Sunday, 18 May 2025
World

‘ราชานักไลฟ์ชาวจีน’ ไลฟ์ขายทุเรียนไทย วันเดียวได้ 1.6 ล้านลูก รับเต็มๆ 1,500 ล้านบาท!! ทำทุเรียนไทยในจีนขาดตลาด-ราคาพุ่ง 

(13 พ.ค. 66) เรียกว่ากำลังกลายเป็นกระแสไวรัลในโซเชียลประเทศจีนอย่างมาก สำหรับกรณี หนุ่มจีนชื่อ ‘ซิน โหย่วจือ’ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘ซินบา (Xinba)’ ฉายา ‘ราชานักไลฟ์’ หรือ ‘ราชานักขาย’

เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 66 ‘ซินบา (Xinba)’ ผู้ก่อตั้ง Xinxuan Group บริษัทอีคอมเมิร์ซชั้นนำด้านการถ่ายทอดสดในประเทศจีน ได้บินลัดฟ้ามาไลฟ์สดขายสินค้าที่ประเทศไทย โดยงัดของดีในไทยขึ้นชื่อมากมาย เช่น ทุเรียน มังคุด ข้าวหอมมะลิ ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว และผลิตภัณฑ์จากยางพารา

หลังจากเปิดไลฟ์สดขายสินค้าไปไม่นาน ยอดขายก็ทะลุ 100 ล้านไปอย่างง่ายดาย โดยยอดขายรวมทั้งหมดเกิน 830 ล้าน และปริมาณการสั่งซื้อรวมเกิน 6.78 ล้านออเดอร์ นับว่าเป็นเรื่องที่น่าทึ่งจริงๆ กับพลังของการซื้อสินค้าผ่านการไลฟ์ถ่ายทอดสดของจีน

สำหรับยอดขาย มังคุดไทย มีคำสั่งซื้อ 1.26 ล้านรายการต่อวินาที และทำยอดขายกว่า 100 ล้านหยวน หรือแปลงเป็นเงินไทยคือ 480 ล้านบาท

ในส่วนของ ทุเรียนหมอนทอง ที่หลายคนตั้งตารอ มียอดสั่งซื้อไปทั้งหมด 1.62 ล้านลูก น้ำหนักรวมกว่า 4,800 ตัน และมียอดขายรวมเกือบ 300 ล้านหยวน หรือเทียบเท่าประมาณ 1,500 ล้านบาท

จนกลายเป็นดรามาสนั่นติดเทรนด์ร้อนใน Baidu ที่จีน เหล่าพ่อค้า-แม่ค้าทุเรียนคนจีนด้วยกันออกมาโวยแหลก ว่าการไลฟ์สดขายสินค้าของราชานักขาย ‘ซินบา (Xinba)’ เป็นต้นเหตุให้ราคาทุเรียนในจีนพุ่งสูงขึ้น จนผู้ค้ารายย่อยไม่มีทุเรียนจะขาย ทำให้ทุเรียนไทยในจีนขาดตลาด และราคาพุ่งสูง

ที่น่าสนใจคือในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ตลาดอีคอมเมิร์ซของจีนได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว และ ประเทศไทยถือเป็นประเทศใหญ่ในด้านการเกษตรและการผลิต ทั้งยังเป็นหนึ่งในแหล่งทรัพยากรที่สำคัญของห่วงโซ่อุปทาน

ประเทศไทยจึงถือเป็นหมุดหมายแรก ในการขยายธุรกิจสู่ต่างประเทศของบริษัท Xinxuan Group

ทั้งนี้ ซิน โหย่วจือ หรือ ‘ซินบา (Xinba)’ ผู้ก่อตั้งบริษัท Xinxuan Group เผยว่า จะนำประสบการณ์ และทรัพยากรด้านเศรษฐกิจดิจิทัลของจีนมาสู่ประเทศไทย และช่วยประเทศไทยฝึกฝนผู้มีความสามารถด้านดิจิทัล

ซินบายังเสริมอีกว่า จะใช้เศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อช่วยในการเปลี่ยนแปลง และยกระดับโครงสร้างอุตสาหกรรมของประเทศต่างๆ แบ่งปันห่วงโซ่อุตสาหกรรม (Industrial Chain) และห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ไปทั่วโลก และร่วมปูทาง ‘เส้นทางสายไหมดิจิทัล’ เส้นทางการค้าที่สร้างความมั่งคั่ง

สำรวจเงื่อนไขการเป็นเจ้าของรถยนต์ใน ‘ประเทศสิงคโปร์’ ภายใต้ ‘ใบอนุญาต’ ที่ทำให้รถราคาเบาๆ มีมูลค่ามหาศาล

เมื่อไม่นานมานี้ เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘Panitxp’ ได้โพสต์คลิปเล่าเกร็ดความรู้เกี่ยวกับเรื่องของการซื้อขายรถยนต์ในประเทศสิงคโปร์ รวมถึงเหตุผลที่ราคารถยนต์ในประเทศนี้สูงลิ่ว ด้วยว่า…

“การที่คุณจะเป็นเจ้าของรถยนต์ที่ประเทศสิงคโปร์ได้ คุณจะต้องซื้อใบอนุญาต ซึ่งใบอนุญาตนั้น มีราคาแพงมาก เพราะฉะนั้น คนที่จะมีรถยนต์ได้ ต้องมีเงินเยอะมากๆ”

“สำหรับใบอนุญาตดังกล่าวนี้ เรียกว่า ‘Certificate of Entitlement’ หรือ ‘COE’ โดยในแต่ละปีรัฐบาลจะมีโควตาว่า ในปีนั้นจะสามารถมีรถใหม่เพิ่มได้กี่คัน ซึ่งใช้วิธีคำนวณจากรถที่ออกจากระบบในปีที่แล้ว และการเติบโตที่เฉลี่ยขึ้นประมาณ 3% ทุกปี หลังจากนั้น จะให้คนที่ต้องการซื้อรถยนต์ เข้ามาส่งราคา เพื่อทำการประมูลซื้อ หลังจากเสร็จสิ้นรอบการประมูลแล้ว จะมีการคำนวณราคาของ COE ให้ โดยทุกคนที่ได้โควตา จะจ่ายเท่ากับราคาของคนสุดท้ายที่อยู่ในโควตา”

