Saturday, 5 April 2025
ดร.ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล

‘สตรี’ กับบทบาท!! ‘สร้างสันติภาพ’ และ ‘ความมั่นคง’

"สตรีเป็นผู้แบกฟ้าอยู่ครึ่งหนึ่ง" ประธานเหมา เจ๋อ ตุง ผู้ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้กล่าวไว้


ภารกิจการรักษาสันติภาพ ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อสะท้อนถึงจำนวนประชากรที่กองกำลังรักษาสันติภาพแห่งสหประชาชาติต้อง ควบคุม ดูแล และบุคลากรสตรีกลายเป็นสมาชิกส่วนหนึ่งในครอบครัวของกองกำลังรักษาสันติภาพฯ มากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งทำให้การปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นด้วย บุคลากรสตรีถูกนำไปปฏิบัติงานในทุกพื้นที่ ทั้งที่เป็น ตำรวจ ทหาร และพลเรือน และได้สร้างผลงานเชิงบวกต่อสภาพแวดล้อมในการรักษาสันติภาพ ตลอดจนการสนับสนุนบทบาทของสตรีในการสร้างสันติภาพและปกป้องสิทธิสตรี ภารกิจการรักษาสันติภาพในทุก ๆ ด้าน เจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพสตรีได้พิสูจน์แล้วว่า พวกเธอสามารถทำหน้าที่เดียวกัน ได้มาตรฐานเดียวกัน และอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ยากลำบากเช่นเดียวกับบุรุษ ทั้งมีความจำเป็นมากมายในการปฏิบัติงานที่ต้องสรรหาเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพสตรีเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

ในปี พ.ศ. 2536 จำนวนสตรีคิดเป็นเพียง 1% ของบุคลากรในภารกิจการรักษาสันติภาพ ในปี พ.ศ. 2563 จากเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพประมาณ 95,000 นาย มีสตรีคิดเป็น 4.8% ของกองกำลังทหารรักษาสันติภาพฯ และ 10.9% ของหน่วยตำรวจรักษาสันติภาพฯ ที่จัดตั้งขึ้น และ 34% ของเจ้าหน้าที่อำนวยความยุติธรรม และงานรัฐทัณฑ์ที่รัฐบาลนานาชาติจัดหามาปฏิบัติหน้าที่ในภารกิจรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ แม้ว่าสหประชาชาติจะสนับสนุนและสนับสนุนการนำสตรีเข้าปฏิบัติงานในภารกิจการรักษาสันติภาพ แต่ความรับผิดชอบในการส่งสตรีเข้าเป็นตำรวจและทหารนั้นเป็นของรัฐสมาชิก กองตำรวจแห่งสหประชาชาติเปิดตัว 'ความพยายามระดับโลก' เพื่อรับสมัครเจ้าหน้าที่ตำรวจสตรีเข้าเป็นตำรวจแห่งสหประชาชาติชาติ และปฏิบัติหน้าที่ตำรวจของสหประชาชาติทั่วโลก เป้าหมายคือ ปี พ.ศ. 2571 สำหรับสตรีที่ในหน่วยทหารคือ 15% และ 25% สำหรับผู้สังเกตการณ์ทางทหารและเจ้าหน้าที่ทั่วไป และเป้าหมายปี  พ.ศ. 2571 สำหรับสตรีในหน่วยตำรวจในภารกิจรักษาสันติภาพของสหประชาชาติที่ตั้งไว้คือ 20% 

ความสำคัญของการมีเจ้าหน้าที่สตรีในกองกำลังรักษาสันติภาพ จำนวนมากขึ้นของเจ้าหน้าที่ทหาร-ตำรวจสตรีในการรักษาสันติภาพหมายถึง การรักษาสันติภาพนั้นที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพสตรีช่วยในการปรับปรุงประสิทธิภาพการรักษาสันติภาพโดยภาพรวม สามารถเข้าถึงชุมชนได้มากขึ้น ช่วยในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและการคุ้มครองพลเรือน และสนับสนุนให้สตรีกลายเป็นส่วนสำคัญของกระบวนการสันติภาพและการเมือง

การดำเนินงานและประสิทธิภาพที่ดีขึ้น 
>> ความหลากหลายที่มากขึ้นและชุดทักษะที่กว้างขึ้นหมายถึง การตัดสินใจ การวางแผนและผลลัพธ์ที่ดีขึ้น ซึ่งนำไปสู่ประสิทธิภาพและผลการปฏิบัติงานที่ดีขึ้น
>> การเข้าถึงที่ดีขึ้น : เจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพสตรีสามารถเข้าถึงประชาชนได้ดีขึ้น ซึ่งรวมถึงสตรีและเด็ก ตัวอย่างเช่น โดยการสัมภาษณ์และสนับสนุนผู้รอดชีวิตจากความรุนแรงและความรุนแรงต่อเด็กตามเพศ ดังนั้นจึงต้องมีข้อมูลสำคัญที่อาจเข้าถึงได้ยาก 

สะท้อนถึงชุมชนที่กองกำลังรักษาสันติภาพฯ ให้บริการ  
>> ความหลากหลายในหน่วยรักษาสันติภาพของสหประชาชาติเปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมกับสมาชิกทุกคนในชุมชนที่กำลังปกป้องอยู่

การสร้างความไว้วางใจและความมั่นใจ 
>> เจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพสตรี เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความไว้วางใจและความเชื่อมั่นให้กับชุมชนท้องถิ่น และช่วยปรับปรุงการเข้าถึงและการสนับสนุนสำหรับสตรีในท้องถิ่น ตัวอย่างเช่น โดยการปฏิสัมพันธ์กับสตรีในสังคมที่สตรีไม่ได้รับอนุญาตให้พูดกับบุรุษนอกครอบครัว

การช่วยป้องกันและลดความขัดแย้งและการเผชิญหน้า 
>> ความหลากหลายในการรักษาสันติภาพ ช่วยจัดการกับผลกระทบเชิงลบที่ไม่สมส่วนซึ่งความขัดแย้งมีต่อการดำรงชีวิตของสตรี และนำมุมมองและแนวทางแก้ไขใหม่ ๆ มาสู่การเจรจาพูดคุยและตกลง โดยการตอบสนองความต้องการของสตรีในบริบทที่มีความขัดแย้งและภายหลังความขัดแย้งอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงอดีตทหารสตรีและทหารเด็กในระหว่างการปลดประจำการ และการกลับคืนสู่ชีวิตพลเรือน

การสร้างแรงบันดาลใจและการสร้างแบบอย่าง 
>> เจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพสตรีทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา และแบบอย่างที่ทรงพลังสำหรับสตรีและเด็กสตรีในสภาพแวดล้อมภายหลังความขัดแย้งในชุมชน เป็นตัวอย่างให้พวกเขาเข้าใจในสิทธิของตนเอง และสามารถประกอบอาชีพที่ต่างไปจากวิถีดั้งเดิม

เจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพสตรีในการรับมือ COVID-19 เจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพของสหประชาชาติกำลังเผชิญกับความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอย่างหนึ่ง นั่นคือ การระบาดใหญ่ของ COVID-19 เจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพต้องช่วยเหลือรัฐบาลและชุมชนท้องถิ่นในการต่อสู้กับการแพร่ระบาด และยังคงต้องปรับกิจกรรมของตนเพื่อดำรงการปฏิบัติตามคำสั่งที่ได้รับมาต่อไป ซึ่งรวมถึงการปกป้องชุมชนต่าง ๆ ที่เปราะบางด้วย เจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพสตรีอยู่ในแนวหน้าของการต่อสู้ครั้งนี้ และเป็นส่วนสำคัญของการรับมือ COVID-19 เช่นเดียวกับการปฏิบัติตามคำสั่งตามภารกิจ ภายใต้ข้อจำกัดในปัจจุบัน และในขณะที่ใช้มาตรการป้องกันก่อนทั้งหมด

ความคิดริเริ่มที่สำคัญในปฏิบัติการสันติภาพ ขณะนี้ประเทศสมาชิกได้รับการร้องขอให้เสนอชื่อสตรีอย่างน้อย 20% สำหรับตำแหน่งเจ้าหน้าที่ตำรวจและ 30% สำหรับเจ้าหน้าที่อำนวยความยุติธรรมและงานรัฐทัณฑ์ที่รัฐบาลต่าง ๆ จัดหา บุคลากรสตรีที่ผ่านการคัดเลือกจะได้รับการจัดลำดับความสำคัญสำหรับตำแหน่งทหารของเจ้าหน้าที่แต่ละคน ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ และภารกิจภาคสนาม ตลอดจนเจ้าหน้าที่อำนวยความยุติธรรมและงานรัฐทัณฑ์ที่รัฐบาลต่าง ๆ จัดหา

หน่วยงานจัดลำดับความสำคัญของสตรี ตำรวจที่จัดตั้งขึ้นซึ่งรวมถึงกองกำลังรักษาสันติภาพแห่งสหประชาชาติ กำลังแนะนำหน่วยรบที่ประกอบด้วยสตรีอย่างน้อย 50% เจ้าหน้าที่อำนวยความยุติธรรมและงานรัฐทัณฑ์สนับสนุนชุดของการฝึกอบรมก่อนการปรับใช้สำหรับเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์สตรีโดยเฉพาะ สำนักงานตำรวจแห่งสหประชาชาติกำลังดำเนินการเกี่ยวกับข้อตกลงทางเพศโดยสมัครใจตามที่เลขาธิการฯ เสนอเพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศในสำนักงานตำรวจแห่งสหประชาชาติ ซึ่งมีบทบัญญัติสำหรับข้อผูกพันโดยรัฐสมาชิก PCCs เพื่อเริ่มดำเนินการเกี่ยวกับโครงสร้างที่จำเป็นมาก (นโยบายและกฎหมาย) การเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมและโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรับรองการรับสมัครสตรีที่เพิ่มขึ้นในสถาบันตำรวจของรัฐเจ้าภาพ มีความมุ่งมั่นในการเป็นผู้นำที่เข้มแข็งในการแต่งตั้งสตรีให้ดำรงตำแหน่งผู้นำระดับสูง

กองกำลังรักษาสันติภาพแห่งสหประชาชาติได้ส่งสตรีจำนวนมากเป็นประวัติการณ์ ในการมีบทบาททางทหารที่อาวุโสที่สุดในปฏิบัติการเพื่อสันติภาพของสหประชาชาติ โดยมีผู้บัญชาการกองกำลังเป็นสตรีหนึ่งนาง และรองผู้บังคับบัญชากองกำลังสตรีสองนาง ซึ่งกำลังประจำการอยู่ในสนาม

ร.ต.อ.หญิง อุภิญญา บุญเรืองนาม รอง สว.ประจำกองการต่างประเทศ ร่วมปฏิบัติภารกิจกับ UNPOL ในซูดานใต้

“มะห์ซูหรี่” (Mahsuri) ตำนาน!! ‘คำสาปแห่งลังกาวี’ 

ผู้อ่านจาก Facebook ดร.โญ มีเรื่องเล่า ‘คุณแจ็คกี้ มวยไทย’ เขียน In Box มาว่า “อยากให้อาจารย์เล่าเรื่องเกี่ยวกับสงครามประวัติศาสตร์หน่อยครับ ถึงตำนานแต่ละที่ของประวัติศาสตร์ เช่น คำสาปของเกาะลังกาวี ครับ” ซึ่งผมก็จัดให้เลย และขอมาเล่าเรื่องราวนี้ผ่าน THE STATES TIMES ก่อนนะครับ…

ลังกาวี (Langkawi) หรือ "ลังกาวี อัญมณีแห่งเกอดะฮ์ (Kedah หรือไทรบุรีของราชอาณาจักรสยาม/ไทยในอดีต)" (Langkawi Permata Kedah) เป็นเกาะในทะเลอันดามัน ใกล้ฝั่งทะเลตะวันตกเฉียงเหนือของมาเลเซียตะวันตก ขึ้นกับรัฐเกอดะฮ์ ประเทศมาเลเซีย

ลังกาวี ตั้งอยู่ห่างจากเกาะตะรุเตา จังหวัดสตูลของประเทศไทยเพียง 4 กิโลเมตร อยู่ห่างจากเมืองกัวลาปะลิสประมาณ 30 กิโลเมตร และเมืองกัวลาเกอดะฮ์ 51 กิโลเมตร ประกอบด้วยกลุ่มเกาะเขตร้อนจำนวน 99 เกาะ และเป็นที่รู้จักของชาวไทยและมาเลเซียจากตำนานของ มะห์ซูหรี่ สตรีผู้ถูกประหารด้วยความอยุติธรรม โดยนางได้สาปแช่งเกาะลังกาวีไว้ก่อนสิ้นใจ และรัฐบาลมาเลเซียต้องนำทายาทรุ่นที่ 7 ของเธอมาถอนคำสาป

