Tuesday, 13 May 2025
World

เมียนมาแจกวัคซีน 2 ล้านโดส รับมืออหิวาตกโรคระบาด

(25 ธ.ค. 67) กระทรวงสาธารณสุขเมียนมาเปิดเผยเมื่อวันอังคารที่ 24 ธันวาคมว่า ได้แจกจ่ายวัคซีนป้องกันอหิวาตกโรคชนิดรับประทานให้ประชาชนแล้วกว่า 2 ล้านโดส ตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา  

รายงานจากสำนักข่าวซินหัวระบุว่า การระบาดของอหิวาตกโรคในภูมิภาคย่างกุ้งเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ทำให้กระทรวงสาธารณสุขของเมียนมาต้องแจ้งสถานการณ์ต่อองค์การอนามัยโลก (WHO) และเพิ่มความพยายามในการควบคุมการแพร่ระบาด  

กระบวนการแจกจ่ายวัคซีนเริ่มตั้งแต่เดือนกันยายน โดยกระทรวงฯ ได้ร่วมมือกับองค์กรท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของอหิวาตกโรคอย่างใกล้ชิดในภูมิภาคและรัฐต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อป้องกันและควบคุมโรคไม่ให้ลุกลาม

รัสเซียเผยอีก 20 ชาติขอเข้ากลุ่ม กัมพูชา ลาว เมียนมา ขอร่วมวงด้วย

(25 ธ.ค. 67) ยูริ อูชาคอฟ ผู้ช่วยประธานาธิบดีรัสเซีย เปิดเผยว่า นอกเหนือจากประเทศพันธมิตรที่ได้รับการคัดเลือกก่อนหน้านี้ ยังมีอีกกว่า 20 ประเทศที่แสดงความสนใจเข้าร่วมการหารืออย่างเป็นระบบกับกลุ่ม BRICS ซึ่งเป็นกลุ่มความร่วมมือของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่  

อูชาคอฟระบุว่า BRICS ยังคงเปิดกว้างสำหรับประเทศที่มีแนวคิดสอดคล้องกัน โดยรายชื่อประเทศที่แสดงความสนใจเข้าร่วมกลุ่มเพิ่มอีก 20 ชาติ ได้แก่ อาเซอร์ไบจาน บาห์เรน บังกลาเทศ บูร์กินาฟาโซ กัมพูชา ชาด โคลอมเบีย สาธารณรัฐคองโก อิเควทอเรียลกินี ฮอนดูรัส ลาว คูเวต โมร็อกโก เมียนมา นิการากัว ปากีสถาน ปาเลสไตน์ เซเนกัล เซาท์ซูดาน ศรีลังกา ซีเรีย เวเนซุเอลา และซิมบับเว นอกจากนี้ เอริเทรียยังแสดงความกระตือรือร้นที่จะร่วมงานกับ BRICS เช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม อูชาคอฟเน้นย้ำว่า การขยายกลุ่มต้องเป็นไปอย่างระมัดระวัง โดยกล่าวว่า “การขยายกลุ่มอย่างไร้การควบคุมอาจทำลายโครงสร้างที่มีอยู่ เราจึงต้องดำเนินการทีละขั้นตอนอย่างค่อยเป็นค่อยไปและสอดคล้องกับแนวทางที่เราใช้มาตลอด”

ย้อนเปิดยุทธศาสตร์จากยุคปธน.ทรูเเมน 'เเปซิฟิกมีอะเเลสกา เเอตเเลนติกก็ควรมีกรีนเเลนด์'

(26 ธ.ค. 67) โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 47 เคยเสนอให้สหรัฐฯ ซื้อกรีนแลนด์จากเดนมาร์กในช่วงปี 2019 ขณะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรก แต่แนวคิดดังกล่าวถูกปฏิเสธจากเดนมาร์ก โดยชี้ว่า "กรีนแลนด์ไม่ใช่สินค้าที่สามารถขายได้" ล่าสุดในปี 2024 ทรัมป์ได้หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากเสนอชื่อนายเคน ฮาวเวอรี อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำสวีเดน และนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำเดนมาร์กคนใหม่ โดยทรัมป์มั่นใจว่าฮาวเวอรีจะทำหน้าที่ได้อย่างยอดเยี่ยมในการเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของสหรัฐฯ

ทรัมป์ยังได้ย้ำผ่านแพลตฟอร์มโซเชียล Truth Social โดยระบุถึงความสำคัญของการเป็นเจ้าของกรีนแลนด์ โดยมองว่าเพื่อเสริมความมั่นคงและเสรีภาพทั่วโลก สหรัฐฯ ควรมีอำนาจในการครอบครองและควบคุมพื้นที่กรีนแลนด์

ดินแดนกรีนแลนด์ ถูกจัดว่าเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดในโลก ตั้งอยู่เหนือสุดของโลกในแถบขั้วโลกเหนือ มีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลถึง2,175,900 ตารางกิโลเมตร และมีสถานะเป็นดินแดนในคุ้มครองของเดนมาร์ก มีประชากรอยู่ราว 57,000 คน กรีนแลนด์เพิ่งมีสถานะเป็นดินแดนเอกราชปกครองตนเองในปี 2009 ประชาชนมีการเลือกรัฐบาลท้องถิ่นเป็นของตนเอง พื้นที่ส่วนใหญ่ของกรีนแลนด์เต็มไปด้วยน้ำแข็งและดินแดนอันเวิ้งว้างที่หนาวเหน็บ แต่เต็มไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติมากมาย

ข้อมูลจากรายงานที่มีชื่อว่า "The Greenland Gold Rush: Promise and Pitfalls of Greenland’s Energy and Mineral Resources" ระบุว่า ในขณะที่โลกกำลังเผชิญสภาวะโลกร้อน แน่นอนว่าส่งผลกระทบต่อกรีนแลนด์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ .. การละลายของน้ำแข็งในอาร์คติกส่งผลให้ทรัพยากรอันมีค่าหลากหลายชนิดของกรีนแลนด์ผุดขึ้นราวกับดอกเห็ดเพราะเข้าถึงได้ง่าย อาทิ แร่เหล็ก ตะกั่ว สังกะสี เพชร ทองคำ องค์ประกอบธาตุหายาก (แรร์เอิรธ์) ยูเรเนียม และน้ำมัน

การที่กรีนแลนด์สามารถมีสิทธิจัดตั้งรัฐบาลท้องถิ่นเพื่อปกครองตนเอง ที่เป็นอิสระจากรัฐบาลกลางเดนมาร์ก ส่งผลให้กรีนแลนด์สามารถแสวงหาผลประโยชน์เหล่านี้ได้ง่ายมากขึ้นเช่นกัน .. แต่ก็ใช่ว่ากรีนแลนด์จะขุดทุกอย่างออกมาขาย ด้วยวิถีการดำเนินเศรษฐกิจแบบพึ่งพาตนเอง กรีนแลนด์จึงระมัดระวังอย่างมากในการแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากรเหล่านี้ 

แม้ทรัมป์จะไม่เคยกล่าวถึงเหตุผลชัดเจนว่าทำไมเขาต้องการกรีนแลนด์ แต่สามารถคาดเดาได้ว่าเพราะเป็นดินแดนที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่มากมายรอการขุดค้น ขณะที่ยังมีอีกเหตุผลด้านความมั่นคง  

แนวคิดการซื้อกรีนแลนด์ด้านความมั่นคงนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในยุคของประธานาธิบดีทรัมป์เท่านั้น เพราะในปี 1946 สมัยประธานาธิบดีแฮร์รี่ ทรูแมน ผู้นำสหรัฐฯ คนที่ 33 ก็เคยเสนอซื้อกรีนแลนด์จากเดนมาร์กด้วยจำนวนเงิน 100 ล้านดอลลาร์ ภายใต้แนวคิด "หากทางแปซิฟิกมีอะแลสกา ทางแอตแลนติกก็ควรมีกรีนแลนด์" แต่ข้อเสนอนี้ถูกปฏิเสธทั้งจากเดนมาร์กและประชาชนในกรีนแลนด์ เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับการแทรกแซงจากสหรัฐฯ 

