Wednesday, 14 May 2025
World

รู้จัก 'กลุ่มชุงอัม' พรรคพวก 'ยุนซอกยอล' เพื่อนร่วมรุ่นมัธยม กุมอำนาจฝ่ายความมั่นคงเกาหลีใต้

(4 ธ.ค.67) การเมืองเกาหลีใต้ร้อนระอุ หลังประธานาธิบดียุนซอกยอล ประกาศกฎอัยการศึกช่วงกลางดึกของคืนวันที่ 3 ธ.ค. ที่ผ่านมา โดยกล่าวหาว่าพรรคฝ่ายค้านที่ครองเสียงข้างมากในรัฐสภา มีพฤติการณ์ต่อต้านรัฐโดยได้รับการสนับสนุนจากเกาหลีเหนือ ส่งผลให้สมาชิกรัฐสภาเรียกประชุมฉุกเฉิน ทั้งสส.ฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ลงมติเอกฉันท์โหวตคว่ำกฎอัยการศึก ส่งผลให้ต่อมาประธานาธิบดียุนซอกยอล ยอมยกเลิกประกาศกฎอัยการศึกในที่สุด 

ในรายงานข่าวของสื่อเกาหลีใต้ระบุถึงแหล่งข่าวว่า การประกาศกฎอัยการศึกของยุนซอกยอลได้รับการวางแผนและการสนับสนุนจาก 'กลุ่มชุงอัม' (Chungam faction) ซึ่งเป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนมัธยมชุงอัมในกรุงโซล ซึ่งเป็นโรงเรียนเดียวกันกับที่ยุนซอกยอลเรียนจบ

สมาชิกกลุ่มชุงอัม ถูกระบุว่าเป็นเพื่อนร่วมรุ่นของยุนซอกยอล โดยศิษย์เก่าโรงเรียนชุงอัมหลายคน ปัจจุบันมีบทบาทใกล้ชิดประธานาธิบดียุนซอกยอล ทั้งสิ้น หลายคนดำรงตำแหน่งสำคัญในรัฐบาลยุน ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการหน่วยข่าวกรอง หรือหัวหน้าหน่วยรักษาความปลอดภัย

คีย์แมนคนสำคัญในเหตุการณ์คืนวันที่ 3 ธ.ค. คือ คิมยองฮยอน รัฐมนตรีกลาโหม ผู้เป็นอดีตรุ่นพี่ของประธานาธิบดียุนซอกยอนในโรงเรียนมัธยมชุงอัม ได้หลีกเลี่ยงที่จะรับคำสั่งจากนายกรัฐมนตรีของเกาหลีใต้ แต่กลับรับคำสั่งโดยตรงจากประธานาธิบดี โดยคิมยองฮยอน ได้สั่งให้กองพลรบพิเศษทางอากาศที่ 1 ซึ่งเป็นหน่วยรบพิเศษ ที่ได้ฉายาว่า 'หน่วยอีเกิล' ภายใต้กองบัญชาการสงครามพิเศษของกองทัพบกเกาหลีบุกเข้าอาคารรัฐสภา

บุคคลสำคัญอีกรายคือ พลเอกปาร์กอันซู อดีตรุ่นน้องจากโรงเรียนมัธยมชุงอัน ซึ่งเมื่อเดือนตุลาคม ปี 66 ยุนซอกยอล ได้แต่งตั้งเขาให้ดำรงตำแหน่งเสนาธิการกองทัพบกเกาหลีใต้ ทั้งรับหน้าที่เป็นนายทหารผู้บังคับบัญชากฎอัยการศึกด้วย อย่างไรก็ตามมีรายงานอีกฝ่ายระบุว่า พลเอกปาร์กอันซู ไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่มชุงอันตามข่าว โดยว่าเขาจบจากโรงเรียนมัธยม Deokwon ในเมืองแดกู และเข้าเรียนในโรงเรียนนายร้อยเกาหลีใต้รุ่นที่ 46 

นอกจากบรรดาสายทหารแล้ว ยุนซอกยอน ยังได้แต่ตั้งนาย อีซังมิน รุ่นน้องจากโรงเรียนมัธยิมชุงอัม อีกทั้งยังเป็นอดีตผู้พิพากษาให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการภายในและความปลอดภัยสาธารณะ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลกองกำลังตำรวจโดยตรง ในคืนกฎอัยการศึกมีรายงานว่า นายอีซังมิน ได้สั่งการโดยตรงต่อตำรวจนครบาลกรุงโซลให้เขาควบคุมพื้นที่อาคารรัฐสภา โดยหลีกเลี่ยงที่จะสั่งการผ่านหน่วยงานตำรวจแห่งชาติเกาหลี

เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา พรรคฝ่ายค้านเคยออกมาเตือนเรื่องความเป็นไปได้ในการประกาศกฎอัยการศึกโดยกลุ่มชุงอัม แต่ทางสำนักประธานาธิบดีออกมาปฏิเสธข่าวดังกล่าว ซึ่งขณะนี้สถานการณ์ในเกาหลีใต้ยังไม่มีความชัดเจน แต่นักวิเคราะห์การเมืองต่างเห็นพ้องกันว่าการประกาศกฎอัยการศึกครั้งนี้สะท้อนถึงความตึงเครียดภายในรัฐบาลที่แตกขั้วอย่างชัดเจนเพราะในคณะรัฐมนตรีเกาหลีบางราย ไม่ทราบถึงการเตรียมประกาศกฎอัยการศึกมาก่อน จึงมองได้ว่าความวุ่นวายเมื่อคืนวันที่ 3 ธ.ค. เป็นความพยายามรักษาอำนาจของ 'กลุ่มชุงอัม' ของประธานาธิบดียุนซอกยอลอย่างชัดเจน

ย้อนดูเส้นทางผู้นำเกาหลีใต้ จุดจบเจอยึดอำนาจ - ลอบสังหาร - ติดคุก

(4 ธ.ค. 67) จากความวุ่นวายทางการเมืองเกาหลีใต้เมื่อคืนวันที่ 3 ธ.ค. ประธานาธิบดียุนซอกยอล ประกาศกฎอัยการศึก โดยอ้างความจำเป็นเพื่อปกป้องประเทศจากกลุ่มการเมืองที่เกาหลีเหนือหนุนหลังและกลุ่มต่อต้านรัฐที่พยายามทำลายอำนาจรัฐบาล จนสุดท้ายรัฐสภาเกาหลีลงมติเอกฉันท์โหวตคว่ำกฎอัยการศึก ส่งผลให้ในเวลาต่อมาประธานาธิบดียุน ยินยอมประกาศถอนกฎอัยการศึก 

การตัดสินใจของยุนซอกยอล ส่งผลให้เขาอาจถูกสภาเกาหลีใต้ลงมติถอดถอนในเวลาอันใกล้นี้ ซึ่งหากสภามีมิตเป็นเอกฉันท์ ตามขั้นตอนต่อไปต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีพิจารณา หากศาลพิพากษามีมิตมากกว่า 2 ใน 3 เสียง นายยุนจะถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง นอกจากนี้เขายังเสี่ยงถูกดำเนินคดีภายหลังจากพ้นตำแหน่งด้วย ซึ่งหากย้อนดูประวัติศาสตร์การเมืองเกาหลีใต้ ส่วนใหญ่แล้วผู้นำเกาหลีใต้มักมีจุดจบที่ไม่ได้สวยนักหลังลงจากตำแหน่ง สำนักข่าวสปุตนิกพาย้อนดูจุดจบอดีตผู้นำเกาหลีใต้ในแต่ละยุคสมัยว่ามีจุดจบที่แตกต่างกันเช่นไร