“จากนั้นเมื่อได้ใบ Certificate นี้แล้ว คุณจะสามารถครอบครองรถได้ 10 ปี และอาจขอขยายเพิ่มได้ 5 หรือ 10 ปี หลังจากนั้น รถจะถูกบังคับขายและส่งไปยังต่างประเทศ ฉะนั้น แค่การซื้อรถ Toyota เล็กๆ สักหนึ่งคันที่นี่ อาจจะเริ่มต้นที่ 3 ล้านบาทกันเลยทีเดียว”

“ทั้งหมดนี้ ก็เพื่อเป็นการควบคุมจำนวนรถยนต์ และลดปัญหาการจราจรในประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในเมืองที่มีความหนาแน่นบนท้องถนนที่สุดในโลก”

‘จีน’ แรงไม่ตก!! ครองอันดับ 1 ‘ตลาดโลจิสติกส์โลก’ 7 ปีซ้อน ฟันมูลค่ารายได้ปี 65 แตะ 61 ล้านล้านบาท เติบโต 4.7%

เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 66 สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า สหพันธ์โลจิสติกส์และการจัดซื้อแห่งประเทศจีน รายงานว่าตลาดโลจิสติกส์ของจีนครองอันดับหนึ่งของโลกในแง่ขนาดติดต่อกันเป็นปีที่ 7 เมื่อนับถึงปี 2022

รายงานระบุว่าโลจิสติกส์ทางสังคมของจีนโดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 เมื่อเทียบปีต่อปี อยู่ที่ 347.6 ล้านล้านหยวน (ราว 1,696.28 ล้านล้านบาท) ในปี 2022

รายได้รวมของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ในปี 2022 อยู่ที่ 12.7 ล้านล้านหยวน (ราว 61.97 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 จากปีก่อนหน้า

สำหรับเหตุผลที่จีนเป็นผู้นำของโลกในด้านโลจิสติกส์ ส่วนสำคัญมาจากความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของจีน ทึ่ส่วนใหญ่มาจากธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่เติบโตและประสบความสำเร็จอย่างมาก รวมถึงการขนส่งพัสดุในจีนประมาณ 70% เน้นจัดส่งในวันเดียวกัน เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าที่ไม่ชอบรอนาน หรือสั่งซื้ออาหารสดที่เน่าเสียได้ ในกลุ่มอาหารแช่แข็ง อาหารทะเลแช่แข็ง และสินค้าอื่นๆ เป็นต้น

นอกจากนี้ ที่ผ่านมายักษ์ใหญ่ด้านอีคอมเมิร์ซของจีนอย่าง Alibaba และ JD.com เป็นสองโมเดลธุรกิจที่สร้างโซลูชันการจัดส่งของตนเองที่มีประสิทธิภาพสูงเทียบเคียงได้กับบริษัทจัดส่งชั้นนำอย่าง Amazon ในสหรัฐอเมริกากันเลยทีเดียว

ขณะที่แรงหนุนที่ส่งให้จีนขึ้นชื่อเป็นผู้นำด้านโลจิสติกส์ของโลก นั่นเพราะการมี 5G หนุนกระบวนการสั่งซื้อได้รวดเร็ว / การชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ในวงกว้าง / แผนกลยุทธ์การจัดการด้านโลจิสติกส์ที่เป็นเลิศทั้งในหัวเมืองใหญ่และชนบท

คุณธรรม 3 ประการ จากมารดาที่ชื่อ ‘ฉี ซิน’ เบื้องหลัง ‘สี จิ้นผิง’ สู่ผู้นำจีนที่ทั่วโลกรู้จัก

ครอบครัว เป็นพื้นฐานของเด็ก โดยมี พ่อ-แม่ เป็นครูคนแรกของลูก หากผู้ปกครองให้ความสำคัญในการปลูกฝังคุณธรรมที่ดีให้กับลูกของตน เด็กๆ ก็จะเติบโตขึ้นผู้ใหญ่ที่มีจิตใจสมบูรณ์ และยังสามารถดูแลผู้คนในสังคม หรือแม้แต่แบกรับความรับผิดชอบต่อประเทศชาติได้

นั่นคือความคิดของนางฉี ซิน คุณแม่ชาวจีนท่านหนึ่ง ที่พยายามสอนให้ลูก ๆ 4 คนของเธอเป็นผู้รู้ รักคุณธรรมตั้งแต่เล็ก และต่อมาลูกชายคนโตของเธอก็เติบใหญ่ กลายเป็นผู้นำจีนที่โลกรู้จักมากที่สุดคนหนึ่ง นามว่า ‘สี จิ้นผิง’ 

สี จิ้นผิง เคยเล่าว่า เมื่อสมัยที่เขายังเป็นเด็กเล็ก ๆ นางฉี ซิน แม่ของเขาชอบพาเขาขี่หลังพาไปเที่ยวที่ร้านหนังสือ และเคยซื้อหนังสืออัตชีวประวัติของ งักฮุย แม่ทัพผู้เกรียงไกรในสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ มาอ่านให้เขาฟัง เขาจำได้ว่า แม่เน้นย้ำตัวอักษร 4 ตัวที่มารดาของแม่ทัพงักฮุยสักไว้บนแผ่นหลังให้งักฮุยตั้งแต่เด็กด้วยคำว่า จินจงเป้ากั๋ว (尽忠报国) ซึ่งแปลว่า “ขอรับใช้ชาติด้วยความจงรักภักดี”

เขาเคยถามแม่ว่า การสักตัวอักษรบนแผ่นหลังจะต้องเจ็บปวดมากแน่ ๆ แต่ทำไมแม่ของงักฮุยจึงทำเช่นนั้น นางฉี ซิน ได้ตอบลูกชายว่า แม้จะเจ็บ แต่ต้องการให้คุณธรรม 4 คำนี้จำฝังอยู่ในใจตลอดไป ซึ่ง สี จิ้นผิง ก็ได้จำคุณธรรม 4 ตัวอักษรนี้ เป็นเป้าหมายในการดำเนินชีวิตนับแต่นั้น

แต่นอกเหนือจากคุณธรรม 4 อักษร ของแม่ทัพงักฮุยแล้ว นางฉี ซิน ยังสอนให้ สี จิ้นผิง รู้จักคุณธรรมเพื่อชีวิตอีก 3 ประการ ไว้ว่า...