แม้การซื้อกรีนแลนด์จะไม่สำเร็จ แต่สหรัฐฯ ยังคงรักษาอิทธิพลในกรีนแลนด์ผ่านข้อตกลงการตั้งฐานทัพทูล (Thule Air Base Agreement) เพื่อประโยชน์ด้านความมั่นคงทางยุทธศาสตร์จ  ให้ปัจจุบันสหรัฐฯ ยังคงมีฐานทัพอากาศ Thule Air Base ประจำการในกรีนแลนด์มาตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่สอง โดยเป็นฐานทัพอากาศสำคัญในการป้องกันการรุกรานจากสหภาพโซเวียตในช่วงสงครามเย็น และยังเป็นฐานทัพอากาศสหรัฐที่ตั้งอยู่ในบริเวณเหนือสุดของโลกอีกด้วย

'เดนมาร์ก' ทุ่มงบกลาโหม หลังทรัมป์เปรยอยากผนวกดินแดน

(25 ธ.ค. 67) รัฐบาลเดนมาร์กประกาศเพิ่มงบประมาณด้านกลาโหมสำหรับเกาะกรีนแลนด์อย่างมาก หลังจากโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ แสดงความต้องการซื้อเกาะแห่งนี้เป็นครั้งที่สอง นักวิเคราะห์มองว่า นี่เป็นการเคลื่อนไหวที่ชาญฉลาดของทรัมป์

รายงานจากบีบีซีระบุว่า รัฐบาลเดนมาร์กประกาศเพิ่มงบประมาณด้านการป้องกันสำหรับเกาะกรีนแลนด์ ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นไม่นานหลังจากที่ทรัมป์แสดงความต้องการซื้อเกาะแห่งนี้อีกครั้ง

โทรลส์ ลุนด์ พูลเซ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเดนมาร์กกล่าวว่า งบประมาณด้านกลาโหมสำหรับเกาะกรีนแลนด์จะมีมูลค่าหลายพันล้านโครน ซึ่งคาดว่าจะสูงถึง 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 51,000 ล้านบาท) โดยจะใช้ในการซื้อเรือลาดตระเวน 2 ลำ โดรนพิสัยไกล 2 ลำ และทีมสุนัขลากเลื่อนพิเศษ 2 ตัว รวมถึงการเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ที่หน่วยบัญชาการอาร์กติกในเมืองนุก และการอัพเกรดสนามบินพลเรือนหนึ่งแห่งเพื่อรองรับเครื่องบินรบรุ่น F-35

นายพูลเซ่นกล่าวว่า การประกาศเพิ่มงบฯ กลาโหมในครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เหมาะสมหลังจากที่ทรัมป์ประกาศว่า ความเป็นเจ้าของและการควบคุมเกาะกรีนแลนด์เป็นสิ่งสำคัญสำหรับสหรัฐฯ

เกาะกรีนแลนด์เป็นดินแดนปกครองตนเองของเดนมาร์ก และเป็นแหล่งที่ตั้งของศูนย์อวกาศสำคัญของสหรัฐฯ โดยมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ เนื่องจากตั้งอยู่ในเส้นทางที่สั้นที่สุดระหว่างทวีปอเมริกาเหนือและยุโรป และเป็นแหล่งแร่ธาตุสำคัญ

การเพิ่มงบฯ กลาโหมนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของเดนมาร์กในการเสริมความแข็งแกร่งด้านการป้องกันในภูมิภาคอาร์กติก ซึ่งนักวิเคราะห์บางคนมองว่าเป็นการตอบสนองต่อความต้องการของสหรัฐฯ ที่อาจจะเพิ่มขึ้นหากเดนมาร์กไม่สามารถปกป้องพื้นที่ดังกล่าวจากการขยายอิทธิพลของจีนและรัสเซียได้

มูเต เอเกเด นายกรัฐมนตรีเกาะกรีนแลนด์กล่าวว่า เกาะของเราจะไม่ถูกขาย แต่เขายังเน้นว่า ชาวกรีนแลนด์ควรเปิดกว้างสำหรับความร่วมมือและการค้า โดยเฉพาะกับเพื่อนบ้าน

สำหรับข้อเสนอที่ทรัมป์ยื่นซื้อเกาะกรีนแลนด์ในปี 2019 ได้รับการตำหนิจากผู้นำเดนมาร์กในขณะนั้นอย่างรุนแรง จนกระทั่งทรัมป์ยกเลิกการเยือนเดนมาร์ก

