'อุตตม' เห็นต่าง 'เพื่อไทย' เรื่องค่าแรงขั้นต่ำ ชี้!! ควรยึดที่ประสิทธิภาพของแรงงาน เชื่อ ได้ประโยชน์ทั้งตัวแรงงานและผู้ประกอบการ
เมื่อไม่นานมานี้ นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย ได้เผยแพร่ข้อความ โดยระบุว่า...
สวัสดีครับ ช่วง 2 วันที่ผ่านมา กระแสสังคมมีการวิพากษ์วิจารณ์กรณีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอย่างกว้างขวาง ซึ่งส่วนตัวแล้วเห็นว่าประเทศไทยมีความจำเป็นที่จะต้องพิจารณาขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ภายใต้ความสมดุลใน 2 ประเด็นหลัก คือ 1.ปรับเพื่อให้แรงงานสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีคุณภาพสอดคล้องกับต้นทุนค่าใช้จ่ายการใช้ชีวิตในปัจจุบัน 2.ปรับขึ้นค่าแรงต้องไม่กระทบกับผู้ประกอบการ เนื่องจากวันนี้ในภาพรวมผู้ประกอบการส่วนใหญ่โดยเฉพาะเอสเอ็มอียังไม่หายบาดเจ็บจากโควิด และเชื่อว่าจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าจะฟื้นตัว
ผมอยากเชิญทุกท่านร่วมกันคิดหาทางออกว่า การปรับค่าแรงขั้นต่ำบนพื้นฐานของความสมดุลควรทำอย่างไร ส่วนตัวเห็นว่า เราต้องใช้ระบบกำหนดค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำแบบใหม่ จากเดิมที่กำหนดค่าจ้างขั้นต่ำตามพื้นที่ โดยพื้นที่ใดค่าครองชีพสูงก็ได้ค่าแรงสูง ค่าครองชีพต่ำก็ได้ค่าแรงต่ำ เปลี่ยนเป็นการกำหนดค่าแรงที่ยึดเอาประสิทธิภาพของแรงงานเป็นหลัก ซึ่งจะตอบโจทย์ความเป็นไปในสถานการณ์ปัจจุบัน และการพัฒนาประเทศในโลกอนาคตมากกว่า
วันนี้ประชากรในวัยแรงงานของไทยมีประมาณ 38 ล้านคน แบ่งเป็นภาคบริการและการค้า 18 ล้าน ภาคเกษตร 10 ล้าน และภาคการผลิตอุตสาหกรรม 10 ล้าน (สำนักงานสถิติแห่งชาติ) นับเป็นกลุ่มประชากรขนาดใหญ่ จึงควรได้รับการดูแลชีวิตความเป็นอยู่ที่เหมาะสม และส่งเสริมให้เป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศอย่างเต็มที่
ทั้งนี้เราควรกำหนดอัตราค่าแรงขั้นต่ำโดยแบ่งตามประเภทแรงงานแล้วยึดเอาประสิทธิภาพหรือทักษะของแรงงานเป็นตัวกำหนดอัตราค่าแรง คือ หากเป็นประเภทแรงงานเข้มข้นหรือแรงงานที่ไม่มีทักษะก็กำหนดค่าแรงอัตราหนึ่ง ที่สามารถอยู่ได้ในคุณภาพชีวิตที่ดีพอ แต่หากเป็นแรงงานที่ต้องใช้ทักษะเพิ่มก็ควรได้รับอัตราค่าแรงที่สูงกว่า ขณะเดียวกันภาครัฐก็จะต้องมีมาตรการยกระดับทักษะแรงงาน เพื่อให้แรงงานขั้นพื้นฐานสามารถยกระดับขึ้นไปขั้นที่สูงกว่า ซึ่งเป็นวิธีเดียวกับของประเทศสิงคโปร์ ตัวอย่างอาชีพแม่บ้านที่นั่นหากเป็นแม่บ้านทั่วไปก็จะได้ค่าแรงราคาที่ต่ำกว่าแม่บ้านที่ทำงานสถานที่บริการหรือในสถานที่ราชการ เพราะถือว่าต้องใช้ทักษะการบริการด้วย หากทำได้เช่นนี้ก็จะเป็นการสนับสนุนให้แรงงานเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้เกิดกิจกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างแท้จริง
