Tuesday, 13 May 2025
World

ศาลฎีกาสหรัฐฯ เตรียมเปิดไต่สวน ติ๊กต๊อก สู้กม.แบนกิจการ ลุ้นชี้ชะตา10 ม.ค.นี้

เมื่อวานนี้ (18 ธ.ค.67) ศาลสูงสุดสหรัฐฯ เห็นพ้องจะทบทวนคำร้องจากติ๊กต็อก (TikTok) และไบต์แดนซ์ (ByteDance) บริษัทแม่ของติ๊กต็อก เพื่อระงับกฎหมายที่กำหนดการจำหน่ายกิจการของแอปพลิเคชันแบ่งปันคลิปวิดีโอยอดนิยมนี้ภายในวันที่ 19 ม.ค. 2025 หรือเผชิญการลงโทษแบนด้วยเหตุผลความมั่นคงของชาติ

รายงานระบุว่าศาลสูงสุดสหรัฐฯ กำหนดรับฟังข้อโต้แย้งในวันที่ 10 ม.ค. 2025 เพื่อตัดสินว่ากฎหมายดังกล่าวจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกอันขัดกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 ของสหรัฐฯ หรือไม่ โดยศาลสูงสุดสหรัฐฯ ออกกำหนดการนี้หลังจากติ๊กต็อกยื่นคำร้องเป็นเวลาสองวันแล้ว

ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนเมษายน โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ออกกฎหมายที่ให้เวลากับไบต์แดนซ์เพียง 270 วันในการจำหน่ายกิจการของติ๊กต็อก โดยอ้างอิงประเด็นความมั่นคงของชาติที่ไม่มีมูลความจริง ซึ่งหากไบต์แดนซ์ไม่สามารถปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว ผู้ให้บริการร้านค้าแอปพลิเคชันอย่างแอปเปิลและกูเกิลต้องถอดติ๊กต็อกออกจากแพลตฟอร์ม

ต่อมาเดือนพฤษภาคม ติ๊กต็อกยื่นฟ้องร้องรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อระงับคำสั่งแบนที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งจุดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้าง และเมื่อต้นเดือนธันวาคม ศาลอุทธรณ์สหรัฐฯ ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ยกฟ้องคำกล่าวอ้างของติ๊กต็อกที่ว่าคำสั่งแบนขัดต่อรัฐธรรมนูญและละเมิดสิทธิตามการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 ของผู้ใช้งานในสหรัฐฯ 170 ล้านราย

เมื่อวันจันทร์ (16 ธ.ค.) ติ๊กต็อกเรียกร้องศาลสูงสุดสหรัฐฯ ระงับกฎหมายนี้ ชี้ว่าจะเป็นการปิดหนึ่งในแพลตฟอร์มแสดงออกทางคำพูดที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของอเมริกาก่อนวันสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดี และปิดปากชาวอเมริกันจำนวนมากที่ใช้แพลตฟอร์มนี้สื่อสารเกี่ยวกับการเมือง การค้า ศิลปะ และประเด็นอื่น ๆ ที่สาธารณชนสนใจ

บังกลาเทศแห่มาไทย หลังอินเดียคุมเข้มวีซ่า ใช้จ่ายด้านท่องเที่ยว-รักษาพยาบาลมากสุด

(19 ธ.ค.67) ข้อมูลจากธนาคารกลางบังกลาเทศเผยว่า การใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตของชาวบังกลาเทศในอินเดียลดลงอย่างมากในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ขณะที่การใช้จ่ายในไทยและสิงคโปร์กลับเพิ่มขึ้น ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการที่รัฐบาลอินเดียจำกัดการออกวีซ่า ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวและผู้ป่วยชาวบังกลาเทศที่เดินทางไปอินเดียลดลง

ในเดือนตุลาคมปีนี้ การใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตของชาวบังกลาเทศในอินเดียลดลงมากกว่า 40% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นสัดส่วนเพียง 10.78% ของการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในต่างประเทศทั้งหมด ซึ่งลดลงจาก 16.50% ในเดือนตุลาคม 2566

ในทางตรงกันข้าม การใช้บัตรเครดิตของชาวบังกลาเทศในไทยและสิงคโปร์เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ไทยได้กลายเป็นจุดหมายปลายทางที่ใหญ่เป็นอันดับสองสำหรับการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตของชาวบังกลาเทศในต่างประเทศ โดยในเดือนกันยายนมีการใช้จ่ายมูลค่า 420 ล้านตากา (ราว 120 ล้านบาท) และเพิ่มขึ้นเป็น 570 ล้านตากา (ราว 165 ล้านบาท) ในเดือนตุลาคม ส่งผลให้ไทยแซงหน้าอินเดียขึ้นเป็นอันดับสอง

