Friday, 29 March 2024
ค่าแรงขั้นต่ำ

‘ก้าวไกล’ ทวงถามค่าแรงขั้นต่ำ 425 บาทอยู่ไหน วอนรัฐ ช่วยสนใจปากท้องก่อนเล่นเกมแย่งเก้าอี้ 

(20 ม.ค. 65) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นายจรัส คุ้มไข่น้ำ ส.ส.ชลบุรี พรรคก้าวไกล ตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรี เรื่องปัญหาค่าครองชีพสูงขึ้น สวนทางกับค่าแรงของประชาชนที่ยังต่ำและขยับขึ้นน้อยมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จนไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ขณะนี้ โดยนายกรัฐมนตรีได้มอบให้ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นผู้ชี้แจงแทน

นายจรัส กล่าวว่า ขณะนี้ประชาชนหลายพื้นที่ใน อ.ศรีราชา อ.บางละมุง จ.ชลบุรี บ้านของตนกำลังลำบากไม่น้อยไปกว่าประชาชนทั่วประเทศ นอกจากต้องต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา ยังต้องเจอกับการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ ทั้งยังต้องมาเจอกับพิษเศรษฐกิจค่าครองชีพที่สูงขึ้น สวนกับค่าแรงงานของพี่น้องประชาชน 

"แต่ในขณะที่บ้านเมืองกำลังวิกฤต พี่น้องประชาชนทั้งประเทศกำลังอดอยากจากปัญหาปากท้อง ข้าวของแพง ค่าแรงถูก ต้องถามว่าพวกท่านในฐานะที่เป็นรัฐบาลมัวเล่นอะไรกันอยู่ โฟกัสให้ถูกเรื่องได้แล้ว หยุดแย่งเก้าอี้ หยุดแย่งโควตา หันไปแก้ปัญหาปากท้องพี่น้องประชาชนบ้าง ถึงตอนนี้จากที่เคยทนไหว เขาเริ่มที่จะทนไม่ไหวแล้ว เพราะทุกอย่างมันแพงขึ้นมาก"

นายจรัส อภิปรายต่อว่า ราคาน้ำมันก็ปรับขึ้นตั้งแต่ปลายปี รัฐบาลคุมราคาดีเซลก็จริง แต่คนทั่วไปใช้เบนซินหรือแก๊สโซฮอล์ ปกติเงิน 100 บาท เติมน้ำมันรถมอเตอร์ไซค์ได้เต็มถัง แต่ในขณะนี้ไม่ได้แล้ว คนขับรถยนต์เคยเติมเต็มถัง 500-600 บาท ตอนนี้เติม 1,000 บาท ก็ไม่เต็มถัง เดือนๆ หนึ่งต้องเสียค่าน้ำมันแพงมาก 

ตอนนี้ลามมาถึงค่าอาหาร แพงขึ้นทุกอย่าง ทั้งเนื้อสัตว์ ซึ่งที่เป็นประเด็นสำคัญ คือ ราคาเนื้อหมู ที่ปรับขึ้นจาก 120 เป็น 200 กว่าบาท เป็นปรับที่ก้าวกระโดด จนประชาชนปรับตัวไม่ทัน ขยายไปดึงราคาเนื้อสัตว์อื่นๆ ไข่ไก่ น้ำมันปาล์ม รวมไปถึงซีอิ๊วขาวจนสูงขึ้นตาม

"ท่านต้องไปกินข้าวจากอาหารตามสั่งบ้าง เขายิ่งเจอผลกระทบที่ราคาปรับขึ้น ทำให้ประชาชนมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีกจากค่าอาหาร สวนทางกับค่าแรงขั้นต่ำที่ไม่ได้เพิ่มขึ้นตาม ผลกระทบนี้พ่อค้า แม่ค้า ก็กระทบ เดี๋ยวก็จะมีค่าไฟ ที่เพิ่มสูงขึ้นในฤดูร้อน ยิ่งทำให้ส่งผลกระทบกับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนทั้งประเทศ ผิดกับคนที่อยู่บ้านหลวงใช้น้ำฟรี ใช้ไฟฟ้าฟรี แบบพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เท่านั้นที่คงไม่ได้รับผลกระทบใดใด 

อนุสรณ์ อัด!! สัญญาค่าแรงขั้นต่ำ 425 รัฐทำไม่ได้ เป็นการตระบัดสัตย์ หลอกประชาชนหวังผลคะแนน

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมืองพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี มติคณะกรรมการค่าจ้างเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 2565 ชลบุรี, ระยอง, ภูเก็ต ค่าแรง 354 บาทต่อวัน ส่วน 3 จังหวัดชายแดนใต้, น่าน และอุดรธานี ถูกสุด 328 บาทต่อวัน ว่า พรรคพลังประชารัฐที่ตอนนี้มีหัวหน้าพรรคเป็นรักษาการนายกรัฐมนตรี รู้สึกอย่างไร ที่นโยบายหาเสียงเป็นสัญญาประชาคมกับประชาชน ไม่สามารถทำได้ตามสัญญาทั้งที่มีอำนาจล้นมือ ถือเป็นการตระบัดสัตย์ หลอกลวง เพื่อหวังผลคะแนนตอนเลือกตั้งหรือไม่ 

