Sunday, 5 May 2024
ประชาธิปไตย

‘ม.เกษตร’ ออกแถลงการณ์ เห็นด้วยกับวิถีประชาธิปไตย แต่ไม่สนับสนุนการแสดงออกที่ไม่เคารพเกียรติ-สัญลักษณ์ชาติไทย

เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 66 จากกรณีมีการชักธงดำขึ้นสู่ยอดเสาหน้าหอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน เมื่อช่วงเย็นวันที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยมีการทำกิจกรรมปราศรัยโจมตี ส.ว. ที่ไม่สนับสนุนนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี

ล่าสุดเพจเฟสบุ๊ก ‘มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์’ ได้ ออกแถลงการณ์ มีข้อความว่า…

“มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เห็นด้วยกับการแสดงออกในวิถีทางประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เห็นชอบในความกลมกลืนบนความหลากหลายทางความคิด เพื่อความถูกต้องเหมาะสมตามแนวทางประชาธิปไตยแบบไทย

แต่ไม่เห็นด้วยกับการแสดงออกที่ไม่เคารพเกียรติและสัญลักษณ์ของประเทศชาติ ธงชาติไทยเป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทย แสดงถึงเอกลักษณ์และศักดิ์ศรีในความเป็นไทย มีความหมายถึงความเป็นเอกราช สถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นความภาคภูมิใจของคนในชาติ ที่รักษาเอกราช มายั่งยืนถึงทุกวันนี้

ขอให้ทุกฝ่ายได้มีการแสดงออกในแนวทางที่ถูกต้องและเหมาะกับเกียรติภูมิของคนไทย เคารพกฎ ฟังความคิดเห็นของกันและกัน ปฏิบัติตามกติกา การอยู่ร่วมกันและเข้าใจความรู้สึกของคนในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ของสังคม และของประเทศชาติ”

รอง ปธ.สภายุโรป เรียกร้องไทย เคารพเจตจำนง ปชช.  ลั่น!! 'พิธา' ต้องได้จัดตั้งรัฐบาล ปชต.ไม่ควรถูกขวาง

หลังจากจบการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 66 สถานการณ์การเมืองไทย ก็กลายเป็นที่จับตาของคนทั่วโลก ท่ามกลางคำถามว่าใครจะได้เป็น ‘นายกรัฐมนตรีคนที่ 30’ ของประเทศไทย และหลังจากที่มติรัฐสภา 395 เสียง ตีตกเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ไม่ให้โหวตเป็นนายกฯ ซ้ำ ซึ่งทางด้านพรรคก้าวไกล จึงได้ส่งไม้ต่อให้กับพรรคอันดับที่ 2 ซึ่งคือพรรคเพื่อไทย เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลกับอีก 8 พรรคร่วม

ล่าสุดเมื่อวันที่ 25 ก.ค. 66 ที่ผ่านมา เฮดิ เฮาตาลา รองประธานสภายุโรป ได้ทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัว หลังแชร์ข่าวของเว็บไซต์ ยูโรนิวส์ ที่นำเสนอข่าวของ พิธา ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว

โดย เฮดิ ได้ทวีตข้อความแปลเป็นไทย ระบุว่า "ฉันขอเรียกร้องให้ทางการไทย เคารพเจตจำนงของประชาชนไทย และผลการเลือกตั้งเมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา พรรคก้าวไกลได้รับชัยชนะอย่างมีนัยสำคัญ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ ต้องได้จัดตั้งรัฐบาล ประชาธิปไตยไม่ควรถูกขัดขวาง"

'ก.ต่างประเทศ-วุฒิสภาสหรัฐฯ' จี้ไทยเคารพเสียงประชาธิปไตย หลัง 'เพื่อไทย' ทิ้ง 'ก้าวไกล' ตั้งรัฐบาล ไม่เคารพเสียง ปชช.

กรรมการกิจการต่างประเทศ วุฒิสภาสหรัฐฯ ทวีตจี้ทุกฝ่ายเคารพเจตนารมณ์ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หลังข่าวเพื่อไทยขับก้าวไกลร่วมจัดตั้งรัฐบาล ขณะที่บริษัทประเมินความเสี่ยงแคนาดาออกคำเตือน เลี่ยงเหตุการณ์ชุมนุมในไทย ส่วนฮิวแมนไรท์วอช ชี้ชัดการละเมิดสิทธิมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นหลังจากนี้

(4 ก.ค.66) สำนักข่าวอิศรา รายงานสถานการณ์การเมืองไทยจากมุมมองในต่างประเทศว่า ทวิตเตอร์ของคณะกรรมการกิจการด้านการต่างประเทศของวุฒิสภาสหรัฐอเมริกาได้มีรีทวีตข่าวที่พรรคก้าวไกลถูกขับออกจากการเป็นพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล และทวีตข้อความระบุว่าต้องมีการจับตาพัฒนาการทางด้านการเลือกตั้งในประเทศไทยอย่างใกล้ชิด พร้อมกับเรียกร้องให้ทุกฝ่ายเคารพเจตนารมณ์ของคนไทยที่แสดงผ่านการเลือกตั้ง เสียงของประชาธิปไตยที่ถูกเลือกตั้งมาไม่ควรถูกทำให้เงียบลง

ขณะที่เว็บไซต์ crisis24 ซึ่งเป็นเว็บไซต์ของบริษัท Garaworld บริษัทรักษาความปลอดภัยจากแคนาดา ได้ออกคำเตือนระบุว่า ขอให้ผู้ที่เดินทางไปยังหลีกเลี่ยงจากสถานที่การประท้วงทั้งหมดเพื่อเป็นการป้องกันไว้ก่อน ถ้าหากมีความรุนแรงเกิดขึ้นในบริเวณใกล้เคียง ให้ออกจากพื้นที่ทันทีและหาที่หลบภัยในอาคารที่ปลอดภัย และควรจะมีการวางแผนเผื่อกรณีที่บริการขนส่งท้องถิ่นหรือว่าธุรกิจอาจจะต้องหยุดชะงักจากการชุมนุม

ขอให้ผู้ที่เดินทางได้ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในกระบวนการตรวจค้นด้านความปลอดภัย และขอให้พกพาเอกสารยืนยันตัวตนไว้กับตัวเองตลอดเวลา รวมไปถึงให้ความสนใจในด้านคำแนะนำด้านการขนส่งและความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด

ส่วนเว็บไซต์ Council on Foreign Relations (CFR) ซึ่งเป็นสถาบันคลังสมองในสหรัฐฯ ได้มีการเขียนบทความวิเคราะห์เอาไว้ตอนหนึ่งเกี่ยวกับกรณีที่พรรคเพื่อไทยประกาศขับพรรคก้าวไกลออกจากการร่วมรัฐบาลว่า พรรคเพื่อไทยได้สละสิทธิ์การเป็นพรรคประชาธิปไตยไปแล้ว ทำให้คนรุ่นใหม่มองว่าเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกลุ่มผู้ทรงอำนาจที่ไม่ฟังเสียงประชาชน ซึ่งที่เป็นสิ่งที่พรรคเพื่อไทยต้องจ่ายในระยะยาว