อีซึงมัน ประธานาธิบดีเกาหลีคนแรก ภายหลังจากเกาหลีได้รับเอกราชในปี 1945 อีได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา รับเลือกเป็นผู้นำของรัฐบาลเกาหลี 1948 ก่อนจะถูกประชาชนโค้นล้มในปี 1960

ยุนโพซุน สืบตำแหน่งต่อจากอีซังมัน ปกครองเกาหลีได้สองป ก่อนถูกรัฐประหารในปี 1962 

ปาร์คชุงฮี ผู้ที่ยึดอำนาจจากยุนโพซุน ปกครองเกาหลีใต้นาน 17 ปี ก่อนจะถูกลอบสังหารโดย คิมแจกยู อดีตหัวหน้าฝ่ายข่าวกรองแห่งชาติเกาหลีในปี 1979

ชอยกยูฮา ผู้นำที่ดำรงตำแหน่งไม่ถึง 10 เดือน ก่อนถูกโค่นล้มในการรัฐประหารในปี 1980

ชอนดูฮวาน ได้ชื่อว่าเป็นผู้นำเกาหลีใต้ที่ปกครองแบบเผด็จการ ปกครองเกาหลีต่อจากชอยกยูฮา ก่อนจะลาออกจากตำแหน่งใน 1988 หลังจากการปฏิวัติทางการเมืองเพื่อประชาธิปไตยในปี 1987 ถูกตัดสินประหารชีวิตในปี 1996 จากการมีส่วนร่วมในเหตุการณ์สังหารหมู่ในกวางจูในปี 1980 แต่ได้รับอภัยโทษในปีถัดมา และเสียชีวิตอย่างสงบที่บ้านในปี 2021

ต่อมาคือ โนเทอู  ทหารที่กลายมาเป็นประธานาธิบดี ปกครองประเทศระหว่างปี 1988-1993 และรับผิดชอบในการเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตย ทว่าถูกจับในปี 1995 จากความเกี่ยวข้องกับการรัฐประหารปี 1980 ถูกตัดสินจำคุก 22 ปี แต่ได้รับการอภัยโทษพร้อมกับชอนดูฮวาน

คิมยังซัม ปกครองระหว่างปี 1993-1998 ถูกจำคุกในช่วงปกครองของปาร์คจุงฮี ก่อนจะได้รับการอภัยโทษในเวลาต่อมา

คิมแดจุง ดำรงตำแหน่งในปี 1998 ปกครองประเทศจนถึงปี 2003 เคยถูกคุมขังในยุคของปาร์คจุงฮี จากการที่เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลปาร์กจุฮีในยุคนั้น ได้รับโทษตัดสินประหารชีวิต แต่ได้รับอภัยโทษจากชอนดูฮวาน ในสมัยทีดำรงตำแหน่งผู้นำเกาหลี เขาเคยลงนามอภัยโทษให้ทั้งโนเทอู และชอนดูฮวาน คิมแดจุงได้ชื่อว่าเป็น เนลสัน แมนเดลาแห่งเอเชีย  เขาได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพในปี 2000 

โนมูฮยอน ปกครองระหว่างปี 2003-2008 ถูกสอบสวนจากข้อหากระทำการโกงเลือกตั้งและถูกรัฐสภาถอดถอน แต่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ยอมรับคำถอดถอนของรัฐสภาจึงไม่ได้รับการลงโทษ พลิกคำตัดสินถอดถอนของรัฐสภาเขาอย่างไรก็ตาม เขาฆ่าตัวตายในปี 2009 ท่ามกลางการสอบสวนของกระทรวงยุติธรรมเกี่ยวกับการทุจริต

อี มยองบัก ปกครองประเทศระหว่างปี 2008-2013 ถูกจับในข้อหายักยอกทรัพย์สินและฉ้อฉลในปี 2018 ถูกตัดสินจำคุก 15 ปี และได้รับอภัยโทษจากประธานาธิบดียุนซอกยอลในปี 2022

ปาร์คกึนเฮ ประธานาธิบดีหญิงคนแรกของเกาหลีใต้  ปกครองระหว่างปี 2013-2017 ถูกถอดถอนในปี 2016 และถูกตัดสินจำคุก 25 ปีจากข้อหาคอร์รัปชัน

มุนแจอิน เป็นเพียงประธานาธิบดีเกาหลีใต้ไม่กี่คนที่ลงตำแหน่งโดยปราศจากข้อครหา ไม่มีคดีความใดๆ มุนแจอิน ปกครองเกาหลีระหว่าง  2017-2022 ถือว่าเป็นผู้นำที่ประสบความสำเร็จได้รับคะแนนนิยมอย่างสูง อีกทั้งยังเป็นผู้นำเกาหลีใต้คนแรกที่เปิดการเจรจากับเกาหลีเหนือผ่านการทูตแบบตัวต่อตัวกับนายคิมจองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือ 

และปัจจุบันคือประธานาธิบดียุนซอกยอล ที่เข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนพฤศภาคม 2022 และเป็นที่น่าจับตาว่าอาจจะถูกถอดถอนและถูกดำเนินคดีจากกรณีประกาศกฎอัยการศึกดังกล่าว

มุมมองเส้นทางสู่สันติภาพของ ‘อิหร่าน’ เปิดกว้างสู่การเจรจา...รวมถึง ‘สหรัฐ อเมริกา’

เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2024 Masoud Pezeshkian ได้เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ของอิหร่าน เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากพิธีรับตำแหน่ง Ismail Haniyeh อดีตนายกรัฐมนตรีของปาเลสไตน์เนชันแนลออธอริตี้ และประธานสำนักงานการเมืองฮามาส ถูกอิสราเอลลอบสังหารที่บ้านพักใกล้กับทำเนียบประธานาธิบดีอิหร่าน โดย Haniyeh ได้รับเชิญให้เข้าร่วมพิธีสาบานตน และการสังหารเขาบนแผ่นดินอิหร่านทำให้เกิดผลกระทบเชิงลบต่อกระบวนการที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวยังแสดงให้เห็นถึงตัวอย่างของความท้าทายที่ประธานาธิบดี Pezeshkian จะต้องเผชิญในการดำเนินการเพื่อความสำเร็จของนโยบายต่างประเทศของเขา

แต่ ประธานาธิบดี Pezeshkian ได้เตรียมพร้อมเป็นอย่างดีที่จะรับมือกับความยากลำบากทั้งหมดที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ประธานาธิบดี Pezeshkian ตระหนักดีว่า โลกกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคหลังขั้วโลก ซึ่งผู้มีบทบาทระดับโลกสามารถร่วมมือและแข่งขันกันในพื้นที่ต่างๆ ได้ในเวลาเดียวกัน เขาได้ใช้หลักนโยบายต่างประเทศที่ยืดหยุ่น โดยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมทางการทูตและการเจรจาที่สร้างสรรค์มากกว่าการพึ่งพาแนวทางที่ล้าสมัย วิสัยทัศน์ของเขาเกี่ยวกับความมั่นคงของอิหร่านนั้นครอบคลุมทั้งศักยภาพด้านการป้องกันประเทศแบบดั้งเดิมและการเสริมสร้างความมั่นคงของมนุษย์ผ่านการปรับปรุงในภาคส่วนเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

