Wednesday, 14 May 2025
World

ครองแชมป์ชื่อเด็กชายยอดนิยมในอังกฤษ แซงหน้าชื่อสไตล์ผู้ดี ‘อเมเลีย-โอลิเวอร์’

(9 ธ.ค. 67) สำนักงานสถิติแห่งชาติสหราชอาณาจักร (ONS) เปิดเผยเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2024 ว่า ‘มูฮัมหมัด’ (Muhammed) กลายเป็นชื่อที่พ่อแม่ชาวอังกฤษและเวลส์นิยมตั้งให้เด็กผู้ชายแรกเกิดมากที่สุดในปี 2023 โดยมีเด็กชายชื่อมูฮัมหมัดถึง 4,661 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2022 ที่มี 4,177 คน ส่งผลให้ชื่อดังกล่าวครองอันดับ 1 ของชื่อเด็กผู้ชายยอดนิยม แซงหน้า โนอาห์ (Noah) และ โอลิเวอร์ (Oliver) ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 2 และ 3 ตามลำดับ  

สำหรับเด็กผู้หญิง ชื่อ โอลิเวีย (Olivia) ยังคงครองอันดับ 1 ติดต่อกันเป็นปีที่ 8 ตามมาด้วย อเมเลีย (Amelia) และ ไอยลา (Isla) ที่อยู่ในอันดับที่ 2 และ 3 เช่นเดิม  

เกร็ก ซีลีย์ (Greg Ceely) หัวหน้าศูนย์ติดตามสุขภาพประชากรของ ONS กล่าวว่าวัฒนธรรมป็อปมีอิทธิพลต่อการตั้งชื่อเด็กอย่างมาก โดยชื่อนักร้องชื่อดัง เช่น บิลลี (Billie), ลานา (Lana), ไมลีย์ (Miley), รีฮานนา (Rihanna) และเอลตัน (Elton) กลายเป็นชื่อที่พบได้บ่อยในหมู่เด็กเกิดใหม่  

ในทางกลับกัน ชื่อราชวงศ์อังกฤษ กลับได้รับความนิยมน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด โดยชื่อ จอร์จ (George)ตกไปอยู่อันดับที่ 4 มีเด็กเพียง 3,494 คนเท่านั้นที่ใช้ชื่อนี้ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ตัวเลขลดลงต่ำกว่า 4,000 คน ขณะที่ วิลเลียม (William) และหลุยส์ (Louis) ตกไปอยู่อันดับที่ 29 และ 45 ตามลำดับ  

ชื่อจากภาษาอาหรับ เช่น อัยมาน (Ayman) และ ฮัสซัน (Hasan) กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเพิ่มขึ้นถึง 47% และ 43% ตามลำดับ ซึ่งสะท้อนถึงการเติบโตของชุมชนชาวเอเชียใต้และชาวมุสลิมในสหราชอาณาจักร  

ปัจจุบัน ชาวเอเชียใต้จากประเทศอินเดีย ปากีสถาน และบังกลาเทศ คิดเป็น 4.3% ของประชากรทั้งหมดในอังกฤษ โดยชาวอินเดียถือเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดในอังกฤษและเวลส์ มีจำนวนประชากรมากกว่า 1.5 ล้านคน หรือ 2.5% ของประชากรอังกฤษทั้งหมด

โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ กล่าวหลังกลุ่มกบฏยึดเมืองหลวงซีเรียเเละโค้นรัฐบาลอัล - อัสซาด ได้สำเร็จ

(9 ธ.ค. 67) นายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ แสดงความคิดเห็นผ่านสื่อสังคมออนไลน์เมื่อวันเสาร์ ขณะเข้าร่วมพิธีเปิดมหาวิหารนอเทรอดามในกรุงปารีสว่า “นี่ไม่ใช่การสู้รบของสหรัฐ” พร้อมระบุว่าประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาดของซีเรีย ไม่สมควรได้รับการสนับสนุนให้ดำรงตำแหน่งต่อไป  

ปัจจุบัน สหรัฐมีกำลังทหารราว 900 นายประจำการในซีเรีย ส่วนใหญ่ทำงานร่วมกับพันธมิตรชาวเคิร์ดในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อป้องกันการฟื้นตัวของกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส)  

การแสดงจุดยืนนี้เกิดขึ้นหลังจากกลุ่มกบฏในซีเรียเปิดปฏิบัติการโจมตีอย่างรวดเร็วเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน โดยให้เหตุผลว่าจำเป็นต้องตอบโต้ก่อน เนื่องจากกองทัพอากาศซีเรียและรัสเซียเพิ่มการโจมตีพลเรือนในจังหวัดอิดลิบ ฐานที่มั่นของฝ่ายต่อต้าน  

