Saturday, 20 April 2024
เสรีภาพ

'โบว์ ณัฏฐา' ย้อนเจ็บ 'พวกจ้องแต่จะด่า' "จะทวงประชาธิปไตยจากใครได้ เมื่อในใจไม่เคยมี"

วันนี้ (27 ส.ค.) น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา หรือโบว์ นักกิจกรรมทางการเมือง ได้โพสต์ข้อความในทวิตเตอร์ @NuttaaBow ระบุว่า "ได้รับเชิญไปคุยในรายการของ Top News เนื้อหาที่นำเสนอคือทำไมนายกจึงควรลงจากอำนาจ สลิ่มฟังแล้วบอกว่ารับฟังได้ในเหตุผล ส่วนคนที่เรียกตัวเองว่าฝ่ายประชาธิปไตยหลายพันคนไม่ได้ฟัง เห็นภาพว่านั่งคุยกับอ.เสรี ก็ทวิตไปด่าพร้อมข้อกล่าวหาสารพัด คุณจะไปทวงประชาธิปไตยจากใครได้ เมื่อในใจไม่เคยมี" กลายเป็นที่ฮือฮาอย่างมาก

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 25 ส.ค. โบว์ ณัฏฐา ได้รับเชิญไปออก รายการเรื่องลับมาก ผลิตรายการโดย บริษัท รวมหัวทีวี จำกัด ดำเนินรายการโดย ดร.เสรี วงษ์มณฑา ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมท็อปนิวส์ ในหัวข้อ "อำนาจเปลี่ยนมือ ศาลรัฐธรรมนูญสั่งลุงตู่หยุดปฏิบัติหน้าที่ ลุงป้อมรักษาการแทน" 

โดยในตอนหนึ่ง โบว์ ณัฏฐา กล่าวว่า มติศาลรัฐธรรมนูญให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หยุดปฏิบัติหน้าที่ 5 ต่อ 4 นั้นก้ำกึ่งมาก สะท้อนเสียงในสังคมก็มีการถกกันถึงสองมุม เหมือนมีกองเชียร์ทั้งสองฝั่ง คือ ให้อยู่ต่อ หรือให้หยุดเลย ซึ่งส่วนหนึ่งมองว่าเป็นการลดอุณหภูมิ ทำให้หลายคนเบรกเพื่อรอดูก่อน

ส่วนการเรียกว่า "นายกเถื่อน" นั้น โบว์ ณัฏฐา มองว่าเป็นการแสดงอารมณ์ทางการเมือง ซึ่งเชื่อว่ามีคำนี้อยู่ในใจตั้งแต่ปี 2557 เป็นความคิดที่มาจากอุดมการณ์ทางการเมือง แต่ก็เข้าใจว่าทำให้อีกฝ่ายหนึ่งไม่สบายใจ คิดว่าเป็นช่วงเวลาที่ต้องรับฟังและอดทน แต่ถ้าไม่อยากให้บรรยากาศแย่ไปกว่านี้ จะพูดอะไรก็ถนอมน้ำใจกันนิดนึง เพราะมันก็อยู่ในช่วงที่ต้องรอ

ส่วนที่ว่ามีการเลือกตั้งปี 2562 ทำไมไม่หายไปนั้น เห็นว่าเป็นเพราะเส้นทางเข้าสู่อำนาจ ถ้าเป็นนักการเมืองปกติจะต้องเริ่มจากการหาเสียงทำให้ประชาชนเชื่อมั่นแล้วเลือก ถ้าได้คะแนนเยอะก็เข้าทำงาน ผลงานเป็นอย่างไร จะไปต่อได้ไหมอยู่ที่ผลงานที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ มาด้วยเหตุผลว่าสถานการณ์ตอนนั้น คิดว่าจำเป็นก็เลยยึดอำนาจ คราวนี้พอตั้งต้นมาจากการยึดอำนาจ เหมือนเป็นการตั้งต้นจากต้นทุนที่มาจากกำลังทหาร พอดำเนินการต่อมา ไม่ว่าจะทำอะไรเหมือนตั้งจากต้นทุนนั้น

"ถ้าจะมองว่าเป็นข้อได้เปรียบที่นักการเมืองปกติไม่มี พอครบ 5 ปี มีการออกแบบกติกา ทำประชามติ โดยกฎหมายที่ตัวเองออกแบบขึ้น พอได้เป็นต่อผ่านการเลือกตั้งแบบนี้ คนก็สามารถจะมองได้ว่า มาจากต้นทุนที่ไม่ได้เป็นปกติอยู่ดี ไม่ชอบธรรมจากการตั้งต้น เป็นการสะสมความได้เปรียบ พอมาเป็นต่อก็เหมือนมันไม่ปกติ ในอดีตที่ผ่านมาประวัติศาสตร์จากนายกฯ ที่มาจากรัฐประหาร ก็อยู่ด้วยความเจียมเนื้อเจียมตัว รีบที่จะคืนอำนาจ อันนั้นเป็นมาตรฐานในความรู้สึกของคนในระบอบประชาธิปไตย ว่าไม่ควรจะสะสมและใช้ต้นทุนในการที่จะไปต่อ" โบว์ ณัฏฐา กล่าว

โบว์ ณัฏฐา กล่าวว่า ถ้าให้น้ำหนักเชิงอุดมการณ์ในระบอบประชาธิปไตยกับที่มา ผลงานจะไม่สามารถลบได้เลย แต่คนอีกส่วนหนึ่งในสังคมก็มองในแง่ทางปฏิบัติ มองผลงาน แล้วก็บอกว่าผลงานขนาดนี้เขาพอใจ แล้วทำไมเขาจะเลือกให้อยู่ต่อไปไม่ได้ พอคนสองกลุ่มให้น้ำหนักที่ต่างกัน ไม่มีทางที่จะเห็นตรงกัน และว่า ใครที่บอกว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว ก็คงไปตามความรู้สึก วันนี้อะไรที่มาจากอารมณ์ความรู้สึก เราก็อาจจะแยกไว้ส่วนหนึ่ง แล้วก็มองไปข้างหน้าว่า ถ้าตัดสินอย่างนี้แล้วยังไงต่อ ถ้าตัดสินอีกแบบหนึ่ง สนามการเมืองจะเป็นอย่างไร

