ย้อนอดีต ‘อโนชา ปันจ้อย’ 44 ปีแห่งการหายตัวของหญิงไทย ผู้ถูกสายลับเกาหลีเหนือลักพาตัว

รัฐบาลญี่ปุ่นยอมรับอย่างเป็นทางการจากว่าชาวญี่ปุ่นเพียง 17 คน (ชาย 8 คนและหญิง 9 คน) ถูกลักพาตัวไป

เรื่องของ อโนชา ปันจ้อย หญิงสาวชาวไทย ผู้ซึ่งถูกสายลับเกาหลีเหนือลักพาตัวไปจากอาณานิคมมาเก๊าของโปรตุเกส เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2521 (วันนี้เมื่อ 44 ปีก่อน) เห็นชื่อเรื่องแล้วผู้อ่านหลายๆ ท่านคงจะสงสัยว่า เรื่องแบบนี้เคยเกิดขึ้นกับคนไทยด้วยหรือ เพราะข่าวส่วนใหญ่มักเกิดกับคนญี่ปุ่น โดยเฉพาะในระหว่าง ปี พ.ศ. 2520 ถึง 2526 แม้ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นยอมรับอย่างเป็นทางการว่า มีชาวญี่ปุ่นเพียง 17 คน (ชาย 8 คนและหญิง 9 คน) ถูกลักพาตัวไป แต่ในความเป็นจริงแล้วอาจมีชาวญี่ปุ่นอีกหลายร้อยคนที่ถูกสายลับเกาหลีเหนือลักพาตัว ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2545 รัฐบาลเกาหลีเหนือยอมรับว่า ได้ทำการลักพาตัวพลเมืองญี่ปุ่น และขอโทษ ในขณะเดียวกันก็สัญญาว่าจะป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก

รัฐบาลเกาหลีเหนือยอมรับว่า ได้ทำการลักพาตัวพลเมืองญี่ปุ่นไป 13 คน

แม้ว่า ในเดือนตุลาคมปีนั้นผู้ที่ถูกลักพาตัวชาวญี่ปุ่นห้าคนจะได้เดินทางกลับญี่ปุ่น แต่ผู้ถูกลักพาตัวชาวญี่ปุ่นที่เหลือรัฐบาลเปียงยางยังไม่ได้ให้คำอธิบายใด ๆ ที่ยอมรับได้อีกเลย ถึงแม้ว่า เกาหลีเหนือจะมีพันธะสัญญาอย่างชัดเจนจากการประชุมสุดยอดผู้นำญี่ปุ่น-เกาหลีเหนือเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2547 เพื่อดำเนินการสอบสวนโดยละเอียดในทันทีในการตรวจสอบจำนวนชาวญี่ปุ่นที่ถูกลักพาตัวทั้งหมด 

การยืนยันของเกาหลีเหนือเกี่ยวกับประเด็นการลักพาตัวนั้น เกาหลีเหนือไม่ได้ให้หลักฐานที่น่าพอใจหรือที่น่าเชื่อใดๆ ดังนั้นรัฐบาลญี่ปุ่นจึงไม่ยอมรับ 

สำหรับการลักพาตัวพลเมืองญี่ปุ่นนั้น ทางรัฐบาลญี่ปุ่นถือเป็นปัญหาสำคัญที่เกี่ยวข้องกับอำนาจอธิปไตยของญี่ปุ่น ชีวิตและความปลอดภัยของพลเมืองญี่ปุ่น หากไม่มีการแก้ไขปัญหานี้ ความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับเกาหลีเหนือก็จะยังไม่ถือว่าเป็นปกติ 

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลญี่ปุ่นให้คำมั่นแก่ชาวญี่ปุ่นที่จะพยายามอย่างที่สุดในการติดตามและนำผู้ถูกลักพาตัวทั้งหมดกลับมายังประเทศญี่ปุ่นโดยเร็วที่สุด และรัฐบาลเกาหลีเหนือได้ยอมรับอย่างเป็นทางการว่า ได้ลักพาตัวชาวญี่ปุ่นไป 13 คน

ชาวเกาหลีใต้ชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือผู้ที่ถูกลักพาตัวชาวเกาหลีใต้ระหว่างสงครามเกาหลีกว่าแปดหมื่นคน