ทางด้านของนายฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอช ประจำภาคพื้นเอเชีย ได้รีทวีตข่าว และทวีตข้อความระบุว่า ไม่ค่อยจะเป็นประชาธิปไตยเท่าไรนัก นั่นคือสิ่งที่ทุกคนสามารถพูดได้ เนื่องจากพรรคการเมืองที่ชนะเสียงและที่นั่งมากที่สุดในการเลือกตั้งเมื่อเดือน พ.ค. ถูกเขี่ยลงไป การละเมิดสิทธิธรรมาภิบาล มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นตามมาอีก หลังจากการเคลื่อนไหวแบบนี้

'ช่อ' ตอบปมก้าวไกลยกมือเลือก ‘เศรษฐา’ นั่งนายกฯ ถาม!! คนโดนผัวบอกเลิก ยังต้องไปปูที่นอนให้ผัวกับเมียใหม่ด้วยเหรอ?

เรียกว่าติดเทรนด์ข่าวแรงกระแสดัง 2 วันติด หลังจากพรรคเพื่อไทย ออกมาประกาศตัดความสัมพันธ์พรรคก้าวไกล แถมมีกระแสว่าทำให้ประชาชนที่เคียงข้างค่อนข้างผิดหวัง งานนี้รายการ ‘คนดังนั่งเคลียร์’ ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 8 เลยขอเชิญตัวมารดาวงการการเมือง แถมฝีปากตรงจุกอกอย่าง คุณช่อ พรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า มาถามไถ่ถึงประเด็นร้อนดังกล่าวว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร และตัวเธอเองมีความคิดเห็นส่วนตัวอย่างไรบ้าง พร้อมเปิดใจพรรคเพื่อไทย ทำไมถึงทำกับพรรคก้าวไกลได้ และพรรคก้าวไกลมีสิทธิ์ถูกยุบพรรคเบรกแรงเหมือนพรรคอนาคตใหม่ในอดีตหรือไม่

>> คิดอย่างไรกับเรื่องที่เกิดขึ้นสด ๆ ร้อน ๆ คะ? (พรรคเพื่อไทยประกาศ หย่า ก้าวไกล) ?

ดิฉันว่าก้าวไกลก็ถอย จนไม่รู้จะถอยอย่างไรแล้วนะคะ ดิฉันว่าเขาก็จะไม่มีที่ยืนแล้วคือ จริง ๆ มันเป็นความพยายามที่ Toxic Relationship (ความสัมพันธ์เป็นพิษ) อยู่กันแบบว่าเป็นคู่ผัวเมียที่ระหองระแหง แต่ก็ธรรมดาของชีวิตคู่ พรรคการเมืองก็เช่นกันใช่ไหมคะ ถ้าเห็นต้องตรงกันหมด ก็คงเป็นพรรคเดียวกันแล้วก็มีความแตกต่างอะไรกัน แต่ช่อว่าก้าวไกลเขาก็มีความพยายามที่จะรักษาสัมพันธภาพ 8 พรรคนี้ไว้ให้ได้ เพราะเดี๋ยวมันจะเกิดข้ามขั้วขึ้นมา เขาก็ไม่อยากเห็นไง

>> คนเขาสงสัยว่าพรรคอันดับ 1 และ อันดับ 2 เขาจับมือกัน ตกลงกัน ดองกันมาแต่ไหนแต่ไร ทำไมอยู่ ๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงข้ามขั้วกันอย่างนั้น ใช่เหรอคะ รู้มาล่วงหน้าหรือเปล่า?

อันนี้พูดในนามตัวเอง เพราะว่าตัวเองไม่ใช่ก้าวไกล แต่ถือว่า เสมือนหนึ่งว่า เป็นคนใกล้ชิดมากเพราะว่าอยู่ตึกเดียวกันนะ เวลาเห็นดิฉันเดินเข้าไปอย่าคิดว่าดิฉันเดินเข้าไปพรรคก้าวไกลนะคะ ออฟฟิศอยู่ตึกเดียวกันกับคณะก้าวหน้า ก็ติดตามสถานการณ์จากการดูข่าวนะคะ แล้วก็พูดคุยกับบรรดา ส.ส. บรรดาแกนนำ คือปฏิเสธไม่ได้หรอก เพราะเป็นเพื่อนกันหมด เราก็ถามไถ่ว่าเป็นอย่างไร อะไรแล้ว จริง ๆ ถามว่าเล็งเห็นไหมว่าจะเกิดเรื่องนี้ในอนาคต ก็เชื่อว่า ทั้งประชาชนและก้าวไกลเอง มันเล็งเห็นอยู่บ้างแหละ แล้วก็มีความรู้สึกว่า คงไม่เกิดหรอก พรรคเพื่อไทยคงไม่ทำหรอก ก็จับมือกันไว้ 2 พรรค เราก็เป็นคนโลกสวยไง พยายามจะมองว่าเขาเดินทางการเมืองมาขนาดนี้ เขาเก่าแก่กว่าพรรคเราเป็นไม่รู้กว่ากี่ 10 ปี อยู่ดี ๆ เขาจะมาทำอะไรหักหาญน้ำใจขนาดนี้เหรอ ในการไปตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว เขาคงไม่ทำ ไม่ได้บอกว่าไม่ทำกับก้าวไกลนะ แต่คือเขาคงไม่ทำกับคนที่เลือกเขามาขนาดนั้น แม้แต่ ส.ส.ในพรรคเพื่อไทยเองก็กลืนยากอยู่ใช่ไหมคะ มันมีประวัติความเป็นมากับภูมิใจไทย อาจารย์ก็เกิดทันอยู่ใช่ไหมคะ เรื่องราวมันเจ็บปวดมากระหว่าง 2 พรรคนี้

>> พวกเธอเป็นนักการเมืองหน้าใหม่ และเธอก็ยังไม่มีประสบการณ์เธอกับยังไม่ลับเขี้ยว เล็บของเธอก็กุด พูดง่าย ๆ เราก็ต้องยอมรับประสบการณ์ว่าเกมไม่ถึงเขา?

จริง ๆ สงสัยเพื่อไทยก็จะเล็งเห็นแบบนี้เลย สั่งสอนเพิ่มประสบการณ์ให้เรา แบบหลักสูตรเร่งรัดในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา (หัวเราะ)

>> พอพรรคเพื่อไทย บอกว่าให้ก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้าน ตอนนี้พรรคก้าวไกลมี 150 คน ก็เป็นฝ่ายค้านได้ ไม่เห็นต้องคิดอะไร มิใช่เหรอคะ?