ทั้งนี้ แนวคิดในการซื้อเกาะกรีนแลนด์ของสหรัฐฯ ไม่ใช่เรื่องใหม่ โดยมีการพูดถึงครั้งแรกในยุคประธานาธิบดีแอนดรูว์ จอห์นสัน ในช่วงทศวรรษ 1860

‘Moo Deng’ ครองแพลตฟอร์ม X คว้ามีมแห่งปี-แฮชแท็กติดเทรนด์ฮิตกระหึ่มโลก

(25 ธ.ค. 67) ดังไม่หยุดฉุดไม่อยู่สำหรับ "หมูเด้ง" (Moo Deng) ฮิปโปแคระคนดังแห่งสวนสัตว์เปิดเขาเขียว จนมีจำนวนโพสต์เกี่ยวกับหมูเด้งสูงถึง 7.7 ล้านโพสต์ กลายเป็นสถิติคอนเทนต์มาแรงประจำปี 2024 บนแพลตฟอร์ม X (Twitter) จน X ประกาศให้ "หมูเด้ง" คว้า "มีมแห่งปี" ไปครอง

"หมูเด้ง" ซุปตาร์ฮิปโปแคระจากสวนสัตว์เปิดเขาเขียวทำสถิติมีโพสต์ถึง 7.7 ล้านโพสต์ และกลายเป็นกระแสฮิตติดเทรนด์ในประเทศไทย โดยแฮชแท็ก #moodeng พุ่งติดเทรนด์อันดับต้นๆ หลังจากที่ X ประกาศสถิติในวันนี้

อันดับถัดจาก "หมูเด้ง" ได้แก่ GTA VI, คอนเสิร์ต The Eras Tour ของ Taylor Swift, ยาปากกาลดน้ำหนัก Ozempic (โอเซมปิก) และเหตุการณ์สุริยุปราคา (Solar Eclipse)

นอกจากนี้ X ยังเผยหัวข้อที่ได้รับความนิยมอื่นๆ ในปีนี้ เช่น ภาพยนตร์ยอดนิยม "Wicked", คำศัพท์มาแรง "ERA", ศิลปินที่มาแรงที่สุด Taylor Swift และนักกีฬาที่ได้รับการพูดถึงมากที่สุดคือ Simone Biles นักยิมนาสติกจากทีมชาติสหรัฐฯ

สถิติอื่นๆ ที่น่าสนใจจาก X ประจำปี 2024 ได้แก่:
- ภาพยนตร์ยอดนิยม: Wicked, Deadpool and Wolverine, DUNE: Part Two
- ศิลปินยอดนิยม: Taylor Swift, Ariana Grande, Sabrina Carpenter
- นักกีฬายอดนิยม: Simone Biles, Noah Lyles
- คำศัพท์ที่มาแรง: ERA, AURA, COOKED, OOMF, YAPPING

ในส่วนของเหตุการณ์สำคัญอื่นๆ ที่ถูกพูดถึงบน X ได้แก่:
- Moo Deng: ฮิปโปแคระสุดน่ารักจากไทย
- GTA VI: การเปิดตัวเกมที่รอคอยที่สุด
- The Eras Tour: คอนเสิร์ตใหญ่ของ Taylor Swift
- Ozempic: ยาลดน้ำหนักที่มีการพูดถึงอย่างแพร่หลาย
- Solar Eclipse: ปรากฏการณ์สุริยุปราคา

สหรัฐให้เงินกู้ช่วยยูเครน ใช้สินทรัพย์ที่ยึดจากรัสเซียค้ำประกัน

(25 ธ.ค. 67) เดนิส ชมีฮาล นายกรัฐมนตรียูเครนประกาศเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม ว่า ยูเครนได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจำนวน 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐจากสหรัฐฯ โดยใช้สินทรัพย์ของรัสเซียที่ถูกอายัดเป็นหลักประกัน

ชมีฮาลได้โพสต์ข้อความผ่านทางเทเลแกรมว่า “นี่คือเงินก้อนแรกจากแผนการจัดสรรงบประมาณ 2 หมื่นล้านดอลลาร์ที่สหรัฐฯ เตรียมจัดสรรโดยใช้สินทรัพย์ของรัสเซียที่ถูกอายัดไว้”

ต่อมา กระทรวงการคลังของยูเครนได้ชี้แจงว่า เงินทุนดังกล่าวเป็นเงินช่วยเหลือภายใต้โครงการเงินกู้ Second Growth Foundation Development Policy Loan (DPL) ของธนาคารโลก

ความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นที่มีขอบเขตกว้างขึ้นจากกลุ่ม G7 ที่ได้กำหนดให้จัดสรรเงินจำนวน 5 หมื่นล้านดอลลาร์เพื่อสนับสนุนยูเครน โดยใช้เงินจากทรัพย์สินที่ถูกยึดของรัสเซีย

ทั้งนี้ สื่อรายงานว่า กลุ่ม G7 ได้อายัดทรัพย์สินของรัสเซียมูลค่าราว 3 แสนล้านดอลลาร์ หลังจากเกิดความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน

ย้อนรอยการซื้อดินแดนของสหรัฐฯ หลังทรัมป์หวังผนวกกรีนแลนด์

(26 ธ.ค. 67) จากกรณีว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แสดงความสนใจอยากได้กรีนแลนด์มาเป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐฯ โดยทรัมป์มีแนวคิดยื่นข้อเสนอซื้อกรีนแลนด์จากเดนมาร์ก ซึ่งแม้จะไม่ชัดเจนว่าเป็นมูลค่าเท่าใด แต่ดูท่าทางเดนมาร์กจะไม่มีวันยอมขายดินแดนกรีนแลนด์ให้สหรัฐอย่างแน่นอน

หากย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา เคยใช้วิธีการจ่ายเงินเพื่อซื้อดินแดนมาผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐมาแล้วในหลายครั้ง โดยมีเหตุการณ์สำคัญดังนี้

การซื้อดินแดนลุยเซียนา เมื่อปี 1803 ประธานาธิบดีโทมัส เจฟเฟอร์สัน ลงนามข้อตกลงกับฝรั่งเศส ซื้อดินแดนลุยเซียนา ซึ่งครอบคลุมพื้นที่กว่า 2.14 ล้านตารางกิโลเมตร ตั้งแต่ลุ่มแม่น้ำมิสซิสซิปปีเริ่มต้นจากอ่าวเม็กซิโกจรดทางใต้ของแคนาดา ด้วยเงินจำนวน 15 ล้านดอลลาร์ในยุคนั้น พร้อมยกหนี้กว่า 3.7 ล้านดอลลาร์ให้ราชสำนักฝรั่งเศส หากคิดเป็นมูลค่าในปัจจุบัน ราคาดินแดนนี้จะสูงถึง 340 พันล้านดอลลาร์

การซื้ออะแลสกา ในปี 1867 สหรัฐฯ เคยซื้อดินแดนอะแลสกาจากจักรวรรดิรัสเซีย ในรัชสมัยของพระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 2 ด้วยราคา 7.2 ล้านดอลลาร์ ซึ่งหากคิดเป็นค่าเงินปัจจุบันจะอยู่ที่กว่า 109 ล้านดอลลาร์ การซื้อครั้งนี้คุ้มค่าอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับทรัพยากรธรรมชาติ เช่น น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ที่สหรัฐขุดพบในห้วงเวลาต่อมา

สนธิสัญญากัวดาลูปอีดัลโก ในปี 1848 หลังสงครามเม็กซิโก-อเมริกา สหรัฐฯ และเม็กซิโกได้ลงนามในสนธิสัญญากัวดาลูปอีดัลโก ซึ่งระบุให้สหรัฐฯ จ่ายเงิน 15 ล้านดอลลาร์แก่เม็กซิโก เพื่อแลกกับการครอบครองดินแดนทางฝั่งตะวันตก เช่น แคลิฟอร์เนีย และรัฐอื่นๆ พร้อมกำหนดให้แม่น้ำริโอแกรนด์เป็นพรมแดนธรรมชาติ 

ขณะการซื้อฟลอริดา หรือที่รู้จักกันในชื่อ สนธิสัญญาอดัมส์–โอนิส (Adams–Onís Treaty) เป็นข้อตกลงที่ลงนามในปี ค.ศ. 1819 ระหว่างสหรัฐอเมริกาและสเปน สนธิสัญญานี้มีความสำคัญในการโอนดินแดนฟลอริดาจากสเปนมายังสหรัฐฯ  โดยสหรัฐจ่ายเงินมูลค่า 5 ล้านดอลลาร์แก่ราชสำนักสเปนเพื่อโอนกรรมสิทธิ์การครอบครองดินแดนฟลอริด้า

