Wednesday, 9 July 2025
Hard News Team

'สุกี้ตี๋น้อย' แจกโบนัสพนักงาน 2.5 เดือน ขวัญถุงอีกคนละ 5,000 บาท หลังปี 66 โกย 5 พันล้าน อานิสงส์ 'ขยายสาขา-ข้าวแกง-Express' ช่วยโต

(21 ก.พ. 67) บริษัท บี เอ็น เอ็น เรสเตอรองท์ กรุ๊ป จำกัด (BNN) ได้ประกาศรายได้ปี 2566 ว่า มีรายได้เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 5.244 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น +31.9% จากปี 2565 และกำไรปี 2566 อยู่ที่ 913 ล้านบาท เพิ่มขึ้น +54.5% จากปี 2565 ซึ่งกำไรนี้ยังทำให้บริษัทใหญ่อย่าง Jay Mart ที่ถือหุ้น 30% ของสุกี้ตี๋น้อย ได้อานิสงค์ในกำไรไปถึง 247 ล้านบาท

สำหรับ รายได้ กำไรของสุกี้ตี๋น้อยย้อนหลัง 5 ปี…

- ปี 2562 รายได้ 499 ล้านบาท กำไร 15 ล้านบาท
- ปี 2563 รายได้ 1.223 พันล้านบาท กำไร 140 ล้านบาท
- ปี 2564 รายได้ 1.572 พันล้านบาท กำไร 147 ล้านบาท
- ปี 2565 รายได้ 3.976 พันล้านบาท กำไร 591 ล้านบาท
- ปี 2566 รายได้ 5.244 พันล้านบาท กำไร 913 ล้านบาท

จากอานิสงค์ความปังดังกล่าว ได้ส่งต่อไปยังพนักงานสุกี้ตี๋น้อยทุกคน ด้วยการประกาศทุ่มเงินจำนวน 110 ล้านบาท เพื่อใช้ในการแจกเงินโบนัสให้กับพนักงานทุกคนจำนวน 2.5 เท่าของเงินเดือน และแจกเงินขวัญถุงไว้สำรองให้แก่พนักงานอีก 5,000 บาท ให้กับพนักงานมากกว่า 2,500 ชีวิต

คุณนัทธมน พิศาลกิจวนิช เจ้าของกิจการร้านสุกี้ตี๋น้อย เล็งเห็นว่า พนักงานมีส่วนสำคัญที่สุดในการเติบโตของบริษัท เพราะถ้าไม่มีพวกเขา เราก็อยู่ไม่ได้เช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมา สุกี้ตี๋น้อยได้เพิ่มสาขามากขึ้นในต่างจังหวัดถึง +12 สาขา อีกทั้งยังมีการเพิ่มพอร์ตธุรกิจด้วยการแตกไลน์ไปที่ ข้าวแกงตี๋น้อยปันสุข และธุรกิจตี๋น้อย Express ซึ่งเป็นการชิงตลาดของผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางมากขึ้น

อีกทั้งยังตั้งเป้าจะสาขาไปที่ภาคเหนือและอีสานโดยเน้นหัวเมืองใหญ่อย่าง เชียงใหม่, ขอนแก่น และอุดรธานี ปัจจุบัน สุกี้ตี๋น้อยมีสาขาทั้งหมด 57 สาขา

‘เจ้าชายวิลเลียม’ วอน!! ‘หยุดยิง’ ในกาซา ชี้!! สงครามทำผู้คนล้มตายมากเกินไปแล้ว

เจ้าชายวิลเลียมแห่งอังกฤษทรงเรียกร้องให้มีการหยุดยิงในฉนวนกาซา และตรัสว่า “ความทุกข์ทรมานแสนสาหัส” จากสงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส ซึ่งทำให้ “มีผู้เสียชีวิตไปแล้วมากมาย” ทำให้การฟื้นฟูสันติภาพคือสิ่งจำเป็น

(21 ก.พ.67) รอยเตอร์ รายงานว่า เจ้าชายวิลเลียม มกุฎราชกุมารแห่งอังกฤษ ทรงออกคำแถลงเมื่อวันอังคาร (20 ก.พ.) เน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการจัดส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้แก่พลเรือนในกาซา และทรงเรียกร้องให้กลุ่มฮามาสปลดปล่อยตัวประกันทั้งหมดด้วย

“ข้าพเจ้ายังคงกังวลอย่างมากเกี่ยวกับต้นทุนมนุษย์ (human cost) ที่สูญเสียไปจากความขัดแย้งในตะวันออกกลาง นับตั้งแต่ผู้ก่อการร้ายฮามาสโจมตีอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ต.ค. มีผู้คนถูกสังหารมากมายเกินไปแล้ว” เจ้าชายวิลเลียมตรัส

“บางครั้งก็ต้องให้เผชิญหน้ากับความทุกข์ทรมานครั้งใหญ่ของมนุษย์ เราจึงจะเห็นคุณค่าของสันติภาพที่ยั่งยืนถาวร”

ย้อนหลังไปเมื่อปี 2018 เจ้าชายวิลเลียมทรงเป็นเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงของอังกฤษพระองค์แรกที่เดินทางไปเยือนอิสราเอลและดินแดนปาเลสไตน์อย่างเป็นทางการ และได้ทรงติดตามสถานการณ์ในภูมิภาคอย่างใกล้ชิดตลอดมา

สำนักพระราชวังเคนซิงตันแถลงว่า กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษได้รับทราบเนื้อหาในพระดำรัสของเจ้าชายวิลเลียม ก่อนที่จะมีการเผยแพร่ออกมา 

เจ้าชายวิลเลียมวัย 41 พรรษาได้เสด็จไปยังสำนักงานใหญ่สภากาชาดอังกฤษในกรุงลอนดอนเมื่อวานนี้ (20) เพื่อทรงรับฟังแนวทางการปฏิบัติงานช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสงครามในตะวันออกกลาง

“ข้าพเจ้าก็เช่นเดียวกับอีกหลายๆ คนที่อยากเห็นสงครามครั้งนี้จบลงโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้... ชาวกาซาจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเพิ่มขึ้นโดยด่วน การส่งความช่วยเหลือเข้าไป และการปล่อยตัวประกัน คือสิ่งที่สำคัญยิ่งยวด” เจ้าชายตรัส

อีลอน เลวี โฆษกรัฐบาลอิสราเอล ได้ออกมาแถลงตอบพระดำรัสของเจ้าชายแห่งเวลส์ โดยกล่าวว่า “ชาวอิสราเอลก็ปรารถนาที่จะเห็นการสู้รบยุติลงโดยเร็วที่สุดเช่นกัน และนั่นจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อตัวประกัน 134 คนได้รับการปลดปล่อย และหลังจากที่กองทัพผู้ก่อการร้ายฮามาสซึ่งข่มขู่ใช้ความรุนแรงเหมือนเมื่อวันที่ 7 ต.ค. ถูกทำลายหมดสิ้นไป”

เลวี กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า รัฐบาลอิสราเอล “รู้สึกซาบซึ้งที่เจ้าชายแห่งเวลส์ทรงเรียกร้องให้ฮามาสปลดปล่อยตัวประกัน และยังสำนึกในพระกรุณาฯ ที่ได้ทรงมีพระดำรัสเมื่อวันที่ 11 ต.ค. ประณามการก่อการร้ายโดยพวกฮามาส อีกทั้งทรงสนับสนุนสิทธิในการป้องกันตนเองของอิสราเอล”

สัปดาห์หน้าเจ้าชายวิลเลียมทรงมีกำหนดการเสด็จเยี่ยมโบสถ์ยิวแห่งหนึ่ง เพื่อทรงรับฟังมุมมองจากคนหนุ่มสาวเกี่ยวกับการรับมือกระแสเกลียดชังชาวเซมิติก (anti-Semitism) หลังจากปีที่แล้วเป็นปีที่กระแสต่อต้านชาวยิวในอังกฤษทวีความรุนแรงเป็นประวัติการณ์ 

‘กลุ่มเพื่อน’ แฉ!! พฤติกรรมสุดเหี้ยม ‘ทอย’ สามี ‘น้องนุ่น’ เคยกรีดหน้าตัวเองสมัยประถม - มีนิสัยโรคจิตตั้งแต่เรียน

(21 ก.พ.67) จากกรณีเหตุการณ์นายศิริชัย รักทอง อายุ 33 ปี สามีน้องนุ่น เข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวน สภ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ว่า น.ส.ชลลดา อายุ 27 ปี หรือน้องนุ่น ภรรยา หายตัวไปหลังมีปากเสียงทะเลาะกันในรถ แล้วภรรยาเปิดประตูลงรถไปเรียกแท็กซี่ ก่อนหายตัวไปและไม่สามารถติดต่อได้ เหตุเกิดเมื่อคืนวันที่ 18 ก.พ.ที่ผ่านมา และต่อมาชุดสืบสวน สภ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ได้คุมตัวนายศิริชัยจากบ้านพักมายัง สภ.ปากเกร็ด และเค้นสอบอย่างหนักจนปริปากยอมรับสารภาพเบื้องต้นว่า ได้พลั้งมือทำร้ายร่างกาย น.ส.ชลลดา จนเสียชีวิต ก่อนนำร่างไปเผาอำพรางคดีที่สวนยางพาราดังกล่าว แล้วกลับมาแจ้งความเพื่อกลบเกลื่อนความผิด

ล่าสุด ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในโซเชียลมีการเผยแพร่คอมเมนต์ข้อความกลุ่มเพื่อนของทอย ที่มาพูดถึงพฤติกรรมของผัวโหดรายนี้ หลังก่อเหตุฆ่าเผาน้องนุ่น ภรรยาตัวเอง

โดยเพื่อนคนหนึ่งได้ระบุถึงพฤติกรรมในอดีตที่ผ่านมาของทอย ผัวโหด ด้วยว่า “โรคจิต ตั้งแต่สมัยเรียนประถมตอนเรียนด้วยกัน ไม่คิดเลยว่าจะทำจริงตอนโต กรีดหน้าตัวเองตอนนั้น ยังติดตาอยู่เลย มีแต่เลือด”

โดยยังคอมเมนต์อีกว่า “โตมายังโรคจิตเหมือนเดิม ขอเชิญรับกรรม ศิริชัย เสียดายและเสียใจที่ร่วมชั้น ร่วมโรงเรียนกับคนอย่างxึง”

นอกจากนี้ยังมีเพื่อนอีกคนโพสต์ข้อความถึงพฤติกรรมทอยด้วยว่า “ตอนอยู่ด้วยกันเห็นพฤติกรรมหมด กล้าแต่กับเมีย ปกติจะเป็นคนห้ามตลอด บอกให้ไอ้นุ่นหนีไป แต่เหตุการณ์วันนี้สุดเกินและเกินคน ห้ามมาตั้งกี่ครั้ง เตือนตั้งกี่ครั้ง เป็นพ่อคนแล้ว”

‘รมช.กฤษฎา’ เตรียมนั่งหัวโต๊ะถกเร่งรัดเบิกจ่ายงบฯ แจงชัด!! ไม่ขอก้าวล่วง จี้ ‘กนง.’ ประชุมนัดพิเศษ

(21 ก.พ. 67) นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.การคลัง เปิดเผยว่า ในวันที่ 22 ก.พ. 2567 จะมีการประชุมคณะกรรมการเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินลงทุนของหน่วยงานราชการทุกกระทรวง และรัฐวิสาหกิจทุกแห่ง เพื่อวางแนวทางในการเร่งรัดการเบิกจ่ายและการลงทุนต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ในช่วงที่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณ 2567 ยังไม่มีผลบังคับใช้ โดยยืนยันว่า ขณะนี้ภาครัฐได้ใช้มาตรการการคลังในทุกด้าน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้เติบโตในระยะถัดไป ส่วนมาตรการด้านการเงิน ขอไม่ให้ความเห็นในเรื่องดังกล่าว