แต่มันก็แค้นใจอย่างนี้นะ อันนี้แค้นใจส่วนตัวในฐานะกองเชียร์ ฉันก็ไปช่วยเขาหาเสียงจนดำ ก็เพิ่งกลับมาขาว มันก็น่าแค้นใจ แต่ไม่ใช่ในนามของพรรคก้าวไกลนะ ช่อคิดว่ามันน่าแค้นใจในนามประชาชนว่า กูต้องทำขนาดไหนว่ะ พรรคที่ฉันเลือกเนี่ย ตอนแรกก็เลือกไปไม่ได้คาดหวังอะไรมากเนอะ ได้ 100 เสียงก็เก่งแล้ว ปรากฏว่าคนพร้อมใจกันเลือกไม่ได้นัดหมายได้ 151 คนเนี่ย มันยังจะไม่ได้เป็นรัฐบาลอีกเหรอ ซึ่งวันนี้มันก็ชัดเจนแล้วว่าใช่ 14 ล้านเสียงของประชาชนคนไทยก็ไม่สามารถจะทำให้พรรค พรรคนึงตั้งรัฐบาลได้

>> แต่มีนักการเมืองมานั่งที่โต๊ะเดี๊ยนแล้วพูดว่า มีทฤษฎีอะไรเหรอ พรรคที่ได้เสียงข้างมากจะเป็นรัฐบาลไม่จริง เอามาจากไหน ช่อก็อย่าฝันลม ๆ แล้ง ๆ?

ถ้าพรรคที่ได้เสียงข้างมาก จะไม่ได้เป็นรัฐบาล แล้วข้างไหนวะ ที่จะได้เป็นรัฐบาล (หัวเราะ) งง ตกลงฉันเป็นคนที่ไม่มีตรรกะ หรือคนอื่นเป็นคนที่ไม่มีตรรกะ

>> คนทั้งโลกก็คงมีเครื่องหมายคำถามว่า ทำไมการเมืองประเทศไทยถึงเป็นเช่นนี้?

อันนี้พูดแบบไม่ตลกอะไรเลยนะ ด่าตรง ๆ เลย รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 เป็นผลไม้พิษจริง ๆ อาจารย์ก็พูดถูกว่าพรรคที่ได้อันดับ 1 ไม่ได้เป็นรัฐบาลมา 2 ครั้งแล้วนะ ครั้งที่แล้วคือพรรคเพื่อไทย ตอนเลือกตั้ง 62 ตอนนั้นอนาคตใหม่ได้ที่ 3 ครั้งนี้ ก้าวไกลได้ที่ 1 เพื่อไทยได้ที่ 2 ก็ซ้ำรอยเดิมคือ พรรคอันดับ 1 ไม่ได้เป็นรัฐบาล ที่เป็นแบบนี้เพราะ รัฐธรรมนูญ 60 เขาไปมีตัวอย่างที่แบบดีมากจากประเทศเพื่อนบ้านเรา ไม่พูดชื่อประเทศแล้วกันนะคะ คือรัฐธรรมนูญเขียนไว้เลยว่า ต้องมีสมาชิกสภาที่มาจากการแต่งตั้งคือ วุฒิสภา มาโหวตเลือกนายกฯ กับเขาด้วย กลายเป็นพรรคอันดับ 1 ที่แท้จริงมี 250 เสียง ทีนี้มันเลยทำให้เสียงที่มาจากการเลือกของประชาชนมันแทบไม่มีความหมาย เพราะคุณมีพรรคอันดับ 1 250 เนี่ย เทไปที่ใครก็เป็นนายกฯได้

>> เดี๊ยนไปจิ้มในทวิตเตอร์มา เขาโพสต์กันสนั่นหวั่นไหว ถ้าวันที่ 4 นี้ก้าวไกลไม่ยอมโหวตให้คุณเศรษฐา พรรคเพื่อไทย เขาก็จะจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้อีก คราวนี้ก็ต้องโยนไม้ 3 4 ให้คุณอนุทิน มีคนเขาถามแล้วจะไม่ยิ่งไปไกล และยิ่งแย่ไปกว่านี้เหรอคะ?

เดี๋ยวนะคะ คนเราโดนผัวบอกเลิกแล้ว ยังต้องไปปูที่นอนให้ผัวกับเมียใหม่ด้วยเหรอคะ ดิฉันงง สังคมไทยต้องการอะไรจากพรรคก้าวไกล สปิริตไง เธอแพ้แล้วก็ต้องไปเลือกให้เขา? แล้วพรรคอื่นไม่ต้องมีสปิริตเหรอคะ ถ้าพรรคอื่นมีสปิริต พรรคก้าวไกลก็ไม่เดินทางมาถึงขนาดนี้นะ ในฐานะพรรคอันดับ 1 คือช่อคิดแบบนี้ เคยมีการพูดมาก่อนหน้านี้ว่า ถ้าเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลไม่สำเร็จ จะส่งไม้ต่อให้พรรคอันดับ 3 ช่อคิดว่าอันนี้น่าเกลียดไปหน่อย คือมันไม่มีวัฒนธรรมนะคะ อันดับ 1 ไม่ได้ ให้อันดับ 2 อันดับ 2 ไม่ได้ ให้อันดับ 3 คืออันดับ 1 ไม่ได้ ให้อันดับ 2 เราอยู่ร่วมกันใน 8 พรรค แล้วก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาลไม่สำเร็จ เราก็บอกว่า ถ้าไม่สำเร็จ เราก็ให้พรรคอันดับ 2 ในกลุ่มก้อนเดียวกันเป็นผู้เจรจา แต่มันไม่มีวัฒนธรรมนะคะ อันนี้ถูกประดิษฐ์และสร้างขึ้นใหม่ ถ้าพรรคอันดับ 2 ตั้งไม่สำเร็จ เราจะให้พรรคอันดับ 3 แล้วกัน ดิฉันขอโทษนะประชาชนคนไทย ตอนนี้ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว กินข้าวครบหมู่นะคะ ไอโอดีนก็ถึงเรามีไอคิวที่ดี เพราะฉะนั้นประชาชนคนไทยรู้ค่ะ ว่าพรรคอันดับ 2 จัดไม่ได้ ก็จะให้พรรคอันดับ 3 ภูมิใจไทยเป็นผู้จัด คนพูดต้องการอะไร ต้องการโยนขี้ให้พรรคอื่นหรือไม่ อย่าให้พูดแรง เอาแค่นี้ ประชาชนคนไทยไม่ได้โง่ ไม่ได้รับประทานหญ้า กินอาหารครบ 5 หมู่ มีเกลือไอโอดีนรับประทานทุกบ้าน เพราะฉะนั้นอย่าคิดอะไรง่าย ๆ ตื่น ๆ แล้วประชาชนจะเชื่อ

>> พิธาจะจุดจบเดียวกันกับพรรคอนาคตใหม่ไหมคะ?

