จับตา!! ‘Doomsday Clock’ เมื่อนาฬิกาวันสิ้นโลก เดินมาถึงจุด ‘100 วินาที’ ก่อนเที่ยงคืนแล้ว!!

นาฬิกาเป็นสิ่งที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อใช้วัดและกำหนดสิ่งต่างต่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นนาฬิกาในยุคเริ่มแรกตั้งแต่ นาฬิกาแดด นาฬิกาทราย นาฬิกาไขลาน นาฬิกาออโตเมติก จนกระทั่งนาฬิกาไขดิจิตอล ไปจนถึงนาฬิกาชีวภาพในวิชาชีววิทยา ฯลฯ 

จากหลักการทำงานของนาฬิกาดังกล่าวข้างต้น ทำให้มีนักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งรวมตัวกันเพื่อจัดทำนาฬิกาสำหรับทำหน้าที่พยากรณ์จุดจบของโลกขึ้นมา 

Doomsday Clock (นาฬิกาวันสิ้นโลก) จัดทำขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๔๙๐ (ค.ศ. 1947) โดยสมาชิกคณะกรรมการวิทยาศาสตร์และความมั่นคงในคณะผู้จัดทำหนังสือจดหมายเหตุของนักวิทยาศาสตร์ปรมาณู (Bulletin of the Atomic Scientists) ซึ่งประกอบด้วยนักวิชาการด้านต่าง ๆ ที่เคยได้รับรางวัลโนเบล ๑๘ คนร่วมอยู่ด้วย 

Doomsday Clock ไม่ได้เป็นนาฬิกาที่เป็นตัวเรือน แต่เป็นเพียงแผ่นหน้าปัดนาฬิกาที่ถูกจัดทำขึ้น มีลักษณะเป็นเชิงสัญลักษณ์ โดยเปรียบการนับถอยหลังจากเกิดมหันตภัยต่าง ๆ ทั่วโลก เช่น สงครามนิวเคลียร์ หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยิ่งนาฬิกาถูกปรับให้เข้าใกล้เที่ยงคืนมากเท่าใด บรรดานักวิทยาศาสตร์ต่างก็เชื่อว่าโลกของเราก็ยิ่งเข้าใกล้การเกิดภัยพิบัติมากขึ้นเท่านั้น

ประวัติของ Doomsday Clock นาฬิกาที่แสนจะแปลกประหลาดและไม่เป็นมงคลเรือนนี้ เริ่มขึ้นภายหลังการสิ้นสุดของมหาสงครามโลกครั้งที่ ๒ สมัยนั้นประชาชนพลโลกทั่วไปยังไม่มีความรู้ถึงภัยร้ายแรงจากอาวุธนิวเคลียร์ รู้อย่างมากแค่ว่า อาวุธนิวเคลียร์เป็นอาวุธที่มีอานุภาพรุนแรงจนสามารถบีบให้ญี่ปุ่นยอมแพ้ฝ่ายสัมพันธมิตรได้สำเร็จ กลุ่มคนที่เล็งเห็นและตื่นตัวถึงภัยคุกคามนี้เป็นพวกแรก ๆ ก็ไม่ใช่ใครอื่น แต่ก็คือ นักวิทยาศาสตร์กลุ่มที่ประดิษฐ์ระเบิดปรมาณูขึ้นมานั่นเอง

Eugene Rabinowitch ผู้ร่วมกันก่อตั้ง Bulletin of the Atomic Scientists

จากความกังวลเรื่องนี้เองทำให้ Eugene Rabinowitch นักชีวะ-ฟิสิกส์ กับ Hyman Goldsmith นักฟิสิกส์ ชาวอเมริกัน จึงได้ร่วมกันก่อตั้งนิตยสารชื่อ Bulletin of the Atomic Scientists ขึ้นมา แปลเป็นภาษาไทยว่า จดหมายเหตุจากนักวิทยาศาสตร์ปรมาณู ซึ่งเริ่มตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๔๘๘ (ค.ศ. 1945) โดยมีนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงมากมายในยุคนั้นให้การสนับสนุนมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Morton Grodzins, Hans Bethe, Anatoli Blagonravov, Max Born, Harrison Brown, Stuart Chase, Brock Chisholm, E.U. Condon, Albert Einstein, E.K. Fedorov, Bernard T. Feld, James Franck, Ralph E. Lapp, Richard S. Leghorn, J. Robert Oppenheimer, Lord Boyd Orr, Michael Polanyi, Louis Ridenour, Bertrand Russell, Nikolay Semyonov, Leó Szilárd, Edward Teller, A.V. Topchiev, Harold C. Urey, Paul Weiss, James L. Tuck ฯลฯ