สงครามกลางเมืองในซีเรียดำเนินมานานกว่า 13 ปี โดยเริ่มจากการลุกฮืออย่างสันติของประชาชนเมื่อปี 2554 เพื่อต่อต้านการปกครองของตระกูลอัล-อัสซาด ความขัดแย้งนี้ทำให้ประชาชนหลายล้านคนเสียชีวิตและต้องอพยพหนีภัยไปยังต่างประเทศ

โดนัลด์ ทรัมป์ ออกน้ำหอม 2 กลิ่น ต้อนรับคริสต์มาส ราคาต่อขวดเกือบหมื่นบาท

(9 ธ.ค. 67) หลังจากได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง ว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะกลับเข้าสู่ทำเนียบขาวในเดือนมกราคม 2025 เขาได้ประกาศเปิดตัวน้ำหอม 2 กลิ่นได้แก่ "Fight Fight Fight" และ "Victory" ผ่านแพลตฟอร์ม Truth Social 

โดยทรัมป์ระบุผ่านแพลตฟอร์มของตนเองว่า "นี่คือน้ำหอมและโคโลญจน์ใหม่ในไลน์ของทรัมป์ ผมตั้งชื่อมันว่า Fight Fight Fight ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของชัยชนะของเรา มันเป็นของขวัญวันคริสต์มาสที่เหมาะสำหรับสมาชิกในครอบครัว สุขสันต์วันคริสต์มาสและสุขสันต์วันปีใหม่

ขวดน้ำหอมทั้งสองมีคำว่า "Fight" ในตัวอักษรหนาและตัวใหญ่ เพื่อเน้นย้ำถึงธีมของความแข็งแกร่งและชัยชนะของทรัมป์ โดยสื่อยังรายงานอีกว่า กลิ่น Fight Fight Fight มีโน้ตที่เข้มข้นและกระจายออกมาแสดงถึงความสามารถในการฟื้นตัวจากอุปสรรคต่างๆ  สนนราคาขายอยู่ระหว่าง $199 ถึง $298 หรือประมาณ 7,000 ถึง 10,430 บาท 

โดยไม่กี่วันหลังจากเปิดตัว รายงานระบุว่ามีบรรดาแฟนคลับของทรัมป์แห่ซื้อน้ำหอมดังกล่าวผ่านแพลตฟอร์มอย่างถล่มทลาย บางรายทำคลิปรีวิวโดยบอกว่า นี่เป็นกลิ่นที่ดีที่สุดเท่าที่เคยใช้มา ขณะที่บางรายบอกว่านี่คือกลิ่นของอิสรภาพและชัยชนะ

โดนัลด์ ทรัมป์ มักใช้แพลตฟอร์ม Truth Social ลงโฆษณาขายสินค้าภายใต้แบรนด์ดิ้งของตนเองอยู่เสมอ โดยก่อนหน้านี้เขาเคยโฆษณานาฬิการุ่น Trump Watches” ซึ่งมีราคาสูงถึง 100,000 ดอลลาร์มาแล้ว

ฟรีวีซ่าดึงดูดต่างชาตินิยมเที่ยวโซนปักกิ่ง-เซี่ยงไฮ้ สนามบินปักกิ่งทุบสถิติรับนทท.ทะลุ 1 ล้านคน

(9 ธ.ค. 67) ซินหัวรายงานว่า สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญหลายแห่งในกรุงปักกิ่งทางตอนเหนือและนครเซี่ยงไฮ้ทางตะวันออกของจีน คร่าคร่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจากเกาหลีใต้ สเปน โปแลนด์ ไทย ฮังการี สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น และเยอรมนี  

สืบเนื่องจากขยายนโยบายฟรีวีซ่าเป็นหมุดหมายสำคัญในการก้าวเดินสู่การเปิดกว้างยิ่งขึ้นของจีนและแสดงความเชื่อมั่นของจีนบนเวทีโลก โดยปัจจุบันมี 38 ประเทศ ที่สามารถเดินทางเข้าจีนแบบฟรีวีซ่า และนักเดินทางสามารถพำนักได้นานสูงสุด 30 วัน เมื่อนับถึงวันที่ 30 พ.ย. 2024

สื่อจีนระบุว่า จำนวนชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าสู่จีนในไตรมาสสาม (กรกฎาคม-กันยายน) ของปี 2024 สูงถึง 8.18 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 48.8 เมื่อเทียบปีต่อปี โดยส่วนหนึ่งเดินทางเข้าสู่จีนแบบฟรีวีซ่า 4.88 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 78.6 เมื่อเทียบปีต่อปี

รายงานดังกล่าวสอดคล้องกับ ข้อมูลจากท่าอากาศยานนานาชาติปักกิ่ง ต้าซิง ที่เผยว่าจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองในปีนี้ทะลุ 1 ล้านคน สร้างสถิติใหม่ด้านจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติรายปีที่เข้า-ออกสนามบิน

