Tuesday, 8 July 2025
World

'ยุนซอกยอล' ลุแก่อำนาจ สภาผลักดันถอดถอนพ้นปธน.

เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ยุน ซอก-ยอล สร้างความตกตะลึงให้กับทั้งประเทศด้วยการประกาศกฎอัยการศึกครั้งแรกในรอบเกือบ 50 ปี โดยกล่าวถึง 'กองกำลังต่อต้านรัฐ' และภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือ ซึ่งทำให้ประชาชนและนักการเมืองจำนวนมากพากันตื่นตัวและแสดงความไม่พอใจ

แม้ว่าการประกาศดังกล่าวจะถูกอ้างถึงเพื่อรับมือกับภัยคุกคามจากภายนอก แต่ไม่นานนักก็เริ่มชัดเจนว่ากฎอัยการศึกนี้อาจมีสาเหตุมาจากความพยายามของประธานาธิบดีในการจัดการปัญหาภายในประเทศ โดยเฉพาะปัญหาทางการเมืองที่เขากำลังเผชิญหน้า

ทันทีที่กฎอัยการศึกประกาศออกมา ผู้คนหลายพันคนได้ออกมาประท้วงหน้ารัฐสภาเกาหลีใต้ โดยเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรการดังกล่าว พร้อมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) จากพรรคฝ่ายค้านที่เร่งรุดไปที่รัฐสภาเพื่อทำการลงมติยกเลิก

นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า การประกาศกฎอัยการศึกของประธานาธิบดียุนเกิดขึ้นในช่วงที่เขาถูกกดดันจากสถานการณ์ทางการเมืองภายใน โดยเขาอ้างว่าเป็นการดำเนินการเพื่อกำจัด "กองกำลังต่อต้านรัฐ" ซึ่งเขาเชื่อว่าอยู่ภายในเกาหลีใต้เอง

ภายใต้มาตรการกฎอัยการศึกนี้ทำให้กองทัพเกาหลีใต้มีอำนาจพิเศษ โดยทหารและตำรวจเต็มเครื่องแบบถูกส่งไปยังรัฐสภา พร้อมทั้งมีเฮลิคอปเตอร์บินลงจอดบนหลังคาของอาคารรัฐสภา ขณะที่มีการปะทะกันระหว่างผู้ประท้วงและเจ้าหน้าที่ตำรวจหน้ารัฐสภา แต่ความตึงเครียดไม่ได้บานปลายเป็นความรุนแรง

อย่างไรก็ตาม ในเวลา 1:00 น. ตามเวลาท้องถิ่น รัฐสภาเกาหลีใต้ได้ลงมติยกเลิกกฎอัยการศึกด้วยคะแนน 190 เสียง ซึ่งทำให้กฎอัยการศึกที่ประกาศออกมาในตอนแรกเป็นโมฆะ โดยสมาชิกพรรคฝ่ายค้านในเกาหลีใต้ได้แสดงความไม่เห็นด้วยกับการประกาศกฎอัยการศึก โดยระบุว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและละเมิดรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกันผู้นำพรรคประชาธิปไตย (DP) ได้เรียกร้องให้สมาชิกพรรคมารวมตัวกันที่รัฐสภาเพื่อทำการโหวตคว่ำการประกาศดังกล่าว 

ประธานาธิบดียุนได้รับความนิยมที่ลดลงเรื่อย ๆ หลังจากการเลือกตั้งเดือนเมษายน 2024 โดยพรรคฝ่ายค้านชนะการเลือกตั้งและสามารถยับยั้งการผ่านกฎหมายของรัฐบาล ในช่วงที่ผ่านมา เขายังต้องเผชิญกับข้อกล่าวหาคอร์รัปชันหลายเรื่อง รวมถึงเรื่องที่สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งรับของขวัญจากดีออร์

เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ในเวลาต่อมา วันที่ 14 ธันวาคม ที่ประชุมสมัชชาแห่งชาติเกาหลีใต้ในกรุงโซล มีมติเห็นชอบด้วยคะแนน 204 เสียง 'ถอดถอนประธานาธิบดี ยุน ซ็อกยอล' ออกจากตำแหน่งผู้นำประเทศแล้ว นับเป็นการลงมติถอดถอนออกจากตำแหน่ง (อิมพีชเมนท์) เป็นครั้งในประวัติศาสตร์การเมืองเกาหลีใต้ จากปัญหาอื้อฉาวกรณีการประกาศกฎอัยการศึกกลางดึกคืนวันที่ 3 ธ.ค. ที่ผ่านมา

ในการโหวต มีสมาชิกรัฐสภา 204 ต่อ 85 เสียง ลงมติเห็นชอบกับญัตติดดังกล่าว นั่นหมายความว่ายุนจะถูกพักการปฏิบัติหน้าที่ทันที และ "นายกรัฐมนตรี" จะทำหน้าที่รักษาการประธานาธิบดีแทน

สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนี้ อำนาจและหน้าที่ในฐานะประธานาธิบดีเกาหลีใต้ของยุน ซ็อกยอล จะถูกระงับลงชั่วคราวทันที ประธานาธิบดีต้องพักการปฏิบัติหน้าที่ทันที "นายกรัฐมนตรีเกาหลีใต้ ฮัน ด็อกซู" จะเข้ามารักษาการแทนชั่วคราว

ขั้นตอนต่อไป รัฐสภาจะต้องส่งเรื่องมติถอดถอนในสภาไปยัง "ศาลรัฐธรรมนูญ" ต่อ โดยศาลมีเวลาไต่สวน 180 วัน เพื่อพิจารณาว่าจะให้ยุนพ้นจากตำแหน่งหรือจะคืนอำนาจให้ตามเดิม หากศาลพิจารณาเห็นชอบตามรัฐสภา จะต้องมีการประกาศจัดการเลือกตั้งใหม่ตามมาภายใน 60 วัน นับตั้งแต่มีคำตัดสินของศาล

นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย อันวาร์ อิบราฮิม แถลง!! ผลการหารือกับ ดร.ทักษิณ ชินวัตร เผย!! พูดคุยประเด็นสำคัญในภูมิภาค เศรษฐกิจ เทคโนโลยี การสร้างสันติภาพในภาคใต้

นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย อันวาร์ อิบราฮิม เปิดใจเชื่อ ความเจนจัดของอดีตผู้นำไทย ดร.ทักษิณ ชินวัตร ที่มีเครือข่ายกว้างขวางไปทั่วภูมิภาคจะเป็นประโยชน์ต่อ 'มาเลเซีย' ที่กำลังจะนั่งในตำแหน่งประธานอาเซียนแบบหมุนเวียนคนใหม่ในปี 2025

และเสริมว่า ผู้นำทั้งสองพบกันในวันพฤหัสบดี (26) โดยบลูมเบิร์กกล่าวว่า ประเด็นการหารือประกอบไปด้วยประเด็นสำคัญของภูมิภาค รวมไปถึงการเสริมสร้างสันติภาพในภาคใต้ของไทยและต่อวิกฤตพม่า

“เครือข่ายความสัมพันธ์ที่ไม่มีใครเทียบเคียงของคุณทักษิณไปทั่วทั้งภูมิภาคพร้อมไปด้วยความเชี่ยวชาญที่พิเศษที่โดดเด่นของเขานั้นเป็นเสมือนการสัญญาต่อโอกาสที่มีคุณค่ามหาศาลสำหรับทั้งมาเลเซียและอาเซียน เพื่อตอบสนองต่อความท้าทายด้วยความเชื่อมั่นและความสามารถที่มากขึ้น” 

อันวาร์ซึ่งเรียกอดีตนายกฯ ไทยว่า ‘เพื่อนรัก’ ดูเหมือนว่าเขาจะไม่มีความรู้สึกวิตกต่อปัญหาทางกฎหมายและการเมืองในไทยที่รุมล้อมอดีตผู้นำไทยที่ต้องลี้ภัยทางการเมืองนาน 15 ปีจากการโดนทำรัฐประหาร ซึ่งมีประวัติทำความผิดคอร์รัปชันและสามารถรอมชอมกับทหารได้ ก่อนได้รับพระราชทานอภัยโทษในเวลาต่อมา

