Thursday, 15 May 2025
World

'นานาชาติ' วอน 'ยุติสงครามกลางเมือง-ลดการคว่ำบาตร' เปิดทางส่งความช่วยเหลือผู้ประสบภัยครั้งใหญ่ในซีเรีย

จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่เมืองคาห์รามานมารัส ทางตอนใต้ของตุรเคีย เมื่อวันจันทร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา ไม่ได้มีแค่เฉพาะตุรเคียที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากเหตุการณ์นี้ แต่ยังมีซีเรีย ที่ได้รับความเสียหายรุนแรงจากภัยพิบัติครั้งนี้ไม่แพ้กัน ซึ่งล่าสุดมีรายงานผู้เสียชีวิตเฉพาะในซีเรียแล้วมากกว่า 1,500 คน บ้านเรือนพังถล่มเสียหายเป็นจำนวนมากในหลายเมือง กระทบต่อการใช้ชีวิตของชาวซีเรียไม่ต่ำกว่า 4.5 ล้านคน

นานาชาติได้เร่งระดมส่งความช่วยเหลือไปยังประเทศที่ประสบภัย ซึ่งการส่งผ่านความช่วยเหลือไปยังตุรเคียไม่ใช่ปัญหาใหญ่ แต่สำหรับซีเรีย ประเทศที่แตกสลายจากสงครามกลางเมืองนานร่วม 12 ปี ที่ยังอยู่ภายใต้การปกครองของประธานาธิบดี บาชาร์ อัล อัสซาด ที่ถูกชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา และพันธมิตรชาติตะวันตกคว่ำบาตร กลายเป็นความท้าทายที่เดิมพันด้วยชีวิต และความหวังของประชาชนผู้ประสบภัยทั้งประเทศ

ซึ่งทั้งรัฐบาลสหรัฐฯ และ รัฐบาลซีเรีย ต่างก็ถูกตำหนิจากนานาชาติ ที่ใช้เงื่อนไขการคว่ำบาตร และความขัดแย้งทางการเมืองขัดขวางการส่งสิ่งของ และทุนสนับสนุนไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ 

โดย รัฐบาลซีเรีย ของผู้นำบาร์ชา อัล อัสซาด ประกาศว่ายินดีรับความช่วยเหลือจากทุกองค์กรในต่างประเทศ แต่ขอให้ส่งมายังศูนย์กลางที่กรุงดามัสกัสเท่านั้น ที่จะทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางแห่งเดียวที่จะกระจายสิ่งของ และอุปกรณ์ช่วยเหลือไปยังเมืองต่าง ๆ ที่ประสบภัยด้วยตนเอง 

แต่ทว่า เน็ด ไพรซ์ โฆษกของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า ทางสหรัฐฯ ยินดีส่งความช่วยเหลือให้ทั้งตุรเคียและซีเรีย แต่จะไม่ขอติดต่อผ่านรัฐบาลกลางที่กรุงดามัสกัส เพราะสหรัฐอเมริกาไม่รับรองว่า บาชาร์ อัล อัสซาด เป็นผู้นำที่ชอบธรรมตามกฏหมาย

ดังนั้น แม้ว่าวันนี้ซีเรียจะประสบภัยพิบัติร้ายแรงจากแผ่นดินไหว แต่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงมาตรการคว่ำบาตรจากทั้งสหรัฐฯ และพันธมิตรชาติยุโรปได้ ตราบใดที่ บาชาร์ อัล อัสซาด ยังคงอยู่ในอำนาจ

ส่วนการช่วยเหลือประเทศซีเรีย โจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ กล่าวว่า จะประสานงานผ่านองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร (NGO) ต่าง ๆ ในพื้นที่เท่านั้น และกลายเป็นประเด็นที่ถูกตั้งคำถามอย่างมากว่า ด้วยกำลังคนและทรัพยากรที่มีของกลุ่ม NGO จะเพียงพอที่จะให้ความช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีได้อย่างไร

