Tuesday, 25 March 2025
World

ทหารพม่าบุกเผาชุมชนสิงขร อ้างกะเหรี่ยงหลบซ่อน ชาวบ้านร่ำไห้ลี้ภัยหลบเข้ามาพึ่งญาติฝั่งไทย

(18 ก.พ. 68) ทหารเมียนมาบุกเผาทำลายบ้านเรือนหลายหลังในหมู่บ้านสิงขร เขตตะนาวศรี ประเทศเมียนมา ส่งผลให้ชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนไทยพลัดถิ่นต้องอพยพหนีตาย บางส่วนลี้ภัยเข้ามาฝั่งไทยอย่างหวาดกลัว ขณะที่รัฐบาลไทยยังไม่มีมาตรการช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรม

เหตุการณ์รุนแรงครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากทหารเมียนมาเชื่อว่าหมู่บ้านสิงขรเป็นที่หลบซ่อนของกองกำลังกะเหรี่ยง KNU และกองกำลังประชาชน PDF ก่อนหน้านี้เพียงสามวัน ทหารเมียนมาได้บุกโจมตีและเผาทำลายบ้านเรือนไปแล้ว 4-5 หลัง พร้อมใช้โดรนและเครื่องบินโจมตี ส่งผลให้วัดสิงขรวราราม ซึ่งเป็นวัดไทยโบราณในพื้นที่ ได้รับความเสียหายอย่างหนัก

สำนักข่าวชายขอบรายงานว่า “ทหารเมียนมาบุกเข้ามาตั้งแต่ช่วงเช้า เผาบ้านหลายหลังจนชาวบ้านต้องวิ่งหนีเอาชีวิตรอด โชคดีที่พระและชาวบ้านบางส่วนหลบหนีออกมาได้ก่อนหน้านี้ แต่ตอนนี้ทุกคนต่างไร้ที่อยู่อาศัย”

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ชาวไทยพลัดถิ่นกว่า 100 ครอบครัวจำเป็นต้องละทิ้งบ้านเรือนของตน หลายคนพยายามลี้ภัยเข้ามายังฝั่งไทยผ่านจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แต่กลับต้องใช้ชีวิตอย่างหลบซ่อน เนื่องจากไม่มีเอกสารที่สามารถยืนยันสถานะทางกฎหมายในประเทศไทยได้ หากถูกเจ้าหน้าที่ตรวจพบก็อาจถูกจับกุมและส่งกลับไปยังเมียนมา ซึ่งสถานการณ์ยังเต็มไปด้วยความขัดแย้ง

“พวกเขาไม่มีบ้าน ไม่มีอาหาร และเด็กๆ ก็นอนไม่ได้เรียนหนังสือ ทุกคนกอดคอกันร้องไห้เมื่อเห็นภาพบ้านของตัวเองกลายเป็นเถ้าถ่าน” แหล่งข่าวกล่าวเสริม

หมู่บ้านสิงขรเคยเป็นส่วนหนึ่งของสยามมาก่อน แต่ต้องสูญเสียให้แก่อังกฤษในยุคล่าอาณานิคม ปัจจุบันแม้ดินแดนจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของเมียนมา แต่คนไทยในหมู่บ้านยังคงรักษาวัฒนธรรม ประเพณี และภาษาไทยไว้อย่างเหนียวแน่น วัดสิงขรวรารามเป็นศูนย์กลางของชุมชนและเป็นหลักฐานของรากเหง้าไทยในพื้นที่

อย่างไรก็ตาม การสู้รบระหว่างกองทัพเมียนมากับกลุ่มต่อต้านทำให้ชาวบ้านต้องตกอยู่ในความเสี่ยง แม้พวกเขาจะพยายามใช้ชีวิตอย่างสงบ แต่ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงการถูกลูกหลงจากสงครามได้

ขณะที่สถานการณ์ยังคงเลวร้าย ไม่มีรายงานว่ารัฐบาลไทยได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือชาวไทยพลัดถิ่นในพื้นที่ดังกล่าว มีเพียงกองกำลังทหารของไทยที่รับทราบสถานการณ์เท่านั้น

“คนไทยที่นี่ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนต่างแดน พวกเขายังมีญาติพี่น้องในไทย มีสายเลือดและวัฒนธรรมร่วมกัน ถึงเวลาหรือยังที่รัฐบาลไทยจะเข้ามาช่วยเหลือและให้ความคุ้มครองคนไทยที่ถูกลืมเหล่านี้” แหล่งข่าวตั้งคำถาม

สถานการณ์ในหมู่บ้านสิงขรสะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายของชาวไทยพลัดถิ่นที่ยังคงยึดมั่นในอัตลักษณ์ของตนเอง แต่กลับต้องเผชิญกับชะตากรรมที่ไร้ที่พึ่ง การช่วยเหลือจากภาครัฐจะเป็นความหวังเดียวที่พวกเขามี เพื่อให้สามารถกลับไปใช้ชีวิตอย่างปกติได้อีกครั้ง

