Wednesday, 14 May 2025
World

‘Alphabet’ เจรจาซื้อกิจการ ‘Wiz’ สตาร์ตอัปด้านความปลอดภัยไซเบอร์ หลังทุ่ม 8.3 แสนล้านบาท นับเป็นดีลใหญ่ที่สุดตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมา

(15 ก.ค.67) เพจเฟซบุ๊ก ‘Business Tomorrow’ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า…

Alphabet บริษัทแม่ของ Google กำลังเจรจาซื้อกิจการ Wiz บริษัทสตาร์ตอัปด้านความปลอดภัยไซเบอร์ ด้วยมูลค่าสูงสุดถึง 8.3 แสนล้านบาท ซึ่งจะเป็นดีลซื้อที่ใหญ่ที่สุดของ Alphabet นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท

The Wall Street Journal อ้างแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องเปิดเผยว่า Alphabet บริษัทแม่ของ Google ใกล้ปิดดีลเจรจาซื้อกิจการ Wiz สตาร์ตอัปด้านความปลอดภัยไซเบอร์กว่า 8.3 แสนล้านบาท โดยแผนซื้อกิจการน่าจะประกาศเป็นทางการเร็ว ๆ นี้ หากดีลไม่เกิดปัญหาขึ้นมาก่อน
ดีลนี้สำคัญเพราะรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้ Joe Biden ประธานาธิบดีกำลังตรวจสอบบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่เพื่อป้องกันไม่ให้พวกเขาชิงส่วนแบ่งที่เกินไปจากการเข้าซื้อกิจการ อย่างไรก็ตาม Alphabet ยังคงเดินหน้าตามแผนไปอย่างไม่ลดละ

Wiz เริ่มต้นในอิสราเอลและปัจจุบันตั้งอยู่ที่นิวยอร์ก เป็นบริษัทที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ให้บริการความปลอดภัยบน Cloud โดยใช้ปัญญาประดิษฐ์เพื่อตรวจจับและตอบสนองต่อภัยคุกคามแบบเรียลไทม์ ในปี 2023 ทั้งนี้บริษัทมีผู้ลงทุนรายสำคัญได้แก่ Sequoia Capital, Andreessen Horowitz และ Index Ventures Wiz อีกทั้งยังร่วมมือกับผู้ให้บริการ Cloud รายใหญ่ เช่น Microsoft และ Amazon อีกด้วย

โดยปีล่าสุดสามารถทำรายได้ประมาณ 12,666 ล้านดอลลาร์ ปัจจุบัน Wiz มีพนักงาน 900 คนในสหรัฐฯ ยุโรป เอเชีย และอิสราเอล และมีแผนที่จะจ้างพนักงานเพิ่มอีก 400 คนในปี 2024
อย่างไรก็ตามหากดีลนี้เกิดขึ้นจริง จะเป็นดีลซื้อกิจการมูลค่ามากที่สุดที่ Google เคยซื้อ โดยดีลใหญ่สุดก่อนหน้านี้ต้องย้อนไปตั้งแต่การซื้อ Motorola Mobility เมื่อ 12 ปีที่แล้ว ด้วยมูลค่า 4.5 แสนล้านบาท

แฉประวัติ!! มือปืนวัย 20 ปี ลอบยิง ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ เฉียดตาย เป็นเด็กเรียนดี เคยสมัครเข้าทีมไรเฟิล แต่ไม่ผ่าน เพราะยิงไม่แม่น

(15 ก.ค.67) สำนักข่าวเอพีและบีบีซีรายงานว่า มีการเปิดเผยประวัติเพิ่มเติมเกี่ยวกับนายโทมัส แมทธิว ครุกส์ วัย 20 ปี มือปืนผู้ก่อเหตุลอบสังหารนายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ จนได้รับบาดเจ็บเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา และครุกส์ถูกตำรวจวิสามัญ พบว่ามือก่อเหตุเป็นเด็กเรียนเก่งแต่ถูกบูลลี่ในขณะที่เรียนมัธยมศึกษา

นายโทมัส แมทธิว ครุกส์ เป็นชาวเมืองเบเธล พาร์ค รัฐเพนซิลเวเนีย ห่างจากจุดเกิดเหตุลอบสังหารเพียง 70 กิโลเมตร และจบการศึกษาจากโรงเรียนมัธยมศึกษาเบเธล พาร์ค ในปี 2022 และเคยได้รับรางวัลในวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์เป็นเงินรางวัล 500 ดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงเคยทำงานในห้องครัวของบ้านพักคนชราที่อยู่ไม่ไกลจากบ้านของเขา

ด้าน นายเฟรเดริก มัค กัปตันของทีมไรเฟิลของโรงเรียนที่อายุน้อยกว่าครุกส์ไม่กี่ปีเล่าว่า ครุกส์เคยไปสมัครคัดตัวเข้าทีมไรเฟิล แต่ไม่ผ่านการคัดเลือกเพราะยิงไม่แม่น อย่างไรก็ตาม ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าจริง ๆ แล้วครุกส์มีนิสัยเป็นอย่างไร

ด้าน นายเจสัน โคห์เลอร์ ที่ศึกษาในโรงเรียนมัธยมเดียวกับของครุกส์แต่ไม่ได้เรียนด้วยกันเล่าว่า ครุกส์ถูกบูลลี่ในโรงเรียนและนั่งกินข้าวเที่ยงคนเดียว ส่วนเพื่อนร่วมโรงเรียนเดียวกันคนอื่น ๆ ก็เล่าเช่นกันว่า ครุกส์เป็นคนสันโดษและบางครั้งก็สวมชุดล่าสัตว์มาเรียน แต่ทาง ซัมเมอร์ บาร์คลีย์ อดีตเพื่อนร่วมชั้นเรียนเล่าว่า ครุกส์เป็นเด็กเรียนเก่งได้คะแนนดีในการสอบเป็นประจำ มีความสนใจเรื่องประวัติศาสตร์มาก และเป็นคนดี รวมถึงเป็นที่รักของครูในโรงเรียน

ด้าน เจมสัน เมเยอร์ อดีตสมาชิกทีมไรเฟิลของโรงเรียนเล่าว่า ครุกส์ดูเป็นเด็กผู้ชายธรรมดาทั่วไปที่ไม่ได้เป็นที่รู้จักในโรงเรียนแต่ไม่เคยโดนเพื่อนแกล้งอะไร ครุกส์เป็นเด็กดีที่ไม่เคยพูดให้ร้ายใครและเขาไม่คิดว่าครุกส์จะเป็นคนก่อเหตุลอบสังหารได้

สำนักงานสอบสวนกลางของสหรัฐอเมริกา (เอฟบีไอ) ระบุว่า ครุกส์มีอุปกรณ์ผลิตวัตถุระเบิดอยู่ในรถยนต์ที่เขาขับไปก่อเหตุ และเชื่อว่าครุกส์ลงมือก่อเหตุดังกล่าวเพียงคนเดียว

นอกจากนี้ สื่อสหรัฐรายงานอีกว่า ครุกส์ลงทะเบียนว่าเป็นรีพับลิกัน แต่ในปี 2021 ครุกส์เคยบริจาคเงิน 15 ดอลลาร์สหรัฐให้แก่ ActBlue หน่วยงานดำเนินการทางการเมือง ที่คอยระดมเงินให้แก่นักการเมืองฝ่ายซ้ายและพรรคเดโมแครต ซึ่งเงินบริจาคดังกล่าวจะถูกส่งไปให้แก่กลุ่ม Progressive Turnout Project ที่คอยหาเสียงให้แก่พรรคเดโมแครต รวมถึงเป็นสมาชิกของ Clairton Sportsmen’s Club ชมรมยิงปืนแถวบ้านมาเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี

เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายเชื่อว่าปืนไรเฟิลกึ่งอัตโนมัติ AR-15 ที่ใช้ก่อเหตุลอบสังหารโดนัลด์ ทรัมป์เป็นปืนของพ่อครุกส์ที่ซื้อมาอย่างน้อย 6 เดือนก่อน ครุกส์ใส่เสื้อยืดของ Demolition Ranch ในการก่อเหตุลอบสังหาร โดยช่องยูทูบดังกล่าวผลิตเนื้อหาเกี่ยวกับอาวุธปืน และมีผู้ติดตาม 11.6 ล้านคน

‘ครูเกาหลีใต้’ รับศึกหนัก ‘เด็กก้าวร้าว-ผู้ปกครองกดดันรุนแรง’ ส่งผล ‘ยอมลาออก-ฆ่าตัวตายพุ่ง-คนรุ่นใหม่เมินอาชีพครู’

อาชีพครูในบ้านเรามักถูกเปรียบเทียบดั่ง ‘เรือจ้าง’ ที่ช่วยประสิทธิ์ประสาทวิชาพาลูกศิษย์ไปจนถึงฝั่ง แม้คำเปรียบเทียบจะฟังดูต้อยต่ำไปนิด แต่ก็คือว่า ‘ครู’ เป็นหนึ่งในอาชีพที่ได้รับความเคารพจากผู้คนในสังคมไทยแม้ในปัจจุบัน