‘รัสเซีย’ เสียท่า!! ส่งความรวยให้สหรัฐฯ หลังพลาดขาย ‘อะแลสกา’ ไปในราคาแสนถูก

ชาวโลกรู้ว่าอเมริกากับรัสเซียนั้นเป็นคู่กรณีสงครามเย็น จนหลายคนคิดว่าสองชาตินี้คงไม่มีวันยิ้มให้กันได้ แต่จริงๆ แล้วครั้งหนึ่งไอ้นกอินทรีกับพี่หมีขาวเป็นมิตรกันมาก่อน ตอนช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ยังอยู่ฝ่ายเดียวกันเลย มาแตกหักรักไม่ลงช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองนี่แหละ แต่เชื่อไหมว่าอเมริกาได้ครอบครองดินแดนของรัสเซีย และสถาปนาเป็นรัฐของอเมริกาเต็มภาคภูมิ 

เมื่อเอ่ยถึงรัฐอะแลสกา (Alaska) หลายคนรู้สึกหนาวแทนพลเมืองที่นั่น เพราะได้ชื่อว่าเป็นรัฐที่หนาวสะท้านโลก 

อะแลสกาเป็นรัฐที่ 49 ในบรรดา 50 รัฐของอเมริกา ถูกค้นพบโดยนักเดินทางรัสเซียในปี ค.ศ.1741 พี่หมีขาวเลยกระโจนเข้าครอบครองตั้งแต่ปี ค.ศ.1784 ไอ้ที่โผเข้าหาดินแดนโน่นนี่ไม่ใช่อะไรหรอก พี่หมีแกอยากขยายอาณาจักรไปเรื่อยๆ เพราะช่วงนั้นประเทศต่างๆ ก็ล่าอาณานิคมกัน จะล่องไปล่าแถวไหน ประเทศแถบยุโรปล่ากันหมดแล้ว เลยต้องมุ่งหน้าขึ้นเหนือ 

พี่หมีขาวอยากได้อาณานิคมในดินแดนฝั่งตะวันออก เอาไว้ค้าขายชายเฟือยและเผยแพร่ศาสนาคริสต์นิกายรัสเซียนออร์โธดอกซ์ รวมถึงการเรียกเก็บภาษีและทรัพยากรจากอาณานิคม แต่อะแลสกานั้นยกเว้น เพราะการครอบครองอะแลสกาของรัสเซีย เป็นไปเพื่อการทำธุรกิจมากกว่าการตั้งถิ่นฐาน มีการจัดตั้งการค้าขนสัตว์ในปีค.ศ.1781 และตั้งบริษัท Russian American Company ในปี ค.ศ. 1799 

หากเรากางแผนที่โลก จะเห็นว่าอะแลสกาอยู่ไกลจากขอบเขตดินแดนรัสเซีย ด้วยระยะทางที่ห่างกันมากระหว่างอะแลสกากับเมืองหลวงของรัสเซีย ทำให้สื่อสารกันลำบาก แถมไม่มีชาวรัสเซียไปตั้งรกรากในอะแลสกามากนัก นอกจากหนาวแล้วยังไกลปืนเที่ยง เลยมีคนหอบผ้าหอบผ่อนไปอยู่ที่นั่นแค่ 800 คนเท่านั้นเอง  

หนักหนากว่านั้นคือหนาวหูตูบจนเพาะปลูกอะไรไม่ค่อยจะได้ ทำให้ผู้นำหมีขาวเบ้ปากมองบนว่าจะเอาไอ้แผ่นดินนี้ไว้ทำไมหนอเรา นอกจากอะแลสกาจะกลายเป็นดินแดนที่ไม่ทำกำไรให้รัสเซีย ยังเสี่ยงต่อการถูกอังกฤษรุกราน ทำให้พี่หมีขาวนอนกระดิกตีนตรอง ว่าจะเอาไงดีกับไอ้ดินแดนแห่งนี้ ที่สำคัญตอนนั้นรัสเซียกำลังถังแตกเสียด้วย

