Monday, 29 April 2024
ค่าแรงขั้นต่ำ

‘มาร์ช จุฑาวุฒิ’ ลองใช้ชีวิต ตามค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาท ก่อนพบสัจธรรม!! ‘เงินเท่านี้ไม่พอใช้-ไม่เหลือเก็บออม’

(18 ก.ค. 66) เป็นอีกหนึ่งคอนเทนต์ที่เพิ่งปล่อยออกมา แต่คนเข้าดูทะลุพุ่งสูงไปกว่า 3 แสนครั้งแล้ว สำหรับคลิปใหม่บนช่องยูทูบ มีนาคม ของพระเอกหนุ่ม ‘มาร์ช-จุฑาวุฒิ ภัทรกำพล’ โดยตั้งชื่อคลิปเอาไว้ว่าค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาทจะพอใช้ไหม ถ้าต้องใช้ชีวิตแบบพนักงานออฟฟิศ 1 วัน | MARCHU EP.107

ล่าสุด หนุ่มมาร์ช ได้ปล่อยคอนเทนต์ใหม่ด้วยการทดลองใช้เงินตามค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาท แบบพนักงานออฟฟิศใน กทม. ไม่ให้เกินตามนั้น โดยอ้างอิงจากค่าแรงขั้นต่ำที่พรรคการเมืองดังได้มีการหาเสียงเอาไว้

ซึ่งเริ่มต้นความประหยัดด้วยการซื้อข้าวเหนียวหมูปิ้ง 2 ไม้ และข้าวเหนียว 1 ห่อ ไม้ละ 12 บาท ทั้งหมดเป็น 29 บาท เป็นมื้อเช้าในวันนั้น ต่อมาก็เดินไปขึ้นวินมอเตอร์ไซค์ไปหน้าปากซอย ราคา 25 บาท ตลอดทั้งวันในคลิปนี้ ตัวพระเอกหนุ่มเองก็พยายามประหยัดมาก ๆ ทั้งเรื่องการกินและการเดินทาง

แต่ถึงอย่างนั้นก็มีค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดคิดเข้ามา อย่างตอนที่ หนุ่มมาร์ช เจ็บข้อเท้าจนต้องไปซื้อยา ลูกเพื่อนบวชต้องใส่ซองให้ รวมถึงตอนที่เพื่อนร่วมงานชวนไปปาร์ตี้

แม้ว่าระหว่างทาง หนุ่มมาร์ช จะแอบแลกเปลี่ยนสั่งของกับเพื่อนร่วมงานบ้าง ถือเป็นการลักไก่ ไม่ใช้เงิน แต่งบประมาณก็เกิน 450 บาทอยู่ดี ทำให้ หนุ่มมาร์ช สรุปในตอนท้ายว่า ได้เรียนรู้หลาย ๆ บทเรียน และรู้ว่าเงินแค่นี้มันไม่พอสำหรับการใช้ชีวิต และไม่มีทางเลยที่จะเหลือเงินมาเก็บออม เพราะลำพังจะใช้ให้พอในแต่ละวันก็ยากอยู่แล้ว 

ส่องประเทศที่มีค่าแรงขั้นต่ำ ‘มากที่สุด’ และ ‘น้อยที่สุด’

หาก ‘พรรคเพื่อไทย’ ได้เป็นรัฐบาล และปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 600 บาทต่อวัน ตามที่ได้ประกาศหาเสียงไว้ จะทำให้ประเทศไทยพุ่งพรวดขึ้นมาอยู่ในอันดับ 48 ของโลกทันที จากปัจจุบันที่อยู่ในอันดับที่ 72 ส่วนประเทศที่มีค่าแรงขั้นต่ำสูงที่สุดและต่ำที่สุดในโลกมีประเทศใดบ้าง ไปส่องกันเลย!!

'จับกัง 1' เล็งปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ในปีหน้า คาด!! สรุปแนวทางที่ทุกฝ่ายรับได้ภายในเดือน 11

(15 ก.ค. 66) นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ว่า สรุปเนวทางที่ชัดเจนเกี่ยวกับการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ค่าแรง) ให้ทุกฝ่ายยอมรับได้ภายในเดือนพฤศจิกายน 2566 

ทั้งนี้ จะดูอัตราเงินเฟ้อประกอบด้วย เพื่อประกาศเป็นของขวัญปีใหม่ปี 2567 ให้กลุ่มผู้ใช้แรงงานช่วงใกล้สิ้นปีนี้ 

"กระทรวงแรงงานได้หารือกับส.อ.ท.ในฐานะตัวแทนภาคเอกชนที่เข้าใจในปัญหาแรงงาน เพื่อรับทราบความคิดเห็นเรื่องค่าแรงขั้นต่ำซึ่งทุกภาคส่วนมีความกังวล และหลังจากนี้กระทรวงจะเร่งหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 3 ฝ่าย ทั้งลูกจ้าง นายจ้าง และภาครัฐ"

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า การปรับค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาลในเดือนพฤศจิกายนนี้ ต้องการให้ยึดมติคณะกรรมการไตรภาคี โดยค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทต่อวันนั้นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะปัจจุบันค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 328- 354 บาทต่อวัน การขึ้นราคาเดียว 400 บาทต่อวัน หรือขึ้น 19-20% อาจทำให้หลายอุตสาหกรรมกระทบหนักจากต้นทุนที่กระชากแรง เพราะปัจจุบันจาก 45 กลุ่มอุตสาหกรรมมีประมาณ 20 อุตสาหกรรมจ่ายไม่สูงเพราะใช้แรงงานเข้มข้น 

และยังมีผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี (SMEs) ทั่วประเทศกว่า 3 ล้านคน ที่เหลือจ่ายเกิน 400 บาทต่อวัน บางอุตสาหกรรมถึง 800 บาทต่อวันแต่ก็หาแรงงานยาก ดังนั้นการปรับค่าจ้างต้องสอดรับศักยภาพแรงงาน และความสามารถของผู้ประกอบการ

"วิธีปรับขึ้นค่าจ้างที่เหมาะสมคือ การขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อแต่ละปี หรือจะขึ้นตามต้นทุนเงินเฟ้อบวกเอ็กซ์ และปัจจุบันประสิทธิภาพแรงงานไทยในกลุ่มอาเซียน ยังไม่เทียบเท่าเวียดนามและอินโดนีเซียได้ เนื่องจากยังไม่ฟื้นตัวจากผลกระทบของโควิด-19 ได้เต็มที่นัก ดังนั้นไทยควรรีบเร่งเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานไทย ให้แข่งขันกับประเทศต่าง ๆ ได้ เพราะต้องทำงานเป็นปาท่องโก๋ อุตสาหกรรมจะเติบโตได้ ต้องมีกระทรวงแรงงานคอยสนับสนุน”

‘พิพัฒน์’ จ่อหารือขึ้นค่าแรง เป็น ‘ของขวัญปีใหม่’ ให้คนไทย ยัน!! ขั้นต่ำไม่กระทบ ‘เอสเอ็มอี’ คาด ได้ข้อสรุปสิ้นเดือน พ.ย.นี้