ตอนหาเสียงบอกว่าจะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 425 บาท เท่ากันทั่วประเทศ พอมาเป็นรัฐบาลปรับแต่ละครั้งกะปริบกะปรอย แต่ละพื้นที่ก็ปรับไม่เท่ากัน ซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำ จนปลายอายุรัฐบาล จังหวัดที่ได้มากที่สุดก็ยังห่างไกลจาก 425 บาทที่หาเสียงอยู่มาก แทนที่จะพูดในสิ่งที่ทำ ทำในสิ่งที่พูด กลับพูดแล้วไม่ทำ และอาจเตรียมไปพูดโม้ใหม่ในการเลือกตั้งครั้งหน้า เกียรติภูมิของความเป็นพรรคการเมืองแทบไม่เหลือ กกต.จะดำเนินการอย่างไร ถ้าพรรคการเมืองไปหาเสียงแล้วทำไม่ได้หรือไม่ได้ทำ แล้วไม่เกิดผลอะไรทางกฎหมาย ต่อไปพรรคไหนอยากพูดอะไร อยากสัญญาอะไร พอทำไม่ได้ก็ไม่มีความผิด ไม่ต้องรับผิดชอบ กลายเป็นเพียงคำสัญญาที่ว่างเปล่าหลอกลวงประชาชน นโยบายที่ใช้หาเสียงแล้วทำไม่ได้ควรมีราคาที่ต้องจ่าย จะยุบพรรคหรือถูกลงโทษอย่างไรก็ควรต้องมีบรรทัดฐาน 

'ทิพานัน' ชี้!! ค่าแรงไม่ถึง 425 เพราะหลายตัวแปร ย้ำ!! รัฐมีนโยบายช่วยเหลือประชาชนเสมอมา

'ทิพานัน' แจงขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพผู้ใช้แรงงาน ปรับไม่ถึง 425 บาท เพราะผลกระทบจากสถานการณ์โควิดอย่างหนัก ชี้ที่ผ่านมาอัดมาตรการช่วยเหลือทั้งนายจ้างและลูกจ้าง ทุกมาตรการยึดประโยชน์ประเทศและประชาชน มากกว่าการเมือง

27 ส.ค. 65 - น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการค่าจ้างเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 2565 ว่า ต้องขอชี้แจงเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงความตั้งใจของรัฐบาลว่าการปรับค่าจ้างให้ผู้ใช้แรงงานมีรายได้เพิ่ม เพื่อช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพจากสถานการณ์ที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวและเงินเฟ้อสูงขึ้น ยิ่งสถานการณ์หวั่นไหวทางเศรษฐกิจอาจทำให้มีการปรับราคาสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นได้ ที่ผ่านมารัฐบาลโดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่มีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่ได้กำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ห่วงใยพี่น้องผู้ใช้แรงงานได้กำชับให้ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และผู้อำนวยการพรรคพลังประชารัฐ ดูแลแรงงาน โดยให้หาแนวทางดำเนินการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้เร็วที่สุดเมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลาย

น.ส.ทิพานัน กล่าวต่อว่า พรรคเพื่อไทยที่เป็นฝ่ายค้าน ต้องทำความเข้าใจเกณฑ์สำหรับการปรับอัตราค่าแรงได้นำตัวเลขคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของแต่ละจังหวัดชัดเจน และนำมาเทียบกับภาวะเงินเฟ้อ นำมาคำนวณจนได้ข้อสรุปแบ่งเป็น 9 อัตรา และมีระดับค่าแรงตั้งแต่ 328 - 354 บาท ตามที่ทราบกัน ซึ่งเป็นการประชุมร่วมกันกับหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเรียกว่าคณะกรรมการค่าจ้าง โดยมีผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง นายจ้าง และรัฐบาล ร่วมหารือมาโดยตลอดจนได้ข้อสรุป เพื่อเสนอ ครม. ที่คาดว่าจะประกาศใช้ ภายใน 1 ตุลาคม 2565

ส่วนกรณีที่พรรคเพื่อไทยวิจารณ์ว่ารัฐบาลไม่สามารถปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 425 บาท เท่ากันทั่วประเทศได้ตามนโยบายหาเสียงไว้จนปลายอายุรัฐบาล น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบหนักต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และจากมาตรการทางด้านสาธารณสุข โดยตัวเลขอัตราค่าแรงขั้นต่ำนั้นได้มีการหารือทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการมาแล้วเบื้องต้นว่าอยู่ในจุดที่ยอมรับได้ อีกทั้งก่อนหน้านี้รัฐบาลได้ให้การช่วยเหลือและเยียวยาทั้งนายจ้างและลูกจ้างผ่านมาตรการต่างๆ เพื่อพยุงสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้และไม่เกิดการว่างงานขึ้น รวมเงินกู้ผ่านธนาคารของรัฐเพื่อให้พลิกฟื้นธุรกิจ

