Friday, 26 April 2024
ประชาธิปไตย

‘อมรัตน์’ ร่วมอ่านจดหมายเปิดผนึกถึงประธานศาลฎีกา หวัง!! ป้องสิทธิแสดงความเห็น ‘เยาวชน-ประชาชน’

“คุกควรขังผู้ปล้นอำนาจประชาชน ไม่ใช่ขังผู้เรียกร้องประชาธิปไตย” - ‘อมรัตน์’ ร่วมอ่านจดหมายเปิดผนึกถึงประธานศาลฎีกา ยืนยันจุดยืนปกป้องสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นของเยาวชนและประชาชน

26 ต.ค. 64 ที่หน้าศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพมหานคร อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล, ธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล พร้อมด้วย สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา ส.ส.นครปฐม เขต 3 พรรคก้าวไกล และสมยศ พฤกษาเกษมสุข นักกิจกรรมทางการเมือง ร่วมกันอ่านจดหมายเปิดผนึกถึง ‘เมทินี ชโลธร’ ประธานศาลฎีกา เพื่อเรียกร้องต่อจุดยืนในการปกป้องสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นทางการเมืองของเยาวชนและประชาชน 

อมรัตน์ กล่าวว่า ในฐานะผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล จึงออกมาแสดงจุดยืนต่อสาธารณะ ดังที่ปรากฏเป็นข่าวของสื่อมวลชนตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค. 63 ว่า…

“ยินดีใช้ตำแหน่งผู้แทนราษฎรไปประกันตัว หากเสรีภาพในการแสดงความเห็นที่ถูกรองรับไว้โดยรัฐธรรมนูญถูกพรากไปด้วยข้ออ้าง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” พร้อมโชว์ใบรับรองเงินเดือนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นเพราะว่า หลายปีที่ผ่านมานับจากรัฐประหาร 22 พ.ค. 57 ต่อเนื่องมาถึงรัฐบาลนี้ที่สืบทอดอำนาจในปัจจุบันซึ่งยาวนานใกล้เข้าปีที่ 8 แล้ว ประเทศถูกปกครอง ครอบงำด้วยความกลัว ผู้ที่รักประชาธิปไตย ให้คุณค่ากับหลักการสิทธิเสรีภาพ และความเท่าเทียม ตกอยู่ในความมืดมิดแห่งรัตติกาลอันยาวนานไม่เห็นแสงสว่าง ถูกปิดกั้นเสรีภาพในการคิด การพูด การแสดงความคิดเห็นทางการเมือง อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่สุดในประเทศประชาธิปไตย เมื่อสิ้นสุดความอดทน เยาวชนหนุ่มสาวและประชาชนออกมาทวงคืนประชาธิปไตย ไล่นายกที่สืบทอดอำนาจจากการรัฐประหาร เรียกร้องให้ยุบสภาเพื่อคืนอำนาจให้ประชาชน ยกเลิกอำนาจ ส.ว.(สมาชิกวุฒิสภา) ในการเลือกนายกรัฐมนตรี รวมไปถึงเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้มีความเป็นสากลสอดคล้องกับยุคสมัย

“แต่ไม่ว่าจะออกมาส่งเสียงมากมายแค่ไหน ข้อเรียกร้องของพวกเขาถูกตั้งใจละเลยไม่ถูกได้ยิน สิ่งที่ได้รับคือการลุแก่อำนาจปราศจากมนุษยธรรม ใช้กำลังปราบปรามอย่างรุนแรงเกินกว่าเหตุ ใช้งบประมาณมากมายปราบปรามผู้ชุมนุมอย่างบ้าคลั่งราวกับพวกเขาเป็นอริราชศัตรูเพียงแค่พวกเขาคิดต่างจากผู้ทรงอำนาจบาตรใหญ่ แจกคดีความถ้วนหน้าออกหมายเรียก หมายจับ ใช้กฎหมายปิดปาก จงใจใช้และต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ด้วยข้ออ้างเรื่อง Covid-19 อย่างปราศจากความละอายต่อสายตาชาวโลก”

อมรัตน์ ย้ำว่า สำหรับตนแล้วเยาวชนผู้กล้าหาญเหล่านั้น คือ นักต่อสู้ไม่ใช่นักโทษ คือเจ้าของอนาคตประเทศนี้ พวกเขาได้ก้าวข้ามเส้นแห่งความกลัวที่คนยุคตนไม่เคยเข้าข้ามพ้นเส้นนั้นมาได้ บัดนี้มีผู้ต้องหาคดี 112, 116, 215, พ.ร.บ.คอมพ์, พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ และพ.ร.ก.ฉุกเฉิน มากมายถึง 1,500 คน จาก 800 กว่าคดี โดยเฉพาะคดี 112 มีถึง 150 คน และส่วนใหญ่เป็นเยาวชน

“เราต้องยอมรับกันเสียทีว่า คดีมาตรา 112 เป็นคดีทางการเมือง จะต้องถูกแก้ไขด้วยวิถีทางการเมือง แทนใช้คุก ศาล ทหาร และใช้กฎหมายปิดปาก รวมทั้งกฎหมายหมิ่นพระมหากษัตริย์ เป็นประเด็นที่ประเทศไทยถูกองค์กรระหว่างประเทศ และประเทศต่าง ๆ วิพากษ์วิจารณ์ นับจากปี 54 ถึงปี 64 ถูกวิจารณ์มาแล้วไม่ต่ำกว่า 22 ครั้ง ถูกเสนอแนะให้แก้ไขในเรื่องอัตราโทษที่สูงเกินไป ไม่ได้สัดส่วนกับความผิดและไม่มีโทษขั้นต่ำ ไม่มีคำนิยามที่แน่นอนของคำว่าดูหมิ่น และกฎหมายนี้มีปัญหาการบังคับใช้ที่ถูกตีความอย่างไร้ขอบเขต รวมไปถึงไม่สอดคล้องกับหลักการสากลในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง” อมรัตน์ กล่าว 

สิทธิมนุษยชนไทย ปี 2564 ‘สอบผ่าน’ หรือ ’สอบตก’ !!? | Click on Clear THE TOPIC EP.111

📌 ห้ามพลาด!! วิกฤต ‘สิทธิมนุษยชนไทย’!? กับแขกรับเชิญพิเศษ ‘คุณวรภัทร วีรพัฒนคุปต์’ กรรมการ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)

📌 ใน Topic : สิทธิมนุษยชนไทย ปี 2564 ‘สอบผ่าน’ หรือ ’สอบตก’ ในมุมมองนักประชาธิปไตย!!?