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติข้างต้นได้รับการยืนยันเมื่อ6 ธ.ค. ที่ผ่านมา โดยถือเป็นสถิติครั้งใหม่หลังมีการปรับใช้ชุดนโยบายเพื่ออำนวยความสะดวกให้ชาวต่างชาติในการเข้าประเทศจีน อันรวมถึงการเพิ่มจำนวนประเทศที่ไม่ต้องขอวีซ่าเข้าจีน ซึ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกให้มาเยือนจีน

สนามบินปักกิ่ง ต้าซิง ยังขยายเครือข่ายเที่ยวบินระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีบริการเที่ยวบินสู่จุดหมายปลายทางระหว่างประเทศและจุดหมายปลายทางระดับภูมิภาครวม 43 แห่ง ครอบคลุม 25 ประเทศและภูมิภาค ทั่วยุโรป เอเชีย และตะวันออกกลาง

ช่วงฤดูหนาว-ฤดูใบไม้ผลินี้สนามบินปักกิ่ง ต้าซิงมีแผนเปิดเส้นทางบินใหม่ๆ ไปยังหลายเมือง เช่น ซิดนีย์ เมลเบิร์น เวียงจันทน์ และคาซาบลังกา (โมร็อกโก) นอกจากนี้ยังมีแผนเปิดเที่ยวบินสู่แอฟริกาและอเมริกาเหนือ ตลอดจนเพิ่มความถี่ของเที่ยวบินที่บินไปตะวันออกกลางและรัสเซีย เพื่อเพิ่มทางเลือกเที่ยวบินระหว่างประเทศแก่ผู้โดยสาร

สนามบินแห่งนี้ยังเป็นหนึ่งในท่าด่านจำนวน 9 แห่ง ที่ได้รับการอนุมัติจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองแห่งชาติ ให้ชาวต่างชาติสามารถแวะพักเครื่องระหว่างทาง (direct transit) ได้ตลอด 24 ชั่วโมงโดยไม่ต้องผ่านขั้นตอนการตรวจคนเข้าเมือง

‘เกาหลีใต้’ เตรียม!! ถอนการลงทุน ‘โรงงานอีวี’ ในสหรัฐอเมริกา จากนโยบาย ยกเลิกเครดิตภาษียานยนต์ไฟฟ้า ของ ‘โดนัลด์ ทรัมป์’

(10 ธ.ค. 67) บริษัทสัญชาติเกาหลีใต้อยู่ในช่วงพิจารณาแผนลงทุนเพื่อสร้างโรงงานแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าในสหรัฐ มูลค่า 5.4 พันล้านดอลลาร์ (ประมาณ 1.89 แสนล้านบาท) อีกครั้ง เนื่องจากกังวลว่า โดนัลด์ ทรัมป์ อาจยกเลิกเครดิตภาษียานยนต์ไฟฟ้า

มากไปกว่านั้น แหล่งข่าววงในของบลูมเบิร์ก เผยว่า บริษัทเกาหลีบางแห่งได้ชะลอหรือหยุดการก่อสร้างโรงงานบางแห่งเนื่องจากกังวลเกี่ยวกับความต้องการยานยนต์ไฟฟ้าที่ลดลงรวมทั้งท่าทีด้านภาษีของทรัมป์ โดย Posco Future M ผู้ผลิตแคโทดให้กับ General Motors Co. ระบุในเอกสารเมื่อเดือนก.ย.ว่าอยู่ในช่วงเลื่อนการก่อสร้างโรงงานในนครควิเบก ประเทศแคนาดาออกไปเนื่องจาก ‘เหตุผลภายในท้องถิ่น’

เคนนี คิม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของ SNE Research บริษัทวิจัยในกรุงโซลที่มุ่งเน้นไปที่บริษัทผลิตแบตเตอรี่เกาหลี กล่าวว่า แม้บริษัทจำนวนหนึ่งยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ แต่ผู้ประกอบการจากเกาหลีใต้จำนวนมากเริ่มกังวล "อย่างมาก" ว่าทรัมป์จะปรับลดเงินอุดหนุนสำหรับตลาดยานยนต์ไฟฟ้าลง

ก่อนหน้านี้ทรัมป์วิพากษ์วิจารณ์ความพยายามของประธานาธิบดีโจ ไบเดนเรื่องการอุดหนุนยานยนต์ไฟฟ้าผ่านพระราชบัญญัติพลังงานที่ชื่อว่า ‘Inflation Reduction Act’ มาโดยตลอด โดยรัฐบาลใหม่ของทรัมป์มีแผนลดข้อกำหนดในการประหยัดเชื้อเพลิง และตามรายงานของรอยเตอร์สเมื่อเดือนที่แล้ว คณะบริหารอาจจะยกเลิกเครดิตภาษีผู้บริโภครายละ 7,500 ดอลลาร์