รัสเซียจนกรอบ เพราะทำสงครามอย่างหนักและต่อเนื่อง เพื่อขยายอาณาเขตให้กว้างใหญ่ไพศาล การทำสงครามแต่ละครั้งนั้นต้องใช้เงินมหาศาล โดยเฉพาะสงครามไครเมียในปี 1853-1856 สงครามหนนี้ทำเอารัสเซียสิ้นเนื้อประดาตัวแทบล้มละลาย  หลังเซ็นสนธิสัญญาสันติภาพปารีส 1856 มีการกันทะเลดำให้เป็นเขตกลางเพื่อไม่ให้รัสเซียตั้งฐานยุทธศาสตร์ นั่นยิ่งทำให้สูญเสียช่องทางการค้าขายกับประเทศอื่นไปโดยปริยาย

เมื่อถังแตกก็ต้องขายของเก่ากินนั่นแหละ กวาดสายตาทั่วแผ่นดินแล้วพบว่าอะแลสกาเป็นแผ่นดินของรัสเซียในบริเวณอเมริกาเหนือ แถมยังรกร้างว่างเปล่าเต็มไปด้วยน้ำแข็ง จนทางรัสเซียคิดว่าหาประโยชน์อะไรไม่ได้ และไม่อยากจ่ายเงินก้อนโตในการดูแล เลยเอาไปเร่ขายให้อเมริกา ซึ่งตอนนั้นยังดี ๆ กันอยู่ แถมทั้งรัสเซียและอเมริกามีศัตรูร่วมกันคืออังกฤษ เลยใส่พานวางถวาย

รัสเซียตัดสินใจเสนอขายอะแลสกาให้อเมริกาใน ค.ศ. 1859 แต่การเจรจาซื้อขายถูกชะลอไปเนื่องจากสงครามเย็น จนกระทั่งวันที่ 30 มีนาคม ค.ศ. 1867 วิลเลียม เอช. ซูเวิร์ด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีแอนดรูว์ จอห์นสัน ซื้ออะแลสกามาจากรัสเซีย  

การซื้อขายครั้งนี้ถูกวิจารณ์อย่างหนัก สื่อในอเมริกาลงข่าวเสียดสีว่าการซื้ออะแลสกาเป็นความโง่เขลาของ ซูเวิร์ด และเป็นสวนหมีขั้วโลกของ จอห์นสัน ส่วนชาวรัสเซียต่างไม่พอใจที่อะแลสกาถูกขายไป เพราะรัสเซียทุ่มเทพัฒนาอะแลสกามาอย่างยาวนาน อยู่ ๆ จะมาขายไปง่ายๆ ได้ไง แถมขายถูกเสียด้วย

'โอซิล' อดีตนักเตะอาร์เซนอล ร่วมแพ็กอาหาร - ของใช้ บริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวในตุรเคีย

(10 ก.พ. 66) 'เมซุต โอซิล' อดีตเพลย์เมกเกอร์ของอาร์เซนอล เผยภาพที่ตนกำลังช่วยแพ็กของ เพื่อนำไปให้กับผู้ที่ประสบภัยจากเหตุแผ่นดินไหวตุรเคียและซีเรีย

ย้อนกลับไปเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ มีการรายงานว่าเกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.8 แมกนิจูด พร้อมกับอาฟเตอร์ช็อกอีกว่า 40 ครั้ง ส่งผลให้จนถึงตอนนี้ตัวเลขผู้เสียชีวิตทะลุ 12,000 รายเข้าไปแล้ว และมีผู้สูญหายอีกนับพัน

ล่าสุด โอซิล นักเตะดาวดังของสโมสรในตุรเคียอย่าง สโมสรฟุตบอลอิสตันบูล บาซาคเซฮีร์ ได้เผยภาพที่เขา และเพื่อนร่วมทีมคนอื่น ๆ ต่างช่วยแพ็กของเพื่อส่งให้กับผู้ประสบภัยจากเหตุแผ่นดินไหวในครั้งนี้ ที่ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ทางต้นสังกัดได้จัดตั้งขึ้น เพื่อส่งต่อทั้งอาหารและสิ่งของจำเป็นให้กับผู้ประสบภัย ในขณะที่ทางการตุรเคียได้สั่งงดการแข่งขันกีฬาทั้งหมดภายในประเทศ