ขณะเดียวกัน สิงคโปร์ก็มียอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยในเดือนตุลาคม ชาวบังกลาเทศใช้จ่าย 430 ล้านตากาในสิงคโปร์ เพิ่มขึ้นจาก 300 ล้านตากาในเดือนกันยายน

เว็บไซต์หนังสือพิมพ์เดอะ เดลี สตาร์ (The Daily Star) รายงานว่า หลังจากเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและการจัดตั้งรัฐบาลรักษาการในบังกลาเทศเมื่อเดือนสิงหาคม อินเดียตัดสินใจระงับการออกวีซ่าท่องเที่ยวให้แก่ชาวบังกลาเทศ โดยอนุญาตเฉพาะกรณีฉุกเฉินทางการแพทย์เท่านั้น ส่งผลให้การใช้บัตรเครดิตในอินเดียลดลงอย่างมาก

ไซเอ็ด โมฮัมหมัด คามัล ผู้จัดการประจำประเทศบังกลาเทศของบริษัทมาสเตอร์การ์ด (Mastercard) กล่าวว่าจำนวนชาวบังกลาเทศที่เดินทางไปอินเดียลดลงเกือบ 90% โดยนักท่องเที่ยวที่เคยไปมุมไบหรือเมืองอื่น ๆ ในอินเดีย เลือกเดินทางมาประเทศไทย สิงคโปร์ และเนปาลแทน

ผู้นำอินโดฯ เล็งอภัยโทษคนทุจริต หากนำทรัพย์สินที่ขโมยไปกลับมาคืน

ประธานาธิบดีปราโบโว ซูเบียนโต แห่งอินโดนีเซีย เปิดเผยว่า เขาอาจพิจารณาให้อภัยผู้ที่กระทำการทุจริต หากพวกเขานำทรัพย์สินที่ขโมยไปกลับมาคืน

(19 ธ.ค.67) สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ในการกล่าวสุนทรพจน์ต่อนักศึกษาอินโดนีเซียที่กรุงไคโร ประเทศอียิปต์ เมื่อวันพุธที่ 18 ธันวาคมที่ผ่านมา ปธน.ปราโบโวกล่าวว่า เขาจะดำเนินการเรียกคืนทรัพย์สินที่ได้มาโดยมิชอบในไม่กี่สัปดาห์หรือเดือนข้างหน้า

ปธน.ปราโบโวกล่าวว่า “หากผู้ที่ทุจริต หรือผู้ที่รู้ตัวว่าได้ฉกชิงทรัพย์สินจากประชาชน หากนำสิ่งที่ขโมยไปคืนมา เราอาจให้อภัยได้ กรุณานำมันกลับมาคืน”

อย่างไรก็ตาม ปธน.ปราโบโวยังไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับแผนการดังกล่าว โดยกล่าวเพียงว่ารัฐบาลอาจหาวิธีการต่าง ๆ ให้ผู้กระทำผิดสามารถคืนทรัพย์สินที่ขโมยไปได้อย่างลับ ๆ

ปธน.ปราโบโว ซึ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 20 ตุลาคมที่ผ่านมา ได้ให้คำมั่นว่าจะขจัดการทุจริตและนำเสนอแนวทางที่ 'สามารถปฏิบัติได้จริง' ในการป้องกันการทุจริต ซึ่งรวมถึงการขึ้นเงินเดือนให้กับเจ้าหน้าที่รัฐที่มีหน้าที่ดูแลงบประมาณจำนวนมาก

จนถึงขณะนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกฎหมายของอินโดนีเซียยังไม่ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับแผนการดังกล่าวของปธน.ปราโบโว

ปูตินลั่นนาโต้สกัดมิสไซล์ Oreshnik ไม่ได้ ท้าชาติตะวันตกลองดวลกัน แล้วจะรู้ฤทธิ์

(19 ธ.ค.67) ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย ได้กล่าวในตอนหนึ่งของการแถลงข่าวช่วงสิ้นปีต่อบรรดาผู้สื่อข่าวในกรุงมอสโก โดยหนึ่งในผู้สื่อข่าวได้ถามผู้นำรัสเซียว่า รู้สึกกังวลหรือไม่ที่บรรดาชาติตะวันตกสมาชิกนาโต้ นำขีปนาวุธหลากชนิดเข้ามาประจำการทางตอนเหนือของโปแลนด์และโรมาเนีย