แต่ใน ‘เกาหลีใต้’ ค่านิยมที่สังคมมองอาชีพครู กลับเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา จนตอนนี้อาจอยู่ในสถานะที่เรียกได้ว่า ‘ต้อยต่ำยิ่งกว่าเรือจ้าง’ เสียอีก 

และล่าสุดเมื่อราวเดือนมิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา ก็ปรากฏคลิปที่กลายเป็นกระแสไวรัลในโลกโซเชียลของเกาหลีใต้ เผยแพร่โดยกลุ่มสหภาพครูชอนบุก เมื่อมีเด็กนักเรียนชายชั้นประถม 3 คนหนึ่ง แสดงพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง ตะโกนด่าครูชายท่านหนึ่งด้วยคำพูดที่ดูถูกและหยาบคาย ที่ภายหลังทราบว่าครูในคลิปเป็นถึงระดับรองผู้อำนวยการของโรงเรียน

และช็อกยิ่งกว่านั้น คือเด็กชายถึงขั้น ‘ตบหน้าครู’ และใช้กระเป๋าเป้ฟาดใส่ครูหลายครั้ง โดยที่ครูได้แต่ยืนนิ่งเฉย เอาแขนไขว้หลัง และไม่ตอบโต้ใด ๆ เหตุเกิดเพียงเพราะว่าครูชายพยายามห้ามนักเรียนไม่ให้ออกจากโรงเรียนก่อนเวลาโดยไม่ได้รับอนุญาต แต่สุดท้ายก็ห้ามไม่ได้ เด็กก็เดินผ่านครูออกจากโรงเรียนไปอยู่ดี

หลังเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น ก็เกิดกระแสวิพากษ์ วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ซึ่งส่วนใหญ่แสดงความเห็นในเชิงตำหนิครู ว่าทำไมไม่จับตัวเด็กไว้? ทำไมดูแลเด็กให้อยู่ในโรงเรียนไม่ได้? และทำไมถึงจัดการพฤติกรรมก้าวร้าวของนักเรียนไม่ได้?

ด้าน คิม ดง-ซุก ผู้อำนวยการฝ่ายสิทธิครูของสมาพันธ์ครูแห่งเกาหลี แสดงความเห็นว่า การตอบสนองต่อพฤติกรรมก้าวร้าวของเด็กเกาหลีใต้ในลักษณะนี้ ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ ส่วนผู้ที่ออกมาวิจารณ์ตำหนิครูในคลิป แสดงว่าพวกเขาไม่ได้เข้าใจเลยว่าทุกวันนี้ครูเกาหลีใต้ต้องเจอกับอะไรบ้าง 

นายคิมกล่าวว่า "การที่ครูต้องเอามือไขว้หลัง แล้วปล่อยให้ลูกศิษย์ตบหน้า โดยไม่ตอบโต้ หรือดุด่า ทำโทษเด็ก เพราะถ้าเมื่อใดก็ตามที่เด็กมีรอยแผลบนร่างกาย ครูจะถูกร้องเรียนในความผิดฐานทำร้ายร่างกายเด็ก และหลายกรณีดังกล่าวมักต้องไปจบที่ศาล ซึ่งไม่มีครูคนไหนอยากเสี่ยงถูกดำเนินคดี เพราะบรรทัดฐานสังคม และกฎหมาย มักปกป้องเด็กก่อนเสมอ" 

ด้วยสถานการณ์ดังกล่าวทำให้ครูเกาหลีใต้จำต้องอดทนต่อพฤติกรรมก้าวร้าวของเด็ก ๆ ที่นับวันยิ่งรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ

คิม ดง-ซุก ยังกล่าวอีกว่า "นักเรียนสมัยนี้จำนวนไม่น้อยแสดงพฤติกรรมไร้ความเคารพยำเกรงครู พวกเขาจะปิดประตูเสียงดังใส่ หรือแสดงท่าทางลามกใส่ครูเมื่อพวกเขาไม่พอใจ ถ้าครูทุกคนต้องรายงานความประพฤติของนักเรียนในเรื่องเหล่านี้ คงส่งเรื่องกันไม่หวาด ไม่ไหว ที่ส่วนมากมักไม่มีใครสนใจ ครูเกาหลีจึงทำได้แต่เพียงอดกลั้น และแสร้งทำเป็นมองไม่เห็นต่อพฤติกรรมเลวร้ายเหล่านั้น”

ดังนั้น เหตุการณ์ทำร้ายร่างกายครู ทั้งทางร่างกาย และจิตใจ จึงเกิดขึ้นบ่อยราวเป็นเรื่องปกติในสังคมโรงเรียนเกาหลีใต้ อีกทั้งยังถูกกดดันจากผู้ปกครอง ที่คาดหวังการใส่ใจของครูต่อบุตรหลานของพวกเขาในระดับสูง

และหากย้อนไปเมื่อช่วงเดือนกรกฎาคม 2566 เคยมีข่าวใหญ่ในแวดวงการศึกษา เมื่อครูสาววัยเพียง 26 ปี ของโรงเรียนประถม Seoi Elementary School ในย่านกังนัม ของกรุงโซลฆ่าตัวตาย โดยทิ้งสมุดบันทึก และข้อความไว้มากมายเป็นหลักฐานว่าเธอถูกผู้ปกครองนักเรียนทำร้ายจิตใจอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานหลายเดือน เกินกว่าใจจะรับไหว 

จากข้อมูลของรัฐบาลเกาหลีใต้ พบว่าในช่วงปี 2561 - 2566 มีครูโรงเรียนรัฐกว่า 100 คนฆ่าตัวตาย ส่วนใหญ่เป็นครูในระดับประถมศึกษา ซึ่งการฆ่าตัวตายของครูสาววัย 26 ปีคนล่าสุด ก่อให้เกิดการประท้วงจากนักการศึกษาทั่วประเทศต่อเนื่องยาวนานถึง 9 สัปดาห์เพื่อเรียกร้องให้มีมาตรการปกป้องสิทธิของครูในโรงเรียนบ้าง

จนนำไปสู่การแก้กฎหมายที่ครูจะได้รับการคุ้มครองสิทธิ์กรณีถูกร้องเรียนเรื่องการทำร้ายร่างกายเด็กจนกว่าจะมีการสอบหลักฐาน และเข้ากระบวนการสืบสวนอย่างรอบคอบ และให้สิทธิ์ครูนำนักเรียนที่มีพฤติกรรมก่อกวนออกจากชั้นเรียนได้ นอกจากนี้ยังระบุให้มีการบันทึกการสนทนาเมื่อมีการประชุมระหว่างครู และผู้ปกครอง

กรณีที่เกิดการร้องเรียน และเป็นคดีความ ผู้อำนวยการโรงเรียนจะต้องเป็นผู้ดูแล ที่จะมีงบสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้ โดยผู้ปกครองจะไม่ได้รับข้อมูลส่วนบุคคลของครู อาทิ ที่อยู่ หรือเบอร์โทรศัพท์ส่วนตัวอีกต่อไป 

แม้ว่าคำร้องเรียนของผู้ปกครองต่อครูในโรงเรียนจะลดลง หลังรัฐบาลออกกฎหมายใหม่ได้บ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงค่านิยมของครอบครัวเกาหลีที่มีต่อครูในโรงเรียนได้ 

จุง แจ-ฮุน ศาสตราจารย์ด้านสวัสดิการสังคมจากมหาวิทยาลัยสตรีโซล กล่าวว่า สังคมเกาหลีใต้มีทัศนคติที่มีครอบครัวเป็นศูนย์กลางอย่างเข้มข้นมาก ซึ่งจะให้ความสำคัญกับครอบครัวของตนเป็นหลักเท่านั้น อีกทั้งอัตราเด็กเกิดใหม่ในเกาหลีใต้ลดลงอย่างมาก ทำให้พ่อแม่ชาวเกาหลีใต้ยอมลงทุนมหาศาลกับลูก ๆ และจะไม่ยอมทนหากลูกของตนถูกกระทำ จนนำไปสู่การปกป้องลูกมากเกินไป โดยไม่สนใจว่าจะละเมิดสิทธิ์ครูหรือไม่

ทุกวันนี้ จะพบเห็นพ่อแม่ชาวเกาหลีใต้ทะนุถนอมลูกมาก และพร้อมจะบุกถึงโรงเรียน แม้มีปัญหาเพียงเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ความเกรี้ยวกราดของพ่อแม่ จึงปลูกฝังความก้าวร้าวให้แก่ลูก ๆ ที่มองครูเป็นเพียงลูกจ้างของพ่อแม่ที่มีหน้าที่ให้บริการด้านการศึกษา ไม่ใช่ผู้ให้การอบรมสั่งสอนวิชาความรู้ดั่งค่านิยมในสมัยอดีต