และหลังจากที่นายกฯ อันวาแต่งตั้งทักษิณเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนในฐานะหนึ่งในที่ปรึกษาส่วนตัวในการนั่งทำหน้าที่เป็นประธานอาเซียนครั้งแรกกลับพบกับเสียงวิจารณ์จากทั้งในไทยและในมาเลเซีย และรวมไปสื่อนอกเช่น รอยเตอร์

มีการหยิบยกการเปรียบเทียบให้เห็นเหมือนเมื่อครั้งการได้รับแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีมาเลเซียและความสัมพันธ์กับฮุนเซน ย้อนให้นึกถึงครั้งที่ ทักษิณ ได้รับการแต่งตั้งจากฮุนเซน ให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาของรัฐบาลกัมพูชา แต่หลังจากนั้นไม่นานทักษิณประกาศลาออกจากตำแหน่งดังกล่าว ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างของฝ่ายตรงข้ามเกี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อน เนื่องจากกัมพูชามีข้อพิพาททางทะเลกับไทยในเรื่องเกาะกูด

ขณะที่ฝ่ายค้านมาเลเซียเองออกมาถามอาเซียนจะได้ประโยชน์จริงหรือและจะเสริมภาพลักษณ์ของอันวาร์ได้อย่างไร ซัดตั้งคนที่ถูกพิพากษาจำคุกฐานใช้อำนาจโดยมิชอบ ทำไมไม่ตั้งนักการทูตหรือนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านต่างประเทศ ด้าน ‘ดร.มหาเธร์’ งง ทำไมเลือกทักษิณ ทั้งที่มีคนอื่นมากมาย

ซึ่งการพบกันระหว่าง 2 ผู้นำมาเลเซีย-ไทยนี้เป็นที่จับตาเป็นวงกว้างโดยเฉพาะจากโลกตะวันตก เกิดขึ้นหลังสื่อ TASS ของรัสเซียรายงานวันพุธ (25) เปิดเผยว่า รัฐบาลไทยได้ตอบรับการเป็นประเทศหุ้นส่วนของกลุ่ม BRICS (BRICS partner country) ซึ่งเป็นก้าวที่จะนำไปสู่การเป็นสมาชิกเต็มตัวในอนาคต

กลายเป็นคำถามให้ผู้เชี่ยวชาญว่า กลุ่มอาเซียน 10 ชาติซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 1967 นี้จะยังคงวางตัวเป็นกลางอย่างไรในเมื่อ 3 ชาติจากทั้งหมดได้แก่ มาเลเซีย ซึ่งกำลังจะเป็นประธานอาเซียน รวมไทย ที่มีอดีตนายกฯ นั่งเป็นที่ปรึกษาส่วนตัวของประธานอาเซียน และอินโดนีเซียนั้นกำลังจะเป็นหุ้นส่วนกับรัสเซีย-จีนผ่านกลุ่ม BRICS

สื่อสหรัฐฯ รายงานว่า นักวิเคราะห์ต่างชี้ว่า ในฐานะเป็นประธานอาเซียน อันวาร์และมาเลเซียจะผงาดบนเวทีโลกในฐานะชาติมหาอำนาจตัวกลาง (middle power) โดยในการจำกัดความที่หมายถึงประเทศที่ยังไม่มีอิทธิพลโดดเด่นในฐานะชาติมหาอำนาจโลก เช่น สหรัฐฯ จีน รัสเซีย แต่ถูกพิจารณาว่ามีอิทธิพลในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

การทูตของนายกฯ อันวาร์รวมถึงการไปเยือนอเมริกาใต้เพื่อประชุมเอเปกและการประชุม G-20 สะท้อนถึงการสร้างที่ยืนของมาเลเซียและเขาบนเวทีโลกและแผนสำหรับการนำอาเซียนในปี 2025

เรดิโอฟรีเอเชียชี้ว่า นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย มักจะย้ำเสมอในการให้สำคัญต่ออาเซียนและกลไกของอาเซียนต่อเป้าหมายในการทำให้มีความเหมาะสมมากขึ้นสำหรับความพยายามอย่างเคลื่อนไหวภายในโลกขั้วใต้ (Global South) ซึ่งโลกขั้วใต้นี้ปักกิ่งได้ประกาศแสดงความเป็นผู้นำ

และเป็นเสมือนสิ่งสำคัญสำหรับผู้นำแดนเสือเหลืองที่ต้องทำให้มั่นใจว่า กลุ่มอาเซียนจะไม่เพียงแต่เป็นกลาง แต่ต้องถูกมองให้เป็นเช่นนั้นด้วย ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Matthijs van den Broek แสดงความเห็น

และเสริมว่า ในขณะที่ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ออกมาข่มขู่ว่าจะตั้งกำแพงภาษีสูงลิ่วต่อประเทศใดๆ ที่เขาเชื่อว่ากำลังเป็นศัตรูกับดอลลาร์สหรัฐ หลังกลุ่ม BRICS วางแผนจะตั้งสกุลเงินใหม่ของตัวเอง

ทั้งจีนและสหรัฐฯ เป็นหนึ่งในประเทศที่มีการซื้อขายต่างชาติระดับต้นและเป็นพันธมิตรทางการลงทุน ดังนั้นแล้ว มาเลเซียในฐานะประธานต้องเพิ่มความสามารถทางการทูตของตัวเองเพื่อไม่ให้มีการทำให้รู้สึกทอดทิ้งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

มหาวิทยาลัยชั้นนำในสหรัฐฯ ส่อแวว!! เผชิญปัญหาการเงิน ชี้!! ‘ฮาร์วาร์ด’ ก็อาจไม่รอด หากไม่รีบปรับตัว แก้ไขวิกฤต

(28 ธ.ค. 67) บรรดามหาวิทยาลัยชั้นนำในสหรัฐฯ กำลังประสบปัญหาเรื่องเงิน ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากสิ่งที่พวกเขาก่อขึ้นเอง ขณะวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชนที่มีขนาดเล็กกว่ากำลังตัดลดพนักงานและโครงการต่าง ๆ ซึ่งจำนวนมากต้องปิดตัวลงฉับพลัน

รายงานยกตัวอย่างมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดที่มีความเก่าแก่ 400 ปี เผชิญความไม่แน่นอนว่าจะอยู่รอดถึงปีที่ 500 หรือไม่ โดยปัญหาทางการเงินที่ซุกซ่อนอยู่ใต้พรมอาจผุดโผล่ขึ้นมา หากตลาดกระทิง (bull market) หยุดชะงัก และโดยเฉพาะหากมีการประกาศใช้นโยบายที่เสนอโดยรัฐบาลภายใต้ว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

ริชาร์ด เอนนิส ที่ปรึกษาทางการลงทุนระดับอาวุโส มองว่าต้นทุนที่สูงและ ‘ความคิดว่าตนเหนือกว่าอันล้าสมัย’ ได้ขัดขวางความก้าวหน้าของกองทุนสะสมทรัพย์ของกลุ่มมหาวิทยาลัยไอวี ลีก (Ivy League) ซึ่งอาจมีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 นับตั้งแต่วิกฤตการเงินปี 2008 หากลงทุนในหุ้นและกองทุนผสมแบบดั้งเดิม

ส่วนสองนโยบายของรัฐบาลทรัมป์อาจส่งผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของกลุ่มไอวี ลีก ยิ่งขึ้น โดยนโยบายหนึ่งเป็นการเก็บภาษีเงินได้ร้อยละ 1.4 ตามกฎหมายลดหย่อนภาษีและการจ้างงาน ปี 2017 สำหรับกองทุนสะสมทรัพย์มูลค่ามากกว่า 5 แสนดอลลาร์สหรัฐ (ราว 17 ล้านบาท) ต่อนักศึกษาในสถานศึกษาที่มีผู้เรียนมากกว่า 500 คน