ร่วมจับประเด็น เน้นความรู้ได้ในรายการ Click on Clear THE TOPIC

ดำเนินรายการโดย ปริม กุญชนิตา กุญชร ณ อยุธยา PROGRAM DIRECTOR THE STATES TIMES

.

.

'ดร.กิตติธัช' ชำแหละ!! 'ประธานผู้ลี้ภัย' ชูทัศนคติผิดๆ 'หากไม่ใช่พวกฉัน ไม่ใช่ประชาธิปไตย'

ดร.กิตติธัช ชัยประสิทธิ์ นักวิชาการอิสระ และอาจารย์ด้านสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก 'Kittitouch Chaiprasith' ในหัวข้อ “หากไม่ใช่พวกฉัน ไม่ใช่ประชาธิปไตย” โดยระบุว่า...

สาเหตุที่นายจรัล ออกมาโวยวายและอยากให้มีการปฏิวัติล้มระบบเดิม เพราะผลการเลือกตั้งฝรั่งเศสรอบแรก พรรคฝ่ายซ้ายตกรอบไม่ได้ไปต่อ โดยผลเป็นดังนี้...

- มาครง (ฝ่ายกลาง) 27.6%
- เลอ เปน (ฝ่ายขวา) 23.41%
- เมลองชอง (ฝ่ายซ้าย) 21.95%

คณะกรรมาธิการยุโรป กล่าว!! จีนแสดงให้โลกเห็น 'ประชาธิปไตย' ไม่ใช่กุญแจสำหรับการเติบโต

กลายเป็นข่าวเด่นในแวดวงเศรษฐกิจโลกกันขึ้นมาเลยทีเดียว หลังจากล่าสุด 1 ในคณะกรรมาธิการทางด้านเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปอย่าง Paolo Gentiloni เริ่มส่อแววแปรพักตร์ไปหาจีน 

โดยเขาได้กล่าวว่าตอนนี้ 'จีน' แสดงให้โลกเห็นแล้วว่า "ประชาธิปไตย" นั้นไม่ใช่กุญแจสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจ ?? ซึ่งคำพูดนี้ถือเป็นการหักหน้าสหรัฐฯ อย่างไม่ต้องถามหมอกันเลยทีเดียว !

Paolo Gentiloni กล่าวในงานที่สถาบันปีเตอร์สันในวอชิงตัน ดี.ซี. ว่า...

“การเติบโตของจีนแสดงให้เห็นแล้วว่าประชาธิปไตยนั้นไม่จำเป็นต่อการบรรลุความสำเร็จทางเศรษฐกิจเลย และนั่นคือการเปลี่ยนแปลงวิถีที่เราได้เห็นและมีการหารือกันกับอีกหลายประเทศ ผมคิดว่าภาพลวงตาแห่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบการปกครองแบบเผด็จการ ผ่านด้านการค้า การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม และความสัมพันธ์ส่วนบุคคล กำลังจางหายไป”

(China’s growth shows that democracy is not necessary to achieve economic success and that is changing the way we see and interact with such countries, I think the illusion of changing an autocratic regime through trade, cultural exchanges, personal relations, is fading,)

‘จีน’ แฉ!! ทุน NED ปั้นชาติ ปชต.จอมปลอม ก่อเหตุจลาจล เพื่อหนุนประโยชน์ให้มะกัน

เค้าลางการปะทะทางการทูตและเศรษฐกิจ ระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ดูจะระอุมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสหรัฐฯ ปักหมุดรุกคืบในเอเชีย-แปซิฟิกอย่างต่อเนื่อง เพื่อพุ่งเป้าปิดล้อมจีน รวมถึงโดดเดี่ยวรัสเซียอย่างออกนอกหน้าไม่ปิดบัง 

อย่างไรก็ตามทางการจีนได้เคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วทั้งด้านเศรษฐกิจการเมืองและการทหาร โดยไม่ยอมเป็นฝ่ายถูกกระทำแต่ฝ่ายเดียว ผ่านท่าทีของเจ้าหน้าที่จีน และคำพูดของผู้นำที่ยกระดับเข้มข้นขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ 

ล่าสุดกระทรวงการต่างประเทศจีนได้เผยแพร่รายงานเปิดโปงพฤติกรรมบ่อนเซาะ แทรกแซงของสหรัฐฯ ในโลกอย่างหมดเปลือกว่า แผนการร้ายทำลายประเทศอื่นๆ นั้นผ่านเข้ามาในฉากหน้าของประชาธิปไตยโดยหน่วยงานเอ็นจีโอหลักที่เรียกว่า NED 

เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 65 สำนักข่าวโกลบอลไทมส์ รายงานว่า กระทรวงการต่างประเทศจีนเปิดเผยรายงาน การบริจาคเพื่อประชาธิปไตยแห่งชาติ โดยองค์กร NED ของสหรัฐ หรือ The National Endowment for Democracy ซึ่งมีสถานะหนึ่งเหมือน ‘ทหารราบ’, ‘ถุงมือขาว’ และ ‘ครูเสดประชาธิปไตย’ ของรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นผู้บงการอยู่เบื้องหลังการจลาจลแบ่งแยกดินแดน การปฏิวัติสี และวิกฤตทางการเมืองทั่วโลก โดยเอกสารข้อเท็จจริงที่เผยแพร่โดยกระทรวงการต่างประเทศจีน เมื่อวันเสาร์ที่ 7 พ.ค.ที่ผ่านมา ระบุว่า... 

รัฐบาลหุ่นเชิดในประเทศต่างๆ และการปลูกฝังกองกำลังหุ่นเชิดที่สนับสนุนสหรัฐฯ เกิดขึ้นภายใต้ข้ออ้างว่าส่งเสริมประชาธิปไตย

ประเทศจีนเป็นเป้าหมายหลักของกิจกรรมการแทรกซึมและการโค่นล้มของ NED มานานแล้ว NED ลงทุนมหาศาลในโครงการต่อต้านจีนที่มุ่งแบ่งเขตซินเจียง ทิเบต และฮ่องกงออกจากจีน 

อย่างไรก็ตาม จะสังเกตได้ว่าความพยายามใดๆ ที่จะเข้าไปแทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่นๆ ในนามของประชาธิปไตยนั้น ล้วนไม่เป็นที่นิยม และในที่สุดก็ประสบกับภาวะที่ล้มเหลว เฉกเช่นกรณีที่ฮ่องกง

ในรายงานดังกล่าว ยังระบุอีกว่า สหรัฐฯ ใช้ประชาธิปไตยเป็นเครื่องมือและอาวุธมานานแล้ว เพื่อบ่อนทำลายประชาธิปไตยในนามของประชาธิปไตยจอมปลอม ยุยงให้เกิดความแตกแยกและการเผชิญหน้า และเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการภายในของประเทศอื่นๆ ซึ่งก่อให้เกิดผลร้ายตามมา คือ NED ได้ล้มล้างรัฐบาลที่ถูกกฎหมาย และปลูกฝังกองกำลังหุ่นเชิดของสหรัฐฯ ทั่วโลกภายใต้ข้ออ้างในการส่งเสริมประชาธิปไตย

'ไตรรงค์' แชร์!! เหตุที่ทำให้ประชาธิปไตยตาย ผู้คน 'ละทิ้งราวกันตก' สังคมถูกแทนด้วย 'อนาธิปไตย'

นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีต ส.ส. หลายสมัย ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ในหัวข้อประชาธิปไตยตายได้อย่างไร โดยระบุว่า...