มาที่ด้านของเกาหลีใต้ ผู้ที่ถูกลักพาตัวชาวเกาหลีใต้โดยเกาหลีเหนือ แบ่งออกเป็นสองกลุ่มได้แก่ 1.) ผู้ที่ถูกลักพาตัวในระหว่างช่วงสงครามเกาหลี และ 2.) ผู้ที่ถูกลักพาตัวหลังจากสงครามเกาหลี โดยในช่วงระหว่างสงครามเกาหลี มีชาวเกาหลีใต้ประมาณ 84,532 คนถูกนำตัวไปยังเกาหลีเหนือ ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีการศึกษาหรือมีทักษะอยู่แล้ว เช่น นักการเมือง ข้ารัฐการ นักวิชาการ นักการศึกษา แพทย์ ผู้พิพากษา นักข่าว หรือนักธุรกิจ ตามคำให้การของสมาชิกในครอบครัวที่เหลืออยู่ การลักพาตัวส่วนใหญ่ถูกจับกุมโดยทหารเกาหลีเหนือซึ่งมีชื่อเฉพาะและบัตรประจำตัวของผู้ที่ถูกลักพาตัวอยู่ในมืออยู่แล้วเมื่อพวกเขามาปรากฏตัวที่บ้าน อันเป็นข้อบ่งชี้ว่า การลักพาตัวเกิดขึ้นโดยเจตนาและเป็นไปในลักษณะที่มีความเป็นระบบ 

สาธุคุณ Kim Dong-shik (ผู้จัดตั้งที่พักพิงในจีนสำหรับชาวเกาหลีเหนือที่แปรพักตร์) หนึ่งในผู้ที่ถูกลักพาตัว

นับตั้งแต่ข้อตกลงสงบศึกเกาหลีในปี พ.ศ. 2496 เกาหลีเหนือได้ทำการลักพาตัวชาวเกาหลีใต้ราว 3,800 คน (ส่วนใหญ่ในช่วงปลายทศวรรษ 1970) ชาวเกาหลีใต้ที่ถูกสายลับเกาหลีเหนือลักพาตัวในดินแดนเกาหลีใต้หรือต่างประเทศหลังจากการสงบศึกลงนามในปี พ.ศ. 2496 เป็นที่รู้จักในชื่อเรียกว่า “ผู้ถูกลักพาตัวหลังสงคราม” โดยส่วนใหญ่จะถูกจับในขณะตกปลาใกล้เขตปลอดทหารเกาหลี (DMZ) แต่บางคนถูกลักพาตัวโดยสายลับเกาหลีเหนือในเขตเกาหลีใต้ที่ลึกเข้ามา 

เกาหลีเหนือยังคงลักพาตัวชาวเกาหลีใต้อย่างต่อเนื่องในยุค 2000 ดังที่เห็นได้จากกรณีของสาธุคุณ Kim Dong-shik (ผู้จัดตั้งที่พักพิงในจีนสำหรับชาวเกาหลีเหนือที่แปรพักตร์) ซึ่งถูกลักพาตัวไปเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2543 และ Jin Gyeong-suk ชาวเกาหลีเหนือที่แปรพักตร์ไปอยู่ยังเกาหลีใต้ ซึ่งถูกลักพาตัวไปเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2547 ขณะที่เธอกลับไปยังเขตชายแดนจีน-เกาหลีเหนือโดยใช้หนังสือเดินทางเกาหลีใต้ ซึ่งในปี พ.ศ. 2549 ชาวเกาหลีใต้จำนวน 489 คนยังคงไม่ได้รับการปล่อยตัว 

อโนชา ปันจ้อย

มาถึงเรื่องของเรา!! 

สำหรับกรณีของ ‘อโนชา ปันจ้อย’ หญิงสาวสัญชาติไทย ผู้ซึ่งถูกสายลับเกาหลีเหนือลักพาตัวไปจากอาณานิคมมาเก๊าของโปรตุเกส เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2521 

เรื่องของเธอเป็นที่รู้จักจากอดีตทหารอเมริกันชื่อ Charles Robert Jenkins ซึ่งแปรพักตร์ไปอยู่ฝ่ายเกาหลีเหนือ พร้อมกับเพื่อนๆ ทหารอเมริกันรวม 6 คน แล้วหลบหนีออกจากเกาหลีเหนือในปี พ.ศ. 2547

อโนชาเป็นชาวบ้านหนองแสะ ตำบลห้วยทราย อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ เกิดเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2498 (ชื่อเดิมว่า บัวผา) บิดาชื่อสม ปันจ้อย เป็นทหารผ่านศึกสงครามเกาหลี ส่วนมารดาของอโนชาเสียชีวิตตั้งแต่เธอยังเด็ก ปัจจุบันนายสม ผู้เป็นบิดาก็เสียชีวิตแล้วเช่นกัน