เวียดนามคิกออฟ ลดข้าราชการ 100,000 ตำแหน่ง ยุบกระทรวงหลายแห่ง ลดภาระคลัง หวังขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

(18 ก.พ.68) สภาเวียดนามได้ลงมติเห็นชอบแผนปรับโครงสร้างรัฐบาลครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายทศวรรษ โดยมีเป้าหมายในการลดขนาดกระทรวงและหน่วยงานภาครัฐลงประมาณ 20% เพื่อลดภาระและเพิ่มประสิทธิภาพของระบบราชการ สู่การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ท้าทาย

ตามรายงานของบลูมเบิร์ก การลงมติครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ระหว่างการประชุมสมัยวิสามัญของสมัชชาแห่งชาติ ณ กรุงฮานอย โดยการปรับโครงสร้างครั้งนี้จะส่งผลให้ข้าราชการราว 100,000 คนต้องถูกลดตำแหน่ง ซึ่งเป็นการปรับโครงสร้างที่ใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่การปฏิรูปเศรษฐกิจในทศวรรษ 2520

แผนการนี้รวมถึงการยุบกระทรวง 5 แห่ง และการควบรวมกระทรวงสำคัญ เช่น กระทรวงการคลังเข้ากับกระทรวงการวางแผนและการลงทุน นอกจากนี้ รัฐบาลยังจะปิดสถานีโทรทัศน์ของรัฐหลายช่องและยกเลิกหนังสือพิมพ์และนิตยสารบางฉบับเพื่อลดช่องทางการเผยแพร่ข้อมูล

การปฏิรูปครั้งนี้ได้รับการผลักดันโดย โต เลิม เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ซึ่งกำลังเตรียมตัวสำหรับการปรับเปลี่ยนผู้นำในปีหน้า และมุ่งหวังที่จะสร้างผลงานสำคัญในช่วงที่กำลังขับเคลื่อนการเติบโตเศรษฐกิจในระดับ 8% ในปีนี้ โดยมีเป้าหมายยกระดับเศรษฐกิจให้เติบโตในระดับเลขสองหลักในปีถัดไป

อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปนี้มาพร้อมกับความท้าทาย เนื่องจากมีการลดตำแหน่งงานของข้าราชการหลายพันคน ซึ่งรัฐบาลเตรียมเงินชดเชยให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบ แต่หลายคนยังคงกังวลเกี่ยวกับการหางานใหม่ในสถานการณ์ที่ภาครัฐกำลังลดขนาดและแรงงานจำนวนมากเคลื่อนย้ายไปยังภาคเอกชน

Mixue ผงาด!! ครองเชนร้านเครื่องดื่มใหญ่สุดในโลก สาขาแซงหน้ายักษ์ McDonald’s – Starbucks

(18 ก.พ.68) Mixue (มี่เสวี่ย) แบรนด์ชานมไข่มุกและไอศกรีมจากจีน กลายเป็นเชนร้านอาหารและเครื่องดื่ม (F&B) ที่มีจำนวนสาขามากที่สุดในโลก โดยมีร้านมากถึง 45,300 แห่งทั่วโลก แซงหน้า McDonald’s และ Starbucks ตามข้อมูลที่ยื่นต่อตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงเมื่อวันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา

การเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการที่ Mixue เตรียมเปิดขายหุ้น IPO เป็นครั้งแรกที่ตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงในอนาคต

จากข้อมูลของMcDonald’s พบว่า ณ วันที่ 1 มกราคม มีสาขาทั่วโลกราว 43,000 สาขา ส่วน Starbucks มี 40,200 สาขา โดยตามมาด้วย Subway และ KFC ตามรายงานของ Momentum Works บริษัทวิเคราะห์ตลาดจากสิงคโปร์ 

จำนวน 70% ของสาขาทั้ง 45,300 ของ Mixue ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของแบรนด์

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีจำนวนร้านค้ามากที่สุด แต่ Mixue ยังอยู่อันดับที่ 4 ของโลกในแง่ของมูลค่าธุรกรรมรวม (GMV) ที่ 6.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดย Starbucks นำมาเป็นอันดับหนึ่งที่ 55.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามมาด้วย Inspire Brands ซึ่งเป็นเจ้าของ Dunkin' Donuts ที่ 14.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และ Tim Hortons ที่ 7.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ก่อนหน้านี้มีรายงานข่าวจากรอยเตอร์ระบุว่าในปี 2024 Mixue วางแผนระดมทุน 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ผ่านการเสนอขายหุ้น IPO และเตรียมเปิดการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงต้นเดือนหน้า 

บริษัทมีกำไรสุทธิ 3.5 พันล้านหยวน (479 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2023 เพิ่มขึ้น 42.3% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยอ้างว่าในแต่ละวันสามารถขายเครื่องดื่มได้ถึง 5.8 พันล้านแก้ว

สำหรับประวัติของ Mixue ก่อตั้งโดย Zhang Hongchao นักธุรกิจชาวจีนที่เกิดในปี 1977 ซึ่งเริ่มสร้างแบรนด์ตั้งแต่อายุ 21 ปี โดยต่อมา Zhang Hongfu น้องชายของเขาได้เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นร่วม