เรื่องดังกล่าวผู้นำรัสเซียตอบว่า "สมมติว่าระบบ Oreshnik ของเราตั้งอยู่ห่างจากพิกัดขีปนาวุธของพวกเขา 2,000 กิโลเมตร (1,243 ไมล์)  แม้แต่ขีปนาวุธต่อต้านที่ตั้งอยู่ในโปแลนด์ก็จะไม่สามารถทำลายมันได้" ผู้นำรัสเซียกล่าวโดยนัยว่า ยังไม่มีระบบขีปนาวุธชนิดใดของตะวันตกที่สามารถยิงไกลและมีความเร็วมากพอจะสกัดขีปนาวุธ Oreshnik ของรัสเซียได้

ปูตินยังกล่าวอีกว่า "งั้นลองให้พวกเขา (นาโต้) ลองใช้เทคโนโลยีจากตะวันตกหรือสหรัฐ มาดวลกับ Oreshnik ซึ่งเป็นเทคโนโลยีแห่งศตวรรษที่ 21 ให้พวกเขา (นาโต้) ลองระบุเป้าหมายของเราดู แล้วรวมสรรพกำลังโจมตี ส่วนเราจะตอบกลับด้วย Oreshnik แล้วดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น" 

นอกจากนี้ในการแถลงข่าว ผู้นำรัสเซียยังได้ยกย่องอาวุธมิสไซล์ความเร็วเหนือเสียงนี้ว่า "Oreshnik นี้เป็นอาวุธใหม่ที่ทันสมัยมาก ระบบขีปนาวุธนี้ถูกสร้างขึ้นโดยอ้างอิงการออกแบบขีปนาวุธทุกรูปแบบที่รัสเซียเคยใช้" เมื่อถามว่าเหตุใดถึงตั้งชื่อว่า Oreshnik ปูตินตอบเชิงติดตลกว่า แม้เขาจะอนุมัติสร้าง แต่ก็ไม่ทราบเหมือนกันเหตุใดจึงชื่อนี้

รางวัล 'Oscar' พิจารณาอย่างไร หลัง 'หลานม่า' เข้าลุ้นภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม

(20 ธ.ค.67) ภาพยนตร์ไทยเรื่อง 'หลานม่า' จากค่าย GDH สร้างประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญด้วยการเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ได้รับคัดเลือกเข้าสู่รอบ 15 เรื่องสุดท้าย ในสาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม (Best International Feature Film) ของรางวัลออสการ์ครั้งที่ 97 โดยสามารถฝ่าด่านภาพยนตร์จากทั่วโลกถึง 85 เรื่องได้สำเร็จ การประกาศรายชื่อภาพยนตร์ที่ผ่านเข้าสู่รอบ 5 เรื่องสุดท้ายจะมีขึ้นในวันที่ 17 มกราคม 2568 ส่วนพิธีมอบรางวัลออสการ์จะจัดขึ้นในวันที่ 2 มีนาคม 2568

การตัดสินรางวัลออสการ์ดำเนินการโดยสมาชิกสถาบันศิลปะและวิทยาการภาพยนตร์ (Academy of Motion Picture Arts and Sciences - AMPAS) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญจากหลายสาขาในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ จากข้อมูลของสถาบันออสการ์ ในปี 2024 ปัจจุบันมีสมาชิกที่มีสิทธิ์โหวตรวมทั้งสิ้น 9,934 คน แต่ละคนมีส่วนเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ไม่ว่าจะเป็นผู้สร้างภาพยนตร์ ผู้กำกับ นักเขียนบท ผู้บริหาร ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด หรือผู้เชี่ยวชาญด้านประชาสัมพันธ์ในวงการภาพยนตร์ทั้งสิ้น

สำหรับขั้นตอนการลงคะแนน สมาชิก AMPAS ทุกคนสามารถลงคะแนนในหมวดนี้ได้ โดยใช้ระบบโหวตแบบเรียงลำดับความชอบ (Preferential Voting System) สมาชิกจะจัดอันดับภาพยนตร์ที่ตนชื่นชอบจากมากไปน้อย หากภาพยนตร์ใดได้รับคะแนนอันดับหนึ่งเกิน 50% จะถือเป็นผู้ชนะทันที แต่หากไม่มีภาพยนตร์ใดได้คะแนนเกินครึ่ง ระบบจะคัดภาพยนตร์ที่ได้คะแนนอันดับหนึ่งน้อยที่สุดออก และโอนคะแนนของผู้ที่โหวตภาพยนตร์นั้นไปยังตัวเลือกถัดไปในลำดับ กระบวนการนี้จะดำเนินต่อไปจนกว่าภาพยนตร์หนึ่งจะได้รับคะแนนเสียงส่วนใหญ่