วันนี้ผมขอมาแชร์ 5 ข้อว่า #ประชาธิปไตยตายได้อย่างไร #HowDemocraciesDie

#ข้อที่1 หลังจากมีสงครามกลางเมืองระหว่าง ค.ศ.1861-1865 ที่พี่น้องฆ่ากันเองตายไปมากกว่า 600,000 คน ซึ่งฝ่ายเหนือที่นำโดยประธานาธิบดี Lincoln ได้รับชัยชนะสามารถประกาศเลิกการมีทาสได้โดย 11 รัฐทางภาคใต้ต้องยอมแพ้และต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญที่แก้ไขใหม่ซึ่งห้ามการมีทาส หลังจากนั้นสิทธิในการเลือกตั้งสำหรับคนผิวดำก็เกิดขึ้น และตามมาด้วยสิทธิการเลือกตั้งของสตรีในปี ค.ศ. 1920 และสิทธิการเลือกตั้งของชาวพื้นเมืองอินเดียแดงในปี ค.ศ.1924

รัฐบาลแห่งสาธารณรัฐใหม่ก็มีความเข้มแข็งมากขึ้น แม้ว่าความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลิกทาส มักจะถูกละเมิดตลอดเวลาในรัฐทางใต้ แต่ก็เป็นช่วงที่ถือว่ามีความสงบทางการเมืองภายในประเทศพอสมควร ทำให้สหรัฐอเมริกาสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมจนเป็นประเทศที่มีความเข้มแข็งในทางเศรษฐกิจ #การพัฒนาหลักการต่างๆเพื่อรักษาระบอบประชาธิปไตยก็ได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน เรียกช่วงเวลาดังกล่าวว่าเป็นยุคแห่งการฟื้นฟูบูรณะประเทศหลังสงครามกลางเมือง (Reconstruction era)

ภายใต้หลักการใหม่ที่ทั้งประเทศเห็นพ้องต้องกันให้ยึดถือเป็นเสมือนราวกันตก (guard rail) ทำให้ประชาธิปไตยของสหรัฐฯ เจริญ มีความมั่นคง มีเสรีภาพและมีความเสมอภาคมากขึ้นติดต่อกันมาจนสามารถนำประเทศผ่านสงครามโลกครั้งที่ 1 (ค.ศ.1914-1918) และหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (ค.ศ.1941-1945) สหรัฐฯ ก็กลายเป็นผู้นำโลกเสรี ยิ่งหลังจากสหภาพโซเวียตรัสเซียได้สลายตัวเมื่อ ค.ศ.1991 สหรัฐฯ ก็กลายเป็นมหาอำนาจของโลกเพียงผู้เดียว

แต่เพราะการแข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตายระหว่าง 2 พรรคการเมืองใหญ่คือพรรค Republican และพรรค Democrat ได้ทำให้ทั้งสองฝ่ายค่อยๆ ทิ้ง #หลักการที่เป็นราวกันตก จนนำมาซึ่งความเสื่อมของระบอบประชาธิปไตย อันเป็นเหตุให้ศาสตราจารย์ด้านการเมืองของมหาวิทยาลัย Harvard 2 ท่านได้ทำวิจัยเรื่องความเสื่อมลงของระบอบประชาธิปไตยทั่วโลก รวมทั้งของประเทศสหรัฐฯ เองด้วย (หนังสือดังกล่าว ชื่อว่า “How Democracies Die” เขียนโดย ศาสตราจารย์ STEVEN LEVITSKY และศาสตราจารย์ DANIEL ZIBLATT)

ซึ่งปกติผมเป็นคนเห็นจุดอ่อนของอาจารย์ฝรั่งที่บางที่ผมว่าพวกเขามิได้เข้าใจอะไรลึกซึ้งเกี่ยวกับประเทศเล็กๆเช่นประเทศไทย จึงมักนำทฤษฎีของพวกเขามาสรุปผิดๆ เกี่ยวกับประเทศไทยและประเทศด้อยพัฒนาอื่นๆ หรือบางที่พวกเขาก็แกล้งทำเป็นลืมความไม่ดีของประเทศของตนที่เป็นเหตุแห่งความเสื่อมพังทลายของหลายๆประเทศทั่วโลก ซึ่งผมได้ปะทะคารมกับพวกเขามามากแล้วทั้งที่มหาวิทยาลัย Hawaii มหาวิทยาลัย Harvard แห่งสหรัฐฯ และมหาวิทยาลัย Cambridge กับมหาวิทยาลัยแห่ง London (LSE) แห่งประเทศอังกฤษ แต่ทัศนะของอาจารย์อเมริกันทั้งสองที่เขียนเกี่ยวกับประเทศสหรัฐฯ ของตนเองนั้น ผมว่าเราควรฟังเพราะมันน่าเชื่อถือ

#ข้อที่2 จากหนังสือดังกล่าวข้างต้นได้ชี้ให้เห็นว่า ตลอดเวลาหลังจากสงครามกลางเมืองของสหรัฐฯ นักการเมืองและประชาชนได้ยึดถือหลักการใหม่ที่ถือว่ามันเป็นเสมือนราวกันตกของระบอบประชาธิปไตยของสหรัฐมาโดยตลอด

ราวกันตกที่ว่านั้นมีอยู่ 2 ข้อ ซึ่งมีความสำเร็จเสมือนเป็นกฎข้อหนึ่งในรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ แม้จะมิได้ระบุเอาไว้เป็นลายลักษณ์อักษรก็ตาม ราวกันตกดังกล่าวคือ

2.1) หลักการที่ว่า คู่แข่งทางการเมืองเป็นเพียงคู่แข่ง (Political rival) มิใช่เป็นศัตรู (Enemy) หลังเลือกตั้งทุกระดับผ่านไป ทุกคนต้องไม่โกรธกัน สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติกับผู้ที่มีความเห็นต่างกันในทางการเมือง สามารถร่วมมือกันเพื่อขับเคลื่อนประเทศ ไม่พยายามขัดขวางหรือสร้างความลำบากในการบริหารประเทศของฝ่ายที่ชนะการเลือกตั้งหลักการข้อนี้เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า “the mutual toleration”