ทีม USAR Thailand พร้อมสุนัข K9 'เซียร่า-ซาฮาร่า' เดินทางถึงตุรเคียแล้ว รอต่อเครื่องไปเมืองอาดานา

วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566 อัปเดตความเคลื่อนไหว ทีม USAR Thailand จำนวน 42 คน พร้อมสุนัข K9 2 ตัว คือ 'น้องเซียร่า' และ 'น้องซาฮาร่า' ขณะนี้เดินทางถึงประเทศตุรเคียเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

โดยระหว่างรอต่อเครื่องได้เตรียมการประชุมทีม USAR Thailand เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าร่วมภารกิจ ค้นหาผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวที่ประเทศตุรเคีย

ทั้งนี้ Facebook Fanpage กองส่งเสริมการป้องกันสาธารณภัย ได้โพสต์ภาพความน่ารักในระหว่างที่น้อง K 9 เซียร่าและซาฮาร่า รอต่อเครื่องจากเมืองอิสตันบูล เพื่อเดินทางไปยังเมืองอาดานานั้น ได้เจอเพื่อนสุนัขทีมค้นหาอื่น ที่เดินทางมาร่วมปฎิบัติภารกิจในครั้งนี้ ได้มีการถ่ายภาพร่วมเฟรมเป็นที่ระลึกน่าเอ็นดู

'ปราสาทกาซีอันเตป' มรดกยุคโรมันอายุ 2 พันปี พังทลายลงจากเหตุแผ่นดินไหวในตุรเคีย

ภัยพิบัติแผ่นดินไหวระดับรุนแรงมากที่เกิดขึ้นในทางตอนใต้ของประเทศตุรเคียและตอนเหนือของประเทศซีเรีย ซึ่งมีศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ที่เมืองกาซีอันเตป (Gaziantep) สร้างความเสียหายใหญ่หลวง อาคารบ้านเรือนทลายลงมาเหลือสภาพเป็นซากปรักหักพัง เศษอิฐซากปูนที่ทับถมกองพะเนินมีครอบครัวของใครบางคนที่รอการค้นพบอยู่ในนั้น โดยไม่ทราบว่าจะพบในสภาพเป็นหรือตาย

ครบหนึ่งสัปดาห์ของเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ตุรเคียและซีเรีย ผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 33,000 รายแล้ว และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก คาดก็อาจจะขึ้นไปถึงหลักแสน การค้นหาผู้รอดชีวิตและผู้เสียชีวิตดำเนินไปท่ามกลางความโศกเศร้าเสียใจของคนในพื้นที่ ขณะที่อากาศหนาวเหน็บเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่และอาสาสมัคร บวกกับความซับซ้อนทางการเมืองของพื้นที่ ทำให้ความช่วยเหลือจากนานาชาติเป็นไปอย่างล่าช้า

ความเสียหายทางด้านวัตถุสิ่งปลูกสร้างนั้น หนักหนากว่าการที่ผู้คนสูญเสียบ้านเรือนที่อยู่อาศัย เนื่องด้วยประเทศตุรเคียเป็นดินแดนแห่งอารยธรรมหลายจักรวรรดิสำคัญในประวัติศาสตร์โลก ตั้งแต่จักรวรรดิโรมันตะวันออก จักรวรรดิไบแซนไทน์ และจักรวรรดิออตโตมัน ซึ่งมรดกทางอารยธรรมเหล่านั้นยังหลงเหลืออยู่ให้เห็นหลายแห่งทั่วประเทศตุรเคีย รวมถึงประเทศที่มีพรมแดนติดกันอย่างซีเรีย ซึ่งในอดีตก็เคยเป็นพื้นที่ในจักรวรรดิเดียวกันความเสียหายหรือผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้จึงเกิดขึ้นกับโบราณสถานเหล่านั้นด้วย

ในพื้นที่ประเทศตุรเคียและซีเรียมีโบราณสถานหลายแห่งที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากองค์การ เพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization : UNESCO) ซึ่งตามข่าวที่ยูเนสโกเผยแพร่ออกมาเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 ยูเนสโกเป็นกังวลและได้ร่วมกับพันธมิตรลงพื้นที่สำรวจความเสียหายแล้ว แต่ยังไม่ได้รับรายงานว่ามีแหล่งมรดกโลกแห่งใดเสียหาย