ประธานาธิบดี Pezeshkian ต้องการเสถียรภาพและการพัฒนาเศรษฐกิจในตะวันออกกลาง เขาต้องการร่วมมือกับประเทศอาหรับเพื่อนบ้าน และเสริมสร้างความสัมพันธ์กับพันธมิตรของอิหร่าน แต่เขาก็ยังต้องการมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์กับตะวันตกด้วย รัฐบาลของเขาพร้อมที่จะจัดการกับความตึงเครียดกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งเพิ่งเลือกประธานาธิบดีคนใหม่เช่นกัน ประธานาธิบดี Pezeshkian หวังว่า จะมีการเจรจาที่เท่าเทียมกันเกี่ยวกับข้อตกลงนิวเคลียร์ หรืออาจจะมากกว่านั้น แต่ ประธานาธิบดี Pezeshkian ได้ชี้แจงไว้อย่างชัดเจนว่า อิหร่านจะไม่ยอมจำนนต่อข้อเรียกร้องที่ไม่สมเหตุสมผล อิหร่านจะยืนหยัดต่อสู้กับการรุกรานของอิสราเอลเสมอ และจะไม่ย่อท้อในการปกป้องผลประโยชน์ของชาติ 

นี่คือช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์แห่งความมั่นคงที่โลกไม่ควรปล่อยให้หลุดลอยไป แน่นอนว่า เตหะรานจะไม่ทำเช่นนั้น หลังจากผ่านพ้นช่วงเวลาแห่งความเปราะบางมาเป็นเวลาสองศตวรรษ อิหร่านภายใต้การนำของ Ali Khamenei ผู้นำสูงสุด ซึ่งในที่สุดได้พิสูจน์ให้เห็นว่า อิหร่านสามารถป้องกันตัวเองจากการรุกรานจากภายนอกได้ เพื่อยกระดับความสำเร็จดังกล่าวขึ้นอีกขั้น อิหร่านภายใต้คณะบริหารชุดใหม่มีแผนที่จะปรับปรุงความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งนี้เพื่อเป็นการเสริมสร้างระเบียบภูมิภาคในอันที่ส่งเสริมเสถียรภาพ ความมั่งคั่ง และความมั่นคง จากผลกระทบของการแทรกแซงจากต่างประเทศ สงคราม ความขัดแย้งทางศาสนา การก่อการร้าย การค้ายาเสพติด การขาดแคลนน้ำ วิกฤตผู้ลี้ภัย และการเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม มาอย่างยาวนาน เพื่อรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ อิหร่านและพันธมิตรจะทำงานเพื่อแสวงหาการบูรณาการทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงด้านพลังงาน เสรีภาพในการเดินเรือ การปกป้องสิ่งแวดล้อม และการเจรจาพูดคุยระหว่างศาสนา

ในที่สุด ความพยายามเหล่านี้จะนำไปสู่การจัดการภูมิภาคแบบใหม่ที่ลดการพึ่งพาอำนาจภายนอกอ่าวเปอร์เซีย และกระตุ้นให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแก้ไขข้อขัดแย้งผ่านกลไกการแก้ไขข้อพิพาท เพื่อดำเนินการดังกล่าว ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาจดำเนินการตามสนธิสัญญา ก่อตั้งสถาบัน กำหนดนโยบาย และผ่านมาตรการทางกฎหมาย อิหร่านและประเทศเพื่อนบ้านสามารถเริ่มต้นด้วยการเลียนแบบกระบวนการเฮลซิงกิ ซึ่งนำไปสู่การก่อตั้งองค์กรเพื่อความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป พวกเขาสามารถใช้คำสั่งที่ไม่เคยได้รับการนำไปปฏิบัติซึ่งคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติมอบให้กับเลขาธิการสหประชาชาติในปี 1987 ภายใต้มติ 598 มติดังกล่าวซึ่งยุติสงครามอิหร่าน-อิรัก เรียกร้องให้เลขาธิการหารือกับอิหร่าน อิรัก และรัฐในภูมิภาคอื่นๆ เพื่อสำรวจมาตรการที่จะช่วยเพิ่มความมั่นคงและเสถียรภาพในอ่าวเปอร์เซีย ฝ่ายบริหารของประธานาธิบดี Pezeshkian เชื่อว่า บทบัญญัตินี้สามารถใช้เป็นบรรทัดฐานทางกฎหมายสำหรับการเจรจาระดับภูมิภาคได้อย่างครอบคลุม

แน่นอนว่า มีอุปสรรคที่อิหร่านและประเทศเพื่อนบ้านต้องเอาชนะเพื่อส่งเสริมให้เกิดระเบียบที่ประกอบด้วยสันติภาพและการบูรณาการในภูมิภาค ความแตกต่างบางอย่างกับประเทศเพื่อนบ้านมีต้นกำเนิดที่หยั่งรากลึก ซึ่งถูกกำหนดขึ้นจากการตีความประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกัน ความแตกต่างอื่น ๆ เกิดจากความเข้าใจผิด ซึ่งส่วนใหญ่มีรากฐานมาจากการสื่อสารที่ไม่ดีหรือไม่เพียงพอ และยังมีอีกหลายสิ่งที่เป็นโครงสร้างทางการเมืองที่ถูกปลูกฝังโดยประเทศภายนอกภูมิภาค เช่น ข้อกล่าวหาเกี่ยวกับลักษณะและวัตถุประสงค์ของโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน

แต่อ่าวเปอร์เซียต้องเดินหน้าต่อไป วิสัยทัศน์ของอิหร่านนั้น สอดคล้องกับผลประโยชน์ของประเทศอาหรับ ซึ่งล้วนต้องการภูมิภาคที่มีเสถียรภาพและเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น เพื่อประโยชน์ของคนรุ่นต่อไป อิหร่านและโลกอาหรับจึงควรสามารถทำงานผ่านความแตกต่างได้ การสนับสนุนการต่อต้านของชาวปาเลสไตน์ของอิหร่านอาจช่วยกระตุ้นความร่วมมือดังกล่าวได้ โลกอาหรับจะเป็นหนึ่งเดียวกับอิหร่านในการสนับสนุนการฟื้นฟูสิทธิของชาวปาเลสไตน์