บทวิเคราะห์ของบลูมเบิร์ก เผยว่า การยกเลิกเงินอุดหนุน เครดิตภาษี และแรงจูงใจอื่นๆ จำนวนหลายร้อยพันล้านดอลลาร์มีผลเชิงลบต่อการจ้างงานในสหรัฐหลายหมื่นตำแหน่ง และทำลายความพยายามในการเปลี่ยนห่วงโซ่อุปทานยานยนต์ไฟฟ้าให้ห่างออกจากจีน นอกจากนี้ยังอาจกระทบรายได้ของบริษัทเกาหลีซึ่งเป็นพันธมิตรสำคัญของสหรัฐ จากความพยายามลดการพึ่งพาผู้ผลิตจากจีนท่ามกลางช่วงเวลาที่พวกเขากำลังประสบกับความต้องการยานยนต์ไฟฟ้าที่อ่อนตัว และราคาแบตเตอรี่ที่ลดลง

"เราติดตามทุกคำพูดจากทรัมป์เกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้า" บยองฮุน คิม ซีอีโอของ Ecopro Materials Co. ผู้จัดหาวัตถุดิบสำหรับแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าของ Ford Motor Co. และ General Motors Co. กล่าว

"เราถือว่า Inflation Reduction Act เป็นประเด็นสำคัญมาตลอด" คิม กล่าว พร้อมเสริมว่า "หากมีการเปลี่ยนแปลงนโยบาย เราอาจต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ของเราด้วย"

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รัฐบาลไบเดนเสนอเงิน 7.5 พันล้านดอลลาร์ เพื่อช่วยในการร่วมทุนระหว่าง Samsung SDI Co. และ Stellantis NV ในการสร้างโรงงานผลิตเซลล์ในรัฐอินเดียนา อย่างไรก็ตาม คณะทำงานเพื่อการเปลี่ยนผ่านของทรัมป์รีบตั้งคำถามกับข้อเสนอนี้ วิเวค รามาสวามี หนึ่งในสองรายนามที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นประธานร่วมของกระทรวงประสิทธิภาพของรัฐบาล (D.O.G.E) กล่าวในโพสต์บน X ว่าคณะกรรมการฯ จะตรวจสอบการช่วยเหลือของคณะทำงานของไบเดนอย่างละเอียด

บทวิเคราะห์ของบลูมเบิร์ก เผยว่า หลังจาก Inflation Reduction Act มีผลบังคับใช้ในปี 2022 ทางการสหรัฐต่างประกาศอย่างโจ่งแจ้งต่อโรงงานในเกาหลีกว่า 50% ว่าจะมีการสร้างงานมากกว่า 20,000 ตำแหน่งบริเวณ Battery Belt’ ของสหรัฐซึ่งครอบคลุมพื้นที่จากมลรัฐมิชิแกน โอไฮโอ เคนทักกี ไปจนถึงจอร์เจีย

เกาหลีใต้ได้มีส่วนในการสร้างงาน และการลงทุนในพื้นที่ Rust Belt พัคแท ซอง รองประธานสมาคมอุตสาหกรรมแบตเตอรี่เกาหลี กล่าว พร้อมกล่าวเสริมว่าการมีผู้ผลิตแบตเตอรี่จากเกาหลีจะเป็นประโยชน์ต่อสหรัฐในการแข่งขันกับห่วงโซ่อุปทานที่จีนครองตลาดยานยนต์ไฟฟ้า และกลุ่มของเขาอยู่ในช่วงเจรจากับเจ้าหน้าที่สหรัฐเพื่อเจรจาล็อบบี้เพื่อรักษานโยบายจูงใจด้านยานยนต์ไฟฟ้าไว้

ศูนย์วิจัย Reshoring Initiative เปิดเผยว่า แบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าคิดเป็นประมาณครึ่งหนึ่งของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ และการย้ายฐานการผลิตกลับมาในสหรัฐ ระหว่างปี 2021 จนถึงไตรมาสแรกของปี 2024 นอกจากนี้ ข้อมูลแสดงให้เห็นว่าการลงทุนโดยตรง และการย้ายฐานการผลิตของเกาหลีในสหรัฐสร้างงานในอเมริกาเหนือ ได้ 20,360 ตำแหน่งในปี 2023 มากกว่าประเทศอื่นใดๆ