เรื่องนี้มันเดาตอนจบง่ายมาก เพราะมันเป็นหนังฉายซ้ำ ตอนอนาคตใหม่ก็ซีนนี้มาเต็มหมดเลยใช่ไหม เพราะฉะนั้นการที่มันจบแบบเดิม เราก็ไม่ได้รู้สึกว่ามันอยู่เหนือความคาดหมายอะไร แต่ช่อคิดว่ามันก็ได้พิสูจน์แล้วว่า การยุบพรรคอนาคตใหม่ก็ได้มาซึ่งการชนะของพรรคก้าวไกล ที่เป็นพรรคอันดับ 1 ในวันนี้ คุณยุบพรรคได้ แต่คุณไม่สามารถเอาพรรคออกไปจากใจของประชาชนได้ เพราะเขารัก เขาชอบพรรคนั้น เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่าก้าวไกลจะโดนแบบเดียวกับที่อนาคตใหม่โดน ซึ่งช่อคิดว่าความเป็นไปได้ไม่น้อยหรอก เพราะว่าอาจารย์ก็รู้ ทุกคนก็รู้ แฟนคลับก็รู้ อาจารย์คิดว่าก้าวไกล จะทำได้ดีขึ้น หรือแย่ลงกว่าการเลือกตั้งครั้งนี้

ธรรมะประจำวันอาทิตย์ที่ 13 สิงหาคม 2566

‘ประชาธิปไตย’ คือ ประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่ ไม่ใช่ ‘ประชาชนเป็นใหญ่’ ต้องให้ประชาชนได้รับประโยชน์เต็ม อย่างนั้น จึงจะเป็นประชาธิปไตย ไอ้ประชาชนเป็นใหญ่นั้น มันไม่แน่ ประชาชนบ้าบอก็ได้ 
ถ้าประชาชน ‘เห็นแก่ตัว’ แล้ว...ฉิบหายหมด!!!

-พุทธทาสภิกขุ-

‘พิธา’ บรรยายพิเศษที่ ‘ฮาร์วาร์ด’ ชี้ ประชาธิปไตยทั่วโลกถดถอย ยกเหตุการณ์ชวดเก้าอี้นายกฯ เพราะเกมการเมืองสุดพิสดาร

เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 66 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ที่กำลังเดินสายเยือนสหรัฐอเมริกาอยู่ในขณะนี้ ได้รับเชิญจากศูนย์เอเชียศึกษา มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ให้เป็นผู้บรรยายพิเศษในหัวข้อ ‘Moving Forward : Thailand, ASEAN & Beyond’ (ก้าวไปข้างหน้า : ประเทศไทย อาเซียน และโลก) ท่ามกลางนักศึกษาและผู้สนใจเข้าร่วมฟังการบรรยายจำนวนมาก

นายพิธา เริ่มการบรรยาย โดยระบุว่าในฐานะศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ตนเคยนั่งอยู่ตรงนั้นเหมือนทุกคน และสิ่งที่ตนได้รับการศึกษาจากที่นี่ ไม่ว่าจะเป็นวิชาการเมืองเปรียบเทียบ พรรคการเมือง คือส่วนหนึ่งของความสำเร็จของตน จากการเปลี่ยนสิ่งที่อยู่ในตำราให้เป็นความจริง ทำในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ จากจุดเริ่มต้น ที่ตนเคยเป็นเพียงแค่ผู้นำอ่อนหัดของพรรคการเมืองที่มีอายุเพียง 3 ปี ในเกมที่ออกแบบมาเพื่อให้เราแพ้ การแบ่งเขตเลือกตั้งแบบพิสดาร กติกาในรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นคุณกับเรา แต่เราก็ชนะมาได้

ดังนั้น สิ่งที่ทุกคนกำลังศึกษาอยู่ที่นี่ สามารถกลายเป็นความจริงได้ เป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จในการรณรงค์ทางการเมืองของทุกคนในอนาคตได้ โจทย์ต่างๆ ที่ทุกคนได้รับจากชั้นเรียนที่ฮาร์วาร์ดนี้ ทั้งการเตรียมพาวเวอร์พอยต์นำเสนอ การประชุมกลุ่ม ฯลฯ ล้วนแต่มีความหมายจริงๆ และวันหนึ่งอาจนำพาให้ทุกคนได้มาเป็นผู้บรรยายที่นี่เหมือนกับตนก็เป็นได้

นายพิธา กล่าวต่อว่า เป็นเพราะสิ่งที่ตนได้เรียนรู้จากที่ฮาร์วาร์ดนี่เอง ที่ร่วมก่อรูปความคิดและนโยบายการรณรงค์ของตน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเอาทหารออกจากการเมือง การทลายทุนผูกขาด และการกระจายอำนาจ นโยบายเหล่านี้คือที่มาของชัยชนะของตนและพรรคก้าวไกล แต่ก็เป็นเหตุผลเดียวกันที่ทำให้ตน ที่เป็นผู้ชนะจากการเลือกตั้งปี 2566 ด้วยความเห็นชอบของคน 14.1 ล้านเสียง หรือ 36 เปอร์เซ็นต์ ไม่ได้เข้าไปมีอำนาจบริหาร และถูกระงับการปฏิบัติหน้าที่ด้วยเหตุผลด้านเทคนิค

นี่คือการต่อสู้ระหว่างการเมืองของผู้ได้รับการเลือกตั้งและผู้ได้รับการแต่งตั้ง ในประเทศไทยสมาชิกรัฐสภามีทั้งหมด 750 คน มาจากการเลือกตั้ง 500 คน และมาจากการแต่งตั้งโดยทหาร 250 คน ทุกคนคำนวณได้ว่าเราต้องการ 376 เสียง แต่เราได้เพียง 324 เสียง ทั้งที่เราสามารถรวบรวมเสียงพรรคการเมืองที่สะท้อนเจตจำนงการปฏิรูป และความหวังของประเทศได้สำเร็จแล้ว แต่เราก็ยังแพ้ด้วยตัวเลขจาก ส.ว. แต่งตั้ง องค์ประชุมวันนั้นจึงเอาชนะแคนดิเดตนายกที่มาจากการเลือกของประชาชนได้

นายพิธา กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ไม่ใช่ปรากฏการณ์เฉพาะ แต่กำลังเป็นปรากฏการณ์ระดับโลกที่ประชาธิปไตยกำลังถูกคุกคาม และสันติภาพของโลกกำลังเปราะบาง ในปีแรกที่ตนมาถึงที่นี่ในปี 2006 Freedom House เคยออกผลสำรวจพบว่าประชากร 48 เปอร์เซ็นต์ ของโลกอยู่ในสังคมเสรี แต่ตัวเลขวันนี้ตกมาอยู่ที่ 20 เปอร์เซ็นต์แล้ว นี่คือสิ่งที่สะท้อนสภาวะถดถอยของประชาธิปไตย ซึ่งแม้แต่ในประเทศที่ประชาธิปไตยตั้งมั่นที่สุดแล้ว ก็กำลังเผชิญกับการลดน้อยถอยลงเช่นกัน เหตุใดประชาธิปไตยจึงถดถอยทั่วโลก สำหรับตน ต้นตอของเรื่องนี้ย้อนกลับไปในยุคสงครามเย็น