ครม.ไฟเขียวขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมีผล 1 ต.ค. สูงสุด 356 บาท ต่ำสุด 328 บาทต่อวัน

เคาะแล้ว!! ครม. ไฟเขียวขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ มีผล 1 ต.ค.นี้ 

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (13 ก.ย.) เห็นชอบการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ประจำปี 2565 ตามที่คณะกรรมการค่าจ้าง และกระทรวงแรงงานได้มีการพิจารณาและเสนอ ครม.เห็นชอบ โดยเป็นการปรับขึ้นประมาณ 5% 

โดยได้ข้อสรุปร่วมกันในการปรับขึ้นซึ่งแบ่งเป็น 9 อัตรา ได้แก่ 

1) ค่าจ้าง 354 บาท มี 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง และภูเก็ต 

2) ค่าจ้าง 353 บาท มี 6 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร 

3) ค่าจ้าง 345 บาท มี 1 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา 

4) ค่าจ้าง 343 บาท มี 1 จังหวัด คือ พระนครศรีอยุธยา

‘อุ๊งอิ๊ง’ เปิดแคมเปญเลือกตั้ง 'คิดใหญ่ ทำเป็น เพื่อไทยทุกคน' ชู!! ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท ปริญญาตรี 25,000 บาทต่อเดือน

แพทองธาร เปิด 10 นโยบายพลิกฟื้นประเทศ ปี 2570 โดยรัฐบาลเพื่อไทย ต้อง ‘คิดใหญ่ ทำเป็น’ ประกาศค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท เงินเดือน ป.ตรี 25,000 บาท

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม พรรคเพื่อไทย และหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย กล่าวในการประชุมใหญ่วิสามัญ ประจำปี 2565 ว่า ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาตนพร้อมคณะกรรมการได้ลงพื้นที่ศึกษาและทำวิจัยพบว่า ประเทศถอยหลังไปมาก ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และไร้ที่ยืนบนเวทีโลก ประชาชนจำนวนมากมีหนี้ท่วมท้นและสะสมเป็นเวลานาน ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

จำเป็นต้อง ‘คิดใหญ่’ เพราะหากคิดเล็กจะรับมือปัญหามากมายขนาดนี้ไม่อยู่ และต้อง ‘ทำเป็น’ เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาได้ ยืนยันได้จากผลงานตั้งแต่รัฐบาลไทยรักไทย จนถึงรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีว่า เราสามารถคืนความสุข ความเจริญ ความกินดีอยู่ดีให้พี่น้องประชาชนได้  หัวข้อในแคมเปญรณรงค์ต่อจากนี้ จึงเปลี่ยนจาก ‘พรุ่งนี้เพื่อไทย’ เป็น ‘คิดใหญ่ ทำเป็น เพื่อไทยทุกคน’

และภายในปี 2570 ภายใต้รัฐบาลพรรคเพื่อไทย คนไทยจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลง คือ

1.) นโยบายเศรษฐกิจ คือ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และขยายโอกาส ยังคงถูกต้องและยึดเป็นแนวทางเสมอมาและตลอดไป จากปี 2566 จนถึงปี 2570 พรรคจะทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของประเทศเติบโตอย่างต่ำเฉลี่ยร้อยละ 5% ต่อปี ช่องว่างความเหลื่อมล้ำจะลดลงอย่างเห็นได้ชัด เพราะจะใช้แนวคิด ‘รดน้ำที่ราก’ เพื่อให้ต้นไม้งอกงามได้ทั้งต้น ทั้งที่น้ำมีจำกัด

ทักษะสร้างสรรค์ Soft Power ด้านต่าง ๆ เช่น เชฟทำอาหาร นักออกแบบ แฟชั่นดีไซเนอร์ นักร้อง นักแต่งเพลง คนเขียนบท ยูทูบเบอร์ นักสร้างคอนเทนท์ นักออกแบบมัลติมีเดีย นักกีฬา หรือสปาเทอราปิสต์ จะทำให้มีรายได้คนละไม่ต่ำกว่า 200,000 บาทต่อปี ประเทศไทยมี 20 ล้านครอบครัว สามารถสร้างงานทักษะสูงได้ 20 ล้านตำแหน่ง และมีรายได้รวมกันถึงปีละ 4 ล้านล้านบาท และในปี 2570 คนไทยต้องได้ค่าแรงขั้นต่ำให้สมกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนไทย คือ ไม่ต่ำกว่า 600 บาทต่อวัน เงินเดือนของผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรี อยู่ที่ 25,000 บาทขึ้นไป