2.2) หลักการอีกข้อหนึ่งก็คือหลักการว่าด้วยการควบคุมอารมณ์ของตนในการใช้สิทธิทางการเมือง ไม่มีการกระทำที่เป็นการอาฆาตมาดร้ายเพราะอิจฉาริษยา คือไม่มีการกระทำที่เป็นลักษณะที่เกิดจากความโกรธและเกลียดคู่แข่งในทางการเมือง (ในทางพระพุทธศาสนา เรียกว่า ต้องไม่มีการกระทำที่เป็น “ทุจริต 3” คือกายทุจริตโดยการทำร้ายกัน กลั่นแกล้งกัน วาจาทุจริต คือการทำร้ายกันทางวาจา และ มโนทุจริต คือการผูกใจอาฆาตมาดร้าย คอยสาปแช่งคู่แข่งทางการเมือง....ไตรรงค์) ซึ่งหลักการข้อนี้ ฝรั่งเขาเรียกว่า หลักการว่าด้วยความอดทนอดกลั้นในทางการเมือง (the political forbearance)

#ข้อที่3 เพราะกิเลสตัณหาของมนุษย์ที่มีแต่ความโลภ โกรธ หลง เข้าครอบงำจิตใจของนักการเมืองและกองเชียร์ในยุคหลังๆ การยึดถือหลักการทั้งสองข้อได้หย่อนยานลงจนเกิดสิ่งที่ไม่เคยเกิดมาในปีค.ศ. 2016 โดยพรรค Republican (เหมือนพรรค Democrat) ซึ่งเคยยึดถือมาตลอดว่าผู้ที่จะสมัครเป็นประธานาธิบดีในนามของพรรคนั้น จะต้องเป็นคนที่มีประสบการณ์ทั้งทางการเมืองและทางบริหารราชการแผ่นดินในระดับที่เป็นประจักษ์และยอมรับได้ของประชาชนนอกเหนือจากการไม่มีประวัติด่างพร้อยทางจริยธรรม แต่ในปี ค.ศ.2016 พรรค Republican ได้เลิกยึดถือประเพณีดังกล่าว ปล่อยให้นักปลุกระดมมวลชน (ที่เรียกกันว่าพวก Demagogues) ที่ไร้ความรู้และประสบการณ์ทั้งในทางการเมืองและการบริหารประเทศ ได้รับเลือกให้เป็นผู้สมัครประธานาธิบดีในนามของพรรค Republican ซึ่งก็คือ Donald Trump เมื่อได้เป็นประธานาธิบดีจึงได้สร้างความเสียหายมากมายทั้งภายในประเทศและความตกต่ำของภาพลักษณ์ในสายตาของชาวโลกที่มีต่อสหรัฐอเมริกา

ปัญหาที่ Trump ได้สร้างขึ้นอันก่อให้เกิดความไม่มั่นคงภายในประเทศ ก็คือการสร้างและส่งเสริม #ลัทธิรังเกียจผิว โดยได้แพร่เชื้อที่ว่า ผิวขาวเท่านั้นที่เป็นเจ้าของประเทศสหรัฐ (White Supremacy) จึงทำให้เกิดการทำร้ายร่างกายคนผิวสีที่ไม่ใช่สีขาว ปีหนึ่งๆ มีการฆ่ากันเพราะเหตุนี้มากกว่า 1,000 คน แม้ว่าการเลือกตั้งครั้งหลังสุด Trump จะประสบความพ่ายแพ้แก่ Joe Biden แห่งพรรค Democrat แต่เชื้อโรคลัทธิรังเกียจผิวก็ยังแพร่ขยายออกไป มีแต่จะแรงขึ้น เพราะเชื้อเดิมมันก็มีของมันอยู่แล้ว Trump เพียงราดน้ำมันเข้าใส่กองเพลิงให้ลุกโชนมากขึ้นเท่านั้น

#ข้อที่4 ลัทธิรังเกียจผิวได้ทำให้หลักการที่เป็นรั้วกันตกพังทลายลง กล่าวคือนักการเมืองและกองเชียร์ทั้ง 2 ขั้ว คือขั้วที่รังเกียจผิวกับขั้วที่ไม่รังเกียจผิวถือว่าเป็นศัตรูกัน ไม่สามารถอยู่ร่วมกันโดยสันติกับผู้ที่มีความเห็นต่างได้  ความอดทนอดกลั่นที่ใช้ในการควบคุมอารมณ์มิให้ก่อความรุนแรงก็พังทลายลงเช่นเดียวกัน เพราะถ้าไม่ยึดมั่นรั้วกันตกอันที่หนึ่ง รั้วกันตกอันที่สองก็เกิดขึ้นไม่ได้ (คำอธิบายในเรื่องนี้อยู่หน้า 150-154 ของหนังสือที่อ้างถึง) สังเกตเห็นได้ในครั้งแรกที่ Trump พ่ายแพ้แก่ Biden Trump ได้เรียกร้องให้ผู้สนับสนุนตนอย่ายอมรับผลการเลือกตั้ง ให้ใช้กำลังขัดขวางมิให้มีการประกาศแต่งตั้ง Joe Biden เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ จึงเกิดฝูงชนเข้าบุกทำลายอาคารรัฐสภา ทำร้ายเจ้าหน้าที่ และตำรวจของรัฐสภาบาดเจ็บล้มตายไปหลายคน ถูกจับติดคุกติดตารางกันไปหลายคน เป็นต้น

หนังสือเล่มนี้ได้ทำนายไว้ว่า เมื่อหลักการทั้งสองที่เป็นเสมือนราวกันตกได้พังทลายลง ระบบอนาธิปไตย (anarchy) ก็จะเข้ามาแทนที่ความเป็นประชาธิปไตยในสหรัฐอเมริกา ต่อไปในอนาคตสหรัฐอาจจะไม่พบกับความสงบอีกต่อไป

เพราะถ้าฝ่ายนิยมรังเกียจผิวมีชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งต่อไป จะมีการรังแกคนผิวสีโดยวิธีต่างๆ เช่น จะมีการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ เพื่อลดอิทธิพลของพวกผิวสีลง จะมีการใช้กำลังทั้งทหารและตำรวจกับคนผิวสีรุนแรงมากขึ้น จะมีการออกมาตรการเนรเทศคนผิวสี สิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาค เป็นเรื่องที่ไม่ต้องพูดถึงกันอีกแล้ว รัฐธรรมนูญจะถูกละเมิดเพราะทั้งศาลและองค์กรอิสระจะถูกอำนาจเผด็จการรัฐสภาเข้าแทรกแซงจนหมดสิ้น