Forbes ประเมินมูลค่าของ Mixue ที่ 2.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2023 ขณะที่ในการระดมทุนรอบก่อนหน้าเมื่อมกราคม 2021 บริษัทมีมูลค่าอยู่ที่ 3.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้สองพี่น้องตระกูล Zhang กลายเป็นหนึ่งในมหาเศรษฐีของจีน

อินโดนีเซียและเวียดนามเป็นสองตลาดต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดของ Mixue โดยมีจำนวนร้าน 2,667 แห่งในอินโดนีเซีย และ 1,304 แห่งในเวียดนาม ในปี 2023 Mixue เผยว่ามีรายได้จากตลาดเวียดนามเกือบ 1.26 ล้านล้านดอง (49.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งเพิ่มขึ้น 2.6 เท่า จากปี 2022 ตามข้อมูลจาก Vietdata

ส่วนประเทศไทย Mixue เปิดตัวในประเทศไทยเมื่อเดือนกันยายน 2565 ภายใต้การบริหารของบริษัท มี่เสวี่ย (ประเทศไทย) จำกัด โดยสาขาแรกตั้งอยู่ที่ซอยรามคำแหง 53 แบรนด์ชานมและไอศกรีมสัญชาติจีนนี้ตั้งเป้าขยายสาขาในไทยให้ได้ 2,000 แห่งภายใน 3 ปี  

การเติบโตของ Mixue ในไทยเป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยในเดือนพฤษภาคม 2566 มีเพียง 21 สาขา แต่ภายในเดือนมกราคม 2567 จำนวนสาขาเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดเป็น 200 สาขา นอกจากนี้ บริษัทมีแผนสร้าง คลังสินค้าและโรงงานแปรรูปผลไม้ ในประเทศไทย เพื่อนำผลไม้คุณภาพสูงของไทยมาใช้เป็นวัตถุดิบหลักในร้าน Mixue ทั้งในประเทศและตลาดต่างประเทศ

เวียดนามไฟเขียวเปิดประตูรับ 'สตาร์ลิงก์' ใช้ดาวเทียมมักส์แลกทรัมป์เลี่ยงขึ้นภาษี

(19 ก.พ.68) เวียดนามกำลังเดินหน้าออกกฎระเบียบใหม่ที่เอื้อให้ Starlink บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมของ อีลอน มัสก์ สามารถให้บริการภายในประเทศได้ โดยเปิดทางให้บริษัทต่างชาติสามารถควบคุมการดำเนินงานของตนเองได้อย่างเต็มที่ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาสำคัญ ท่ามกลางความตึงเครียดทางเศรษฐกิจระหว่างเวียดนามและสหรัฐฯ

กฎระเบียบใหม่นี้จะอนุญาตให้ Starlink สามารถดำเนินธุรกิจในเวียดนามผ่านบริษัทลูกที่ถือหุ้นทั้งหมดโดย SpaceX ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของมัสก์ การตัดสินใจดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากการเจรจาที่ยืดเยื้อระหว่างเวียดนามกับ SpaceX และถูกมองว่าเป็นสัญญาณแห่งความร่วมมือ หรือ ‘กิ่งมะกอก’ ที่ส่งถึงรัฐบาลสหรัฐฯ

นโยบายใหม่นี้มีขึ้นในช่วงที่สหรัฐฯ ภายใต้การนำของ โดนัลด์ ทรัมป์ ขู่ว่าจะเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจากเวียดนาม ซึ่งอาจส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจของประเทศที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก ปัจจุบัน สหรัฐฯ ถือเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนาม โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมสิ่งทอ อิเล็กทรอนิกส์ และสินค้าเกษตร

จากอุปสรรคสู่โอกาส: เวียดนามเปลี่ยนจุดยืนต่ออินเทอร์เน็ตดาวเทียม ก่อนหน้านี้ เวียดนามมีข้อจำกัดเข้มงวดเกี่ยวกับการให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม โดยไม่อนุญาตให้บริษัทต่างชาติถือหุ้นข้างมากหรือดำเนินธุรกิจโดยอิสระ ส่งผลให้แผนขยายตลาดของ SpaceX ในเวียดนามต้องหยุดชะงักในช่วงปลายปี 2023 อย่างไรก็ตาม ร่างกฎหมายฉบับใหม่ ซึ่งมีกำหนดนำเสนอในที่ประชุมรัฐสภาในวันที่ 19 กุมภาพันธ์นี้ จะเปิดทางให้บริษัทอินเทอร์เน็ตดาวเทียมสามารถควบคุมการดำเนินงานของตนเองได้เต็มรูปแบบ ภายใต้โครงการนำร่องที่มีกำหนดดำเนินการจนถึงปี 2030

หาก Starlink สามารถเข้าสู่ตลาดเวียดนามได้สำเร็จ อาจช่วยให้ประเทศลดแรงกดดันจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ ได้บางส่วน ปัจจุบัน เวียดนามมียอดเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ สูงถึง 123,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 4.1 ล้านล้านบาท) ซึ่งถือเป็นตัวเลขสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้รัฐบาลทรัมป์พิจารณาเพิ่มภาษีนำเข้า