สำหรับรางวัลอื่น ๆ เช่น นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม หรือผู้กำกับยอดเยี่ยม การลงคะแนนจะใช้ระบบเสียงข้างมาก (Plurality Voting) สมาชิกของสาขาที่เกี่ยวข้องจะลงคะแนนให้กับผู้เข้าชิงที่ชื่นชอบมากที่สุด ผู้ที่ได้รับคะแนนโหวตสูงสุดจะเป็นผู้ชนะ การคัดเลือกผู้เข้าชิง 5 อันดับแรกจะใช้ระบบการคัดรอบแรก ก่อนลงคะแนนรอบสุดท้ายเพื่อหาผู้ชนะ

การนับคะแนนรางวัลออสการ์ดำเนินการโดยบริษัทที่ปรึกษาระดับโลก PricewaterhouseCoopers (PwC) ซึ่งทำหน้าที่รวบรวมและตรวจสอบผลคะแนนทั้งหมดอย่างเคร่งครัด ผลคะแนนจะถูกเก็บเป็นความลับจนกว่าจะมีการประกาศบนเวทีในคืนงานมอบรางวัล เพื่อรักษาความโปร่งใสและความยุติธรรมในกระบวนการทั้งหมด

สภาล่างสหรัฐฯ ปัดตกร่างงบประมาณของทรัมป์ จับตา government shutdown คืนนี้

(20 ธ.ค.67) สหรัฐกำลังเสี่ยงเผชิญภาวะ 'ชัตดาวน์ทางการคลัง' รอบใหม่ หลังจากสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐที่พรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมาก โหวตคว่ำร่างงบประมาณรายจ่ายชั่วคราวที่สนับสนุนโดยโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดี และอีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีและที่ปรึกษาคนสนิท ส่งผลให้รัฐบาลกลางอาจขาดงบประมาณสำหรับดำเนินงานหากไม่สามารถตกลงกันได้ก่อนเที่ยงคืนวันศุกร์ที่ 20 ธันวาคมนี้ (ตามเวลาสหรัฐ)

ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรลงมติด้วยคะแนน 235 ต่อ 174 เสียง โดยมีสมาชิกพรรครีพับลิกัน 38 คน โหวตค้านร่างงบฯ ฉบับทรัมป์ ที่เปิดช่องให้ยกเลิกเพดานหนี้และสามารถก่อหนี้เพิ่มอย่างมหาศาล ซึ่งกลายเป็นประเด็นขัดแย้งภายในพรรค ขณะที่ไมค์ จอห์นสัน ประธานสภาผู้แทนราษฎร ระบุว่าจะมีการประชุมใหม่เพื่อหาทางออกต่อไป

แม้ว่าพรรครีพับลิกันและเดโมแครตจะเคยบรรลุข้อตกลงร่วมกันในร่างงบประมาณรายจ่ายที่ครอบคลุมเงินช่วยเหลือด้านภัยพิบัติและการเกษตรมูลค่า 1.1 แสนล้านดอลลาร์ แต่ทรัมป์และมัสก์กลับออกมาคัดค้านเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม โดยทรัมป์ขู่ว่าจะไม่สนับสนุนสมาชิกสภาที่ไม่ยอมทำตามข้อเสนอของเขา

หากร่างงบประมาณไม่ผ่านภายในกำหนด จะเกิดภาวะรัฐบาลชัตดาวน์ ส่งผลกระทบต่อหน่วยงานรัฐบาลกลาง 438 แห่งทั่วสหรัฐ รวมถึงการจ่ายเงินเดือนเจ้าหน้าที่รัฐบาลกลาง และบริการสาธารณะต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องหยุดชะงัก

ที่จริงแล้ว พรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครตสามารถบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับร่างงบประมาณรายจ่ายที่จะนำมาโหวตในสัปดาห์นี้ได้ โดยพรรคเดโมแครต ซึ่งเป็นเสียงข้างน้อยในสภาผู้แทนราษฎร ได้รับเงื่อนไขที่ต้องการคือ การอนุมัติงบประมาณเพิ่มเติม 1.1 แสนล้านดอลลาร์ เพื่อช่วยเหลือด้านภัยพิบัติและการเกษตร อย่างไรก็ตาม ทรัมป์และมัสก์ได้ออกมาคัดค้านข้อตกลงดังกล่าวเมื่อวันพุธที่ผ่านมา ตามเวลาท้องถิ่น

แม้ว่าทรัมป์จะยังไม่ได้เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการ แต่เขามักใช้อิทธิพลทางการเมืองอย่างไม่เป็นทางการเพื่อกดดันฝ่ายนิติบัญญัติ โดยในครั้งนี้ เขาขู่ว่าจะไม่สนับสนุนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ต่อต้านเขาในการเลือกตั้งครั้งหน้า เพื่อกดดันให้มีการปรับแก้ร่างงบประมาณ และเปิดทางให้ระงับการจำกัดเพดานหนี้เป็นเวลา 2 ปี ทรัมป์ต้องการหลีกเลี่ยงการต่อรองทางการเมืองเกี่ยวกับงบประมาณรายจ่ายชั่วคราวที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งคาดว่าจะทำให้รัฐบาลของเขาก่อหนี้เพิ่มขึ้นอย่างมาก จนทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบางส่วนจากพรรครีพับลิกันไม่เห็นด้วย