เมื่อความเคารพสูญหายไป การต่อต้านจึงรุนแรงขึ้น และครูกลายเป็นฝ่ายถูกกระทำโดยไม่สามารถร้องเรียนกับใครได้ นั่นจึงเป็นสาเหตุที่มีครูเกาหลีใต้ถูกกดดันจนลาออก หรือฆ่าตัวตายเป็นจำนวนมาก หนุ่ม-สาว รุ่นใหม่สนใจอาชีพครูน้อยลงเรื่อย ๆ เพราะคงไม่มีใครอยากทำงานที่ถูกมองว่าต้อยต่ำยิ่งกว่าเรือจ้างอีกแล้ว

ไทยปิดศูนย์ CI ปิดช่องพม่าฟอกขาว-ชุบตัวเป็นแรงงานในไทย ส่วนท่าที NGO ไม่ผิดคาด 'อุ้มต่างด้าว-ด่ารัฐไม่เอื้อความสะดวก'

กรมจัดหางานมีคำสั่งให้ปิดศูนย์บริหารจัดการ การทำงานของแรงงานเมียนมาแบบเบ็ดเสร็จ หรือที่เรียกชื่อเล่นว่า 'ศูนย์ CI' จำนวน 7 แห่ง ประกอบด้วย ปทุมธานี, นครสวรรค์, สมุทรปราการ, ชลบุรี, สุราษฎร์ธานี และสงขลา ให้เปิดทำการแค่ศูนย์เดียวในจังหวัดสมุทรสาคร โดยมีผลตั้งแต่ 7 ก.ค.เป็นต้นไป จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงคำสั่ง

จากคำสั่งดังกล่าวทำกลุ่ม NGO กังวลว่า การเปิดศูนย์ CI เพียงจังหวัดเดียว กำลังจะสร้างภาระให้กับแรงงานพม่ามากขึ้น เพราะว่าชาวพม่าที่อยู่จังหวัดเชียงใหม่, เชียงราย, หนองบัวลำพู, อุดรธานี และอื่น ๆ ต้องเดินทางมาที่ สมุทรสาคร แห่งเดียว โดยอ้างว่า เป็นการสร้างภาระให้แก่แรงงานเหล่านั้น

ในอดีตการเปิดศูนย์ CI ก็เพื่อขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติที่แอบทำงานในไทยอย่างผิดกฎหมายให้เข้ามาในระบบอย่างถูกต้อง แต่ ณ ปัจจุบันพบว่ามีคนอาศัยช่องว่างในการเดินทางเข้ามาแบบผิดกฎหมายในไทย แล้วหาช่องทางทำให้ถูกต้องด้วยการรอขึ้นทะเบียน CI เพื่อจะสามารถเป็นแรงงานในไทยได้ 

แน่นอนว่าทั้งหมดนี้ จะเป็นไปได้ และคงจะไม่เกิดขึ้น หากไม่มีเหตุการณ์ที่ชาวพม่าทะลักเข้าไทยอย่างผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง เพราะนั่นคือ การที่พวกเขาเห็นช่องทางในการฟอกขาวให้พวกเขาเหล่านั้นมีชีวิตใหม่

NGO ในไทย ก็ควรมีสามัญสำนึกถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อประเทศไทยด้วยเช่นกัน ไม่ใช่ตั้งหน้าตั้งตาเข้าข้างกล่าวหาว่ารัฐทำให้คนเหล่านั้นลำบาก NGO ควรเข้าใจด้วยว่าคนเหล่านั้นคือผู้กระทำผิดในการเข้าเมืองผิดกฎหมาย 

ตอกย้ำความเหลื่อมล้ำในอินเดีย  มีทั้งเสียงชื่นชมและการสาปแช่ง

เมื่อวานนี้ (15 ก.ค.67) นับได้ว่าเป็นงานแต่งแห่งศตวรรษ ที่เรียกได้ว่ายิ่งใหญ่กว่างานของราชวงศ์ไหน ๆ เมื่อ ‘อนันต์ อัมบานี’ ลูกชายของมหาเศรษฐีชาวอินเดีย ‘มูเกซ อัมบานี’ เข้าพิธีวิวาห์กับแฟนสาว ‘รติกา เมอชานต์’ ลูกสาวของครอบครัวเศรษฐีด้านอุตสาหกรรมยา ที่ทุ่มงบไม่อั้นคาดว่ามีมูลค่าจัดงานสูงกว่า 5 พันล้านบาท และทำการเฉลิมฉลองแบบไม่จบสิ้น

สร้างความฮือฮาตั้งแต่สามารถจ้างริฮานน่าที่เดี๋ยวนี้ผันตัวไปทำธุรกิจไม่ได้ขึ้นแสดงมานานแล้ว ให้กลับมาจับไมค์ขึ้นโชว์ในงานเลี้ยงพรีเวดดิ้งที่มีคนดังจากทั่วโลกบินมาร่วมงาน และเมื่อช่วง 2 เดือนก่อนก็เพิ่งจะพาญาติมิตรเพื่อนสนิทและแขกคนสำคัญไปทริปล่องเรือยอร์ชหรูที่หัวเมืองในยุโรปแบบสุดหรูหราโรแมนติก ก่อนที่ล่าสุดจะปิดท้ายการฉลองงานแต่งกลางกรุงมุมไบแบบ 4 วัน 4 คืน จ้างนักร้องดังอย่าง ‘จัสติน บีเบอร์’ มาแสดงในงาน

โดยได้เชิญแขกคนดังจากทั่วโลกมาร่วมเป็นสักขีพยานในงานแต่งนี้ ลิสต์รายชื่อแขกมีตั้งแต่ คิม และโคลเอ้ คาร์ดาเชียน, นิก โจนาส, โทนี่ แบล์ รวมไปถึงคนดังทุกวงการของอินเดีย ร่วมถึงท่านทูตจากหลายประเทศ เรียกได้ว่ามาอยู่ร่วมกันในงานนี้ทั้งหมด ทุกคนล้วนจัดเต็มแต่งตัวกันแบบอลังเข้ากับพิธีสุดหรูหราตามสไตล์ประเพณีอินเดีย มีการร้องเล่นเต้นรำกัน และก็อวยพรคู่บ่าวสาว พร้อมแชร์ภาพในโซเชียลมีเดียแบบสุดสนุก โชว์ความหรูหราฟู่ฟ่า โดยว่ากันว่าเจ้าภาพให้ของขวัญสุดอลังกับแขกที่มา แต่ไม่ได้การให้รายละเอียดว่ามีอะไรบ้าง มีการเปิดเผยเพียงว่า บรรดาเพื่อนเจ้าบ่าวทั้ง 9 คน ได้รับนาฬิกาแบรนด์หรู Audemars Piguet สั่งทำพิเศษราคาเรือนละ 7 ล้านบาท เป็นของขวัญ

แต่ท่ามกลางเสียงยินดีปรีดาฉลองการเริ่มต้นชีวิตคู่นั่นก็มีเสียงก่นด่าเช่นกัน โดยมาจากบรรดาชาวบ้านในเมืองมุมไบทั้งหลายที่ออกมาแสดงความไม่พอใจกับสุดยอดงานแต่งนี้ เพราะทั้งเมืองวุ่นวายไปด้วยสารพัดแขก VIP สนามบินแออัดด้วยเครื่องบินส่วนตัว รวมไปถึงเจ้าภาพได้จองเครื่องเจ็ต 3 ลำ สำหรับไว้รับรองแขกไว้เดินทางบินไปมา เหล่าตำรวจและบอดี้การ์ดมากมายเพราะต้องระวังรักษาความปลอดภัยให้แขกคนสำคัญ มีรถนำขบวนให้แขกเดินทางไปสถานที่ต่าง ๆ ทำให้การจราจรที่สาหัสอยู่แล้ว แถมช่วงนี้ก็มีมรสุมซัดกระหน่ำ เติมด้วยความวุ่นวายของงานแต่งนี้อีก ยิ่งทำให้รถติดแบบวินาศสันตะโร แถมยังมีการปิดจองหลายพื้นที่สาธารณะไปทั่วเมือง ถนนบางเส้นถูกปิดหลายชั่วโมงต่อวัน

นอกจากความลำบากที่ชาวบ้านทั่วไปต้องเผชิญแล้ว เหล่าชาวเน็ตของอินเดียยังออกมาประณามงานแต่งนี้ว่าเป็นการอวดรวย สิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์ โชว์ความเหลือกินเหลือใช้ของบ้านอัมบานี แถมตอกย้ำให้เห็นถึงความต่างของชนชั้นในสังคมให้เห็นได้อย่างเด่นชัดที่สุด ซึ่งนี่เป็นปัญหาใหญ่ของอินเดียมาอย่างเนิ่นนาน