ดังนั้นการตัดเครดิตภาษีของทรัมป์จะกระทบกับบริษัทแบตเตอรี่ของเกาหลีอย่างหนัก ในช่วงที่บริษัทเหล่านี้กำลังประสบกับความต้องการยานยนต์ไฟฟ้าที่อ่อนตัวลง ราคาลิเทียม ซึ่งเป็นแร่สำคัญที่เชื่อมโยงกับราคาขายของแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า ดิ่งลงเกือบ 90% จากจุดสูงสุดในปี 2022 เนื่องจากปริมาณการนำไปใช้ในรถไฟฟ้าน้อย และช้ากว่าคาดการณ์ของนักวิเคราะห์

LG Energy Solution พันธมิตรสำคัญของ GM ได้บันทึกเครดิต Inflation Reduction Act ประมาณ 1 ล้านล้านวอน (773 ล้านดอลลาร์) ในบัญชีของตัวเองในปีนี้ แต่นักวิเคราะห์คาดว่าจะขาดทุนสุทธิในปีงบประมาณ 2023 ด้าน SK On พันธมิตรของ Ford ได้รับเครดิตภาษีจากสหรัฐประมาณ 2.11 แสนล้านวอนในสามไตรมาสแรก แต่ยังคงเผชิญกับสภาวะขาดทุน

บริษัทสัญชาติเกาหลียังกังวลว่าทรัมป์อาจอนุญาตให้บริษัทแบตเตอรี่ของจีนเข้าสู่สหรัฐโดยรอยเตอร์สรายงานเมื่อเดือนที่แล้วว่า Contemporary Amperex Technology Co. Ltd หรือ CATL ของจีนจะพิจารณาสร้างโรงงานในสหรัฐหากทรัมป์เปิดประตู

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา Inflation Reduction Act ของไบเดนปิดกั้นการลงทุนจากจีนมาจนถึงปัจจุบัน โดยขอให้ผู้ผลิตรถยนต์ค่อยๆ ลดการจัดหาแร่ธาตุสำคัญสำหรับแบตเตอรี่จาก ‘Foreign Entities of Concern’ หรือ FEOC ซึ่งหมายความถึงบริษัทต่างชาติที่ดำเนินกิจการแล้วอาจกระทบความมั่นคงของสหรัฐ ซึ่งประกอบด้วย จีน รัสเซีย และเกาหลีเหนือ

ด้าน ปาร์ค ชุลวาน ศาสตราจารย์ภาควิชาวิศวกรรมยานยนต์ มหาวิทยาลัยซอจอง กล่าวว่า "การเข้ามาของจีนในสหรัฐจะเป็นหายนะสำหรับเกาหลี" และ "บริษัทแบตเตอรี่ของจีนจะเสนอราคาที่ต่ำกว่ามาก"

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางส่วนมีความหวังว่าทรัมป์จะไม่ตัดเครดิตสำหรับผู้ผลิตแบตเตอรี่ เนื่องจากโรงงานส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในรัฐที่บริหารโดยพรรครีพับลิกัน

คิตาเอะ คิม ซีอีโอของ SungEel Recycling Park Indiana โรงรีไซเคิลแบตเตอรี่ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างในเมือง ไวท์สทาวน์ รัฐอินเดียน่า กล่าวว่า  "ผมคิดว่ามีความเป็นไปได้น้อยมากที่ [ทรัมป์] จะลดสิทธิประโยชน์จาก Inflation Refuction Act"

ทั้งนี้ หุ้นของ LG Energy ปรับตัวขึ้น 0.3% ในวันจันทร์ ขณะที่หุ้นของ Samsung SDI ร่วงลง 2.8%

ด้าน แพท วิลสัน คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐจอร์เจีย ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงาน SK On สามแห่ง กล่าวในอีเมลถึงบลูมเบิร์ก นิวส์ ว่าจอร์เจียจะช่วยให้บริษัทเกาหลี "สามารถเข้าถึงผู้บริโภคทั่วประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด"

"ตลาดสหรัฐยังคงเป็นตลาดผู้บริโภคที่สำคัญที่สุดในโลก" เขากล่าว พร้อมเสริมว่า "บริษัทเกาหลีรู้เรื่องนี้มาก่อนยุคของรัฐบาลไบเดน และข้อเท็จจริงนี้จะไม่เปลี่ยนแปลงแม้มีรัฐบาลใหม่"

‘TikTok’ ร้อง!! ศาลสหรัฐ ให้ระงับการแบนแอป จนกว่า ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ จะขึ้นเป็นประธานาธิบดี

(10 ธ.ค. 67) Tiktok ยื่นคำร้องเมื่อวันจันทร์ว่า ศาลอุทธรณ์สหรัฐเขตโคลัมเบียควรออกคำสั่งห้ามนับถอยหลังวันครบกำหนดขายหุ้นหรือแบนแพลตฟอร์ม (ซึ่งมีระยะเวลาให้ทำตามข้อกำหนดน้อยกว่า 6 สัปดาห์) เพื่อให้ศาลฎีกาสามารถพิจารณาคำเรียกร้องของบริษัทที่อ้างว่า การเรียกร้องของรัฐบาลสหรัฐละเมิดสิทธิในเสรีภาพของการพูดและสิทธิตามรัฐธรรมนูญอื่น ๆ

