Wednesday, 9 July 2025
Hard News Team

‘บอร์ดอีวี’ ไฟเขียว!! ซื้อ ‘รถบัส-รถบรรทุกไฟฟ้า’ ลดภาษีสูงสุด 2 เท่า ชี้!! มีผลบังคับใช้ถึงสิ้นปี 68 หวังลดการปล่อย ‘มลภาวะ’ ภาคขนส่ง

(21 ก.พ.67) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ หรือบอร์ดอีวี (EV) ครั้งแรกของปี 2567 โดยที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบมาตรการสำคัญเพื่อส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าให้ครบทั้งระบบ

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ ทั้งรถโดยสารไฟฟ้า (E-Bus) และรถบรรทุกไฟฟ้า (E-Truck) โดยอนุญาตให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สามารถนำค่าใช้จ่ายในการซื้อรถโดยสารไฟฟ้าและรถบรรทุกไฟฟ้ามาใช้งานมาหักค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลได้

โดยแยกเป็น กรณีซื้อรถที่ผลิตหรือประกอบในประเทศ สามารถนำมาหักค่าใช้จ่าย ได้ 2 เท่า ส่วนกรณีนำเข้ารถสำเร็จรูปจากต่างประเทศ สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 1.5 เท่า 

สำหรับมาตรการนี้จะมีผลใช้บังคับจนถึงสิ้นปี 2568 ซึ่งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ซื้อรถโดยสารไฟฟ้าและรถบรรทุกไฟฟ้ามาใช้งานสามารถซื้อได้ไม่จำกัดจำนวน และไม่กำหนดเพดานราคาขั้นสูง คาดว่ามาตรการนี้จะช่วยเร่งให้เกิดการปรับเปลี่ยนรถยนต์เชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้าได้ไม่ต่ำกว่า 10,000 คัน โดยขั้นตอนต่อจากนี้ ที่ประชุมได้มอบหมายให้กรมสรรพากร พิจารณากำหนดแนวทางปฏิบัติและดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

นายนฤตม์ กล่าวว่า การออกมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่นี้ จะช่วยสนับสนุนภาคธุรกิจในการลดการปล่อยคาร์บอน ช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน รวมถึงช่วยสร้างฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในประเทศ 

“การที่บอร์ดอีวีได้ออกมาตรการสนับสนุนการใช้รถโดยสารไฟฟ้าและรถบรรทุกไฟฟ้าในครั้งนี้ ถือเป็นการต่อยอดจากมาตรการ EV3 และ EV3.5 ที่เน้นกลุ่มรถยนต์นั่ง รถจักรยานยนต์ และรถกระบะเป็นหลัก คาดว่าจะมีการซื้อรถโดยสารไฟฟ้าประมาณ 6,000 คัน และรถบรรทุกไฟฟ้าอีก 4,000 คัน ช่วยลดการปล่อยมลภาวะในภาคการขนส่ง และผลักดันการเป็นศูนย์กลางอีวีของภูมิภาคในรถยนต์ทุกประเภท” นายนฤตม์ กล่าว

พร้อมกันนี้ที่ประชุมบอร์ดอีวี ยังได้เห็นชอบให้ปรับปรุงมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าระยะที่ 2 หรือ EV 3.5 เช่น ขยายขอบเขตของรถยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับสิทธิให้ครอบคลุมรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน และเพิ่มคุณสมบัติของรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า กรณีที่มีขนาดแบตเตอรี่ต่ำกว่า 3 kWh แต่มีระยะทางวิ่งมากกว่า 75 กิโลเมตรต่อรอบการชาร์จ รวมทั้งมีมาตรฐานความปลอดภัย สามารถเข้าร่วมมาตรการ EV3.5 ได้ เพื่อตอบโจทย์ผู้ประกอบการมากขึ้น

ทั้งนี้ ที่ผ่านมามาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของภาครัฐสามารถกระตุ้นตลาดอีวีในประเทศ ให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด เห็นได้จากยอดจดทะเบียนรถยนต์อีวีที่สูงถึงกว่า 76,000 คันในปี 2566 เพิ่มขึ้น 6.5 เท่าจากปีก่อน นำมาสู่การลงทุนในอุตสาหกรรมอีวีแบบครบวงจร

โดยข้อมูล ณ สิ้นปี 2566 บีโอไอ ได้ให้การส่งเสริมอุตสาหกรรมอีวี จำนวน 103 โครงการ เงินลงทุนรวม 77,192 ล้านบาท แบ่งเป็น

- รถยนต์อีวี 18 โครงการ 40,004 ล้านบาท
- รถจักรยานยนต์อีวี 9 โครงการ 848 ล้านบาท
- รถบัสอีวีและรถบรรทุกอีวี 3 โครงการ 2,200 ล้านบาท
- แบตเตอรี่สำหรับรถอีวีและ ESS 39 โครงการ 23,904 ล้านบาท
- ชิ้นส่วนสำคัญ 20 โครงการ 6,031 ล้านบาท
- สถานีอัดประจุไฟฟ้า 14 โครงการ 4,205 ล้านบาท

‘วราวุธ’ นั่งหัวโต๊ะ ถก ‘สวัสดิการ’ เพื่อประชาชน 4 ประเด็น จ่อชง ‘เบี้ยเด็กแรกเกิด-คนพิการ-ผู้สูงอายุ-ขยายรับเลี้ยงเด็ก’

(21 ก.พ.67) ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.พม. ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนสวัสดิการโดยรัฐ เปิดเผยภายหลังการประชุม ว่า ที่ประชุมเห็นชอบในวาระสำคัญ 4 ประเด็น ได้แก่

ประเด็นที่ 1 คือ เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดจนถึง 6 ปีที่อยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจน ซึ่งตอนแรกการให้เงินสนับสนุน 600 บาทต่อคนต่อเดือนนั้น จะเป็นไปตามเส้นความยากจน ซึ่งมีประมาณ 4 ล้านกว่าคน ในขณะนี้ได้รับเงินอุดหนุนอยู่ประมาณ 2 ล้านกว่าคน แต่จากการประชุมในวันนี้ได้เปลี่ยนวิธีการให้เงินสนับสนุนเป็นแบบถ้วนหน้า เพื่อที่ว่าเด็กแรกเกิดจนถึง 6 ปี ทุกคนในประเทศไทย จะได้รับเงินอุดหนุนจำนวนนี้