ระหว่างที่ประชาธิปไตยกำลังเบ่งบานทั่วโลก แต่ในขณะเดียวกันมันก็นำพามาซึ่งโครงสร้างทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยม-เสรีนิยมใหม่ ที่เป็นการรวมศูนย์ความมั่งคั่งไว้ที่คนหมู่น้อย ในเวลาที่ตนเกิดมาความห่างระหว่างผู้มั่งคั่ง 1 เปอร์เซ็นต์บนสุดของโลกกับที่เหลือ ห่างกัน 8 เท่า วันนี้ความห่างนั้นถ่างไปถึง 16 เท่าแล้ว เช่นเดียวกับในประเทศไทย ที่ 1 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่มั่งคั่งที่สุดในสังคมไทย กำลังครอบครองความมั่งคั่ง 60 เปอร์เซ็นต์ของทั้งประเทศอยู่ นั่นเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนจำนวนมากตั้งคำถามกับประชาธิปไตย ขณะที่ประชาธิปไตยคือการจัดสรรอำนาจอย่างเป็นธรรม แต่ในขณะเดียวกันมันก็นำพามาซึ่งโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่รวมศูนย์ความมั่งคั่ง และต่อมากลายเป็นสิ่งที่ซ้ำเติมให้เกิดความล่มสลายทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะที่เห็นได้ชัดคือหลังวิกฤติโควิด

นายพิธา กล่าวต่อว่า ดังนั้น โจทย์สำคัญจากนี้ คือเราจะทำอย่างไรเพื่อรักษาโครงสร้างสังคม ที่ทั้งสามารถจัดสรรอำนาจอย่างเป็นธรรม และจัดสรรความมั่งคั่งอย่างเป็นธรรมไปพร้อมๆ กันได้ ให้การเติบโต กระจายดอกผลไปอย่างทั่วถึง ประเทศต้องไม่จดจ้องอยู่ที่แค่การทำกำไร แต่ต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สิทธิในที่ดินทำกิน การกระจายที่ดิน การสร้างรัฐสวัสดิการที่ดูแลคนทำงานของเรา หรือสิ่งที่อาจเรียกได้ว่าเป็น ‘สังคมประชาธิปไตย’

ซึ่งหลายท่านในที่นี้อาจจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ได้ แต่สิ่งที่ตนเสนอ คือมันถึงเวลาแล้ว ที่เราทุกคนต้องกลับมาคิดถึงการออกแบบสถาปัตยกรรมในการก้าวไปข้างหน้า สิ่งที่ตนคิดมาตลอดในการทำงานทางการเมืองที่ผ่านมา คือเมื่อใดก็ตามที่ตนและพรรคก้าวไกลสามารถจัดการปัญหาในประเทศได้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเอาทหารออกจากการเมือง การทลายทุนผูกขาด และการกระจายอำนาจ เมื่อนั้นเราจะยังเหลือการเปลี่ยนแปลงสุดท้าย ซึ่งไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงภายในประเทศ แต่คือการเปลี่ยนแปลงโลกผ่านนโยบายต่างประเทศ นั่นคือการออกไปบอกกับทั่วโลกว่าประเทศไทยกลับมาแล้ว และเราจริงจัง เราเป็นอำนาจกลาง เราไม่ใช่ประเทศเล็กๆ

เราเป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองในอาเซียน และด้วยการทำงานร่วมกันกับประเทศอาเซียน แม้จะไม่ใช่ทุกประเทศที่สามารถทำงานร่วมกันได้ แต่อย่างน้อยที่สุดด้วยการทำงานร่วมกันกับประเทศผู้ร่วมก่อตั้ง อย่างอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ถ้าเรารวมกันได้ นั่นคือตัวเลขทางเศรษฐกิจ 3.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และประชากร 670 ล้านคน ประเทศใดก็ตามไม่ว่าจะเป็นมหาอำนาจหรือไม่ก็ไม่อาจปฏิเสธเราได้

นายพิธา กล่าวต่ออีกว่า แต่ตราบใดที่เราที่ยังไม่สามารถจัดการปัญหาในประเทศของเราเองได้ ไทยจะมีความน่าเชื่อถืออะไรไปเป็นศูนย์กลางของอาเซียนได้ ในการทำให้อาเซียนมีความหมายขึ้นมา เราต้องเข้าไปมีบทบาทต่อโลกและมีความน่าเชื่อถือเป็นหัวใจหลัก ไม่ว่าจะต่อปัญหาเมียนมา, รัสเซีย-ยูเครน, อิสราเอล-ฮามาส สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นห่างออกไปจากประเทศไทย แต่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อประเทศไทยทั้งสิ้น เราต้องมองออกไปข้างนอก เพื่อให้เราได้เป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลกอย่างแท้จริง และด้วยความร่วมมือกับสมาชิกอาเซียน เราสามารถบอกกับโลกได้ว่าความชอบธรรมคืออำนาจ ไม่ใช่อำนาจคือความชอบธรรม บอกกับโลกได้ว่าเรากำลังจะกลับมาเป็นอำนาจกลาง ที่จะมีส่วนฟื้นระเบียบโลก ประเทศไทยกลับมาแล้ว เราเอาจริง และเราจะทบทวนนโยบายต่างประเทศของเราอีกครั้ง

หลังจากที่เราหายไปจากเวทีโลกในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาภายใต้การปกครองของกองทัพ เราต้องการสร้างสมดุลให้โลกอีกครั้ง และในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการเลือกข้าง แต่คือการยืนหยัดในหลักการ เราต้องวิจารณ์เพื่อนเราได้ และก็ต้องพูดคุยกับคู่แข่งของเราได้ด้วย ในฐานะอำนาจกลาง เราสามารถกำหนดตัวชี้วัดใหม่ในนโยบายต่างประเทศของประเทศไทยได้ มากกว่าแค่เรื่องของการค้าการลงทุนและพันธมิตรด้านความมั่นคงกับสหรัฐอเมริกา ให้มีเรื่องของสิ่งแวดล้อม สภาวะโลกร้อน การควบคุมอาวุธปืน แบ่งปันทุกข์ เรียนรู้ร่วมกัน และหาทางออกร่วมกันได้

“นี่คือสิ่งที่เราทำร่วมกันได้เพื่อบรรลุสิ่งที่ดูจะเป็นไปไม่ได้ เปลี่ยนการต่อสู้ให้เป็นพลัง เปลี่ยนความเจ็บปวดให้เป็นความมั่งคั่ง เปลี่ยนคุณค่าให้เป็นชัยชนะร่วมกัน ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับพวกเราทั้งหมด ถ้าทุกคนทำร่วมกันโดยที่เราไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งในนั้น เราจะหายไปจากการออกแบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการสร้างสันติภาพ นี่คือบทบาทที่เราทำร่วมกันได้ ในการทำให้โลกเป็นสถานที่ที่ดีกว่านี้ โดยที่มีประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งอยู่ในนั้น ก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ผมยังคงคาดหวังที่จะได้เป็นสะพานเชื่อมผู้คนกับผู้คน สภากับสภา ภาครัฐกับภาครัฐ ภาคเอกชนกับภาคเอกชน และรัฐบาลกับรัฐบาลด้วยกัน” นายพิธากล่าว

