ว่าด้วย...กำลังทหารของญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ตามมาตรา 9 ของรัฐธรรมนูญแห่งญี่ปุ่น

หลังจากการเยือนราชอาณาจักรไทยของนายคิชิดะ ฟูมิโอะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 1-2 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา ก็มีคนไทยบางคนอ่านข่าวไม่ทันจบหรือไม่ทันได้ทำความเข้าใจในประเด็นต่างๆ ได้ออกมาโวยว่า...

ครั้งนี้รัฐบาลไทยไปทำความตกลงกับญี่ปุ่นสารพัดเรื่อง ทั้งๆ ที่การทำความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลต่างประเทศ จำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน รัฐบาลไทยจึงจะไปทำความตกลงกับรัฐบาลต่างประเทศได้ ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ประเด็นหารือจึงใช้คำว่า ‘การเสริมสร้าง’

รัฐธรรมนูญ (ฉบับใหม่) ของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2490

โดยเฉพาะเรื่องของความมั่นคง ที่รัฐบาลญี่ปุ่นเองก็มีข้อจำกัดในเรื่องของการทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์ตามหมวด 2 (ตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับใหม่) ของประเทศญี่ปุ่น) ‘การสละสิทธิ์สงคราม’ มาตรา 9 ซึ่งได้ระบุเอาไว้ว่า...ความมุ่งประสงค์อย่างแท้จริงในสันติภาพระหว่างชาติ โดยมีความยุติธรรมและความสงบเรียบร้อยเป็นพื้นฐาน ชนชาวญี่ปุ่นยอมสละจากสงครามไปตลอดกาลนาน ซึ่งให้ถือเป็นสิทธิสูงสุดแห่งชาติ ทั้งสละจากการคุกคามหรือการใช้กำลังเพื่อแก้ไขข้อพิพาทระหว่างชาติ เพื่อบรรลุความมุ่งประสงค์ในวรรคก่อน...จะไม่มีการธำรงไว้ซึ่งกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ กับทั้งศักยภาพอื่นๆ ในทางสงคราม รวมถึงไม่มีการรับรองสิทธิในการเป็นพันธมิตรในสงคราม

ชาวญี่ปุ่นเพียง 27% เห็นด้วยกับการแก้มาตรา 9 ของรัฐธรรมนูญ ยินยอมให้ญี่ปุ่นกลับมามีกองทัพอย่างเป็นทางการ และสามารถประกาศสงครามได้ โดยมีผู้ไม่เห็นด้วยถึง 67%

มาตรา 9 ของรัฐธรรมนูญแห่งญี่ปุ่น เป็นบทในรัฐธรรมนูญแห่งญี่ปุ่นที่ห้ามพฤติการณ์แห่งสงครามโดยรัฐ รัฐธรรมนูญดังกล่าวมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2490 หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ในข้อความนี้ รัฐสละสิทธิอธิปไตยในสงครามและห้ามการระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศผ่านการใช้กำลัง มาตรานี้ยังแถลงว่า เพื่อบรรลุเป้าประสงค์เหล่านี้ จะไม่มีการธำรงกองทัพที่มีศักย์สงคราม แต่ญี่ปุ่นยังคงธำรงกองทัพอยู่โดยพฤตินัยนั้น คือ กองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่น

นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในขณะนั้นได้หลีกเลี่ยงกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 9 ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด โดยได้อนุมัติการตีความ มาตรา 9 ซึ่งรัฐธรรมนูญอันสละสิทธิ์สงครามขึ้นใหม่

รัฐธรรมนูญ (ฉบับใหม่) ของประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2490 ร่างขึ้นภายใต้การยึดครองของฝ่ายสัมพันธมิตรให้หลังสงครามโลกครั้งที่สอง และตั้งใจแทนที่ ‘ระบบแสนยนิยม’ (Militarism: แนวคิดนิยมทหาร) และสมบูรณาญาสิทธิราชย์เดิมของประเทศญี่ปุ่นด้วยประชาธิปไตยเสรีนิยมรูปแบบหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันเป็นรัฐธรรมนูญที่แก้ไขได้ยากมาก จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีการแก้ไขเพิ่มเติมใดๆ นับแต่มีมติเห็นชอบ