ประเด็นที่ 2 ได้มีการขอให้ปรับศูนย์เลี้ยงดูเด็กและส่งเสริมการพัฒนาเด็ก ให้มีการเลี้ยงดูซึ่งในตอนแรก เป็นเด็กตั้งแต่ 6 เดือน จนถึง 3 ปี ตนได้ขอให้ปรับเป็น 3 เดือน จนถึง 3 ปี เพราะจะได้สอดคล้องกับกฎหมายแรงงานที่อนุญาตให้ผู้เป็นแม่สามารถลาคลอดได้ 98 วัน หรือประมาณ 3 เดือนกว่าๆ โดยจะขอให้ศูนย์เลี้ยงดูเด็กได้ตั้งแต่ 3 เดือน จนถึง 3 ปี

ประเด็นที่ 3 เกี่ยวกับเรื่องเบี้ยผู้สูงอายุ จากที่ก่อนหน้านี้ มีการจ่ายแบบขั้นบันได คือ 600-700-800 และ 1,000 บาทต่อเดือน ซึ่งจะขอเป็นแบบถ้วนหน้า และจะปรับเป็น 1,000 บาททุกคน ดังนั้นพี่น้องผู้สูงอายุจากเดิมที่ได้แบบขั้นบันไดและไม่ถ้วนหน้า แต่จากนี้ไป จะได้เป็นเดือนละ 1,000 บาทแบบถ้วนหน้า ทั้งนี้ เป็นการเห็นชอบของคณะอนุกรรมการฯ ซึ่งจะต้องนำเสนอเข้าคณะกรรมการใหญ่อีกครั้งหนึ่ง

ประเด็นที่ 4 เกี่ยวกับเรื่องเบี้ยความพิการ จาก 800 บาทต่อคนต่อเดือน เราปรับเป็น 1,000 บาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ช่วยคนพิการ จากที่เมื่อก่อนได้รับค่าตอบแทนชั่วโมงละ 50 บาท ตอนแรกคณะทำงานเสนอปรับจาก 50 บาท เป็น 80 บาทต่อชั่วโมง ซึ่งทางตนและที่ประชุมมีความเห็นตรงกันว่าควรจะปรับขึ้นเป็น 100 บาทต่อชั่วโมง รวมถึงการจัดหาการบริการกายอุปกรณ์ให้กับคนพิการทุกๆคน

“4 ประเด็นนี้ เป็นข้อสรุปที่ทางคณะอนุกรรมการได้เห็นชอบเกี่ยวกับการดูแลพี่น้องประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเด็ก เยาวชน สตรี คนพิการ และผู้สูงอายุ แต่ขอย้ำว่าเป็นการเห็นชอบของคณะอนุกรรมการ ตามที่ทางคณะทำงานนำเสนอมาขั้นตอนต่อไปคณะอนุกรรมการจะต้องนำเสนอข้อเสนอทั้งหมดเข้าคณะกรรมการใหญ่เพื่อดำเนินการต่อไป” นายวราวุธ กล่าว

ถาม? เมื่อพรรคการเมืองพรรคหนึ่งมีพฤติกรรมล้มล้างสถาบันชัด ตอบ!! จะถามหาความรับผิดชอบจากคนที่เลือกเข้ามาได้ไหม?

คนไทยถ้าไม่แกล้งหูหนวกตาบอดกันจริง ๆ จะต้องทราบดีว่า สส. จำนวนไม่น้อยที่สังกัดพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง มีพฤติกรรมที่คิดล้มล้างสถาบันมานานหลายปี โดยใช้วิธีล้างสมองเด็ก ส่งเสริม ช่วยเหลือ สนับสนุนให้เด็กออกหน้าแสดงแทน เช่น เผารูป ขีดเขียนกำแพงวัดพระแก้ว กระทั่งการขับรถป่วนขบวนเสด็จฯ 

พรรคการเมืองที่ล้มสถาบันจะเข้ามาไม่ได้ ถ้าไม่มีคนจำนวนมาก 'กาเลือก' เข้ามา 

ช่างไม่แฟร์กับคนที่รักสถาบันเลย รู้ทั้งรู้แต่กลับต้องยอมให้กลุ่มคนที่เป็นอันตรายต่อสถาบัน มาสูบกินเงินเดือนจากภาษีอันเหนื่อยยากของประชาชน 

ว่าแต่คนที่เลือกพรรคที่มีพฤติกรรมล้มสถาบันเข้ามา ถึงวันนี้คุณคิดว่า 'ตน' เป็นคนที่เข้าข่ายสายพันธุ์ใดมากที่สุด? 

1. มีนิสัยย้อนแย้งเหมือนพรรคการเมืองที่เขาเลือก ที่มักจะพูดอย่างแต่ทำอีกอย่าง หาความชัดเจนในตัวตนไม่เจอ และไม่คิดจะไม่รับผิดชอบใด ๆ ในสิ่งที่ตนเองทำ สายลมแสงแดดไปวัน ๆ ไม่สนผิดชอบชั่วดี 

2. คิดน้อย ไม่คิดหน้า คิดหลัง ไม่ดูการกระทำของคนให้ลึกซึ้ง หลงเพียงรูปโฉม วาทกรรม เบื่อของเก่า เห่อของใหม่ เห็นคนส่วนใหญ่ทำอะไรก็ทำตามส่ง ๆ ไป ไม่ลงลึก ไม่มีแก่นสาร เป็นประเภทโลกสวยกลวง ๆ เป็นบุคลากรของสังคมที่ไร้คุณภาพ ถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ 'บ่อนทำลายสถาบัน' ก่อตัวขึ้นในสังคมไทย

3. หลงพลาดผิดไปแล้ว รู้สึกสำนึกว่าได้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำผิดกับแผ่นดินชาติ และสถาบันพระมหากษัตริย์ไป ตั้งใจกลับตัว ปรับความคิดใหม่ เดินหันหลังให้ 'พรรคล้มสถาบัน' อย่างถาวร

4. ตอแหล เห็นกระแสคนรักสถาบันก็รักบ้าง เพราะกลัวถูกสังคมตั้งคำถาม แต่ส่วนลึกก็ไม่ได้รักสถาบันจริง อาจจะเกลียดสถาบันด้วยซ้ำ คนจำพวกนี้อ่านง่าย เห็นอะไรที่เป็นกระแสก็จะกระโจนเข้าหาทางนั้น เป็นคนที่จะไม่มีทางจริงใจกับฝ่ายใด และจะไม่มีทางได้ใจใครกลับมาเช่นกัน

5. แฟนคลับที่เบาปัญญา ถึงวันนี้ยังมองไม่ออก และไม่เชื่อว่าว่าพรรคการเมืองนี้คิดล้มล้างทำลายสถาบัน พวก 'บ่อนทำลายสถาบัน' จะชอบคนกลุ่มนี้มากที่สุด เพราะไม่เท่าทัน

6. พวกที่เกลียดสถาบันเหมือนกัน มีทั้งเปิดหน้าแสดงออกตรง ๆ กับพวกที่หลบซ่อนสนับสนุนอยู่เงียบ ๆ ไม่เผยตัวตนชัดเจน ซึ่งในสังคมไทยจะมีคนอย่างหลังมากกว่า

แล้วคุณคิดว่าตัวเองเข้าข่ายคนแบบใดมากที่สุด?