ติ๊กต็อกและไบท์แดนซ์ ระบุในคำร้องที่ยื่นต่อศาลว่า “การสั่งห้ามเป็นเรื่องที่เหมาะสมอย่างยิ่ง เพราะจะช่วยให้รัฐบาลชุดใหม่มีเวลาพิจารณาจุดยืนของตนเอง ซึ่งอาจช่วยให้เกิดการหารือถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นและความจำเป็นในการพิจารณาของศาลฎีกา”

นิกเกอิเอเชีย ระบุว่า ติ๊กต็อกสามารถยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อพิจารณาคำตัดสินของศาลแขวง แต่ต้องมีเสียงจากผู้พิพากษา 4 ใน 9 ที่ตกลงจะพิจารณาคดีนี้ จึงจะได้รับการพิจารณาต่อไป

ติ๊กต็อกได้ขอให้ศาลอุทธรณ์ตัดสินคำร้องสั่งห้ามนับถอยหลังกำหนดขายหุ้น ภายในวันที่ 16 ธ.ค. นี้ ขณะที่กระทรวงยุติธรรมขอให้ศาลปฏิเสธคำร้องของบริษัทโดยไม่ต้องมีการพิจารณาคดีเพิ่มเติม

การยื่นคำร้องขอสั่งห้ามของติ๊กต็อกมีขึ้นหลังจากศาลตัดสินเมื่อวันศุกร์ (6 ธ.ค.) ยกฟ้องการท้าทายทางกฎหมายของติ๊กต็อกต่อ พระราชบัญญัติคุ้มครองชาวอเมริกันจากแอปพลิเคชันที่ควบคุมโดยปรปักษ์ต่างชาติ (Protecting Americans from Foreign Adversary Controlled Applications Act.)

คำสั่งของศาลที่ออกมาเมื่อวันที่ 6 ธ.ค. ผู้พิพากษา 3 คน บอกว่า การสั่งให้ขายหุ้นหรือแบนแอพลิเคชัน ไม่ได้ปิดกั้นเสรีภาพในการพูด และไม่ได้ละเมิดการคุ้มครองด้านความเท่าเทียม

อนึ่ง วันครบกำหนดให้ไบท์แดนซ์ขายติ๊กต็อกคือวันที่ 19 ม.ค. ซึ่งเป็นเส้นตายที่มีขึ้นก่อนวันว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์จะเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 ม.ค.

แม้ทรัมป์เป็นผู้อยู่เบื้องหลังของการแบนติ๊กต็อก แต่เขาได้เปลี่ยนจุดยืนในระหว่างหาเสียงเลือกตั้ง โดยบอกว่าตนไม่เห็นด้วยกับความเคลื่อนไหว (การแบนติ๊กต็อก) ดังกล่าว ซึ่งการสนับสนุนของเขามีขึ้นหลังจากได้พบกับมหาเศรษฐีเจฟฟ์ แยส ที่เป็นผู้ลงทุนรายแรกในไบท์แดนซ์ และเป็นหนึ่งในผู้บริจาคเงินทางการเมืองรายใหญ่สุดของการหาเสียงของทรัมป์

ทั้งนี้ ติ๊กต็อกอาจต้องสูญรายได้มากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ และบรรดาครีเอเตอร์อาจสูญเสียรายได้รวมกันเกือบ 300 ล้านดอลลาร์ภายในเวลาเพียง 1 เดือน ถ้าไม่ยุติการแบนแอปฯ

ติ๊กต็อกเผยเมื่อวันจันทร์ว่า แพลตฟอร์มมีผู้ใช้งานชาวอเมริกันมากถึง 170 ล้านคน และว่าการโฆษณา การตลาด และการเข้าถึงแบบออร์แกนิกบนแอปฯนั้น สร้างเม็ดเงินให้กับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของสหรัฐ 24,200 ล้านดอลลาร์ในปี 2566 ในขณะที่การดำเนินงานของบริษัทเองก็มีส่วนหนุนจีดีพีสหรัฐอีก 8,500 ล้านดอลลาร์

โสมใต้สั่งตำรวจ-ทหารระดับสูง ห้ามเดินทางนอกประเทศ ปมพัวพันอัยการศึก

สำนักงานสอบสวนแห่งชาติ (NOI) ของเกาหลีใต้เปิดเผยเมื่อวันที่ 10 ธันวาคมว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารระดับสูง 5 นาย รวมถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ถูกสั่งห้ามเดินทางออกนอกประเทศ ท่ามกลางการสืบสวนกรณีประกาศกฎอัยการศึกของประธานาธิบดียุน ซุกยอล  

