Wednesday, 14 May 2025
World

ตร.โสมใต้ค้นทำเนียบประธานาธิบดี หาหลักฐาน 'ยุนซอกยอล' ปมกฎอัยการศึก

(11 ธ.ค.67) สำนักข่าวยอนฮับรายงานว่า ตำรวจเกาหลีใต้ได้บุกเข้าตรวจค้นทำเนียบประธานาธิบดี เพื่อสืบสวนข้อกล่าวหาว่า ประธานาธิบดียุน ซอกยอล ได้ก่อการกบฏด้วยการประกาศกฎอัยการศึกเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

ตามรายงานจากสำนักงานสืบสวนแห่งชาติ ซึ่งสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ คณะเจ้าหน้าที่สืบสวนจำนวน 18 นาย ได้เข้าค้นหาหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการประกาศกฎอัยการศึก รวมถึงบันทึกการประชุมคณะรัฐมนตรีที่จัดขึ้นไม่นานก่อนที่ประธานาธิบดียุนจะประกาศกฎอัยการศึกเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม

หมายค้นระบุว่า ประธานาธิบดียุนเป็นผู้ต้องสงสัย โดยมีสถานที่เป้าหมายในการตรวจค้น ได้แก่ ทำเนียบประธานาธิบดี ห้องประชุมคณะรัฐมนตรี และหน่วยรักษาความปลอดภัยประธานาธิบดี

รายงานก่อนหน้านี้ระบุว่า ประธานาธิบดียุนไม่ได้อยู่ในอาคารขณะที่มีการตรวจค้น อย่างไรก็ตาม ข้อมูลดังกล่าวยังไม่ได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการ

ประธานาธิบดียุนถูกระบุเป็นผู้ต้องสงสัยในข้อหาก่อการกบฏ และถูกสั่งห้ามเดินทางออกนอกประเทศ ซึ่งนับเป็นประธานาธิบดีเกาหลีใต้คนแรกที่ถูกห้ามเดินทางขณะยังดำรงตำแหน่ง

ตำรวจสงสัยว่าประธานาธิบดียุนอาจมีส่วนเกี่ยวข้องในการวางแผนก่อการกบฏ ซึ่งขณะนี้การสืบสวนยังคงดำเนินต่อไป

ติดตม.เกาหลี ห้ามเข้าประเทศ พลาดควง'โรเซ่'โชว์ตัวโปรโมทเพลง

(11 ธ.ค. 67) “โรเซ่ BLACKPINK” เผยเองว่า “บรูโน่ มาร์ส” นักร้องระดับโลก ติดปัญหาตม.เกาหลี เข้าประเทศไม่ได้ ทำให้พลาดร่วมรายการ You Quiz on the Block

โรเซ่เผยว่า “บรูโน่ มาร์ส” นักร้องดังเจ้าของเพลงฮิต ‘APT’ ไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศเกาหลีใต้ได้ ส่งผลให้ไม่สามารถปรากฏตัวในรายการ You Quiz on the Block ทางช่อง tvN ตามกำหนดโดย โรเซ่ BLACKPINK ได้เปิดเผยเรื่องนี้ในรายการด้วยตัวเองว่า ปัญหาด้านวีซ่าของ “บรูโน่ มาร์ส” ทำให้เธอต้องถ่ายทำรายการเพียงลำพัง

ช่องยูทูปช่องหนึ่งได้ปล่อยทีเซอร์ตอนพิเศษที่ชื่อว่า A Surprise Appearance by Bruno Mars on You Quiz? โดยโรเซ่ ได้เล่าเรื่องราวสุดเซอร์ไพรส์เกี่ยวกับเหตุการณ์นี้อย่างละเอียด

ในช่วงหนึ่งของทีเซอร์ “โรเซ่” กล่าวอย่างเสียดายว่า “บรูโน่ควรจะมาที่เกาหลีกับเธอ เขาถูกวางตัวให้มาปรากฏตัวในรายการ และเธอตื่นเต้นกับมันมาก แต่โชคร้ายที่ปัญหาเรื่องวีซ่าทำให้เขามาไม่ได้” ขณะที่ยู แจซอก พิธีกรของรายการ แสดงความผิดหวังอย่างเห็นได้ชัด ก่อนที่โรเซ่ จะตัดสินใจโทรหาบรูโน่ มาร์ส ทันทีในรายการ

ข่าวนี้กลายเป็นกระแสฮือฮาไปทั่วโลกโซเชียล เนื่องจากการร่วมงานครั้งนี้ถูกคาดหวังไว้อย่างสูง หลังจากซิงเกิ้ล ‘APT’ ของทั้งคู่ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามและยังคงเป็นที่พูดถึงในวงการเพลงสากล