(29 ก.ย. 66) ประเด็นการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวัน ร้อนแรงนับตั้งแต่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประกาศว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน และจะขยับให้ได้ตามอัตราดังกล่าวโดยเร็วที่สุด คาดมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 2567 ส่งผลให้กระทรวงแรงงาน ซึ่งมีนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ จากพรรคภูมิใจไทย นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการ ถูกจับตามองว่าจะสามารถขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวได้หรือไม่ ภายใต้โจทย์เศรษฐกิจไทยสุดท้าทาย โดยเฉพาะภาวะเงินเฟ้อและค่าครองชีพพุ่ง กดดันทั้งตลาดแรงงานและผู้ประกอบการ

นายพิพัฒน์ เปิดเผยว่า รัฐบาลจะมีการประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นของขวัญปีใหม่มอบแก่ภาคแรงงานแน่นอน แต่ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะปรับขึ้นเป็นอัตราขั้นต่ำ 400 บาท/วันหรือไม่ เพราะต้องขอหารือร่วมกับคณะกรรมการค่าจ้างกลาง ซึ่งเป็นคณะกรรมการไตรภาคีที่ประกอบด้วยตัวแทนนายจ้าง ตัวแทนลูกจ้าง และตัวแทนภาครัฐ เพื่อศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมว่าจะปรับขึ้นได้กี่เปอร์เซ็นต์ตามความเหมาะสม บนพื้นฐานค่าแรงขั้นต่ำของแต่ละจังหวัด ค่าแรงในแต่ละอุตสาหกรรมซึ่งไม่เท่ากัน รวมถึงอัตราเงินเฟ้อของประเทศไทยมาเป็นฐานตั้งต้น โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปในสิ้นเดือน พ.ย. 2566

“การประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในปี 2567 ฝ่ายนายจ้างจะต้องไม่เดือดร้อนด้วย โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SME) ต้องไม่หายตายจากไป เนื่องจากผู้ประกอบการ SME ถือครองแรงงานก้อนใหญ่ที่สุดของทั้งแรงงานชาวไทยและต่างด้าว” นายพิพัฒน์ กล่าว

อานิสงส์ ‘ขึ้นค่าแรง’ ดูดแรงงานต่างด้าวทะลัก
ทั้งนี้ ยืนยันว่าการประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ไม่สามารถแยกใช้เฉพาะแรงงานชาวไทยได้ ต้องประกาศใช้กับแรงงานต่างด้าวด้วย เพื่อให้แรงงานทุกคนได้รับค่าแรงขั้นต่ำเท่าเทียมกัน โดยเชื่อว่าเมื่อมีประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแล้ว จะมีแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศไทยมากขึ้น จากปัจจุบันที่มีมากกว่า 5 ล้านคน และคาดการณ์ด้วยว่าในระยะยาว 20-30 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะอุดมไปด้วยแรงงานต่างด้าวเกิน 50% ของแรงงานทั้งหมด เนื่องจากปัจจัยทางประชากรศาสตร์ ประเทศไทยมีอัตราการเกิดใหม่ต่ำ ทำให้มีแรงงานชาวไทยไม่เพียงพอต่อความต้องการจ้างงาน

“กระทรวงแรงงานจะเร่งหาวิธีเพิ่มทักษะฝีมือแรงงาน (Upskill) ของแรงงานชาวไทย เพื่อให้ได้รับค่าแรงอย่างน้อย 400 บาทต่อวันให้ได้เร็วที่สุด โดยเฉพาะอาชีพสงวนของคนไทย” นายพิพัฒน์ กล่าว

เร่งจัดหา ‘แรงงานท่องเที่ยว’ ชดเชย 25% ที่หายไป
นายพิพัฒน์ กล่าวบนเวทีประชุมสมาชิกของสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) ประจำเดือน ก.ย. 2566 ในหัวข้อ ‘นโยบายการยกระดับแรงงานภาคท่องเที่ยวเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยว’ วานนี้ (28 ก.ย.) ว่า ย้อนไปเมื่อครั้งตนดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาในรัฐบาลชุดที่แล้ว เมื่อปี 2562 ภาคท่องเที่ยวไทยที่กำลังบูมขั้นสุด มีแรงงานมากกว่า 4 ล้านคน แต่เมื่อเจอวิกฤติโควิด-19 ส่งผลให้แรงงานท่องเที่ยวหายไปมากถึง 40% โดยปัจจุบันกลับมาบ้างแล้วตามการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว แต่ยังหายไป 25% หรือคิดเป็นประมาณ 1 ล้านคน จากแรงงานท่องเที่ยวเดิม จึงมีความจำเป็นต้องเร่งจัดหาแรงงานมาชดเชย เพื่อรองรับดีมานด์นักท่องเที่ยวต่างชาติที่กำลังฟื้นตัว

หลังจากล่าสุด รัฐบาลได้ประกาศดำเนินมาตรการยกเว้นการตรวจลงตรา (Visa Exemption) หรือ วีซ่า-ฟรี เพื่อการท่องเที่ยวเป็นการชั่วคราว ให้แก่นักท่องเที่ยวจีนและคาซัคสถาน อนุญาตให้พำนักในไทยได้ไม่เกิน 30 วัน มีผลตั้งแต่วันที่ 25 ก.ย. 2566 - 29 ก.พ. 2567 เป็นระยะเวลาประมาณ 5 เดือน ซึ่งถือเป็นนโยบายที่ช่วยกระตุ้นดีมานด์การเดินทางและเศรษฐกิจในช่วงไฮซีซันนี้

ย้ำนโยบาย ‘ลดการเสียสมดุลแรงงาน’
“แต่จากที่สมาคมด้านการท่องเที่ยวต่างๆ ได้เสนอให้ปลดล็อกการนำเข้าแรงงานต่างด้าวจากประเทศอื่นๆ เพิ่มได้ เช่น จากฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย เมื่อตนมารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน บอกได้เลยว่า ‘ไม่เห็นด้วย’ เพราะเราสามารถผลักดันแรงงานชาวไทยที่ยังไม่มีงานทำ โดยเฉพาะระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษาที่กำลังหางาน สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดีระดับหนึ่ง ให้เข้ามาฝึกฝนความเชี่ยวชาญด้านงานบริการท่องเที่ยวและบริการได้ ซึ่งปัจจุบันมีความหลากหลายกว่า 13 สาขาวิชาชีพท่องเที่ยว” นายพิพัฒน์ กล่าว

โดยจะบูรณาการความร่วมมือกับ 4 กระทรวงด้านสังคม ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงแรงงาน ซึ่งทำงานกันอย่างใกล้ชิดภายใต้การดูแลของพรรคภูมิใจไทย ด้วยการจัดทำ MOU หรือบันทึกความเข้าใจร่วมกัน เกี่ยวกับการผลิตแรงงาน และเพิ่มทักษะฝีมือแรงงาน เพื่อสามารถผลิตแรงงานได้ทันความต้องการของผู้ประกอบการ