ทีมสืบสวนพิเศษของ NOI ระบุว่า บุคคลที่ถูกห้ามเดินทางออกนอกประเทศ ได้แก่ โจ จีโฮ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, คิม บงซิก ผู้บัญชาการตำรวจนครหลวงกรุงโซล และมก ฮยอนแท หัวหน้ากองกำลังตำรวจประจำรัฐสภา  

คำสั่งดังกล่าวถูกกระทรวงยุติธรรมบังคับใช้เมื่อเวลา 20.00 น. ของวันที่ 9 ธันวาคม ตามเวลาท้องถิ่น โดยทั้งสามคนถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในการควบคุมการเข้าสู่รัฐสภาระหว่างการบังคับใช้กฎอัยการศึกเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม  

นอกจากนี้ ลี จินวู ผู้บัญชาการกองกำลังป้องกันเมืองหลวง และควัก จองกึน อดีตผู้บัญชาการกองกำลังปฏิบัติการพิเศษกองทัพบก ก็ถูกสั่งห้ามเดินทางออกนอกประเทศด้วย เนื่องจากมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสืบสวนในคดีนี้เช่นกัน

ทั้งนี้ นอกเหนือจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงในแวดวงตำรวจและทหารแล้ว ก่อนหน้านั้นทางการเกาหลีใต้ได้มีคำสั่งห้ามประธานาธิบดียุนซอกยอลเดินทางออกนอกประเทศเช่นกัน

อดีตรมว.กลาโหมเกาหลีใต้ พยายามปลิดชีพในคุก หนีความผิดอัยการศึก เคราะห์ดีผู้คุมเห็นห้ามทันควัน

(11 ธ.ค. 67) คิม ยองฮยอน อดีตรัฐมนตรีกลาโหมเกาหลีใต้ ซึ่งขณะนี้ถูกจับกุมหลังจากความพยายามที่จะประกาศกฎอัยการศึกในประเทศเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ได้พยายามฆ่าตัวตายในระหว่างถูกควบคุมตัวที่ศูนย์กักกัน ตามการเปิดเผยของชิน ยงแฮ หัวหน้าของศูนย์กักกันที่คิมถูกคุมขังอยู่

"เมื่อวานนี้ เวลาประมาณ 23:52 น. ตามเวลาท้องถิ่น  เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังรายงานว่า [คิม] พยายามฆ่าตัวตายในห้องน้ำของห้องขังเพื่อรอการพิจารณาคดี แต่ไม่ได้รับอันตรายความพยายามดังกล่าวแต่อย่างใด" ยอนฮับอ้างคำพูดของชินที่กล่าวต่อรัฐสภาเกาหลีใต้

เจ้าหน้าที่ของศูนย์กักกันได้เข้าช่วยเหลือทันทีและหยุดยั้งความพยายามของอดีตนายกรัฐมนตรีกลาโหม โดยเจ้าหน้าที่เรือนจำกล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนายคิมอยู่ภายใต้การคุ้มครองอย่างเข้มงวด ขณะที่นายคิมไม่ได้รับบาดเจ็บจากความพยายามดังกล่าว

'ทรัมป์' เล็งเพิ่มขุดเจาะน้ำมัน-ก๊าซธรรมชาติ หนุนส่งออกพลังงาน ไม่แคร์สิ่งแวดล้อม

(11 ธ.ค.67) โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เตรียมกรุยทางให้บริษัทและนักลงทุนขนาดใหญ่สามารถขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐฯ และส่งออกก๊าซธรรมชาติได้ โดยประกาศว่าจะเร่งอนุมัติการผ่อนปรนนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับผู้ที่ลงทุนเกิน 1,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 33,730 ล้านบาท) ในประเทศ

ทรัมป์ได้โพสต์ข้อความลงบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียผ่าน Truth Social โดยระบุว่าจะเร่งอนุมัติใบอนุญาตให้แก่บุคคลหรือนิติบุคคลที่ลงทุนในสหรัฐฯ จำนวน 1,000 ล้านดอลลาร์หรือมากกว่า รวมถึงการอนุมัติด้านสิ่งแวดล้อมที่จำเป็น

"บุคคลหรือบริษัทที่ลงทุน 1,000 ล้านดอลลาร์หรือมากกว่านั้นในสหรัฐฯ จะได้รับการอนุมัติใบอนุญาตอย่างเร่งด่วนเต็มรูปแบบ รวมถึงการอนุมัติด้านสิ่งแวดล้อมที่จำเป็น ซึ่งโดยปกติแล้วต้องใช้เวลานาน เตรียมตัวให้พร้อม!!!"