การที่ บรูโน่ มาร์ส ไม่สามารถผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองของเกาหลีใต้ได้ สร้างความแปลกใจให้กับแฟน ๆ และสื่อต่าง ๆ ที่ตั้งคำถามถึงกระบวนการตรวจสอบวีซ่า แม้ว่าจะเป็นศิลปินระดับโลกที่มีชื่อเสียงก็ตาม

เหตุการณ์นี้ยังสะท้อนถึงความเข้มงวดของระบบตรวจคนเข้าเมืองเกาหลีใต้ ซึ่งไม่สนใจสถานะหรือชื่อเสียงของผู้เดินทางแต่อย่างใด แม้กระทั่งซูเปอร์สตาร์อย่าง บรูโน่ มาร์ส ยังประสบปัญหานี้ได้ ส่งผลให้การถ่ายทำรายการในวันนั้น โรเซ่ ต้องดำเนินรายการเพียงลำพัง แต่เธอก็ยังสามารถสร้างบรรยากาศที่สนุกสนานให้กับผู้ชมได้อย่างเต็มที่

'โดนัลด์ ทรัมป์' ผงาด Time's Person of the Year กลับมารอบนี้เปลี่ยนบทบาทสหรัฐฯ บนเวทีโลก

(13 ธ.ค.67) นายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้รับเลือกเป็น 'บุคคลแห่งปี' (Person of the Year) ประจำปี 2024 ของนิตยสารไทม์ ซึ่งนับเป็นครั้งที่สองที่เขาได้รับเกียรตินี้ โดยก่อนหน้านี้เขาเคยได้รับตำแหน่งดังกล่าวในปี 2016 หลังชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ครั้งแรก

ในแถลงการณ์ของนิตยสารไทม์ ระบุถึงเหตุผลในการเลือกนายทรัมป์ว่า "สำหรับการกลับมาครั้งประวัติศาสตร์ การขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ในหนึ่งชั่วอายุคน และการเปลี่ยนบทบาทของสหรัฐฯ ในเวทีโลก ทำให้โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นบุคคลแห่งปี 2024"  

แซม เจคอบส์ บรรณาธิการบริหารของนิตยสารไทม์ กล่าวว่า นายทรัมป์คือผู้ที่มีอิทธิพลต่อข่าวสารทั่วโลกมากที่สุดในปี 2024 ไม่ว่าจะในแง่บวกหรือแง่ลบก็ตาม ซึ่งทำให้เขาเหมาะสมกับตำแหน่งนี้อย่างไม่ต้องสงสัย

หลังจากได้รับการประกาศตำแหน่ง นายทรัมป์ได้เดินทางไปลั่นระฆังเปิดตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กเมื่อช่วงเช้าวานนี้ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งสะท้อนถึงความเป็นนักธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ที่เขาเติบโตมาจากจุดเริ่มต้นก่อนก้าวสู่เวทีการเมืองสหรัฐฯ โดยนายทรัมป์แสดงความรู้สึกว่า "ถือเป็นเกียรติอย่างสูงที่ได้รับตำแหน่งนี้เป็นครั้งที่สอง และผมคิดว่าครั้งนี้ยิ่งมีความหมายมากกว่าครั้งก่อนเสียอีก"

ที่ผ่านมา นิตยสารไทม์ได้มอบตำแหน่งบุคคลแห่งปีให้กับบุคคลทรงอิทธิพลจากหลากหลายวงการ เช่น อดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา, ประธานาธิบดีโจ ไบเดน, ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน, สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส และมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ซีอีโอของเมตา ส่วนผู้ได้รับตำแหน่งเมื่อปีที่แล้วคือเทย์เลอร์ สวิฟต์ นักร้องและนักแต่งเพลงชื่อดังชาวอเมริกัน

ซัคเคอร์เบิร์ก บริจาค 1 ล้านดอลลาร์ สมทบกองทุนพิธีรับตำแหน่งโดนัลด์ ทรัมป์

(13 ธ.ค.67) เมตา (Meta) ได้บริจาคเงินจำนวน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ให้กับกองทุนพิธีสาบานรับตำแหน่งของว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ โดยการยืนยันจากบริษัทเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 12 ธันวาคม ซึ่งถือเป็นความเคลื่อนไหวที่สะท้อนถึงความพยายามในการปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองฝ่าย

การบริจาคนี้เกิดขึ้นเพียง 2 สัปดาห์หลังจากที่ มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ซีอีโอของเมตา ได้ไปพบปะกับทรัมป์ที่บ้านพักส่วนตัวของเขาที่มาร์อาลาโก โดยวอลล์สตรีทเจอร์นัลด์รายงานข่าวการบริจาคครั้งนี้ก่อน และซีเอ็นเอ็นได้ยืนยันข้อมูลดังกล่าว