รายงานเสริมว่ากฎเกณฑ์ด้านวีซ่าอาจทำให้เป็นเรื่องยากขึ้นหรือไม่ดึงดูดใจนักศึกษาชาวต่างชาติมาเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ โดยนักศึกษาชาวต่างชาติมักไม่ค่อยได้รับความช่วยเหลือ และสถานการณ์นี้เกิดขึ้นระหว่างการดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ สมัยแรกของโดนัลด์ ทรัมป์

‘เยาวภา แสงจันทร์’ บล็อกเกอร์สาวไทย เยือน!! 'ฉงชิ่ง' เมืองภูเขา ชี้!! ทีเด็ด ‘หม้อไฟหมาล่า – ผู้ชายหน้าตาดี – บินตรงแค่สามชั่วโมง’

(28 ธ.ค. 67) แม้อากาศจะเย็นยิ่งขึ้นตามการลดลงของอุณหภูมิในฤดูหนาว แต่พื้นที่ชมวิวริมแม่น้ำเจียหลิงในมหานครฉงชิ่งทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ยังคงมีนักท่องเที่ยวแวะเวียนมาเดินเล่นกันอย่างคึกคัก เพื่อรอชมภาพขบวนรถไฟทะลุตึกสูงด้วยตาตัวเอง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ‘เยาวภา แสงจันทร์’ หรือ ‘หลี่เพ่ยอิง’ บล็อกเกอร์สาวสายท่องเที่ยวจากไทย

ช่วงไม่กี่ปีมานี้ สถานีหลีจื่อป้าของทางรถไฟรางเบาในฉงชิ่งกลายเป็นแลนด์มาร์กชื่อดังบนโลกโซเชียล ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวจีนและชาวต่างชาติมาเช็กอินจุด ‘รถไฟทะลุตึก’ กันเป็นจำนวนมาก เช่นเดียวกับ ‘ประวิตร’ ชาวไทยที่เผยว่าการมาเที่ยวฉงชิ่งเหมือนแกะกล่องสุ่ม ที่นี่มีภูมิประเทศแบบภูเขาและตึกสูงเรียงรายซับซ้อนชวนให้ประหลาดใจได้เสมอยามเดินสำรวจ

จีนได้ปรับปรุงนโยบายวีซ่าอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ก้าวเข้าสู่ปี 2024 พร้อมยกระดับความสะดวกสบายด้านการชำระเงิน ภาษา การเดินทาง ฯลฯ เพื่อผลักดันให้ ‘ไชน่า ทราเวล’ (China Travel) หรือ ‘ท่องเที่ยวจีน’ กลายเป็นคำศัพท์ฮิตในตลาดการท่องเที่ยวระหว่างประเทศในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

เมื่อไม่นานนี้ จีนประกาศการผ่อนปรนนโยบายเดินทางผ่าน (transit) แบบฟรีวีซ่า ขยายระยะเวลาพำนักที่ได้รับอนุญาตของนักเดินทางชาวต่างชาติที่มีคุณสมบัติผ่านเกณฑ์จากเดิม 72 และ 144 ชั่วโมง เป็น 240 ชั่วโมง หรือ 10 วัน และสามารถเดินทางข้ามมณฑลได้ทั่ว 24 มณฑล เขตปกครอง และเทศบาลนคร

กระแส ‘ไชน่า ทราเวล’ หรือ ‘ท่องเที่ยวจีน’ ที่ติดลมบนได้เปิดประตูบานใหม่ในการทำความเข้าใจจีน ทำให้ชาวต่างชาติจำนวนไม่น้อยหลงรักการเดินทางท่องเที่ยวจีน ดังเช่น ‘ใจดี’ และเพื่อนๆ ของเธอ ซึ่งเดินทางเยี่ยมชมผาหินแกะสลักต้าจู๋ แหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมในฉงชิ่ง เล่าว่าพระพุทธรูปแกะสลักที่นี่แตกต่างกับที่ไทย ทำให้ถ่ายรูปออกมาสวยงามมาก

ข้อมูลจากเอเจนซีการเดินทางท่องเที่ยวท้องถิ่นฉงชิ่งพบว่านอกจากย่านใจกลางเมืองแล้ว นักท่องเที่ยวชาวไทยยังชื่นชอบแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมนอกตัวเมือง เช่น ผาหินแกะสลักต้าจู๋ และระบบชลประทานตูเจียงเยี่ยนของซื่อชวน (เสฉวน) ที่ซึ่งพรั่งพร้อมด้วยมรดกทางวัฒนธรรมและภูมิทัศน์ธรรมชาติเป็นเอกลักษณ์ มอบประสบการณ์แปลกใหม่แก่นักท่องเที่ยว

ทั้งนี้ ฉงชิ่งยังคงเป็นหนึ่งในจุดหมายยอดนิยมของนักท่องเที่ยวชาวไทยแม้ล่วงเข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว โดยข้อมูลสถิติจากซีทริป (Ctrip) พบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางเยือนฉงชิ่ง ช่วงเดือนมีนาคม-พฤศจิกายนของปี 2024 เพิ่มขึ้นราวสามเท่าเมื่อเทียบปีต่อปี เนื่องด้วยอานิสงส์จากข้อตกลงยกเว้นวีซ่าระหว่างจีนกับไทย ซึ่งมีผลบังคับใช้ร่วมกันตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2024

เยาวภา แสงจันทร์ หรือหลี่เพ่ยอิง บล็อกเกอร์สาวไทย เสริมว่าเหตุผลที่ฉงชิ่งเป็นจุดหมายยอดนิยมในหมู่นักท่องเที่ยวชาวไทยคือการเป็นบ้านเกิดของ ‘เซียวจ้าน’ ผู้ชายที่หล่อที่สุดของจีนตามความเห็นของชาวเน็ตจีน โดยเซียวจ้านเป็นดาราจีนที่มีแฟนคลับชาวไทยอยู่มาก และอีกเหตุผลคือ ‘หม้อไฟหมาล่า’ รสชาติเผ็ดร้อนถูกปากชาวไทยสายแซ่บ

ปัจจุบันที่เข้าใกล้ช่วงหยุดยาวปีใหม่สากลและเทศกาลตรุษจีนของจีน สายการบินบางส่วนในฉงชิ่งได้เริ่มเพิ่มความถี่ของเที่ยวบินโดยสารแบบไปกลับไทย ซึ่งเยาวภาเชื่อว่าจะมีนักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางฉงชิ่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเพราะแค่มี ‘พาสปอร์ตหนึ่งเล่ม’ บวกกับ ‘บินตรงสามชั่วโมง’ ก็สามารถมาสำรวจ ‘เมืองภูเขา’ แห่งนี้ได้แล้ว

‘กลุ่มบริกส์’ ออกแถลงการ!! ทำงานแบบพหุภาคี เพื่อการพัฒนา ย้ำ!! เป็นครอบครัวเดียวกัน ช่วยกันพัฒนา เพื่อให้โลกมั่นคง

(29 ธ.ค. 67) ผลการดำเนินงานของประเทศรัสเซียในฐานะประธานกลุ่มบริกส์

ในปี 2567 ประเทศรัสเซียได้เป็นประธานของกลุ่มบริกส์ โดยมีความตั้งใจในการทำงานร่วมกับสมาชิกกลุ่มไว้ว่า จะเสริมสร้างการทำงานแบบพหุภาคีเพื่อการพัฒนาและทำให้โลกนั้นมีความมั่นคงและยุติธรรม” เพื่อให้เป็นไปตามความปรารถนาของผู้เข้าร่วมทั้งหมด นำไปสู่การทำงานร่วมกันอย่างสร้างสรรค์โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศ มีความเคารพซึ่งกันและกัน มีความเท่าเทียมและสามารถเลือกวิธีการในการพัฒนาตัวเองได้อย่างมีอิสระ