ในขณะเดียวกัน รัฐบาลเวียดนามเปิดเผยว่า SpaceX มีแผนลงทุนมูลค่า 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 50,000 ล้านบาท) ในเวียดนาม โดยขยายเครือข่ายซัพพลายเออร์และพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านอินเทอร์เน็ต ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่ช่วยเร่งการอนุมัติกฎระเบียบใหม่

นอกจากการเปิดตลาดอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมแล้ว เวียดนามยังพยายามปรับสมดุลการค้ากับสหรัฐฯ โดยเสนอที่จะนำเข้าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรจากอเมริกามากขึ้น และอยู่ระหว่างหารือเกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าอื่น ๆ เพื่อบรรเทาแรงกดดันจากมาตรการภาษีที่อาจเกิดขึ้น

การตัดสินใจเปิดทางให้ Starlink ดำเนินธุรกิจในเวียดนามสะท้อนถึงแนวทางที่รัฐบาลฮานอยใช้ในการรับมือกับแรงกดดันทางเศรษฐกิจจากมหาอำนาจโลก พร้อมส่งสัญญาณถึงวอชิงตันว่า เวียดนามพร้อมที่จะเป็นพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ หากได้รับข้อตกลงที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน

ทรัมป์แบนสื่อยักษ์ AP พ้นทำเนียบขาว เหตุไม่ยอมเรียก ‘อ่าวอเมริกา’ ในรายงานข่าว

(19 ก.พ.68) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สั่งจำกัดการเข้าถึงของผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าว Associated Press (AP) ในทำเนียบขาวและเครื่องบินประจำตำแหน่ง Air Force One หลัง AP ปฏิเสธที่จะเปลี่ยนการเรียกชื่อ 'อ่าวเม็กซิโก' เป็น 'อ่าวอเมริกา' ตามคำสั่งของทรัมป์

“ถ้ายังไม่เปลี่ยนชื่อ ก็อย่าหวังว่าจะได้ทำข่าว” ทรัมป์กล่าวระหว่างให้สัมภาษณ์ที่คฤหาสน์มาร์-อะ-ลาโก รัฐฟลอริดาเมื่อวานนี้ โดยย้ำว่า AP จะถูกจำกัดพื้นที่รายงานข่าว จนกว่าพวกเขาจะยอมรับว่า 'อ่าวอเมริกา' ควรเป็นชื่ออย่างเป็นทางการของน่านน้ำดังกล่าว

AP ยืนยันว่าจะยังคงใช้ชื่อเดิมที่มีมานานกว่า 400 ปี และในฐานะองค์กรข่าวระดับโลก จะรายงานเรื่องนี้ตามหลักบรรณาธิการ พร้อมรับทราบชื่อที่ทรัมป์เลือก แต่ไม่ยอมเปลี่ยนการเรียกขานหลัก

การกดดันสื่อครั้งนี้ทำให้สมาคมผู้สื่อข่าวทำเนียบขาวออกมาประท้วงทันที โดยระบุว่าเป็นการคุกคามเสรีภาพของสื่อมวลชน ขณะที่องค์กรข่าวใหญ่ ๆ เช่น Reuters ยังคงใช้ชื่อ 'อ่าวเม็กซิโก' และจะกล่าวถึงคำสั่งของทรัมป์ในบริบทที่เกี่ยวข้องเท่านั้น

การแบน AP ออกจากศูนย์กลางอำนาจของสหรัฐฯ ครั้งนี้ อาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของศึกสื่อ-การเมือง ที่ร้อนระอุขึ้นทุกวัน

ผู้ว่ากัมพูชานำ 'พล.ต. เนียง' ต้นเหตุร้องเพลงปลุกใจ เคลียร์ทหารไทย คาดเบื้องบนสั่งบุกปราสาทไทย

(19 ก.พ.68) สื่อทางการกัมพูชารายงานว่า นาย เมียน จันยาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรมีชัย ได้นำคณะทหารกัมพูชา นำโดย พล.ต เนียง คิม ผู้บัญชาการพลน้อยที่ 42 เดินทางมายังบริเวณปราสาทตาเมือนธม อำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์ เพื่อเจรจาและกระชับความสัมพันธ์กับทหารไทย หลังเหตุการณ์ที่สร้างความตึงเครียดระหว่างสองประเทศ

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2567 พล.ต เนียง คิม ได้นำกลุ่มเด็กนักเรียน พระสงฆ์ และทหารกัมพูชา ขึ้นมาร้องเพลงปลุกใจที่ปราสาทตาเมือนธม ซึ่งนำไปสู่การประท้วงจากกองทัพภาคที่ 2 ของไทย ต่อกองบัญชาการทหารภูมิภาคที่ 4 ของกัมพูชาในวันที่ 18 ตุลาคม 2567 เหตุการณ์ลุกลามเมื่อ พล.ต เนียง นำคณะแม่บ้าน 25 คน มาร้องเพลงปลุกใจอีกครั้ง จนเกิดปฏิกิริยาจากทหารไทยและการตอบโต้ทางวาจาจาก พล.ต เนียง ตามที่มีรายงานข่าว