ซัคเคอร์เบิร์กคาดหวังที่จะมีบทบาทมากขึ้นในนโยบายด้านเทคโนโลยีของรัฐบาลใหม่ ซึ่งถือเป็นการกลับลำอย่างชัดเจนจากเหตุการณ์เมื่อเกือบ 4 ปีที่แล้ว เมื่อเมตาได้ระงับบัญชีของทรัมป์จากแพลตฟอร์มหลังจากเกิดเหตุการณ์จลาจลที่อาคารรัฐสภาสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2021

ทรัมป์เคยใช้งานแพลตฟอร์มเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมอย่างกว้างขวางในระหว่างการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีครั้งแรก ก่อนที่จะถูกระงับบัญชี เนื่องจากความกังวลว่าเขาอาจก่อให้เกิดความรุนแรงต่อไปและปฏิเสธผลการเลือกตั้งของโจ ไบเดน

แม้ว่าบัญชีของทรัมป์จะถูกคืนสถานะในปี 2023 แต่เขาก็ยังคงแสดงความผิดหวังต่อซัคเคอร์เบิร์ก โดยในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทรัมป์ได้กล่าวหาว่าเมตาเป็น "ศัตรูของประชาชน" และยังบอกว่าเจ้าพ่อเทคโนโลยีควรถูกจำคุกฐานแทรกแซงการเลือกตั้ง

ในความพยายามที่จะฟื้นฟูความสัมพันธ์ ซัคเคอร์เบิร์กได้ยกย่องทรัมป์ในที่สาธารณะ เกี่ยวกับปฏิกิริยาตอบสนองของทรัมป์หลังจากที่เขาถูกยิงเมื่อเดือนกรกฎาคม โดยกล่าวว่า "การได้เห็นโดนัลด์ ทรัมป์ ลุกขึ้นหลังจากถูกยิง และชูกำปั้นขึ้นไปบนอากาศ พร้อมกับธงชาติสหรัฐฯ คือหนึ่งในสิ่งที่เจ๋งที่สุดที่ผมเคยพบเห็นในชีวิต"

นอกจากนี้ ซัคเคอร์เบิร์กยังได้ขอโทษทรัมป์ในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา เกี่ยวกับการเผยแพร่ภาพถ่ายที่ผิดพลาด พร้อมขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนเผยแพร่

ซาอุดิอาระเบีย เผยโฉมสนามแข่ง FIFA World Cup 2034 หลังถูกเลือกเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก จุผู้ชมได้ 92,000 ที่นั่ง

(13 ธ.ค.67) สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า ได้มีมติประกาศเลือกประเทศ ซาอุดิอาระเบีย เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2034 ในอีก 10 ปีข้างหน้า โดยเป็นชาติจากตะวันออกกลางชาติที่สองต่อจากกาตาร์ที่เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกในปี 2022

จากข้อมูลที่ทางการซาอุดิฯ ยื่นต่อฟีฟ่า ระบุว่าหากได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ซาอุดิอาระเบียจะมีการสร้างสนามใหม่ 11 แห่งเพื่อรองรับการจัดงานในปี 2034 พร้อมทั้งปรับปรุงสนามกีฬาอีก 4 แห่ง รวมเป็น 15 สนามใน 5 เมืองสำคัญทั่วประเทศ ได้แก่ ริยาด (8 แห่ง), เจดดาห์ (4 แห่ง), อัล โคบาร์ (1 แห่ง), อับฮา (1 แห่ง) และนีออม (1 แห่ง) 

โดยในบรรดาสนามแข่งทั้ง 15 แห่ง จะมีสนามที่ใช้สำหรับพิธีเปิดการแข่งขันและสำหรับจัดการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศคือ สนาม King Salman International Stadium

สนามกีฬาแห่งนี้ได้รับการออกแบบโดย Populous และตั้งอยู่ในกรุงริยาด มีกำหนดเสร็จสมบูรณ์ในปี 2029 ด้วยความจุ 92,000 ที่นั่ง การออกแบบได้รับอิทธิพลมาจากภูเขาและมีการใช้แผงภูมิทัศน์ล้อมรอบโครงสร้าง หลังจากการแข่งขันฟุตบอลโลก 2034 สนามกีฬาแห่งนี้จะกลายเป็นสนามกีฬาแห่งชาติของซาอุดีอาระเบีย ด้วยความจุที่นั่งสูงสุดในประเทศ ซึ่งสามารถรองรับงานสำคัญระดับชาติได้หลากหลาย รวมถึงคอนเสิร์ตและงานกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุด

สนามกีฬาแห่งนี้จะเป็นศูนย์กลางสำคัญด้านกีฬาและบ้านของทีมชาติซาอุฯ ทั้งยังจะเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาเมือง Green Riyadh ที่มีเป้าหมายในการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนในอนาคตด้วย

ทุเรียนไทยครองใจจีน เจาะตลาดแผ่นดินใหญ่ยอดขายพุ่งต่อเนื่อง แม้มีคู่แข่งใหม่จากเวียดนามและมาเลเซีย

(13 ธ.ค.67) ซินหัวรายงานว่า ห้วงยามจีนเดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจและเปิดกว้างอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อุปสงค์ความต้องการทุเรียนของจีนเติบโตตามไปด้วยเช่นกัน โดยการนำเข้าทุเรียนของจีนพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคมของปี 2024 มีการนำเข้าทุเรียนสดสูงเกิน 1.48 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 เมื่อเทียบปีต่อปี

'ไทย' ประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้ส่งออกทุเรียนสู่จีน ยังคงครองตลาดทุเรียนในจีนด้วยสินค้าทุเรียนรสชาติหวานมันส่งกลิ่นหอมเย้ายวนใจผู้บริโภคชาวจีน แต่ขณะเดียวกันมีการนำเข้าทุเรียนจากเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ซึ่งกลายเป็นตัวเลือกใหม่ ๆ ของผู้บริโภคชาวจีน

ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวซินหัวได้พูดคุยกับพ่อค้าคนกลาง ผู้ค้าปลีก ผู้บริโภค และนักวิจัยตลาดในจีน พบว่าทุเรียนไทยยังคงมีข้อได้เปรียบที่ไม่เหมือนใครและมีแนวโน้มรักษาตำแหน่ง 'ผู้นำ' ในตลาดจีนต่อไป หากมุ่งมั่นพัฒนาการควบคุมคุณภาพ สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ วิธีทำการตลาด การเพาะปลูกสายพันธุ์ใหม่ และการอุดช่องโหว่ทางอุปทานอย่างต่อเนื่อง

“แม้ทุเรียนก้านยาวของเวียดนามจะราคาไม่แรง แต่ฉันยังชอบรสชาติและคุณภาพทุเรียนหมอนทองของไทยมากกว่า” ความคิดเห็นจากชาวเน็ตคนหนึ่งบนสื่อสังคมออนไลน์จีน ซึ่งมีชาวเน็ตจีนคนอื่นๆ เห็นด้วยเป็นจำนวนมาก ขณะกลุ่มลูกค้าที่เลือกซื้อทุเรียนในร้านผลไม้เผยว่าพวกเขาคุ้นเคยกับรสชาติของหมอนทองมานานและรู้สึกว่าพันธุ์อื่น ๆ มีรสชาติไม่ค่อยถูกปาก

หลิวเป่าเฟิง พ่อค้าคนกลางคนหนึ่ง กล่าวว่าไทยเป็นประเทศเดียวที่นำเข้าทุเรียนสดสู่จีนมานานถึง 20 ปี โดยทุเรียนหมอนทองมีรสชาติหวานละมุนจนผู้คนติดใจเป็นแฟนคลับ

หากพิจารณาจากฤดูการผลิต ทุเรียนเวียดนามเพียงช่วยเติมเต็มช่องว่างการบริโภคทุเรียนในตลาดจีน ส่วนทุเรียนมาเลเซียที่ถูกนำเข้าสู่จีนครั้งแรกเมื่อเดือนมิถุนายน 2024 แตกต่างจากทุเรียนไทยและทุเรียนเวียดนามในด้านการเก็บเกี่ยว

การเก็บเกี่ยวทุเรียนมาเลเซียจะต้องรอให้ผลผลิตสุกและตกหล่นลงมาจากต้นเอง รวมถึงทุเรียนมาเลเซียมีกลิ่นและรสชาติเข้มข้นกว่า โดยการต้องรอให้ทุเรียนสุกตามธรรมชาตินี้ทำให้การขนส่งมีข้อกำหนดมากขึ้น นำสู่การมีราคาสูงขึ้นอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง ผู้บริโภคชาวจีนจึงยังไม่นิยมทุเรียนมาเลเซียเป็นวงกว้าง

ทุเรียนไทยยังคงมีฐานผู้บริโภคขนาดใหญ่ในจีน นี่เป็นจุดแข็งสำคัญที่จะช่วยรักษาความสามารถทางการแข่งขันของทุเรียนไทย โดยหวังเย่าหง ประธานสมาคมอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนในเมืองอวิ้นเฉิง มณฑลซานซีทางตอนเหนือของจีน เผยว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือการควบคุมคุณภาพในยามเผชิญการแข่งขันที่ดุเดือดเพิ่มขึ้น