5 ประเทศที่ ‘คนเวียดนาม’ ไปเรียนต่อมากที่สุด

จากข้อมูลของ องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ในปี 2021 เวียดนามเป็นประเทศอาเซียนที่มีประชากรออกไปเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาในต่างประเทศ จำนวนทั้งหมด 137,022 คน

โดยจุดหมายยอดฮิต 5 อันดับแรก คือ ญี่ปุ่น (44,128 คน) เกาหลีใต้ (24,928 คน) สหรัฐอเมริกา (23,155 คน) ออสเตรเลีย (14,111 คน) แคนาดา (8,943 คน) นอกจากนี้ ตัวเลขนักเรียนนอกของเวียดนามเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียนยังเรียกได้ว่านำแบบไม่เห็นฝุ่น เพราะอันดับ 2 อย่าง ‘อินโดนีเซีย’ นั้นมีจำนวนนักเรียนที่ไปเรียนต่างประเทศเพียง 59,224 คน อันดับ 3 อย่าง ‘มาเลเซีย’ มี 48,810 คน ขณะที่ ‘ไทย’ ที่มาเป็นอันดับที่ 4 มีทั้งหมด 28,609 คน

ปัจจัยที่ทำให้เวียดนามมีนักเรียนออกไปเรียนต่างประเทศได้มาก มีทั้ง ‘ค่านิยมในการออกไปเรียนต่างประเทศของชาวเวียดนาม’ เอง ในกรณีที่เป็นครอบครัวมีฐานะและมีกำลังส่งลูกหลานไปเรียน และ ‘ทุนการศึกษาจากต่างประเทศ’ 

โดยในหมู่ทุนการศึกษาทั้งหมด ทุนที่มีชื่อเสียงเป็นอันดับต้น ๆ คือ ทุนจากมูลนิธิ Vietnam Education Foundation (VEF) ที่ ‘สหรัฐอเมริกา’ ตั้งขึ้นในปี 2003 เพื่อให้ทุนการศึกษาเด็กเวียดนามไปศึกษาต่อในสหรัฐฯ โดยใช้เงินจำนวน 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่เวียดนามส่งเป็นเงินใช้หนี้สงครามให้สหรัฐฯ ทุกปี โดยส่วนมากจะได้เข้าศึกษาในคณะและสาขาที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีในมหาวิทยาลัยดังระดับโลกต่าง ๆ ทั้ง Harvard และ Stanford

ความสำคัญของทุนนี้เห็นได้ชัดจากผลงานของผู้ได้รับทุนเก่าที่ส่วนมากกลับมาทำงาน และประสบความสำเร็จในการสร้างธุรกิจใหม่ ๆ ในประเทศ โดยเฉพาะสตาร์ตอัปด้านเทคโนโลยี โดยผลงานที่โดดเด่นของผู้ได้รับทุน VEF ก็อย่างเช่น Palexy บริษัทสตาร์ตอัปด้านแมชชีนเลิร์นนิ่ง และ VNG บริษัทยูนิคอร์นเจ้าของแอปแชท Zalo ที่ในปัจจุบันเป็นที่นิยมในเวียดนามมากกว่า Facebook

นี่ทำให้นอกจากเวียดนามจะมีเด็กไปเรียนต่างประเทศเป็นจำนวนมากแล้ว จำนวนหนึ่งยังเป็นผู้ที่กำลังศึกษาด้านเทคโนโลยี ซึ่งเป็นแรงงานที่เป็นที่ต้องการมากในหลาย ๆ ประเทศที่กำลังแข่งขันกันสร้างเศรษฐกิจดิจิทัล รวมทั้ง เวียดนามที่มีการเติบโตรวดเร็วขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้มีศักยภาพในการดึงแรงงานกลับประเทศ ไม่เกิดปรากฏการณ์ ‘สมองไหล’ อย่างที่ผ่านมา

ปัจจุบัน เวียดนามมีตลาดงานที่พร้อมรองรับบัณฑิตศักยภาพสูงจากต่างประเทศ เพราะเป็นประเทศที่มีบริษัทเทคโนโลยีใหญ่ ๆ สนใจเข้าไปลงทุนจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น LG และ Alibaba และมีศักยภาพในการผลิตสินค้าเทคโนโลยีระดับสูงต่าง ๆ โดยในปี 2020 มีการส่งออกสินค้าในประเภทนี้คิดเป็นสัดส่วนถึง 42% เพิ่มจากเพียง 13% ในปี 2010

จากการศึกษาของ Google, Temasek, และ Bain เวียดนามจะเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจดิจิทัลเติบโตมากที่สุดในภูมิภาคภายอาเซียนภายในปี 2025 และดึงดูดเงินลงทุนได้มากที่สุดในระหว่างปี 2025-2030

ตำรวจท่องเที่ยวระดมกำลังร่วมบูรณาการหน่วยที่เกี่ยวข้อง ปราบปรามรถรับจ้างผิดกฎหมาย

วันนี้ (21 ก.พ. 67) เวลา 16.00 น. กก.2 บก.ทท.3 นำโดย พ.ต.อ.พิสิษฐ์ สวัสดิ์ถาวร ผกก.2 บก.ทท.3 , พ.ต.ท.บรรณพงศ์ เก่งเรียน รอง ผกก.2 บก.ทท.3 , พ.ต.ท.เอกชัย ศิริ สวญ.ส.ทท.1 กก.2 บก.ทท.3 บูรณาการกำลังกับ ภ.จว.ภูเก็ต,ตม.จว.ภูเก็ต, ขนส่งจังหวัดภูเก็ต, การท่าอากาศยานภูเก็ต และฝ่ายปกครองจังหวัดภูเก็ต โดยมี นายกองเอก อดุลย์ ชูทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วย พล.ต.ต.สินเลิศ สุขุม ผบก.ภ.จว.ภูเก็ต , นายอัดชา บัวจันทร์ ขนส่งจังหวัดภูเก็ต ร่วมมอบนโยบายและปล่อยแถวออก ณ ท่าอากาศยานภูเก็ต 