‘ธนาคารสิงคโปร์’ เล็งใช้ ‘ดิจิทัลโทเคน’ ยืนยันตัวตนแทน ‘รหัส OTP’ ชี้!! ช่วยเสริมความปลอดภัยทำธุรกรรม-ลดปัญหามิจฉาชีพสวมรอย

เมื่อวานนี้ (15 ก.ค.67) รายงานข่าวแจ้งว่า ธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) และสมาคมธนาคารสิงคโปร์ (ABS) ประกาศว่าธนาคารเพื่อลูกค้ารายย่อยในสิงคโปร์ จะเริ่มยุติการใช้รหัสผ่านแบบใช้ครั้งเดียว (OTP) สำหรับเข้าสู่ระบบบัญชีธนาคารภายใน 3 เดือนข้างหน้า โดยลูกค้าต้องเปลี่ยนมาใช้ระบบที่เรียกว่า ‘ดิจิทัล โทเคน’ (Digital Token) แทน เพื่้อป้องกันมิจฉาชีพในรูปแบบฟิชชิ่ง (Phising) หลอกลวงลูกค้าเพื่อขอข้อมูลที่สำคัญ เช่น รหัสผ่าน หรือหมายเลขบัตรเครดิตได้ดียิ่งขึ้น

โดยลูกค้าจะต้องเปิดใช้งานโทเคนดิจิทัลบนโทรศัพท์มือถือ และใช้โทเคนดังกล่าวเข้าสู่ระบบธนาคารผ่านเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชันธนาคารบนมือถือ (Mobile Banking) โดยโทเคนดิจิทัลจะทำหน้าที่ตรวจสอบการเข้าสู่ระบบของลูกค้าโดยไม่จำเป็นต้องใช้รหัส OTP ที่มิจฉาชีพสามารถขโมยหรือหลอกให้ลูกค้าเปิดเผยได้ โดยแนะนำให้ลูกค้าธนาคารเปิดใช้งานเพื่อลดความเสี่ยงที่ข้อมูลส่วนตัวจะถูกขโมยในรูปแบบฟิชชิ่ง

ที่ผ่านมาการใช้ OTP (One Time Password) ถูกนำมาใช้ในสิงคโปร์เมื่อปี 2543 หรือเมื่อ 24 ปีก่อน เพื่อเป็นตัวเลือกในการตรวจสอบสิทธิ์แบบหลายปัจจัย (Multi-factor Authentication) เพิ่มความปลอดภัยในการทำธุรกรรมออนไลน์ แต่ด้วยการพัฒนาทางเทคโนโลยีและมิจฉาชีพใช้กลยุทธ์ที่เรียกว่า หลักวิศวกรรมสังคม (Social Engineering) ที่มีความซับซ้อน ทำให้สามารถหลอกลวงลูกค้าในรูปแบบฟิชชิ่ง (Phising) เพื่อหลอกขอ OTP ได้ง่ายขึ้น เช่น การทำเว็บไซต์ธนาคารปลอมที่ใกล้เคียงของจริง

มาตรการล่าสุดจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับกระบวนการตรวจสอบตัวตน ทำให้มิจฉาชีพหลอกลวงในการเข้าถึงบัญชีและเงินลงทุนของลูกค้า โดยไม่ได้รับอนุญาตจากลูกค้าได้ยากขึ้นอย่างชัดเจน เมื่อใช้อุปกรณ์มือถือของมิจฉาชีพ ซึ่งการหลอกลวงแบบฟิชชิ่งยังคงเป็นข้อกังวลในสิงคโปร์ ธนาคารแต่ละแห่งยังคงทำงานอย่างใกล้ชิดกับธนาคารกลางสิงคโปร์ และกองกำลังตำรวจสิงคโปร์ เพื่อพัฒนาและแนะนำแนวทางแก้ไข รวมทั้งมาตรการเพื่อเสริมสร้างการต่อต้านการหลอกลวงในภาพรวมที่มิจฉาชีพพัฒนาตลอดเวลา

นางออง-อัง ไอ บุน ผู้อำนวยการสมาคมธนาคารสิงคโปร์ กล่าวว่า มาตรการนี้ช่วยให้ลูกค้าป้องกันเพิ่มเติมจากการเข้าถึงบัญชีธนาคารของพวกเขาโดยไม่ได้รับอนุญาต แม้ว่าสิ่งเหล่านี้อาจทำให้เกิดความไม่สะดวก แต่มาตรการดังกล่าวมีความจำเป็นเพื่อช่วยป้องกันกลโกงและปกป้องลูกค้า

ส่วนนางลู เซียว ลี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายนโยบาย การชำระเงิน และอาชญากรรมทางการเงิน ธนาคารกลางสิงคโปร์ กล่าวว่า ธนาคารกลางสิงคโปร์ ยังคงทำงานอย่างใกล้ชิดกับธนาคารเพื่อปกป้องลูกค้า โดยเรียนรู้จากการหลอกลวงผ่านระบบดิจิทัลแบงกิ้งอย่างหนัก มาตรการล่าสุดจะเสริมแนวปฏิบัติด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่ดี ซึ่งลูกค้ายังคงต้องปฏิบัติต่อไป เช่น การปกป้องข้อมูลด้านการเงินประจำตัว

รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า มีธนาคารในประเทศสิงคโปร์เริ่มหันมาใช้โทเคนดิจิทัลแล้ว เช่น ธนาคารดีบีเอส ธนาคารโอซีบีซี ธนาคารยูโอบี และธนาคารซิตี้แบงก์ โดยมีรูปแบบคล้ายกัน คือ การอนุมัติรายการจะมีข้อความแจ้งเตือนแบบพุช (Push Notification) เมื่อลูกค้าทำธุรกรรมทางการเงิน หรือใช้จ่ายออนไลน์ผ่านบัตรเครดิต ให้แตะไปที่ข้อความ แล้วกดอนุมัติการทำรายการ ผ่านแอปพลิเคชันธนาคาร ภายในระยะเวลาที่กำหนด แทนการกรอกรหัส OTP ที่ได้ยกเลิกไป

สำหรับประเทศไทย พบว่ามีเพียงบัตรทราเวลการ์ดที่ชื่อว่า YouTrip (ยูทริป) ที่ออกบัตรโดยธนาคารกสิกรไทย ใช้ระบบ 3DS 2.0 คือ เมื่อลูกค้ากรอกข้อมูลบัตรเวลาช้อปออนไลน์เรียบร้อยแล้ว ระบบจะแจ้งเตือนให้เข้าไปอนุมัติรายการในแอปพลิเคชัน แทนการใช้ SMS OTP เช่นเดียวกับบัตรพรีเพดการ์ด BigPay (บิ๊กเพย์) ของกลุ่มแอร์เอเชีย ก็ใช้ระบบดังกล่าวอนุมัติรายการใช้จ่ายผ่านออนไลน์เช่นเดียวกัน นอกนั้นธนาคารและผู้ให้บริการบัตรเครดิตส่วนใหญ่ ยังคงใช้วิธีส่ง SMS OTP เช่นเดิม

'จีน' คุมเข้ม 'โลกไซเบอร์' สร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้เด็กเยาวชน เล็งช่วงปิดเทอม จัดการคอนเทนต์ไม่สร้างสรรค์ในทุกแพลตฟอร์ม

(16 ก.ค.67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า สำนักบริหารไซเบอร์สเปซแห่งประเทศจีน (CAC) ออกหนังสือเวียนเปิดตัวโครงการรณรงค์ระดับประเทศระยะ 2 เดือนช่วงปิดเทอมฤดูร้อน เพื่อมุ่งจัดการกับสภาพแวดล้อมบนโลกไซเบอร์แก่บรรดาเยาวชนคนจีน

โดยโครงการรณรงค์ดังกล่าว จะจัดการปัญหาสำคัญในโลกไซเบอร์อย่างแพลตฟอร์มวิดีโอสั้นและไลฟ์สตรีมมิงซึ่งมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรง การทำร้ายร่างกาย การกลั่นแกล้ง หรือการล่วงละเมิดเด็กที่อาจส่งผลเสียต่อผู้เยาว์

สำนักบริหารฯ ระบุว่า โครงการรณรงค์นี้ยังจะมุ่งเป้าไปที่แพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์และอีคอมเมิร์ซ เนื่องจากแพลตฟอร์มเหล่านี้อาจเผยแพร่เนื้อหาที่ไม่เหมาะสมเกี่ยวกับเว็บไซต์ผิดกฎหมาย ภาษาหยาบคาย และสื่อลามกอนาจาร รวมถึงแพลตฟอร์มอื่น ๆ อาทิ แหล่งรวบรวมแอปพลิเคชัน (Application Stores) อุปกรณ์อัจฉริยะที่ออกแบบสำหรับเด็ก และ 'โหมดสำหรับผู้เยาว์' ในแอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟน

ทั้งนี้ สำนักบริหารฯ ชี้ว่าหน่วยงานด้านไซเบอร์ในท้องถิ่นควรติดตามฟีเจอร์และปัญหาใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้เยาว์บนโลกไซเบอร์อย่างใกล้ชิด พร้อมจัดการการละเมิดกฎระเบียบใด ๆ ก็ตาม