Hyman Goldsmith ผู้ร่วมกันก่อตั้ง Bulletin of the Atomic Scientists

จุดประสงค์ของนิตยสารก็คือ เป็นแหล่งความรู้สำหรับผู้ที่มีความสนใจในวิทยาศาสตร์ และ ให้ความรู้แก่ประชาชนชาวอเมริกันในเรื่องของอันตรายจากอาวุธนิวเคลียร์ และต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๐ (ค.ศ. 1947) จึงได้เพิ่ม Doomsday Clock (นาฬิกาวันสิ้นโลก) เข้าไป อันเป็นการเริ่มต้นการเดินของนาฬิกาเรือนนี้ วิธีการอ่านค่าเวลาจากนาฬิกาวันสิ้นโลกนั้นไม่ยากเลย โดยส่วนประกอบและลักษณะรูปลักษณ์ของจะไม่ต่างจากนาฬิกาทั่วไป ประกอบด้วย เข็มยาว เข็มสั้น จุดบอกเวลา ฯลฯ แต่จุดกำหนดเวลาบนหน้าปัดจะมีเพียงเลข ๙ ไปจนถึงเลข ๑๒ คือ มีแต่ส่วนบนซ้ายของหน้าปัทม์นาฬิกา ซึ่งเมื่อเวลาเที่ยงคืนมาถึงจะหมายถึงว่า โลกได้เข้าถึงขีดสุดแห่งความหายนะแล้ว และเป็นการเข้าสู่วันสิ้นโลก แต่เมื่อ ภยันตราย ความรุนแรง และเหตุวิกฤต ลดลงเมื่อใด เข็มเวลาก็จะยิ่งออกห่างจากเวลาเที่ยงคืนมากขึ้นเรื่อย ๆ ยกตัวอย่าง เช่น เวลา 23:55 น. จะวิกฤตน้อยกว่าเวลา 23:58 น. 

การบ่งบอกว่า โลกเข้าใกล้จุดหายนะที่เป็นการสิ้นสุดของโลกมากน้อยขนาดไหน จะใช้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบนโลกเป็นตัวแปร ตัวกำหนด เช่น สงคราม ความขัดแย้งระหว่างประเทศ ภัยคุกคามของระเบิดนิวเคลียร์ สภาวะโลกร้อน ฯลฯ เดิมทีนาฬิกาเรือนนี้ถูกแขวนบนกำแพงในสำนักงานของจดหมายเหตุฯ ภายในมหาวิทยาลัยชิคาโก และกลายเป็นตัวแทนเชิงสัญลักษณ์ของภัยคุกคามสงครามนิวเคลียร์ที่ชาติต่าง ๆ ต่างพากันสะสมไปจนทั่วโลก ทว่า หลัง พ.ศ. ๒๕๕๐ มีการนำเอาผลสะท้อนอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงพัฒนาการใหม่ ๆ ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งอาจทำให้เกิดภัยต่อมนุษยชาติอย่างร้ายแรงจนไม่อาจกู้คืนหรือแก้ไขได้

RDS-1 ระเบิดปรมาณูลูกแรกของสหภาพโซเวียต

เวลา 23:53 น. หรือ ๗ นาทีก่อนเที่ยงคืน ถูกตั้งให้เป็นเวลาตอนที่ Doomsday Clock (นาฬิกาวันสิ้นโลก) เริ่มเดินเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๔๙๐ (ค.ศ. 1947)  โดยสมัยนั้นเป็นช่วงที่โลกเพิ่งผ่านพ้นสงครามโลกครั้งที่ ๒ มาได้ไม่นาน และกำลังก้าวเข้าสู่ยุคนิวเคลียร์ พร้อมกับการก่อตัวขึ้นของความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียตหรือที่รู้จักกันในชื่อของ “สงครามเย็น (Cold war)” สองปีต่อมา นาฬิกาถูกปรับให้เป็นเวลา 23:57 น. โดยเกิดจากการที่สหภาพโซเวียตทดลอง RDS-1 ระเบิดปรมาณูลูกแรกเป็นผลสำเร็จ จึงนับเป็นประเทศที่สองของโลกที่ครอบครองอาวุธมหาประลัยชนิดนี้ ภายหลังสหรัฐอเมริกาเพียง 4 ปี และเป็นจุดเริ่มต้นของการแข่งขันสะสมอาวุธนิวเคลียร์ระหว่างทั้ง 2 ฝ่าย 