1. จงอุทิศตนเพื่อประเทศชาติด้วยความบริสุทธิ์ใจ
2. จงมีความซื่อสัตย์ และหัดเป็นคนมีวินัยในตนเอง 
3. จงมีความมุ่งมั่นที่จะยอมเสียสละความสุขส่วนตนเพื่อส่วนรวม 

แม่ของเขาย้ำด้วยว่า “เมื่อใดก็ตามที่คนเราขาดความซื่อตรง และ วินัยในตนเอง ก็จะกลายเป็นคนไร้ซึ่งความกล้าหาญ จงระลึกเสมอว่า ความซื่อสัตย์คือพรอันประเสริฐ แต่ความละโมบ ไม่ต่างจากคำสาป เมื่อคนเราได้พบเจอกับอำนาจ ลาภยศ และ ผลประโยชน์”

นางฉี ซิน มารดาของ สี จิ้นผิง เป็นบุตรสาวจากครอบครัวนักกฎหมายในคณะรัฐบาลพรรคชาตินิยมจีนมาก่อน ได้รับการศึกษาเป็นอย่างดีแต่วัยเยาว์ เคยเข้าร่วมกองกำลังเยาวชนต่อต้านกองทัพญี่ปุ่น ในสมัยสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่  2 ก่อนที่จะมาพบรักและแต่งงานกับ สี จ้งซุน หนึ่งในผู้นำนักปฏิวัติจีนรุ่น 1 ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในเวลาต่อมา 

แม้จะเกิดในครอบครัวชั้นปกครอง แต่ก็เคยพบเจอกับความยากลำบาก ต้องใช้แรงงานในชนบท และการต่อสู้เพื่อประเทศชาติ และอุดมการณ์มาก่อน แม้ว่าลูกชายคนโต สี จิ้นผิง จะมีตำแหน่งก้าวหน้าในรัฐบาลจีน แต่นางฉี ซิน ชอบที่จะใช้ชีวิตเรียบง่าย ทำงานเขียนหนังสือ และเดินทางเยี่ยมเยียน สถานที่ที่เคยเป็นฐานของคณะปฏิวัติเก่าๆ ในเมือง ซานซี หนิงเซีย กานซู และอื่นๆ อย่างสม่ำเสมอตลอดระยะเวลา 40 ปี และมักบริจาคเงินส่วนตัวเพื่อใช้พัฒนาโรงเรียนยากไร้ในชนบท

นางฉี ซิน มักบอกกับลูกชายเสมอ เมื่อเขาไม่สามารถกลับมาเยี่ยมได้แม้ในวันหยุดยาวช่วงเทศกาลตรุษจีนว่า ขอให้อุทิศตนทำงานอย่างเต็มที่ ก็คือว่าได้แสดงความกตัญญูตอบแทนพ่อแม่เพียงพอแล้ว 

คำสอนของนางฉี ซิน ผู้เป็นมารดา เป็นส่วนหนึ่งในแรงบันดาลใจในการทำงานเพื่อสังคมของสี จิ้นผิง ด้วยความมุ่งมั่นในการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนจีน 

เห็นได้ว่า จุดเริ่มต้นเล็ก ๆ จากสถาบันครอบครัวที่เข้มแข็ง ในการสร้างคุณธรรม และ ความคิดที่ดีให้ลูก ๆ ตั้งแต่ยังเล็ก สามารถทำให้เด็กคนหนึ่งเติบโตขึ้นเพื่อทำในสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้อย่างไม่รู้จบ 

เรื่อง: ยีนส์ อรุณรัตน์

อ้างอิง : China Daily / Chinese Thought  / Wikipedia

ทัพทุเรียนไทย’ บุก ‘ตลาดจีน’ เอาชนะใจผู้บริโภค ทำยอดขายพุ่งทะยาน 4 เท่า ‘หมอนทอง’ ขายดีสุด!!

เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 66 สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ตลาดค้าส่งผลไม้หนานหนิง ไห่จี๋ซิง ซึ่งเป็นตลาดค้าส่งผลไม้ขนาดใหญ่ที่สุดในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน มีชีวิตชีวาตั้งแต่ยามเช้ามืด รถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์คันใหญ่วิ่งเข้าออกและหยุดจอดขนถ่ายสินค้าหน้าแผงทุเรียน โดยมีผู้ซื้อจับกลุ่มรออยู่ก่อนแล้ว

บรรดาพ่อค้าแม่ขายรายใหญ่ต่างคึกคักกระปรี้กระเปร่าหลังจากเข้าสู่ ‘ฤดูทุเรียน’ ซึ่งปีนี้ทุเรียนไทยบุกตลาดจีนเร็วกว่าปีก่อน โดยทุเรียนจากจังหวัดจันทบุรีจะถูกเก็บเกี่ยวและขนส่งถึงชั้นวางสินค้าของซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วแผ่นดินใหญ่ของจีนภายในเวลาเพียงราวหนึ่งสัปดาห์

ตัวอย่างเช่น ‘ทุเรียนซีพี เฟรช’ (CP Fresh) ถูกขนส่งถึงจีนและกระจายสู่ซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่หลายแห่งอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้บริโภคได้เลือกซื้อทุเรียนคุณภาพดีและสดใหม่ที่สุด โดยซีพีเอฟ (CPF) จัดสารพัดกิจกรรมส่งเสริมการขายทุเรียนหมอนทองหอมหวาน ดึงดูดผู้บริโภคมาซื้อไม่ขาดสาย