“อย่างแรงงานภาคท่องเที่ยวถือเป็นตลาดที่มีความต้องการสูง ทุกประเทศกำลังขาดแคลนแรงงานท่องเที่ยว เห็นได้จากแรงงานไทยบางส่วนตัดสินใจไปทำงานด้านท่องเที่ยวที่ต่างประเทศ โดยเฉพาะแถบตะวันออกกลาง เช่น นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และซาอุดีอาระเบีย ที่ให้เงินเดือนสูงกว่าในประเทศไทย โดยกระทรวงแรงงานจะเร่งผลิตคนป้อนตลาดท่องเที่ยวภายในประเทศไทยให้ได้ก่อน ผมต้องหาวิธีการ ทำทุกวิถีทาง เพื่อลดการเสียสมดุลแรงงาน” นายพิพัฒน์ กล่าว

ทัวริสต์ต่างชาติสะสม 19.5 ล้านคน
ด้านรายงานข่าวจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่า จากสถิตินักท่องเที่ยวต่างชาติสะสมร่วม 9 เดือนแรก ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 24 ก.ย. 2566 พบว่ามีจำนวน 19,499,116 คน เพิ่มขึ้น 259% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยจำนวนนักท่องเที่ยวสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 มาเลเซีย จำนวน 3,184,562 คน อันดับ 2 จีน จำนวน 2,403,226 คน อันดับ 3 เกาหลีใต้ จำนวน 1,155,782 คน อันดับ 4 อินเดีย 1,128,868 คน และอันดับ 5 รัสเซีย จำนวน 976,969 คน

‘นายกฯ’ จ่อขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ป.ตรี 25,000 บาท ตามที่ ‘พท.’ หาเสียง ด้าน ‘ปานปรีย์’ เตรียมนัด 4 หน่วยงาน ถกรายละเอียด 10 พ.ย.นี้

(7 พ.ย. 66) นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน เปิดเผยว่า เรื่องนี้นายกรัฐมนตรีได้ให้นโยบายมา ซึ่งได้แจ้ง 4 หน่วยงาน ทั้งกระทรวงการคลัง สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม (สศช.) คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) สำนักงบประมาณ ให้มาประชุมกันที่ทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 10 พ.ย. 66 โดยตนเป็นประธานในการประชุม พร้อมขอให้ประชุมลักษณะนี้ 2 ครั้ง เพื่อ เสนอ ครม. ภายในเดือนนี้ ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี

เมื่อถามว่าจะมีการขยับขึ้นเหมือนตอนสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตอนปรับขั้นเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาทหรือไม่ นายปานปรีย์ กล่าวว่า มีการไปดูจากฐานข้อมูลเดิมด้วย ไปดูจำนวนและกลุ่มบัญชีที่ปรับขึ้น แต่การปรับขึ้นเงินเดือนของรัฐบาลนี้จะเป็นไปตามที่พรรคหาเสียงไว้ คือเงินเดือนขั้นต่ำปริญญาตรี 25,000 บาทต่อเดือน แต่จะต้องใช้เวลาในการขยับขึ้น ซึ่งคณะทำงานจะมีการดูรายละเอียดพวกนี้เพื่อเสนอต่อ ครม. ด้วย

นายปานปรีย์ กล่าวด้วยว่า วันที่ 22-24 พ.ย. กระทรวงการต่างประเทศจะเชิญเอกอัครราชทูตทั่วโลก เพื่อประชุมกระทรวงการต่างประเทศเพื่อรับนโยบาย โดยนายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานในการเปิดงาน โดยประเด็นสำคัญที่จะแจ้งให้ทูตทั่วโลกรับทราบมี 3-4 เรื่องหลักๆ ได้แก่ เรื่องบทบาทการทูตและเศรษฐกิจ ที่ต้องการให้ทูตมีบทบาทในการเปิดประเทศ เรื่องความมั่นคง และเรื่องแนวโน้มการเปลี่ยนของโลกที่ประเทศต่างๆ มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อในปีหน้ารัฐบาลจะได้รุกในตลาดต่างประเทศ การทำเอฟทีเอ และการเจรจาความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ

‘นายกฯ’ ไม่เห็นด้วยขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 2-16 บาท ลั่น!! ซื้อไข่ลูกนึงยังไม่ได้ เล็งคุยทบทวนใหม่

(9 ธ.ค.66) ที่ศูนย์ประสานงานพรรคเพื่อไทย อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี คณะกรรมการไตรภาคี มีมติปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ 2-16 บาท ว่า ค่าแรงขั้นต่ำของเราไม่ได้ขึ้นมานานมาก ขึ้นมาน้อยมาก ขณะที่ค่าครองชีพสูงขึ้นทุกวัน โดยรัฐบาลพยายามทำหลายวิธี ที่จะให้ ลดค่าใช้จ่าย ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน พักหนี้เกษตรกร และอีกหลายอย่างเพื่อช่วยเหลือบรรเทา ความทุกข์ของประชาชน รวมไปถึงการแก้ไขหนี้นอกระบบ และหนี้ในระบบ รัฐบาลพยายามทำอยู่ เพื่อลดค่าใช้จ่าย ขณะที่เรื่องของการเพิ่มรายได้ก็สำคัญ โดยประชาชนหลายสิบล้านคน ต้องพึ่งค่าแรงขั้นต่ำจำนวนมาก บางจังหวัดขึ้นแค่ 7-12 บาทเท่านั้นซึ่งน้อยเกินไป ทั้งที่รัฐบาลพยายามที่จะยกระดับ ให้ประเทศไทยมีอุตสาหกรรมไฮเทค ประชาชนมีรายได้สูงขึ้น

ตนเดินทางไปต่างประเทศเพื่อที่จะดึงบริษัทใหญ่มาลงทุนในไทย ไปเปิดตลาดค้าขายใหม่ในต่างประเทศ ที่ไทยยังไม่มีสนธิสัญญาทางการค้า สิ่งเหล่านี้รัฐบาลพยายามทำอย่างเต็มที่แต่ผู้ประกอบการหรือนายจ้าง ต้องขอวิงวอนและขออ้อนวอน ว่าพี่น้องแรงงาน คือผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เมื่อมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น อีกทางหนึ่งรัฐบาลพยายามทำทุกทาง แต่การขึ้นรายได้ ผู้ประกอบการต้องพยายามทำ ไม่ใช่มากดค่าจ้าง แล้วนายจ้างไม่ได้พัฒนา กิจการของตัวเองเลย ผู้ประกอบการต้องพัฒนาตัวเอง เพราะปัจจุบันนายจ้างก็ได้ประโยชน์ จากการลดค่าไฟ ค่าน้ำมันและอีกหลายอย่าง ตามมาตรการของรัฐบาล วันนี้เราจะยอม ให้แรงงานประชาชนคนไทย ต่ำติดดินแบบนี้หรือ ประเทศที่ใกล้เคียงกับไทยเช่นสิงคโปร์หรือเกาหลี สิงคโปร์ค่าแรงขั้นต่ำต่อวัน 1,000 บาท เราจะยอมให้พี่น้องประชาชนของเราเป็นพลเมืองชั้น 2 ชั้น 3 ของโลกหรือในเมื่อค่าแรงขั้นต่ำติดดินขนาดนี้ เมื่อรัฐบาลพยายามยกระดับภาคอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการ ก็ควรที่จะทำไปพร้อมๆกัน ถ้าทำเพียงฝ่าย เดียวเป็นไปไม่ได้