สำหรับในซีเรีย ยูเนสโกกังวลเป็นพิเศษเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมืองโบราณอเลปโป ซึ่งอยู่ในรายชื่อมรดกโลกที่อยู่ในภาวะอันตราย (World Heritage in Danger List) จากการสำรวจของเจ้าหน้าที่และพันธมิตรพบว่า หอคอยด้านตะวันตกของกำแพงเมืองเก่าและอาคารเก่าหลายแห่งในตลาดได้รับความเสียหาย

ส่วนในตุรเคีย ยูเนสโกบอกว่า “รู้สึกเศร้าใจกับการพังทลายของอาคารหลายแห่งในเมืองดิยาร์บากีร์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของ ‘ป้อมปราการดิยาร์บากีร์ และภูมิทัศน์วัฒนธรรมสวนเฮฟเซล การ์เดน’ (Diyarbakır Fortress and Hevsel Gardens Cultural Landscape) ซึ่งเป็นศูนย์กลางที่สำคัญของจักรวรรดิโรมัน จักรวรรดิไบแซนไทน์ และจักรวรรดิออตโตมัน”

นอกจากนี้ ยูเนสโกกังวลว่าแหล่งมรดกโลกอื่น ๆ ที่อยู่ไม่ไกลจากศูนย์กลางแผ่นดินไหวอาจได้รับผลกระทบด้วย เช่น โกเบคลี เทเป (Göbekli Tepe), เนมรุต ดัก (Nemrut Dağ) และเนินเขาอาร์สลันเตเป (Arslantepe) แม้จะไม่ใช่มรดกโลก แต่โบราณสถานที่เห็นชัดเจนว่าพังเสียหายจากแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวครั้งนี้ คือ 'ปราสาทกาซีอันเตป' (Gaziantep Castle) มรดกอารยธรรมยุคโรมันที่อยู่คู่เมืองนี้มากว่า 2,000 ปี

เมืองกาซีอันเตป (Gaziantep) ตั้งอยู่บนคาบสมุทรอานาโตเลีย เป็นหนึ่งในเมืองเก่าแก่ที่สุดในโลกที่มีประชากรอาศัยตั้งรกรากต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ในยุคจักรวรรดิออตโตมัน (ค.ศ. 1299-1922) เมืองนี้มีชื่อว่า 'แอนเตป' (Antep) ก่อนจะถูกเปลี่ยนชื่อเป็น 'กาซีอันเตป' (Gaziantep) ในปี 1928 และใช้ชื่อนี้ต่อมาถึงทุกวันนี้

ปราสาทกาซีอันเตปตั้งอยู่ใจกลางเมืองกาซีอันเตป จากการขุดค้นทางโบราณคดีมีหลักฐานว่าปราสาทหินแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นครั้งแรก เพื่อเป็นหอสังเกตการณ์ในสมัยจักรวรรดิโรมัน ในช่วง 2-3 ศตวรรษก่อนคริสต์ศักราช และต่อมามีการขยายต่อเติมให้เป็นปราสาทเต็มรูปแบบ ตามข้อมูลจากเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของพิพิธภัณฑ์และแหล่งโบราณคดีในประเทศตุรเคีย ระบุว่ารูปแบบปราสาทที่เห็นในยุคปัจจุบันเป็นรูปแบบที่ต่อเติมปรับปรุงในสมัยจักรพรรดิจัสติเนียนแห่งจักรวรรดิไบแซนไทน์ ในช่วง ค.ศ. 527-565

อาลัย 'Proteo' สุนัขค้นหากู้ภัยจากเม็กซิโก เสียชีวิตขณะปฏิบัติภารกิจช่วยผู้ประสบภัยในตุรเคีย