'ฮวาง ฮี-ชาน' หัวหอกวูล์ฟ โดนนักเตะ 'เซเรีย อา' เหยียดในเกมอุ่นเครื่อง ด้านเพื่อนร่วมทีมเดือดแทน หวดปากนักเหยียดคู่แข่ง-รับใบแดงเป็นรางวัล

(16 ก.ค.67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ฮวาง ฮี-ชาน กองหน้าชาวเกาหลีใต้ ของ วูล์ฟแฮมป์ตัน วันเดอเรอร์ส สโมสรจากพรีเมียร์ ลีก อังกฤษ ถูกนักเตะโคโม่ ทีมจากเซเรีย อา อิตาลี ใช้คำพูดเหยียดใส่ ระหว่างเกมอุ่นเครื่องที่ วูล์ฟแฮมป์ตัน เอาชนะ โคโม ทีมน้องใหม่ของเซเรีย อา อิตาลี ไป 1-0 ในการแข่งขันฟุตบอลกระชับมิตร เมื่อวันที่ 15 ก.ค.ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตามในเกมดังกล่าว ทาง แกรี โอนีล กุนซือของวูล์ฟแฮมป์ตัน ออกมาเปิดเผยว่า ฮวาง ฮี-ชาน กองหน้าชาวเกาหลีใต้ถูกแข้งฝ่ายตรงคำใช้คำพูดที่เป็นการเหยียดเชื้อชาติใส่ และเขาได้ถามกองหน้าวัย 28 ปีรายนี้ว่า ต้องการจะออกจากแมตช์นี้ไหม แต่เขาปฏิเสธและยังเดินหน้าช่วยทีมต่อระหว่างเข้าแคมป์เก็บตัวที่สเปน

แกรี โอนีล เผยถึงเรื่องนี้ ว่า "ชานนี่ได้ยินคำพูดที่เป็นการเหยียดเชื้อชาติ ซึ่งมันน่าผิดหวังจริงๆ"

"มันน่าผิดหวังมากที่มันเกิดขึ้น เราจำเป็นต้องพูดคุยเกี่ยวกับมัน และมันมีผลต่อเกม มันไม่ใช่ความคิดหรือสิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นเลย"

"เขา (ฮวาง ฮี-ชาน) ผิดหวังมาก แน่นอน และมันเข้าใจได้ ซึ่งผมภูมิใจกับความจริงที่เขาต้องการจะเดินหน้าเล่นต่อไป และให้ความสำคัญกับทีมก่อน แม้ต้องเจอกับช่วงเวลาที่ยากลำบากก็ตาม"

"ชานนี่จะโอเค เขาจะได้รับการสนับสนุนจากเราอย่างเต็มที่ และเราไปรับเขาเมื่อเช้านี้ และทำให้แน่ใจว่าเขาไม่มีปัญหาอะไร"

อย่างไรก็ตาม อีกด้านของเกมนี้ ทาง 'ดาเนี่ยล โพเดนซ์' ปีกวูล์ฟแฮมป์ตัน เพื่อนร่วมทีมของ ฮวาง ฮี-ชาน ก็เดือดแทน และได้เข้าต่อยกองหลังคนหนึ่งของ โคโม่ ระหว่างเกมที่ทั้ง 2 ทีมนัดซ้อมกันเป็นกรณีพิเศษ หลังจากแข้งของ โคโม่ พูดจาเชิงเหยียดผิวหรือเหยียดชาติพันธุ์ใส่กองหน้าชาวเกาหลีใต้

ทว่า ไม่มีการเปิดเผยว่าแนวรับของ โคโม่ ที่ว่าคือใคร แต่เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ โพเดนซ์ โดนใบแดงไล่ออกจากสนามทันที ก่อนที่สุดท้ายแล้ว วูล์ฟส์ จะชนะทีมน้องใหม่ของ กัลโช่ เซเรีย อา อิตาลี ไป 1-0 และสุดท้ายเกมนี้ ก็ไม่ได้ถูกระบุให้เป็นเกมอุ่นเครื่องอย่างเป็นทางการของทั้ง 2 ทีมแต่อย่างใด

‘สีจิ้นผิง’ นักปฏิรูปของจีน เดินหน้าส่งเสริมสร้างความทันสมัย แม้รู้ซึ้งภารกิจยากเย็นเพียงใด แต่ยึดมั่นเพื่อการพัฒนาประเทศ

เมื่อวานนี้ (15 ก.ค.67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ผู้นำจีน ‘สีจิ้นผิง’ ได้ทยอยเปิดเผยมาตรการปฏิรูปชุดใหม่ ซึ่งจะกำหนดทิศทางการเติบโตของประเทศจีนที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดอันดับสองของโลก ขณะคณะผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีน (CPC) เริ่มต้นการประชุมนโยบาย ระยะ 4 วัน ณ กรุงปักกิ่ง ในวันจันทร์ (15 ก.ค.) ณ พิธีเปิดการประชุมเต็มคณะ ครั้งที่ 3 ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ชุดที่ 20 

สีจิ้นผิงในฐานะเลขาธิการใหญ่คณะกรรมการกลางพรรคฯ ได้นำเสนอรายงานการปฏิบัติงานในนามกรมการเมืองแห่งคณะกรรมการกลางพรรคฯ และแจกแจงร่างมติเกี่ยวกับการปฏิรูปรอบด้านอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้นและการเดินหน้าการสร้างความทันสมัยของจีน

การประชุมครั้งนี้มีความสำคัญเทียบเท่า ‘การประชุมเต็มคณะ ครั้งที่ 3’ ครั้งอื่น ๆ ก่อนหน้านี้ เช่น การประชุมในปี 1978 ที่เติ้งเสี่ยวผิงเริ่มต้นความพยายามปฏิรูปและเปิดกว้างของจีน

ช่วงก่อนการประชุมเต็มคณะครั้งปัจจุบัน สีจิ้นผิงได้ส่งเสริมการปฏิรูป กระตุ้นความพยายาม ‘ปลดปล่อยความคิดยิ่งขึ้น ปลดแอกและพัฒนาพลังการผลิตทางสังคม ปลดเปลื้องและเพิ่มพูนพลังความมีชีวิตชีวาของสังคม’ เพื่อ ‘มอบแรงกระตุ้นอันแข็งแกร่งและหลักประกันเชิงระบบสำหรับการสร้างความทันสมัยของจีน’

สิ่งนี้สร้างความคาดหวังการปฏิรูปอย่างลึกซึ้งรอบใหม่ พร้อมขจัดข้อวิตกกังวลว่าการปฏิรูปของจีนจะ ‘หยุดนิ่ง’ หรือเศรษฐกิจของจีนจะ ‘สูญสิ้นพละกำลัง’

ตั้งแต่สีจิ้นผิงเข้าดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุดเมื่อกว่าทศวรรษก่อน จีนได้ก้าวเข้าสู่ ‘ยุคใหม่’ โดยมีความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและเกียรติภูมิบนเวทีนานาชาติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะการปฏิรูปเป็นจุดเด่นของยุคใหม่นี้

อย่างไรก็ดี จีนในวันนี้ได้อยู่ในห้วงยามสำคัญของการเร่งรัดการปฏิรูป ท่ามกลางการเผชิญหน้ากับความท้าทายทั้งเก่าและใหม่นานัปการเดินหน้าปฏิรูป เปิดกว้างต่อเนื่อง

สีจิ้นผิงถือเป็นนักปฏิรูปที่โดดเด่นอีกคนหนึ่งของจีนต่อจากเติ้งเสี่ยวผิง โดยผู้นำทั้งสองมีภารกิจเดียวกันคือการสร้างความทันสมัยของประเทศ แต่อยู่ภายใต้บริบทที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน

เมื่อครั้งเติ้งเสี่ยวผิงเริ่มต้นการปฏิรูปและเปิดกว้างช่วงปลายทศวรรษ 1970 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ต่อหัวของจีนน้อยกว่า 200 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 7,300 บาท) ทำให้ความพยายามปฏิรูปและเปิดกว้างของเขาเริ่มต้นจากเกือบศูนย์

ทว่าเมื่อครั้งสีจิ้นผิงได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการใหญ่คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนในปี 2012 จีนเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดอันดับสองของโลกด้วยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อหัวสูงกว่า 6,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2.19 แสนบาท) แต่การเติบโตได้ปรับเปลี่ยนความเร็วจากเดิม และข้อได้เปรียบหลายประการ เช่น ต้นทุนแรงงานที่ต่ำ ได้เริ่มลดน้อยถอยลง