ผู้สื่อข่าวถามว่าในเรื่องค่าแรงจะมีโอกาสทบทวนใหม่หรือไม่นายเศรษฐากล่าวว่า ต้องขอทบทวนใหม่ เดี๋ยวจะต้องไปพิจารณาดูถึงแนวทางความเหมาะสมเพราะเพิ่งทราบข่าวเรื่องนี้ แต่คงไม่ใช่การสั่งการ แต่เป็นการพูดคุยร่วมกัน เราต้องพูดถึงองค์รวมของเศรษฐกิจ และการทำธุรกิจ ไม่ใช่แค่ขึ้นค่าใช้จ่ายให้ผู้ประกอบการหรือนายจ้างอย่างเดียว แต่ยังมีการเพิ่มรายได้เปิดตลาดที่มากขึ้น ที่ผ่านมาผู้ประกอบการหรือนายจ้างก็ได้ประโยชน์ไปแล้ว ถึงเวลาต้องคืนให้กับคนที่เป็นกำลังสำคัญ ในภาคผลิตด้วยหรือเปล่า พอพ้นจากวันหยุดก็จะมีการเรียกคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้อง เชื่อว่าเรื่องนี้ทุกคนมีความกังวลหมด ขอให้คิดถึงใจเขาใจเรา

เมื่อถามย้ำว่าในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ได้รับการปรับขึ้น มานานแต่ขณะนี้ปรับเพียงแค่ 2 บาทจะมีการพิจารณาใหม่หรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า ตนก็คิดอย่างนั้นเหมือนกัน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้คุยกับนายกรัฐมนตรีมาเลเซียได้พูดคุยกันเรื่องนิคมอุตสาหกรรม การพัฒนาท่องเที่ยว การเปิดด่านสะเดา มีการลงทุนสร้างสะพานไปยังมาเลเซีย สิ่งเหล่านี้เป็นการสร้างความมั่นใจให้ผู้ประกอบการ แต่ไม่เข้าใจว่าทำไม ถึงขึ้นแค่ 2-3 บาท ยอมรับว่าตนไม่สบายใจ ถึงอยากใช้เวทีนี้สื่อสาร ไปถึง และขอความเป็นธรรมให้กับพี่น้องแรงงาน ไม่อย่างนั้นจะติดกับรายได้ต่ำ ต้องคุยทั้งกับไตรภาคี และในครม.เพราะเรื่องค่าแรงขั้นต่ำเป็นนโยบายหลักของรัฐบาล

ผู้สื่อข่าวถามว่า การปรับขึ้นค่าแรงที่เป็นธรรมควรจะอยู่ที่ตัวเลขเท่าไหร่ นายเศรษฐากล่าวว่า ต้องขึ้นไปสูงกว่านี้ โดยจะต้องฟังเหตุผล ของเขาเหมือนกัน อย่างที่บอก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้น 2-3 บาท ซื้อไข่ลูกหนึ่งยังไม่ได้ เมื่อถามย้ำว่าผู้ประกอบการจะอ้างเรื่อง ผลประกอบการไม่ดีเพราะสภาพเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา นายกกล่าวว่า รัฐบาลก็พยายามช่วยอยู่ โดยเฉพาะการลดค่าไฟที่ภาคอุตสาหกรรม ได้ประโยชน์ จากที่ 4.50 บาทต่อหน่วย ลดมาเหลือ 3.99 ดังนั้นขอให้คืนกับประชาชนบ้าง ขอย้ำว่ารัฐบาลนี้ให้ความสำคัญกับเรื่องเศรษฐกิจเป็นหลักอยู่แล้ว 

เมื่อถามว่าหากมีการปรับเพิ่มขึ้นจำนวนมากอาจจะมีปัญหาเรื่องของการย้ายฐานผลิตออกจากประเทศไทย นายเศรษฐากล่าวว่า ไม่มีหรอกครับอันนี้เป็นวาทกรรม ไม่มีใครย้ายเพราะค่าแรงขึ้น จาก 300 เป็น 400 บาทไม่มีหรอก รัฐบาลยังมี มาตรการส่งเสริมด้านภาษี มีระบบสาธารณสุขที่ดี สถานศึกษาก็ดี โครงสร้างพื้นฐานและสนามบินก็ดี ท่าเรือน้ำลึกก็มี ที่ตนเดินทางไปต่างประเทศก็ได้เซ็น MOU กับหลายบริษัทใหญ่ๆ ทั้งโรงงานรถยนต์ไฟฟ้าหรือ EV ถ้าผู้ประกอบการไม่ช่วยกันก็ไปลำบาก

เมื่อถามว่า รัฐบาลจะพยายามทำให้ได้ถึง 400 บาทตามนโยบายที่รัฐบาลได้ประกาศไว้หรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า ต้องดูตามความเหมาะสม ในจังหวัดใหญ่อาจจะได้ถึง 400 แต่จังหวัดเล็กอาจจะไม่ถึง ต้องดูความเหมาะสม ขอย้ำว่าสิ่งต่างๆ ที่รัฐบาลพยายามทำเพื่อให้ นายจ้างสามารถส่งสินค้าออกไปได้และยังอำนวยความสะดวก เพื่อลดค่าใช้จ่าย ให้ผู้ประกอบการ

เมื่อถามว่านายกจะสื่อสารไปยังผู้ใช้แรงงานอย่างไรเพื่อไม่ให้ออกมาเคลื่อนไหว นายเศรษฐากล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องนี้และประกาศชัดเจนว่าไม่เห็นด้วย ขอให้ผู้ใช้แรงงาน ดูการกระทำ ว่าตนมีความจริงใจขนาดไหนอย่างไร เราให้ความสำคัญสูงสุด การที่ตนไปพูดที่หอการค้าไทย ขอให้ฟังดูว่าเขาดีใจหรือไม่ที่รัฐบาลขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับสภาอุตสาหกรรม รัฐบาลพยายามสร้างความมั่นใจให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน และเข้ามาอยู่ในประเทศไทยง่ายและปลอดภัยขึ้น ทั้งหมดเพื่อสร้างความมั่นใจ

"วันนี้ผมไม่ได้มาหาเสียง เพราะการหาเสียงจบไปแล้วแต่เราพูดถึงความเป็นจริงว่าชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ต้องได้รับการดูแลควบคู่กันไปด้วย ขออ้อนวอนไปถึงนายจ้างให้ความเป็นธรรมกับผู้ใช้แรงงานด้วย"

