Friday, 23 May 2025
ค่าแรงขั้นต่ำ

'สภาพัฒน์ฯ' เผย!! ค่าจ้างแรงงานโดยภาพรวมถูกลง 0.2% ผลจากการขาดทักษะ แต่ยังดีที่อัตราว่างงานลดลงตาม

(6 มี.ค. 67) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลว่า ตัวเลขการว่างงานของตลาดแรงงานไทยโดยภาพรวมกำลัง ‘ปรับตัวดีขึ้น’

โดยอัตราการว่างงานของแรงงานไทยมีการปรับตัวลดลงเหลือเพียง 0.81% ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 ส่งผลให้ปัจจุบันตัวเลขอัตราการว่างงานอยู่ที่ 0.98% ซึ่งเทียบเท่าได้กับระดับก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19

หากใครยังไม่ทราบก่อนหน้านี้ตัวเลขการว่างงานของไทยอยู่มากกว่า 1% มาโดยตลอด และเพิ่งกลับร่วงลงต่ำกว่า 1% ในเร็ว ๆ นี้

จำนวนผู้มีงานทำในไตรมาส 4 ปี 2566 อยู่ที่ 40.3 ล้านคน เพิ่มขึ้น 1.7% จากปีก่อนหน้า และจำนวนผู้ทำงานล่วงเวลา (OT) หรือผู้ที่ทำงานมากกว่า 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์อยู่ที่ 6.6 ล้านคน เพิ่มขึ้น 5.1%YoY

อย่างไรก็ตาม ค่าจ้างแรงงานในภาพรวมไตรมาส 4 ปี 2566 กลับ ‘ลดลง’ 0.2%YoY อยู่ที่ 15,382 บาทต่อคนต่อเดือน โดยค่าจ้างเฉลี่ยที่ลดลงอาจเป็นผลมาจากปัญหาแรงงานไทยขาดทักษะที่นายจ้างต้องการ

‘ก.แรงงาน’ แย้ม!! จ่อขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 ทุกประเภทธุรกิจ คาด!! 1 ต.ค.67 สามารถประกาศภาพรวมทั้งประเทศได้

(25 เม.ย. 67) นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ยืนยันถึงการประกาศบิ๊กเซอร์ไพรส์ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ว่า…

จากการประชุมของคณะกรรมการไตรภาคี เมื่อวันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมา นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการไตรภาคี ได้หารือกับคณะกรรมการว่า ในปีนี้จะมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งจากการหารือมีนโยบายทําตามนโยบายของรัฐบาล คือจะมีการขึ้นค่าแรงที่ 400 บาท โดยในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการอีกครั้งหนึ่ง และคาดว่าจะประกาศในวันที่ 1 ตุลาคม ซึ่งตนเองไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงคณะกรรมการไตรภาคี เพราะเป็นคณะกรรมการที่เป็นอิสระในการพิจารณา

“ถามว่าเราประกาศเลยได้ไหมในวันที่ 1 พฤษภาคม เราสามารถประกาศให้รับรู้ได้ว่า เราจะดำเนินการในขั้นตอนต่อไป หลังจากนำร่องไปแล้ว ตรงนี้ถือเป็นนโยบายรัฐบาลที่ต้องทําตาม จากการหารือไม่น่าจะมีอะไรที่ขัดข้อง เพราะว่าส่วนหนึ่งในเรื่องค่าใช้จ่าย หรือสิ่งของที่เป็นอุปโภค บริโภค ก็มีการขึ้นไปล่วงหน้าแล้ว หลังจากที่มีการจัดตั้งรัฐบาลเรียบร้อย ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่จะมีการประกาศค่าแรงอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่เรามีการนําร่องในวันที่ 13 เมษายนที่ผ่านมา วันที่ 1 ตุลาคม เราสามารถประกาศได้ในภาพรวมทั้งประเทศ 400 บาทในทุกประเภทธุรกิจ” นายพิพัฒน์ กล่าว

‘นิด้าโพล’ ชี้ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ไม่คุ้มค่าครองชีพ ที่ปรับสูงตาม ปชช. ส่วนใหญ่ ‘ไม่เชื่อมั่น’ รัฐบาลจะปรับขึ้นได้ทัน 1 ต.ค.นี้

(12 พ.ค.67) ศูนย์สำรวจความคิดเห็น ‘นิด้าโพล’ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจของประชาชน เรื่อง ‘ค่าแรงขึ้น…คุ้มมั๊ย กับ ค่าแกง?’ ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 3-7 พฤษภาคม 2567 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง

จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการทยอยปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาล พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 44.50 ระบุว่า เห็นด้วยกับการทยอยปรับขึ้นทั่วประเทศ เริ่มวันที่ 1 ตุลาคม 2567 นี้ รองลงมา ร้อยละ 25.34 ระบุว่า ควรปรับขึ้นเท่ากันทั่วประเทศทันที ไม่ต้องรอวันที่ 1 ตุลาคม 2567 ร้อยละ 16.41 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าแรง 400 บาท ทั่วประเทศในปีนี้ ร้อยละ 13.05 ระบุว่า ควรปรับขึ้นทั่วประเทศโดยไม่มีการทยอยปรับ เริ่มวันที่ 1 ตุลาคม 2567 นี้ และร้อยละ 0.70 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ด้านความเชื่อมั่นของประชาชนว่าคณะกรรมการค่าจ้างจะเห็นด้วยกับข้อเสนอของรัฐบาล พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 40.23 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อมั่น รองลงมา ร้อยละ 24.12 ระบุว่า ไม่เชื่อมั่นเลย ร้อยละ 20.84 ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อมั่น ร้อยละ 10.23 ระบุว่า เชื่อมั่นมาก และร้อยละ 4.58 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

สำหรับความเชื่อมั่นของประชาชนว่ารัฐบาลจะเริ่มทยอยปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ในวันที่ 1 ตุลาคม 2567 พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 39.01 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อมั่น รองลงมา ร้อยละ 25.95 ระบุว่า ไม่เชื่อมั่นเลย ร้อยละ 23.36 ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อมั่น ร้อยละ 9.92 ระบุว่า เชื่อมั่นมาก และร้อยละ 1.76 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

และเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะคุ้มกับค่าอาหารและค่าครองชีพในปัจจุบัน พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 60.84 ระบุว่า เชื่อว่าค่าแรงที่ปรับขึ้น จะไม่คุ้มกับค่าอาหาร ค่าครองชีพที่อาจจะสูงขึ้น รองลงมา ร้อยละ 23.97 ระบุว่า เชื่อว่าค่าแรงที่ปรับขึ้น จะคุ้มกับค่าอาหาร ค่าครองชีพที่อาจจะสูงขึ้น ร้อยละ 9.46 ระบุว่า เชื่อว่าค่าแรงที่ปรับขึ้น ไม่ใช่เหตุผลหลักที่ทำให้ค่าอาหาร ค่าครองชีพสูงขึ้น ร้อยละ 4.89 ระบุว่า เชื่อว่าค่าแรงที่ปรับขึ้น ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับค่าอาหาร ค่าครองชีพที่สูงขึ้น และร้อยละ 0.84 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

‘มาม่า’ ไร้ปัญหา หากขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท เชื่อ!! ปรับตัวได้อยู่แล้ว ห่วงก็แต่ผู้ประกอบการรายเล็ก

(15 พ.ค.67) นายพันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาม่า เปิดเผยถึง กรณีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศว่า ผู้ประกอบการรายใหญ่ไม่น่าห่วงเท่ากับผู้ประกอบการรายเล็ก หรือ เอสเอ็มอี เนื่องจากเชื่อว่ามีการปรับตัวได้อยู่แล้ว

ในส่วนของบริษัทถือว่ามีผลต่อการผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปน้อยมากประมาณ 1% ไม่เป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การขอปรับขึ้นราคาต่อกรมการค้าภายใน

ขณะเดียวกันในการปรับขึ้น ทางรัฐบาลมีการทยอยประกาศออกมา จึงทำให้ผู้ประกอบการยังมีเวลาในการปรับตัว ทั้งนี้บริษัทมีการปรับขึ้นค่าแรงให้กับพนักงานในเดือนมกราคมของทุกปีอยู่แล้ว โดยเฉลี่ยปีละ 5-6 บาท

ค่าแรงขั้นต่ำที่จะปรับขึ้น มองว่าการขึ้นค่าแรงจะช่วยให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น กระทบกับบริษัทเพียงเล็กน้อย เพราะปัจจุบันค่าแรงเป็นต้นทุนทางตรงในการผลิตของบริษัทเพียง 10% หากปรับค่าแรงขึ้น 10-15% จะกระทบต้นทุนบริษัทแค่ 1% เราต้องเพิ่มสปีดการผลิต ลดการสูญเสีย เช่น ปัจจุบันเราผลิตบะหมี่แบบซองและถ้วยอยู่ที่วันละ 7 ล้าน จะเพิ่มเป็นวันละ 8 ล้าน โดยที่คนไม่ได้เพิ่ม, เท่ากับค่าแรงต่อการผลิตไม่มีผลแต่อย่างใด

