'โบว์ ณัฏฐา' ย้อนเจ็บ 'พวกจ้องแต่จะด่า' "จะทวงประชาธิปไตยจากใครได้ เมื่อในใจไม่เคยมี"

วันนี้ (27 ส.ค.) น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา หรือโบว์ นักกิจกรรมทางการเมือง ได้โพสต์ข้อความในทวิตเตอร์ @NuttaaBow ระบุว่า "ได้รับเชิญไปคุยในรายการของ Top News เนื้อหาที่นำเสนอคือทำไมนายกจึงควรลงจากอำนาจ สลิ่มฟังแล้วบอกว่ารับฟังได้ในเหตุผล ส่วนคนที่เรียกตัวเองว่าฝ่ายประชาธิปไตยหลายพันคนไม่ได้ฟัง เห็นภาพว่านั่งคุยกับอ.เสรี ก็ทวิตไปด่าพร้อมข้อกล่าวหาสารพัด คุณจะไปทวงประชาธิปไตยจากใครได้ เมื่อในใจไม่เคยมี" กลายเป็นที่ฮือฮาอย่างมาก

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 25 ส.ค. โบว์ ณัฏฐา ได้รับเชิญไปออก รายการเรื่องลับมาก ผลิตรายการโดย บริษัท รวมหัวทีวี จำกัด ดำเนินรายการโดย ดร.เสรี วงษ์มณฑา ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมท็อปนิวส์ ในหัวข้อ "อำนาจเปลี่ยนมือ ศาลรัฐธรรมนูญสั่งลุงตู่หยุดปฏิบัติหน้าที่ ลุงป้อมรักษาการแทน" 

โดยในตอนหนึ่ง โบว์ ณัฏฐา กล่าวว่า มติศาลรัฐธรรมนูญให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หยุดปฏิบัติหน้าที่ 5 ต่อ 4 นั้นก้ำกึ่งมาก สะท้อนเสียงในสังคมก็มีการถกกันถึงสองมุม เหมือนมีกองเชียร์ทั้งสองฝั่ง คือ ให้อยู่ต่อ หรือให้หยุดเลย ซึ่งส่วนหนึ่งมองว่าเป็นการลดอุณหภูมิ ทำให้หลายคนเบรกเพื่อรอดูก่อน

ส่วนการเรียกว่า "นายกเถื่อน" นั้น โบว์ ณัฏฐา มองว่าเป็นการแสดงอารมณ์ทางการเมือง ซึ่งเชื่อว่ามีคำนี้อยู่ในใจตั้งแต่ปี 2557 เป็นความคิดที่มาจากอุดมการณ์ทางการเมือง แต่ก็เข้าใจว่าทำให้อีกฝ่ายหนึ่งไม่สบายใจ คิดว่าเป็นช่วงเวลาที่ต้องรับฟังและอดทน แต่ถ้าไม่อยากให้บรรยากาศแย่ไปกว่านี้ จะพูดอะไรก็ถนอมน้ำใจกันนิดนึง เพราะมันก็อยู่ในช่วงที่ต้องรอ

ส่วนที่ว่ามีการเลือกตั้งปี 2562 ทำไมไม่หายไปนั้น เห็นว่าเป็นเพราะเส้นทางเข้าสู่อำนาจ ถ้าเป็นนักการเมืองปกติจะต้องเริ่มจากการหาเสียงทำให้ประชาชนเชื่อมั่นแล้วเลือก ถ้าได้คะแนนเยอะก็เข้าทำงาน ผลงานเป็นอย่างไร จะไปต่อได้ไหมอยู่ที่ผลงานที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ มาด้วยเหตุผลว่าสถานการณ์ตอนนั้น คิดว่าจำเป็นก็เลยยึดอำนาจ คราวนี้พอตั้งต้นมาจากการยึดอำนาจ เหมือนเป็นการตั้งต้นจากต้นทุนที่มาจากกำลังทหาร พอดำเนินการต่อมา ไม่ว่าจะทำอะไรเหมือนตั้งจากต้นทุนนั้น

"ถ้าจะมองว่าเป็นข้อได้เปรียบที่นักการเมืองปกติไม่มี พอครบ 5 ปี มีการออกแบบกติกา ทำประชามติ โดยกฎหมายที่ตัวเองออกแบบขึ้น พอได้เป็นต่อผ่านการเลือกตั้งแบบนี้ คนก็สามารถจะมองได้ว่า มาจากต้นทุนที่ไม่ได้เป็นปกติอยู่ดี ไม่ชอบธรรมจากการตั้งต้น เป็นการสะสมความได้เปรียบ พอมาเป็นต่อก็เหมือนมันไม่ปกติ ในอดีตที่ผ่านมาประวัติศาสตร์จากนายกฯ ที่มาจากรัฐประหาร ก็อยู่ด้วยความเจียมเนื้อเจียมตัว รีบที่จะคืนอำนาจ อันนั้นเป็นมาตรฐานในความรู้สึกของคนในระบอบประชาธิปไตย ว่าไม่ควรจะสะสมและใช้ต้นทุนในการที่จะไปต่อ" โบว์ ณัฏฐา กล่าว