ผู้สื่อข่าวถามว่าหากมีการนำเสนอเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมครม. จะพิจารณาอย่างไร นายกกล่าวว่า ต้องดูว่ามีความจำเป็นว่าจะเสนอเข้ามาหรือไม่ ถ้าเสนอเข้ามา ตนไม่ยินยอมไม่เห็นด้วย แน่นอน ตนเชื่อว่า นโยบายค่าแรงขั้นต่ำเราดูที่ความเหมาะสม เราเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลนี้ หลายประเทศ ค่าแรงขั้นต่ำเขามากกว่านี้ วันนี้เราชนะสิงคโปร์ในแง่ดึงดูดนักลงทุน บริษัทใหญ่เข้ามาสร้าง Data Center เป็น เป็นนิมิตใหม่อันดีว่าประเทศเรามีศักยภาพสูง แต่ทำไมจึงไปกดผู้ใช้แรงงานที่จะมาช่วยพัฒนาประเทศ

เมื่อถามว่านายกรัฐมนตรี รู้สึกเหมือนมีความฉุนเฉียวที่พูดถึงเรื่องนี้ นายเศรษฐากล่าวว่า ไม่เกี่ยวกับฉุน เพราะการที่เป็นนายกรัฐมนตรีต้องดูแลประชาชน 60 ล้านคน ไม่ใช่ดูแลแค่มาเอาคะแนนเสียง กับผู้ใช้แรงงานอย่างเดียว แต่นายจ้างและผู้ประกอบการ ก็ไปรับฟังความเห็นตลอด และพร้อมจะช่วยเหลือ สิ่งเหล่านี้ค่อนข้างเป็นรูปธรรมอยู่แล้ว

'นายกฯ' เผย 'พิพัฒน์' ดึงกลับขึ้น 'ค่าแรงขั้นต่ำ' หวังให้เหมาะกับสถานการณ์มากขึ้น ยัน!! ทันปีใหม่

(12 ธ.ค.66) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ว่า เรื่องของแรงงาน นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ได้นำเสนอต่อที่ประชุม ครม.โดยนายพิพัฒน์ได้สรุปเอง บอกว่าจะต้องนำกลับไปตั้งข้อสังเกตและพิจารณาสูตรการคิดค่าแรงใหม่ ท่านนำมาเสนอและดึงกลับไปเอง จึงแจ้งเพื่อทราบ

เมื่อถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ นายกฯ กล่าวว่าเป็นการตั้งข้อสังเกตไปแล้ว ซึ่งก็ต้องแล้วแต่และต้องให้เกียรติคณะกรรมการไตรภาคี พูดได้แค่นี้ เมื่อถามว่าจะทันช่วงปีใหม่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ตนคิดว่าอาทิตย์หน้าอาจจะนำเข้าที่ประชุมครม.หรือไม่เกิน 2 อาทิตย์อาจจะเป็นวันที่ 25 ธ.ค.หรืออะไรสักอย่างตรงนั้น น่าจะเอาเข้ามาทันได้

เมื่อถามว่า ตัวเลขที่นายกฯ ตั้งใจไว้อยู่ที่เท่าไหร่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ก็ไม่ใช่ตัวเลขปัจจุบันนะ แต่ก็ต้องฟังเขาก่อน มันมีข้อกฎหมายอะไรหลายๆ อย่าง ที่ทักท้วงเข้ามา แต่สิ่งที่ตนต้องการไม่ใช่ตัวเลขจำนวนนี้

เมื่อถามว่า จะได้ตัวเลข 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศหรือไม่ นายเศรษฐา ไม่ตอบคำถามพร้อมกับกล่าวว่า “คำถามต่อไปครับ”

ด้านนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม.วันนี้ มีมติรับทราบมติคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 หรือบอร์ดไตรภาคี ที่เห็นชอบการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2567 เพิ่มขึ้นวันละ 2-16 บาท หรือเฉลี่ย 2.37% แต่เพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับสถานการณ์มากขึ้น กระทรวงแรงงานจึงขอเสนอกลับไปพิจารณารายละเอียดเพิ่มเติมอีกครั้ง คาดว่าจะนำกลับเข้ามาในครม.ก่อนสิ้นปี 2566 นี้

“วันนี้กระทรวงแรงงาน เสนอมติของคณะกรรมการค่าจ้างเข้ามาครม.ตามกำหนด แต่ในการประชุมก็ได้มีการตั้งข้อสังเกตและขอนำกลับไปพิจารณาเพิ่มเติม เพราะส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการนำหลักการคำนวณค่าแรงขั้นต่ำ โดยใช้ฐานปี 2563-2564 มาเป็นสูตรคำนวณ โดยจะเสนอไปยังคณะกรรมการค่าจ้าง พิจารณาเพิ่มเติมใหม่อีกครั้ง” นายพิพัฒน์ กล่าว

เมื่อถามว่าในการพิจารณาการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรอบนี้เมื่อนำกลับไปพิจารณาใหม่ จะทำให้เกิดความล่าช้าหรือไม่ นายพิพัฒน์ กล่าวยอมรับว่า การดำเนินการจะทำให้เร็วที่สุดและจะได้ข้อสรุปให้เดือนธันวาคม 2566 เพื่อให้การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศเริ่มต้นได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567

‘นายกฯ’ เตรียมดันค่าแรงขั้นต่ำแตะ 400 บาท ในปีนี้ ไม่ทิ้งเป้า ‘ป.ตรี 2.5 หมื่นบาท-ค่าแรง 600 บาท’ ในปี 70

(12 ม.ค. 67) ที่ห้องรอยัล จูบิลี่ บอลรูม อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เป็นประธานพิธีเปิดโครงการประชุมสัมมนาการมอบนโยบายและแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 มีคณะรัฐมนตรี อาทิ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์, พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม, นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน, ผบ.เหล่าทัพ รวมถึงหัวหน้าส่วนราชการ และข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ ผู้ว่าราชการจัดหวัด เข้าร่วม

โดย นายเศรษฐา กล่าวตอนหนึ่งว่า นโยบายที่ดำเนินการภายใต้รัฐบาลนี้ จะต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน จับต้องได้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้ประชาชนสบายใจได้ว่าภาษีของพวกเค้าถูกใช้ในการสร้างประโยชน์ให้กับประเทศ ในด้านต่าง ๆ อาทิ ด้านการเกษตร ช่วงที่ผ่านมาตนได้เดินหน้าเจรจาการค้า เพื่อเปิดตลาดใหม่ ๆ ให้กับพี่น้องเกษตรกรทุกกลุ่ม ทั้งพืช และปศุสัตว์ ด้านการท่องเที่ยวถือเป็นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญ และรัฐบาลมีเป้าหมายรายได้จากการท่องเที่ยว 3 ล้านล้านบาท มุ่งให้ไทยเป็นจุดหมายของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ทั้งเมืองหลักและเมืองรอง เรื่องที่ดำเนินการไปแล้ว คือ วีซ่าฟรีนักท่องเที่ยวจีน คาซัคสถาน อินเดีย ไต้หวัน และขยายเวลาสำหรับชาวรัสเซีย ซึ่งก็ทำให้เราก็มีนักท่องเที่ยวเข้ามาประเทศไทยกว่า 24 ล้านคน และนำจุดเด่นของแต่ละพื้นที่มาใช้ดึงดูดนักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็น Hardware เช่น สถานที่ วัฒนธรรม อาหาร หรือเป็น Software ที่ตนใช้เรียกการจัดกิจกรรม Festival หรือ Event ต่างๆ ที่ประกอบกันเป็น Soft Power ของแต่ละพื้นที่ และต้องส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงธุรกิจมากขึ้น ให้มีการใช้สถานที่จัดประชุม เป็นเจ้าภาพแสดงสินค้า งานเทศกาลระดับโลก ในประเทศไทยให้ได้

นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า ในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางถนน ทางรางทางน้ำ และทางอากาศ และอีกหนึ่งโครงการที่ขอให้ความสำคัญ คือโครงการ แลนด์บริดจ์ ที่ใช้จุดแข็งของสภาพภูมิศาสตร์ที่เชื่อมทั้งสองฝั่งของมหาสมุทร เปิดประตูการค้าสองฝั่งมหาสมุทรทางภาคใต้ที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง การค้าและคมนาคมที่สำคัญ เสริมสร้างความเชื่อมโยงในภูมิภาคให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเราจะ เสริมความแข็งแกร่งของการขนส่งผ่านช่องแคบมะละกาและคาดว่าจะสร้างงาน 280,000 ตำแหน่ง คาด GDP โตขึ้นปีละ 5.5%โครงการนี้มีประโยชน์ต่อประเทศมหาศาล และตนขอให้ทุกท่านช่วยกันสนับสนุน ผลักดันไปด้วยกัน จากนโยบายด้านเศรษฐกิจทั้งหมด ครอบคลุมทั้งการท่องเที่ยว การค้า การลงทุนการต่างประเทศ Soft Power โครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ อีกส่วนนึงที่อยากผลักดัน คือการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้สำเร็จ มั่นใจว่าคนไทยเรามีฝีมือ มีทักษะ และพร้อมจะเรียนรู้ เป้าหมายของตน ยังชัดเจน ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท ปริญญาตรี 25,000 บาท ภายในปี 2570 โดยปีนี้จะต้องทำ ค่าแรงขั้นต่ำให้มากกว่า 400 บาทให้ได้

นายเศรษฐา กล่าวว่า ในเรื่องปัญหายาเสพติด รัฐบาลนี้จะปราบปรามผู้มีอิทธิพลและยาเสพติดให้หมด ไปจากสังคมไทย โดยใช้มาตรการปราบปรามทางกฎหมาย ยึดทรัพย์ และดำเนินการเจรจาทางการทูตกับประเทศตามแนวชายแดน เพื่อควบคุมการลักลอบนำยาเสพติดเข้ามาในประเทศควบคู่กับการสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันยาเสพติดในเด็ก เยาวชน ผู้ใช้แรงงาน สำหรับความเป็นอยู่ของประชาชนจะต้องได้รับการพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ ในตลอดสมัยของรัฐบาลนี้ ทั้งรถไฟฟ้า น้ำประปา และสิ่งแวดล้อม อากาศสะอาด ด้านค่าโดยสารรถไฟฟ้าของประชาชน รัฐบาลมีนโยบายที่จะทำ ‘20 บาทตลอดสาย’ ให้สำเร็จ ในปัจจุบันรถไฟฟ้าสายสีม่วง และสายสีแดง ก็เหลือ 20 บาทแล้ว ทางกระทรวงคมนาคมก็จะเดินหน้าพัฒนาระบบ Feeder ที่เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าทั้งสองสายให้มากขึ้น และเราจะต้องเดินหน้าทำส่วนอื่นให้สำเร็จ เพื่อทำให้ 20 บาทตลอดสายเกิดขึ้นได้จริงสำหรับประชาชนครับ

ขณะที่ด้านกองทัพ รัฐบาลจะสนับสนุนการปรับโครงสร้างของหน่วยงานด้านความมั่นคงให้มีความทันสมัย สามารถตอบสนองต่อการคุกคามและภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่ ๆ ได้ทุกมิติ พัฒนากองทัพให้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของประเทศและประชาชน พัฒนากระบวนการทำงาน การลงทุนในอุปกรณ์ การฝึกอบรม ที่จะทำให้ทหารเป็น ‘ทหารอาชีพ’ ลดกำลังพล และงบประมาณลง ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของประเทศ เปลี่ยนรูปแบบการเกณฑ์ทหารให้เป็นสมัครใจให้มีนัย

นายเศรษฐา กล่าวว่า รัฐบาลนี้จะต้องเดินหน้าแก้ไขกฏระเบียบ กฏหมาย ข้อจำกัดต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการสร้างเนื้อสร้างตัวของประชาชน การทำธุรกิจ การคิดค้นธุรกิจใหม่ ๆ โดยเฉพาะกฏหมายเกี่ยวกับการทำสุราพื้นบ้าน ซึ่งจะกลายมาเป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกที่ชุมชนจะสามารถชูจุดเด่นของตนเองได้ สนับสนุนการแข่งขันที่เป็นธรรม ทำให้คนตัวเล็กสามารถเติบโตได้ ขณะที่เรื่องการเดินหน้าสู่ประชาธิปไตย รัฐบาลนี้จะทำประชามติ เพื่อทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้แล้วเสร็จ โดยไม่จุดขนวนความขัดแย้งในสังคมให้ได้ มุ่งหน้าทำให้ประเทศไทยมีหลักนิติธรรมที่เข้มแข็งในที่สุด

“อย่างที่ทุกคนทราบว่าหนึ่งในนโยบายเรือธงของรัฐบาลนี้คือการทำ ดิจิทัล วอลเล็ตให้สำเร็จ แม้ว่าในวันนี้ เราจะเดินหน้าออก พ.ร.บ.กู้เงินก็ตาม แต่ก็ขอให้ไม่ลืมที่จะตั้งงบประมาณเผื่อไว้ ในกรณีที่ต้องใช้พัฒนาและดำเนินโครงการด้วย แต่ขอให้ตั้งอย่างสมเหตุสมผล ในปีงบประมาณ 2568 การใช้จ่ายภาครัฐจะมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการดำเนินนโยบายของรัฐบาลทั้งระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม”

นายเศรษฐา กล่าวว่า นโยบายทั้งหมดของรัฐบาลที่กล่าวไปนั้น จะต้องอาศัยการทำงานบูรณาการกัน เป็นอย่างมาก มีความเชื่อมโยงหลายส่วนการจัดทำงบประมาณ จะต้องขอให้สำนักงบประมาณช่วยคอยดูทั้งตัวชี้วัดงบประมาณที่ขอ เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน และต้องดูรายละเอียดเนื้อหาให้ถี่ถ้วนด้วยว่าตอบโจทย์ของรัฐบาลหรือไม่ ในปีงบประมาณ 68 จะเป็นการดำเนินการที่ต่อเนื่องจากปี 67 โดยช่วงเวลาการทำงานจะทับซ้อนกัน จึงขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่ให้ความร่วมมือในการดำเนินการ เพื่อผลักดันให้การจัดทำงบประมาณตอบโจทย์ความต้องการและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด และเพื่อให้หน่วยงานสามารถจัดทำคำของบประมาณที่สอดคล้องกับจุดเน้นตาม นโยบายของรัฐบาลที่ต้องดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 142 ประเด็น สำนักงบประมาณ จึงอยู่ระหว่างดำเนินการนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อ ปรับปรุงปฏิทินงบประมาณ โดยขยายระยะเวลาการจัดส่งคำขอได้ถึงวันที่ 2 ก.พ.