2.) นโยบายด้านการเกษตร ในปี 2570 นำเทคโนโลยีทางการเกษตรหรือ Agritech มาใช้ เช่น เทคโนโลยีเกษตรแม่นยำ (Precision Agriculture) ใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มาช่วยในการเกษตร มีการปรับปรุงหน้าดิน และใช้ปุ๋ยเท่าที่จำเป็น เกษตรกรจะมีรายได้มากขึ้น แต่เหนื่อยน้อยลง ใช้การตลาดนำการผลิต ไม่มีการทำการเกษตรแบบไร้เป้าหมาย สินค้าการเกษตรต้องขึ้นยกแผง มีการนำสินทรัพย์ดิจิทัล (NFT) มาใช้ในการขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า ให้ต่างชาติมาช่วยเสริมสภาพคล่องให้เกษตรกรอีกทางหนึ่ง ราคาพืชผลเกษตรจึงขึ้นยกแผงทุกตัว เพราะเคยทำมาแล้ว และจะทำต่อไป

3.) นโยบายด้านการท่องเที่ยว ในปี 2570 มีนักท่องเที่ยวมาเยือนไทยจำนวนมาก รายได้จากการท่องเที่ยวสูงถึง 3 ล้านล้านบาทต่อปี การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของไทยได้รับความนิยมจากทั่วโลก เทศกาลของไทย 2 เทศกาลคือ สงกรานต์ในเดือนเมษายน และลอยกระทงในเดือนพฤศจิกายนเป็นเทศกาลระดับโลกที่นักท่องเที่ยวปักหมุดไว้ในปฏิทิน ประเทศไทยน่าอยู่สำหรับชาวต่างชาติและคนไทย

4.) นโยบายด้านนวัตกรรม สร้างโครงข่ายในการเก็บบัญชีธุรกรรมออนไลน์ (Blockchain) ของไทยเอง ที่เป็นช่องทางในการขายสินค้าเกษตร รวมทั้งสินทรัพย์ที่เกิดจากซอฟต์พาวเวอร์ ตลอดจนเป็นช่องทางเงินทุนให้กับนักธุรกิจรายย่อย ไม่ว่าจะเป็น Start up หรือ SME

นอกจากนั้น จะส่งเสริมงานวิจัยอย่างจริงจัง จนทำให้ในปี 2570 ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางด้านนวัตกรรมของ Asean มีการใช้เงินสกุลดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (CBDC : Central Bank Digital Currency) แทนเงินสด ป้องกันการคอร์รัปชันในการเมืองแบบ ‘ลิงกินกล้วย’ ทุกวันนี้ได้เป็นอย่างดี ประชาชนทุกคนมีบัญชีธนาคาร และมีกระเป๋าเงินดิจิทัล (Digital Wallet)  ของตนเอง

รัฐบาลกลายเป็นรัฐบาลดิจิทัลเต็มรูปแบบ การเข้าถึงบริการของรัฐทำได้ง่าย สะดวก ทุกหมู่บ้านของประเทศไทยมีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง สถานที่สาธารณะทุกแห่งมี wifi ฟรี

5.) นโยบายด้านสาธารณสุข ในปี 2570 หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 30 บาทรักษาทุกโรคถูกอัปเกรด หรือยกระดับขึ้น สามารถรักษาได้ทั่วประเทศ ประชาชนสามารถใช้บัตรประชาชนเพียงใบเดียว รับการรักษาได้ทั่วประเทศโดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพราะข้อมูลสุขภาพถูกเชื่อมไว้บนศูนย์ข้อมูล หรือ Cloud  เมื่อเจ็บป่วย ผู้ป่วยเพียงยื่นบัตรประชาชนแล้วอนุญาตให้แพทย์ผู้รักษาเข้าถึงข้อมูลการรักษาได้

ในปี 2570 ผู้ป่วยโรคทางจิต เช่น โรคซึมเศร้า หรือโรคทางกายอื่น ๆ ที่ต้องการขอคำปรึกษากับแพทย์เฉพาะทางได้รับการรักษาที่ศูนย์สาธารณสุขหรือโรงพยาบาลใกล้บ้าน ไม่จำเป็นต้องเดินทางไกล เพราะแพทย์เฉพาะทางให้คำปรึกษาผ่านระบบทางไกลหรือ Telemedicine ได้ การนัดคิวตรวจเป็นเรื่องปกติของโรงพยาบาลทุกแห่ง ผู้ป่วยไม่ต้องไปโรงพยาบาลแต่เช้ามืด ผู้ป่วยที่ต้องเจาะเลือดตรวจโรค ก็สามารถทำได้ที่คลินิกหรือศูนย์สาธารณสุขใกล้บ้าน

