เปิดภาพกระจุกดาวต้นคริสต์มาส เนบิวลาเรืองแสงจากกลุ่มดาวยูนิคอร์น
(25 ธ.ค. 67) เพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยภาพกระจุกดาวต้นคริสต์มาส (Christmas Tree Cluster) หรือ NGC 2264 ซึ่งอยู่ห่างจากโลกประมาณ 2,500 ปีแสงในกลุ่มดาวยูนิคอร์น (Monoceros) ภาพนี้แสดงให้เห็นเนบิวลาที่เรืองแสง (Emission Nebula) ขนาดใหญ่และกระจุกดาวเปิด (Open Cluster) ที่ประกอบด้วยดาวฤกษ์อายุน้อยหลากหลายมวล ตั้งแต่ดาวมวลน้อยไปจนถึงดาวที่มีมวลมากกว่า 7 เท่าของดวงอาทิตย์
ลักษณะการเรียงตัวของกระจุกดาวในภาพดูคล้ายกับ "ต้นคริสต์มาส" จึงเป็นที่มาของชื่อ โดยมีดาวแปรแสง S Monocerotis (15 Monocerotis) อยู่บริเวณลำต้นของต้นคริสต์มาส และอีกดวงคือ V429 Monocerotis ที่อยู่บริเวณยอดต้นไม้เหนือขึ้นไปจะเห็นเนบิวลามืดสีคล้ำรูปแท่งกรวยที่เรียกว่า เนบิวลารูปโคน (Cone Nebula)
ภาพกระจุกดาวต้นคริสต์มาสสีเขียวนี้ถูกประกอบและตกแต่งขึ้นใหม่จากข้อมูลหลายแหล่ง โดยข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์ WIYN ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.9 เมตร ณ หอสังเกตการณ์แห่งชาติคิตต์พีค ประเทศสหรัฐอเมริกา แสดงให้เห็นรูปทรงของต้นคริสต์มาสที่มาจากแก๊สในเนบิวลา ข้อมูลอินฟราเรดจากโครงการ Two Micron All Sky Survey (2MASS) เผยให้เห็นดาวสีขาวทั้งที่อยู่ในฉากหน้าและฉากหลัง ขณะที่ข้อมูลรังสีเอกซ์จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศจันทราของ NASA ทำให้เห็นไฟประดับสีขาวฟ้าจากดาวฤกษ์อายุน้อย
Merry Christmas 2024!