หลังจากนั้นได้มีการร่วมกันตั้งจุดตรวจบริเวณขาออกอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ สนามบินนานาชาติภูเก็ต ซึ่งเป็นด่านแรกที่นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในจังหวัดภูเก็ต เพื่อตรวจสอบจับกุมรถรับจ้างสาธารณะที่กระทำความผิดกฏหมาย 

พ.ต.อ.พิสิษฐ์ สวัสดิ์ถาวร ผกก.2 บก.ทท. กล่าวว่า การปฏิบัติการดังกล่าวเป็นไปตามนโยบาย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจ เน้นการจัดระเบียบช่วงไฮซีซัน ที่มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติจำนวนมาก ให้ดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยวในทุกมิติ และข้อสั่งการของ พล.ต.ท.ศักย์ศิรา เผือกอ่ำ ผบช.ทท.ได้สั่งการให้สถานีตำรวจท่องเที่ยวทุกแห่ง ดำเนินการบูรณาการกำลังกับหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อร่วมกันปราบปรามรถรับจ้างผิดกฎหมายโดยเฉพาะในเมืองท่องเที่ยวหลัก ซึ่งจังหวัดภูเก็ตเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวหลักที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ประมาณ 50,000 คนต่อวัน และยังพบมีปัญหารถรับจ้างสาธารณะผิดกฎหมาย  ทำให้เกิดปัญหาและความเสียหายต่อนักท่องเที่ยงจำนวนมาก

เปิดอาคารรัฐสภาไทย ถกปัญหาความมั่นคง ‘เมียนมา’  น่ากังวลใจไหม? หากพลาดสะเทือนความสัมพันธ์ 2 ชาติ

ช่วงนี้ประเด็นข่าววัยหนุ่มสาวจากเมียนมาทยอยเดินทางออกนอกประเทศ โดยมีประเทศไทยเป็นเป้าหมายใหญ่ของการอพยพ สะพัดหนัก ภายหลังจากที่รัฐบาลทหารเมียนมา ประกาศบังคับใช้กฎหมายการเกณฑ์ทหาร โดยชาวเมียนมาทั้งหญิงชายอายุระหว่าง 18-27 ปีต้องถูกเรียกเข้ารับราชการทหารอย่างน้อย 2 ปี ซึ่งหลังสงกรานต์จะเริ่มขั้นตอนการเกณฑ์ทหารโดยตั้งเป้าไว้ปีละ 5 หมื่นคนหรือเฉลี่ยเดือนละไม่ต่ำกว่า 5 พันคน 

แน่นอนว่า พลันที่มีข่าวนี้ออกมา ก็เริ่มมีแรงขานรับจากบรรดา NGO, นักวิชาการฝ่ายซ้าย และ สส.สายส้มในไทย ออกมาแสดงท่าทีที่ไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะกับการต้องบังคับสตรีมาเกณฑ์ทหารด้วย แม้ล่าสุดทาง โฆษกสภาบริหารแห่งรัฐเมียนมา หรือ SAC จะแถลงว่า แม้กฎหมายเกณฑ์ทหารมีผลใช้บังคับแล้ว แต่ปัจจุบัน SAC ยังไม่มีแผนที่จะเกณฑ์ผู้หญิงเป็นทหาร ก็ไม่ค่อยจะฟังกันเท่าไร

แต่ก็นั่นแหละ!! ข่าวสารที่ถูกตีฟองให้ก้องทั่ว และมีขั้วตรงข้างในประเทศต่าง ๆ รับลูกต่อเพื่อไปไล่บดขยี้ภาพลักษณ์รัฐบาลทหารเมียนมาให้ล่ม มักไม่น่าสนใจเท่าทหารเมียนมาออกจากจ่ายอาหารให้แก่ประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ และรวมถึงมีการลงพื้นที่บอกกล่าวความจริงกับแนวทางของรัฐบาลทหารในหลายเรื่อง แต่อย่างใด

จริง ๆ เรื่องราวตลอด 3 ปีของเมียนมา ถูกเขย่าให้เห็นภาพของความรุนแรง เผด็จการ กดขี่ จากสื่อฝั่งตะวันตกเสมอมา ไม่ต่างกันกับประเทศไทย เพียงแต่ไทยได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ‘อำนาจ’ ที่อยู่ในมือคนดี ไม่ได้ทำให้ประเทศชาติพังพินาศแต่อย่างใด แต่กลับมีความเจริญรุดหน้ามากกว่าใครได้อย่างประจักษ์ 

อย่างไรก็ตาม เราก็ไม่ใช่คนในเมียนมาโดยตรง จะไปชี้วัดว่าอะไรดี หรือไม่ดี ก็ไม่ใช่สิทธิที่ควรไปตัดสิน และไม่ควรไปยุ่มย่ามด้วย ไม่ว่าจะผ่านวิธีการไหน!! หรือ หาวิธีการมาวิจารณ์บนเวทีสัมมนา-เสวนา ไม่ว่าจะวงย่อยหรือวงใหญ่ใด เราต้องไม่พยายามดัดจริตอยากเห็น ‘ประชาธิปไตย’ ในประเทศเพื่อนบ้านว่าควรไปในทิศทางนั้นหรือทิศทางนี้ 

เพราะทุก ๆ การถกเถียงเชิงวิจารณ์แบบสนุกปาก ทั้ง ๆ ที่ไม่รู้ว่า ‘เนื้อใน’ ของประเทศนั้น ๆ เป็นอย่างไร มันอาจไปสะเทือนความรู้สึกของผู้หลักผู้ใหญ่ในประเทศเพื่อนบ้านเอาได้ง่าย ๆ

ล่าสุด ได้ไปเจอโปรโมตประชาสัมพันธ์งานสัมมนางานหนึ่งที่ใช้ชื่อว่า ‘3 Years After the Coup : Towards a Democratic Myanmar and Its Impact on Security Along the Thai Border’ หรือถ้าจะแปลกันคร่าว ๆ ก็ 3 ปีหลังรัฐประหาร : สู่ประชาธิปไตยเมียนมาและผลกระทบ ว่าด้วยความมั่นคงตามแนวชายแดนไทย นั่นแล!!

ทว่า แว่บแรก!! ที่ได้เห็นหัวข้อและวิทยากรในงาน ก็พอเดาได้ว่า นี่มันเวทีแซะเพื่อนบ้านตามสไตล์อีเวนต์ที่อ้างอิงถึงการถกเถียงอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งจะจัดกันในวันที่ 2-3 มีนาคม 2567 … แต่ๆๆ มาสะดุดเล็ก ๆ ตรงงานนี้ จัดขึ้นที่อาคารรัฐสภาไทย (สัปปายะสภาสถาน) ซึ่งเหมือนกับเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นทางการไทยด้วยนี่สิ!!