"ลังกาวี อัญมณีแห่งเกอดะฮ์ (Kedah หรือไทรบุรีของราชอาณาจักรสยาม/ไทยในอดีต)" (Langkawi Permata Kedah)

ชื่อของเกาะลังกาวี โดย "ลัง" ย่อมาจากคำว่า "ฮลัง" (Helang) ที่แปลว่า "นกอินทรีสีน้ำตาลแดง" ส่วนนาม "ลังกาวี อัญมณีแห่งเกอดะฮ์" นั้นได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระราชาธิบดีสุลต่านอับดุล ฮาลิม อันเป็นส่วนหนึ่งในพระราชพิธีกาญจนาภิเษกส่วนพระองค์ โดยตั้งนามเพื่อสร้างความประทับใจแก่นักท่องเที่ยวว่า ลังกาวีเป็นส่วนหนึ่งของรัฐ Kedah

กล่าวว่าคำว่า 'ลังกาวี' มีความเกี่ยวข้องกับอาณาจักรลังกาสุกะ 'Langgasu' ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่รัฐ Kedah ในปัจจุบัน ซึ่งเอกสารทางประวัติศาสตร์มีน้อยมาก อย่างไรก็ตามย้อนหลังไปถึง 500 ปีก่อนคริสตกาล ตามบันทึกของราชวงศ์เหลียง อาณาจักรนี้ก่อตั้งขึ้นในศตวรรษแรกเมื่อกษัตริย์ฮินดู บากัตตา ถวายส่วยจักรพรรดิจีนในสมัยนั้น ชื่อของกษัตริย์ปรากฏขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าในตำนานและเทพนิยายมาเลย์ 'ลังกาวี' จึงหมายถึงอาณาจักรของ 'Langgasu' ที่จัดตั้งขึ้นในศตวรรษที่ 1

มีการอ้างอิงชื่อเกาะอื่นในหนังสือ The Legends of Langkawi โดย Tun Mohamed Zahir บอกว่า 'ลังกาวี' เป็นการรวมกันของคำภาษาสันสกฤตสองคำคือลังกา (ความงาม) และวี (นับไม่ถ้วน) ตามหนังสือลังกาวี หมายถึงสถานที่แห่งความงามอันยิ่งใหญ่ ข้อมูลอ้างอิงอีกฉบับหนึ่งระบุว่า ลังกาวีหมายถึงเกาะนกอินทรี ตามนั้น คำว่าลังกาวีเป็นการรวมกันของคำสองคำคือ ‘ลัง’ และ ‘กาวี’ โดยที่ 'ลัง' มากจากคำว่า 'Helang' ในภาษามาเลย์ ซึ่งแปลว่านกอินทรี ส่วน ‘กาวี’ ก็มาจาก 'Kawi' ภาษามาเลย์เช่นกัน แปลว่า หินอ่อน เนื่องจากมีการพบทั้งนกอินทรีและหินอ่อนมากมายในลังกาวี สถานที่แห่งนี้จึงอาจได้รับการตั้งชื่อตามข้อเท็จจริง โดยจัตุรัสนกอินทรีที่เกาะนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกถึงชื่อเกาะตามความหมายนัยนี้

แสตมป์สามอัฐ และสี่อัฐประทับตรา Kedah แสดงให้เห็นว่า Kedah (ไทรบุรี) เคยเป็นของสยาม

ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์การเมือง สรุปได้ว่า สุลต่าน Kedah เคยปกครองเกาะนี้ ต่อมา Kedah (ไทรบุรี) ถูกสยามยึด ลังกาวีก็ตกไปอยู่ในมือของสยามผู้ปกครอง และด้วยข้อตกลงตามสนธิสัญญาแองโกล-สยาม พ.ศ. 2452 สยามได้โอนอำนาจการปกครองไปให้แก่อังกฤษ ซึ่งยึดครองรัฐนี้เอาไว้จนมาเลเซียได้รับอิสรภาพ ไม่รวมระยะเวลาสั้น ๆ ของการปกครองไทยภายใต้การยึดครองมลายูของญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง อิทธิพลของไทยยังสามารถเห็นได้ในวัฒนธรรมและอาหารของลังกาวี อันที่จริงแล้ว คนมาเลย์เชื้อสายไทยจำนวนมากบนเกาะนี้ก็เข้าใจภาษาไทยเช่นกัน

มะห์ซูหรี่จึงบอกให้ฆ่าเธอด้วยกริชอาคมของครอบครัว

ตำนานคำสาปแห่งลังกาวี ตามตำนานเล่าว่า มะห์ซูหรี่ (Mahsuri) เป็นธิดาคนที่สามของสามีภรรยาชาวไทยเชื้อสายมลายูที่อพยพมาจากภูเก็ต (Negeri Pulau Bukit) ในสมัยของสุลต่านอับดุลลาห์ มูการ์รัม ชาห์ที่ 2 ผู้ปกครองรัฐ Kedah ระหว่างปี พ.ศ. 2305 ถึง 2343 (ค.ศ. 1762 ถึง 1800) มะห์ซูหรี่เป็นหนึ่งในหญิงที่สวยที่สุดในลังกาวี และได้แต่งงานกับรองสุลต่านที่ชื่อว่า วันดารุส (Wan Darus) น้องชายของ Dato Pekerma Jaya น้องชายของสุลต่านผู้ปกครองเกาะลังกาวี แต่ในเวลาอันไม่นานชีวิตอันสวยงามของพวกเขาก็ต้องจบลง ด้วยวันดารุสต้องออกไปรบกับสยาม ระหว่างที่สามีไม่อยู่ มะห์ซูหรี่บังเอิญได้รู้จักกับเดรามัน (Deraman) ชายหนุ่มคนหนึ่ง ทำให้แม่สามี (บ้างก็ว่า พี่สะใภ้ของสามี ภรรยาของหัวหน้าหมู่บ้าน) ของเธออิจฉาความงามที่เลื่องลือของมะห์ซูหรี่ จึงถือโอกาสที่จะกำจัดเธอ ด้วยการปล่อยข่าวลือว่า มะห์ซูหรี่ไม่ซื่อสัตย์ นอกใจต่อวันดารุส สามีของเธอ โดยมีความสัมพันธ์เชิงชู้สาวกับเดรามัน

ด้วยเหตุนี้ ข่าวลือจึงแพร่กระจายไปทั่วทั้งหมู่บ้าน เรื่องนี้ทำให้เธอถูกชาวบ้านทั้งหมดกล่าวหาว่า ลักลอบมีประเวณีกับชายอื่น และถูกตัดสินประหาร มะห์ซูหรี่ปฏิเสธอย่างแข็งขัน แต่ไม่มีใครยอมเชื่อเธอเลย ดังนั้นมะห์ซูหรี่จึงถูกจับมัดไว้กับต้นไม้ (หรือเสา) มะห์ซูหรี่ได้อธิษฐานว่า “หากนางไม่มีความผิด ขอให้โลหิตที่หลั่งออกมาเป็นสีขาวและไม่หลั่งลงพื้นดิน เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของนาง” และ “สำหรับความอยุติธรรมนี้ จะไม่เกิดสันติสุขและความเจริญรุ่งเรืองบนเกาะแห่งนี้ นานถึงเจ็ดชั่วอายุคน” แต่เมื่อเพชฌฆาตลงคมกริชประหาร คมของกริชนั้นกลับไม่ระคายผิวนางเลย หลังจากที่ความพยายามในสังหารเธอทุกครั้งประสบความล้มเหลว เมื่อเป็นเช่นนี้นางจึงบอกกับเพชฌฆาตให้ไปนำกริชอาคมพิเศษของต้นตระกูลจากบ้านของนางมา และเมื่อเพชฌฆาตใช้คมกริชอาคมพิเศษจรดลงไปบนคอของนาง โลหิตสีขาวก็พวยพุ่งขึ้นข้างบนราวกับเป็นร่มโดยไม่ตกลงบนพื้นดินเลย เมื่อเธอถูกแทง เลือดสีขาวก็ไหลออกมาจากบาดแผลของเธอ และฝูงนกก็บินเข้ามาปกคลุมเธอทั้งตัว อันแสดงให้เห็นถึงความบริสุทธิ์ของเธอ ด้านพี่ชายของมะห์ซูหรี่ เกรงว่าหลานชายวัย 5 เดือน ทายาทคนเดียวของมะห์ซูหรี่ จะมีภัย จึงนำลงเรือล่องมายังเกาะภูเก็ต และเริ่มตั้งรกรากที่นี่ โดยบุตรของนางเติบโตขึ้นในนามว่า “โต๊ะวัน”

หลุมศพ (กุโบร์) ของมะห์ซูหรี่บนเกาะลังกาวี

ปาดังมาตสิรัต (ซึ่งหมายถึง ‘ทุ่งข้าวไหม้’)

ชาวบ้านจำนวนมากในลังกาวีเชื่อว่า ตำนานดังกล่าวเป็นเรื่องจริง โดยอ้างถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และโศกนาฏกรรมในช่วงหลายทศวรรษหลังการเสียชีวิตของมะห์ซูหรี่ กองทัพสยามสามารถพิชิตรัฐ Kedah และบุกยึดลังกาวีเอาไว้ได้ โดยชาวบ้านจุดไฟเผาไร่นาพืชผลเพื่อหยุดยั้งการบุกของกองทัพสยาม หรือแทนที่จะปล่อยให้ตกไปอยู่ในเงื้อมมือของกองทัพสยาม จนถึงทุกวันนี้ตามตำนานเล่าว่า หลังจากฝนตกชุก จะเห็นร่องรอยของข้าวไหม้ที่ปาดังมาตสิรัต (ซึ่งหมายถึง 'ทุ่งข้าวไหม้') ที่อยู่ใกล้เคียง แต่ที่สุดแล้วลังกาวีก็ตกเป็นอาณานิคมของสยาม และอังกฤษในเวลาต่อมา 

น.ส.ศิรินทรา ยายี (Wan Aishah)

มหากาพย์ ‘สงครามกลางเมือง’ (Civil War)

ระยะนี้มีผู้คนที่สังคมให้ค่าว่าเป็นผู้มีการศึกษา แต่พฤติการณ์ พฤติกรรม มีการศึกษาแต่กลับไม่มีปัญญา หยิบยกเอาเรื่องสงครามกลางเมืองมาเป็นประเด็นให้เกิดความขัดแย้งในสังคมให้กลายเป็นความรุนแรงเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง คนพวกนี้ไม่ได้น่ากลัวอะไรเลย เพียงแต่เป็นเหมือนกับพวก เห็บ หมัด ยุง ที่น่ารำคาญ พยายาม กัด ไต่ ตอม สังคมโดยไม่รู้จักลดเลิก ไม่ได้นึกถึงความเป็นจริง ได้แต่เพ้อเจ้อไปวัน ๆ ซ้ำร้ายที่ยังมีคนที่ขาดความรู้ อ่อนด้อยประสบการณ์จำนวนไม่มากนักที่หลงเชื่อ และส่วนหนึ่งกลายเป็นเหยื่อทั้งต้องติดคุก บาดเจ็บ และร้ายแรงที่สุด คือ เสียชีวิต โดยที่พวกที่ปลุกปั่น ยุยง และญาติพี่น้อง ลูกหลาน และพวกพ้องที่ใกล้ชิดไม่เป็นอะไรกันเลย 

สงครามกลางเมือง เป็นสงครามภายในระหว่างกลุ่มคนในสังคม ในชาติเดียวกัน ด้วยประสงค์ในการแย่งชิงอำนาจการปกครอง หรือดินแดน สงครามกลางเมืองอาจถือเป็นการปฏิวัติ (Revolution) รูปแบบหนึ่ง เมื่อสิ้นสุดสงครามกลางเมืองนั้น ๆ แล้วมีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมครั้งใหญ่เกิดขึ้น ซึ่งองค์การกาชาดสากลให้ความหมายตามมาตรา 9 แห่งสนธิสัญญาเจนีวาไว้ดังนี้ “สงครามกลางเมืองเป็นความขัดแย้งรุนแรงจนถึงมีการใช้อาวุธต่อกันทั้งสองฝ่ายหรือมากกว่านั้น และอาจมีความรุนแรงเหมือนสงครามระหว่างรัฐ แต่เกิดขึ้นภายในประเทศนั้นประเทศเดียว” นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์บางกลุ่มยังได้นับรวมเอาการจลาจล/การก่อการร้าย/การก่อความไม่สงบ เป็นสงครามกลางเมืองด้วย หากมีการสู้รบระหว่างกองกำลังติดอาวุธเต็มรูปแบบ ความแตกต่างระหว่าง "สงครามกลางเมือง" "การปฏิวัติ" และ "การจลาจล" ในปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจน ขึ้นอยู่กับบริบท (Context) ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาใช้

การสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมด้วยการใช้ความรุนแรงไม่ได้มีผลดีอะไรกับสังคมและชาติบ้านเมืองเลย ไม่ว่าผลสุดท้ายจะออกมาเป็นเช่นไร แต่ความบอบช้ำเสียหายเกิดขึ้นกับผู้คนในสังคม ในชาติบ้านเมืองโดยรวมเสมอ และต้องใช้เวลาและทรัพยากรมากมายในการฟื้นฟูเยียวยา ส่วนที่แก้ไขเยียวยายากมากที่สุดคือ บาดแผล หรือความบอบช้ำทางจิตใจ อันเกิดขึ้นกับทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น ผู้แพ้ ผู้ชนะ หรือผู้ที่เป็นกลาง แม้กระทั่งผู้ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องยุ่งเกี่ยวอะไรด้วยเลย

สงครามกลางเมืองอังกฤษ (Cromwell war) ค.ศ. 1642-1651

ตามประวัติศาสตร์สากลสงครามกลางเมืองที่ถูกบันทึกไว้ มักจะเป็นสงครามกลางเมืองครั้งใหญ่ ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสังคม ซึ่งเกิดขึ้นแล้วหลายพันครั้งในเกือบทุก ๆ ชาติ ตั้งแต่ 475 ปีก่อนคริสต์ศักราช เช่น สงครามรวมชาติจีน หรือสงครามนครคาร์เธจ หรือสงครามแห่งรัฐอิสลาม ค.ศ. 656 - 661 หรือสงครามเมืองอังกฤษหลายครั้งคือ The Anarchy ค.ศ. 1135 - 1153 (ยุคไร้สันติสุข) สงครามกุหลาบ (Wars of Roses) ราว ค.ศ. 1455 - 1485 (ระหว่างเจ้านครแห่งแคว้นแลงคาสเตอร์กับเจ้านครแห่งแคว้นยอร์ก) และสงครามกลางเมือง (Cromwell war) ค.ศ. 1642 - 1651 (ระหว่างกษัตริย์กับรัฐสภา) สงครามกลางเมืองอังกฤษมีสาเหตุจากการชิงอำนาจปกครองประเทศ หรือการปกป้องสิทธิของกษัตริย์ หรือการป้องสิทธิของประชาชน เช่น ในสงครามขุนนางครั้งที่ 1 ค.ศ. 1215 - 1217 ระหว่างขุนนางกับพระเจ้าจอห์น ขุนนางสามารถทำให้พระเจ้าจอห์น ทรงลงพระนามในมหาบัตรใหญ่หรือ Magna Carta อันเป็นต้นกำเนิดรัฐธรรมนูญของอังกฤษ และสหรัฐฯ ในเวลาต่อมา

สำหรับสหรัฐฯ สงครามกลางเมืองสหรัฐฯ เกิดขึ้นระหว่าง ค.ศ. 1861 - 1865 เมื่อมลรัฐทางใต้ 11 รัฐ เห็นว่า การรณรงค์เลิกทาสของประธานาธิบดี อับราฮิม ลินคอล์นนั้น ขัดต่อผลประโยชน์ทางมลรัฐทางใต้ ซึ่งต้องพึ่งแรงงานทาสผิวสีในการเก็บฝ้าย และทำกสิกรรม จึงประกาศแยกตัวออกจากสหรัฐฯ สถาปนาเป็นสหพันธรัฐแห่งอเมริกา โดยมีประธานาธิบดี เจฟเฟอร์สัน เดวิส เป็นผู้นำ และเกิดการรบขึ้นเพื่อแย่งความชอบธรรมแห่งรัฐ เพราะการแยกตัวจากสหรัฐฯ เป็นการผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ระยะเวลาในการทำสงคราม 4 ปี ทำให้มีผู้ได้รับเคราะห์กรรมจากสงครามกว่า 1,030,000 คน ทหารเสียชีวิตราว 750,000 คน ค่าใช้จ่ายในการทำสงครามของทั้งสองฝ่ายราว 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ (สามารถติดตามอ่านได้ในคอลัมน์ 12 สงครามที่ ‘แพงที่สุด’ ในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา >> https://thestatestimes.com/post/2021082805

นอกจากสงครามกลางเมืองในอังกฤษและสหรัฐฯ ที่ได้กล่าวมาแล้วยังมีสงครามกลางเมืองครั้งสำคัญที่ถูกบันทึกไว้อีก ดังนี้

>> สงครามโบะชิง (3 มกราคม 1868 - 18 พฤษภาคม ค.ศ. 1869) นักวิชาการบางส่วนเรียกว่า “การปฏิวัติญี่ปุ่น” เป็นสงครามกลางเมืองในประเทศญี่ปุ่นที่รบกัน ระหว่างกำลังของรัฐบาลเอโดะซึ่งปกครองและผู้ที่มุ่งถวายอำนาจการเมืองคืนแก่ราชสำนักจักรพรรดิ ผลคือ ฝ่ายจักรพรรดิชนะ ทำให้รัฐบาลของโชกุนสิ้นสุดยุติบทบาทลง และจักรพรรดิกลับได้ปกครองญี่ปุ่นอีกครั้งหนึ่ง (จนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงครามต่อฝ่ายสัมพันธมิตร) ทหารทั้งสองฝ่ายเสียชีวิตราว 8,500 นาย

‘ยัน ชิชกา และ บาทหลวงฮุสไซต์’ ยืนมองกรุงปรากหลังยุทธการที่เนินวิตคอฟในสงครามฮุสไซต์

>> สงครามฮุสไซต์ (Hussite wars) (ราว ค.ศ. 1419 - 1437) หรือ สงครามโบฮีเมีย หรือ การปฏิวัติฮุสไซต์ เป็นการสู้รบระหว่างฝ่ายฮุสไซต์ที่นับถือคำสอนของยัน ฮุสกับฝ่ายโรมันคาทอลิก นำโดยจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ รวมถึงการสู้รบกันเองในหมู่นักรบฮุสไซต์ สงครามนี้เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ความแตกแยกหลายเหตุการณ์ระหว่างผู้นับถือคำสอนของฮุสกับผู้ปกครองที่นับถือนิกายโรมันคาทอลิก เช่น การเผาทั้งเป็นฮุส, เหตุบัญชรฆาตในกรุงปราก และการสวรรคตของพระเจ้าเวนเซลแห่งชาวโรมัน ในปี ค.ศ. 1424 ผลของสงคราม ฝ่ายฮุสไซต์ชนะ ทำให้ (1) ศาสนจักรฮุสไซต์เป็นอิสระจากพระสันตะปาปา (ต่อมาภายหลังฝ่ายฮุสไซต์สายกลางได้ร่วมมือกับฝ่ายโรมันคาทอลิก รบกับฝ่ายฮุสไซต์หัวรุนแรง ทำให้ฝ่ายฮุสไซต์หัวรุนแรงพ่ายแพ้และต้องหลบซ่อน) (2) ฝ่ายโรมันคาทอลิกยอมรับฝ่ายฮุสไซต์สายกลาง (3) จักรพรรดิซีกิสมุนด์แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งโบฮีเมีย และ (4) มีการลงนามในสัญญาบาเซิลเพื่อยุติสงคราม ไม่ปรากฏข้อมูลจำนวนผู้เสียชีวิต

‘ค้อน - เคียว’ (Hammer & Sickle) สัญลักษณ์ของ ‘ลัทธิคอมมิวนิสต์’ ไม่ใช่ประชาธิปไตย!!

ได้เห็นกลุ่มเคลื่อนไหวที่อ้างว่าเรียกร้องความเป็นประชาธิปไตย ทั้ง ๆ ที่บ้านเมืองก็มีอยู่ในระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข มีการเลือกตั้งตัวแทนจนครบทุกระดับแล้ว จึงน่าสงสัยว่า บ้านนี้เมืองนี้ไม่เป็นประชาธิปไตยตรงไหน ซ้ำร้ายกลุ่มเคลื่อนไหวที่อ้างว่าเรียกร้องความเป็นประชาธิปไตย ยังกับเอาสัญลักษณ์ “ค้อนและเคียว” (Hammer & Sickle) อันเป็นสัญลักษณ์ของลัทธิคอมมิวนิสต์ซึ่งเป็นระบอบการปกครองที่เป็นเผด็จการสังคมนิยมมาใช้เสียอีก ดังนั้นจึงมั่นใจว่า กลุ่มเคลื่อนไหวดังกล่าวคงแยกไม่ออกระหว่างระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยกับแบบคอมมิวนิสต์เป็นแน่เชียว

ก่อนที่จะเข้าสู่เรื่องราวของสัญลักษณ์ “ค้อนและเคียว” ขออธิบายเรื่องความต่างของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยกับแบบคอมมิวนิสต์ให้ทราบพอสังเขป โดยระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอธิบายง่าย ๆ คือ ระบอบการปกครองที่ประกอบด้วยอำนาจที่ใช้ในการดูแลจัดการกิจการของบ้านเมืองสามส่วนได้แก่ (1) บริหาร (2) นิติบัญญัติ และ (3) ตุลาการ

สำหรับระบอบประชาธิปไตยในบ้านเรา คือ มีการเลือกตั้งในส่วนของ (2) นิติบัญญัติเพื่อทำหน้าที่ออกกฎหมาย และเลือก (1) บริหารเพื่อบริหารจัดการบ้านเมือง ทั้งสองส่วนต่างมีอำนาจในการตรวจสอบและคานอำนาจหน้าที่กัน จากการที่ (2) นิติบัญญัติสามารถตรวจสอบด้วยการอภิปรายและลงมติ (1) บริหารในสภาได้ และ (1) บริหารก็สามารถใช้อำนาจในการยุบสภาเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้ง (2) นิติบัญญัติขึ้นมาใหม่ได้ ส่วน (3) ตุลาการทำหน้าที่พิจารณาตัดสินคดีความต่าง ๆ ตามกฎหมายที่ออกโดย (2) นิติบัญญัติ โดย (1) บริหาร มีหน้าดูแล และบังคับใช้กฎหมาย ส่งตัวผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดย (3) ตุลาการเป็นผู้พิจารณาตัดสินตามกฎหมาย และหาก (1) บริหาร และ (2) นิติบัญญัติ กระทำความผิด ก็จะเข้าสู่ กระบวนการยุติธรรมโดย (3) ตุลาการ เช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป

แต่กับระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ อำนาจที่ใช้ในการดูแลจัดการกิจการของบ้านเมืองสามส่วน ได้แก่ (1) บริหาร (2) นิติบัญญัติ และ (3) ตุลาการ ล้วนแล้วแต่มาจากพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งสมาชิกของพรรคฯ มาจากการคัดสรร ไม่ใช่การเลือกตั้ง ตามแต่คณะกรรมการของพรรคฯ ในระดับต่าง ๆ จะเห็นชอบ โดย (1) บริหารจะมาจากคณะกรรมการกลางของพรรคที่เรียกว่า โปลิตบูโร (Politburo) หมายถึง คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์ (เช่น อดีตสหภาพโซเวียต โปลิตบูโรจะประกอบด้วยเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียต (The General Secretary of the Communist Party of the Soviet Union) และบุคคลสำคัญรองลงมา เช่น ประธานาธิบดี และนายกรัฐมนตรี) อำนาจที่ใช้ในการดูแลจัดการกิจการของบ้านเมืองสามส่วน ได้แก่ (1) บริหาร (2) นิติบัญญัติ และ (3) ตุลาการ ล้วนแล้วแต่มาจากพรรคคอมมิวนิสต์ โดยที่ประชาชนไม่มีสิทธิ ไม่มีส่วนอะไรเลยในอำนาจดังกล่าว