แต่ถ้าพวกนิยมลัทธิรังเกียจผิวเกิดพ่ายแพ้การเลือกตั้ง พวกเขาก็จะก่อกวนสร้างความรุนแรงต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อให้เกิดความวุ่นวายเพื่อขัดขวางฝ่ายที่ชนะให้บริหารประเทศไม่ได้หรือบริหารได้ด้วยความลำบาก เพราะพวกเขาถือว่าผู้ที่ชนะการเลือกตั้งเป็นศัตรู แม้ว่าเป็นรัฐบาลที่ชอบด้วยกฎหมายก็ตาม

ทั้งสองอย่างมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนยกเว้นเสียแต่ว่า พระเจ้าจะดลบันดาลให้นักการเมืองและกองเชียร์เกิดจิตสำนึกว่า สิ่งที่พวกตนคิด พูด และทำนั้น เป็นภัยต่ออนาคตของประเทศอย่างแท้จริง แล้วทุกฝ่ายก็กลับยึดถือหลักการที่เป็นราวกันตกกันใหม่ โดยปล่อยให้ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ.2016 กลายเป็นบทเรียนแก่ชนรุ่นหลังว่าอย่าทำผิดเช่นนั้นอีก ประเทศสหรัฐและประชาธิปไตยจึงจะปลอดภัยในอนาคต

#ข้อที่5 เมืองไทยเราก็ได้เกิดการเมือง 2 ขั้วที่นับวันจะถือว่าเป็นศัตรูกันมากขึ้น ระหว่างขั้วที่ชังชาติ ชังจารีตประเพณี บ้าวัฒนธรรมตะวันตก และอยากให้ประเทศปกครองในระบบประธานาธิบดี กับขั้วที่ยังรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ซึ่งยังต้องการรักษาความเป็นไทยภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

'โบว์ ณัฏฐา' ย้อนเจ็บ 'พวกจ้องแต่จะด่า' "จะทวงประชาธิปไตยจากใครได้ เมื่อในใจไม่เคยมี"

วันนี้ (27 ส.ค.) น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา หรือโบว์ นักกิจกรรมทางการเมือง ได้โพสต์ข้อความในทวิตเตอร์ @NuttaaBow ระบุว่า "ได้รับเชิญไปคุยในรายการของ Top News เนื้อหาที่นำเสนอคือทำไมนายกจึงควรลงจากอำนาจ สลิ่มฟังแล้วบอกว่ารับฟังได้ในเหตุผล ส่วนคนที่เรียกตัวเองว่าฝ่ายประชาธิปไตยหลายพันคนไม่ได้ฟัง เห็นภาพว่านั่งคุยกับอ.เสรี ก็ทวิตไปด่าพร้อมข้อกล่าวหาสารพัด คุณจะไปทวงประชาธิปไตยจากใครได้ เมื่อในใจไม่เคยมี" กลายเป็นที่ฮือฮาอย่างมาก

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 25 ส.ค. โบว์ ณัฏฐา ได้รับเชิญไปออก รายการเรื่องลับมาก ผลิตรายการโดย บริษัท รวมหัวทีวี จำกัด ดำเนินรายการโดย ดร.เสรี วงษ์มณฑา ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมท็อปนิวส์ ในหัวข้อ "อำนาจเปลี่ยนมือ ศาลรัฐธรรมนูญสั่งลุงตู่หยุดปฏิบัติหน้าที่ ลุงป้อมรักษาการแทน" 

โดยในตอนหนึ่ง โบว์ ณัฏฐา กล่าวว่า มติศาลรัฐธรรมนูญให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หยุดปฏิบัติหน้าที่ 5 ต่อ 4 นั้นก้ำกึ่งมาก สะท้อนเสียงในสังคมก็มีการถกกันถึงสองมุม เหมือนมีกองเชียร์ทั้งสองฝั่ง คือ ให้อยู่ต่อ หรือให้หยุดเลย ซึ่งส่วนหนึ่งมองว่าเป็นการลดอุณหภูมิ ทำให้หลายคนเบรกเพื่อรอดูก่อน

ส่วนการเรียกว่า "นายกเถื่อน" นั้น โบว์ ณัฏฐา มองว่าเป็นการแสดงอารมณ์ทางการเมือง ซึ่งเชื่อว่ามีคำนี้อยู่ในใจตั้งแต่ปี 2557 เป็นความคิดที่มาจากอุดมการณ์ทางการเมือง แต่ก็เข้าใจว่าทำให้อีกฝ่ายหนึ่งไม่สบายใจ คิดว่าเป็นช่วงเวลาที่ต้องรับฟังและอดทน แต่ถ้าไม่อยากให้บรรยากาศแย่ไปกว่านี้ จะพูดอะไรก็ถนอมน้ำใจกันนิดนึง เพราะมันก็อยู่ในช่วงที่ต้องรอ

ส่วนที่ว่ามีการเลือกตั้งปี 2562 ทำไมไม่หายไปนั้น เห็นว่าเป็นเพราะเส้นทางเข้าสู่อำนาจ ถ้าเป็นนักการเมืองปกติจะต้องเริ่มจากการหาเสียงทำให้ประชาชนเชื่อมั่นแล้วเลือก ถ้าได้คะแนนเยอะก็เข้าทำงาน ผลงานเป็นอย่างไร จะไปต่อได้ไหมอยู่ที่ผลงานที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ มาด้วยเหตุผลว่าสถานการณ์ตอนนั้น คิดว่าจำเป็นก็เลยยึดอำนาจ คราวนี้พอตั้งต้นมาจากการยึดอำนาจ เหมือนเป็นการตั้งต้นจากต้นทุนที่มาจากกำลังทหาร พอดำเนินการต่อมา ไม่ว่าจะทำอะไรเหมือนตั้งจากต้นทุนนั้น

"ถ้าจะมองว่าเป็นข้อได้เปรียบที่นักการเมืองปกติไม่มี พอครบ 5 ปี มีการออกแบบกติกา ทำประชามติ โดยกฎหมายที่ตัวเองออกแบบขึ้น พอได้เป็นต่อผ่านการเลือกตั้งแบบนี้ คนก็สามารถจะมองได้ว่า มาจากต้นทุนที่ไม่ได้เป็นปกติอยู่ดี ไม่ชอบธรรมจากการตั้งต้น เป็นการสะสมความได้เปรียบ พอมาเป็นต่อก็เหมือนมันไม่ปกติ ในอดีตที่ผ่านมาประวัติศาสตร์จากนายกฯ ที่มาจากรัฐประหาร ก็อยู่ด้วยความเจียมเนื้อเจียมตัว รีบที่จะคืนอำนาจ อันนั้นเป็นมาตรฐานในความรู้สึกของคนในระบอบประชาธิปไตย ว่าไม่ควรจะสะสมและใช้ต้นทุนในการที่จะไปต่อ" โบว์ ณัฏฐา กล่าว