โดยที่ผ่านมาเชื่อว่า สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ได้มีการหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อยู่แล้ว ขณะที่การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีนัดพิเศษหรือไม่ ต้องขึ้นอยู่กับ กนง. จะเป็นผู้พิจารณา เพราะในวันนี้ข้อมูล และบริบททางเศรษฐกิจเปลี่ยนไปแล้ว

“เรื่องการประชุม กนง.นัดพิเศษ ผมคงไม่ก้าวล่วงว่าจะมีหรือไม่ ต้องขึ้นอยู่กับคณะกรรมการ กนง. จะไปพิจารณา โดยจากข้อมูลที่มันเปลี่ยนไป เขาจะต้องทำอะไรหรือไม่ ไม่ก้าวล่วงแน่นอน ส่วนมาตรการด้านการคลังทำไปค่อนข้างมากแล้ว ส่วนมาตรการ LTV ที่ผ่านมาได้ขอให้ ธปท. ทบทวนมาตรการดังกล่าว แต่ยังไร้การตอบรับในเรื่องนี้ ไม่รู้จะใจอ่อนเมื่อไหร่ ขณะที่ทางด้านกระทรวงการคลัง ที่ทำมาตลอดคือ มาตรการด้านภาษี การช่วยค่าธรรมเนียม การโอน การจดจำนอง จนถึงสิ้นปีนี้ ส่วนจะพิจารณาขยายต่อไปอีกได้หรือไม่ จะต้องมาพิจารณาอีกครั้งในช่วงสิ้นปี” นายกฤษฎา กล่าว

สำหรับข้อเสนอของคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ที่จะหารือกับกระทรวงการคลัง เพื่อขอทบทวนกรอบวงเงินกู้อีกครั้ง จากปี 2565-2566 ที่รัฐบาลเคยให้กรอบวงเงินกู้ได้ไม่เกิน 150,0000 ล้านบาท โดยทำเรื่องกู้รวมไปแล้ว 1.05 แสนล้านบาท โดยปัจจุบันกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ยังเหลือเงินกู้ที่สามารถเบิกจากสถาบันการเงินได้อีกประมาณ 30,000 กว่าล้านบาทนั้น หากใกล้ ๆ แล้วค่อยนำเรื่องนี้มาหารือกันอีกครั้ง

อย่างไรก็ดี ในส่วนของการจัดเก็บรายได้ปีงบประมาณ 2567 คาดว่าจะเป็นไปตามเป้าหมาย โดยยอมรับว่า การตั้งเป้าหมายเดิมสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ค่อนข้างมาก เนื่องจากในการตั้งเป้าหมายนั้น ตั้งบนสมมติฐานอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ที่คาดว่าปีนี้จะเติบโต 3.8-3.9% แต่ปัจจุบันกระทรวงการคลังได้ปรับลดประมาณการลงมา ดังนั้นจึงพยายามบริหารจัดการเพื่อให้การจัดเก็บรายได้เป็นไปตามเป้าหมาย

‘บอร์ดอีวี’ ไฟเขียว!! ซื้อ ‘รถบัส-รถบรรทุกไฟฟ้า’ ลดภาษีสูงสุด 2 เท่า ชี้!! มีผลบังคับใช้ถึงสิ้นปี 68 หวังลดการปล่อย ‘มลภาวะ’ ภาคขนส่ง

(21 ก.พ.67) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ หรือบอร์ดอีวี (EV) ครั้งแรกของปี 2567 โดยที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบมาตรการสำคัญเพื่อส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าให้ครบทั้งระบบ

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ ทั้งรถโดยสารไฟฟ้า (E-Bus) และรถบรรทุกไฟฟ้า (E-Truck) โดยอนุญาตให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สามารถนำค่าใช้จ่ายในการซื้อรถโดยสารไฟฟ้าและรถบรรทุกไฟฟ้ามาใช้งานมาหักค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลได้

โดยแยกเป็น กรณีซื้อรถที่ผลิตหรือประกอบในประเทศ สามารถนำมาหักค่าใช้จ่าย ได้ 2 เท่า ส่วนกรณีนำเข้ารถสำเร็จรูปจากต่างประเทศ สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 1.5 เท่า 

สำหรับมาตรการนี้จะมีผลใช้บังคับจนถึงสิ้นปี 2568 ซึ่งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ซื้อรถโดยสารไฟฟ้าและรถบรรทุกไฟฟ้ามาใช้งานสามารถซื้อได้ไม่จำกัดจำนวน และไม่กำหนดเพดานราคาขั้นสูง คาดว่ามาตรการนี้จะช่วยเร่งให้เกิดการปรับเปลี่ยนรถยนต์เชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้าได้ไม่ต่ำกว่า 10,000 คัน โดยขั้นตอนต่อจากนี้ ที่ประชุมได้มอบหมายให้กรมสรรพากร พิจารณากำหนดแนวทางปฏิบัติและดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

นายนฤตม์ กล่าวว่า การออกมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่นี้ จะช่วยสนับสนุนภาคธุรกิจในการลดการปล่อยคาร์บอน ช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน รวมถึงช่วยสร้างฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในประเทศ 

“การที่บอร์ดอีวีได้ออกมาตรการสนับสนุนการใช้รถโดยสารไฟฟ้าและรถบรรทุกไฟฟ้าในครั้งนี้ ถือเป็นการต่อยอดจากมาตรการ EV3 และ EV3.5 ที่เน้นกลุ่มรถยนต์นั่ง รถจักรยานยนต์ และรถกระบะเป็นหลัก คาดว่าจะมีการซื้อรถโดยสารไฟฟ้าประมาณ 6,000 คัน และรถบรรทุกไฟฟ้าอีก 4,000 คัน ช่วยลดการปล่อยมลภาวะในภาคการขนส่ง และผลักดันการเป็นศูนย์กลางอีวีของภูมิภาคในรถยนต์ทุกประเภท” นายนฤตม์ กล่าว