เพจ 'OddarMeanchey' ของกัมพูชาได้เผยแพร่คลิปวิดีโอขณะ นายเมน จันญาดา นำคณะเข้าพบ พ.ท.จักรกฤษ ปิยะศุภฤกษ์ ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 4 กรมทหารราบที่ 23 ฝ่ายไทย เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2568 เวลาประมาณ 15.00 น. ทั้งสองฝ่ายได้พูดคุยและจับมือร่วมกันเพื่อลดความตึงเครียด

นาย เมียน จันยาดา กล่าวกับทหารไทยว่า “ไม่มีใครมาแย่งหรือเบียดเบียนกัน เราอยู่ร่วมกัน เรารักกัน” พร้อมย้ำว่าประเด็นพรมแดนควรเป็นเรื่องของคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องระหว่างสองประเทศ ขณะที่สถานการณ์ชายแดนยังคงสงบ และปราสาทตาเมือนธมยังเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าเยี่ยมชมได้ตามปกติ

อย่างไรก็ตาม ทั้งฝ่ายไทยและกัมพูชายังคงตรึงกำลังในพื้นที่เพื่อเฝ้าระวัง โดยเฉพาะหลังจากเกิดกระแสโซเชียลในกัมพูชา ที่มีการยกย่อง พล.ต เนียง ว่าเป็น 'ฮีโร่' ที่กล้าตอบโต้ทหารไทย ขณะที่โซเชียลไทยเองก็มีการตอบโต้กันอย่างดุเดือด

แหล่งข่าวระบุว่า การเดินทางมาของคณะผู้ว่าฯอุดรมีชัย และ พล.ต เนียง อาจเป็นคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาระดับสูงของกัมพูชา เพื่อบรรเทาความตึงเครียดและรักษาความสัมพันธ์กับไทย แม้ว่าการเจรจาครั้งนี้จะเกิดขึ้นด้วยความเต็มใจหรือไม่เต็มใจก็ตาม

ชมคลิปข่าว: https://www.youtube.com/watch?v=Orl7Mjy18d0&embeds_referring_euri=https%3A%2F%2Fpressocm.gov.kh%2F&source_ve_path=MjM4NTE

จีนปักธงวัฒนธรรมชูสันติภาพ สนับสนุนโลกหันหน้าคุยแทนแตกแยก

สำนักข่าวซินหัวเผยแพร่รายงานคลังสมองฉบับล่าสุดในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ (18 ก.พ.68) ที่ผ่านมา โดยเน้นย้ำความสำคัญของการ 'แลกเปลี่ยนและเรียนรู้ร่วมกัน' ระหว่างอารยธรรม เพื่อรับมือกับความท้าทายที่ส่งผลต่อการพัฒนาของมนุษยชาติ รายงานดังกล่าวเรียกร้องให้ประชาคมโลกเสริมสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน และผลักดันความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันบนพื้นฐานของสันติภาพและความเสมอภาค

จีนให้การสนับสนุนแนวคิดที่เน้นการอยู่ร่วมกันอย่างกลมเกลียวของอารยธรรมต่างๆ โดยให้ความสำคัญกับการแลกเปลี่ยนมากกว่าการแบ่งแยก และการเคารพซึ่งกันและกันมากกว่าการเชื่อว่าวัฒนธรรมใดเหนือกว่าวัฒนธรรมอื่น

เทศกาลตรุษจีนปี 2025 จะเป็นครั้งแรกที่จัดขึ้นภายหลังจากที่องค์การยูเนสโก (UNESCO) ประกาศให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ การยอมรับนี้สะท้อนถึงความสำคัญของมรดกทางวัฒนธรรมจีนในระดับโลก และเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของพลังแห่งการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมในโลกที่เต็มไปด้วยความแตกแยก

สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน เคยกล่าวในคำปราศรัยที่องค์การยูเนสโก ณ กรุงปารีส เมื่อปี 2014 ว่า "อารยธรรมแต่ละแห่งควรเคารพและอยู่ร่วมกันอย่างกลมเกลียว พร้อมผลักดันการแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ร่วมกัน" ซึ่งแนวคิดนี้ยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้นในปัจจุบัน ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

รายงานของซินหัวยังระบุว่ามนุษยชาติกำลังเผชิญกับความท้าทายระดับโลก ทั้งภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ความไม่มั่นคงทางการเมือง และความขัดแย้งทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ซึ่งทำให้การส่งเสริมการเจรจาและความร่วมมือระหว่างอารยธรรมมีความจำเป็นยิ่งขึ้น

เพื่อตอบสนองต่อความท้าทายเหล่านี้ จีนได้เสนอแผนริเริ่มระดับโลกหลายประการ ได้แก่ แผนริเริ่มการพัฒนาระดับโลก (GDI), แผนริเริ่มความมั่นคงระดับโลก (GSI), แผนริเริ่มอารยธรรมระดับโลก (GCI)