ทรัมป์ต้องการให้สภาคองเกรสจัดการกับปัญหาเพดานหนี้ในทันที เพื่อหลีกเลี่ยงความยุ่งยากขณะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้ง หนึ่งในเป้าหมายสำคัญของเขาคือการขยายเวลาลดหย่อนภาษี ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านภาษีคาดการณ์ว่าจะทำให้หนี้ของรัฐบาลกลางสหรัฐเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 4 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วงทศวรรษหน้า จากระดับปัจจุบันที่ 36 ล้านล้านดอลลาร์

นักวิเคราะห์ชี้ว่าการขัดแย้งทางการเมืองครั้งนี้สะท้อนถึงแรงกดดันจากภายในพรรครีพับลิกันและการพยายามรวบอำนาจของทรัมป์ ขณะที่แผนการขยายเวลาลดหย่อนภาษีที่เขาผลักดันอาจทำให้หนี้ของรัฐบาลกลางพุ่งสูงถึง 4 ล้านล้านดอลลาร์ในทศวรรษหน้า จากปัจจุบันที่ 36 ล้านล้านดอลลาร์

ปูตินแถลงข่าว 4 ชม. ลั่นควรบุกยูเครนเร็วขึ้น พร้อมถกทรัมป์จบขัดแย้งเคียฟ

เมื่อวานนี้ (19 ธ.ค.67) นายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย แถลงข่าวสิ้นปีผ่านทางโทรทัศน์เป็นเวลานานกว่า 4 ชั่วโมง ซึ่งเป็นธรรมเนียมประจำปีที่ผู้นำรัสเซียเปิดเวทีให้ประชาชนและสื่อมวลชนซักถาม โดยมีประเด็นสงครามในยูเครนเป็นหัวข้อสำคัญ พร้อมแสดงจุดยืนเปิดกว้างต่อการเจรจากับยูเครนและว่าที่ผู้นำสหรัฐฯ

ปูตินกล่าวถึงการรุกรานยูเครนที่เริ่มเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2565 โดยยอมรับว่า หากย้อนเวลากลับไปได้ รัสเซียควรเปิดฉากปฏิบัติการพิเศษทางทหารให้เร็วและมีการเตรียมพร้อมที่เป็นระบบมากกว่านี้ พร้อมเสริมว่าสถานการณ์สงครามเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และรัสเซียยังคงรุกคืบและยึดครองพื้นที่ใหม่ได้อย่างต่อเนื่อง แม้จะไม่สามารถกำหนดกรอบเวลาที่แน่นอนได้ว่าการยึดคืนดินแดนจะเสร็จสิ้นเมื่อใด

เมื่อถูกถามถึงความสัมพันธ์กับนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปูตินระบุว่าไม่ได้พูดคุยกับทรัมป์มานานกว่า 4 ปี แต่พร้อมเปิดการเจรจาทันทีหากอีกฝ่ายต้องการ พร้อมแสดงความมั่นใจว่าการสนทนาจะเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ เนื่องจากทรัมป์เคยให้คำมั่นระหว่างการหาเสียงว่าจะยุติสงครามรัสเซีย-ยูเครนโดยเร็ว

ปูตินยอมรับว่า สถานการณ์เงินเฟ้อและปัญหาข้าวยากหมากแพงเป็นประเด็นที่น่าวิตกสำหรับรัสเซียในปัจจุบัน โดยอัตราการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างในปี 2567 อยู่ที่ 9% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงถึง 9.3% ส่งผลให้เศรษฐกิจรัสเซียยังคงเผชิญกับแรงกดดันอย่างหนักจากมาตรการคว่ำบาตรระหว่างประเทศและวิกฤตสงคราม

ปูตินยังเน้นย้ำถึงความร่วมมือที่แน่นแฟ้นกับจีน ซึ่งทั้งสองประเทศมุ่งสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อเวทีโลก พร้อมระบุว่าความสัมพันธ์กับประเทศพันธมิตรอื่น ๆ ยังคงพัฒนาไปในทิศทางที่ดี

ท่ามกลางสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผู้นำรัสเซียกล่าวว่า พร้อมเปิดกว้างต่อการเจรจาเพื่อยุติสงคราม แม้จะยังไม่ชัดเจนว่าการปรองดองที่พูดถึงจะมีรูปแบบใด ทั้งนี้การเจรจาทั้งหมดต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้นำที่ชอบธรรมของยูเครนเช่นกัน