ทันทีที่งานนี้มีการแพร่กระจาย ก็พลันทำให้ผู้ใหญ่ในเมียนมาที่ได้เห็นหัวข้อและวิทยากร ก็เกิดความรู้สึกกังวลใจในระดับที่มีการส่งข้อความมาหาผู้ใหญ่ในเมืองไทยว่า “I worry will potentially hurt Thai / Myanmar relations.”

อะไรกัน!! กะอีแค่การระดมความคิดผู้คนเพื่อพูดคุยถึงมิติประชาธิปไตยและผลกระทบชายแดนในเมียนมาในเชิงสร้างสรรค์ มันจะไปสะเทือนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอะไรขนาดนั้น!!

อยากให้ลองนึกภาพตาม!! งานที่จัดขึ้นที่รัฐสภา หรือสถานที่สำคัญของประเทศ หากเป็นการพูดคุยกันระหว่างคนของ ประเทศ กับ ประเทศ หรือ รัฐบาล กับ รัฐบาล หรือ รัฐมนตรี กับ รัฐมนตรี ก็พอจะเข้าใจได้ว่าเป็นการเจรจาพูดคุยและหารือกันในเชิงความร่วมมือได้อย่างแท้จริง

แต่หากสถานที่ที่เป็นสัญลักษณ์ของประเทศ มีการดึงเอาทั้งนักวิชาการอิสระทั้งนอกและในประเทศ รวมไปถึงนักการเมืองที่เรียกว่ามีชื่อชั้นต่อต้านเรื่องของเผด็จการนิยม ไม่ว่าจะเป็น สส.ของพรรคก้าวไกล อย่าง รังสิมันต์ โรม / กัณวีร์ สืบแสง สส.จากพรรคเป็นธรรม อีกทั้งยังมีสำนักข่าวอย่าง มิซซิมา (Mizzima) ซึ่งเป็นสำนักข่าวเสียงประชาธิปไตยเพื่อพม่า และสำนักข่าว The Irrawaddy ซึ่งเป็นสื่อที่มีการต่อต้านรัฐบาลเมียนมา มาอย่างต่อเนื่อง แถมพ่วงด้วยสื่อไทยอย่าง The Reporters อีกหัว มาร่วมเสวนาในหัวข้อในงานนี้ด้วยนั้น…

คงไม่น่าจะต้องตีความอะไรให้ลึกซึ้ง ก็คงเดาออกได้ถึงบทสนทนาและเนื้อความที่จะหลุดรอดออกมาได้ไม่ยาก

- ประชาธิปไตย จะเบ่งบานได้อย่างไรภายใต้รัฐบาลทหาร?
- การยึดอำนาจ ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้เมียนมาถูกประชาคมโลกมองแบบไหน?
- ปัญหาชนกลุ่มน้อย (เชิงตื้นเขิน) ที่ทำให้เกิดการเรียกร้องความเท่าเทียม?
- และที่สำคัญ กับ การวิพากษ์วิจารณ์ ‘นายพล มิน อ่อง หล่าย’ ผู้นำในทางพฤตินัยของประเทศคนปัจจุบัน และยังเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพเมียนมา ที่เข้ายึดอำนาจในฐานะผู้นำรัฐในการรัฐประหารเมียนมาครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 
- ฯลฯ

ประเทศไทยตั้งแต่ยุครัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีความชัดเจนในเรื่องของการไปก้าวก่ายกิจการภายในประเทศต่าง โดยไทยมักจะวางตัวเป็นกลาง ไม่ไปยุ่มย่ามกับการบริหารจัดการของประเทศใด ๆ ซึ่งหมายรวมถึงแม้แต่การวิพากษ์วิจารณ์ และนั่นก็ทำให้ไทยอยู่ในตำแหน่งที่ดีทางภูมิรัฐศาสตร์อาเซียนและระดับโลก

แต่หากใครที่ไม่ได้มีบทบาทต่อการรับผิดชอบผลดีผลเสียของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ได้วิพากษ์วิจารณ์และสร้างความสะเทือนในสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แล้วพอพูดจบก็สะบัดก้นหนี โยนขี้ให้ภาครัฐ และหน่วยความมั่นคงไปรับหน้าต่อ คงมิใช่เรื่องดีเป็นแน่ โดยเฉพาะเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ดูอย่างเมื่อวันที่ 18 ก.พ.67 ที่ผ่านมา ก็น่าจะรู้แล้วว่า สิ่งที่เกิดขึ้น สะท้อนสัญญาณจากรัฐบาลทหารพม่าอย่างไรกับไทย เมื่ออยู่ ๆ ก็มีภาพการจัด ‘คอนเสิร์ตต้าน มิน อ่อง หล่าย’ ที่สมุทรปราการ เพื่อระดมทุนกลับเมียนมา จากกลุ่มที่ชื่อว่า GenerationZ ที่มีผู้ติดตามทางเพจกว่าครึ่งแสน คาดว่าเป็นชุมชนของชนกลุ่มน้อยในเมียนมา ซึ่งในเพจนี้มีเนื้อหาระดมกำลัง มีอาวุธสงคราม และเป็นกองกำลังต่อต้าน พลเอก มิน อ่อง หล่าย ด้วย โดยในบริเวณจัดงาน มีการเก็บค่าผ่านประตู คนละ 299 บาท และมีการตะโกนชื่อ มิน อ่อง หล่าย เสียงดังกึกก้อง แต่ยังดีที่เรื่องนี้ ตำรวจ สภ.บางเสาธง ได้เข้าระงับเหตุทันก่อนคอนเสิร์ตจะเล่น ทำให้ไม่เกิดความวุ่นวายขึ้น ก็ต้องปรบมือให้

ดังนั้นในวันที่ 2-3 มีนาคม 2567 ที่ อาคารรัฐสภา กับงาน ‘3 Years After the Coup : Towards a Democratic Myanmar and Its Impact on Security Along the Thai Border’ ซึ่งเท่าที่ทราบ ก็มีวิทยากรที่มาจากคนในรัฐบาลนี้ และรัฐบาลก่อนรวมอยู่ด้วยนั้น คงรู้ตัวดีว่างานนี้จะให้อะไรกับประเทศไทยและเมียนมา

จะสร้างประโยชน์ให้กับเพื่อนบ้านจริงตามที่กล่าวอ้างว่ามาร่วมกันหาทางออก หรือ ‘ชักศึกเข้าบ้าน’ เพื่อให้เกิดแรงสั่นสะเทือนในความสัมพันธ์ระหว่าง ‘ไทย-เมียนมา’ 

เตือนไว้ ไม่ได้ขัดขวาง!! แต่อยากมีปัญหากับเพื่อนบ้านเพิ่ม พร้อม ๆ ไปกับศึกในประเทศ จากผู้หมายมั่นที่จะทำให้ประเทศไทย ลุกเป็นไฟ? ก็เชิญ!!