แทนที่จะหยุดพักอยู่กับความสำเร็จของบรรดาผู้นำรุ่นก่อนหน้า สีจิ้นผิงกลับมุ่งมั่นเดินหน้าการปฏิรูป แม้รับรู้ดีว่าภารกิจนี้ยากเย็นเพียงไร โดยเขากล่าวว่าทำส่วนที่ง่ายของภารกิจนี้เสร็จสิ้นจนเป็นที่พึงพอใจของทุกคนแล้ว ส่วนที่เหลือนั้นเป็นงานยากเหมือนกระดูกแข็งที่ต้องออกแรงเคี้ยว

ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จีนได้ออกมาตรการปฏิรูปมากกว่า 2,000 รายการ ซึ่งช่วยให้ประเทศสามารถขจัดความยากจนขั้นรุนแรง ส่งเสริมการพัฒนาเมือง-ชนบทเชิงบูรณาการ ต่อสู้กับการทุจริตคดโกง สนับสนุนการประกอบธุรกิจ กระตุ้นการสร้างสรรค์นวัตกรรม และผลักดัน ‘การปฏิวัติเขียว’

เนื่องด้วยมาตรการปฏิรูปเหล่านี้ เศรษฐกิจจีนเติบโตแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องและเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่านับตั้งแต่ปี 2012 ซึ่งเสริมสร้างสถานะของจีนในการเป็นผู้มีส่วนส่งเสริมการเติบโตรายสำคัญของโลก

ปัจจุบันจีนต้องเพิ่มความพยายามเป็นพิเศษ ยามเผชิญกับความต้องการมีชีวิตที่ดียิ่งขึ้นของประชาชนและความท้าทายใหญ่ต่าง ๆ เช่น แรงกดดันจากเศรษฐกิจขาลงหลังจากการระบาดใหญ่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) กอปรกับความเสี่ยงจากภาคอสังหาริมทรัพย์ หนี้สินของรัฐบาลท้องถิ่น และสถาบันการเงินขนาดเล็ก-ขนาดกลางบางส่วน

เพื่อแสวงหาอนาคตที่ดียิ่งขึ้นของประชาชนและประเทศชาติ สีจิ้นผิงเน้นย้ำว่าการปฏิรูปและเปิดกว้างเป็น ‘วิธีการสำคัญ’ สู่การบรรลุการสร้างความทันสมัยของจีนและสานต่อปาฏิหาริย์ทางการพัฒนาของประเทศ

สีจิ้นผิงเน้นย้ำความสำคัญของการปฏิรูปในการประชุมของกรมการเมืองแห่งคณะกรรมการกลางพรรคฯ เมื่อเดือนมกราคม และสำทับถึงความจำเป็นในการปฏิรูปภาคส่วนต่าง ๆ อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้นในการประชุมประจำปีของสภานิติบัญญัติและหน่วยงานที่ปรึกษาทางการเมืองระดับสูงสุดของชาติในไม่กี่สัปดาห์ถัดมา

‘การปฏิรูปเป็นพลังขับเคลื่อนการพัฒนา’ สีจิ้นผิงกล่าวระหว่างตรวจเยี่ยมมณฑลซานตงทางตะวันออกของจีนเมื่อเดือนพฤษภาคม โดยสีจิ้นผิงยังจัดการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มผู้นำทางธุรกิจและนักวิชาการเกี่ยวกับวิธีการปฏิรูปอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น

หวงฮั่นเฉวียน ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเศรษฐกิจมหภาคแห่งชาติจีน ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมการประชุมข้างต้น กล่าวว่า สีจิ้นผิงให้ความสำคัญกับการปฏิรูปอย่างมากและมีความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการปฏิรูปทั้งหมดเป็นอย่างดี

ก่อนหน้านี้สีจิ้นผิงกล่าวกับสมาชิกชุมชนธุรกิจ ยุทธศาสตร์ และวิชาการของสหรัฐฯ ที่เยือนกรุงปักกิ่งในฤดูใบไม้ผลินี้ว่าจีนกำลังวางแผนและดำเนินการตาม ‘ขั้นตอนสำคัญของการปฏิรูปรอบด้านอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น’ โดยจีนจะเสริมสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่มุ่งเน้นตลาด อ้างอิงกฎหมาย และเป็นสากลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเพิ่มพื้นที่การพัฒนาแก่ธุรกิจของสหรัฐฯ และนานาชาติ

ทั้งนี้ ความมุ่งมั่นปฏิรูปของสีจิ้นผิงยังคงเหมือนเดิมตลอดมา ปี 1969 เมื่อครั้งสีจิ้นผิงอายุ 15 ย่าง 16 ปี เขาถูกส่งตัวไปยังหมู่บ้านเหลียงเจียเหอในมณฑลส่านซีทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีนเพื่อใช้แรงงานในพื้นที่เกษตรกรรม ที่ซึ่งทำให้เขาได้รู้จักกับความหิวโหย โดยปณิธานของสีจิ้นผิงวัยหนุ่มตอนนั้นคือทำให้สหายร่วมหมู่บ้านมีข้าวปลาอาหารกินอย่างเพียงพอ

การสนับสนุนการปฏิรูปอย่างแรงกล้าของสีจิ้นผิงยังมาจากความปรารถนามีชีวิตที่ดียิ่งขึ้นของประชาชน โดยมาตรการปฏิรูปต่าง ๆ ที่สีจิ้นผิงดำเนินการในหมู่บ้านเหลียงเจียเหอในฐานะเลขาธิการพรรคฯ ประจำหมู่บ้านเหลียงเจียเหอ ทั้งการใช้ก๊าซชีวภาพ ตั้งร้านตีเหล็ก และเปิดร้านขายของชำ ล้วนมุ่งยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน

ความมุ่งมั่นปฏิรูปของสีจิ้นผิงยังได้รับอิทธิพลจากผู้เป็นพ่ออย่างสีจ้งซวิน นักปฏิวัติเก่าและผู้สนับสนุนการปฏิรูปและเปิดกว้าง โดยปี 1978 สีจ้งซวินได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าหน้าที่คนสำคัญของมณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) ทางตอนใต้ของจีน และช่วยสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษชุดแรกของจีน ซึ่งประกอบด้วยเซินเจิ้น จูไห่ และซ่านโถว

ปีเดียวกันนั้นสีจ้งซวินมอบหมายให้สีจิ้นผิง ซึ่งกำลังเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยชิงหัว ดำเนินการวิจัยภาคสนามเกี่ยวกับระบบความรับผิดชอบตามสัญญาครัวเรือนในมณฑลอันฮุยทางตะวันออกของจีน โดยสีจิ้นผิงบันทึกข้อมูลจนเต็มสมุดที่ยังคงถูกเก็บไว้จนถึงทุกวันนี้ชื่อเสียงของสีจิ้นผิงในฐานะนักปฏิรูปเพิ่มพูนตามความก้าวหน้าบนเส้นทางอาชีพทางการเมืองของเขา

ช่วงต้นทศวรรษ 1980 สีจิ้นผิงริเริ่มการทดลองปฏิรูปในอำเภอเจิ้งติ้ง ซึ่งเป็นอำเภอยากจนในมณฑลเหอเป่ยทางตอนเหนือของจีน โดยเขาทดลองจัดทำสัญญาที่ดินในชนบท ทำให้อำเภอเจิ้งติ้งเป็นพื้นที่แรกของเหอเป่ยที่ปรับใช้แนวทางดังกล่าว

บทความที่เผยแพร่ผ่านนิตยสารไชน่า ยูธ (China Youth) ในปี 1985 บรรยายรายละเอียดการเปลี่ยนแปลงของอำเภอเจิ้งติ้งโดยอ้างอิงคำบอกเล่าของเลขาธิการพรรคฯ ระดับอำเภอจากมณฑลใกล้เคียงที่เยือนอำเภอเจิ้งติ้งที่ว่าการปฏิรูปเกิดขึ้นทุกที่จนประชาชนท้องถิ่นไม่ต้องร้องขอ

"หากมองย้อนกลับไปตอนนั้น สิ่งหนึ่งที่ทำสำเร็จคือการปลดปล่อยความคิด" สีจิ้นผิงกล่าวถึงการปฏิรูปในอำเภอเจิ้งติ้ง

ต่อจากอำเภอเจิ้งติ้ง สีจิ้นผิงได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานที่นครเซี่ยเหมิน ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษในมณฑลฝูเจี้ยนทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีน ที่ซึ่งเขาเป็นผู้นำการจัดตั้งธนาคารร่วมทุนแห่งแรกของจีนอย่างเซี่ยเหมิน อินเตอร์เนชันแนล แบงก์ (Xiamen International Bank) และหลังจากก้าวสู่ตำแหน่งผู้ว่าการมณฑลฝูเจี้ยน สีจิ้นผิงเป็นผู้นำการปฏิรูปการครอบครองป่าไม้ร่วมกัน ซึ่งถูกปรับใช้ในพื้นที่ส่วนอื่นๆ ของประเทศในเวลาต่อมา โดยแผนริเริ่มนี้เป็นที่รู้จักในฐานะอีกหนึ่งขั้นตอนการปฏิวัติพื้นที่ชนบทของจีน ต่อจากระบบความรับผิดชอบตามสัญญาครัวเรือน