“ทุเรียนซีพีมีคุณภาพสูง รสชาติดี แถมมีการชดเชยและสับเปลี่ยนถ้าเจอทุเรียนลูกที่ไม่ดี ทำให้เลือกซื้อได้อย่างสบายใจ” ชายแซ่ลู่ ชาวนครหนานหนิงของกว่างซีกล่าว

เหลียงซูถิง ประธานซีพีเอฟ สาขาหนานหนิง เผยว่ายอดจำหน่ายทุเรียนเฉลี่ยรายวันช่วงจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายสูงเกิน 100 กล่อง โดยหลายปีที่ผ่านมา ซีพีเอฟได้พัฒนาการจัดการห่วงโซ่อุตสาหกรรมทุเรียนแบบครบวงจร กำหนดมาตรฐานของสินค้า ทำให้ผู้บริโภครู้สึกเหมือน “รับประทานทุเรียนกลางสวนในไทย”

อนึ่ง จีนเป็นตลาดผู้บริโภคทุเรียนขนาดใหญ่และปริมาณการบริโภคเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี โดยทุเรียนครองตำแหน่ง “ราชาผลไม้นำเข้า” ของจีนตั้งแต่ปี 2019 และปริมาณการนำเข้าในปี 2022 สูงถึง 8.25 แสนตัน มูลค่า 4.03 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.36 แสนล้านบาท) ซึ่งเป็นทุเรียนไทยถึง 7.8 แสนตัน

กวนฉ่ายเสีย ผู้ค้าขายทุเรียนมานานหลายปี และเล็งเห็นความสำคัญของการสร้างแบรนด์ ได้ร่วมมือกับโรงงานไทยในการออกแบบแบรนด์และบรรจุภัณฑ์ โดยมีการใช้อักษรจีน ‘ปั้ง’ (棒) ตัวใหญ่เตะตาบนกล่องทุเรียน ซึ่งกวนชี้ว่าสอดคล้องกับคุณภาพ ‘ยอดเยี่ยม’ ของทุเรียนไทย

การคลุกคลีอยู่กับการค้าขายทุเรียนไทยมานานถึง 20 ปี ทำให้กวนได้เห็นการเติบโตของทุเรียนไทยในจีน และเชื่อว่าทุเรียนไทยจะยังคงเป็นทุเรียนจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนที่ครองส่วนแบ่งมากที่สุดในตลาดจีน รวมถึงมีข้อได้เปรียบจากความร่วมมือระหว่างสองประเทศ

ข้อมูลจากตลาดฯ ระบุว่าปัจจุบันมีผู้ค้าส่งทุเรียนในตลาด 32 ราย ยอดค้าส่งในปีก่อนอยู่ที่ 24,000 ตัน ส่วนยอดจำหน่ายในปีนี้อยู่ที่ 17,000 ตัน เมื่อนับถึงวันที่ 5 พ.ค. ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 4 เท่า โดยทุเรียนหมอนทองของไทยมียอดจำหน่ายสูงสุด

โม่เจียหมิง ผู้จัดการทั่วไปของบริษัท กว่างซี โยวเซียนหยวน อะกรีคัลเจอรัล เทคโนโลยี จำกัด ซึ่งเป็นผู้นำเข้าผลไม้อาเซียนสู่จีนจำนวนมาก เผยว่าทุเรียนจากภาคตะวันออกของไทยมียอดจำหน่ายดีมาก แต่ละวันนำเข้าตู้คอนเทนเนอร์ 5-6 ตู้ บางช่วงสูงถึง 10 ตู้ และอาจสูงขึ้นอีกในอนาคต

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีการจัดตั้งห่วงโซ่อุปทานผลไม้อาเซียนอย่างทุเรียน มะพร้าว และลำไย โดยบริษัทฯ ทำการค้าส่ง การจำหน่ายผ่านไลฟ์สตรีมมิง และการวางจำหน่ายตามซูเปอร์มาร์เก็ต ทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักอย่างมาก ส่งผลให้ปริมาณการนำเข้าทุเรียนเพิ่มขึ้นเกือบ 10 เท่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

“ปีนี้บริษัทฯ วางแผนนำเข้าทุเรียนจากภาคตะวันออกของไทยราว 15,000-20,000 ตัน หรืออาจแตะ 25,000 ตัน” โม่กล่าว

แต่ละปีทุเรียนไทยเริ่มส่งออกสู่ตลาดจีนในเดือนเมษายน และพุ่งแตะระดับสูงสุดช่วงเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม

“ครอบครัวของผมซื้อทุเรียนหมอนทองของไทยเป็นประจำ ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ชอบรับประทานกันมาก ราคาและคุณภาพของทุเรียนในปีนี้น่าพอใจมากๆ จนอาจจะได้ซื้อบ่อยขึ้น” เหลียงเจ๋อหลิน ชาวเมืองหนานหนิงกล่าว

เฮ่อเยี่ยน รองผู้จัดการร้านค้าปลีกแซมส์คลับ เผยว่าสินค้าทุเรียนเป็นที่ต้องการมากทุกวัน โดยทุเรียนที่ขนส่งมาถึงใหม่ๆ มักจะขายหมดภายในครึ่งวัน ทำให้ร้านค้าต้องกำหนดเพดานการซื้อของลูกค้าแต่ละคน ซึ่งแห่มาซื้อกันตั้งแต่หัววัน

“ปีนี้ทุเรียนได้รับความนิยมอย่างมาก มีราคาเหมาะสม ครอบครัวทั่วไปล้วนอยากซื้อไปรับประทาน” จางอี้เฉียว จากบริษัท การค้านำเข้าและส่งออกหนานหนิง เจี๋ยรุ่ย จำกัด กล่าว โดยบริษัทฯ ยังทำธุรกิจค้าส่งทุเรียนในปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และเมืองเจียซิงของเจ้อเจียงด้วย

จางกล่าวว่าหากดูจากตลาดหลายแห่งพบยอดจำหน่ายทุเรียนเพิ่มขึ้น แต่ละวันบริษัทฯ สามารถจัดจำหน่ายทุเรียนตามตลาดแห่งต่างๆ ราว 3-4 ตู้คอนเทนเนอร์ โดยยอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นเกือบสามเท่าเมื่อเทียบปีต่อปี และทุเรียนหมอนทองขายดีที่สุด ส่วนทุเรียนกระดุมทองราคาแพงกว่าแต่ก็ขายดีเช่นกัน