สำหรับสัญลักษณ์ “ค้อนและเคียว” เป็นสัญลักษณ์หลักอย่างหนึ่งของลัทธิคอมมิวนิสต์ ซึ่งมักใช้เพื่อเป็นเครื่องหมายของลัทธิคอมมิวนิสต์ พรรคคอมมิวนิสต์ หรือรัฐคอมมิวนิสต์ต่าง ๆ ทั่วโลก โดยปกติแล้วมักทำเป็นรูปค้อนและเคียวไขว้กัน เครื่องหมายทั้งสองอย่างนี้ คือ สัญลักษณ์บุคคลในชนชั้นกรรมาชีพและชนชั้นชาวนา (เกษตรกร) การนำสัญลักษณ์ทั้งสองอย่างมารวมกัน จึงหมายถึงเอกภาพของแรงงานในภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรม อันถือเป็นรากฐานที่สำคัญของสังคมในระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ สัญลักษณ์ “ค้อนและเคียว” เป็นที่รู้จักกันดีจากการที่นำสัญลักษณ์ “ค้อนและเคียว” ไปใช้ในธงชาติสหภาพโซเวียต ควบคู่ไปกับรูปดาวแดง และยังถูกนำไปใช้ในธงและตราสัญลักษณ์ต่าง ๆ อีกจำนวนมาก โดย สัญลักษณ์ “ค้อนและเคียว” เป็นสัญลักษณ์ที่มี Unicode : "☭"

Vladimir Lenin

หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (ซึ่งรัสเซียถอนตัวออกในปี พ.ศ. 2460 (ค.ศ. 1917)) และระหว่างสงครามกลางเมืองรัสเซีย (สงครามปฏิวัติบอลเชวิก) สัญลักษณ์ “ค้อนและเคียว” ถูกใช้อย่างกว้างขวางมากขึ้นในฐานะสัญลักษณ์ของแรงงานในสหภาพโซเวียต และเพื่อความสามัคคีของชนชั้นกรรมาชีพระหว่างประเทศ ในปี ค.ศ. 1917 Vladimir Lenin และ Anatoly Lunacharsky ได้จัดการแข่งขันเพื่อสร้างสัญลักษณ์ของสหภาพโซเวียต การออกแบบที่ชนะคือค้อนและเคียวบนยอดลูกโลกในแสงแดด ล้อมรอบด้วยเมล็ดธัญพืชและภายใต้ดาวห้าแฉก พร้อมคำจารึกว่า "ชนชั้นกรรมาชีพของโลก สามัคคี!" ในหกภาษา (รัสเซีย ยูเครน เบลารุส จอร์เจีย อาร์เมเนีย และอาเซอร์ไบจัน) เดิมมีดาบเป็นจุดเด่นด้วย แต่ถูก Lenin คัดค้านอย่างรุนแรง ด้วยไม่ชอบในความหมายแฝงที่มีนัยรุนแรง นักออกแบบที่ชนะคือ Yevgeny Ivanovich Kamzolkin 

ค้อนและเคียวบนยอดลูกโลกในแสงแดด ล้อมรอบด้วยเม็ดธัญพืชและภายใต้ดาวห้าแฉก พร้อมคำจารึกว่า "ชนชั้นกรรมาชีพของโลก สามัคคี!" ในหกภาษา (รัสเซีย ยูเครน เบลารุส จอร์เจีย อาร์เมเนีย และอาเซอร์ไบจัน)

‘Exercise Malabar’ ปฏิบัติการซ้อมรบ กระตุกหนวดมังกร!!

Exercise Malabar 2021 ระยะที่สองพึ่งเสร็จสิ้นไปเมื่อ 15 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยมีการซ้อมรบร่วมของกองทัพเรือสี่ชาติ อันประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา อินเดีย ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ระหว่างวันที่ 13-15 ตุลาคม สำหรับระยะแรก คือ 25-29 สิงหาคม พ.ศ. 2564 Exercise Malabar 2021 เป็นครั้งที่ 25 นับแต่ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2535 เป็นการซ้อมรบร่วมทางทะเลของชาติพันธมิตรที่ล้วนแล้วแต่มีความเป็นปฏิปักษ์กับสาธารณรัฐประชาชนจีน

Exercise Malabar เป็นการซ้อมรบทางทะเลของกองทัพเรือ สหรัฐอเมริกา อินเดีย ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ในฐานะหุ้นส่วนถาวรด้านความมั่นคง Exercise Malabar ประจำแต่ละปี ประกอบด้วยการฝึกซ้อมปฏิบัติการทางทหารที่หลากหลาย ตั้งแต่การฝึกซ้อมปฏิบัติการรบจากเรือบรรทุกเครื่องบิน ไปจนถึงปฏิบัติการป้องกันการปิดกั้นทางทะเล สงครามต่อต้านเรือดำน้ำ ปฏิบัติการกู้ภัยใต้น้ำ ปฏิบัติการสะเทินน้ำสะเทินบก ปฏิบัติการต่อต้าน - ปราบปรามโจรสลัด การฝึกลงจอดเฮลิคอปเตอร์บนเรือรบ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาการฝึกทำในทะเลฟิลิปปินส์ นอกชายฝั่งของญี่ปุ่น อ่าวเปอร์เซีย ในอ่าวเบงกอล และทะเลอาหรับ

Exercise Malabar เริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2535 (ค.ศ. 1992) ตามแนวชายฝั่ง Malabar ของอินเดีย ในตอนนั้นยังเป็นการฝึกซ้อมทวิภาคีระหว่างอินเดียกับสหรัฐอเมริกา ต่อมาในปี พ.ศ. 2550 มี ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และออสเตรเลีย เข้ามาร่วม ญี่ปุ่นกลายเป็นหุ้นส่วนถาวรของการฝึกนี้ในปี พ.ศ. 2558 (ค.ศ. 2015) ออสเตรเลียกลับเข้าร่วมการฝึกอีกครั้งในปี พ.ศ. 2563 (ค.ศ. 2020) โดยจุดมุ่งหมายในการซ้อมรบจะรวมถึงการทำงานร่วมกันที่มากขึ้นระหว่างกองทัพเรือของชาติซึ่งเป็นหุ้นส่วนของ Exercise Malabar

ห้วงการฝึกของ Exercise Malabar มีตั้งแต่ 1 ถึง 11 วัน ในภาคทะเล ความซับซ้อนของแบบฝึกหัดในการซ้อมรบเพิ่มขึ้นตลอดหลายปีที่ผ่านมา แบบฝึกหัดมีทั้งบนบก ในทะเล และบนอากาศ การซ้อมรบประกอบด้วยเรือบรรทุกเครื่องบิน (USS Nimitz, Kitty Hawk, Ronald Reagan, George Washington, John S. McCain, INS Vikramaditya, Viraat), เรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ (JS Kaga, Izumo, Ise, Hyūga), เรือรบ, เรือดำน้ำ (ดีเซลไฟฟ้าและนิวเคลียร์) เรือพิฆาต เรือขีปนาวุธนำวิถี เรือลาดตระเวน เรือสะเทินน้ำสะเทินบก และเรือสนับสนุนการรบ เช่น เรือบรรทุกน้ำมัน เรือยามชายฝั่ง เครื่องบินที่ร่วม ได้แก่ เครื่องบินปราบเรือดำน้ำ เครื่องบินลำเลียง เครื่องบินรบแบบต่าง ๆ อาทิ P3C Orion, Poseidon P8I, Tupolev Tu-142, Kawasaki P-1, ShinMaywa US-2, F/A 18 Super Hornets, Jaguars, Sea Harrier และเฮลิคอปเตอร์แบบ Sea King ตลอดจนกองกำลังพิเศษของชาติต่าง ๆ ที่เป็นหุ้นส่วนก็เข้าร่วมใน Exercise Malabar ด้วย

Exercise Malabar ครั้งแรกระหว่างอินเดียและสหรัฐอเมริกาจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28-29 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 เป็นการซ้อมรบตามแนวชายฝั่ง Malabar ของอินเดีย นครโคชิน อันเป็นที่ตั้งของกองบัญชาการนาวิกโยธินเขตใต้ของอินเดีย ในระดับพื้นฐานด้วยเรือรบสี่ลำ มีการซ้อมรบอีกสองครั้งก่อนปี พ.ศ. 25441 (ค.ศ. 1998) และฝ่ายอเมริกันก็ระงับการฝึกหลังจากที่อินเดียได้ทำการทดลองอาวุธนิวเคลียร์

Exercise Malabar 1992 การฝึกครั้งแรก โดยกองทัพเรือ 2 ชาติ คือ  อินเดีย สหรัฐอเมริกา บริเวณชายฝั่งตะวันตกของอินเดีย เรือรบอินเดียที่เข้าร่วมได้แก่ INS Gomati, INS Ranjit ฝ่ายเรือรบอเมริกันที่เข้าร่วม ได้แก่ USS Vandegrift, USS David R. Ray เป็นการซ้อมรบขั้นพื้นฐาน การฝึกซ้อมการค้นหาและกู้ภัย Exercise Malabar 1995 การฝึกครั้งที่สอง ระหว่างอินเดียและสหรัฐอเมริกา พื้นที่การฝึกบริเวณอ่าวเปอร์เซีย การฝึกครั้งที่ 3 Exercise Malabar 1996 ระหว่างอินเดียและสหรัฐอเมริกา พื้นที่การฝึกบริเวณชายฝั่งตะวันตกของอินเดีย และระงับไปอันเนื่องมาจากรัฐบาลสหรัฐฯ ไม่พอใจต่อการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ของอินเดีย

ยุทธการกวาดให้เรียบ!! ‘Operation All Clear’ ปฏิบัติการทางทหารครั้งใหญ่ที่สุดของ ‘กองทัพภูฏาน’

เรื่องราวที่ดูน่าเหลือเชื่อที่ประเทศเล็ก ๆ ที่ดูสงบสุขอย่าง “ภูฏาน” ซึ่งมีกองทัพขนาดเล็ก มีกำลังพลจำนวนไม่ถึงหนึ่งหมื่นนาย ได้เปิดยุทธการทางทหารที่ต้องใช้กำลังพลเกือบหมดทั้งกองทัพในการปราบปรามกลุ่มต่อต้านรัฐบาลอินเดียซึ่งมีที่มั่นในดินแดนภูฏาน

สมเด็จพระราชาธิบดี Jigme Khesar Namgyel Wangchuck กับนายทหารระดับสูงของกองทัพภูฏาน

Operation All Clear เป็นปฏิบัติการทางทหารที่ดำเนินการโดยกองกำลังของกองทัพภูฏาน เพื่อต่อสู้กับกลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดนอัสสัมของอินเดียในภาคใต้ของภูฏาน ระหว่างวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2546 ถึง 3 มกราคม พ.ศ. 2547 ถือเป็นปฏิบัติการทางทหารครั้งแรก ครั้งเดียว และเป็นครั้งใหญ่ที่สุดที่กองทัพภูฏานยุคใหม่ได้ปฏิบัติการ!! 

ด้วยในปี พ.ศ. 2533 กองทัพอินเดียได้เปิดยุทธการ Rhino และ Bajrang เพื่อปราบปรามกลุ่มแบ่งแยกดินแดนติดอาวุธอัสสัมกลุ่มต่าง ๆ เมื่อเผชิญกับการกวาดล้างอย่างต่อเนื่อง กลุ่มติดอาวุธอัสสัมหลายกลุ่มก็ได้ย้ายที่มั่นไปเข้ายังดินแดนของภูฏาน

ชาว Lhotshampa ในค่ายผู้อพยพ

ในปี พ.ศ. 2533 กลุ่ม United Liberation Front of Assam (ULFA) และ National Democratic Front of Bodoland (NDFB) ซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธอัสสัมถูกกล่าวหาว่ามีส่วนช่วยเหลือรัฐบาลภูฏานในการขับไล่ชาว Lhotshampa ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อย กลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มหนึ่งในภูฏาน 

ปัจจุบันเฉพาะมลรัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกามีผู้อพยพชาว Lhotshampa ราว 20,000 คน

ชาว Lhotshampa เป็นชาวภูฏานเชื้อสายเนปาล มีถิ่นกำเนิดทางตอนใต้ของภูฏาน จึงถูกเรียกขานกันว่า ‘ชาวใต้’ ในปี พ.ศ. 2550 ชาว Lhotshampas ซึ่งผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่ได้รับการย้ายถิ่นฐานไปยังประเทศต่าง ๆ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และประเทศในยุโรปอื่น ๆ ปี พ.ศ. 2564 ปรากฏว่า จำนวนชาว Lhotshampa ในเนปาลนั้นต่ำกว่าในสหรัฐอเมริกา และประเทศอื่น ๆ ที่ได้ตั้งถิ่นฐานใหม่อย่างมีนัยสำคัญ ชาว Lhotshampa เริ่มตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ที่ไม่มีคนอาศัยอยู่ทางตอนใต้ของภูฏานในคริสต์ศตวรรษที่ 19 แต่ถูกต่อต้านและผลักดันออกจากดินแดนภูฏาน จนปัจจุบันเฉพาะมลรัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา มีผู้อพยพชาว Lhotshampa มากกว่า 20,000 คน