โบว์ ณัฏฐา กล่าวว่า ถ้าให้น้ำหนักเชิงอุดมการณ์ในระบอบประชาธิปไตยกับที่มา ผลงานจะไม่สามารถลบได้เลย แต่คนอีกส่วนหนึ่งในสังคมก็มองในแง่ทางปฏิบัติ มองผลงาน แล้วก็บอกว่าผลงานขนาดนี้เขาพอใจ แล้วทำไมเขาจะเลือกให้อยู่ต่อไปไม่ได้ พอคนสองกลุ่มให้น้ำหนักที่ต่างกัน ไม่มีทางที่จะเห็นตรงกัน และว่า ใครที่บอกว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว ก็คงไปตามความรู้สึก วันนี้อะไรที่มาจากอารมณ์ความรู้สึก เราก็อาจจะแยกไว้ส่วนหนึ่ง แล้วก็มองไปข้างหน้าว่า ถ้าตัดสินอย่างนี้แล้วยังไงต่อ ถ้าตัดสินอีกแบบหนึ่ง สนามการเมืองจะเป็นอย่างไร

เมื่อถามว่า รู้สึกอย่างไรกับการที่มีคนเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ เสียสละลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ไม่เป็นภาระศาลรัฐธรรมนูญ โบว์ ณัฏฐา กล่าวว่า ก็พูดได้ แต่ไม่ใช่เป็นภาระ เป็นหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญที่จะต้องวินิจฉัย ถ้าเกิดวินิจฉัยให้เป็นบรรทัดฐานมีประโยชน์ เพราะนายกฯ ในอดีตไม่ใช่มีแค่ พล.อ.ประยุทธ์ แต่ยังมีคนอื่นๆ พอศาลมีคำวินิจฉัยออกมา อย่างน้อยจะได้รู้ว่าในอนาคตถ้ามีกรณีคนเข้ามาในการเมืองจะเริ่มนับยังไง ก็เป็นประโยชน์ถ้าศาลวินิจฉัย

ส่วนการเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออก คิดว่าก็เสนอได้ เชื่อว่านายกฯ ก็มีการตีความส่วนตัวแล้วเหมือนกัน ถ้าเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ต้องการให้เกิดการสะสมอำนาจ ถ้าตั้งต้นได้ว่ามีอำนาจตั้งแต่เมื่อไหร่ ก็อาจจะรู้สึกอยากลาออกเองก็ได้ หรือคงคิดว่าให้ศาลสั่ง ไหนๆ ก็เข้ากระบวนการแล้วให้เป็นบรรทัดฐานไป ส่วนตัวก็อยากฟังคำวินิจฉัย เพราะอยากให้เกิดบรรทัดฐาน ไม่ควรจะมีกฎหมายใดตั้งเอาไว้แล้วทั้งประเทศงงกันอยู่แบบนี้

เมื่อถามว่า อยู่สาย 57, 60 หรือ 62 (หมายถึงการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของนายกฯ) โบว์ ณัฏฐา กล่าวว่า ต้องตีความตามเจตนารมณ์ แต่เมื่ออ่านบทบัญญัติแล้ว ตอนแรกก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งออกมา ตนเดาว่าคงจะตีความให้เริ่มนับตั้งแต่ปี 2562 เพราะในมาตราที่พูดถึงเรื่อง 8 ปี มีการบอกว่านายกฯ ตามรัฐธรรมนูญนี้ต้องมีที่มาจากบุคคลที่สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบ และอ้างอิงว่าสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบมาจากมาตรา 159 ซึ่งมีรายละเอียดจำนวนมาก แต่ถ้าตีความตามเจตนารมณ์ต้องยอมรับว่า คนร่างมีเจตนาไม่ต้องการให้เกิดการสะสมอำนาจ และไม่ได้นึกถึงนายกฯ ที่มาจากการรัฐประหาร เพราะระบุว่านายกฯ มาจากสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้นคิดว่าเขียนได้สองแบบ ขึ้นอยู่กับว่าจะเขียนแบบไหน ตอนนี้เริ่ม 50-50 แล้ว