ในปีนี้เราได้ทำงานในรูปแบบใหม่และได้ขยายขอบเขตการทำงานออกไปมากยิ่งขึ้น รัสเซียในฐานะประธานของกลุ่มบริกส์ ได้พยายามทุกวิถีทางเพื่อให้สมาชิกใหม่เข้าถึงความเป็นครอบครัวของบริกส์ ได้อย่างรวดเร็วและเรียบง่ายที่สุด เพื่อให้สมาชิกใหม่ได้บรรลุในผลประโยชน์ร่วมกันและเคารพกันและกัน ทุกคนได้เสนอแนวคิดและความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ที่มีประโยชน์และมีแนวโน้มที่ดีในอนาคตทั้งทางด้าน

การเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจและการเงิน รวมถึงการติดต่อด้านมนุษยธรรมระหว่างกัน 
ในระหว่างการทำงานของรัสเซียในฐานะตำแหน่งประธานของกลุ่มบริกส์ได้มีการจัดงานขึ้นมากกว่า 250 งานและหลากหลายระดับ ซึ่งได้มีเจ้าหน้าที่ของรัฐและเอกชนเข้าร่วม เรายังได้จัดงานสาธารณะขึ้นมาอีกมากมาย เช่น เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติของกลุ่มบริกส์ การสัมมนาวิชาการบริกส์ภายใต้คำขวัญว่าผู้เล่นใหม่บนกระดานหมากรุกโลก นอกจากนั้นยังมีโรงเรียนสอนละครบริกส์และการประชุมด้านธุรกิจบริกส์ ครั้งที่ 8 ที่ดำเนินไปอย่างสร้างสรรค์ 

ได้มีการประชุมในระดับรัฐมนตรีต่างประเทศบริกส์ที่ได้รับเกียรติจากนายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยเข้าร่วมงานเมื่อวันที่ 10 – 11 มิถุยายน 2567 ณ เมืองนิจนีนอฟโกรอด ประเทศรัสเซีย นอกจากนั้น ยังมีรายงานว่า 80 กว่าประเทศ (รวมประเทศไทย) ได้เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาของกลุ่มบริกส์ ณ เมืองคาซาน ประเทศรัสเซีย 

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ได้เข้าร่วมการประชุมพรรคการเมืองระหว่างประเทศครั้งแรกในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย โดยมีพรรคการเมืองต่าง ๆ จากกลุ่มบริกส์และประเทศพันธมิตรกว่า 40 พรรคการเมืองในเดือนมิถุนายน ณ เมืองวลาดิวอสต็อก ประเทศรัสเซีย

ในภาพรวมรัสเซียเข้าร่วมประชุมร่วมกับหน่วยงานอัยการ หน่วยงานด้านการท่องเที่ยวของบริกส์ การประชุมสร้างสรรค์เรื่องเมืองฝาแฝดและระบบเทศบาลของบริกส์ การประชุมกับหน่วยงานที่ทำงานบริการฉุกเฉิน  การประชุมด้านรัฐสภาบริกส์ครั้งที่ 10 (เมื่อเดือนกรกฎาคม 2567 ณ นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก การประชุมร่วมกับหน่วยงานด้านการตรวจสอบสูงสุด การประชุมร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการสื่อสาร รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลาง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หัวหน้าหน่วยงานศุลกากร หัวหน้าหน่วยงานด้านภาษี หัวหน้าหน่วยงานมาตรฐานแห่งชาติ และอื่นๆ อีกมากมาย

ประเทศรัสเซียได้เป็นประธานของการประชุมสุดยอดสื่อมวลชนบริกส์ การประชุมกลุ่มสตรีของบริกส์ ครั้งที่ 1 การประชุมด้านการทำงานดิจิทัลของบริกส์ การประชุมสุดยอดด้านแฟชั่นในบริกส์พลัส และการประชุมของสภาธุรกิจของบริกส์ประจำปี 

รัสเซียในฐานะประธานของกลุ่มยังได้เน้นการปกครองส่วนท้องถิ่นให้ดียิ่งขึ้น ได้มีการจัดการประชุมในระดับเทศบาล การอภิปรายที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของประชาชน และวิธีการต่างๆ ของคณะกรรมการของเมืองต่าง ๆ จัดการกับปัญหาต่าง ๆ ในชุมชนของตน 

กิจกรรมที่มีความสำคัญมากที่สุดของบริกส์ในปีนี้ คือ การประชุมสุดยอดบริกส์ ณ เมืองคาซาน ประเทศรัสเซียระหว่างวันที่ 22 – 24 ตุลาคม 2567 และการประชุมครั้งนี้ได้ถือเป็นนิมิตหมายใหม่ของการพัฒนากลุ่มบริกส์ ซึ่งในการประชุมได้มีคณะผู้แทนจาก 35 ประเทศในโลกเข้าร่วม รวมถึง 6 องค์การระหว่างประเทศ การที่มีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ได้แสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ร่วมกันของประเทศต่าง ๆ ที่ต้องการดำเนินนโยบายต่างประเทศอย่างมีอิสระและมีอำนาจอธิปไตยอย่างแท้จริง คณะผู้แทนของแต่ละประเทศได้มีความปรารถนาร่วมกันในการเสริมสร้างการทำงานร่วมกันในเวทีระหว่างประเทศ รวมถึงประเด็นด้านระบบการเงินระดับโลก การต่อสู้กับภัยคุกคามใหม่ ๆ เช่น การก่อการร้าย การทุจริตคอร์รัปชัน การค้ายาเสพติดที่ผิดกฎหมาย เป็นต้น

ปฏิญญาคาซานของบริกส์ได้สรุปผลการอภิปรายเอาไว้แล้วและได้รับการตอบรับจากผู้เข้าร่วมทั้งหมดในการสร้างระเบียบโลกใหม่ที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น มีความครอบคลุมเพิ่มมากขึ้นและเป็นระบบที่มีหลายขั้วอำนาจและยึดการทำงานตามกฎหมายระหว่างประเทศและกฎบัตรของสหประชาชาติ ต่อต้านการคว่ำบาตรที่ไม่ชอบธรรม

ในการประชุมสุดยอดบริกส์ครั้งนั้นได้มีการกำหนดแนวทางร่วมกันในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งขององค์กรโดยการเพิ่มการทำงานร่วมกันในลักษณะรัฐคู่ค้า (Partner States) ของกลุ่มบริกส์

เจตนารมณ์ของกลุ่มบริกส์ได้แสดงออกถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนาการเจรจากับประเทศต่าง ๆ ของโลกในรูปแบบของการเข้าถึง/บริกส์พลัส (Outreach/BRICS Plus Format) และเราจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไปของบริกส์ในฐานะของผู้เล่นชั้นนำบนเวทีโลก

กลุ่มบริกส์ยังได้สร้างผลงานความสำเร็จอื่นๆ อีก ได้แก่ การริเริ่มสร้างการแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ธัญพืช การจัดตั้งระบบด้านเทคโนโลยีและการลงทุนใหม่ๆ การจัดตั้งกลุ่มเพื่อการพัฒนาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ทั้งหมดมีแนวโน้มที่ดีในการเสริมสร้างความร่วมมือด้านอุตสาหกรรม การดำเนินงานในโครงการใหม่ ๆ ด้านพลังงาน การขนส่งโลจิสติกส์ เทคโนโลยีขั้นสูง การส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ในด้านวัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ และกีฬา การติดต่อกันระหว่างสังคมและกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่และอีกหลายๆ ด้านที่กำลังส่งเสริมและพัฒนา

ในการประชุมสุดยอดที่เมืองคาซานนั้น เราสามารถยืนยันได้ว่าการประชุมของกลุ่มบริกส์ไม่ใช่การประชุมในรูปแบบปิด แต่ได้เปิดกว้างสำหรับทุกคนที่มีแนวคิดค่านิยมเดียวกันกับกลุ่มบริกส์ โดยสมาชิกนั้นพร้อมที่จะทำงานร่วมกันเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขสิ่งต่าง ๆ โดยไม่ต้องได้รับการออกคำสั่งจากภายนอกที่จะกำหนดในแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่แคบมากจนเกินไป เป็นไปไม่ได้ที่กลุ่มบริกส์จะล้มเหลวจากที่ได้เห็นแนวโน้มความต้องการของโลกที่เพิ่มขึ้นในการสร้างความร่วมมือกันในระดับนี้ 