ในปี พ.ศ. 2539 รัฐบาลภูฏานตระหนักถึงค่ายที่มั่นจำนวนมากบริเวณชายแดนทางใต้ที่ติดกับอินเดีย ค่ายเหล่านี้จัดตั้งขึ้นโดยขบวนการแบ่งแยกดินแดนอัสสัม 4 กลุ่ม ได้แก่ ULFA (United Liberation Front of Asom), NDFB (National Democratic Front of Boroland), BLTF (Bodo Liberation Tigers Force) และ KLO (Kamtapur Liberation Organisation) และยังมีค่ายกบฏแบ่งแยกดินแดนของสภาสังคมนิยมแห่งชาตินาคาแลนด์ (NSCN) และกองกำลังพยัคฆ์ตริปุระทั้งหมด (ATTF) ค่ายต่าง ๆ ถูกจัดตั้งขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อฝึกอบรมนักรบ และจัดเก็บอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ ในขณะที่ป่าทึบในภูมิภาคนี้ทำให้กลุ่มติดอาวุธสามารถลักลอบเข้าสู่ดินแดนของอินเดียเพื่อปฏิบัติการทางทหารได้อย่างง่ายดาย

สมาชิกของกลุ่มกบฏ NDFB

อินเดียจึงได้ใช้ความพยายามกดดันทางการทูตต่อภูฏาน โดยให้การสนับสนุนในการกำจัดองค์กรกบฏกลุ่มต่าง ๆ ที่เป็นภัยต่ออินเดียให้ออกจากดินแดนของภูฏาน รัฐบาลภูฏานจึงได้เริ่มดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างสันติ โดยเปิดการเจรจากับกลุ่มติดอาวุธในปี พ.ศ. 2541 มีการเจรจากับกลุ่มกบฏ ULFA 5 ครั้ง กับกลุ่มกบฏ NDFB อีก 3 ครั้ง แต่กลุ่มกบฏ  KLO เพิกเฉยต่อคำเชิญทั้งหมดที่ส่งมาจากรัฐบาลภูฏาน ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2544 กลุ่มกบฏ ULFA ตกลงที่จะปิดค่ายสี่แห่ง อย่างไรก็ตามรัฐบาลภูฏานก็ตระหนักดีว่า ค่ายทั้ง 4 นั้ที่ถูกปิดนั้นพึ่งถูกโยกย้ายถ่ายเทคนและอาวุธยุทโธปกรณ์ออกไป

สมาชิกของกลุ่มกบฏ KLO ในปัจจุบัน (ต้นปี พ.ศ. 2564)

นอกจากนี้กลุ่มกบฏ KLO ยังถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในความเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มเหมาของเนปาลกับกองกำลังพยัคฆ์ภูฏาน ซึ่งเป็นองค์กรติดอาวุธต่อต้านรัฐบาลภูฏาน สิ่งนี้ช่วยเสริมเหตุผลให้กับรัฐบาลภูฏานในการเริ่มปฏิบัติการทางทหาร

วันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2546 สมาชิกรัฐสภาภูฏานได้เสนอให้เพิ่มจำนวนกองทหารอาสาสมัครของกองทัพภูฏาน โดยแนะนำการฝึกทหารอาสาสมัครแบบสวิสสำหรับพลเมืองทุกคนที่มีอายุระหว่าง 18 ถึง 50 ปี แต่ถูก ‘จิ๊กมี ทินลีย์’ รัฐมนตรีต่างประเทศ และนาย ‘พลโท บาตู เชอริง’ ผู้บัญชาการกองทัพปฏิเสธ 

วันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2546 กลุ่มติดอาวุธมากกว่า 15 คน ได้เข้าโจมตีฐานที่มั่นของกลุ่มกบฏ ULFA ในเมืองคินโซ ส่งผลให้สมาชิกของกลุ่มกบฏ ULFA เสียชีวิต 2 คน ผู้โจมตีหลบหนีไปหลังจากที่กองกำลังของกลุ่มกบฏ ULFA ยิงตอบโต้กลับ วันรุ่งขึ้นกลุ่มติดอาวุธราว 10 ถึง 12 คน โจมตีสมาชิกของกลุ่มกบฏ ULFA ที่อาศัยอยู่ในบ้านร้างในเมืองบาบัง กลุ่มติดอาวุธ 4 คน และนักรบของกลุ่มกบฏ ULFA หนึ่งนายเสียชีวิตระหว่างการปะทะ โฆษกหญิงของกลุ่มกบฏ ULFA กล่าวว่า การโจมตีมาจากทหารรับจ้างและนักรบของกลุ่ม SULFA ที่ได้รับการว่าจ้างจากรัฐบาลอินเดีย เจ้าหน้าที่อินเดียอ้างว่าการปะทะดังกล่าวเป็นเรื่องของความขัดแย้งระหว่างกลุ่มกบฏด้วยกันเอง

ปฏิบัติการทางทหารใน ภูฏาน อินเดีย และเมียนมาร์ ในห้วงเวลาดังกล่าว

ในช่วงปี พ.ศ. 2546 ภูฏานได้จัดตั้งกองกำลังติดอาวุธขึ้นมาใหม่ วันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2546 กองทหารอาสาสมัครภูฏานประกอบด้วยอาสาสมัคร 634 นาย ถูกส่งไปประจำการยังภาคใต้ของประเทศ หลังจากผ่านการฝึกฝนอบรมเป็นระยะเวลา 2 เดือน กองทหารอาสาสมัครของภูฏานมีบทบาทสนับสนุนปฏิบัติการทางทหารในช่วงความขัดแย้งในปี 2546 นั่นเอง หลังจากการเจรจาล้มเหลวไม่สามารถสร้างผลลัพธ์ที่สำคัญใด ๆ วันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2546 การแทรกแซงทางทหารได้รับการอนุมัติจากรัฐสภา และวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2546 รัฐบาลภูฏานได้ยื่นคำขาดแก่กลุ่มกบฏออกจากดินแดนภูฏานภายในเวลาสองวัน วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2546 หลังจากคำขาดสิ้นสุดลง จึงเกิด Operation All Clear ซึ่งเป็นปฏิบัติการทางทหารครั้งแรกของกองทัพภูฏานยุคใหม่

วันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2546 ตามคำให้การของผู้บัญชาการของกลุ่มกบฏ ULFA นายทหารระดับสูงแห่งกองทัพภูฏานได้ไปเยือนค่ายที่มั่นของกลุ่มกบฏ ULFA โดยอ้างว่า กษัตริย์ของภูฏานกำลังวางแผนที่จะเสด็จเยือนอย่างเป็นมิตรในวันรุ่งขึ้น แต่ปฏิบัติการที่ตามมาก็สร้างความประหลาดใจให้กับกลุ่มติดอาวุธโดยสิ้นเชิง

สมาชิกของกลุ่มกบฏ ULFA
 

'Arab Street' ถนนสายอาหรับ ณ กรุงเบอร์ลิน...มรดกมีชีวิตที่ ‘Angela Merkel’ มอบให้

เหตุการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือนำมาซึ่งผู้อพยพเข้าสู่ยุโรปจำนวนมหาศาล ประเทศต่าง ๆ ในยุโรปมีนโยบายทั้งรับและไม่รับผู้อพยพเหล่านั้น แต่สหพันธรัฐเยอรมันภายใต้ ‘Angela Merkel’ นายกรัฐมนตรี ดำเนินนโยบายรับผู้อพยพด้วยการเปิดพรมแดนของเยอรมนีสำหรับผู้ลี้ภัย 1 ล้านคนในปี พ.ศ. 2558 จนทำให้เกิดความแตกแยกในยุโรป และทำให้เห็นถึงความไม่พอใจสำหรับฝ่ายต่อต้านการอพยพเข้าเมือง 

นอกจากนี้ยังเป็นการเปลี่ยนองค์ประกอบทางวัฒนธรรมของเมืองหลวงของเยอรมันในแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อนตั้งแต่การเข้ามาของคนงานจากตุรกีในทศวรรษ 1960 จึงมีผู้อพยพจำนวนมากเข้ามาอาศัยพำนักในเยอรมัน และเป็นที่มาของ 'Arab Street' ถนนสายอาหรับ ณ กรุงเบอร์ลิน

'Arab Street' สิงคโปร์

'Arab Street' เกิดขึ้นในหลาย ๆ ประเทศ และที่เป็นที่รู้จักมาก่อนคือ 'Arab Street' ในสิงคโปร์ ซึ่งเคยเป็นย่านที่พ่อค้าชาวอาหรับเคยทำมาค้าขายมาในอดีต ปัจจุบัน 'Arab Street' ของสิงคโปร์ยังคงวางขายสินค้าและข้าวของที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชาวอาหรับและชาวมุสลิม ซึ่งถนนเส้นนี้จะมีบรรยากาศเป็นตึกแถว 2 ชั้นสไตล์ Colonial ทาสีสดใส ใกล้ ๆ กันมีแหล่งท่องเที่ยวที่อีกหลายอย่าง เช่น ตรอกฮาจิ (Haji Lane) อีกหนึ่งถนนแห่งการจับจ่ายของชาวสิงคโปร์ และมัสยิดสุลต่าน (Sultan Mosque) อันเป็นมัสยิดสำคัญและสวยงามของชาวสิงคโปร์มุสลิม 

สำหรับบ้านเราแล้ว 'Arab Street' หมายถึงซอยที่ตั้งอยู่ทางเหนือของซอยนานา (ซอยสุขุมวิท 3) ระหว่างซอยสุขุมวิท 3 และ ซอยสุขุมวิท 5 หรือ ซอยสุขุมวิท 3/1 'Arab Street' ประกอบไปด้วย ร้านอาหาร - ร้านค้ามากมาย จึงเป็นถนนท่องเที่ยวที่ถือเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ

'Arab Street' กรุงเทพฯ

ส่วน 'Arab Street' ถนนสายอาหรับ ณ กรุงเบอร์ลิน อยู่ที่ถนน Sonnenallee (“Sun Avenue”) ซึ่งเชื่อมระหว่างเขต Neukölln และ Treptow-Köpenick ยาว 5 กิโลเมตร ข้ามถนน Baumschulen ที่ปลายด้านตะวันออกเฉียงใต้ และสิ้นสุดที่ จัตุรัส Hermann ทางตะวันตกเฉียงเหนือ ถนนสายนี้ถูกสร้างขึ้นในปลายศตวรรษที่ 19 ซึ่งบริเวณรอบ ๆ ถนน Sonnenallee ถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับการเดินทางระหว่างชนบทกับเมืองในสมัยนั้น ถนนสายนี้ตัดผ่านจัตุรัสกลางเมืองหลายแห่ง เช่น จัตุรัส Hermann, จัตุรัส Hertzberg และ จัตุรัส Venus เดิมทีตลอดถนนมีต้นไม้สองข้างทาง จนถึงปี พ.ศ. 2508 ได้มีการวางรางรถรางไว้ ต่อมาในทศวรรษ 1980 ต้นไม้สองข้างทางถูกรื้อออกเพื่อให้เป็นช่องจราจรเพิ่มเติม หรือที่จอดรถ 

'Arab Street' ถนนสายอาหรับ ณ กรุงเบอร์ลิน

ปัจจุบันถนน Sonnenallee กลายเป็นถนน 6 เลน และเป็นเส้นทางสายสำคัญทางตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงเบอร์ลิน แต่เดิมถนน Sonnenallee เป็นที่รู้จักในชื่ออื่น ๆ เริ่มต้นด้วย Straße 84 (ถนนหมายเลข 84) ในปี พ.ศ. 2436 ห้าปีหลังจากการสิ้นพระชนม์ของ ‘Kaiser Friedrich Wilhelm’ ถนนสายนี้ถูกเปลี่ยนชื่อเพื่อเป็นการถวายพระเกียรติยศ และในปี พ.ศ. 2563 ถนนถูกขยายไปทางตะวันออกเฉียงใต้ และตั้งชื่อว่า Sonnenallee ในยุคสงครามเย็นเยอรมนียังไม่ได้รวมชาติ ถนนสายนี้ถูกกำแพงเบอร์ลินตัดผ่านเพื่อปิดกั้นทางข้ามพรมแดน

กระเป๋ามหาประลัย ที่กุมชะตาชีวิตของชาวโลก!! “Football & Cheget”

ประชากรกว่าเจ็ดพันล้านคนบนโลกใบนี้ ส่วนใหญ่แล้วไม่รู้ว่า ชะตากรรมของโลกขึ้นอยู่กับกระเป๋าเพียงสองใบ ใบแรกคือ “Football” อีกใบคือ “Cheget” ครั้งนี้จึงขอเล่าเรื่องราวของกระเป๋ามหาประลัยที่กุมชะตาชีวิตของชาวโลกทั้งสองใบนี้!!