หอการค้าต่างชาติฯ ฟันธงเศรษฐกิจไทยไม่พร้อมรับค่าแรงวันละ 400 ชี้!! ต้องเพิ่มทักษะคนก่อน หากยังขาดมีแต่จะฉุดจีดีพีไทยลงถึง 20%

(17 พ.ค. 67) BTimes เผย หอการค้าต่างประเทศในไทยแสดงจุดยืนค้านขึ้นค่าแรงวันละ 400 บาท หลังมองว่าเศรษฐกิจไทยไม่พร้อมรับค่าแรง 400 ต้องเสริมทักษะ

วีเบคก้า ริสซอน ไรเวอร์ก ประธานหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT) เปิดเผยว่า ได้แสดงจุดยืนเกี่ยวกับนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 400 บาท โดยมีเนื้อหาในเอกสารว่า หอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT) มีความห่วงกังวลเกี่ยวกับข้อเสนอของรัฐบาลไทยที่ต้องการให้มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรายวันทั่วประเทศเป็น 400 บาทในเดือนตุลาคมนี้ และมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ดังนี้...

เศรษฐกิจไทยยังไม่พร้อมสำหรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวันทั่วประเทศ ทั้งนี้ เนื่องจากการปรับขึ้นค่าจ้างและนโยบายค่าแรงขั้นต่ำจำเป็นต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) ถ้าไม่เป็นเงื่อนไขล่วงหน้า ก็จำเป็นต้องมีมาตรการสำหรับการเพิ่มผลิตภาพตามแผนงานที่กำหนดไว้ ไม่เช่นนั้น ก็จะกลายเป็นการจ่ายต้นทุนเพิ่มขึ้น แต่ได้งานเท่าเดิม ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาเงินเฟ้อ โดยไม่ได้ประโยชน์อื่นใดมากนัก การเพิ่มผลิตภาพในบางบริษัทที่มีขนาดเล็กอาจจะต้องใช้เวลามากกว่าบริษัทที่มีขนาดใหญ่กว่า 

ขณะเดียวกัน นอกจากขนาดแล้ว ภูมิภาคและประเภทของอุตสาหกรรมยังอาจมีผลต่อความสามารถขององค์กรในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอีกด้วย แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่ควรจะต้องปรับปรุงให้ดีขึ้น ซึ่งการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ รวมถึงการยกระดับเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ จะเป็นปัจจัยที่สำคัญ

นอกจากนี้ การขาดทักษะในการทำงาน ก็เป็นสาเหตุสำคัญของผลิตภาพที่ต่ำ รายงานธนาคารโลกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ว่าด้วยเรื่องทักษะแรงงานในประเทศไทย แสดงให้เห็นว่าการขาดทักษะพื้นฐานทำให้ GDP ลดลงได้ถึง 20% รายงานของธนาคารโลกเดือนมกราคม 2563 ที่สำรวจสถานะเศรษฐกิจไทย ได้กล่าวถึงผลิตภาพและให้ข้อเสนอแนะบางประการซึ่งค่อนข้างรุนแรง 

สำหรับ JFCCT มีข้อแนะนำเกี่ยวกับการเพิ่มผลิตภาพในประเทศไทยและประเด็นอื่นที่เกี่ยวข้อง ดังนี้...

1. เศรษฐกิจไทยยังไม่พร้อมสำหรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวัน ทั่วประเทศ

2. ในการจะทำให้การเพิ่มผลิตภาพเป็นนโยบายหลัก จำเป็นต้องให้การศึกษาแก่ภาคธุรกิจ ต้องนำมาตรการกำกับดูแลและมาตรการบังคับมาใช้ เช่น การจัดตั้งคณะกรรมการด้านผลิตภาพ หรือ Productivity Commission

3. ต้องเสริมสร้างทักษะ เพิ่มขีดความสามารถทางเทคนิค และนวัตกรรม โดยการให้การศึกษาและการฝึกอบรม ให้ทุนหรือเงินอุดหนุนระดับสูง เพื่อนำเทคโนโลยีและกระบวนการใหม่ ๆ มาใช้

4. การพัฒนาแรงงาน (workforce development) จำเป็นต้องผสมผสานกันระหว่างการฝึกอบรมและเพิ่มทักษะให้คนท้องถิ่น ควบคู่ไปกับการอนุญาตให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างชาติได้อย่างเสรี 

