‘ก้าวไกล’ ทวงถามค่าแรงขั้นต่ำ 425 บาทอยู่ไหน วอนรัฐ ช่วยสนใจปากท้องก่อนเล่นเกมแย่งเก้าอี้ 

(20 ม.ค. 65) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นายจรัส คุ้มไข่น้ำ ส.ส.ชลบุรี พรรคก้าวไกล ตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรี เรื่องปัญหาค่าครองชีพสูงขึ้น สวนทางกับค่าแรงของประชาชนที่ยังต่ำและขยับขึ้นน้อยมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จนไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ขณะนี้ โดยนายกรัฐมนตรีได้มอบให้ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นผู้ชี้แจงแทน

นายจรัส กล่าวว่า ขณะนี้ประชาชนหลายพื้นที่ใน อ.ศรีราชา อ.บางละมุง จ.ชลบุรี บ้านของตนกำลังลำบากไม่น้อยไปกว่าประชาชนทั่วประเทศ นอกจากต้องต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา ยังต้องเจอกับการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ ทั้งยังต้องมาเจอกับพิษเศรษฐกิจค่าครองชีพที่สูงขึ้น สวนกับค่าแรงงานของพี่น้องประชาชน 

"แต่ในขณะที่บ้านเมืองกำลังวิกฤต พี่น้องประชาชนทั้งประเทศกำลังอดอยากจากปัญหาปากท้อง ข้าวของแพง ค่าแรงถูก ต้องถามว่าพวกท่านในฐานะที่เป็นรัฐบาลมัวเล่นอะไรกันอยู่ โฟกัสให้ถูกเรื่องได้แล้ว หยุดแย่งเก้าอี้ หยุดแย่งโควตา หันไปแก้ปัญหาปากท้องพี่น้องประชาชนบ้าง ถึงตอนนี้จากที่เคยทนไหว เขาเริ่มที่จะทนไม่ไหวแล้ว เพราะทุกอย่างมันแพงขึ้นมาก"

นายจรัส อภิปรายต่อว่า ราคาน้ำมันก็ปรับขึ้นตั้งแต่ปลายปี รัฐบาลคุมราคาดีเซลก็จริง แต่คนทั่วไปใช้เบนซินหรือแก๊สโซฮอล์ ปกติเงิน 100 บาท เติมน้ำมันรถมอเตอร์ไซค์ได้เต็มถัง แต่ในขณะนี้ไม่ได้แล้ว คนขับรถยนต์เคยเติมเต็มถัง 500-600 บาท ตอนนี้เติม 1,000 บาท ก็ไม่เต็มถัง เดือนๆ หนึ่งต้องเสียค่าน้ำมันแพงมาก 

ตอนนี้ลามมาถึงค่าอาหาร แพงขึ้นทุกอย่าง ทั้งเนื้อสัตว์ ซึ่งที่เป็นประเด็นสำคัญ คือ ราคาเนื้อหมู ที่ปรับขึ้นจาก 120 เป็น 200 กว่าบาท เป็นปรับที่ก้าวกระโดด จนประชาชนปรับตัวไม่ทัน ขยายไปดึงราคาเนื้อสัตว์อื่นๆ ไข่ไก่ น้ำมันปาล์ม รวมไปถึงซีอิ๊วขาวจนสูงขึ้นตาม

"ท่านต้องไปกินข้าวจากอาหารตามสั่งบ้าง เขายิ่งเจอผลกระทบที่ราคาปรับขึ้น ทำให้ประชาชนมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีกจากค่าอาหาร สวนทางกับค่าแรงขั้นต่ำที่ไม่ได้เพิ่มขึ้นตาม ผลกระทบนี้พ่อค้า แม่ค้า ก็กระทบ เดี๋ยวก็จะมีค่าไฟ ที่เพิ่มสูงขึ้นในฤดูร้อน ยิ่งทำให้ส่งผลกระทบกับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนทั้งประเทศ ผิดกับคนที่อยู่บ้านหลวงใช้น้ำฟรี ใช้ไฟฟ้าฟรี แบบพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เท่านั้นที่คงไม่ได้รับผลกระทบใดใด 