‘หนุ่มโหราฯ’ ชี้!! ทุกคนมี ‘สิทธิ-เสรีภาพ’ ในการแสดงความเห็นต่าง แต่บางคนชอบอ้าง ‘ประชาธิปไตย’ ทั้งที่ไม่ได้เข้าใจอย่างแท้จริง

เมื่อไม่นานมานี้ ผู้ใช้ TikTok บัญชี @flukepatsmile หรือ นักพยากรณ์โหราศาสตร์ไทย ได้เผยแพร่วิดีโอตอบข้อความของผู้ติดตามที่แสดงความคิดเห็นว่า “ทำไมสลิ่มถึงพูดแต่ ทรงพระเจริญ” โดยระบุว่า…

“ที่ถามว่าทำไม่สลิ่มถึงพูดแต่ทรงพระเจริญ ต้องให้เหมือนคุณไหม? ที่บอกว่าทุกคนมีพ่อมีแม่คนเดียว
แต่ก็ไปเรียกหัวหน้าพรรคว่า “พ่อส้ม” อะไรอย่างนี้”

“ประชาธิปไตย ครึ่งหนึ่งเป็นกฎหมาย อีกครึ่งหนึ่งคือเสรีภาพ มีอยู่วันหนึ่งนะ ผมไปดูหนัง เวลาเพลงสรรเสริญขึ้นผมก็ลุกขึ้นใช่ไหม? สำหรับคนที่ลุกหรือไม่ลุกผมคิดว่ามันไม่ได้เสียหายอะไร เพราะว่ามันคือเสรีภาพส่วนหนึ่ง แต่คุณเชื่อไหม? เด็กที่เขาไม่ลุกหัวเราะเยาะผม ทำหันไปพูดกันเหมือนเยาะเย้ยผม”

“พวกคุณไม่ได้เข้าใจประชาธิปไตยอยู่แล้ว คุณก็แค่ใส่หน้ากากประชาธิปไตย แต่จริง ๆ ตัวคุณอ่ะเป็นเผด็จการในรูปแบบหนึ่งเท่านั้นเอง ในการที่จะเปลี่ยนแปลงให้เป็นตัวคุณต้องการ ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงเข้าหาธิปไตยเลยนะครับ เพราะว่าคุณไม่เคารพสิทธิ์คนอื่น ไม่มีการให้เกรียติ ไม่มีการนับถือคนอื่น อย่างล่าสุด สส. ท่านหนึ่งพูดในสภาที่พลเอกประยุทธ์ไปเที่ยวก็ด้วย”

ทั้งนี้ได้ยกตัวอย่างวิดีโอ สส.ท่านหนึ่งที่พูดถึงพลเอกประยุธ์ในสภา ว่า… “ทรราชที่สร้างความฉิบหายให้ประเทศนี้มา 10 ปี สร้างความโกรธแค้นให้กับพ่อ แม่ พี่ น้อง ประชาชนสร้างความเสียหายให้ประเทศนี้ ไม่รู้ว่าอีก 10 ปี ข้างหน้าจะแก้ไขสิ่งที่สร้างเอาไว้ได้รึเปล่าเลย? ประยุทธ์ จันทร์โอชา วันนี้ลงจากอำนาจลอยหน้าลอยตา”

ผู้ใช้ติ๊กต็อกรายนี้ยังเสริมต่ออีกว่า “คำถามคือ เขาจะอยู่คุณไม่ให้เขาอยู่ พอเขาไปคุณไม่ให้เขาไป ซ้ายก็ไม่ได้ ขวาก็ไม่ได้ อะไรก็ไม่ได้ มันก็คือความเอาแต่ใจนั่นแหละ”

“ผมจะพูดว่าทรงพระเจริญ หรือ ผมจะยืนในโรงหนังก็สิทธิ์ของผมไม่ใช่หรอ? ผมพูดไม่ได้หรอครับ? 
คุณเอาเป็นเรื่องตลก มันเยาะเย้ยคนอื่นเนี่ย มันเรียกว่าการไม่ให้เกียรติ เรื่องง่ายๆ พวกนี้คุณยังคิดไม่ได้เลย คุณจะเอาคำว่าประชาธิปไตยมาอ้าง คุณไม่เข้าใจมันจริง ๆ หรอกครับ”

เทียบนัย 'ร่างรัฐธรรมนูญ 2474' โดยในหลวงรัชกาลที่ 7 ที่ถูกปัดตก มาตรฐานใกล้ รธน.ฉบับแรกหลายชาติยุโรป แต่กลับถูกบอก 'ไม่ประชาธิปไตย'

(24 มี.ค.67) ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์บทความในหัวข้อ 'ความเข้าใจต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่สองที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดให้ร่างขึ้น' (ตอนที่หนึ่ง) ความว่า...

#ร่างรัฐธรรมนูญรัชกาลที่7

หลังจากมีการอภิปรายถกเถียงเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกของพระยากัลยาณไมตรี (ฟรานซิส บี. แซร์) พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้นายเรมอนด์ บี. สตีเวนส์ ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศและพระยาศรีวิศาลวาจา ปลัดทูลฉลองกระทรวงการต่างประเทศยกร่างเค้าโครงรัฐธรรมนูญขึ้นอีกฉบับหนึ่ง

ซึ่งแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2474 โดยเค้าโครงร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีชื่อในภาษาอังกฤษว่า 'An Outline of Changes in the Form of Government' (เค้าโครงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครอง)

ในเค้าโครงร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ กำหนดให้มีตำแหน่งนายกรัฐมนตรีขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศ ทำหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารราชการแผ่นดิน

โดยพระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้คัดสรรและแต่งตั้งบุคคลที่พระองค์ทรงเห็นว่ามีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี โดยไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นสมาชิกในพระบรมวงศานุวงศ์หรือมีตำแหน่งขุนนางเสนาบดีเท่านั้น

จากการที่นายกรัฐมนตรีมาจากการคัดสรรและแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ นายกรัฐมนตรีจึงรับผิดชอบโดยตรงต่อพระมหากษัตริย์

แม้ว่าเค้าโครงร่างรัฐธรรมนูญ จะกำหนดให้นายกรัฐมนตรีมีสิทธิ์ในการเลือกบุคคลเป็นคณะรัฐมนตรี

แต่เค้าโครงฯ นี้เห็นว่า แต่เดิมการแต่งตั้งรัฐมนตรีเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์