การแถลงข่าวครั้งนี้สะท้อนถึงความหวังในการหาทางออกของวิกฤตที่ยืดเยื้อ ซึ่งอาจเป็นสัญญาณถึงการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้

เปิดกลยุทธ์เครมลิน เหตุใดตะวันตกคว่ำบาตร แต่เศรษฐกิจรัสเซียยังโต

(20 ธ.ค.67) ในช่วงหนึ่งของการแถลงข่าวความยาว 4 ชั่วโมง ปูตินได้กล่าวถึงสภาพเศรษฐกิจของรัสเซีย โดยคาดว่าในปี 2025 อัตราการเติบโตทาง GDP อยู่ที่ราว  2-2.5% และกล่าวว่าเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของรัสเซียมาจากการมี 'อธิปไตย' ของตนเอง

ปูตินกล่าวว่า "ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของรัสเซียเป็นผลมาจากการเสริมสร้างอธิปไตย ซึ่งรวมถึงการนำไปสู่เศรษฐกิจด้วย อธิปไตยมีหลายรูปแบบ รวมถึงอธิปไตยด้านการป้องกัน, อธิปไตยด้านเทคโนโลยี, ด้านวิทยาศาสตร์, การศึกษา และวัฒนธรรม ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญโดยเฉพาะสำหรับประเทศของเรา เพราะเมื่อเราสูญเสียอธิปไตย เราจะสูญเสียอำนาจของรัฐ นี่คือสิ่งที่สำคัญที่สุด"

เส้นทางของรัสเซียสู่การมีอธิปไตยทางเศรษฐกิจของรัสเซียเริ่มต้นมานานหลายทศวรรษ แต่มาประสบความสำเร็จอย่างชัดเจนจากการที่ตะวันตกเริ่มคว่ำบาตรมากขึ้นตั้งแต่ปี 2014 ซึ่งนักวิเคราะห์การเงินที่มีประสบการณ์ พอล กอนชารอฟ กล่าวกับสปุตนิกว่า การคว่ำบาตร 'ที่รุนแรง' เริ่มต้นขึ้นในปี 2014

"ในปี 2014 นับเป็นยุคของ 'การคว่ำบาตรที่รุนแรง' เริ่มต้นขึ้นกับรัสเซีย และในแต่ละปีที่ตามมา ปริมาณของการคว่ำบาตรก็เพิ่มขึ้น จนทำให้ปัจจุบันรัสเซียกลายเป็นไม่กี่ชาติบนโลกที่ถูกคว่ำบาตรมากที่สุด แต่ก็ประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจที่สุดเช่นกัน" กอนชารอฟกล่าวในบทสัมภาษณ์กับสปุตนิก

รัสเซียสามารถเอาชนะแรงกดดันจากการคว่ำบาตรได้ด้วยการก้าวไปทีละขั้น เริ่มต้นจากการลงทุนในความพึ่งพาตนเองทางการเกษตรเพื่อ ลดการพึ่งพาการนำเข้า รวมถึง "การกระตุ้นการผลิตสินค้าทดแทนการนำเข้าที่สำคัญสำหรับเครื่องจักรและเทคโนโลยี" 

มอสโกค่อย ๆ เริ่มตระหนักว่าการมีพันธมิตรทางเศรษฐกิจที่สามารถทำได้กับประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการคว่ำบาตรจากตะวันตก กอนชารอฟกล่าว พร้อมชี้ว่า รัสเซียให้ความสำคัญกับการพัฒนาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ดี กับประเทศในกลุ่ม BRICS การขยายตัวของกลุ่ม BRICS และการใช้สกุลเงินอธิปไตยที่ไม่ใช่ดอลลาร์สหรัฐและยูโร ซึ่งสะท้อนถึงความต้องการของรัฐบาลหลายชาติที่ต้องการออกจาก 'อิทธิพล' ของกลุ่ม G7 และระบบการชำระเงินของพวกเขา

"กลยุทธ์ของรัสเซีย โดยเฉพาะหลังจากที่ถูกตัดออกจากระบบธนาคาร SWIFT ในปี 2022 ได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นกลยุทธ์ที่ถูกต้อง"  กอนชารอฟ กล่าว