5. การเปิดรับแรงงานต่างชาติจะช่วยยกระดับทักษะของแรงงานในประเทศ รวมถึงการถ่ายทอดองค์ความรู้ ทั้งนี้ แนะนำให้ไทยปฏิรูประบบการอนุญาตทำงานและการให้วีซ่าแก่คนทำงานต่างชาติด้วย รวมทั้งการปรับปรุง LTR ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็น

6. ขนาดเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมที่แตกต่างกัน เช่น เกษตรกรรม การผลิต และการท่องเที่ยว จำเป็นต้องได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างกันไป

'เพจคนไทยในซิดนีย์' เทียบราคาไข่ไก่ 'ไทย' VS 'ออสเตรเลีย' ลั่น!! ราคาพอกัน แต่ค่าแรงขั้นต่ำที่ออสฯ 550 บาทต่อชั่วโมง

ไม่นานมานี้ ผู้ใช้เฟซบุ๊ก 'Travelroute in Sydney' คนไทยในออสเตรเลีย ได้โพสต์ข้อความพร้อมภาพราคาไข่ไก่ไทยเทียบกับไข่ออสเตรเลีย ระบุว่า...

"ไข่ไก่ราคาแทบจะพอกันแล้ว !! แต่ที่นึงค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท อีกที่นึงค่าแรงขั้นต่ำชั่วโมงละ 550 บาท"

หลังจากโพสต์ดังกล่าวได้ถูกเผยแพร่ ก็มีผู้คนเข้ามาแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่อยากให้เปรียบเทียบกับค่าครองชีพด้านอื่นๆ ด้วย เช่น ค่าเช่าบ้าน ซึ่งบางคนจ่ายค่าเช่าบ้านที่นั่นรายสัปดาห์ ก็ 2 หมื่นกว่าบาทแล้ว เดือนๆ หนึ่ง ก็แตะแสนบาท

นอกจากนี้ เวลาที่คิดจะเปรียบเทียบราคาของ ควรนำเอา Brand Name มาเทียบ อย่าเอา House Brand มาเทียบ แล้วจะเห็นว่าราคาแท้จริงที่ต่างกันลิบลับ

ขณะเดียวกัน ก็มีผู้เข้ามาให้มุมมองว่า ไข่ออสตามในรูปคือ เกรดต่ำสุด ส่วนไข่ตามในรูปของ CP คือกินดิบได้ คนเอาไปทำไข่ดองซีอิ๊วกัน มันเลยมีราคาที่สูง เป็นต้น

‘ธนกร’ ชี้ ‘พณ.-กรมการค้าภายใน’ ต้องลงพื้นที่ ควบคุมราคาสินค้า เผย!! ชาวบ้านบ่นอุบ ข้าวของแพง วอนรัฐบาลเห็นใจ ‘ผู้มีรายได้น้อย’

(27 ก.ค.67) นายธนกร วังบุญคงชนะ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ สส.แบบบัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมาจากที่ตนได้ลงพื้นที่ย่านการค้า ร้านอาหารและตลาดต่าง ๆ ได้รับฟังเสียงสะท้อนปัญหาค่าครองชีพจากพี่น้องประชาชน พบว่า ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าราคาสินค้าปรับราคาขึ้นเกือบทุกชนิด โดยบางรายการแม้ไม่ปรับราคาแต่กลับลดปริมาณลงเพราะต้นทุนวัตถุดิบปรับราคา โดยเฉพาะอาหารตามสั่งที่ต้องใช้วัตถุดิบเครื่องปรุงรส ทั้งน้ำตาล,ผงชูรส รวมถึงผักที่ราคาสูงขึ้น ทำให้ผู้ขายจึงจำเป็นต้องปรับขึ้นราคาอาหาร ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคตามมาเป็นทอด ๆ 

ทั้งนี้ จึงขอฝากกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงมาแก้ปัญหาในเชิงรุก หากสินค้าประเภทใดที่เป็นสินค้าควบคุมควรจะต้องมีการตรวจสอบว่าผู้ประกอบการฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้าโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่  แต่ส่วนไหนที่ไม่ใช่สินค้าควบคุม จะมีมาตรการใดออกมาช่วยลดรายจ่ายประจำวัน ลดค่าครองชีพให้กับพี่น้องประชาชนได้

“รัฐบาลโดยกระทรวงพลังงาน ออกมาตรการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน โดยตรึงราคา ทั้งค่าไฟฟ้า ราคาน้ำมันดีเซล เพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบางรวมถึงประชาชนทั่วไปไว้แล้ว แต่ในส่วนของค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอาหารการกิน ของใช้ในบ้าน สินค้าอุปโภคบริโภค ยังไม่มีมาตรการใดออกมาที่ชัดเจน จึงขอฝากไปยังกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง เร่งออกมาตรการและควบคุมราคาสินค้าประเภทต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือลดค่าใช้จ่าย บรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนเรื่องค่าครองชีพสูง ค่าแรงขั้นต่ำยังไม่ปรับขึ้น และช่วงที่เศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ในช่วงนี้” นายธนกร กล่าวทิ้งท้าย