ผู้สื่อข่าวยังได้เยือนร้านผลไม้และซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งในจีน พบว่าทุเรียนที่มีเนื้อแน่นสีสวยและรสชาติหวานละมุนยังคงขายหมดเร็วที่สุดแม้มีราคาแพงกว่า ขณะพ่อค้าคนกลางคนหนึ่งบอกว่าทุเรียนหมอนทองของไทยได้รับความนิยมในหมู่ผู้บริโภค แต่พอมีการนำเข้าจากหลายประเทศเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้บริโภคไม่แน่ใจว่าที่ซื้อไปเป็นทุเรียนไทยจริงไหม

บรรดาหน่วยงานรัฐบาลท้องถิ่นในจีนจะติด 'ตราบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์สินค้าเกษตรแห่งประเทศจีน' กับผลไม้ที่มีความพิเศษ ขณะเดียวกันผู้ประกอบการและสมาคมธุรกิจบางส่วนจะใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนและติดรหัสคิวอาร์บนบรรจุภัณฑ์ของผลไม้ที่เข้าสู่ตลาด

รหัสคิวอาร์แต่ละอันมีลักษณะเฉพาะตัว เปรียบเสมือน 'บัตรประจำตัว' ของผลไม้ ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบ 'วงจรชีวิตเต็ม' ของผลไม้ที่ซื้อไปด้วยการสแกนรหัสคิวอาร์นี้เพื่อป้องกันการสวมรอย ซึ่งนับเป็นวิธีการที่คุ้มค่าสำหรับทุเรียนไทย

พ่อค้าแม่ค้าและผู้บริโภคส่วนหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่าเมื่อเทียบกับการค้าทุเรียนในเวียดนามและมาเลเซีย ไทยสามารถสร้างสายพันธุ์ทุเรียนที่มีคุณภาพสูงขึ้นและใช้ประโยชน์จากระบบโลจิสติกส์อันมีประสิทธิภาพระหว่างจีนกับกลุ่มประเทศอาเซียน ช่วยให้ผู้บริโภคชาวจีนได้รับประทานทุเรียนไทยที่ดีและสดใหม่ยิ่งขึ้น

ปัจจุบันเวียดนามสามารถขนส่งทุเรียนตรงสู่จีนผ่านการขนส่งทางบก ระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพช่วยให้เวียดนามสามารถแข่งขันด้านราคาได้มากขึ้น ทำให้ครองส่วนแบ่งตลาดได้เพิ่มขึ้น

ส่วนทุเรียนมาเลเซียที่เก็บเกี่ยวตอนสุกแล้ว ทำให้ต้องรีบรับประทานภายใน 2-3 วัน และปัจจุบันสามารถขนส่งทางอากาศเท่านั้นเพื่อรักษาคุณภาพ

เอสเอฟ เอ็กซ์เพรส (SF Express) ระบุว่ามีการให้บริการขนส่งทุเรียนมาเลเซียแบบครบวงจรจากสวนถึงหน้าบ้าน โดยขนส่งถึงเซินเจิ้น กว่างโจว และเมืองใหญ่ในมณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) ได้เร็วที่สุดภายใน 24 ชั่วโมง และขนส่งถึงปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และเมืองใหญ่แห่งอื่น ๆ ภายใน 48 ชั่วโมง

หวังเย่าหง ผู้คลุกคลีกับการค้าผลไม้มานานหลายปี เผยว่าแม้ราคาทุเรียนมูซังคิงของมาเลเซียนั้นสูง แต่ด้วยรสชาติเฉพาะตัว การควบคุมคุณภาพเข้มงวด และการบริการโลจิสติกส์ที่เชื่อถือได้ ทำให้ยังคงได้ใจผู้บริโภคชาวจีนจำนวนมาก ซึ่งทุเรียนไทยสามารถเรียนรู้โมเดลนี้ในอนาคตเพื่อรักษาสถานะผู้นำตลาด

ทั้งนี้ ตลาดทุเรียนของจีนมีขนาดใหญ่และปัจจุบันยังคงเน้นบริโภคทุเรียนสดเป็นหลัก ไม่ได้บูรณาการและพัฒนาเชิงลึกร่วมกับอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น การจัดเลี้ยงและอาหาร จึงมีศักยภาพมหาศาลในการพัฒนาในอนาคต นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งอื่นๆ พยายามแสวงหาส่งออกทุเรียนสู่จีน

ขณะเดียวกันมีการพัฒนาอุตสาหกรรมทุเรียนภายในประเทศที่มณฑลไห่หนาน (ไหหลำ) ทางตอนใต้ของจีนอย่างรวดเร็ว ทำให้การแข่งขันของตลาดทุเรียนในจีนจะดุเดือดยิ่งขึ้นมากในอนาคต