ค่าแรงขั้นต่ำถูกกว่าจีน 2 เท่าครึ่ง ดัน 'เวียดนาม' ขึ้นแท่นโรงงานโลกแทนจีน แถมประสิทธิภาพการผลิตสูงสุดในอาเซียน ชนะสิงคโปร์ ทิ้งห่างไทย

(1 มี.ค.67) BTimes เผย เวียดนามกำลังขึ้นแท่นโรงงานโลกแทนจีน หลังค่าแรงขั้นต่ำถูกกว่าจีน 2 เท่าครึ่ง แถมประสิทธิภาพการผลิตเวียดนามแรงสูงสุดในอาเซียนชนะสิงคโปร์และทิ้งห่างไทย และในปีหน้าก็ตั้งเป้าพัฒนาแรงงานฝีมือดีให้ได้ถึง 30% เพื่อดันประสิทธิภาพการผลิตสูงต่อเนื่องอีกด้วย

สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ เปิดเผยว่าผลิตภาพ หรือผลผลิตต่อการผลิต หรือ Productivity ถือเป็นหัวใจสำคัญของการแข่งขันของทุกประเทศ ซึ่งการเพิ่มผลิตภาพไม่ใช่เพียงการทำให้ตัวเลขอย่าง GDP หรือ Output เพิ่มขึ้น แต่เป็นการดึงดูดการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ หรือเอฟดีไอ ให้ไหลเข้าในประเทศอย่างยั่งยืน

เวียดนามถือเป็นหนึ่งในประเทศที่น่าจับตามอง เนื่องจากมีการผลักดันการเพิ่มผลิตภาพอย่างจริงจังและชัดเจน ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ผลิตภาพของประเทศเวียดนามมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีอัตราการเติบโตของผลิตภาพแรงงานเฉลี่ยอยู่ที่ 5.1% ต่อปี ส่งผลสูงกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคอาเซียน ที่สำคัญอยู่สูงกว่าสิงคโปร์และไทย 

ถึงแม้แต่ในช่วงปี 2564 ซึ่งเป็นปีที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เวียดนามยังคงมีอัตราการเติบโตของผลิตภาพแรงงานอยู่ที่ 4.7% ซึ่งสูงที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ปัจจัยหลักที่ส่งผลให้เวียดนามมีอัตราการเติบโตของผลิตภาพสูง ได้แก่ แรงงานเวียดนามที่มีทักษะเพิ่มสูงขึ้น รัฐบาลเวียดนามเน้นการพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับภาคอุตสาหกรรม โดยตั้งเป้าหมายเพิ่มจำนวนแรงงานมีฝีมือในประเทศเป็น 30% ภายในสิ้นปี 2568

ด้านค่าจ้างแรงงานที่ต่ำกว่าคู่แข่งนั้น เวียดนามมีค่าจ้างแรงงานต่ำกว่าหลายประเทศ ปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำในพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ เช่น ฮานอย, โฮจิมินห์ อยู่ที่ประมาณ 4,680,000 ด่งต่อเดือน หรือประมาณ 6,700 บาท ขณะที่ค่าแรงขั้นต่ำของจีนอยู่ที่ 1,420 หยวนต่อเดือน หรือประมาณ 17,000 บาท 

ปัจจัยต่อมา คือ นโยบายสนับสนุนการลงทุนจากต่างชาติ เวียดนามมีนโยบายที่เอื้อต่อการลงทุนจากต่างชาติ ทั้งการลดกฎระเบียบในการดำเนินธุรกิจและอุปสรรคจากการค้า การให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีและยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักร และวัตถุดิบ รวมถึงการเข้าร่วมเขตการค้าเสรีต่าง ๆ ซึ่งช่วยลดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าระหว่างประเทศ

ปัจจุบันบริษัทขนาดใหญ่จำนวนมาก อาทิ Adidas Nike IKEA Apple Foxconn Dell และ Samsung เป็นต้น ให้ความสนใจลงทุนและย้ายฐานการผลิตมาที่เวียดนามเพิ่มขึ้น จนอาจทำให้เวียดนามสามารถก้าวขึ้นมาเป็นโรงงานโลก (World Factory) แทนที่จีนซึ่งยังคงได้รับผลกระทบจากสงครามการค้ากับสหรัฐอเมริกาที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อพิจารณาจากมูลค่าการนำเข้าของสหรัฐฯ ในปี 2565 เวียดนามได้ก้าวข้ามเกาหลีใต้ขึ้นมาเป็นคู่ค้ารายใหญ่ของสหรัฐฯ ในลำดับที่ 6 มูลค่าการนำเข้า 127.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนไทยอยู่ในลำดับที่ 14 มูลค่าการนำเข้า 58.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม การผลิตแรงงานทักษะสูงที่ไม่ทันต่อความต้องการ กระทรวงแรงงาน ผู้พิการ และสวัสดิการสังคมของเวียดนามในปี 2565 รายงานว่า มีแรงงานเพียง 26% เท่านั้นที่ได้รับการฝึกอบรมอย่างสมบูรณ์ ในขณะที่แรงงานที่เหลือยังขาดทักษะและไม่สามารถตอบสนองความต้องการขององค์กรได้ ซึ่งองค์กรในเวียดนามถึง 57% กำลังประสบปัญหาในการสรรหาแรงงานทักษะสูงและถึงแม้เวียดนามจะสามารถเพิ่มอัตราการเติบโตของผลิตภาพแรงงานได้อย่างต่อเนื่อง แต่ผลิตภาพแรงงานกลับยังคงต่ำกว่าหลายประเทศ 

ด้าน Productivity Databook 2023 โดย APO รายงานว่า ในปี 2564 เวียดนามมีมูลค่าผลิตภาพแรงงานต่อคนที่ 20,500 เหรียญสหรัฐ (738,000 บาท) ในขณะที่มาเลเซียอยู่ที่ 60,900 เหรียญสหรัฐ (2,192,400 บาท) ไทยอยู่ที่ 33,000 เหรียญสหรัฐ (1,188,000 บาท) อินโดนีเซีย 26,300 เหรียญสหรัฐ (946,800 บาท) และฟิลิปปินส์ 23,600 เหรียญสหรัฐ (849,600 บาท) ซึ่งสะท้อนว่า อัตราการเติบโตของผลิตภาพแรงงานของเวียดนามมีความเสี่ยงที่จะถูกก้าวข้ามได้ในอนาคต หากประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคอาเซียนมีนโยบายและมาตรการที่สามารถกระตุ้นอัตราการเติบโตของผลิตภาพแรงงาน