“Football” (Nuclear Football) เป็นชื่อเรียก กระเป๋าฉุกเฉินติดตั้งปุ่มสั่งยิงอาวุธนิวเคลียร์ประจำตำแหน่งของประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็นกระเป๋าเอกสารซึ่งจะใช้โดยประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา เพื่ออนุญาตให้มีการโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธศาสตร์ในขณะที่อยู่ห่างจากศูนย์บัญชาการคงที่ เช่น ทำเนียบขาว ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางด้านอุปกรณ์เคลื่อนที่ในระบบการป้องกันทางยุทธศาสตร์ของประเทศสหรัฐอเมริกา ถูกนำพาและรักษาโดยนายทหารคนสนิทประจำตัวประธานาธิบดีฯ

จากข้อมูลของเว็บไซต์ businessinsider.com ได้อ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของ Bill Gulley เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวที่เคยผ่านงานอารักขาและการรักษาความปลอดภัยในทำเนียบขาว ซึ่งเปิดเผยว่า กระเป๋าสีดำที่ทั่วโลกเฝ้าสงสัยใบนี้คือสิ่งสำคัญที่ส่งมอบให้ประธานาธิบดีคนแล้วคนเล่าเพื่อใช้มันในภาวะฉุกเฉินและประกอบด้วยของสำคัญ 4 อย่างคือ

1.) หนังสือปกสีดำจำนวน 75 หน้า ซึ่งบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับนิวเคลียร์ และเงื่อนไขสำหรับการตอบโต้ในกรณีฉุกเฉิน โดยรายละเอียดจะถูกพิมพ์ด้วยหมึกสีดำและแดง
2.) หนังสือสีดำอีกหนึ่งเล่มที่รวบรวมรายชื่อสถานที่หลบภัยที่มีการป้องกันระดับสูงสุดซึ่งเข้าได้เฉพาะประธานาธิบดีสหรัฐฯ เท่านั้น
3. เอกสารจำนวน 10 หน้า ที่อธิบายเกี่ยวกับการวางตัวของประธานาธิบดีเมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมทั้งสิ่งที่ควรสื่อสารเมื่อทำการถ่ายทอดสดแบบฉุกเฉินด้วยตัวเอง
4. การ์ดสำหรับเข้าถึงข้อมูลรหัสระดับสูงของกระทรวงความมั่นคง (‘Biscuit’ การ์ดพลาสติกขนาด 3 คูณ 5 นิ้ว ซึ่งมีรหัสลับเพื่อยืนยันตัวตนประธานาธิบดี)

นอกจากนี้ยังมีกระเป๋าอีกแบบหนึ่งที่มีเสาอากาศยื่นออกมา ซึ่งมีคำกล่าวอ้างว่า กระเป๋าใบนั้นมีอุปกรณ์สื่อสารระดับสูงติดอยู่ และภายในมีคำสั่งยิงนิวเคลียร์ติดอยู่ด้วย และเพื่อความปลอดภัยสูงสุด กระเป๋าใบนี้จึงไม่ได้ถูกถืออยู่ในมือของประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดยตรง แต่จะมีนายทหารติดตามรับหน้าที่ดูแลกระเป๋าใบนั้นแทน และคนที่จะมารับตำแหน่งนี้ได้ ก็ต้องผ่านฝึกงานด้านอารักขามาโดยเฉพาะ และต้องมีทักษะพิเศษที่สามารถดำเนินการยิงนิวเคลียร์ภายใต้คำสั่งของประธานาธิบดีภายในเวลาไม่กี่นาทีเท่านั้น

Football มาจากรหัสปฏิบัติการสงครามนิวเคลียร์ ‘Operation Dropkick’ เพราะการ Dropkick ต้องใช้ Football เป็นอาวุธ กระเป๋าหนังใบนี้จะอยู่กับทหารองครักษ์ของประธานาธิบดี ซึ่งต้องเดินเป็นเงาตามตัวตลอดเวลาเมื่อออกนอกสถานที่ ทั้งในเครื่องบินประจำตำแหน่งประธานาธิบดี Air Force One, เฮลิคอปเตอร์ประจำตำแหน่งประธานาธิบดี Marine One และการเดินทางด้วยพาหนะอื่น ๆ โดยนายทหารติดตามนี้จะเป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติตามกำหนดครบถ้วน

Nuclear Football เริ่มมีใช้ตั้งแต่สมัย ประธานาธิบดี John F. Kennedy ในช่วงวิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา Football รุ่นปัจจุบันเป็นกระเป๋าโลหะ Zero-Halliburton หนัก 20 กิโลกรัม หุ้มด้วยหนังสีดำ กระเป๋านี้เปลี่ยนมาหลายใบแล้ว Nuclear Football ที่ปลดระวางแล้วจะนำไปเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์ Smithsonian’s National Museum of American History ในวอชิงตัน เพื่อแสดงให้ประชาชนเห็นถึงอำนาจและความรับผิดชอบของประธานาธิบดี 

ประธานาธิบดี George W. Bush และ Donald H. Rumsfeld รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ในขณะนั้นเดินออกศูนย์บัญชาการทหารแห่งชาติ (National Military Command Center) ณ กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เมื่อ 23 มีนาคม พ.ศ. 2546

มีข้อมูลระบุอีกว่า จริง ๆ แล้ว Nuclear Football มีทั้งหมดสามใบ หนึ่งอยู่ที่ประธานาธิบดี ใบที่สองอยู่กับรองประธานาธิบดี และสามอยู่ที่ทำเนียบขาว เพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉิน เมื่อมีเหตุฉุกเฉินที่จำเป็นต้องใช้มาตรการตอบโต้การโจมตีด้วยขีปนาวุธนิวเคลียร์ ประธานาธิบดีซึ่งเป็นผู้บัญชาการสูงสุดจะออกคำสั่งและส่งรหัสบนการ์ด Biscuit ไปยังศูนย์บัญชาการทหารแห่งชาติ (National Military Command Center) ณ กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (อาคาร Pentagon) โดยมีหน้าที่เฝ้าระวังภัยคุกคามนิวเคลียร์จากทั่วโลก

จากนั้นรหัสนี้จะส่งไปยังกระทรวงกลาโหม (สามารถทำการตัดสินใจแทนได้ในกรณีที่ประธานาธิบดีถูกลอบสังหาร) ตามด้วยศูนย์บัญชาการฐานทัพอากาศในมลรัฐ Nebraska และตามกฎ Two-man rule ของสหรัฐฯ ผู้ดำเนินการยิงขีปนาวุธต้องยืนยันรหัสว่า รหัสที่ประธานาธิบดีส่งมาตรงกับรหัสที่เก็บรักษาไว้ โดยการยิงขีปนาวุธนี้ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ สามารถสั่งให้ยิงไปยังเป้าหมายศัตรูทั้งหมด หรือเลือกยิงเป็นบางเมืองได้ เช่น กรุงเปียงยาง กรุงปักกิ่ง และกรุงมอสโคว์

เหล่าบรรดานายทหารที่ทำหน้าที่ถือกระเป๋า ล้วนแต่ถูกฝึกมาให้สามารถเปิดคำสั่งยิงอาวุธนิวเคลียร์ได้ภายในระยะเวลา 2-3 นาทีเท่านั้น!!! Robert Patterson อดีตนายทหารระดับสูงที่เคยถือกระเป๋าฟุตบอลให้กับประธานาธิบดี Bill Clinton ได้ให้สัมภาษณ์กับทาง Associated Press ว่า “คุณจะเหมือนว่ามีความกังวลอยู่ตลอด บางครั้งผมก็เปิดมันขึ้นมาเพื่อดูว่ามันมีอะไรอยู่ภายใน เพื่อความแน่ใจ และเป็นการ Refresh ตัวเองเท่านั้น ที่สำคัญราวกับเป็นการเตรียมตัวและฝึกซ้อม เมื่อถึงสถานการณ์ฉุกเฉินที่ท่านประธานาธิบดีต้องตัดสินใจบางเรื่องสำคัญ คุณสามารถทำมันได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ” เพราะฉะนั้นกระเป๋าฟุตบอลนี้จะอยู่ติดตัวกับท่านประธานาธิบดีตลอด บนเครื่องบินลำเดียวกัน รถคันเดียวกัน และพออยู่ในทำเนียบขาว ก็จะอยู่ในตู้ลับปลอดภัยที่เก็บล็อกเอาไว้อย่างแน่นหนา!!! ตามคำบอกเล่าของ Patterson เขาเคยต้องถือกระเป๋านี้วิ่งไปรอบ ๆ ทำเนียบขาว เพราะประธานาธิบดี Clinton มักจะวิ่งออกกำลังกายรอบ ๆ ทำเนียบขาว เป็นภาพที่ทุลักทุเลพอสมควรเลยทีเดียว

ด้วยประธานาธิบดีสหรัฐฯ จำเป็นและต้องการอำนาจการสั่งยิงหัวรบอย่างรวดเร็ว และได้ยกเรื่องนี้ขึ้นในที่ประชุมของประเทศ กระเป๋าใบนี้ จึงเป็นสิ่งที่แสดงถึงแสนยานุภาพทางการทหาร และหัวรบนิวเคลียร์ ที่ติดตามประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาจากรุ่นสู่รุ่นไปในทุก ๆ ที่ คนทั่วไปก็คงจะนึกว่าเป็นกระเป๋าเอกสาร หรือของใช้อะไรพวกนั้น ไม่คิดเลยว่า กระเป๋าใบนี้จะสำคัญขนาดนี้ ประมาทสิ่งของเล็ก ๆ ไม่ได้จริง ๆ ถึงจะเป็นของประจำตัวประธานาธิบดีสหรัฐฯ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะติดตามตัวไปในทุกที่ เพราะอย่างน้อยเมื่อเดินทางกลับบ้าน กระเป๋าใบนี้จะยังคงถูกเก็บไว้ในทำเนียบขาว และถูกคุ้มกันเป็นอย่างดี ที่สำคัญคือ ไม่เคยมีใครเปิดเผยว่า กระเป๋าใบนี้ถูกเก็บเอาไว้ที่ไหน?

Cheget (ชีเกท) หรือกระเป๋าใส่รหัสยิงอาวุธนิวเคลียร์ประจำตัวประธานาธิบดีรัสเซีย ครั้งหนึ่งในช่วงเวลาเช้าตรู่ของวันที่ 25 มกราคม ปี พ.ศ. 2538 เจ้าหน้าที่เรดาร์ของรัสเซียที่ Olenegorsk กับงานอันน่าเบื่อในการนั่งจ้องมองกับจอเรดาร์ทั้งวันทั้งคืน แต่ทว่าวันนี้แตกต่างจากวันอื่น ๆ ที่ผ่านมา เพราะสัญญาณเตือนบางอย่างแสดงขึ้นมาให้เห็นบนจอเรดาร์ว่า มีการตรวจพบวัตถุบางอย่างกำลังเคลื่อนที่เข้ามาด้วยความเร็วสูงในทะเล Barents และมันกำลังมุ่งหน้าตรงดิ่งเข้ามาทางภาคเหนือของรัสเซีย

เมื่อพบสัญญาแจ้งการมาของวัตถุบางอย่างบนจอเรดาร์ เจ้าหน้าที่เรดาร์ของรัสเซียที่เข้าเวรอยู่ในเวลานั้น ทำการวิเคราะห์ถึงลักษณะของวัตถุและที่มาของมัน ใช้เวลาไม่นานนัก พวกเขาก็ทราบว่า วัตถุลึกลับนั้นมันคือ Missile ไม่ทราบประเภทและขนาดของมัน ข้อสันนิษฐานแรกในวินาทีนั้นของรัสเซีย พวกเขาเชื่อว่า เจ้า Missile นี้มันน่าจะถูกยิงมาจากเรือดำน้ำของกองทัพเรืออเมริกัน ที่มักจะเข้ามาลาดตระเวนในบริเวณนั้นเป็นประจำ เพื่อสังเกตการณ์ความเคลื่อนไหวของกองเรือรบรัสเซีย และจากระยะทางที่มันถูกยิงออกมา มันจะเข้าถึงแผ่นดินใหญ่ของรัสเซียได้ภายในเวลา 10 นาที

