนการทำสำนวนการสอบสวน 
โดยคำนึงถึงค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติงาน และการดำรงตนอยู่ในความยุติธรรมได้อย่างมีเกียรติ โดยเปรียบเทียบกับค่าตอบแทนที่รัฐจ่ายให้แก่ข้าราชการฝ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม

4. เรื่องการแก้ไขคำสั่ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 419/2556 และระเบียบคำสั่งอื่นที่เกี่ยวข้องกับการสอบสวน

5. เรื่องการจัดตั้งศูนย์ให้คำแนะนำช่วยเหลือประชาชนและพนักงานสอบสวน
ในการอำนวยความยุติธรรม เพื่อเปิดช่องทางให้ประชาชนและพนักงานสอบสวนสอบถามปัญหา หรือขอคำแนะนำเกี่ยวกับการอำนวยความยุติธรรมตามอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวน

ซึ่งในวันนี้ (21 กุมภาพันธ์ 2567) เวลา 09.00 น. ณ ห้องรับรอง 1 อาคาร 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ คณะชมรมพนักงานสอบสวนตำรวจได้เข้าพบ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตลอดจนผู้บัญชาการสำนักงานกำลังพล ผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายและคดี ผู้บังคับการกองอัตรากำลัง และผู้บังคับการกองทะเบียนพล เพื่อร่วมหารือ และยื่นหนังสือถึงท่านผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขและพัฒนางานสอบสวนตามมาตรการดังกล่าว

เบื้องต้น ท่านผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มีความยินดีและเห็นชอบกับมาตรการดังกล่าว โดยหลังจากนี้ชมรมพนักงานสอบสวนตำรวจจะประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การแก้ไขปัญหางานสอบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำเร็จตามวัตถุประสงค์ เพื่อยกระดับ
งานสอบสวน พัฒนาคุณภาพชีวิตของพนักงานสอบสวน และแก้ไขปัญหาในการ
อำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนต่อไป

‘ศาลฯ’ ส่งฟ้อง ‘รศ.ดร.ยุกติ’ ผิด ม.112  หลังปล่อยเฟกนิวส์เกี่ยวกับในหลวง ร.10

เมื่อวานนี้ (20 ก.พ.67) พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 3 ได้นัดหมายส่งฟ้องคดีของ รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากกรณีที่ถูกแจ้งความโยงโพสต์ทวิตเตอร์กับปมข่าวลือ ร.10 ประชวร เมื่อปี 2564

สำหรับกระบวนการนัดฟ้องคดีในครั้งนี้ ยุกติได้ให้ความเห็นโดยระบุว่า ตนไม่ผิดคาดที่จะมีการฟ้องดำเนินคดีในวันนี้ จริง ๆ แล้วการแจ้งความดำเนินคดี ม.112 กับประชาชนเป็นนโยบายในยุคสมัยของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ซึ่งจากรูปคดีของตน ไม่ควรที่จะมีการดำเนินคดีแต่แรกด้วยซ้ำ แต่พอเปลี่ยนรัฐบาลมาก็ยังมีการดำเนินคดีอยู่ สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลนี้ก็ไม่ได้มีความจริงจังในการแก้ปัญหาเกี่ยวกับกฎหมายนี้หรือไม่ได้มีความจริงจังเกี่ยวกับผู้ต้องขังทางการเมืองที่ถูกคุมขังอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งทำให้กระบวนการยุติธรรมมันผิดปกติ

อย่างไรก็ตาม ยุกติกล่าวเสริมว่า การที่บรรยากาศทางการเมืองเป็นไปในลักษณะเช่นนี้ จะยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลงไปเรื่อย ๆ ดังนั้นตนจึงหวังว่าจะมีการนิรโทษกรรมเกิดขึ้น ซึ่งครอบคลุมคดีการเมืองในทุกลักษณะ เพื่อเป็นการคลี่คลายปมปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมมาอย่างยาวนาน