ผู้ให้สัมภาษณ์จากอุตสาหกรรมทุเรียนของจีนเสริมว่าการส่งออกทุเรียนไทยสู่จีนมีสิ่งที่มิอาจมองข้าม 2 ประการ ได้แก่ 1) สร้างสรรค์การตลาดรูปแบบใหม่ เสริมสร้างการสื่อสารกับผู้ค้าปลีกในจีนด้วยการเปิดร้านค้าพิเศษ จัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย เปลี่ยนคืนสินค้าที่เน่าเสีย ฯลฯ เพื่อกระชับความนิยมทุเรียนไทยของผู้บริโภคชาวจีน 2) พยายามเสริมสร้างการเพาะปลูกทุเรียนสายพันธุ์ใหม่เพื่ออุดช่องว่างในอุปทานทุเรียนไทย

'โบลิเวีย - คิวบา' ร่วมเป็นชาติพันธมิตร BRICS มีผล 1 มกราคม 2025 รัสเซียแย้มอีกหลายชาติจ่อร่วมวง

(13 ธ.ค.67) นายเซอร์เกย์ รียับคอฟ รองนายกรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย เปิดเผยว่า บรรดาผู้นำกลุ่มชาติสมาชิก BRICS ได้อนุมัติรายชื่อประเทศที่จะเข้าร่วมเป็นชาติพันธมิตรกลุ่ม BRICS เพิ่มเติมแล้วโดย โบลิเวีย และคิวบา จะเป็นสองประเทศล่าสุดที่เข้าร่วมเป็นชาติพันธมิตร ซึ่งจะมีผลตั้งแต่ 1 มกราคม 2025 เป็นต้นไป

"โบลิเวียและคิวบาเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มประเทศที่ได้รับคำเชิญร่วมเป็นชาติพันธมิตร เรามั่นใจว่า ทุกอย่างจะเป็นไปได้ในแง่ของการเชื่อมต่อกับ BRICS ในฐานะประเทศพันธมิตร" รียับคอฟกล่าวกับหนังสือพิมพ์อิซเวสเทีย

รองรัฐมนตรีกล่าวเพิ่มเติมว่า กระบวนการประสานงานกับประเทศที่ได้รับเชิญยังคงดำเนินอยู่ แต่จะเสร็จสิ้นภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งตรงกับช่วงที่วาระการดำรงตำแหน่งประธานกลุ่มของรัสเซียสิ้นสุดลง

"แน่นอนว่าไม่มีการถอนตัวออกไป และไม่สามารถทำได้ สำหรับประเทศที่ได้รับเชิญทั้งหมด นี่คือโอกาสที่ใหญ่และสำคัญ ดังนั้นจึงเหลือเวลาเพียงไม่กี่วันหลังจากนั้น นอกจากนี้ยังมีอีกหลายชาติที่จะได้รับการเปิดเผยรายชื่อเพิ่มเติม" 

ในการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่ม BRICS ที่เมืองคาซานระหว่าง 22-24 ตุลาคมที่ผ่านมา บรรดาชาติสมาชิกกลุ่ม BRICS ได้เปิดเผยว่ามีรายชื่อประเทศ 13 ชาติที่เข้าร่วมเป็นพันธมิตรของกลุ่ม ซึ่งผู้นำของเบลารุสและโบลิเวียได้เปิดเผยเช่นกันว่าประเทศของพวกเขาเป็นหนึ่งใน 13 รายชื่อที่จะได้รับการพิจารณา

ทั้งนี้ กลุ่ม BRICS คือสมาคมระหว่างรัฐบาลที่ก่อตั้งโดยบราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีนในปี 2006 และแอฟริกาใต้เข้าร่วมในปี 2010 ต่อมากลุ่มได้ขยายตัวโดยรับสมาชิกเพิ่มเติมคือ อียิปต์ เอธิโอเปีย อิหร่าน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และซาอุดีอาระเบีย โดยซาอุดีอาระเบียยังไม่ได้เป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการ แต่ก็ได้เข้าร่วมการประชุมของ BRICS มาแล้วในหลายวาระ

ชาวเกาหลีใต้กว่า 2 แสนคน ชุมนุมหน้ารัฐสภาในกรุงโซล เพื่อฟังผลมติ ยื่นถอดถอน!! ประธานาธิบดี ‘ยุน ซ็อก-ยอล’

(14 ธ.ค. 67) ชาวเกาหลีใต้กว่า 2 แสนคน ชุมนุมหน้ารัฐสภาในกรุงโซล เพื่อฟังผลมติยื่นถอดถอน ประธานาธิบดี ยุน ซ็อก-ยอล เป็นครั้งที่ 2 วันนี้ ที่มีทั้งฝ่ายต่อต้าน และ ฝ่ายสนับสนุน ประธานาธิบดี ยุน อย่างคับคั่ง