พร้อมกันนี้ที่ประชุมบอร์ดอีวี ยังได้เห็นชอบให้ปรับปรุงมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าระยะที่ 2 หรือ EV 3.5 เช่น ขยายขอบเขตของรถยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับสิทธิให้ครอบคลุมรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน และเพิ่มคุณสมบัติของรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า กรณีที่มีขนาดแบตเตอรี่ต่ำกว่า 3 kWh แต่มีระยะทางวิ่งมากกว่า 75 กิโลเมตรต่อรอบการชาร์จ รวมทั้งมีมาตรฐานความปลอดภัย สามารถเข้าร่วมมาตรการ EV3.5 ได้ เพื่อตอบโจทย์ผู้ประกอบการมากขึ้น

ทั้งนี้ ที่ผ่านมามาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของภาครัฐสามารถกระตุ้นตลาดอีวีในประเทศ ให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด เห็นได้จากยอดจดทะเบียนรถยนต์อีวีที่สูงถึงกว่า 76,000 คันในปี 2566 เพิ่มขึ้น 6.5 เท่าจากปีก่อน นำมาสู่การลงทุนในอุตสาหกรรมอีวีแบบครบวงจร

โดยข้อมูล ณ สิ้นปี 2566 บีโอไอ ได้ให้การส่งเสริมอุตสาหกรรมอีวี จำนวน 103 โครงการ เงินลงทุนรวม 77,192 ล้านบาท แบ่งเป็น

- รถยนต์อีวี 18 โครงการ 40,004 ล้านบาท
- รถจักรยานยนต์อีวี 9 โครงการ 848 ล้านบาท
- รถบัสอีวีและรถบรรทุกอีวี 3 โครงการ 2,200 ล้านบาท
- แบตเตอรี่สำหรับรถอีวีและ ESS 39 โครงการ 23,904 ล้านบาท
- ชิ้นส่วนสำคัญ 20 โครงการ 6,031 ล้านบาท
- สถานีอัดประจุไฟฟ้า 14 โครงการ 4,205 ล้านบาท

‘วราวุธ’ นั่งหัวโต๊ะ ถก ‘สวัสดิการ’ เพื่อประชาชน 4 ประเด็น จ่อชง ‘เบี้ยเด็กแรกเกิด-คนพิการ-ผู้สูงอายุ-ขยายรับเลี้ยงเด็ก’

(21 ก.พ.67) ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.พม. ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนสวัสดิการโดยรัฐ เปิดเผยภายหลังการประชุม ว่า ที่ประชุมเห็นชอบในวาระสำคัญ 4 ประเด็น ได้แก่

ประเด็นที่ 1 คือ เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดจนถึง 6 ปีที่อยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจน ซึ่งตอนแรกการให้เงินสนับสนุน 600 บาทต่อคนต่อเดือนนั้น จะเป็นไปตามเส้นความยากจน ซึ่งมีประมาณ 4 ล้านกว่าคน ในขณะนี้ได้รับเงินอุดหนุนอยู่ประมาณ 2 ล้านกว่าคน แต่จากการประชุมในวันนี้ได้เปลี่ยนวิธีการให้เงินสนับสนุนเป็นแบบถ้วนหน้า เพื่อที่ว่าเด็กแรกเกิดจนถึง 6 ปี ทุกคนในประเทศไทย จะได้รับเงินอุดหนุนจำนวนนี้

ประเด็นที่ 2 ได้มีการขอให้ปรับศูนย์เลี้ยงดูเด็กและส่งเสริมการพัฒนาเด็ก ให้มีการเลี้ยงดูซึ่งในตอนแรก เป็นเด็กตั้งแต่ 6 เดือน จนถึง 3 ปี ตนได้ขอให้ปรับเป็น 3 เดือน จนถึง 3 ปี เพราะจะได้สอดคล้องกับกฎหมายแรงงานที่อนุญาตให้ผู้เป็นแม่สามารถลาคลอดได้ 98 วัน หรือประมาณ 3 เดือนกว่าๆ โดยจะขอให้ศูนย์เลี้ยงดูเด็กได้ตั้งแต่ 3 เดือน จนถึง 3 ปี

ประเด็นที่ 3 เกี่ยวกับเรื่องเบี้ยผู้สูงอายุ จากที่ก่อนหน้านี้ มีการจ่ายแบบขั้นบันได คือ 600-700-800 และ 1,000 บาทต่อเดือน ซึ่งจะขอเป็นแบบถ้วนหน้า และจะปรับเป็น 1,000 บาททุกคน ดังนั้นพี่น้องผู้สูงอายุจากเดิมที่ได้แบบขั้นบันไดและไม่ถ้วนหน้า แต่จากนี้ไป จะได้เป็นเดือนละ 1,000 บาทแบบถ้วนหน้า ทั้งนี้ เป็นการเห็นชอบของคณะอนุกรรมการฯ ซึ่งจะต้องนำเสนอเข้าคณะกรรมการใหญ่อีกครั้งหนึ่ง

ประเด็นที่ 4 เกี่ยวกับเรื่องเบี้ยความพิการ จาก 800 บาทต่อคนต่อเดือน เราปรับเป็น 1,000 บาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ช่วยคนพิการ จากที่เมื่อก่อนได้รับค่าตอบแทนชั่วโมงละ 50 บาท ตอนแรกคณะทำงานเสนอปรับจาก 50 บาท เป็น 80 บาทต่อชั่วโมง ซึ่งทางตนและที่ประชุมมีความเห็นตรงกันว่าควรจะปรับขึ้นเป็น 100 บาทต่อชั่วโมง รวมถึงการจัดหาการบริการกายอุปกรณ์ให้กับคนพิการทุกๆคน

“4 ประเด็นนี้ เป็นข้อสรุปที่ทางคณะอนุกรรมการได้เห็นชอบเกี่ยวกับการดูแลพี่น้องประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเด็ก เยาวชน สตรี คนพิการ และผู้สูงอายุ แต่ขอย้ำว่าเป็นการเห็นชอบของคณะอนุกรรมการ ตามที่ทางคณะทำงานนำเสนอมาขั้นตอนต่อไปคณะอนุกรรมการจะต้องนำเสนอข้อเสนอทั้งหมดเข้าคณะกรรมการใหญ่เพื่อดำเนินการต่อไป” นายวราวุธ กล่าว

ถาม? เมื่อพรรคการเมืองพรรคหนึ่งมีพฤติกรรมล้มล้างสถาบันชัด ตอบ!! จะถามหาความรับผิดชอบจากคนที่เลือกเข้ามาได้ไหม?