โบว์ ณัฏฐา กล่าวว่า ถ้าให้น้ำหนักเชิงอุดมการณ์ในระบอบประชาธิปไตยกับที่มา ผลงานจะไม่สามารถลบได้เลย แต่คนอีกส่วนหนึ่งในสังคมก็มองในแง่ทางปฏิบัติ มองผลงาน แล้วก็บอกว่าผลงานขนาดนี้เขาพอใจ แล้วทำไมเขาจะเลือกให้อยู่ต่อไปไม่ได้ พอคนสองกลุ่มให้น้ำหนักที่ต่างกัน ไม่มีทางที่จะเห็นตรงกัน และว่า ใครที่บอกว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว ก็คงไปตามความรู้สึก วันนี้อะไรที่มาจากอารมณ์ความรู้สึก เราก็อาจจะแยกไว้ส่วนหนึ่ง แล้วก็มองไปข้างหน้าว่า ถ้าตัดสินอย่างนี้แล้วยังไงต่อ ถ้าตัดสินอีกแบบหนึ่ง สนามการเมืองจะเป็นอย่างไร

เมื่อถามว่า รู้สึกอย่างไรกับการที่มีคนเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ เสียสละลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ไม่เป็นภาระศาลรัฐธรรมนูญ โบว์ ณัฏฐา กล่าวว่า ก็พูดได้ แต่ไม่ใช่เป็นภาระ เป็นหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญที่จะต้องวินิจฉัย ถ้าเกิดวินิจฉัยให้เป็นบรรทัดฐานมีประโยชน์ เพราะนายกฯ ในอดีตไม่ใช่มีแค่ พล.อ.ประยุทธ์ แต่ยังมีคนอื่นๆ พอศาลมีคำวินิจฉัยออกมา อย่างน้อยจะได้รู้ว่าในอนาคตถ้ามีกรณีคนเข้ามาในการเมืองจะเริ่มนับยังไง ก็เป็นประโยชน์ถ้าศาลวินิจฉัย

ส่วนการเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออก คิดว่าก็เสนอได้ เชื่อว่านายกฯ ก็มีการตีความส่วนตัวแล้วเหมือนกัน ถ้าเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ต้องการให้เกิดการสะสมอำนาจ ถ้าตั้งต้นได้ว่ามีอำนาจตั้งแต่เมื่อไหร่ ก็อาจจะรู้สึกอยากลาออกเองก็ได้ หรือคงคิดว่าให้ศาลสั่ง ไหนๆ ก็เข้ากระบวนการแล้วให้เป็นบรรทัดฐานไป ส่วนตัวก็อยากฟังคำวินิจฉัย เพราะอยากให้เกิดบรรทัดฐาน ไม่ควรจะมีกฎหมายใดตั้งเอาไว้แล้วทั้งประเทศงงกันอยู่แบบนี้

เมื่อถามว่า อยู่สาย 57, 60 หรือ 62 (หมายถึงการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของนายกฯ) โบว์ ณัฏฐา กล่าวว่า ต้องตีความตามเจตนารมณ์ แต่เมื่ออ่านบทบัญญัติแล้ว ตอนแรกก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งออกมา ตนเดาว่าคงจะตีความให้เริ่มนับตั้งแต่ปี 2562 เพราะในมาตราที่พูดถึงเรื่อง 8 ปี มีการบอกว่านายกฯ ตามรัฐธรรมนูญนี้ต้องมีที่มาจากบุคคลที่สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบ และอ้างอิงว่าสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบมาจากมาตรา 159 ซึ่งมีรายละเอียดจำนวนมาก แต่ถ้าตีความตามเจตนารมณ์ต้องยอมรับว่า คนร่างมีเจตนาไม่ต้องการให้เกิดการสะสมอำนาจ และไม่ได้นึกถึงนายกฯ ที่มาจากการรัฐประหาร เพราะระบุว่านายกฯ มาจากสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้นคิดว่าเขียนได้สองแบบ ขึ้นอยู่กับว่าจะเขียนแบบไหน ตอนนี้เริ่ม 50-50 แล้ว

เมื่อถามว่า การเรียกร้องให้นายกฯ ลาออก เพื่อที่จะให้มีการเลือกนายกฯ ใหม่ และแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่ ถือว่าเร็วไปหรือไม่ โบว์ ณัฏฐา กล่าวว่า คิดว่าช่วงที่เหลืออยู่เพียงแค่ไม่กี่เดือน ไม่ควรไปทำลายเสถียรภาพของรัฐบาลโดยที่ประโยชน์ที่จะได้รับไม่คุ้มกัน ถ้าเราอยู่แต่เรื่องความขัดแย้งทางการเมือง กระทั่งลืมมองว่าตอนนี้เกิดอะไรขึ้น แล้วข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ปรับคณะรัฐมนตรีตอนนี้แล้วจะมีผลดีอย่างไร ไม่ว่ากับสนามการเมืองหรือการประชุมเอเปก เหลืออีกไม่กี่เดือน บางทีก็คิดว่าเป็นแค่ข้อเสนอเพื่อเอาใจกองเชียร์ คนที่เสนอก็รู้ว่าเป็นไปไม่ได้ เราก็อาจจะมองข้ามไป

เมื่อถามว่า รักษาการนายกรัฐมนตรี ตามธรรมเนียมก็ต้องใช้รองนายกฯ คนที่หนึ่ง คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งเสียงที่ออกมาในแง่ลบมากกว่าเป็นบวก เหมือนหลบรถสิบล้อไปชนรถเทลเลอร์ มองอุปมาอุปไมยนี้อย่างไร โบว์ ณัฏฐา กล่าวว่า เป็นการสะท้อนทางการเมืองปกติ จริงๆ ไม่ต้องมองแบบนี้ก็ได้ ดูจากผลโพลก็จะรู้ว่า ในผลโพล พล.อ.ประยุทธ์ เหนือกว่า พล.อ.ประวิตร และรองนายกรัฐมนตรีคนอื่นๆ ก็เหนือกว่า พล.อ.ประวิตร ในแง่ของความนิยมทางการเมือง ก็เป็นปกติที่คนจะพูดอะไรแบบนั้น แต่ว่า พล.อ.ประวิตรมีความชอบธรรมที่จะรักษาการนายกรัฐมนตรี เพราะเป็นเบอร์หนึ่ง ก็ให้มันไปได้อย่างนี้