"รายได้จากภาษีการนำเข้าของรัสเซียในตะวันตกลดลง แต่สวนทางเพิ่มขึ้นในการนำเข้าจากประเทศแถบภูมิภาคตะวันออกหลายหมื่นล้านดอลลาร์ การส่งออกของรัสเซียเพิ่มขึ้น 31 พันล้านดอลลาร์หลังจากที่ตะวันตกดำเนินการคว่ำบาตรการค้าหลังปี 2022 ซึ่งเป็นยังเป็นผลดีต่อประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียกลาง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินเดีย และประเทศในตะวันออกกลาง แอฟริกา และกลุ่มประเทศ Mercosur (ที่ประกอบด้วย อาร์เจนตินา บราซิล ปารากวัย อุรุกวัย และเวเนซูเอลา) ต่างได้รับประโยชน์จากการแยกตัวของรัสเซียจากตะวันตก" 

ในที่สุด รัสเซียก็สามารถหาพันธมิตรใหม่ๆ นอกกลุ่มตะวันตก โดยผูกเศรษฐกิจของตนเข้ากับประเทศกำลังพัฒนาที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง

"สินค้าจำเป็นทุกประเภทได้ถูกแทนที่โดยการผลิตในรัสเซีย หรือจากประเทศที่ตอนนี้ถูกมองว่าเป็น 'ประเทศมิตร' เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐไม่ได้ถูกใช้ในการชำระภาระทางการค้าระหว่างประเทศอีกต่อไป ประกอบกับเงินดอลลาร์ที่มีอัตราแลกเปลี่ยนที่ค่อนข้างผันผวน ก็กำลังทำให้การชำระเงินในสกุลอื่นเป็นระบบที่นิยมมากขึ้น

กอนชารอฟกล่าวสรุปว่า "การแทนที่สินค้านำเข้า การค้าด้วยสกุลเงินท้องถิ่น การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานไปยังทิศทางกลุ่มประเทศแถบโลกใต้และโลกตะวันออก การเบนเข็มน้ำมันและก๊าซไปยังโลกใต้และโลกตะวันออก และการมีส่วนร่วมในการขยายและพัฒนากลุ่มประเทศ BRICS ในฐานะแนวหน้าทางเศรษฐกิจใหม่ ล้วนเป็นการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ที่ประสบความสำเร็จ และสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจของรัสเซียและชาติพันธมิตรมากขึ้นเรื่อย ๆ"

มาเลเซียฟื้นภารกิจค้นหาเที่ยวบิน MH370 ตั้งเงินรางวัล 70 ล้านดอลลาร์ หากพบเบาะแส

(20 ธ.ค.67) รัฐบาลมาเลเซียแถลงว่าจะรื้อฟื้นภารกิจค้นหาเที่ยวบิน  MH370 ที่หายไป หลังจากหายไปมากกว่า 10 ปี ซึ่งถือเป็นหนึ่งในปริศนาใหญ่ที่สุดในวงการการบินโลก 

เที่ยวบิน MH370 ซึ่งเป็นเครื่องบินโบอิ้ง 777 บรรทุกผู้โดยสาร 227 คนและลูกเรือ 12 คน ได้หายไปในระหว่างการเดินทางจากกัวลาลัมเปอร์ไปปักกิ่ง เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2014

ในคำแถลงของรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมของมาเลเซีย แอนโทนี โล๊ค ได้กล่าวว่า ข้อเสนอในการค้นหาเที่ยวบิน MH 370 บนพื้นที่ใหม่ในมหาสมุทรอินเดียตอนใต้ ตกเป็นของบริษัท Ocean Infinity ซึ่งเคยดำเนินการค้นหาครั้งล่าสุดจนสิ้นสุดในปี 2018 หากบริษัทนี้สามารถค้นพบเบาะแสสำคัญที่นำไปสู่การไขปริศนาจะได้รับเงินรางวัล 70 ล้านดอลลาร์ (ราว 2,400 ล้านบาท) 

ในแถลงการณ์ว่า รัฐบาลมาเลเซียมี 'ความรับผิดชอบและภาระหน้าที่' ต่อผู้คนที่สูญเสียคนที่รักเมื่อเครื่องบินหลุดจากเรดาร์ในมหาสมุทรเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2557 เขากล่าวเสริมว่ารัฐบาลของเขาหวังที่จะ 'ให้ความกระจ่าง' แก่ครอบครัวที่ตั้งคำถามถึงสิ่งที่เกิดขึ้น

จากการสืบสวนของมาเลเซียในตอนแรกไม่ได้ตัดความเป็นไปได้ว่าเครื่องบินถูกบังคับออกนอกเส้นทางโดยเจตนา กระทั่งพบหลักฐานเป็นชิ้นส่วนที่ได้รับการยืนยันว่าเป็นของเที่ยวบินดังกล่าวลอยขึ้นฝั่งแอฟริกาและเกาะต่าง ๆ ในมหาสมุทรอินเดีย ทำให้รัฐบาลเปลี่ยนมามุ่งค้นหาบริเวณพื้นที่มหาสมุทรอินเดียแทน