กลุ่มบริกส์มีบทบาทสำคัญในการสร้างระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รวมทั้งหมดของสมาชิกบริกส์ เรามีประชากรรวมกันประมาณ 3,640 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 45 ของประชากรโลก

ปัจจุบันบริกส์มีอีกหนึ่งภารกิจสำคัญและเป็นภารกิจหลักนั่นคือการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพของโลกเพื่อป้องกันการเกิดขึ้นอีกของสงครามโลก เราเชื่อว่าเป็นไปได้ในการทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ 

ผลการดำเนินงานในปีนี้จะเป็นรากฐานของความมั่นคงสำหรับความร่วมมือที่ดีในอนาคต ต่อไปรัสเซียจะส่งมอบตำแหน่งประธานของบริกส์ให้กับประเทศบราซิลและเราขออวยพรให้ประเทศพันธมิตรบราซิลของเราประสบผลสำเร็จในการดำเนินงานในฐานะประธานกลุ่มบริกส์ในปีหน้านี้

เปลี่ยน!! ‘ความขัดแย้ง’ เป็น ‘มิตรภาพ’ เพื่อความเจริญรุ่งเรือง มั่นคงในภูมิภาค

(29 ธ.ค. 67) สถานทูตสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่านได้ส่งบทความนี้ให้กับ THE STATES TIMES เพื่อแปลและเผยแพร่ และถือเป็นการแสดงเจตจำนงค์ในการสวงหาสันติภาพและมิตรภาพของ ฯพณฯ M. Javad Zarif รองประธานาธิบดีอิหร่าน ซึ่งได้กล่าวถึงวิธีที่ประเทศของเขาจะทำให้ภูมิภาคนี้ปลอดภัยและเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นไว้ดังนี้

ในฐานะนักศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและอยู่แถวหน้าของการทูตระดับโลกมาหลายทศวรรษ ผมเขียนสิ่งนี้ ไม่ใช่ในฐานะตัวแทนของรัฐบาลอิหร่าน แต่ในฐานะส่วนตัวเท่านั้น ประสบการณ์ของผมสอนผมว่าการบรรลุเสถียรภาพในเอเชียตะวันตก โดยเฉพาะภูมิภาคอ่าวเปอร์เซียต้องอาศัยมากกว่าการจัดการวิกฤตเท่านั้น ต้องใช้ความคิดริเริ่มที่กล้าหาญและมีวิสัยทัศน์ ผมจึงเสนอให้จัดตั้งสมาคมเจรจามุสลิมเอเชียตะวันตก (Muslim West Asian Dialogue Association : MWADA) เพื่อเป็นกลไกไปสู่การบรรลุการเปลี่ยนแปลงนี้

MWADA ขอเชิญชวนประเทศมุสลิมหลักในเอเชียตะวันตกทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น บาห์เรน อียิปต์ อิหร่าน อิรัก จอร์แดน คูเวต เลบานอน โอมาน กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย ซีเรีย (รัฐบาลในอนาคตของ) ตุรกี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเยเมน ให้เข้าร่วมการเจรจาอย่างครอบคลุม บรรดาทูตที่เกี่ยวข้องจากสหประชาชาติสามารถเข้าร่วมได้เช่นกัน ความคิดริเริ่มนี้ควรยึดหลักคุณค่าอันสูงส่งของศาสนาอิสลาม ซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติของเรา และหลักการของอำนาจอธิปไตย บูรณภาพแห่งดินแดน การไม่แทรกแซง และความมั่นคงร่วมกัน MWADA ซึ่งมีความหมายว่า “มิตรภาพ” ในภาษาอาหรับ ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้ในคำอธิษฐานร่วมกันของเรา ควรมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างสันติและความร่วมมือที่เท่าเทียมกัน

ลำดับความสำคัญหลักคือการจัดทำข้อตกลงหยุดยิงที่ยั่งยืนและถาวรในทันทีในฉนวนกาซา เลบานอน ซีเรีย และเยเมน ข้อตกลงไม่รุกรานระหว่างประเทศสมาชิก MWADA ร่วมกับการตรวจสอบระดับภูมิภาคร่วมกัน จะช่วยสร้างเสถียรภาพและปกป้องภูมิภาคจากการแทรกแซงจากภายนอก ตลอดจนจากความขัดแย้งภายใน

การบูรณาการทางเศรษฐกิจยังเป็นศูนย์กลางของวิสัยทัศน์นี้ด้วย การขาดการพึ่งพากันภายในเอเชียตะวันตก เกิดจากเครือข่ายการค้าที่แตกแยก การไม่ใส่ใจเพียงพอต่อการพัฒนาระบบธนาคารและกลไกการชำระเงินภายในภูมิภาค การแข่งขันทางการเมือง และการพึ่งพาตลาดภายนอก กองทุนพัฒนา MWADA ที่เสนอขึ้นสามารถจัดหาเงินทุนสำหรับโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ โดยเฉพาะในพื้นที่หลังสงครามที่ถูกทำลายล้าง นอกจากนี้ การปฏิรูปการปกครองในซีเรียซึ่งเป็นพื้นฐานสำหรับ ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ จะส่งเสริมความรับผิดชอบและวางรากฐานสำหรับประเทศที่ปลอดภัยและมั่นคง ซึ่งสตรีและชนกลุ่มน้อยสามารถก้าวหน้าและเติบโตได้

ซีเรียหลังยุคอัสซาดเป็นความท้าทายครั้งสำคัญสำหรับเราทุกคน การรุกรานของอิสราเอลที่ไร้ขอบเขตโดยไม่คำนึงถึง อำนาจอธิปไตยของซีเรีย การแทรกแซงจากต่างประเทศที่ทำลายความสมบูรณ์ของดินแดนซีเรีย ฉากแห่งความรุนแรงและความโหดร้ายที่น่าสะพรึงกลัวซึ่งชวนให้นึกถึงความป่าเถื่อนของกลุ่มรัฐอิสลาม และความรุนแรงทางชาติพันธุ์และนิกาย ซึ่งอาจนำไปสู่สงครามกลางเมืองครั้งใหญ่ ต้องได้รับความสนใจจาก MWADA ที่เสนอขึ้นทันที ภัยพิบัติทางมนุษยธรรมในปาเลสไตน์ยังคงมีความสำคัญต่อเสถียรภาพในภูมิภาค MWADA ต้องให้ความสำคัญกับการกำหนดชะตากรรมของตนเองของชาวปาเลสไตน์และสนับสนุนทางออกที่ยุติธรรมในขณะที่เคารพความปรารถนาของประชาชนอย่างเต็มที่ ซึ่งไม่เพียงแต่เกี่ยวข้องกับทางออกทางการเมืองเท่านั้น แต่ยังรวมถึงโอกาสทางเศรษฐกิจและการยอมรับสิทธิของชาวปาเลสไตน์ด้วย

MWADA จะจัดเตรียมพื้นที่อันอุดมสมบูรณ์สำหรับโครงการโครงสร้างพื้นฐาน ตั้งแต่การขนส่งไปจนถึงท่อส่งพลังงานและเครือข่ายโทรคมนาคม ซึ่งไม่เพียงแต่อำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายสินค้าเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการแลกเปลี่ยนพลังงาน ข้อมูล และบริการด้วย เราในเอเชียตะวันตกควรเข้าใจว่า
ความเป็นอิสระนั้นเชื่อมโยงกับส่วนแบ่งของประเทศในห่วงโซ่มูลค่าเพิ่มระดับโลก