เมื่อถามว่า การเรียกร้องให้นายกฯ ลาออก เพื่อที่จะให้มีการเลือกนายกฯ ใหม่ และแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่ ถือว่าเร็วไปหรือไม่ โบว์ ณัฏฐา กล่าวว่า คิดว่าช่วงที่เหลืออยู่เพียงแค่ไม่กี่เดือน ไม่ควรไปทำลายเสถียรภาพของรัฐบาลโดยที่ประโยชน์ที่จะได้รับไม่คุ้มกัน ถ้าเราอยู่แต่เรื่องความขัดแย้งทางการเมือง กระทั่งลืมมองว่าตอนนี้เกิดอะไรขึ้น แล้วข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ปรับคณะรัฐมนตรีตอนนี้แล้วจะมีผลดีอย่างไร ไม่ว่ากับสนามการเมืองหรือการประชุมเอเปก เหลืออีกไม่กี่เดือน บางทีก็คิดว่าเป็นแค่ข้อเสนอเพื่อเอาใจกองเชียร์ คนที่เสนอก็รู้ว่าเป็นไปไม่ได้ เราก็อาจจะมองข้ามไป

เมื่อถามว่า รักษาการนายกรัฐมนตรี ตามธรรมเนียมก็ต้องใช้รองนายกฯ คนที่หนึ่ง คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งเสียงที่ออกมาในแง่ลบมากกว่าเป็นบวก เหมือนหลบรถสิบล้อไปชนรถเทลเลอร์ มองอุปมาอุปไมยนี้อย่างไร โบว์ ณัฏฐา กล่าวว่า เป็นการสะท้อนทางการเมืองปกติ จริงๆ ไม่ต้องมองแบบนี้ก็ได้ ดูจากผลโพลก็จะรู้ว่า ในผลโพล พล.อ.ประยุทธ์ เหนือกว่า พล.อ.ประวิตร และรองนายกรัฐมนตรีคนอื่นๆ ก็เหนือกว่า พล.อ.ประวิตร ในแง่ของความนิยมทางการเมือง ก็เป็นปกติที่คนจะพูดอะไรแบบนั้น แต่ว่า พล.อ.ประวิตรมีความชอบธรรมที่จะรักษาการนายกรัฐมนตรี เพราะเป็นเบอร์หนึ่ง ก็ให้มันไปได้อย่างนี้

แต่ถ้ามองอนาคตกันไปยาวกว่านั้น ก็อยากจะเห็น พล.อ.ประยุทธ์ วางมือ เพื่อให้สนามการเมืองคราวหน้าเป็นปกติมากขึ้น เพราะในวันนี้ ส.ว. 250 คนที่ พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งมา ยังมีอำนาจโหวตเลือกนายกฯ อยู่เลย เมื่อกล่าวถึงความเป็นไปตามกฎหมายและความชอบธรรม แล้วเราบอกว่า คนที่มีญาติ จะไปทำอะไรกับรัฐ ถ้าเราเป็นผู้มีอำนาจเราไม่ควร เรื่อง ส.ว. 250 คน มีอำนาจโหวตเลือกนายกฯ โดยที่ ส.ว. 250 คน แต่งตั้งโดยหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็เป็นเรื่องที่ถูกมองมาตลอดไม่ว่าจะฝ่ายไหน เรื่องนี้เป็นปัญหาจริง

"แต่ไม่ว่าจะไปด้วยเหตุผลไหน ถ้าท่านมองย้อนกลับไปแล้วก็คิดว่าพอแล้ว เหมือนสมัย พล.อ.เปรม (ติณสูลานนท์) ก็น่าจะเป็นจุดตั้งต้นที่ดีสำหรับสนามการเมืองที่จะเป็นปกติมากขึ้น คิดว่าความปกติทางการเมืองเป็นสิ่งที่ประเทศชาติต้องการ แต่ถ้าเกิดว่าศาลบอกว่าอยู่ต่อได้ และตัดสินใจที่จะลงสนามการเมือง ถึงตอนนั้นเราก็ประเมินกันอีกว่าผลของมันจะเป็นยังไง คิดว่าสิ่งที่น่าจะคิดกันก็คือ ผลของการที่ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ ลงสนามหน้า ความเป็นไปได้ที่พรรคเพื่อไทยจะแลนด์สไลด์มีสูง กับบรรยากาศและกระแสตอนนี้ ต้องยอมรับว่า 8 ปี ไม่ว่าจะเป็นนายกฯ ที่เก่งแค่ไหน 8 ปีมันจะเริ่มมีความอ่อนล้าจากสังคม คือความเบื่อ ไม่ว่าจะมีเหตุผลอย่างไร มันเกิดขึ้น แล้วมันจะเป็นกราฟลงแบบนี้ ประกอบกับมีเรื่องการตีความ 8 ปีแบบนี้อยู่ด้วย คิดว่าในสนามเลือกตั้งจะอยู่ตรงจุดไหน แล้วจะสร้างผลอย่างไร" โบว์ ณัฏฐา กล่าว