ทั้งนี้ ‘ทุเรียน+มังคุด’ เป็นผลไม้ที่มักขายได้คู่กันตามตลาดหลายแห่ง โดยลูกค้าที่มาซื้อทุเรียนมักซื้อมังคุดด้วย โดยจางอธิบายว่าชาวจีนตอนใต้ไม่น้อยมองว่าทุเรียนเป็นผลไม้ฤทธิ์ร้อน การรับประทานมังคุดที่เป็นผลไม้ฤทธิ์เย็นจะช่วยลดฤทธิ์ร้อนดังกล่าว

ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทุเรียนอาเซียนได้เข้าสู่ตลาดจีนอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันแหล่งทุเรียนนำเข้าหลัก ได้แก่ ไทย มาเลเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ขณะเดียวกันผู้บริโภคชาวจีนมองหาทุเรียนสายพันธุ์ใหม่ๆ มาลองลิ้มชิมรสชาติกันเพิ่มขึ้นด้วย

ด้านโม่เจียหมิงเสริมว่าบริษัทฯ มุ่งปรับปรุงโครงสร้างผลิตภัณฑ์ มีการลงทุนจัดตั้งโรงงานรับซื้อทุเรียนในเวียดนาม 2 แห่ง ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินงานเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมนี้ และหลังจากหมดฤดูทุเรียนตะวันออกของไทย จะหันไปนำเข้าทุเรียนเหนือและทุเรียนใต้ของไทย ควบคู่กับทุเรียนเวียดนามบางส่วน

การก่อสร้างระเบียงการค้าทางบก-ทางทะเลระหว่างประเทศใหม่ เส้นทางตะวันตก การเปิดใช้ทางรถไฟจีน-ลาว และการมีผลบังคับใช้ของความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ในช่วงไม่นานนี้ ช่วยพัฒนาระบบโลจิสติกส์ข้ามพรมแดนเพิ่มขึ้นและเกื้อหนุนการค้าข้ามภูมิภาค

ตัวอย่างเช่น ‘ทุเรียนไทย’ นอกจากถูกนำเข้าสู่จีนทางอากาศ ยังมีการนำเข้าทางบก รวมถึงทางทะเลจากท่าเรือแหลมฉบังของจังหวัดชลบุรีไปยังท่าเรือชินโจวของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง และท่าเรือหนานซาของมณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) อีกด้วย

“ยามสถานการณ์โรคระบาดใหญ่ทั่วโลกทยอยคลี่คลาย มีการปรับปรุงประสิทธิภาพของพิธีการศุลกากรขาเข้า-ขาออก ช่วยให้ทุเรียนเข้าสู่ตลาดอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น” กวนฉ่ายเสียกล่าว พร้อมเสริมว่ามีการนำเข้าทุเรียนผ่านด่านบกโหย่วอี้ในกว่างซี ซึ่งถูกขนส่งต่อทางถนนและทางรางในจีน

ปัจจุบันทุเรียนกลายเป็นผลไม้ที่เข้าถึงหลายครอบครัวทั่วไปในจีน แตกต่างจากก่อนหน้านี้ที่มีผู้บริโภคกระจุกตัวอยู่เป็นกลุ่มเล็กเท่านั้น ซึ่งทั้งหมดเป็นผลจากการพัฒนาการค้าเสรีและการยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน

‘ฟ่าน ปิงปิง’ คัมแบ็กพรมแดงเมืองคานส์ ปรากฏตัวในชุดลายเสือสุดเรียบหรูดูแพง

(17 ก.พ. 66) หายหน้าหายตาไปพักใหญ่ ไม่ค่อยได้ออกสื่อบ่อยๆ เหมือนเมื่อก่อน สำหรับ ‘ฟ่าน ปิงปิง’ ที่ล่าสุดได้เผยลุคอลังการ พร้อมกับหน้าสวยเด็กแบบแทบไม่เชื่ออายุจริงๆ ในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ 2023 ครั้งที่ 76

งานนี้สวมชุดเดรสเกาะอก ทรงบอลกาวน์จาก Christoper Bu ที่สื่อถึงแรงบันดาลใจจากป่า เป็นชุดเดรสลายพิมพ์กราฟิกใบไม้ เปลือกไม้ และเสือหลายตัวที่ดูเหมือนจะเดินออกจากชุด พร้อมกับสวมเครื่องประดับต่างหูมรกตพร้อมแหวนเข้าชุดกัน ดูขลังเรียบหรูเเละดูเเพงสุดๆ ทำเอาช่างภาพรุมถ่ายรูปรัวๆ เลยทีเดียว

‘ไบเดน’ ยกเลิกทริปเอเชีย บินด่วนกลับสภา เหตุต้องแก้ปัญหาเพดานหนี้ก่อนไม่เหลือเงินจ่ายหนี้

โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ จำเป็นต้องยกเลิกกำหนดการณ์เยือนประเทศในย่านเอเชียอย่างกะทันหัน เพราะต้องกลับไปแก้ปัญหาเพดานหนี้ที่กำลังวิกฤติในสหรัฐฯ

โดย โจ ไบเดน จะยังคงเข้าร่วมงานประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่ม G7 ที่เมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่นตามกำหนดเดิมก่อน 3 วัน แล้วจะบินกลับสหรัฐฯ เลย ซึ่งจะต้องยกเลิกแผนการเยือนกลุ่มประเทศพันธมิตรในย่านเอเชียทั้งหมด รวมถึงงานประชุมกลุ่มประเทศสมาชิก QUAD ที่ออสเตรเลียด้วย 

นับเป็นภารกิจภายในประเทศที่สำคัญเร่งด่วนมาก เพราะหากแก้ไขวิกฤติเพดานหนี้ของรัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ทัน จะมีผลร้ายแรงต่อเครดิต ความน่าเชื่อถือของรัฐบาลสหรัฐฯ เสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้ และ ภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำโลกในระยะยาว

แพทริค ครอนิน นักวิเคราะห์จากสถาบัน Hudson Institute Asia-Pacific มองว่า การที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ต้องยกเลิกแผนการเยือนต่างประเทศกลางอากาศ ไม่ใช่เรื่องผิดวิสัย เพราะผู้นำสหรัฐฯ ต้องให้ความสำคัญกับการหาทางรอดในวิกฤติการเงินของประเทศก่อนเป็นอันดับแรก หากใครที่ติดตามการเมืองสหรัฐฯ มานานก็จะเข้าใจ แต่ต้องยอมรับว่าบทบาทของสหรัฐฯ ในเวทีต่างประเทศก็จะดูด้อยลงไป เมื่อต้องทิ้งนัดหมายสำคัญเพื่อไปจัดการเรื่องการเมืองในบ้านที่ไม่เรียบร้อย 

ผลจากการยกเลิกแผนเดินทางในเอเชีย ทำให้โจ ไบเดน พลาดโอกาสในการเยือนประเทศปาปัว นิวกินี ที่จะเป็นการเยือนครั้งแรกของผู้นำสหรัฐฯ ในตำแหน่ง ซึ่งไบเดนมีนัดหมายต้องไปเจรจาเพื่อเซ็นข้อตกลงด้านความมั่นคงร่วมกันถึง 2 ฉบับ และยังทำให้การประชุมประเทศพันธมิตร QUAD (สหรัฐ-ออสเตรเลีย-ญี่ปุ่น-อินเดีย) ที่เมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลียต้องเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนดด้วย  

แต่ในเมื่อวาระของชาติสำคัญเร่งด่วนกว่า โจ ไบเดน จำเป็นต้องกลับไปจัดช่วยทีมรัฐบาลผลักดันแผนการเพิ่มเพดานหนี้ให้เป็นผลสำเร็จให้ได้ ก่อนหายนะทางการเงินในรัฐบาลสหรัฐฯ จะเกิดขึ้น 

ข้อกำหนดเพดานหนี้ของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ มีไว้เพื่อจำกัดวงเงินกู้ของรัฐบาลไม่ให้สูงกว่าค่าใช้จ่ายของภาครัฐอย่างเกินความจำเป็น แต่ทว่า รัฐบาลกลางสหรัฐฯ มีค่าใช้จ่ายที่มากกว่ารายได้จากภาษีมาโดยตลอด ที่ทำให้รัฐบาลกลางจำเป็นต้องเพิ่มข้อจำกัดเพดานหนี้เพื่อกู้เงินเสริมสภาพคล่องอยู่หลายครั้ง 

มีข้อมูลชี้ว่า รัฐบาลสหรัฐฯ มีการปรับขยายเพดานหนี้มาแล้วไม่น้อยกว่า 90 ครั้ง และไม่เคยปรับลดลงเลย และทุกครั้งที่มีการหารือเกี่ยวกับการขยายเพดานหนี้ มักนำมาสู่เกมการเมืองที่ไม่สามารถหาข้อตกลงได้ง่ายนัก เมื่อฝ่ายที่คัดค้านมองว่าการเพิ่มเพดานหนี้ เป็นการเพิ่มภาระหนี้สาธารณะให้กับประชาชนผู้เสียภาษี ซึ่งรัฐบาลน่าจะหาวิธีที่ดีกว่าด้วยการลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาลกลางลงเพื่อให้สมดุลย์กับรายได้จากภาษี 

แต่ฝ่ายที่สนับสนุนการเพิ่มเพดานหนี้ แย้งว่า การลดค่าใช้จ่ายของภาครัฐ หมายถึงการลดสวัสดิการสังคมของประชาชน และยังไม่ช่วยแก้ปัญหาการเงินได้อย่างทันท่วงที ส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของรัฐบาลสหรัฐฯ

อย่างเช่นวิกฤติการเงินที่เคยเกิดขึ้นในปี 2011 สมัยของบารัค โอบามา บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ S&P ได้ปรับลดระดับความน่าเชื่อถือของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐลง จาก AAA เป็น AA+ เนื่องจากความมั่นใจในศักยภาพการชำระหนี้ของรัฐบาลกลางลดลง ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่สภาคองเกรซได้มีการพิจารณาเพิ่มเพดานหนี้แล้ว แต่ออกมาอย่างล่าช้า จึงเป็นเหตุให้สำนักจัดอันดับต่าง ๆ มองว่าเป็นความเสี่ยงในนโยบายทางการเงินของรัฐบาลกลาง 

เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ พยายามกดดันสภาคองเกรซให้เร่งพิจารณาการขยายเพดานหนี้ โดยได้อ้างอิงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2011 การปรับลดความน่าเชื่อถือของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อตลาดการเงินโลก ทำให้สถานะการเป็นผู้นำเศรษฐกิจโลกของสหรัฐฯ สั่นคลอนได้ 

อีกทั้งวิกฤติเงินคงคลังในรัฐบาลกลาง เริ่มอยู่ในภาวะน่าเป็นห่วง และดูจะร้ายแรงกว่าที่คิด จนทำให้โจ ไบเดน ต้องทิ้งนัดหมายสำคัญกับพันธมิตรในย่านเอเชียเอาไว้ก่อน เพราะทางรอดของประเทศสำคัญกว่า

‘รัสเซีย’ ชี้ ‘ก้าวไกล’ เปรียบเสมือน หุ่นเชิดของ ‘สหรัฐฯ’ หวั่น ก้าวไกล ทำกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย-จีน-รัสเซีย

(18 พ.ค. 66) สำนักข่าว RT ของประเทศรัสเซีย รายงานข่าวเกี่ยวกับการเลือกตั้งประเทศไทย โดยเรียกพรรคก้าวไกลว่าเป็น ‘พรรคโปรตะวันตก’

ไบรอันได้ให้สัมภาษณ์ว่า “ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นผลลัพธ์ของความพยายามของสหรัฐอเมริกา ที่ได้ทุ่มเทเงินหลายล้านเหรียญมาเป็นเวลาหลายปี เพื่อให้พรรคการเมืองที่เป็นหุ่นเชิดของตัวเองได้ขึ้นมามีอำนาจ”