แต่ถ้ามองอนาคตกันไปยาวกว่านั้น ก็อยากจะเห็น พล.อ.ประยุทธ์ วางมือ เพื่อให้สนามการเมืองคราวหน้าเป็นปกติมากขึ้น เพราะในวันนี้ ส.ว. 250 คนที่ พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งมา ยังมีอำนาจโหวตเลือกนายกฯ อยู่เลย เมื่อกล่าวถึงความเป็นไปตามกฎหมายและความชอบธรรม แล้วเราบอกว่า คนที่มีญาติ จะไปทำอะไรกับรัฐ ถ้าเราเป็นผู้มีอำนาจเราไม่ควร เรื่อง ส.ว. 250 คน มีอำนาจโหวตเลือกนายกฯ โดยที่ ส.ว. 250 คน แต่งตั้งโดยหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็เป็นเรื่องที่ถูกมองมาตลอดไม่ว่าจะฝ่ายไหน เรื่องนี้เป็นปัญหาจริง

"แต่ไม่ว่าจะไปด้วยเหตุผลไหน ถ้าท่านมองย้อนกลับไปแล้วก็คิดว่าพอแล้ว เหมือนสมัย พล.อ.เปรม (ติณสูลานนท์) ก็น่าจะเป็นจุดตั้งต้นที่ดีสำหรับสนามการเมืองที่จะเป็นปกติมากขึ้น คิดว่าความปกติทางการเมืองเป็นสิ่งที่ประเทศชาติต้องการ แต่ถ้าเกิดว่าศาลบอกว่าอยู่ต่อได้ และตัดสินใจที่จะลงสนามการเมือง ถึงตอนนั้นเราก็ประเมินกันอีกว่าผลของมันจะเป็นยังไง คิดว่าสิ่งที่น่าจะคิดกันก็คือ ผลของการที่ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ ลงสนามหน้า ความเป็นไปได้ที่พรรคเพื่อไทยจะแลนด์สไลด์มีสูง กับบรรยากาศและกระแสตอนนี้ ต้องยอมรับว่า 8 ปี ไม่ว่าจะเป็นนายกฯ ที่เก่งแค่ไหน 8 ปีมันจะเริ่มมีความอ่อนล้าจากสังคม คือความเบื่อ ไม่ว่าจะมีเหตุผลอย่างไร มันเกิดขึ้น แล้วมันจะเป็นกราฟลงแบบนี้ ประกอบกับมีเรื่องการตีความ 8 ปีแบบนี้อยู่ด้วย คิดว่าในสนามเลือกตั้งจะอยู่ตรงจุดไหน แล้วจะสร้างผลอย่างไร" โบว์ ณัฏฐา กล่าว

ในตอนท้าย เมื่อถามว่า นับจากวันนี้ถึงวันที่ศาลวินิจฉัย จะมีการชุมนุมเพื่อกดดันศาลอยู่หรือไม่ โบว์ ณัฏฐา กล่าวว่า คิดว่ามี บางทีเป็นความต่อเนื่อง เป็นอารมณ์คงค้าง ซึ่งถ้าอยู่ในกรอบพอดีก็เป็นปกติ แต่ถ้ามีความพยายามยกระดับหรืออะไร คิดว่าผลกระแสอาจจะตีกลับ เพราะคนก็ไม่รู้สึกถึงความสมเหตุสมผล การเคลื่อนไหวตอนนี้เป็นการสร้างกระแสเพื่อหนุนการเลือกตั้ง ยิ่งเคลื่อนไหวไปแม้จะไม่มีผลในการเปลี่ยนคำวินิจฉัยของศาล แต่จะมีผลต่อการลดความชอบธรรมของ พล.อ.ประยุทธ์ ถ้าสิ่งที่เขาสื่อสารมีน้ำหนัก ส่งผลไปถึงการเลือกตั้ง คิดว่าเป็นเหตุผลนั้นมากกว่า

เลือกตั้งปี 2020 ช่องโหว่ของประชาธิปไตยในสหรัฐฯ เมื่อ 'ทรัมป์' ปลุกระดมกองเชียร์ ด้วยคำอ้างว่า 'ถูกโกง'

ชาวไทยบางกลุ่มชื่นชมประชาธิปไตยแบบสหรัฐอเมริกามาก ถึงกับเอ่ยปากว่าอยากให้ประเทศไทยมีหลักการปกครองแบบเขา มาลองดูกันว่าประชาธิปไตยแบบสหรัฐฯ นี่ไปถึงไหนกันแล้ว

สหรัฐอเมริกาได้มีการปกครองในระบบประชาธิปไตยมาตั้งแต่ปีค.ศ. 1787 (พ.ศ. 2330) โดยเลือกตั้งประธานาธิบดีเข้ารับตำแหน่งบริหารประเทศสมัยละ 4 ปี และมีสิทธิ์ปกครอง 2 สมัยหรือ 8 ปี ถ้าได้รับเลือกตั้งกลับเข้ามาอีก คะแนนเสียงประชาชนไม่ใช่เป็นปัจจัยที่ตัดสินผลเลือกตั้งโดยตรง เนื่องจากสมัยที่ก่อตั้งระบบการปกครองการคมนาคมและการสื่อสารยังไม่เจริญ จึงมีการแต่งตั้งกลุ่มผู้แทน (Electoral College) มาลงคะแนนเสียงแทนประชาชน จำนวนของผู้แทนคะแนนเสียง (electors) แต่ละรัฐจะขึ้นกับจำนวนประชากร รัฐไหนมีประชากรมาก จำนวนผู้แทนก็จะมากตาม รวมแล้วทั้งประเทศมีผู้แทนเสียง 570 คน พรรคเดโมแครตและพรรคริพับลิกันแบ่งกันคนละครึ่งในแต่ละรัฐ ถ้าจำนวนของผู้แทนเสียงของพรรคไหนถึง 270 ก่อน พรรคนั้นก็มีเสียงส่วนมากที่จะมีสิทธิ์เลือกประธานาธิบดี

ตั้งแต่ 'จอร์จ วอร์ชิงตัน' เข้ามารับตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีคนแรกในปีค.ศ. 1787 (พ.ศ. 2330) การเลือกตั้งได้ถูกปฎิบัติมาอย่างราบรื่น เนื่องจากเหล่าผู้แทนเสียงทำหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์และผู้เข้าชิงตำแหน่งยอมรับผลโดยสดุดี การผลัดเปลี่ยนประธานาธิบดีมีแต่ความสงบและเคารพซึ่งกันและกัน แต่แล้วการเลือกตั้งในปี 2020 (พ.ศ. 2563) ก็เผยช่องโหว่ของประชาธิปไตยของสหรัฐอเมริกา