เมื่อถามว่า รู้สึกอย่างไรกับการที่มีคนเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ เสียสละลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ไม่เป็นภาระศาลรัฐธรรมนูญ โบว์ ณัฏฐา กล่าวว่า ก็พูดได้ แต่ไม่ใช่เป็นภาระ เป็นหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญที่จะต้องวินิจฉัย ถ้าเกิดวินิจฉัยให้เป็นบรรทัดฐานมีประโยชน์ เพราะนายกฯ ในอดีตไม่ใช่มีแค่ พล.อ.ประยุทธ์ แต่ยังมีคนอื่นๆ พอศาลมีคำวินิจฉัยออกมา อย่างน้อยจะได้รู้ว่าในอนาคตถ้ามีกรณีคนเข้ามาในการเมืองจะเริ่มนับยังไง ก็เป็นประโยชน์ถ้าศาลวินิจฉัย

ส่วนการเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออก คิดว่าก็เสนอได้ เชื่อว่านายกฯ ก็มีการตีความส่วนตัวแล้วเหมือนกัน ถ้าเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ต้องการให้เกิดการสะสมอำนาจ ถ้าตั้งต้นได้ว่ามีอำนาจตั้งแต่เมื่อไหร่ ก็อาจจะรู้สึกอยากลาออกเองก็ได้ หรือคงคิดว่าให้ศาลสั่ง ไหนๆ ก็เข้ากระบวนการแล้วให้เป็นบรรทัดฐานไป ส่วนตัวก็อยากฟังคำวินิจฉัย เพราะอยากให้เกิดบรรทัดฐาน ไม่ควรจะมีกฎหมายใดตั้งเอาไว้แล้วทั้งประเทศงงกันอยู่แบบนี้

เมื่อถามว่า อยู่สาย 57, 60 หรือ 62 (หมายถึงการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของนายกฯ) โบว์ ณัฏฐา กล่าวว่า ต้องตีความตามเจตนารมณ์ แต่เมื่ออ่านบทบัญญัติแล้ว ตอนแรกก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งออกมา ตนเดาว่าคงจะตีความให้เริ่มนับตั้งแต่ปี 2562 เพราะในมาตราที่พูดถึงเรื่อง 8 ปี มีการบอกว่านายกฯ ตามรัฐธรรมนูญนี้ต้องมีที่มาจากบุคคลที่สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบ และอ้างอิงว่าสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบมาจากมาตรา 159 ซึ่งมีรายละเอียดจำนวนมาก แต่ถ้าตีความตามเจตนารมณ์ต้องยอมรับว่า คนร่างมีเจตนาไม่ต้องการให้เกิดการสะสมอำนาจ และไม่ได้นึกถึงนายกฯ ที่มาจากการรัฐประหาร เพราะระบุว่านายกฯ มาจากสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้นคิดว่าเขียนได้สองแบบ ขึ้นอยู่กับว่าจะเขียนแบบไหน ตอนนี้เริ่ม 50-50 แล้ว

เมื่อถามว่า การเรียกร้องให้นายกฯ ลาออก เพื่อที่จะให้มีการเลือกนายกฯ ใหม่ และแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่ ถือว่าเร็วไปหรือไม่ โบว์ ณัฏฐา กล่าวว่า คิดว่าช่วงที่เหลืออยู่เพียงแค่ไม่กี่เดือน ไม่ควรไปทำลายเสถียรภาพของรัฐบาลโดยที่ประโยชน์ที่จะได้รับไม่คุ้มกัน ถ้าเราอยู่แต่เรื่องความขัดแย้งทางการเมือง กระทั่งลืมมองว่าตอนนี้เกิดอะไรขึ้น แล้วข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ปรับคณะรัฐมนตรีตอนนี้แล้วจะมีผลดีอย่างไร ไม่ว่ากับสนามการเมืองหรือการประชุมเอเปก เหลืออีกไม่กี่เดือน บางทีก็คิดว่าเป็นแค่ข้อเสนอเพื่อเอาใจกองเชียร์ คนที่เสนอก็รู้ว่าเป็นไปไม่ได้ เราก็อาจจะมองข้ามไป

เมื่อถามว่า รักษาการนายกรัฐมนตรี ตามธรรมเนียมก็ต้องใช้รองนายกฯ คนที่หนึ่ง คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งเสียงที่ออกมาในแง่ลบมากกว่าเป็นบวก เหมือนหลบรถสิบล้อไปชนรถเทลเลอร์ มองอุปมาอุปไมยนี้อย่างไร โบว์ ณัฏฐา กล่าวว่า เป็นการสะท้อนทางการเมืองปกติ จริงๆ ไม่ต้องมองแบบนี้ก็ได้ ดูจากผลโพลก็จะรู้ว่า ในผลโพล พล.อ.ประยุทธ์ เหนือกว่า พล.อ.ประวิตร และรองนายกรัฐมนตรีคนอื่นๆ ก็เหนือกว่า พล.อ.ประวิตร ในแง่ของความนิยมทางการเมือง ก็เป็นปกติที่คนจะพูดอะไรแบบนั้น แต่ว่า พล.อ.ประวิตรมีความชอบธรรมที่จะรักษาการนายกรัฐมนตรี เพราะเป็นเบอร์หนึ่ง ก็ให้มันไปได้อย่างนี้

แต่ถ้ามองอนาคตกันไปยาวกว่านั้น ก็อยากจะเห็น พล.อ.ประยุทธ์ วางมือ เพื่อให้สนามการเมืองคราวหน้าเป็นปกติมากขึ้น เพราะในวันนี้ ส.ว. 250 คนที่ พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งมา ยังมีอำนาจโหวตเลือกนายกฯ อยู่เลย เมื่อกล่าวถึงความเป็นไปตามกฎหมายและความชอบธรรม แล้วเราบอกว่า คนที่มีญาติ จะไปทำอะไรกับรัฐ ถ้าเราเป็นผู้มีอำนาจเราไม่ควร เรื่อง ส.ว. 250 คน มีอำนาจโหวตเลือกนายกฯ โดยที่ ส.ว. 250 คน แต่งตั้งโดยหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็เป็นเรื่องที่ถูกมองมาตลอดไม่ว่าจะฝ่ายไหน เรื่องนี้เป็นปัญหาจริง