ผู้ป่วยติดเตียงและผู้ป่วยในระยะสุดท้ายของชีวิต ได้รับการดูแลจากผู้ช่วยพยาบาลทั้งที่บ้านและที่ศูนย์ชีวาภิบาล (Hospice) ของรัฐและเอกชนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ลูกหลานยังสามารถไปประกอบอาชีพได้ตามปกติ ไม่ต้องลางาน

การสาธารณสุขเชิงรุก เช่น การฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกฟรีในเด็กหญิงอายุ 9-11 ปี และฉีดวัคซีนให้ผู้หญิงที่ยังไม่ติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV : Human Papilloma Virus) อีกทั้งยังตรวจและรักษาไวรัสตับอักเสบ-ซี ซึ่งโรคดังกล่าวจะเป็นการป้องกันมะเร็งตับที่เป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ของมะเร็งในผู้ชาย

ปี 2570 โรงพยาบาลของรัฐถูกกระจายอำนาจในรูปแบบองค์การมหาชนที่ท้องถิ่นและชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารโรงพยาบาล มีการจัดสรรบุคลากรทางการแพทย์ตามปริมาณงาน และเกิดการลงทุนครั้งใหญ่ในการพัฒนาอุปกรณ์การแพทย์ให้ทันสมัยในทุกระดับตั้งแต่ตำบลถึงมหานคร รวมทั้งมีการฝึก อ.ส.ม. ให้เป็นพยาบาลระดับต้น ประจำทุกหมู่บ้าน ส่วนในกรุงเทพมหานคร มีโรงพยาบาลประจำเขตทั้ง 50 เขต

6.) นโยบายด้านการศึกษา ในปี 2570 มีการกระจายอำนาจการศึกษาเหมือนในประเทศที่เจริญแล้ว มีโรงเรียน 2 ภาษาในทุกท้องถิ่น ซึ่งสอนภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาอังกฤษและภาษาจีน ตั้งแต่ ป.1 มีการเรียนการสอนทั้งในห้องเรียนและออนไลน์ โดยใช้ครูต่างประเทศมาสอนเสริมร่วมกับครูไทย มีศูนย์การเรียนรู้แบบ TCDC และ TK Park ที่เริ่มต้นสมัยไทยรักไทย ให้ครบทุกจังหวัด

7.) นโยบายด้านยาเสพติด จะปราบปรามยาเสพติดเต็มรูปแบบ เด็กไทยตกเป็นทาสยาเสพติด ทำร้ายคนในครอบครัวและผู้อื่นอีกมากมาย และจะบำบัดผู้เสพอย่างทั่วถึงควบคู่กันไปกับการปราบปราม

หอการค้าฯ เอือมนักการเมืองหาเสียงเพิ่มค่าแรง ชี้ ประเทศพังแน่ ถ้าค่าแรงขั้นต่ำเท่ากันทุกจว.

(6 ธ.ค. 65) ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวถึง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม พรรคเพื่อไทย และหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย มีนโยบายจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ไม่ต่ำกว่า 600 บาทต่อวัน และเงินเดือนของผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรี อยู่ที่ 25,000 บาทขึ้นไป ว่า เป็นไปไม่ได้ ไม่สนับสนุนให้ทุกพรรคการเมืองนำเรื่องนี้มาหาเสียงในทางการเมือง เพราะเป็นเศรษฐกิจมหภาคเกี่ยวพันไปทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นขบวนการผลิต การส่งออก กระบวนการท่องเที่ยวบริการ ก่อสร้าง ทุกอย่างที่เกี่ยวกับแรงงาน

“เมื่อปี 54 มีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท ทำให้โครงสร้างค่าแรงบิดเบี้ยวและกระทบต่อผู้ประกอบการที่ใช้แรงงานอย่างมหาศาล การหาเสียงโดยไม่มีตรรกะ ไม่มีหลักการและวิชาการรองรับเป็นไปไม่ได้ อย่าลืมว่าการขึ้นค่าแรงมีระบบระเบียบอยู่แล้ว ตามองค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือไอ แอล โอ สำหรับกระทรวงแรงงานของเราเอง ก็ใช้มาตรฐานนี้ และมีคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) จังหวัด นำเสนอค่าแรง อย่าลืมว่าทุกจังหวัดมีสภาพความเป็นอยู่และเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน บางจังหวัดไม่มีอุตสาหกรรม บางจังหวัดเป็นจังหวัดท่องเที่ยว บางจังหวัดทำเกษตร เพราะฉะนั้นการขึ้นค่าแรงเหมือนกันหมดจึงเป็นไปไม่ได้ ถ้าค่าแรงขั้นต่ำเท่ากันเมื่อใดพังทั้งประเทศ” ดร.พจน์ ระบุ

'ก้าวไกล' ขอโทษ 'เพื่อไทย' หลังว่าที่ผู้สมัครมือลั่น วิจารณ์ค่าแรง 600 ไม่รอดแน่ SME ตายเป็นเบือ