คนไทยถ้าไม่แกล้งหูหนวกตาบอดกันจริง ๆ จะต้องทราบดีว่า สส. จำนวนไม่น้อยที่สังกัดพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง มีพฤติกรรมที่คิดล้มล้างสถาบันมานานหลายปี โดยใช้วิธีล้างสมองเด็ก ส่งเสริม ช่วยเหลือ สนับสนุนให้เด็กออกหน้าแสดงแทน เช่น เผารูป ขีดเขียนกำแพงวัดพระแก้ว กระทั่งการขับรถป่วนขบวนเสด็จฯ 

พรรคการเมืองที่ล้มสถาบันจะเข้ามาไม่ได้ ถ้าไม่มีคนจำนวนมาก 'กาเลือก' เข้ามา 

ช่างไม่แฟร์กับคนที่รักสถาบันเลย รู้ทั้งรู้แต่กลับต้องยอมให้กลุ่มคนที่เป็นอันตรายต่อสถาบัน มาสูบกินเงินเดือนจากภาษีอันเหนื่อยยากของประชาชน 

ว่าแต่คนที่เลือกพรรคที่มีพฤติกรรมล้มสถาบันเข้ามา ถึงวันนี้คุณคิดว่า 'ตน' เป็นคนที่เข้าข่ายสายพันธุ์ใดมากที่สุด? 

1. มีนิสัยย้อนแย้งเหมือนพรรคการเมืองที่เขาเลือก ที่มักจะพูดอย่างแต่ทำอีกอย่าง หาความชัดเจนในตัวตนไม่เจอ และไม่คิดจะไม่รับผิดชอบใด ๆ ในสิ่งที่ตนเองทำ สายลมแสงแดดไปวัน ๆ ไม่สนผิดชอบชั่วดี 

2. คิดน้อย ไม่คิดหน้า คิดหลัง ไม่ดูการกระทำของคนให้ลึกซึ้ง หลงเพียงรูปโฉม วาทกรรม เบื่อของเก่า เห่อของใหม่ เห็นคนส่วนใหญ่ทำอะไรก็ทำตามส่ง ๆ ไป ไม่ลงลึก ไม่มีแก่นสาร เป็นประเภทโลกสวยกลวง ๆ เป็นบุคลากรของสังคมที่ไร้คุณภาพ ถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ 'บ่อนทำลายสถาบัน' ก่อตัวขึ้นในสังคมไทย

3. หลงพลาดผิดไปแล้ว รู้สึกสำนึกว่าได้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำผิดกับแผ่นดินชาติ และสถาบันพระมหากษัตริย์ไป ตั้งใจกลับตัว ปรับความคิดใหม่ เดินหันหลังให้ 'พรรคล้มสถาบัน' อย่างถาวร

4. ตอแหล เห็นกระแสคนรักสถาบันก็รักบ้าง เพราะกลัวถูกสังคมตั้งคำถาม แต่ส่วนลึกก็ไม่ได้รักสถาบันจริง อาจจะเกลียดสถาบันด้วยซ้ำ คนจำพวกนี้อ่านง่าย เห็นอะไรที่เป็นกระแสก็จะกระโจนเข้าหาทางนั้น เป็นคนที่จะไม่มีทางจริงใจกับฝ่ายใด และจะไม่มีทางได้ใจใครกลับมาเช่นกัน

5. แฟนคลับที่เบาปัญญา ถึงวันนี้ยังมองไม่ออก และไม่เชื่อว่าว่าพรรคการเมืองนี้คิดล้มล้างทำลายสถาบัน พวก 'บ่อนทำลายสถาบัน' จะชอบคนกลุ่มนี้มากที่สุด เพราะไม่เท่าทัน

6. พวกที่เกลียดสถาบันเหมือนกัน มีทั้งเปิดหน้าแสดงออกตรง ๆ กับพวกที่หลบซ่อนสนับสนุนอยู่เงียบ ๆ ไม่เผยตัวตนชัดเจน ซึ่งในสังคมไทยจะมีคนอย่างหลังมากกว่า

แล้วคุณคิดว่าตัวเองเข้าข่ายคนแบบใดมากที่สุด?

5 ประเทศที่ ‘คนเวียดนาม’ ไปเรียนต่อมากที่สุด

จากข้อมูลของ องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ในปี 2021 เวียดนามเป็นประเทศอาเซียนที่มีประชากรออกไปเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาในต่างประเทศ จำนวนทั้งหมด 137,022 คน

โดยจุดหมายยอดฮิต 5 อันดับแรก คือ ญี่ปุ่น (44,128 คน) เกาหลีใต้ (24,928 คน) สหรัฐอเมริกา (23,155 คน) ออสเตรเลีย (14,111 คน) แคนาดา (8,943 คน) นอกจากนี้ ตัวเลขนักเรียนนอกของเวียดนามเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียนยังเรียกได้ว่านำแบบไม่เห็นฝุ่น เพราะอันดับ 2 อย่าง ‘อินโดนีเซีย’ นั้นมีจำนวนนักเรียนที่ไปเรียนต่างประเทศเพียง 59,224 คน อันดับ 3 อย่าง ‘มาเลเซีย’ มี 48,810 คน ขณะที่ ‘ไทย’ ที่มาเป็นอันดับที่ 4 มีทั้งหมด 28,609 คน

ปัจจัยที่ทำให้เวียดนามมีนักเรียนออกไปเรียนต่างประเทศได้มาก มีทั้ง ‘ค่านิยมในการออกไปเรียนต่างประเทศของชาวเวียดนาม’ เอง ในกรณีที่เป็นครอบครัวมีฐานะและมีกำลังส่งลูกหลานไปเรียน และ ‘ทุนการศึกษาจากต่างประเทศ’ 