"แต่ไม่ว่าจะไปด้วยเหตุผลไหน ถ้าท่านมองย้อนกลับไปแล้วก็คิดว่าพอแล้ว เหมือนสมัย พล.อ.เปรม (ติณสูลานนท์) ก็น่าจะเป็นจุดตั้งต้นที่ดีสำหรับสนามการเมืองที่จะเป็นปกติมากขึ้น คิดว่าความปกติทางการเมืองเป็นสิ่งที่ประเทศชาติต้องการ แต่ถ้าเกิดว่าศาลบอกว่าอยู่ต่อได้ และตัดสินใจที่จะลงสนามการเมือง ถึงตอนนั้นเราก็ประเมินกันอีกว่าผลของมันจะเป็นยังไง คิดว่าสิ่งที่น่าจะคิดกันก็คือ ผลของการที่ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ ลงสนามหน้า ความเป็นไปได้ที่พรรคเพื่อไทยจะแลนด์สไลด์มีสูง กับบรรยากาศและกระแสตอนนี้ ต้องยอมรับว่า 8 ปี ไม่ว่าจะเป็นนายกฯ ที่เก่งแค่ไหน 8 ปีมันจะเริ่มมีความอ่อนล้าจากสังคม คือความเบื่อ ไม่ว่าจะมีเหตุผลอย่างไร มันเกิดขึ้น แล้วมันจะเป็นกราฟลงแบบนี้ ประกอบกับมีเรื่องการตีความ 8 ปีแบบนี้อยู่ด้วย คิดว่าในสนามเลือกตั้งจะอยู่ตรงจุดไหน แล้วจะสร้างผลอย่างไร" โบว์ ณัฏฐา กล่าว

ในตอนท้าย เมื่อถามว่า นับจากวันนี้ถึงวันที่ศาลวินิจฉัย จะมีการชุมนุมเพื่อกดดันศาลอยู่หรือไม่ โบว์ ณัฏฐา กล่าวว่า คิดว่ามี บางทีเป็นความต่อเนื่อง เป็นอารมณ์คงค้าง ซึ่งถ้าอยู่ในกรอบพอดีก็เป็นปกติ แต่ถ้ามีความพยายามยกระดับหรืออะไร คิดว่าผลกระแสอาจจะตีกลับ เพราะคนก็ไม่รู้สึกถึงความสมเหตุสมผล การเคลื่อนไหวตอนนี้เป็นการสร้างกระแสเพื่อหนุนการเลือกตั้ง ยิ่งเคลื่อนไหวไปแม้จะไม่มีผลในการเปลี่ยนคำวินิจฉัยของศาล แต่จะมีผลต่อการลดความชอบธรรมของ พล.อ.ประยุทธ์ ถ้าสิ่งที่เขาสื่อสารมีน้ำหนัก ส่งผลไปถึงการเลือกตั้ง คิดว่าเป็นเหตุผลนั้นมากกว่า

'เพื่อไทย' ซัด 'ประยุทธ์' ทำเสรีภาพทางการเมืองไทยตกต่ำ ยก 'เดี่ยว 13' เป็นตัวอย่าง คนฝั่งรัฐบาลดีดดิ้น จ้องดำเนินคดี

เมื่อวันที่ 15 ต.ค. น.ส.ชญาภา สินธุไพร รองโฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวกรณีองค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิเสรีภาพพลเมืองหรือฟรีดอมเฮาส์ (Freedom House) เผยแพร่รายงานเสรีภาพโลกประจำปี 2022 (Freedom of the World 2022) ที่ประเมินสิทธิทางการเมืองและเสรีภาพของประชาชนในแต่ละประเทศทั่วโลก พบว่าประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในประเทศไร้เสรีภาพเป็นอันดับที่ 7 ของโลก ซึ่งถูกลดขั้นตกชั้นติดต่อกัน 2 ปีซ้อน ถูกรวมอยู่ในกลุ่มประเทศที่ประสบกับวิกฤตการถดถอยของเสรีภาพหนักที่สุดแย่กว่าเยเมน ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 21 และอัฟกานิสถานอันดับที่ 22 ทั้งยังเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่ต้องจับตาเป็นพิเศษจากการดำเนินการทางกฎหมายต่อผู้ชุมนุมที่เรียกร้องประชาธิปไตย

ขณะที่อันดับการประเมินด้านสิทธิทางการเมืองและเสรีภาพพลเมืองไทยได้ 29 คะแนนจากเต็ม 100 คะแนนว่า ทั้งหมดสะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยภายใต้การนำของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ กว่าเกือบทศวรรษ สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองของประชาชนคนไทยตกต่ำอย่างหนัก ไทยต้องประสบกับสภาวะถดถอยทางเสรีภาพขั้นวิกฤต โดยเฉพาะด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ที่นับวันพัฒนาการทางประชาธิปไตยยิ่งเสื่อมถอยลงทุกวัน  ถูกลดชั้นจากองค์กรระหว่างประเทศทุกปี ไม่มีความสง่างามในเวทีโลก เพราะความพยายามปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออก รวมทั้งการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลถูกจำกัด การชุมนุมของนักเรียน นิสิตนักศึกษาและประชาชนหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมา กลายเป็นเงื่อนไขให้รัฐบาลดำเนินคดีและจับกุมคุมขังคนเห็นต่างในที่สุด 

3 พฤษภาคม ของทุกปี วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก ตระหนักถึงเสรีภาพการแสดงออกของสื่อมวลชน

ย้อนเวลากลับไปราว 30 ปีก่อน เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม ค.ศ.1991 (หรือ พ.ศ.2534) องค์การยูเนสโก (UNESCO) ได้เสนอให้สมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติ (UN) ประกาศให้วันที่ 3 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก

สาเหตุของการมีวันสำคัญนี้ เกิดจากการที่มีนักข่าวภาคสนามมากมาย ต้องเสียชีวิต หรือถูกจับเป็นตัวประกัน และรวมไปถึงถูกคุกคาม จากการทำหน้าที่รายงานข้อเท็จจริง จึงเป็นที่มาของการสร้างสัญลักษณ์ของความมีเสรีภาพในการทำงานของสื่อมวลชน โดยจัดตั้งให้ทุก ๆ วันที่ 3 พฤษภาคม เป็นวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก

ฝากไว้ให้คิด พ่อไดโนเสาร์ตัวหนึ่ง เขียนจดหมาย ถึง ลูกที่โหยหาประชาธิปไตย – เสรีภาพ

วันที่ 26 พ.ค.2566 - ขณะนี้ชาวเน็ตมีการแชร์ต่อข้อความของผู้เขียนที่ใช้ชื่อว่า "พ่อไดโนเสาร์ตัวหนึ่ง" เขียนถึงลูก โดยมีเนื้อหาดังนี้

ถึง ลูกรัก

พ่อติดตามข่าวที่ลูกเรียกร้อง”ประชาธิปไตย”และ”เสรีภาพ”แล้ว พ่อรู้สึกแปลกใจ ที่เราอยู่กันมาตั้งแต่ลูกเกิด ทนุถนอมอบรมมาอย่างดี แต่ลูกกลับไปเชื่อ”ใครก็ไม่รู้” ที่ไม่เคยแม้แต่จะให้เงินลูกสักบาท ให้กินข้าวสักจาน จนลืมคำสั่งสอนของพ่อแม่ แต่อย่างไรก็ดี พ่อเคารพความคิดเห็นของลูกเสมอ จะไม่ตำหนิติติงอะไร แต่จะปรับตัวประพฤติปฏิบัติให้ดีขึ้นตามที่ลูกต้องการ ดังนั้น พ่อกับแม่จึงคิดว่า ถึงเวลาที่เราควรจะทบทวนปรับตัวให้เข้ากับ”เสรีภาพ”ตามที่ลูกต้องการ พ่อจึงอยากจะแจ้งให้ลูกทราบดังนี้

1.บุญคุณต่อกัน คงไม่มีตามที่ลูกบอกว่า ลูกเกิดมาเพราะความสนุกของพ่อแม่ จึงไม่มีบุญคุณต่อตัวลูก ไม่ว่าจะเป็นการอดหลับอดนอนเลี้ยงดู ข้าวปลาอาหาร และอื่นๆที่เคยหยิบยื่นให้ ซึ่งทั้งหมดนั้นพ่อและแม่ไม่คิด ถือว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบแม้ลูกจะไม่เต็มใจก็ตาม

2.ค่าใช้จ่ายที่พ่อเคยให้ลูกใช้ในแต่ละเดือนนั้น พ่อคิดว่ามันเป็นการละเมิด”สิทธิเสรีภาพ”ของพ่อ เพราะเงินที่หามาได้นั้นมาจากน้ำพักน้ำแรงของพ่อ พ่อจึงควรมี”สิทธิเสรีภาพ”ในการจับจ่ายใช้สอยโดยไม่ควรให้ลูกละเมิดสิทธิ์ของพ่อโดยการนำเงินของพ่อไปใช้ ดังนั้น พ่อจะตัดค่าใช้จ่ายที่เคยให้ลูกลงครึ่งหนึ่ง โดยในส่วนที่เหลือ เป็นการทำหน้าที่ในฐานะ”บุพการี”ที่รักสนุกจนทำให้ลูกเกิดมา ถือว่าเราใช้”สิทธิเสรีภาพ”ในขอบเขตของแต่ละคนตามที่ลูกต้องการ

3.ค่าที่พัก จริงๆแล้ว บ้านเป็นกรรมสิทธิ์ของพ่อกับแม่โดยมีลูกเป็นผู้อาศัย หรือเปรียบดังผู้เช่าที่สมควรจะเสียค่าเช่า ซึ่งตลอดมา ลูกไม่เคยจ่ายค่าเช่าเลยแม้แต่บาทเดียว รวมทั้งค่าน้ำค่าไฟก็ไม่เคยเสีย แต่ไม่เป็นไร พ่อยินดีให้อยู่ฟรีๆ แต่จากนี้ เราต้องเคารพ”สิทธิเสรีภาพ”ตามที่ลูกแสวงหา ดังนั้น ในเมื่อลูกใช้น้ำใช้ไฟที่พ่อไม่ได้ผลิตเอง แต่ซื้อมา ลูกจึงต้องรักษาเสรีภาพด้วยการ”ใช้เอง จ่ายเอง”ทั้งค่าน้ำค่าไฟ จะได้เท่าเทียมกัน เพราะพ่อกับแม่ก็ใช้เอง จ่ายเอง อย่างเสมอภาคเช่นเดียวกัน

4.อาหารการกิน เพื่อให้มีสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาค และเพื่อให้ทันสมัยตามที่ลูกต้องการ นับจากนี้ พ่อกับแม่จะหันไปสั่งอาหารฟู๊ด แพนด้ามากินตามที่พ่อและแม่อยากกิน ส่วนลูกจะกินอะไร ก็แล้วแต่เสรีภาพของลูก โดยขอให้จ่ายเงินเองเพื่อความเสมอภาค หรือต้องการหุงหากินเอง ก็ใช้สิทธิ์ได้เต็มที่เพราะแม่เตรียมเอาไว้ให้แล้วในครัวโดยไม่คิดเงิน

5.เรื่องมรดก เพราะเราไม่มีบุญคุณต่อกัน ดังนั้น ลูกไม่ต้องกังวลว่าจะต้องเป็นภาระเลี้ยงพ่อแม่ยามแก่เฒ่า ขอให้ลูกเดินตามความฝันที่ลูกต้องการ เพราะอีกไม่นานพ่อกับแม่ก็คงตายแล้วตามที่ลูกๆด่าทอ และเพื่อตายอย่างสงบและไม่ให้เป็นภาระของลูกๆ พ่อจึงจัดการมรดกที่พอมีของพ่อ ทั้งบ้านและที่ดิน ตลอดจนทรัพย์สินอื่นๆ พ่อจะเริ่มทยอยขายให้หมดก่อนพ่อตาย โดยเงินที่ขายมาได้นี้ พ่อจะแบ่งให้ลูกครึ่งหนึ่งในฐานะบุพการี ส่วนอีกครึ่งหนึ่ง พ่อและแม่จะเก็บไว้กินไว้ใช้ รวมทั้งเอาไว้จัดงานศพ ส่วนที่เหลือจากจัดงานแล้ว ถือว่าเป็น”สิทธิเสรีภาพ”ของพ่อ พ่อจึงขอถวายวัดไปเพื่อสั่งสมบุญไปใช้ในภพหน้า