แนวทางเหล่านี้ออกแบบมาเพื่อกระตุ้นความร่วมมือระหว่างประเทศ และแก้ไขปัญหาสำคัญ เช่น ความยากจน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความขัดแย้งทางการเมือง

จีนมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จีนมีส่วนช่วยในการเติบโตของเศรษฐกิจโลกถึงร้อยละ 30 อีกทั้งยังดำเนินโครงการพัฒนาในประเทศกำลังพัฒนามากกว่า 6,000 โครงการ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในด้านต่างๆ เช่น เทคโนโลยีการเกษตรและการบรรเทาความยากจน

ในด้านความมั่นคง จีนมีบทบาทสำคัญในการปฏิบัติภารกิจรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ และสนับสนุนการแก้ไขข้อขัดแย้งผ่านการเจรจา ไม่ว่าจะเป็นกรณีความขัดแย้งในยูเครนหรือสถานการณ์ในตะวันออกกลาง

จีนยังได้จัดตั้งแพลตฟอร์มสำหรับการเจรจาข้ามวัฒนธรรม เพื่อส่งเสริมความเข้าใจระหว่างอารยธรรมต่างๆ ความพยายามนี้ได้รับการสนับสนุนจากประชาคมโลก โดยที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNGA) ได้รับรองมติที่จีนเสนอให้กำหนดวันที่ 10 มิ.ย. เป็น "วันสากลแห่งการเสวนาระหว่างอารยธรรม" เพื่อเน้นย้ำถึงความสำคัญของการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมในการสร้างสังคมที่กลมเกลียว

รายงานของซินหัวสรุปว่า การเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และส่งเสริมความร่วมมือระดับโลก เป็นแนวทางสำคัญในการขจัดความแตกแยกทางวัฒนธรรมและอุดมการณ์ หากทุกอารยธรรมสามารถเคารพซึ่งกันและกัน และเรียนรู้จากกันและกัน โลกก็จะก้าวสู่อนาคตที่สงบสุข มั่นคง และรุ่งเรืองร่วมกัน

อดีตนักวิเคราะห์จับตาประชุมริยาดจุดชนวนยุโรประส่ำ สหรัฐฯ ถอย เปิดทางดีลรัสเซียยุติสงครามยูเครน

(19 ก.พ.68) เจ้าหน้าที่ระดับสูงของทั้งฝ่ายรัสเซียและสหรัฐฯ กำลังอยู่ระหว่างหารือพบปะกันที่กรุงริยาด เมืองหลวงของซาอุดิอาระเบีย เพื่อหาแนวทางยุติความขัดแย้งในยูเครน ซึ่งกำลังใกล้จะครบรอบ 3 ปี ที่ทั้งรัสเซียและยูเครนต่างเปิดฉากสงครามกัน ซึ่งประเด็นดังกล่าว ทางสำนักข่าว Sputnik ได้สัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญอิสระด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของสหรัฐฯ เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์นี้   

โดยนาย ไมเคิล มาโลฟ อดีตนักวิเคราะห์นโยบายความมั่นคงระดับสูงของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เผยกับสื่อรัสเซียว่า ที่ผ่านมาแนวทางที่ยุโรปและยูเครนต้องการ ซึ่งก็คือการเอาชนะรัสเซียในสนามรบเพื่อยุติสงครามตัวแทนครั้งนี้ แต่แนวทางดังกล่าวได้พิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ผล และพวกเขาก็ไม่สามารถปกป้องตนเองได้ นั่นทำให้มองได้ว่าหลังจากที่สหรัฐเปลี่ยนรัฐบาลสู่ยุคประธานาธิบดีทรัมป์ พร้อมกับมีการประชุมที่ริยาดอาจเป็นสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในภูมิรัฐศาสตร์โลก  

"ผมมองว่านี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของจุดจบของ NATO" มาโลฟกล่าว "ในที่สุด เราอาจได้เห็นยุโรปเปลี่ยนไปใช้ระบบพันธมิตรด้านกลาโหมระดับภูมิภาคแทนที่จะคงโครงสร้างองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (NATO) ที่มีสมาชิก 32 ประเทศ ซึ่งแทบจะไม่สามารถตัดสินใจเป็นเอกฉันท์ในเรื่องใด ๆ ได้เลย"

มาโลฟวิเคราะห์ว่าการประชุมที่ริยาดสะท้อนให้เห็นการยอมรับความจริงของสหรัฐฯ ในหลายประเด็น ได้แก่  

1.  ไม่ใช่ยุโรปหรือรัฐบาลเซเลนสกี ที่จะมีหน้าที่เป็นตัวแสดงหลักที่มีบทบาทสำคัญต่อการยุติสงครามในยูเครน แต่คือรัสเซียและสหรัฐฯ จะเป็นผู้ชี้ชะตาในเรื่องนี้

2. วอชิงตันกำลังหันกลับมาใช้แนวคิดเรื่อง 'ขอบเขตอิทธิพล' แทนที่จะเดินหน้าสร้างระเบียบโลกแบบขั้วเดียวต่อไป  