ผู้สมัคร ส.ส.ลำปาง พรรคก้าวไกล วิจารณ์นโยบายอุ๊งอิ๊ง ค่าแรง 600 ไม่รอดแน่ ขนาดปี 54 วันละ 300 SME ตายเป็นเบือ เจอทัวร์ลงจนต้องลบทิ้ง กระทั่งออฟฟิเชียลก้าวไกลขอโทษ ด่วนวิจารณ์ขาดไตร่ตรองรอบคอบ 

วันนี้ (7 ธ.ค. 65) จากกรณีที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม พรรคเพื่อไทย และหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย แสดงวิสัยทัศน์ในการประชุมใหญ่วิสามัญประจำปี 2565 ของพรรคเพื่อไทย หนึ่งในนั้นคือค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน และเงินเดือนของผู้ที่จบปริญญาตรี 25,000 บาทขึ้นไป กำลังเป็นที่วิจารณ์ว่าทำได้จริงหรือไม่?

ปรากฏว่าเฟซบุ๊ก 'Tipa Paweenasatien - ทิพา ปวีณาเสถียร' ของ น.ส.ทิพา ปวีณาเสถียร ผู้สมัคร ส.ส.ลำปาง เขต 1 พรรคก้าวไกล นักธุรกิจโรงน้ำแข็งและน้ำดื่มในจังหวัดลำปาง ก็ได้โพสต์ข้อความระบุ ดังนี้...

"ค่าแรงในลำปาง ปี 54 จาก 156-กระโดดเป็น 300, 310, 315- SME ตายเป็นเบือ! ถ้าจาก 315-ขยับเป็น 600-ฉันก็คงไม่รอด!!" เรียกเสียงฮือฮาให้แก่ชาวเน็ต

ต่อมาทวิตเตอร์ @MFPThailand ของพรรคก้าวไกล ก็รีบโพสต์ข้อความขอโทษ พรรคเพื่อไทย โดยระบุว่า...

"สืบเนื่องจากกรณีการแสดงความเห็นของว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พรรคก้าวไกล ไม่เห็นด้วยต่อนโยบายขึ้นค่าแรงของพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกลเสียใจอย่างมากที่ว่าที่ผู้สมัครของพรรค ได้ด่วนวิพากษ์วิจารณ์นโยบายดังกล่าวโดยขาดการไตร่ตรองอย่างรอบคอบ พรรคขอน้อมรับคำวิจารณ์ทั้งหมด และขออภัยพรรคเพื่อไทย และพี่น้องประชาชนทั่วประเทศอย่างสูง พรรคก้าวไกลตระหนักดีว่าการขึ้นค่าแรงอย่างเป็นธรรม สอดคล้องกับค่าครองชีพ จะทำให้พี่น้องชาวไทยได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเป็นส่วนสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ซึ่งก็ถือเป็นแนวนโยบายและคุณค่าหลักที่พรรคก้าวไกลยึดถือเช่นกัน

'ทักษิณ' ลั่น!! ถ้าไม่มีระบบเฮงซวยมารังควาน ค่าแรง 800 บาทต่อวัน "ยังทำได้เลย"

(7 ธ.ค. 65) เฟซบุ๊ก ‘CARE คิด เคลื่อน ไทย’ ได้สรุปการไลฟ์สดพูดคุยกับโทนี่ วู้ดซัม หรือนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีในหัวข้อ จาก ‘คิดใหม่ ทำใหม่’ ถึง ‘คิดใหญ่ ทำเป็น’ ตอนหนึ่งว่า วันนี้หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทยประกาศว่าจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทภายใน 4 ปี ล่าสุดมีคนออกมาโวยวาย บอกทำไม่ได้หรือเพ้อฝัน บางคนก็ออกมาโวยวายว่า พอกันที พรรคการเมืองเลิกหาเสียงเรื่องรายได้ขั้นต่ำสักที

ผมว่าคุณเข้าใจเศรษฐศาสตร์น้อยไป เข้าใจและเห็นใจเพื่อนมนุษย์น้อยไป วันนี้หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทยก็พูดชัดเจนว่า “จะทำให้เศรษฐกิจดี แม้โลกจะอยู่ในภาวะถดถอย” จะดันเศรษฐกิจไทยให้โตเฉลี่ย 5% เฉลี่ยนะครับ ดีไม่ดีปีแรกอาจจะโต 7% ก็ได้เพราะมาจากฐานที่รัฐบาลทหารทำไว้ต่ำ พอเศรษฐกิจดี นักธุรกิจมีเงินเยอะ ก็มีเงินจ่ายค่าแรงสูงขึ้น ดังนั้น keyword คือ การปั้นเศรษฐกิจให้ดีทำให้ขึ้นค่าแรงได้