หลังจากการจำกัดทางเศรษฐกิจต่ออิหร่านมานานกว่า 20 ปี สหรัฐฯและพันธมิตรตะวันตกควรตระหนักว่า อิหร่านไม่ได้สนองตอบต่อแรงกดดัน มาตรการบังคับที่เข้มข้นขึ้นของพวกเขากลับส่งผลเสียอย่างต่อเนื่อง ในช่วงสูงสุดของการรณรงค์กดดันสูงสุดล่าสุดของวอชิงตัน และเพียงไม่กี่วันหลังจากการคว่ำบาตรของอิสราเอล สภานิติบัญญัติของอิหร่านได้ผ่านกฎหมายที่สั่งให้รัฐบาลเร่งพัฒนาโครงการนิวเคลียร์และลดการตรวจสอบระหว่างประเทศ จำนวนเครื่องหมุนเหวี่ยงในอิหร่านเพิ่มขึ้นอย่างมากตั้งแต่ปี 2018 ซึ่งเป็นปีที่ประธานาธิบดี Donald Trump ของสหรัฐฯ ถอนตัวออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์ และระดับการเสริมสมรรถนะพุ่งสูงขึ้นจาก 3.5 เปอร์เซ็นต์เป็นมากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ เป็นเรื่องยากที่จะจินตนาการว่าสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้หากฝ่ายตะวันตกไม่ละทิ้งแนวทางความร่วมมือ ในเรื่องนี้ Trump ซึ่งจะเข้ารับตำแหน่งอีกครั้งในเดือนมกราคม 2025 และพันธมิตรของวอชิงตันในยุโรปต่างก็มีส่วนรับผิดชอบต่อความก้าวหน้าทางนิวเคลียร์อย่างต่อเนื่องของอิหร่าน

แทนที่จะเพิ่มแรงกดดันต่ออิหร่าน ฝ่ายตะวันตกควรแสวงหาวิธีการเพื่อแก้ปัญหาเชิงบวก ข้อตกลงนิวเคลียร์ถือเป็นตัวอย่างที่ไม่เหมือนใคร และฝ่ายตะวันตกควรพยายามฟื้นคืนข้อตกลงนี้ แต่เพื่อที่จะทำเช่นนั้น ฝ่ายตะวันตกจะต้องดำเนินการให้เป็นรูปธรรมและปฏิบัติได้จริง รวมถึงมาตรการการลงทุนทางการเมือง นิติบัญญัติ และผลประโยชน์ร่วมกัน เพื่อให้แน่ใจว่าอิหร่านจะได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากข้อตกลงนี้ตามที่ได้สัญญาไว้ หาก Trump ตัดสินใจดำเนินการดังกล่าว อิหร่านก็เต็มใจที่จะมีการเจรจาที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งเตหะรานและวอชิงตัน

ในขอบเขตที่กว้างขึ้น ผู้กำหนดนโยบายของชาติตะวันตกต้องยอมรับว่า กลยุทธ์ที่มุ่งเป้าไปที่การทำให้อิหร่านและประเทศอาหรับต่อสู้กันโดยสนับสนุนความคิดริเริ่มต่างๆ เช่น ข้อตกลงอับราฮัม (ซึ่งช่วยสร้างความสัมพันธ์ปกติระหว่างประเทศอาหรับต่าง ๆ กับอิสราเอล) พิสูจน์แล้วว่า ในอดีตไม่มีประสิทธิภาพและจะไม่ประสบความสำเร็จในอนาคตอีกด้วย ชาติตะวันตกต้องการแนวทางที่สร้างสรรค์กว่านี้ ซึ่งใช้ประโยชน์จากความเชื่อมั่นที่อิหร่านได้รับมาอย่างยากลำบาก ยอมรับอิหร่านว่าเป็นส่วนหนึ่งของเสถียรภาพในภูมิภาค และแสวงหาวิธีแก้ปัญหาแบบร่วมมือเพื่อรับมือกับความท้าทายร่วมกัน ความท้าทายร่วมกันดังกล่าวอาจกระตุ้นให้เตหะรานและวอชิงตันมีส่วนร่วมในการจัดการความขัดแย้งแทนที่จะเพิ่มความรุนแรงแบบทวีคูณ ทุกประเทศ รวมทั้งอิหร่านและสหรัฐอเมริกา ต่างก็มีผลประโยชน์ร่วมกันในการแก้ไขสาเหตุพื้นฐานของความไม่สงบในภูมิภาค

นั่นหมายความว่า ทุกประเทศต่างมีผลประโยชน์ในการหยุดยั้งการยึดครองของอิสราเอล พวกเขาควรตระหนักว่า การต่อสู้และความโกรธแค้นจะดำเนินต่อไปจนกว่าการยึดครองจะสิ้นสุดลง อิสราเอลอาจคิดว่าสามารถเอาชนะชาวปาเลสไตน์ได้อย่างถาวร แต่ทำไม่ได้ ประชาชนที่ไม่มีอะไรจะสูญเสียไม่สามารถพ่ายแพ้ได้ องค์กรต่าง ๆ เช่น ฮิซบุลเลาะห์และฮามาสเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวปลดปล่อยที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อตอบโต้การยึดครอง และจะยังคงมีบทบาทสำคัญต่อไปตราบเท่าที่เงื่อนไขพื้นฐานยังคงอยู่ กล่าวคือ จนกว่าสิทธิในการกำหนดชะตากรรมของตนเองของชาวปาเลสไตน์จะบรรลุผล อาจมีขั้นตอนกลาง เช่น การหยุดยิงทันทีในเลบานอนและกาซา

อิหร่านสามารถมีบทบาทเชิงสร้างสรรค์ต่อไปในการยุติฝันร้ายด้านมนุษยธรรมในกาซาในปัจจุบัน และทำงานร่วมกับชุมชนระหว่างประเทศเพื่อหาทางออกที่ยั่งยืนและเป็นประชาธิปไตยต่อความขัดแย้ง อิหร่านจะยอมรับทางออกใด ๆ ที่ชาวปาเลสไตน์ยอมรับ แต่รัฐบาลของเราเชื่อว่าทางออกที่ดีที่สุดในการหลุดพ้นจากการทดสอบที่ยาวนานนับศตวรรษนี้คือการลงประชามติ โดยทุกคนที่อาศัยอยู่ระหว่างแม่น้ำจอร์แดนและทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ไม่ว่าจะเป็นมุสลิม คริสเตียน และยิว รวมถึงชาวปาเลสไตน์ที่ถูกขับไล่ให้อพยพไปอยู่ต่างแดนในศตวรรษที่ 20 (พร้อมกับลูกหลานของพวกเขา) จะสามารถกำหนดระบบการปกครองในอนาคตที่ยั่งยืนได้ สิ่งนี้สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศและจะสร้างขึ้นจากความสำเร็จของแอฟริกาใต้ ซึ่งระบบการแบ่งแยกสีผิวได้ถูกเปลี่ยนให้เป็นรัฐประชาธิปไตยที่สามารถดำรงอยู่ได้

การมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์กับอิหร่านควบคู่ไปกับความมุ่งมั่นในการทูตพหุภาคีสามารถช่วยสร้างกรอบสำหรับความมั่นคงและเสถียรภาพระดับโลกในอ่าวเปอร์เซียได้ ซึ่งจะช่วยลดความตึงเครียดและส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองและการพัฒนาในระยะยาว การเปลี่ยนแปลงนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเอาชนะความขัดแย้งที่หยั่งรากลึก แม้ว่าอิหร่านในปัจจุบันจะมั่นใจว่า สามารถต่อสู้เพื่อปกป้องตัวเองได้ แต่ต้องการสันติภาพและมุ่งมั่นที่จะสร้างอนาคตที่ดีกว่า อิหร่านสามารถเป็นหุ้นส่วนที่มีความสามารถและเต็มใจได้ ตราบใดที่ความร่วมมือนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเคารพซึ่งกันและกันและเท่าเทียมกัน อย่าพลาดโอกาสนี้สำหรับการเริ่มต้นใหม่