ปลื้มปริ่ม!! ‘คุณพ่อ’ ส่งลูกสาวเข้าพิธีวิวาห์ ฝากเจ้าบ่าว “ถ้าวันไหนไม่รัก อย่าทำร้าย แค่พาเธอกลับมาหาพ่อ”

วันแต่งงานถือเป็นวันสุดพิเศษ ไม่ใช่เพียงเจ้าสาวและเจ้าบ่าวรอคอย แต่พ่อแม่ผู้ปกครองของพวกเขายังเฝ้ารอวันนี้ด้วย ลูกตัวน้อยที่เติบโตจนเป็นผู้ใหญ่ เตรียมสร้างครอบครัว ทำให้พวกท่านต่างเตรียมคำพูดที่จะมาพูดกับลูกมากมาย

เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.66 ‘ไคลี่ โยว’ ผู้ใช้ติ๊กต็อกจากสิงคโปร์ได้โพสต์วิดีโอชวนซึ้ง เป็นช่วงเวลาที่คุณพ่อของเธอได้พูดฝากฝังเธอไว้กับเจ้าบ่าว ซึ่งคำพูดทุกคำล้วนกลั่นออกมาจากหัวใจ ทำผู้คนภายในงานต่างน้ำตาซึม

โดยคุณพ่อได้ขอให้เจ้าบ่าวช่วยรักและดูแลลูกสาวของเขาให้ดี ขอให้ครองคู่กันชั่วนิรันดร์ มีสุขภาพแข็งแรง และถ้าวันใดวันหนึ่งเจ้าบ่าวไม่รักลูกสาวของเขาแล้ว ได้โปรดอย่าทำร้ายเธอและส่งเธอคืนมาให้เขา

“พ่อมอบลูกสาวสุดที่รักของพ่อให้แล้ว พ่อรู้ว่าคุณรักเธอมาก พ่อขอคุณให้รัก ดูแลเธอ และให้ความสำคัญกับเธอในทุกเรื่องเสมอ พ่อขอให้อวยพรให้ทั้งคู่มีความสุข รักยืนยาวชั่วนิรันดร์

ถ้าวันหนึ่งเกิดเปลี่ยนใจ ไม่ได้รักลูกสาวของพ่อแล้ว ได้โปรดอย่าทำร้ายเธอเลย แค่พาเธอกลับมาหาพ่อและคืนเธอมาให้พ่อก็พอ”

หลังจากคุณพ่อพูดจบ เจ้าบ่าวก็ให้คำมั่นว่า สิ่งที่คุณพ่อกลัวจะไม่เกิดขึ้นแน่นอน จากนั้นคุณพ่อก็ส่งตัวลูกสาวไปให้เจ้าบ่าวและสวมกวดกับทั้งคู่

ต่อมา ไคลี่ ได้เปิดเผยว่า นี่เป็นครั้งแรกที่เธอเห็นพ่อร้องไห้ เธอไม่รู้มาก่อนว่าคุณพ่อจะเตรียมคำพูดมา และที่สำคัญเธอไม่เคยได้ยินคุณพ่อพูดคำกล่าวที่ยาวเช่นนี้มาก่อน

“สามีของฉันน้ำตาไหล เขาร้องไห้หนักมาก พวกเรายังคงน้ำตาไหลเมื่อดูวิดีโอซ้ำ ๆ และฉันคิดว่าเราก็ยังคงเสียน้ำตาในงานแต่งของคนอื่น เพราะมันทำให้เรานึกถึงช่วงเวลานี้”

‘รัฐบาลสิงคโปร์’ รับ!! ให้เงินหนุนจัดคอนเสิร์ต ‘เทย์เลอร์ สวิฟต์’ แต่ปัดบอกยอดเงิน-ข้อตกลงพิเศษ เหตุเป็นความลับทางธุรกิจ

(21 ก.พ. 67) รัฐบาลสิงคโปร์ออกมายอมรับว่า ได้ให้เงินสนับสนุนเพื่อให้ใช้สิงคโปร์เป็นสถานที่ในการจัดคอนเสิร์ต The Eras Tour ของเทย์เลอร์ สวิฟต์ ที่กลายเป็นเพียงประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่นักร้องชื่อดังเปิดแสดง ขณะกำลังเดินสายแสดงคอนเสิร์ตทั่วโลก

ซึ่งด้าน กระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวสิงคโปร์ออกแถลงการณ์ร่วม ระบุว่า ทางการได้ทำงานร่วมกับผู้จัดคอนเสิร์ตโดยตรง แต่ปฏิเสธที่จะเปิดเผยถึงยอดเงินสนับสนุน และไม่ได้บอกว่าได้บรรลุข้อตกลงพิเศษหรือไม่ โดยระบุว่าเป็นความลับทางธุรกิจ

โดยการแถลงร่วมดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่ก่อนหน้านี้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ออกมากล่าวเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า สิงคโปร์ได้ทำข้อตกลงมูลค่าสูงถึง 500 ล้านบาท ให้สวิฟต์แสดงคอนเสิร์ต The Eras Tour ที่สิงคโปร์เพียงประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อที่จะได้มีรายได้จากนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่จะหลั่งไหลเข้ามา

แถลงการณ์ดังกล่าวอ้างไม่ได้พูดถึงคำกล่าวของผู้นำไทยโดยตรง แต่ระบุว่า การเดินทางมาจัดคอนเสิร์ตของสวิฟต์มีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดผลประโยชน์อย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจสิงคโปร์

ผู้คร่ำหวอดในธุรกิจบันเทิงรายหนึ่งซึ่งไม่ต้องการเปิดเผยชื่อระบุว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีการร้องขอข้อตกลงพิเศษ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องปกติเช่นกันที่ศิลปินจะทำตามคำขอ พร้อมกับรับว่าผู้จัดรายใหญ่ย่อมมีอิทธิพลครอบงำค่อนข้างมาก นับตั้งแต่มีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 สิงคโปร์ดึงดูดศิลปินต่างชาติมากมายให้มาแสดงคอนเสิร์ตในประเทศ รวมถึง Blackpink, Harry Styles, Ed Sheeran และ Coldplay