‘รัฐบาลออสเตรีย’ ประกาศมาตรการแจกเงิน จูงใจ!! ‘ผู้ลี้ภัยซีเรีย’ ให้เดินทางกลับบ้านเกิด หลังระบอบบาชาร์ อัล-อัสซาด ล่มสลาย

(15 ธ.ค. 67) นายกรัฐมนตรี คาร์ล เนฮัมเมอร์ ออกมาตอบสนองข่าวการโค่นล้มระบอบอัสซาดอย่างไว โดยประกาศในวันเดียวกัน (8 ธ.ค.) ว่าสถานการณ์ด้านความมั่นคงในซีเรียควรจะถูกพิจารณาใหม่ รวมถึงการรับผู้ลี้ภัยจากซีเรียด้วย

อย่างไรก็ตาม การบังคับเนรเทศผู้ลี้ภัยโดยที่เจ้าตัวไม่เต็มใจนั้นไม่สามารถทำได้จนกว่าบริบททางการเมืองในซีเรียจะชัดเจนกว่านี้ ดังนั้น รัฐบาลออสเตรียจึงจะเน้นใช้วิธี ‘ส่งกลับประเทศโดยสมัครใจ’ นอกจากนี้ ยังระงับการพิจารณาคำร้องขอลี้ภัยของชาวซีเรีย เช่นเดียวกับที่หลายๆ รัฐบาลในยุโรปเริ่มทำกันแล้ว

เนฮัมเมอร์ ก็เช่นเดียวกับรัฐบาลสายอนุรักษนิยมในยุโรปอื่นๆ ที่ถูกพวก ‘ฝ่ายขวา’ กดดันอย่างหนักในเรื่องนโยบายผู้อพยพ และชาวซีเรียก็ถือเป็นผู้ลี้ภัยกลุ่มใหญ่ที่สุดที่ต้องการเข้าไปตั้งถิ่นฐานในออสเตรียที่เป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู)

“ออสเตรียพร้อมที่จะสนับสนุนชาวซีเรียซึ่งต้องการกลับบ้านด้วยเงินโบนัส 1,000 ยูโร (ประมาณ 35,000 บาท) ซีเรียต้องการพลเมืองของตัวเองกลับไปช่วยฟื้นฟูบ้านเมือง” เนฮัมเมอร์ โพสต์ข้อความเป็นภาษาอังกฤษผ่าน X

ทั้งนี้ จะมีชาวซีเรียรับข้อเสนอดังกล่าวมากน้อยเท่าไหร่ยังเป็นสิ่งที่ต้องรอดู และการที่สายการบิน Austrian Airlines ยังคงระงับเที่ยวบินไปตะวันออกกลางสืบเนื่องจากสถานการณ์การสู้รบ ก็ทำให้เงินโบนัสนี้อาจจะไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ลี้ภัยที่ประสงค์จะกลับบ้าน

ตั๋วเดินทางแบบเที่ยวเดียวไปยังกรุงเบรุตซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นยอดนิยมสำหรับการเดินทางทางบกไปยังกรุงดามัสกัส ปัจจุบันราคาอยู่ที่อย่างน้อย 1,066.10 ยูโรตามข้อมูลจากเว็บไซต์สายการบิน Turkish Airlines

ผู้ผลิต EV จีนบุกตลาดรถบรรทุกไฟฟ้า ชูเทคโนโลยีวิ่งไกล แบตเตอรี่ไม่ใหญ่

(16 ธ.ค. 67) บริษัทจีนที่ครองตลาดรถยนต์ไฟฟ้า (EV) กำลังขยายตลาดเข้าสู่ธุรกิจขนส่งทางรถบรรทุกไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันยังไม่ได้รับความสนใจมากนัก แต่ก็เป็นตลาดแห่งอนาคตที่หลายฝ่ายมองว่าจะมีการเติบโตสูง  แม้ว่าผู้เชี่ยวชาญจะเตือนถึงอุปสรรคจากภาษีนำเข้าและปัญหาด้านคุณภาพ ซึ่งอาจกลายเป็นอุปสรรคในการขยายตลาด 'รถบรรทุกไฟฟ้า' ของจีน

ในอุตสาหกรรมรถยนต์ EV บรรดาผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่และบริษัทสตาร์ทอัพต่างใช้ประโยชน์จากห่วงโซ่อุปทานในประเทศและกลยุทธ์ราคาที่ต่ำ เพื่อผลักดันการขยายตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของจีนไปยังตลาดขนส่งทางรถบรรทุก