บทความนี้เขียนโดย Mohammad Javad Zarif รองศาสตราจารย์ด้านการศึกษาระดับโลก ณ มหาวิทยาลัยเตหะราน ปัจจุบัน เขาดำรงตำแหน่งตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2024 ตั้งแต่ปี 2013 ถึง 2021 เขาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอิหร่าน เขาเป็นหัวหน้าผู้เจรจาเรื่องนิวเคลียร์ของอิหร่าน ตั้งแต่ปี 2013 ถึง 2015 และเป็นเอกอัครรัฐทูตประจำสหประชาชาติตั้งแต่ปี 2002 ถึง 2007

รัฐสภาเตรียมถอดถอน-ครม.จ่อลาออกยกชุด เกาหลีลงถนนประท้วง "ยุนซอกยอล" ประกาศกฎอัยการศึก

(4 ธ.ค. 67) ประธานาธิบดียุนซอกยอล ของเกาหลีใต้ กำลังเผชิญแรงกดดันให้ถูกถอดถอนจากตำแหน่ง หลังจากการประกาศกฎอัยการศึกเมื่อคืนที่ผ่านมา แม้ว่าเขาจะยกเลิกคำสั่งในเช้าวันนี้ แต่กระแสวิพากษ์วิจารณ์ยังคงรุนแรง  

ขณะที่ 4 ธ.ค. พรรคประชาธิปไตยและพรรคฝ่ายค้านอื่นๆ ในเกาหลีใต้ได้ยื่นญัตติถอดถอนประธานาธิบดียุนซอกยอล โดยมีสาเหตุมาจากการประกาศใช้กฎอัยการศึกอย่างกะทันหันในคืนวันที่ 3 ตุลาคม ซึ่งสร้างความตกตะลึงทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ  

แม้กฎอัยการศึกดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้เพียง 6 ชั่วโมงก่อนจะถูกรัฐสภาลงมติยกเลิกในเช้าวันถัดมา แต่เหตุการณ์นี้ทำให้ยุนเผชิญกับกระแสกดดันอย่างหนักจากทั้งประชาชนและสมาชิกสภา อย่างไรก็ตาม ยุนยังคงปฏิเสธที่จะลาออกและเลือกที่จะเก็บตัวเงียบ โดยในช่วงเช้าวันที่ 4 ธันวาคม เขาได้ยกเลิกภารกิจทางการทั้งหมด  

สำนักงานประธานาธิบดีเกาหลีใต้เปิดเผยว่า ที่ปรึกษาอาวุโสและเลขานุการส่วนตัวของยุนหลายคนได้เสนอขอลาออก ขณะที่รัฐมนตรีหลายคน รวมถึงนายคิมยองฮยุน รัฐมนตรีกลาโหม ก็กำลังเผชิญเสียงเรียกร้องให้ลาออกจากกรณีสนับสนุนการใช้กฎอัยการศึก ซึ่งถูกมองว่าเป็นความผิดพลาดทางการเมืองครั้งใหญ่

สื่อเกาหลีใต้รายงานว่าคณะรัฐมนตรีของเกาหลีใต้แสดงความตั้งใจจะลาออกจากตำแหน่งยกชุด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามของรัฐบาลในการดำเนินมาตรการเพื่อตอบโต้วิกฤตการเมืองของประเทศ

รายงานข่าวเผยว่าฮัน ด็อก-ซู นายกรัฐมนตรีของเกาหลีใต้ แสดงความพร้อมที่จะ "รับใช้ประชาชนจนวินาทีสุดท้าย" โดยฮันมีกำหนดพบปะกับหัวหน้าพรรคพลังประชาชน (People Power Party) และผู้ช่วยอาวุโสของประธานาธิบดียุน ซ็อก-ย็อลช่วงบ่ายวันพุธ (4 ธ.ค.)

ขณะที่สมาพันธ์สหภาพแรงงานเกาหลี (KCTU) ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้ ได้ออกมาเคลื่อนไหว โดยการโพสต์ข้อความผ่านโลกออนไลน์ ระบุว่า การประกาศกฎอัยการศึกระยะสั้นของยุนว่าเป็น "อาชญากรรมแห่งการก่อกบฏ" พร้อมทั้งเรียกร้องให้สมาชิกมากกว่า 1 ล้านคนมารวมตัวกันที่กรุงโซลและสถานที่อื่นๆ ในเช้าวันพุธ เพื่อต่อต้านการเคลื่อนไหวดังกล่าว

ตามรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้ รัฐสภามีอำนาจยื่นญัตติถอดถอนประธานาธิบดีหรือเจ้าหน้าที่ระดับสูงได้ หากพบว่ามีการกระทำผิดรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย โดยกระบวนการนี้ต้องได้รับเสียงสนับสนุน 2 ใน 3 ของสมาชิกรัฐสภาซึ่งมีทั้งหมด 300 คน  

ในปัจจุบัน พรรคฝ่ายค้าน รวมกับพรรคเล็ก มีเสียงรวม 192 เสียง เสียงเกินครึ่งนึง ขณะที่ขณะที่พรรคพลังประชาชน ซึ่งเป็นรัฐบาล มี 108 เสียง แม้สมาชิกของพรรครัฐบาลจะลงมติไม่เห็นด้วยต่อการประกาศกฎอัยการศึก แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะสนับสนุนการถอดถอนหรือไม่

หากรัฐสภามีมติถอดถอน ประธานาธิบดีจะถูกระงับการปฏิบัติหน้าที่ทันที โดยนายกรัฐมนตรีจะขึ้นรักษาการแทน ขณะเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญจะใช้เวลาสูงสุด 6 เดือนในการพิจารณาคำร้อง พร้อมตัดสินด้วยคะแนนเสียง 6 ใน 9 เสียง  

ปัจจุบัน ศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้มีผู้พิพากษาไม่ครบองค์คณะ เนื่องจากว่างอยู่ 3 ตำแหน่ง ยังไม่ชัดเจนว่าจะดำเนินการพิจารณาได้หรือไม่  

ที่ผ่านมา มีการถอดถอนประธานาธิบดีเกาหลีใต้แล้วหลายครั้ง ตัวอย่างสำคัญคือ นางปาร์กกึนฮเย ประธานาธิบดีหญิงคนแรก ถูกถอดถอนเมื่อปี 2017 ในข้อหาคบคิดกับคนสนิทและใช้อำนาจโดยมิชอบ ในขณะที่นายโนห์มูฮยอน ถูกยื่นญัตติถอดถอนเมื่อปี 2004 แต่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำตัดสินไม่รับญัตติ ทำให้เขาดำรงตำแหน่งจนครบวาระ  

หากยุนซอกยอนถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง หรือหากเขาลาออกเอง การเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่จะต้องเกิดขึ้นภายใน 60 วัน โดยในระหว่างนั้นนายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรักษาการ  