ไบรอันมองว่า หากพรรคก้าวไกลยังเดินตามนโยบายต่างประเทศในทางที่เคยแสดงท่าทีไว้ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับประเทศจีน และประเทศไทยกับประเทศรัสเซียจะถูกกระทบอย่างรุนแรง

‘กูรู EV จีน’ ชี้ ‘การปฏิวัติรถยนต์’ เข้าสู่ระยะใหม่ ใช้ชิปเป็นเทคโนโลยีหลัก ขับเคลื่อนการเดินทางอัจฉริยะ

เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 66 สำนักข่าวซินหัว, ฮ่องกง รายงานว่า ยานยนต์ไฟฟ้าได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ขณะโลกกำลังผลักดันเป้าหมายปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ โดย ‘เฉิน ชิงเฉวียน’ (C.C.Chan) นักวิทยาศาสตร์ด้านวิศวกรรม และผู้เชี่ยวชาญด้านยานยนต์ไฟฟ้าของฮ่องกง เชื่อว่าการปฏิวัติรถยนต์ถึงเวลาเข้าสู่ระยะใหม่แล้ว

เมื่อไม่นานนี้ เฉินให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวว่า การปฏิวัติระยะแรก คือ การเปลี่ยนไปใช้พลังงานไฟฟ้า และขณะนี้ถึงเวลาเข้าสู่การปฏิวัติช่วงครึ่งหลัง โดยอาศัยชิปรถยนต์และระบบปฏิบัติการเป็นเทคโนโลยีหลัก โดยอนาคตรถยนต์จะเปลี่ยนจากวิธีขนส่งแบบดั้งเดิม เป็นพื้นที่เดินทางเคลื่อนที่อัจฉริยะ นำสู่การบูรณาการเครือข่ายการขนส่ง พลังงาน ข้อมูล และวัฒนธรรม

เฉินเป็นศาสตราจารย์กิตติมศักดิ์ ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ณ มหาวิทยาลัยฮ่องกง รวมถึงเป็นประธานผู้ก่อตั้งสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าโลก (WEVA) โดยเขาได้รับเลือกเป็นนักวิชาการประจำสถาบันบัณฑิตวิศวกรรมจีน เมื่อปี 1997 ซึ่งนับเป็นนักวิชาการจากฮ่องกงคนแรก

เฉินเริ่มมุ่งเน้นการวิจัยเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าตั้งแต่กว่า 40 ปีก่อน และเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกเทคโนโลยีนี้ โดยเขาได้รับรางวัลทัชชิง ไชน่า อะวอร์ด (Touching China Award) ปี 2022 ซึ่งเป็นรางวัลประจำปี เพื่อยกย่องบุคคลต้นแบบที่สร้างแรงบันดาลใจมากที่สุดของประเทศในด้านต่างๆ เพื่อยกย่องคุณูปการอันโดดเด่นที่มีต่อเครื่องยนต์ไฟฟ้า ระบบไฟฟ้า และยานยนต์ไฟฟ้า

เฉินระบุว่า การวิจัยด้านวิศวกรรมให้ความสำคัญกับผลลัพธ์ พร้อมเน้นย้ำ ความสำคัญของการแปรเปลี่ยนผลการวิจัยและพัฒนา (R&D) สู่ผลิตภัณฑ์ในแวดวงวิศวกรรมรถยนต์ไฟฟ้า

ปัจจุบันรถยนต์ไฟฟ้าเกี่ยวพันกับการเดินทางในชีวิตประจำวันของผู้คนอย่างใกล้ชิด ซึ่งเฉินมองว่า เหล่านักวิทยาศาสตร์ไม่ควรมุ่งเน้นเฉพาะความก้าวหน้าด้านการวิจัยและพัฒนาเท่านั้น แต่ควรคำนึงถึงความต้องการและการยอมรับของตลาดด้วย โดยมีเพียงวิธีนี้ที่สามารถผลักดันการวิจัยและพัฒนาไปข้างหน้าได้

เฉินออกแบบรถยนต์ไฟฟ้าคันแรก รุ่น ‘ยู 2001’ (U2001) ในปี 1993 โดย ‘ยู’ หมายถึง ‘สามัคคี’ และ ‘2001’ หมายถึง ‘การมุ่งสู่ศตวรรษที่ 21’ ซึ่งรถยนต์รุ่นนี้ใช้พลังงานแบบบูรณาการ แบตเตอรี่พลังงานสูง และระบบช่วยเหลือการขับเคลื่อนอัจฉริยะ มีอัตราเร่ง 6.3 วินาทีต่อ 100 กิโลเมตร ความเร็วสูงสุด 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง และระยะขับขี่ 180 กิโลเมตร

นักวิทยาศาสตร์ผู้ช่ำชองอย่างเฉินมีความหมั่นเพียรอย่างมาก และเป็นเลิศในการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และมีความปรารถนาจะรับใช้มาตุภูมิด้วยความสามารถตั้งแต่อายุยังน้อย

“ถ้าคุณตามหลัง คุณก็จะถูกแซงหน้า” เฉินกล่าว “ผมรู้สึกว่าโชคชะตาของคนๆ หนึ่งนั้น สัมพันธ์กับประเทศอย่างใกล้ชิด”

เฉินเกิดในครอบครัวผู้ประกอบการเชื้อสายจีนในอินโดนีเซียเมื่อปี 1937 และเดินทางสู่กรุงปักกิ่งเมื่อปี 1953 เพื่อศึกษาด้านวิศวกรรมไฟฟ้าขณะมีอายุ 16 ปี ต่อมาศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยฮ่องกงจนได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิศวกรรมไฟฟ้าในปี 1982 และมีส่วนร่วมในการสอนและวิจัยเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้านับตั้งแต่นั้น