6.พ่อจะไม่บั่นทอนกำลังใจของลูกในการตามหา”เสรีภาพ”ในฝันตามที่ถูกสร้างวิมานไว้ แต่อยากให้ลูกคิดให้จงหนักว่าคนที่เขาวาดฝันให้ลูกนั้น เขามาเสี่ยงตายกับลูกหรือไม่ แต่สำหรับพ่อและแม่แล้ว หากลูกเป็นอะไรไป พ่อกับแม่คงใจสลายเพราะความรัก ซึ่งแม้จะเป็นความรักที่ลูกไม่เคยเห็นค่าเลยก็ตาม พ่อจึงขออวยพรให้ลูกปราศจากอันตรายทั้งปวง

7.เรื่องสุดท้าย เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกัน ต่อจากนี้ ลูกจะเรียกพ่อกับแม่ว่า”คุณ”เฉยๆก็ได้นะ ส่วนพ่อกับแม่จะขออนุญาตเรียกลูกว่า”ลูก” ตลอดไป
 

‘ทวีสุข ธรรมศักดิ์’ นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ โพสต์ถึงความเสมอภาคที่ไม่เคยมีอยู่จริงในประวัติศาสตร์โลก

เมื่อวันที่ 29 พ.ค. 66 นายทวีสุข ธรรมศักดิ์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ ได้โพสต์ถึงกรณี การประท้วงในฝรั่งเศสที่กำลังคุกรุ่นอยู่ในขณะนี้ โดยระบุว่า…

“ขณะนี้มีการประท้วงในฝรั่งเศส จากแผนสวัสดิการ ความไม่เท่าเทียมกัน เพื่อความเสมอภาค เสรีภาพ และ ทุพลภาพ ที่ไม่เคยมีอยู่จริง สู้มาแล้ว 200 ปี สู้อยู่ และ สู้ต่อไปอีก 200 ปี ถามจริงๆ 3,000 ปีที่ผ่านมา มีช่วงไหนของประวัติศาสตร์โลก ที่มีความเท่าเทียมกันบ้าง มีแต่สร้างฝันให้คนพูดเอาไปหาผลประโยชน์กับตัวเองทั้งนั้น”

‘เปิ้ล ไอริณ’ แชร์ประสบการณ์เที่ยวคนเดียวมาแล้ว 43 ประเทศ แต่ไม่มีที่ไหนมีเสรีภาพเท่าไทย ขอทุกคนจงภูมิใจในแผ่นดินเกิด

เมื่อไม่นานนี้ ‘เปิ้ล ไอริณ’ นักแสดง นักร้อง และพิธีกรชาวไทย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ‘Irin Sriklao (เปิ้ล ไอริณ)’ ขณะกำลังพักผ่อนอยู่ที่หาดทรายแก้ว อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี โดยเธอได้โพสต์ข้อความในหัวข้อ ‘ว่าด้วยเรื่อง ‘เสรีภาพ’ ที่กำลังเรียกร้อง’ ระบุว่า…

ว่าด้วยเรื่อง ‘เสรีภาพ’ ที่กำลังเรียกร้อง 😁

เราเคยสงสัยว่า ทำไมเราถึงมีจิตวิญญาณรักการท่องเที่ยว รักการเดินทางเป็นชีวิตจิตใจ จนแบกเป้ไปคนเดียว เที่ยวมาแล้ว 43 ประเทศ!!

มาวันนี้ตกผลึกได้ว่า จักรวาลคงอยากให้เราไปสัมผัส ไปให้เห็นกับตา แล้วกลับมา บอกเล่าให้ทุกๆ คนฟัง!!

จากประสบการณ์ที่ได้พบ เราพูดได้เต็มปาก แบบไม่ลำเอียงเลย ว่า ประเทศไทยเรา ช่าง ‘มีเสรีภาพมากที่สุด’ ทั้งในเรื่องการใช้ชีวิต การท่องเที่ยว และการทำมาหาเลี้ยงชีพ ประเทศเรา จะตั้งโต๊ะหน้าบ้าน ขายหมูปิ้ง ขายก๋วยเตี๋ยว ขายโจ๊ก ปลาท๋องโก๋ (ปาท่องโก๋) จะตกปลา หาผักริมทาง จะปั่นรถขายกาแฟ รถขายไก่ย่างส้มตำ ตลาดนัด ถนนคนเดินไม่ต้องพูดถึง ไปทะเล ของอร่อยๆ ขายกันตามฟุตบาธ ตามริมหาดมีของแบกขาย จะนั่งริมหาดไหนนั่ง จอดรถริมหาดตรงไหนก็ได้ แต่ที่ต่างประเทศ คุณทำไม่ได้ค่ะ!! แล้วทะเลไทยสวยจริง น้ำทะเลบ้านเรา ก็ไม่หนาวเย็นเหมือนแถบยุโรป!

นี่เรายังไม่เคยไปประเทศไหน ใจดีอนุญาตให้พาหมา ไปพายเรือ ว่ายน้ำเล่น ในกองฐานทัพเรือได้เลย!! แถมน้ำใสกริ๊ง คาเฟ่ในไทยก็มีเยอะ น่านั่งจนต่างชาติทึ่ง!!