เพื่อไทย โต้ ‘สุชาติ’ อัดวิจารณ์ค่าแรง 600 บาทต่อวัน ลั่น!! ไม่กระทบงบแผ่นดิน เหน็บ พปชร. ขึ้น 400 ยังทำไม่ได้

ส.ส.โจ้ โต้กลับ ‘รมว.แรงงาน’ ติงนโยบายค่าแรง 600 บาทพรรคเพื่อไทย ลั่นไม่กระทบงบแผ่นดินฟุ้งถ้าประชาชนเห็นว่าดีจริงต้องเลือกให้ ‘แลนด์สไลด์ทั้งแผ่นดิน’ เหน็บ ‘ประยุทธ์’ บริหารเศรษฐกิจเหลว เก่งแต่กู้ขนาดขึ้นค่าแรง 400 บาทยังทำไม่ได้

วันนี้ (7 ธ.ค.) ที่รัฐสภา นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.)ให้สัมภาษณ์ตอบโต้ นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ที่บอกว่า พรรคเพื่อไทย หากจะหาเสียงอะไร ก็แล้วแต่ ควรคำนึงถึงหายนะทางเศรษฐกิจด้วย อย่าหาเสียงเพราะนึกสนุกแบบนี้ (กรณีเพื่อไทยประกาศนโยบายค่าแรง 600 บาท/วัน) เพราะสิ่งที่พูดออกมามันเหมือนการโยนระเบิดเวลาให้เจ้าของกิจการ การหาเสียงแบบนี้เป็นการโยนภาระให้ภาคเอกชน แต่ตัวเองได้คะแนนเสียงซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง นอกจากนี้จะกระทบต่อนักลงทุนต่างประเทศ เพราะจะไม่กล้าเข้ามาลงทุน หากจะหาเสียงอะไรก็แล้วแต่ ควรคำนึงถึงหายนะทางเศรษฐกิจด้วย

นายยุทธพงศ์กล่าวต่อว่า นายสุชาติ รมว.แรงงาน ที่ออกมาโวยวาย เรื่องค่าแรงงาน 600 บาท/วัน ภายใน 4 ปี เพราะนายสุชาติ อาจจะไม่เข้าใจเศรษฐศาสตร์ และระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ การที่คุณแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย พูดเรื่อง ค่าแรงงาน 600 บาท/วัน ภายใน 4 ปี คือ การที่พรรคเพื่อไทยได้ มาเป็นรัฐบาล และ พรรคเพื่อไทย บริหารเศรษฐกิจ เป็นแบบมืออาชีพ เศรษฐกิจประเทศไทยจะโตเฉลี่ย อย่างน้อยร้อยละ 5 ต่อปี พอเศรษฐกิจดี นักธุรกิจมีเงินเยอะ มีรายได้เยอะ ก็มีเงินจ่ายค่าแรงงานสูงขึ้น ไม่ได้กระทบอะไร กับภาระงบประมาณแผ่นดินเลย

‘อุ๊งอิ๊ง’ ยัน ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท ‘ทำได้’ แต่ไม่ใช่ตอนนี้ ชี้!! ต้องรอให้เศรษฐกิจทั้งประเทศพร้อมก่อน

พรรคเพื่อไทย นำโดย แพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม พรรคเพื่อไทย และหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ประธานคณะทำงานนโยบาย พรรคเพื่อไทย เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย แถลงข่าวประเด็นการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน และเงินเดือนผู้จบการศึกษาปริญญาตรี 25,000 บาท 

แพทองธาร กล่าวว่าตนเข้าใจดีว่าเหตุใดจึงมีการถกเถียงในเรื่องนี้ เพราะภาพรวมเศรษฐกิจในขณะนี้ยังไม่ดี พรรคเพื่อไทยจึงแสดงวิสัยทัศน์ให้ทุกคนได้เห็นว่า ถ้าเราปรับภาพรวมเศรษฐกิจทั้งประเทศให้เติบโตไปพร้อมกัน เหมือนสมัยที่รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีเคยปรับค่าแรงเป็น 300 บาทต่อวัน 10 ปีผ่านไป ค่าแรงขั้นต่ำยังปรับขึ้นมาแค่ 54 บาท จึงเป็นเหตุให้เกิด รวยกระจุก จนกระจาย คนได้ประโยชน์จากค่าแรงขั้นต่ำ คือคนกลุ่มเล็ก ๆ บนยอดสามเหลี่ยม 

แต่ฐานรากคือคนส่วนใหญ่ของประเทศยังยากจนเดือดร้อน คนใช้แรงงานยังไม่ได้รับเกียรติไม่ได้รับศักดิ์ศรีเพียงพอ เมื่อเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำในประเทศอื่น อีกทั้งหากภาพรวมเศรษฐกิจของทั้งประเทศดีขึ้น แรงงานมีรายได้มากขึ้นจะสามารถจับจ่ายใช้สอยได้มากขึ้น ช่วยผลักดันเศรษฐกิจทั้งระบบ ดังนั้น การเติบโตของเศรษฐกิจในแนวทางของพรรคเพื่อไทย คือต้องการให้ทั้งประเทศ คนทุกชนชั้น เติบโตได้ทุกโอกาส สามารถออกมาจับจ่ายใช้สอยดูแลครอบครัวของตัวเองได้ การคิดเล็กไม่สามารถแก้ปัญหาได้ จึงเป็นที่มาของแนวคิด ‘คิดใหญ่ ทำเป็น เพื่อไทยทุกคน’