ปัจจุบัน รถบรรทุกไฟฟ้ายังคงมีสัดส่วนยอดขายไม่ถึง 1% ของยอดขายรถบรรทุกทั่วโลกตามข้อมูลจากสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) โดยจีนคิดเป็น 70% ของยอดขายทั้งหมดในปี 2023 อย่างไรก็ตาม IEA คาดว่าภายใน 10 ปีข้างหน้า นโยบายและการพัฒนาเทคโนโลยีจะมีการใช้กันอย่างแพร่หลาย

หานเหวิน ผู้ก่อตั้งบริษัทสตาร์ทอัพ Windrose เผย AFP ว่า "ผมเชื่อว่าอุตสาหกรรมนี้พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่" ขณะกำลังประกอบรถบรรทุกไฟฟ้าคันแรกของบริษัทเพื่อส่งมอบ

แม้ว่าในบางประเทศตะวันตกจะมีการคว่ำบาตรต่อรถยนต์ไฟฟ้าจากจีน แต่รถบรรทุกไฟฟ้าจากจีนยังคงขยายตัวในตลาดต่างประเทศ โดยบริษัทจีนอย่าง BYD และ Beiqi Foton ที่ได้ส่งออกไปยังประเทศต่างๆ เช่น อิตาลี โปแลนด์ สเปน และเม็กซิโก และเปิดโรงงานประกอบในหลายประเทศ

สตีเฟน ไดเออร์ จากบริษัทที่ปรึกษา AlixPartners กล่าวว่า "รถบรรทุกจีนมีต้นทุนที่แข่งขันได้ในตลาดเกิดใหม่ แต่สำหรับตลาดที่เติบโตเต็มที่แล้ว ประสิทธิภาพและความทนทานยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าส่วนใหญ่ได้ แต่ตอนนี้กำลังเปลี่ยนแปลงไป"

อลิซาเบธ คอนเนลลี นักวิเคราะห์จาก IEA กล่าวถึงการลดมลพิษว่า "รถบรรทุกขนาดหนักถือเป็นกลุ่มการขนส่งที่ลดการปล่อยมลพิษได้ยากที่สุดกลุ่มหนึ่ง" เนื่องจากหนึ่งในความท้าทายใหญ่คือเรื่องของแบตเตอรี่และระยะทางวิ่ง "แบตเตอรี่ใหญ่ขึ้นทำให้ระยะทางวิ่งเพิ่มขึ้น แต่ทำให้รถบรรทุกหนักขึ้นเช่นกัน" คอนเนลลีกล่าว

ที่ผ่านมาปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้ผลิตสินค้าจากจีนจะถูกมองว่าผลิตสินค้าที่มีคุณภาพต่ำกว่าคู่แข่งจากต่างประเทศ แต่ปัจจุบันบริษัทจีนกำลังพัฒนาขีดความสามารถอย่างรวดเร็ว เช่น Windrose ซึ่งสามารถผลิตรถบรรทุกที่วิ่งได้ถึง 670 กิโลเมตรต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง 

ขณะที่บริษัท CATL ผู้ผลิตแบตเตอรี่ยักษ์ใหญ่จากจีนยังได้เปิดตัวโรงงานสับเปลี่ยนแบตเตอรี่รถบรรทุก ซึ่งสามารถเปลี่ยนแบตเตอรี่ที่หมดได้ทันที โดยไม่ต้องรอการชาร์จ

หากเทียบกับรถยนต์สันดาปแล้ว การที่จีนครองตลาดรถยนต์ไฟฟ้าทำให้ได้เปรียบด้านห่วงโซ่อุปทาน EV ที่แข็งแกร่งของจีนถือเป็นข้อได้เปรียบสำคัญในการบุกตลาดรถบรรทุกไฟฟ้าในอนาคต

ในขณะที่สถานการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ยังคงมีความไม่แน่นอน ตลาดรถบรรทุกไฟฟ้าของจีนกำลังเผชิญกับการคุกคามจากการกำหนดภาษีจากรัฐบาลในบางประเทศ อย่างไรก็ตาม บริษัทยักษ์ใหญ่จีนอย่าง BYD ได้มีการกระจายการผลิตไปยังประเทศต่างๆ เช่น เม็กซิโก ฮังการี และโรมาเนีย เพื่อลดความเสี่ยงจากภาษีและข้อจำกัดต่างๆ 

หานจาก Windrose กล่าวถึงกลยุทธ์ของบริษัทว่า "เรายอมรับว่าตลาดหลักทุกแห่งต้องการห่วงโซ่อุปทาน EV ในประเทศเป็นของตัวเอง แต่เราต้องเริ่มต้นในจีนก่อนแล้วค่อยขยายไปยังทั่วโลก"


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top