การทดลองระเบิดไฮโดรเจน ซึ่งมีประสิทธิภาพการทำลายล้างสูงกว่าระเบิดปรมาณูหลายเท่าตัว

ในปี พ.ศ. ๒๔๙๖ (ค.ศ. 1953) นาฬิกาถูกปรับให้เหลือเวลา ๒ นาทีก่อนเที่ยงคืน อันเป็นผลมาจากสหรัฐฯ กับโซเวียตตัดสินใจทดลองระเบิดไฮโดรเจน ซึ่งมีประสิทธิภาพการทำลายล้างสูงกว่าระเบิดปรมาณูหลายเท่าตัว หลังจากที่นาฬิกาถูกปรับให้ใกล้เที่ยงคืนไปหลายครั้ง ในที่สุดเวลาก็ได้ถูกเลื่อนให้ออกห่างจากเวลาเที่ยงคืนเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๕๐๓ (ค.ศ. 1960) สาเหตุจากท่าทีประนีประนอมของทั้งสองขั้วอำนาจต่อวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น เช่น วิกฤตสุเอซ ในปี พ.ศ. ๒๔๙๙ (ค.ศ. 1956) และมีความร่วมมือระหว่างนักวิทยาศาสตร์ของทั้งสองฝ่ายผ่านการประชุมต่าง ๆ 

วิกฤตสุเอซ

ประวัติการปรับเวลาของ Doomsday Clock ตั้งแต่ครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๙๐ (ค.ศ. 1947) จนถึง พ.ศ. ๒๕๖๐ (ค.ศ. 2017)   

สามปีให้หลังต่อมา เวลาของ Doomsday Clock ถูกปรับเป็น 23:48 น. หรือ ๑๒ นาทีก่อนเที่ยงคืน อันเป็นผลมาจากสนธิสัญญาห้ามทดลองอาวุธนิวเคลียร์บนพื้นดิน แต่ยังคงอนุญาตมีการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ที่ใต้ดินอยู่ สนธิสัญญานี้แสดงให้เห็นว่า มีความพยายามจากทั้งสองฝ่ายที่จะลดอัตราการสะสมอาวุธนิวเคลียร์ลง และร่วมกันปกป้องสภาพอากาศที่เสียหายจากการทดลองอาวุธนิวเคลียร์

สงคราม ๖ วันระหว่างอิสราเอลกับอาหรับ

โลกซึ่งมีทีว่าจะเดินสู่ทิศทางที่ดีขึ้น ทว่ากลับมีความขัดแย้งด้วยอาวุธเกิดขึ้น เช่น สงครามเวียดนาม สงครามระหว่างอินเดียกับปากีสถาน สงคราม ๖ วันระหว่างอิสราเอลกับอาหรับ และการครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ของฝรั่งเศสในปี พ.ศ. ๒๕๐๓ (ค.ศ. 1960) และจีนแดงในปี พ.ศ. ๒๕๐๘ (ค.ศ. 1965) ความขัดแย้งเหล่านี้ทำให้ Doomsday Clock ถูกปรับให้ใกล้เที่ยงคืนขึ้นอีก ๕ นาทีในปี พ.ศ. ๒๕๑๑ (ค.ศ. 1968) ซึ่งก็คือเวลา 23:53 น.

ขีปนาวุธติดหัวรบนิวเคลียร์ได้ของอินเดีย

ในปีต่อมา เกือบทุกประเทศในโลก ยกเว้น อินเดีย ปากีสถานกับอิสราเอล ได้เซ็นสนธิสัญญาหยุดยั้งการแพร่ระบาดของอาวุธนิวเคลียร์ เนื้อหาสาระที่สำคัญมีอยู่ว่า ประเทศที่ยังไม่มีอาวุธนิวเคลียร์จะได้รับการสนับสนุนให้พัฒนาพลังงานนิวเคลียร์แทนที่จะพัฒนาไปเป็นอาวุธทำลายล้าง สนธิสัญญาดังกล่าวส่งผลให้เวลาของ Doomsday Clock ถูกปรับเป็น 23:50 น.