ประธานาธิบดี Boris Yeltsin กับ ประธานาธิบดี Putin

ข่าวการตรวจพบ Missile นี้ ถูกแจ้งไปยังกองบัญชาการกองทัพรัสเซียในกรุงมอสโกทันทีว่า รัสเซียกำลังถูกโจมตีจาก Missile ที่ถูกยิงออกมาจากเรือดำน้ำของอเมริกัน ข้อมูลทั้งหมดถูกรีบแจ้งไปยังประธานาธิบดี Boris Yeltsin (ประธานาธิบดีรัสเซียในขณะนั้น) ว่า พวกเขามีเวลาเพียง 10 นาทีเท่านั้น ที่ต้องรีบในการตัดสินใจทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ในวิกฤตินี้ 5 นาทีผ่านไป มีคำสั่งไปยังกองทัพเรือรัสเซีย ให้เรือดำน้ำรัสเซียทุกลำ รวมทั้งเรือดำน้ำที่ติดขีปนาวุธนิวเคลียร์ ที่ลอยลำอยู่ในน่านน้ำใกล้ ๆ กับแผ่นดินสหรัฐอเมริกา ให้เริ่มดำเนินการเตรียมยิงขีปนาวุธ และรอคำสั่งยิง เพื่อทำการโต้ตอบต่อแผ่นดินสหรัฐอเมริกา พร้อมกับเน้นย้ำไปยังเรือทุกลำว่า “นี่ไม่ใช่การซ้อมรบ” 4 นาทีผ่านไป ผู้บัญชาการกองทัพรัสเซีย ทุกเหล่าทัพรอฟังคำสั่งยิงจากประธานาธิบดี Yeltsin โดยมีการนำ Cheget หรือกระเป๋าใส่รหัสยิงอาวุธนิวเคลียร์ประจำตัวประธานาธิบดีรัสเซียมาเตรียมไว้ให้

ขีปนาวุธยิงจากเรือดำน้ำของรัสเซีย

เรือดำน้ำบรรทุกอาวุธนิวเคลียร์ดำเนินขั้นตอนการยิงจรวดพร้อมแล้ว เหลือแค่รอคำสั่งยิงเท่านั้น ความตึงเครียดก่อตัวไปทั่วห้องบัญชาการที่มอสโก นายทหารและเจ้าหน้าที่ทุกคน จับจ้องมาที่ตัวของประธานาธิบดี Yeltsin เพราะเขาคือผู้เดียวเท่านั้นในรัสเซียที่จะออกคำสั่งยิงได้ แต่ประธานาธิบดี Yeltsin เลือกที่จะยังไม่ออกคำสั่งใด ๆ เขากลับรอเวลาเพื่อดูท่าทีอีกครั้งหนึ่ง ท่ามกลางเสียงเร่งเร้าและเตือนของบรรดานายทหาร แต่หลังจาก 9 นาทีผ่านไป Missile ลึกลับนั้นก็ได้หายไปจากจอเรดาร์ สัญญาณสุดท้ายที่ตรวจพบ Missile ลูกนี้ คือบริเวณเหนือท้องทะเล

กองทัพรัสเซียรีบทำการตรวจสอบเมืองทุกเมืองในรัสเซีย หรือแม้กระทั่งหมู่บ้านที่ห่างไกลในทุก ๆ มุมของรัสเซีย ตั้งแต่ไครเมีย จนถึง ไซบีเรีย ว่ามีสถานที่แห่งใดในรัสเซียบ้างที่เสียหายจากการโจมตี หลังจากนั้นไม่นาน ก็มีรายงานกลับมาว่า “ไม่มีเมือง หรือ พื้นที่ใด ๆ ในรัสเซีย เสียหายจากการโจมตีแต่อย่างใด” Missile ลูกนั้นมันมาไม่ถึงแผ่นดินรัสเซีย ทุกคนในห้องต่างโล่งอก เมื่อแน่ชัดว่า Missile นั้นหายไปแล้วประธานาธิบดี Yeltsin จึงออกคำสั่งไปยังกองทัพรัสเซีย ให้ยกเลิกคำสั่งยิงอาวุธนิวเคลียร์ และกองกำลังที่เตรียมพร้อมอยู่นั้น ให้ลดระดับการเตรียมพร้อมรบลงมาในระดับปกติ

Black Brant XII จรวดสำรวจชั้นบรรยากาศ

หลังจากนั้น 1 ชั่วโมงต่อมา ทางการรัสเซียจึงได้ทราบข้อเท็จจริงว่า แท้จริงแล้ว Missile ลึกลับนั้นคือ Black Brant XII จรวดสำรวจชั้นบรรยากาศของทีมนักวิทยาศาสตร์นอร์เวย์และอเมริกัน เพื่อศึกษาปรากฏการณ์ การเกิดแสงออโรร่า (Aurora) ในชั้นบรรยากาศโลก เหตุการณ์ที่เกือบนำพาโลกเข้าสู่สงครามนิวเคลียร์นี้ ได้ทำให้ประธานาธิบดีของอเมริกาและรัสเซีย ต้องหันมาวางมาตรการการป้องกันการเกิดเรื่องเข้าใจผิด ที่เกือบจะเลยเถิดจนกลายเป็นสงครามในครั้งนี้

“หมู่เกาะบริติชเวอร์จิน” เกาะสวรรค์ของธุรกิจสีเทา (The British Virgin Islands : BVI)

หมู่เกาะบริติชเวอร์จิน หรือ หมู่เกาะเวอร์จินของอังกฤษ (BVI) เป็นดินแดนโพ้นทะเลของสหราชอาณาจักร ประกอบด้วยเกาะน้อยใหญ่กว่า 50 เกาะ ตั้งอยู่ในทะเลแคริบเบียน ทางตะวันออกของประเทศจาเมกา เปอร์โตริโก และหมู่เกาะเวอร์จินของสหรัฐอเมริกา และทางตะวันตกเฉียงเหนือของแองกวิลลา หมู่เกาะเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของหมู่เกาะเวอร์จิน และตั้งอยู่ในหมู่เกาะลีวาร์ดของเลสเซอร์แอนทิลลิส และเป็นส่วนหนึ่งของหมู่เกาะอินเดียตะวันตก

BVI ประกอบด้วยเกาะหลัก ๆ คือ Tortola, Virgin Gorda, Anegada และ Jost Van Dyke พร้อมด้วยเกาะที่มีสันดอนเล็ก ๆ อีกกว่า 50 เกาะ มีเกาะที่มีผู้อาศัยอยู่ประมาณ 16 เกาะ เมืองหลวงคือ กรุง Road Town ตั้งอยู่บนเกาะ Tortola ซึ่งเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งมีความยาวประมาณ 20 กม. (12 ไมล์) และกว้าง 5 กม. (3 ไมล์) หมู่เกาะมีประชากร 28,054 คน ในการสำรวจสำมะโนประชากรปี 2010 โดย 23,491 คนอาศัยอยู่บน Tortola ประมาณการเมื่อกรกฎาคม 2018 จำนวนประชากรอยู่ที่ 35,802 คน ชาวเกาะบริติชเวอร์จินเป็นพลเมืองของดินแดนโพ้นทะเลของอังกฤษ และตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 จึงกลายเป็นพลเมืองอังกฤษด้วย

BVI เป็นเกาะที่รับจดทะเบียนของบริษัทกว่า 600,000 แห่ง ที่มีทรัพย์สินมูลค่ากว่า 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ (49.5ล้านล้านบาท) และต้องการมาตรการในการ เคลื่อนไหว ปรับปรุง แก้ไขต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส เมื่อเดินผ่านใจกลางกรุง Road Town เมืองหลวงของหมู่เกาะแคริบเบียนแห่งนี้ มีไก่นานาชนิดขันแข่งขันกันเต็มไปหมดกับรถยนต์บนถนนแคบ ๆ สายเดียว ซึ่งเป็นถนนสายหลัก มีบริษัทกฎหมายที่ตั้งและให้บริการบริษัทนอกอาณาเขตหลายพันแห่ง มีอาคารขนาดเล็กติดกับบ้านไม้สีสดใส ซึ่งมีร้านเสริมสวยราคาถูก และร้านเสื้อผ้าชื่อดังอย่าง “GoodFellas”

นอกจากป้ายถนนสีเขียวบางจุดบนถนนสายหลักแล้ว ยังมีถนนอีกหลายสายที่ทำเครื่องหมายไว้ BVI ไม่มีการจัดส่งทางไปรษณีย์ ธุรกิจ และผู้อยู่อาศัยกว่า 35,000 คน ใช้ตู้ไปรษณีย์เป็นที่อยู่ จึงเป็นเหตุผลว่าทำไม ที่ทำการไปรษณีย์ที่มีตู้จดหมายหนึ่งแห่งในกรุง Road Town สามารถเป็นที่อยู่ของ บริษัทหลายพันแห่งจากทั่วโลก ทนายความ นักบัญชี และตัวแทนบริษัทหลายร้อยคน ทำงานจากอาคารที่กระจายอยู่รอบเกาะ Tortola จากประเทศที่รูปแบบให้บริการคล้ายกันอย่าง ลักเซมเบิร์ก โมนาโก หรือแม้แต่บางส่วนของหมู่เกาะเคย์แมน เงินลงสู่ทุกซอกทุกมุมใน BVI ความมั่งคั่งของบริษัทสีเทาผ่านไปชนิดที่แทบจะไร้ร่องรอยให้ตรวจสอบ

กฎหมาย Business Ownership Secure Search System หรือ BOSS ซึ่ง BVI เริ่มใช้ในปี พ.ศ. 2560 เพื่อตอบสนองความต้องการของหน่วยงานระหว่างประเทศที่ต้องการติดตามเจ้าของบริษัท แต่จะมีเพียงเจ้าหน้าที่นิรนามสองคนของสำนักงานสืบสวนทางการเงินของ BVI เท่านั้นที่สามารถสืบค้นหาทั้งระบบได้ ซึ่งในระบบมีรายละเอียดเกี่ยวกับเจ้าของธุรกิจกว่า 600,000 รายที่มีบริษัทที่ควบคุมโดยตรงหรือโดยอ้อมใน BVI คิดเป็นประมาณหนึ่งในสามของบริษัทนอกอาณาเขตทั้งหมดทั่วโลกที่มาจดทะเบียนใน BVI

BOSS ใช้การเข้ารหัสที่ไม่เคยถูกแฮ็กและไม่สามารถแฮ็กได้ ถ้ามีใครพยายามเข้าถึง BOSS จากที่ไหนสักแห่งที่ผิดปกติ เช่น เกาหลีเหนือ ระบบจะถูกปิดทันที ข้อมูลถูกเก็บไว้ในสถานที่ลับในประเทศ G-7 แต่ไม่ใช่สหรัฐอเมริกา การเปลี่ยนแปลงกำลังจะเกิดขึ้นกับ BVI เมื่อรัฐสภาแห่งสหราชอาณาจักรได้ลงมติให้บังคับใช้มาตรการความโปร่งใสใน BVI และดินแดนโพ้นทะเลของอังกฤษอีก 13 แห่ง ซึ่งเป็นกลุ่มอดีตอาณานิคมที่สมเด็จพระราชินีทรงแต่งตั้งผู้ว่าการ เพื่อควบคุมดูแลงานด้านการต่างประเทศและการบังคับใช้กฎหมาย ตลอดจนระบบตุลาการให้เป็นไปตามกฎหมายทั่วไปของอังกฤษ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ขอฉันทมติข้ามพรรคในหมู่สมาชิกรัฐสภาอังกฤษได้ยาก ด้วยอยู่ในภาวะติดขัดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 จากมาตรการ Brexit เพื่อออกจากสหภาพยุโรป ส่วนสำคัญของกฎหมายเพื่อความโปร่งใส คือ ข้อกำหนดที่แต่ละดินแดนโพ้นทะเลของสหราชอาณาจักรต้องจัดทำมาตรการที่โปร่งใสบางอย่างเช่น BOSS และเผยแพร่สู่สาธารณะ

ข้อตกลง “AUKUS” ความมั่นคงไตรภาคี ระหว่างสหรัฐฯ - อังกฤษ - ออสเตรเลีย ที่ต้านแสนยานุภาพจีน!!