สถานการณ์ที่ประเทศกำลังเผชิญส่งผลให้เวียดนามตัดสินใจผลักดันการเพิ่มผลิตภาพแรงงานเป็นแผนระดับชาติตามมตินายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 ซึ่งกำหนดเป้าหมายเป็น 1 ใน 3 ประเทศชั้นนำด้านอัตราการเติบโตของผลิตภาพแรงงานในภูมิภาคอาเซียนภายในปี 2573 โดยเพิ่มอัตราการเติบโตของผลิตภาพแรงงานเฉลี่ยต่อปีเป็น 6.5% แบ่งเป็นภาคอุตสาหกรรมแปรรูปและผลิต 6.5 - 7% ภาคเกษตรกรรม ป่าไม้ และประมง 7 - 7.5% และภาคบริการ 7 - 7.5% เพื่อมุ่งให้ผลิตภาพแรงงานกลายเป็นแรงผลักดันสำคัญในการเติบโตอย่างยั่งยืน และทำให้เวียดนามสามารถใช้โอกาสจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

เมื่อรัฐเล็งขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ในวันที่เอกชนกำลังรัน ‘เศรษฐกิจไทย’ สะท้อน!! ภาพนโยบายครั้งใหญ่ กระตุ้น ศก.ไทยได้จริงหรือ?

ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้แถลงข่าวรายงานวิเคราะห์เศรษฐกิจและการเงินเดือนมกราคม 2567 โดยเศรษฐกิจไทยปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน แต่โดยรวมการขยายตัวยังอยู่ในระดับต่ำ โดยการส่งออกสินค้าปรับดีขึ้นหลังจากที่หดตัวในเดือนก่อน และการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวน้อยลง แต่หลายอุตสาหกรรมยังถูกกดดันจากอุปสงค์โลกที่ฟื้นตัวช้า สินค้าคงคลังที่อยู่ในระดับสูง และปัจจัยเชิงโครงสร้าง

ด้านการลงทุนภาคเอกชนทยอยปรับดีขึ้น และการบริโภคภาคเอกชนและเศรษฐกิจในภาคบริการยังขยายตัวได้ตามรายรับในภาคการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายภาครัฐหดตัวจากรายจ่ายลงทุนและรายจ่ายประจำของรัฐบาลกลาง

สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากทุกหมวดหลัก โดยเฉพาะหมวดอาหารสดจากราคาผักและผลไม้ที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น หมวดพลังงานลดลงจากผลของฐานสูงปีก่อน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงเล็กน้อยตามราคาอาหารสำเร็จรูปจากผลของฐานสูงในปีก่อน 

ด้านตลาดแรงงานปรับแย่ลง การจ้างงานในภาคการผลิตโดยเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออกยังคงลดลง และเริ่มเห็นการลดลงของการจ้างงานในภาคบริการบางสาขา 

สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลตามดุลการค้าเป็นสำคัญ แม้ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนกลับมาเกินดุล

ประเด็นที่น่าสนใจ คือ หากพิจารณาภาพรวมแล้ว สภาพเศรษฐกิจไทย ยังถือว่าอยู่ในระดับทรงตัว ส่วนใหญ่ที่ขยายตัวได้เล็กน้อย เกิดจากภาคเอกชน ที่มีการลงทุนสอดรับกับภาคการท่องเที่ยว ที่ประเทศไทย ยังถือว่าเป็นจุดหมายปลายทางของชาวต่างชาติ ที่ต้องการเข้ามาพักผ่อน โดยมีสัดส่วนนักท่องเที่ยวระยะยาวเพิ่มขึ้น

แต่ในส่วนการใช้จ่ายของภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนกลับหดตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันกับปีก่อน จากทั้งรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางที่ยังหดตัวสูงตาม พ.ร.บ. งบประมาณปี 2567 ที่ล่าช้า และจากรายจ่ายประจำที่หดตัวเล็กน้อยตามการเบิกจ่ายของหน่วยงานด้านการศึกษาที่ต่ำกว่าปีก่อนสำหรับการลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัว ตามการเบิกจ่ายในโครงการด้านคมนาคมและพลังงาน

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า สภาพเศรษฐกิจไทย ยังคงต้องพึ่งภาคเอกชนเป็นหลัก เนื่องจากมาตรการภาครัฐเอง ยังคงไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้เต็มที่ ไม่ว่าจะข่าวคราวโครงการดิจิทัลวอลเล็ต แจกเงิน 10,000 บาท ที่มีการแถลงข่าวจาก ฝั่งรัฐบาล ถึงการ 'เลื่อน' จากที่จะเริ่มในเดือนกุมภาพันธ์ จะดำเนินการในเดือนเมษายน และ เลื่อนอีกครั้งว่าน่าดำเนินการในเดือนพฤษภาคม รวมทั้งนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้านอื่น ๆ แทบจะไม่มี 

อาจจะเห็นภาพในการช่วยเหลือประชาชนที่ค่อนข้างชัดเจนเพียงบางกระทรวง ในส่วนมาตรการลดค่าใช้จ่าย โดยควบคุมราคาพลังงาน, ทั้งไฟฟ้า, น้ำมัน, ลดค่าครองชีพ ให้มีเงินเหลือเพื่อส่งเสริมการอุปโภค บริโภค ของประชาชนส่งผลให้มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 

เมื่อกำลังสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทย เกิดจากภาคเอกชนเป็นหลัก กลับมีข่าวการเตรียมปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ออกมา ว่ารัฐบาลจะประกาศปรับค่าแรงขั้นต่ำในเดือนเมษายนนี้ ซึ่งแน่นอนว่า การปรับค่าแรงขั้นต่ำ ย่อมจะช่วยเพิ่มกำลังซื้อของกลุ่มแรงงานได้มากขึ้น แต่ก็ต้องพิจารณาให้รอบด้าน ว่าพื้นที่ใดสามารถดำเนินการได้ พื้นที่ใดที่น่าจะได้รับผลกระทบ เพราะกลไกสำคัญคือ ผู้ประกอบการ SME ขนาดเล็ก ที่เพิ่งจะเริ่มฟื้นตัวหลังเกิดวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ซึ่งใช้แรงงานคนเป็นหลักในการขับเคลื่อนธุรกิจ ก็จะมีต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน ประกอบกับต้นทุนทางการเงินในด้านดอกเบี้ยของผู้ประกอบการก็ยังคงอยู่ในระดับสูง 

ถ้าไม่เป็นเพราะเหตุ ‘การแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต’ ที่ส่อเค้าว่าจะไม่สามารถดำเนินการได้ จึงต้องนำนโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนี้มาลดกระแส แรงกระเพื่อมจากประชาชนต่อรัฐบาล ก็คงดี และหวังว่าคงเกิดจากคณะกรรมการค่าจ้าง ได้พิจารณาปัจจัยต่าง ๆ จากเหตุที่เศรษฐกิจประเทศไทยเริ่มฟื้นตัวได้จริง ๆ 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top