3. สหรัฐฯ ไม่ต้องการเป็นผู้สนับสนุนสงครามของยุโรปอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ หันมาให้ความสำคัญกับซีกโลกตะวันตกมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกรีนแลนด์ ปานามา หรือแคนาดา แทนที่จะมุ่งเน้นไปที่ยุโรป  

"ทรัมป์ต้องการฟื้นฟูความสัมพันธ์ที่แตกร้าวกับมอสโก และมองว่ารัสเซียเป็นคู่เจรจาที่เท่าเทียมกัน ไม่ใช่ฝ่ายที่สหรัฐฯ จะพูดจาสั่งสอนเครมลินเหมือนที่รัฐบาลไบเดนทำ" นักวิเคราะห์กล่าว  

นอกจากนี้ ทรัมป์ในฐานะนักธุรกิจ ยังตระหนักว่าสหรัฐฯ ไม่สามารถทำสงครามทั่วโลกได้ และควรใช้แนวทางแข่งขันทางเศรษฐกิจและความร่วมมือมากกว่าการเผชิญหน้า  

สำหรับยุโรป มาโลฟมองว่ายุโรปกำลังเผชิญกับผลกระทบจากการตัดสินใจของตนเอง "พวกเขาทำลายเศรษฐกิจตัวเองโดยการตัดขาดพลังงานราคาถูกจากรัสเซีย ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรม คุณภาพชีวิต และขีดความสามารถในการผลิตของตัวเอง ประชาชนในประเทศเหล่านี้เริ่มตั้งคำถามแล้วว่าผู้นำของพวกเขากำลังทำอะไรอยู่"

มาโลฟสรุปว่า ขณะที่ชนชั้นนำของยุโรปยังคงเดินหน้าในแนวทางที่เป็นผลเสียต่อประชาชน เสียงสะท้อนจากสังคมอาจเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ยุโรปต้องทบทวนแนวทางของตนเองใหม่

ทรัมป์ซัดเซเลนสกี ขู่ให้รีบเลือกตั้ง กดดันถ้าไม่เร่งสันติภาพ ยูเครนอาจถึงจุดจบ

(20 ก.พ.68) อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ วิจารณ์ประธานาธิบดียูเครน โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี อย่างรุนแรง โดยเรียกเขาว่าเป็น "เผด็จการที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง" และเตือนว่าหากไม่เร่งสร้างสันติภาพ ยูเครนอาจต้องเผชิญความเสี่ยงที่จะสูญเสียประเทศ คำพูดของทรัมป์ตอกย้ำความตึงเครียดระหว่างผู้นำทั้งสองและสร้างความกังวลให้กับพันธมิตรยุโรป

ถ้อยแถลงดังกล่าวมีขึ้นเพียงหนึ่งวันหลังจากที่ทรัมป์กล่าวโทษยูเครนว่าเป็นต้นเหตุของสงครามที่ปะทุขึ้นในปี 2565 จุดยืนนี้ทำให้พันธมิตรของสหรัฐฯ ในยุโรปวิตกกังวลว่าแนวทางของทรัมป์อาจเอื้อประโยชน์ต่อรัสเซียมากกว่ายูเครน

ทรัมป์โพสต์บนโซเชียลมีเดียว่า “เผด็จการเซเลนสกีควรเร่งแก้ปัญหา เพราะถ้ายังไม่ลงมือ จะไม่มีประเทศให้ปกครองอีกต่อไป”

แม้เพิ่งกลับมาดำรงตำแหน่งได้ไม่นาน ทรัมป์ก็ปรับเปลี่ยนนโยบายของสหรัฐฯ ต่อสงครามยูเครน-รัสเซียอย่างมีนัยสำคัญ โดยละทิ้งแนวทางการโดดเดี่ยวรัสเซีย มีการติดต่อพูดคุยโดยตรงกับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน และมีการจัดประชุมระดับสูงระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซีย ขณะที่ยูเครนถูกกันออกจากเวทีเจรจา

ตามกำหนดการเดิม วาระการดำรงตำแหน่งของเซเลนสกีจะสิ้นสุดลงในปี 2567 แต่การเลือกตั้งยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เนื่องจากกฎอัยการศึกที่บังคับใช้ตั้งแต่รัสเซียเริ่มรุกรานยูเครนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565

คำพูดของทรัมป์มีขึ้นไม่นานหลังจากเซเลนสกีออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่า อดีตผู้นำสหรัฐฯ ตกเป็นเหยื่อของ “ข่าวปลอมจากรัสเซีย” ที่กล่าวหายูเครนว่าเป็นฝ่ายจุดชนวนสงคราม ทั้งที่ความขัดแย้งเริ่มต้นจากการรุกรานของรัสเซียเมื่อสามปีก่อน

นอกจากนี้ เซเลนสกียังปฏิเสธคำกล่าวอ้างของทรัมป์ที่ว่า คะแนนนิยมของเขาในยูเครนเหลือเพียง 4% โดยระบุว่าข้อมูลดังกล่าวมาจากแหล่งข่าวของรัสเซีย และยืนยันว่าเขายังได้รับการสนับสนุนจากประชาชน