จงรักประเทศไทยเรากันเถอะค่ะ ขวานทองของไทยนี้ มีดี มีเสน่ห์ มีเสรีภาพมากมาย ชนชาติที่ว่าเจริญแล้ว ครั้งหนึ่งในชีวิต ยังขอบินข้ามซีกโลกมาชื่นชมบ้านเราเลย เพราะ นอกจากมีธรรมชาติงดงาม มาละคุ้มค่าเงิน ที่พักถูก ค่าอาหารเบาๆ ที่มีรสชาติขึ้นชื่อ ไทยเรายังมีความปลอดภัยแบบสุดๆ และมีเสน่ห์จากรอยยิ้ม และมิตรภาพของผู้คนอีกด้วย

เราเอง เคยคิดอยากย้ายประเทศ แต่กะจะขอเที่ยวทุกจังหวัดก่อน สุดท้ายโดนตก ไม่ไปไหนละ 😁

อ่านแล้ว ขอให้รัก และภาคภูมิใจในแผ่นดินเกิดของพวกเรา และมองให้เห็นเสรีภาพ ที่เราอาจคุ้นชิน จนลืมให้ค่า และลองหันมาเห็นค่าให้มากๆ ขึ้นนะคะ

บอกเลย!! คุณโชคดีที่สุดแล้ว ที่ได้เกิดเป็นคนไทย 🥰💕🇹🇭

ทั้งนี้ หลังเปิ้ล ไอริณโพสต์ข้อความดังกล่าวออกไป ได้มีผู้เข้ามาแสดงความเห็นชื่นชมและให้กำลังใจเปิ้ล ไอริณเป็นจำนวนมาก โดยหลายคนระบุว่า “รักเมืองไทยที่สุด”

‘พิธา’ บรรยายพิเศษที่ ‘ฮาร์วาร์ด’ ชี้ ประชาธิปไตยทั่วโลกถดถอย ยกเหตุการณ์ชวดเก้าอี้นายกฯ เพราะเกมการเมืองสุดพิสดาร

เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 66 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ที่กำลังเดินสายเยือนสหรัฐอเมริกาอยู่ในขณะนี้ ได้รับเชิญจากศูนย์เอเชียศึกษา มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ให้เป็นผู้บรรยายพิเศษในหัวข้อ ‘Moving Forward : Thailand, ASEAN & Beyond’ (ก้าวไปข้างหน้า : ประเทศไทย อาเซียน และโลก) ท่ามกลางนักศึกษาและผู้สนใจเข้าร่วมฟังการบรรยายจำนวนมาก

นายพิธา เริ่มการบรรยาย โดยระบุว่าในฐานะศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ตนเคยนั่งอยู่ตรงนั้นเหมือนทุกคน และสิ่งที่ตนได้รับการศึกษาจากที่นี่ ไม่ว่าจะเป็นวิชาการเมืองเปรียบเทียบ พรรคการเมือง คือส่วนหนึ่งของความสำเร็จของตน จากการเปลี่ยนสิ่งที่อยู่ในตำราให้เป็นความจริง ทำในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ จากจุดเริ่มต้น ที่ตนเคยเป็นเพียงแค่ผู้นำอ่อนหัดของพรรคการเมืองที่มีอายุเพียง 3 ปี ในเกมที่ออกแบบมาเพื่อให้เราแพ้ การแบ่งเขตเลือกตั้งแบบพิสดาร กติกาในรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นคุณกับเรา แต่เราก็ชนะมาได้

ดังนั้น สิ่งที่ทุกคนกำลังศึกษาอยู่ที่นี่ สามารถกลายเป็นความจริงได้ เป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จในการรณรงค์ทางการเมืองของทุกคนในอนาคตได้ โจทย์ต่างๆ ที่ทุกคนได้รับจากชั้นเรียนที่ฮาร์วาร์ดนี้ ทั้งการเตรียมพาวเวอร์พอยต์นำเสนอ การประชุมกลุ่ม ฯลฯ ล้วนแต่มีความหมายจริงๆ และวันหนึ่งอาจนำพาให้ทุกคนได้มาเป็นผู้บรรยายที่นี่เหมือนกับตนก็เป็นได้

นายพิธา กล่าวต่อว่า เป็นเพราะสิ่งที่ตนได้เรียนรู้จากที่ฮาร์วาร์ดนี่เอง ที่ร่วมก่อรูปความคิดและนโยบายการรณรงค์ของตน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเอาทหารออกจากการเมือง การทลายทุนผูกขาด และการกระจายอำนาจ นโยบายเหล่านี้คือที่มาของชัยชนะของตนและพรรคก้าวไกล แต่ก็เป็นเหตุผลเดียวกันที่ทำให้ตน ที่เป็นผู้ชนะจากการเลือกตั้งปี 2566 ด้วยความเห็นชอบของคน 14.1 ล้านเสียง หรือ 36 เปอร์เซ็นต์ ไม่ได้เข้าไปมีอำนาจบริหาร และถูกระงับการปฏิบัติหน้าที่ด้วยเหตุผลด้านเทคนิค

นี่คือการต่อสู้ระหว่างการเมืองของผู้ได้รับการเลือกตั้งและผู้ได้รับการแต่งตั้ง ในประเทศไทยสมาชิกรัฐสภามีทั้งหมด 750 คน มาจากการเลือกตั้ง 500 คน และมาจากการแต่งตั้งโดยทหาร 250 คน ทุกคนคำนวณได้ว่าเราต้องการ 376 เสียง แต่เราได้เพียง 324 เสียง ทั้งที่เราสามารถรวบรวมเสียงพรรคการเมืองที่สะท้อนเจตจำนงการปฏิรูป และความหวังของประเทศได้สำเร็จแล้ว แต่เราก็ยังแพ้ด้วยตัวเลขจาก ส.ว. แต่งตั้ง องค์ประชุมวันนั้นจึงเอาชนะแคนดิเดตนายกที่มาจากการเลือกของประชาชนได้

นายพิธา กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ไม่ใช่ปรากฏการณ์เฉพาะ แต่กำลังเป็นปรากฏการณ์ระดับโลกที่ประชาธิปไตยกำลังถูกคุกคาม และสันติภาพของโลกกำลังเปราะบาง ในปีแรกที่ตนมาถึงที่นี่ในปี 2006 Freedom House เคยออกผลสำรวจพบว่าประชากร 48 เปอร์เซ็นต์ ของโลกอยู่ในสังคมเสรี แต่ตัวเลขวันนี้ตกมาอยู่ที่ 20 เปอร์เซ็นต์แล้ว นี่คือสิ่งที่สะท้อนสภาวะถดถอยของประชาธิปไตย ซึ่งแม้แต่ในประเทศที่ประชาธิปไตยตั้งมั่นที่สุดแล้ว ก็กำลังเผชิญกับการลดน้อยถอยลงเช่นกัน เหตุใดประชาธิปไตยจึงถดถอยทั่วโลก สำหรับตน ต้นตอของเรื่องนี้ย้อนกลับไปในยุคสงครามเย็น