แม้ว่าในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2557 รัฐบาลญี่ปุ่นได้อนุมัติการตีความ มาตรา 9 ซึ่งรัฐธรรมนูญอันสละสิทธิ์สงครามใหม่ ที่อาจสร้างความกังวลและความไม่เห็นด้วยจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งอนุญาตให้ใช้กำลังทหารเพื่อโจมตีประเทศอื่นและเข้าสู่สงคราม รวมถึงการใช้กำลังทหารเพื่อการนี้ถูกพิจารณาว่ามิชอบด้วยกฎหมายและเป็นอันตรายร้ายแรงต่อประชาธิปไตยของญี่ปุ่น

แต่นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในขณะนั้น ได้หลีกเลี่ยงกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด และทำให้มีการเปลี่ยนแปลงมูลวิวัฒต่อความหมายของหลักการมูลฐานในรัฐธรรมนูญโดยคำสั่งของคณะรัฐมนตรี โดยปราศจากการอภิปรายหรือลงมติของสภาไดเอต (สภาผู้แทนราษฎร) และยังไม่ได้ผ่านประชามติความเห็นชอบจากสาธารณะเลย

กองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่น (Japan Self Defend Force : JSDF หรือ JSF หรือ SDF) 

กองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่น (Japan Self Defense Force : JSDF หรือ JSF หรือ SDF) เป็นกำลังทหารของญี่ปุ่นซึ่งถูกจัดตั้งขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลงเพื่อแทนที่กองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นที่ถูกยุบเลิก และฝ่ายสัมพันธมิตรได้เข้ามาทำการยึดครองญี่ปุ่นในช่วงหลังสงคราม

โดยกองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่นถูกใช้งานในเฉพาะภายในประเทศมีหน้าที่ในการป้องกันประเทศอธิปไตยชาติเพียงอย่างเดียวและไม่ได้รับอนุญาตให้ปฏิบัติภารกิจในต่างประเทศ ยกเว้นในสถานการณ์ที่ถือว่า เป็นการป้องกันตนเองภายในขอบเขตที่จำกัดเท่านั้น แม้อาจมีภารกิจในต่างประเทศอาทิ การปฏิบัติการรักษาสันติภาพ

กองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลญี่ปุ่นขณะสวนสนาม

แต่ในวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 คณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้ตีความรัฐธรรมนูญมาตรา 9 ตามรัฐธรรมนูญแห่งญี่ปุ่นใหม่ และสรุปได้ว่า ญี่ปุ่นจะสามารถส่งทหารสังกัดกองกำลังป้องกันตนเองไปปฏิบัติภารกิจการป้องกันตนเองร่วมได้ (Collective Self Defense) ตามมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเพื่อปกป้องชาติหนึ่งชาติใดจากการถูกรุกรานได้ และญี่ปุ่นจะสามารถส่งกำลังทหารไปช่วยเหลือชาติพันธมิตรใกล้ชิดที่ถูกโจมตีได้ หากการโจมตีนั้นเป็นภัยคุกคามต่อการดำรงอยู่ของญี่ปุ่นและไม่มีวิธีอื่นในการปกป้องชีวิตของชาวญี่ปุ่น

แม้จะผลิตเองจะต้องจ่ายแพงกว่าการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์สำเร็จรูปจากต่างประเทศ แต่ญี่ปุ่นก็เต็มใจจ่าย

ในด้านการพัฒนาอาวุธ รัฐธรรมนูญของญี่ปุ่นได้กำหนดห้ามการพัฒนาอาวุธในเชิงรุก ขณะที่การห้ามส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์นั้น แม้ญี่ปุ่นจะเป็นผู้กำหนดขึ้นเองเมื่อปี พ.ศ. 2510 แต่ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2557 ญี่ปุ่นได้ผ่อนคลายกฎห้ามส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์ โดยสามารถส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์ และสามารถมีส่วนร่วมในการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ กับนานาชาติได้ แต่ญี่ปุ่นจะไม่ส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์ให้แก่ประเทศที่ตกอยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง หรืออาจเป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพและความมั่นคงของนานาชาติ

นอกจากนี้ การจำหน่ายอาวุธยุทโธปกรณ์ก็จะต้องเป็นไปเพื่อส่งเสริมสันติภาพสากล คือ ต้องเป็นยุทโธปกรณ์ที่ไม่ใช่เพื่อสังหารชีวิต และเป็นประโยชน์ต่อความมั่นคงของญี่ปุ่นเอง ส่วนในด้านการสนับสนุนกองกำลังต่างชาติ วันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศแก้ไขกฎบัตรว่าด้วยการสนับสนุนต่างชาติ โดยสามารถมอบทุนสนับสนุนภารกิจที่มิใช่การสู้รบของกองกำลังต่างชาติได้