แหล่งข่าวใกล้ชิดกล่าวกับรอยเตอร์ว่า ทรัมป์ต้องการผลักดันการอนุมัติการส่งออกก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และเพิ่มการขุดเจาะน้ำมันทั้งในดินแดนและนอกชายฝั่งสหรัฐฯ เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะการส่งออกพลังงาน

แม้ว่าจะยังไม่ชัดเจนว่าทรัมป์จะดำเนินการอย่างไรเพื่อให้ผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการอิสระ เช่น คณะกรรมการกำกับกิจกรรมพลังงานส่วนกลาง (FERC) ที่ต้องการทบทวนด้านสิ่งแวดล้อมในโครงการก๊าซ LNG

นอกจากนี้ ทรัมป์และพรรครีพับลิกันยังมีแผนที่จะเพิกถอนข้อจำกัดและกฎหมายสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมบางประการของประธานาธิบดีโจ ไบเดน เช่น เครดิตภาษีรถยนต์ไฟฟ้า และมาตรฐานโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดที่มุ่งยกเลิกการใช้ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ

ออสเตรเลียตามหาด่วน ไวรัส 323 หลอด หายจากแล็บ หวั่นถูกใช้ทำอาวุธชีวภาพ

(11 ธ.ค.67) ทางการรัฐควีนส์แลนด์เปิดเผยว่า หลอดบรรจุไวรัสชนิดร้ายแรงจำนวน 323 หลอดได้หายไปจากห้องปฏิบัติการไวรัสวิทยาของหน่วยงานด้านสาธารณสุข ส่งผลให้รัฐบาลออสเตรเลียสั่งการให้หน่วยงานด้านสาธารณสุขของรัฐควีนส์แลนด์ดำเนินการสอบสวนเหตุการณ์นี้ ซึ่งถูกระบุว่าเป็นการละเมิดมาตรการความปลอดภัยทางชีวภาพครั้งใหญ่ เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2564 แต่ได้รับการยืนยันเมื่อเดือนสิงหาคม 2566 โดยเจ้าหน้าที่เชื่อว่าหลอดบรรจุไวรัสอาจหายไปหลังจากตู้แช่ไวรัสเกิดความเสียหาย

รายงานระบุว่า รัฐบาลรัฐควีนส์แลนด์ได้เริ่มการสอบสวนอย่างเป็นทางการ แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าหลอดบรรจุไวรัสที่หายไปนั้น ถูกขโมยหรือถูกทำลายแล้ว นอกจากนี้ ยังไม่มีหลักฐานที่บ่งชี้ว่ามีความเสี่ยงหรืออันตรายต่อประชาชน 

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ชี้ว่า ไวรัสที่อันตรายเหล่านี้จะตายอย่างรวดเร็วเมื่อนอกตู้แช่และไม่ทำให้เกิดการติดเชื้อ โดยทางการยืนยันว่าแม้ตัวอย่างไวรัสเหล่านี้อาจถูกนำไปใช้ในการผลิตอาวุธชีวภาพได้ แต่ต้องอาศัยผู้ที่มีความเชี่ยวชาญสูง โดยไวรัสที่หายไปประกอบด้วย

ไวรัสเฮนดรา (Hendra virus) เป็นไวรัสที่สามารถติดต่อจากสัตว์สู่คน พบเฉพาะในออสเตรเลียและมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 57% ไวรัสนี้ถูกค้นพบครั้งแรกในปี พ.ศ. 2537 หลังเกิดการระบาดในม้าแข่ง 21 ตัวและมนุษย์ 2 คน ที่เมืองเฮนดรา ชานเมืองบริสเบน องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าไวรัสชนิดนี้มีต้นกำเนิดจากค้างคาวผลไม้

ไวรัสฮันตา (Hantavirus) เป็นไวรัสที่แพร่จากสัตว์สู่คน มีต้นกำเนิดจากหนูและแพร่ผ่านมูล ปัสสาวะ และน้ำลายของหนู เมื่อติดเชื้อจะทำให้เกิดโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสฮันตา อาการทั่วไปได้แก่ ไข้ หนาวสั่น คลื่นไส้ ท้องเสีย และของเหลวในปอด ศูนย์ป้องกันโรคสหรัฐฯ (CDC) ระบุว่าไวรัสชนิดนี้มีอัตราการเสียชีวิตประมาณ 38%

ลิสซาไวรัส (Lyssavirus) เป็นไวรัสที่ทำให้เกิดโรคพิษสุนัขบ้า ติดต่อได้ทั้งคนและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม โดยในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากเชื้อไวรัสชนิดนี้ประมาณ 59,000 คนทั่วโลก


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top