ภายใต้สนธิสัญญานี้ สเปนได้ยินยอมสละสิทธิ์ในฟลอริดา พร้อมทั้งปรับปรุงขอบเขตของดินแดนในทวีปอเมริกาเหนือเพื่อแก้ไขข้อพิพาทเรื่องพรมแดนระหว่างสองประเทศ การโอนดินแดนนี้ช่วยเสริมอำนาจและอิทธิพลของสหรัฐฯ ในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ของทวีป ในขณะที่สเปนเลือกที่จะมุ่งเน้นอำนาจไปที่ดินแดนในอเมริกาใต้แทน

แม้ว่าสหรัฐฯ จะมีประวัติศาสตร์การซื้อดินแดนที่สำคัญหลายครั้ง แต่ในกรณีของกรีนแลนด์ ดูเหมือนว่าการเจรจานี้จะไม่ง่าย เพราะเดนมาร์กยังคงยืนกรานไม่ขายดินแดนดังกล่าวให้สหรัฐฯ อย่างชัดเจน

'ยุนซอกยอล' ปฏิเสธสอบปากคำ ปมประกาศกฎอัยการศึกฉุกเฉิน

(25 ธ.ค. 67) ยุน ซอก-ยอล ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ผู้เผชิญการถอดถอนออกจากตำแหน่ง ได้ปฏิเสธหมายเรียกตัวสอบปากคำกรณีประกาศกฎอัยการศึกฉุกเฉินของหน่วยสอบสวนร่วมเป็นครั้งที่ 2 ในวันพุธ (25 ธ.ค.) หลังจากเขาไม่ได้ปฏิบัติตามหมายเรียกครั้งที่ 1 ในสัปดาห์ก่อนหน้านี้

หน่วยสอบสวนร่วมข้างต้นที่ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจ สำนักงานใหญ่การสอบสวนของกระทรวงกลาโหม และสำนักงานสอบสวนการทุจริตของเจ้าหน้าที่ระดับสูง (CIO) ได้ส่งหมายเรียกตัวครั้งที่ 2 แก่ยุนเมื่อวันศุกร์ (20 ธ.ค.) ซึ่งกำหนดการสอบปากคำยุน ตอน 10.00 น. ของวันพุธ (25 ธ.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น

ปัจจุบันสำนักงานสอบสวนการทุจริตของเจ้าหน้าที่ระดับสูง ซึ่งเป็นผู้ส่งหมายเรียกตัวครั้งแรก กำลังวางแผนรอยุนเข้ามาสอบปากคำภายในเวลาที่เหลือของวันพุธ (25 ธ.ค.) และจะตัดสินใจอีกครั้งภายในวันพฤหัสบดี (26 ธ.ค.) ว่าจะส่งหมายเรียกตัวครั้งที่ 3 หรือไม่ หากยุนไม่มาปรากฏตัวในวันพุธ (25 ธ.ค.)

ทั้งนี้ กลุ่มหน่วยงานสอบสวนของเกาหลีใต้ระบุยุนเป็นผู้ต้องสงสัยในข้อกล่าวหาก่อกบฏ หลังจากเขาประกาศกฎอัยการศึกเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. ซึงถูกยกเลิกในอีกไม่กี่ชั่วโมงถัดมาเพราะรัฐสภาเกาหลีใต้ลงคะแนนเสียงไม่เห็นชอบด้วย

เปิดภาพกระจุกดาวต้นคริสต์มาส เนบิวลาเรืองแสงจากกลุ่มดาวยูนิคอร์น

(25 ธ.ค. 67) เพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยภาพกระจุกดาวต้นคริสต์มาส (Christmas Tree Cluster) หรือ NGC 2264 ซึ่งอยู่ห่างจากโลกประมาณ 2,500 ปีแสงในกลุ่มดาวยูนิคอร์น (Monoceros) ภาพนี้แสดงให้เห็นเนบิวลาที่เรืองแสง (Emission Nebula) ขนาดใหญ่และกระจุกดาวเปิด (Open Cluster) ที่ประกอบด้วยดาวฤกษ์อายุน้อยหลากหลายมวล ตั้งแต่ดาวมวลน้อยไปจนถึงดาวที่มีมวลมากกว่า 7 เท่าของดวงอาทิตย์