พลเอก Koji Yamazaki หัวหน้าคณะเสนาธิการร่วม กองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่น (คนปัจจุบัน)

กองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่น มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด ส่วนนายทหารของกองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่นที่มี ตำแหน่งสูงสุด คือ ‘หัวหน้าคณะเสนาธิการร่วม’ (แบบเดียวกับสหรัฐอเมริกา) และวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2550 ญี่ปุ่นได้มีการจัดตั้งกระทรวงกลาโหมครั้งแรกหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งแต่เดิมกองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่นจะขึ้นตรงต่อหน่วยงานที่เรียกว่า ‘ทบวงป้องกันตนเอง’ (Defense Agency) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่แทนกระทรวงกลาโหมที่ถูกยุบหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในเวลาต่อมาจึงปรับให้ทบวงป้องกันตนเองเลื่อนสถานะเป็นกระทรวงป้องกันตนเอง (Ministry of Defense) งบประมาณกลาโหมญี่ปุ่นในปีที่ผ่านมาอยู่ในราวอันดับ 7-9 ของโลก ประมาณ 54.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.84 ล้านล้านบาท) กองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่น มีจำนวนบุคลากรในปี พ.ศ. 2564 มีจำนวน 250,713 นาย (เจ้าหน้าที่พลเรือนอีก 20,924 คน) แบ่งเป็น…

- กองกำลังป้องกันตนเองทางบก จำนวน 150,000 นาย

- กองกำลังป้องกันตนเองทางทะเล จำนวน 50,800 นาย

- กองกำลังป้องกันตนเองทางอากาศ จำนวน 49,913 นาย

รถถัง Type 10 ซึ่งญี่ปุ่นออกแบบและผลิตเองโดยบริษัท Mitsubishi Heavy Industries

ด้วยความที่ญี่ปุ่นเป็นประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำประเทศหนึ่งของโลก จึงมีขีดความสามารถในการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ขึ้นใช้เองได้เป็นส่วนใหญ่ แม้บางส่วนอาจจะต้องซื้อสิทธิบัตรจากต่างประเทศเพื่อทำการผลิตเองก็ตาม แต่มากกว่า 50% สามารถผลิตได้เองในประเทศตั้งอาวุธปืนขนาดเล็กจนถึงปืนใหญ่ รถถัง ยานลำเลียงพล จรวดต่อสู้รถถัง จรวดต่อสู้อากาศยาน เครื่องบินรบนานาชนิด เฮลิคอปเตอร์ เรือรบผิวน้ำ และเรือดำน้ำ

ในปัจจุบันการที่ญี่ปุ่นแสดงออกถึงการสนับสนุนยูเครนก็ส่งผลต่อปัญหากรณีพิพาทหมู่เกาะคูริลกับรัสเซียซึ่งยึดครองอยู่

แม้ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเช่น เกาหลี (ทั้งสองเกาหลี) ไต้หวัน และจีน ต่างก็มีทั้งประสบการณ์ที่เจ็บปวดและบาดแผลที่ลึกเกินเยี่ยวยา แต่เกาหลี (ใต้) และไต้หวัน น่าจะยังคงให้การสนับสนุนญี่ปุ่นในการพัฒนากองกำลังป้องกันตนเองต่อไป ด้วยเกรงภัยคุกคามจากเกาหลี (เหนือ) และจีน ในขณะที่การพัฒนากองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่นก็ถูกเกาหลี (เหนือ) และจีนมองว่าเป็นภัยคุกคามเช่นกัน และในปัจจุบันการที่ญี่ปุ่นแสดงออกถึงการสนับสนุนยูเครนก็ส่งผลต่อปัญหากรณีพิพาทหมู่เกาะคูริลซึ่งรัสเซียยึดครองอยู่ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และมีผลทำให้ญี่ปุ่นต้องพัฒนากองกำลังป้องกันตนเองต่อไป


👍 ติดตามผลงาน อาจารย์โญธิน มานะบุญ เพิ่มเติมได้ที่ : https://thestatestimes.com/author/ดร.โญธิน%20มานะบุญ