เฉินบูรณาการยานยนต์ มอเตอร์ การควบคุม และเทคโนโลยีอื่นๆ เข้ากับการศึกษาแบบสหวิทยาการใหม่อย่างสร้างสรรค์ พร้อมวางรากฐานสำหรับทฤษฎียานยนต์ไฟฟ้าสมัยใหม่ รวมถึงมีส่วนส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรมแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ระบบควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ และเทคโนโลยีหลักอื่นๆ อย่างโดดเด่น จนขึ้นแท่นเป็นผู้ชี้นำเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าของจีน

เฉิน ในวัย 86 ปี ยังคงมีไหวพริบว่องไวและความจำดีเยี่ยม ทั้งยังเข้าใจแนวทางการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สำคัญของจีน

“ผมสรุปประเด็น 3 ข้อที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ได้แก่ ความต้องการเร่งด่วนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ การดูแลนักวิทยาศาสตร์และความคาดหวังต่อนักวิทยาศาสตร์ของประเทศ ตลอดจนโอกาสการมีส่วนร่วมในระดับประเทศและโลกของนักวิทยาศาสตร์” เฉิน อธิบาย

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 (2021-2025) ของจีน สนับสนุนการพัฒนาของฮ่องกงในฐานะศูนย์กลางนวัตกรรมและเทคโนโลยีระดับนานาชาติอย่างชัดเจน โดยมีการออกสารพัดนโยบาย เพื่อสนับสนุนการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในฮ่องกงตลอดหลายปีที่ผ่านมา

เฉินแนะนำว่า ฮ่องกงมีความแข็งแกร่งด้านการวิจัยพื้นฐาน แต่ค่อนข้างมีจุดอ่อนด้านการประยุกต์ใช้ โดยฮ่องกงสามารถทำงานร่วมกับเมืองอื่นๆ ในเขตเศรษฐกิจอ่าวกว่างตง-ฮ่องกง-มาเก๊า และสร้างสายสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับเมืองเหล่านั้น

เฉินชี้ว่า แต่ละเมืองในเขตเศรษฐกิจฯ มีข้อได้เปรียบของตัวเอง เช่น เซินเจิ้นมีผู้ประกอบการนวัตกรรมจำนวนมาก ตงก่วนมีระบบประมวลผลสนับสนุนที่สมบูรณ์ จึงควรมีการจัดตั้งห่วงโซ่ระบบนิเวศการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งมุ่งเน้นการแบ่งปันทรัพยากรและเสริมสร้างความร่วมมือ เพื่อยกระดับความสามารถทางการแข่งขันในวิทยาศาสตร์ และนวัตกรรมโดยรวมของเขตเศรษฐกิจ

ปัจจุบันเฉินสาละวนกับการเตรียมสุนทรพจน์ เพื่อการประชุมวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับเขตเศรษฐกิจ ซึ่งจะจัดขึ้นช่วงปลายเดือนนี้ โดยเขาจะเดินหน้าแบ่งปันแนวคิดการปฏิวัติรถยนต์ต่อไป พร้อมเสริมว่า นักวิทยาศาสตร์ต้องแสวงหากฎธรรมชาติเพื่อประโยชน์ของมวลมนุษยชาติ ต้องคิดการณ์ไกลยามทำการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และยึดมั่นทิศทางที่ถูกต้องจนนาทีสุดท้าย

‘นักวิเคราะห์’ เตือน!! ปัญหาสังคมผู้สูงอายุ อาจกระทบเครดิตเรทติ้งรัฐบาลทั่วโลก

สังคมผู้สูงอายุเริ่มส่งผลกระทบต่อการเงินสาธารณะทั่วโลกแล้ว โดยสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือหลายแห่ง ได้ออกมาเตือนว่า อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ได้เพิ่มผลกระทบของต้นทุนเงินบำนาญและการดูแลสุขภาพที่สูงขึ้น

ทั้งนี้ มูดี้ส์, เอสแอนด์พี และฟิทช์เตือนว่า สถานการณ์ด้านประชากรที่ย่ำแย่ลงเริ่มส่งผลกระทบต่ออันดับความน่าเชื่อถือของรัฐบาลต่าง ๆ แล้ว หลังธนาคารกลางทั่วโลกปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อที่พุ่งทะยานขึ้น

มูดี้ส์, เอสแอนด์พี และฟิทช์กล่าวด้วยว่า ทางสถาบันมีแนวโน้มที่จะต้องปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของแต่ละประเทศหากไม่มีการปฏิรูปขนานใหญ่ ซึ่งเสี่ยงที่จะสร้างวงจรภาระทางการคลังที่เพิ่มสูงขึ้นและต้นทุนการกู้ยืมเงินที่เพิ่มสูงขึ้น

“ในอดีต ประเด็นด้านประชากรศาสตร์นั้นถือเป็นปัจจัยพิจารณาระยะกลางและระยะยาว แต่ขณะนี้ ประเด็นดังกล่าวได้ขยับเข้ามาและเริ่มกระทบอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศแล้ว” นายดีทมาร์ ฮอร์นุง รองกรรมการผู้จัดการของมูดี้ส์ กล่าว

สำนักข่าวไฟแนนเชียลไทม์สรายงานว่า ในเดือนนี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด), ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ต่างก็ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์การเงิน ซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนในการชำระหนี้ของรัฐบาล

“เมื่ออัตราการเกิดชะลอตัวลง ปัญหาก็เร่งด่วนมากยิ่งขึ้น” นายเอ็ดเวิร์ด ปาร์กเกอร์ หัวหน้าฝ่ายวิจัยประเทศและนานาชาติของฟิทช์ระบุ พร้อมกล่าวเสริมว่า “หลายประเทศกำลังเผชิญผลกระทบไม่พึงประสงค์ โดยผลกระทบดังกล่าวมีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ”

ด้านนายมาร์โค เมิร์สนิก หัวหน้านักวิเคราะห์ประเทศของเอสแอนด์พีระบุว่า ต้นทุนการกู้ยืมเงินที่เพิ่มขึ้น 1 จุดเปอร์เซ็นต์ จะเพิ่มอัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อผลผลิตมวลรวมภายในประเทศสำหรับญี่ปุ่น, อิตาลี, อังกฤษ และสหรัฐประมาณ 40-60 จุดเปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2603


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top