ในตอนท้าย เมื่อถามว่า นับจากวันนี้ถึงวันที่ศาลวินิจฉัย จะมีการชุมนุมเพื่อกดดันศาลอยู่หรือไม่ โบว์ ณัฏฐา กล่าวว่า คิดว่ามี บางทีเป็นความต่อเนื่อง เป็นอารมณ์คงค้าง ซึ่งถ้าอยู่ในกรอบพอดีก็เป็นปกติ แต่ถ้ามีความพยายามยกระดับหรืออะไร คิดว่าผลกระแสอาจจะตีกลับ เพราะคนก็ไม่รู้สึกถึงความสมเหตุสมผล การเคลื่อนไหวตอนนี้เป็นการสร้างกระแสเพื่อหนุนการเลือกตั้ง ยิ่งเคลื่อนไหวไปแม้จะไม่มีผลในการเปลี่ยนคำวินิจฉัยของศาล แต่จะมีผลต่อการลดความชอบธรรมของ พล.อ.ประยุทธ์ ถ้าสิ่งที่เขาสื่อสารมีน้ำหนัก ส่งผลไปถึงการเลือกตั้ง คิดว่าเป็นเหตุผลนั้นมากกว่า

เมื่อถามว่า ถ้าศาลวินิจฉัยว่าเป็นไปตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ด้วยเงื่อนไขหลายข้อในปี 2562 จะมีการยอมรับหรือชุมนุมต่อเพื่อจะคัดค้านคำวินิจฉัยดังกล่าว โบว์ ณัฏฐา กล่าวว่า คิดว่ามีการชุมนุมต่อ เพราะเป็นการแสดงความรู้สึก แต่คิดว่าลึกๆ แล้ว สิ่งที่ควรจะเป็น ทุกคนต้องยอมรับว่าคำวินิจฉัยศาลผูกพันทุกองค์กร คิดว่าคนส่วนใหญ่จะยอมรับ อาจจะมีส่วนน้อยที่รู้สึกว่าอยากจะฟาดงวงฟาดงาไปหนักกว่านั้น อยากจะบอกไว้ด้วยความหวังดีว่ามันไม่มีประโยชน์ แล้วมันจะไปมีโทษกับตัวเอง ถ้าเกิดว่าทำอะไรที่เกินเลยไป ที่สุดแล้วก็มองไปที่การเลือกตั้งอยู่ดี ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น

และการตัดสินครั้งนี้จะมีผลว่าสนามเลือกตั้งคราวหน้าจะปกติไหม หรือจะมีผลในทางย้อนกลับ กลับทาง กลายเป็นว่าพรรคเพื่อไทยจะแลนด์สไลด์เพราะคนโกรธเรื่องนี้ ฝ่ายนั้นทั้งหมดเลยไปเทคะแนนให้พรรคเดียว อย่างนั้นพรรคก้าวไกลจะเดือดร้อนนิดนึง ตนเคยมองไปถึงว่า พรรคเพื่อไทยน่าจะอยากให้ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ต่อ เพราะมันจะไปมีผลสร้างความโกรธแค้นของคนในฝ่ายตรงข้ามจนกระทั่งเทคะแนน ถึงบอกว่าสนามเลือกตั้งไม่ปกติ นอกจากเรื่อง ส.ว. 250 คนแล้วมันมีตรงนี้ด้วย ความรู้สึกของการไม่เลือกเราเขามาแน่ มันทำให้สนามไม่ปกติ แล้วจะเกิดการแลนด์สไลด์ขึ้น

"ส่วนคำถามที่ว่าถ้าไม่ใช่ลุงตู่แล้วจะเลือกใคร เหมือนเขามองไม่เห็นตัวเลือก ก็อยากจะชวนคิดว่า ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ ต้องหยุดจริงๆ ตัวเลือกมันมี ไม่ต้องมองอีกฝั่งก็ได้ มองดีๆ วันนี้ผู้นำพรรคการเมืองหลายๆ พรรคก็มีศักยภาพ อาจจะเลือกในส่วนที่ค่อนข้างจะไปทางเดียวกันกับอุดมการณ์ทางการเมืองของตัวเองก็ได้ แต่อย่าไปปิดกั้นตัวเองขนาดว่า ถ้าไม่มี พล.อ.ประยุทธ์ เราจะไปต่อกันไม่ได้เลย" โบว์ ณัฏฐา กล่าว


ที่มา : https://mgronline.com/onlinesection/detail/9650000082228