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่าศิลปินทั้งหมดนี้ก็เดินทางมาเล่นคอนเสิร์ตในไทยด้วยเช่นกัน ยกเว้นเพียงสวิฟต์เท่านั้น

ขณะที่สวิฟต์จะเล่นคอนเสิร์ตที่สนามกีฬาแห่งชาติของสิงคโปร์ทั้งหมด 6 รอบในต้นเดือนมีนาคมนี้ ซึ่งบัตรขายเกลี้ยงทั้งหมดแล้ว คาดว่าจะมีแฟนเพลงมาร่วมชมคอนเสิร์ตดังกล่าวมากกว่า 300,000 คน

หลังจากสิงคโปร์ สวิฟต์มีกำหนดจะเดินทางไปทัวร์คอนเสิร์ตต่อในยุโรป ซึ่งคาดว่าเธอจะสามารถสร้างรายได้ประมาณ 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 72,000 ล้านบาท

‘พีระพันธุ์ FC’ ปล่อยคลิป ‘จุดไฟในพายุ เดอะซีรีส์’  เปิดปูมชีวิต - การต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ 

ช่องยูทูบ ‘พีระพันธุ์ FC’ ปล่อยคลิป ‘จุดไฟในพายุ เดอะ ซีรีส์’ ในวันเกิดครบรอบ 65 ปี ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ เปิดปูมชีวิต หลักการและเส้นทางการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม ย้ำชัด ไม่ต้องการเล่นการเมือง แต่อยากทำงานให้บ้านเมือง สมดั่งปณิธานที่ยึดมั่น ‘ยุติธรรมค้ำจุนชาติ’

ช่องยูทูบ ‘พีระพันธุ์ FC’ ได้เผยแพร่คลิปวีดีโอ ‘จุดไฟในพายุ เดอะ ซีรีส์’ บอกเล่าเรื่องราวชีวิตและการทำงานของ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ในโอกาสวันเกิดครบรอบ 65 ปี วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567

ทั้งนี้ ‘จุดไฟในพายุ เดอะ ซีรีส์’ มี 4 ตอน ประกอบด้วย ตอนที่ 1 รากเหง้า ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของตระกูล ‘สาลีรัฐวิภาค’

ตอนที่ 2 เบ้าหลอม บอกเล่าเรื่องราวชีวิตวัยเด็กที่ผ่านการหล่อหลอม จาก ‘พลโท ณรงค์ สาลีรัฐวิภาค’ คุณพ่อ ผู้เป็นต้นแบบความเห็นอกเห็นใจและการทำงานเพื่อส่วนรวม และ ‘โสภาพรรณ สาลีรัฐวิภาค’ ผู้ปลูกฝังเรื่องความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่ยึดมั่นจวบจนปัจจุบัน

ตอนที่ 3 ตัวตน ซึ่งบอกเล่าการดำเนินชีวิตโดยยึดหลักความถูกต้องชอบธรรมในฐานะนักกฎหมาย ที่ทำให้เห็นปัญหาด้านการทุจริตประพฤติมิชอบในวงราชการและต้องการแก้ไขให้ถูกต้อง 

และตอนที่ 4 หลักการ ซึ่งบอกเล่าถึงแนวคิดการทำงานที่ยึดแนวทางการสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้คนและสังคม ด้วยปณิธานที่ยึดมั่นมาตลอดชีวิต นั่นก็คือ ‘ยุติธรรมค้ำจุนชาติ’

ในซีรีส์ ชุดนี้ จะสะท้อนให้เห็นว่า ในอุปสรรคท้าทายยังมีความหวัง ในกระแสพายุแรงยังมีแสงแห่งดวงไฟ พร้อมบอกเล่าตัวตนและเส้นทางการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมของ ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ ที่เปรียบเสมือนการถือคบไฟนำทางท่ามกลางอุปสรรคท้าทาย โดยย้ำว่า การเข้ามาทำงานการเมืองนั้น ไม่ใช่เพื่อเล่นการเมือง แต่ของการทำงานเพื่อชาติบ้านเมืองและประชาชน 

>> ประวัติ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เกิดเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 ชื่อเล่น ตุ๋ย เป็นบุตรของ พลโท ณรงค์ สาลีรัฐวิภาค อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์และเจ้ากรมการพลังงานทหาร และโสภาพรรณ สาลีรัฐวิภาค (นามสกุลเดิม: สุมาวงศ์) อดีตดาวจุฬาฯ คนแรก ส่วนชีวิตครอบครัว สมรสกับ สุนงค์ สาลีรัฐวิภาค (นามสกุลเดิม: โทณวณิก) มีบุตรธิดารวมกันทั้งหมด 4 คน 

นายพีระพันธุ์ เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล จากนั้น เรียนต่อปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จบเนติบัณฑิตไทย ที่สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา จบปริญญาโท กฎหมายอเมริกันทั่วไป (LLM) และเรียนปริญญาโทอีกใบ ด้านกฎหมายเปรียบเทียบ (MCL) ที่มหาวิทยาลัยทูเลน สหรัฐอเมริกา

โดย นายพีระพันธุ์ มีประสบการณ์ทำงานเป็นผู้พิพากษาและข้าราชการตุลาการมาก่อนเข้าสู่สนามการเมืองในนามพรรคประชาธิปัตย์ ร่วมทีมกับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ เคยได้รับการเลือกตั้งเป็น สส.เขต 3 กรุงเทพมหานคร เมื่อพรรคประชาธิปัตย์มาเป็นฝ่ายค้าน ในปี 2550 นายพีระพันธุ์ ถูกรับเลือกให้ทำหน้าที่เป็น รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมเงา และได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม จริง ๆ ในรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ในปี 2551