การรับประกันความมั่นคงด้านพลังงานเป็นอีกโอกาสหนึ่งสำหรับการพึ่งพากัน ข้อตกลงด้านพลังงานในภูมิภาคควรมีเป้าหมายเพื่อปกป้องเส้นทางและสำรวจแหล่งพลังงานที่ยั่งยืน ศักยภาพที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ของที่ราบสูงอิหร่านและพื้นที่อื่นๆ ภายในชุมชน MWADA ที่เหมาะสำหรับฟาร์มพลังงานแสงอาทิตย์และลมทำให้การร่วมมือกันเพื่อผลิตพลังงานสะอาดเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจสำหรับภูมิภาคที่กว้างขึ้นและแม้กระทั่งไกลออกไป

MWADA ยังสามารถประกาศความร่วมมือระดับภูมิภาคใหม่เกี่ยวกับเสรีภาพในการเดินเรือ รวมถึงการลาดตระเวนร่วมด้านความปลอดภัยทางทะเล ภูมิภาคนี้เป็นที่ตั้งของจุดคอขวดเชิงยุทธศาสตร์ เช่น ช่องแคบฮอร์มุซ คลองสุเอซ และช่องแคบบับอัลมันดาบ อิหร่านซึ่งมีที่ตั้งและความเชี่ยวชาญด้านความปลอดภัย จึงมีตำแหน่งที่ไม่เหมือนใครในการมีส่วนสนับสนุนความปลอดภัยของทางน้ำ เช่น ช่องแคบฮอร์มุซ คนอื่นๆ สามารถมีบทบาทนำในการรักษาความปลอดภัยของคลองสุเอซและบับอัลมันดาบได้ ความพยายามเพื่อสันติภาพฮอร์มุซหรือ HOPE ซึ่งอิหร่านแนะนำเมื่อเกือบห้าปีที่แล้ว ถือเป็นตัวอย่างที่สำคัญของความคิดริเริ่มระดับภูมิภาคที่มุ่งส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพในชุมชนฮอร์มุซ โดยนำรัฐต่างๆ จำนวนมากมารวมกัน ข้อเสนอนั้นสามารถได้รับชีวิตใหม่ภายใต้ MWADA โดยหลักแล้ว

เนื่องมาจากความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นอย่างมากระหว่างอิหร่าน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และซาอุดีอาระเบียในปัจจุบัน ความร่วมมือระหว่างอิหร่านและซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นสองมหาอำนาจที่มีอิทธิพลมากที่สุดในภูมิภาค จะมีบทบาทสำคัญ การส่งเสริมความสามัคคีและภราดรภาพระหว่างชาวมุสลิมชีอะห์และซุนนี จะทำให้เราสามารถต่อต้านลัทธิหัวรุนแรงและความขัดแย้งทางนิกายที่เคยทำให้ภูมิภาคนี้ไร้เสถียรภาพมาโดยตลอด

การทำงานเพื่อให้ภูมิภาคปลอดจากอาวุธนิวเคลียร์และฟื้นคืนข้อตกลงนิวเคลียร์ของอิหร่าน (JCPOA) เป็นองค์ประกอบสำคัญของวิสัยทัศน์นี้ แนวทางนี้ไม่ควรแก้ไขเฉพาะการแพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์เท่านั้น แต่ยังเสริมสร้างความมุ่งมั่นร่วมกันเพื่อสันติภาพและเสถียรภาพ กรอบ MWADA ควรให้ความสำคัญกับความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม การจัดการน้ำ การต่อต้านการก่อการร้าย และแคมเปญสื่อที่ส่งเสริมการอยู่ร่วมกัน

บทบาทของอิหร่าน เช่นเดียวกับผู้เข้าร่วมชาติอื่น ๆ อิหร่านจะมีบทบาทที่ขาดไม่ได้ ในช่วง 45 ปีที่ผ่านมา ประเทศของผมได้แสดงให้เห็นถึงความยืดหยุ่นและความสามารถในการพึ่งพาตนเองอย่างน่าทึ่งในด้านความปลอดภัยและการป้องกันประเทศ สามารถอยู่รอดและเติบโตได้ ไม่เพียงแต่โดยไม่ได้รับความช่วยเหลือจากต่างประเทศเท่านั้น แต่ยังได้รับแรงกดดันจากมหาอำนาจนอกภูมิภาคอีกด้วย การรับรู้ที่เชื่อกันอย่างกว้างขวางว่าอิหร่านจะสูญเสียอาวุธในภูมิภาคนี้มาจากการสันนิษฐานที่ผิด ว่าอิหร่านมีความสัมพันธ์แบบตัวแทน-อุปถัมภ์กับกองกำลังต่อต้าน การต่อต้านมีรากฐานมาจากการที่อิสราเอลยึดครองดินแดนอาหรับ การทำลายล้างสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาอิสลาม การแบ่งแยกสีผิว การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และการรุกรานเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่อง มีอยู่ก่อนการปฏิวัติอิหร่านในปี 1979 และจะดำเนินต่อไปตราบเท่าที่สาเหตุหลักยังคงอยู่ การพยายามโยนความผิดให้อิหร่านอาจทำให้แคมเปญประชาสัมพันธ์ถูกตัดขาด แต่จะขัดขวางการแก้ไขปัญหา

เช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ อิหร่านต้องเผชิญกับความท้าทายและความผิดพลาดมากมาย ประชาชนอิหร่านซึ่งต้องเสียสละอย่างมากมาย พร้อมที่จะก้าวเดินอย่างกล้าหาญด้วยความอดทนและความมั่นใจ การเปลี่ยนแปลงจากมุมมองที่เน้นภัยคุกคามไปสู่มุมมองที่เน้นโอกาสนี้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ที่ประธานาธิบดี Pezeshkian (และผมเอง) วางไว้ระหว่างแคมเปญหาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในอิหร่านเมื่อฤดูร้อนที่แล้ว

MWADA ท้าทายให้เราจินตนาการถึงภูมิภาคใหม่ที่ไม่ใช่เป็นสนามรบ แต่เป็นศูนย์กลางของ มิตรภาพ และความเห็นอกเห็นใจ ซึ่งมีลักษณะเฉพาะคือการแสวงหาโอกาสร่วมกันและความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน สิ่งสำคัญคือต้องมีส่วนร่วมในการสนทนาที่มีความหมายและตรงไปตรงมา ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถสร้างอนาคตที่กำหนดโดยความร่วมมือ การพัฒนาร่วมกันและยั่งยืน ความยุติธรรมทางสังคมและสวัสดิการ และความหวังใหม่

การเปลี่ยนแปลงเอเชียตะวันตกให้กลายเป็นประภาคารแห่งสันติภาพและความร่วมมือ ไม่ใช่เพียงแค่ความปรารถนาในอุดมคติเท่านั้น แต่ยังเป็นทั้งความจำเป็นเชิงกลยุทธ์และเป้าหมายที่บรรลุได้ซึ่งต้องการเพียงความมุ่งมั่น การสนทนา และวิสัยทัศน์ร่วมกัน MWADA สามารถเป็นแพลตฟอร์มแห่งการเปลี่ยนแปลงได้ เราควรคว้าโอกาสนี้ไว้เพื่อสร้างเอเชียตะวันตกที่มั่นคง มั่งคั่ง และสงบสุข ซึ่ง ความเห็นอกเห็นใจ ความเข้าใจ และความร่วมมือจะเข้ามาแทนที่ความขัดแย้งและความแตกแยก พวกเราในรัฐบาลของแต่ละรัฐจะต้องคว้าโอกาสนี้ไว้เพื่อเริ่มมองไปยังอนาคตแทนที่จะปล่อยให้ตัวเองจมอยู่กับอดีต และถึงเวลาแล้วที่จะต้องลงมือทำกันอย่างจริงจังเสียที

จะเกิดอะไรขึ้นกับสหรัฐฯ หากประธานาธิบดี Trump ขึ้นอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน 200 - 300% จริง ???