สหรัฐกับสหภาพโซเวียตได้ทำข้อตกลงการจำกัดอาวุธทางยุทธศาสตร์ฯ ในปี พ.ศ. ๒๕๑๕ (ค.ศ. 1972)

สถานการณ์ลดความตึงเครียดลงอีกครั้งในปี พ.ศ. ๒๕๑๕ (ค.ศ. 1972) โดยทั้งฝ่ายสหรัฐกับสหภาพโซเวียตได้ทำข้อตกลงการจำกัดอาวุธทางยุทธศาสตร์กับการจำกัดขีปนาวุธต่อต้านนิวเคลียร์ขึ้นมา ทางบรรณาธิการจึงเลื่อนเวลาใหม่ของ Doomsday Clock ให้เป็น ๑๒ นาทีก่อนเที่ยงคืน สงครามเย็นในสมัยประธานาธิบดี Richard M. Nixon ลดระดับความรุนแรงและตึงเครียดลงไปมาก ก่อนจะมาเลวร้ายลง เมื่ออินเดียสามารถทดลองระเบิดปรมาณูได้เป็นผลสำเร็จ อีกทั้งการพัฒนาประสิทธิภาพของหัวรบนิวเคลียร์ทำให้มีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ Doomsday Clock ถูกเลื่อนให้เป็นเวลา 23:51 น.

ปี พ.ศ. ๒๕๒๓ (ค.ศ. 1980) สหภาพโซเวียตยกกองทัพบุกเข้าไปในอัฟกานิสถาน

ในปี พ.ศ. ๒๕๒๓ (ค.ศ. 1980) สหภาพโซเวียตยกกองทัพบุกเข้าไปในอัฟกานิสถาน การกระทำของโซเวียตทำให้สหรัฐตัดสินใจบอยคอตการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน ซึ่งจัดขึ้น ณ กรุงมอสโคว์ในปี พ.ศ. ๒๕๒๓ (ค.ศ. 1980) กอปรกับการที่ประธานาธิบดี Ronald Reagan ซึ่งเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในปีต่อมา ยิ่งทำให้สถานการณ์ตึงเครียดมากขึ้นเป็นทวีคูณ เพราะประธานาธิบดี Reagan มีความมุ่งมั่นที่จะเอาชนะสหภาพโซเวียตในสงครามเย็นให้จงได้ จนนำไปสู่การปรับ Doomsday Clock ให้เข้าใกล้เวลาเที่ยงคืนถึง ๒ ครั้งติดต่อกัน คือในปี พ.ศ. ๒๕๒๓ (ค.ศ. 1980) กับพ.ศ. ๒๕๒๔ (ค.ศ. 1981) เวลาจึงเลื่อนมาอยู่ที่ 23:56 น.

ประธานาธิบดี Ronald Reagan

การที่ประธานาธิบดี Reagan ทำสงครามเย็นกับสหภาพโซเวียตอย่างดุเดือด ไม่ว่าจะเป็นการเร่งสะสมอาวุธยุทโธปกรณ์ ไปจนถึงวาทะเด็ดที่เขาใช้เรียกสหภาพโซเวียตว่าเป็นอาณาจักรแห่งความชั่วร้าย สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้ Doomsday Clock เดินเข้าใกล้เวลาเที่ยงคืนเข้าไปอีก ๑ นาที ในปี พ.ศ. ๒๕๒๗ (ค.ศ. 1984) 