“ค่าเดินทางเพิ่มขึ้นเดือนละ 1,000 บาท ค่าอาหารเพิ่มขึ้น 3,000-5,000 บาท จ.ชลบุรีบ้านผม ค่าแรงเท่าเดิม 336 บาท ถือว่าสูงสุดของค่าแรงในประเทศแล้ว แต่หนึ่งเดือนทำงาน 27 วัน ยังได้รับเงินไม่ถึง 9,000 บาทมาหลายปีที่รัฐบาลเคยบอกว่าปัญหาเกิดจากภาวะเงินเฟ้อ ข้าวของราคาแพงขึ้น เพราะเศรษฐกิจมันดีขึ้น แต่ผมอยากจะบอกว่า เศรษฐกิจมันไม่ได้ดีขึ้น มันไม่ได้เติบโตขึ้นอย่างที่ท่านพูดเลย" นายจรัส กล่าว 

"ขอถามไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานว่า ทุกครั้งที่สินค้ามีราคาสูงขึ้นรัฐบาลอ้างว่าเป็นเรื่องของตลาดโลก เช่น น้ำมัน แก๊ส ปุ๋ย อาหารสัตว์ ซึ่งเราเข้าใจดีว่าเป็นข้อจำกัดของรัฐบาล แต่ถ้าจะพูดโทษว่าเป็นเรื่องของตลาดโลกเพียงอย่างเดียวโดยไม่ต้องทำอะไรต่อ แล้วเราจะมีรัฐบาลไว้ทำไม รัฐบาลควรต้องมีมาตรการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อแบ่งเบาภาระพี่น้องประชาชน 

จึงขอถามว่า รัฐบาลได้คิดมาตรการแก้ไขปัญหาดังกล่าวแล้วหรือไม่ จะประกาศใช้เมื่อไหร่ และในประเด็นการขึ้นค่าแรงรัฐบาลจะปรับขึ้นค่าแรงหรือไม่ เมื่อไหร่ เพราะพรรครัฐบาลเองมีนโยบายขายฝันว่าจะปรับค่าแรงให้สูงขึ้นเป็น 425 บาท แต่ปัจจุบันก็ยังคงค่าแรงขั้นต่ำไม่ได้เพิ่มขึ้นตามที่รัฐบาลให้สัญญาไว้"

ด้าน นายสุชาติ ชมกลิ่น ชี้แจงว่า ภาพรวมสินค้าแพง ในส่วนของสินค้าอุปโภคบริโภค ตั้งแต่เกิดโควิดมาสินค้าต้องขึ้นตามจุดคุ้มทุนทางการค้า มีการปรับราคาขึ้นลง ในส่วนสินค้าการเกษตรมีการปรับราคาขึ้นลงตามฤดูกาล รวมถึงมีผลกระทบจากตลาดโลก 

ในการแก้ไขมีการขอความร่วมมือจากเกษตรกรให้ตรึงราคาสินค้าและไข่ไก่ รัฐบาลยังมีมาตรการในส่วนของการกำหนดราคา ควบคุม จัดสายตรวจดูแลทั้งส่วนกลางและภูมิภาค 

"ในส่วนของค่าครองชีพ ค่าแรงไม่ได้ปรับ เรามีไตรภาคีเกี่ยวกับค่าแรง แบ่งเป็นจังหวัด ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ซึ่งในเรื่องค่าแรงที่ผ่านมาเราเปิดให้นำเข้าแรงงานต่างด้าวเข้ามา แรงงานค่าแรงขั้นต่ำส่วนมากจะมาจากแรงงานเพื่อนบ้าน เพราะเป็นแรงงานที่ไม่มีฝีมือ ไม่มีทักษะ ส่วนแรงงานคนไทย เราให้ลูกหลานได้เรียนสูง มีความรู้ความสามารถจบเป็นวิศวกร สถาปนิก หรือเป็นช่าง บัญชีต่างๆ ที่มีฝีมือ มีทักษะมากกว่าปกติ ในสายอาชีวะ จบมาก็ได้ทำงานด้านอาชีวะ กระทรวงแรงงานได้ผสานความร่วมมือครั้งแรกกับกระทรวงศึกษาธิการในการพัฒนาบัณฑิตให้จบมามีรายได้สูงขึ้น ไปปรับพัฒนาหลักสูตรด้านอาชีวะ ให้สอดคล้องกับตลาดแรงงาน ทางรัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจได้มีมาตรการในการเพิ่มค่าแรงให้กับผู้ใช้แรงงาน ทั้งในสวัสดิการและคุณภาพชีวิตผู้ใช้แรงงาน"