ระหว่างที่ประชาธิปไตยกำลังเบ่งบานทั่วโลก แต่ในขณะเดียวกันมันก็นำพามาซึ่งโครงสร้างทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยม-เสรีนิยมใหม่ ที่เป็นการรวมศูนย์ความมั่งคั่งไว้ที่คนหมู่น้อย ในเวลาที่ตนเกิดมาความห่างระหว่างผู้มั่งคั่ง 1 เปอร์เซ็นต์บนสุดของโลกกับที่เหลือ ห่างกัน 8 เท่า วันนี้ความห่างนั้นถ่างไปถึง 16 เท่าแล้ว เช่นเดียวกับในประเทศไทย ที่ 1 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่มั่งคั่งที่สุดในสังคมไทย กำลังครอบครองความมั่งคั่ง 60 เปอร์เซ็นต์ของทั้งประเทศอยู่ นั่นเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนจำนวนมากตั้งคำถามกับประชาธิปไตย ขณะที่ประชาธิปไตยคือการจัดสรรอำนาจอย่างเป็นธรรม แต่ในขณะเดียวกันมันก็นำพามาซึ่งโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่รวมศูนย์ความมั่งคั่ง และต่อมากลายเป็นสิ่งที่ซ้ำเติมให้เกิดความล่มสลายทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะที่เห็นได้ชัดคือหลังวิกฤติโควิด

นายพิธา กล่าวต่อว่า ดังนั้น โจทย์สำคัญจากนี้ คือเราจะทำอย่างไรเพื่อรักษาโครงสร้างสังคม ที่ทั้งสามารถจัดสรรอำนาจอย่างเป็นธรรม และจัดสรรความมั่งคั่งอย่างเป็นธรรมไปพร้อมๆ กันได้ ให้การเติบโต กระจายดอกผลไปอย่างทั่วถึง ประเทศต้องไม่จดจ้องอยู่ที่แค่การทำกำไร แต่ต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สิทธิในที่ดินทำกิน การกระจายที่ดิน การสร้างรัฐสวัสดิการที่ดูแลคนทำงานของเรา หรือสิ่งที่อาจเรียกได้ว่าเป็น ‘สังคมประชาธิปไตย’

ซึ่งหลายท่านในที่นี้อาจจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ได้ แต่สิ่งที่ตนเสนอ คือมันถึงเวลาแล้ว ที่เราทุกคนต้องกลับมาคิดถึงการออกแบบสถาปัตยกรรมในการก้าวไปข้างหน้า สิ่งที่ตนคิดมาตลอดในการทำงานทางการเมืองที่ผ่านมา คือเมื่อใดก็ตามที่ตนและพรรคก้าวไกลสามารถจัดการปัญหาในประเทศได้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเอาทหารออกจากการเมือง การทลายทุนผูกขาด และการกระจายอำนาจ เมื่อนั้นเราจะยังเหลือการเปลี่ยนแปลงสุดท้าย ซึ่งไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงภายในประเทศ แต่คือการเปลี่ยนแปลงโลกผ่านนโยบายต่างประเทศ นั่นคือการออกไปบอกกับทั่วโลกว่าประเทศไทยกลับมาแล้ว และเราจริงจัง เราเป็นอำนาจกลาง เราไม่ใช่ประเทศเล็กๆ

เราเป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองในอาเซียน และด้วยการทำงานร่วมกันกับประเทศอาเซียน แม้จะไม่ใช่ทุกประเทศที่สามารถทำงานร่วมกันได้ แต่อย่างน้อยที่สุดด้วยการทำงานร่วมกันกับประเทศผู้ร่วมก่อตั้ง อย่างอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ถ้าเรารวมกันได้ นั่นคือตัวเลขทางเศรษฐกิจ 3.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และประชากร 670 ล้านคน ประเทศใดก็ตามไม่ว่าจะเป็นมหาอำนาจหรือไม่ก็ไม่อาจปฏิเสธเราได้

นายพิธา กล่าวต่ออีกว่า แต่ตราบใดที่เราที่ยังไม่สามารถจัดการปัญหาในประเทศของเราเองได้ ไทยจะมีความน่าเชื่อถืออะไรไปเป็นศูนย์กลางของอาเซียนได้ ในการทำให้อาเซียนมีความหมายขึ้นมา เราต้องเข้าไปมีบทบาทต่อโลกและมีความน่าเชื่อถือเป็นหัวใจหลัก ไม่ว่าจะต่อปัญหาเมียนมา, รัสเซีย-ยูเครน, อิสราเอล-ฮามาส สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นห่างออกไปจากประเทศไทย แต่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อประเทศไทยทั้งสิ้น เราต้องมองออกไปข้างนอก เพื่อให้เราได้เป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลกอย่างแท้จริง และด้วยความร่วมมือกับสมาชิกอาเซียน เราสามารถบอกกับโลกได้ว่าความชอบธรรมคืออำนาจ ไม่ใช่อำนาจคือความชอบธรรม บอกกับโลกได้ว่าเรากำลังจะกลับมาเป็นอำนาจกลาง ที่จะมีส่วนฟื้นระเบียบโลก ประเทศไทยกลับมาแล้ว เราเอาจริง และเราจะทบทวนนโยบายต่างประเทศของเราอีกครั้ง

หลังจากที่เราหายไปจากเวทีโลกในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาภายใต้การปกครองของกองทัพ เราต้องการสร้างสมดุลให้โลกอีกครั้ง และในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการเลือกข้าง แต่คือการยืนหยัดในหลักการ เราต้องวิจารณ์เพื่อนเราได้ และก็ต้องพูดคุยกับคู่แข่งของเราได้ด้วย ในฐานะอำนาจกลาง เราสามารถกำหนดตัวชี้วัดใหม่ในนโยบายต่างประเทศของประเทศไทยได้ มากกว่าแค่เรื่องของการค้าการลงทุนและพันธมิตรด้านความมั่นคงกับสหรัฐอเมริกา ให้มีเรื่องของสิ่งแวดล้อม สภาวะโลกร้อน การควบคุมอาวุธปืน แบ่งปันทุกข์ เรียนรู้ร่วมกัน และหาทางออกร่วมกันได้