ต่อมาภายหลังการถึงแก่อสัญกรรมของ Konstantin Chernenko ผู้นำของสหภาพโซเวียตในปี พ.ศ. ๒๕๒๘ (ค.ศ. 1985) พรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตได้เลือก Mikhail Gorbachev ขึ้นเป็นผู้นำคนต่อมา Gorbachev ถือได้ว่าเป็นผู้นำรุ่นใหม่และเป็นนักปฏิรูปรูป เขาเป็นผู้นำสหภาพโซเวียตคนแรกที่เกิดภายหลังจากการปฏิวัติรัสเซียปี พ.ศ. ๒๔๖๐ (ค.ศ. 1917) ทันทีที่รับตำแหน่ง Gorbachev ได้ตั้งเป้าที่จะเสริมสร้างเศรษฐกิจของสหภาพโซเวียตให้เข้มแข็งหลังจากชะลอตัวมานาน โดยจัดการปฏิรูประบบให้มีเสรีภาพมากยิ่งขึ้น เขายังได้พัฒนาความสัมพันธ์กับประเทศตะวันตกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Margaret Thatcher นายกรัฐมนตรีของอังกฤษ ไปจนถึง Helmut Kohl แห่งเยอรมนีตะวันตก (ในขณะนั้น)

Mikhail Gorbachev ผู้นำสหภาพโซเวียตในยุคสิ้นสุดสงครามเย็น 

ปี พ.ศ. ๒๕๓๑ (ค.ศ. 1988) ทั้งสองฝ่ายได้เซ็นสนธิสัญญาทำลายหัวรบนิวเคลียร์พิสัยใกล้และกลาง

ประธานาธิบดี Reagan รับรู้ถึงนโยบายที่เปลี่ยนไปเหล่านี้ดี จึงตัดสินใจเปลี่ยนบทบาทจากบทดุดันมาเป็นนุ่มนวล โดยเน้นนโยบายด้านการทูตแทน สงครามเย็นที่กำลังจะถึงจุดระเบิดช่วงกลางทศวรรษ 1980 กลับลดความตึงเครียดลงมาอย่างน่ามหัศจรรย์ จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๓๑ (ค.ศ. 1988) ทั้งสองฝ่ายได้เซ็นสนธิสัญญาทำลายหัวรบนิวเคลียร์พิสัยใกล้และกลาง สนธิสัญญาฉบับนี้ทำให้เข็มสั้นและยาวของ Doomsday Clock ที่เกือบจะทับกัน ถูกปรับให้ถอยห่างออกไปถึง ๓ นาที และหยุดอยู่ที่เวลา 23:54 น.

กำแพงเบอร์ลินซึ่งถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๔ (ค.ศ. 1961) ได้ถูกทำลายลงในปลายปี พ.ศ. ๒๕๒๓ (ค.ศ. 1989)

ปี พ.ศ. ๒๕๒๓ (ค.ศ. 1989) เป็นปีแห่งความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของโลกเมื่อประเทศต่าง ๆ ในยุโรปที่เคยอยู่ใต้อิทธิพลของสหภาพโซเวียตค่อย ๆ ปลีกตัวออกห่างไม่ว่าจะเป็น โปแลนด์ เชคโกสโลวเกีย ฮังการี โรมาเนีย 

จนกระทั่งปลายปี พ.ศ. ๒๕๒๓ (ค.ศ. 1989) ก็เกิดภาพที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะได้เห็นในช่วงชีวิตของตน ได้เกิดขึ้นสู่สายตาสาธารณะชน เมื่อกำแพงเบอร์ลินซึ่งถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๔ (ค.ศ. 1961) ได้ถูกทำลายลง นับเป็นสัญลักษณ์ของการล่มสลายของโลกคอมมิวนิสต์ และเป็นการผ่อนคลายความตึงเครียดของสงครามเย็น Doomsday Clock จึงถูกปรับให้เป็นเวลา 23:50 น. ในปี พ.ศ. ๒๕๓๓ (ค.ศ. 1990)

การล่มสลายของสหภาพโซเวียตเมื่อปีพ.ศ. ๒๕๓๔ (ค.ศ. 1991) เป็นการปิดฉากสงครามเย็นอย่างเป็นทางการ ชาวโลกจึงได้นอนหลับแบบไม่ต้องระแวงภัยของอาวุธนิวเคลียร์อีกต่อไป หลังจากที่ต้องคอยตื่นตัวตลอดระยะเวลากว่า ๔ ทศวรรษ ประกอบกับสหรัฐและรัสเซียได้เซ็นสนธิสัญญาลดอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งทั้งสองประเทศได้เคยทำสัญญาจำกัดอาวุธนิวเคลียร์ไปก่อนหน้านี้ เหตุการณ์ทั้งปวงส่งผลให้ Doomsday Clock เดินถอยหลังไปถึง ๗ นาที และหยุดอยู่ที่เวลา 23:43 น. หรือ ๑๗ นาทีก่อนเที่ยงคืน นับเป็นเวลาที่อยู่ห่างจากเที่ยงคืนมากที่สุดนับตั้งแต่เริ่มมี Doomsday Clock 