บล็อกเชนช่วยดัน!! 'ไทย' ซื้อขายทองคำยืนหนึ่งในอาเซียน-แตะอันดับ 7 โลก พบ!! สัดส่วนซื้อขายออนไลน์ 65% ปริมาณเทรดทะลุ 5 ล้านล้านบาท

เมื่อวานนี้ (20 ก.พ.67) พวรรณ์ นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (YLG) เปิดเผยถึงการซื้อขายทองคำผ่านช่องทางออนไลน์ด้วยระบบบล็อกเชน ทำให้การซื้อขายในตลาดทองคำไทยทะลุไปถึง 5 ล้านล้านบาท ยืนหนึ่งในกลุ่มประเทศอาเซียน และไต่ไปถึงอันดับ 7 ของโลก

- การซื้อขายทางกายภาพอยู่ที่ 35% การซื้อขายทองคำดิจิทัลผ่านบล็อกเชนอยู่ที่ 65%

- ตลาดทองคำได้พัฒนาระบบการซื้อ-ขายบนบล็อกเชน ทำให้สามารถเกิดความคล่องตัวในการซื้อในหน่วยที่เล็กมากเพียง 0.0001 กรัม หรือใช้เงินลงทุนเริ่มต้นเพียง 100 บาท

- การซื้อขายทองคำในระบบออนไลน์ยังมาจากการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในตลาดล่วงหน้า (ฟิวเจอร์ส) โดยมีมูลค่าการซื้อขายต่อวันประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท

- ตลาดฟิวเจอร์สเป็นการเข้าถึงการเทรดในตลาดระดับโลก เช่น การซื้อขายผ่าน Tradingview ด้วยบัญชี YLG Futures ที่นักลงทุนสามารถเข้าถึงการลงทุนฟิวเจอร์สในตลาด CME Group ตลาดฟิวเจอร์สอันดับหนึ่งของโลกจากสหรัฐฯ สามารถเทรดได้ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่เว้นวันหยุดของประเทศไทย 

สำหรับความเคลื่อนไหวของตลาดทองคำในปีนี้...

ระยะสั้น มองว่ายังเป็นการแกว่งตัวลงทดสอบระดับต่ำสุดเดิมของเดือน ธ.ค.2566 ที่ระดับ 1,973 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐเริ่มมีสัญญาณการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายช้าลง จากไตรมาสแรกเป็นไตรมาสสอง ทำให้ทองคำได้รับแรงกดดัน  

ระยะยาว ในปี 2567 มองแนวรับแรกไว้ที่โซน 1,902-1,884 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (ระดับต่ำสุดของเดือนก.ค. 2566 และเดือนก.ย. 2566 ตามลำดับ)  และแนวรับถัดไปในโซน 1,804-1,764 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเชื่อมั่นว่าแนวรับแรกราคามีโอกาสยืนได้ 

โดยมองว่าช่วงครึ่งหลังของปีจะกลับมาเคลื่อนไหวในแดนบวก และหากราคาปรับตัวผ่านระดับ 2,080 ดอลลาร์ต่อออนซ์ขึ้นไปได้ มีโอกาสขึ้นไปทดสอบระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 2,144 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งหากทำระดับสูงสุดใหม่ขึ้นไปได้ รอบนี้แนวต้านถัดไปมีโอกาสปรับตัวขึ้นไปถึงบริเวณ 2,200-2,300 ดอลลาร์ต่อออนซ์

'สว.วีรศักดิ์' กระตุกมุมคิดด้านสิ่งแวดล้อม ผ่านเวที 'Finance for Biodiversity' ชี้!! ไม่มีกิจกรรมใดของมนุษย์ที่ไปต่อได้ หากระบบนิเวศ 'ล่มสลาย-ขาดตอนลง'