AUKUS เป็นข้อตกลงที่ประกาศเมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2564 ภายใต้ข้อตกลงนี้ สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร จะช่วยออสเตรเลียในการพัฒนา และปรับปรุงเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ และเพิ่มการประจำการของกองกำลังด้านตะวันตกของภูมิภาคแปซิฟิก แม้ว่าการแถลงการณ์ร่วมของ “Scott Morrison” นายกรัฐมนตรีของออสเตรเลีย “Boris Johnson” นายกรัฐมนตรีของอังกฤษ และ “Joe Biden” ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ จะไม่ได้เอ่ยถึงชื่อประเทศอื่นใดเลยก็ตาม แหล่งข่าวของทำเนียบขาวที่ไม่ระบุนามได้กล่าวว่า AUKUS ถูกออกแบบมาเพื่อต่อต้านอิทธิพลของจีนในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก อย่างไรก็ตาม Boris Johnson กล่าวต่อรัฐสภาอังกฤษในเวลาต่อมาว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นปฏิปักษ์กับจีนแต่อย่างใด

ข้อตกลงนี้ครอบคลุมประเด็นสำคัญ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ สงครามไซเบอร์ เทคโนโลยีใต้น้ำ และความสามารถในการโจมตีระยะไกล นอกจากนี้ยังรวมถึงส่วนประกอบนิวเคลียร์ ซึ่งอาจจำกัดอยู่ที่สหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร ในโครงสร้างพื้นฐานด้านการป้องกันนิวเคลียร์ ข้อตกลงดังกล่าวจะมุ่งเน้นไปที่ความสามารถทางทหาร โดยแยกออกจากกลุ่มพันธมิตรแบ่งปันข่าวกรอง (Five Eyes : ชุมชนข่าวกรองที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก 5 ชาติ ได้แก่ อังกฤษ สหรัฐฯ แคนาดา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์) เมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2564 ฝรั่งเศสซึ่งเป็นพันธมิตรของสามประเทศได้เรียกเอกอัครรัฐทูตกลับจากออสเตรเลียและสหรัฐอเมริกา Jean-Yves Le Drian รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศส เรียกข้อตกลงนี้ว่าเป็นการ "แทงข้างหลัง" เพราะเป็นการขัดขวางแผนยุทธศาสตร์ของฝรั่งเศสในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และนำไปสู่การยกเลิกข้อตกลงเรือดำน้ำฝรั่งเศส-ออสเตรเลียมูลค่า 56 พันล้านยูโร (90 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย) ของออสเตรเลียเพียงฝ่ายเดียว

ในปี พ.ศ. 2552 สองปีหลังจากการเริ่มต้นของโครงการที่ขับเคลื่อนตามอัตภาพเพื่อหาเรือดำน้ำแทนที่เรือดำน้ำ Collins class ของกองทัพเรือออสเตรเลีย Australian Defense White Paper กล่าวว่า "รัฐบาลได้ตัดขาดการขับเคลื่อนด้วยพลังงานนิวเคลียร์สำหรับเรือดำน้ำเหล่านี้" ดังนั้นจึงถอดเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ Suffren class ของฝรั่งเศส ขับเคลื่อน ออกจากความขัดแย้ง

พ.ศ. 2559 นายกรัฐมนตรี Malcolm Turnbull ของออสเตรเลียได้ลงนามในข้อตกลงมูลค่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (31 พันล้านยูโร) กับบริษัท Naval Group ของฝรั่งเศส (รู้จักกันในชื่อ DCNS จนถึงปี พ.ศ. 2560) เพื่อออกแบบเรือดำน้ำรุ่นใหม่ที่เรียกว่า Attack class ภายใต้โครงการเรือดำน้ำ "อนาคต" โดยกำหนดให้แทนที่เรือดำน้ำ Collins class ของกองทัพเรือออสเตรเลียในปัจจุบัน เรือดำน้ำจำนวน 12 ลำ จะถูกสร้างขึ้นทั้งในออสเตรเลียและฝรั่งเศส อย่างไรก็ตามโครงการถูกรุมเร้าด้วยความล่าช้าและต้นทุนที่สูงมาก นำไปสู่ความไม่แน่นอนและความตึงเครียด เบื้องหลังค่าใช้จ่ายที่ต้องแก้ไข รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อตลอดระยะเวลาของโครงการ มูลค่าจึงเพิ่มเป็นที่ 90 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (56 พันล้านยูโร)

เนื่องจากพลังงานนิวเคลียร์เป็นเรื่องต้องห้ามในออสเตรเลีย จึงได้มีการตัดสินใจเปลี่ยนการออกแบบเรือดำน้ำจู่โจมโจมตีพลังงานนิวเคลียร์ล่าสุดของฝรั่งเศส Barracuda class เป็นแบบขับเคลื่อนด้วยดีเซล-ไฟฟ้า ข้อแตกต่างอีกประการหนึ่งคือ ออสเตรเลียเลือกที่จะติดตั้งระบบอาวุธของ Lockheed Martin โดยทั่วไปแล้วออสเตรเลียกำหนดให้มีการสร้างเรือบางส่วนในประเทศ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น ในกรณีนี้คิดเป็นร้อยละ 60 ของมูลค่าสัญญา โดยฝรั่งเศสจะสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยี

เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 แผนการออกแบบเบื้องต้นถูกปฏิเสธเนื่องจากมีราคาแพงเกินไป และกองทัพเรือออสเตรเลียได้รับมอบหมายให้ปรับปรุงข้อเสนอจนถึงเดือนกันยายน ในการไต่สวนของวุฒิสภาเมื่อต้นเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2564 โดยมีความล่าช้าอย่างต่อเนื่อง Greg Moriarty รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า ภายใต้คำถามที่ว่า เขาได้พิจารณาจัดทำแผนฉุกเฉินหากโครงการของฝรั่งเศสล้มเหลว โดยยอมรับว่ามีปัญหาต่อเนื่องมานานกว่าหนึ่งปีแล้ว สองสัปดาห์ต่อมา Scott Morrison นายกรัฐมนตรีของออสเตรเลียได้พบกับประธานาธิบดี Emmanuel Macron ในกรุงปารีส และแสดงความกังวลเกี่ยวกับโครงการที่ดำเนินไปอย่างล่าช้า ซึ่งประธานาธิบดี Macron ตอบว่า ฝรั่งเศสให้คำมั่น "อย่างเต็มที่และสมบูรณ์" และจะดำเนินการ "ต่อไปและเร็วขึ้นเท่าที่เป็นไปได้" 

ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2564 Hervé Grandjean โฆษกกระทรวงกลาโหมของฝรั่งเศสระบุว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลวงกลาโหมของฝรั่งเศสและออสเตรเลียได้ออกแถลงการณ์ร่วมยืนยันโครงการดังกล่าว โดยระบุว่า "รัฐมนตรีฯ ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของโครงการเรือดำน้ำในอนาคต"

ออสเตรเลียตัดสินใจยกเลิกสัญญากับ Naval Group สำหรับเรือดำน้ำ Attack class แม้ว่าจะใช้เงินไปแล้วประมาณ 2.4 พันล้านดอลลาร์ในโครงการของฝรั่งเศส คาดว่า ออสเตรเลียจะต้องจ่ายเงินอีกหลายร้อยล้านยูโรเป็นค่าปรับสำหรับการยกเลิกสัญญา

มีการเปิดเผยว่าในวันที่โครงการถูกยกเลิก ออสเตรเลียได้เขียนจดหมายถึงฝรั่งเศสโดยระบุว่า "พวกเขาพอใจกับประสิทธิภาพที่ทำได้ของเรือดำน้ำและความคืบหน้าของโครงการ"

พลเรือโท Michael Noonan ผู้บัญชาการกองทัพเรือออสเตรเลีย ได้พบกับพลเรือเอก Tony Radakin ผู้บัญชาการกองทัพเรือแห่งสหราชอาณาจักร

การเจรจาระหว่างออสเตรเลีย-สหราชอาณาจักร-สหรัฐฯ The Telegraph รายงานว่า ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2564 พลเรือโท Michael Noonan ผู้บัญชาการกองทัพเรือออสเตรเลีย ได้พบกับพลเรือเอก Tony Radakin ผู้บัญชาการกองทัพเรือแห่งสหราชอาณาจักรที่กรุงลอนดอน และขอความช่วยเหลือจากสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกาสำหรับการจัดหาเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ The Telegraph รายงานอีกด้วยว่า Dominic Raab รัฐมนตรีต่างประเทศของสหราชอาณาจักร "ทำหน้าที่เป็นตัวแทนตามข้อตกลง"

The New York Times ระบุว่า Boris Johnson นายกรัฐมนตรีของอังกฤษ และ Joe Biden ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ได้หารือกันในการประชุมสุดยอด G7 เมื่อมิถุนายน พ.ศ. 2564 ในเมืองคอร์นวอลล์ สหราชอาณาจักร The Guardian รายงานว่า มีการเจรจาไตรภาคีระหว่าง Johnson กับ Biden และ Morrison ในการประชุมสุดยอด G7 การเจรจาเกิดขึ้นโดยไม่มีประธานาธิบดี Macron ร่วมด้วย ซึ่งแนวทางนี้เป็นไปได้เนื่องจากสหราชอาณาจักรจะไม่เข้าสู่นโยบายต่างประเทศอย่างเป็นทางการและสนธิสัญญาความมั่นคงในข้อตกลงหลัง Brexit กับสหภาพยุโรป (EU) เป็นผลให้สหราชอาณาจักรมีอิสระที่จะแสวงหาความร่วมมือที่เพิ่มขึ้นกับพันธมิตรอื่น ๆ The Guardian ยังรายงานว่า ออสเตรเลียกำลังพิจารณาทางเลือกอื่น ๆ นอกเหนือจากข้อตกลงเรือดำน้ำ Attack class ต่อไปอีก 18 เดือน

ก่อนหน้านี้สหรัฐฯ และออสเตรเลียได้ประกาศการพัฒนาขีปนาวุธที่มีความเร็วเหนือเสียงร่วมกัน ทั้งออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ต่างเป็นสมาชิกของโครงการ Joint Strike Fighter (F-35)

ข้อตกลง AUKUS จะรวมถึงข้อกำหนดที่ทำให้ออสเตรเลียสามารถจัดหาเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ได้ เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์มีความเร็วมากกว่า สามารถอยู่ใต้น้ำได้นานขึ้น และสามารถบรรทุกอาวุธได้มากกว่าเรือดำน้ำทั่วไป ปัจจุบันมีเพียง 6 ประเทศเท่านั้นที่มีเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ ได้แก่ สมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (จีน ฝรั่งเศส รัสเซีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา) และอินเดีย สหรัฐฯ จะจัดหายูเรเนียมเสริมสมรรถนะสูง (HEU) ให้กับออสเตรเลียเพื่อเป็นพลังงานให้กับเรือดำน้ำ ออสเตรเลียตกลงที่จะไม่ผลิตยูเรเนียมเสริมสมรรถนะสูงเอง

หมายเหตุ เครื่องปฏิกรณ์ทางเรือของสหรัฐอเมริกาล้วนแต่เป็นเครื่องปฏิกรณ์แรงดันน้ำ (PWR) ทั้งหมด Rolls-Royce PWR3 ของสหราชอาณาจักรเป็นระบบใหม่ที่มีพื้นฐานมาจากการออกแบบของสหรัฐฯ แต่ใช้เทคโนโลยีเครื่องปฏิกรณ์ของสหราชอาณาจักร

ออสเตรเลีย Lloyd Austin รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ

การปรับใช้เครื่องปฏิกรณ์ของสหรัฐอเมริกาสำหรับออสเตรเลีย ในการเจรจาในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ระหว่างสหรัฐฯ กับรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมและการต่างประเทศของออสเตรเลีย Peter Dutton รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของออสเตรเลียกล่าวว่า ประเทศต่าง ๆ จะ "ส่งเสริมความร่วมมือด้านท่าทีของกองกำลังของเราอย่างมีนัยสำคัญ" ซึ่งรวมถึง "ความร่วมมือทางอากาศที่มากขึ้นผ่านการส่งเครื่องบินทหารของสหรัฐฯ ทุกประเภท ไปประจำการในออสเตรเลีย" Dutton ยังระบุด้วยว่า อาจมีการเพิ่มในการหมุนเวียนจำนวนของกำลังทหารสหรัฐที่ถูกส่งไปประจำการที่นครดาร์วิน และการฝึกซ้อมทางทหารร่วมกับสหรัฐฯ และพันธมิตรในภูมิภาคอื่น ๆ และฐานทัพและที่เก็บอุปกรณ์เพิ่มเติมในออสเตรเลีย

Lloyd Austin รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ กล่าวว่า ประเทศต่าง ๆ จะมองหาโอกาสที่มากขึ้นในการปฏิบัติการรบร่วมกัน โดยระบุว่า จะมีกำลังทหารและเครื่องบินรบของสหรัฐฯ ในออสเตรเลียมากขึ้น Austin ยังไม่การคาดว่า สหรัฐฯ จะคาดหวังให้ออสเตรเลียให้ผลประโยชน์เพื่อแลกกับเทคโนโลยีนิวเคลียร์ เช่น ขีปนาวุธพิสัยกลาง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top