“เรามีหลักฐานว่าข้อมูลเหล่านี้ถูกเผยแพร่ผ่านช่องทางของรัสเซีย น่าเสียดายที่อดีตประธานาธิบดีทรัมป์หลงเชื่อ” เซเลนสกีกล่าวในการให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ของยูเครน

'มัสก์' เล็งแจกเงินชาวอเมริกัน คนละ 1.5 แสนบาท หลัง DOGE ช่วยประหยัดงบแสนล้าน แต่เสี่ยงเงินเฟ้อ-ขัดกฎหมาย

(20 ก.พ. 68) อีลอน มัสก์ ในฐานะหัวหน้าหน่วยงานด้านประสิทธิภาพรัฐบาล (DOGE) ได้จุดกระแสใหม่บนโซเชียลด้วยการเผยแนวคิดเงินปันผล  DOGE (DOGE Dividend) ซึ่งอาจมาในรูปแบบของเช็คกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 5,000 ดอลลาร์ ให้กับผู้เสียภาษีชาวอเมริกา โดยระบุว่า การมอบเงิน 5,000 ดอลลาร์นี้ เป็นผลพลอยได้จากการที่หน่วยงาน DOGE ของมัสก์สามารถประหยัดงบประมาณประเทศไปได้หลายแสนล้าน

แนวคิดนี้มาจากเจมส์ ฟิช แบ็ค ซีอีโอบริษัทการลงทุนและที่ปรึกษา DOGE ซึ่งเสนอให้จัดสรร 20% ของเงินออมที่คาดว่าจะเกิดจากนโยบาย DOGE ไปมอบเป็นเงินช่วยเหลือแก่ประชาชน โดยฟิชได้อ้างว่าหาก DOGE สามารถประหยัดงบประมาณรัฐบาลได้ถึง $2 ล้านล้าน ก็สามารถจัดสรร 20% หรือราว $400,000 ล้าน เพื่อนำไปแจกจ่ายให้แก่ 78 ล้านครัวเรือนที่เสียภาษีได้ในอัตรา $5,000 ต่อครัวเรือน

“เราต้องการทำให้ DOGE เป็นเรื่องจริงสำหรับชาวอเมริกันหลายล้านคน พวกเขาสมควรได้รับส่วนแบ่งจากเงินออมที่ DOGE จะช่วยให้เกิดขึ้นภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีทรัมป์” ฟิชแบ็คกล่าว

มัสก์ตอบรับแนวคิดนี้โดยกล่าวว่า เขาจะนำเรื่องนี้ไปหารือกับโดนัลด์ ทรัมป์ อย่างไรก็ตาม แนวคิดดังกล่าวยังต้องเผชิญกับอุปสรรคสำคัญหลายประการ อาทิ 

การอนุมัติจากสภาคองเกรส การใช้เงินงบประมาณรัฐบาลต้องได้รับการอนุมัติจากฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งอาจมีการคัดค้านจากสมาชิกสภาคองเกรสที่ต้องการนำเงินไปใช้กับโครงการอื่น เช่น การลดหนี้สาธารณะ

นอกจากนั้นหากจ่ายเงินช่วยเหลือ5,000 ดอลลาร์ อาจส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ  โดยผู้เชี่ยวชาญด้านงบประมาณเตือนว่า การแจกเงินกระตุ้นเศรษฐกิจในปริมาณมหาศาลอาจทำให้เงินเฟ้อพุ่งขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาที่พรรครีพับลิกันเคยต่อต้านในช่วงการระบาดของโควิด-19 เพรสตัน แบรชเชอร์ นักวิจัยด้านนโยบายภาษีจาก Heritage Foundation กล่าวว่า “การลดรายจ่ายของรัฐบาลช่วยควบคุมเงินเฟ้อได้ แต่ถ้ารัฐบาลแจกเช็คกระตุ้นเศรษฐกิจ เงินเฟ้อจะกลับมาอย่างหนัก”

นอกจากนี้ยังอาจติดปัญหาทางกฎหมาย เพราะโครงการ DOGE เองกำลังเผชิญกับการตรวจสอบทางกฎหมาย และผลลัพธ์ของคดีความที่เกี่ยวข้องอาจส่งผลกระทบต่อแนวคิดเงินปันผลนี้

ข้อเสนอนี้เกิดขึ้นในช่วงที่รัฐบาลทรัมป์กำลังพิจารณานโยบายลดภาษีในหลายรูปแบบ แต่ต้นทุนของมาตรการเหล่านี้อาจสูงถึง $5-11 ล้านล้าน ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นเงินปันผล DOGE อาจต้องแข่งขันกับนโยบายอื่น เช่น การยกเลิกเก็บภาษีเงินได้จากค่าทิปและโอที แม้ว่าการได้รับเช็ค 5,000 ดอลลาร์ จะเป็นที่สนใจของประชาชนจำนวนมาก แต่ก็ยังมีความท้าทายทางกฎหมายและเศรษฐกิจที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top