ทั้งนี้ แม้การค้นหายังไร้เบาะแสสำคัญ แต่ที่ผ่านมาบรรดาญาติของผู้สูญหายได้เรียกร้องให้มีการชดเชยจากมาเลเซียแอร์ไลน์ โบอิ้ง ผู้ผลิตเครื่องยนต์ Rolls-Royce และกลุ่มประกัน Allianz ซึ่งเป็นบริษัทผู้เอาประกันของเครื่องบินดังกล่าว แต่ก็ยังไร้ความคืบหน้าในการจ่ายค่าเสียหายชดเชยเช่นกัน

อังกฤษผุดไอเดียปรับเงินผู้ปกครอง หากนักเรียนทำพฤติกรรมแย่

(20 ธ.ค.67) สถาบันวิจัย Tony Blair Institute (TBI) ในอังกฤษเสนอไอเดียต่อรัฐบาลให้ครูมีอำนาจปรับเงินผู้ปกครองของนักเรียนที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในโรงเรียน โดยให้เหตุผลว่าครูควรมีอำนาจในเชิงกฎหมายที่คล้ายกันกับตำรวจปรับผู้ขับขี่ เพื่อบังคับให้ผู้ปกครองเข้าพบและจัดทำแผนปรับปรุงพฤติกรรมของบุตรหลาน

รายงานระบุว่า หากผู้ปกครองไม่ให้ความร่วมมือในการปรับปรุงพฤติกรรมบุตรหลาน ครูสามารถแจ้งตำรวจหรือหน่วยงานด้านสวัสดิการสังคมเพื่อเข้ามาแก้ปัญหาได้ โดยชี้ว่าครูอยู่ในบทบาทที่สามารถสังเกตและปัญหาที่ลึกซึ้งและมีบทบาทสำคัญในการป้องกันปัญหาในระยะยาวจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนการสอนและลดวิกฤตการณ์ขาดแคลนครูได้

Alexander Iosad ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมของ TBI กล่าวว่า “ปัจจุบันครูไม่มีอำนาจและไม่ได้รับการสนับสนุนเพียงพอในการรับมือกับพฤติกรรมที่ก่อกวนและอันตรายที่เพิ่มขึ้น” พร้อมเสนอให้ฟื้นฟูอำนาจและสนับสนุนครูอย่างเต็มที่

อย่างไรก็ตาม บรรดาผู้บริหารโรงเรียนบางรายแสดงความกังวลว่าการให้อำนาจนี้อาจเพิ่มภาระงานและทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนและผู้ปกครองตึงเครียดมากขึ้น พร้อมเสนอให้เพิ่มงบประมาณสำหรับหน่วยงานด้านสวัสดิการสังคมและการสนับสนุนเด็กและครอบครัวที่มีปัญหาแทน

การวิเคราะห์ข้อมูลจาก Edurio และ Opinium ระบุว่ากว่าครึ่งของครูในอังกฤษต้องเผชิญกับปัญหาการขาดการสนับสนุนในการจัดการพฤติกรรมนักเรียน และน้อยกว่า 10% เชื่อว่าโรงเรียนของตนบังคับใช้กฎระเบียบอย่างสม่ำเสมอ ขณะที่ครูมากกว่า 2 ใน 3 ยอมรับว่าการเรียนการสอนในชั้นเรียนมักถูกรบกวนจากพฤติกรรมไม่เหมาะสมของนักเรียนบางคน

รายงานยังชี้ว่าการรบกวนที่ต่อเนื่องทำให้ครูหมดกำลังใจและส่งผลให้พวกเขาพิจารณาออกจากอาชีพ โดยครูที่เผชิญกับปัญหาพฤติกรรมรุนแรงมีแนวโน้มลาออกสูงเกือบสองเท่าเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่มีปัญหาดังกล่าว

Pepe Di’Iasio เลขาธิการสมาคมผู้บริหารโรงเรียนและวิทยาลัยในอังกฤษ กล่าวว่า ภาครัฐควรมุ่งเน้นการให้การสนับสนุนเด็กอย่างเหมาะสมตั้งแต่ระยะแรกและเพิ่มงบประมาณสำหรับการดูแลสวัสดิภาพนักเรียนในโรงเรียน แทนการเปลี่ยนไปลงโทษที่ผู้ปกครอง

ทั้งนี้ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการอังกฤษกล่าวว่า “ที่ผ่านมากระทรวงทำงานร่วมกับครูอย่างใกล้ชิดเพื่อยกระดับมาตรฐานการศึกษาและจัดการกับสาเหตุพื้นฐานของพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมต่อไป”


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top