(13 ก.พ. 66) เฟซบุ๊ก 'World Forum ข่าวสารต่างประเทศ' เผยเรื่องราว การจากไปของ 'Proteo' (โปรเตโอ) สุนัขค้นหากู้ภัยขณะปฏิบัติภารกิจ ณ ศูนย์กลางแผ่นดินไหว ประเทศตุรเคีย โดยมีข้อความว่า 

กระทรวงกลาโหมเม็กซิโก ประกาศข่าวร้ายในโพสต์บนบัญชีทวิตเตอร์ “ขอบคุณสำหรับงานที่กล้าหาญของคุณ คุณทำงานของคุณสำเร็จแล้ว Proteo”

ตามข้อมูลที่ไม่ได้ลงรายละเอียดลึก ท่ามกลางความเสียใจของทีมค้นหา ระบุว่า “โปรเตโอ กำลังค้นหาในซากอาคาร เกิดอุบัติเหตุซากอาคารถล่มลงมาเขาบาดเจ็บสาหัส โปรเตโอ ทนพิษบาดแผลไม่ไหวหลังจากปฐมพยาบาล”

'กัมพูชา' ประกาศ 'กุน ขแมร์' มีผู้เข้าแข่งขันมากพอ ไม่สนไทยขู่คว่ำบาตรการแข่ง ลั่น!! ไทยไม่เข้าร่วมก็ไม่เป็นไร

(13 ก.พ. 66) ทางกลุ่ม Facebook Fanpage : ASEAN "มอง" ไทย ได้มีการเผยข้อมูลว่า ประเทศกัมพูชาออกมาประกาศว่า...

“ตอนนี้ประเทศลาว, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, เมียนมา, เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ได้เป็นสมาชิกของสหพันธ์กุน ขแมร์นานาชาติ และได้ลงทะเบียนรายชื่อนักกีฬาในการแข่งขันซีเกมส์แล้ว ณ ตอนนี้ ประเทศไทยยังไม่มีการขึ้นทะเบียนนักกีฬา ซึ่งหมายความว่าพวกเขาจะไม่ส่งแข่งขัน แถมพวกเขายังกดดันไม่ให้หลายประเทศเข้าร่วม ถ้าประเทศไทยไม่มาก็ไม่เป็นไร เรามีผู้เข้าแข่งขันมากเกินพอ และเกินโควตาซีเกมส์“ Mr.Meam Ra ประธาน KKIF กล่าว

การประชุมพิเศษของผู้นำสหพันธ์กุน ขแมร์นานาชาติ (KKIF) ที่กรุงพนมเปญเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2566 ระหว่างการประชุม ฝ่ายไทยกล่าวว่าจะเข้าร่วมการแข่งขัน (ครั้งนั้นคุณชินวุธ ศิริสัมพันธ์ หรือครูวู้ดดี้ เป็นตัวแทนฝ่ายไทย)

จีนพบยานบินลึกลับโผล่เหนือน่านฟ้า ด้านกองทัพพร้อมสอย ไม่ต้องรออ้างอิงสัญชาติ

สื่อจีนได้รายงานว่า พบยานบินปริศนาโผล่เหนือน่านฟ้าจีน บริเวณทะเลปั๋วไห่ ซึ่งเป็นที่ตั้งของท่าเรือชายฝั่งทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือของจีน หนึ่งในท่าเรือขนส่งที่คับคั่งเป็นอันดับต้นๆ ของโลก 

หน่วยนาวิกโยธินแห่งนครชิงเต่ารายงานว่าพบยานบินปริศนาไม่ทราบสัญชาติ ลอยอยู่บนฟ้าใกล้เขตสนามบินนานาชาติรื่อจ้าว ในขณะที่กำลังทำการซ้อมรบในบริเวณช่องแคบปั๋วไห่ ที่เชื่อมต่อกับทะเลเหลือง เมื่อวันอาทิตย์ (12 ก.พ. 66) ที่ผ่านมา ด้านฝ่ายกองทัพจีนแถลงว่า พร้อมที่จะส่งเครื่องบินขับไล่ ทำลายยานบินปริศนาลำดังกล่าว ให้ตกลงที่กลางทะเลปั๋วไห่แล้ว 