(29 ธ.ค. 67) นโยบายของ Donald Trump ที่จะเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 47 ทำให้ คุณ Joe Willmore ชาวอเมริกันวัย 64 ปี ได้เปิดประเด็นตั้งคำถามนี้ใน Ouora (เว็บไซต์ถาม/ตอบสัญชาติอเมริกัน ซึ่งผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วไปสามารถมีส่วนร่วมได้ด้วยการตั้งคำถาม ตอบคำถาม ทั้งในแง่ของความเป็นจริงและความคิดเห็น) ว่า “เป็นไปได้หรือไม่ ถ้าหากสหรัฐฯ กำหนดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน 200-300% จะทำให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนต้องล่มสลายภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์”

ซึ่งเขาได้ตอบคำถามเองว่า ไม่ดอก แต่...นี่คือสิ่งที่จะเกิดขึ้น :
- อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอย่างมาก ภาษีนำเข้าคือภาษีนำเข้าสินค้าที่ผู้ซื้อ (พลเมืองสหรัฐฯ) เป็นผู้จ่าย
- รัฐบาลสหรัฐฯ จะต้องชดใช้เงินจำนวนมากให้กับเกษตรกร เพราะจีนนำเข้า เนื้อหมู ถั่วเหลือง และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรอื่น ๆ จากสหรัฐฯ ซึ่งพวกเขาจะตอบโต้ทันที นั่และนคือสิ่งที่พวกเขาทำเมื่อประธานาธิบดี Trump (ในสมัยแรก) เคยขึ้นอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจีนบางรายการ รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องอุดหนุนเงิน 20,000-30,000 ล้านดอลลาร์ต่อปีให้กับเกษตรกรเพื่อชดเชยยอดขายที่สูญเสียไป
- เราไม่สามารถกำหนดอัตราภาษีนำเข้ากับ "เศรษฐกิจการส่งออกทั้งหมด" ของจีนได้ เพราะพวกเขามีรายได้หลายแสนล้านดอลลาร์จากการส่งออกไปยังยุโรปและแอฟริกา (ถ้ารวมเอเชียด้วยน่าจะหลายล้านล้านดอลลาร์)
- พวกเขาสามารถหลีกเลี่ยงได้อย่างง่ายดาย (เช่นเดียวกับที่ทำในสมัยแรกของประธานาธิบดี Trump) อาทิ ผลิตทีวีแล้วส่งไปยังเวียดนาม ซึ่งจะมีการประทับตราว่า "ผลิตในเวียดนาม" แล้วบรรจุในกล่องของบริษัทเวียดนาม
- จะเป็นการทำลายอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของสหรัฐฯ (หรืออย่างน้อยก็โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ และโน้ตบุ๊ค) ส่วนใหญ่แล้วผลิตในจีน เราอาจจะหลงเชื่อได้ง่ายจนพอที่จะคิดว่า นั่นหมายถึงชาวอเมริกันจะสามารถเริ่มต้นอุตสาหกรรมใหม่ในการผลิตโทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์ แต่ไม่ใช่ดอก...นั่นไม่ใช่วิธีการทำงานที่ถูกต้อง

ในที่สุด ความคิดของเราก็ไม่สมจริง สมมติว่า ผมไม่ชอบเรื่องที่โพสต์บน Quora ผมจึงตัดสินใจว่า จะตอบโต้ แล้วจะมีการหยุด/เลิกหยุดโพสต์คำถามที่ผมไม่ชอบไหม ไม่ดอก ผมพนันได้เลยว่า จะมีการตอบโต้ผมกลับในทันที แล้วจะมีโพสต์มากกว่าเดิมถึง 3 เท่า ดังนั้น เราคงเห็นแล้วว่า ความคิดของประธานาธิบดี Trump ที่ว่า "ลองรังแกพวกเขาดู" จึงเป็นเรื่องที่ไม่ฉลาดเอาเสียเลย

‘Jeju Air’ ออกแถลงการณ์!! แสดงความเสียใจ เหตุเครื่องบินไถลรันเวย์ พร้อมรับผิดชอบต่อเหตุการณ์

(29 ธ.ค. 67)  คิมอีแบ ประธานผู้บริหาร Jeju Air ออกแถลงการณ์ ออกแถลงการณ์ กรณีเครื่องบินไถลรันเวย์ เกิดเพลิงไหม้ และเกิดระเบิดจนทำให้มีผู้บาดเจ็บ และเสียชีวิตจำนวนมาก โดยแถลงการณ์ มีเนื้อหา ดังนี้

สายการบิน Jeju Air ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และขออภัยเป็นอย่างสูงต่อผู้โดยสารทุกท่านที่ให้ความไว้วางใจในสายการบินเจจูแอร์มาโดยตลอด

เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2567 เวลา 09 น.03 น.เที่ยวบินที่ 7C2216 เส้นทางกรุงเทพฯ-มูอัน ได้เกิดเหตุเพลิงไหม้ขณะลงจอดที่สนามบินนานาชาติมูอัน

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่น่าเศร้าอย่างยิ่ง และเราขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อผู้เสียชีวิตทุกท่าน รวมถึงญาติพี่น้องผู้สูญเสีย ขณะนี้เรากำลังรอผลการสอบสวนอย่างเป็นทางการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ไม่ว่าสาเหตุจะมาจากอะไร ในฐานะประธานบริษัท ขอรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ และขอสัญญาว่า Jeju Air จะดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยและครอบครัวของผู้เสียชีวิตอย่างเต็มที่ รวมถึงจะร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐในการสืบสวนหาสาเหตุของอุบัติเหตุครั้งนี้ให้กระจ่างชัด ขอแสดงความเสียใจอีกครั้งต่อผู้เสียชีวิต และขอส่งกำลังใจให้กับครอบครัวของผู้สูญเสียทุกท่าน

'เจจูแอร์' 737-800 ตก ผู้เชี่ยวชาญชี้เครื่องรุ่นเก่าแต่ยังปลอดภัยสูง

(30 ธ.ค. 67) เครื่องบินของสายการบินเจจูแอร์ที่ประสบอุบัติเหตุในสนามบินทางตอนใต้ของเกาหลีใต้เป็นรุ่น โบอิ้ง 737-800 ซึ่งเป็นรุ่นที่นิยมใช้กันทั่วโลก โดยข้อมูลจาก Cirium ผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลการบินชี้ว่า มีเครื่องบินรุ่นดังกล่าวราว 28,000 ลำให้บริการอยู่ทั่วโลก ในจำนวนนี้ประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ หรือ 4,400 ลำ เป็นเครื่องบินรุ่นโบอิ้ง 737-800s ซึ่งเป็นเครื่องบินในตระกูล Next-Generation 737 ของบริษัทโบอิ้ง ซึ่งเป็นคนละรุ่นกับ 737 Max ที่เคยประสบอุบัติเหตุตกช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จนต้องสั่งระงับการใช้งานทั่วโลก

รายงานระบุว่า มีสายการบินเกือบ 200 แห่งที่ใช้เครื่องบินรุ่น 737-800 นี้ รวมถึงสายการบิน 5 แห่งในเกาหลีใต้ ได้แก่ เจจูแอร์, ทีเวย์แอร์, จินแอร์, อีสตาร์เจ็ต และโคเรียนแอร์ โดยเครื่องบินรุ่นนี้ยังได้รับความนิยมในภูมิภาคเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ และนับตั้งแต่ปี 1998 โบอิ้งได้ส่งมอบเครื่องบินรุ่นนี้ให้กับลูกค้าประมาณ 5,000 ลำ

Najmedin Meshkati ศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมจากมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย ซึ่งศึกษาประวัติด้านความปลอดภัยของเครื่องบินโบอิ้ง 737 ให้สัมภาษณ์ว่า เครื่องบินรุ่น 737-800 นี้มีความปลอดภัยและมีสถิติด้านความปลอดภัยที่ดีมาก