จีนเปิดหมวดการศึกษาพิเศษ ให้นักเรียนพิการเข้าตำราบนโลกดิจิทัล

(4 ธ.ค. 67) ซินหัวรายงานว่า แพลตฟอร์มการศึกษาอัจฉริยะระดับชาติสำหรับการเรียนการสอนระดับประถมและมัธยมของจีนเปิดหมวดการศึกษาพิเศษเมื่อวันอังคาร (3 ธ.ค.) ซึ่งตรงกับวันคนพิการสากล

กระทรวงศึกษาธิการของจีนระบุว่าหมวดการศึกษาพิเศษเป็นแหล่งทรัพยากรดิจิทัลสำหรับโรงเรียน ครู นักเรียน และผู้ปกครอง มีเป้าหมายสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ทางดิจิทัลที่มีคุณภาพสูง ครอบคลุม และเหมาะสมกับนักเรียนพิการ

ผู้สอนและผู้ปกครองสามารถเข้าถึงกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ เอกสารนโยบาย และแผนการพัฒนาฉบับล่าสุด ซึ่งเกี่ยวข้องกับการศึกษาพิเศษ และครูในการศึกษาพิเศษสามารถขอรับสื่อดิจิทัลที่ครอบคลุมหลักสูตรฝึกอบรมระดับชาติ รวมถึงกรณีศึกษาและกลยุทธ์การสอนจากทั่วประเทศ

แพลตฟอร์มนี้ยังนำเสนอตำราฉบับอิเล็กทรอนิกส์และทรัพยากรวิดีโอใหม่ล่าสุดสำหรับการศึกษาพิเศษ รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับงานและกิจกรรมที่ส่งเสริมนวัตกรรมการเรียนการสอน

กระทรวงฯ เผยว่าการเปิดหมวดการศึกษาพิเศษเป็นก้าวสำคัญในการเดินหน้ายุทธศาสตร์การศึกษาดิจิทัลระดับชาติและอุดช่องโหว่ทางดิจิทัลของนักเรียนพิการของจีน โดยแผนริเริ่มนี้มุ่งรับรองว่านักเรียนทุกคนมีโอกาสเติบโต มีส่วนส่งเสริมสังคม และทำฝันเป็นจริง ไม่ว่าเผชิญความท้าทายใดๆ

อนึ่ง จีนมีนักเรียนพิการราว 9.12 แสนคนในปี 2023

ปมปัญหาสงคราม ‘ไทย-ว้า’ ส่อจบบนโต๊ะเจรจา หลังผู้นำระดับสูงกลุ่มว้า ปูดทางการไทยขอคุยหาทางออก

หลังจากข่าวไทยกับว้ากระพือในโซเชียลทั้งฝั่งไทย จีน และเมียนมาก็มีข่าวออกมาในทำนองเดียวกันหมด อีกทั้งข่าวจากฝั่งว้าเองว่าจะไม่ถอยก็มีการยืนยันออกมาแล้วว่าจริง แม้กองทัพภาคที่ 3 จะออกมาแถลงการณ์อย่างเป็นทางการว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น ซึ่งสวนทางกับคลิปที่หลุดว่อนโซเชียลที่ถูกถ่ายทั้งจากผู้เห็นเหตุการณ์เองหรือแม้กระทั่งจากบนรถทหาร นั่นเป็นการตอกย้ำว่าไทยเรากำลังใกล้เข้าสู่สงครามอย่างจริงจังแล้ว

คำถามคือทำไมกองทัพภาคที่ 3 ถึงออกแถลงโดยมีเนื้อหาดังว่า

1. กองทัพภาคที่ 3 มีพื้นที่รับผิดชอบตามแนวชายแดน ความยาวประมาณ 1,926 กิโลเมตร โดยมีภารกิจที่สำคัญ ได้แก่

1.1 การปกป้องและรักษาอธิปไตยของชาติ

1.2 การดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนไทย ตามแนวชายแดน

1.3 การจัดระเบียบพื้นที่ชายแดน

1.4 การป้องกันและแก้ไขปัญหาความมั่นคงที่สำคัญ ได้แก่ ยาเสพติด ผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย และอื่นๆ

2. กองทัพภาคที่ 3 ได้ปฏิบัติตามขอบเขตของอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย และได้ปฏิบัติการตามพันธกิจของกองทัพบก โดยใช้กลไกความร่วมมือที่มีอยู่ในทุกระดับ ได้แก่

2.1 คณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่น (Township Border Committee : TBC) ได้แก่ คณะกรรมการฯ TBC แม่ฮ่องสอน – ลอยก่อ และ คณะกรรมการฯ TBC แม่สาย – ท่าขี้เหล็ก

2.2 คณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค (Regional Border Committee : RBC) กองทัพภาคที่ 3 - สำนักปฏิบัติการพิเศษที่ 4 กองทัพเมียนมา

2.3 คณะกรรมการระดับสูง (High Level Committee : HLC) กองบัญชาการกองทัพไทย – กองทัพเมียนมา ในการแก้ปัญหาจะเริ่มจากเบาไปหาหนัก โดยการพูดคุยกับทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งร่วมกันให้ปัญหายุติโดยเร็ว โดย กองทัพภาคที่ 3 มีความพร้อมในการปกป้องอธิปไตยในทุกพื้นที่

3. เส้นเขตแดนระหว่างไทย – เมียนมา ตั้งแต่จังหวัดเชียงราย ถึง จังหวัดระนอง รวมทั้งพื้นที่ทางทะเลยังไม่สามารถปักปันเขตแดนร่วมกันได้ครบทุกพื้นที่ ซึ่งบริเวณที่ปรากฏต่อสื่อมวลชนดังกล่าว ยังไม่มีการสำรวจ และปักปันเขตแดน ทั้งนี้ กองทัพภาคที่ 3 ได้ดำเนินการตามขั้นตอนในข้อ 2 ทุกระดับแล้ว ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการเจรจาระหว่างรัฐต่อรัฐ

4. กองทัพภาคที่ 3 ขอยืนยันว่าสถานการณ์ชายแดนจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดแม่ฮ่องสอน อยู่ในภาวะปกติ สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปลอดภัย รวมทั้งความสัมพันธ์ตามแนวชายแดนยังคงอยู่ในระดับ  ที่ดีต่อกันกองทัพภาคที่ 3 พร้อมที่จะปกป้องอธิปไตยของชาติ และพี่น้องชาวไทยอย่างดีที่สุด

คำถามคือหากทุกอย่างยังปกติดีแล้วจะมีการเสริมกองทัพและยุทโธปกรณ์ทำไม การประกาศครั้งนี้จึงกลายเป็นตลกฉากใหญ่ฉีกหน้ากองทัพไปโดยสิ้นเชิง

ตามข้อมูลที่เอย่าได้มาจากแหล่งข่าวของผู้นำระดับสูงของว้าแจ้งมาว่าตอนนี้ทางการไทยต้องการจะเจรจาเพื่อหาทางออกของกรณีพิพาทนี้

เฉกเช่นที่เคยได้ยินมาจากภาพยนตร์ไทยเรื่องทวิภพ หรือ Siam Renaissance บทหนึ่งที่แม่มณีกล่าวว่า

"แสนยานุภาพจะกะไรนักหนา หากรู้จักเจรจา"