ความหวังที่โลกจะก้าวเข้าสู่สังคมแห่งสันติภาพหลังสิ้นสุดยุคสงครามเย็นได้ถูกทำลายลง เนื่องมาจากความกังวลในเรื่องของอาวุธนิวเคลียร์ที่อาจตกไปอยู่ในมือของผู้ก่อการร้ายซึ่งกำลังเติบโตอย่างมาก โดยลักลอบนำหัวรบนิวเคลียร์ของสหภาพโซเวียตเดิมออกมา ด้านสหรัฐเองก็ยังคงสะสมอาวุธยุทโธปกรณ์อย่างต่อเนื่อง วันสิ้นโลกที่ดูเหมือนจะอยู่ห่างออกไปกลับต้องถูกขยับให้ใกล้เข้ามาในปี พ.ศ. ๒๔๓๘ (ค.ศ. 1995) โดยเวลาถูกเลื่อนไปเป็น 23:46 น.

Abdul Qadeer Khan Ph.D. นักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ของปากีสถาน

ปี พ.ศ. ๒๕๔๑ (ค.ศ. 1998) ปากีสถานประสบความสำเร็จในการทดลองระเบิดปรมาณู นับเป็นประเทศที่ ๗ ของโลกที่ได้ครอบครองอาวุธมหาประลัยชนิดนี้ แต่ปัญหาอยู่ตรงที่ปากีสถานเป็นคู่ขัดแย้งกับอินเดีย และอินเดียเองก็มีอาวุธนิวเคลียร์อยู่ในมือ เท่ากับว่า ถ้าสองประเทศนี้รบกันเมื่อไหร่ โลกทั้งใบก็คงตกอยู่ในอันตรายไม่ต่างไปจากสงครามระหว่างสหรัฐฯ กับรัสเซีย ความเสี่ยงข้อนี้ส่งผลให้ Doomsday Clock ถูกปรับให้เข้าใกล้เที่ยงคืนขึ้นอีก ๕ นาที

เหตุการณ์ ๑๑ กันยายน ปี พ.ศ. ๒๕๔๔ (ค.ศ. 2001)

เหตุการณ์ ๑๑ กันยายน ปี พ.ศ. ๒๕๔๔ (ค.ศ. 2001) ได้ช็อกผู้คนทั้งโลกและแสดงให้ชาวโลกเห็นว่า นอกจากภัยจากอาวุธนิวเคลียร์แล้ว โลกยังต้องพบกับภัยร้ายในรูปแบบใหม่ นั่นก็คือภัยจากก่อการร้าย และไม่ถึงปีต่อมา สหรัฐประกาศยกเลิกสนธิสัญญาการจำกัดขีปนาวุธต่อต้านนิวเคลียร์ โดยอ้างว่า เพื่อป้องกันประเทศ Doomsday Clock จึงเดินมาอยู่ที่เวลา 23:53 น.

เกาหลีเหนือปัจจุบันมีอาวุธนิวเคลียร์ไว้ในครอบครองแล้ว

สถานการณ์ของโลกเลวร้ายลงเรื่อย ๆ เมื่อบางประเทศในโลกยังมีความทะเยอทะยานที่จะครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ เช่น เกาหลีเหนือกับอิหร่าน ฝ่ายสหรัฐก็เพิ่มงบประมาณทางการทหารเพื่อแข่งขันกับจีน และยังมีปัญหาโลกร้อนที่ผู้คนจำนวนมากเริ่มเล็งเห็นถึงอันตรายของมัน ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้ Doomsday Clock ขยับเข้าใกล้เที่ยงคืนขึ้นอีก ๒ นาที ในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ (ค.ศ. 2007)