โดยได้ประกาศแจ้งเตือนชาวประมงที่อยู่ในน่านน้ำทะเลปั๋วไห่ ไม่ให้เข้าใกล้บริเวณที่พบยานบินปริศนาลำนี้ จนกว่าจะมีการยืนยันว่าได้ทำลายยานบินลำดังกล่าวไปแล้ว และหากมีเรือประมงลำใดพบเศษซากของวัตถุปริศนาที่ตกสู่ทะเลนี้ ขอให้ถ่ายภาพ และคลิปวิดีโอไว้เป็นหลักฐาน ก่อนที่จะขอความร่วมมือช่วยกู้ซากนำส่งให้กับทางการจีนต่อไป

วันตะดิงจุด หรือ ออกพรรษาของเมียนมา มรดกทางวัฒนธรรมร่วม ที่ควรรีบขอขึ้นทะเบียน

มีข่าวดังมาจากองค์การ UNESCO ว่าประเทศไทยขอขึ้นทะเบียนวันสงกรานต์เป็นมรดกทางวัฒนธรรม ในขณะที่กัมพูชายังมึนตึ๊บกับเรื่องมวยไทยกับกุน ขแมร์ กันอยู่

เอย่ามองว่าวัฒนธรรมเหล่านี้มันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมร่วมในดินแดนอุษาคเนย์แห่งนี้ อย่างสงกรานต์ในไทย-ในลาว เรียกว่า ‘ตรุษสงกรานต์’ ในกัมพูชาเรียกว่า ‘โจล ชนัม ขแมร์’ ส่วนในพม่าเรียกว่า ‘ติงจ่าน’ หรือ ตะจ่านนั้น ทุกความเชื่อเหมือนกันคือเป็นวันปีใหม่และมีเทศกาลเล่นน้ำ รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ซึ่งหากเอาหลักฐานทางประวัติศาสตร์มาพูดย่อมจะพูดกันได้ยาก ว่าเป็นวัฒนธรรมของประเทศใดประเทศหนึ่ง  

ทั้งนี้ยังมีอีก 1 เทศกาลที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้กันคือ วันตะดิงจุด หรือ ออกพรรษาของพม่า ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมร่วมเช่นกัน เพียงแต่ในแต่ละประเทศมีประเพณีต่างกันไปบ้าง เช่น ในไทยมีการตักบาตรเทโว เป็นต้น ส่วนในพม่าและลาวนั้น มีการประดับประดาเทียนตามพื้นที่วัดและอาคารบ้านเรือนเพื่อสักการะต่อพระพุทธเจ้าที่เสด็จลงมาจากสวรรค์นั่นเอง

‘หวัง อี้’ พบปะ ‘ดอน ปรมัตถ์วินัย’ หารือสายสัมพันธ์ ‘จีน-ไทย’

(14 ก.พ. 66) สำนักข่าวซินหัว เผยว่า เมื่อวันจันทร์ (13 ก.พ.) ‘หวัง อี้‘ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมาธิการกิจการต่างประเทศแห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน (CPC) พบปะกับ ‘ดอน ปรมัตถ์วินัย‘ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย ณ กรุงปักกิ่งของจีน

‘หวัง‘ สมาชิกกรมการเมืองแห่งคณะกรรมการกลางพรรคฯ กล่าวว่า จีนและไทยใกล้ชิดกันดังครอบครัว โดย ‘สีจิ้นผิง‘ ประธานาธิบดีจีน ได้เดินทางเยือนไทยในปีก่อนและบรรลุฉันทามติสำคัญกับฝ่ายไทยในการสร้างประชาคมจีน-ไทยที่มีอนาคตร่วมกัน เพื่อความมั่นคง ความมั่งคั่ง และความยั่งยืนยิ่งขึ้น

หวังเสริมว่า ฝ่ายจีนพร้อมทำงานร่วมกับไทยเพื่อดำเนินการตามผลลัพธ์จากการเดินทางเยือนไทยของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง คุ้มครองสิทธิและผลประโยชน์อันชอบธรรมตามกฎหมายของสองประเทศ และพิทักษ์สันติภาพและเสถียรภาพระดับภูมิภาค


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top