ขณะที่ผลงานอันโดดเด่น คือ การสอบสวนการทุจริต ‘ค่าโง่ทางด่วน 6,200 ล้านบาท’ ซึ่งถูกนำไปใช้ในการต่อสู้คดีในชั้นศาลและประสบชัยชนะ ทำให้คนไทยไม่ต้องจ่ายค่าโง่พร้อมดอกเบี้ยนับหมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีผลงานชิ้นสำคัญที่ช่วยปกป้องเงินภาษีของประชาชนหลายหมื่นล้านบาท โดยนายพีระพันธุ์ ได้นำทีมต่อสู้คดี ‘ค่าโง่’ โฮปเวลล์ หรือ โครงการระบบการขนส่งทางรถไฟและถนนยกระดับในเขตกรุงเทพมหานคร ที่เริ่มต้นโครงการตั้งแต่ปี 2533 แต่มีปัญหาสร้างไม่เสร็จ และถูกเอกชนฟ้องร้องเรียกเสียหายจำนวนมหาศาลจากการยกเลิกสัมปทาน แถมรัฐบาลยังแพ้คดีทั้งในชั้นอนุญาโตตุลาการเมื่อปี 2551 และในชั้นศาลปกครองสูงสุดเมื่อปี 2562  ซึ่งทำให้รัฐบาลมีภาระที่จะต้องนำเงินภาษีไปจ่ายให้กับบริษัทโฮปเวลล์รวม 2.4 หมื่นล้านบาท และเป็นตำนาน ‘ค่าโง่’ ที่อาจทำให้คนไทยต้องเสียเงินค่าภาษีหลายหมื่นล้านบาทกับโครงการที่ไม่เกิดประโยชน์

นายพีระพันธุ์ ได้ติดตามศึกษาคดีมหากาพย์โฮปเวลล์อย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2562 หลังจากที่ได้อ่านคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดที่ตัดสินว่าคดีนี้ไม่ขาดอายุความ แต่ก่อนหน้านั้น ศาลปกครองกลางที่เป็นศาลชั้นต้นของศาลปกครองเคยมีคำตัดสินคดีเดียวกันนี้ว่า คดีโฮปเวลล์ขาดอายุความ

ท้ายที่สุด ศาลปกครองกลาง มีคำตัดสินเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2566 เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่ให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย ชดใช้ค่าเสียหายแก่ บริษัทโฮปเวลล์ฯ เนื่องจากการใช้สิทธิเรียกร้องของบริษัทดังกล่าวขาดอายุความตามกฎหมาย ทำให้รัฐบาลไม่ต้องนำเงินภาษีของประชาชนไปจ่ายค่าโง่หลายหมื่นล้านบาท แน่นอนว่า สิ่งที่เกิดขึ้นล้วนมาจากการทำงานอย่างมุ่งมั่นของ นายพีระพันธุ์ และทีมงานนั่นเอง 

สำหรับ ‘พีระพันธุ์ FC’ เป็นกลุ่มผู้สนับสนุนนายพีระพันธุ์ คอยติดตามรายงานกิจกรรมของนายพีระพันธุ์ มาตลอด โดยซีรีส์ชุดนี้ ทางแฟนคลับกลุ่มดังกล่าว ได้ถ่ายทำไว้นานแล้ว แต่เพิ่งเผยแพร่ออกมาในวันเกิดนายพีระพันธุ์ในปีนี้

ที่มา : ในอุปสรรคท้าทายยังมีความหวัง ในกระแสพายุแรงยังมีแสงแห่งดวงไฟ ติดตามเรื่องราวและแรงบันดาลใจใน ‘จุดไฟในพายุ เดอะ ซีรีส์’ เปิดปูมชีวิต ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ ตอนที่ 1 - รากเหง้า  
(https://youtu.be/YGGM_7YwiaI) ตอนที่ 2 - เบ้าหลอม (https://youtu.be/NK6a0gE2DD0) ตอนที่ 3 - ตัวตน (https://youtu.be/jxv3JjqGtQk) ตอนที่ 4 - หลักการ (https://youtu.be/vJcQaYxQm3A)
 

ผบ.ศูนย์สงครามพิเศษ ประดับปีกร่ม ให้กับนักศึกษา มส.16 เข้าเป็นครอบครัวพลร่มป่าหวาย 

วันที่ 21 กุมภาพันธ์ ที่ศูนย์สงครามพิเศษ จ.ลพบุรี พล.อ.จรัล กุลละวณิชย์ ประธานมูลนิธิการจัดการเพื่อความมั่นคง และประธานหลักสูตรการบริหารจัดการด้านความมั่นคงขั้นสูง (มส.) พร้อมด้วยพล.อ.ดร.มารุต ปัชโชตะสิงห์ ผู้อำนวยการหลักสูตรการบริหารจัดการด้านความมั่นคง
ขั้นสูง (มส.) ผศ.พล.อ.ต.หญิง ดร.พัชรี พิพิธสุขสันต์ รองผู้อำนวยการฯ ดร.วรวุฒิ ไชยศร ผู้ช่วยผู้อำนวยการฯ พร้อมอาจารย์ประจำหลักสูตร นำนักศึกษาหลักสูตรการบริหารจัดการด้านความมั่นคงขั้นสูง (มส.) รุ่น 16 ศึกษาดูงานและเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ทหารรบพิเศษ โดยมี พล.ต.เดชา ศรีมงคล  (ผบ.ศสพ. )ผบ.ศูนย์สงครามพิเศษ ให้การต้อนรับ และบรรยายสรุปถึงความเป็นมาของหน่วย 

พร้อมกันนี้ พล.ต.เดชา ศรีมงคล เป็นประธานในพิธีประดับเครื่องหมายร่มสัมพันธ์ ให้นักศึกษาหลักสูตร มส.รุ่น 16 เข้าเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ 

จากนั้น คณะนักศึกษาร่วมฟังการบรรยายพิเศษจาก คุณสมนึก เต็งชาตะพันธุ์ ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สุรินทร์ ออมย่า เคมิคอล (ประเทศไทย) จำกัด ฐานะรองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ก่อนจะเดินทางกลับ 

สำหรับหลักสูตรการบริหารจัดการด้านความมั่นคงขั้นสูง ( มส) จัดโดย มูลนิธิการจัดการเพื่อความมั่นคง ภายใต้วิสัยทัศน์ 4 สร้างคือ สร้างความมั่นคงแห่งชาติ สร้างความมั่นคงของมนุษย์ สร้างความรับผิดชอบต่อสังคม สร้างคุณธรรมจริยธรรม 

เป็นหลักสูตรเดียวที่นำผู้เข้ารับการอบรมศึกษาดูงานด้านความมั่นคงครบทั้ง 4 เหล่าทัพ คือ กองทัพอากาศ  กองทัพบก กองทัพเรือ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 

ทั้งนี้เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมได้เรียนรู้ เข้าใจ เข้าถึงบทบาทหน้าที่ภารกิจของกองทัพแต่ละกองทัพ แลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อร่วมกันพัฒนาสังคม ประเทศชาติให้เกิดความมั่นคงในทุกมิติ ตามวิสัยทัศน์ 4 สร้างของหลักสูตร มส.


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top