จากคำกล่าวนี้ตีความได้ว่าเราสามารถจบศึกได้ด้วยการพูดคุยเพียงแค่นั้น และอย่าลืมว่าไทยเรามีวาทศิลป์ที่ยอดเยี่ยมถึงขั้นที่ฝรั่งหัวทองเคยให้คำกล่าวถึงการเจรจาทางการทูตของไทยว่า "Siamese Talk" ถึงสุดท้ายไทยจะรบกับว้าหรือไม่ คงไม่ใช่สิ่งสำคัญ  แต่เรื่องสำคัญกว่าที่กองทัพไทยมองอาจจะเป็นเรื่องผลกระทบต่อคนในพื้นที่อันเป็นผลที่ตามมาหากเปิดฉากทำสงครามกับว้าก็เป็นได้

จีนร้องมหาวิทยาลัยผุดวิชาความรัก สอนคนรุ่นใหม่ หวังแก้วิกฤตประชากรหดตัว

(4 ธ.ค. 67) รัฐบาลจีนเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ในประเทศจัดการสอน “วิชาความรัก” (Love education) เพื่อส่งเสริมทัศนคติที่ดีต่อการแต่งงาน ความรัก การมีบุตร และครอบครัว โดยหวังว่าจะช่วยกระตุ้นอัตราการเกิดที่ลดลงของประเทศ

จีนกำลังเผชิญกับการลดลงของอัตราการเกิด ซึ่งทำให้ต้องมีมาตรการต่างๆ เพื่อดึงดูดคู่รักวัยหนุ่มสาวให้มีบุตรมากขึ้น หลังจากที่ในปี 2023 จีนรายงานว่าประชากรลดลงเป็นปีที่สองติดต่อกัน

แม้จีนจะมีประชากรมากเป็นอันดับสองของโลกที่ 1.4 พันล้านคน แต่ประเทศกำลังเผชิญกับปัญหาผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ซึ่งจะสร้างภาระทางการเงินและกระทบเศรษฐกิจในอนาคต

เรื่องดังกล่าวส่งผลให้เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา สภาแห่งรัฐหรือคณะรัฐมนตรีได้รวบรวมข้อมูลจากรัฐบาลท้องถิ่นเพื่อจัดสรรทรัพยากรเพื่อแก้ไขปัญหาการลดลงของประชากรจีนและเผยแพร่ความเคารพต่อการมีบุตรและการแต่งงาน "ในวัยที่เหมาะสม" แม้ว่านักประชากรศาสตร์จะกล่าวว่าการเคลื่อนไหวดังกล่าวไม่น่าจะโดนใจชาวจีนรุ่นเยาว์ก็ตาม

จากการสำรวจของไชน่า ป็อปปูเลชั่น นิวส์ พบว่า แม้นักศึกษามหาวิทยาลัยจะเป็นความหวังสำคัญในการเพิ่มอัตราการเกิด แต่พวกเขาเหล่านี้กลับมีมุมมองต่อการแต่งงานและความรักที่เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง โดยประมาณ 57% ของนักศึกษามหาวิทยาลัยไม่ต้องการมีความรัก เพราะพวกเขารู้สึกไม่สามารถจัดสรรเวลาให้กับการเรียนและความรักได้อย่างลงตัว 

นอกจากนี้ สื่อทางการจีนเสริมว่า เนื่องจากขาด “การศึกษาเรื่องการแต่งงานและความรักที่เป็นระบบและเป็นวิทยาศาสตร์ ทำให้นักศึกษามีความเข้าใจที่คลุมเครือเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางอารมณ์”

การขาดการศึกษาเกี่ยวกับการแต่งงานและความรักที่เป็นระบบทำให้นักศึกษามีความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางอารมณ์ที่ไม่ชัดเจน ดังนั้น มหาวิทยาลัยควรจัดการสอนนักศึกษาชั้นปีแรกเกี่ยวกับสถานการณ์ประชากรและแนวคิดใหม่ ๆ เกี่ยวกับการแต่งงานและการมีบุตร ขณะที่นักศึกษาชั้นปีสูงและนักศึกษาปริญญาโทสามารถเรียนรู้ผ่านการวิเคราะห์กรณีศึกษา การอภิปรายกลุ่มเกี่ยวกับการรักษาความสัมพันธ์ และการสื่อสารระหว่างเพศ

หลักสูตรดังกล่าวจะช่วยให้นักศึกษาเข้าใจเรื่องการแต่งงานและความรักอย่างถูกต้อง และสามารถจัดการความสัมพันธ์ได้ดีขึ้น

รัฐบาลจีนมองว่า มหาวิทยาลัยมีบทบาทสำคัญในการสร้างบรรยากาศทางวัฒนธรรมที่ดีและบวกเกี่ยวกับการแต่งงานและการมีบุตร ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่ตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างครอบครัวในวัยที่เหมาะสม

‘ยูเนสโก’ ขึ้นทะเบียน ‘ผ้ากรอม้า’ ของกัมพูชา เป็น ‘มรดกทางวัฒนธรรม’ เผย!! ใช้งานได้หลายรูปแบบ ‘พันคอ-โพกศีรษะ-ใช้เป็นเปลให้ทารก’

เมื่อวานนี้ (4 ธ.ค. 67) ‘World Forum ข่าวสารต่างประเทศ’ ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับ ‘ผ้ากรอม้า’ โดยมีใจความว่า ...

เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2024 ยูเนสโกขึ้นทะเบียน ‘ผ้ากรอม้า’ เป็น ‘มรดกทางวัฒนธรรม’ ตามที่กัมพูชายื่น 

ผ้ากรอมา (Krama) คือ ‘ผ้าพันคอทอมือ’ อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของประเทศกัมพูชา ผ้ากรอม้า เป็นเครื่องแต่งกายดั้งเดิมของกัมพูชา สามารถใช้งานได้หลายรูปแบบ เช่น ใช้พันคอ โพกศีรษะ ต่างผ้าเช็ดหน้า เคียนเอว ห่มคลุมกันแดดฝน หรือใช้เป็นเปลสำหรับทารก

ม.ทั่วสหรัฐเตือน นักศึกษา-บุคลากรต่างชาติ กลับเข้าประเทศก่อนทรัมป์รับตำแหน่ง

นิกเคอิ เอเชีย (Nikkei Asia) รายงานเมื่อ 5 ธ.ค. 2024 ว่า มหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาชั้นนำในสหรัฐ เช่น มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน และมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ได้ออกประกาศเตือนนักศึกษาและบุคลากรต่างชาติให้หลีกเลี่ยงการเดินทางออกนอกประเทศในช่วงนี้ พร้อมแนะนำให้กลับเข้าสหรัฐก่อนวันที่ 20 มกราคม 2025 ซึ่งเป็นวันเข้ารับตำแหน่งของโดนัลด์ ทรัมป์  

มหาวิทยาลัยเหล่านี้แสดงความกังวลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านกฎระเบียบการตรวจคนเข้าเมืองและสถานะวีซ่า รวมถึงมาตรการห้ามเดินทางเข้าประเทศ ซึ่งอาจกระทบต่อบุคลากรและนักศึกษาต่างชาติ โดยเฉพาะจากจีนและอินเดีย  

ในประกาศของมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน ระบุว่า “ภูมิทัศน์ของการย้ายถิ่นฐานมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีชุดใหม่” ขณะที่มหาวิทยาลัยอื่น ๆ เช่น มหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย และมหาวิทยาลัยเวสเลียนในคอนเนตทิคัต ได้ออกคำแนะนำให้นักศึกษาและคณาจารย์ต่างชาติเตรียมตัวสำหรับการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล พร้อมจัดเซสชันให้ข้อมูลและบริการให้คำปรึกษากฎหมายการย้ายถิ่น  

ย้อนกลับไปในปี 2017 ช่วงต้นสมัยแรกของทรัมป์ เขาเคยออกคำสั่งฝ่ายบริหารห้ามพลเมืองจากหลายประเทศ รวมถึงเกาหลีเหนือและเวเนซุเอลา เดินทางเข้าสหรัฐ อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อนักศึกษาและนักวิชาการจากประเทศเหล่านี้ แม้คำสั่งดังกล่าวจะถูกศาลสั่งยกเลิกในภายหลัง แต่มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์เตือนว่ามาตรการลักษณะเดียวกันอาจกลับมาใช้ได้ในไม่ช้าหลังจากทรัมป์เข้ารับตำแหน่ง โดยรายชื่อประเทศที่ถูกจำกัดอาจขยายไปถึงอินเดียและจีน  

จากข้อมูลของสถาบันการศึกษานานาชาติ (Institute of International Education: IIE) พบว่ามีนักศึกษาต่างชาติกว่า 1.1 ล้านคนศึกษาอยู่ในสหรัฐในปีการศึกษา 2023 โดยนักศึกษาชาวอินเดียมีจำนวนมากที่สุด แซงหน้าชาวจีนเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี  

เบนจามิน สเทิร์น (Benjamin Stern) ที่ปรึกษาด้านการศึกษาสำหรับนักเรียนชาวอินเดีย ระบุว่า ลูกค้าของเขาหลายคนแสดงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากชัยชนะของทรัมป์ โดยบางคนเริ่มพิจารณาสมัครเรียนในประเทศอื่นแทนสหรัฐเพราะความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

เปิดปมซีอีโอ 'ยูไนเต็ดเฮลธ์แคร์' ถูกยิง พบกระสุนสลักคำแค้น สะเทือนธุรกิจประกันภัยสหรัฐฯ

เมื่อวันที่ (4 ธ.ค.67) ตามเวลาท้องถิ่นนครนิวยอร์ก เกิดเหตุสะเทือนขวัญเมื่อนาย ไบรอัน ธอมป์สัน  ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทยูไนเต็ดเฮลธ์ (UnitedHealth) ซึ่งเป็นบริษัทประกันสุขภาพรายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ถูกคนร้ายยิงเสียชีวิตใจกลางย่านแมนฮัตตัน โดยเบื้องต้นเจ้าหน้าที่ตำรวจเชื่อว่าคนร้ายตั้งใจดักรอเพื่อหมายเอาชีวิตนายธอมป์สัน

รายงานระบุว่า ธอมป์สัน วัย 50 ปี ถูกยิงเมื่อเวลาประมาณ 06:45 น. ที่บริเวณด้านนอกโรงแรมฮิลตัน บนถนนซิกซ์อเวนิว เพียงไม่นานก่อนที่งานกิจกรรมวันพบปะนักลงทุนประจำปีของบริษัทยูไนเต็ดเฮลธ์จะเริ่มขึ้น โดยเขาถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลใกล้เคียงอย่างเร่งด่วน ขณะที่คนร้ายยังคงหลบหนี

รายงานจากสื่อท้องถิ่นระบุว่า มือปืนดักรอ Brian ขณะเดินอยู่ริมถนน จากนั้นใช้อาวุธปืน 9 มม. ยิงเขา 6 นัด โดยมีการใช้กระบอกเก็บเสียง ปลอกกระสุนที่พบในที่เกิดเหตุถูกสลักข้อความว่า 'Delay' (ยืดเยื้อ), 'Deny' (ปฏิเสธ), และ 'Depose' (โยนคดีทิ้ง) ซึ่งสอดคล้องกับชื่อเสียงที่ไม่ค่อยดีนักของบริษัทยูไนเต็ดเฮลธ์ เนื่องจากมีอัตราการปฏิเสธการจ่ายเงินประกันสูงถึง 32% ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในกลุ่มบริษัทประกันสุขภาพทั้งหมด อีกทั้งยังมีอัตราการปฏิเสธการจ่ายเบื้องต้นสูงถึง 90% ส่งผลให้มีคดีความฟ้องร้องระหว่างผู้เอาประกันชาวอเมริกันกับบริษัทเป็นจำนวนมาก

การปฏิเสธการจ่ายเงินของบริษัทส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ที่ต้องรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง เพราะหากไม่มีเงินประกันมาจ่าย โรงพยาบาลจะต้องหยุดการรักษาชั่วคราว  

การลอบยิงดังกล่าวส่งผลให้ชาวเน็ตวิจารณ์เหตุการณ์นี้อย่างกว้างขวาง หลายคนแสดงความเห็นว่ามือปืนอาจเป็นตัวแทนของผู้ที่ทนไม่ได้กับความไม่เป็นธรรมจากระบบประกันสุขภาพในสหรัฐฯ และถึงแม้ตำรวจจะสามารถจำกัดวงผู้ต้องสงสัยจากจำนวนคนที่เคยถูกปฏิเสธการจ่ายเงินเหลือเพียง 25 ล้านคน แต่การจับกุมมือปืนอาจไม่ใช่เรื่องง่าย

เหตุการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้บรรดาบริษัทประกันภัยรายอื่น ๆ ของสหรัฐ ต่างทบทวนมาตรการรักษาความปลอดภัยสำหรับผู้บริหารระดับสูงอย่างเร่งด่วน อาทิ CVS Health อีกหนึ่งบริษัทประกันสุขภาพรายใหญ่ของสหรัฐ ได้นำภาพถ่ายและข้อมูลของทีมผู้บริหารทั้งหมดออกจากเว็บไซต์ เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น   

โรเบิร์ต ดามิโก อดีตเจ้าหน้าที่ FBI และผู้ก่อตั้งบริษัท Sierra One Consulting บริษัทที่ปรึกษาด้านความปลอดภัยระบุว่า การนำรูปภาพออกจากเว็บไซต์สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามในการลดความเสี่ยงที่ผู้ไม่หวังดีจะสามารถระบุตัวและเข้าถึงผู้บริหารได้ง่าย อีกทั้งยังบอกว่า ช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา ธุรกิจด้านสุขภาพในสหรัฐฯ เผชิญกับความขัดแย้งที่เพิ่มมากขึ้น จนต้องสำรวจมาตรการความปลอดภัยใหม่ ๆ เพื่อรับมือกับความเป็นไปได้ของอาชญากรรมรุนแรง

ทั้งนี้ เหตุการณ์การเสียชีวิตของธอมป์สันเป็นสัญญาณเตือนถึงความเสี่ยงที่ผู้บริหารระดับสูงต้องเผชิญ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและการประกันภัย ซึ่งเป็นประเด็นที่กระทบต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนโดยตรง 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top