โดยในหมู่ทุนการศึกษาทั้งหมด ทุนที่มีชื่อเสียงเป็นอันดับต้น ๆ คือ ทุนจากมูลนิธิ Vietnam Education Foundation (VEF) ที่ ‘สหรัฐอเมริกา’ ตั้งขึ้นในปี 2003 เพื่อให้ทุนการศึกษาเด็กเวียดนามไปศึกษาต่อในสหรัฐฯ โดยใช้เงินจำนวน 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่เวียดนามส่งเป็นเงินใช้หนี้สงครามให้สหรัฐฯ ทุกปี โดยส่วนมากจะได้เข้าศึกษาในคณะและสาขาที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีในมหาวิทยาลัยดังระดับโลกต่าง ๆ ทั้ง Harvard และ Stanford

ความสำคัญของทุนนี้เห็นได้ชัดจากผลงานของผู้ได้รับทุนเก่าที่ส่วนมากกลับมาทำงาน และประสบความสำเร็จในการสร้างธุรกิจใหม่ ๆ ในประเทศ โดยเฉพาะสตาร์ตอัปด้านเทคโนโลยี โดยผลงานที่โดดเด่นของผู้ได้รับทุน VEF ก็อย่างเช่น Palexy บริษัทสตาร์ตอัปด้านแมชชีนเลิร์นนิ่ง และ VNG บริษัทยูนิคอร์นเจ้าของแอปแชท Zalo ที่ในปัจจุบันเป็นที่นิยมในเวียดนามมากกว่า Facebook

นี่ทำให้นอกจากเวียดนามจะมีเด็กไปเรียนต่างประเทศเป็นจำนวนมากแล้ว จำนวนหนึ่งยังเป็นผู้ที่กำลังศึกษาด้านเทคโนโลยี ซึ่งเป็นแรงงานที่เป็นที่ต้องการมากในหลาย ๆ ประเทศที่กำลังแข่งขันกันสร้างเศรษฐกิจดิจิทัล รวมทั้ง เวียดนามที่มีการเติบโตรวดเร็วขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้มีศักยภาพในการดึงแรงงานกลับประเทศ ไม่เกิดปรากฏการณ์ ‘สมองไหล’ อย่างที่ผ่านมา

ปัจจุบัน เวียดนามมีตลาดงานที่พร้อมรองรับบัณฑิตศักยภาพสูงจากต่างประเทศ เพราะเป็นประเทศที่มีบริษัทเทคโนโลยีใหญ่ ๆ สนใจเข้าไปลงทุนจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น LG และ Alibaba และมีศักยภาพในการผลิตสินค้าเทคโนโลยีระดับสูงต่าง ๆ โดยในปี 2020 มีการส่งออกสินค้าในประเภทนี้คิดเป็นสัดส่วนถึง 42% เพิ่มจากเพียง 13% ในปี 2010

จากการศึกษาของ Google, Temasek, และ Bain เวียดนามจะเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจดิจิทัลเติบโตมากที่สุดในภูมิภาคภายอาเซียนภายในปี 2025 และดึงดูดเงินลงทุนได้มากที่สุดในระหว่างปี 2025-2030

ตำรวจท่องเที่ยวระดมกำลังร่วมบูรณาการหน่วยที่เกี่ยวข้อง ปราบปรามรถรับจ้างผิดกฎหมาย

วันนี้ (21 ก.พ. 67) เวลา 16.00 น. กก.2 บก.ทท.3 นำโดย พ.ต.อ.พิสิษฐ์ สวัสดิ์ถาวร ผกก.2 บก.ทท.3 , พ.ต.ท.บรรณพงศ์ เก่งเรียน รอง ผกก.2 บก.ทท.3 , พ.ต.ท.เอกชัย ศิริ สวญ.ส.ทท.1 กก.2 บก.ทท.3 บูรณาการกำลังกับ ภ.จว.ภูเก็ต,ตม.จว.ภูเก็ต, ขนส่งจังหวัดภูเก็ต, การท่าอากาศยานภูเก็ต และฝ่ายปกครองจังหวัดภูเก็ต โดยมี นายกองเอก อดุลย์ ชูทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วย พล.ต.ต.สินเลิศ สุขุม ผบก.ภ.จว.ภูเก็ต , นายอัดชา บัวจันทร์ ขนส่งจังหวัดภูเก็ต ร่วมมอบนโยบายและปล่อยแถวออก ณ ท่าอากาศยานภูเก็ต 

หลังจากนั้นได้มีการร่วมกันตั้งจุดตรวจบริเวณขาออกอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ สนามบินนานาชาติภูเก็ต ซึ่งเป็นด่านแรกที่นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในจังหวัดภูเก็ต เพื่อตรวจสอบจับกุมรถรับจ้างสาธารณะที่กระทำความผิดกฏหมาย 

พ.ต.อ.พิสิษฐ์ สวัสดิ์ถาวร ผกก.2 บก.ทท. กล่าวว่า การปฏิบัติการดังกล่าวเป็นไปตามนโยบาย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจ เน้นการจัดระเบียบช่วงไฮซีซัน ที่มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติจำนวนมาก ให้ดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยวในทุกมิติ และข้อสั่งการของ พล.ต.ท.ศักย์ศิรา เผือกอ่ำ ผบช.ทท.ได้สั่งการให้สถานีตำรวจท่องเที่ยวทุกแห่ง ดำเนินการบูรณาการกำลังกับหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อร่วมกันปราบปรามรถรับจ้างผิดกฎหมายโดยเฉพาะในเมืองท่องเที่ยวหลัก ซึ่งจังหวัดภูเก็ตเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวหลักที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ประมาณ 50,000 คนต่อวัน และยังพบมีปัญหารถรับจ้างสาธารณะผิดกฎหมาย  ทำให้เกิดปัญหาและความเสียหายต่อนักท่องเที่ยงจำนวนมาก

เปิดอาคารรัฐสภาไทย ถกปัญหาความมั่นคง ‘เมียนมา’  น่ากังวลใจไหม? หากพลาดสะเทือนความสัมพันธ์ 2 ชาติ