เมื่อไม่นานมานี้ นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา รองประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ได้ขึ้นกล่าวปาฐกถาพิเศษสรุป ก่อนพิธีปิดการเสวนา ในหัวข้อ 'Finance for Biodiversity: Towards a Nature-Positive Pathway' ณ อาคาร C-ASEAN ถนนพระราม 4 มีวิทยากรที่มีชื่อเสียงได้รับเชิญมาร่วมเวทีมากมาย ทั้งจากผู้เชี่ยวชาญในประเทศและต่างประเทศ

โดยเวทีนี้จัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่าง สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย กองทุน AFD แห่งรัฐบาลฝรั่งเศส สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยการสนับสนุนของ IUCN UN ESCAP / ธนาคารแห่งประเทศไทย / กลต. / BOI / ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย / สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย / สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย / สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง / สำนักสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ / Global Compact Thailand / ธนาคารกรุงไทย / BEDO เป็นต้น 

ทั้งนี้ เวที Finance for Biodiversity นับเป็นเวทีที่วงการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและวงการการเงินการคลังทั้งในและระหว่างประเทศได้มาพบปะแลกเปลี่ยนข้อมูลและแนวคิดกัน เพื่อระดมพลังเตรียมตัวสำหรับประกอบท่าทีไทยในการเข้าร่วมประชุมอนุสัญญาคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ หรือ COP 16 ที่จะมีขึ้นในปีนี้ที่ประเทศ โคลัมเบีย

สาระสำคัญหนึ่งจาก นายวีระศักดิ์ ในเวทีนี้ ระบุว่า ความจำเป็นที่ภาคส่วนอื่น นอกเหนือจากวงการอนุรักษ์ โดยเฉพาะภาคการเงินและธุรกิจควรจะเข้ามามีส่วนร่วมขับเคลื่อน เพื่อการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพเอาไว้ให้ได้ เพราะไม่มีกิจกรรมใดของมนุษย์ที่สามารถดำเนินต่อได้ ถ้าวงจรของระบบนิเวศจะล่มสลายหรือขาดตอนลง

"เราอาจใช้ดาวเทียมตรวจจับอุณหภูมิ ตรวจจับการรั่วไหลของก๊าซเรือนกระจก ไฟป่า หรือการใช้ผิวดิน สำรวจทรัพยากรใต้ดินได้ แต่ดาวเทียมไม่อาจตรวจจับการขาดตอนลงของระบบนิเวศ การพึ่งพากันของเผ่าพันธุ์พืช หรือเผ่าพันธุ์สัตว์ใดๆ ได้ ดังนั้นเราจึงไม่อาจรู้เลยว่า Tipping Points ของปัญหาการสูญเสียเผ่าพันธุ์ต่างๆ ในธรรมชาติจะอยู่ที่จุดไหน...

"หากผึ้งหายไปหมด สัตว์และมนุษย์แทบจะสูญพันธุ์ตามไปในเวลาไม่ถึง 6 ปี เพราะทุกชีวิตบนแผ่นดินทุกทวีปอาศัยแกล่งอาหารจากพืชมาเป็นจุดเริ่มทั้งสิ้น..

"ถ้าวาฬในมหาสมุทรสูญพันธุ์ไปจากที่เหลือล้านตัวสุดท้าย แพลงตอนพืชที่ได้ปุ๋ยจากมูลวาฬอันอุดมด้วยแร่ธาตุที่แพลงตอนต้องใช้ประกอบการสังเคราะห์แสง แปลงคาร์บอนไดออกไซด์กลับมาเป็นออกซิเจนกว่า 65% บนโลกใบนี้ก็จะหายไป แล้วสัตว์และมนุษย์จะหายใจได้อย่างไร" นายวีระศักดิ์ กล่าว

ปิดท้ายด้วยคำกล่าวที่เรียกเสียงปรบมืออย่างยาวนานก่อนจบการปาฐกถาว่า...