“นี่คือสิ่งที่เราทำร่วมกันได้เพื่อบรรลุสิ่งที่ดูจะเป็นไปไม่ได้ เปลี่ยนการต่อสู้ให้เป็นพลัง เปลี่ยนความเจ็บปวดให้เป็นความมั่งคั่ง เปลี่ยนคุณค่าให้เป็นชัยชนะร่วมกัน ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับพวกเราทั้งหมด ถ้าทุกคนทำร่วมกันโดยที่เราไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งในนั้น เราจะหายไปจากการออกแบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการสร้างสันติภาพ นี่คือบทบาทที่เราทำร่วมกันได้ ในการทำให้โลกเป็นสถานที่ที่ดีกว่านี้ โดยที่มีประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งอยู่ในนั้น ก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ผมยังคงคาดหวังที่จะได้เป็นสะพานเชื่อมผู้คนกับผู้คน สภากับสภา ภาครัฐกับภาครัฐ ภาคเอกชนกับภาคเอกชน และรัฐบาลกับรัฐบาลด้วยกัน” นายพิธากล่าว

‘เพจสานต่อเจตนารมณ์ อ.สมเกียรติ’ เผยอีกมุมเรื่องตึกในฝรั่งเศส ปชช.จะไม่มีเสรีภาพให้ก่อสร้างได้ตามใจชอบ แม้จะเป็นที่ของตัวเอง

(4 พ.ย.66) เพจเฟซบุ๊ก ‘สานต่อเจตนารมณ์ อาจารย์สมเกียรติ โอสถสภา’ ได้โพสต์อธิบายความ หลังมีการเปรียบเทียบภาพตึกอาคารในฝรั่งเศสและเมืองไทยในเชิงด้อยค่า ว่าตึกในไทยดูด้อยพัฒนา โดยระบุว่า…

บางโซนของปารีสจะถูกบังคับไว้เลย ว่าตึกต้องทรงไหน สีอะไร สูงได้เท่าไหร่ เพื่อให้ดูเหมือนกันทั้งโซน ตามวัตถุประสงค์ด้านทัศนียภาพนี่แหละ

จะไม่มีเสรีภาพให้ก่อสร้างได้ตามใจชอบ แม้จะเป็นที่ของคุณเอง

ถ้าจะเอาเสรีภาพ แต่อยากให้รัฐฯ บงการแม้แต่สีของตึก มันจะย้อนแย้งนิดนึง

ฝรั่งเศสที่คนไทยไปหลงเอาเองว่าเป็น ‘ประเทศแห่งเสรีภาพ’ จริงๆ แล้วเป็นประเทศที่รัฐฯ คุมเข้มแทบทุกเรื่อง และตำรวจไล่ทุบม็อบได้โหดที่สุดในบรรดาประเทศยุโรปด้วยกัน

แล้วถ้าจะเทียบอะไรกับปารีส เอารถใต้ดินมาเทียบกันหน่อยไหม ที่เมืองไทยไม่มีเหม็นเยี่ยวแน่นอน

ขนาดสถานี ‘Paris Metro’ ของย่านผู้ดี Passy ที่ Arrondissemont 17 ยังไม่น่าขึ้นเลย 

ย่านนั้นเป็นย่านสวยๆ สบายๆ ของคนมีตังค์ในปารีสอยู่กัน มีความเป็นคอมมิวนิตี้ ดีทุกอย่าง แต่ขนาดย่านคนรวยสถานีรถใต้ดินยังไม่ไหวเลย

ถ้าไม่ขึ้นแท็กซี่ ก็เดินไปขึ้นรถเมล์สบายใจกว่าเยอะ

เล่าจากประสบการณ์ตรงที่เคยไปอยู่

‘นันทิวัฒน์’ ชี้!! ‘สังคมเมกา’ อาการหนัก!! ใครคิดสะท้อนเสรีภาพตน ต้องมีขอบเขต หลังพบ รร.ดังไล่เด็กนักเรียนออก เพียงเพราะแม่เด็กโพสต์หนุนปาเลสไตน์

เสรีภาพ?

บรรดาด้อมและสื่อที่รับใช้ต่างชาติ ช่วยอ่านข่าวนี้หน่อย

‘อเมริกา’ ประเทศต้นแบบประชาธิปไตย ประเทศที่ด้อมคลั่งไคล้ว่า ‘มีเสรีภาพ’ ทำกับประชากรของตนเองยังไง

เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 66 สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น รายงานว่า ‘The Council on American - Islamic Relations’ เรียกร้องให้กระทรวงศึกษาธิการสหรัฐฯ สืบสวนสาเหตุการไล่ ‘Jad Abuhamda’ นักเรียนของโรงเรียน The Pine Crest School ที่ฟลอริด้า หลังจากที่ ‘Dr. Maha Almasri’ แม่ของเด็กนักเรียน ซึ่งเป็นครูสอนคณิตศาสตร์ของโรงเรียน ได้โพสต์ข้อความสนับสนุนปาเลสไตน์ผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์

ทางโรงเรียนมองว่า “เต็มไปด้วยความเกลียดชัง และปลุกปั่นความไม่สงบ”

เรื่องการต่อสู้ในปาเลสไตน์ ใครจะคิดอะไร ใครจะสนับสนุนฝ่ายไหน ก็ไม่เห็นจะเป็นไร ทุกฝ่ายมีจุดยืนวิธีคิด มีการรับรู้ที่แตกต่างกัน

แต่ตรงกันข้ามกับกรณีนี้ที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ มันน่าแปลก ประเทศต้นแบบของการแสดงความคิดเห็น คนกลับมีเสรีภาพลดลง

นั่นหมายความว่า “เสรีภาพต้องมีขอบเขต”


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top