The Reluctant Communist โดย Charles Robert Jenkins

หลังจากจบการศึกษาระดับประถมศึกษาปีที่ 4 อโนชาย้ายไปทำงานร้านเสริมสวยและร้านนวดในกรุงเทพฯ หาเงินส่งมาให้ที่บ้าน และมักเดินทางกลับมาเยี่ยมบ้านทุกๆ สามถึงสี่เดือน ก่อนที่จะย้ายไปทำงานที่อาณานิคมมาเก๊าของโปรตุเกส โดยเป็นพนักงานนวดในโรงแรมท้องถิ่น 

วันที่ 21 พฤษภาคม อโนชาออกจากอพาร์ตเมนต์โดยบอกว่า จะไปร้านเสริมสวย ตามคำกล่าวอ้างของ Charles Robert Jenkins ซึ่งเขียนไว้ในหนังสือชื่อ The Reluctant Communist โดยอ้างว่า เขียนตามที่อโนชาได้เล่าให้ผู้แต่งฟัง จากคำบอกของอโนชาว่า เธอพานักท่องเที่ยวที่อ้างว่าเป็นชาวญี่ปุ่นไปขึ้นเรือนำเที่ยว ก่อนที่จะถูกทำร้ายบริเวณชายหาดใกล้เคียง แล้วถูกพาตัวขึ้นเรือไปเกาหลีเหนือ 

ทั้งนี้มีความเชื่อกันว่า สาเหตุที่มีการลักพาตัวชาวต่างชาติไปยังเกาหลีเหนือ ก็เพื่อให้ชาวต่างชาติเหล่านั้นไปทำหน้าที่ครูสอนภาษาให้กับสายลับชาวเกาหลีเหนือเพื่อให้สามารถปลอมตัวเป็นคนชาตินั้น ๆ ได้แนบเนียนยิ่งขึ้น

Charles Robert Jenkins (ทหารอเมริกันแปรพักตร์ไปอยู่กับเกาหลีเหนือ) กับ Hitomi Soga ภรรยาและลูกๆ

หลังจากที่อโนชามาถึงในกรุงเปียงยางได้ไม่นาน เธอก็แต่งงานกับทหารอเมริกันแปรพักตร์ชื่อ Larry Allen Abshier ราวปี พ.ศ. 2523 ทั้งคู่ได้ย้ายไปอยู่อพาร์ตเมนต์ใกล้กับอพาร์ตเมนต์ของ Charles Robert Jenkins และ Hitomi Soga ภรรยาชาวญี่ปุ่นของเขาซึ่งถูกลักพาตัวมาเช่นกัน 

ตามบันทึกของ Jenkins ระบุว่า อโนชาค่อนข้างสนิทสนมกับครอบครัว Jenkins และในบางครั้งก็ช่วยดูแลลูกๆ ของครอบครัว Jenkins ที่ชื่อ Mika และ Roberta ต่อมา Abshier สามีของอโนชาเสียชีวิตลงในปี พ.ศ. 2526 เธอก็ยังคงมีความสนิทสนมและติดต่อกับครอบครัว Jenkins จนกระทั่งปี พ.ศ. 2532 เธอได้แต่งงานใหม่กับนักธุรกิจชาวเยอรมันตะวันออกซึ่งทำงานให้รัฐบาลเกาหลีเหนือ และในปีนั้นครอบครัว Jenkins พบเห็นอโนชาเป็นครั้งสุดท้าย 

ไม่นานก่อนการแต่งงานครั้งที่สองของเธอ Jenkins ได้เล่าเพิ่มเติมว่า อโนชาบอกเขาว่า เธอถูกลักพาตัวมาพร้อมกับหญิงอีก 2 คน รวมถึงบอกว่า เธอยังคงอยากกลับประเทศไทยมาหาญาติพี่น้องอีกครั้ง

ภาพถ่ายของครอบครัว Jenkins ซึ่งมีอโนชา ปันจ้อยอยู่ด้วย (วงแดง) และพี่ชายของเธอสามารถจำเธอได้จากภาพนี้

ในปี พ.ศ. 2546 ก่อนที่ Jenkins จะตามภรรยาไปญี่ปุ่น รัฐบาลเกาหลีเหนือได้หลอกเขาว่า ถ้าเขากลับญี่ปุ่นแล้วจะถูกจับ แต่หากอยู่ต่อรัฐบาลเกาหลีเหนือจะให้อยู่กับอโนชา นั่นทำให้ Jenkins เชื่อว่า ในขณะนั้นอโนชายังคงมีชีวิตอยู่ 