ดังนั้น การจะผ่องถ่ายอำนาจทั้งหมดโดยทันทีให้แก่นายกรัฐมนตรี จึงอาจจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วเกินไป

ดังนั้น ในเบื้องต้น เมื่อนายกรัฐมนตรีเลือกบุคคลเป็นคณะรัฐมนตรีแล้ว ควรที่จะให้พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชวินิจฉัยยืนยันเห็นชอบด้วย

นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีมีวาระที่กำหนดไว้ตายตัว โดยให้เป็นไปตามวาระของสภานิติบัญญัติ แต่นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีจะลาออกก่อนครบวาระก็ได้ โดยทำหนังสือกราบบังคมทูลต่อพระมหากษัตริย์ แต่พระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งให้กลับไปดำรงตำแหน่งอีกก็ได้

ขณะเดียวกัน พระองค์ทรงมีพระราชอำนาจที่จะขอให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีออกจากตำแหน่งก็ได้ และเมื่อไรก็ตามที่นายกรัฐมนตรีลาออกเองหรือถูกขอให้ออกจากตำแหน่ง คณะรัฐมนตรีก็จะต้องพ้นจากตำแหน่งไปด้วย

นายกรัฐมนตรีจะทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีและเป็นผู้เดียวที่จะเป็นตัวกลางสื่อสารระหว่างพระมหากษัตริย์และคณะรัฐมนตรี

ในความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจบริหารและอำนาจนิติบัญญัติ และเค้าโครงฯ ได้กำหนดว่า สภานิติบัญญัติจะใช้อำนาจของสภาฯ ในการลงมติไว้วางใจ นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีได้

ถ้ามีการประกาศใช้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็จะเป็นรัฐธรรมนูญในระบอบการปกครองพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy) ฉบับแรกของไทย

“เปรียบเทียบร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ กับ รัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศในยุโรปที่ปกครองด้วยระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ”

เมื่อเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญระบอบการปกครองพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศต่างๆ ในยุโรป จะพบความคล้ายคลึงกันในเรื่องพระราชอำนาจในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี

เริ่มต้นจาก...

>> สวีเดน ค.ศ. 1809

สวีเดนเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญในปี ค.ศ. 1809 และมีรัฐธรรมนูญฉบับแรกในระบอบดังกล่าวในปี ค.ศ. 1809

มาตราแรกของรัฐธรรมนูญสวีเดน ค.ศ. 1809 ระบุว่า “พระมหากษัตริย์แต่เพียงผู้เดียวที่จะเป็นผู้ใช้อำนาจบริหารการปกครองแผ่นดิน” (The King alone shall govern the realm)

และมาตรา 4 ที่ตามมาจะระบุถึงการจำกัดพระราชอำนาจ เช่น การระบุให้พระมหากษัตริย์จำเป็นต้องใช้อำนาจปกครอง “ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้” (in accordance with the provision of this Instrument of Government)

นอกจากนี้ในมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญยังระบุว่า พระมหากษัตริย์จะต้อง...

“ทรงรับฟังข้อมูลและคำแนะนำจากรัฐมนตรีสภา (คณะรัฐมนตรี) อันเป็นสภาที่ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งสมาชิก (รัฐมนตรี) จากบุคคลที่มีความสามารถ ประสบการณ์ เกียรติยศ และเป็นที่เคารพนับถือโดยทั่วไปของเหล่าพสกนิกรชาวสวีเดน”

(seek the information and advice of a Council of State, to which the King shall call and appoint capable, experienced, honorable and generally respected native Swedish subjects)

>> นอร์เวย์ ค.ศ. 1814

นอร์เวย์เข้าสู่ระบอบการปกครองพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญในปี ค.ศ. 1814

สาระสำคัญของรัฐธรรมนูญนอร์เวย์ ค.ศ. 1814 คือกำหนดให้นอร์เวย์ปกครองด้วยระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ นั่นคือ พระมหากษัตริย์ไม่ทรงสามารถใช้พระราชอำนาจในการบริหาร นิติบัญญัติและตุลาการได้โดยตรงอีกต่อไป

แต่กระนั้น รัฐธรรมนูญนอร์เวย์ ค.ศ. 1814 ยังให้พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีโดยไม่ได้กำหนดเป็นลายลักษณ์อักษรว่าจะต้องแต่งตั้งจากสมาชิกสภาเหมือนที่ปรากฎในนอร์เวย์ปัจจุบัน

มาตรา 3 ในรัฐธรรมนูญนอร์เวย์ ค.ศ. 1814 กำหนดให้ 'อำนาจบริหารเป็นของกษัตริย์' (The executive power shall be vested in the King.)

และในทำนองเดียวกันกับรัฐธรรมนูญสวีเดน ค.ศ. 1809 มาตรา 28 ของรัฐธรรมนูญนอร์เวย์ ค.ศ. 1814 กำหนดให้พระมหากษัตริย์ทรงเลือกพลเมืองนอร์เวย์ที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 30 เป็นคณะรัฐมนตรี มีจำนวน 5 คนอย่างน้อย และอาจจะเลือกพลเมืองนอร์เวย์อื่นๆ ให้เป็นคณะรัฐมนตรี ยกเว้นสมาชิกสภาแห่งชาติ

พระองค์จะทรงแบ่งงานให้สมาชิกคณะรัฐมนตรีตามที่พระองค์เห็นว่าเหมาะสมที่สุด และไม่ให้ผู้ที่เป็นบิดา บุตร และพี่น้องเป็นคณะรัฐมนตรีในเวลาเดียวกัน

จากสาระในมาตรา 28 พระมหากษัตริย์มีอำนาจในการแต่งตั้งพลเมืองนอร์เวย์ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีได้ตามพระราชอัธยาศัย

ถ้าจะถามว่า ตกลงแล้วพระมหากษัตริย์ขณะนั้นทรงแต่งตั้ง 'ใคร' ให้มาทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน?

คำตอบคือ โดยส่วนใหญ่ พระมหากษัตริย์จะแต่งตั้งบุคคลที่ดำรงตำแหน่งข้าราชการประจำให้มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ขณะเดียวกัน ก็มีบางส่วนที่แต่งตั้งจากสมาชิกสภา หากสมาชิกสภาผู้ใดได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี จะต้องลาออกจากการเป็นสมาชิกสภา

>> เนเธอร์แลนด์ ค.ศ. 1814

เนเธอร์แลนด์เข้าสู่ระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญในปี ค.ศ. 1814 หลังจากเคยปกครองในแบบสมาพันธรัฐและสาธารณรัฐมาเป็นเวลายาวนาน

ในรัฐธรรมนูญเนเธอร์แลนด์ ค.ศ. 1814 มาตรา 1 ที่เป็นมาตราที่ว่าด้วยอำนาจสูงสุด หรืออำนาจอธิปไตย (Sovereignty) ของเนเธอร์แลนด์ รัฐธรรมนูญเนเธอร์แลนด์ ค.ศ. 1814 อันเป็นรัฐธรรมนูญระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับแรกของเนเธอร์แลนด์

ได้กำหนดให้อำนาจอธิปไตยของเนเธอร์แลนด์เป็นของวิลเลม เฟรดริค และผู้สืบเชื้อสายของพระองค์ “Sovereignty……belongs to Willem Frederik...”