ช่วงดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคฯ ประจำมณฑลเจ้อเจียง สีจิ้นผิงนำเสนอแผนริเริ่มเพื่อส่งเสริมการพัฒนาผ่านการยกระดับอุตสาหกรรม โดยเขาสนับสนุนธุรกิจเอกชนอย่างแข็งขันและกระตุ้นนักธุรกิจ ‘ติดต่อโดยตรง’ ที่สำนักงานของเขาเพื่อขอความช่วยเหลือ รวมถึงขยายการปฏิรูปนอกเหนือจากเรื่องเศรษฐกิจและการเมืองไปยังเรื่องสังคม วัฒนธรรม และระบบนิเวศด้วย

การขึ้นชื่อเป็นนักปฏิรูปของสีจิ้นผิงสร้างความประทับใจแก่บุคคลสำคัญระดับนานาชาติ โดยเดือนกันยายน 2006 เฮนรี พอลสัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ ในเวลานั้น ได้เดินทางเยือนจีนและเลือกนครหางโจว เมืองเอกของมณฑลเจ้อเจียง เป็นจุดหมายแรก

พอลสันยกให้สีจิ้นผิงเป็น ‘ตัวเลือกอันสมบูรณ์แบบ’ สำหรับการประชุมครั้งแรกของเขาในจีน พร้อมบรรยายว่าสีจิ้นผิงเป็น ‘คนที่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไรให้บรรลุเป้าหมาย’ และต่อมาพอลสันที่พบปะหารือกับสีจิ้นผิงอีกครั้งในปี 2014 เล่าว่าผู้นำจีนคนนี้เผยว่าสิ่งที่เขาให้ความสำคัญคือการปฏิรูปและประเด็นที่เกี่ยวข้อง

ปี 2007 ขณะดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคฯ ประจำนครเซี่ยงไฮ้ สีจิ้นผิงเล็งเห็นความจำเป็นของการปฏิรูปเพื่อเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจเซี่ยงไฮ้สู่การพัฒนาที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เพิ่มพูนความสามารถทางการแข่งขันในฐานะศูนย์กลางการเงินระหว่างประเทศ และเสริมสร้างบทบาทของเซี่ยงไฮ้ในฐานะผู้นำการปฏิรูปและเปิดกว้าง

หลังจากเข้าดำรงตำแหน่งสูงสุดของพรรคฯ ในปี 2012 สีจิ้นผิงตรวจเยี่ยมนครเซินเจิ้นเป็นแห่งแรกตามรอยผู้เป็นพ่อ ที่ซึ่งเขาได้วางกระเช้าดอกไม้ ณ รูปปั้นสัมฤทธิ์ของเติ้งเสี่ยวผิงในสวนสาธารณะเหลียนฮวาซาน เพื่อแสดงความมุ่งมั่นปฏิรูปอย่างแรงกล้า ‘เดินหน้าปฏิรูป เปิดกว้างต่อเนื่อง!’

การประชุมเต็มคณะ ครั้งที่ 3 ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ชุดที่ 18 ในปี 2013 ภายใต้การนำของสีจิ้นผิง ถือเป็นหมุดหมายสำคัญเหมือนการประชุมเต็มคณะ ครั้งที่ 3 ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ชุดที่ 11 ในปี 1978 ซึ่งเปิดฉากยุคสมัยแห่งการปฏิรูป โดยการประชุมในปี 2013 เปรียบดังรุ่งอรุณของยุคสมัยใหม่แห่งการปฏิรูป

การประชุมเต็มคณะฯ ในปี 2013 สีจิ้นผิงแจกแจงความท้าทายต่าง ๆ ที่จีนเผชิญระหว่างการพัฒนา ทั้งการทุจริตคดโกง การพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน และปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยสีจิ้นผิงตอกย้ำว่า ‘กุญแจสำคัญของการแก้ไขปัญหาเหล่านี้อยู่ที่การปฏิรูปอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น’

ที่ประชุมข้างต้น ได้ตัดสินใจในประเด็นสำคัญต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการปฏิรูปรอบด้านอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น ซึ่งหนังสือพิมพ์ของสเปนแสดงความคิดเห็นว่าสีจิ้นผิงได้ริเริ่มการปฏิรูปเศรษฐกิจ สังคม และการบริหารของจีนอย่างลึกซึ้งมากที่สุดในรอบกว่า 30 ปี

หนึ่งเดือนถัดจากนั้น จีนประกาศจัดตั้งกลุ่มผู้นำส่วนกลางเพื่อการปฏิรูปรอบด้านอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น (Central Leading Group for Comprehensively Deepening Reform) โดยมีสีจิ้นผิงชี้นำด้วยตนเอง ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์พรรคฯ ที่มีการจัดตั้งหน่วยงานผู้นำในส่วนกลางเพื่อการปฏิรูปโดยเฉพาะ โดยกลุ่มผู้นำฯ พัฒนาเป็นคณะกรรมาธิการกลางเพื่อการปฏิรูปรอบด้านอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น (Central Commission for Comprehensively Deepening Reform) ในเวลาต่อมา โดยมีสีจิ้นผิงเป็นผู้อำนวยการ

บุคคลผู้ใกล้ชิดกับกระบวนการตัดสินใจเผยว่า สีจิ้นผิงเป็นผู้ตัดสินใจขั้นสุดท้ายในการปฏิรูปที่สำคัญและยากลำบาก และสีจิ้นผิงพิจารณาทบทวนร่างแผนการปฏิรูปที่สำคัญแต่ละร่างอย่างละเอียดถี่ถ้วนชนิดแก้ไขคำต่อคำ

'นักวิเคราะห์' ชี้!! 'ลาว' กระอักวิกฤตการเงิน 'กีบดิ่ง-หนี้ท่วม-ทุนสำรองวูบ' อาจเห็นการยกหุ้นโรงไฟฟ้าแลกหนี้จีน หยุดกระแสเงินสดไหลออก

(16 ก.ค. 67) เว็บไซต์นิกเคอิเอเชียรายงานว่า การโยกย้าย ‘บุนเหลือ สินไซวอละวง’ ออกจากตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารกลางแห่งสปป.ลาว หลังจากดำรงตำแหน่งได้เพียง 2 ปี นับเป็นสัญญาณล่าสุดที่สะท้อนถึงปัญหาของลาวที่กำลังเต็มไปด้วย ‘หนี้สิน’

ตอนนี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าการที่สภาแห่งชาติของลาวมีมติเห็นชอบให้นายบุนเหลือ พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการแบงก์ชาติลาวนั้น เป็นเพียงการโยกย้ายไปยังตำแหน่งอื่นที่ท้าทายกว่าหรือเป็นการไล่ออก

แต่ในระหว่างการกล่าวอภิปรายในสภาเมื่อช่วงกลางเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา นายสันติภาพ พรมวิหาร รัฐมนตรีคลังมีการกล่าวกระทบเป็นนัยถึงข้อบกพร่องของอดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติรายนี้ จากความล้มเหลวที่ไม่สามารถเพิ่มทุนสำรองระหว่างประเทศของลาวได้มากพอ 

ผู้ที่จะมารับหน้าที่ผู้ว่าการธนาคารกลางแห่งสปป.ลาวคนใหม่ก็คือ นางวัดทะนา ดาลาลอย รองผู้ว่าการแบงก์ชาติ และรับไม้ต่อความท้าทายในภารกิจเพิ่มทุนสำรองระหว่างประเทศของลาวไปด้วย

ในมุมมองของนายแบงก์ไม่เปิดเผยนามรายหนึ่งในอาเซียนที่มีการทำงานร่วมกับแบงก์ในลาว มองว่า การโยกย้ายเปลี่ยนแปลงครั้งล่าสุดในธนาคารกลางของลาว ซึ่งอยู่ภายใต้การนำของพรรคประชาชนปฏิวัติลาว บ่งชี้ให้เห็นถึงความวิตกกังวลในหมู่ผู้นำของประเทศ เนื่องจากวิกฤติหนี้ต่างประเทศที่เลวร้ายลง

"ลาวไม่ต้องการผิดนัดชำระหนี้ต่างประเทศ" เขากล่าว "แต่ลาวก็ไม่ได้อยากเป็นหนี้กู้ยืม IMF เหมือนกัน เพราะจะมีผลกระทบทางการเมืองตามมา"

>> วงจรหนี้ไม่สิ้นสุด เงินกีบอ่อนค่าซ้ำเติม

จากข้อมูลของกระทรวงการคลังลาวนั้นเผยให้เห็น ‘วงจรหนี้ที่ไม่สิ้นสุด’ (debt spiral) ที่ประเทศเพื่อนบ้านของจีนรายนี้กำลังดำดิ่งอยู่ โดยมีรายละเอียดเบื้องต้นของหนี้ในปี 2566 ดังนี้