ครอบครัวปันจ้อยไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้นกับเธอบ้าง จนถึงปี พ.ศ. 2548 เมื่อพี่ชายของเธอจำเธอได้จากรูปถ่ายที่ Jenkins ถือในระหว่างการให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์ เมื่อครอบครัวปันจ้อยทราบว่า อโนชาถูกลักพาตัวไปยังเกาหลีเหนือแล้ว ครอบครัวของเธอก็เริ่มหาทางช่วยเหลือให้เธอได้กลับ เนื่องจากบิดาของอโนชาเสียชีวิตไปแล้ว พี่ชายและหลานชายของอโนชาจึงเป็นตัวแทนหลักของครอบครัว

ภาพถ่ายพี่น้อง Rumiko Masumoto (ผู้ถูกสายลับเกาหลีเหนือลักพาตัวในปี พ.ศ. 2521) พี่สาวของ Teruaki Masumoto เลขาธิการของสมาคมเพื่อการให้ความช่วยเหลือชาวญี่ปุ่นที่ถูกลักพาตัวโดยเกาหลีเหนือ

ในปี พ.ศ. 2548 พี่ชายของอโนชา เดินทางไปที่ประเทศญี่ปุ่นเพื่อพบกับ Teruaki Masumoto เลขาธิการของสมาคมเพื่อการให้ความช่วยเหลือชาวญี่ปุ่นที่ถูกลักพาตัวโดยเกาหลีเหนือ ซึ่ง Rumiko พี่สาวของ Teruaki Masumoto ก็ถูกสายลับเกาหลีเหนือลักพาตัวในปี พ.ศ. 2521 เช่นกัน 

ในปี พ.ศ. 2549 เทศบาลนครเชียงใหม่ได้จัดงานแสดงภาพเพื่อเรียกร้องให้เพิ่มความใส่ใจในเรื่องของเธอให้มากขึ้น นอกจากนั้นครอบครัวของเธอยังได้เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงเธออีกด้วย เนื่องในโอกาสการมรณกรรมของ Kim Jong-il ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2554 

ครอบครัวปันจ้อยหวังว่า อโนชาจะยังคงมีชีวิตอยู่ และหวังว่า จะได้เห็นความคืบหน้าในการเจรจาระหว่างสองชาติ จนถึงปัจจุบัน รัฐบาลเปียงยางยังคงปฏิเสธว่า อโนชาไม่ได้ถูกลักพาตัวโดยสายลับเกาหลีเหนือ รวมถึงปฏิเสธความมีตัวตนของเธอในเกาหลีเหนืออีกด้วย 

แม้ว่า รัฐบาลไทยจะได้สอบถามไปยังรัฐบาลเกาหลีเหนือหลายครั้ง แต่รัฐบาลเกาหลีเหนือก็ยังคงปฏิเสธการลักพาตัวบุคคลสัญชาติอื่น ยกเว้นชาวญี่ปุ่นจำนวน 13 คน ซึ่งต้องใช้เวลายาวนานนับสิบปีกว่าทางการเกาหลีเหนือจะยอมรับกรณีดังกล่าว

บรรจง ปันจ้อย หลานชายของอโนชา ปันจ้อย ยื่นหนังสือถึงนายกฯ เร่งเจรจากับเกาหลีเหนือ เมื่อ ปี พ.ศ. 2562

“พี่สงสัยว่า น้องจะคิดถึงพี่หลังจากที่ได้อ่านจดหมายนี้หรือไม่? ตั้งแต่เห็นข่าวของน้อง ทุกคนในครอบครัวก็หวังว่า จะได้พบน้องในเร็วๆ นี้ การลักพาตัวน้องไม่ควรเกิดขึ้นเลย ทุกคนต้องการเจอน้อง รู้ไหม หลังจากที่น้องหายตัวไป เราต้องเผชิญกับการทดสอบและความทุกข์ยากมากมาย เราใช้เงินจำนวนมากในการพยายามตามหาน้อง จนพ่อของเราล้มป่วยลง และเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล แต่ในที่สุดพ่อก็จากไปเมื่ออายุ 97 ปี เมื่อปีที่แล้ว (พ.ศ. 2548) พี่หวังว่า ถ้าน้องได้อ่านจดหมายฉบับนี้ น้องคงจะคิดถึงทุกคนในครอบครัว ครอบครัวของเราต้องการช่วยน้องให้ได้กลับมา ไม่ต้องกลัวอะไร” (จดหมายเปิดผนึกจาก สุคำ ปันจ้อย พี่ชาย ถึง อโนชา ปันจ้อย น้องสาว ผู้ที่ถูกเกาหลีเหนือลักพาตัวไปเมื่อ 44 ปีก่อน)

สุคำ ปันจ้อย พี่ชายของอโนชากับภาพถ่ายของเธอ


👍 ติดตามผลงาน อาจารย์โญธิน มานะบุญ เพิ่มเติมได้ที่ : https://thestatestimes.com/author/ดร.โญธิน%20มานะบุญ