ตั้งแต่ 'โดนัลด์ ทรัมป์' ลงสมัครประธานาธิบดีในปี 2016 (พ.ศ. 2559) เขาได้ประกาศเป็นศัตรูกับเหล่าสื่อใหญ่ของประเทศ โดยกล่าวหาว่าพวกสื่อเสนอข่าวเท็จ (fake news) เกี่ยวกับเขา และโปรโมตสื่อที่สนับสนุนเขาว่าเป็นสื่อที่น่าเชื่อถือ ประชาชนที่ชอบทรัมป์จึงไม่เชื่อสื่อที่เคยเป็นหน่วยข้อมูลของประเทศ แต่ไปเสพสื่อที่เสนอข่าวเอาใจผู้นำของตนโดยไม่ใช้วิจารณญานแยกแยะข้อเท็จจริง จนกระทั่งถึงขั้นป่วยหรือตายเพราะไปดื่มน้ำยาซักผ้าขาวป้องกันโควิด เพราะในขณะที่ทรัมป์แถลงข่าวเกี่ยวกับโรคระบาด เขาเอ่ยว่าน้ำยาซักผ้าขาวมีประสิทธิภาพฆ่าเชื้อไวรัสได้ 

6 ตุลาคม พ.ศ.2519 เหตุการณสังหารหมู่นักศึกษา หนึ่งในวันสุดอัปยศในประวัติศาสตร์ไทย

วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ว่า เป็นวันสุดอัปยศเมื่อเจ้าหน้าที่รัฐบาลและกลุ่มฝ่ายขวาหลายกลุ่มร่วมมือกันก่อการสังหารหมู่นักศึกษาและประชาชน ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

จุดเริ่มต้น สืบเนื่องจากเหตุการณ์ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยของประชาชนในวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ได้ทำให้รัฐบาลเผด็จการทหารของจอมพลถนอม กิตติขจร พ้นจากอำนาจ และต้องเดินทางออกนอกประเทศพร้อมจอมพลประภาส จารุเสถียร และพ.อ.ณรงค์ กิตติขจร

แต่นับตั้งแต่กลางปี 2518 มีสัญญาณว่าเผด็จการทหารกลุ่มเดิมกำลังวางแผนที่กลับคืนสู่อำนาจอีกครั้ง และในวันที่ 19 กันยายน 2519 จอมพลถนอม ที่ถูกขับไล่ออกนอกประเทศและลี้ภัยอยู่ที่สหรัฐฯ ได้เดินทางกลับประเทศไทยด้วยการบวชเป็นสามเณรเข้ามา โดยอ้างต่อสาธารณชนว่าตนจะอยู่ใต้ร่มกาสาวพัสตร์ มิได้มุ่งแสวงหาอำนาจ และต้องการมาเยี่ยมบิดาที่ใกล้ถึงแก่กรรม

สามเณรถนอมออกจากสนามบินมุ่งตรงไปยังวัดบวรนิเวศวิหารเพื่อเข้ารับการอุปสมบท แต่มวลชนจำนวนมากยังไม่เชื่อว่าสามเณรถนอมปรารถนาความหลุดพ้นจริงๆ (สุดท้ายเขาก็สึกในปีต่อมา ก่อนเรียกร้องให้รัฐบาลคืนทรัพย์สินของเขาที่ถูกยึดไปด้วยข้อหาทุจริต) จึงพากันออกมาประท้วง

แต่นักกิจกรรมถูกตอบโต้กลับอย่างรุนแรง ในวันที่ 24 กันยายน พ.ศ.2519 พนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคถูกฆ่าแขวนคอขณะออกไปปิดใบประกาศประท้วงการกลับมาของถนอม จากนั้นในวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2519 นักศึกษาได้แสดงละครแขวนคอเพื่อประท้วงการใช้ความรุนแรง ซึ่งเชื่อว่าเจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนเกี่ยวข้อง และต่อต้านความพยายามใด ๆ ที่จะนำพาประเทศกลับสู่ระบบเผด็จการอีกครั้ง

วันต่อมา 'ดาวสยาม' หนังสือพิมพ์ฝ่ายขวาได้กล่าวหานักศึกษาที่แสดงละครแขวนคอว่าหมิ่นพระบรมโอรสาธิราช พร้อมด้วยข้อหาล้มสถาบันกษัตริย์ ภาพจากหนังสือพิมพ์ดาวสยาม (ซึ่งมีการถกเถียงกันว่ามีการตกแต่งภาพหรือไม่ และหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นฉบับอื่นมีส่วนสมคบคิดกับดาวสยามหรือไม่) ถูกนำไปปลุกระดมให้ลูกเสือชาวบ้านและกลุ่มฝ่ายขวาอื่น ๆ เข้าปิดล้อมธรรมศาสตร์ ที่มีนักศึกษานับพันคนชุมนุมประท้วงกันอยู่

วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 คือวันที่เกิดเหตุการณ์ที่น่าเศร้าสลดที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทยเมื่อกองกำลังติดอาวุธซึ่งมีเจ้าหน้าที่รัฐอย่างตำรวจตระเวนชายแดน และลูกเสือชาวบ้านเป็นแกนนำได้ใช้กำลังเข้าทารุณกรรม และสังหารชีวิตของนักศึกษาอย่างไร้ปราณี ด้วยข้อหาเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ โดยมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 46 ราย (บางแหล่งอ้างถึงหลักร้อยราย)

การที่กองกำลังตำรวจตระเวนชายแดนซึ่งมิได้ประจำการอยู่ในกรุงเทพฯ ได้เคลื่อนพลเข้ามากวาดล้างนักศึกษาในครั้งนี้ ทางรัฐบาลของนายเสนีย์ ปราโมช ยืนยันว่ามิได้เป็นผู้ออกคำสั่ง และยังอ้างว่าเขามิได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับการสังหารหมู่ โดยกล่าวว่า ทางรัฐบาลสั่งให้เจ้าหน้าที่จับกุมตัวนักศึกษาที่มีส่วนกับการแสดงละครแขวนคอเท่านั้น มิได้สั่งให้ยิงนักศึกษาแต่อย่างใด

เหตุสังหารหมู่ที่เกิดขึ้น กลายเป็นข้ออ้างให้ พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดในขณะนั้น ประกาศยึดอำนาจ พร้อมกล่าวประณามนักการเมือง และความไร้ประสิทธิภาพของระบอบประชาธิปไตย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top