- มีหนี้สาธารณะที่กู้ยืมมาจากต่างประเทศ (external public debt) พอกพูนขึ้นเกือบเท่าตัวเป็น 950 ล้านดอลลาร์ (ราว 3.44 หมื่นล้านบาท) จาก 507 ล้านดอลลาร์ (ราว 1.83 หมื่นล้านบาท) ในปี 2565

- มีหนี้สาธารณะ และหนี้ที่ค้ำประกันโดยภาครัฐ (Public and Publicly Guaranteed) ทั้งที่กู้ยืมในประเทศ และนอกประเทศ 1.38 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 5 แสนล้านบาท) หรือคิดเป็นสัดส่วนถึง 108% ของจีดีพีประเทศ

- มีหนี้ต่างประเทศรวมทั้งหมดเป็น 1.05 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 3.80 แสนล้านบาท) ในจำนวนนี้เป็นหนี้ที่กู้ยืมมาจาก "จีน" ถึง 5.09 พันล้านดอลลาร์ (ราว 1.85 แสนล้านบาท) หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 48%

ในทางกลับกัน ‘ทุนสำรองระหว่างประเทศ’ ของลาว ณ สิ้นเดือนมี.ค. ปีนี้ อยู่ที่ประมาณ 1,850 ล้านดอลลาร์ (ราว 6.7 หมื่นล้านบาท) เท่านั้น และรัฐบาลเวียงจันทน์ก็กำลังดิ้นรนที่จะเพิ่มเงินสำรองสกุลดอลลาร์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้เงินกู้ต่างประเทศ

แหล่งข่าวในรัฐบาลลาวเปิดเผยว่า ประเทศมีภาระหนี้ที่ต้องชำระต่อปีประมาณ 1.3 พันล้านดอลลาร์ (ราว 4.7 หมื่นล้านบาท) ตั้งแต่ปี 2567 ถึงปี 2571 ขณะที่ รมว.คลังของลาว เคยเปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า รัฐบาลต้องการเงินอย่างน้อย 1 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 3.62 แสนล้านบาท) เพื่อให้ครอบคลุม ‘ค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่ ที่เกี่ยวข้องกับหนี้’

ขณะเดียวกัน มูลค่าของ ‘เงินกีบ’ ที่ดิ่งลงอย่างหนักยิ่งเพิ่มความบอบช้ำทางเศรษฐกิจให้กับประชาชน เนื่องจากเศรษฐกิจของลาวพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศอย่างหนัก เงินดอลลาร์กลายเป็นที่ต้องการไม่เพียงแต่เพื่อใช้ชำระหนี้ต่างประเทศเท่านั้น แต่ยังใช้ชำระค่าใช้จ่ายสำหรับการบริโภค และการลงทุนในประเทศด้วย โดยปัจจุบันมีการซื้อขายกันอยู่ที่ประมาณ 21,500 กีบต่อดอลลาร์ หรือลดลงเกือบเท่าตัวจากภาวะเงินกีบอ่อนค่า จากเดิมที่เคยแลกได้ที่ 11,500 กีบต่อดอลลาร์ในปี 2565

ทว่านั่นก็ไม่ได้หยุดยั้งแผนการของรัฐบาลในการเพิ่มทุนสำรองเงินดอลลาร์ 

"ปีที่แล้ว ธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ ในลาวได้รับคำสั่งให้อัดฉีดเงินกองทุนสกุลต่างประเทศเพิ่มขึ้น รวมถึงเพิ่มเงินกองทุนในรูปดอลลาร์เป็นสองเท่าในงบ"

"ผู้ส่งออกในลาวอยู่ภายใต้แรงกดดันให้ต้องฝากเงินรายได้ในรูปดอลลาร์ไว้ในธนาคารพาณิชย์ท้องถิ่น" สถิตย์ แถลงสัตย์ นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารยูโอบี ประเทศไทย กล่าวกับนิกเคอิเอเชีย 

>>หันพึ่ง 'จีน' เจ้าหนี้เบอร์ 1 - ยกหุ้นโรงไฟฟ้าแลกยกหนี้

อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์จำนวนหนึ่งกลับมองทางออกอีกทางหนึ่งว่า ลาวอาจจะกลับไปสู่เส้นทางเดิม ๆ ในการแก้ปัญหาหนี้

เอมมา อัลเลน นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ประจำประเทศลาว ของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ระบุว่า ถ้าแหล่งทุนที่ไม่ใช่การก่อหนี้ไม่เพียงพอ ลาวก็อาจกลับไปใช้วิธีเดิมๆ คือ การก่อหนี้ใหม่มาโปะหนี้เก่า พร้อมให้คำแนะนำว่ารัฐบาลลาวจำเป็นต้องจัดการปัญหาด้านเศรษฐกิจมหภาคเพื่อช่วยในการปรับปรุงอันดับเครดิตประเทศ ลาวจึงจะสามารถเข้าถึงตลาดด้วยต้นทุนที่ถูกลงได้  

อีกวิธีหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้เช่นกันก็คือ การยอมเจรจากับ ‘จีน’ ซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดอันดับ 1 ของลาวในขณะนี้ 

โทชิโระ นิชิซาวะ นักวิชาการจากญี่ปุ่น และผู้เชี่ยวชาญพิเศษเกี่ยวกับลาว กล่าวว่า ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าของจีนเลื่อนการชำระหนี้ให้ลาวมาตั้งแต่ปี 2563 และลาวยังมีการทำข้อตกลงสวอปกับธนาคารกลางจีน (PBOC) เพื่อช่วยเพิ่มทุนสำรองต่างประเทศจากที่มีอยู่เดิมประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์ก่อนปี 2563 ไปเป็น 1.9 พันล้านดอลลาร์ ณ สิ้นเดือนมี.ค.2567

ขณะที่รายงานของธนาคารโลก (World Bank) ในเดือนเม.ย. ที่ผ่านมา ประเมินว่า ‘ทุนสำรองต่างประเทศสุทธิของลาวซึ่งไม่รวมข้อตกลงสวอป’ จะเพียงพอรองรับการนำเข้าสินค้า และบริการจากต่างประเทศได้เพียง ‘1 เดือน’ เท่านั้น  

"วิธีแก้ปัญหาที่เป็นไปได้เพียงอย่างเดียวในระยะสั้นก็คือ การรักษาทุนสำรองต่างประเทศเอาไว้ ไม่ให้รั่วไหลออกไปทางเจ้าหนี้จีน โดยการขอเลื่อนการชำระหนี้ และทำข้อตกลงสวอปต่อเนื่องอีก" นิชิซาวะซึ่งเป็นอดีตที่ปรึกษาด้านนโยบายของรัฐบาลลาว กล่าวและระบุด้วยว่า นี่คือวิธีของลาวในการจัดการ และเอาตัวรอดจากหนี้ต่างประเทศให้ได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 นี้ 

จากข้อมูลเชิงสถิติของรัฐบาลลาวพบว่าในปี 2567 นี้ ลาวได้ขอเลื่อนการชำระหนี้ไปแล้ว 670 ล้านดอลลาร์ รวมสะสมเป็น 1,200 ล้านดอลลาร์ นับตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา

ส่วนการดำเนินข้อตกลงสวอปนั้น จากรายงานของสื่อต่างๆ ก่อนหน้านี้พบว่ามีตั้งแต่ข้อตกลงแปลงหนี้เป็นทุน (debt-for-equity swap) หรือการยกหนี้บางส่วนให้โดยแลกกับการเพิ่มสัดส่วนการเป็นเจ้าของในกิจการของรัฐบาลลาว เช่น โรงไฟฟ้า อีกส่วนหนึ่งคือ ข้อตกลงสวอปค่าเงินระหว่างแบงก์ชาติ เช่น ข้อตกลงสวอปค่าเงินหยวน-กีบ เพื่อช่วยเหลือลาวในช่วงการระบาดของโควิดที่ผ่านมา

นิกเคอิเอเชียระบุว่า รัฐบาลลาวเคยเสนอการแปลงหนี้เป็นทุนแลกกับการถือหุ้นเพิ่มในบริษัทโรงไฟฟ้าของลาว รวมถึงแลกกับที่ดินที่จะสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษในกรุงเวียงจันทน์ด้วย 

แหล่งข่าวนักวิเคราะห์การเมืองรายหนึ่งเปิดเผยว่า การแปลงหนี้เป็นทุนกับบริษัทจีน ถือเป็นประเด็นอ่อนไหวทางการเมือง และรัฐบาลลาวก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องคอร์รัปชัน และการบริหารจัดการเศรษฐกิจที่ผิดพลาดอยู่แล้ว เรื่องนี้จึงมีแต่จะยิ่งเพิ่มความโกรธแค้นต่อรัฐบาลมากขึ้น  

หมายเหตุ: ใช้อัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยตามเรตของ ธปท. วันที่ 16 ก.ค.67 ที่ 36.226 บาท/ดอลลาร์ 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top