ช่วงนี้ประเด็นข่าววัยหนุ่มสาวจากเมียนมาทยอยเดินทางออกนอกประเทศ โดยมีประเทศไทยเป็นเป้าหมายใหญ่ของการอพยพ สะพัดหนัก ภายหลังจากที่รัฐบาลทหารเมียนมา ประกาศบังคับใช้กฎหมายการเกณฑ์ทหาร โดยชาวเมียนมาทั้งหญิงชายอายุระหว่าง 18-27 ปีต้องถูกเรียกเข้ารับราชการทหารอย่างน้อย 2 ปี ซึ่งหลังสงกรานต์จะเริ่มขั้นตอนการเกณฑ์ทหารโดยตั้งเป้าไว้ปีละ 5 หมื่นคนหรือเฉลี่ยเดือนละไม่ต่ำกว่า 5 พันคน 

แน่นอนว่า พลันที่มีข่าวนี้ออกมา ก็เริ่มมีแรงขานรับจากบรรดา NGO, นักวิชาการฝ่ายซ้าย และ สส.สายส้มในไทย ออกมาแสดงท่าทีที่ไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะกับการต้องบังคับสตรีมาเกณฑ์ทหารด้วย แม้ล่าสุดทาง โฆษกสภาบริหารแห่งรัฐเมียนมา หรือ SAC จะแถลงว่า แม้กฎหมายเกณฑ์ทหารมีผลใช้บังคับแล้ว แต่ปัจจุบัน SAC ยังไม่มีแผนที่จะเกณฑ์ผู้หญิงเป็นทหาร ก็ไม่ค่อยจะฟังกันเท่าไร

แต่ก็นั่นแหละ!! ข่าวสารที่ถูกตีฟองให้ก้องทั่ว และมีขั้วตรงข้างในประเทศต่าง ๆ รับลูกต่อเพื่อไปไล่บดขยี้ภาพลักษณ์รัฐบาลทหารเมียนมาให้ล่ม มักไม่น่าสนใจเท่าทหารเมียนมาออกจากจ่ายอาหารให้แก่ประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ และรวมถึงมีการลงพื้นที่บอกกล่าวความจริงกับแนวทางของรัฐบาลทหารในหลายเรื่อง แต่อย่างใด

จริง ๆ เรื่องราวตลอด 3 ปีของเมียนมา ถูกเขย่าให้เห็นภาพของความรุนแรง เผด็จการ กดขี่ จากสื่อฝั่งตะวันตกเสมอมา ไม่ต่างกันกับประเทศไทย เพียงแต่ไทยได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ‘อำนาจ’ ที่อยู่ในมือคนดี ไม่ได้ทำให้ประเทศชาติพังพินาศแต่อย่างใด แต่กลับมีความเจริญรุดหน้ามากกว่าใครได้อย่างประจักษ์ 

อย่างไรก็ตาม เราก็ไม่ใช่คนในเมียนมาโดยตรง จะไปชี้วัดว่าอะไรดี หรือไม่ดี ก็ไม่ใช่สิทธิที่ควรไปตัดสิน และไม่ควรไปยุ่มย่ามด้วย ไม่ว่าจะผ่านวิธีการไหน!! หรือ หาวิธีการมาวิจารณ์บนเวทีสัมมนา-เสวนา ไม่ว่าจะวงย่อยหรือวงใหญ่ใด เราต้องไม่พยายามดัดจริตอยากเห็น ‘ประชาธิปไตย’ ในประเทศเพื่อนบ้านว่าควรไปในทิศทางนั้นหรือทิศทางนี้ 

เพราะทุก ๆ การถกเถียงเชิงวิจารณ์แบบสนุกปาก ทั้ง ๆ ที่ไม่รู้ว่า ‘เนื้อใน’ ของประเทศนั้น ๆ เป็นอย่างไร มันอาจไปสะเทือนความรู้สึกของผู้หลักผู้ใหญ่ในประเทศเพื่อนบ้านเอาได้ง่าย ๆ

ล่าสุด ได้ไปเจอโปรโมตประชาสัมพันธ์งานสัมมนางานหนึ่งที่ใช้ชื่อว่า ‘3 Years After the Coup : Towards a Democratic Myanmar and Its Impact on Security Along the Thai Border’ หรือถ้าจะแปลกันคร่าว ๆ ก็ 3 ปีหลังรัฐประหาร : สู่ประชาธิปไตยเมียนมาและผลกระทบ ว่าด้วยความมั่นคงตามแนวชายแดนไทย นั่นแล!!

ทว่า แว่บแรก!! ที่ได้เห็นหัวข้อและวิทยากรในงาน ก็พอเดาได้ว่า นี่มันเวทีแซะเพื่อนบ้านตามสไตล์อีเวนต์ที่อ้างอิงถึงการถกเถียงอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งจะจัดกันในวันที่ 2-3 มีนาคม 2567 … แต่ๆๆ มาสะดุดเล็ก ๆ ตรงงานนี้ จัดขึ้นที่อาคารรัฐสภาไทย (สัปปายะสภาสถาน) ซึ่งเหมือนกับเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นทางการไทยด้วยนี่สิ!!

ทันทีที่งานนี้มีการแพร่กระจาย ก็พลันทำให้ผู้ใหญ่ในเมียนมาที่ได้เห็นหัวข้อและวิทยากร ก็เกิดความรู้สึกกังวลใจในระดับที่มีการส่งข้อความมาหาผู้ใหญ่ในเมืองไทยว่า “I worry will potentially hurt Thai / Myanmar relations.”

อะไรกัน!! กะอีแค่การระดมความคิดผู้คนเพื่อพูดคุยถึงมิติประชาธิปไตยและผลกระทบชายแดนในเมียนมาในเชิงสร้างสรรค์ มันจะไปสะเทือนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอะไรขนาดนั้น!!