"...How do you put a price on saving the earth 
We are putting trillions of dollars to rescue our economies 
Our countries 
Our communities 

But healthy proporous communities also depend on a healthy planet 
The food we eat
The water we drink
The air we breathe 

They all depend on 
Nature 

So how do we ensure the investments we make now
Are good for the future 

If we dug into the numbers creatively and bravely,
We can have great thriving economies and a thriving planet 
But we need some changes 
We will have to stop investing in ways that degrade the planet 
Get creative with new investments 
from both the public and private sectors 
And we have to spend the money we have more efficiently 
Putting our money to work for People and Nature 
We can’t return to business as usual 

It’s time to do better 
It’s time to be better 
It’s time for nature  

And the time is Now…"

อีอีซี ร่วมมือ มูลนิธิเสนาะอูนากูลม.บูรพา พร้อมภาคีเครือข่าย เปิดเวทีสัมมนา “บริหารจัดการน้ำภาคตะวันออก” สร้างความมั่นคงทรัพยากรน้ำผลักดันลงทุนเศรษฐกิจสีเขียวสู่การพัฒนาพื้นที่ อีอีซีและชุมชนอย่างยั่งยืน  

เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2567) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)หรืออีอีซี ร่วมกับมูลนิธิเสนาะ อูนากูล มหาวิทยาลัยบูรพา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA)และศูนย์ศึกษาการพัฒนาที่ยั่งยืนและเศรษฐกิจพอเพียง สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) จัดงานสัมมนาวิชาการประจำปี เรื่องสถานการณ์ภาคตะวันออก พ.ศ. 2567 หัวข้อ “ระบบนิเวศของภาคตะวันออก และการบริหาร จัดการน้ำ”ณ หอประชุมธํารงบัวศรีมหาวิทยาลัยบูรพา โดยมีดร. ณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานมูลนิธิเสนาะ อูนากูล เป็นประธาน ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการ อีอีซี ร่วมปาฐกถาพิเศษ ดร.วัชรินทร์ กาสลัก อธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวให้การต้อนรับ พร้อมด้วยผู้เข้าร่วมเสวนา และนำเสนอกรณีศึกษาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ดร.ปรียานุช ธรรมปิยา กรรมการมูลนิธิเสนาะ อูนากูลดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการ TDRI ดร.ดิชพงษ์ ภูมิเกียรติศักดิ์ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาระบบนวัตกรรม GISTDA นายสมชาย หวังวัฒนาพาณิช ประธานสถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน ส.อ.ท.เป็นต้น และมีดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธาน TDRI ร่วมดำเนินการเสวนา 
 ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานมูลนิธิเสนาะ อูนากูลกล่าวว่า งานสัมมนาฯ ครั้งนี้เพื่อเป็นเวทีกลางแลกเปลี่ยนองค์ความรู้จากภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกให้มีใช้อย่างยั่งยืน ทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ สร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐโดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชนรวมทั้งภาคอุตสาหกรรม และภาคประชาสังคม ตลอดจนสถาบันการศึกษาและเยาวชน อีกทั้งเพื่อนำเสนอ“รายงานการพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน ภาคตะวันออกพ.ศ. 2565”เรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก ให้สาธารณชนโดยรวมได้รับทราบสถานภาพปัญหาและข้อเสนอแนะ โดยมูลนิธิเสนาะ อูนากูล ได้จัดทำรายงานชิ้นนี้เพื่อติดตามสถานการณ์การพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออกตามแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน และนำเสนอข้อมูลโดยสรุป หรือDashboardเรื่อง State of the Eastern Regionเพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงใน 3 ด้าน ได้แก่ สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม รวมถึงข้อมูลจากการสำรวจความคิดเห็นประชาชนและผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวกับการพัฒนาในพื้นที่

ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการ อีอีซี กล่าวถึง การบริหารความพิเศษเพื่อโอกาสของ อีอีซี ซึ่งเป็นการพัฒนาภายใต้แนวคิดเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยได้ใช้ข้อมูลเดียวกับแนวคิดการพัฒนาอีอีซี กลไกในการขับเคลื่อนการลงทุนและการบริหารงานใน สกพอ. การส่งเสริมการให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ การพัฒนาพื้นที่เพื่อจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจ การเตรียมโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง และการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่อีอีซี รวมถึงสิทธิประโยชน์ และมาตรการอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนที่ สกพอ. พร้อมให้บริการมาตั้งแต่วันที่1 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำการขับเคลื่อนการพัฒนาตามแผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 
2566 – 2570 

สำหรับงานสัมมนาวิชาการฯ ครั้งนี้ ได้นำเสนอกรณีศึกษาในการจัดการน้ำในพื้นที่ทั้งที่ใช้ระบบเทคโนโลยีขั้นสูงและพลังของชุมชน เช่นระบบ Actionable Intelligence Policy (AIP) ที่ GISTDA ได้พัฒนาและทดลองดำเนินการเพื่อเสริมการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่อีอีซีและกรณีศึกษาชุมชนในท้องถิ่นที่บ้านมาบจันทร์ จังหวัดระยอง ซึ่งมีความเข้มแข็งในการจัดการทรัพยากรน้ำด้วยตนเอง เพื่อให้เห็นถึงศักยภาพและทางเลือกในการแก้ไขปัญหาการจัดการน้ำในพื้นที่

นอกจากนี้ ภายในการเสวนาโต๊ะกลมเรื่องการจัดการน้ำในภาคตะวันออกซึ่งมี ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์  ประธาน TDRI ดำเนินการเสนวนา ได้เจาะลึกถึงข้อเสนอหลักจากรายงานการพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน ภาคตะวันออก พ.ศ. 2565 ดังกล่าวรวมทั้งได้มีการอภิปรายจากมุมมองของหน่วยงานภาครัฐ ผู้เชี่ยวชาญ และองค์กรผู้ใช้น้ำโดยเฉพาะภาคเอกชน รวมทั้ง TDRI GISTDA สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติและสถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืนของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
โดยในรายงานฯ ได้มี4ข้อเสนอหลัก ถึงเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกได้แก่
1)ปรับวิธีคิดของภาครัฐในการจัดการทรัพยากรน้ำ ทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน โดยให้คำนึงถึงการพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ 2)เสริมสร้างศักยภาพและความเข้มแข็งของท้องถิ่น ชุมชน และองค์กรผู้ใช้น้ำ โดยพัฒนาบุคลากรและเพิ่มทักษะความรู้ ให้กับบุคลากรในองค์กรทุกระดับ 3)พัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ หรือที่เรียกว่า Integrated Area-based Water Resource Management (IWRM)โดยอาจดำเนินการในลักษณะSandboxในอีอีซี4)เตรียมแผนรองรับ ป้องกัน และลดผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเผชิญกับภัยภูมิอากาศ ในเขตพื้นที่อีอีซีรวมถึงพื้นที่ชายฝั่งตะวันออกของประเทศไทย

21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2455 ‘รัชกาลที่ 6’ ทรงประกาศใช้ ‘พุทธศักราช’ (พ.ศ.) เป็นศักราชประจำชาติ แทน ‘รัตนโกสินทร์ศก’ (ร.ศ.)

21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2455 รัชกาลที่ 6 ประกาศยกเลิกใช้รัตนโกสินทร์ศก (ร.ศ.) หลังใช้มาได้เพียง 24 ปี (พ.ศ. 2432-2455)

รัตนโกสินทร์ศก หรือ รัตนโกสินทร์ศักราช (ร.ศ.) ถูกกำหนดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) โดยเริ่มนับจากปีที่มีการสถาปนากรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวง คือ พ.ศ. 2325 นับเป็นรัตนโกสินทร์ศก 1 (ร.ศ. 1) แต่ในทางพระพุทธศาสนา ยังคงใช้พุทธศักราช (พ.ศ.) ตามธรรมเนียมที่ใช้กันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา

ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ทรงมีพระราชดำริว่าประเทศไทยเป็นเมืองพุทธศาสนา และเพื่อให้สอดคล้องกับประเทศต่างๆ ที่นับถือพุทธศาสนา จึงได้มีการประกาศเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร์ศก 131 (พ.ศ. 2455) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ ‘พระพุทธศักราช’ ในราชการทั่วไป โดยถือเอาวันขึ้นปีใหม่ วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2456 เป็นวันเปลี่ยนมาใช้พุทธศักราชตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ซึ่งก่อนหน้าที่จะใช้พุทธศักราชและรัตนโกสินทร์ศก ประเทศไทยเคยใช้ ‘มหาศักราช’ (ม.ศ.) และ ‘จุลศักราช’ (จ.ศ.) มาก่อน

นอกจากนี้ ประเทศไทย กัมพูชา และสปป.ลาว เริ่มนับ พ.ศ. 1 เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้วครบ 1 ปี ส่วนที่ศรีลังกาและเมียนมา เริ่มนับปีพุทธศักราชตั้งแต่ปีที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน คือเมื่อ 544 ปีก่อนคริสตศักราช พุทธศักราชของศรีลังกาและเมียนมาจึงเร็วกว่าไทย 1 ปี

‘มาเลเซีย’ หวังคว้าประโยชน์จาก ‘เทคโนโลยีจีน’ ภาคส่วนการบิน เชื่อ!! จะนำโอกาสมาให้ พร้อมก้าวสู่บทบาทห่วงโซ่อุปทานระดับโลก

เมื่อวานนี้ (19 ก.พ.67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า เหลียวชินตง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการลงทุน การค้า และอุตสาหกรรมของมาเลเซีย กล่าวว่ามาเลเซียต้องการคว้าประโยชน์จากเทคโนโลยีของจีนในภาคส่วนการบิน เพื่อมีบทบาทมากขึ้นในห่วงโซ่อุปทานระดับโลกในภาคส่วนดังกล่าว

ทั้งนี้ เหลียวชินตง ได้ขึ้นกล่าวที่การประชุมการบินมาเลเซีย-จีน ปี 2024 (Malaysia-China Aviation Forum 2024) ระบุว่า อุตสาหกรรมการบินและอวกาศที่เติบโตอย่างรวดเร็วของจีนจะนำมาซึ่งโอกาสและพลวัตใหม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่มาเลเซียหวังว่าจะได้รับผลประโยชน์ด้วย

ซึ่ง เหลียวชินตง กล่าวเสริมว่ามาเลเซียมีสถานะที่น่าเชื่อถืออยู่แล้วในด้านวัสดุการบิน รวมถึงการผลิตชิ้นส่วนและส่วนประกอบของเครื่องบิน แต่เราต้องการเดินหน้าทำงานมากกว่านี้และมีส่วนสำคัญมากขึ้นในห่วงโซ่อุปทานระดับโลก

การประชุมฯ เน้นย้ำถึงความร่วมมือที่ผสานรวมความเชี่ยวชาญของจีน และความปรารถนาของมาเลเซียในการเป็นส่วนที่ขาดไม่ได้ในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมการบินและอวกาศระดับโลก

ทั้งนี้ แบบพิมพ์เขียวอุตสาหกรรมการบินและอวกาศของมาเลเซีย ปี 2030 ระบุว่ามาเลเซียตั้งเป้าเป็นประเทศด้านการบินและอวกาศแห่งหลักในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นส่วนสำคัญของตลาดโลกภายในปี 2030 โดยคาดการณ์ทำรายได้ต่อปี 5.52 หมื่นล้านริงกิต (ราว 4.16 แสนล้านบาท) และสร้างตำแหน่งงานที่มีรายได้สูงกว่า 32,000 อัตรา


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top