อีกทั้งยังกำหนดให้พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจแต่งตั้งและถอดถอนรัฐมนตรีตามพระบรมราชวินิจฉัยเช่นกัน

>> เบลเยี่ยม ค.ศ. 1831

เบลเยี่ยมเข้าสู่การปกครองระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญในปี ค.ศ. 1831

รัฐธรรมนูญเบลเยี่ยม ค.ศ. 1831 กำหนดให้อำนาจบริหารเป็นของพระมหากษัตริย์

พระองค์ทรงใช้อำนาจบริหารได้ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

โดยมาตรา 64 แห่งรัฐธรรมนูญเบลเยี่ยม ค.ศ. 1831 ได้กำหนดไว้ว่า พระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์จะมีผลบังคับใช้ได้ก็ต่อเมื่อมีผู้รับสนอง และผู้รับสนองฯจะต้องเป็นรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่ง

ดังนั้น พระมหากษัตริย์จึงทรงกระทำผิดมิได้ รัฐมนตรีที่เป็นผู้รับสนองจะเป็นผู้รับผิดชอบ

กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ พระมหากษัตริย์มิได้ทรงใช้พระราชอำนาจบริหารด้วยพระองค์เอง แต่ผ่านรัฐมนตรี และด้วยเหตุนี้ มาตรา 63 จึงกำหนดไว้ว่า ผู้ใดจะละเมิดองค์พระมหากษัตริย์มิได้

มาตรา 66 กำหนดให้พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจในการแต่งตั้งและถอดถอนรัฐมนตรี และในการแต่งตั้งรัฐมนตรี ไม่จำเป็นที่พระมหากษัตริย์จะต้องแต่งตั้งรัฐมนตรีจากสมาชิกสภา (ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกสภาล่างหรือสภาสูง) แต่ถ้าพระองค์แต่งตั้งสมาชิกสภาให้เป็นรัฐมนตรี บุคคลผู้นั้นจะต้องพ้นจากสมาชิกภาพความเป็นสมาชิกสภา

กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ พระมหากษัตริย์เบลเยี่ยมภายใต้รัฐธรรมนูญเบลเยี่ยม ค.ศ. 1831 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของเบลเยี่ยมให้พระมหากษัตริย์ทรงมีอิสระในการแต่งตั้งรัฐมนตรี โดยไม่จำเป็นต้องจากสมาชิกสภา ผู้ที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีจะต้องเป็นผู้มีสัญชาติเบลเยี่ยม (โดยกำเนิดหรือได้รับสัญชาติ) แม้ว่าพระองค์จะมีอิสระ แต่ข้อจำกัดคือ พระองค์ไม่สามารถแต่งตั้งสมาชิกในพระบรมวงศานุวงศ์เป็นรัฐมนตรี

>> เดนมาร์ก ค.ศ. 1849

เดนมาร์กเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญในปี ค.ศ. 1849

รัฐธรรมนูญเดนมาร์ก ค.ศ. 1849 มาตรา 19 กำหนดไว้ว่า “พระมหากษัตริย์เป็นผู้ทรงแต่งตั้งและปลดบุคคลเข้าและออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี การลงพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ในกฎหมายที่ได้ตราขึ้น หรือในการประกาศให้มติในการบริหารราชการแผ่นดินที่เกี่ยวข้องมีผลบังคับได้ จะต้องมีรัฐมนตรีหนึ่งหรือหลายนายลงนามสนองพระบรมราชโองการ”

และรัฐธรรมนูญเดนมาร์ก ค.ศ. 1849 ไม่ได้กล่าวถึงเงื่อนไขการแต่งตั้งและปลดบุคคลเข้าและออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีแต่อย่างใด พระมหากษัตริย์เดนมาร์กทรงมีพระราชอำนาจในการแต่งตั้งและปลดได้ที่พระองค์ทรงเห็นสมควร

ในช่วงเริ่มแรกหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญฉบับแรกในประเทศในยุโรปที่กล่าวไปข้างต้น (สวีเดน, นอร์เวย์, เนเธอร์แลนด์, เบลเยี่ยม และ เดนมาร์ก) จะเริ่มต้นจากการค่อยๆแบ่งแยกอำนาจบริหาร นิติบัญญัติและตุลาการออกจากกัน ที่แต่เดิมทีรวมอยู่ในสถาบันพระมหากษัตริย์

ขณะเดียวกัน ในรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศเหล่านี้ที่เป็นประเทศที่ระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญที่มีความมั่นคงยิ่งในปัจจุบัน และได้รับการจัดลำดับเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมในอันดับต้นๆ ของโลก

เราจะพบการยังคงให้พระมหากษัตริย์ยังคงไว้ซึ่งพระราชอำนาจบริหาร แต่ไม่สามารถบริหารได้โดยลำพังพระองค์เองอีกต่อไป

แต่จะต้องมีนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีเป็นผู้ใช้อำนาจบริหารแทนพระองค์ แต่พระองค์ยังทรงมีพระราชอำนาจในการแต่งตั้งและถอดถอนนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีได้ตามพระบรมราชวินิจฉัย

สถาบันทางการเมืองในระบอบพระมหากษัตรย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ---อันได้แก่ คณะรัฐมนตรีและรัฐสภา รวมทั้งสถาบันพระมหากษัตริย์---ของประเทศเหล่านี้จะค่อยวิวัฒนาการไปตามเงื่อนไขความเป็นจริงทางเศรษฐกิจ สังคมและสภาพการเมืองของแต่ละประเทศ

คำถามคือ ในช่วงที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรก ที่ยังคงให้พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจแต่งตั้งและถอดถอนนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีได้ตามพระราชอัธยาศัยนั้น...เงื่อนไขทางการเมืองและประชาชนในประเทศเหล่านั้นเป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับของไทย?

จากความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฉบับแรกของระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญและกระบวนการวิวัฒนาการทางการเมืองอย่างค่อยเป็นค่อยไปของประเทศต่างๆ เหล่านี้นี่เอง ที่นำมาซึ่ง ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายเรมอนด์ บี. สตีเวนส์และพระยาศรีวิศาลวาจา

และถ้าหากร่างรัฐธรรมนูญฉบับวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2474 ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงโปรดให้ร่างขึ้นไม่เป็น 'ประชาธิปไตย'

เราจะกล่าวได้ไหมว่า รัฐธรรมนูญระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับแรกของ นอร์เวย์, เนเธอร์แลนด์, เบลเยี่ยม และ เดนมาร์ก เป็น 'ประชาธิปไตย' ?

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top