‘พิพัฒน์’ เมิน ‘นายจ้าง’ ไม่ร่วมประชุมถกขึ้นค่าแรง 400 บาท ลั่น!! 1 ต.ค.ขึ้นแน่ ส่วนฝั่งผู้ประกอบการมีแผนเยียวยารอแล้ว

(19 ก.ย. 67) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการไตรภาคีขึ้นค่าจ้าง 400 บาททั่วประเทศ ครั้งที่ 2 วันที่ 20 กันยายน ฝ่ายนายจ้างทั้ง 5 เสียง จาก 15 เสียง จะเข้าร่วมประชุมด้วยหรือไม่ หลังการประชุมครั้งที่ 1 อ้างติดภารกิจว่า ได้ทำจดหมายเชิญแล้ว อยู่ที่ตัวแทนฝ่ายนายจ้างจะเข้าร่วมประชุมหรือไม่ ซึ่งเป็นสิทธิส่วนบุคคล ตนไม่สามารถก้าวก่ายได้ แต่ก็หวังเป็นอย่างยิ่งที่จะให้คณะกรรมการฝ่ายนายจ้างเข้ามาหารือกันเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด เพราะตามนโยบายตนก็หาแนวทางที่ดีที่สุด และให้มีผลกระทบน้อยที่สุด รวมถึงพูดคุยกับกระทรวงการคลัง เพื่อหาแนวทางเยียวยาแก่บริษัทที่ได้รับผลกระทบ

ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้าวันที่ 20 กันยายน 5 เสียงฝ่ายนายจ้างไม่เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการไตรภาคีที่เหลือจะเดินหน้าพิจารณาเดินหน้าประกาศขึ้นค่าแรง 400 บาท ให้ทันวันที่ 1 ตุลาคมนี้ ใช่หรือไม่? นายพิพัฒน์ กล่าวว่า “หากนายจ้างไม่เข้าร่วมการประชุมครั้งที่ 2 เราก็จะปฏิบัติตามกฎเกณฑ์และดำเนินการประชุม โดยจะอ้างอิงเสียงโหวต 2 ใน 3 ซึ่งถ้าฝ่ายลูกจ้างและฝ่ายข้าราชการ เข้าครบก็สามารถโหวตได้”

เมื่อถามว่า ยืนยันได้หรือไม่วันที่ 1 ตุลาคมจะได้ค่าแรง 400 บาท? นายพิพัฒน์ กล่าวว่า “ยืนยันครับ ชัดเจนครับ เพราะเมื่อประกาศไปแล้ว ก็พยายามทำให้สำเร็จ ซึ่งตนก็เชื่อว่าฝ่ายลูกจ้างก็รอ และยอมรับว่ากระทบต่อนายจ้างพอสมควร เพราะตนก็มาจากภาคธุรกิจ บริษัทในเครือก็ได้รับผลกระทบไม่น้อยเช่นกัน เพราะมีลูกจ้างประมาณ 30,000 คน ได้รับผลกระทบประมาณ 20,000 คน แต่ก็ยอมรับผลกระทบตรงนั้น แต่ก็ต้องดูว่ากระทรวงการคลัง จะเยียวยาผู้ประกอบการได้อย่างไร”

นายพิพัฒน์ ยังกล่าวอีกว่า ยืนยัน ขณะนี้มีมาตรการเยียวยาแล้ว โดยจะประกาศพร้อมกันวันที่ 1 ตุลาคม ซึ่งมาตรการเยียวยาที่ปรับตามประกาศ พ.ศ. 2555 เพื่อมาใช้ในปัจจุบัน

เมื่อถามว่ากังวลหรือไม่หากประกาศขึ้นค่าแรง 400 บาท วันที่ 1 ตุลาคม อาจถูกนายจ้างและผู้ประกอบการร้องเรียนฟ้องร้องภายหลัง? รมว.แรงงาน กล่าวว่า “ไม่เป็นไร ตนยินดีรับสิ่งที่พวกเรากระทำ และถือว่าตนทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ ถ้าจะมีการฟ้องร้องหรือไปร้องเรียนศาลปกครอง เราก็พร้อมน้อมรับและยืนยันว่าไม่หนักใจเรื่องนี้”


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top