อายุการใช้งานของเครื่องบิน 737-800 ทั่วโลกอยู่ระหว่าง 5 ปี ถึงกว่า 27 ปี โดยเครื่องบินโดยสารที่ได้รับการดูแลรักษาอย่างดีสามารถใช้งานได้ 20 ถึง 30 ปี หรือมากกว่านั้น ส่วนข้อมูลเว็บไซต์ติดตามการบิน Flightradar24 รายงานว่า เครื่องบินที่เกิดอุบัติเหตุครั้งนี้มีอายุการใช้งาน 15 ปี โดยก่อนหน้านี้สายการบิน Ryanair นำเครื่องบินลำที่เกิดเหตุมาใช้ก่อน และบริษัท SMBC Aviation Capital ได้นำไปปล่อยเช่าให้กับเจจูแอร์ในปี 2017

เจ้าหน้าที่กล่าวว่า กำลังสืบสวนหาสาเหตุของเหตุการณ์ครั้งนี้ รวมถึงความเป็นไปได้ที่นกชนเครื่องบิน อาจเป็นสาเหตุทำให้ระบบลงจอดเกิดความผิดปกติของล้อ ด้านบริษัทโบอิ้งระบุในแถลงการณ์ว่า ทางบริษัทได้ติดต่อกับเจจูแอร์และพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือ

อย่างไรก็ตาม นกชนเครื่องบินเป็นสิ่งที่พบเห็นได้บ้างในอุตสาหกรรมการบิน ในบางกรณีอาจทำให้กระจกหน้าต่างแตกร้าว สนามบินบางแห่งจึงใช้วิธีส่งนกล่าเหยื่อ เช่น เหยี่ยว หรือใช้มาตรการอื่นๆ เพื่อป้องกันการชนของนก อย่างที่สนามบินนานาชาติมูอัน ซึ่งเป็นสถานที่เกิดเหตุ ใช้วิธีเปิดเสียงที่รบกวนนกและยิงปืนเพื่อขับไล่นก

ศาสตราจารย์ Meshkati เปิดเผยว่า  ระบบลงจอดของเครื่องบินรุ่น 737-800 ได้รับการออกแบบมาอย่างดีและมีประวัติด้านความน่าเชื่อถือ แต่ก็อาจเกิดปัญหาหากการบำรุงรักษาไม่ดีพอ ดังนั้นการบำรุงรักษาจึงเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของอุบัติเหตุทางการบิน อย่างไรก็ตาม ไม่ควรเร่งสรุปเหตุการณ์ดังกล่าว อุบัติเหตุมักเกิดจากหลายปัจจัย ซึ่งอาจใช้เวลาหลายปีในการค้นหาผ่านการสืบสวนเชิงลึก

WHO ประกาศภาวะฉุกเฉิน 'อหิวาตกโรค' หลังพบผู้ป่วยพุ่งสูงสุดในรอบ 10 ปี"

(30 ธ.ค. 67) องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้ "อหิวาตกโรค" เป็น "ภาวะฉุกเฉินครั้งใหญ่" หลังจากพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลก และอัตราการเสียชีวิตจากโรคนี้พุ่งสูงสุดในรอบกว่า 10 ปี

นางมาร์กาเร็ต แฮร์ริส โฆษกองค์การอนามัยโลก กล่าวว่า การระบาดในครั้งนี้ถือเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องดำเนินการโดยด่วน ทั้งการรณรงค์ฉีดวัคซีนและการปรับปรุงระบบน้ำและสุขอนามัย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการควบคุมการระบาด

แม้ว่าจะมีความคืบหน้าในการควบคุมโรคอหิวาตกโรคในหลายทศวรรษที่ผ่านมา แต่จำนวนผู้ป่วยกลับเพิ่มขึ้นอีกครั้งในปี 2022 โดยมี 44 ประเทศรายงานพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 25% จาก 35 ประเทศในปี 2021 และแนวโน้มการระบาดยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนถึงปี 2023 ขณะที่อัตราการเสียชีวิตจากโรคนี้สูงขึ้นอย่างมาก

โดยซูดานใต้กำลังเผชิญกับการระบาดที่รุนแรงที่สุดในศูนย์พักพิงผู้ลี้ภัยบริเวณเมืองเร็งค์ ซึ่งเป็นจุดรับผู้อพยพจากความขัดแย้งในซูดาน ผู้ป่วยส่วนใหญ่ในซูดานอาศัยอยู่ในค่ายผู้พลัดถิ่นที่มีสุขาภิบาลไม่เพียงพอ ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อ WHO และรัฐบาลซูดานใต้เร่งแจกจ่ายวัคซีนในพื้นที่กรุงจูบาและบริเวณใกล้เคียง แต่แฮร์ริสระบุว่า การฉีดวัคซีนเพียงอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ

แฮร์ริสเน้นย้ำว่า การแก้ปัญหาอหิวาตกโรคอย่างยั่งยืนต้องมุ่งไปที่การจัดหาน้ำสะอาดและแยกน้ำดื่มออกจากพื้นที่สุขา “วัคซีนเป็นเพียงเครื่องมือช่วยบรรเทาโรค แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือการทำให้น้ำสะอาดเข้าถึงได้และแยกน้ำสะอาดจากพื้นที่ที่ใช้เป็นห้องน้ำ” เธอกล่าว พร้อมเรียกร้องให้มีการดำเนินการที่รวดเร็วเพื่อหยุดการแพร่เชื้อจากคนสู่คน

นางแฮร์ริสให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซีทีจีเอ็นของจีนว่า การกลับมาระบาดอีกครั้งของอหิวาตกโรคเกิดจากทรัพยากรที่มีจำกัด โดยเฉพาะในเรื่องของระบบน้ำและสุขาภิบาลที่ไม่เพียงพอในหลายประเทศ ซึ่งทำให้โรคนี้กลายเป็นภาวะฉุกเฉินระดับโลก ในเดือนมกราคม 2566 องค์การอนามัยโลกได้จัดประเภทการระบาดของโรคนี้เป็นภาวะฉุกเฉินระดับ 3 ซึ่งเป็นระดับสูงสุด

นางแฮร์ริสกล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ว่าการฉีดวัคซีนจะช่วยควบคุมการแพร่ระบาดได้ แต่ยังไม่เพียงพอ และต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วเพื่อให้มั่นใจว่า ระบบน้ำและสุขอนามัยในแต่ละประเทศจะปลอดภัยและสามารถหยุดการแพร่ระบาดได้

อหิวาตกโรคเป็นโรคติดเชื้อในลำไส้เฉียบพลันที่เกิดจากแบคทีเรีย "ไวบริโอ โคเลอแร" (Vibrio cholerae) ซึ่งแพร่กระจายผ่านอาหารและน้ำที่ปนเปื้อนอุจจาระ แม้ว่าโรคนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการบริโภคอาหารที่ปลอดภัยและการรักษาสุขอนามัยที่เหมาะสม แต่หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจถึงแก่ชีวิตได้ภายในไม่กี่ชั่วโมง

สำหรับสถานการณ์ป่วยโรคอหิวาต์ บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา ล่าสุดในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก พบว่าฝั่งเมียนมาเสียชีวิตแล้ว 3 ราย โดยผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลชุมชนในเมียวดีและโรงพยาบาลบ้านโก๊กโก๋ จำนวนผู้ป่วยสะสมในพื้นที่ดังกล่าวมีประมาณ 450 คน ส่วนที่หมู่บ้านส่วยโก๊กโก่ หรือเขตอิทธิพลจีนเทาในจังหวัดเมียวดี ซึ่งตรงข้ามกับตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด และบ้านวังผา อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก ได้รับการประสานจากสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตาก พบผู้ป่วยอหิวาตกโรคจำนวน 3 ราย ใน 3 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนถุงทอง 1 ราย ชุมชนร่วมแรง 1 ราย และชุมชนมณีไพสณ์ 1 ราย ซึ่งทั้งหมดอยู่ในเขตเทศบาลนครแม่สอด


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top