อยากให้ลองนึกภาพตาม!! งานที่จัดขึ้นที่รัฐสภา หรือสถานที่สำคัญของประเทศ หากเป็นการพูดคุยกันระหว่างคนของ ประเทศ กับ ประเทศ หรือ รัฐบาล กับ รัฐบาล หรือ รัฐมนตรี กับ รัฐมนตรี ก็พอจะเข้าใจได้ว่าเป็นการเจรจาพูดคุยและหารือกันในเชิงความร่วมมือได้อย่างแท้จริง

แต่หากสถานที่ที่เป็นสัญลักษณ์ของประเทศ มีการดึงเอาทั้งนักวิชาการอิสระทั้งนอกและในประเทศ รวมไปถึงนักการเมืองที่เรียกว่ามีชื่อชั้นต่อต้านเรื่องของเผด็จการนิยม ไม่ว่าจะเป็น สส.ของพรรคก้าวไกล อย่าง รังสิมันต์ โรม / กัณวีร์ สืบแสง สส.จากพรรคเป็นธรรม อีกทั้งยังมีสำนักข่าวอย่าง มิซซิมา (Mizzima) ซึ่งเป็นสำนักข่าวเสียงประชาธิปไตยเพื่อพม่า และสำนักข่าว The Irrawaddy ซึ่งเป็นสื่อที่มีการต่อต้านรัฐบาลเมียนมา มาอย่างต่อเนื่อง แถมพ่วงด้วยสื่อไทยอย่าง The Reporters อีกหัว มาร่วมเสวนาในหัวข้อในงานนี้ด้วยนั้น…

คงไม่น่าจะต้องตีความอะไรให้ลึกซึ้ง ก็คงเดาออกได้ถึงบทสนทนาและเนื้อความที่จะหลุดรอดออกมาได้ไม่ยาก

- ประชาธิปไตย จะเบ่งบานได้อย่างไรภายใต้รัฐบาลทหาร?
- การยึดอำนาจ ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้เมียนมาถูกประชาคมโลกมองแบบไหน?
- ปัญหาชนกลุ่มน้อย (เชิงตื้นเขิน) ที่ทำให้เกิดการเรียกร้องความเท่าเทียม?
- และที่สำคัญ กับ การวิพากษ์วิจารณ์ ‘นายพล มิน อ่อง หล่าย’ ผู้นำในทางพฤตินัยของประเทศคนปัจจุบัน และยังเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพเมียนมา ที่เข้ายึดอำนาจในฐานะผู้นำรัฐในการรัฐประหารเมียนมาครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 
- ฯลฯ

ประเทศไทยตั้งแต่ยุครัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีความชัดเจนในเรื่องของการไปก้าวก่ายกิจการภายในประเทศต่าง โดยไทยมักจะวางตัวเป็นกลาง ไม่ไปยุ่มย่ามกับการบริหารจัดการของประเทศใด ๆ ซึ่งหมายรวมถึงแม้แต่การวิพากษ์วิจารณ์ และนั่นก็ทำให้ไทยอยู่ในตำแหน่งที่ดีทางภูมิรัฐศาสตร์อาเซียนและระดับโลก

แต่หากใครที่ไม่ได้มีบทบาทต่อการรับผิดชอบผลดีผลเสียของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ได้วิพากษ์วิจารณ์และสร้างความสะเทือนในสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แล้วพอพูดจบก็สะบัดก้นหนี โยนขี้ให้ภาครัฐ และหน่วยความมั่นคงไปรับหน้าต่อ คงมิใช่เรื่องดีเป็นแน่ โดยเฉพาะเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ดูอย่างเมื่อวันที่ 18 ก.พ.67 ที่ผ่านมา ก็น่าจะรู้แล้วว่า สิ่งที่เกิดขึ้น สะท้อนสัญญาณจากรัฐบาลทหารพม่าอย่างไรกับไทย เมื่ออยู่ ๆ ก็มีภาพการจัด ‘คอนเสิร์ตต้าน มิน อ่อง หล่าย’ ที่สมุทรปราการ เพื่อระดมทุนกลับเมียนมา จากกลุ่มที่ชื่อว่า GenerationZ ที่มีผู้ติดตามทางเพจกว่าครึ่งแสน คาดว่าเป็นชุมชนของชนกลุ่มน้อยในเมียนมา ซึ่งในเพจนี้มีเนื้อหาระดมกำลัง มีอาวุธสงคราม และเป็นกองกำลังต่อต้าน พลเอก มิน อ่อง หล่าย ด้วย โดยในบริเวณจัดงาน มีการเก็บค่าผ่านประตู คนละ 299 บาท และมีการตะโกนชื่อ มิน อ่อง หล่าย เสียงดังกึกก้อง แต่ยังดีที่เรื่องนี้ ตำรวจ สภ.บางเสาธง ได้เข้าระงับเหตุทันก่อนคอนเสิร์ตจะเล่น ทำให้ไม่เกิดความวุ่นวายขึ้น ก็ต้องปรบมือให้

ดังนั้นในวันที่ 2-3 มีนาคม 2567 ที่ อาคารรัฐสภา กับงาน ‘3 Years After the Coup : Towards a Democratic Myanmar and Its Impact on Security Along the Thai Border’ ซึ่งเท่าที่ทราบ ก็มีวิทยากรที่มาจากคนในรัฐบาลนี้ และรัฐบาลก่อนรวมอยู่ด้วยนั้น คงรู้ตัวดีว่างานนี้จะให้อะไรกับประเทศไทยและเมียนมา

จะสร้างประโยชน์ให้กับเพื่อนบ้านจริงตามที่กล่าวอ้างว่ามาร่วมกันหาทางออก หรือ ‘ชักศึกเข้าบ้าน’ เพื่อให้เกิดแรงสั่นสะเทือนในความสัมพันธ์ระหว่าง ‘ไทย-เมียนมา’ 

เตือนไว้ ไม่ได้ขัดขวาง!! แต่อยากมีปัญหากับเพื่อนบ้านเพิ่ม พร้อม ๆ ไปกับศึกในประเทศ จากผู้หมายมั่นที่จะทำให้ประเทศไทย ลุกเป็นไฟ? ก็เชิญ!!


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top