เมื่อ Barack Obama เข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี พ.ศ. ๒๕๕๒ (ค.ศ. 2009) ได้เรียกร้องให้ทุกประเทศช่วยกันสร้างโลกที่ปลอดอาวุธนิวเคลียร์ขึ้นมา ทำให้ Doomsday Clock เดินถอยหลังไป ๑ นาที ในปี พ.ศ. ๒๕๕๓ (ค.ศ. 2010)  และหยุดอยู่ที่ 23:54 น. หรือ ๖ นาที ก่อนเที่ยงคืน

ชาวโลกที่ต่างหลงดีใจไปการสิ้นสุดของสงครามเย็นเริ่มตระหนักถึงปัญหาต่าง ๆ เมื่อ Barack Obama เข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี พ.ศ. ๒๕๕๒ (ค.ศ. 2009) ได้เรียกร้องให้ทุกประเทศช่วยกันสร้างโลกที่ปลอดอาวุธนิวเคลียร์ขึ้นมา นับเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนแรกที่ประกาศเช่นนี้ ประกอบกับความพยายามที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าสู่ชั้นบรรยากาศ และการสนับสนุนให้ใช้พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ความพยายามเหล่านี้ ทำให้ Doomsday Clock เดินถอยหลังไป ๑ นาที ในปี พ.ศ. ๒๕๕๓ (ค.ศ. 2010) และหยุดอยู่ที่ 23:54 น. หรือ ๖ นาที ก่อนเที่ยงคืน

ความล้มเหลวของบรรดาผู้นำโลกในการจัดการกับภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้นของสงครามนิวเคลียร์ เช่น การสิ้นสุดสนธิสัญญาอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลาง (Intermediate-Range Nuclear Forces Treaty : INF) ระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซีย ตลอดจนความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่าน พร้อมกับการละเลยต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ จดหมายเหตุของนักวิทยาศาสตร์ปรมาณูจึงประกาศเป็นหน่วยวินาทีแทนที่จะเป็นนาที นี่เป็นเวลาที่ใกล้เที่ยงคืนที่สุดของ Doomsday Clock ใกล้กว่าปี พ.ศ. ๒๔๙๖ (ค.ศ. 1953) และ พ.ศ. ๒๕๖๑ (ค.ศ. 2018) 

จดหมายเหตุของนักวิทยาศาสตร์ปรมาณูได้ทำการสรุปโดยระบุว่า ปัญหาในปัจจุบันที่ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนเวลาคือ "สถานการณ์ที่อันตรายที่สุดเท่าที่มนุษยชาติเคยเผชิญมา" ในแถลงการณ์ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๔ (ค.ศ. 2021) และ พ.ศ. ๒๕๖๕ (ค.ศ. 2022) ที่ออกในเดือนมกราคมของทุกปี จดหมายเหตุของนักวิทยาศาสตร์ปรมาณูได้ตั้งเวลาไว้ที่ "๑๐๐ วินาทีถึงเที่ยงคืน" โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งทำให้เหลือเวลาอีกอีกเพียง ๑๐๐ วินาทีโลกก็จะเข้าสู่จุดหายนะที่เวลาเที่ยงคืน นับเป็นการปรับเข้าใกล้เวลาเที่ยงคืนมากที่สุด หลังจากที่ Donald Trump ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนก่อนประกาศนโยบายที่จะทำให้โลกต้องเสี่ยงเข้าใกล้ความหายนะต่าง ๆ มากขึ้น ทั้งเรื่องการเตรียมขยายศักยภาพด้านนิวเคลียร์ และการละทิ้งนโยบายการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก ค่านี้ยังคงอยู่จนปัจจุบันนี้ (เดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๕ (ค.ศ.  2022))

Doomsday Clock จะเดินหน้าหรือถอยหลัง ล้วนแล้วแต่ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของพลโลก เมื่อเราทุกคนและทุกชีวิตบนโลกนี้ต่างก็มีส่วนในการขยับขับเคลื่อน Doomsday Clock เราทุกคนจึงมีหน้าที่ร่วมกันในการที่จะทำให้นาฬิกาเรือนนี้เดินถอยหลังเรื่อย ๆ โดยไม่ปล่อยให้โลกต้องเดินเข้าสู่วันหายนะ (Doomsday) ตามยถากรรม


👍 ติดตามผลงาน อาจารย์โญธิน มานะบุญ เพิ่มเติมได้ที่ : https://thestatestimes.com/author/ดร.โญธิน%20มานะบุญ