“เราต้องเป็นทุนนิยมที่มีหัวใจ ค่าแรงต้องปรับขึ้นเมื่อเศรษฐกิจทั้งประเทศพร้อม วันนี้ค่าแรงยังปรับขึ้นเป็น 600 บาท ไม่ได้ เพราะเศรษฐกิจยังไม่ดี แต่เมื่อเศรษฐกิจดีแล้ว จีดีพี จะเติบโตที่ 5% ปีแรกอาจสูงกว่า หรือปีต่อมา อาจลดน้อยลงตามเลขเฉลี่ยแต่ละปี ทั้งหมดคือหัวใจหลัก” แพทองธาร กล่าว

นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช กล่าวว่า จุดยืนหรือหัวใจหลักของพรรคเพื่อไทยคือ สร้างรายได้ ขยายโอกาส แต่ปัญหาขณะนี้คือหนี้ เราจึงต้องแก้หนี้ด้วยการสร้างรายได้ ตอนนี้เศรษฐกิจไม่ดีก็ไปกู้ กู้แล้วก็ขยายเพดานหนี้จึงทำให้ค่าจ้างแรงงานยังต่ำ ประเทศรายได้ก็ต่ำ ความเหลื่อมล้ำก็สูง เราจึงต้องใช้นโยบายหลายเรื่องราวที่แถลงเมื่อวานเรียงร้อยและผลักดันไปพร้อมกัน เพื่อให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้น คือต้องสร้างรายได้ใหม่ไปพร้อมกัน 

การปรับค่าแรงงานขั้นต่ำ ไม่ใช่การทำลายโครงสร้าง แต่เป็นการทำงานร่วมกันในระดับไตรภาคีคือ เห็นพ้องร่วมกันระหว่างรัฐ - ผู้ประกอบการ - ประชาชน ค่าแรงขั้นต่ำคิดขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ เพราะค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น พรรคเพื่อไทยรู้ว่าผลิตภาพการผลิต คือที่มากำไรของผู้ประกอบการที่จะนำมาจ่ายเงินเดือน - โบนัส แรงงานได้ ส่วนรายได้เข้าประเทศอื่น ๆ อย่าง ภาคการท่องเที่ยว พรรคเพื่อไทยคิดจากฐานของรายได้ภาคท่องเที่ยวก่อนเกิดการระบาดของโควิด ซึ่งอยู่ที่มูลค่า 1.9 ล้านล้านบาท เพื่อไทยตั้งเป้าเพิ่มเป็น 3 ล้านล้านบาท ซึ่งสามารถทำได้แน่นอนด้วยการสร้างแรงดึงดูดด้วยศักยภาพการท่องเที่ยวที่ไทยมีอยู่มากมาย และการจัดการการบิน - สนามบิน - การอำนวยความสะดวกด่านตรวจคนเข้าเมือง พรรคเพื่อไทยมีผู้เชี่ยวชาญซึ่งเป็นผู้แทนจากภาคธุรกิจ จากภาคประชาชน จึงมีความมั่นใจว่าเราคิด ทำ และขับเคลื่อนทั้งระบบได้อย่างแน่นอน

ด้าน เผ่าภูมิ โรจนสกุล ได้กล่าวถึงประเด็นดังกล่าวโดยแบ่งเป็น 4 ประเด็นคือ

1. ค่าแรง 600 บาท กับปี 2570 เหมาะสมไหม และทำได้หรือไม่? ประเด็นนี้ ขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์ของผู้นำประเทศเลย ถ้าผู้นำมองประเทศไทยแค่เป็นลูกจ้างผลิตกินค่าแรงราคาถูก ก็ผลิตแต่แรงงานไร้ฝีมือ แต่ถ้าเป็นเพื่อไทย จะยกระดับการผลิตไปอีกขั้น จากผลิตตามคำสั่งเป็นการเป็นผู้สร้างนวัตกรรม จากการเกษตรตามยถากรรรม จะเป็นการเกษตรที่กำหนดราคาได้ จากเป็นบริการราคาถูก จะเป็นภาคบริการชั้นสูง คู่แข่งเราต้องไม่ใช่เวียดนาม แต่ต้องเป็นสิงคโปร์และประเทศพัฒนาแล้ว นี่คืวิสัยทัศน์ของผู้นำที่มองต่างก็จะนำไปสู่ราคาค่าแรงที่ต่าง


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top