ลักษณะการเรียงตัวของกระจุกดาวในภาพดูคล้ายกับ "ต้นคริสต์มาส" จึงเป็นที่มาของชื่อ โดยมีดาวแปรแสง S Monocerotis (15 Monocerotis) อยู่บริเวณลำต้นของต้นคริสต์มาส และอีกดวงคือ V429 Monocerotis ที่อยู่บริเวณยอดต้นไม้เหนือขึ้นไปจะเห็นเนบิวลามืดสีคล้ำรูปแท่งกรวยที่เรียกว่า เนบิวลารูปโคน (Cone Nebula)

ภาพกระจุกดาวต้นคริสต์มาสสีเขียวนี้ถูกประกอบและตกแต่งขึ้นใหม่จากข้อมูลหลายแหล่ง โดยข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์ WIYN ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.9 เมตร ณ หอสังเกตการณ์แห่งชาติคิตต์พีค ประเทศสหรัฐอเมริกา แสดงให้เห็นรูปทรงของต้นคริสต์มาสที่มาจากแก๊สในเนบิวลา ข้อมูลอินฟราเรดจากโครงการ Two Micron All Sky Survey (2MASS) เผยให้เห็นดาวสีขาวทั้งที่อยู่ในฉากหน้าและฉากหลัง ขณะที่ข้อมูลรังสีเอกซ์จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศจันทราของ NASA ทำให้เห็นไฟประดับสีขาวฟ้าจากดาวฤกษ์อายุน้อย

Merry Christmas 2024!

ไบเดนทิ้งทวนออกกม. ห้ามสส.รับบำนาญหากมีความผิด พร้อมประกาศ 'อินทรีหัวขาว' เป็นนกประจำชาติ

(26 ธ.ค. 67) ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ได้ลงนามบังคับใช้กฎหมายจำนวน 50 ฉบับเมื่อวันอังคารที่ 24 ธันวาคม ซึ่งรวมถึงการประกาศให้อินทรีหัวขาวเป็นนกประจำชาติของสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการ และการออกกฎหมายห้ามสมาชิกรัฐสภารับเงินบำนาญหากถูกตัดสินว่ามีความผิดทางอาญา

นอกจากนี้ ไบเดนยังได้ลงนามในกฎหมายที่กำหนดมาตรฐานต่อต้านการรับน้องแบบรุนแรงของรัฐบาลกลางเป็นครั้งแรก เพื่อแก้ไขปัญหาความรุนแรงและการเสียชีวิตในมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ อีกทั้งยังได้ลงนามในกฎหมายที่ได้รับการสนับสนุนจากปารีส ฮิลตัน ดาราเรียลลิตี้ทีวีและทายาทตระกูลฮิลตัน ซึ่งกำหนดให้ศูนย์บำบัดและสถานดูแลเยาวชนต้องรับผิดชอบต่อความปลอดภัยและคุณภาพการบริการ

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ในต้นเดือนนี้ ไบเดนได้ใช้สิทธิ์วีโต้กฎหมายที่เสนอให้แต่งตั้งผู้พิพากษาใหม่ 66 คน เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรในศาลรัฐบาลกลางทั่วประเทศ

นอกจากนี้ ไบเดนยังได้ลดโทษประหารชีวิตของนักโทษในแดนประหารจำนวน 37 คน จาก 40 คน และเปลี่ยนเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิตโดยไม่รอลงอาญา พร้อมทั้งได้อภัยโทษอย่างเต็มรูปแบบและไม่มีเงื่อนไขให้กับฮันเตอร์ ไบเดน ลูกชายของเขา

การลงนามในกฎหมายต่างๆ เกิดขึ้นในช่วงที่ไบเดนกำลังเร่งผลักดันนโยบายสำคัญในช่วงโค้งสุดท้ายของการดำรงตำแหน่ง ก่อนที่จะส่งมอบอำนาจให้กับโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ในวันที่ 20 มกราคม 2568

ทั้งนี้ ไบเดนยังอยู่ในช่วงสรุปโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สภาคองเกรสอนุมัติไว้ก่อนหน้านี้ รวมถึงการจัดสรรเงินทุนสำหรับการจัดหาอาวุธให้กับยูเครนก่อนที่เขาจะหมดวาระการดำรงตำแหน่ง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top